Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: April 2019

อ่าน เล่น ทำงาน – ประโยชน์ 9 ข้อและ ‘พ่อมีอยู่จริง’ ของการเล่นบทบาทสมมุติ
EF (executive function)
22 April 2019

อ่าน เล่น ทำงาน – ประโยชน์ 9 ข้อและ ‘พ่อมีอยู่จริง’ ของการเล่นบทบาทสมมุติ

เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

มีคำสองคำที่ใช้กันในตำราหลายเล่ม หนึ่งคือ role play หมายถึงการเล่นบทบาทสมมุติ สองคือ pretend play หมายถึงการเล่นสมมุติ หนังสือบางเล่มใช้ทั้งสองคำ ในขณะที่บางเล่มใช้คำว่าเล่นสมมุติคำเดียว

การเล่นสมมุติหมายความง่ายๆ ถึงการหยิบฉวยวัสดุรอบตัวมาเล่นสมมุติแทนวัตถุจริง เช่น ใช้กล่องสักใบแทนเตาปฏิกรณ์ปรมาณู เป็นต้น อาจจะกินความไปถึงสมมุติตนเองเป็นใคร เช่น ไออ้อนแมน เป็นต้น (หากคนรุ่นเก่าเลือกแบทแมนหรือซูเปอร์แมนก็อย่าเสียใจที่เด็กๆ จะเลือกไออ้อนแมนหรือกัปตันอเมริกา)

การเล่นบทบาทสมมุติมีความหมายคล้ายคลึงกัน หมายความง่ายๆ ถึงการสมมุติเต็มรูปแบบทั้งผู้เล่น วัสดุ และสภาวะแวดล้อม เช่น เด็กสมมุติตนเองเป็นพ่อครัว หยิบฉวยวัสดุเหลือใช้รอบตัวมาสร้างเป็นครัว แล้วให้คุณพ่อเป็นลูกมือในครัว เป็นต้น พูดง่ายๆ ว่าการเล่นบทบาทสมมุติเข้าใกล้การเล่นละคร ซึ่งเป็นเรื่องสามัญสำหรับโรงเรียนในประเทศพัฒนาที่มักจัดให้มีการแสดงละครอย่างสม่ำเสมอ

การเล่นสมมุติหรือบทบาทสมมุติมีประโยชน์อย่างไรและทำได้อย่างไร

1. ช่วยให้เข้าใจว่าคนอื่นกำลังจะทำอะไร ความข้อนี้สำคัญ ทารกเกิดมาพร้อมความสามารถที่จะทำนายได้ว่าคุณแม่จะทำอะไรหรือควรจะทำอะไร ซึ่งจะนำไปสู่ความไว้ใจแม่และความไว้ใจตนเอง รวมไปถึงความไว้ใจโลกและจักรวาล เมื่อทารกเติบโตขึ้นถึงวัยเล่นได้ เขาพัฒนาความสามารถนี้ดีขึ้น เก่งขึ้น ซับซ้อนขึ้น ถึงระดับดูสีหน้าคนก็รู้ว่าเขากำลังจะทำอะไร การละเล่นที่เข้ามาเสริมความสามารถด้านนี้คือ การเล่นบทบาทสมมุติ

2. ช่วยให้เข้าใจและล่วงรู้ความรู้สึกของผู้อื่น ความข้อนี้สำคัญมาก ความสามารถที่จะเข้าใจไปจนถึงล่วงรู้ความรู้สึกในใจของผู้อื่นนี้มิใช่เรื่องอ่านใจหรือกระแสจิต แต่หมายถึง เอมพาธี (empathy) และเรียกความสัมพันธ์ที่มีเอมพาธีว่า empathetic relation คนทั่วไปควรมีเอ็มพาธีได้ระดับหนึ่งนั่นคือเข้าใจ ล่วงรู้ และสัมผัสความทุกข์ยากของคนอื่นและเพื่อนมนุษย์ พบว่าอาชญากรบางประเภท เผด็จการบางคน หรือฆาตกรบางคนไม่มีความสามารถนี้

3. ช่วยให้พัฒนาการทางภาษาดีขึ้น ระหว่างการเล่นบทบาทสมมุติเด็กสมมุติวัสดุรอบตัวเป็นวัตถุจริง เช่น นำกล่องมาวางเป็นเตาแก๊ส กล่องโฟมเป็นถังแก๊ส แผ่นไม้สักแผ่นเป็นกระทะ นำขวดเปล่ามาวางเรียงเป็นซีอิ๊ว น้ำปลา น้ำมันหอย ฉีกหนังสือพิมพ์โรยเป็นผัก จะเห็นว่าลำพังขั้นตอนเตรียมอุปกรณ์คุณพ่อจะต้องพูดคำศัพท์จำนวนมากออกมาให้เด็กได้ยิน และบ่อยครั้งที่เด็กจะพูดตามโดยไม่รู้ตัว

4. ช่วยให้การอ่านและการเขียนดีขึ้นด้วย อย่าลืมว่าภาษาหรืออักขระคือเส้นสายสมมุติ มิได้มีอยู่จริงในตอนแรก เด็กไทยสมมุติให้การลากเส้นเช่นนี้ “ก” คือ ก ไก่ และชวนให้ใจคิดถึงสัตว์ 2 ขามีปีกที่ร้องเอ้กอีเอ๊กเอ้กในตอนเช้าๆ ในขณะที่เด็กฝรั่งสมมุติให้การลากเส้นเช่นนี้ “A” คือ A Ant และชวนให้คิดถึงสัตว์ 6 ขาที่กัดเจ็บ จะเห็นว่าลำพังการขีดเส้นบนผนังถ้ำหรือกระดาษเพียงสั้นๆ สามารถพาจิตใจของเด็กไปสู่ภาพสัตว์ที่เกิดขึ้น การเล่นสมมุติหรือการเล่นบทบาทสมมุติทำงานในลักษณะเดียวกัน คือช่วยพัฒนาระบบการให้สัญลักษณ์และถอดความหมายของสัญลักษณ์ (symbolization) นำไปสู่ภาษาที่ดีขึ้นทั้งการพูด อ่าน และเขียน เราจึงแนะนำให้คุณพ่อเล่นบทบาทสมมุติกับลูกเสมอเมื่อลูกพูดช้า

5. ช่วยเรื่องจินตนาการ ในระหว่างการเล่นทำครัว บ่อยครั้งที่เราเตรียมอุปกรณ์ไม่ครบ คุณพ่อสามารถคว้าตะหลิวด้วยมือเปล่ากลางอากาศแล้วพูดคำว่า “ตะหลิว” เพียงเท่านี้ตะหลิวก็มีอยู่จริงโดยพลัน สังเกตดูเถิดว่ามีอยู่จริงมิใช่เพียงในจิตใจของลูกแต่ของพ่อด้วย จะเล่นเป็นครูแต่ลืมไม้เรียว คุณพ่อสามารถคว้าไม้เรียวจากกลางอากาศเมื่อไรก็ได้ หากเล่นเป็นยอดมนุษย์อุลตร้าแมนจากดาว M78 ซึ่งอยู่ใกล้ๆ หลุมดำ M87 ก็ต้องไขว้มือปล่อยแสงสเปซเซี่ยม และถ้าเป็นก๊อดซิลล่าต้องร้อง “ก๊าซซซซซ” แล้วปล่อยแสงออกจากปากทำลายศัตรูราบเป็นหน้ากลอง ไม่นับการเหยียบย่ำทำลายตึกไปทั่วบ้าน นี่แค่เขียนยังนึกถึงสมัยที่ตนเองเป็นเด็กนำบล็อคไม้และกล่องเปล่ามาสร้างเป็นตึกรามบ้านช่องทั่วพื้นบ้านแล้วสมมุติตนเองเป็นก๊อดซิลล่า

6. ช่วยพัฒนาความคิดเชิงนามธรรม ระหว่างการเล่นบทบาทสมมุติเด็กจะได้ภาษาเชิงรูปธรรมง่ายๆ คือวัสดุเหลือใช้ที่เรานำมาสมมุติเป็นตะหลิว ไม้เรียว หูฟังของคุณหมอ ผัดกะเพราไข่ดาวใส่พริกด้วย แต่ระหว่างการเล่นเด็กจะได้คำศัพท์ที่นอกเหนือจากวัตถุ เช่น ใช้ตะหลิวผัดผัก “ซั่วซ่าๆ” เห็นไม้เรียวก็ “กลัวแล้วๆ” ฟังหัวใจได้ยินเสียง “ตุ้บ ตุ้บ” ผัดกะเพรา “เผ็ดจังเลย” เป็นต้น คำศัพท์ที่ไม่ใช่วัตถุ ได้แก่คำอุทาน คำวิเศษณ์ คำสันธาน คำบุพบท ไปจนถึงคำหยาบ วลี สำนวน คำพังเพย โวหาร เหล่านี้ล้วนรอเวลาหลุดออกมาในการเล่นบทบาทสมมุติ ก่อนที่จะก่อร่างสร้างตัวเป็นความสามารถระดับนามธรรมต่อไป

7. การเล่นบทบาทสมมุติช่วยระบายความคับข้องใจได้มาก เวลาเราเล่นบทบาทสมมุติบนกองทราย เด็กมักได้โอกาสระบายความเครียด เคียดแค้น โกรธ น้อยใจ เสียใจ เศร้าใจ เหงา เปล่าเปลี่ยว ออกไปกับการละเล่น เช่น นำตุ๊กตาที่สมมุติว่าเป็นพ่อหรือแม่มาฝัง แม้แต่โยนคุณครูลงกระทะทอดกินก็มี เป็นต้น

อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้เป็นเพียงการสมมุติและจินตนาการ เป็นกระบวนการระบายสิ่งสกปรกตกค้างออกจากจิตใจ เป็นวาล์วนิรภัยเปิดเพื่อระบายแรงดันไอน้ำออกบ้างก่อนที่จะระเบิด เป็นเรื่องดีและจะมีกันบ้างทุกคนไม่มากก็น้อย

8. การเล่นบทบาทสมมุติช่วยให้เด็กเข้าใจตนเอง นี่คือคุณูปการสูงสุดของการเล่นละครโรงเรียน ด้วยกลไกของสิ่งที่เรียกว่าละคร การสวมบทบาทตัวละครใดๆ ของเด็กๆ มีประโยชน์เสมอ ต่อให้สวมบทเป็น ทองคำ กำยาน และมดยอบ อันเป็นของขวัญจากมาไจในคืนวันคริสต์มาส หรือจะเล่นบทพระราม พระลักษณ์ ทศกัณฑ์ พิเภก อินทรชิต หรือสีดา บทบาทเหล่านี้จะแตะต้อง (touch) ถูกจิตใจและบุคลิกภาพเด็กๆ เสมอ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่าเด็กๆ กำลังอยู่ในขั้นตอนพัฒนาบุคลิกภาพจึงมีทุกนิสัยใจคอซ่อนตัวอยู่

9. การเล่นบทบาทสมมุติสร้างพ่อที่มีอยู่จริง คงสังเกตได้แล้วว่ามีแต่คำว่าพ่อตั้งแต่ต้นบทความ เพราะนี่คือโอกาสทองที่พ่อจะได้นั่งลงเล่นทำครัวกับลูกแล้วปล่อยแม่ไปทำครัว อาบน้ำนานๆ ไปร้านเสริมสวย 4 ชั่วโมง เป็นช่วงเวลาแสนสุขที่พ่อลูกจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันเล่นด้วยกันโดยไม่ยาก หากคุณพ่อเหนื่อยจากงานมาเล่นทำครัวย่อมง่ายที่สุด เพราะนั่งเฉยๆ (อย่างแย่ที่สุดคือนอนหลับข้างกองทรายให้ลูกๆ สมมุติว่าป็นคนตายเพื่อเอาทรายกลบฝังก็ได้ อยากไม่มีเวลาดีนัก) ถ้าคุณพ่อมีพลังย่อมเล่นเป็นสไปเดอร์แมนได้ การเล่นเป็นผู้ป่วยนอนลงให้คุณหมอตรวจนั้นง่ายมาก แต่ถ้าเล่นเป็นทหาร ตำรวจหรือโจรขโมยก็จะเหนื่อยหน่อย

การเล่นบทบาทสมมุติเป็นโอกาสทองที่คุณพ่อจะได้ถดถอยกลับไปสู่ความเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง – ขอบอก

ได้แต่หวังว่าเรื่องจะไม่น่าเศร้าถึงระดับไม่มีคุณพ่อมาเล่นบทบาทสมมุติ หรือมีพ่อที่เอาแต่นั่งก้มหน้าเล่นมือถืออยู่ข้างกองทราย

Tags:

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์อ่าน เล่น ทำงานEFและการศึกษาการเล่นสมมติ (pretend play)การเล่น

Author:

illustrator

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Illustrator:

illustrator

antizeptic

Related Posts

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: ของเล่นเด็ก (ตอน2) เด็กต้องการการสบตาและการเล่นกับพ่อแม่ตัวเป็นๆ มากกว่าสิ่งใด

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: ของเล่นเด็ก (ตอน 1) “ซื้อเพื่อลดความวิตกกังวลของพ่อแม่หรือพัฒนาการลูก”

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน : เล่นแล้วได้อะไร ไม่เล่นแล้วเด็กจะเป็นอย่างไร

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: EF ของหุ่นยนต์ หรือจะสู้ EF ของเด็ก

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: ห้ามเล่น = หยุดการสร้างสมองของคุณหนูๆ

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

ลงโทษแค่หลาบจำ ลูกจะกลับมาทำอีก ‘หนุนเสริมเชิงบวก’ เวิร์คกว่า เขาจะรู้ผิดถูกเอง
Early childhood
22 April 2019

ลงโทษแค่หลาบจำ ลูกจะกลับมาทำอีก ‘หนุนเสริมเชิงบวก’ เวิร์คกว่า เขาจะรู้ผิดถูกเอง

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • การลงโทษโดยใช้ความรุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟันกับลูกไม่ส่งผลดีอะไรเลยในระยะยาว แถมยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของลูก
  • พ่อแม่สามารถใช้วิธีการ หนุนเสริมเชิงบวก (positive reinforcement) แทนการตำหนิ ว่ากล่าว หรือตีได้ ลูกไม่เพียงมีพฤติกรรมดีขึ้น แต่ลูกจะเชื่อฟัง รับฟังเหตุผล มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และเข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้น
  • แทนที่จะรุก พ่อแม่ควรเป็นฝ่ายตั้งรับ แล้วค่อยแก้ไขปัญหาด้วยวิธีเชิงบวกกลับไป เรื่องใหญ่ๆ ยากๆ อย่างลูกชอบโกหก ก็จะง่ายขึ้น

จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2560 พบว่าเด็กปฐมวัยเป็นช่วงอายุที่ถูกทำโทษด้วยวิธีรุนแรงทางร่างกายมากกว่าวัยอื่น

ราว 3 ใน 4 ของเด็กวัย 3-4 ขวบถูกสมาชิกในครอบครัวทำร้ายร่างกายใน 1 เดือนที่ผ่านมา และเกือบครึ่งหนึ่งของผู้เลี้ยงดูเชื่อว่าการลงโทษทางร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นในการเลี้ยงเด็ก

เมื่อลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม การหยุดตำหนิหรือว่ากล่าวลูกในทันที ดูเหมือนเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ การตอบสนองด้วยปฏิกิริยาบางอย่าง เช่น การใช้คำพูดทำนอง

“อย่าทำแบบนั้น”

“ทำอย่างนี้ไม่ได้นะ”

หรือแม้กระทั่งการตี เป็นสิ่งที่แทบจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติตามสัญชาตญาณ

แต่รู้หรือไม่ว่า การตอบสนองดังกล่าว ยิ่งทำให้ลูกได้ใจ เพราะได้รับความสนใจ (attention) รับประกันได้ว่าแทนที่ลูกจะหยุดพฤติกรรมเหล่านั้น ลูกกลับหันมาเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีการเดิมอีกในอนาคต ในทางกลับกันกรณีที่ลูกทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม แทนที่จะโฟกัสไปที่การห้ามทำพฤติกรรมดังกล่าวโดยตรง พ่อแม่สามารถใช้วิธีการ หนุนเสริมเชิงบวก (positive reinforcement) แทนการตำหนิ ว่ากล่าว หรือการตีได้

Positive Reinforcement หรือการหนุนเสริมเชิงบวกคืออะไร แล้วจะช่วยปรับพฤติกรรมของลูกได้อย่างไร?

ลำดับแรก พ่อแม่ต้องจำให้ขึ้นใจก่อนว่า การลงโทษโดยใช้ความรุนแรง ตาต่อตาฟันต่อฟันกับลูกไม่ส่งผลดีอะไรเลยในระยะยาว แถมยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของลูก The Potential เคยนำเสนอบทความเกี่ยวกับการลงโทษไว้ใน ยังตีอยู่ไหม เมื่อตีลูกให้จำ ทำลายความผูกพันและเพิ่มพฤติกรรมเสี่ยง

Positive Reinforcement หรือการหนุนเสริมเชิงบวก ไม่ใช่การกล่าวชมเชย หรือการดึงดูดความสนใจด้วยของรางวัลเท่านั้น แต่เป็นการปรับการตอบสนองของพ่อแม่ต่อพฤติกรรมของลูกในหลากหลายส่วน

ยกตัวอย่างเช่น การให้ลูกรับผิดชอบงานบ้านมากขึ้น หรือให้ลูกไปช่วยงานคนอื่นในเวลาว่าง โดยบอกให้ลูกเข้าใจว่าที่ลูกได้รับมอบหมายให้ทำสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นนั้น เป็นเพราะลูกทำความผิดเรื่องอะไร

การให้ลูกเขียนจดหมายขอโทษเมื่อลูกทำให้คนอื่นรู้สึกไม่ดี หรือเมื่อรังแกผู้อื่น เป็นต้น

การตอบสนองด้วยวิธีการลักษณะนี้เรียกว่าการหนุนเสริมที่เด็กจะได้เรียนรู้และได้รับประสบการณ์จากสิ่งที่ตัวเองลงมือทำควบคู่กันไป อีกทั้งยังทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าโดยไม่รู้ตัว เพราะได้ทำตัวเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

วิธีการหนุนเสริมเชิงบวกดีกว่าการวางเฉยแบบเฉยชา และดีกว่าการลงโทษอย่างที่ทำกันอยู่ เพราะไม่เพียงทำให้ลูกมีพฤติกรรมดีขึ้น แต่จะทำให้ลูกเชื่อฟัง รับฟังเหตุผล มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ผู้อื่น และเข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้น

ถึงตรงนี้พ่อแม่หลายคนอาจกำลังกุมขมับ แล้วคิดว่านอกจากตัวอย่างที่บอกไป ยังมีวิธีการหนุนเสริมเชิงบวกแบบไหนอีก
การหนุนเสริมเชิงบวก ทำได้ง่ายๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยสักนิด ยกตัวอย่างเช่น

  • การไฮไฟว์ (high five) หรือการประกบมือกับลูกเมื่อลูกทำสำเร็จหรือทำได้ดี
  • การกอดหรือการลูบหลัง
  • การปรบมือ ส่งเสียงเชียร์ให้กำลังใจ หรือแม้แต่การยกนิ้วโป้ง เพื่อแสดงว่า “ยอดเยี่ยม”
  • การบอกกับคนอื่นว่าภูมิใจในตัวลูกมากแค่ไหนต่อหน้าลูก

การกล่าวคำชมเชยหรือการให้รางวัล ใช่ว่าจะทำไม่ได้เลย พ่อแม่สามารถทำได้เมื่อลูกลงมือทำบางอย่างที่น่าชื่นชมอย่างเห็นได้ชัด เช่น เมื่อลูกทำความสะอาดห้องตัวเองทั้งที่พ่อแม่ไม่ได้บอก กรณีนี้พ่อแม่สามารถหนุนเสริม ให้รางวัลลูกด้วยการพาไปสนามเด็กเล่นได้

หรือให้เวลาลูกเล่นแท็บเล็ตหรือทำในสิ่งที่เขาอยากทำมากขึ้น เมื่อเขามีความกระตือรือร้นทำการบ้านจนเสร็จอย่างรวดเร็วและทำออกมาได้ดี

ในวัยรุ่นการเลื่อนเวลาเคอร์ฟิว (curfew) ให้ลูกกลับบ้านช้าขึ้นได้อีก 1 ชั่วโมงสักครั้งหนึ่ง เมื่อเขาทำสิ่งที่ดีและน่าชื่นชมก็เป็นการหนุนเสริมอย่างหนึ่ง

การกล่าวชมเชยหรือให้รางวัลในจังหวะที่ถูกต้องจะเป็นแรงกระตุ้นและเป็นแรงบันดาลใจให้ลูกทำพฤติกรรมที่ดีนั้นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่พ่อแม่ควรระวังไม่ใช้วิธีชื่นชมหรือให้รางวัล เป็นการเสนอเงื่อนไขหรือแลกเปลี่ยนเมื่อลูกกระทำความผิด

พ่อแม่เป็นฝ่ายตั้งรับ

เอมี มอริน (Amy Morin) นักจิตอายุรเวท (psychotherapist) และอาจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น (Northeastern University) เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ กล่าวถึงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ตามธรรมชาติของเด็กๆ ที่พ่อแม่ควรลิสต์เอาไว้ เพื่อเตรียมพร้อมตั้งรับ ในบทความ ‘Common Child Behavior Problems and Their Solutions’ ได้แก่

การโกหก (lying) การต่อต้าน (defiance) การใช้เวลาอยู่หน้าจอมากเกินไป (too much screen time) ปัญหาเกี่ยวกับอาหาร (food-related problems) พฤติกรรมไม่สุภาพ/ไม่ให้เกียรติผู้อื่น (disrespectful behavior) การร้องไห้สะอึกสะอื้น (whining) พฤติกรรมหุนหันพลันแล่น ห้ามไม่ได้ไล่ไม่ทัน (impulsive behavior) ไม่ยอมหลับยอมนอน (bedtime behavior problems) ความก้าวร้าว (aggression) และอารมณ์แปรปรวน (temper tantrums)

เอมีกล่าวถึง วิธีตั้งรับการโกหก (lying) ว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เด็กๆ ต้องโกหกมีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน หนึ่ง เรียกร้องความสนใจ สอง ไม่อยากตกที่นั่งลำบาก เช่น ไม่อยากโดนดุ โดนตี และ สาม ทำให้พวกเขารู้สึกดีกับสิ่งที่ตัวเองทำ

หากพ่อแม่แยกแยะสาเหตุการโกหกของลูกได้ ความขุ่นเคืองของพ่อแม่จะเบาบางลง และทำให้เข้าใจลูกมากขึ้น

“สิ่งที่ลูกบอกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ หรือเป็นสิ่งที่ลูกอยากให้เกิดขึ้น? บอกความจริงกับแม่”

ถามลูกอย่างใจเย็น ด้วยน้ำเสียงธรรมดาที่สุด เพื่อให้ลูกรู้สึกปลอดภัย พร้อมเล่าความจริงทั้งหมด

เมื่อลูกบอกความจริง

“แม่ภูมิใจในตัวลูกมากที่ลูกบอกความจริงกับแม่ ว่าลูกแอบกินขนมเค้กไปหลังจากที่แม่บอกว่าพอแล้ว วันนี้แม่จะไม่ให้ลูกเล่นเกม แต่เพราะลูกพูดความจริงพรุ่งนี้ลูกจะได้เล่นเกมเหมือนเดิม”

ไม่พาลใส่ลูก โฟกัสให้ตรงจุด แล้วให้อภัย

การรับมือกับลูกในวัยเด็ก พ่อแม่ต้องใช้กลยุทธ์แบบหนึ่ง แต่สำหรับเด็กในวัยที่โตขึ้น พ่อแม่ต้องอาศัยการทำความเข้าใจในกระบวนการคิดที่ซับซ้อนขึ้นของพวกเขาเช่นกัน

ซารา บีน (Sara Bean) ผู้ให้คำปรึกษาด้านการศึกษา ที่มีประสบการณ์ทำงานกับเด็กและครอบครัวมากว่า 10 ปี กล่าวไว้ในบทความ ‘The Surprising Reason for Bad Child Behavior: “I Can’t Solve Problems’ เผยแพร่ในเว็บไซต์เอ็มพาวเวอร์ริ่งแพเรนส์ (empowering parents) ว่า เด็กมีพฤติกรรมเชิงลบ เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาของตัวเองอย่างไร
ซาราแนะนำให้พ่อแม่ลองสังเกตว่าลูกมีปัญหาเหล่านี้หรือไม่…

หนึ่ง ปัญหาด้านอารมณ์ (emotional problems)

วัยรุ่นต้องรับมือกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลง เหวี่ยงไปมาจนยากจะควบคุม ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์โกรธเคือง เศร้าเสียใจ ผิดหวัง ไม่ได้อย่างใจ หรือตื่นเต้น หลายครั้งพวกเขาไม่รู้วิธีการรับมือกับอารมณ์เหล่านี้ หลายอารมณ์อาจนำมาสู่พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการตะโกน การขว้างปาข้าวของ หรือแม้แต่การต่อยฝาผนัง เป็นต้น

สอง ปัญหาด้านการเข้าสังคมหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น (social/relationship problems)

วัยรุ่นหลายคนต้องการการยอมรับ แต่กลับแสดงออกด้วยการรังแก แกล้งเพื่อนคนอื่น ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

และ สาม ปัญหาการเรียน/ทำงาน (functional problems)

เป็นไปได้ที่หลายครั้ง เด็กๆ อาจไม่เข้าใจบทเรียนที่ครูสอนในห้องเรียน จนทำให้รู้สึกเบื่อ ไม่อยากสนใจ ไม่อยากเรียน ไม่ยอมทำการบ้าน แต่โกหกพ่อแม่ว่าทำการบ้านแล้ว หรือเลยเถิดไปถึงการหนีเรียน หากพ่อแม่ไม่สังเกตพฤติกรรมลูก สุดท้ายมักมารู้เมื่อผลการเรียนออกมาต่ำกว่าที่เคยเป็น สอบตก หรือได้รับจดหมายเชิญผู้ปกครอง ซึ่งไม่สามารถช่วยหนุนเสริมลูกแก้ปัญหาเรื่องนั้นได้แล้ว

ซาราบอกว่า เมื่อพ่อแม่เข้าใจลูกจากต้นเหตุของปัญหา ไม่โทษตีโพยตีพายว่าเป็นความผิดของใคร พ่อแม่จะอยู่ในสถานะที่พร้อมพูดคุยกับลูก เพื่อแนะนำวิธีการแก้ปัญหาและช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลายได้ ดังนี้

หนึ่ง หลีกเลี่ยงการถามว่า “ทำไม”

“ทำไมลูกถึงทำแบบนี้?” แต่เปลี่ยนเป็นการถามเปิดใจ เช่น “เล่าให้แม่ฟังได้ไหมลูกว่าเกิดอะไรขึ้น? มีอะไรที่แม่ช่วยได้บ้าง?”

สอง โฟกัสไปทีละปัญหา ไม่ซ้ำเติม

หลีกเลี่ยงการฉายภาพตอกย้ำสิ่งที่ลูกทำผิดพลาด แต่ร่วมเป็นทีมเวิร์คเพื่อหาทางแก้ไข…ทีละอย่าง!!! เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียด

สาม แนะนำด้วยการแนะแนวทาง

เมื่อวิธีการที่ลูกใช้แก้ปัญหาไม่ใช่ทางออก ลองถามลูกว่า “ลูกคิดว่าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังไงได้อีก? ไม่มีผิดไม่มีถูก แม่อยากรู้ว่าลูกคิดยังไง?” แล้วร่วมแสดงความคิดเห็น

สี่ พ่อแม่พิจารณาตัวเองว่าเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้ลูกหรือไม่

หลายครั้งที่พฤติกรรมเชิงลบของลูกมาจากการเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่ หากพ่อแม่ชอบบ่น ทะเลาะกันให้ลูกเห็น ไม่มีความกลมเกลียวในครอบครัว ก็เป็นเรื่องยากที่ลูกจะได้เรียนรู้ตัวอย่างที่ดี

เห็นได้ว่า หากอยากให้ลูกเปลี่ยนพฤติกรรม พ่อแม่ก็ต้องปรับตัว ทั้งหมดต้องอาศัยความอดทน เพื่อให้ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้และเข้าใจกันและกัน เป็นการเลี้ยงลูกให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดี โดยไม่สร้างบาดแผลทั้งทางกายและทางใจ…

อ้างอิง
https://www.verywellfamily.com/
https://www.verywellfamily.com/
https://www.verywellfamily.com/
http://drjamesdobson.org/
https://www.psychalive.org/
https://www.empoweringparents.com/

Tags:

วินัยเชิงบวกการลงโทษ

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • How to get along with teenager
    ติ่งก็รักของติ่ง ทำไมพ่อแม่ไม่ฟังและไม่พยายามเข้าใจ?

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • Learning Theory
    เก็บความเชื่อเก่าเข้ากรุ แค่ครู ‘แคร์เด็ก’ วินัยในห้องเรียนก็เกิด

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Learning Theory
    เพราะครูห้ามและไม่เอาใจใส่ วินัยจึงไม่เกิดในห้องเรียน

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Family Psychology
    เพราะทำผิดเท่ากับโดนลงโทษ ลูกจึงโกหก

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Family Psychology
    เอะอะก็ตี ลูกเจ็บแต่ไม่จำ

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

นักสืบสายน้ำ : กลับมาเคารพร่างกายตัวเอง ให้ ‘สัมผัส’ อ่านสิ่งแวดล้อม
SpaceCreative learning
21 April 2019

นักสืบสายน้ำ : กลับมาเคารพร่างกายตัวเอง ให้ ‘สัมผัส’ อ่านสิ่งแวดล้อม

เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • 4 วันกับทริป นักสืบสายน้ำ รุ่นที่ 2 จัดโดย มูลนิธิโลกสีเขียว ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ ทริปที่เปิดพื้นที่ให้เข้าไปทดลองเป็นนักสืบที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่
  • จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ค้นพบว่าแมลงตัวเล็กๆ ที่เคยน่ารำคาญ กลับดูน่ารักขึ้นมาเสียอย่างนั้น
  • เครื่องมือหลักๆ ของนักสืบสายน้ำที่เจ๋งมากๆ คือ ‘ร่างกาย’ เดินเข้าไปในป่า ลองฟังว่าได้ยินเสียงอะไร เห็นอะไร ได้กลิ่นอะไร เราจะใช้ ‘สัมผัส’ เพื่อ ‘อ่าน’ สิ่งแวดล้อม 

“พอดูไปเรื่อยๆ แล้วจะพบว่ามัน ‘น่ารัก’ นะ เหมือนเราได้ทักทาย พูดคุย สวัสดีกับมันอย่างใกล้ชิดเลย”  

ก่อนหน้านี้ใครมาพูดประโยคทำนองนี้ให้ฟังคงทำหน้า ‘ยี้’ ใส่แรงๆ เพราะ ‘มัน’ ในที่นี้หมายถึง แมลง ที่ชอบส่งเสียงหวึ่งๆ ชวนรำคาญ

แต่ความรำคาญ ก็กลายเป็นความน่ารักขึ้นมาได้ภายในระยะเวลาแค่ 4 วันของทริป ‘นักสืบสายน้ำ’

ทริป นักสืบสายน้ำ รุ่นที่ 2 จัดโดย มูลนิธิโลกสีเขียว ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซ เปิดโอกาสให้คนทั่วไป(ที่ไม่เคยเห็นความน่ารักของแมลง) เข้าไปทดลองเป็นนักสืบที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ วันที่ 1-4 มีนาคมที่ผ่านมา

เพียงวันแรกที่ได้เข้าไปลองทฤษฎีและใช้เครื่องมือ ได้ ‘ทักทาย’ กับเจ้าแมลงน้ำเป็นครั้งแรก ส่องไปส่องมา… ก็ต้องหันไปพยักหน้าหงึกๆ ให้กับเจ้าของคำพูดข้างต้น แม่ชีวิ-วิภาพรรณ นาคแพน – นักวิจัยโครงการนักสืบสิ่งแวดล้อม ซึ่งอันที่จริงแม่ชีวิเป็นอิฐก้อนแรกของการสำรวจธรรมชาติ ทั้งนักสืบสายน้ำ, นักสืบสายลม, นักสืบชายหาด และงานวิจัยอื่นๆ แม่ชีอยู่กับเราวันนี้ในฐานะพี่เลี้ยงกลุ่ม 

“ฮือ มันน่ารักจริงๆ ค่ะแม่ชี” เราพยักหน้าหงึกๆ แล้วก็ร้องเสียงหลงตอบกลับไป

แม่ชีวิ-วิภาพรรณ นาคแพน

แต่คำว่า ‘น่ารัก’ ไม่อาจขยายความถึงสิ่งที่กระทำกับ ‘เด็กเมืองที่โตมากับห้างสรรพสินค้าย่านลาดพร้าว’ ได้ทะลุทะลวงนัก ซูมเข้าไปอีกนิด ต้องบอกว่าไม่ใช่แค่เจ้าแมลงที่กระทำกับเรา แต่เป็นการปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่ต้องใช้แว่นขยายส่อง มันขยับแข้งขากวาดไกวไปมาในน้ำ ตัวมันเล็กเสียจนกลัวว่าการขยับมือเพียงเล็กน้อยจะทำชีวิตมันสูญหาย เสียงน้ำไหลจากลำธารที่ทอดตัวข้างกันเตือนว่าเราพาตัวเองมาอยู่ที่ ‘บ้าน’ ของมันอย่างแท้จริง ไม่นับกลิ่นน้ำ ดิน และน้ำมันหอมระเหยจากกองทัพต้นไม้ข้างๆ ที่โอบล้อมเราอย่างไม่ทิ้งระยะห่าง ทั้งหมดย้ำเตือนอย่างไม่มีเสียงว่า…

“มันมีชีวิตจริงอื่นปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า ไม่ใช่แค่เผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างเจ้าหรอกนะ”

“เครื่องมือหลักๆ ของนักสืบสายน้ำที่เจ๋งมากๆ คือ ‘ร่างกาย’ เดินเข้าไปในป่า ลองฟังว่าได้ยินเสียงอะไร เห็นอะไร ได้กลิ่นอะไร เราจะใช้ ‘สัมผัส’ เพื่อ ‘อ่าน’ สิ่งแวดล้อม”

ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์

คือสิ่งที่ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานกรรมการมูลนิธิโลกสีเขียว ย้ำอยู่เสมอตลอด 4 วันของค่ายนักสืบสายน้ำ

อันที่จริงต้องบอกว่า ดร.สรณรัชฎ์ หรือ ‘พี่อ้อย’ ไม่ได้ย้ำอย่างสอนสั่ง แต่ออกแบบการเรียนรู้ตลอดทริปชนิดที่ ค่อยๆ จิ้มๆ ยื่นๆ ย้ำๆ อยู่เสมอว่า ร่างกายของเรา สัมผัส หรือ sense ของเรานี่แหละ ที่ใช้ ‘อ่าน’ ธรรมชาติ แน่นอนว่าต้องมีอุปกรณ์นิดหน่อย* แต่ก็หาได้ง่ายและมีอยู่แล้วตามบ้านเรือน ซึ่งนี่นับเป็นจุดตั้งต้นหรือปรัชญาของทั้งนักสืบสายน้ำ นักสืบสายลม และนักสืบชายหาดเลยว่า เป็นกระบวนการที่ทุกคนจะอ่านธรรมชาติได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิชาการ นักวิจัย หรือเป็นดอกเตอร์ใดๆ

แล้วทำไมต้องอ่านธรรมชาติ?

ทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าธรรมชาติมีคุณต่อระบบนิเวศ แต่เพราะการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างรุกล้ำรุกรานทำให้ธรรมชาติผันผวนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและรุนแรง นักสืบสายน้ำไม่ใช่แค่ ‘อ่าน’ คุณภาพน้ำ แต่ทำนายหรือวิเคราะห์ต่อไปได้ด้วยว่า การมีอยู่หรือไม่มีอยู่ของแมลงน้ำชนิดไหน และจำนวนเท่าไร (ทั้งหมดนี้เป็นไปตามกระบวนการที่อธิบายรายละเอียดอย่างชัดเจนในหนังสือคู่มือนักสืบสายน้ำ) แปลว่าน้ำมีคุณภาพดีหรือไม่ แหล่งน้ำ ซึ่งเปรียบเป็น ‘บ้าน’​ ของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ปลอดภัยพอให้พวกมันอาศัยอยู่หรือเปล่า และจะปลอดภัยไปอีกนานแค่ไหน การปรากฏ​ตัวของแมลงบอกได้ทั้งหมด ซึ่งนั่นทำนายต่อไปได้อีกว่า ถ้าปล่อยให้สถานการณ์ยังคงอยู่แบบนี้ น้ำจะเสีย เน่า คุณภาพแย่ลง และมันจะส่งผลต่อกันเป็นวงจรต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างไรบ้าง

ที่น่าสนใจกว่านั้น การปรากฏตัวของสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆ ยังอธิบายได้ด้วยว่า พฤติกรรมแบบไหนที่ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตบางพวกหายไปหรือเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น เป็นเพราะการท่องเที่ยว, การทิ้งขยะ, สิ่งปฏิกูลจากการเลี้ยงสัตว์ หรือเพราะการทำฝายอย่างไม่ถูกหลักการ ทำให้น้ำขังนิ่ง ไม่ไหลเวียนจนไม่มีออกซิเจน (นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า หนึ่งในกระบวนการทดสอบคุณภาพน้ำต้องวัดความเร็วของสายน้ำเข้าไปด้วย!)

สิ่งที่ผู้เขียนชอบที่สุดในการเป็นนักสืบสายน้ำ (ผู้เขียนสอบผ่านด้วยคะแนนเกือบเต็มนะเอ้อ! แม้ว่าจะช่วยกันคิดกับเพื่อนก็ตาม) นอกจากจะได้พบโลกใหม่ รู้จักกับแมลงน้ำหน้าตาประหลาด คือความเข้าใจที่ว่า… ธรรมชาติมอบความสงบและพลังงานกับเราได้อย่างไร

ครั้งแรกที่พี่อ้อยเดินขบวนนำทัพนักสืบเข้าป่า พี่อ้อยบอกให้หยุดเป็นระยะๆ และขอให้จดจำเสียงน้ำไหล สูดกลิ่นป่า ขอให้เงียบ ย้ำเสมอว่าให้เคารพร่างกายของตัวเอง ใช้ร่างกายเพื่อรับสัมผัสจากธรรมชาติรอบตัว โดยเฉพาะที่พี่อ้อยอธิบายว่า เสียงน้ำไหลจากลำธารไม่ได้กระทำกับประสาทหูอย่างเดียว แต่ประจุไฟฟ้าลบ (-) ที่เกิดจากการไหลของน้ำลอยฟุ้งในอากาศ เมื่อสูดอากาศบริเวณนั้นเข้าสู่ร่างกาย ประจุไฟฟ้าลบจะไปหักลบกับประจุไฟฟ้าบวกในร่างกายที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงาน ประจุไฟฟ้าลบเหล่านี้จะเร่งนำออกซิเจนซึมเข้าเนื้อเยื่ออย่างรวดเร็วขึ้น ในอากาศที่มีประจุลบมากๆ ทำให้มนุษย์ไม่เครียดและมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคสูงขึ้น

เราจึงเห็นสปาจำนวนมากมีอุปกรณ์ปล่อยละอองน้ำและใช้น้ำมันหอมระเหยทำปฏิกิริยากับร่างกาย มันคือการเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งในป่าอย่างนี้ มีน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติลอยอวลให้สูดเก็บเป็นพลังงานกลับไปสู้กับฝุ่นควันและความเครียดสะสมในเมืองใหญ่อย่างไม่จำกัด (แม้ว่าวันที่ผู้เขียนลงไปจะเจอกับฝุ่นควันภาคเหนือก็ตาม ในช่วงเวลานั้นวัดค่า PM2.5 ทะลุ 200 มคก./ลบ.ม. ไปนิดๆ) 

สิ่งที่น่าเศร้าที่สุดก็คือ ไม่รู้ว่าตลอดชีวิต 26 ปีที่ผ่านมาเราไปอยู่ไหน เคยไปเข้าค่ายเดินป่า หรือพ่อแม่ชวนไปเดินป่าตามเส้นทางที่อุทยานการท่องเที่ยวจัดไว้ให้ก็จริง แต่ไม่เคยรู้สึกว่ามันเป็น ‘บ้านของสิ่งมีชีวิตอื่น’ เท่าๆ กับที่มันเป็นบ้านของเรา ไม่เคยใกล้ชิดและรู้สึกเชื่อมโยง กระทั่งพบว่าเจ้าแมลงพวกนี้มัน ‘น่ารัก’ เท่าวันนั้น

ทั้งหมดนี้เพียงอยากจะวกกลับมาว่า ไม่จำเป็นต้องเป็นนักสืบสายน้ำ แต่คงจะดีไม่น้อยหากเด็กๆ ตัวเล็ก ประชากรที่เกิดใหม่ในเมืองต่างๆ ได้มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ หรือ outdoor education แบบนี้เยอะๆ เพราะถ้าเราตั้งต้นอยากให้คนมีจิตสำนึกเรื่องธรรมชาติ แต่จะทำได้อย่างไรหากเราไม่เคย ‘สัมผัส’ และรู้สึกเชื่อมโยงกับธรรมชาติจริง

จะสอนให้เรารักธรรมชาติจากเลคเชอร์บนกระดาน เพียงเท่านั้นเองหรือ?

*อุปกรณ์ของนักสืบสายน้ำไม่หรูหราอลังการ แต่หาและใช้ได้จริงในครัวเรือนและร้านขายอุปกรณ์ใกล้บ้านเรา

– แว่นขยายขนาด X10 แบบที่ใช้ส่องพระ
– กระชอนตาข่ายละเอียด
– ถาดลึกหรือกะละมังสีขาว
– ถ้วยน้ำจิ้มพลาสติกสีขาว
– พู่กันเล็กๆ
– ช้อนพลาสติก

ส่วนถ้าจะวัดความเร็วการไหลของน้ำ อุปกรณ์ที่เพิ่มเติมมาคือ เชือกยาว 10 เมตร และ ผลส้ม วิธีการคือปล่อยผลส้มให้ลอยไปตามน้ำระยะทาง 10 เมตร (ใช้เชือกที่เตรียมไว้กะระยะทาง) แล้วจับเวลาดูว่าผลส้มนั้นใช้เวลาเท่าไร ทำซ้ำ 3 ครั้งแล้วหาค่าเฉลี่ย วิธีคิดง่ายๆ ก็คือ หากน้ำไหลเร็วมาก ก็แปลว่าน้ำมีการไหลเวียน ยิ่งไหลเวียนมากก็ยิ่งผลิตออกซิเจนมาก

**หนังสือ คู่มือนักสืบสายน้ำ ฉบับปรับปรุงประกอบด้วยหนังสือ 2 เล่ม คือ คู่มือสำรวจและดูแล และ คู่มือสัตว์ลำธาร เป็นการจัดทำเนื้อหาขึ้นและจัดพิมพ์ขึ้นใหม่หลังจากตีพิมพ์ครั้งแรกปี 2542 และครั้งที่สอง ปี 2545 ภายใต้โครงการนักสืบสายน้ำ มูลนิธิโลกสีเขียว ซึ่งหนังสือชุดนี้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางและเผยแพร่หมดมานานหลายปี

ถึงทุกวันนี้ ความต้องการหนังสือคู่มือชุดนี้ยังมีอยู่มาก ในปี 2561 มูลนิธิโลกสีเขียวจึงปรับปรุงหนังสือคู่มือนักสืบสายน้ำ ขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลชีววิทยาที่ทันสมัยจากฐานงานวิจัยที่จัดการอย่างละเอียดและยาวนาน ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางทั่วประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสาน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจัดพิมพ์โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล

Tags:

เข้าป่าความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมeco literacyมูลนิธิโลกสีเขียว

Author & Photographer:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Related Posts

  • Everyone can be an Educator
    ‘วิชาถิ่นนิยม’ บนดอยหลวงเชียงดาว: ก่อนจะเป็นเป็นจะที่นิยม ต้องทำให้ท้องถิ่นเป็นความรื่นรมย์เสียก่อน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร

  • Creative learning
    ‘ด.เด็กเดินป่า’ ปล่อยมือลูกให้เดินเข้าป่าบ้าง ให้ที่ว่างของการเติบโต

    เรื่อง วิรตี ทะพิงค์แก

  • SpaceCreative learning
    โรงเรียนธรรมชาติ: เหตุผลที่ต้องรักษาโรงงานผลิตออกซิเจนยักษ์

    เรื่อง เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ภาพ บัว คำดี

  • Creative learning
    สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์: PUBLIC SPACE ควรมีไว้เล่น สัมผัส และสูดหายใจเข้าเต็มปอด

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • SpaceCreative learning
    โรงเรียนธรรมชาติ: รู้จักชีวิตที่ขาดสวิตช์ ปลั๊กไฟ และก๊อกน้ำ

    เรื่อง เกรียงไกร สุวรรณภักดิ์ ภาพ บัว คำดี

เพราะไม่อยากให้ปู่ย่าตายายใช้ชีวิตอย่างซึมเศร้า วัยรุ่นสตูลจึงออกตรวจสุขภาพกายและใจ
Creative learningCharacter building
19 April 2019

เพราะไม่อยากให้ปู่ย่าตายายใช้ชีวิตอย่างซึมเศร้า วัยรุ่นสตูลจึงออกตรวจสุขภาพกายและใจ

เรื่องและภาพ The Potential

  • ไม่อยากเห็นปู่ยาตายาย ใช้ชีวิตอย่างซึมเศร้ากันอีกต่อไป วัยรุ่นบ้านเขาน้อย จ.สตูล จึงลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยและทำให้สุขภาพกายและใจของวัยถือไม้เท้า-ดีขึ้น
  • เด็กๆ เลือกใช้ ‘ระบบวิจัย ใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากรพสต. และลงเก็บข้อมูลเพิ่มในพื้นที่ สำรวจความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชน ทั้งใช้แบบสอบถาม จดบันทึก อัดเสียง และถ่ายวิดีโอ เพราะคิดว่าการรู้ข้อมูลรอบด้านจะทำให้ ‘แก้ปัญหาได้ถูกจุด’
  • ไม่ใช่แค่ตรวจสุขภาพและสร้างกิจกรรมออกกำลังกาย พวกเขาอยากต่อยอดโครงการจักสารชุมชนและให้ผู้สูงอายุในฐานะปราชญ์ชุมชนและผู้รู้เรื่องวัฒนธรรมเป็นผู้ถ่ายทอดโครงการ นอกจากงานจักสานอาจกลายธุรกิจชุมชน แต่ผู้สูงอายุยังได้มีกิจกรรมทำ และสานต่อวัฒนธรรมชุมชนอีกด้วย

ภาพชุมชนชนบทในฝันของใครหลายคนอาจเป็นภาพทุ่งนาเขียวขจี ผู้คนหลากวัย เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ อยู่ด้วยกันเป็นวิถีชีวิตที่งดงามตามครรลอง…

ตัดภาพกลับมาชีวิตจริง-คนรุ่นใหม่และวัยแรงงานพากันย้ายถิ่นออกจากชุมชนที่เคยวิ่งเล่น  ไปเรียน ไปทำงานเพื่อปากท้องในเมืองใหญ่เพราะอยู่บ้านไม่มีจะเลี้ยงปากท้อง และหลายคนไม่มีโอกาสได้หวนกลับบ้านเกิดอีกเลย

ภาพที่เห็นคือ ‘สังคมสูงวัย’ ที่ใช้ชีวิตร่วมกับเด็กและเยาวชนในท้องถิ่น หลายๆ ที่มีช่องว่างเพราะความต่างระหว่างวัย แต่ไม่ใช่ที่นี่ – บ้านเขาน้อย

เยาวชนกลุ่มหนึ่งในชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล ประกอบด้วยซอล-ไฟซอล สาดอาหลี, นี-ฟิวส์ลดา โย๊ะฮาหมาด และนิส-นัสรีน สาดอาหลี  เล็งเห็นปัญหานี้ จึงรวมกลุ่มกันทำโครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน ด้วยการลุกขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุในชุมชนที่ขาดคนดูแล ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ มีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกาย สังคม และจิตใจ

ซอล-ไฟซอล สาดอาหลี, นี-ฟิวส์ลดา โย๊ะฮาหมาด, นิส-นัสรีน สาดอาหลี

‘ตั้งใจดี’ คือจุดตั้งต้น แต่หัวใจสำคัญของกิจกรรม คือ ‘ข้อมูล’

“ในหมู่บ้านของเรามีผู้สูงอายุค่อนข้างเยอะ บางคนถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลจากครอบครัว ไม่อบอุ่น ทั้งยังมีผู้สูงอายุติดเตียง พวกเราเลยเห็นตรงกันว่าน่าจะทำโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ จากที่เคยซึมเศร้าเพราะอยู่แต่ในบ้าน ให้เขาได้ออกมาทำกิจกรรมพบปะกับเพื่อนวัยเดียวกัน ได้พูดคุย ได้หัวเราะให้เขารู้สึกว่าไม่ได้ถูกทอดทิ้งจากลูกหลาน เพื่อให้เขามีกำลังใจในการมีชีวิตต่อไปค่ะ” นิสบอกเล่าความตั้งใจของเธอ

เมื่อความตั้งใจมีแล้ว ขั้นต่อไปคือการเก็บข้อมูล ทีมงานเก็บข้อมูลจาก 2 ทาง หนึ่ง-ข้อมูลที่มีอยู่แล้ว คือจำนวนผู้สูงอายุจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และ สอง-ข้อมูลด้านสุขภาพที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้สำรวจไว้ และจากข้อมูลชุดนี้พบว่า ผู้สูงอายุกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นโรคความดัน รองลงมาคือเบาหวาน

หลังได้ข้อมูลชุดแรกแล้ว ทีมงานเดินหน้าหาข้อมูลอีกชุดโดยลงไปเก็บข้อมูลสุขภาพของผู้สูงอายุ และสำรวจความต้องการของผู้สูงอายุในชุมชนด้วยแบบสอบถาม จดบันทึก อัดเสียง และถ่ายวิดีโอ เพราะคิดว่าการรู้ข้อมูลรอบด้านจะทำให้แก้ปัญหาได้ถูกจุด

ผลการสำรวจทำให้ทีมงานพบว่า ผู้สูงอายุในชุมชนอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้ป่วยติดเตียง 2 คน ต้องใช้ไม้เท้าพยุงตลอดการเดิน 1 คน ส่วนรายที่ยังเดินเหินคล่องแคล่วก็มีโรคประจำตัวคือโรคความดัน สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการด้านสุขภาพคือการดูแลช่วยเหลือตามอาการเจ็บป่วย แต่สิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการและคิดว่าสำคัญมากกว่า คือความต้องการทางด้าน ‘จิตใจ’

ซอลเล่าว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่บอกว่าอยากพบปะกับเพื่อนๆ เพราะคู่ชีวิตของเขาจากไปแล้ว ทำให้ต้องอยู่คนเดียว หรือไม่ก็อยู่กันอย่างเงียบเหงา เนื่องจากลูกหลานไปทำงานกันหมดจึงต้องการเจอเพื่อนรุ่นเดียวกันเพื่อคลายเหงา

กิจกรรมที่คุณตาคุณยายบอกว่าอยากทำ คือพื้นที่ให้ผู้สูงอายุมาพบปะกัน อาจเป็นสิ่งที่พวกเขาทำกันเองอยู่แล้วและทำไหว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่เคยนำกิจกรรมเหล่านี้มาทำร่วมกันเลย เช่น การปลูกผักร่วมกัน สานใบลานใบเตยด้วยกัน

จากข้อมูลทั้งหมด ทีมงานจึงนำข้อมูลเหล่านั้นมาออกแบบกิจกรรม นั่นคือ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง, กิจกรรมตรวจวัดความดันเพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นระยะ และ การลงไปเติมกำลังใจให้ผู้สูงอายุ

กิจกรรมสร้างสุข(ภาวะ) ออกกำลังกายและเข้าเยี่ยมคุณปู่ย่าตามบ้านเรือน

กิจกรรมแรกที่ทีมงานจัดขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุในชุมชนได้มาพบปะกันคือกิจกรรมออกกำลังกายด้วยไม้กระบี่กระบองซึ่งทุกคนผลิตได้เองและทำได้ง่ายจากวัสดุท้องถิ่น สถานที่ออกกำลังกายคือมัสยิดประจำชุมชน นอกจากนี้ ทีมงานยังประสานกับ อสม. เพื่อให้เข้ามาช่วยเป็นวิทยากรให้ความรู้ วัดความดันผู้สูงอายุ และขอคำปรึกษาเกี่ยวกับกิจกรรมที่จะจัดด้วย กระทั่งเลือกเป็นการออกกำลังกาย

ผลของความตั้งใจ คือการตอบรับของผู้สูงอายุเข้าร่วมกิจกรรมนั้นเกินกว่าความคาดหมาย และบรรยากาศโดยรวมดำเนินไปอย่างราบรื่น

“มันไม่ใช่แค่ออกกำลังกายอย่างเดียว แต่ทำให้ผู้สูงอายุหลายคนได้พบปะกัน ได้สนุกสนานกับเพื่อนๆ ในวัยเดียวกันกับเขา ปกติแล้วชาวบ้านจะได้เจอกันต้องอาศัยช่วงวันฮารีรายอเท่านั้น กิจกรรมนี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ทำให้กลุ่มผู้สูงอายุได้มีโอกาสมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน มีเสียงหัวเราะ การพูดคุยเรื่องสารทุกข์สุขดิบจึงกลายเป็นหัวข้อสนทนาหลักที่เกิดขึ้นระหว่างรอทำกิจกรรม”  นิสเล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

กิจกรรมต่อมาคือการเยี่ยมผู้สูงอายุตามบ้านเพื่อติดตามสุขภาพของผู้สูงอายุในวันเสาร์อาทิตย์ หลังเลิกเรียน หรือขึ้นกับเวลาของสมาชิกแต่ละคนว่าจะว่างวันไหนบ้าง หลายครั้งไม่ใช่แค่การเยี่ยมอย่างเดียว แต่มีของฝากติดไม้ติดมือไปให้ผู้สูงอายุ และชวนน้องคนอื่นๆ ในชุมชนไปช่วยฟังช่วยคุยด้วย ซึ่งทุกครั้งที่ไปจะมีการจดข้อมูลไว้เพื่อเก็บเป็นข้อมูล นอกจากนี้ ในกิจกรรมจะมีการวัดความดันและการพูดคุยเป็นกำลังใจแก่ผู้สูงอายุ ซึ่งการจะทำเช่นนี้ได้ ทีมงานต้องไปเรียนรู้วิธีวัดความดันจากพี่ๆ อสม. ผ่านการฝึกอย่างจริงจึงเพื่อความเข้าใจ

“ระหว่างตรวจ เราก็จะพูดคุยกับผู้สูงอายุไปด้วยว่าความดันของเขาเป็นอย่างไร มีสาเหตุจากอะไร แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เป็นปกติ และคอยให้กำลังใจเขาครับ” ซอลเล่า

ระดับความสุขไม่จำกัดอายุ

แม้ข้อมูลที่จดบันทึกจะยังไม่สามารถบอกความก้าวหน้าด้านสุขภาพกายของผู้สูงอายุได้ แต่สิ่งที่ทีมงานสัมผัสถึงความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจนคือ ‘สุขภาพใจ’ ของผู้สูงอายุที่เพิ่มเลเวลขึ้นจนปรากฏออกมาเป็นรอยยิ้มตลอดเวลาที่พวกเขาไปหาที่บ้าน ชัดเจนที่สุด เห็นจะเป็นกรณีของผู้สูงอายุติดเตียงท่านหนึ่งที่พยายามยกแขนยกขาของตัวเองให้ได้เวลาที่พวกเขาไปช่วยทำกายภาพบำบัด ขณะเดียวกันทีมงานก็ค้นพบว่าสุขภาพใจพวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไปไม่ต่างจากผู้สูงอายุ

“ก่อนหน้านี้เราไม่เคยไปเยี่ยมผู้สูงอายุคนอื่นนอกจากญาติของตัวเอง แต่โครงการนี้ทำให้เราได้เข้าไปทำความรู้จักกับผู้สูงอายุในชุมชนมากขึ้น แม้ต่อไปจะไม่ทำโครงการนี้แล้ว เราก็คงไปเยี่ยมผู้สูงอายุเหมือนเดิมอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพราะเกิดความผูกพันกับเขาไปแล้ว” นิสบอกความรู้สึก

ไม่ใช่แค่ตรวจเยี่ยมสุขภาพ แต่พวกเขายังเดินหน้าโครงการต่อไปสำหรับผู้สูงอายุเป็นที่เรียบร้อย โครงการที่ว่าไม่ใช่อะไรอื่น แต่คือข้อมูลความต้องการของผู้สูงอายุที่ทีมงานเคยสำรวจไว้ก่อนหน้านี้

“จักสานเป็นภูมิปัญญาของชุมชนบ้านเขาน้อยมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผู้สูงอายุหลายคนยังมีภูมิปัญญาเรื่องนี้อยู่ เราจึงจะจัดกิจกรรมที่ผู้สูงอายุจะได้มารวมตัวและร่วมกันถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ให้คนรุ่นหลัง ซึ่งอาจพัฒนาไปสู่การสร้างรายได้แก่ผู้สูงอายุด้วยค่ะ” นิสเล่า

นีเสริมต่อว่า ยังมีกิจกรรมปลูกผักคิดว่าจะใช้พื้นที่แถวมัสยิด เพราะเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่ผู้สูงอายุได้รวมตัวเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันได้ และผู้สูงอายุจะได้มีผักปลอดภัยไว้กินด้วย

แม้กิจกรรมหลังจากนี้จะมีเป้าหมายที่มากขึ้นทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องอาหารการกินดี ๆ ทีมงานก็ยังไม่หลงลืมเป้าหมายหลักที่จะจัดกิจกรรมเหล่านี้ให้เป็นพื้นที่รวมตัวกันของผู้สูงอายุได้พบปะกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ซึ่งพวกเขายืนยันว่า เพราะเป้าหมายที่สำคัญที่สุดนั่นคือการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลผู้สูงอายุมีกำลังใจในการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงต่อไป

เส้นทางการเรียนรู้ของเด็กๆ ผ่านการทำงานกับผู้สูงวัย

มองจากความสำเร็จของโครงการ หลายคนอาจคิดว่าพวกเขาเดินทางด้วยทิศที่ถูกต้อง และย่ำอยู่บนทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทว่าสำหรับการทำงานภายในทีม พวกเขาก็ต้องพบขวากหนามไม่ต่างจากทีมอื่นๆ ปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่อง ‘เวลา’ เพราะชีวิตของแต่ละคนไม่ได้มีพาร์ทเดียว ไหนจะการเรียน การบ้าน กิจกรรม และครอบครัว แม้แต่กะเซาะห์-บาจรียา แซะอามา พี่เลี้ยงโครงการเองก็ยังมีปัญหา เธอกล่าวขอโทษน้องๆ หลายครา แต่ในที่สุดปัญหาดังกล่าวก็คลี่คลายลงได้

กะเซาะห์ บาจรียา แซะอามา พี่เลี้ยงโครงการ

ซอลเล่าว่า เริ่มจากการทำความเข้าใจกันก่อนว่าแต่ละคนต่างไม่มีเวลา เบื้องต้นคุยกันว่าจะล็อกเวลาทำงานหลังเลิกเรียน และเสาร์-อาทิตย์ แต่ละคนต้องสละเวลาส่วนตัวมาทำเพื่อส่วนรวม เวลาที่ไม่ได้มาทำกิจกรรมก็ลองบริหารเวลาของตัวเองควบคู่ไป

วิธีแก้ปัญหาดังกล่าวใช้เวลาอยู่ช่วงหนึ่งจึงเข้าที่เข้าทาง และกลายเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน เพราะช่วยฝึกนิสัยการบริหารเวลาของพวกเขาไปในตัวด้วย ขณะเดียวกันทีมงานแต่ละคนก็ได้ค้นพบศักยภาพใหม่ที่ฉายแสงออกมาหลังจากเข้ามาทำโครงการนี้

นิสเล่าว่าโครงการนี้ยังเป็นเครื่องมือช่วยพัฒนาศักยภาพและความสามารถทางสังคม (soft skill) ของเธอด้วย เช่น เมื่อก่อนไม่ค่อยพูด ถามคำตอบคำ กลับจากโรงเรียนก็จะเก็บตัวอยู่ในบ้าน ขั้นแรก โครงการทำให้เธอพัฒนาทักษะการพูด ทักษะการบริหารจัดการ ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ

นีเองก็เป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูดเช่นกัน เธอบอกว่าเมื่อก่อนเวลาต้องนำเสนองานในโรงเรียน เธอจะให้เพื่อนเป็นคนพูดแทน แต่หลังจากเข้ามาทำโครงการนี้ เธอพบจุดเปลี่ยนที่เข้ามาพังทลายกำแพงความกลัวลงไป

“ครั้งหนึ่งตอนเข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปของโครงการกลไกฯ บังเชษฐ์ (พิเชษฐ์ เบญจมาศ และ ประวิทย์ ลัดเลีย โคชจากศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสตูล) ให้เราทุกคนพูดตอนจบกิจกรรมว่าได้เรียนรู้อะไร ถ้าใครไม่พูดจะไม่ได้กลับบ้าน หนูมีเรื่องที่จะพูดอยู่ในใจมาตลอดทุกครั้งที่เข้าร่วมกิจกรรมแต่ไม่กล้าพูด เพราะกลัวผิด กลัวถูกต่อว่า แต่ครั้งนั้นด้วยความกลัวไม่ได้กลับบ้าน เลยฝืนใจพูดออกมาค่ะ (หัวเราะ)

“พอพูดแล้วไม่มีใครตำหนิ หนูเลยรู้สึกดีที่กล้าพูด หลังจากนั้นเวลาเข้าร่วมเวทีหรือมีกิจกรรมอะไรก็พูดออกมาเอง ไม่ยากเหมือนเมื่อก่อน แค่พูดไปตามที่คิด ตามที่เห็นค่ะ”

เช่นเดียวกับซอลที่บอกว่าการไม่ถูกตัดสินว่าสิ่งที่พูดนั้นผิดหรือถูกก็มีผลต่อความกล้าของเขา จากเมื่อก่อนไม่กล้าพูด ไม่กล้าทำ เพราะกลัวทำผิด แต่พอได้เข้าร่วมเวทีเวิร์กชอปที่ต้องแลกเปลี่ยนพูดคุยทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ๆ  และทำกิจกรรมที่ต้องพูดคุยกับผู้สูงอายุก็ทำให้เขาพบจุดเปลี่ยน

“ภูมิใจมากครับที่ได้ทำโครงการนี้ เพราะถ้าไม่มีโครงการนี้ พวกเราอาจไม่มีความรู้ ความกล้าที่จะเข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ และทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข ยิ้มแย้มแจ่มใสในทุกๆ วันแบบนี้” ซอลบอกถึงความสุขที่ได้รับ

ความตั้งใจสุดท้ายของทีมงานเกี่ยวกับโครงการนี้คือ อยากให้ทุกคนหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงตั้งใจว่าจะจัดทำ ‘นาฬิกาชีวิต’ ของผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงและผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ที่รวบรวมข้อมูลจากการพูดคุยสอบถามผู้สูงอายุในชุมชนเพื่อเปรียบเทียบกันแล้วบันทึกไว้ใน ‘สมุดผู้สูงอายุต้นแบบ’ ทีมงานแอบกระซิบเคล็ดลับบางข้อที่พวกเขารู้มาว่า

“ผู้สูงอายุที่สุขภาพดีส่วนใหญ่ จะตื่นเช้ามาออกกำลังกาย เน้นทานผักทานปลาเป็นประจำ และดื่มนมก่อนเข้านอนค่ะ”

เป็นตัวอย่างของกลุ่มคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่งที่ไม่นิ่งดูดายต่อปัญหาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง ซ้ำยังลุกขึ้นมาเอาธุระกับผู้สูงอายุในชุมชนเสมือนเป็นคนในครอบครัว “รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะ” ของผู้สูงอายุที่ทำกิจกรรม ถือเป็นรางวัลที่เยาวชนกลุ่มนี้รู้สึกภาคภูมิใจหลังจบโครงการ

Tags:

active citizenproject based learningสังคมสูงวัยสตูล

Author & Photographer:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Creative learning
    “นาข้าวอัลฮัม” โรงเรียนรู้ของเยาวชนที่ตำบลเกตรี

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Creative learning
    ปันจักสีลัต ศิลปะและการต่อสู้ ที่ใช้ทั้งกาย จิต และปัญญาประสานเป็นหนึ่งเดียว

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Creative learningCharacter building
    เดินเท้าแกะรอยเมล็ดพันธุ์ เพื่อพบ ‘มะตาด’ ต้นสุดท้ายในบ้านควน

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Creative learningCharacter building
    ‘ขยะวิทยา’ ตลอดชีวิต ของเด็กๆ คลองโต๊ะเหล็ม จังหวัดสตูล

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Character building
    “อย่าสอนให้รู้ แต่จงสอนให้คิด” ห้องเรียนชีวิตเด็กน้ำท่อม

    เรื่องและภาพ The Potential

เรากลับมาเรียนเพศศึกษาในห้องได้หรือยัง เมื่อเรื่องยุติตั้งครรภ์อยู่ในหนังสือเรียนชั้น ม.3
Learning Theory
18 April 2019

เรากลับมาเรียนเพศศึกษาในห้องได้หรือยัง เมื่อเรื่องยุติตั้งครรภ์อยู่ในหนังสือเรียนชั้น ม.3

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • อัพเดทเรื่องเพศศึกษาในตำราเรียน วันนี้เด็กๆ หันกลับมาหาความรู้เรื่องนี้จากห้องเรียนได้หรือยัง
  • ปลายทางอย่างคุณแม่วัยใส อาจเป็นหนึ่งในความล้มเหลวของการเรียนการสอน เพราะเด็กๆ ยังไม่ถูกสอนหรือแม้กระทั่งได้ทำความรู้จักสิ่งที่เรียกว่า Sexuality Education (เพศวิถีรอบด้าน หรือเพศวิถีศึกษา) สักที
  • ข่าวดีคือ ตอนนี้ หนังสือเรียนที่กำลังพัฒนาและบรรจุอยู่ในหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 หนึ่งในนั้นคือบทที่บอกว่าสามารถ ‘ยุติการตั้งครรภ์’ ได้และมันไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้าย

คงไม่ช้าเกินไปหากจะย้อนกลับไปพูดประเด็น Sex Education ภาพยนตร์สตรีมมิ่งของ Netflix ที่จุดกระแสการพูดเรื่อง ‘เพศ’ ในประเทศไทย ยิ่งคึกคักและถูกตั้งคำถามมากขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา เมื่อพรรคพลเมืองไทยและกลุ่มพลังหญิงเพื่อพลเมืองไทย ร้องต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้ปลดป้ายภาพยนตร์ชุดดังกล่าวจำนวน 2 จุดในเขตกรุงเทพมหานครลง

หากพยายามทำความเข้าใจ ‘ผู้ใหญ่’ ในบ้านเมือง คงเป็นความห่วงกังวลว่าเด็กและเยาวชนจะ ‘หัวนอก’ เกินไป ไม่อยากให้ไทยครองสถิติคุณแม่วัยใสอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน ติดต่อไปอีกหลายปี ขณะที่ข้อถกเถียงอีกด้านตั้งคำถามที่น่าสนใจเช่นกันว่า… แล้วการปิดกั้นไม่ให้ข้อมูล ไม่สร้างความเข้าใจ ไม่มอบทางเลือก – อันมาจากความเคารพในสิทธิเนื้อตัวร่างกาย เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดแล้วหรือ?

ที่สุดแล้ว สถิติคุณแม่วัยใสประเทศไทยที่สูงติดอันดับตลอดหลายปีจะถูกใช้เป็นหลักฐานได้หรือยังว่า ระบบการเรียนการสอนเรื่องเพศโดยเฉพาะในบ้านและโรงเรียน ถึงเวลาต้อง ‘ชำระ’ กันเสียที?

The Potential ชวน แสงจันทร์ เมธาตระกูล ผู้จัดการโครงการพัฒนาการเรียนรู้แบบ Electronic-learning เพื่อพัฒนาสมรรถนะครูให้สอนเพศวิถีศึกษาและทักษะชีวิต มูลนิธิ Path2Health ในฐานะภาคประชาสังคมที่ทำงานพัฒนาหนังสืออ่านเพิ่มเติมเพศวิถีศึกษา และหนึ่งในคณะทำเนื้อหาหนังสือวิชาสุขศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 และเป็นคณะกรรมการปรับเนื้อหาวิชาสุขศึกษากับสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อคุยเรื่อง Sex Education กันอย่างจริงๆ จังๆ

บทความชิ้นนี้ตั้งต้นที่คำว่า Sex Education (เพศศึกษา) VS Sexuality Education (เพศวิถีรอบด้าน หรือเพศวิถีศึกษา) ทำความเข้าใจว่า คำที่เหมือนจะคล้าย แท้จริงแล้วให้ความหมายในระดับมุมมองความคิด ไปจนถึงวิถีปฏิบัติทางสังคมที่ต่าง, เนื้อหาของวิชาเพศวิถีรอบด้านคืออะไร มีอะไรบ้าง?, สิ่งที่ได้และเสียไปจากการตัดตอน ปิดปากไม่พูดเรื่องเพศ ทำอะไรกับสังคมบ้าง และ สำคัญที่สุด เนื้อหาเหล่านี้ ถูกนำไปปรับใช้อย่างเป็นรูปธรรมในหนังสือเรียนได้จริงไหม ถ้าได้ รูปร่างหน้าตาของมันเป็นอย่างไร คืบหน้าไปถึงไหนแล้ว?

Sex VS Sexuality Education แตกต่างกันอย่างไร

ในสังคมไทย เราไม่ค่อยพูดเรื่องเพศอย่างเป็นทางการ แต่ในวิถีชีวิตประจำวันเราพูดถึงมาเนิ่นนาน เช่น ในหมู่เพื่อน คนสนิทใกล้ตัว มีล้อ แซว คุยกันในเรื่องทางเพศ ทั้งนี้ทั้งนั้น เทอมการจัดการศึกษาเดิมก็ไม่มีคำว่าเพศอย่างจริงจังในระบบ แต่เริ่มมีขึ้นในช่วงสงครามโลกจากประเด็นกามโรค อันเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันและทำให้เกิดโรคติดต่อ หลังจากนั้นจึงมีการจัดการศึกษาให้เข้าใจเรื่องกามโรค ต่อมาจึงเป็นการศึกษาเรื่องชีวิตและครอบครัว เรื่องการแต่งงาน

คำว่า ‘เพศ’ (sex) เริ่มมาในระยะหลังและมาพร้อมกับความเป็นวิทยาศาสตร์ในแง่สรีระร่างกาย คำว่า Sex Education จึงค่อนข้างผูกติดกับเรื่องสรีระร่างกาย หน้าที่ของอวัยวะสืบพันธ์ุ หรือโรคที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และสมัยนั้นก็ยังไม่มีคำอื่นนอกไปจากคำนี้ (Sex Education) ความเข้าใจเรื่องเพศ (sex) จึงจำกัดอยู่แค่นั้น

ด้วยความเข้าใจแบบนั้น คำว่า sex จึงผูกกับคำว่า ‘เพศสัมพันธ์’ ?

กรอบนี้มันติดอยู่ในหัวคนมาตลอดว่า เพศ คือ เพศสัมพันธ์ เป็นเรื่องเกี่ยวกับจู๋ จิ๋ม หน้าอก สะโพก นม เราเชื่อมโยงความเข้าใจไปในทางนั้น และเพราะความเข้าใจว่าการมีเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดโรค วิชาเพศศึกษาเดิมจึงผูกโยงความเข้าใจในเทอมนั้น Sex Education หรือเพศศึกษา ยังพูดถึงการมีเพศสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัว การแต่งงาน การป้องกันโรค การคุมกำเนิด พัฒนาการร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป และความต้องการเรื่องเพศสัมพันธ์เท่านั้น ไม่ได้พูดถึงเรื่องเพศในแง่มุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของคน

แต่ในระยะหลัง โลกเปลี่ยนไป วิถีชีวิตคนเปลี่ยน ทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ เพศวิถีรอบด้าน หรือ Comprehensive Sexuality Education จึงเป็นความรู้อีกชุดที่มองไปยังพฤติกรรมมนุษย์ เช่น เมื่อคนเราโตขึ้นแล้วเกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดความสนใจเรื่องเพศจึงนำมาซึ่งวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับเรื่องเพศ เช่น ความรู้สึก ความต้องการ ตัวตนทางเพศของตนเองว่าเราเป็นเพศอะไร มีเรื่องความรื่นรมย์ทางเพศ มีคุณค่าทางสังคมหรือค่านิยมเข้ามาร่วมด้วย เช่น บทบาททางเพศ การปฏิบัติตัวของเพศต่างๆ กรอบเรื่องเพศวิถีรอบด้านจึงกว้างขึ้นมาก กินความหมายถึงความเข้าใจตัวเอง การเติบโต ความสนใจเรื่องเพศ แรงดึงดูด และการเรียนรู้เพื่อสร้างสัมพันธภาพ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีความหลากหลายทางเพศและในวิถีทางเพศ

มิติต่างๆ ที่สัมพันธ์กับเรื่องเพศเป็นอย่างไร

เอาเข้าจริงแล้วเพศมีอยู่ทุกที่แม้แต่ในวัด วัดมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนอยู่ในนั้น หรือข้อกำกับต่างๆ ของแต่ละเพศ เรื่องเพศในแง่มุมที่เป็นแรงบันดาลใจเชิงศิลปะ เรื่องเพศที่สอดแทรกในโฆษณา เช่น การใช้แรงขับทางเพศเป็นจุดขาย เครื่องสำอาง ก๊อกน้ำ แชมพู ยาสระผม การเอาเนื้อตัวร่างกายผู้หญิงเป็นสัญลักษณ์ เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในทุกมุมของชีวิต เช่น การประกอบอาชีพ กฎหมาย สิทธิและความเสมอภาคทางสังคม การเข้าถึงและได้รับบริการทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ุ คำว่าเพศวิถีรอบด้านจึงเป็นการเรียนรู้แง่มุมเรื่องเพศที่อยู่ในที่ต่างๆ รวมทั้งในแง่ตัวเอง

แต่เดิม Sex Education พูดถึงแค่การเห็นอวัยวะภายนอก จู๋ กับ จิ๋ม มนุษย์จึงมีแค่สองเพศ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ เรามีเพศหลากหลายมาก ความเป็นเพศมาจากข้างในตัวคน เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของคนนั้นว่าเขาจะเป็นเกย์ ทอม เลสเบี้ยน ไบเซ็กชวล และอื่นๆ คำว่า Sexuality Education เพศวิถีศึกษา หรือ Comprehensive Sexuality Education เพศวิถีรอบด้าน จึงเป็นการศึกษาแง่มุมการดำเนินชีวิตที่มีเพศเข้ามาเกี่ยวข้องและมากกว่าการมีเพศสัมพันธ์ กรอบการเรียนรู้ทั้งสองเรื่องเลยต่างกันค่อนข้างเยอะ ซึ่งประเด็นนี้ก็กลับมาท้าทายความคิดของคนในสังคม

คนมักบอกว่าประเทศไทยเปิดกว้างทางเพศ เรามีเพื่อนเป็นคนหลากหลายทางเพศ เห็นพวกเขาในโทรทัศน์ และเป็นผู้นำหลายเรื่องโดยเฉพาะด้านบันเทิง แต่อีกด้าน เรายังได้ยินคำศัพท์ ‘ซ่อมทอม’ , คิดว่ากะเทยทุกคนชอบลวนลาม, กะเทยหรือเกย์ต้องเป็นคนตลก และอื่นๆ ซึ่งอาจตีความได้ว่าเราไม่มีความเข้าใจเรื่องเพศรอบด้านอย่างแท้จริง พูดได้ไหมว่านี่คือหนึ่งในความแตกต่างระหว่างวิชา เพศศึกษา กับ เพศวิถีศึกษา ทำความเข้าใจเพศวิถีแตกต่างมากขึ้น?

คือแม้ว่าคนบางกลุ่มจะพูดเรื่องเพศอย่างสะดวกใจ หยอกเอินเรื่องเพศกันได้ แต่ถ้าต้องพูดกันอย่างจริงจัง เราก็อึดอัดไม่สะดวกใจที่จะพูดออกไปอย่างเป็นเรื่องธรรมดาทั้งที่มันเป็นปกติ เพราะเราไม่ได้จัดการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังและหลายแง่มุมว่ามันสัมพันธ์กับวิธีคิดและการให้คุณค่าในสังคม ซึ่งทั้งที่สังคมไทยแต่ก่อน ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์เลยนะ เราก็เปลือยอก เสื้อผ้าไม่ต้องแยกชายหญิงและเด็กกับผู้ใหญ่ใส่เหมือนกันหมด อยู่ก่อนแต่งก็มี เพศสัมพันธ์นอกสมรสก็มี แต่พอมีวัฒนธรรมวิคตอเรียนซึ่งมาจากฐานคิดแบบคริสเตียนเข้ามาที่ต้องการสร้างประเทศให้ศิวิไลซ์ ความคิดชุดนี้จึงกลับมาเปลี่ยนทัศนคติเรื่องเพศในสังคมไทย

หรืออย่างเช่น การแต่งงานสมัยก่อนไม่ใช่แค่ความโรแมนติก แต่เพื่อครอบครัว เพื่อเศรษฐกิจ แต่พอสังคมเปลี่ยน สังคมให้คุณค่าเรื่องเพศสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวเพียงเท่านั้น ซึ่งในปัจจุบันวิถีชีวิตของคนยุคสมัยนี้ก็แต่งงานช้าลง แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่มีเพศสัมพันธ์ ฉะนั้น การพูดถึงเรื่องเพศที่เป็นชีวิตมันก็ต้องมีมุมของความรื่นรมย์ คนเรามีเพศสัมพันธ์ไม่ใช่แค่เพื่อมีลูกแต่เพื่อผ่อนคลาย เพื่อตอบสนองความต้องการปลดปล่อยของแต่ละคน แต่เราจะมีอย่างไรและอย่างรับผิดชอบ แต่ผู้ใหญ่อาจยอมรับไม่ได้และไม่ยอมที่จะมองเรื่องเพศในแง่มุมเช่นนี้ ไม่สะดวกใจจะพูดเรื่องการใช้ถุงยางในห้องเรียน เรื่องการช่วยตัวเอง

การสื่อสารเรื่องเพศจึงควรทำให้เป็นเรื่องธรรมดาเหมือนเรื่องอื่นๆ ที่ทุกคนควรเรียนรู้เพื่อเลือกได้ว่าตัวเองจะจัดการชีวิตของตัวเองแบบไหน มันเป็นความอึดอัดที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าพูด และพยายามจะปฏิเสธมัน

วิชาเพศศึกษาไม่ได้พูดเรื่องเพศสัมพันธ์ในสถาบันครอบครัวอย่างเดียว แต่ให้คุณค่าเฉพาะเพศชายด้วย วิชาเพศวิถีรอบด้าน จะทำความเข้าใจเรื่องชายเป็นใหญ่ใหม่ด้วยหรือเปล่า

ภายใต้กรอบวัฒนธรรมที่บอกว่าเป็นไทย ในเรื่องเพศแล้วมองว่าผู้ชายเป็นคนที่เหนือกว่า ได้เปรียบกว่า ไม่มีใครกำหนดว่าผู้ชายควรมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกเมื่อไร อยากเรียนรู้ก็ไปกับเพื่อนได้ แต่ถ้าผู้หญิงคือทำไม่ได้ ไม่มีข้อห้ามหรือการกำกับเรื่องนี้กับเพศชายซึ่งเราเห็นได้ในหนังสือแบบเรียนชัดเจนมาก มันเป็นแนวคิดเรื่องหญิงชายที่กำกับควบคุมและมีผลต่อผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย ฉะนั้นหากผู้หญิงแสดงออกในเรื่องเพศ เปลี่ยนคู่หลายคน อยู่ก่อนแต่งจะถูกมองเสียหาย เพราะฉะนั้นการพูดถึงความเสมอภาค ความเท่าเทียมทางเพศ จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าแนวคิดชายเป็นใหญ่ส่งผลอย่างไร กับใคร ซึ่งไม่เฉพาะเพศหญิง แต่รวมถึงเพศอื่นๆ เพราะทุกคนต่างมีคุณค่าในตัวเอง มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน

ความเข้าใจต่อเนื้อหาวิชาเพศวิถีรอบด้านที่กล่าวไป เข้าไปอยู่ในหนังสือเรียนแล้วหรือยัง

เฉพาะหนังสืออ่านเพิ่มเติมสำหรับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ซึ่งเราเริ่มทำเมื่อปี 51 52 ได้ประชาสัมพันธ์และแจกจ่ายไปยังโรงเรียนภาคีที่ทำงานด้วย บางที่ เช่น อบจ. อบต. บางแห่งที่มีงบก็จะซื้อไปพิมพ์เองและแจกในโรงเรียน และยังมีหนังสือสุขศึกษาใหม่ที่ สพฐ. กำลังจะนำไปใช้กับโรงเรียนกว่า 200 โรง เป็นการยกร่างเนื้อหาขึ้นใหม่ ดูว่าควรมีเนื้อหายังไงเพื่อให้ตอบโจทย์กับวัยรุ่นในยุคนี้

เฉพาะหนังสืออ่านเพิ่มเติม และหลักสูตรอบรมครู มีให้ดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งหมดที่เว็บไซต์ Path2Health

แถวบน-หนังสืออ่านเพิ่มเติม จัดทำโดย Path2Health และ สสส. / แถวล่าง-หนังสือสุขศึกษาจาก สพฐ. ที่กำลังปรับปรุง

ความเคลื่อนไหวของกระทรวงศึกษาฯ มีความหวังแค่ไหนว่าจะเปลี่ยนแปลงไปสู่เนื้อหาที่กว้างขึ้นและในมุม Sexuality Education ไม่ใช่แค่ Sex Education

เขาเริ่มปรับแล้ว มีการรีวิวหนังสือสุขศึกษาของเอกชนทั้งหมดในเรื่อง เพศ ความเท่าเทียมทางเพศ และความหลากหลายทางเพศ ว่ามันถูกเขียนไว้อย่างไรแล้วจึงให้สำนักพิมพ์เอกชนปรับแก้ไข ปีการศึกษาใหม่ก็จะถูกปรับในระดับหนึ่ง บางอย่างต้องปรับใหม่ทั้งหมดเพราะมันยังมีเนื้อหาที่อยู่บนฐานคุณค่าการควบคุมเนื้อตัวร่างกายของผู้หญิง เช่น ความคิด “อย่านุ่งสั้นนะเดี๋ยวจะถูกข่มขืน” อะไรแบบนี้ต้องเอาออกไปหมด กระทรวงศึกษาฯ เองก็ต้องปรับตัวชี้วัดด้วย แต่ว่ามันอาจจะยังไม่เร็วๆ นี้ ต้องอาศัยเวลาอีกสักพักหนึ่ง

เนื้อหาในหนังสือสุขศึกษาจาก สพฐ. ที่กำลังปรับปรุงเนื้อหาเป็นอย่างไร

ถ้าเป็นเล่มที่เราทำ เราจะใส่แนวคิดแบบใหม่ที่มองเรื่องความเสมอภาค ความเท่าเทียม การได้รับความยินยอมพร้อมใจ (consent) ในการดำเนินความสัมพันธ์ การไม่ละเมิดคนอื่นด้วยวิธีการต่างๆ หรือการคุกคามคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม นี่ถือเป็นเรื่องที่ผิด ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่ควรทำต่อกันทั้งสิ้น เป็นแนวคิดที่เราต้องปลูกฝัง

ทั้งยังเป็นเรื่องพฤติกรรมทางเพศ แต่ละคนก็ควรได้รับข้อมูลอย่างรอบด้านแล้วตัดสินใจด้วยตัวเอง เช่น เรื่องการป้องกันท้องในวัยรุ่น ก็ต้องให้ข้อมูลเรื่องการคุมกำเนิด การมีเพศสัมพันธ์ที่ยินยอมและรับผิดชอบ รวมทั้งการอยู่ร่วมกับคนอื่นโดยไม่ตัดสินคุณค่า เคารพให้เกียรติ แต่สร้างความสัมพันธ์ด้วยการยอมรับความแตกต่าง นี่เป็นหัวใจสำคัญของหนังสือที่เราออกแบบไว้

ตั้งแต่วิชาเพศศึกษาเดิม สู่การทำความเข้าใจเรื่องเพศวิถีรอบด้าน สิ่งที่เป็นอุปสรรคที่สุดคือความเห็น ความอึดอัด ความไม่สบายใจของผู้สอน ในฐานะที่คุณทำงานกับครูมากว่า 10 ปี เล่าให้ฟังได้ไหมว่าคุณครูอึดอัดใจเรื่องอะไร ส่งผลต่อการทำงานสร้างความรู้เรื่องเพศอย่างไร

ค่อนข้างยาก ต้องเข้าใจว่าตลอดชีวิต 40 50 ปี เขาถูกหล่อหลอมปลูกฝังมาแบบนั้น การรับรู้เทอมการศึกษาเพศวิถีรอบด้านมันไปขัดกับค่านิยมของเขา อีกส่วนหนึ่งคือ เราต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้มีครูรุ่นใหม่เยอะมากที่ไม่ได้มองพฤติกรรมทางเพศของวัยรุ่นเป็นเรื่องด้านลบเพียงอย่างเดียว และมุมมองที่เปิดกว้างต่อพฤติกรรมทางเพศที่หลากหลายขึ้น แต่เมื่อเข้าไปในระบบที่ยังมีวัฒนธรรมเชิงอำนาจอยู่ เราต้องยอมรับความจริงว่าวัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อวิธีสอนและการเปลี่ยนความเชื่อ

เวลาอบรมครูรุ่นใหม่ เขาบอกเลย “ใช่เลย แบบนี้แหละ” แต่ครูผู้ใหญ่บอกว่า “ไม่ได้นะ เธอจะมาพูด สอนแบบนี้ไม่ได้” ฉะนั้นครูรุ่นใหม่ก็จะสอนอะไรเยอะไม่ได้ จะสอนเรื่องถุงยางแล้วเอามาสาธิตให้เห็น… เพราะถ้าจะใช้จริงมันต้องสาธิตก่อนใช่มั้ย? แต่จะถูกบอก “ไม่ได้นะ” ถ้าครูรุ่นใหม่อยากทำแต่ผ่านครูผู้ใหญ่ไม่ได้ เขาก็ต้องหยุด ซึ่งเราเข้าใจนะ มันเปลี่ยนไม่ได้ง่ายๆ ในระบบใหญ่ แต่เราก็ยังมีความหวังว่าระบบการศึกษาจะยังเปลี่ยนได้อยู่นะ

เรื่องคลาสสิกที่สุดของวิชาเพศวิถีรอบด้านที่ไม่ฟังก์ชั่น คือเรื่อง ท้องไม่พร้อมในวัยรุ่น สุดท้ายนักเรียนที่ท้องถูกบีบให้ออกจากโรงเรียน

ในภาพความเป็นโรงเรียน สังคมตั้งภาพหวังไว้อย่างหนึ่งว่าต้องเป็นที่อยู่ของคนดี คนดีในที่นี้หมายถึงคนที่อยู่ในกรอบ เชื่อฟังครู ไม่ทำผิดพลาด คนไม่ดีออกไป “ออกไปจากระบบถ้าเธอมีครอบครัว มีแฟน เธอก็ต้องออกไปจากโรงเรียน” จึงมีบางแห่งที่ไม่ยอมให้อภัยกับความผิดพลาดของเด็ก การบีบเด็กให้ออกจากโรงเรียน มันไม่ใช่การให้โอกาสและเข้าใจว่า “วัยรุ่นมีถูกมีผิดบ้าง ครูพร้อมจะช่วยถ้าเธอเจอปัญหา แต่ครูจะพยายามเข้าใจและทำให้เห็นว่าก็ยังเรียนได้นะ ออกจากโรงเรียนตอนนี้อนาคตจะเป็นยังไง” แต่เรื่องนี้กลับไปเกี่ยวข้องกับหน้าตาชื่อเสียงของโรงเรียนเสียมากกว่า และละเลยในบทบาทของโรงเรียนที่มองว่าการป้องกันปัญหาท้องวัยรุ่น ครูควรจะพูดถึงความพร้อมในการตัดสินใจการมีเพศสัมพันธ์มากกว่าการห้ามเพียงอย่างเดียว หรือการสอนเรื่องทางเลือกหากเกิดความผิดพลาดตั้งท้องขึ้นมาในวัยเรียน การยุติการตั้งครรภ์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งได้ถ้าไม่พร้อมจริงๆ อะไรแบบนี้ การสอนเรื่องเพศในโรงเรียน ณ ตอนนี้ คือมันไม่ได้สร้างการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตจริง

ท้องไม่พร้อมเกี่ยวกับสองอย่าง หนึ่ง-ท้องแล้วเรียนต่อได้มั้ย? สอง-เมื่อท้องไม่พร้อม จะมีทางเลือกอะไรเพื่อ inform เด็ก อย่างน้อยครูไม่เข้าใจ แต่เด็กมีความรู้เพื่อทำงานกับตัวเองต่อ

กฎหมายมีความก้าวหน้านะ อย่างเรื่องการยุติการตั้งครรภ์มันเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง แม้เราจะพูดว่ามันไม่ถูกกฎหมาย แต่มันมีเงื่อนไขของการยุติการตั้งครรภ์ได้ถ้าการตั้งครรภ์นั้นส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ตั้งครรภ์ ยังมีรายละเอียดอื่นอีกเช่น อายุต่ำกว่า 15 ปียุติการตั้งครรภ์ได้เลยถ้าผู้ปกครองยินยอม มันมีเงื่อนไขหลายอย่าง ในทางกฎหมายมันมีโอกาสทำได้โดยถูกต้อง แต่ต้องยอมรับว่า นอกจากแนวคิดเรื่องการคำนึงถึงการตัดสินใจเลือกของผู้หญิงตั้งครรภ์เป็นหลัก ยังมีแง่มุมความคิดเรื่องศาสนา บาปบุญคุณโทษเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งสองฝ่ายนี้ก็ไม่มีใครผิดถูก โดยเฉพาะอย่างหลังที่เป็นความเชื่อ

แต่สิ่งที่ถูกพูดถึงมากคือ ถ้าเธอเกิดท้องขึ้นมา ทุกคนจะบอกว่า “เก็บไว้ๆ พ่อแม่เธอจะช่วยดูแลให้” หรือ “เธอทำได้ก็ต้องยอมรับได้สิ” พยายามไปบอกทางเลือกให้กับคนตั้งครรภ์โดยใช้เหตุผลทางศาสนาเพราะกลัวบาป ไม่ดี กล่อมเกลาให้ท้องต่อโดยไม่ได้นึกถึงปัญหาที่ตามมาว่าคืออะไร แต่เทอมการศึกษาที่อยากพูดถึง จะสร้างมุมมองที่กลับมายังตัวผู้หญิงด้วย เพราะเขาจะเป็นคนที่รับผิดชอบไปตลอดชีวิต เขาควรจะเป็นคนรับผิดชอบตัวเอง เลือกตัดสินใจเองตั้งแต่เบื้องต้น

เนื้อหาท้องไม่พร้อมและการยุติการตั้งครรภ์ถูกกฎหมาย อยู่ในเนื้อหาส่วนไหน ช่วงชั้นไหน

อยู่ในหนังสือเรียนที่กำลังพัฒนา จะบรรจุในหนังสือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ให้ความรู้ว่าสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้และมันไม่ได้น่ากลัวหรือเลวร้าย ไม่ใช่อย่างที่ได้ยินมา เช่น เอามีดมาขูดมดลูกนี่นั่น แต่มันมียาสอดที่ทำได้และปลอดภัย

จะมีเสียงตั้งแง่ว่า หนังสือเรียนแนะนำให้เขามีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรรึเปล่า

ทุกคนมีสิทธิเลือกและตัดสินใจในชีวิตตัวเอง ถ้าเขาอยากรู้ว่าแหล่งยุติอยู่ตรงไหนก็ต้องให้ได้ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำคือไม่ให้ข้อมูล ไม่ยุ่งเกี่ยว และซ้ำเติม มันคือการกระทำซ้ำ เขาต้องการทางเลือกแต่เราไม่ให้ข้อมูล ไม่สนับสนุน และกีดกันไม่อยากให้เขาเลือกทางนี้ ซึ่งมันไม่ได้ช่วยอะไร

คนตัดสินใจคือคนที่ตั้งครรภ์ ซึ่งเขาควรเรียนรู้ที่จะรับผิดชอบตัวเอง ถ้าจะมีเพศสัมพันธ์แสดงว่าคุณต้องป้องกันตัวเองให้ได้นะ ถุงยางอนามัยหรือยาคุมกำเนิดเป็นเรื่องที่ต้องรับผิดชอบตัวเอง แต่การยุติก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งเราไม่ควรไปตัดสินใจแทนคนที่ตั้งครรภ์ว่าควรตั้งครรภ์ต่อหรือยังไง อำนาจตัดสินใจอยู่ที่ตัวเขาเอง

ถามว่าชี้โพรงให้กระรอกรึเปล่า? ก็กลับไปประเด็นเรื่องเพศกับความย้อนแย้งในวิธีคิด เราไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้และเราจะไม่ยุ่งเกี่ยว นักเรียนก็ขาดโอกาสเรียนรู้ในเรื่องที่เกี่ยวกับตัวเอง เพราะเรื่องเพศคือเรื่องของตัวเราเอง เป็นอารมณ์ ความรู้สึก การจัดการตัวเอง เด็กก็ขาดโอกาส

หรือคนที่ต้องการความช่วยเหลือ เลี้ยงลูกไม่ไหวแน่ๆ เพราะแฟนตัวเองไปไหนก็ไม่รู้ ไปเป็นของคนอื่นแล้ว ตั้งท้องก็ไม่อยู่ดูแล พ่อแม่ก็รับไม่ได้ เราก็เลี้ยงเองไม่ได้ แล้วผู้ใหญ่ก็บอก “ไม่ เธอทำเองเธอต้องรับผิดชอบลูกในท้อง” แล้วเด็กจะต้องทำยังไงต่อไป?

เพศวิถีศึกษาจึงไม่ใช่แค่การสื่อสารเรื่องเพศกับเด็ก แต่คือการบอกให้ทุกคนเคารพในการตัดสินใจ คือการพูดเรื่องความเสมอภาค?

เราควรเคารพในกันและกัน เคารพในเนื้อตัวร่างกายของคนอื่น เคารพในการตัดสินใจของคนอื่น เราเชื่อว่าคนอื่นตัดสินใจได้ถ้าเขาได้ข้อมูลที่เพียงพอและรู้ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับตัวเขาเอง เด็กก็เช่นกัน ผู้ใหญ่ในบ้านหรือในโรงเรียนก็ต้องทำให้เด็กได้รับการฝึกฝนในเรื่องนี้ การอยู่ร่วมกันอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เด็กควรได้รับการปฏิบัติต่อกันแบบนี้

เราต้องทำความเข้าใจเรื่องความเสมอภาค แต่เด็กก็ต้องทำตามผู้ใหญ่อยู่ดี อย่างคำว่า เดินตามผู้ใหญ่หมาไม่กัด, ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อน

เราอยู่ในโครงสร้างการนิยมอำนาจ เราไม่ได้มองเด็กและเยาวชนเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมซึ่งต้องการการเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตต่อไปข้างหน้า และเขาต้องฝึกรับผิดชอบตัวเขาเองเพราะเงื่อนไขการใช้ชีวิตคนแต่ละคนต่างกัน

แต่มันก็เป็นมุมของความรักและหวังดีของผู้ใหญ่เนอะ แต่เราไม่มองว่าเด็กควรได้ฝึกตัดสินใจและควรรับผิดชอบตัวเองในเรื่องของเขา เขามีโอกาสลองผิดลองถูกได้ แต่เรามักไปกำกับชีวิตเขาว่าต้องทำแบบนี้ๆ ซึ่งมันก็ขัดแย้งกับเรื่องที่เราพูดว่า เราต้องการเด็กที่คิดเป็นทำเป็น รับผิดชอบตัวเอง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องมาจากการได้ลองทำ มีบทเรียน เขาถึงจะรู้จักตัวเอง ดูแลตัวเองได้ ให้มีความรับผิดชอบต่อตัวเอง

การจัดการเรียนรู้เพศวิถีศึกษาจึงอยู่พื้นฐานการมองเด็กหรือเยาวชนในเชิงบวก ยอมรับพลังและความสามารถในตัวเด็ก ให้โอกาสเรียนรู้ และเลือกตัดสินใจอย่างรอบคอบ ประเมินทางเลือกที่ตระหนักรู้ว่าจะมีผลกระทบอะไรบ้าง และพร้อมรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองได้เลือก

ในขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้า สิ่งต่างๆ เข้ามาในชีวิตรวดเร็วและง่ายดายมากขึ้น ช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง เราจำเป็นต้องฝึกเด็กให้รับผิดชอบต่อตัวเองและสังคมมากขึ้น ดังนั้น เราต้องมองเห็นศักยภาพในการเรียนรู้ของเด็ก ว่าเขาสามารถเรียนรู้ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี และผู้ใหญ่ในวันนี้ต้องทำหน้าที่สนับสนุนโดยการจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการนำไปใช้ในชีวิตจริง หรือช่วยเหลือในสิ่งที่เขาร้องขอ

Tags:

เทคนิคการสอนกลั่นแกล้ง(bully)เพศSexuality Education(เพศวิถีศึกษา)แสงจันทร์ เมธาตระกูล

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

Related Posts

  • Character building
    คุกคามทางเพศในวัยเด็ก: ปม การละเมิด ถูกทรยศ และความเคารพในการปฏิเสธ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • How to get along with teenager
    SEXTING คือ SEX+TEXT ไม่ใช่เรื่องเซ็กส์ แต่คือพัฒนาการ

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

  • MovieSocial Issues
    SEX EDUCATION 5 เรื่องกับครูสอญอ มัครินทร์

    เรื่อง

  • Learning Theory
    SEX EDUCATION ควรรู้ของเด็กวัย 5-8 ปี

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Learning TheoryEducation trend
    SEX EDUCATION: เป้าหมายห้องเรียนเพศศึกษา จากอนุบาลถึงมัธยม

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ บัว คำดี

ต้องเป็นแม่ที่มีความสุขที่สุดถึงจะเป็นแม่ที่ดีที่สุดได้ BY ‘ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก’
อ่านความรู้จากบ้านอื่น
18 April 2019

ต้องเป็นแม่ที่มีความสุขที่สุดถึงจะเป็นแม่ที่ดีที่สุดได้ BY ‘ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก’

เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

  • เราต้องเป็นแม่ที่มีความสุขที่สุดก่อน ถึงจะเป็นแม่ที่ดีที่สุดได้ คือ เคล็ดลับสำคัญในการใช้ชีวิต ดูแลครอบครัวและเลี้ยงลูกของคุณอุ่น ลฎาภา เบลีย์ เจ้าของเพจ ‘ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก’
  • อดีตแอร์โฮสเตสสุดแฮปปี้ที่ออกจากวงการมาเป็นแม่บ้านเต็มตัว ชีวิตแทบจะพลิกสุดขั้วทำให้เข้าสู่โหมดสติแตกไปพักหนึ่ง ก่อนจะกลับมายืนหนึ่งได้ด้วยการตั้งต้นที่ความสุขของตัวเอง
  • จริงๆ แล้วคุณอุ่นเขียนเล่าเรื่องไว้ในเพจตัวเองสนุกกว่านี้มาก แต่บทสัมภาษณ์ชิ้นนี้อยากเผยให้เห็นว่ากว่าแม่คนหนึ่งจะมีความสุขได้ ไม่ง่ายเลย
ภาพ: ลฎาภา เบลีย์

กลอนของเมีย…

รักกูหรือไม่ ไม่รู้
ทิ้งกูเมื่อไหร่ มึงตาย
อยากจากชั้นไป ออไร้ท์
แต่เดินออกจากบ้านไป ตัวเปล่า

รักซ้อนซ่อนเงื่อนเก่ง ใช่มั้ย
App Life360 มีไง คนผี
อย่าคิดเก่งกับชั้น คนดี
เหนือฟ้าเหนือน้ำยังมี มนุษย์เมีย

รู้มั้ยนอกใจมันผิด กฎหมาย
แล้วยังทำร้ายจิตใจ กูนี่
ขึ้นศาลไม่พอ กูต้องตี
หลอกให้กูรักครั้งนี้ ไม่ทน

เป็นกลอนของ ‘คุณอุ่น’ ลฎาภา เบลีย์ ที่อ่านให้สามี ไมเคิล เบลีย์ ฟังทุกคืน…

ชื่อ-นามสกุล ลฎาภา เบลีย์ อาจไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดถึงเพจ ‘ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก’ ที่ผู้เขียนอธิบายตัวเองไว้สวยๆ ในเพจว่า Best Cabin Crew of the Airline และ Best Housewife of the Planet หลายคนน่าจะรู้จัก

ประโยคแรกคืออดีตของ คุณอุ่น แอร์โฮสเตสสาวแห่งสายการบินการ์ตา ผู้ใช้ชีวิตโสดที่ผ่านมาอย่างเต็มที่จริงๆ

“ช่วงยังไม่มีสามี อุ่นใช้ชีวิตเต็มที่จริงๆ เต็มที่ในทุกๆ จุด เช่น ตอนอุ่นบิน พอแลนดิ้งปุ๊บ อุ่นเที่ยวเลย เที่ยวยันเช้ากลับมาไปบินต่อ อย่างนี้ตลอด เต็มที่กับทุกด้าน reach the top จนไม่จำเป็นต้องโหยหาอะไรอีก”

พอสวิตช์โหมดมาเป็นคุณแม่บ้าน แต่งงานกับสามีชาวอังกฤษ และเปลี่ยนสถานะมาเป็นแม่และภรรยา เพื่อนรักทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่อยากเชื่อว่าอุ่นจะเป็นคุณแม่ได้ แต่จนถึงวันนี้ คุณอุ่นเชื่อสุดใจว่าตัวเองทำได้สมกับมอตโต้ Best Housewife of the Planet

“เราอยากเป็นคนที่ดี ต้องรู้จักเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ให้เป็นคุณแม่ให้ได้ เพื่อนอุ่นทุกคนพูดว่า ไม่อยากเชื่อว่าอุ่นจะเป็นคุณแม่ได้ คืออุ่นไม่รู้สึกว่าประหลาดนะคะ คนเราเมื่อถึงเวลา มันสวิตช์ได้ ถ้าเรารู้จักการปรับเปลี่ยนบทบาท รู้จักหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง ทุกคนก็น่าจะ survive ในสังคมได้”

จนถึงวันนี้ ลูกสาว – ‘น้องเอม’ เอมิลี่ เบลีย์ 4 ขวบแล้ว คุณอุ่นก็ยังเป็นแม่บ้านฟูลไทม์ ใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เขียนและโพสต์ลงเพจ ‘ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก’ อย่างสม่ำเสมอ ควบคู่กับธุรกิจขายเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์สุขภาพออนไลน์ในเพจ ‘แม่ซื้อ’ ที่ยืนหนึ่งขึงมอตโต้ไว้ว่า I’m not a shopaholic, I’m helping the economy.

ไปกันได้ดีมากๆ กับ cover profile ของเพจที่เขียนเอาไว้ว่า Marriage is a workshop…where husband works and wife shops.

ฟังๆ ดูเป็นชีวิตที่สุข สนุกสนานมาก จนเราอดถามไม่ได้ว่า ความทุกข์ที่สุดเท่าที่นึกออกคืออะไร

“อยู่ๆ เป็นไมเกรน อันนั้นคือทุกข์แล้วค่ะ” คุณอุ่นใช้เวลานึกอยู่พักใหญ่

แต่พอถามว่าสุขที่สุดคืออะไร เรานึกว่า happy mom อย่างแม่บ้านแขกจะลิสต์ได้ยาวเป็นหางว่าว แต่คำตอบกลับตรงกันข้าม

“สุขที่สุด…ไม่มีค่ะ อุ่นว่าความสุขมันเป็นโมโนโทน อยู่แบบปกติ ไม่ได้รู้สึกว่ามีความสุขสูงปรี๊ด พอเปลี่ยนวิธีการคิด รีแลกซ์กับตัวเองมากขึ้น มันกลายเป็นว่าหาความสุขกับชีวิตได้ง่ายขึ้น ไม่ได้สุขที่สุดนะคะแต่มันคือความสุขธรรมดา เช่น อุ่นได้ทานอาหารอร่อยๆ มีคนทำอาหารให้เรากิน ก็มีความสุขละ มันแช่มชื่น ดังนั้นพอเรามีความสุข เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่มันเป็นลบ เราไม่ขอเรียกว่ามันความทุกข์อะค่ะ เพราะความสุขมันกลืนความทุกข์ไปหมด”

คีย์เวิร์ดสำคัญของประโยคยาวๆ ข้างต้น คือ ‘เปลี่ยนวิธีคิด’

จากแฮปปี้สู่สติแตก

ไปให้สุด คือ ชีวิตของคุณอุ่นสมัยใช้คำนำหน้าว่านางสาว มาหักมุมจริงๆ เอาเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

“ก่อนมีลูกอุ่นคิดว่าทุกอย่างมันง่ายมาก ต้องเลี้ยงง่าย สบายมาก แต่พอมีลูกเอง รู้เลยว่ามันไม่ได้ง่าย บางทีบทความหมอที่เราอ่านที่บอกว่ามันง่าย คุณต้องทำทุกอย่างให้มันง่าย สวยงามไปหมด แต่ในชีวิตจริง มันไม่ใช่ โดยเฉพาะอุ่นที่เลี้ยงลูกเอง อุ่นเลยบอกทุกคนเสมอว่าถ้าอยากมีลูกก็ขอให้มีลูกเมื่อพร้อม อุ่นไม่เคยบอกใครเลยนะว่ามีลูกเลยสิ มันคือภาระ หน้าที่ การงาน การเงิน ความแข็งแรงของจิตใจ …ทุกอย่างเลยค่ะ เราต้องแบกรับตรงนี้ให้ได้”

ด้วยความที่คุณอุ่นใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศร่วมกับสามีชาวอังกฤษ จึงต้องปรับตัวทั้งกับคู่ชีวิตและสถานที่

กับคุณไมเคิล-สามี วิธีของคุณอุ่นคือเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทั้งสองฝ่ายต้องเรียนรู้ที่จะเสียสละและหาตรงกลางกันให้เจอ

“แรกๆ ทะเลาะกันบ่อยมาก โดยเฉพาะช่วงที่อุ่นปรับตัวกับชีวิตคู่ไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงที่อุ่นท้อง มันเครียดหนัก อุ่นขว้างปาข้าวของเหมือนเราไม่ใช่ตัวเอง จนวันหนึ่งหลับไปแล้วตื่นมาคิดว่า เฮ้ย เราจะปล่อยให้ตัวเราเป็นแบบนี้แล้วจะปล่อยให้สามี suffer เหรอ อุ่นบอกคนอื่นเสมอๆ ว่า มันไม่ใช่ only take มันต้อง give ด้วย เราต้องรู้จักอยู่ตรงกลาง เสียสละบ้าง เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของเราให้อยู่รอดทุกๆ ความสัมพันธ์”

จนมาถึงบทบาทคุณแม่ คุณอุ่นรับบทหนักยิ่งกว่า ความเครียดที่ไม่เคยมาหาก็เข้ามาอย่างหนักหน่วง เพราะปรับตัวไม่ได้และต้องอยู่กับลูกสองคนทั้งวัน มีออกไปคุยกับคนอื่นบ้างแต่ก็ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบเพื่อน

และก็มาถึงจุดที่เรียกว่า สติแตก

“ตอนนั้นอุ่นเริ่มสะสมความเครียดทุกวัน ปรับตัวกับที่ใหม่ไม่ได้ มันหลากหลายมาก จนก่อตัวเป็นความเครียด มีวันหนึ่งอุ่นขับรถพาลูกไป play group (เข้ากลุ่ม) ยังไงไม่รู้ มัน break down ร้องไห้ถล่มทลายจนต้องหยุดรถ สะอื้น แบบสติแตก กลับมาบ้านร้องไห้ไม่หยุดเลยค่ะ” คุณอุ่นเล่าจนเห็นภาพ

ต้องเป็นแม่ที่สุขที่สุดถึงจะเป็นแม่ที่ดีที่สุดได้

ตอนนั้นคุณอุ่นเอาแต่คิดว่า ทำไมตัวเองถึงไม่มีความสุขเลย และคิดว่าต้องหยุดตัวเองเพราะไม่อยากให้ลูกเห็นแม่ในสภาพนี้

สิ่งแรกที่คุณอุ่นทำคือ โทรหาสายด่วนสุขภาพของประเทศอังกฤษ เล่าปัญหาที่เกิดขึ้น ปลายสายถามกลับมาว่า มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองไหม อยู่กับลูกไหวหรือเปล่า ถ้าไม่ได้เขาจะส่งคนมาช่วยดูแล

คุณอุ่นไม่เคยมีความคิดทำร้ายตัวเอง สิ่งที่สายด่วนทำหลังจากนั้นคือ ส่งนักจิตวิทยามาคุย จนสรุปว่าภาวะที่คุณอุ่นเป็นคือ วิตกกังวล (anxiety) ยังไม่ถึงขึ้นซึมเศร้า (depressed)

“พอได้คุยกับนักจิตวิทยา เขาพูดกับอุ่นคำหนึ่งว่า ยูอย่าตั้งความหวังว่ายูจะเป็นแม่ที่ดีที่สุด ยูต้องเป็นคนที่มีความสุขที่สุดก่อน ยูถึงจะเป็นเป็นแม่ที่ดีที่สุดได้ ยูจะไม่มีวันเป็นแม่ที่ success เลย ถ้ายูไม่มีความสุข ความสำเร็จมันมาพร้อมกับความสุข…โอ้โห มันเหมือนคลายปม มันดีมากๆ”

เมื่อถูกคลายปม คุณอุ่นเปรียบเทียบความรู้สึก ณ ตอนนั้นว่า เหมือนเปิดตัวเองใหม่ พร้อมประโยคที่เข้ามาบงการทุกจังหวะในชีวิตว่า เราต้องมีความสุขก่อน

พอตั้งสติได้และรู้ว่าชีวิตจะเดินต่ออย่างไร สิ่งแรกที่ภรรยาทำคือกลับมาคุยกับสามี บอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นและความต้องการอย่างตรงไปตรงมา

“คุยกับสามีว่าอุ่นต้องการสังคมของตัวเอง อุ่นต้องการพักผ่อน อุ่นต้องการเวลาที่รู้สึกว่าฉันไม่ได้เป็นแม่ ได้ออกจากโซนนี้บ้าง ซึ่งสามีบอกว่าเขาไม่เคยคิดมาก่อนว่าอุ่นจะเครียดขนาดนี้ เห็นอุ่นทำหน้าที่ทุกวัน ก็ไม่คิดว่าเราจะมีปัญหาอะไร แต่สามีโอเค บอกว่าจากนี้ตอนเย็นเป็นหน้าที่ของเขา อุ่นก็เริ่มจัดเวลา อยากบินกลับไทยเดือนละครั้ง อยากหาอะไรทำ อยากทำอะไรเพื่อตัวเองเล็กๆ น้อยๆ ถึงไม่ใช่งานใหญ่มาก แต่มีอะไรทำ รู้สึกว่าชีวิตเริ่มมีความสุขมากขึ้น อุ่นเอาลูกเข้าเนิร์สเซอรีเลย มีเวลาได้พักผ่อน มีเวลาไปสปา ออกกำลังกาย เจอเพื่อนใหม่ๆ”

บางเดือนคุณอุ่นบินกลับมาเมืองไทยสิบกว่าชั่วโมง เพื่อใช้เวลาอยู่แค่วันเดียวแล้วก็บินกลับ แต่คุณอุ่นก็ทำ เพราะมันคือความสุข

“เราอยากบอกทุกคนว่าเราเผชิญตรงนี้มาแล้ว อย่าตั้งความหวังว่าตัวเองต้องเป็นแม่ที่ดี เราเป็นแม่ปานกลางก็ได้ แต่เราเป็นแม่ที่มีความสุข อย่าพยายามเสพบทความที่เขียนอย่างสวยหรูว่า คุณห้ามทิ้งลูก คุณต้องอยู่กับลูก การเป็นแม่ที่ดีต้องอยู่กับลูกตลอดเวลา สำหรับอุ่น ไม่เลย อุ่นบอกทุกคนตลอดเวลาว่า ถ้าคุณเครียด คุณเหนื่อย เอาลูกเข้าเนิร์สเซอรีเลย ลูกได้สังคมด้วย มันไม่ผิดปกติอะไรเลยค่ะ ฝรั่งกลับ encourage ให้เด็ก play group เร็วๆ ด้วย เพื่อให้เขาไปสร้าง skill ทางสังคมให้ดีที่สุด เพราะตอนกลับมาบ้านเขาก็อยู่กับพ่อแม่อยู่แล้ว”

เหมือนที่ครั้งหนึ่งคุณอุ่นเขียนไว้ในเพจว่า…

ชั้นรักลูก รักสา แต่ไม่ได้หมายความว่าทั้งชีวิตชั้นจะต้องทุ่มเทให้กับเค้าสองคนไม่มีเวลาชีวิตของตัวเอง ใครที่คิดว่าการเป็นแม่ที่ดีคือห้ามจากลูกไปไหน ห้ามพัก ห้ามเหนื่อย ลูกอยู่กับเราทุกที่ ไร้สาระค่ะ

ทุกคนถามว่าเดินทางไม่เหนื่อยเหรอ ชั้นบอกเลยว่ามันเป็นเวลา 48 ชม. ที่ชั้นได้อยู่ตัวคนเดียว ได้กินข้าวเงียบๆ ได้ไปที่ๆ เอาลูกไปไม่ได้แน่นอน เอาสาไปก็เม้าไม่มันส์ สำหรับชั้น ในความเหนื่อยมันคือการพักผ่อน และมันคือช่วงเวลาที่มีคุณค่าของชั้นมากๆ

อย่ากลัวถ้าจะบอกใครว่า แม่ก็ต้องการปลีกตัวคนเดียว แม่ต้องการออกไปเจอเพื่อนโดยไม่มีลูกไปด้วย แม่อยากไปยิม แม่อยากไปนวดบ้างไรบ้าง ให้ของขวัญกับตัวเองบ้าง ในความเหนื่อยที่ตัวเองทำมาตลอดนะคะแม่ๆ

ที่สำคัญชั้นชอบการฝากลูกไว้กับสามาก แม้นางจะให้ลูกกินของแช่แข็ง ดูทีวียาวๆ ให้เล่นเลอะเทอะ ให้ทำอะไรที่ชั้นไม่ชอบใจ แต่ก็ถือว่าลูกก็ได้สิ่งที่ชั้นไม่ให้เหมือนกัน อารมณ์แบบแอบกินขนมในห้องเวลาครูไปเข้าส้วม สาก็ได้รู้ด้วยว่าเลี้ยงลูกมันไม่ได้ง่าย มันต้องพาเค้าออกไปข้างนอกแม้ว่าจะหนาว ฝนจะพรำก็ตามที

อย่ากลัวที่จะออกไปพักผ่อนค่ะแม่

……………………

คุณอุ่นไม่เคยมีไอดอลหรือตำราใดๆ ในการเลี้ยงลูก ไม่ใช่เพราะหลงตัวเองแต่เพราะเชื่อใน Myself and I มาก

“ทุกอย่างมันควรเป็นสูตรเฉพาะของเราคนเดียว เราไม่มีทางเดินตามชีวิตแบบใครได้ ในชีวิตคู่ คิดอะไรได้ก็ทำ เลี้ยงลูก คิดอะไรได้ก็ทำ ต่อให้มันเจอปัญหา สุดท้ายแล้วเราเอาชีวิตใครมาแก้ปัญหาไม่ได้ค่ะ เราต้องแก้ปัญหาของเราด้วยตัวเองทั้งการเป็นแม่และการเป็นเมีย”

นี่ล่ะ Best Housewife of the Planet แบบคุณอุ่น

Tags:

พ่อแม่จิตวิทยามายาคติการเป็นแม่

Author:

illustrator

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

อดีตนักข่าวที่ผันตัวมาทำงานด้านการเรียนรู้(อย่างรื่นรมย์) ด้วยอินเนอร์คุณแม่ลูกหนึ่ง(ที่เป็นวัยรุ่นและขายาวมาก) รักการทำงานก็จริงแต่ชอบหนีไปออกกำลังกายตามคำบอกของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เพื่อให้ชีวิตการงานสมดุลอยู่

Related Posts

  • Juno: การรับมือกับท้องไม่พร้อม และการบอกสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจ(ด้วยตัวเอง)กับครอบครัว

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • How to enjoy life
    ณัฐวุฒิ เผ่าทวี: เศรษฐศาสตร์ความสุขในครอบครัว “ถ้าคนหนึ่งสุขที่สุด แล้วคนอื่นทุกข์อยู่หรือเปล่า”

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • BookFamily Psychology
    การแบ่งปันอารมณ์ความรู้สึกในครอบครัวคือขุมพลังชีวิตของลูก

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Family Psychology
    เล่าเรื่องอย่างใส่ใจใคร่ครวญ: พ่อแม่เข้าใจตัวเองมากเท่าไหร่ ยิ่งเข้าใจลูกมากเท่านั้น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Family Psychology
    ไม่ผิดหรอกหากพ่อแม่จะกอดตัวเองบ้าง

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

มั่นคง วิตกกังวล เพิกเฉย ควบคุมตัวเองไม่ได้ เราเป็นแม่แบบไหนกัน ?
Family Psychology
17 April 2019

มั่นคง วิตกกังวล เพิกเฉย ควบคุมตัวเองไม่ได้ เราเป็นแม่แบบไหนกัน ?

เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

เพราะปมในวัยเด็กของแม่ ส่งผลให้แม่อารมณ์มั่นคง วิตกกังวล เพิกเฉย และควบคุมตัวเองไม่ได้ สำรวจตัวเองว่าคุณเป็นแม่แบบไหน ?

แม่ที่มั่นคง ปลอดภัย เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง รื้อซ่อมความสัมพันธ์เป็น

สาเหตุ: เพราะแม่ในวัยเด็กถูกเลี้ยงจากความสัมพันธ์ที่มั่นคง มีคนพร้อมส่งความปราถนาดีและแสดงออกให้เห็น

ผลกับลูก: เด็กจะรู้สึกถูกรัก อารมณ์จะมั่นคง สัมพันธ์กับคนอื่นได้ เมื่อเจอวิกฤตก็แก้ไขให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติได้  มีสายสัมพันธ์อย่างสนิทสนมระหว่างคนในครอบครัว

แม่ทีวิตกกังวล รับรู้ไว สร้างความหวาดระแวงให้คนรอบข้าง

สาเหตุ: เพราะแม่ในวัยเด็กขาดการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสมอย่างสม่ำเสมอ วัยเด็กจึงตรวจสอบและคอยเช็คความสัมพันธ์ของตัวเองกับคนรอบข้าง เมื่อเป็นแม่ก็เป็นแม่ที่มีอารมณ์ไม่มั่นคง อารมณ์ดีก็ตอบสนองความต้องการลูกได้ แต่ถ้าอารมณ์เสียจะปิดกั้นลูก

ผลกับลูก: จะเกิดความหวาดระแวง ไม่รู้สึกว่าโลกใบนี้มีพื้นที่ปลอดภัย ขั้วบวกเด็ก จะทำตัวน่ารักหรือเอาใจให้แม่เห็น หรือให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตัวเองต้องการ  ส่วนขั้วลบ เด็กจะควบคุมอารมณ์ด้วเองยาก

แม่ผู้เพิกเฉย เชื่อตำรามากกว่าสัญชาตญาณ เอาเหตุผลและหลักการนำความรู้สึก จนละเลยอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง เพราะไม่เห็นว่าอารมณ์มีสาระให้จับต้อง

สาเหตุ: เพราะในวัยเด็กแม่อยู่ในระเบียบที่เข้มงวดมากเกินไป

ผลกับลูก: ทำให้หยุดความพยายามในสการสื่อสารต่างๆ เช่น ร้องขอ บอกความรู้สึก ทำตัวเหมือนไม่มีปัญหา ตัดความรู้สึกตัวเองไปทีละน้อย เด็กจะมีบุคลิกภาพนิ่งเฉย ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ความรู้สีก เมื่อเด็กโตจะเป็นผู้ใหญ่ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรือไม่ชอบสิ่งไหน ไม่แสดงออก มีระยะห่าง โดดเดี่ยวอยู่ลึกๆ สานสัมพันธ์กับคนอื่นไม่เป็น

แม้ผู้เสียการควบคุมทางอารมณ์รู้สึก โดยเฉพาะในเวลาที่เกิดความปั่นป่วนขึ้น มีแนวโน้มที่แม่เองจะทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ

สาเหตุ: เพราะแม่ในวัยเด็กเคยเป็นเด็กที่ถูกเข้าหาด้วยความรุนแรง จึงไม่รับรู้ถึงการถูกรักและการได้รับความทะนุถนอมว่าเป็นเช่นไร

ผลกับลูก: ทำให้เด็กเกิดภาวะหวาดหวั่นใจ  เช่น เด็กที่เคยถูกเลี้ยงด้วยความกลัว แม่ที่คอยจับผิดลูกตลอดเวลา เลี้ยงลูกด้วยคำว่า ‘อย่า!’ ในบางรายของเด็กจะมีพัฒนาการเดินช้า เดินๆ แล้วสะดุดล้มทั้งที่ไม่มีสิ่งใดกีดขวาง

อ่านบทความเคยเป็นลูกแบบไหน ก็จะเป็นแม่แบบนั้น ต่อได้ ที่นี่

Tags:

พ่อแม่แบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

BONALISA SMILE

Related Posts

  • Family Psychology
    ลำดับการเกิดที่แตกต่าง มาพร้อมความคาดหวังและภาระที่ต้องแบกรับไม่เท่ากัน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Social Issues
    แยกความรักออกจากการทำร้ายร่างกาย: คุยกับ เบส-SHero เรื่องการก้าวออกจากความรุนแรงในครอบครัว 

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี

  • Early childhoodFamily Psychology
    ถ้อยคำทำร้ายลูก(1) ทำไมโง่อย่างนี้ ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย ทำได้แค่นี้แหละ โกหก!

    เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Healing the traumaFamily Psychology
    เปิดลิ้นชักความทรงจำพ่อแม่ สะสางปมเลวร้าย เลี้ยงลูกด้วยหัวใจที่เป็นมนุษย์

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

  • Dear Parents
    ภูเขาน้ำแข็งในใจเด็ก พ่อแม่คือคนก่อ

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

เอกชัย กล่อมเจริญ: คุณพ่อช่างไม้ เลี้ยงเดี่ยว พาลูกเที่ยวและสอนให้ลงมือทำ
อ่านความรู้จากบ้านอื่น
17 April 2019

เอกชัย กล่อมเจริญ: คุณพ่อช่างไม้ เลี้ยงเดี่ยว พาลูกเที่ยวและสอนให้ลงมือทำ

เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • ดีไซเนอร์งานไม้ วัย 34 กับบทบาทใหม่ คือการเป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ต้องดูแลลูกคนเดียว และค้นพบว่าการเลี้ยงลูกโดยการปล่อยให้ธรรมชาติช่วยสอนคือวิธีที่ดีที่สุด
  • แม้การไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตคู่ จะทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า แต่ก็กลับมาตั้งหลักได้ใหม่เพราะ ‘ลูก’
  • การที่พ่อแม่เลิกกัน อาจไม่ได้สร้างปมให้ลูก แต่กลับสร้างความเจ็บปวดให้พ่อแม่ เพราะรู้สึกผิดที่ไม่สามารถประคองครอบครัวให้อยู่ด้วยกันได้ อยู่ที่ว่าพ่อแม่จะมีวิธีไม่ส่งต่อปมนั้นให้ลูกได้อย่างไร
เรื่อง: รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา,ณขวัญ ศรีอรุโณทัย

เอกชัย กล่อมเจริญ หรือ โรเบิร์ต ดีไซเนอร์งานไม้ วัย 34 ทุ่มเทกับการออกแบบและพัฒนาแบรนด์ Mink’s ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่เน้นความมินิมอล เรียบง่าย ดึงเสน่ห์ของลายไม้ออกมาใช้ในทุกๆ ดีไซน์ จนทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หากย้อนไปเมื่อหลายปีก่อนแบรนด์ Mink’s ประสบความสำเร็จจากไลฟ์สไตล์โปรดัคท์ต่างๆ ทั้งโต๊ะไม้ โคมไฟ และเป็นเจ้าแรกๆ ที่ออกแบบและผลิตนาฬิกาหน้าปัดไม้

หลักฐานมากมายช่วยยืนยันความสำเร็จในการเป็นตัวจริงด้านงานไม้ของโรเบิร์ต แต่บทบาทต่อไปที่เขาพยายามอยู่และต้องทำให้ดีไม่แพ้กัน คือ การออกแบบชีวิตครอบครัวตัวเอง

‘คุณพ่อเลี้ยงเดี่ยว’ คือบทบาทใหม่ที่ท้าทายและโรเบิร์ตกำลังรับบทนี้ โดยมี น้องฮาวล์ หรือ ด.ช.รักสร้างสรรค์ กล่อมเจริญ วัย 4 ขวบ ลูกชายคนเดียวเป็นกำลังใจคนสนิท

“เพราะลูกไม่ใช่ลูก แต่ลูกคือเพื่อนที่เข้ามาในชีวิต” โรเบิร์ตบอกว่า แม้เขาจะเป็นคุณพ่อที่เลี้ยงลูกคนเดียวแต่เขาไม่ใช่คุณพ่อโดดเดี่ยวอย่างแน่นอน

พ่อโรเบิร์ตในวัยเด็ก เป็นเด็กอย่างไร

ผมไม่ค่อยสนิทกับพ่อตัวเองเลย

เพราะธุรกิจที่บ้านทำเกี่ยวกับการค้าขายอะไหล่รถยนต์จากญี่ปุ่น ดังนั้นปีๆ หนึ่งคุณพ่อจะต้องเดินทางไปญี่ปุ่นทุกๆ 3 เดือน บวกกับเราเติบโตมาในครอบครัวที่พี่น้องเป็นผู้หญิงหมดเลย 2 คน ผมเป็นพี่ชายคนโต เมื่อพ่อไม่อยู่ ต้องไปทำงานไกลๆ เราก็ต้องขึ้นมาทำหน้าที่แทนโดยอัตโนมัติ แต่ไม่ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าหาเลี้ยงคนในบ้าน แต่ต้องเป็นคนขึ้นมาจัดการงานเล็กๆ น้อยๆ ในบ้านแทนพ่อทั้งหมด เช่น ซ่อมไฟ ท่อพัง น้ำไม่ไหล จะเป็นหน้าที่ผมหมดเลย

ครอบครัวเราไม่ได้สนิทกันมาก อยู่กันแบบธรรมดา ผมค่อนข้างเก็บตัว มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยพูดอยู่แล้ว

อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งเราเป็นผู้ชาย พอพ่อไม่อยู่ ทั้งบ้านก็เหลือแต่ผู้หญิง นิสัยส่วนตัวเป็นคนเงียบๆ เด็กๆ ถ้าพ่อไม่อยู่ ผมก็จะไม่ค่อยได้ออกไปไหน ไม่ได้ออกไปหาเพื่อน ใช้ชีวิตอยู่คนเดียว เสาร์อาทิตย์วันหยุดก็อยู่กับครอบครัวเสียมากกว่า

แล้วชีวิตคู่ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร

ย้อนกลับไปครอบครัวเราก็มีแค่ผมกับภรรยา ชีวิตเราสองคนเลี้ยงสุนัขเป็นลูก จนถึงเวลาหนึ่ง เราก็เริ่มรู้สึกอยากดูแลใครสักคน ต้องบอกก่อนว่าผมไม่ได้แต่งงานกัน แต่คบแฟนอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลานานจนมีน้อง สำหรับผม ผมคิดว่าความสัมพันธ์ของเรามันเลยจุดแต่งงานมาแล้ว เพราะญาติของทุกฝ่ายรับรู้สถานะ ดังนั้นการแต่งงานก็เป็นแค่พิธีหนึ่งสำหรับเรา

ตอนนี้คุณเบิร์ตคือคนที่ดูแลลูกเป็นหลัก?

ใช่ครับ ผมแยกกันอยู่กับคุณแม่น้องฮาวล์หลังน้องเลิกนมได้ไม่นาน แต่ก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน คุณแม่น้องฮาวล์เขากลับมาอยู่และใช้ชีวิตส่วนตัวที่กรุงเทพฯ

ผ่านช่วงเวลาแยกทางมาอย่างไร

มันก็หนักหนาอยู่เหมือนกัน ความรู้สึกมันเฟล ผมเชื่อว่าทุกคนก็อยากจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์ทั้งนั้น มันเหมือนเป็นความผิดเราส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกต้องมีปัญหา แต่ทุกวันนี้เราก็ใช้ชีวิตกับคุณแม่อย่างปกติ พาน้องฮาวล์ไปเจอคุณแม่ทุกวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และพยายามทำทุกอย่างให้ดีในฐานะที่พ่อคนหนึ่งจะทำได้

ทำไมยังเชื่อว่าการที่ พ่อ-แม่ ไม่ได้อยู่ด้วยกันจะสร้างความเจ็บปวดให้ลูก

จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ได้สร้างความเจ็บปวดให้ลูกมากหรอก เพราะเขายังเด็ก แต่มันสร้างความเจ็บปวดให้พ่อแม่เองมากกว่า มันสร้างความผิด ทำให้เรารู้สึกไม่ดีที่ไม่สามารถประคองครอบครัวให้อยู่ด้วยกันได้ อยู่ที่ว่าเราจะไม่ส่งต่อปมนั้นให้ลูกได้อย่างไร ซึ่งผมก็ไม่มีคำตอบเหมือนกัน แต่คงจะทำสิ่งที่ควรทำให้ดีที่สุด

ส่วนการรับรู้ของน้อง เขาจะรู้สึกไปเองตามวัยของเขา ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้บอกหรือดีลกับเขาตรงๆ

เด็กไม่รู้หรอกว่าการเลิกกันคืออะไร ถ้าเขาโตขึ้นเขาอาจจะรู้สึกได้มากขึ้น ตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเราใช้ชีวิตกันอย่างปกติ ปล่อยให้เวลาค่อยๆ บอกเขา ให้เขาได้เรียนรู้เองตามการเติบโตดีกว่า

การไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตครอบครัว มันเป็นปมใหญ่ของเรา จนทำให้ต้องไปหาหมอ เรากลายเป็นคนที่มีชีวิตอีกแบบหนึ่ง เราซึมเศร้า เราผิดหวังที่มันไม่เพอร์เฟ็คท์ แต่ตอนนี้ค่อยๆ ดีขึ้น เพราะสิ่งที่โฟกัสคือลูก ลูกคือสิ่งที่ดีที่สุด เป็นสิ่งเดียวที่เรายึดเป็นเป้าหมาย เมื่อก่อนชีวิตเรามีอะไรต้องโฟกัสเยอะไปหมด พอตัดหลายๆ อย่างออกไปได้มันก็ดีขึ้นเอง

ลูกคือสิ่งที่ทำให้ผมไม่เครียด ไม่จม และเปลี่ยนความเศร้าตรงนั้นเป็นแรงผลักให้เราไปต่อ เวลามันช่วยทำให้เราลืมและตั้งหลักได้

ตอนนี้ผมเป็นคนอยู่กับลูกเป็นหลัก แต่อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมีคุณตาคุณยายช่วยเลี้ยง เราเป็นฝ่ายเอนเตอร์เทน ออกแรงเล่นกับเขา พาเขาไปเที่ยว ทำกิจกรรม พยายามพาลูกไปเที่ยวในที่ต่างๆ นี่คือเรื่องที่เราโฟกัสเลย ซึ่งมันทำให้เราลืมเรื่องที่จะมาบั่นทอนเรา

ถึงแม้เป็นคุณพ่อเลี้ยงเดี่ยวมันจะยาก แต่โชคดีลูกเป็นเด็กผู้ชาย เวลาลูกเล่นหุ่นยนต์ เล่นเลโก้ มันก็เข้าทางเราพอดี ที่นี้ยิ่งสนุกเข้าไปใหญ่เลย

แสดงว่านอกจากคุณเบิร์ต ก็มีญาติๆ คนอื่นช่วยเลี้ยงน้อง

ใช่ครับ ตอนนี้ผมย้ายไปอยู่ที่จังหวัดระยอง เป็นบ้านของคุณตา-คุณยาย พ่อแม่ฝั่งคุณแม่น้องฮาวล์ ซึ่งผมก็ใช้พื้นที่ไม่ใกล้ไม่ไกลจากตรงนั้นเปิดเป็นช็อปไม้ของตัวเอง ในช่วงเวลากลางวันคุณตาคุณยายจะช่วยดูแลน้องเป็นหลัก เพราะผมไปทำงาน

ทางบ้านผมและคุณตาคุณยายฝั่งบ้านคุณแม่น้องฮาวล์ เคยมีหลานเป็นผู้หญิงกันหมด น้องฮาวล์คือหลานชายคนแรกของตระกูล ตอนแรกก็ดีใจกันมาก แต่พอเวลาผ่านไปสักพักทุกคนบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าซนมาก (หัวเราะ) ตามประสาเด็กผู้ชาย เขาแอคทีฟมาก เล่นซนทั้งวัน โลดโผน ปีนนู่นปีนนี่ ไม่รู้จักเหนื่อย บวกกับเคยเลี้ยงแต่หลานผู้หญิงมาด้วย ก็จะเล่นเงียบๆ เรียบร้อย

พ่อแบบคุณโรเบิร์ต เป็นอย่างไร

มันก็อธิบายยากเหมือนกันนะ ตั้งแต่ก่อนมีน้อง-ตอนเขาเกิด-หลังเขาเกิดมาแล้ว ทุกอย่างที่เคยคิดไว้มันก็ไม่เหมือนกันสักอย่าง ความรู้สึกแต่ละช่วงไม่เหมือนกันเลย ยกตัวอย่าง ผมเป็นคนชอบท่องเที่ยวมาก ก่อนน้องจะเกิด เราก็วาดฝันไว้ว่า ‘ชีวิตเราอยากไปเที่ยวที่นู่นที่นี่ตามใจชอบ’ แต่พอน้องเกิดมา มันทำไม่ได้ ตอนเขายังเด็กๆ ผมเคยจองตั๋วจะไปเที่ยวต่างประเทศ แต่พอเอาเข้าจริงมันไปไม่ได้ ต้องยอมทิ้งตั๋ว ผมไม่กล้าทิ้งลูกไปเที่ยวหรือไปมีความสุข

เมื่อก่อนความสุขเกิดจากสิ่งที่เราทำคนเดียว คือการไปเที่ยว แต่ทุกวันนี้ความสุขของเรามันเกิดจากการพาลูกไปเที่ยว เพราะเห็นลูกมีความสุข นั่นคือความสุขของเรามากกว่า

ผมไม่ได้อยากไปเที่ยวเพราะอยากรู้สึกตื่นเต้นเวลาพิชิตยอดเขาสูงๆ หรือเห็นวิวสวยๆ แต่ผมอยากเห็นรอยยิ้มของลูกเวลาเขาไปกับผม กลายเป็นว่าจุดประสงค์ของผม นั่นคือการไปเที่ยวด้วยกัน พ่อ-ลูก มากกว่า

มองตัวเองเปลี่ยนไปแค่ไหนก่อนและหลังมีลูก

เปลี่ยนไปมากนะ ก่อนจะเป็นพ่อ ผมรู้เรื่องเด็กน้อยมาก แต่ก็คิดว่าการมีลูกต้องเหนื่อยมากแน่ๆ ซึ่งมันก็จริง

แต่ถามว่าตัวเองเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ก่อนผมใช้ชีวิตลุยๆ ทำงานหนัก ผมทำงานไม้ โดยปกติจะมีการเปิดสอนเวิร์คช็อปในวันเสาร์อาทิตย์ แต่พอมีลูกก็ต้องคิดและแบ่งเวลาใหม่แล้ว จันทร์-ศุกร์ เขาไปโรงเรียน ถ้าเสาร์-อาทิตย์ เรายังทำงานอีก กลายเป็นว่าเราจะไม่มีเวลาอยู่กับลูกเข้าไปใหญ่ ก็ต้องจัดสรรเวลาทำงานใหม่

ส่วนเรื่องตัวตน ผมเป็นคนใจเย็นอยู่แล้ว พอมีลูกอยู่กับเด็กก็ไม่ได้มีปัญหาต้องปรับอะไรมาก

ในการเริ่มต้นเป็นพ่อ เรากังวลหรือคาดหวังอะไรบ้างในตัวเอง

ต้องบอกก่อนว่าเราบังเอิญมีน้อง แต่เราแฮปปี้มาก สิ่งที่ตามมาเราก็คาดหวังกับตัวเองว่าเราจะเป็นพ่อได้ดีไหม อย่างที่บอกว่าเราไม่ได้สนิทกับพ่อ ไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับพ่อมาก่อน คิดไปต่างๆ ว่าเราจะเลี้ยงเขาได้ไหม เราจะทำเป็นไหม จะเลี้ยงแบบไหน ใช้ชีวิตกับลูกอย่างไร แต่พอมีลูกจริงๆ เราไม่โฟกัสกับความคาดหวังอะไรเลย ปล่อยให้ธรรมชาติสอนเราเอง

แล้วธรรมชาติสอนอะไรเราบ้าง

ธรรมชาติทำให้เราได้รู้ว่า ‘เราเลี้ยงลูกได้โดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดตำราดู’ เราเลี้ยงเขาจากการดูว่าเขาเป็นเด็กอย่างไรโดยอาศัยเวลาจากการที่เราอยู่กับเขาบ่อยๆ เล่นกับเขา ใช้ชีวิตกับเขา จะทำให้เรารู้ว่าควรจะใช้วิธีอะไรสอนเขา

ผมมองว่าการเลี้ยงไม่ต่างอะไรจากการเล่นเกมเลย เราไม่สามารถบังคับเขาเหมือนตามตำราบอก เด็กแต่ละคนมีธรรมชาติต่างกัน การที่ลูกดื้อก็คือเกมหนึ่งเกมที่พ่อแม่จะต้องหาวิธีแก้ไปเรื่อยๆ อยู่ที่ว่าใครจะเจอวิธีแก้ที่เหมาะสมกับตัวเองได้เร็วกว่ากัน

สมมุติน้องฮาวล์ดื้ออยากได้ของเล่น ร้องไห้ ผมจะใช้วิธีบอกลูกไปเลยว่า ‘วันนี้พ่อไม่ได้เอากระเป๋าตังค์มา พ่อไม่มีตังค์ ซื้อให้ลูกไม่ได้’ ก็ใช้วิธีแบบนี้แก้เกมไป เขาดื้อตรงนี้ก็แก้ตรงนี้ โดยที่ไม่ต้องไปเปิดตำราดู ใช้ธรรมชาติของลูกสอนเราเป็นหลัก

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักเลี่ยงไม่ได้กับการเปรียบเทียบตัวเอง เราเป็นอย่างนั้นไหม

ยอมรับว่าเรื่องนี้เรายังโฟกัสกับมันอยู่ ผมโตมากับครอบครัวที่ชอบเปรียบเทียบ เวลาเราไปเจอญาติๆ เจอพี่น้อง ได้ฟังว่าคนนู้นคนนี้สอบได้ที่นั่นที่นี่ ซึ่งผมไม่ค่อยโอเคกับสิ่งนี้สักเท่าไร พอสิ่งไหนเราไม่โอเค ก็ไม่อยากให้มันเกิดขึ้นกับลูก ผมก็ไม่คาดหวัง หรื่อเร่งให้ลูกต้องทำแบบนั้นแบบนี้ให้ได้ มันไม่จำเป็น ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติมากกว่า เช่น การไปโรงเรียน ผมก็ไม่ได้เร่งรัดให้เขาต้องรีบอ่านหนังสือได้ หรือเน้นการท่องจำ อยากให้เขาได้ทำอย่างอื่นที่สร้างการเรียนรู้ไปด้วยมากกว่า อย่างการเล่นเลโก้ ปั้นดินน้ำมัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เขาชอบ

เราเห็นพัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์ของเขาผ่านการเล่น ซึ่งโรงเรียนอาจให้ไม่ได้อย่างเต็มที่ เพราะต้องทำตามสิ่งที่ครูบอก ต้องเขียน ต้องคิดตามคำสั่ง น้องฮาวล์เลยเป็นเด็กที่หยุดเรียนบ่อยมาก ซึ่งผมนี่แหละที่เป็นคนให้เขาหยุด ผมอยากให้เขาเล่นมากกว่า แต่ถ้าความคิดโซนปู่ย่าตายายเขาก็จะมีความคิดอีกแบบหนึ่ง เราก็ต้องบาลานซ์ทั้งสองความคิดให้ได้

การเล่นของลูก เชื่อมโยงกับงานไม้ที่เราทำอย่างไร

ผมไม่ได้ตั้งใจหรือบังคับให้ลูกต้องมาเรียนรู้ผ่านสิ่งที่ผมทำ แต่ธรรมชาติของเด็ก เมื่อเขาอยู่ใกล้อะไร เขาก็จะเรียนรู้ได้เอง เป็นกลไกธรรมชาติที่เจ๋งมาก

เวลาอยู่ด้วยกันผมไม่ได้สอนหรือบอกให้เขาไปเจาะไม้ แต่เขากลับเดินไปหยิบเศษไม้ หยิบไขควงมาไขน็อตเอง เป็นเรื่องที่เราประหลาดใจเพราะไม่เคยสอนเขา แต่มันน่าจะเกี่ยวกับเรื่องสมองเด็กที่ทำให้เขาซึมซับจากสิ่งที่พ่อทำ ผมจึงเชื่อว่าเด็กคนหนึ่ง ถ้าโตขึ้นมาในสังคมหรือครอบครัวที่ทำแต่สิ่งที่มีประโยชน์ เด็กก็จะซึมซับไปได้เอง

น้องสนุกกับการทำอะไรที่สุดในวัยนี้

เขาดูจะเอ็นจอยกับการได้ทำอะไรไปเรื่อยๆ เช่น นั่งต่อเลโก้ ปั้นดินน้ำมัน คือปั้นได้ทั้งวัน ปั้นแล้วปั้นอีก โชคดีที่เขาจะมีสมาธิกับการเล่นอะไรนานๆ ผมไม่ค่อยให้เขาเล่นโทรศัพท์เท่าไร อย่างมากก็พาเขาดูทีวี ดูการ์ตูนยูทูบด้วยกัน

พอรู้ว่าน้องชอบอะไร ส่งเสริมหรือวางแผนอะไรต่อบ้าง

พวกอุปกรณ์หรือของเล่นที่เขาชอบเราก็ต้องสนับสนุน ซื้อให้เขาเล่น น้องฮาวล์ชอบเล่นหุ่นยนต์แปลงร่าง ตอนแรกผมไม่ได้สนใจเขาอยากเล่นก็ซื้อให้ แต่เริ่มสังเกตไปเรื่อยๆ เวลาเขาเล่นเขาจะเริ่มบิด เริ่มต่อ เริ่มพับ มันมีเรื่องของเมคานิค (mechanic) เข้ามาเกี่ยวข้องโดยที่เราไม่รู้ตัว บางครั้งตัวยากๆ ผมยังทำต่อไม่ได้เลยแต่เขากลับทำได้ อีกเรื่องหนึ่งคือการพยายามพาลูกเที่ยว

เพิ่งรู้ว่าการพาลูกไปเที่ยวถือเป็นการได้เรียนรู้ลูกอย่างหนึ่ง

ผมเริ่มพาลูกไปเที่ยวหลังจากที่แยกกับคุณแม่ เพราะไม่อยากให้เขารู้สึกต้องอยู่คนเดียว เคยพาน้องไปน้ำตกซึ่งมันต้องเดินไกลมากกว่าจะได้เห็นต้นน้ำ ผมก็ไม่คิดว่าเขาจะเอาด้วย แต่พอถึงจุดนั้นแล้วเขาไม่งอแง เขาแฮปปี้ บางทีก็ทำให้เราคิดว่า ‘พ่อแม่ไม่ควรคิดแทนลูกหรือเด็ก’ บางทีสิ่งนั้นอาจเป็นสิ่งที่เขาต้องการหรืออยากไปเห็นได้ด้วยตัวเองมากกว่า

อีกอย่างเราได้เห็นพัฒนาการของลูกผ่านการเที่ยวด้วย

เมื่อคุณส่งลูกเรียนเปียโน แน่นอนว่าลูกก็ต้องเล่นเปียโนได้ แต่การเลี้ยงแบบพาไปเจอของจริง หรือปล่อยให้เขาเล่นไปเรื่อยๆ แล้วเขาทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้โดยที่เราไม่ต้องสอน นั่นคือว้าวโมเมนต์สำหรับผม

พาลูกเที่ยวที่ไหน แบบไหนบ้าง

ผมชอบพาไปที่เหนื่อยๆ (หัวเราะ) แต่สถานที่ที่ลูกชอบคือสวนสัตว์ ผมเลยกลายเป็นนักล่าสวนสัตว์ไปเลย ส่วนใหญ่จะพาไปตามสถานที่ธรรมชาติ พาเขาไปเจอของจริง เขาจะรู้จักสิ่งต่างๆ มากกว่าเห็นในหนังสือ นอกจากพาไปแล้วเราก็จะสนับสนุนข้อมูลเขาให้ได้มากที่สุด เช่น ไปดูวาฬ เราก็จะสอนว่านี่เป็นวาฬชนิดอะไร พันธุ์อะไร

ติดตามเรื่องราวการท่องเที่ยวของสองพ่อลูกได้ที่เพจ Daddy on the way

คาดหวังอะไรบ้างในตัวลูก

ตอนนี้ยังไม่ได้ให้คาดหวังอะไร ปล่อยให้เขาได้เล่น ให้เขาโตตามแบบที่เขาเป็น ตามธรรมชาติที่ติดตัวมา สิ่งหนึ่งผมสังเกตได้จากเล่นปั้นดินน้ำมันของเขา คือผมไม่รู้ว่าเด็กคนอื่นเล่นอย่างไร

น้องฮาวล์อยากได้กันดั้มมาก แต่พ่อไม่ซื้อให้ เขาใช้วิธีปั้นชิ้นส่วนเล็กๆ ค่อยมาประกอบกันเป็นหุ่นยนต์ ผมก็เออ ‘เฮ้ย ถ้าเป็นเราตอนเด็กก็คิดไม่ได้แบบนี้ อยากได้หุ่นยนต์ก็ปั้นเป็นตัวเลย’

แต่ถ้าถามว่าในอนาคตคงจะ Homeschool ไหม ก็คงไม่ เพราะเรายังไม่มีศักยภาพและความพร้อมมากพอ คงใช้วิธีส่งเสริมพัฒนาและพาเขาไปเที่ยวเล่นมากกว่า

ถ้าย้อนมองลูกตอนนี้กับชีวิตเราวัยเด็ก แตกต่างหรืออยากเพิ่มเติมอะไรบ้าง

คล้ายๆ กัน ชีวิตวัยเด็กของผมโตมากับครอบครัวเป็นหลัก แต่จะต่างกันที่ผมอยู่ในสังคมที่ผู้ใหญ่ตัดสินใจให้เราหมดเลย และห้ามเยอะ ห้ามทำนู่น ทำนี่ จนทุกวันนี้ก็รู้สึกว่าบางอย่างเราก็รู้สึกไปด้วย เช่น ห้ามไปเที่ยวกลางคืน ห้ามกลับดึก ซึ่งผมก็กลายเป็นคนไม่ชอบไปเที่ยวกลางคืนไปเลย แม้บางครั้งที่โตแล้ว ดูแลตัวเองได้ เราก็ไม่สนุกกับสิ่งนั้นอีกแล้ว ซึ่งถ้าผมจะมาสอนลูกต่อก็คงใช้วิธีบอกด้วยเหตุผลมากกว่าการห้าม บอกว่าเราเป็นห่วงเขา อะไรก็ว่าไป

ผมว่าการเลี้ยงลูกในยุคสมัยนี้ พ่อแม่ควรเอาบทเรียนในวัยเด็กมากางออกแล้วดูว่าอะไรที่เราไม่ชอบจากพ่อแม่ของเรา ก็ปรับอย่ามาส่งต่อให้ลูกของเรา เพราะเด็กที่มีความสุขไม่ได้แปลว่าต้องมีความสามารถพิเศษ ต้องเรียนไวโอลิน เป็นนักว่ายน้ำ หรือแข่งโอลิมปิก อีกต่อไปแล้ว

แค่เราเห็นลูกแฮปปี้กับสิ่งที่เราให้ แปลว่านั่นเรามาถูกทางแล้ว ต่อจากนี้ชีวิตพ่อลูกแบบเราก็คือการหาเรื่องเที่ยวกันต่อ (หัวเราะ)

Tags:

มายาคติการเป็นแม่พ่อ

Author:

illustrator

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

หลงใหลถุงผ้ากับกระบอกน้ำ เริ่มต้นอาชีพด้วยการฝึกปรือและอยู่กับผู้คนในประเด็นการศึกษา สนุกจะคุยกับเด็ก ชอบฟังเรื่องเล่าในห้องเรียน ที่สนใจการเรียนรู้ก็เพราะเชื่อว่านี่เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    ลูกเกิดมาดี สวยงาม สมบูรณ์แบบแล้ว: ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ พ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกที่มีความพิการ

    เรื่องและภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช

  • Life classroomอ่านความรู้จากบ้านอื่น
    บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน (4): หน้าที่ของพ่อคือเปิดโอกาสให้แม่ไม่ต้องเป็นแม่

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เกรียงไกร นิตรานนท์: คุณพ่อผู้ลาออกจากงานเพื่อเป็น FULL TIME DADDY

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • Family Psychology
    พ่อก็คือแม่ แม่ก็คือพ่อ อย่าเชื่อว่าพ่อเลี้ยงลูกไม่ได้

    เรื่องและภาพ KHAE

  • Family Psychology
    โละ 6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับพ่อทิ้งไป อย่าให้พ่ออยู่นอกสายตา

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

นี่ไง ครอบครัวสมบูรณ์แบบของฉัน แล้วของคุณล่ะ ?
Family Psychology
13 April 2019

นี่ไง ครอบครัวสมบูรณ์แบบของฉัน แล้วของคุณล่ะ ?

เรื่อง

พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ บอกว่า หนึ่งในปมที่พ่อแม่ยึดถือไว้ จนทำให้ลูกเกิดปัญหา นั่นคือ ‘ความสมบูรณ์แบบ’

“ถ้าเราพูดถึงครอบครัว หน้าตาของมันก็จะมีพ่อแม่ลูก แต่จริงๆ แล้วครอบครัวที่สมบูรณ์มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคนในครอบครัว มันคือใครแค่คนเดียวที่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งหนึ่งได้อย่างมีความสุขและเป็นไปตามศักยภาพเขา มันไม่มีหรอกพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบมีแต่พ่อแม่ธรรมดาๆ นี่แหล่ะก็เลี้ยงลูกได้ดีได้” 

ฉะนั้น ครอบครัวสมบูรณ์แบบในอุดมคติที่คิดไว้ อาจจะไม่ใช่ความสมบูรณ์ที่แท้จริงอีกต่อไปก็เป็นได้

Tags:

มายาคติการเป็นแม่พ่อแม่

Author:

Related Posts

  • Juno: การรับมือกับท้องไม่พร้อม และการบอกสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจ(ด้วยตัวเอง)กับครอบครัว

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    ต้องเป็นแม่ที่มีความสุขที่สุดถึงจะเป็นแม่ที่ดีที่สุดได้ BY ‘ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก’

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

  • Voice of New Gen
    สเตลลา โบลส์ “HELLO, WORLD แม่น้ำสายนี้สกปรกมาก!”

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

  • Education trend
    มหกรรมสอบในเด็ก: ความเครียดและความล้มเหลวก่อนวัยอันควร

    เรื่อง The Potential

  • Early childhoodEF (executive function)
    ทำความเข้าใจสมองของเด็กพิเศษ ต่อยอดความพิเศษในตัวพวกเขา

    เรื่อง The Potential

‘ภูมิ’ เด็กสร้างค่าย เปลี่ยนเด็กธรรมดาให้กลายเป็น ‘นักสร้างสรรค์’ ภายใน 3 วัน
Voice of New Gen
11 April 2019

‘ภูมิ’ เด็กสร้างค่าย เปลี่ยนเด็กธรรมดาให้กลายเป็น ‘นักสร้างสรรค์’ ภายใน 3 วัน

เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • ค่าย Young Creator’s Camp หรือ YCC คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เด็กมัธยมปลายที่สนใจการเขียนโค้ดหรือการออกแบบ ได้ลงมือสร้างโปรดักท์เป็นของตัวเอง จัดขึ้นเมื่อ 29-31 มีนาคมที่ผ่านมา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • ค่าย YCC เกิดขึ้นโดย ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน เด็กหนุ่มวัย 17 เป็นหัวเรือใหญ่ นั่งแท่นประธานค่าย ได้รับการร่วมมือร่วมแรงของเพื่อนๆ พี่น้องเยาวชนในแวดวงเทคโนโลยี
  • กระบวนการเวิร์คช็อปในค่ายทั้งสามวัน อยู่บนหลักการและแนวคิดเรื่อง Design thinking, User experience, Lean startup ซึ่งทั้งสามศาสตร์นี้ จะช่วยให้ได้โปรดักท์ที่ดีที่สุด
ภาพ: อรสา ศรีดาวเรือง

“เพราะการเขียนโปรแกรม ไม่ใช่งานของกรรมกรห้องแอร์ แต่เป็นงานของนักเวทมนตร์”

นี่คือดอกผลของความพยายามเกือบ 1 ปีเต็มที่ ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน เด็กหนุ่มวัย 17 ผู้หยุดเรียนไว้ที่ ม.4 เพื่อเริ่มการเรียนรู้ตลอดชีวิต (อ่านได้ที่นี่) ทุ่มเทเวลาและแรงใจในการเตรียมตัว เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนที่สนใจในการเขียนโค้ดหรือการออกแบบดีไซน์ ได้โชว์ศักยภาพและปล่อยของที่ตัวเองมีออกมา

จุดเด่นที่น่าสนใจของค่าย Young Creator’s Camp เรียกสั้นๆ ว่า YCC Camp คือบุคคลที่อยู่หลังฉากล้วนเป็นเยาวชนทั้งหมด ทำเองตั้งต้น วางแผน ฟอร์มทีม ระดมทุน คิดค้นกระบวนการ เจาะกลุ่มเป้าหมาย ประชาสัมพันธ์ จนค่ายสามวันเกิดขึ้นได้ 

‘เด็กสร้างค่าย’ คือสามคำของงานนี้จริงๆ

ค่ายนี้จัดขึ้นเพื่ออะไร

ก่อนอื่นผมขอแบ่งจุดประสงค์ของค่ายนี้เป็น 2 ข้อ คือ 1.จุดประสงค์ต่อน้องๆ และ 2.จุดประสงค์ต่อสังคม

อย่างแรกผมอยากให้น้องๆ ที่เข้ามาร่วมค่ายได้สนุกกับการสร้างโปรดักท์ มองมันไม่ใช่เรื่องน่าเบื่อ และเมื่อน้องกลับบ้านไป ทำให้น้องรู้สึกอยากเล่นสนุกกับเพื่อนๆ มากขึ้น ให้เขารู้สึกว่าการเขียนโปรแกรมไม่ใช่งานของกรรมกรห้องแอร์ แต่เป็นงานของนักเวทมนตร์

ส่วน hidden agenda จุดประสงต์ต่อสังคมของเรา คือการสร้างชุมชนนักสร้าง หรือ creator community ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง ถึงแม้ตอนนี้ในประเทศเริ่มมีความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เยอะมากขึ้น แต่น้อยคนจะให้ความสำคัญกับ ‘นักสร้างวัยเด็ก’

“ทุกคนชอบบอกว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่ผมว่าไม่ใช่ ผมว่าเด็กคือปัจจุบัน” แล้วทำไมเราไม่ทำปัจจุบันให้ดี

โปรดักท์ที่ว่า…คืออะไร

เป็นได้หมดครับ ทั้งแอพพลิเคชั่น เว็บไซต์ หรืองานออกแบบ แต่ผมมองลึกไปกว่านั้น สิ่งที่น้องๆ จะได้จากค่ายอย่างแน่นอน คือการสร้าง prototype หรือการจำลองต้นแบบมากกว่า เพราะเป้าหมายตั้งแต่แรกของค่าย เราไม่ได้ให้ทุกคนทำทุกอย่างได้ภายใน 3 วัน แต่เป็นการให้น้องๆ ฝึกทำแบบร่าง แบบจำลอง ขุดเอาไอเดียของตัวน้องๆ ออกมา แล้วดูว่า ‘ไอเดียนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นจริงแล้วจะเวิร์คไหม’

โดยน้องๆ จะได้ลองขึ้นโครงเขียนโค้ด เขียนเว็บ ทำแอพพลิเคชั่น รวมถึงงานดีไซน์ด้วยตัวเอง

กิจกรรมในค่าย มีอะไรบ้าง และน้องๆ จะได้รับประโยชน์อะไร

กิจกรรมในค่ายจะถูกแบ่งเป็น 3 วัน วันแรกคือ ‘วันคิดไอเดีย’ เป็นวันที่พาน้องๆ เข้าร่วมเวิร์คช็อปผ่านศาสตร์ทั้งสามที่ผสมผสานกัน ได้แก่ Design thinking, User experience, Lean startup โดยทั้งสามศาสตร์นี้ เหมือนเป็นการช่วยมองเหรียญหลายๆ ด้าน

สมมุติเราต้องการสร้างโปรดักท์ให้ถึงมือผู้ใช้ เราต้องอาศัยการมองจากสามศาสตร์นี้ นั่นคือ การมองจากผู้ใช้เป็นหลัก ดูว่าผู้ใช้มีลักษณะเป็นอย่างไร การทำโปรดักท์ให้เด็กอายุ 18 ในเมือง ย่อมต่างจากโปรดักท์ที่ทำให้ผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบท เพราะบริบทมันต่างกัน

ศาสตร์ต่อมาคือ design thinking จะช่วยฝึกให้น้องคิดไอเดีย ร่างไอเดียขึ้นมาในเวลาที่จำกัด ทำให้น้องสามารถจับความคิดที่ลอยฟุ้งออกมาเป็นไอเดียจริงให้ และสุดท้ายตามด้วย lean startup ซึ่งเป็นศาสตร์ที่ให้ทุกคนเชื่อในความล้มเหลว เพราะว่าไอเดียแรกที่เราคิด ไม่มีวันที่จะถูกต้องทั้งหมด ไอเดียแรกเกิดจากความมโน เกิดจากความฟุ้งของเราเอง ดังนั้นเราต้องอาศัยหลักของผู้ใช้และอาศัยของข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพื่อพิสูจน์ว่าไอเดียนั้นจริงหรือเจ๋ง

ทำไมต้องเป็นสามศาสตร์นี้ มันเชื่อมโยงกันอย่างไร

ผมมองว่ามันมีความ overlap กันสูงมาก ถ้ามองเป็นวงกลมสามวง จะมีส่วนที่เป็นจุดคาบเกี่ยวกันอยู่หลายจุด เช่น design thinking จะช่วยทำให้ไอเดียออกมาเป็นโปรดักท์ได้ง่ายขึ้น และทั้งสามศาสตร์นี้มันเสริมทำให้น้องๆ เห็นภาพรวมชัดขึ้น เหมือนเป็นกรวยที่ค่อยๆ ช่วยตกตะกอนไอเดียของน้องให้เป็นจริง

ภูมิใช้มาตรวัดอะไรในการเลือก 3 ศาสตร์นี้มาถ่ายทอดในเวิร์คช็อป

ต้องบอกก่อนว่า ผมได้ใช้ประสบการณ์ส่วนตัวเข้าร่วมด้วย ผมเคยผ่านการเข้าค่ายของ ‘โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่’ ซึ่งในค่ายนั้นเคยมีคลาสสอนศาสตร์เรื่อง user experience หรือ UX มันเปิดมุมมองผมมากๆ โดยธรรมชาติของคนที่เป็นโปรแกรมเมอร์หรือดีไซเนอร์จะมีแนวคิดว่าความคิดตัวเองจะถูกต้องเสมอ แต่พอเข้าคลาส UX มันทำให้มองเห็นตัวผู้ใช้มากขึ้น ต้องเข้าใจ ต้องนึกถึง มีความเห็นอกเห็นใจ มีเมตตาต่อเขามาขึ้น

เพราะ “product ที่ดีต้องเข้าใจ users”

เช่นเดียวกับ Lean startup ผมได้มาจากการร่วมงาน Startup Thailand อย่างที่บอกศาสตร์นี้จะช่วยสอนให้เราไปต่อได้เมื่อล้มเหลว เราชอบ Lean startup มาก เพราะเราเป็นคนที่กลัวการล้มเหลว แต่ Lean startup  ทำให้เรามองความล้มเหลวเปลี่ยนไป สนุกกับความล้มเหลว ‘เฟลก็ได้ไม่เห็นเป็นอะไรนิ’ ซึ่งผมคิดว่ามันเหมาะที่จะเอามาส่งต่อให้น้องๆ ในค่าย

ดังนั้นในค่ายนี้จะมีทั้งการผสมผสานทั้งการเห็นอกเห็นใจผู้ใช้ ผสมผสาน design thinking จะช่วยให้ไอเดียคมและชัดขึ้น รวมถึงยังผสมผสานกับการไม่กลัวที่จะล้มไปด้วย

แล้วทั้งสามศาสตร์นี้ จะช่วยให้น้องๆ เข้าใจการสร้างโปรดักท์อย่างไร

กิจกรรมวันแรกของค่าย เราจะให้น้องๆ แชร์เรื่องอะไรก็ได้ ที่คิดว่าเป็นปัญหาที่น้องเจอ โดยเรายกตัวอย่างคร่าวๆ อาจเป็นเรื่องคมนาคม ความเหลื่อมล้ำ การเหยียดหยาม เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ แล้วปล่อยให้น้องๆ ได้คิดออกมาว่าปัญหาที่น้องเจอคืออะไร

ซึ่งปัญหาที่เจอเหล่านี้จะนำไปสู่การสร้างตัวตนหรือต้นแบบของผู้ใช้ (user) ยกตัวอย่างเช่น ผมต้องการออกแบบปุ่มซื้อของที่ใหญ่ขึ้นให้นายโลมา ซึ่งเราจำเป็นต้องรู้ก่อนว่านายโลมาเป็นใคร นิสัยอย่างไร ความต้องการของเขาคืออะไร

ต่อมาคือการเวิร์คช็อปให้น้องๆ เรียนรู้เรื่อง user journey เราจะให้น้องวาดเส้นทางการเดินทางผู้ใช้ ตั้งแต่เริ่มต้นไปจนถึงการเจอปัญหา ยกตัวอย่างเช่น การเดินทางมาค่ายวันนี้ ต้องเจอปัญหาอะไรบ้าง ตั้งแต่ตื่นนอน รถติด กินข้าวไม่ทัน ต้องนั่งรถเมล์หลายต่อ รอนาน จากนั้นก็ให้น้องพล็อตความรู้สึกเอาไว้ว่ารู้สึกอย่างไร มันไม่โอเคเพราะอะไร

จากนั้นหยิบปัญหาดังกล่าวมาแก้ไข โดยการให้ทางเลือกอยู่ในประโยคว่า ‘จะดีกว่าไหม ถ้า…’ จะดีกว่าไหม ถ้าเราทำให้รถไม่ติด จะดีกว่าไหมถ้ามีรถมารับเราถึงที่ สิ่งนี้จะก่อให้เกิดแอพพลิเคชั่นที่เป็นตัวช่วยต่างๆ มากมาย

เมื่อเจอปัญหา เจอทางเลือก ต่อมาคือการลงมือแก้ไข โดยการทดลองทำตามสมมุติฐาน สมมุติฐานคือสิ่งที่น้องมโนขึ้นมา ต้องตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลนั้นว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยวิธีสัมภาษณ์ผู้ใช้และหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต

ในค่ายวันที่ 2 เราจะให้น้องลงมือพิสูจน์ไอเดียของตัวเอง โดยตามหากลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ใช้ (user) ตามต้นแบบของน้องๆ ในบริเวณชุมชนลาดกระบังหรือสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อน้องๆ จะได้รู้ว่าไอเดียของตัวเองเป็นอย่างไร ทำได้จริงไหม หรือมีจุดใดบ้างต้องปรับปรุง

จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงการเขียนโค้ดโปรแกรมข้ามวันข้ามคืนไปถึงวันที่ 3 และปิดท้ายด้วยการสรุปผลและนำเสนอผลงานทั้งสามวันให้กรรมการได้แนะนำต่อไป

ค่าย YCC ใครสามารถเข้าร่วมได้บ้าง

เหมาะกับเด็กมัธยมที่มีความสนใจ หรือมีความเชี่ยวชาญในการเขียนโปรแกรมและการออกแบบ เราแบ่งการรับสมัครเป็น 2 กลุ่ม คือโปรแกรมเมอร์ 15 คน ดีไซเนอร์ 15 คน

ผมเชื่อว่าคนที่จะเห็นโปรดักท์ได้ดีที่สุด คือคนที่เขียนโปรแกรมได้ ออกแบบดีไซน์ได้ เท่าที่จากคนที่สมัครมาทั้งหมด พบว่าสมมุติฐานของผมค่อนข้างเป็นจริง

พวกเขาเข้าใจเวิร์คช็อปได้เร็วมาก ถึงแม้ผมจะสอนเป็นครั้งแรก ไม่เคยทำค่ายหรือเวิร์คช็อปมาก่อน อีกสาเหตุที่ค่ายนี้ต้องรับเด็กที่พอมีพื้นฐานมาก่อน เพราะระยะเวลา 3 วัน สั้นมากกับการจะผลิตชุมชนนักสร้าง หรือ creator community ขึ้นมา

และเป้าหมายของผมอีกอย่างคือการส่งต่อให้น้องที่มาเข้าค่ายในวันนี้ ได้ลุกขึ้นมาสร้างค่ายของตัวเอง

ทำค่ายครั้งแรก เจอความเครียด หรือความยาก ท้าทายอะไรบ้าง

ต้องบอกเลยครับว่าผมเครียดมาก เครียดจนนอนไม่หลับ แต่พอได้ลงมือสอน ลงมือเวิร์คช็อป แล้วเราเห็นน้องๆ เข้าใจเนื้อหาตามที่เราสอน มันภูมิใจมาก

เตรียมตัวหนักแค่ไหน

เราเตรียมตัวหนัก และไม่ใช่แค่ผมคนเดียวในฐานะประธานค่าย แต่คนที่น่าชื่นชมกว่าผมก็คือทีมงานเพื่อนๆ สตาฟทุกคนที่มาช่วยกัน ทุกคนทำงานกันหนักมากและพร้อมจะพลิกไปตามสถานการณ์ เมื่อเช้าที่ค่ายไฟดับเราก็ผ่านมากันได้ ในฐานะประธานค่ายผมรู้สึกว่าเราไม่ต้องแบกอะไรไว้เองคนเดียว เพราะทีมงานทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน ทุกคนอยากเห็นว่าค่ายจะออกมาหน้าตาอย่างไร

“เกือบ 1 ปีทุ่มเทมา จากที่ผมเคยพูดเล่นๆ ว่าอยากทำค่าย ตั้งแต่มีไอเดียฟุ้งๆ จนตอนนี้กลายเป็นจริงขึ้นมา มันก็ภูมิใจครับ”

ย้อนถามนิดนึงว่า อะไรคือสิ่งที่ทำให้ภูมิตัดสินใจลงมือทำค่าย

เพราะโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ครับ ผมเข้าใจผิดไปว่าโครงการนี้จะไม่มีรุ่นที่ 7 แล้ว เลยทำให้ผมแพนิคมาก เพราะมันเป็นค่ายที่ดี เราอยากส่งต่อสิ่งดีๆ ให้น้อง โดยการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้ แต่ถ้าไม่มีค่ายก็น่าเสียดาย จึงตัดสินใจจัดค่ายเอง แต่โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ก็ยังมีอยู่ ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะความเข้าใจผิดที่ว่านี้ทำให้เราฮึดสู้สร้างค่ายขึ้นมา โดยมีโครงการต่อกล้าฯ เป็นแรงบันดาลใจ

ค่ายจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีเงิน ภูมิใช้วิธีใดในการหาผู้สนับสนุน

ก่อนอื่นเลยเราต้องมองหาองค์ที่เห็น value หรือคุณค่าของค่ายเราก่อน จากนั้นใช้วิธีเดินเข้าไปหาองค์กรนั้นๆ ด้วยตัวเอง เข้าไปพูดคุยและอธิบายให้เขาเห็นว่าค่ายเราคืออะไร ประโยชน์ของค่ายเราอยู่ตรงไหน สื่อสารกับผู้สนับสนุนของเราตรงไปตรงมา

ผมใช้วิธีนี้และคิดว่าวิธีนี้ดีกว่าการยื่นเอกสารหรือส่งจดหมายขอเงินลอยๆ ที่สำคัญเราต้องคิดแทนองค์กรที่จะเป็นผู้สนับสนุนของเราด้วยว่า ‘ค่าย YCC ของเราก็สามารถสร้าง value ให้เขาได้เช่นกัน’ ซึ่งค่ายนี้มีสปอนเซอร์ทั้งหมด 10 เจ้า ตัวเลขงบประมาณกลมๆ ที่ใช้ทำค่ายอยู่ที่หนึ่งแสนเก้าหมื่นบาท

ส่วนการรวมสตาฟ เราก็เริ่มชักชวนจากเพื่อนๆ ที่รู้จักในแวดวงเดียวกัน ทั้งที่เจอกันในค่ายอื่นรวมถึงค่ายต่อกล้าฯ ผมขอบขอบคุณทุกคนมากจริงๆ ที่ทำให้ค่ายนี้มันเกิดขึ้น รวมถึงสปอนเซอร์ด้วย

“ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมไม่เข้าใจหรอกครับ ว่าคนบ้าที่ไหนจะเอาเวลาเป็นเดือนๆ ไม่หลับไม่นอน ยอมโดดทำงาน ยอมโดดไม่เข้ารับใบจบ เพื่อมาทำค่ายเล็กๆ ค่ายนี้ โดยที่ไม่มีค่าตอบแทนอะไรให้เขาเลย แต่ถึงตอนนี้ผมเข้าใจแล้วเพราะพวกเราเห็นภาพเดียวกัน”

ในอนาคต ค่าย YCC จะดำเนินต่อไหม

สนุกมากครับ ยังไงจะดำเนินต่อแน่นอน แต่เราจะไม่ดำเนินต่อแบบปกติ เราจะชวนน้องที่มาร่วมค่ายกับเราครั้งนี้ลุกขึ้นมาเป็นพี่ค่ายในปีหน้า อาจจะไม่ใช่ค่าย YCC แบบปีนี้ เป็นค่ายใหม่พี่เพิ่มความท้าทายขึ้นหรืออะไรก็ตามแต่

เวลาเกือบ 1 ปีที่ทุ่มเท จนเป็นรูปเป็นร่าง ภูมิรู้สึกอย่างไรบ้าง

เหมือนเราฝันอยู่เลย ที่เราทำอยู่นี่มันจริงหรอ มีพื้นที่ มีเวิร์คช็อปที่เราคิดเอง มีพี่ๆ วิทยากร มันเหมือนฝันเลย ปีก่อนผมยังเคยพูดอยู่เลย จัดค่ายแค่นี้ให้มาพูด 1 วันก็ทำได้แล้วไม่เห็นต้องเตรียมอะไรเลย แต่พอขยับมาเป็นประธานค่ายแล้ว มันทรมาน มันเจ็บ มันเหนื่อย แต่สิ่งที่ออกมาคุ้มค่า เราอยู่กับทุกกระบวนการตั้งแต่ไอเดียยังเป็นวุ้น ผ่านการประชุม ผ่านการทำงานจนเป็นรูปเป็นร่าง คงไม่มีอะไรจะมากไปกว่าคำขอบคุณและความดีใจ

เชื่อในพลังของเทคโนโลยีมากแค่ไหน

ร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ หลายๆ คนบอกว่าปัญหาต่างๆ มันควรแก้ที่คนไม่ใช่เทคโนโลยี แต่ผมเห็นต่าง

ผมเชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้มีอิสระทางความคิด มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่ออยู่ตามกรอบใดๆ มนุษย์เป็น free thinking ไม่ควรมีใครมากำหนดว่ามนุษย์ควรทำหรือไม่ทำอะไร แต่ควรจะมีเทคโนโลยีที่ทำให้มนุษย์ทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ง่ายขึ้นและช่วยทำให้สังคมดีขึ้น เทคโนโลยีที่ดีควรทำให้ชีวิตมนุษย์ง่ายขึ้น

“เป้าหมายในชีวิตของผมคือการเป็น technology developer นอกจากผมจะพัฒนาโปรดักท์ของตัวเองแล้ว ผมจะพัฒนาชุมชนนักสร้าง ชุมชนโปรแกรมเมอร์อายุเยาว์ ผมอยากทำสิ่งนี้มานาน”

ผมมองว่าเราทำโปรดักท์ให้คนอื่น ก็เหมือนเราจับปลาให้เขากิน เกิดวันใดวันหนึ่งเราไม่อยู่ เราเหนื่อยเกินที่จะทำเอง วิชาจับปลาก็จะตายไปพร้อมเรา แต่ถ้าเราสร้างชุมชนนักสร้าง ส่งต่อให้เด็กรุ่นต่อไป สิ่งเหล่านี้มันก็จะไม่หายไป และมันจะไม่เป็นเหมือนเดิม เพราะน้องทุกคนก็มีไอเดียที่ต่างกัน

จริงๆ อย่างที่บอก ค่าย Young Creator’s Camp แค่อยากให้น้องรู้สึกสนุกกับการทำโปรดักท์ ผมเคยเจอมาเยอะแล้วคนที่มาเขียนโปรแกรมเพราะอยากได้เงิน ไม่ต่างกับกรรมการห้องแอร์ ดังนั้นค่ายนี้แค่ไปจุดประกายให้น้อง เหมือนที่ค่ายต่อกล้าให้เติบใหญ่เคยให้กับผม ซึ่งในฐานะที่ผมเองก็เป็นเยาวชนอายุ 17 คนหนึ่ง ผมจึงอยากส่งต่อวิธีนี้ผ่านค่ายให้น้องๆ มากกว่า

Tags:

21st Century skillsโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่นวัตกรภูมิปรินทร์ มะโน4CscodingYoung Creator’s Camp (YCC)Generation of Innovator

Author:

illustrator

รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

หลงใหลถุงผ้ากับกระบอกน้ำ เริ่มต้นอาชีพด้วยการฝึกปรือและอยู่กับผู้คนในประเด็นการศึกษา สนุกจะคุยกับเด็ก ชอบฟังเรื่องเล่าในห้องเรียน ที่สนใจการเรียนรู้ก็เพราะเชื่อว่านี่เป็นใบเบิกทางให้ขยายขอบขีดความสามารถตัวเอง ฝันสูงสุดคืออยากเห็นตัวเองทำงานสื่อสารที่มีคุณภาพและคุณค่าต่อไป

Related Posts

  • Voice of New Gen
    ‘เราจะก้าวสู่จุดที่เด็กทำวิจัยกับนักวิจัยเพื่อส่งของขึ้นอวกาศอย่างเป็นเรื่องปกติ’ ภูมิปรินทร์ มะโน

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Creative learningCharacter building
    สามหนุ่มอาชีวะนักพัฒนา เจ้าของ WIMC อุปกรณ์ตรวจสอบมอเตอร์ไฟฟ้าอัจฉริยะ

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Creative learningCharacter building
    CLOWN PANIC: เกมการเดินทางของตัวตลกที่หวังให้ผู้เล่นมีความสุข

    เรื่อง The Potential

  • Creative learningCharacter building
    OR HEALTH: ชุดปลูกต้นอ่อนข้าวสาลีอินทรีย์ที่ได้แรงบันดาลใจจากอาจารย์ผู้จากไปด้วยโรคมะเร็ง

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Voice of New Gen
    นวัตกรตัวน้อย: ไม้ยืนต้น รากลึกและแข็งแรงจาก ‘ต่อกล้าให้เติบใหญ่’

    เรื่อง The Potential

Posts navigation

Older posts
Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel