- ความอยากรู้อยากเห็น ความอยากเล่น ความสามารถในการเข้าสังคม และการวางแผน ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่าคุณลักษณะทั้ง 4 อย่างนี้ ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ มาตลอดประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการมนุษย์ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์แห่งการเรียนรู้
- ความอยากเล่นเป็นแรงขับช่วยส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นให้ต่อยอดและเกิดการเรียนรู้หลายรูปแบบ เช่น ด้านกายภาพ (ปีนป่าย วิ่งไล่จับ) การฝึกการสื่อสาร ฝึกการเข้าสังคม การทำตามกติกา
- ด้วยเหตุนี้ การเล่นจึงไม่ใช่การหยุดพักจากการเรียน แต่เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างยอดเยี่ยม เพราะเด็กมีความสุขและสนุกขณะกำลังเรียนรู้ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นได้ยากเหลือเกินในห้องเรียนสี่เหลี่ยมกำแพงล้อมรอบ
Photo by frank mckenna on Unsplash
มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมพลังมหัศจรรย์แห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เราเห็นพัฒนาการทางชีวภาพของเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนค่อยๆ เติบโต ในแต่ละช่วงวัยมนุษย์ถูกออกแบบให้มีคุณลักษณะ 4 อย่างที่ช่วยนำทาง สร้างสรรค์การเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ตั้งแต่เด็ก คุณลักษณะทั้ง 4 อย่างนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพรสวรรค์ แต่เป็นพลังขับเคลื่อนตามธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในดีเอ็นเอ (DNA) ของทุกคน นั่นคือ
ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) ความอยากเล่น (Playfulness) ความสามารถในการเข้าสังคม (Sociability) และการวางแผน (Planfulness) ในทางวิทยาศาสตร์อธิบายว่า คุณลักษณะทั้ง 4 อย่างนี้ ผ่านการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (natural selection) มาตลอดประวัติศาสตร์แห่งวิวัฒนาการมนุษย์ เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์แห่งการเรียนรู้
ในเมื่อเด็กทุกคนมีศักยภาพแห่งการเรียนรู้ แต่แล้วทำไมในสภาพความเป็นจริง ดูเหมือนว่าเด็กๆ กำลังถูกจำกัดและปิดกั้นจนไม่สามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้?
“โรงเรียน” เป็นเหตุผลหลักที่สร้างแรงสั่นสะเทือนให้คุณลักษณะทั้ง 4 อย่างทำงานไม่ได้ โดยเฉพาะ 3 อย่างแรก ระบบการศึกษาที่เอาแต่เน้นการสอนไปตามหลักสูตรและไม่ยืดหยุ่นตามความสนใจผู้เรียน ทำให้พลังขับเคลื่อนแห่งการเรียนรู้ (ตามธรรมชาติ) เป็นอัมพาต
ในทางกลับกัน เราเห็น ความอยากรู้อยากเห็น, ความอยากเล่น, ความสามารถในการเข้าสังคม และการวางแผน เติบโตผลิบานกับนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนทางเลือก โรงเรียนอิสระ และบ้านเรียน (Home School)
ปีเตอร์ เกรย์ ศาสตราจารย์แห่งวิทยาลัยบอสตัน (Boston Collage) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา จิตวิทยาพัฒนาการ การศึกษาและมานุษยวิทยา ผู้เขียนหนังสือ “Free to Learn” และตำราด้านจิตวิทยา อธิบายถึงธรรมชาติของการเรียนรู้ด้วยตัวเองไว้ ดังนี้
ความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity)
“Human beings are naturally curious about things.”
“ตามธรรมชาติแล้วมนุษย์มักอยากรู้อยากเห็นเรื่องราวต่างๆ”
อริสโตเติล (Aristotle: 384-322 ก่อนคริสตกาล) นักปรัชญาคนสำคัญในยุคกรีกกล่าวไว้ มั่นใจได้เลยว่าคงไม่มีใครในยุคนี้กล้าปฏิเสธคำกล่าวนี้
หลังคลอดออกมาเด็กทารกเริ่มให้ความสนใจสิ่งรอบตัว มองหาวัตถุแปลกใหม่แล้วสนใจสิ่งนั้นนานกว่าสิ่งที่เคยพบเห็น เมื่อเคลื่อนไหวใช้แขนขาได้ดีขึ้นจึงค่อยๆ ขยับเขยื้อนสำรวจอาณาจักรเล็กๆ และสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และหยิบจับเพราะต้องการรู้ว่าพวกเขาสามารถทำอะไรกับวัตถุต่างๆ รอบตัวได้บ้าง
ยิ่งเมื่อค่อยๆ ซึมซับภาษาพูดจนสื่อสารได้ เด็กๆ จึงมักมีคำถามพรั่งพรูออกมาไม่รู้จบ ความอยากรู้อยากเห็นที่ว่ามานี้ไม่มีทางอันตธานหายไป มีแต่จะขยายขอบเขต มีแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ทดลองและเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นหากไม่มีปัจจัยฉุดรั้ง เสียดายที่ระบบการศึกษากลับกลายมาเป็นอุปสรรค ทั้งที่เด็กทุกคนมีคุณสมบัติเป็นนักวิทยาศาสตร์โดยธรรมชาติมาตั้งแต่เกิด
ความอยากเล่น (Playfulness)
ความอยากเล่นเป็นแรงขับที่ช่วยส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็นให้ต่อยอด ขณะที่ความอยากรู้อยากเห็นเป็นแรงจูงใจให้เด็กแสวงหาความรู้และสร้างความเข้าใจใหม่ๆ การเล่นทำให้เกิดความสนุกสนาน ความอยากเล่นเพราะติดใจในความสนุกสนานจากการเล่น กระตุ้นให้พวกเขาได้ฝึกฝนทักษะใหม่และได้ใช้ทักษะเหล่านั้นในทางปฏิบัติอย่างสร้างสรรค์ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ คือ กระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองที่ต่อเติมทักษะชีวิต ทำให้พวกเขาอยู่รอดและใช้ชีวิตได้อย่างผาสุกในระยะยาว
การเล่นทำให้เกิดการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ
- ด้านกายภาพ การปีนป่าย วิ่งไล่จับ พัฒนาความแข็งแกร่งทางร่างกายและการเคลื่อนไหว
- การเล่นที่มีความเสี่ยง กิจกรรมผาดโผน เช่น การปีนป่ายในระดับสูงกว่าปกติ การเล่นสกี สเก็ตบอร์ด ปั่นจักรยาน การได้ลองใช้กรรไกรหรือมีดในครั้งแรก สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆ เรียนรู้การจัดการกับความกลัวและมีความกล้าหาญ (ในขั้นแรกการเล่นที่มีความเสี่ยงควรอยู่ในความดูแลของพ่อแม่หรือครู เพื่อให้คำแนะนำที่ถูกต้องในการปฏิบัติ)
- การเล่นทำให้ได้ฝึกใช้ภาษาสื่อสารระหว่างกัน ในช่วงตั้งแต่เด็กเริ่มพูดได้ไปจนถึงอายุราว 3 ขวบ การถามคำถามของพวกเขาไม่ได้เป็นการถามที่ต้องการคำตอบที่ถูกต้องไปเสียทีเดียว แต่พวกเขากำลังเล่นกับคำศัพท์ที่เคยได้ยินได้ฟังและเข้าใจ เป็นพัฒนาการด้านการใช้ภาษาที่จะนำไปสู่ทักษะการใช้ภาษาในอนาคต
- การเล่นเป็นการเข้าสังคม ฝึกฝนการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทำให้เด็กๆ เรียนรู้การเจรจา ประนีประนอม และปรับตัวเข้ากับคนรอบข้าง
- การเล่นเกมเป็นการเรียนรู้การปฏิบัติตามกติกาและกฎเกณฑ์ บางเกมช่วยพัฒนาทักษะการคิด อย่างมีเหตุผล และบางเกมให้อิสระได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์
- การละเล่นท้องถิ่น บางพื้นที่มีการประดิษฐ์ของเล่นประจำท้องถิ่นจากวัสดุรอบตัว ทำให้เด็กๆ ได้ทำความรู้จักกับสภาพแวดล้อมและได้เรียนรู้ทักษะงานประดิษฐ์และงานช่าง เช่น การตัด การเหลา การงัด แงะ แกะ ประกอบ เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ การเล่นจึงไม่ใช่การหยุดพักจากการเรียน แต่การเล่นเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่าง ยอดเยี่ยม เพราะเด็กมีความสุขและสนุกสนานในขณะที่กำลังเรียนรู้ ซึ่งความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นได้ยากเหลือเกินในห้องเรียน
ความสามารถในการเข้าสังคม (Sociability)
การศึกษาทางมานุษยวิทยา บอกว่า เด็กๆ เรียนรู้จากการดูและฟังจากผู้คนรอบข้างมากกว่าวิธีอื่น สังคมมนุษย์เรียนรู้กันและกันด้วยการสื่อสารผ่านภาษา เมื่อเด็กเติบโตขึ้นในระดับที่ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัวด้วยเหตุผล พวกเขามักตั้งคำถาม แต่พวกเขาไม่ต้องการได้รับคำบอกเล่าในสิ่งที่พวกเขาไม่สนใจ แต่ต้องการได้ยินได้ฟังคำตอบในเรื่องที่สนใจและสงสัย อินเทอร์เน็ตและระบบเครือข่ายความรู้ทำให้เด็กในโลกยุคใหม่เข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก ยิ่งเปิดประตูให้กับโลกแห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างอิสระ
การวางแผน (Planfulness)
สิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น คือ มนุษย์ไม่ได้ใช้ชีวิตตอบสนองสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น แต่สมองของมนุษย์ชอบการคิดและคาดการณ์ล่วงหน้า หรือเรียกว่า การวางแผน
คุณลักษณะนี้เป็นด้านที่พัฒนาช้าที่สุดแต่มีความสำคัญมาก เพราะเชื่อมโยงมาสู่การตั้งเป้าหมายในชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่กระแสสังคมปัจจุบันชวนให้ตั้งคำถามอยู่เสมอ คุณลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากคุณลักษณะ 3 อย่างแรกบกพร่อง การเรียนรู้ด้วยตัวเองส่วนนี้ผลักดันให้เกิดการวางเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายเล็กๆ สำหรับบางเรื่อง หรือเป้าหมายใหญ่ในอนาคต เด็กที่สามารถสร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเองจะสามารถค้นหาความรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างมั่นใจ
จากการศึกษาพบว่า เด็กที่มีอิสระในการเรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆ โดยปราศจากกรอบหรือข้อกำหนดของผู้ใหญ่ ทั้งในและนอกโรงเรียนประสบความสำเร็จในเรื่องนี้มากกว่าเด็กที่ต้องคอยปฏิบัติตามแบบแผนในระบบ พวกเขามีโอกาสคิด ทดลองทำ ได้ทำผิดพลาดและเรียนรู้จากข้อผิดพลาด โดยไม่ต้องกังวลถึงคำตัดสินของผู้ใหญ่
ถึงตรงนี้หลายคนอาจกำลังตั้งคำถามต่อว่า ในเมื่อหลีกเลี่ยงระบบการเรียนการสอนในห้องเรียนแบบจำกัดกรอบไม่ได้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแม้แต่ครูเองจะหาทางออกให้เด็กๆ สร้างกระบวนการเรียนรู้ด้วยตัวเองได้อย่างไร?
คำตอบ คือ ให้เวลาและพื้นที่เด็กได้เล่นและสำรวจสิ่งรอบตัวให้ได้มากที่สุด ไม่เฉพาะในกลุ่มเพื่อนนักเรียนด้วยกันเท่านั้น แต่รวมถึงการออกไปเรียนรู้กับชุมชนและสังคมรอบข้าง ให้พวกเขาพบเจอกับผู้คนหลายวัยหลากอาชีพ ให้อิสระพวกเขาได้เข้าถึงเครื่องมือและอุปกรณ์ที่ช่วยส่งเสริมการเล่นในหลายมิติ ให้โอกาสพวกเขาแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงด้วยเหตุผล สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยสำหรับการเรียนรู้ ที่ปราศจากการกลั่นแกล้งจากเพื่อนร่วมชั้น และไม่มีการออกคำสั่งโดยพลการจากครูและพ่อแม่
ด้วยวิธีการเหล่านี้ พลังมหัศจรรย์แห่งการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็กๆ จะขับเคลื่อนไปได้อย่างอิสระและไม่มีสิ้นสุด
อ้างอิง
psychologytoday.com
psychologytoday.com (freedom-learn)