- คำว่า “ซิ่ว” ที่มาจากคำว่าฟอสซิล หมายถึง ซากหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในอดีต ที่ถูกทับถมไว้ในชั้นหิน แต่ในความหมายที่เราเข้าใจกัน “เด็กซิ่ว” หมายถึงนักเรียนที่ต้องการจะสอบเข้ามหาลัย หรือคณะที่อยากได้ โดยไม่ยึดติดกับปีการศึกษา จะต้องสอบกี่ปีก็ได้ ขอเพียงได้เรียนในสิ่งที่ต้องการ
- ชวนคุยกับ 3 เด็กซิ่ว ถึงความคิด ความหวัง ความฝัน และความรู้สึกที่อยู่ภายใต้การกระทำของพวกเขา ในวันที่สังคมมองทางที่เขาเลือกอย่างแปลกแยก เพราะไม่เป็นไปตามแบบแผนที่ควรเป็น
- “การซิ่วคือการได้ลอง มันไม่ใช่ยุคที่ผู้ปกครองหรือสังคมจะมาบังคับ เรียนจบ ม.ปลาย ปุ๊บ ต้องเรียนต่อ 4 ปี 6 ปีให้จบ มีคนไป gap year ไปทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนจะมาเรียนมหา’ลัยก็มี เลยมองว่าไม่ได้แปลกอะไร ทุกคนสามารถทดลองได้” ไหมลี่ – สุทธิดา คันทะพรม
ถ้าทุกคนยังจำกันได้ ในช่วงเวลาที่เราอยู่ในระบบการศึกษา เรามักจะถูกสอนให้ตั้งใจเรียน พยายามสอบให้ได้เกรดดีๆ ตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมเป็นเวลานานกว่า 15 ปี ก็เพื่อจุดหมายปลายทางเดียวกันนั่นคือ “การสอบเข้ามหาวิทยาลัย” ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะสมหวัง แต่ถึงแม้ไม่สมหวัง ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมหมดหวัง
หลายคน อาจจะเคยได้ยินเรื่องราวของ “เด็กซิ่ว” คำว่า “ซิ่ว” ที่มาจากคำว่าฟอสซิล หมายถึง ซากหรือร่องรอยของสิ่งมีชีวิตในอดีต ที่ถูกทับถมไว้ในชั้นหิน แต่ในความหมายที่เราเข้าใจกัน “เด็กซิ่ว” หมายถึงนักเรียนที่ต้องการจะสอบเข้ามหาลัย หรือคณะที่อยากได้ โดยไม่ยึดติดกับปีการศึกษา จะต้องสอบกี่ปีก็ได้ ขอเพียงได้เรียนในสิ่งที่ต้องการ
สังคมอาจจะมองเด็กซิ่วด้วยสายตาที่แปลกแยก เพียงเพราะเส้นทางการศึกษาของพวกเขามักไม่เป็นไปตามแบบแผนที่ควรจะเป็น แต่อะไรคือความคิด ความหวัง ความฝัน และความรู้สึกที่อยู่ภายใต้การกระทำของพวกเขา วันนี้เราลองมาคุยกับเด็กซิ่วเหล่านี้กัน
ความทรมานในการเรียนสิ่งที่ไม่ใช่ และไม่ได้เรียนสิ่งที่ใจเรียกร้อง
“เรียนรัฐศาสตร์ก็ไม่เป็นไร แต่มันก็ไม่ใช่ตัวเรา ตอนเรียนรัฐศาสตร์ passion มันหายหมดเลย เหมือนเราเรียนไปวันๆ อยู่ไปวันๆ รอให้จบ เมื่อไหร่จะจบสักที รู้สึกไม่ไหวจริงๆ เหมือนสมองมันต่อต้าน เรียนเกือบไม่รอด ได้เกรดไม่ถึง 2”
ไหมลี่ – สุทธิดา คันทะพรม นิสิตที่เพิ่งซิ่วติดคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พูดถึงคณะรัฐศาสตร์ที่เธอเคยเรียน แม้ลึกๆ เธอจะรู้ว่าคณะไม่ได้มีผลกับงานที่อยากทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าการเรียนสิ่งนี้จะทำให้เธอมีความสุขได้
ไม่ต่างอะไรกับข้าว – พุทธรักษา พรหมศิริ นักศึกษาวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก สาขาการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีความฝันอยากเรียนคณะแพทย์ศาสตร์ ถึงแม้จะวิชาที่เรียนจะรักษาคนได้เหมือนกัน แต่ตัววิชาและเส้นทางอาชีพที่แตกต่าง ก็ทำให้ความรู้สึกในการเรียนที่ต่างกันอยู่ดี
“พอเริ่มเรียนตัวเฉพาะของคณะมากขึ้น แล้วเป็นคณะที่เราไม่ได้ชอบ เรารู้สึกเหมือนเราไม่มีไฟในการเรียน หมด passion มากๆ กว่าจะเรียนคือเหนื่อยมากๆ บางวันร้องไห้เลย ไม่อยากนั่งเรียนแล้ว”
ไม่ใช่แค่นักเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษา แม้แต่คนที่เรียนจบแล้ว อย่างเจมส์ – จิระพัชร จูพานิชย์ บัณฑิตจากสาขาภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์ ก็ยังเลือกการเรียนมหาวิทยาลัยให้เป็นเส้นทางที่จะพาไปอยู่ในสังคมดนตรีที่ฝันเช่นกัน
“ตอนแรกไม่เคยมีความคิดจะเรียนใหม่มาก่อน แต่ไม่คิดจะทำงานสายสถาปัตย์อยู่แล้ว อยากเล่นดนตรีแน่ๆ แต่อาจารย์เสียดายฝีมือ เลยทำ 2 อย่างพร้อมกัน แต่กลายเป็นว่าหมดไฟทั้ง 2 อย่างเลย ทำพร้อมกันไม่ไหว เลยหยุดสถาปัตย์ไปเรียนดนตรีเพิ่ม เราเรียนพิเศษ 2 ปี แต่ยิ่งเรียน ก็ยิ่งรู้ว่าเราไม่รู้ เลยอยากเอาตัวเองไปอยู่แวดล้อมคนดนตรี แต่การจะเข้าวงการต้องมีโอกาส มีคอนเนคชั่นซึ่งมันยากมาก แล้วเรามองว่า การเรียนยังเป็นที่ที่เราสามารถพลาดได้ เราหาข้อมูลเยอะมากๆ จนมั่นใจ และตัดสินใจว่าจะกลับไปเรียนใหม่ เลยไปสอบเข้าคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร”
ความกดดันเมื่อก้าวไม่ทันคนอื่น
ในมุมของคนภายนอก อาจจะคิดว่าเด็กซิ่วสบายที่ได้หยุดพักจากระบบการศึกษา แต่ใครจะรู้ว่าความจริงแล้วมันกลับเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องเผชิญกับความกดดันและความเครียดมากกว่าเดิม เพราะรู้สึกว่าตัวเองเดินช้ากว่าคนอื่น
“เราเคยเครียดเรื่องนี้ การเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น มันนอนไม่หลับเลย ต้องตื่นมาซ้อมกีตาร์กลางดึกตลอด มันเป็นแรงขับเคลื่อนอย่างนึง แต่ก็เป็นแรงขับเคลื่อนที่ไม่มีความสุข สุดท้ายเราก็คิดใหม่ โอเค แค่รู้ว่าเรากำลังเดินอยู่ในเส้นทางของตัวเอง อาจจะช้า แต่ได้มาเริ่มใหม่ก็โชคดีนะ ตอนนี้เวลาเห็นคนอื่นสำเร็จ เราก็ยินดีด้วย เหมือนเราได้พลังงานบวก เพราะเราก็กำลังทำความฝันของเราเหมือนกัน” เจมส์บอกเราด้วยสภาวะที่เบาสบาย เหมือนได้คลี่คลายความรู้สึกบางอย่างในตัวเองลง ซึ่งสอดคล้องกับไหมที่ต้องเจอกับความกดดัน ทำให้ต้องหาวิธีรับมือ จนเริ่มมองเห็นข้อดี
“พอเราแยกตัวว่าเราแตกต่างจากเขาแล้ว มันเกิดการเปรียบเทียบอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเราจะคอนโทรลมันได้ไหม ถ้าเราคอนโทรลไม่ได้ มันก็จะมาทำร้ายเรื่องอารมณ์ กลายเป็นการกดดันตัวเองมากเกินไปจนเครียด ปีนี้เพื่อนเรียนปี 3 แต่เราเพิ่งเข้าปี 1 ก็จะช้ากว่าเพื่อน ก็กังวลนิดนึง อยากไปพร้อมเพื่อน แต่ความฝันเราสำคัญกว่า เรารู้สึกว่ายุคนี้เรื่องอายุไม่สำคัญขนาดนั้น ซิ่วมามันก็ดีตรงที่ว่าเรามีเพื่อนหลายรุ่น หลายคณะ มีคอนเนคชั่นที่กว้าง ทำให้รู้จักคนเยอะขึ้น และหลากหลายขึ้น”
“ตอนก่อนตัดสินใจซิ่ว เราคิดหนักมาก เพราะเพื่อนในรุ่นก็คือปี 4 แล้ว รู้สึกหนักใจ เพราะเพื่อนจะดูแลพ่อแม่ได้แล้ว แต่เรายังขอพ่อแม่อยู่เลย แต่ก็จะปรึกษาพ่อแม่ตลอด เขาก็บอกว่าถ้ามีโอกาสทำตามฝันก็ทำไป พอเขาพูดแบบนี้ เราก็ลดความคิดตรงนี้ลง” ข้าวเล่าถึงครอบครัว กำลังใจหลักที่สนับสนุนความฝันของเธอ
ถ้าชีวิตคือการทดลอง การซิ่วก็คือการทดลองครั้งสำคัญ
สมัยก่อน เราอาจจะใช้ระบบการศึกษาเป็นตัววัด การเรียนไม่ตามเกณฑ์เลยดูเหมือนเป็นเรื่องผิดพลาด แต่มุมมองเรื่องการซิ่วของเด็กสมัยนี้ ต่างออกไป พวกเขามองเป็นโอกาสในการทดลอง ได้ไขว่คว้าความฝันที่อยากได้ ด้วยกำลังของตัวเองมากกว่า
“การซิ่วคือการได้ลอง มันไม่ใช่ยุคที่ผู้ปกครอง หรือสังคมจะมาบังคับ เรียนจบ ม.ปลาย ปุ๊บ ต้องเรียนต่อ 4 ปี 6 ปีให้จบ มีคนไป gap year ไปทำกิจกรรมต่างๆ ก่อนจะมาเรียนมหา’ลัยก็มี เลยมองว่าไม่ได้แปลกอะไร ทุกคนสามารถทดลองได้”
ไหมลี่สะท้อนมุมมองของเด็กสมัยนี้ และยังขยายความต่ออีกว่า “มันมีเด็กซิ่วหลายแบบ บางคนก็ซิ่วจากการย้ายสายอื่น บางคนอยากเข้าในคณะที่ชอบจริงๆ อยากจะเอาให้ได้ แต่เราควรเข้าใจทุกฝ่าย
“บางคนเรียนไม่ไหว คือเรียนไม่ไหวจริงๆ ไม่ใช่ไม่อดทน เพราะขีดจำกัดแต่ละคนไม่เท่ากันจริง เราก็โดนเยอะ เรื่องเรียนไปแล้วมันจะมีงานทำไหม สังคมชอบมองว่าเรียนนั่นเรียนนี่จะไม่มีงาน วางกรอบให้เด็กว่า ต้องคณะนั้นสิถึงจะมีงาน แต่เราเชื่อว่า ถ้าเราทำอะไรที่เราชอบ มันก็จะมีทางของมัน”
สำหรับข้าวก็เช่นกัน เธอบอกว่าการเรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ เป็นความทุกข์ที่ไม่มีเด็กคนไหนอยากเจอ
“อย่างบางคนที่ไม่ค้นพบตัวเอง ไปเรียนตามเพื่อน เราเห็นเขาโพสต์บ่นทุกวันว่าไม่มีความสุขกับการเรียน รู้สึกไม่โอเค คือเราเข้าใจเลย เพราะเราก็ไม่มีความสุขกับการเรียนในตอนนี้ แต่คิดว่าถ้าเราได้อยู่คณะในฝัน เราก็จะมีความสุขในการเรียนมากกว่านี้”
ระบบการศึกษาเอื้อให้เราค้นพบตัวตนได้
แม้ระบบการศึกษาที่เป็นอยู่ อาจจะไม่มีผลให้ใครซิ่วหรือไม่ซิ่วในทางตรง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ถ้าระบบให้ความสำคัญกับการค้นพบตัวตนของเด็กมากกว่านี้ มากกว่าแค่ความเป็นเลิศทางวิชาการ ก็อาจจะทำให้เด็กหลายคนเลือกเส้นทางชีวิตได้ดีขึ้น
“เราไม่มีทางรู้ว่าเราจะรู้ตัวตอนไหน มีแค่ว่าทำยังไงให้เรารู้ตัวเร็วขึ้น จริงๆ เด็กควรรู้ตัวตั้งแต่เรียน ม.ปลาย แต่ในความจริงเราเอาเวลาไปเรียนวิชานึง 2 รอบ ทั้งเรียนที่โรงเรียนและเรียนพิเศษด้วย เวลามันก็เลยเสียเปล่า แทนที่เราจะเอาเวลาตรงนั้นมาลอง มีโอกาสจะรู้ตัวตั้งแต่เด็กๆ แต่กลายเป็นว่าเราต้องมาเรียนพิเศษ หรือครูต้องทำประเมิน วิจัยต่างๆ อาจจะดูแลเด็กได้ไม่เต็มที่ มันก็กระทบกันหมด เพราะระบบการศึกษามันไม่เปลี่ยน” เจมส์สะท้อนถึงประสบการณ์ในการเรียน
เหมือนกับไหมลี่ที่เห็นว่าการทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมีส่วนทำให้เธอได้ค้นพบตัวเอง “เรารู้สึกโชคดีที่เราได้ลองอะไรหลายๆ อย่าง แต่บางคนไม่มีโอกาสได้ลองเลย หรือถูกบังคับจากผู้ปกครอง แต่พอไปเรียนก็รู้สึกทรมาน เพราะเขาไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไร เราควรจะส่งเสริมให้เด็กลองทำอะไรเยอะๆ ตั้งแต่เด็กๆ ไม่ได้บังคับให้เรียนอย่างเดียว”
ถึงจะหยุดชะงักในระบบการศึกษา แต่กลับทำให้ภายในเติบโต
“สิ่งสำคัญอย่างนึงที่ได้รับจากการซิ่ว คือ ความกล้าที่จะเผชิญกับปัญหา และความกล้าที่จะตัดสินใจ จริงๆ เราก็ลังเลมากๆ เราก็ไม่รู้ว่าตัดสินใจถูกไหม แต่พอคิดๆ ไป ใจลึกๆ คือรู้ว่าเราทำเต็มที่แล้ว เราเลือกแล้ว เราจะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด พี่ชายเคยเตือนสติว่าเราจับปลาสองมือไม่ได้นะ เราจะต้องเลือกหนึ่งอย่าง ทำอย่างนึงให้น้อยลงแล้วทำอีกอย่างให้มากขึ้น จะได้เลิกอ้างกับตัวเองว่าเพราะเรียนหนักไงเลยสอบไม่ติด ก็เลยลองเรียนไม่หนัก ลองทำตามฝันดู ว่าจะสำเร็จไหม” ข้าวพูดถึงเบื้องหลังการตัดสินใจครั้งสำคัญ
ไม่ต่างกับเจมส์ ที่รู้สึกว่าได้พัฒนาความกล้า จากการกลับมาเรียนใหม่
“เรารู้สึกว่า เราได้ความกล้าในการตัดสินใจ เราชอบมานานแล้ว แต่เราไม่กล้าบอกคนอื่นว่าเราอยากเป็นอะไร เป็นความฝันเล็กๆ มาตลอด แต่ไม่เคยจริงจังกับมันเพราะคิดว่ามันไกล ไม่เคยคิดจะเข้าคณะดุริยางค์ ถ้าเข้ามาเลย ก็คงไปได้เร็วกว่านี้”
แม้อดีตจะไม่เป็นดังหวัง แต่สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว สิ่งนั้นดีสำหรับเราเสมอ
“เรารู้สึกว่าสิ่งที่ผ่านมามันดีทุกอย่างเลย เราไม่ได้รู้สึกเสียใจกับมัน ถ้าไม่ชอบคง รู้สึกว่าอยากเปลี่ยนอดีต แต่การเรียนสถาปัตย์มันก็ทำให้เราได้ระบบความคิดอย่างนึงมา ได้เพื่อนกลุ่มนี้มา ทำให้เราเป็นเรา ถ้าเราไม่เรียนสถาปัตย์ ก็อาจจะไม่ทำให้เราชอบดนตรีเท่าวันนี้ก็ได้” เจมส์เล่าถึงมุมมองที่เขาได้พบกับตัวเอง เช่นเดียวกับไหมลี่
“จริงๆ เราก็รู้สึกว่าเราทำผิดพลาดหลายอย่าง แต่ถ้าเราเปลี่ยนอดีต เราก็จะไม่เป็นเราในทุกวันนี้ สมมุติว่าเราจบ ม.6 แล้วติดนิเทศฯเลย เราก็จะไม่มีความชื่นชอบในด้านอื่นๆ ทั้งด้านธุรกิจ รัฐศาสตร์ ด้านนั้น ด้านนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ประยุกต์ใช้กับสิ่งที่จะทำในอนาคตได้ เราได้เรียนรู้ในทุกช่วงเวลาที่เราโตขึ้นไป อาจจะทั้งดีทั้งแย่ แต่มันก็ทำให้เราได้เป็นเราในแบบนี้”
สิ่งที่เด็กซิ่วต้องการในวันที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง
อย่างที่กล่าวไปว่าการเป็นเด็กซิ่ว ต้องเผชิญกับสภาวะภายในใจมากมาย ดังนั้นพวกเขาจึงต้องการแรงสนับสนุนจากทุกคนด้วยเช่นก้น
“เด็กซิ่วส่วนใหญ่ก็อยากได้กำลังใจจากคนรอบข้าง บางคนอาจจะเรียนไปอ่านหนังสือไปด้วย บางคนอยู่บ้านก็จะเคว้ง ถ้ามีครอบครัวที่เข้าใจ มีคนที่ซัพพอร์ตก็จะผ่านไปได้ด้วยดี เพราะอย่างช่วง ม.6 มันมีแรงอ่านหนังสือมากกว่า พอซิ่วออกมาแรงมันแผ่วลง แต่เด็กซิ่วมันค่อนข้างตัวคนเดียว เด็กซิ่วหลายคนค่อนข้างป่วยทางใจ ทำอะไรไม่ได้นอกจากรอเวลาสอบอย่างเดียว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอ่านไปจะติดไหม?” ไหมลี่ เล่าถึงความสัมพันธ์ที่ส่งผลต่อจิตใจของเด็กซิ่ว เหมือนกับข้าวที่ยอมรับว่า คนรอบข้างมีอิทธิพลอย่างมากเช่นกัน
“อย่างแรกเลยคือครอบครัว ต้องให้กำลังใจและซัพพอร์ต เพราะการซิ่วมันไม่ได้เสียแค่เวลา มันเสียทั้งเงิน เสียทั้งกำลังใจ ถ้าครอบครัวไม่ซัพพอร์ตมันก็ผ่านไปได้ยาก อีกอย่างคือเรื่องเพื่อนก็เป็นปัจจัยสำคัญ บางครั้งเราต้องขาดเรียนเพื่ออ่านหนังสือ เพื่อนก็จะคอยเก็บงานให้ บอกงานให้ การสนับสนุนจากเพื่อนและครอบครัวต้องดีมากๆ ถึงจะผ่านไปได้”
“ฝันและทำมันให้เต็มที่” คือสิ่งที่พวกเขาได้เรียนรู้
“อยากเป็นกำลังใจให้ทุกคนทำตามความฝันตัวเอง เราผ่านมาเรารู้สึกว่ามันยากจริงๆ ตอนนั้น แต่ถ้าเราไม่ชอบสิ่งนั้นแล้วเราเรียนๆ ไป ทนไปตามที่สังคมบอก วันนึงเราย้อนกลับมาซิ่วไม่ได้แล้ว วันนึงเราก็จะกลับมาเสียดายจุดนั้น ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ ทำสิ่งที่ใจตัวเองบอกดีกว่า” ไหมลี่กล่าว
“เราก็ต้องมั่นใจในตัวเอง ว่าเราเต็มที่ ต้องรู้สึกแบบ…ถ้าไม่ได้ลอง จะรู้สึกเสียใจตลอดชีวิตแน่ๆ” เจมส์ฝากกำลังใจให้ทุกคน
ปิดท้ายกันที่ข้าว “ความฝันเรามันยิ่งใหญ่เสมอ ถ้าเรายอมเสียเวลา 1-2 ปี ดีกว่าที่ทนอยู่ 4 ปี อยากให้ทุกคนสู้ๆ อีกไม่ถึงปีแล้วที่จะสอบ ’64 นี้สอบติดไปด้วยกันนะ”
และนี่คือทั้งหมดที่เหล่าเด็กซิ่วได้สะท้อนมาในวันนี้ ทำให้เราเข้าใจมุมมองของพวกเขามากขึ้น ว่าสิ่งสำคัญสำหรับพวกเขา อาจไม่ใช่การเรียนเร็ว เรียนช้า หรือการประสบความสำเร็จในการเรียน แต่พวกเขาเชื่อว่า ความรักในสิ่งที่ทำ และการได้รู้จักตัวเองต่างหาก คือสิ่งสำคัญที่จะนำทางชีวิตไปสู่ความสุขได้อย่างยั่งยืน