เด็กควรจะเข้าโรงเรียนตอนไหน? โรงเรียนแบบไหนที่ควรจะส่งลูกไป? โรงเรียนราคาสูงหรือโรงเรียนใกล้บ้านดี? และอีกสารพัดคำถามในประเด็น ‘เลือกโรงเรียนให้ลูก’ สามารถหาคำตอบกันได้ที่รายการโรคพ่อแม่ทำตอนที่ 4
เมื่อลูกของเราถึงช่วงที่ต้องเข้าโรงเรียน ซึ่งครูณาก็บอกว่าใช้เวลาอยู่เยอะกว่าที่บ้านซะอีก นับเอาตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม แล้วก็มหาวิทยาลัย รวมกันก็ปาเข้าไป 10 กว่าปีแล้ว
ยิ่งเดี๋ยวนี้เขาสมัครเรียนกันเร็วมาก ที่ผมตกใจคือเด็ก 2 ขวบกว่าต้องอยู่โรงเรียนแล้ว มันก็เป็นความกลุ้มใจเล็กๆ ของคนไม่ชอบเรียนหนังสืออย่างผม ตอนเด็กๆ ก็อาจถูก ‘โรคพ่อแม่ทำ’ หรือโรคใครทำไม่รู้ ทำให้เราไม่ค่อยอยากไปโรงเรียน คือโรงเรียนมันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น แต่ความรู้สึกนี้มันมาทุกครั้ง ใจเราก็ไม่อยากให้ลูกไปโรงเรียนเร็วนัก หรือไม่อยากให้ลูกไปโรงเรียน เพราะในใจลึกๆ เราก็รู้สึกว่าช่วงเวลาที่อยู่โรงเรียนเราไม่มีความสุขเลย
ในโรคพ่อแม่ทำอีพีนี้ เราจะมาคุยกันต่อในประเด็น ‘การเลือกโรงเรียนให้กับลูก’
บทความนี้ถอดความมาจาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ตอนที่ 4 มหากาพย์การเลือกโรงเรียน (โรงเรียนที่ดีของพ่อแม่ โรงเรียนที่แย่ของลูก) ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
รับฟังในรูปแบบพอดแคสต์ได้ที่นี่
VIDEO
เด็กควรจะเข้าโรงเรียนตอนไหน
ขอเริ่มด้วยคำถามนี้ครับ เด็กควรจะเข้าโรงเรียนเมื่อไร? อย่างลูกผม 2 ขวบแล้ว ส่งไปเรียนเร็วๆ แบบนี้มันจะดีไหมครับ?
ความจริงมันขึ้นอยู่กับเด็กแต่ละคนมากๆ ซึ่งพอตอบนี้ก็ทำให้หาข้อยุติยาก พี่ขอยกตัวอย่างของฟินแลนด์ เขาจะไม่ให้เด็กเข้าโรงเรียนจนกว่าจะ 6 ขวบ ซึ่งสอดคล้องกับการเลี้ยงเด็กแบบ Twelve Senses (สัมผัสรู้ของแต่ละช่วงวัย 12 สัมผัส) และโครงสร้างสมอง
โครงสร้างสมองของเด็กก่อน 7 ขวบ เขาไม่ได้พร้อมเรียนหนังสืออัดแน่นความรู้ แต่เป็นวัยที่เขาควรได้เล่น เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถทำที่บ้านได้ เช่น ถ้าแถวบ้านที่เราอยู่มีเด็กคนอื่นๆ เราสามารถให้ลูกไปเล่นด้วยกัน แล้วค่อยส่งเขาไปโรงเรียนตอนป.1 ก็ได้
อีกอย่างช่วง 3 ปีแรก เป็นช่วงสร้างโครงบุคลิกภาพ โดยเฉพาะปีแรก การที่เราให้ลูกไปอยู่เนอสเซอรี่ก่อน 1 ขวบ อย่างที่คุยกันตอนที่ 1 ว่า เด็กเกิดมาแบบขวดเปล่า สิ่งแรกที่เด็กควรจะรู้คือพ่อแม่มีอยู่จริง เป็นความมั่นคงในจิตใจ คุณหมอคิวโกกุ (ชิเงโมริ คิวโกกุ) คนเขียนหนังสือ ‘โรคแม่ทำ’ เขาจะบอกเลยว่า ถ้าให้คนอื่นมีบทบาทในการเลี้ยงลูกเรามากเกินไปในช่วงขวบปีแรก เด็กจะเกิดความสับสนและไม่สามารถสร้างการยึดเหนี่ยวทางจิตใจกับใครที่มั่นคงได้ เขาจะรู้สึกเคว้ง เพราะชีวิตและตัวตนของแม่ทางจิตใจไม่ได้มีอยู่จริงที่เขาจะเกาะเกี่ยวได้
ฉะนั้น ให้ลูกเข้าเนอสเซอรี่ก่อน 3 ขวบ เป็นสิ่งที่ไม่ควรมากๆ เพราะว่าเด็กยังไม่รู้ว่าใครคือพ่อแม่ตัวจริง แล้วช่วง 1 – 3 ขวบ เป็นช่วงที่เขาเรียนรู้วิถีชีวิต ส่วนใหญ่พ่อแม่มักคิดว่าเอาลูกไปอยู่เนอสเซอรี่เพื่อให้ลูกมีสังคมกับเด็กวัยเดียวกัน อันนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจผิดนะ เพราะเด็กวัยเดียวกันไม่ได้หมายความว่าจะเป็นแบบแผนชีวิตให้กันได้ อย่างเม้งมีเพื่อน เพื่อนต้องอายุเท่าเราไหม?
ทุกวันนี้ก็ไม่ครับ
ในชีวิตจริงๆ เราจะเห็นว่าเด็กที่เป็นเพื่อนกับผู้ใหญ่ เป็นเพื่อนกับรุ่นพี่ เขาได้เรียนรู้ในความหลากหลายมาก แต่พอโรงเรียนให้เขาเรียนกับคนอายุเท่ากัน อยู่ในกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน มันเป็นการสร้างสังคมที่ไม่จริง
ดังนั้น เด็ก 1 – 3 ขวบ จะไปเรียนรู้อะไรกับคำว่าชีวิตจากคนที่อายุ 1 – 3 ขวบเท่ากันล่ะ เขาควรได้รับแพทเทิร์นของชีวิตจากคนที่เป็นผู้ใหญ่ คนที่มีจิตใจแข็งแรง สามารถสอนเขาให้รู้จัก Sense ของชีวิต Sense ของความรัก มันจะค่อยๆ ประทับบรรจุอยู่ในเซลล์
เด็กวัย 1 – 3 ขวบ เขายังไม่ต้องการเล่น ช่วงที่เด็กต้องการเล่น ต้องการเพื่อน คือ 5 – 6 ขวบขึ้นไป เพราะเขาต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าตัวฉันเป็นยังไง ความรักรอบๆ ฉัน อันนี้ต้องเรียนจากผู้ใหญ่ที่มั่นคง เพราะฉะนั้น มันไม่ใช่การไปโรงเรียนแล้วคุณจะบอกว่า คุณกำลังให้สังคมกับลูก พี่ไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไหร่
ฟังอย่างนี้อาจจะมีคนแย้ง อย่างเช่นเคสเพื่อนผม ลูกเขาเป็นคนขี้อาย พ่อก็กลัวว่าลูกจะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ เพราะเล่นแต่กับพ่อแม่ การส่งไปเตรียมตัวแบบนี้ก็อาจมีความจำเป็น ครูณาคิดว่าไงครับ?
ความขี้อายเกิดจากความไม่มั่นคงในจิตใจ ยิ่งเราพยายามผลักเขาออกไปอยู่กับคนอื่น เขายิ่งรับมือจัดการตัวเองยากขึ้นอีก กลายเป็นตอกย้ำความขี้อายของเขา เด็กที่ขี้อายต้องการสัมผัสที่แข็งแรงจากพ่อแม่ เพื่อส่งพลังไปข้างในตัวเขาบรรจุเป็นโปรแกรม เป็นความมั่นคงในจิตใจ ไม่ใช่การผลักให้เขาเข้าไปอยู่ในสังคม สิ่งที่ต้องระมัดระวังมากๆ เลย เราจะเผลอพูดกับลูกว่า “คนอื่นๆ เขาไม่เห็นขี้อายเลย เขาก็เล่นกันได้” ทำแบบนี้เรายิ่งได้ลูกที่ขี้อาย
เด็กที่ขี้อายกับเด็กที่เป็นคนสงบจะเป็นคนละอย่างกัน เด็กที่เป็นคนสงบ คือ เขาสามารถจัดการตัวเองได้ เขาอาจไม่ได้ต้องการปฏิสัมพันธ์หรือเล่นอะไรกับใคร แต่เด็กขี้อาย คือ เรื่องบางเรื่องที่ควรจะจัดการด้วยตัวเอง สื่อสารด้วยตัวเอง เขาก็จะไม่พูด ไม่ทำ ไม่อยากที่จะข้องเกี่ยวกับใคร
ถ้าอย่างนั้นเด็กที่เล่นหรือสนิทกับผู้ใหญ่ แต่ไม่ได้สนิทกับเด็กรุ่นเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องแปลก
ใช่ มันเป็นเรื่องธรรมดามากเลย เพราะเด็กก่อน 3 ขวบ เขาควรจะฝึกอยู่กับคนที่เขาคุ้นชินก่อน แล้วเมื่อเขาอยู่กับคนที่คุ้นชินได้แล้ว แปลว่าเขาพร้อมแล้ว ออกไปสู่โลกภายนอก เรายังไม่ต้องรีบเร่งเร้าเขา เพราะเราต้องการให้เขาเห็นแบบแผนชีวิตด้วยความมั่นคงก่อน
ผมขอเป็นฝ่ายค้านอีก ถ้างั้นไปเรียนก็ไม่เป็นไรสิ เพราะเดี๋ยวก็กลับมาเจอพ่อแม่แล้ว อีกอย่างไปเรียนจะได้เจอคนอื่นบ้าง
พี่มักจะบอกพ่อแม่ว่า โรงเรียนเป็นอันดับ 2 ทางด้านจิตใจของเด็กนะ พ่อแม่คืออันดับ 1 โอเค คุณส่งลูกไปก็ไม่ได้ผิดอะไร จริงอยู่ไปเรียนเดี๋ยวก็กลับมาเจอพ่อแม่ แต่พ่อแม่เนี่ย คุณไม่ได้ทำงานหนักหรือไม่ได้แบกความเครียดกลับมาที่บ้านอีกใช่ไหม? เพราะขณะที่เด็กไปโรงเรียน เขาต้องไปเจอสังคมที่แปลกแยก ไปฝึกเพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับมือสิ่งต่างๆ แล้วการเรียนตั้งแต่ 8 โมง ถึง 3 – 4 โมงเย็น มันทำให้เด็กเหนื่อยนะ พอกลับมาบ้าน ถ้าเป็นอนุบาลที่เข้าใจเด็กจะไม่มีการบ้าน ก็ยังโอเค
แต่ประเด็นที่กังวลคือ พ่อแม่กลับจากทำงานมาเหนื่อยๆ แล้วคุณอาจจัดการลูกแบบผิดๆ เช่น ให้ลูกเรียนพิเศษ ทำการบ้าน เพราะตอนนี้เป็นเรื่องธรรมดามากนะที่เด็กอนุบาลมีการบ้านเยอะ แล้วพ่อแม่ก็ไปแบบว่า “ไปว่ายน้ำลูก” “ไปเรียนศิลปะลูก ธรรมดาไม่ได้ใช้สมอง” เด็กไม่ได้ใช้สมองจริง แต่ว่าเด็กต้องฝืนตัวเองเยอะมากที่จะทำบางอย่าง ไม่ได้อยู่กับความสงบในตัวเขา
ที่พี่อยากให้เด็กได้อยู่แบบสงบๆ เพราะเขาจะได้กลับมาที่ข้างในตัวเองเพื่อสืบค้นว่าเขาจะเป็นอะไร เขาเกิดมาเพื่อเป็นอะไร แต่เรากลับไปสร้างกระบวนการที่ทำให้เด็กต้องออกไปทำนู่นทำนี่ เขาไม่มีโอกาสสำรวจตัวเอง มันมีหนังสือที่อธิบายนะ ชื่อ ‘The Element : ฉันเกิดมาเพื่อสิ่งนี้’ เขาบอกว่า เด็กแต่ละคนกำบางอย่างมาเกิดด้วย แต่การเลี้ยงดูที่ผิด กับโรงเรียนที่จัดการกับเวลาของเด็กมากเกินไป ทำให้เด็กปล่อยสิ่งที่เขากำมา
ยกตัวอย่างลูกพี่คนเล็ก เราสืบค้นจนพบว่าเขาเกิดมาเพื่อเป็นคนที่ทำงานปั้น คือตั้งแต่ 2 ขวบครึ่ง เจ้านี่อยู่กับงานปั้นมาตลอด เราก็รู้สึกว่า เอ้อ..เขาคงเกิดมาเพื่อเป็นสิ่งนี้ เพราะงั้นเจ้าตัวเล็กของพี่ พี่ไม่ได้ให้ไปโรงเรียนจนกระทั่ง ม.1 นะ เพราะพี่รู้สึกว่าในเมื่อเขาเป็นสิ่งนี้ อยู่กับมันแล้วเขามีความสุข พี่ก็อยากที่จะซัพพอร์ตเขา
แต่ในขณะที่เด็กคนอื่นๆ เขากำบางอย่างมาเกิดแต่เขายังไม่รู้ พอข้างในเรียกร้องว่าอยากเล่นอันนี้ เขากำลังจะทำ แล้วพ่อแม่ไม่เข้าใจก็บอกว่า “ไม่ได้ลูก ไร้สาระ ยังมีการบ้านอยู่” พอไปโรงเรียนก็ไม่เคยได้ทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ได้กลับมาสำรวจอินเนอร์ของตัวเอง ชั่วโมงนี้ครูให้ทำอันนี้ พอหมดชั่วโมงปุ๊บต้องมาพยายามขยับๆ ตัวเองเพื่อไปทำอีกอย่างหนึ่ง
ในหนังสือเขาบอกว่า ช่วงที่เด็กพยายามทำความเข้าใจสิ่งที่ตัวเองกำมาเกิด เขากลับต้องใช้เวลานี้เพื่อไปทำสิ่งที่ผู้ใหญ่ลงตารางชีวิตไว้ให้ แล้วเรียกว่า ‘วินัย’ ซึ่งไม่ใช่ ไปโรงเรียนกลับมาเหนื่อย ยังต้องมาทำตามตารางที่พ่อแม่จัดให้อีก สุดท้ายสิ่งๆ นี้ก็ถูกปล่อยออกไปจากชีวิต ไม่ได้ทำ ท้ายที่สุดวันหนึ่งลืมว่า ฉันกำอะไรมาเกิด เพราะฉันไม่เคยใส่ความสนใจไปกับตรงนั้น แล้วพอตอนที่เขาอายุ 15 – 16 ปี เราก็ถามว่า ‘ลูกอยากเป็นอะไร’ ‘ทำไมตัวเองถึงไม่รู้’ ก็จะไปรู้ได้ยังไง เราไม่เคยฝึกเขาให้กลับมาที่ข้างใน
ดังนั้น พอเขาไม่รู้ว่าเกิดมาเพื่อเป็นอะไร มีศักยภาพอะไร บางคนมารู้ตัวอีกทีอายุ 30 กว่านะ เขาเริ่มรู้สึกว่างเปล่าข้างใน ทำไมงานที่ทำหรือสิ่งที่ทำ มันถึงไม่มีอะไรให้กับชีวิตเรา แล้วก็กลับมาถามตัวเองว่าฉันเกิดมาเพื่ออะไร ฉันเป็นใคร แล้วเราก็หาไม่เจอ
สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่า เราควรจะเข้าใจเด็กยังไง ถ้าท่านจะเอาลูกไปโรงเรียน เราจะจัดการกับเขาตอนที่กลับมาบ้านและช่วงเสาร์-อาทิตย์ยังไง เราต้องทำความเข้าใจสิ่งนี้ให้ชัดเจนจริงๆ เพื่อว่าเราจะไม่ไปทำให้เขาจัดการตัวเองตามสิ่งที่ผู้ใหญ่จัดตารางให้
ก็ต้องเป็นพ่อแม่ที่ใจแข็งนิดนึง เป็นพ่อแม่แบบทวนกระแส เพราะอย่างที่ครูณาบอกว่าเราต้องปล่อยวาง ให้ลูกเรียนวิชาการท่องจำให้น้อยที่สุด แต่ทุกวันนี้เราก็ถูกสังคม Automatic นิดนึงว่า ต้องส่งลูกเรียนเร็วๆ จะได้ฉลาด ไม่งั้นตามไม่ทันคนอื่น
โอเค อันนี้พี่เข้าใจมากๆ พี่ถึงบอกว่าสิ่งที่พ่อแม่ควรเข้าใจก่อนคือ คอนเซปชีวิตตัวเอง ความหมายของคำว่า ‘ชีวิต’ เราต้องเรียนรู้สิ่งเหล่านี้เพื่อให้เราเข้าใจแกนของมัน
พี่มักถามพ่อแม่ในคลาส Twelve Senses ว่า คุณต้องการเลี้ยงลูกเพื่อให้วันที่เขาอายุ 21 ปี เขาสมาร์ท พึ่งตัวเองได้ มีความสุขกับอาชีพที่เรียนมา มีความสุขกับชีวิตของเขา หรือเราจะเลี้ยงลูกแบบเข้า ป.1 ให้ได้ ต่อ ม.1 ให้ได้ แล้วก็เรียนให้เก่ง ตรงนี้เราต้องถามตัวเองว่าเพื่ออะไร เราพยายามให้ลูกเรียนเก่ง แต่ท้ายที่สุดเขาไม่ได้เจอว่าอาชีพที่รักของเขาคืออะไร เด็กที่เรียนเก่งเยอะมากเลย แต่ไม่มีความสุขกับการทำงาน ไม่มีประโยชน์เลย
ช่วง 0 – 7 ปี ควรเรียนความรู้แบบแห้งๆ ให้น้อยที่สุด แล้วก็ไปเล่น ไปเรียนรู้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าแบบสดๆ เอาง่ายๆ เลยนะ รัชกาลที่ 9 ท่านเก่งเรื่องเขื่อน เรื่องน้ำ เพราะตอนเด็กท่านทรงเล่นทราย เวลาที่เด็กเล่น เขาไม่ได้เล่นอย่างเดียวนะ เขาคิดและทำงานกับตรงนั้นเยอะมาก แล้วเด็กแต่ละคนเล่นไม่เหมือนกันตามสิ่งที่เขาเป็น การที่เราอนุญาตให้ลูกเลือกที่จะเล่นด้วยตัวเอง มันมีความหมายมากนะที่ทำให้เขาอยู่กับสิ่งนั้นอย่างลงลึก อย่างลูกพี่ถ้าเขาเล่นดินน้ำมัน แต่พี่รู้สึกว่าไร้สาระ วันนี้เขาคงไม่ได้เป็นนักปั้น
ชัดเจนว่าครูณาเชียร์ให้ 0 – 7 อยู่บ้าน แต่ถ้าเป็นครอบครัวที่มีแค่พ่อแม่ลูก ไม่มีญาติคนอื่นช่วยเลี้ยง การส่งไปโรงเรียนก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
ถ้าเกิดเราเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่ต้องทำงานทั้งคู่ พี่ถือว่าอันนี้เราไม่มีทางเลือก ก็จำเป็นต้องให้ลูกไปโรงเรียน แต่ถ้าเราเข้าใจเรื่องความสัมพันธ์ของพ่อแม่ที่อยู่กับลูก เห็นความหมายของลูก เข้าใจว่าต้องหล่อเลี้ยงเขายังไง ไม่ใช่ไปโรงเรียนให้เขาไปโต แล้วพอกลับมาบ้านเราก็ไม่เข้าใจอีก
ผมขอลำดับก่อนนะ ถ้าเป็นครอบครัวใหญ่มีคนช่วยเลี้ยงดู หรือพอมีกิจกรรมต่างๆ ก็เชียร์ให้เลี้ยงลูกเอง ปล่อยเขาเล่นตามสบาย อย่าไปคาดหวังว่าเขาต้องทำอะไรได้ แต่ถ้าไม่มีก็ส่งลูกไปเรียนแทน ก็จะมีคำถามต่อว่าการส่งลูกไปเรียน อย่างเช่นเรียนว่ายน้ำ พ่อแม่ก็จะพูดว่า นี่ไม่ได้เรียน พาไปทำกิจกรรม ซึ่งเราว่ามันก็ดูดีนะ เพราะตอนเด็กๆ เราก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะทำแบบนี้เลย
กีฬาเราใช้คำว่าเล่นหรือเรียน? ใน ภาษาอังกฤษเองกีฬาก็ใช้คำว่า Play หรือดนตรีก็ใช้คำว่า Play แต่เด็กก่อนวัย 7 ขวบ เขาไม่ควรจะเรียนอะไรทั้งนั้นแม้กระทั่งว่ายน้ำ หรือทำกิจกรรมแบบนี้ แต่คุณควรเล่นกับเขา ให้เขาเล่น เพราะนักกีฬาหลายๆ คนที่เป็นระดับแชมป์โลกหรือเก่งมากๆ เขาก็ไม่ได้เรียนตั้งแต่เล็ก ถ้าเคยอ่านหนังสือของ John Hood เขาพูดถึงเรื่อง How to learn ของเด็ก ถ้าเราให้ลูกที่ยังเล็กยังไม่เข้าใจร่างกายตัวเอง ไปเรียนกับครูที่สอนว่ายน้ำ เรากำลังเอาร่างกายของลูกไปเชื่อมโยงและยึดกับความเป็นตัวของครูที่ว่ายน้ำ นั่นหมายถึงว่า เราให้ร่างกายของครูมาเป็นตัวโค้ชเรา โค้ชลูกเรา
ดังนั้น เด็กจะว่ายด้วยท่าที่โค้ชบอก ถูกไหม? แต่ท่าว่ายน้ำมันไม่ได้มีท่าเดียวบนโลก แล้วแต่ละคนมีเทคนิคการว่ายน้ำไม่เหมือนกันตามสรีระร่างกาย ถ้าเราให้เด็กเล่นน้ำ เขาจะเล่นโดยใช้อินเนอร์ตัวเอง พร้อมกับศึกษาว่าร่างกายเขาต้องพยุงในน้ำแบบไหน ค่อยไปเรียนรู้ท่าต่อ
อย่างลูกคนเล็ก พี่ไม่ได้ให้เขาเรียนว่ายน้ำ แต่ให้เขาเล่นน้ำกับพ่อกับพี่ เล่นด้วยกันจนว่ายเป็น เขาจะมีฐานเข้าใจร่างกายตัวเอง ค่อยไปพัฒนาเรียนจากโค้ชต่อ เวลาที่โค้ชสอนเขาจะเข้าใจเอง ถ้าว่ายท่านี้ต้องปรับร่างกายยังไง
เรามักทำให้กีฬา ดนตรี เป็นเรื่องของความเคร่งเครียด แทนที่เขาจะได้เล่นหรือได้เรียนรู้แบบฟรีสไตล์ไปก่อนแล้วค่อยไปหาแพทเทิร์น เรากลับทำให้เขา Fix Idea มากเลย เวลาคนอยากเล่นมันอยากเล่นจากข้างในใช่ไหม? ไม่ใช่อยากเล่นจากตารางที่จัดให้ว่า ‘ทุกวันเสาร์เธอต้องเล่นตอน 10 โมงเช้า’ เมื่อไม่ได้มาจากความพร้อม แถมไปทำให้เขาเกลียดอีก แต่ถ้าเราบอกว่าไปเล่นเมื่อพร้อม ลูกลงว่ายน้ำ แม่ลงด้วย พ่อลงด้วย เราเล่นด้วยกัน แล้วพอตอนที่เขาเริ่มเห็นคนว่าย เขาจะค่อยๆ ดันตัว จนกระทั่งเขาเริ่มทำเป็น เขาก็อาจจะว่ายน้ำได้โดยที่ไม่ต้องใช้โค้ช แต่ถ้าเขาต้องการเป็นนักกีฬา คุณก็ไปพัฒนาต่อ
แต่อย่างนักกีฬาระดับโลก Andre Kirk Agassi เขาก็เกลียดเทนนิสมากนะครับ แต่เขาตีเพราะถูกฝึกถูกสอน ไม่ได้ตีเพราะรัก
ใช่ บางคนเขาเป็นนักกีฬาโดยที่ไม่ได้เกิดจากความรัก บางทีเขาสะสมความเจ็บป่วยทางจิตใจ เขาอาจประสบความสำเร็จนะ แต่ต้องถามว่าเราอยากได้ลูกที่ประสบความสำเร็จโดยที่เขามีความสุขจากข้างใน หรือเราอยากได้เด็กที่ประสบความสำเร็จระดับโลก แต่เป็นคนที่เจ็บป่วยทางจิตใจ แล้ววันหนึ่งความเจ็บป่วยทางจิตใจก็ไปก่อโรคอื่น
แล้วสัญญาณที่จะบอกว่าลูกเราพร้อมเรียนแบบนี้ วัดจากอะไรครับ
เมื่อเขาอยาก พอพูดแบบนี้ทีไร คนมักบอกว่า “เด็กมันก็อยากเล่นแต่เกม” คือเด็กเขาเรียนรู้ได้ดีที่สุดตอนที่เขาสนุกนะ ทำไมเด็กถึงจำชื่อตัวการ์ตูน ชื่อตัวละครยากๆ ได้ แต่ทำไมแค่ท่องศัพท์กว่าจะท่องได้… ลูกพี่คนโตตอนที่ยังไม่ Homeschool นะ ถูกให้คัดลายมือ พอคัดไปแล้ว 30 รอบ แล้วให้เขาเล่นสัก 10 นาที พอเรียกเขามาถามใหม่ว่า เมื่อกี้ศัพท์คำนี้แปลว่าอะไร ลืม ถ้าเด็กเขาไม่อยากเราต้องใช้เวลายัด 10 ชั่วโมง มันเหนื่อยมากนะ แต่ถ้าเมื่อไหร่อยากนะ โอ้โห.. อยากจำตัวการ์ตูนริวคิอะ เราต้องไปฝึกเขาไหม ไม่ต้อง
เพราะฉะนั้นที่ลูกพี่ปั้นดิน เราไม่ได้ส่งเขาเรียนนะ ให้เขาปั้นเอง แต่พอวันหนึ่ง 10 ขวบ เขาบอกว่าอยากเรียน เรียนได้เดือนหนึ่งเขาบอกไม่เรียนละ เขาเก่งกว่าครู ทั้งหมดนี้เพราะเขาทำด้วยความอยากของตัวเอง แล้ว Passion เนี่ย เราต้องได้ยินจากเสียงเด็กนะ ที่บอกว่าเด็กชอบเล่นเกม เพราะคุณจัดการเขาไง จนกระทั่งเขาจัดการตัวเองไม่ได้ ฟังเสียงตัวเองไม่ได้ เขาก็เอาเกมเป็นตัวพึ่ง เพื่อจะได้สนุกหรือมีความสุข ‘ขอให้ฉันได้เบาสบายสักหน่อย’ แต่ถ้าเราฟังเสียงเขา อย่างลูกพี่ Homeschool พี่ก็จะพาลูกไปพิพิธภัณฑ์บ้าง ไปสวนสาธารณะบ้าง ไปตามที่ต่างๆ ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ เขาจะรู้ว่าโลกข้างนอกมันมีอย่างอื่น
โรงเรียนแบบไหนที่ควรจะส่งลูกไป
กลับมาต่อฮะ ถ้าเราต้องส่งลูกไปเรียน… เอาเด็กอนุบาลก่อนนะ ตามกฎหมายเขากำหนดให้เข้าเรียนตอน ป.1 แต่ด้วยเงื่อนไขต่างๆ เช่น เป็นคุณแม่คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องไปทำงาน ไม่มีใครดูแลลูก จำป็นต้องฝากลูกที่ที่วางใจ โรงเรียนแบบไหนที่เราควรส่งลูกไป วัดจากเกณฑ์อะไรบ้าง?
เวลาพี่ให้ลูกเรียนอะไรกับใคร พี่อยากดูคุณลักษณะหรือธรรมชาติของความเป็นครูที่นั่นก่อน เพราะพี่ถือว่าคุณลักษณะและความเป็นครูจะเป็นพลังงานที่ส่งเข้าไปในตัวลูก ที่ทำให้ลูกพี่รู้สึกถึงความหมายของโลกใบนี้ อย่างวันที่ลูกพี่บอกจะเรียนเปียโน พี่ขอดูครูก่อนนะ เพราะว่าครูสำคัญมากเลยจะทำให้ลูกฉันรักเปียโนหรือเกลียดเปียโนก็ได้
เพราะฉะนั้นลักษณะของโรงเรียนที่พี่จะเลือกให้กับลูก ควรเป็นโรงเรียนที่อย่างน้อยเขามีความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก อย่างน้อยเขาไม่ได้คาดคั้นเพื่อที่จะเอาลูกฉันเข้า ป.1 โรงเรียนดังๆ แล้วก็สร้างชื่อเสียงให้โรงเรียนของเขา อันนี้จะเป็นคอนเซ็ปต์แรกที่พี่รู้สึกว่าเราควรจะพิจารณา
ครูที่เข้าใจเด็กจะรู้ว่าเวลาที่เด็กมีพฤติกรรมเชิงลบ เขาจะเยียวยาเด็กเหล่านี้ได้ยังไง อันนี้คือสิ่งที่มีความหมายมาก ที่ยุโรปครูอนุบาลหรือครูระดับชั้นเล็ก จะเป็นครูที่เก่งจิตวิทยาที่สุดแล้ว เป็นระดับด็อกเตอร์เลยนะ เพราะนี่เป็นฐานของชีวิต เขาใช้คนที่เก่งมาก ใช้นักวิชาการที่เข้าใจจิตใจของเด็กมาเป็นคนสร้างเด็ก
โรงเรียนดีแต่ไกลบ้าน
พอจะได้เกณฑ์ไว้ตัดสินใจเลือกโรงเรียนคร่าวๆ ละ แต่ถ้าสมมติมีโรงเรียนที่ตรงตามเกณฑ์แบบครูณาบอก แถมถูกใจเราด้วย แต่ไกลบ้าน?
อันนี้ต้องคิดละ 1 ชั่วโมงของเด็กเล็ก ถ้าเทียบกับตัวผู้ใหญ่มันนานเป็นเดือนเป็นปีเลยนะ ถ้าใครเลี้ยงลูกจะรู้เลยว่า เราเห็นการเติบโตของเขาวันต่อวัน เพราะฉะนั้น 1 ชั่วโมงของเด็กในรถยนต์มันมีค่ามากนะ กับการที่เขาต้องใช้เวลาพัฒนาความเแข็งแรงทางด้านร่างกายและจิตใจจากการพักผ่อน ฉะนั้น ถ้าโรงเรียนไกลบ้านมากๆ แล้วทำให้ลูกของเราต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 – 6 โมง กินข้าวในรถ วินัยที่เกิดจากกิจวัตรในบ้านมีค่ามากกว่าการที่จะต้องเรียนเก่ง ดังนั้น การที่เขาต้องฝืนตัวเองตื่นเช้า แล้วอยู่กับความวุ่นวายเกือบทุกๆ วันที่ ต้องจัดการแต่งตัวเองให้ทันแล้วก็กิน พี่รู้สึกว่ามันไม่คุ้ม
ถ้าคุยลึกลงไปเดี๋ยวจะไปพูดถึงระดับประเทศชาติ เรื่องโครงสร้าง ไม่เป็นไร เราก็กลับมาว่า ท้ายที่สุดถ้าเป็นตัวพี่ ถ้าเลือกทำ Homeschool ได้ ก็จะทำให้ลูก แต่ถ้าไม่ได้ แล้วพี่ต้องส่งลูกไปโรงเรียน พี่จะเลือกโรงเรียนที่ใกล้บ้าน จะเป็นยังไงก็แล้วแต่ แต่พี่จะหาความรู้ฝึกลูกของพี่ด้วย อย่างน้อยลูกของพี่จะได้ฝึกที่บ้าน เขาจะรู้และมีวิธีจัดการความทุกข์ จัดการอารมณ์ ลูกของพี่จะต้องมองโลกในแง่บวกเพื่อหาทางที่จะดีลกับสิ่งเหล่านี้ ลูกของพี่จะต้องหาวิธีการที่ไปโรงเรียนแล้วสนุก แม้ว่าจะเจอครูดีไม่ดี แต่ว่าเขายังมองเห็นความสนุกได้ พี่จะเรียนรู้ในการที่จะทำลูกของพี่ให้แข็งแรง
เพราะฉะนั้น โรงเรียนดีไม่ดี มันไม่ใช่โรงเรียนแพงไม่แพง บางทีโรงเรียนแพงกับโรงเรียนธรรมดาอาจจะมีคุณค่าเท่ากันนะสำหรับเด็กๆ
แปลว่าถึงโรงเรียนจะไม่ตอบโจทย์ทั้งหมด แต่คนที่สามารถชดเชยสิ่งที่ขาดไป คือ พ่อแม่
ใช่ แล้วจากประสบการณ์ที่พี่ทำงานกับครอบครัว เกินหมื่นครอบครัวนะ พี่รู้สึกว่าเด็กหลายคนที่แข็งแรงเป็นผู้ใหญ่ที่เก่งและมีจิตใจที่ดี เขาตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า เกิดเพราะครอบครัวไม่ใช่โรงเรียน โรงเรียนเป็นผลลัพธ์อันดับรองมากๆ
แล้วถ้าช่วง 3 ขวบแรก พ่อแม่ปูทางเขามาดี เขาจะอยู่โรงเรียนไหนก็ได้ทั้งนั้น แน่นอนเขาจะเจอความทุกข์บางอย่างที่โรงเรียน แต่เราสามารถสอนให้เขาจัดการได้ เราทำให้เขาเข้าใจชีวิตรอบๆ ได้ ฉะนั้น ที่บ้านเราต้องแข็งแรง ยิ่งถ้าเรา (ผู้ปกครอง) รู้สึกว่าเราไม่พร้อมเลยนะ เรายิ่งต้องจัดการตัวเองให้มีความรู้ที่ดี ให้เข้าใจในชีวิตของเราก่อน นี่แหละจะเป็นความแข็งแรง
อาจรู้สึกว่ามันยากนะ แต่การไม่เรียนจะได้ชีวิตลูกที่ยากกว่า ถ้าเราไม่เรียนหรือทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรากำลังคุยกันอยู่เพราะเรารู้สึกว่ามันยากจัง แต่บอกเลยนะการไม่เรียน การไม่เปลี่ยนตัวเอง ไม่ทำความเข้าใจในรากหรือแก่นแท้ของมนุษย์ เราจะได้ลูกที่ยากกว่า กลุ้มใจมากกว่า จะยากตอนนี้สักปีสองปี อย่างพี่รู้สึกว่าเลี้ยงลูกพี่ทุ่มเทมากเลยนะ 6 – 7 ขวบ หลังจากนั้นพี่สบายละ
โรงเรียนแพง
เมื่อกี้ครูณาเปิดมาละ ‘โรงเรียนแพงไม่ใช่ว่าดี’ ถ้าพูดตรงไปตรงมาโรงเรียนก็มีหลายแบบ ตั้งแต่โรงเรียนรัฐ เอกชน นานาชาติ โรงเรียนทางเลือก ณ ตอนนี้คนรุ่นผมส่วนใหญ่จะส่งลูกไปเรียนโรงเรียนเอกชน หรือไม่ก็นานาชาติ การส่งไปแบบนี้ดีหรือไม่ดียังไงครับ?
เปิดประเด็นนี้ก็จำเป็นต้องคุยกันก่อนนิดนึง คือพี่ได้ยินมาเยอะว่า ‘การเลือกโรงเรียนมันเป็นการเลือกสังคมให้กับลูก’ คุณต้องให้ชัดนะว่า คุณอยากให้ลูกอยู่ในสังคมแบบไหน เช่น อยากให้ลูกเข้าใจคนทุกๆ สังคม หรือให้ลูกของคุณเติบโตมาในสังคมของคนมีกินอย่างเดียว
แต่โรงเรียนนานาชาตินี่สังคมหลากหลายนะครับครูณา
โหย.. แต่ค่าเรียนในระดับแบบนั้น แสดงว่ามันก็เป็นสังคมของคนที่มีเงิน ซึ่งพี่ไม่ได้บอกว่าไม่ดีนะ เอาเป็นว่าจะเรียนโรงเรียนอะไรก็ตาม พ่อแม่คือพื้นฐานหลัก ถ้าพ่อแม่มีคอนเซปว่า เอาไปฝากไว้ในสังคมดีๆ คำว่า ‘สังคมดีๆ’ พ่อแม่ต้องชัดเจนนะว่าสังคมดีๆ คืออะไร ถ้าเรารู้สึกว่าสังคมดีๆ คือ สังคมแพง นั่นหมายความว่าเราให้คุณค่า ‘ความแพง’ คือสังคมดี แต่มันอาจกลายเป็นทำให้ลูกเราติดในวัตถุมากๆ
การที่เราให้คุณค่ากับราคากับระดับชั้นของคน มันค่อนข้างส่งผลต่อตัวเราที่อยู่กับลูกนะ แต่โอเค ถ้าส่งลูกไปนานาชาติ ตัวเราเข้าใจแก่นแท้ บางทีลูกของเราก็อาจไม่เผลอไผลไปอยู่กับคนที่หลงกับวัตถุอะไรมาก ก็เป็นสิ่งที่ดี
แต่พี่อยากบอกว่า เจตจำนงแรกที่เราบอกว่าเลือกสังคมให้ลูก คุณรู้ตัวเองชัดเจนใช่ไหมว่า สังคมให้ลูกมันคือสังคมอะไร มันเป็นสังคมยังไงหรอที่เรากำลังเลือก ไม่ใช่เลือกเพราะคิดว่าแพงแล้วลูกจะได้สังคมที่ดี ซึ่งไม่จริง
มันก็มีเคสที่ลูกอยู่ในสังคมโรงเรียนที่เราคิดว่าราคาแพง แต่เขาไม่มีความสุข
มันไม่ใช่ไม่มีความสุขนะ พี่เจอเคสเด็กที่ไม่เห็นคุณค่าของเงินเลย เพราะทุกๆ คนต่างใส่ของที่แพงกัน พี่ไม่ได้เป็นคนที่แอนตี้คนใช้ของแพงนะ แต่พี่แอนตี้สังคมที่ไม่เห็นคุณค่าของเงินเลย อย่างเช่น เราให้ลูกอยู่ในสังคมที่แพงจนกระทั่งวันหนึ่งลูกให้แบงก์พันแล้วบอกว่าไปซื้อขนมที่เซเว่นให้หน่อย โดยที่จะทอนหรือไม่ทอนก็ได้… คือพี่เจอในระดับแบบนั้น คุณต้องให้ชัดนะว่าคุณอยากได้อะไร เพราะไม่งั้นคุณก็จะได้ลูกที่สามารถใช้เงินหลักแสนหลักล้านโดยที่เขาไม่ได้รู้สึกว่ามันคือเงิน เพราะมันใช้ได้ง่ายๆ
ในขณะที่สังคมในโรงเรียนที่มันหลากหลาย มีทั้งคนที่ลำบาก คนที่มี มันคือความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เด็กสามารถเรียนรู้จากเพื่อนที่หลากหลายเหล่านี้ เพราะความเป็นจริงเมื่อเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การที่เขามีประสบการณ์กับสังคมที่หลากหลายมันเป็นสิ่งที่มีค่ามากต่อเขาที่จะทำงานหรือสร้างฐานะ สร้างการงานอาชีพของตัวเขาเอง มันเป็นความหลากหลายของสังคม
หลากหลายหมายถึงว่า ไปเรียนโรงเรียนที่สภาพแวดล้อมหลากหลาย
อย่างลูกพี่บอกว่าจะเข้าโรงเรียน ตอนนั้นเขาอยู่ ม.1 พี่ก็เลือกโรงเรียนอะไรก็ได้ที่ใกล้บ้าน เอาที่เดินกลับบ้านได้ เพราะพี่เชื่อว่าเขาจะมีความแข็งแรงของเขา แล้วเขาแข็งแรงจริงนะ เรียนได้ดีด้วย เป็นเด็กที่จิตใจดี ตอนที่เขาเข้าไปแรกสุดเขาอยู่ห้องท้ายเลย แต่ปรากฏว่าด้วยพื้นฐานที่ดีของเขา ซึ่งลูกพี่ไม่ใช่คนเรียนเก่งนะ เข้าม.1 นี่บัญญัติไตรยางค์ยังทำไม่เป็นเลย เพราะพี่ไม่ได้สอน แต่ในเมื่อเขาเลือกจะเข้าโรงเรียน เขาต้องเรียนให้ได้ พอเขาเข้าไปอยู่ปรากฏว่า เขาไม่ได้เกเรหรือเหลวไหลไปตามสังคม เขาก็เห็นเพื่อนที่ไปแอบสูบบุหรี่ แต่เขาก็ไม่สูบ เขาก็ไม่ไปลอง แล้วเขาก็เลือกทำความดีในรูปแบบที่เขาเชื่อ เพราะฉะนั้นพี่ถึงกล้าพูดจริงๆ ว่าโรงเรียนเป็นอันดับรองมากจากพ่อแม่
สิ่งที่ต้องระวังคือ พอส่งไปโรงเรียน ผู้ปกครองก็มีมายเซตคาดหวังจากโรงเรียน ซึ่งบางทีความคาดหวังอาจจะพังได้ หลายคนก็พอไปฝาก ก็ไปเค้นคาดคั้นจากครู เพราะเสียค่าเทอมไปแล้ว
ใช่ แล้วบางทีคุณไม่เข้าใจชีวิต คุณก็ไปทะเลาะกับครูอีก เด็กเล่นกัน พ่อแม่ก็ไปทะเลาะกับพ่อแม่ด้วยกันอีก นี่คือคุณไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของชีวิตเลย ไม่เข้าใจความเป็นเด็ก ความเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ฉะนั้นปัญหามันจะเกิดขึ้นเยอะมาก แต่ถ้าคุณเข้าใจโรงเรียนหรืออะไรก็ตาม คุณจะจัดการง่ายมาก
อย่างผมก็มี Pain Point ภาษาอังกฤษไม่เก่ง แน่นอนเราก็อยากให้ลูกได้ภาษา แล้วภาษามันก็มีประโยชน์จริงๆ ทำให้โลกทัศน์หรือประสบการณ์กว้าง โอกาสเราเยอะขึ้น แล้วมันมีอะไรแอบแฝงมากับการตัดสินใจแบบนี้ไหมครับ ส่งเรียนหวังให้ภาษาลูกเราดี
โห..อันนี้ยาวเลย (หัวเราะ) คือพี่จะบอกว่า เวลาพี่คุยกับเม้ง เราสามารถเข้าใจบางอย่างโดยที่เราไม่ต้องพูด ในทุกๆ ภาษาจะมีวัฒนธรรมแฝงมาด้วย ดังนั้น ตอนที่เขาเรียนภาษาโดยเฉพาะภาษาแม่ เขาควรจะเรียนไปพร้อมๆ กับวัฒนธรรมพื้นที่ที่เขาอยู่ สิ่งที่พี่เป็นห่วงและเจอว่ามันเป็นความยากสำหรับพี่มากๆ คือเด็กที่เรียนโรงเรียนอินเตอร์แล้วปรากฏว่า พอคุณพ่อคุณแม่ไม่คุยภาษาไทยกับเขา ตรงนี้เราสูญเสียความเป็นวัฒนธรรมไป
อยากให้ผู้ฟังตั้งใจฟังก่อนนะว่าการสูญเสียวัฒนธรรมมันยากขนาดไหน บางทีพ่อแม่พูดภาษาอังกฤษไม่เก่ง คุณไม่สามารถใช้ชุดภาษาที่แสดงความรู้สึกออกมาได้ เพราะว่าคุณไม่ได้มีวัฒนธรรมกับภาษานั้น แล้วในขณะที่ลูกไปเรียนโรงเรียนอินเตอร์ เขาก็ไปรับภาษาที่ไม่ได้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของสังคมข้างนอกที่เขาอยู่ ฉะนั้นการรับภาษาของเขาก็ไม่ได้มีวัฒนธรรมของโลกภายนอกมาซัพพอร์ต สิ่งที่เขาได้คือเขาได้การใช้ภาษาและคำ แต่ไม่ได้ซึมซับวัฒนธรรมของภาษา แล้วเด็กเหล่านี้พอกลับมาถึงบ้านก็คุยกับพ่อแม่ แล้วพ่อแม่ก็พยายามจะพูดภาษาอังกฤษ ซึ่งไม่ได้เข้าใจกันมาก ท้ายที่สุดพอวันหนึ่งเด็กเก่งภาษาที่เป็นคำ เด็กเอามานินทาพ่อแม่ที่บ้าน แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นเราจะเห็นว่า พ่อแม่มีความเข้าใจกับลูกน้อยลงๆ
อย่างพี่ทำค่ายให้กับเด็ก พอวันหนึ่งเราพูดภาษาที่อยากทำให้เด็กรู้สึกซาบซึ้งใจ สะเทือนใจ Touch เข้าไปในความรู้สึก เด็กพวกนี้รับไม่เป็น เขาไม่เข้าใจภาษาไทยที่มันลึกซึ้งมาก แล้วภาษาอังกฤษเขาก็ไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งเช่นกัน เขาเข้าใจเพียงการใช้ประโยคและคำ แต่เขาไม่ได้เข้าใจวัฒนธรรมที่มันเกิดขึ้นโดยรอบของชีวิต
เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องการให้เด็กเก่งภาษา โอเค อยู่ที่บ้านคุณพูดภาษาไทย อยู่โลกภายนอกพูดภาษาไทย แล้วพออยู่ที่โรงเรียนเขาพูดภาษาอังกฤษเขาก็จะได้ภาษา แต่ว่าเขาจำเป็นต้องได้วัฒนธรรมของภาษาแม่ของเขา ในประเทศของเขา ในเมืองของเขา เพื่อได้ซึมซับการเรียนรู้ในระดับของความรู้สึกและเจตจำนงของชีวิต ไม่ใช่ได้แต่ภาษาที่พูดให้เข้าใจกัน แต่ไม่ได้เข้าถึงกัน
ถ้าพูดอย่างงี้ การเรียนเพื่ออยากได้ภาษามันไม่เป็นไร แต่ควรจะมีภาษาที่สามารถสื่อสารอารมณ์ ความรู้สึก
ลูกอยากจะเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน ปล่อยเขา เมื่ออยู่บ้านถ้าคุณไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษ คุณไม่ได้อินไปกับอารมณ์ของภาษานั้น ถ้าเป็นแบบนั้นคุณควรจะคุยภาษาไทยกับลูก แล้วก็ให้ลูกตั้งใจคุยภาษาไทยกับเรา ฝืนเขาตั้งแต่ต้นๆ ว่า อยู่โรงเรียนพูดภาษาอังกฤษ อยู่บ้านพูดภาษาไทยกับพ่อแม่
เหมือนที่ห่วงก็คือ ห่วงจะไม่ได้ดีสักภาษา ใจเราอยากได้สักหนึ่งภาษาที่เวลาเรามีปัญหา ทะเลาะกัน แล้ว Expression ออกมาได้ คุยกันได้ เวลาเราอยากอธิบายอะไรที่มันสำคัญในชีวิตเรา จริงๆ ยังอธิบายกันยากเลยนะ
ใช่ ขนาดภาษาแม่ของเราเอง เวลาจะพูดให้เข้าถึงกัน บางทีเรายังเค้นไม่ออกเลย แล้วคุณไปเลือกใช้อีกภาษาหนึ่งอะ พี่เจอว่าเป็นกำแพงสูงมาก ข้อควรระวังอย่างสูงเลย ไม่ได้ห้ามเรื่องภาษานะ ที่บ้านคุยภาษาอังกฤษกันเก่ง แต่คุยภาษาอังกฤษในระดับลึกซึ้งไหม ก็ไม่ใช่ เหมือนคุยกันแล้วมันไม่ Flow ไปกับสังคมภายนอกอะ
Homeschool
มาที่ประเด็นสุดท้าย ‘ Homeschool’ ฟังกันมาตั้งแต่ต้น ผมว่าเราพอจะเห็นแล้วละว่า ควรส่งเด็กไปเรียนเมื่ออายุเท่าไหร่ อย่างครูณาส่งลูกไปเรียนม.1 เลย แต่แบบนี้มันเวิร์คจริงๆ ใช่ไหมครับ? การที่เราอยู่กับเขา ฟูมฟักเขา แต่เขาอาจทำบางอย่างไม่ได้ เช่น ที่ครูณาบอกว่าลูกเทียบบัญญัติไตรยางค์ไม่เป็น มันเวิร์คใช่ไหม? แล้วการ ‘Homeschool’ นี่คือ Ideal (อุดมคติ) ถูกไหมครับ?
พี่ไม่ได้รู้สึกว่ามัน Ideal หรอก มันคือความเป็นจริงของชีวิต เพราะในอดีตเราไม่มีโรงเรียน เราคือสังคมที่อยู่กันโดยที่เรียนรู้ สิ่งแรกที่เด็กควรเรียนก่อนวัย 14 ปี คือเรื่องของชีวิต เรื่องของความเป็นจริง ไม่ใช่ Content ที่จะมาท่องว่ากรุงศรีอยุธยาแตกในพ.ศ. อะไร และอย่างที่เราคุยตอนต้นนะ สังคมจริงๆ มันต่างวัย ชีวิตจริงๆ นี่แหละคือสังคม การที่เขาได้ปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่บ้าง อากงอาม่าบ้าง เพื่อนข้างบ้านบ้าง แต่เราไม่ได้บอกว่า ‘Homeschool’ หมายถึง School at home นะ เพราะอันนั้นน่ากลัวมาก
คนที่ทำ ‘Homeschool’ มันหลากหลายมาก คนมักคิดว่า ‘Homeschool’ ยาก แล้วมันก็ Ideal มากๆ เป็นไปไม่ได้ พี่ก็ต้องบอกว่า ที่เราเห็นว่ามันยาก เพราะเรายังไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ของชีวิต เรายังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของการเรียนรู้ที่แท้จริงของมนุษย์ ถ้าเมื่อไหร่ที่เราเรียนรู้และทำความเข้าใจมันได้ เราจะรู้เลยว่า ‘Homeschool’ ง่าย
เพราะสำหรับพี่ ‘Homeschool’ คือ Unschooling พี่ไม่ได้สอน เพราะพี่รู้ว่าแก่นแท้ของมนุษย์เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง สิ่งที่เราทำให้กับลูกของเราคือ ทำให้เขาอยากทำ ทำให้เขาอยากเรียนรู้ แต่เราจะไม่ยัดองค์ความรู้ เราจะมองว่าอะไรคือสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้จริงๆ แล้วพี่รู้สึกว่าเวลาที่เราเข้าใจลูกมากๆ เราเห็นเลยว่าตอนที่เขาเข้าม.1 เขาทำบัญญัติไตรยางค์ไม่ได้ เขาไม่รู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อยเลยนะ เขาบอกว่าเดี๋ยวไปเรียนก็ได้ เพียงแค่ไม่กี่เดือนเขาก็กลายเป็นอันดับต้นๆ ของห้อง แล้วพอจบปีเขาก็ย้ายมาอยู่ห้องต้นๆ แล้วเขาก็จบโดยที่เขาไม่ต้องสอบเข้าม.4 เพราะอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมากที่พร้อมเข้าม.4 ต่อได้เลย
อันนี้พี่กำลังพูดถึงว่าเด็กเขามีพื้นฐานที่พร้อมจะเรียน ใจเขาได้ เป็นสิ่งที่เราควรจะสร้างให้กับลูกของเรา ให้เขารักและเคารพตัวเอง เป็นคนที่ดี ถ้าเราทำให้ลูกมีใจที่เชื่อว่าตัวเขาจะทำอะไรก็ได้ ที่ไหนก็ได้ แน่นอน! ทัน! อย่างลูกพี่เข้าไปเรียนไม่ถึงเดือน จากตอนแรกที่ไม่เก่งเลยนะ แต่พอเขาได้ทำอะไรได้ปุ๊บ ครูจะเรียกเขามาหน้าห้องแล้วบอกว่า “พวกเธอเรียนมาตั้ง 6 ปีเนี่ย ทำไมยังทำไม่ได้ เขาไม่ได้เรียนมายังทำได้เลย” แต่เขาไม่ได้ชอบนะเหตุการณ์แบบนี้ เขาอาย แต่เราจะเห็นได้ว่า เมื่อไรที่เขาพร้อม เขาจะทำมันได้ และมันไม่ใช่เพราะว่าลูกพี่เก่ง แต่ลูกพี่มีความพร้อมที่จะพัฒนาตัวเอง มีความพร้อมที่จะอดทน แล้วพอเขาอยากจะตั้งใจอะไร เขามีความพร้อมที่จะตั้งใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานที่สำคัญมาก ที่ทำให้เมื่อวันหนึ่งเขาบอกเขาจะทำ เขาจะทำมันอย่างดีมากเลย
หลายๆ ครั้งผมกับภรรยาก็ยังเตือนตัวเองว่าอะไรที่ลูกทำไม่ได้ ณ วันที่เขาพร้อมเขาก็จะทำได้ แต่หลายครั้งเราก็ไป Disrupt ลูก “ต้องได้” ส่วนหนึ่งตัวเราก็กลัวด้วย งั้นถามอีกนิดนึงฮะ มันเป็นเฉพาะลูกครูณาคนเดียวหรือเปล่าที่ ‘Homeschool’ แล้วลูกเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวคนอื่นเขาจะบอกว่า ลูกเธอคนเดียวหรือเปล่า คนอื่นเขาตกรถกันอีรุงตุงนัง
บางคนเขา ‘Homeschool’ เพราะว่าลูกเป็นนักกีฬา หรือเป็นนักดนตรี แต่มีหลายคนที่เราก็ได้ยินว่า พอถึงวันที่ลูกเขาอยากเรียน… พี่จะยกตัวอย่างโรงเรียนอนุบาลละกัน เช่น ที่จิตตเมตต์ เขาไม่ได้เร่งให้เด็กเรียนตัวหนังสือ แต่เขาเร่งการปูพื้นฐานการเป็นมนุษย์ที่ดีแล้วก็มีจิตใจที่ดี มีความสุขกับการเรียนรู้ในตัวเด็ก ซึ่งเด็กบางคนก็ยังอ่านเขียนไม่ได้หรอก แต่เราก็จะรู้ว่า คุณใจเย็นๆ พอเข้าไปป.1 ถ้าเขาพร้อมนะ เขาวิ่งเลยค่ะ เราต้องเข้าใจว่าอะไรคือสิ่งที่เราต้องวางพื้นฐานในตัวเด็กแต่ละวัยให้ได้ก่อน เรื่องเรียนเก่งไปเริ่มกันให้เห็นผลตอนอายุ 15-16 ปี
เม้งมีเพื่อนที่เรียนไม่เก่งมาตั้งแต่เด็กไหม? พอขึ้นม.5 ก็บอกว่า ‘จะเอนทรานซ์’ เขาอ่านหนังสือแปปเดียวก็สอบได้คะแนนสูงๆ เลย เพราะเขาลงประสบการณ์ชีวิต เขาลงความเข้าใจในตัวเอง รู้เท่าทันความรู้สึกตัวเอง เป็นคนที่จัดการอารมณ์ตัวเองได้ แม้แต่ตอนที่ต้องทำสิ่งที่ไม่อยากทำแล้วเขาสามารถจัดการตัวเองให้ทำได้ แต่เด็กที่ไม่มีพื้นฐานแบบนี้ เรียนเก่งอย่างเดียว แต่ไม่มีพื้นฐานจัดการตัวเอง พอวันหนึ่งเขาเหนื่อย ไม่ไหวแล้ว ก็ทิ้งเลย ถึงตอนนั้นจัดการตัวเองไม่ได้ คือต่อให้เก่งมาแค่ไหนคุณจัดการตัวเองไม่ได้ คุณก็ล้ม
สรุปของสรุปนะครับ ก็คือการเร่งเรียนวิชาการไม่ได้จำเป็น และการ ‘Homeschool’ ก็ไม่ใช่ทางที่ดีที่สุดหรอก สิ่งที่ตอบคอนเซปและเราสามารถให้เขาได้ คือ ไม่ต้องไปตีกรอบเขา หรือเร่งรัดอะไรเขา ให้เขารู้จักตัวเอง เขาจะเรียนที่ไหนก็ได้ เพราะท้ายที่สุดก็ต้องกลับมาที่พ่อแม่ โดยเฉพาะ Mindset ของพ่อแม่ เหมือน 3 ตอนที่แล้วที่เราคุยกัน ให้พ่อแม่เขียนบรีฟตัวเองให้ได้ก่อน ถ้ายังเขียนไม่ได้ก็อย่าพึ่งไปตีกรอบ
พี่รู้สึกว่ามีพ่อแม่หลายคนที่เก่งมากๆ เรื่องทำงาน ประสบความสำเร็จกันสูงมาก แต่เขากลับรู้สึกว่า เขาจะฝากลูกไว้กับครู ซึ่งพี่คิดว่ามีครูจำนวนเยอะมากนะที่ไม่ได้เก่งในการจัดการชีวิตตัวเองหรือจัดการชีวิตเด็ก คือพี่ไม่ได้บอกว่าครูทั้งหมดเป็น แต่มีครูบางคนที่เขาก็ยังจัดการทรัพย์สินของเขาไม่ได้ จัดการการเรียนรู้ของเขาไม่ได้ แต่เรากลับไปคาดหวังว่าครูจะต้องทำได้ทั้งหมดแบบนั้น ซึ่งมันไม่ใช่ บางทีถ้าเกิดคุณสงบนิ่งกับตัวเอง ครูเป็นเพียงอีกด้านหนึ่ง
หวังว่ารายการตอนนี้ผู้ฟังจะได้ประโยชน์นะครับ สำหรับในยุคที่พ่อแม่ต้องแข่งขันส่งลูกเข้าไปเรียนตั้งแต่ 1 – 2 ขวบ ก็หวังว่าคนที่มีลูกรุ่นราวคราวเดียวกับผมก็น่าจะมีเกณฑ์เลือกโรงเรียน ส่งลูกตอนไหนดี เดี๋ยวตอนต่อๆ ไปเราจะมาคุยเรื่องการเล่น พ่อแม่จะใช้เวลา ‘เล่น’ กับลูกอย่างไร? รวมถึงศัตรูตัวฉกาจอย่างโทรศัพท์มือถือ วันนี้ขอบคุณมากๆ ครับ