- ในแวดวงการศึกษานอกรั้วโรงเรียน ครูจืด-เข็มทอง และครูหน่อย-อาริยา โมราษฎร์ แห่งเด็กรักป่าถือเป็นป๋าแห่งวงการ
- เพราะหัวใจของเด็กรักป่าคือ การศึกษาศิลปะ บทกวี และมีใบไม้เป็นครู จึงเรียนในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ ไม่ได้
- ทั้งคู่ไม่วางบทว่าตัวเองต้องเป็นครู แต่เป็นคนยุและแหย่ให้เด็กๆ เห็นว่าตัวเองชอบอะไร และอะไรที่เหมาะ จนค้นหาตัวเองเจอ
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
ในสายงานการศึกษานอกหลักสูตรหรือการเรียนรู้นอกห้องเรียน ‘เด็กรักป่า’ ถือเป็นป๋า เพราะมาก่อน และก่อนนานมาก (ลากเสียงยาว)
เกือบ 30 ปีที่แล้ว ‘ครูจืด’ เข็มทอง และ ‘ครูหน่อย’ อาริยา โมราษฎร์ สามีภรรยา ก่อตั้งกลุ่มเด็กรักป่า ขึ้นที่จังหวัดสุรินทร์ เพราะต้องการสานต่อการเรียนให้ลูกหลานชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐที่ต้องการพื้นที่ป่ากว่า 250,000 ไร่ทั่วประเทศไปให้รัฐบาลญี่ปุ่นใช้ปลูกต้นยูคาลิปตัสเพื่อแลกกับงบประมาณเข้าประเทศ 80,000 ล้านบาท
“พ่อแม่ออกไปต่อสู้เคลื่อนไหว ลูกๆ ไม่ได้เรียนต่อเนื่อง เลยคิดทำค่ายขึ้นมา”
ทำไมต้องเด็กรักป่า?
“เด็กอยู่ในชุมชน เขาซึมซับเรื่องป่าไม้อยู่แล้ว ถ้าเราได้จัดกระบวนการค่าย หรือจัดกระบวนการเรียนรู้ แล้วให้เขาสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับชุมชนและสิ่งแวดล้อมของเขาเอง สังคมจะได้ฟังจากเรื่องราวต้นไม้ ป่าไม้จากเด็กๆ
“พอทำค่าย เราก็เห็นความสามารถของเด็กๆ เด็กต่างจังหวัดนี่เขียนบทกวีจากความรู้สึกที่แท้จริงของเขา หรือการละครเขาก็แสดงออกแบบธรรมชาติ เด็กต่างจังหวัดเขามีทักษะพื้นฐานโดยธรรมชาติของเขาอยู่แล้ว เราก็อยากเก็บความสามารถของเขาเอาไว้ เลยตั้งเป็นโรงเรียนเด็กรักป่าขึ้นมา” ครูหน่อยรำลึกความหลัง
หัวใจของเด็กรักป่าคือ การศึกษาศิลปะบทกวี และมีใบไม้เป็นครู
เครื่องมือการเรียนรู้ทุกอย่าง อ้างอิงจากธรรมชาติ ทั้งศิลปะ ละคร บทกวี และเกม มีครูจืดรับหน้าที่เป็นฝ่ายบู๊ และครูหน่อยอยู่ฝ่ายบุ๋น
ทำไมต้องเป็นศิลปะ ทำไมต้องเป็นบทกวี และทำไมต้องเป็นบทละคร
ครูจืด: คุณหน่อย-ภรรยา จบศึกษาศาสตร์มา ดูเรื่องการศึกษา ผมจบศิลปะมาก็เอาศิลปะมารับใช้ ทำไปช่วงนึงมันถึงทางตัน เราก็ดูว่ามีเครื่องมืออะไรที่จะทำให้เด็กได้พัฒนาตนเอง จากการที่เราลงไปทำกิจกรรม เวลาเด็กสื่อสารกันได้ง่าย เขาจะสื่อสารกันด้วยศิลปะ เช่น วาดรูป ถึงเด็กจะไม่ใช่ศิลปิน แต่พอเขาได้บันทึกภาพชุมชนของตัวเอง มันจะเป็นอุโบสถที่มันโย้เย้หน่อย ต้นไม้อาจจะผิดไซส์ แต่ชาวบ้านดูแล้วก็เข้าใจว่าเด็กกำลังจะเล่าเรื่องอะไร
ครูหน่อย: จริงๆ แล้วเด็กทุกคนมีจริต มีความชอบที่ต่างกันออกไป บางคนเขาก็จะเขียนอย่างเดียว ดนตรีอย่างเดียว หรือบางคนก็ชอบวาดอย่างเดียว พอเขามาอยู่เด็กรักป่าเขาก็จะพัฒนาจริตของเขาในเรื่องที่ไม่เหมือนกัน ได้พัฒนาในสิ่งที่ตัวเองชอบ พอได้รับการยอมรับหรือมีเวทีในการนำเสนอ มีเวทีในการวิพากษ์วิจารณ์ มีประชุมกันบ่อย สรุปงานกันบ่อย เด็กได้แสดงความรู้สึก ออกความเห็น เด็กก็จะพัฒนาไปเรื่อยๆ รู้ว่าอะไรเหมาะสม และอะไรที่ฟุ่มเฟือย ควรตัดออก มันเป็นกระบวนการในการเรียนรู้ ก็ทำให้เขาได้บทสรุปของตัวเอง
ครูจืด: เหมือนเป็นบทสรุปในตัวเขา ว่าเออ ก็มาถูกทางแล้วนะ แล้วก็ตอบตัวเองว่า ใช่ ฉันชอบ
ซึ่งหาได้ยากในการศึกษาภาคปกติ?
ครูหน่อย: บางทีเขาก็อาจจะมีเวลาน้อยที่จะไปเรียนรู้หลายๆ อย่าง เขาเรียนรู้แต่วิชาการข้างนอกเยอะ บางทีแทบไม่ได้เรียนรู้ภายในตัวเอง หรือลืมตั้งคำถามตัวเองว่าเราชอบอะไร แล้วเราจะพุ่งไปทางไหน เราเรียนตามสิ่งเร้าที่อยู่ข้างนอก
ตัวเองจบศึกษาศาสตร์มา พยายามค้นหาวิธีการเรียนรู้และห้องเรียนแบบที่ชอบมาตลอดชีวิตว่าจะจัดกระบวนการเรียนรู้ยังไงให้เด็กๆ ค้นพบตัวเอง โปรเจ็คท์เล็กๆ อย่างเด็กรักป่า การมีนักเรียนน้อยๆ เราได้รู้จักเขามากขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าเราเป็นครูหรือเราเป็นอะไร รู้แต่ว่าเราเป็นเพื่อนกัน เราก็สนุกไปด้วย บางครั้งเราก็รู้สึกว่าเป็นนักเรียน เด็กๆ วาดรูป เราก็วาดรูปด้วย (ยิ้ม) แข่งกับเด็กเหมือนกัน บางทีก็ลอกเขา เขาวาดแล้วมันน่ารัก
ครูมีวิธีการสอนแต่ละวิชาอย่างไร
ครูจืด: ศิลปะที่ผมสอนจะเน้นความงามเล็กๆ ถ้าเราต้องการพูดถึงไลเคน เราก็แค่วางไว้ตรงนั้น แล้วบอกเด็กๆ ว่าไลเคนคือมอสกับเชื้อรามาแต่งงานกัน ไลเคนมีหน้าที่เก็บความชื้น ความชื้นเป็นสิ่งที่ละเอียดมากที่สุดเลย แล้วตัวไลเคน ก็เป็นดัชนีชี้วัดของอากาศบริสุทธิ์ ไลเคนบางตัวเราหาไม่ได้ในกรุงเทพฯ เพราะอากาศไม่บริสุทธิ์ แต่ไปเจออยู่ที่ดอยอินทนนท์ แต่ถ้าเราเจอไลเคนอีกตัวก็แสดงว่าอากาศเริ่มสกปรกแล้วเพราะมันทนและอึดมาก งานศิลปะเล็กๆ มันก็จะขยายองค์ความรู้ที่เชื่อมกับธรรมชาติ
ศิลปะเป็นเครื่องมือให้เขาได้เข้าไปเรียนรู้ธรรมชาติอย่างลึกซึ้งที่สุด ความรู้ที่เขาได้ก็เอามากล่อมเกลาจิตใจตัวเอง แล้วก็ได้ถ่ายทอดไปให้รุ่นน้อง ผ่านความงามของภาษาที่เขาเขียน เช่น บทกวี เขาจะเขียนผิดอักขระ ผิดวรรณยุกต์อะไรก็ช่าง แต่ความหมายที่ออกมามันไม่ผิด
ผมก็เริ่มต้นบทกวีง่ายๆ เช่น ถ้าฉันเป็น… ถ้าฉันเป็นหมา ถ้าฉันเป็นไส้เดือน ถ้าฉันเป็นลิง แล้วก็ลองสมมุติตัวเองว่า ถ้าฉันเป็นหมา แล้วก็จินตนาการว่า คุณจะเล่าเรื่องให้มันดราม่า หรือว่าสนุก ฮึกเหิมยังไง เสร็จแล้วก็เอามาอ่านให้เพื่อนฟัง เอางานศิลปะที่วาดวนให้กันดู จนไปสู่ความคิดเรื่องจัดนิทรรศการ รวมเล่มหนังสือ ฝึกให้เด็กๆ แต่ละจังหวัดผลัดกันเป็นบรรณาธิการ ช่วยกันคิดธีม ช่วยกันเขียน โรเนียวแล้วทำเป็นเล่ม
ส่วนละคร เริ่มจากผมพาเด็กไปแสดงนิทรรศการที่กรุงเทพฯ แล้วเจออาจารย์รัศมี เผ่าเหลืองทอง อาจารย์เห็นงานก็บอก เฮ้ย! ภาพวาดเด็กดีจัง บทกวีเด็กดีจัง อยากลงพื้นที่ไปดูว่าทำไมเขาถ่ายทอดแบบนี้ได้
ลงพื้นที่เสร็จ อาจารย์แนะนำว่าถ้าทำละครสักหน่อยก็น่าจะดีนะ อาจารย์ก็มาช่วยทำละครที่เล่าเรื่องชุมชนจริงๆ มันก็เลยออกมาเป็นภาพวาด บทกวี แล้วก็ละคร
เด็กๆ มีส่วนในการเข้าไปออกแบบอย่างไรบ้าง
ครูจืด: มันเริ่มจากเขาสนใจอะไรด้วย หลังจากที่เขาได้รับพื้นฐานไปแล้ว เขาอยากรู้ต่อแต่เราไม่มี เราก็ต้องไปหาคนอื่น เช่น ธรรมชาติก็ได้จากชมรมคนดูนก การเขียนก็พี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง การทำรายการโทรทัศน์ก็พี่นก-นิรมล รายการทุ่งแสงตะวัน
อันดับหนึ่ง เราต้องกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก สอง หลังจากกระตุ้นเสร็จแล้ว เราต้องให้เด็กสนใจอยากรู้อยากเห็น สามคือ เด็กต้องเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และสี่คือ องค์ความรู้ที่เด็กได้เด็กต้องเอาไปใช้ประโยชน์ต่อสังคม ต้องคืนกลับสังคม
มีวิธีการกระตุ้นเด็กๆ อย่างไร
ครูจืด: ผมมีหมดเลยครับ โทษนะครับ ผมเป็นคนที่ไม่สุภาพเวลาอยู่กับเด็กนะ ไอ้เหี้ย ไอ้ห่า ผมพูดหมด แล้วเด็กไม่ได้เรียกผมครู เขาเรียกผม ‘เสี่ย’ คือไปไหน กินข้าวอะไรก็เสี่ยจ่าย
แต่เวลาเสี่ยทำผิด เด็กก็สั่งลงโทษผมได้นะ ครั้งหนึ่งผมอารมณ์เสีย ไปเตะหม้อหุงข้าว เด็กก็ด่าว่าเสี่ยอายุมากแล้วไม่ควรใช้อารมณ์
กับเด็กที่อยากกินเหล้าน่ะ คือให้กินจนรู้ เราบอกเขาแล้วว่ากินเหล้าแล้วมันไม่ดียังไง แต่เราไม่ห้าม แต่ถ้าคุณแอบกินเหล้าในค่าย คุณก็ต้องยอมรับการลงโทษ
เด็กบางคนประท้วง อยู่ค่ายนานอยากกลับบ้าน ผมไม่ให้กลับ ก็หนีไปอยู่ในป่า ผมก็ให้เพื่อนผู้หญิงไปส่งอาหารให้มัน ประท้วงได้ยาวจนผมใจอ่อน สุดท้ายผมก็บอกว่า กูให้มึงกลับบ้าน แต่กูไม่ให้เงินมึงนะ แต่กูจะบอกวิธีโบกรถกลับ แต่มึงต้องทำเอง
เพื่ออะไร?
ครูจืด: เขาต้องยอมรับความจริง เวลาที่ไปอยู่ในสังคม เขาจะต้องเจอสิ่งที่มันโหดมากกว่านั้น เขาต้องมองว่า สถานการณ์ที่โหดนั่นแหละคือการเรียนรู้ เพื่อจะพัฒนาตัวเองเพื่อที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ สร้างวิสัยทัศน์ในการใช้ชีวิตที่ไม่กลัวปัญหา
ยกตัวอย่างนะ หลายปีก่อนมีข่าวช้างตกเหวที่เขาใหญ่ ตอนนั้นผมนั่งกินข้าวกับเด็ก 2 คน แล้วถามเด็กไปว่า ช้างตกเหวมึงต้องทำยังไงเพื่อไม่ให้มีช้างตกอีก คืนนั้นผมขับรถไปปราจีนบุรีเลย ผมก็ขึ้นไปถือป้ายประท้วงรักช้าง สงสารช้าง ต้องหยุดการตายของช้าง เจอเจ้าหน้าที่บล็อก ไม่ให้ประท้วง ผมก็คุยกับเด็กว่าเอาไงต่อดี เด็กก็บอกว่า เอางี้สิ เราก็เอาป้ายออกแล้วก็แปะเสื้อ “รักช้าง สงสารช้าง ช่วยช้าง” เดินเรียงแถวขึ้นเขาใหญ่เลย
ผมจะใช้สถานการณ์จริงเพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ ศิลปะ ละคร บทกวี จากนั้นเอามาพัฒนาความคิดตนเอง แล้วนำเสนอกับสังคมให้ได้รับรู้
ผมเป็นคนที่ยุ ยุให้เห็นว่าเขาชอบอะไร เป็นเหมือนสะพานเชื่อม เชื่อมให้เขาได้เห็นห้องหัวใจของเขาแต่ละห้องว่าอะไรที่ชอบ อะไรที่เหมาะ เพราะผมไม่สามารถสอนให้ได้ทุกอย่าง ซึ่งการค้นพบตนเองเร็ว เท่ากับเขายืนสองขาอย่างมั่นคงตั้งแต่เด็ก และจะไม่เปลี่ยนเป้าหมายที่เขาชอบ
ยุอย่างไร
ครูจืด: ไม่ต้องเรียนหรอก เรียนแล้วโง่ คนไหนไม่เรียนเนี่ย ผมบอกเลยว่ามึงนี่สุดยอด อย่างตัวผมเอง (โดนไล่ออกจากเพาะช่าง) เรียนศิลปะมา ตัวหลักสูตรศิลปะมันมีข้อจำกัด ทั้งที่เราไปไกลแล้ว แต่เราต้องมาทำอีกอย่างนึง ความคิดมันไปไกลกว่าบล็อกของหลักสูตร จริงอยู่ คนเรียนศิลปะต้องมีทักษะ แต่การถ่ายทอดศิลปะมันไม่จำเป็นจะต้องใช้ทักษะในกรอบก็ได้
ครูคนที่ไล่ผมออกจากเพาะช่างบอกว่า มึงไม่ต้องไปเรียนปริญญาตรี มึงเรียนแค่นี้พอ มึงทำมาหากินได้ ไอ้นั่นเป็นวิชาการ จะให้ศิลปะมันเป็นเรื่องวิชาการและเป็นเรื่องชีวิต คุณเลือกเอา
เราต้องมองทุกสิ่งที่กระทบให้เป็นเรื่องปกติ ถึงจะจบดอกเตอร์แต่ก็ต้องมาขึ้นๆ ลงๆ กับสภาวะอารมณ์ สภาวะสังคมแบบนี้ ก็ยากที่จะเอาตัวรอดได้ แต่ถ้าเราปกติอยู่กับทุกอย่าง ทั้ง คำชม คำด่า curve ชีวิตก็จะเป็นไปอย่างงี้ เราจะชม้อยชม้ายชายตา จะเยาะเย้ย หรืออิ่มสุขอิ่มใจกับวิถีชีวิตแบบไหนก็ได้
ทำอย่างไรให้ปกติ
ครูจืด: วิธีที่ดีที่สุดคือเราต้องยอมรับความจริง และประคองทุกอย่างให้อยู่ในความเป็นปกติเท่านั้น ความเป็นปกติเท่านั้นที่เป็นสากล ความเป็นปกติเท่านั้นที่มันเป็นหัวใจของคนที่จะบรรลุทุกอย่าง ยากนะ
ในฐานะคนช่างยุ ทำให้เด็กสนใจ อยากเรียนรู้ คนแบบนี้สำคัญขนาดไหน
ครูจืด: แล้วแต่บริบทนะ เพราะบางทีมันก็ใช้ได้ บางทีมันก็ใช้ไม่ได้นะครับ บางทีผมก็ไม่ใช้ตัวนี้ ก็มีลูกปลอบประโลมกันด้วย เช่น เด็กค่ายคนหนึ่ง ถูกยัดเยียดข้อหาว่าเป็นโจรลักเล็กขโมยน้อย เขารู้สึกผิดหวัง คิดว่าตัวเองทำดีมาตลอดเลย เราก็บอกว่ามันมีอยู่สองทาง ทางหนึ่งคือ ต้องพิสูจน์ว่ามึงบริสุทธิ์ กับอีกอันนึงคือ มึงจะบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์ก็ได้ ปกติกูก็รักมึงอยู่แล้ว กูเห็นว่ามึงมีจิตใจแบบไหน มึงจะเฉยกับมันตั้งแต่ต้นก็ได้ ไม่ต้องคิดอะไรมาก
ครูจืดคิดว่าตัวเองเป็นครูมั้ย
ครูจืด: ไม่เคยเลย ชาวบ้านเรียกผมลุงจืด เด็กหน่อยก็อาจืด ไม่มีบุคลิกเป็นครูหรอกครับ โดยมารยาทก็ไม่น่าใช่ด้วย
พูดกูมึง กับเด็กทุกคน?
ครูจืด: คนไหนที่เป็นเนื้อแท้ของเด็กรักป่า ผมพูดกูมึงกับมันทุกคนเลย ถ้าเป็นคนที่ ผม ครับ แสดงว่าเหมือนยังห่างๆ ไม่ต้องเอาผมเป็นแบบอย่าง เพราะผมไม่มีคุณสมบัติอันเพียบพร้อมของคนดี ผมก็เลวทุกข้อ ไม่มีศีล 5
30 ปีที่ผ่านมา เด็กที่ผ่านเด็กรักป่ามา มีนิสัยอะไรที่ติดตัวไปบ้าง
ครูจืด: เห็นว่าไอ้พวกนี้มันอยู่ในสิ่งมันชอบ และไม่เคยฟูมฟายเลยจนถึงปัจจุบัน แล้วสุดท้ายมันก็เจอทางของมัน เป็น expert ถึงแม้จะไม่จบอุดมศึกษา
ยกตัวอย่าง ‘เซียน’ ที่ทำหมอลำหุ่น คณะเด็กเทวดา เขาเอากระติ๊บข้าวมาทำเป็นหมอลำหุ่น แล้วปัจจุบันเปิดเป็นศูนย์ท่องเที่ยว ถือเป็นนวัตกรรมของชุมชน มันเอากิจกรรมชาวบ้านกับชุมชนมาสร้างปรากฏการณ์ให้กับจังหวัดมหาสารคาม เดิม มหาสารคามเป็นจังหวัดที่ไม่มีเทศกาลงานช้างเหมือนสุรินทร์ ไม่มีเทศกาลเข้าพรรษาเหมือนอุบล แต่ตอนนี้มหาสารคามมีเทศกาลหุ่นฟางยักษ์จากผลงานเด็กๆ มีอาจารย์จากมหา’ลัยทั่วประเทศมาขอดูงานมัน ซึ่งไม่จบปริญญาตรี
เวลาเจอปัญหา หรือเวลาเจอวิกฤติ เด็กที่ผ่านเด็กรักป่ามาจะมีวิธีแก้หรือจัดการอย่างไร
ครูจืด: อย่างผมไม่ได้มองอะไรเป็นปัญหานะ แต่ผมมองความจริงแล้วมึงก็ต้องอยู่กับมันให้ได้ มีแค่นั้น
แล้วเด็กจะอยู่กับความจริงได้อย่างไร
ครูจืด: เวลาไปไหน ผมไม่ใช้รถปิคอัพนะ ผมขับรถตู้ จะได้หันไปคุยกับเด็กๆ ได้ตลอด ขับไปๆ ระหว่างทางอาจจะสวย แต่ข้างหน้ามีเหว ชวนเด็กคุยว่า ถ้ามึงเดินไปเจอเหว หรือมึงเดินไปเจอทางโค้งเนี่ย ถ้ามึงเดินต่อนะ มึงก็จะเห็นว่าโค้งนี้มันมีทางไปของมัน อย่างโค้งข้างหน้าเนี่ยดูเหมือนมันสุดนะ แต่ถ้ามึงไปต่อ มึงจะเห็นอะไรบางอย่าง เวลาเจอปัญหาก็เหมือนกัน มึงอย่าถอย มึงเดินเข้าไปแล้วมึงก็จะเห็นทางออก
เด็กๆ ที่ผ่านเด็กรักป่าไป อะไรที่ทำให้เขาสอบผ่านในสายตาครู
ครูจืด: เฉพาะเด็กที่กินนอนกับเด็กรักป่า อยู่ตั้งแต่ ป.4 – 5 – 6 ผมโอเคกับเขาทุกคน
เขาชอบที่จะแบกรับ ชอบที่จะหาทางออก ชอบที่จะมองมุมแบบใหม่ บางคนไปเป็นครู เขาก็ไปเป็นครูที่มีวิธีคิดในรูปแบบที่เขาเคยเป็น บางคนทำงานเป็นเลขาฯ เขาก็ยังเชื่อมสัมพันธ์กับอดีตของเขาเข้ากับองค์กร พวกที่อยู่ในวงการสื่อ หรือเอ็นจีโอ ผมก็เห็นเขารับผิดชอบหัวใจของเขาในเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม เรื่องการศึกษา แล้วเขาไม่มองอะไรอย่างผ่านๆ แต่เขาสามารถที่จะมองเชื่อมโยงในจุดเล็กๆ หลายจุด
คิดว่าดอกผลของเด็กรักป่าคืออะไร
ครูจืด: ถ้าโดยภาพรวมเด็กรักป่าก็เป็นหนึ่งในขบวนการที่ปรับปรุงพระราชบัญญัติการศึกษา ปี 2542 เนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับเดิม ผู้ปกครองมีหน้าที่ส่งบุตรหลานให้มีการศึกษา ซึ่งคำว่าหน้าที่ = บังคับ แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้เปลี่ยนเป็นว่าประชาชนมีสิทธิที่จะจัดการศึกษาและมีกฎหมายรองรับ มันจึงเกิดการศึกษานอกระบบ ในระบบ การศึกษาทางเลือก การศึกษาตามอัธยาศัย เด็กรักป่าก็มีที่ยืน จากที่เป็นโรงเรียนเถื่อน รัฐไม่ยอมรับ สุดท้ายเด็กรักป่าก็อยู่ตรงนี้
อันที่สอง จากที่ที่เด็กรักป่าเป็นลักษณะแบบนี้ คือ เป็นป่า เป็นทุ่งนา ก็ถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบขับเคลื่อนเรื่องกิจกรรมเรื่องการศึกษาทางเลือก แล้วสังคมก็บอกว่านี่เป็นการศึกษาอีกประเภทหนึ่งที่ควรมีคนทำเยอะๆ แต่มันไม่ใช่ข้อดีของเรานะ เพียงแต่ว่าเราเกิดก่อน ให้คนที่ตามหลังได้คิดและอุ่นใจว่า อ้อ! มันมีคนทำมาแล้ว และมันก็เป็นประโยชน์ต่อลูกหลานเขา
ครูหน่อย: ภูมิใจนะ ดอกผลก็คือเราได้เห็นคนที่ผ่านกระบวนการค่ายของเรา เขาเติบโตแล้วเขามีความสามารถเฉพาะทางอย่างหลากหลาย พอไปอยู่ในสังคมเขาก็เป็นผู้นำ ไปอยู่ในองค์กรไหนเขาก็เป็นผู้นำ แล้วก็ใช้ศิลปะในการทำงาน แค่นี้เราก็รู้สึกภูมิใจแล้ว
เด็กๆ จากเด็กรักป่า เขามีโอกาสทำงานหลากหลาย ได้เจอคนเยอะ แล้วเขาก็ได้คำชมเยอะในสิ่งที่ได้เขาแสดงออก ว่าแสดงออกในสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง จึงเป็นโอกาสให้เขาเก็บสะสมความรัก ความภูมิใจในตัวเอง
คนที่เป็นผู้นำคือคนที่สามารถเก็บรักษาความรัก ความภูมิใจตัวเองได้มาก แล้วก็เลือกทางของตัวเองได้เหมาะสม มันจะเหมือนการเก็บไมล์มาเรื่อยๆ จนมาถึงตอนที่ฉายภาพตัวเองได้ชัดเจนว่า เราทำอะไรได้บ้าง เราอยู่ตรงไหนเราถึงเหมาะสม