พี่ลาเต้ ในฐานะฟังและอ่านสิ่งที่วัยรุ่นบ่นถึงการสอบผ่านเว็บบอร์ด แห่ง Dek-D.com นานถึง 11 ปี ผลกระทบที่วัยรุ่นไทยได้จากการสอบคืออะไรบ้าง“ที่ชัดเลยคือตอนเข้ามหาวิทยาลัย เด็กเก่งจะได้เลือก ขณะที่เด็กอีกกลุ่มคือ คะแนนออกแล้วค่อยมาจิ้มว่า คะแนนเท่านี้มีสิทธิ์ติดอะไรบ้าง แต่พอเข้าไปแล้วอาจจะไม่ใช่เราก็ได้” กว่า 10 ปีของการทำงาน แม้ต้องรับมือกับความเครียดในเรื่องสอบของเด็กๆ แต่เขายืนยันชัด สอบยังจำเป็น แต่วิธีการ วิธีคิดในเรื่องสอบ ยังคงต้องพัฒนาและหาทางกันต่อไป
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
หลังเลคเชอร์ให้ The Potential ฟังถึงมหากาพย์การสอบของเด็กไทยตั้งแต่ ประถมศึกษา จนถึงการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
เรายังชวน มนัส อ่อนสังข์ หรือ ‘พี่ลาเต้ ’ บรรณาธิการข่าวการศึกษาและแอดมิชชั่น เว็บไชต์ Dek-D.com คุยต่อในประเด็นความเครียดในวัยรุ่นไทยกับการสอบ (แทบจะตลอดชีวิต) ที่แม้จะมีวัยรุ่นเปลี่ยนหน้าเข้ามาเล่นในบอร์ดไม่รู้กี่เจเนอเรชั่น แต่พวกเขาต่างประสบปัญหาคล้ายกันคือ ความเครียดที่เหมือนจะไม่มีวันสิ้นสุด
ในฐานะที่พี่ลาเต้ นั่งโต๊ะข่าวการศึกษานานถึง 11 ปี อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยมาแล้วถึง 3 ครั้ง ด้านหนึ่งต้องคอยศึกษาระบบ สอบทาน ทำความเข้าใจ คิดระบบช่วยประเมินคะแนน แล้วค่อยนำมาอธิบายต่อให้น้องๆ และผู้ปกครองฟัง อีกด้านต้องรับฟังเสียงบ่นจากเด็กๆ ผ่านการมอนิเตอร์เว็บไซต์ และเข้าไปตอบคำถามคาใจของเด็กๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องเรียนเสียด้วย แต่ลามไปถึงหัวใจ ความรัก และเรื่องเพศในเชิงทฤษฎี
คำถามเริ่มแรกไล่เรียงตั้งแต่ ทำความเข้าใจจุดตั้งต้นของการสอบ O-NET กระบวนการวัดผลการศึกษา หนึ่ง ไม้บรรทัดวัดผลการศึกษาทั่วประเทศได้จริงหรือ ผลลัพธ์การสอบตั้งแต่เกิดจนแก่ ทิ้งร่องรอยอะไรไว้กับนักเรียนไทยบ้าง (ซึ่งเขาแย้มว่า อย่างน้อยๆ ก็ส่งผลถึงความอ้วนนะ) รวมทั้งเรื่องหลังบ้านของเว็บไซต์ Dek-D วัยรุ่นทุกวันนี้มีคาแรคเตอร์อย่างไร ผ่านบอร์ดสนทนาที่รวบรวมเสียงวัยรุ่นไว้มากที่สุดแห่งหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ยังคงยืนยันว่า เราไม่ได้ชี้ว่า การสอบไม่ดี ไม่ควรมี แต่ชวนหารือ หาข้อมูลความคิดเพื่อเป็นสารตั้งต้นเพื่อชวนถกกันต่อว่า การสอบคืออะไร วิธีการไหนจำเป็น วิธีไหนไม่ควรไปต่อ และถ้าไม่สอบ เราจะใช้วิธีอะไรกันดี
เชิญรับชม ?
O-NET คนแปลกหน้าที่เหมือนเพื่อนสนิท เจอกันทุก ป.6 ม.3 และ ม.6
O-NET คือสนามสอบร่วมกันของชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ทำไมต้องมี O-NET และมีเพื่ออะไร
จุดประสงค์ของ O-NET คือการสอบวัดผล แต่จุดตั้งต้นคือแนวคิดที่ว่า การให้เกรดแต่ละโรงอาจมีเกณฑ์ไม่เหมือนกัน บางโรงเรียนปล่อยเกรด บางโรงเรียนกดเกรด O-NET จึงถูกคิดขึ้นเพื่อพิสูจน์สิ่งเหล่านี้ ให้ทุกโรงเรียนทำข้อสอบมาตรฐานฉบับเดียวกันทั่วประเทศ
นอกจากการวัดผล บางโรงเรียนยังใช้เป็นคะแนนส่วนหนึ่งเพื่อสอบคัดเลือกเข้าโรงเรียน เช่น ใช้คะแนน O-NET ส่วนหนึ่งคัดเข้า ม.1 และชัดเจนที่ ม.6 ขณะที่สอบเข้า ม.4 ยังไม่ค่อยเห็น
มหาวิทยาลัย ที่ใช้คะแนน O-NET เป็นเกณฑ์หนึ่งในการเข้ามหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำหนดเลยจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ คะแนน O-NET วิชาภาษาอังกฤษ คะแนนเต็ม 100 ต้องได้ 16 คะแนนขึ้นไป คณะศิลปศาสตร์ ภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กำหนดว่าภาษาอังกฤษ คะแนนเต็ม 100 ต้องได้ 75 คะแนนขึ้นไป ซึ่งถือว่าสูงมากจึงจะยื่นเข้ามหาวิทยาลัยได้
ในชั้นแรก O-NET จึงไม่ได้วัดแค่ศักยภาพ หรือ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แต่วัดมาตรฐานของโรงเรียน วัดคุณภาพครูโรงเรียนนั้นๆ?
ถูกต้องครับ O-NET ใช้วัดหลายอย่างมาก หนึ่ง -วัดมาตรฐานของนักเรียนของแต่ละโรงเรียนว่าระดับเท่ากันไหม สังเกตว่า ช่วงหลังมีการจัดอันดับโรงเรียนยอดเยี่ยม เกณฑ์ส่วนใหญ่เอามาจากคะแนน O-NET ทั้งนั้นเลย คือวัดจากข้อสอบฉบับเดียวกันแล้วสอบทุกโรงเรียน เอาตัวนี้เป็นค่าในการวัด
สอง -วัดประสิทธิภาพการสอนของคุณครู การสอบ O-NET เป็นอะไรที่คุณครูตื่นเต้นกันมาก ผลักดันเด็กกันมาก สังเกตว่าเวลาเด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทางโรงเรียนไม่ค่อยจัดติวนะ แต่จัดติว O-NET เพื่อให้โรงเรียนนั้นได้ผล O-NET ดี สพฐ. ก็อัดฉีดเหมือนนักกีฬาเลย คือถ้าเด็กได้คะแนน 90 คะแนนขึ้นไปมีทุนการศึกษาให้ คอยประเมินตลอดว่าโรงเรียนไหนมีคะแนน O-NET ต่ำลงเรื่อยๆ
ข้อสอบเดียวกันใช้วัดระดับทั้งประเทศ แต่ข้อเท็จจริงคือ แต่ละโรงเรียนมีจุดประสงค์การเรียนการสอนต่างกัน แบบนี้ถือว่า ‘แฟร์’ กับเด็กๆ ทั่วประเทศหรือเปล่า
ถ้ามองในมุมเด็ก คิดว่าไม่แฟร์ แต่ในมุมผู้ใหญ่ ข้อสอบนี้อาจจะเป็นเครื่องมือเดียวที่วัดได้ เพราะด้วยความที่ไม้บรรทัดแต่ละโรงเรียนไม่เท่ากัน จึงต้องมีไม้บรรทัดกลางมาวัดไม้บรรทัดของคุณ คนที่ทำงานในกระทรวงฯ เมื่อได้รับโจทย์มาว่าเราจะวัดคุณภาพการศึกษาไทยอย่างไรดี วัดว่าเด็กรุ่นนี้มีคุณภาพแค่ไหน สิ่งที่คิดออกก็น่าจะเป็นข้อสอบฉบับหนึ่งที่มีมาตรฐาน ข้อสอบชุดเดียวกัน ทุกโรงเรียนสอบเวลาเดียวกัน
แต่ในมุมของเด็ก อย่างในเว็บบอร์ดก็จะเห็นเด็กมาตั้งกระทู้บ่อยมากว่า ข้อสอบแบบนี้ โรงเรียนหนูไม่เคยเรียนเลย เขาเอามาจากหนังสือ สสวท. แต่โรงเรียนไม่ได้สอนเล่มนี้ ไม่ได้เรียนลึกขนาดนี้ ก็จะมีกระทู้แบบนี้มาตลอด อาจกลายเป็นว่ามันไม่แฟร์สำหรับเด็กๆ
แต่ประเด็นนี้ก็มีหลายประเด็นนะครับ ปริมาณเด็กแต่ละโรงก็มีผล เช่น โรงเรียนหนึ่งมีเด็กที่ต้องสอบ O-NET จำนวน 400 คน การทำให้เด็ก 400 คน ผ่าน mean หรือผ่านค่าคะแนนเฉลี่ย เป็นเรื่องยากมาก เช่นถ้าในเด็ก 400 คน มีเก่งสัก 20 คน และ 20 คนนั้น ได้ 100 คะแนนเต็ม แต่ค่า mean อาจจะไม่สูง ขณะที่อีกโรงเรียนหนึ่ง ในรุ่นมีแค่ 40 คน และไม่มีใครมีคะแนนถึง 100 คะแนน แต่อาจจะมีคนที่ได้ 80 คะแนน แล้วพอเอาคะแนนมาคำนวณกัน โรงเรียน 40 คน อาจจะมีค่า mean สูงก็ได้ มีความซับซ้อนในตัวระบบอยู่
แต่ถ้าถามในทางทฤษฎี หรือในแง่ของไม้บรรทัดกลางเพื่อวัดคุณภาพแต่ละโรงเรียน ผมคิดว่าโอเค อาจจะเป็นตัวที่กระตุกหรือกระชากวิญญาณของแต่ละโรงเรียนว่า โอเคนะ… คุณไม่ต้องยึดว่าเด็กโรงเรียนคุณจะต้องเข้ามหาวิทยาลัยได้กี่คน แต่ยึดแกน O-NET ถ้ามีคะแนน O-NET เกิน 80 คะแนน แปลว่าโรงเรียนคุณอยู่ในระดับที่ดี แม้ว่าพอเอามาเปิดและเอามาใช้จริงๆ แล้วมันก็ไม่เท่ากัน
ในฐานะผู้ติดตามและต้องเห็นข้อสอบมาทุกปี เฉพาะข้อสอบ O-NET ถูกวิจารณ์อยู่ตลอดว่า ‘คิดได้อย่างไร’ ‘ข้อสอบแบบนี้จำเป็นหรือ’ หรือคำวิจารณ์ว่า ‘เป็นข้อสอบปรนัยที่ไม่มีคำตอบใดผิดหรือถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นักเรียนต้องตอบข้อสอบอย่างเดาใจคนคิด’ คุณมีความเห็นต่อคำวิจารณ์เหล่านี้อย่างไร และคิดว่าข้อสอบ O-NET มาถูกทางหรือยัง
เท่าที่เห็นข้อสอบมาตลอด 10 ปี ช่วงแรกๆ นี่ถอยหลังเข้าคลองมาก เช่นข้อสอบที่โด่งดังคือข้อสอบ O-NET ม.6 ชุดสุขศึกษา ปีการศึกษา 2554 ที่ถามว่า หากเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาต้องทำอย่างไร? หรือข้อสอบปีการศึกษา 2552 ที่ให้สถานการณ์มาแล้วถามว่า เราควรใช้ผ้าปูโต๊ะสีอะไร
สมัยทำงานแรกๆ เด็กๆ ถามกันมาก “พี่… มันออกมาทำไม” “ถามไปเพื่ออะไร มันวัดถูกผิดหรือการเดาใจคนออกข้อสอบ” เพราะชอยส์ทั้ง 5 ตัวเลือก ก็มีโอกาสถูกได้ทั้ง 5 ข้อ แต่ทุกครั้งเกิดคำถามอะไรเช่นนี้ ผมไปทำข่าว ไปสัมภาษณ์อาจารย์ผู้ออกข้อสอบ ซึ่งเขาตอบได้ทั้งหมดเลยนะ หมายความว่าเขามีวัตถุประสงค์หนึ่ง สอง สาม หมายความว่าคนคิดก็ตอบได้ว่าเขาต้องการจะวัดอะไร
แรกๆ ข้อสอบ O-NET จะเป็นแบบนั้น ถูกวิจารณ์แบบนั้น แต่ช่วงหลังๆ โดยเฉพาะ 3 ปีล่าสุด ก็ดีขึ้น ปีล่าสุดแทบไม่มีน้องคนไหนวิจารณ์ข้อสอบ O-NET เลย มีแต่บอกว่า “ข้อนี้ไม่มีชอยส์ไหนที่ถูกเลยนะ”
การเปลี่ยนแปลงของข้อสอบ O-NET ช่วงหลังๆ มีอะไรที่แปลกตาไปบ้าง
ช่วงหลังๆ เขาเปลี่ยนรูปแบบการตอบมากขึ้น แต่ก่อนเป็น 4 ตัวเลือก/1 คำตอบ แต่หลังๆ เริ่มเป็น 5 ตัวเลือก/1 คำตอบ และจึงพัฒนาเป็น 5 ตัวเลือก/2 คำตอบ ซึ่งอย่างหลังนี้ก็ต้องตอบให้ถูก 2 อัน จึงจะได้คะแนนข้อนั้นไป รวมทั้งมีชอยส์ความสัมพันธ์ คือถ้าข้อ 1 ถูก ให้ไปต่อข้อ 2 แต่ถ้าผิดตั้งแต่ข้อ 1 ก็คือผิดทั้งหมดเลย
หรืออย่างข้อสอบปีล่าสุด เรียกว่าหักปากกาติวเตอร์ทุกสถาบันเลย เพราะแรกๆ เขาจะเลือกคนออกข้อสอบที่เป็นอาจารย์โรงเรียนสาธิต หรืออาจารย์มหาวิทยาลัยมาช่วยกันออกข้อสอบ แต่ปีนี้เขาเอาระดับ สสวท. มาออก ข้อสอบก็จะเอื้อสำหรับโรงเรียนบางโรงเรียน สำหรับคนที่เรียนวิทย์-คณิตแบบเข้มข้นมา ปีนี้เด็กก็จะบ่นข้อสอบวิทย์กันเยอะ มีคนแชร์กันในบอร์ดว่า เราเรียนเรื่องนี้ แต่เรื่องนี้ไม่ได้เรียน
ถามว่าไปในทางที่ดีขึ้นไหม ถ้าตอบคำถามโดยการยึดข้อสอบในอดีต คิดว่าเป็นไปในทางที่ดีขึ้น บางทีเป็นข้อสอบเชิงตรรกะที่หลายๆ คน รวมถึงผู้มีชื่อเสียงวิจารณ์กันว่าเป็นข้อสอบที่มีประโยชน์
อีกปรากฏการณ์หนึ่งคือ เมื่อสอบ O-NET เสร็จ หรือเด็กๆ ไปสอบติดมหาวิทยาลัยที่ไหน จะมีการประกาศคะแนนสาธารณะ ติดรูปนักเรียนดีเด่นที่ประตูรั้ว หรือประกาศหน้าเสาธง
กดดันมาก ที่ Dek-D เคยมีดราม่าด้วยนะครับ มีน้องมาตั้งกระทู้ว่า ในวันอำลาพี่ ม.6 โรงเรียนหนึ่ง เขาจะให้พี่ ม.6 ถือป้ายว่าเขาติดมหาวิทยาลัยไหน เด็กๆ จะปรบมือตอนพี่ๆ เดินผ่านและเห็นป้ายว่าเขาติดที่ไหน น้องเขาก็เขียนว่า แล้วคนที่ไม่ติดจะทำอย่างไร เหมือนถูกทำร้ายจิตใจ
เวลาที่เราไปแนะแนวก็จะได้ยินคำพูดของครูว่า “ติดแพทย์ให้ครูสักสองคนได้ไหม” มันก็เป็นค่านิยมเนอะ เด็กเขาก็จะพ้อว่า พอหนูไม่ได้อยากเรียนแพทย์ ก็กลายเป็นว่าไม่ได้เป็นที่สนใจของอาจารย์
“เครียดแล้วไง ไปกินหมูกระทะสิ” Dek-D สอนน้อง
มีคนพูดกันว่า ถ้าไม่อยากเครียดเรื่องการเรียน สอบ อย่าเข้าเว็บ Dek-D.com
นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เครียดมาก เอาจริงๆ นะ ทำงานไม่ประสบความสำเร็จยังไม่เครียดเท่าน้องไม่พอใจเว็บ เวลาอ่านทวิตเตอร์ เจอน้องๆ พูดถึงเว็บเด็กดีในทางที่ไม่ดี บางทีนอนไม่หลับเลย
เช่นในงานแนะแนวต่างๆ รุ่นพี่มักจะบอกรุ่นน้องว่า เวลาสอบเสร็จอย่าไปเข้าเว็บเด็กดี จะมีแต่เครียดขึ้น เพราะว่าเว็บเด็กดีจะมีคนไปแชร์คำตอบกัน พอแชร์เสร็จแล้วไม่ตรงกับเราก็จะเครียด หรือในทวิตเตอร์หลังช่วงสอบก็จะเริ่มละ “ไม่น่าเข้าเว็บเด็กดีเลย”
สองปีมาแล้วที่เราเลือกไม่เอาเรตติ้งเว็บ แลกกับการลดความเครียดของน้องๆ เพราะแต่ก่อนเรื่องการแชร์คำตอบถือว่าเป็นไฮไลท์ของเว็บ Dek-D เลย ทุกครั้งหลังสอบเราจะมีบอร์ดให้น้องเข้ามาแชร์คำตอบกัน น้องก็จะมาแชร์เยอะมาก ส่งผลให้เว็บมีคนเข้าใช้มากที่สุด โดยปกติแล้วทุกวันจะมีหน่วยงานเข้ามาจัดเรตติ้งเว็บ เหมือนละคร เว็บก็มีเหมือนกัน วันไหนที่มีการสอบ น้องๆ เข้ามาแชร์คำตอบกัน ถ้าเราปล่อยให้เต็มที่เลยนะ เว็บ Dek-D อาจขึ้นที่หนึ่งที่สองที่มีคนเข้ามาใช้เยอะสุดได้ ยอดวิวได้ โฆษณาได้
แต่สองปีมานี้เราไม่มีแชร์คำตอบ ถามว่าคึกคักเท่าแต่ก่อนไหม คงไม่ แต่คุ้ม ทีมงานไม่ต้องเครียด น้องไม่ต้องเครียด เวลาที่ทีมงานเห็นคอมเมนต์ว่า “อย่าไปเข้าเว็บเด็กดีเลย” เราจะน้อยใจนะ รู้สึกว่าเราทำผิดอะไร ทั้งๆ ที่คนมาแชร์คำตอบไม่ใช่เรา แต่เราเข้าใจเขาเนอะ ตอนเราเป็นเด็กเราก็อยากรู้ แต่พอรู้แล้วมันก็เพิ่มความเครียด ก็พยายามเลี่ยงคำ เปลี่ยนจากคำว่า ‘แชร์คำตอบ’ เป็น ‘คุยกันหลังสอบ’ มากกว่า เราพยายามทำให้เว็บเหมือนเป็นรุ่นพี่ที่บอกอะไรดีๆ กับน้อง
หรืออย่างโปรมแกรมคำนวณคะแนนของเว็บ Dek-D มียอดเข้าใช้เยอะมาก ซึ่งก็ยังเป็นสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะปรับแก้อย่างไร ฟังก์ชั่นของโปรแกรมจะบอกว่าน้องมีโอกาสติดที่ไหนบ้าง ซึ่งพอน้องคำนวณแล้วไม่ติดคณะที่ตัวเองอยากเข้าก็จะนอยด์
หลังๆ เริ่มสังเกตแล้วว่าการเลือกคณะของน้องๆ สอดคล้องกับกระแสใน Dek-D เช่น โปรแกรมคำนวณคะแนนคณะไหนที่ถูกคำนวณเยอะ เดี๋ยวไปเจอกันใน top five คณะที่คนเลือกเข้า มันเป็นแบบนั้นจริงๆ วิธีแก้เบื้องต้นก็คือ เราพยายามปรับคำ เช่น แต่ก่อนจะใช้คำว่า ‘ติดชัวร์’ ถ้าใครไม่น่ามีโอกาสติดเลยก็จะใช้คำว่า ‘ไม่น่ารอด’ แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนใหม่เป็น ‘ติด 10 เปอร์เซ็นต์’ อะไรแบบนี้
เรียกว่ายอมลดเรตติ้ง เพื่อไม่ให้เป็นตัวการในการสร้างมวลความเครียดของเด็กๆ ให้มากขึ้น
หลังเปลี่ยนแปลง เราก็มาคุยกันว่ามันก็ดีนะ หนึ่ง -น้องไม่เครียด สอง -กลายเป็นสีสันของบอร์ด สาม -น้องไม่ต่อต้าน ถ้าใครเข้าเว็บรุ่นแรกๆ จะรู้เลยว่าสมัยก่อนนี่คือ สอบเสร็จปุ๊บวิเคราะห์คะแนนเลย แต่เดี๋ยวนี้คือพัก เพราะเรารู้สึกว่าเราป้อนความเครียดให้เขามากเกินไป
เว็บ Dek-D.com เคยมี Line official ไว้ค่อยส่งข่าว ครั้งหนึ่งเราอยากรู้ว่าน้องๆ อยากอ่านอะไรในเว็บเลยส่งข้อความไปถาม สิ่งที่เราได้รับตอบกลับมาคือ พี่เอานาฬิกานับถอยหลังวันสอบที่หน้าเว็บออกได้ไหม มันเครียดมาก
หรือมีคนบอกว่า อยากให้เด็กดีมีคำที่ให้กำลังใจสักวันละหนึ่งคำ ส่งเข้ามาในไลน์ เรายังคุยกันในกอง บก. เลยว่า “พวกเรามาผิดทางอะ”
เราไปสัมภาษณ์คนนู้นคนนี้ วิเคราะห์แนวโน้มคะแนน อยากได้คอนเทนต์ที่ลึกมากๆ แต่น้องไม่ได้ต้องการอะไรเลย น้องต้องการแค่กำลังใจ ซึ่งนี่อาจจะเป็นผลจากความเครียดของพวกเขา
หลังจากปรับ mood&tone ตัดเรื่องเรตติ้งออกไป ทำให้เราแบบ เออนะ น้องเครียดมากๆ สอบเสร็จเราไม่ต้องไปทำอะไรหรอก แค่รีแล็กซ์เขา ไล่ให้ไปกินหมูกระทะ แนะนำซีรีส์หลังสอบเสร็จ นั่นคือสิ่งที่น้องต้องการ ส่วนวิเคราะห์คะแนน ดูว่าคะแนนปีนี้จะขึ้นหรือลง อันนั้นก็ทำอยู่ แต่ว่าแยกไปอีกเซ็คชั่นหนึ่ง ไม่ได้อยู่ในบอร์ดรวมแล้ว
ทั้งหมดนี้เราก็ยอมแลกกับเรตติ้งที่เสียไป ช่วงหลังๆ น้องจะชอบเข้าเว็บ Dek-D เพื่อมาแชร์รีวิวกัน จนทุกวันนี้ Dek-D กลายเป็นพื้นที่คุยกันหลังสอบ ไม่ได้คุยกันเรื่องคะแนน ไม่ได้คุยกันเรื่องคำตอบ แต่คุยกันแบบ… ตามหาผู้หญิงที่ไปสอบ ว่าเขาเป็นใครเหรอ หรือ เนี่ย… อาจารย์ไม่ให้เราเอานาฬิกาเข้าห้องสอบ เราก็เลยเอานาฬิกาแขวนบ้านไปเลย
ตลอด 10 ปีที่ทำงานมา การแข่งขัน การสอบ ความเครียดจากการเรียนมากขึ้นหรือน้อยลง คิดว่าสถานการณ์ความเครียดของเด็กไทยจะมีทิศทางต่อไปอย่างไร
ถ้ามองในด้านการแข่งขันหรือความกระหายคะแนน ผมว่าพอๆ กัน เด็กยังจริงจัง หรือไฟต์เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย คณะยอดนิยม top 5 ก็ยังเหมือนเดิม คือ แพทย์ ทันตะ เภสัช นิเทศศาสตร์ อักษร เรียงมา 5 อัน ที่เรียกว่า 5 จตุรเทพ แต่ 5 คณะของแต่ละภาคก็จะไม่เหมือนกันนะ เช่น ภาคอีสานจะไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นครู
ถ้านับตั้งแต่ ป.1 – ม.6 เราเรียน 12 ปีเต็ม ซึ่งมันนานมากเลยนะ แต่ก็ไม่สามารถทำให้เด็กไทยรู้ตัวเองว่าเราชอบอะไร เหมาะกับอะไร ควรไปต่อคณะไหน และยังเป็นการศึกษาแบบแข่งขัน
ที่ชัดเลยคือตอนเข้ามหาวิทยาลัย เด็กเก่งจะได้เลือก ขณะที่เด็กอีกกลุ่มคือ คะแนนออกแล้วค่อยมาจิ้มว่า คะแนนเท่านี้มีสิทธิ์ติดอะไรบ้าง แต่พอเข้าไปแล้วอาจจะไม่ใช่เราก็ได้
ใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัด และก็เป็นการตัดสินใจเฉพาะหน้า?
เป็นระบบเอาผู้อยู่รอด ต้องติด ต้องติดเท่านั้นโดยไม่สนใจว่าจะติดอะไร เพราะวัดกันที่คะแนน ถึงที่ไหนก็เรียนที่นั่น พอรู้ว่าติดก็ดีใจ 3 วัน แต่เข้าไปเรียนแล้วไม่ใช่ก็ถอยออกมา
อีกเรื่องคือ ติดคณะอะไรก็ได้ ขอให้เป็นมหาวิทยาลัยนี้ ต่อให้เป็นคณะที่ไม่อยากเรียน ก็รู้สึกว่าประสบความสำเร็จมากกว่าเรียนมหาวิทยาลัยเอกชนแต่เป็นคณะที่ใช่ เช่น เคยไปคุยกับอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยหนึ่ง ซึ่งมีอัตราการซิ่วเยอะมาก ซึ่งเราเคยคิดว่ามันเรียนยาก แต่อาจารย์เขาบอกว่า จริงๆ เด็กไม่ได้อยากเข้า แต่มันเป็นคณะที่คะแนนต่ำที่สุดในมหาวิทยาลัยนี้
คิดว่าเพราะอะไร?
อาจจะเป็นค่านิยมนะครับ และที่เห็นอีกเรื่องคือ หลังวันประกาศผล สถานะในเฟซบุ๊คของแต่ละคนจะเปลี่ยนเพื่อบอกว่าเราเป็นนักศึกษา หรือ นิสิต คณะและมหาวิทยาลัยไหน แล้วก็ดึงกันเข้ากรุ๊ป มันสร้างแรงกดดันพอสมควรเลยนะ
น่าสนใจมาก เพราะขณะที่มหาวิทยาลัยเอกชนกำลังพัฒนาศักยภาพและภาพลักษณ์ให้เทียบเท่ามหาวิทยาลัยรัฐ แถมมีทุนจำนวนมากให้นักศึกษา เด็กรุ่นใหม่ก็มีแนวโน้มเชื่อในเรื่องเสรีภาพมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังคงผูกอนาคตไว้กับการเรียนมหาวิทยาลัยรัฐอยู่
มีบางคนเอาอันดับคณะที่จะเลือกมาให้ดู ซึ่งตามหลักการคือ ถ้าอยากเรียนนิติศาสตร์ เราก็ไล่ไป นิติฯ มธ. นิติฯ ม.มหาสารคาม นิติฯ จุฬาฯ อะไรแบบนี้ใช่มั้ยครับ แต่น้องคนนี้คือ ใน 4 อันดับเลือกคณะไม่เหมือนกัน แต่มหาวิทยาลัยเดียวกัน เราถามเขาว่า จริงๆ อยากเรียนอะไรกันแน่ เขาก็บอกว่า จริงๆ เลยคืออยากเรียนมหาวิทยาลัยนี้ คณะอะไรก็ได้
สรุปแล้วการสอบ ไม่ได้ตอบโจทย์ศักยภาพของนักเรียนทั้งหมด?
ซับซ้อนเนอะ (ยิ้ม)
นอกจากปรากฏการณ์ด็กซิ่ว การเลือกมหาวิทยาลัยจากค่านิยมและใช้คะแนนเป็นตัววัด มีปรากฏการณ์อย่างอื่นไหมที่มอนิเตอร์จากเว็บแล้วเห็น
ไม่รู้ว่าเกี่ยวกันมั้ย แต่น่าจะเป็นความเครียดใหญ่ เด็ก ม.6 มักจะพูดคล้ายกันว่าน้ำหนักขึ้น พอเครียดก็กินเยอะ รู้สึกตัวอีกทีตอนแต่งชุดไปสอบไม่ได้แล้ว เรื่องความสัมพันธ์พ่อแม่ลูกก็มีหลายประเด็นนะ ลูกอยากเรียนคณะนี้ พ่อแม่ไม่อยากให้เรียน เด็กกับผู้ใหญ่ห่างกัน ไม่ค่อยคุยกัน
ความเครียดจากการสอบทำให้บ้านแตกสาแหรกขาดได้?
มีกระทู้ติดอันดับในเว็บเลยว่า ติดแพทย์แต่พ่อไม่ดีใจ เพราะไม่ใช่สถาบันที่พ่อเขาจบมา คอมเมนต์ในกระทู้ส่วนใหญ่ก็จะแบบ หูย… คุณพ่อ แค่ติดแพทย์ก็สุดยอดแล้ว
หลังบ้าน Dek-D วัยรุ่นไทย-เครียดเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความเป๊ะ
วัยรุ่นอายุ 15 ปีเมื่อสิบปีก่อน กับวัยรุ่น 15 ปีในวันนี้ ถ้ามอนิเตอร์จากเว็บ เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
ความเครียดไม่เปลี่ยน ความไฟต์เพื่อเข้ามหาวิทยาลัยไม่เปลี่ยน แต่บุคลิกเปลี่ยน สังเกตว่าโพสต์หลังๆ น้องๆ จะถามอย่างโต้งๆ หรือไม่ก็เป็นบทความเชิงคอนเทนต์เลย เรื่องที่โพสต์ทำการบ้านมาเป็นอย่างดี เช่น มีคนหนึ่งถ่ายรูปข้อสอบมา เขาก็จะสงสัยกันว่าถ่ายมาได้อย่างไร วงกลมในรูปเลยว่าเขาโพสต์ตอนนี้ สนามนี้ อักษรย่อโรงเรียนนี้ ชื่อกระทู้ก็แบบ ‘คิดได้ยังไง?’ และรุ่นหลังๆ ทุกคนจะมีแฟนคลับเป็นของตัวเอง
คือดูแล้วว่า มีความเป็น professional?
อาจจะใช่นะครับ และเขายังมีความคิดแล้วคิดอีก กลัวโดนฟ้อง มีโพสต์หนึ่ง น่าสนใจมาก คือแต่ก่อนแชร์กันว่า ข้อนี้ตอบอะไรๆ แต่ล่าสุดคือ จากข้อสอบ 50 ข้อ เขาจำโจทย์ออกมาเลย 40 ข้อ แต่คนในโพสต์ช่วยกันไล่ชอยส์ ไล่ข้อสอบกัน
เป็นการรวบรวมข้อสอบแบบ open data มากๆ และก็ไม่ใช่การถ่ายรูปออกมาด้วย แต่จำออกมา?!
ใช่ครับ จำออกมา จนกระทู้เหล่านี้ ทีมงานก็จะเก็บไว้เพื่อให้น้องรุ่นต่อไป เพราะว่ามันคือข้อสอบจริงๆ ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.)ไม่ได้เปิดเผย
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น พูดได้ไหมว่าคือ จากแต่ก่อนที่เราต้องเป็นคนช่วยเขา แต่มาตอนหลังคือ เขาดูแลตัวเอง และดูแลคนอื่นในบอร์ดเด็กดีด้วย
ใช่ เหมือนว่าแต่ก่อนเราเป็นคนจัดระเบียบ ถ้าหัวกระทู้มาแบบนี้ เวลาเราเอาไปแชร์ต้องเปลี่ยนหัวกระทู้ใหม่ คอนเทนต์มันยังดูไม่เข้ารูปเข้ารอยนะ ต้องช่วยตบให้เข้าท่า แต่หลังๆ พวกเขาดูมืออาชีพกว่าพวกผมอีก เนื้อหาปึ้กมาเลย ถ้าเป็นกระทู้แนวจำ ก็จำมาเลย ถ้าเป็นกระทู้แนวสืบสวนสอบสวน วิธีการก็เป๊ะตามลำดับแต่ก็มีข้อดีข้อเสียนะครับ แรกๆ บอร์ด Dek-D จะอบอุ่น เพราะทุกคนกล้าแสดงตัว แต่หลังๆ non login เยอะมาก คิดเห็นบอกกันไปมา แต่ไม่เปิดเผยตัวตน
เด็กอายุ 15 เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กับเด็กอายุ 15 วันนี้เหมือนกันไหม แตกต่างอย่างไร
15 ปีก่อนไม่ใช่แบบนี้ แต่ก่อนสอบติดคณะนี้แต่พ่อแม่ไม่ให้เรียนนี่คือหนักสุด แต่ก่อนไม่ค่อยมีดราม่า แต่เดี๋ยวนี้คึกคัก เวลาประชุมกันก็จะสนุก รู้สึกว่าวัยรุ่นเดี๋ยวนี้มีปัญหาเยอะเนอะ และก็ดูมีเหตุผลแตกต่างกันไป ล่าสุดคือ แอบชอบครูฝึกสอน จะจบแล้ว ทำอย่างไรดี ครูฝึกสอนก็เหมือนจะมีใจด้วยนะ เป็นลูกคนโตแต่ทำไมพ่อแม่ไม่ค่อยรัก หรือ เรื่องของเพศสภาพ เรื่องเพศก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งมีความเคลื่อนไหวเยอะ หรืออาจเพราะมันไม่ได้อยู่ในหลักสูตรหรือเปล่า
พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคะ
ส่วนใหญ่ที่มาโพสต์คือเจอกับตัวเองแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะยังไงต่อ เช่น เด็กมัธยมด้วยกัน มีอะไรกันในห้องน้ำ ใช้วิธีหลั่งนอก แล้วน้องก็มาถามว่า ถ้ามันโดนตัวเราจะท้องมั้ย?
ซึ่งเวลาที่ประชุมกันก็จะมีการยกเคสของกระทู้ขึ้นมาศึกษาเพื่อทีมงานจะได้เข้าใจเด็ก บางเรื่องฟังก็ตลก แต่มันเกิดจากความที่น้องเขาไม่รู้ ส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่ความอยากรู้อยากเห็น แต่มันเกิดขึ้นแล้ว มีความกังวลว่ามันยังไงต่อ เรื่องการเรียนดูซอฟต์ไปเลยครับถ้าเจอบอร์ดเพศ
คำถามสุดท้าย ในฐานะที่ต้องทำงานกับระบบการศึกษา โดยเฉพาะระบบจัดสอบมานาน คุณคิดอย่างไรกับการสอบ การสอบแบบปรนัยยังจำเป็นอยู่ในยุคที่คำตอบไม่ได้มีเพียงหนึ่ง ถ้าไม่ใช่การสอบ ควรเป็นวิธีอะไรดี
การสอบเราจะเหมือนเป็นการท่องจำเพื่อไปสอบให้ได้คะแนนเยอะๆ แล้วพอสอบเสร็จองค์ความรู้นั้นก็หายไป เฉพาะการคัดเลือกเด็กเข้ามหาวิทยาลัยก็พูดกันว่า วิธีการคัดไม่ได้เด็กที่ต้องการจริงๆ เหมือนเราต้องการนักวิ่ง แต่คัดด้วยการว่าย เพราะคิดว่าคนว่ายน้ำต้องปอดใหญ่ แข็งแรง ก็จะเป็นนักวิ่งได้ คือมันไม่สามารถเทียบกันได้ใช่มั้ย
แต่คิดว่าการสอบยังจำเป็นอยู่ครับ แต่ต้องเป็นการทดสอบเพื่อการแข่งขันอย่างเหมาะสมและยุติธรรมจริงๆ ยกตัวอย่างเช่น PAT2 วิชาเดียว แต่วัดเพื่อเข้าหลายคณะ ซึ่งหากมองไปลึกๆ ก็อาจไม่เหมาะ เพราะ PAT2 ประกอบไปด้วย ฟิสิกส์ เคมี ชีวะ หลายปีผ่านมา น้องหลายคนติดเภสัชเข้าไปแล้วเรียนไม่ไหว พอถามไปถามมาก็รู้ว่า วิชาเคมีซึ่งต้องใช้เป็นหลักของการเรียนเภสัช ตอนสอบเข้าเขาได้คะแนนพาร์ทเคมีน้อยมาก แต่ที่ติดเข้าไปเพราะได้ฟิสิกส์เยอะ ก็เท่ากับว่า การวัดแบบนี้ได้คนผิดสเปคเลย