เด็กคือผ้าหลากสี เกิดมาต่างกัน และไม่มีความจำเป็นต้องเหมือนกัน เมื่อทัศนคติว่าเด็กเป็นผ้าขาวเปลี่ยน วิธีการเลี้ยงก็จะเปลี่ยน พอวิธีการเปลี่ยน ก็ส่งผลถึงเด็กทันที ศิลปะในการเลี้ยงลูก หรือ goodness of fit คือการไม่เปรียบเทียบลูก แต่ให้คำชมและท้าทายไปด้วย เช่นบอกว่า ‘ลูกแม่จะเก่งมากเลยถ้าปูเตียงได้ดีกว่านี้’ พอเด็กบ้ายอเด็กก็ลุกขึ้นมาทำต่อเวลาเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เราจะยื่นความช่วยเหลือเข้าไปได้ไม่สุด มือไม่แตะกับมือ แต่จะมีระยะห่างที่จะให้เขาใช้แรงกระตุ้นของเขาเพื่อยื่นมาแตะมือเราให้ได้ หลักการมันเป็นแบบนั้น
เรื่อง อารยา คงแป้น ภาพ อนุชิต นิ่มตลุง
“คุณคิดว่าเด็กคือผ้าสีอะไร”
คือหนึ่งในคำถามที่ นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว โยนกลับมาที่เรา และด้วยความเข้าใจพื้นฐานมายาวนาน – เด็กคือผ้าสีขาว เราตอบ คำตอบของเราไม่ผิด แต่ถือเป็นคำตอบแบบท่องจำที่ถูกฝังใส่หัวมานาน เพราะแท้จริงแล้วเด็กคือผ้าหลากสี เกิดมาต่างกัน และไม่มีความจำเป็นต้องเหมือนกัน
เมื่อเริ่มต้นต่างกัน วิธีการเลี้ยงเด็ก การพัฒนาและส่งเสริมก็ควรต้องต่างกันไปด้วย แต่ในเมื่อสังคมไทยยังมีกรอบความคิดเรื่องผ้าขาว เรื่องการผลักเด็กเข้าสู่สายอาชีพที่อาจมั่นคงต่อชีวิตแต่ไม่รื่นรมย์ต่อหัวใจ ความทุกข์ทรมานของเด็กซึ่งเป็นผลมาจากการถูกบีบบังคับจึงไม่มีทางจบสิ้น
Growth Mindset คือประเด็นตั้งต้นในการเดินทางมาสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว หนึ่งในแนวคิดการพัฒนามนุษย์ และอาจเป็นทางออกของปัญหาข้างต้น เพียงแต่ต้องเริ่มเปลี่ยน เริ่มปลูก ตั้งแต่วันนี้
อย่างง่ายที่สุด Growth Mindset คืออะไร
Growth Mindset เป็นคำใหม่ ที่ถือว่าเป็นโปรดักท์หนึ่งซึ่งถูกพัฒนามาด้วยนักวิจัย ซึ่งจริงๆ ถ้ากลับไปดูเนื้อหาของนิทานเรื่องพระมหาชนก จะเห็นว่าความเพียรคือเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งแนวคิดแบบนี้มันไม่ได้เพิ่งมี มันมีมาช้านานแล้ว
ยกตัวอย่างของการคิดแบบ Growth Mindset ถ้าเดินขึ้นมาที่ตึกสถาบันแห่งชาติเพื่อพัฒนาเด็กและครอบครัว ก็จะเห็นคำว่า เด็กทุกคนไม่ได้เป็นผ้าขาวอย่าเข้าใจผิด
ซึ่งการบอกว่าเด็กเป็นผ้าขาว มันคือ Fixed Mindset คือค่านิยมที่ถูกปฏิบัติแล้วส่งทอดกันมารุ่นต่อรุ่น จนทำให้รู้สึกว่ามันเป็นสรณะ เป็นค่านิยม
แต่ค่านิยมอีกปีกหนึ่งคือค่านิยมที่ทันยุคทันสมัยพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงได้ มีวิธีคิด มีวิธีการจัดการตัวเอง แต่การจะทำให้คนคนหนึ่งเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่เคยมีอุปนิสัยอย่างหนึ่งซึ่งถูกส่งต่อมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ออกไปในมิติอื่นได้ มันต้องอาศัยการพัฒนา
เรื่องนี้เกิดขึ้นเองไม่ได้แน่นอน แล้วถามว่าใครคือคนที่จะพัฒนาเด็กให้มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ก็หนีไม่พ้นพ่อแม่ โรงเรียน หรือแม้แต่คนในชุมชนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน เพราะปราชญ์ชาวบ้านเองก็มีการสร้างภูมิปัญญา องค์ความรู้เพื่อใช้ในท้องถิ่น
เอาแค่คำว่า New Mindset คือทัศนคติและค่านิยมใหม่ การจะทำให้มีทัศนคติหรือค่านิยมได้ มันต้องใช้เวลา ส่วนหนึ่งมันอาจจะถูกถ่ายทอดกันมารุ่นสู่รุ่น จนเกิดเป็นวัฒนธรรม แล้วเราก็ยึดปฏิบัติ ซึ่งการยึดปฏิบัติแบบนั้นเท่ากับว่าเป็น Fixed Mindset การไม่ยึดรูปแบบนั้น พร้อมที่จะต่อสู้ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงคุณลักษณะบางอย่าง เพื่อจะจัดการปัญหาของตนเองได้ จัดการกับการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ นั่นก็เรียกว่าเป็น Growth Mindset
ชุดความคิดเรื่องเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาว เราก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ใช่ไหม
ใช่ครับ สิ่งที่หมอกำลังจะพูดคือ การที่หมอลุกขึ้นมาส่งสัญญาณว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาวโปรดอย่าเข้าใจผิด เพราะต้องการเปิดโลกทัศน์ ทลายกรอบแบบยึดติด ซึ่งมันยึดติดมากจริงๆ เพราะถามกี่วงเสวนาเขาก็จะตอบว่าเด็กเป็นผ้าขาว จนมาช่วงหลังๆ เขาเริ่มรับรู้กันแล้วว่า เด็กไม่ใช่ผ้าขาว เพราะหมอเองก็มีโอกาสได้พูดกับสื่อมวลชนบ่อยขึ้น โอกาสที่เขาจะได้ยินมันก็มีมากขึ้น
แต่รู้ไหมว่าทำไมหมอถึงยกเรื่องนี้ขึ้นมาว่าเราต้องปรับ mindset เพื่อทลายกรอบ ว่าเด็กทุกคนเกิดมาไม่ใช่ผ้าขาว ที่หมอทำแบบนี้เพราะหมอกำลังส่งสัญญาณสองสัญญาณ
สัญญาณที่หนึ่ง เพื่อบอกว่าเด็กทุกคนเกิดมาไม่เหมือนกัน และไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน สัญญาณนี้กำลังจะเปิดโลกทัศน์ใหม่ให้พ่อแม่ ว่าโลกยุคสมัยใหม่มันมีความชอบ ความถนัด และความสามารถของเด็ก ที่ตั้งแต่เกิดมาก็มีรสนิยมไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเด็กเขามีความถนัดที่หลากหลาย ถ้าพ่อแม่มี Growth Mindset เขาจะเลี้ยงลูกแบบเลิกเปรียบเทียบ เพราะเขารู้ว่าแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนหนึ่งพร้อมจะเป็นศิลปิน อีกคนหนึ่งอาจจะพร้อมเป็นนักคณิตศาสตร์ เมื่อไม่เปรียบเทียบ เด็กก็จะไม่บาดเจ็บ ไม่เกิดบาดแผลในใจ นี่แค่ทัศนคติเปลี่ยน จะเห็นว่าวิธีการเลี้ยงเปลี่ยน พอวิธีการเปลี่ยน ก็ส่งผลถึงเด็กทันที
สัญญาณที่สอง ที่หมอส่งออกมาคือ เมื่อทุกคนต่างกัน มันเลยทำให้มีการแบ่งโทนสี ซึ่งเป็นโทนสีที่ไม่เหมือนกัน เด็กทุกคนที่เกิดมาเป็นผ้าสีพื้นที่ไม่เหมือนกัน บางคนเป็นสีเหลือง บางคนเป็นสีฟ้า กระบวนการเลี้ยงของพ่อแม่ตลอดเส้นทางนั้นมันจะไปใส่ลวดลายบนผืนผ้านั้น
ที่จะบอกก็คือ พ่อแม่บางคนอาจมีลูกที่เป็นสีโทนเย็น เช่น น้ำเงิน เขียว ฟ้า กลุ่มพวกนี้ถือเป็นกลุ่มเลี้ยงง่าย สั่งให้ซ้ายก็ซ้าย ขวาก็ขวา ให้เรียนก็เรียน เป็นผ้าพับไว้ตามทำนิยามของผู้ใหญ่ แต่เราก็ต้องเข้าใจว่าเมื่อมีเลี้ยงง่ายก็ต้องมีเลี้ยงยาก เป็นสีโทนร้อน แดง ส้ม เหลือง ทำทุกอย่างตรงข้ามกับที่พ่อแม่บอก เติบโตมาก็เป็นวัยรุ่นที่พร้อมจะแหกกฎ แต่เป็นมนุษย์บ้าพลัง เด็กเลี้ยงยากจะมีพลังเยอะมาก
หมอเปรียบเทียบแบบนี้ว่า ไทยแลนด์ 4.0 ไม่มีทางสำเร็จได้ด้วยเด็กเลี้ยงง่าย เพราะเขาคิดตามกฎ ทำตามกฎ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก พวกนี้จะสร้างสรรค์พร้อมเผชิญความเสี่ยง
อย่างเช่น สตีฟ จ็อบส์,แจ็ค หม่า, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, โธมัส อัลวา เอดิสัน, เบนจามิน แฟรงคลิน, มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก คนไหนเป็นเด็กเลี้ยงง่ายบ้าง ไม่มีเลย เพราะฉะนั้นถ้าเปลี่ยนจาก Fixed Mindset เป็น Growth Mindset วิธีการเลี้ยงลูกจะเปลี่ยนไปเลย แล้วจะทำให้เด็กเกิด Growth Mindset ตั้งแต่เกิด ซึ่งรากฐานของการเกิด Growth Mindset ศิลปะในการเลี้ยงลูกของแต่ละคนมันไม่เหมือนกัน
เด็กที่เกิดมาเป็นสีต่างโทนกัน มันจะทำให้เขาเป็นคนโทนนั้นไปเลยหรือเปล่า
มันมีคำนี้ครับ คือ เกิดมาผ้าทั้งผืนมันเป็นสีนั้นจริง แต่ต่อมามันคือศิลปะในการเลี้ยงลูก ในทางการแพทย์เรียกว่า goodness of fit คือศิลปะในการเลี้ยงลูก ซึ่งสามารถพัฒนาเด็กคนหนึ่งที่อาจจะเคยเป็นเด็กเลี้ยงยาก แต่พอเขามีพื้นที่ จากที่เขาเคยบ้าพลังแล้วใช้พลังไปในทางที่แย่ ก็ถูกเปลี่ยนไปในทางที่ดี
กระบวนการ goodness of fit คือการไม่เปรียบเทียบลูก คือการให้การสนับสนุนเด็กบางคนที่ไม่เคยคิดจะปูเตียงเลย แต่วันนี้ลุกขึ้นมาปูเตียง พ่อแม่ก็ใส่คำชื่นชมเข้าไป แล้วท้าทายเขาต่อ เพื่อให้เขากลายเป็นคนที่มีศักยภาพสูงขึ้น เพราะฉะนั้นมันต้องมีประเด็นท้าทาย ไม่ใช่ได้แค่ไหนก็เอาแค่นั้น เพราะฉะนั้นผู้ปกครองต้องชมและท้าทายไปด้วย เช่นบอกว่า ลูกแม่จะเก่งมากเลยถ้าปูเตียงได้ดีกว่านี้ พอเด็กบ้ายอเด็กก็ลุกขึ้นมาทำต่อ นี่คือการสร้างแรงบันดาลใจ
ทั้งหมดนี้มันคือกระบวนการเลี้ยงเด็ก ซึ่งมันตรงกับงานวิชาการเรื่อง Growth Mindset
ควรจะปลูกฝัง Growth Mindset ให้กับเด็กตั้งแต่อายุเท่าไหร่
จริงๆ หมอไม่อยากให้พ่อแม่ที่มีเงินพาลูกไปลงคอร์สเรียนเพื่อสร้าง Growth Mindset หมอไม่อยากเห็นภาพแบบนั้นเลยเพราะการเลี้ยงลูกมันต้องใช้ใจ จิตวิญญาณ ความรักความเข้าใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันไม่มีอายุ มันเกิดตั้งแต่ในครรภ์มารดา การที่แม่ส่งสัญญาณบวกไปให้ลูกมันเป็นการกระตุ้นทางสภาวะแวดล้อม ทารกในครรภ์มารดาที่ได้รับกระแสบวกอยู่ตลอดเวลาจะได้รับความอบอุ่น และเกิดการไว้วางใจ เมื่อคลอดออกมาเติบโตด็ถูกเลี้ยงดูแบบไว้วางใจ เมื่อโตขึ้นไปเขาก็จะมีคุณลักษณะอย่างหนึ่ง คือมองโลกในแง่ดี การมองโลกในแง่ดีมันดีตรงที่เขาพร้อมที่จะรับฟังคนอื่น นี่ไง Open Mindset มาแล้ว
จะเห็นได้ว่าทุกอย่างมันถูกจัดขบวนเป็นชีวิตของชีวิต เราไม่ได้มองใครเป็นส่วนๆ การพัฒนาเด็กคนหนึ่งต้องพัฒนาทั้งหัวจิตหัวใจทั้งหมด ทุกอย่างมันถึงจะกลมกลืนกัน เพราะฉะนั้นการใช้ใจในการเลี้ยงลูก แล้วใช้กระบวนการในการเลี้ยงลูก มันจะสร้าง Growth Mindset ได้ทันที
ถ้าจะตอบให้ชัดมากขึ้นคือ การใส่อุปนิสัยเข้าไปในตัวเด็ก เช่น ทำให้เด็กเป็นคนที่มีความซื่อสัตย์ มีความเพียรพยายาม ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหาอุปสรรค
ผู้ปกครองก็ต้องใส่โจทย์ที่ท้าทายให้เขา จากธรรมดาให้ซับซ้อน นี่คือกระบวนการที่พ่อแม่ต้องใส่เข้าไปเพื่อให้ลูกพยายามเอาชนะ
ถ้าเลี้ยงลูกแบบสมัยก่อน แบบง่ายๆ ก็จะเห็นว่าบางเรื่องพ่อแม่ไม่ได้ไปตามใจ ลูกหกล้มก็ต้องลุกเอง จะได้เรียนรู้เอง ซึ่งตรงนี้ก็เป็นการพัฒนา Growth Mindset เพราะเขาจะเห็นทันทีเลยว่าโลกใบนี้มันไม่ได้มีแต่สิ่งสวยงามอย่างเดียว ไม่ใช่ว่าเรียกร้องตอนไหนพ่อแม่ก็หามาให้ทันที ถ้าพ่อแม่ตามใจแบบนั้น Growth Mindset จะไม่เกิดเลย ซึ่งกระบวนการพวกนี้สำคัญหมด
ถ้าอย่างนั้น Growth Mindset ก็ต้องเริ่มจากพ่อแม่ด้วยใช่ไหม
ใช่ครับ เพราะ change agent เป็นเรื่องสำคัญ ที่หมอตั้งต้นว่า เมล็ดพันธุ์หรือตัวลูก ถ้าเขาคลอดออกมาครบ 32 เราก็เข้าใจแล้วว่าทุกคนไม่เหมือนกัน รสนิยมต่างกัน พื้นฐานอารมณ์ไม่เหมือนกัน ซึ่่งการจะทำให้เด็กมีคุณลักษณะอย่างหนึ่งแล้วประสบความสำเร็จ มันต้องใส่กระบวนการเลี้ยงดูเข้าไป
คนที่มีอิทธิพลที่จะทำให้กระบวนการเลี้ยงดูนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตของเด็กก็หนีไม่พ้นบ้าน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นสำคัญ หนีไม่พ้นโรงเรียน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นที่สอง และโดยทางอ้อมยังมีอีกสองฐานที่มั่นคือ ชุมชน ถ้าเด็กอยู่ในชุมชนที่ทุกคนปากกัดตีนถีบ พร้อมจะสู้ ตรงนี้มันเป็นจิตวิทยาชุมชน
ส่วนอีกฐานที่มั่นที่อาจจะเกี่ยวโยงอยู่นิดๆ คือกลุ่มเพื่อน กลุ่มเพื่อนที่มีอิทธิพลคือกลุ่มเพื่อนในวัยเด็กโต แล้วเขาช่วยกันสร้าง Growth Mindset ด้วย จะเห็นว่าเด็กที่เข้าค่ายพัฒนาชุมชนเขาก็พากันไปทั้งกลุ่มเลย เพราะฉะนั้นคำถามนี้ก็ต้องตอบว่า แน่นอนครับ ผู้ใหญ่ที่อยู่ข้างๆ เด็กก็ต้องพัฒนา Growth Mindset ด้วยเหมือนกัน
คำว่า Growth Mindset ในที่นี้ก็คือกระบวนการเลี้ยงลูกโดยที่รู้จักว่าเขาเป็นอย่างไร เราต้องรู้ว่าลูกแต่ละคนเขาไม่เหมือนกัน มีความถนัดต่างกัน จะทำอย่างไรให้ศักยภาพบนความถนัดที่หลากหลายนั้นปรากฏออกมา
การจะทำให้ปรากฏออกมาก็ต้องมีพื้นที่แห่งโอกาส แล้วใครเป็นคนสร้างโอกาส ก็หนีไม่พ้นฐานที่มั่นที่บอกไปก่อนหน้านี้ เมื่อมีอุปสรรคขวากหนาม คนเหล่านี้ก็จะคอยเป็นแรงสนับสนุนให้เด็ก คนเหล่านี้ต้องรู้จักให้กำลังใจเพื่อให้เด็กเอาชนะขวากหนามได้ เพราะบางครั้งความล้มเหลวมันสร้างภูมิต้านทานที่มีผลต่อ mindset
ในแนวคิด Growth Mindset คำต้องห้ามที่ไม่ควรพูดกับลูกคือคำว่า “ลูกเก่งแล้ว” เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น
ขอตอบในแง่ของหลักจิตวิทยาแบบไม่เกี่ยวกับ Growth Mindset นะครับ คือเราต้องการให้ลูกเราเก่งใช่ไหม แต่มีเก่ง ก็ต้องมีเก่งมาก และเก่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นสิ่งที่หมอจะสะท้อนคือ ในการให้คำชื่นชม เราจะให้คำชื่นชมในระดับหนึ่งเมื่อตอนที่เขาทำไม่ได้ เมื่อเขาลุกขึ้นมาทำจนได้ เราก็ให้ความชื่นชม แต่ถ้าระดับของการพัฒนามันยังอยู่เท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้น เราก็หยุดการชื่นชมแล้วไปกระตุ้นแทน
ยกตัวอย่างเช่น ลูกไม่กินผักเลย แต่พ่อแม่ก็อยากให้ลูกกิน ถ้าวันหนึ่งจากที่เด็กไม่เคยเหล่ตามองผัก วันหนึ่งเขาเกิดมองขึ้นมา แม่ซึ่งเป็นคนช่างสังเกตก็จะสามารถกระตุ้นได้ทันที เช่น บอกว่า “อยากกินผักแล้วใช่ไหม รู้ว่าอยากกิน ถ้ากินได้นี่เก่งมากเลย” พอเด็กบ้ายอเขาก็อาจจะหยิบผักใส่ปาก อาจจะกินนิดหน่อย แล้วก็เลิกกิน
ถ้าครั้งถัดไปเขายังกินผักนิดเดียว หมอถามหน่อย ว่าแม่ควรจะชมว่าเก่งมากอยู่หรือเปล่า ก็ไม่ใช่ เพราะเป้าหมายมันต้องมากกว่านั้น พ่อแม่ก็อาจจะใช้วิธีไปกระตุ้นแทนที่จะชม แม่ก็อาจจะไปกระตุ้นว่าถ้ากินได้มื้อละหนึ่งกำปั้น ลูกแม่จะเก่งมากเลย คือท้าทายเขาขึ้นไปเรื่อยๆ
กระบวนการในการพัฒนาเด็กเราไม่ได้หยุด และพอใจอยู่ที่พฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่ง แต่เราต้องการขุดศักยภาพของเขาขึ้นมาให้เต็มศักยภาพ
การที่จะทำให้เขาปีนขึ้นมาถึงบันไดที่ทำให้เขารู้สึกว่ามันถึงเป้าหมายแล้ว ก็อาจจะจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการชื่นชม แต่การชื่นชนจะไม่ได้ชื่นชมแบบเลี่ยน คืออย่าชมจนเด็กรู้สึกว่ามันไร้คุณค่า จงชื่นชมบนฐานที่เกิดขึ้นจริง กระตุ้นเขาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แล้วไปชมเขาตอนที่เขาปีนขึ้นไปบนบันไดที่เราให้เขาปีน เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่าชื่นชมกันตลอดเวลา มันจะไม่เห็นค่าของคำชื่นชม ถ้าวันนี้เขาทำได้เราก็ชื่นชม วันต่อไปเขาไม่ทำ เราก็ไปกระตุ้นเขา จุดของคำชื่นชมมันอยู่ตรงจุดเปลี่ยน เปลี่ยนแล้วเขาทำได้
ถ้าพ่อแม่บอกเด็กว่า ถ้าลูกไม่กินผักจะไม่ให้เล่น ไม่ให้ทำกิจกรรม แบบนั้นเป็นวิธีที่ถูกต้องไหม
นั่นไม่ใช่การเลี้ยงลูกอย่างสร้างสรรค์ สมัยก่อนหรือแม้แต่ในปัจจุบันคนก็ยังใช้วิธีแบบนี้เพราะเขาก็ถูกเลี้ยงดูมาในลักษณะนี้เหมือนกัน เช่น ไม่กินผักแล้วจะกลายเป็นมะเร็งลำไส้นะ จะท้องผูกนะ คือเด็กเขาไม่รู้เรื่องหรอก ประเด็นแบบนี้เราให้ข้อมูลเขาได้ไหม ให้ได้นะ แต่ต้องให้เหมาะสมกับวัย เช่น เด็กประถมวัยอะไรที่นามธรรมเขาก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก แต่ถ้าเป็นวัยรุ่นเอาอาจจะให้ข้อมูลเขาแบบได้สั้นๆ ง่ายๆ
ส่วนประเภทดุ ด่า ว่ากล่าว ใส่คำประชดประชันเหน็บแนม เสียดสีทั้งหลาย กรุณาอย่าใช้ เพราะมันไม่ค่อยเกิดประโยชน์อะไร ถ้าไปเจอกลุ่มเลี้ยงยากเขาอาจจะทำตรงข้ามกับที่เราประชดเลยด้วยซ้ำไป ซึ่งพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าการเลี้ยงเด็กเลี้ยงยาก มันยากอยู่แล้ว สั่งอย่างหนึ่งจะทำอีกอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือ
วิธีการคิดแบบนี้ เช่น การสร้างอุปนิสัยให้เด็ก สร้างให้เขาเก่งในทางของเขา มันคือการกระตุ้นพรแสวงหรือเปล่า
จะเรียกว่าพรสวรรค์หรือพรแสวงอะไรก็แล้วแต่ มันต้องกลับมาจุดตั้งต้น คือแต่ละคนเกิดมาสีไม่เหมือนกัน ยีน โครโมโซม ถูกสร้างมาตั้งแต่เกิด ทำให้มีน้ำเสียงดีมากหรือมีฝีมือในการวาดรูปมาตั้งแต่ต้น แบบนี้ถ้าจะเรียกมันก็อาจจะเป็นพรสวรรค์
ถ้าเปรียบเทียบกับสายไฟ เส้นลวดทองแดงกี่เส้นต่อกี่เส้นมันก็เหมือนกัน เพียงแต่อาจจะหนาบางต่างกัน ตรงนี้เขาเรียกว่าแท่งของดีเอ็นเอและโครโมโซม พวกนี้จะไม่เปลี่ยนแต่สายปลอกหุ้มสามารถเล่นลวดลายกับมันได้
ปลอกหุ้มพวกนี้มันติดตัวมาก็จริง แต่มันสามารถเปลี่ยนได้ มันอาจจะถูกปิดกั้นจากพื้นที่แห่งโอกาสและกระบวนการเลี้ยงดู ยกตัวอย่างระบบการศึกษาที่ one size fits all (วิธีการเดียวใช้ได้กับทุกสิ่ง) คือไม่ได้ส่งเสริมจุดเด่น แถมยังย่ำจุดด้อยด้วย มันทำให้เด็กคนนี้ไปไม่ถึง Growth Mindset เพราะไปไม่รอด ยกตัวอย่างเด็กคนหนึ่งที่คลินิกวัยรุ่นของหมอ พูดประโยคหนึ่งที่ทำให้หมอจี๊ดใจมาก เด็กเขาบอกว่า “อย่าย่ำจุดอ่อนของผม จนทำให้แกนชีวิตผมเสีย”
เขากำลังส่งสัญญาณอยู่ว่า ถ้าเขามีพรสวรรค์อยู่แล้ว พรแสวงก็คือพื้นที่แห่งโอกาส แล้วเราก็สร้างแรงกระตุ้นให้เขาเก่งขึ้นเรื่อยๆ อย่าอยู่แค่บันไดขั้นเดิม คือเรากระตุ้นเขาตรงจุดเปลี่ยน แล้วชมเขาตรงจุดนั้น พอชื่นชมแล้วกรุณาหยุด เพื่อรอชื่นชมตรงจุดเปลี่ยนถัดไปเรื่อยๆ หลักการตรงนี้เขาเรียกว่า scab folding technic หมายถึงการตั้งนั่งร้าน
เวลาเราสร้างตึก เราจะตั้งนั่งร้านขึ้นมาแล้วค่อยๆ สร้างจากฐาน จากง่ายไปสู่ยาก จนในที่สุดขึ้นรูปร่างได้ทั้งหมด
เวลาเราเลี้ยงเด็กคนหนึ่ง เราจะยื่นความช่วยเหลือเข้าไปได้ไม่สุด มือไม่แตะกับมือ แต่มันจะมีระยะห่างที่เราจะให้เขาใช้แรงกระตุ้นของเขาเพื่อที่จะยื่นมาแตะมือเราให้ได้ หลักการมันเป็นแบบนั้น
เพราะฉะนั้นจะเรียกว่าเป็นพรแสวงก็ได้ คือมีพื้นฐานแล้ว แต่พ่อแม่ให้โอกาสด้วย เราจะทำให้เขาสามารถพัฒนาจากง่ายไปสู่ยาก จากธรรมดาไปสู่ซับซ้อนได้ไหม ถ้าไม่สร้างพื้นที่แห่งโอกาสนี้เลย และถ้าไม่ใส่ปัญหาอุปสรรคเข้าไปในชีวิตเขาเลย พรแสวงก็อาจจะหายไปได้
ถ้าเด็กคนหนึ่งเกิดมาพร้อมความสามารถทางด้านศิลปะ แต่ทางบ้านเขาให้เรียนทางสายวิทย์นั่นคือการปิดกั้นพื้นที่ทางโอกาสไปเลยหรือเปล่า
ใช่ครับ ถ้าเป็นนั้น ข้อแรกคือคนเลี้ยง Fixed Mindset พอยึดติดอยู่แค่ว่าการเรียนมันมีแบบเดียวแค่นี้ก็ fixed แล้ว แต่ถ้าคนเลี้ยงเขามี Growth Mindset เหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิด เขาก็จะคิดว่าลูกเขาไม่จำเป็นต้องเดินตามทางทางเดียวนี่นา ก็ย้อนกลับมาดูลูกว่าเขามีความถนัดด้านไหนจะได้หนุนช่วยเขา แล้วก็ไม่เลี้ยงลูกตามใจให้ลูกล้มบ้างจะได้เก่งขึ้น เพราะเมื่อออกไปเผชิญกับโลกข้างนอกเขาก็ต้องเจอกับปัญหา มันต้องมีล้ม ล้มแล้วต้องลุก
ตัวอย่างที่ญี่ปุ่นเขาสอนเด็กแบบนี้ คือเขาให้เด็กเดินกระโดดปีนข้ามที่กั้น เด็กก็ข้ามครั้งที่ 1 ครั้ง 2 ครั้งที่ 3 ข้ามไม่ได้ เด็กร้องไห้ ครูเขาก็ให้เด็กข้ามอีกรอบหนึ่ง ก็ไม่สำเร็จอีก เพื่อนๆ ของเด็กก็เลยมาล้อมวงกันเพื่อส่งกำลังใจให้เด็ก เด็กก็เกิดพลังฮึกเหิมเขาก็ข้ามได้ ข้ามทั้งน้ำตาเลย แต่เป็นน้ำตาที่พร้อมจะสู้กับปัญหาและอุปสรรค พอเขาข้ามได้แล้วเขาโค้งคำนับ ตรงนั้นเขายืนอยู่บนหัวใจที่ใหญ่มาก คนดูเขาก็นั่งดูกันเงียบๆ พ่อแม่ก็นั่งเงียบๆ ไม่มีการโห่อะไร คือเหมือนส่งพลังใจไปที่เด็ก ครูก็ไม่ได้ว่ากล่าวอะไร ส่วนเพื่อนก็ไม่ได้เยาะเย้ย ทุกคนให้กำลังใจ
มันทำให้เห็นว่า บ้าน ชุมชน โรงเรียน เพื่อน เขาถูกเตรียมความพร้อมมาแล้ว
เด็กญี่ปุ่นเขาเดินไปเองเพราะจะได้ฝึกความอดทนในการแบกเป้ เป้มีหลายใบเพื่อไว้แยกของว่าอะไรควรอยู่ตรงไหน นี่ก็เป็นการฝึกการแยกแยะ เรียกว่าอารมณ์ในการแยกแยะ เหล่านี้ล้วนเป็นพื้นที่แห่งโอกาสทั้งนั้นเลย แล้วมันสร้างการเรียนรู้บนฐานของความยากลำบาก
หมอขอใช้คำนี้แล้วกันนะ ว่ากระบวนการของการพัฒนา Growth Mindset คือการสร้างพื้นที่แห่งโอกาสบนความยากลำบากขั้นพื้นฐานที่เหมาะสมกับวัย แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใส่แรงผลักเข้าไป เพื่อให้เขาปีนข้ามปัญหาอุปสรรคของเขาเอง
Growth Mindset ต้องใช้ความเพียร ถ้าเด็กเป็นคนขี้เกียจ พ่อแม่จะทำอย่างไร
หมอขอตอบโดยยกตัวอย่างเคสที่เคยเจอแล้วกัน เด็กคนหนึ่งเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลายแล้วเกรดเขาตก พอปิดเทอมแม่ก็พามาปรึกษาที่คลินิกวัยรุ่น แม่ถามว่าจะให้ลูกเขาติววิชาอะไรดี เพราะตกทั้งวิทยาศาสตร์ ทั้งคณิตศาสตร์เลย หมอก็เลยคุยกับเด็กโดยไม่ได้เอาวาระซ่อนเร้นของพ่อแม่มาเกี่ยว หมอถามเด็กว่าเขาชอบอะไร เขาก็บอกว่าเขาเคยพับถุงกระดาษพวกถุงกล้วยแขก หมอเลยถามเขาไปว่าจะทำอย่างไรให้สิ่งที่เราชอบมันเพิ่มมูลค่าได้ ขายแล้วได้กำไร โดยที่ประหยัดเงินด้วย
เด็กเขาก็บอกว่า เขาจะทำแป้งเปียกเองจะได้ไม่ต้องซื้อกาว หมอก็ค่อยๆ ใส่คำถามเข้าไปเรื่อยๆ จนเขารู้ว่าเขาต้องทำการตลาด เขาก็ไปลงพื้นที่ว่าที่ไหนบ้างต้องการถุงกระดาษจากเขา ปิดเทอมนี้เขาจะไม่ทำอย่างอื่น เขาจะพับถุงขาย
แม่เขาก็เข้ามาโวยวายใส่หมอใหญ่เลยว่า เขามาปรึกษาว่าลูกเขาควรเรียนเพิ่มวิชาอะไรแต่หมอกลับให้ไปขายถุงกล้วยแขก แล้วเด็กเขาก็พับถุงทั้งวัน เดินขาย แล้วเริ่มขายได้เป็นกอบเป็นกำ เขาก็เริ่มมีชีวิตชีวา
แล้วถามว่าการพับถุงกระดาษมันเกี่ยวอะไร คำตอบคือมันสามารถดึงใจเขากลับมาได้ จากที่ชีวิตไม่ได้วางแผนอะไรเลย ไม่รู้จะเรียนไปทำไม ไม่มีเป้าหมาย แต่พอวันหนึ่งเจอจุดแข็งแล้วเขาสามารถไปต่อได้ ไม่ใช่ว่าอ่อนวิทย์-คณิตก็ให้ลูกเรียนเพิ่ม แบบนั้นเขาจะเกลียดวิชาพวกนั้นไปเลย
หมอคิดว่ามนุษย์สามารถทำลายทุกขีดจำกัดของตัวเองได้ไหม หรือกลับไปชอบสิ่งตัวเองเกลียด เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ได้หรือเปล่า
มันขึ้นอยู่กับวิธีการ คำถามคือเรียนคณิตฯ ไปทำไม ถ้าหาคำตอบไม่ได้ มันสร้างแรงบันดาลใจไม่ได้ การศึกษาบ้านเรามันแย่ และผู้ใหญ่ Fixed Mindset การศึกษาบ้านเราคิดได้ทางเดียว คือท่องไป ทำแบบฝึกหัดไป เป็นแบบฝึกหัดที่ทำแล้วชาตินี้จะได้ใช้หรือเปล่าไม่รู้ เด็กก็ไม่รู้จะเรียนไปทำไมเพราะมันไม่เห็นเป้าหมาย
คนเรามันไม่เกลียดและรักอะไรถ้ามันไม่เกิดอะไรขึ้น คงไม่เกลียดคณิตฯ หรอก ถ้ารู้เป้าหมายว่าจะเอาไปใช้อะไร แต่ทุกวันนี้ระบบการศึกษาของประเทศไทยมันทำให้เด็กกลายเป็นหุ่นยนต์ อัดเข้าไป ยัดเข้าไป จะได้ใช้ไหมไม่รู้ พออัดเยอะๆ เข้าเด็กก็เบื่อ จะทลายกรอบพวกนี้ได้มันต้องเห็นเป้า เป็นเป้าหมายที่ได้ใช้ประโยชน์
ยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ วิธีการแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อนในสหรัฐอเมริกา เขาเอาเด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบ เอาไปบำบัดยาเสพติด เสร็จแล้วไปค้นหาจุดแข็งของเขา ปรากฏว่าเด็กคนหนึ่งเป็นนักละเลงกำแพงแบบเลอะเทอะ ครูก็ท้าทายเด็กว่าอยากเป็นกราฟิตีที่ได้เงินหรืออยากจะกราฟิตีที่ติดคุก เด็กก็เลือกได้เงินสิ เขาก็เอาศิลปินมาสอนเด็กอย่างมีศิลปะ เด็กก็เก่งขึ้นเรื่อยๆ ครูก็ท้าทายต่อว่า อยากขายผลงานพวกนี้ไหม เขาก็อยากขาย มีเป้าหมายชีวิต แต่เขาไม่เคยเรียนคณิตศาสตร์ คิดเงินไม่เป็น งั้นกลับมาเรียนพื้นฐานก่อน ก็เกิดการเรียนคณิตศาสตร์ โดยที่เด็กมีเป้าหมายว่าเขาเรียนเพื่อที่จะคิดเงินตอนขายผลงาน เขาเรียนโดยที่ไม่ต้องมีใครมาบังคับเลย
ตรงนี้จะตอบคำถามได้เลยว่า จะก้าวข้ามกำแพงได้ก็ต่อเมื่อรู้ว่าจะเอาไปใช้ประโยชน์อะไร ทุกวันนี้ในระบบการศึกษาเรามันหาเป้าไม่เจอจริงๆ
การคิดแบบ Fixed Mindset มาตั้งแต่ต้นมันทำให้เกิดการเรียนไม่ตรงสายใช่ไหม เช่นพ่อแม่อยากให้เป็นวิศวกรเพื่อจะได้มีอาชีพมั่นคง ทั้งที่เด็กเองอาจจะยังไม่รู้เลยว่าวิศวกรทำงานเกี่ยวกับอะไร
ใช่ครับ แล้วหมออยากจะปรับกระบวนทัศน์ของพ่อแม่ใหม่ คือมันจะเหมือนแกน X แกน Y บอกลูกให้เรียนสูงๆ เข้าไว้จะได้มีอาชีพที่มั่นคงและมั่งคั่งซึ่งมันก็ไม่ผิดนะ แต่หมออยากเสริม mindset ให้พ่อแม่ใหม่ คือพ่อแม่ต้องคิดไว้เสมอว่า ลูกเราเมื่อจบการศึกษาแล้ว เขาต้องอยู่ในสังคมได้ ไม่ใช่นั่งวงไหนแตกวงนั้นแบบนั้นไม่ได้ ไม่ใช่เป็นคนเก่งมีสัมมาชีพ แต่เข้ากับใครไม่ได้เลย จบด็อกเตอร์แต่คุยไม่รู้เรื่อง หรือจบสารพัดปริญญา แต่ไม่คิดจะเป็นผู้ให้ แบบนี้เสียเลยนะ คือไม่มี new mindset เลยว่าต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นเพราะฉะนั้นต้องพัฒนา
คนอายุ 30 ขึ้นไปยังสามารถเติบโตได้อีกไหม
ถ้าในแง่สรีระก็ไม่ได้แล้ว สมองไม่ได้เติบโตเพราะเซลล์ไม่เพิ่มขึ้นแล้ว แต่วุฒิภาวะยังเพิ่มขึ้นได้ พัฒนาการของมนุษย์มันอธิบายได้ด้วยสามคำ หนึ่ง-เมล็ดพันธุ์ดี สอง-เลี้ยงดูมาดี สาม-วุฒิภาวะดี ถ้าเป็นวัยรุ่นเขาอาจจะเมล็ดพันธุ็ดี เลี้ยงดูมาดี แต่วุฒิภาวะไม่ดี พอโตขึ้นแล้วคิดได้ มีวุฒิภาวะที่ดีขึ้น เขาจะไม่กลับไปทำแบบเดิม เพราะเขามีความรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ส่วนวัยผู้ใหญ่สิ่งที่ยังพัฒนาได้คือวุฒิภาวะ เพราะมันเกิดจากการสั่งสม ตรงนี้พัฒนาได้
หมายความว่าในทุกช่วงวัย mindset ของคนเราก็ยังสามารถพัฒนาได้อยู่?
ได้ครับ ไม่มีอะไรที่สายเกินไปที่เราจะทำในตลอดช่วงชีวิตของเรา ที่นี่เราเป็นสถาบันพัฒนาเด็กและครอบครัว เรามีหลักสูตรในการพัฒนามนุษย์ตั้งแต่เกิดจนตาย ธรรมชาติของมนุษย์จะมีพัฒนาการตลอดช่วงชีวิต ตั้งแต่ปฏิสนธิไปจนถึงเชิงตะกอน Growth Mindset ไม่ได้เกิดแค่ในเด็ก แต่มันเกิดได้ตลอด อย่างที่หมอบอกตอนแรก ถ้าคิดบวกมาตั้งแต่ในครรภ์มารดา การคิดเชิงบวกมันก็ต่อเนื่องกันไปตลอด ในผู้สูงวัยเองก็เช่นกัน แม้แต่ในคนที่กำลังจะเสียชีวิต หรือคนดูแลเขา ทุกคนสามารถพัฒนาได้หมดเลย