Skip to content
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์

Month: July 2025

Elio:  ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน สุดท้ายความรู้สึกมีคุณค่า…เริ่มต้นจากหัวใจตัวเอง
Movie
4 July 2025

Elio:  ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน สุดท้ายความรู้สึกมีคุณค่า…เริ่มต้นจากหัวใจตัวเอง

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Elio เอลิโอ เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันจากพิกซ่าร์ สตูดิโอส์  กำกับโดย แมดเดอลีน ชาราเฟียน (Burrow Sparkshort) โดมี ฉี (Bao, Turning Red และเอเดรียน โมลิน่า (Coco)
  • ‘เอลิโอ’ คือตัวแทนของเด็กชายที่รู้สึกเหงา โดดเดี่ยว แปลกแยก และคิดว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการ เขาจึงมีความหวังลึกๆ ว่าคงมีที่ไหนสักแห่งที่มองเห็นคุณค่าในแบบที่เขาเป็น
  • เอลิโอพยายามส่งสัญญาณถึงเอเลี่ยนเพื่อขอให้พาเขาออกเดินทางไปยังดาวดวงอื่น แต่แล้วเมื่อคำขอเป็นจริง สิ่งที่เขาค้นพบกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]

“ผมจะไม่อยู่เกะกะอาแล้ว ไม่ต้องห่วง…นอกโลกมีดาวเคราะห์ที่อยู่อาศัยได้ตั้งห้าร้อยล้านดวง ต้องมีสักดวงที่ต้องการผม เพราะเห็นอยู่ว่าอาไม่ต้องการผม”

เสียงตัดพ้อของ ‘เอลิโอ’ เด็กชายกำพร้าในภาพยนตร์ Elio ผลงานล่าสุดจากพิกซาร์ ชวนให้ตั้งคำถามถึงความรู้สึกแปลกแยก ความเหงา ความโดดเดี่ยว และความหวังลึกๆ ที่อยากเป็น ‘ที่ต้องการ’ ของใครสักคนที่มองเห็นคุณค่าในแบบที่เขาเป็น

© Disney/Pixar | Elio | Image from disney.co.th

Elio บอกเล่าเรื่องราวของ ‘เอลิโอ’ เด็กชายที่เพิ่งสูญเสียพ่อแม่จากอุบัติเหตุและต้องย้ายมาอยู่กับอาสาวที่เขาไม่รู้จักดีนัก ทั้งยังมองว่าอาไม่ใช่ ‘ครอบครัว’ ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวนำไปสู่ความอ้างว้าง และค่อยๆ ผลักให้เอลิโอกลายเป็น ‘เด็กมีปัญหา’ ในสายตาของอา เขาเริ่มหนีเรียน มีเรื่องชกต่อย รวมถึงทำไฟดับทั้งฐานทัพที่อาทำงานเป็นผู้พันอยู่ 

หากมองให้ลึกกว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ผมเห็นว่านี่คือสัญญาณของการร้องขอความรักและการยอมรับของเด็กชาย จากอา…ผู้ที่ดูเหมือนจะเข้มงวดกับเขาทุกเรื่อง แถมเพิ่งส่งเขาไปโรงเรียนประจำที่ไม่ต่างอะไรกับค่ายทหาร

ท่ามกลางจิตใจที่บอบช้ำและไร้ทางออก เด็กชายเลือกเบี่ยงเบนความรู้สึกเจ็บปวดผ่านการหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการใช้วิทยุเพื่อติดต่อสื่อสารกับเอเลี่ยน และหวังว่าเอเลี่ยนที่ส่งสัญญาณติดต่อมายังฐานทัพของอาจะพาเขาหนีไปจากโลกใบนี้

และแล้ววันหนึ่ง มนุษย์ต่างดาวก็มารับเขาไปจริงๆ ก่อนเกิดเป็นเรื่องราวสุดโกลาหลเมื่อเขาถูกเข้าใจผิดว่าเป็นผู้นำของโลกมนุษย์ แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าในมุมของผมคือ คำถามในใจที่ว่า หากได้ไปอยู่ในดาวดวงอื่นจริงๆ เขาจะมีความสุขขึ้นไหม?

© Disney/Pixar | Elio | Image from disney.co.th

 “คนหนุ่มสาวจำนวนมากต้องการมีเพื่อน พวกเขาต้องการค้นหาคนที่ใช่สำหรับพวกเขา แต่พวกเขาคิดว่าถ้าฉันอยู่ในสถานที่ที่สมบูรณ์แบบที่ทุกคนคิดเหมือนฉัน ทำตัวเหมือนฉัน ฉันก็จะเป็นส่วนหนึ่งของใครได้ นั่นจะเป็นทางออกสำหรับปัญหาทั้งหมดของฉัน แต่จริงๆ แล้ว วิธีแก้ปัญหานั้นมาจากภายใน มันเกี่ยวกับก้าวแรก นั่นคือการเข้าหาใครสักคน…”

ทีมผู้กำกับให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ IndieWire และนั่นทำให้ผมย้อนไปถึงฉากหนึ่งที่เอลิโอต้องทำโคลนนิ่งร่างตัวเอง เพื่อกลับไปแทนที่เขาบนโลก โดยร่างโคลนนิ่งนี้สามารถคัดลอกทั้งรูปร่าง ความคิด และอารมณ์ ดังนั้นฉากที่มันถามเอลิโอว่า “อะไรคือแรงจูงใจของฉัน ฉันควรเปลี่ยนตัวเองไหม หรือเป็นคนที่ไม่เห็นค่าตัวเอง อยู่ไปวันๆ เหมือนเดิม” ทำให้เอลิโอหน้าถอดสีด้วยความตกใจ เพราะนี่คือครั้งแรกที่เขาได้ยินเสียงของตัวเองอย่างซื่อตรง 

ถึงอย่างนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญจริงๆ ได้เกิดขึ้นเมื่อเขาอาสากลุ่มคอมมูนิเวิร์ส (กลุ่มเอเลี่ยนที่รับเขาขึ้นมาจากโลก) ในการเดินทางไปเจรจาเพื่อยุติสงครามกับ ‘ลอร์ดไกรกอน’ ผู้นำฝ่ายนักรบ ที่นั่นเขาได้พบกับ ‘กลอร์ดอน’ ลูกชายของลอร์ดไกรกอน ซึ่งตัวของกลอร์ดอนเองก็รู้สึกเป็น ‘ตัวปัญหา’ ในสายตาพ่อ เพราะพ่อหมายมั่นจะปั้นให้เขาเป็นเจ้าแห่งสงคราม ขณะที่เขาไม่อยากเป็นนักรบ ไม่อยากทำลายล้าง และเกลียดชุดเกราะที่ทุกคนในเผ่าจะต้องใส่เมื่อโตขึ้น

© Disney/Pixar | Elio | Image from disney.co.th

“แต่ไม่มีใครถอดชุดหรอกมันจะเผยจุดอ่อน เผยรูปร่าง มันจะทำให้ตัวนายและวงศ์ตระกูลเสื่อมเสียไปตลอด…ทุกคนจะต้องใส่ มันเป็นประเพณีแล้ว ถ้าฉันไม่ใส่พ่อต้องเกลียดฉันแน่…ฉันเลือกไม่ได้หรอก

…ฉันเป็นแค่ตัวร้าย ความผิดหวัง ตัวขายหน้า ฉันเคยเป็นตัวปริศนา ตัวปัญหา ตัวป่วน ช่วงหลังฉันโดนพ่อเมิน”

ผมเชื่อว่าคำพูดของกลอร์ดอนน่าจะดังแทนความรู้สึกของใครหลายคน โดยเฉพาะเด็กหรือวัยรุ่นที่รู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าและเหนื่อยกับการต้องพยายามทำตัวให้เป็นที่รักของครอบครัว โรงเรียน หรือสังคมที่ให้ค่าคนๆ หนึ่งผ่านค่านิยมบางอย่าง 

นอกจากนี้ ผมมองว่าความรู้สึกไร้ทางเลือกของกลอร์ดอนมีความเชื่อมโยงกับประสบการณ์ของเอลิโออย่างลึกซึ้ง นั่นทำให้ทั้งสองเปิดใจให้กันในฐานะเพื่อน โดยเอลิโอเองก็สลับมาเล่าเรื่องของเขากับอา และได้รับมุมมองใหม่จากกลอร์ดอนว่า อาคือคนที่อยู่เคียงข้างและเสียสละเพื่อเขามาโดยตลอด เพียงแต่เขาไม่เคยเปิดใจยอมรับอามากพอ

แม้จะเดาทางของพิกซาร์ได้ว่าภาพยนตร์ต้องจบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง แต่ในตอนท้าย ปมในใจของเพื่อนซี้ต่างเผ่าพันธุ์ก็ได้รับการเยียวยา 

เริ่มจากกลอร์ดอนที่มีเหตุต้องนอนสลบบนยานของกลุ่มคอมมูนิเวิร์สด้วยอาการหนาวเหน็บปางตายเนื่องจากไม่มีชุดเกราะปรับอุณหภูมิ ปรากฏว่าลอร์ดไกรกอนผู้เป็นพ่อถึงกับยอมออกมาจากชุดเกราะในที่สาธารณะ (ซึ่งถือเป็นการกระทำอันอัปยศของเผ่า) เพื่อออกมาพ่นใยพันตัวลูกชายให้อุ่นขึ้นโดยไม่สนสายตาของคนอื่น 

นั่นทำให้ผมฉุกคิดได้ว่าแท้จริงแล้วมนุษย์เราก็ไม่ต่างอะไรกับลอร์ดไกรกอนที่ถูกปลูกฝังว่าเป็นผู้ใหญ่ต้องมีเกราะหรือสวมหัวโขนที่ดูแกร่งกล้าตามค่านิยมเพื่อให้สังคมยอมรับ แต่สุดท้ายแล้วสิ่งเหล่านั้นเทียบไม่ได้เลยกับความรัก ซึ่งถือเป็นสิ่งที่งดงามที่สุดในสัญชาตญาณมนุษย์

© Disney/Pixar | Elio | Image from disney.co.th

ขณะเดียวกัน ฉากการตัดสินใจของเอลิโอที่ต้องเลือกว่า จะเดินทางท่องจักรวาลในฐานะสมาชิกกลุ่มคอมมูนิเวิร์ส หรือจะกลับไปยังโลก ก็ทำให้ผมซาบซึ้งไม่น้อย เพราะการตัดสินใจของเอลิโอทำให้รู้ว่าเขาเติบโตขึ้นแล้วจากการได้ออกมาใช้ชีวิตด้วยตัวเองนอกโลก

เพราะไม่ว่าเขาจะพยายามหนีไปให้ไกลเพียงใด แต่ที่สุดแล้วปัญหาก็ไม่เคยหายไปไหน นอกจากจะกลับมาแก้ไขที่ใจตัวเอง มองตัวเองและคนอื่นด้วยสายตาใหม่ที่เห็นถึงคุณค่าในความเป็นมนุษย์ 

“ที่นี่น่าทึ่งมากเลยครับ แต่โลกคือบ้านผม ผมไม่ได้ให้โอกาสมัน แต่ว่าตอนนี้ผมอยากลองดู…กับอา เราเป็นครอบครัวเดียวกัน”   

หลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้ ผมนึกถึงท่อนฮุคของเพลง Live&Learn (บอย โกสิยพงษ์) ที่ร้องว่า “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน เติมความคิดสติเราให้ทัน อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด” เช่นเดียวกับความรักที่ไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ แค่มีใครสักคนที่มองเห็นคุณค่าในแบบที่เราเป็น…แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว ที่จะทำให้รู้สึกว่าตัวเราเองก็มีที่ยืนที่มั่นคงบนโลกใบนี้

Tags:

ภาพยนตร์ความเหงาเด็กElio

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • Movie
    Win or Lose: ‘ลูกไม่ต้องเป็นคนเก่งที่สุด แค่ลูกทำมันให้ดีที่สุด’ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่คือชนะใจตัวเองในแต่ละวัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    ลบมายาคติ ‘เด็กดี’ โอบรับความใจดีของ ‘เด็กดื้อ’: That Christmas

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    Instant family: ได้โปรดให้เวลาพวกเราหน่อยนะ 

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Stand By Me: เด็กทุกคนล้วนเคยเจ็บปวดเพราะผู้ใหญ่ ขอแค่ใครสักคนที่เชื่อมั่น ความฝันย่อมไม่ดับสลาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    The Holdovers: ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล ขอแค่ใครสักคนที่มอบไออุ่นและเยียวยาหัวใจกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ: ปาฏิหาริย์ของการรับฟัง ‘โดยไม่ตัดสิน’
3 July 2025

ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ: ปาฏิหาริย์ของการรับฟัง ‘โดยไม่ตัดสิน’

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • ‘ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ’ เป็นผลงานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนนิยายชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่ได้รับแปลเป็นภาษาต่างๆ รวมทั้งภาษาไทย โดย น้ำพุสำนักพิมพ์ แปลโดย กนกวรรณ เกตุชัยมาศ อีกทั้งยังถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ ละครเวที รวมทั้งภาพยนตร์
  • หนังสือเล่าเรื่องราวของชายหนุ่มสามคนที่เข้าไปในบ้านร้างที่เป็นอดีตร้านชำ และพบจดหมายขอคำปรึกษาจากอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน จึงตัดสินใจตอบจดหมายแทนเจ้าของร้านเดิม โดยจดหมายเหล่านั้นเชื่อมโยงโลกปัจจุบันกับอดีต และได้เรียนรู้ความหมายของการฟังอย่างตั้งใจผ่านการตอบจดหมายเหล่านั้น
  • การรับฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ด่วนตัดสิน ยังช่วยให้ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ได้เห็นและเข้าใจปัญหาจากมุมมองของผู้ที่มีปัญหา ไม่ใช่มองจากมุมของตัวเองเพียงอย่างเดียว

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘ปาฏิหาริย์’ เราจะนึกถึงความพิเศษที่ผิดปกติ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  เพราะโดยรากศัพท์แล้ว คำนี้หยิบยืมมาจากคำภาษาบาลีและสันสกฤต แปลว่า สิ่งอัศจรรย์ เหนือวิสัยที่คนธรรมดาสามัญสามารถทำได้

ขณะที่ในภาษาอังกฤษ คำที่ตรงกับคำว่า ปาฏิหาริย์ ก็คือ Miracle ซึ่งมีความหมายว่า เหตุการณ์อันน่ายินดีและน่าประหลาดใจ ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยกฎธรรมชาติ หรือหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ เวลาที่มีการใช้คำว่า ‘ปาฏิหาริย์’ เราก็มักจะนึกถึงสิ่งที่พิเศษ ไม่ธรรมดา ดีเลิศเกินจริง จนบางครั้ง เราก็หลงลืมไปว่า การกระทำที่เป็นเรื่องปกติ ธรรมดาสามัญ ก็สามารถส่งผลให้เกิดสิ่งดีๆ อย่างเหลือเชื่อไม่แพ้ปาฏิหาริย์ได้เช่นกัน

หนังสือเรื่อง ‘ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ’ คือหนึ่งในผลงานการเขียนของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ นักเขียนนิยายชื่อดังชาวญี่ปุ่น ที่สร้างความประทับใจไปทั่วโลก ได้รับแปลเป็นภาษาต่างๆ (รวมทั้งภาษาไทย โดย น้ำพุสำนักพิมพ์ แปลโดย กนกวรรณ เกตุชัยมาศ) อีกทั้งยังถูกดัดแปลงเป็นซีรีส์ ละครเวที รวมทั้งภาพยนตร์ ทั้งเวอร์ชันภาษาญี่ปุ่นและภาษาจีน

สำหรับในบ้านเรา หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มักจะถูกแนะนำเป็นลำดับต้นๆ เมื่อมีการตั้งคำถามถึงหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจ หรือนวนิยายฟีลกู้ดที่อ่านแล้วให้ความอิ่มเอมใจ รวมทั้งปลุกกำลังใจในการต่อสู้กับปัญหาชีวิต

ที่จริงแล้ว เคโงะ เป็นนักเขียนที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์ด้านนิยายสืบสวนสอบสวน ซึ่งเจ้าตัวเองก็ชอบอ่านหนังสือแนวนี้ และยอมรับว่า นิยายแนวสืบสวนสอบสวน คือแรงบันดาลใจที่ทำให้เขาอยากเป็นนักเขียน

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผลงานของเคโงะ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากนิยายสืบสวนสอบสวนทั่วๆ ไป ก็คือ เขามักจะสอดแทรกเรื่องราวดราม่า ปมปัญหาชีวิตของตัวละคร ซึ่งในหนังสือเรื่อง ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ เป็นผลงานที่ไม่ใช่แนวสืบสวนสอบสวน แต่เป็นนิยายดราม่าเต็มตัว เคลือบฉาบด้วยความแฟนตาซีเหนือจริง

ตัวละครหลักของหนังสือเล่มนี้ เป็นชายหนุ่มสามคน ประกอบด้วย โชตะ อัตสึยะ และโคเฮ ทั้งสามคือตัวแทนของคนขี้แพ้ สถานะจัดอยู่ในระดับล่างของสังคม เรียนก็ไม่จบ ทำงานก็ไม่ได้เรื่อง สิ่งเดียวที่ช่วยให้พวกเขาอยู่รอดได้ คือ การก่ออาชญากรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น ขโมยข้าวของตามบ้านคน เพื่อประทังชีวิตไปวันๆ

หลังจากงัดแงะบ้านหลังหนึ่งที่พวกเขาดูลาดเลาไว้ก่อนแล้ว แต่กลับไม่ได้ทรัพย์สินมากมายอย่างที่คิดไว้ ชายหนุ่มทั้งสาม จำเป็นต้องหาที่กบดานชั่วคราว เพื่อรอเวลาให้ถึงตอนเช้า จะได้โดยสารรถไฟหลบหนีพร้อมกับเงินสดที่ขโมยมาได้

ท่ามกลางความเงียบสงัดของค่ำคืน หัวขโมยหนุ่มทั้งสาม พบกับบ้านร้างหลังหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นร้านขายของชำมาก่อน ทั้งสามเข้าไปในบ้านหลังนั้น หมายจะหลับสักงีบเอาแรง เพื่อรอให้ท้องฟ้าเริ่มสาง ทว่า ในตอนนั้นเอง ก็มีเสียงดังมาจากกล่องรับไปรษณีย์ของบ้าน

เมื่อหายตกใจแล้ว อัตสึยะ เดินไปดูที่กล่องรับไปรษณีย์และพบจดหมายฉบับหนึ่ง เขียนชื่อผู้ส่งว่า ‘กระต่ายในดวงจันทร์’ แต่ไม่ได้จ่าหน้าชื่อผู้รับ

เนื้อความในจดหมายฉบับดังกล่าว เป็นการขอคำปรึกษาปัญหาชีวิตของหญิงสาวที่เรียกตัวเองว่า กระต่ายในดวงจันทร์ โดยเล่าว่า เธอเป็นนักกีฬา ผู้มีความฝันอยากเป็นตัวแทนของประเทศ ลงแข่งขันในรายการมหกรรมกีฬาโอลิมปิก แต่ปัญหาของเธอก็คือ ชายหนุ่มคนรักของเธอ ผู้คอยสนับสนุนและให้กำลังใจเธอทุกอย่าง ในการทำตามความฝันเพื่อเป็นตัวแทนประเทศลงแข่งโอลิมปิก ที่กำลังจะจัดขึ้นในปีหน้า เกิดล้มป่วยหนัก ซึ่งหมอบอกว่า เขามีโอกาสจะอยู่ได้เพียงแค่หกเดือนเท่านั้น

กระต่ายในดวงจันทร์ควรทำอย่างไร เธอควรจะทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ เพื่อทำตามความฝัน ซึ่งไม่ใช่แค่ความฝันของเธอคนเดียว แต่ยังเป็นความฝันของชายหนุ่มคนรักด้วย ที่อยากเห็นหญิงสาวได้ลงแข่งโอลิมปิก หรือ ควรจะเลิกล้มความฝันนั้นแล้วใช้เวลาอยู่กับชายหนุ่มคนรักจนถึงนาทีสุดท้ายในชีวิตของเขา

“ทุกวันนี้ฉันใช้ชีวิตโดยไม่รู้จะทำอย่างไรดี… ระหว่างที่กำลังกลุ้มใจอยู่คนเดียว ฉันบังเอิญไปได้ยินข่าวลือเรื่องร้านชำนามิยะของคุณเข้า ก็เลยเกิดความหวังขึ้นมารำไรว่า อาจจะได้รับคำแนะนำดีๆ… ได้โปรดช่วยฉันด้วยนะคะ”

หลังจากนั้น ชายหนุ่มทั้งสามเจอนิตยสารเล่มหนึ่ง ที่ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับร้านชำของคุณนามิยะ โดยในบทความระบุว่า จุดเริ่มต้นของการเป็นร้านชำที่ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิต เริ่มมาจากชื่อ ‘นามิยะ’ ใกล้เคียงกับคำว่า ‘นายะมิ’ ที่แปลว่า ปัญหากลุ้มใจ ทำให้เด็กๆ ในละแวกนั้น เริ่มพูดเล่นกันว่า ร้านของคุณนามิยะ รับปรึกษาปัญหากลุ้มใจทุกชนิด

โดยในช่วงแรกๆ จะมีแต่พวกเด็กๆ ที่มาขอคำปรึกษาจากคุณนามิยะ ซึ่งปัญหากลุ้มใจของพวกเด็กๆ มักจะเป็นปัญหาทีเล่นทีจริง เช่น ถ้าผมไม่ชอบเรียนหนังสือเลย แต่อยากสอบได้ 100 คะแนนเต็ม จะต้องทำอย่างไร ทางด้านคุณนามิยะ แม้จะรู้ว่าเป็นแค่คำถามลองภูมิ แต่ก็ให้คำตอบที่ผ่านการคิดใคร่ครวญมาอย่างดี ทำให้ทุกคนที่ขอคำปรึกษา ต่างพอใจกับคำตอบที่ได้รับ

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นแค่การเล่นสนุกของเด็กๆ ค่อยๆ เติบโตกลายเป็นเรื่องจริงจัง คนที่มีปัญหาชีวิต ไม่ว่าจะเรื่องความรัก การเรียน การทำงาน หรือปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น ต่างเชื่อว่า ถ้าเขียนจดหมายมาขอคำแนะนำจากคุณนามิยะ พวกเขาจะได้รับคำตอบ ที่อาจเป็นทางออกของชีวิตได้ ในรูปของจดหมายที่วางไว้ในกล่องส่งนมที่หลังร้านในวันรุ่งขึ้น

สิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ เรื่องราวของร้านชำนามิยะ เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสี่สิบปีที่แล้ว ในปัจจุบัน ร้านชำแห่งนี้กลายเป็นบ้านร้างไม่มีคนอยู่ ตัวคุณนามิยะ เจ้าของร้านน่าจะเสียชีวิตไปแล้ว ชายหนุ่มทั้งสาม แม้จะเป็นคนร้ายทำผิดกฎหมาย แต่ก็ยังมีจิตใจที่ดี จึงตัดสินใจสวมบทบาทคุณนามิยะ เขียนจดหมายตอบเพื่อคลี่คลายปัญหาให้แก่หญิงสาว ผู้เรียกตัวเองว่า กระต่ายในดวงจันทร์ หรืออย่างน้อย ก็ช่วยให้หญิงสาวรู้สึกดีกว่าไม่ได้รับจดหมายตอบกลับเลย

หลังจากส่งจดหมายโต้ตอบกันหลายฉบับ ชายหนุ่มทั้งสาม (รวมทั้งคนอ่านหนังสือด้วย) ได้พบความจริงอันน่าตกใจว่า จดหมายฉบับนี้ถูกส่งมาจากอดีตเมื่อสี่สิบปีก่อน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ร้านขายของชำของคุณนามิยะ ได้กลายเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างโลกปัจจุบันกับโลกอดีตไปแล้ว

นอกจากนี้ ยังดูเหมือนว่า เวลาในร้านชำของคุณนามิยะ แทบจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ หรือเดินช้าลงมาก ตราบใดที่ชายหนุ่มทั้งสามยังอยู่ในบ้านหลังนี้ เวลาของพวกเขาแทบจะไม่เดินหน้าเลย ซึ่งนั่นหมายความว่า พวกเขาสามารถใช้เวลาเขียนจดหมายโต้ตอบกับผู้ส่งจดหมายได้นานเท่าที่ต้องการ

ข้อได้เปรียบของการอยู่คนละช่วงเวลา ก็คือ หัวขโมยทั้งสามรู้ว่า ประเทศญี่ปุ่นจะตัดสินใจคว่ำบาตรไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ ในปี 1980 นั่นหมายความว่า ต่อให้กระต่ายในดวงจันทร์ ทุ่มเทฝึกซ้อมจนได้เป็นตัวแทนของประเทศ เธอก็ไม่มีโอกาสได้ลงแข่งโอลิมปิกอยู่ดี ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงเขียนจดหมายบอกหญิงสาวด้วยถ้อยคำที่หนักแน่นว่า จงทิ้งความฝันไปโอลิมปิกเสีย และใช้เวลาอยู่กับชายหนุ่มคนรักที่ป่วยหนักดีกว่า

“โอลิมปิกเป็นเพียงแค่งานกีฬาสีขนาดใหญ่เท่านั้น คงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากหากคุณต้องเสียเวลาไปกับเรื่องนั้นทั้งที่เหลือเวลาอยู่ร่วมกับคนรักเพียงน้อยนิด”

ครับ ฟังดูน่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุดจริงๆ แต่หญิงสาวกลับรู้สึกลังเล เพราะทุกครั้งที่ได้คุยกับชายคนรักว่า เธอทุ่มเทกับการฝึกซ้อมมากแค่ไหน ชายหนุ่มก็ยิ่งแสดงความดีใจออกมาอย่างชัดเจน จนตัวเธอเองไม่แน่ใจแล้วว่า ควรจะเลิกฝึกซ้อมตามคำแนะนำของคุณนามิยะดีหรือไม่

ถ้าคุณเคยรับบทเป็นที่ปรึกษาให้กับเพื่อน คงรู้ดีว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะโดยปกติแล้ว การที่คนเราต้องการขอคำปรึกษาจากใครสักคน ก็เพราะความไม่แน่ใจ ลังเล สับสน ในคำตอบที่ตัวเองอาจจะมีอยู่ในใจแล้ว ดังนั้น หลายต่อหลายครั้งที่ได้คำตอบที่เหมือนจะดีที่สุดแล้ว เจ้าของปัญหา กลับยังไม่กล้าตัดสินใจเชื่อตามคำแนะนำนั้น

ชายหนุ่มทั้งสามรู้สึกโกรธที่กระต่ายในดวงจันทร์ ไม่ทำตามคำแนะนำที่ดีที่สุดที่พวกเขามีให้ จึงต่อว่าอย่างรุนแรงผ่านทางจดหมาย พร้อมทิ้งท้ายว่า ถ้าเธออยากทำอะไรก็เชิญ ทำอย่างที่ต้องการและเชิญเสียใจกับผลที่ตามมาให้พอ

จากนั้น จดหมายของกระต่ายในดวงจันทร์ก็หายไปพักใหญ่ๆ ก่อนจะส่งมาอีกฉบับ (ซึ่งถ้าจะยึดตามเวลาของกระต่ายในดวงจันทร์ ก็คือหลายเดือนหลังจากนั้น) โดยหญิงสาวได้เขียนจดหมายมาเพื่อขอบคุณคุณนามิยะ และบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเธอ

กระต่ายในดวงจันทร์ เลือกที่จะไม่เชื่อคำแนะนำของคุณนามิยะ เธอตัดสินใจมุ่งมั่นกับการฝึกซ้อมอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายก็ไม่ผ่านการคัดตัว ขณะที่นักกีฬาคนอื่นที่ได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศ ก็ไม่ได้ลงแข่งโอลิมปิก เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศคว่ำบาตรการแข่งขันที่สหภาพโซเวียตเป็นเจ้าภาพ

แต่สิ่งที่หญิงสาวอยากบอกที่สุด คือ ในช่วงนาทีสุดท้ายก่อนสิ้นใจ ชายคนรักของเธอได้พูดกับเธอว่า “ขอบคุณสำหรับความฝันนะ” ตอนนั้นเอง กระต่ายในดวงจันทร์ จึงรู้ว่า ความฝันที่เธอและเขามีร่วมกันนั้นเอง ที่ทำให้ชายคนรักยังมีกำลังใจต่อสู้กับโรคร้ายจนวันสุดท้ายได้

อัตสึยะ โชตะ และโคเฮ ถึงกับหัวเราะออกมาที่เรื่องราวจบลงด้วยดี ทั้งที่ทุกอย่างผิดไปจากสิ่งที่คิดไว้ คำแนะนำที่ดีที่สุดของพวกเขา โดยเฉพาะประโยคเด็ดที่ว่า “โอลิมปิกก็แค่งานกีฬาสีเท่านั้น” กลับถูกหญิงสาวตีความว่า เป็นคำพูดลองใจเพื่อให้เธอค้นลึกลงไปในใจตัวเองว่า จริงๆ แล้ว เธอให้ค่ากับความฝันนั้นมากน้อยแค่ไหน

จริงๆ แล้ว การทำหน้าที่ผู้ให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตของชายหนุ่มทั้งสาม (รวมถึงตัวคุณนามิยะ ที่มีการเล่าย้อนอดีตถึงด้วย) ยังมีอีกหลายเรื่องราว แต่ผมจะไม่หยิบยกขึ้นมาเล่าให้ฟังอีก เพราะหัวใจสำคัญของทุกเรื่องล้วนตรงกัน นั่นคือ การรับฟังอย่างตั้งใจ

ปาฏิหาริย์ที่ทำให้คุณนามิยะ และชายหนุ่มทั้งสาม กลายเป็นผู้ให้คำปรึกษาที่โดนใจทุกคน ไม่ได้มาจากการใคร่ครวญหาคำตอบเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากการรับฟังอย่างตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ ‘การได้ยิน’ สิ่งที่เจ้าของปัญหาพูด แต่ยังเป็น ‘การให้ความสำคัญ’ หรือ ‘การให้คุณค่า’ กับความรู้สึกของคนที่กำลังมีปัญหาด้วย

ในช่วงแรกๆ ที่โคเฮ โชตะ อัตสึยะ ตอบจดหมายของกระต่ายในดวงจันทร์ พวกเขาอาจคิดแค่เพียงว่า ถ้าหญิงสาวได้จดหมายตอบ ก็น่าจะพอใจแล้ว และทุกอย่างก็น่าจะจบลง แต่กลับกลายเป็นว่า กระต่ายในดวงจันทร์ยังส่งจดหมายกลับมา ทำให้หัวขโมยทั้งสามต้องปรับบทบาทกลายเป็น ‘ผู้รับฟัง’ อย่างตั้งใจมากขึ้น เพื่อให้ได้รู้ว่า หญิงสาวเจ้าของปัญหา ต้องการอะไรกันแน่

การรับฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ด่วนตัดสิน ยังช่วยให้ผู้ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ได้เห็นและเข้าใจปัญหาจากมุมมองของผู้ที่มีปัญหา ไม่ใช่มองจากมุมของตัวเองเพียงอย่างเดียว

และที่สำคัญที่สุด การที่ใครคนหนึ่ง ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะลังเล สับสน ไม่แน่ใจในตัวเอง ได้มีโอกาสบอกเล่าถึงปัญหาของตัวเองอย่างละเอียด ให้แก่ใครสักคนที่รับฟังอย่างตั้งใจ จะช่วยให้เขาได้ทบทวนและมองปัญหาได้ชัดเจนมากที่สุด ซึ่งบ่อยครั้งที่พบว่า หลังจากได้ระบายปัญหาออกไปแล้ว ผู้ที่ขอคำปรึกษา จะมองเห็นคำตอบด้วยตัวเอง หรือจะยิ่งมั่นใจในคำตอบที่เคยคิดไว้อยู่แล้ว

การรับฟัง จึงไม่ใช่แค่การอยู่เงียบๆ ปล่อยให้อีกฝ่ายได้ระบายปัญหาเท่านั้น แต่เป็นการสร้างปาฏิหาริย์แห่งการรับฟัง  ทำให้อีกฝ่ายมั่นใจว่า ที่ตรงนี้คือ พื้นที่ปลอดภัย ที่มีอีกใครอีกคนพร้อมจะอยู่เป็นเพื่อนเขาเสมอในการค้นหาคำตอบของทุกปัญหา

Tags:

หนังสือการรับฟังNamiya Zakkaten no Kisekiปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะThe Miracles of the Namiya General Store

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Book
    เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ ปล่อยวางความคาดหวังแล้วหันมา ‘ใจดีกับตัวเอง’ 

    เรื่อง อัฒภาค

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    ที่ปลายขอบฟ้า มีขุมทรัพย์…และความฝัน

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • How to enjoy lifeBook
    ชีวิตช่วงนี้อ่านอะไรดี? ให้ Fathom Bookspace เลือกหนังสือให้คุณ

    เรื่อง ขนิษฐา ธรรมปัญญาภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.8 ‘ความเบื่อและการเล่นอิสระ’ ส่วนประกอบสำคัญของวัยเยาว์
Early childhoodFamily Psychology
2 July 2025

เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.8 ‘ความเบื่อและการเล่นอิสระ’ ส่วนประกอบสำคัญของวัยเยาว์

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • ‘ความเบื่อ’ คือเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยมของการพัฒนาเด็กในการสร้างสรรค์การเล่น ซึ่งเป็นกระบวนการพัฒนาอย่างแท้จริง ต่างจากการให้เทคโนโลยีแก้เบื่อที่อาจขัดขวางพัฒนาการด้านร่างกายและสมอง
  • หน้าที่ของเด็กๆ คือการเล่น และการเล่นที่ดีคือการเล่นที่ปราศจากการการชี้นำ ให้เขาได้ใช้จินตนาการนำทาง และเล่นอย่างเต็มที่ หน้าที่ของผู้ใหญ่คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยและจัดเตรียมพื้นที่ให้เด็กๆ เล่น
  • การเล่นอิสระที่แท้จริง เกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่หยุดบอกเด็กว่า ‘เขาต้องทำอะไร’ การเล่นอิสระจึงเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่ช่วงเวลาที่เด็กควรได้รับอิสระในการเป็นตัวเอง และสนุกกับการทำสิ่งที่เขาสนใจ

‘ความเบื่อ’ เชื้อเพลิงสำคัญของ ‘การเล่นอิสระ’

ความเบื่อทำให้เด็กสร้างสรรค์การเล่นเพื่อให้ตัวเองหายเบื่อ ความเบื่อคือเชื้อเพลิงชั้นเยี่ยมของการพัฒนาเด็ก

หากเด็กไม่เบื่อ เพราะได้รับการตอบสนองตลอดเวลาจากผู้ใหญ่ที่กลัวเขาเบื่อ เด็กจะขาดโอกาสคิดและพัฒนาตัวเอง และที่น่าเป็นกังวลกว่านั้นคือการที่ผู้ใหญ่ที่ไม่มีเวลา แต่กลัวเด็กเบื่อ หรืออยากให้เด็กนั่งนิ่ง ไม่ทำอะไรที่เป็นอันตรายและอยู่ในลานสายตาตลอดเวลา จึงหยิบยื่นเทคโนโลยีคือ ‘หน้าจอ’ ให้เด็ก ผลเสียที่ตามมานั้นมหาศาล เพราะนอกจากจะขาดโอกาสในการพัฒนาและฝึกฝนสิ่งต่างๆ ตามวัยแล้ว ร่างกายและความคิดยังถูกรบกวนด้วยเทคโนโลยี สมองที่เติบโตไม่เต็มที่ย่อมได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ใหญ่ สมาธิที่หายไป การยับยั้งชั่งใจที่ยังไม่มีมากพอ สายสัมพันธ์ระหว่างคนรอบตัวที่ค่อยๆ จางลง บ่อยครั้งที่ผู้ใหญ่รู้ตัวอีกที เด็กคนนั้นโตมาพร้อมกับปัญหาเสียแล้ว

อย่ากลัวที่จะให้เด็กๆ ได้เจอกับความเบื่อ 

เพื่อให้หัวใจและสมองของเด็กๆ ได้นำทาง 

ให้ร่างกาย แขนขา นิ้วมื้อน้อยๆ ได้ทำงาน 

นำพาพวกเขาออกเดินทางและเติบโต

เด็กจำเป็นต้องเล่นและเล่นตอนนี้

ทำไมเด็กต้องเล่นอิสระ?

สำหรับเด็กแล้ว การเล่นไม่ได้ต้องหมายถึงแค่การเล่นของเล่น การเล่นสนุก การเล่นเกม การวิ่งเล่น แต่ความหมายที่แท้จริงสำหรับของการเล่นของเด็ก คือ ‘สิ่งใดก็ตามที่ฉันทำ เพราะฉันสนใจและอยากทำ’

บางครั้งแค่เด็กได้เล่นกล่องลัง ขวดน้ำ กองใบไม้ในสวน ตะกร้าผ้าของแม่ น้ำในกะละมังซักผ้า หม้อ กระทะ ตะหลิวของจริง แม้จะสิ่งเหล่านี้จะไม่ใช่ของเล่น แต่สำหรับเด็กแล้วถ้าเขาสนใจและสนุกกับมันนั่นคือการเล่นแล้ว

การเล่นอิสระที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่หยุดบอกเด็กว่า ‘เขาต้องทำอะไร’ การเล่นอิสระจึงเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่ช่วงเวลาที่เด็กควรได้รับอิสระในการเป็นตัวเอง และสนุกกับการทำสิ่งที่เขาสนใจ

 

ความสำคัญของการเล่นอิสระ

(1) การเล่นคือการสำรวจโลกของเด็ก นำไปสู่การรับรู้ตัวเอง

เมื่อเด็กรู้ว่า สิ่งต่างๆ เป็นเช่นไร มีความแตกต่างกันอย่างไรทำให้เขาได้รู้จักตัวเองมากขึ้นเท่านั้น

‘เด็กได้เรียนรู้ว่าเขาชอบอะไร’ เช่น 

  • ถ้ามีของเล่นมากมาย เด็กเลือกเล่นในสิ่งที่เขาสนใจ

“ฉันชอบเล่นรถ เพราะมันเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ตุ๊กตากับสีไม้น่าเบื่อเกินไปสำหรับฉัน”

  • ถ้ามีดอกไม้มีหลายสี เด็กเลือกดอกไม้ที่เขาชอบ

“ฉันชอบดอกกุหลาบจังเลย เพราะมันมีสีแดง สีแดงน่าจะเป็นสีที่ฉันชอบนะ”

‘เด็กได้เรียนรู้ว่าเขาไม่ชอบอะไร’ เช่น 

  • พื้นทรายเปียก กับ พื้นทรายแห้งต่างกัน

“ตัวฉันชอบพื้นทรายแบบแห้งมากกว่า เพราะฉันไม่ชอบอะไรที่เฉอะแฉะ”

(2) การเล่นทำให้เขาเรียนรู้ว่า ‘วัตถุมีอยู่จริง (Object permanence)’

แม้ไม่อยู่ในสายตา สิ่งนั้นไม่ได้หายไปจากโลก นำไปสู่การที่คนก็มีอยู่จริง ‘พ่อแม่มีอยู่จริง’ พ่อแม่ส่งเขาที่โรงเรียนแล้วกลับบ้านไป พ่อแม่ไม่ได้หายไปจากโลกใบนี้ การเล่นที่ช่วยให้เด็กๆ รับรู้ว่า ‘วัตถุมีอยู่จริง’ ได้แก่ การเล่นจ๊ะเอ๋ (Peek-a-boo) ในเด็กเล็ก และการเล่นซ่อนแอบ (Hide and seek) ในเด็กที่โตพอจะเล่นตามกติกา

(3) เด็กได้เรียนรู้การแก้ปัญหาแรกในชีวิตจากการเล่น

สำหรับเด็กปัญหาแรกๆ ที่เขาเจอและเขาอยากแก้มัน เช่น

  • เปิดฝาแป้งโดว์ไม่ออก
  • เทน้ำยังไงไม่ให้กระฉอกออกจากแก้ว
  • สร้างภูเขาทรายสูงยังไงดีให้ทำถ้ำทะลุไปอีกข้างของภูเขาได้

ไปจนถึงปีนต้นไม้อย่างไรดีถึงจะไปถึงยอดไม้ได้

หากเด็กไม่เคยเผชิญปัญหาเล็กๆ เขาจะขาดโอกาสในการคิดแก้ปัญหา และเมื่อเขาเผชิญปัญหาที่ใหญ่ขึ้น การแก้ปัญหานั้นจะเป็นไปได้ยากมากสำหรับเขา

(4) เด็กได้พัฒนาการเชื่อมโยง และแผ่ขยายข้อมูล

ในหนังสือนิทานเด็กเห็นใบไม้มีสีเขียว แต่ใบไม้ที่เขาเห็นบนต้นไม้วันนี้ อาจจะมีสีเขียวหลายเฉดสี หลายรูปทรง การที่เด็กได้เรียนรู้เชื่อมโยงว่า แม้สีและรูปทรงจะต่างกัน แต่ทั้งหมดนี้เรียกว่า ‘ใบไม้’ เหมือนกัน

เด็กได้เรียนรู้การจัดหมวดหมู่ แยกแยะความแตกต่างของสิ่งต่างๆ เพื่อทำความเข้าใจความรู้ใหม่ๆ ที่จะเข้ามาในชีวิตของเขาอีกมากมาย

(5) การเล่นทำให้เด็กได้เปลี่ยนถ่าย ‘นามธรรม’ สู่ ‘รูปธรรม’

สิ่งที่เขาคิดไว้ในหัว ได้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านการเล่น เช่น

– บ้านหลังเเรกในชีวิตของเขาอาจจะสร้างโดยบล็อกไม้

– รถคันแรกที่เขาอยากขับ เป็นรถที่ทำจากกล่องลัง

– สร้อยเส้นแรกที่มีในครอบครองอาจจะทำมาจากหลอดร้อยใส่ไหมพรม

และมีอีกหลายๆ เหตุผลที่เราควรปล่อยให้เด็กได้เล่นอิสระ

“Logic will get you from A to B. 

Imagination will take you everywhere.” 

“ตรรกกะจะพาเราเดินทางจากจุด A ไปจุด B ได้ 

แต่จินตนาการจะพาเราเดินทางไปได้ทุกที่” 

– อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ –

หน้าที่ของเด็กๆ คือการเล่น และการเล่นที่ดีคือการเล่นที่ปราศจากการชี้นำ ให้เขาได้ใช้จินตนาการนำทาง และเล่นอย่างเต็มที่ ภายใต้กติกา 3 ข้อ คือ ไม่ทำให้ตัวเองหรือผู้อื่นบาดเจ็บ และข้าวของเสียหาย

หน้าที่ของผู้ใหญ่คือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยและจัดเตรียมพื้นที่ให้เด็กๆ เล่น

1. สถานที่ที่ปลอดภัย พร้อมเล่น พร้อมเลอะให้กับเด็กๆ โดยเราไม่ต้องคอยห้ามหรือจำกัดเด็กๆ เกินไป

2. วัสดุ อุปกรณ์ที่เหมาะกับวัยให้เขาเลือกใช้

การเล่นไม่ควรจำกัดอยู่ที่ของเล่น แต่การเล่นควรหมายรวมถึงการสร้างสิ่งต่างๆ ตามจินตนาการของเด็ก ได้แก่

– ของเล่นที่ไม่สำเร็จรูป (Free form) เช่น บล็อกไม้ ตัวต่อต่างๆ ดินนำมัน

– ของเล่นจากธรรมชาติ ทราย ดิน หิน ใบไม้ กิ่งไม้

– Loose parts หรือ วัสดุต่างๆ เช่น ห่วง ไม้ไอศกรีม ผ้า ฝาขวด ขวดพลาสติก และอื่นๆ

บางครั้งเราพบว่าเด็กบางคนชอบเล่นในกล่องลังมากกว่า บ้านพลาสติกราคาแพงเสียอีก

ที่สำคัญ เด็กวัย 0-6 ปี ผู้ใหญ่ควรดูแลใกล้ชิด และค่อยๆ เขยิบถอยห่างลง ให้เด็กเล่นในสายตาของเราเพื่อความปลอดภัย

เด็กเรียนรู้อิสระที่แท้จริง เมื่อเขารู้ว่าขอบเขตหรือข้อจำกัดคืออะไร

สำหรับผู้ใหญ่ที่กังวลว่า “ปล่อยเด็กเล่นอิสระ โดยปราศจากการควบคุมชี้นำ แล้วถ้าเขาทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม ผู้ใหญ่จะควบคุมเขาได้อย่างไร?”

คำตอบคือ ‘การเล่นอิสระ’ ไม่ได้เท่ากับ ‘การปล่อยปละละเลย’ เพราะก่อนปล่อยเด็กๆ เล่น ผู้ใหญ่มีหน้าที่บอกกติกาหรือขอบเขตให้ชัดเจน…

ข้อ 1 เราจะไม่ทำให้ตัวเองบาดเจ็บ

ข้อ 2 เราจะไม่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ

ข้อ 3 เราจะไม่ให้ข้าวของเสียหาย

หากเล่นแล้วทำผิดกติกา ผู้ใหญ่มีหน้าที่ย้ำเตือนเรื่องกติกาที่เราตกลงกัน โดยอาจจะตกลงกับเขาไว้ว่า “แม่จะเตือนลูก 2 ครั้ง ถ้าเกิดครั้งที่ 3 แม่จะเข้าใจว่า ลูกไม่พร้อมเล่นสิ่งนี้ในวันนี้ เราจะหยุดการเล่นนี้ทันที”

ผู้ใหญ่มีหน้าที่ควบคุมกติกา

นอกจากให้กติกาควบคุมเด็กแล้ว ก่อนจะเล่นกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าเล่นได้ถึงเมื่อไหร่ แล้วเมื่อหมดเวลาให้ตารางเวลาคุมเขา

ผู้ใหญ่ไม่ได้มีหน้าที่ควบคุมสั่งการเด็ก แต่เรามีหน้าที่ควบคุมกติกาให้ชัดเจน และสอนเด็กให้ปฏิบัติตาม

ในกรณีที่เข้าไปย้ำเตือนเรื่องกติกาถึง 2 ครั้งแล้ว เด็กยังไม่ยอมทำตาม ผู้ใหญ่บอกชัดเจนได้เลยว่า “วันนี้หนูไม่พร้อมเล่น เพราะหนูเลือกไม่ทำตามที่เราตกลงกัน เรากลับบ้านกัน (หรือ แม่ขอเก็บของชิ้นนี้ไป)”

การที่เราพูดเช่นนี้ทำให้เด็กเรียนรู้ว่า ‘ตัวเขาเองต่างหากที่ทำให้เขาไม่ได้เล่นต่อ’ เพราะ ‘เขาเลือกไม่ทำตามกติกา’ ไม่ใช่เพราะพ่อแม่สั่งไม่ให้เขาเล่นต่อ เราได้มอบโอกาสให้เด็กรับผิดชอบต่อการกระกระทำของตนเอง แม้เขาจะโกรธและไม่พอใจ แต่เขาได้เรียนรู้ว่า ‘ถ้าครั้งหน้าเขาอยากเล่นต่อ เขาควรจะทำตามกติกา’

สุดท้าย ส่วนประกอบที่สำคัญที่สุดสำหรับการเล่นของเด็กๆ ก็คือ ‘ความกล้าหาญ’ ของพ่อแม่ที่จะปล่อยให้ลูกเล่นอิสระ ภายใต้ขอบเขตของกติกาที่ชัดเจน

นอกจาก ‘การเล่นอิสระ’ การเล่นที่สำคัญที่สุดในช่วงวัยเยาว์ของเด็กทุกคนคือ ‘การเล่นกับพ่อแม่’

‘พ่อแม่’ คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก 

สำหรับลูก ‘หน้าจอ’ แสงสีสุดเร้าใจ หรือ ‘ของเล่น’ มากชิ้นก็ไม่อาจทดแทน ‘พ่อแม่’ ของเขาได้ เพราะพ่อแม่คือ ‘ความรัก’ ของลูก ทุกครั้งที่เล่นกับพ่อแม่ ลูกรับรู้ถึงความรักและความผูกพัน เขาอบอุ่นใจที่ได้รับความสนใจและการมองเห็นจากพ่อแม่

วันนี้…

แม่จะเป็นคนไข้รอให้คุณหมอลูกมาตรวจ

แม่จะเป็นเพื่อนซี้มางานเลี้ยงน้ำชาของลูก

พ่อจะเป็นเครื่องบินพาลูกออกเดินทาง

พ่อจะเป็นภูเขาให้ลูกปีนข้าม

พ่อจะเป็นคู่ต่อสู้บนเวที(เตียง)มวยปล้ำ

พ่อแม่จึงเป็นของเล่นที่ดีที่สุดสำหรับลูก เพราะ ในทุกๆ วัน พ่อแม่สามารถเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ลูกอยากให้เป็น

‘พ่อแม่เป็นทุกอย่างให้ลูกแล้วจริงๆ’

บางครั้งเราแค่ลงไปเล่นในเกมของเขา

  • เล่นไปกับเขา
  • เล่นน้ำ
  • เล่นเลอะเทอะ
  • เล่นและหัวเราะไปด้วยกัน

เราสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งด้วยความทรงจำที่ดีที่สุด

อ้างอิง 

AAP.org. (n.d.). Retrieved April 6, 2021, from https://www.aap.org/en-us/Pages/Default.aspx

Tags:

ความอิสระการเล่นพัฒนาการเด็กAlpha Genaerationความเบื่อ

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.1 ร่างกายที่แข็งแรงคือรากฐานของสมองที่พร้อมเรียนรู้และจิตใจแข็งแกร่ง

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • IMG_0670 2
    Book
    เด็กที่สร้างปัญหาไปวันๆ อาจต้องการแค่ใครสักคนที่เข้าใจ: บรัดเล่ย์ เด็กเกเรหลังห้องเรียน

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Early childhoodFamily Psychology
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.3 ‘เด็กปฐมวัยกับพลังอันล้นเหลือ’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Early childhood
    Play with your heart ‘เล่นอย่างอิสระ’ เรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณภาพ: ครูมอส- อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Space
    เปลี่ยนสนามเด็กเล่นที่ไม่น่าเล่นและไม่ปลอดภัย มาเป็นผู้ช่วยให้เด็กพัฒนาสมวัย

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

‘Creative Drama’ กิจกรรมละครสร้างสรรค์ที่ชวนเด็กรู้จักตัวเองและพัฒนาสู่เวอร์ชั่นที่ดีขึ้น: ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน
Creative learning
2 July 2025

‘Creative Drama’ กิจกรรมละครสร้างสรรค์ที่ชวนเด็กรู้จักตัวเองและพัฒนาสู่เวอร์ชั่นที่ดีขึ้น: ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน

เรื่อง บุญญิสา รัตนมณี ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative Drama เป็นกิจกรรมที่ใช้กระบวนการละครและการตั้งคำถาม เป็นเครื่องมือในการชวนเด็กทำความรู้จักและเข้าใจตัวเอง (Self-Awareness) 
  • ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน ออกแบบการเรียนรู้บนพื้นฐานของความเข้าใจ สนับสนุนให้เด็กกล้าคิด กล้าทำ และกล้าเป็นตัวเอง สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้โดยไม่ตัดสิน
  • ปลายทางของ Creative Drama ไม่ได้หยุดอยู่แค่ ‘การรู้จักตัวเอง’ แต่เป็นประตูที่จะนำไปสู่การฝึกฝนและเก็บเกี่ยวทักษะต่างๆ เช่น การสื่อสาร การคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์

ครูกล้วย: หนูชอบสิ่งที่ตัวเองเป็นไหม

เด็ก: ไม่ชอบเลยที่ตัวเองขี้เกียจ

ครูกล้วย: แล้วความขี้เกียจให้อะไรเราบ้าง 

เด็ก: ได้พักผ่อน

ครูกล้วย: แล้วหนูชอบพักผ่อนไหม

เด็ก: ชอบพักผ่อน

ครูกล้วย: งั้นก็แปลว่าหนูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

ตัวอย่างบทสนทนาสั้นๆ ในกิจกรรม ‘Creative Drama’ ของ ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน นักการสื่อสารการแสดงที่เชื่อว่า ‘ละคร’ เป็นมากกว่าแค่ ‘การแสดง’ แต่สามารถนำมาออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กได้รู้จักและเข้าใจตนเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ 

“สำหรับเด็กๆ การมี Self-Awareness มันจะดีกับตัวเขาเอง ถ้ารู้จักตัวเองมากขึ้น เขาจะรู้ว่า ไม่ใช่เพราะฉันเป็นคนโกรธง่าย ฉันจึงโกรธง่ายไปเรื่อยๆ  แต่จะเรียนรู้ว่าความรู้สึกนี้คืออะไร จริงๆ แล้วเราเป็นคนแบบไหน เขาจะมองเห็นตัวเองมากขึ้นและมีวิธีรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ในแบบของตัวเอง”

ครูกล้วยกล่าวถึงหัวใจสำคัญของการใช้ ‘Creative Drama’ เพื่อปลดปล่อยความรู้สึกในใจ ผ่านการเล่นละครสมมติ ในงาน Wonder Life Playground ครั้งที่ 2 จัดโดย “I” Learning Center

ครูกล้วยเล่าว่าตนเองจบการศึกษาจากคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง สาขาวิชาสื่อสารการแสดง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเรียนจบได้มีโอกาสคลุกคลีในวงการละครเวทีและงานด้านการแสดงอยู่ช่วงหนึ่ง ก่อนจะจับพลัดจับผลูมาทำงานร่วมกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการทำค่ายภาษาอังกฤษ มาจนถึงการทำ ‘Creative Drama’  โดยหยิบเอาความรู้และเครื่องมือการละครบางส่วนที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เหมาะสมกับการรับรู้ของเด็ก 

ครูกล้วยเน้นว่าเด็กแต่ละวัยมีความสามารถในการเรียนรู้แตกต่างกัน เด็กเล็กจะมีช่วงความสนใจสั้นและมีข้อจำกัดในเรื่องความเข้าใจโจทย์ หรือคำพูดระหว่างทำกิจกรรมมากกว่าเด็กที่โตกว่า โดยกลุ่มเป้าหมายในคลาสของครูกล้วย ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กประถม ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มมีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ

ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน

Creative Drama เครื่องมือสำคัญในการดึงศักยภาพเด็ก

ย้อนกลับมาที่คำว่า ‘Creative Drama’ หลายคนอาจสงสัยว่ากิจกรรมหรือเครื่องมือนี้คืออะไร 

ครูกล้วยอธิบายว่า “Creative Drama คือการใช้เครื่องมือทางกระบวนการละคร แล้วใส่ความ Creative หรือความคิดสร้างสรรค์เข้าไปผ่านการออกแบบเซคชั่นต่างๆ ในการทำกิจกรรมที่จำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมต่อช่วงวัยและการเรียนรู้ของเด็ก สามารถสร้างสรรค์อย่างไรก็ได้ให้ตรงกับความต้องการของทั้งตัวเราเองและกลุ่มเป้าหมาย จะนำมาสร้างสรรค์ร่วมกับนิทานที่มีอยู่แล้วก็ได้ เพราะนิทานหนึ่งเรื่องมี Message หรือประเด็นที่ต้องการสื่อสารอยู่แล้ว แค่ต้องใส่ความคิดสร้างสรรค์เข้าไปโดยการเพิ่มเติมหรือลดทอนบางสิ่งบางอย่าง เพื่อให้มีความเป็นละครมากขึ้น ดังนั้นเราไม่ได้ให้เด็กมาเล่นละครอย่างเดียว แต่ให้ฝึกใช้เครื่องมือการแสดง เขาจะซึมซับมันด้วยตัวเอง ในบางครั้งเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งนี้คือเครื่องมือการแสดง 

สิ่งที่เขาได้กลับไปมีมากกว่าการฝึกฝน แต่คือ‘การรู้จักตัวเอง’ มากขึ้น แค่จุดนี้จุดเดียวสามารถนำไปสู่ทักษะอื่นๆ อีกมากมายต่อไปในอนาคต”

การรู้จักตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เรียกได้ว่าเป็นหัวใจหลักของการทำ Creative Drama ก็ว่าได้ ครูกล้วยแสดงความคิดเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นช่วงวัยไหน บางครั้งเราหาตัวเองไม่เจอหรือแม้กระทั่งบางคนที่เคยเจอแล้วก็อาจทำตัวเองหล่นหายไปในบางคราว ซึ่ง Creative Drama ให้เวลาเราในการตกตะกอนเพื่อทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นแม้สักนิดนึงก็ยังดี และยังช่วยให้คนที่ทำตัวตนหล่นหายระหว่างทางกลับมารู้จักตัวเองอีกครั้ง

‘พื้นที่ปลอดภัย’ คือบันไดขั้นแรกสู่ความกล้าเป็นตัวของตัวเอง

คลาสของครูกล้วยเริ่มด้วยการให้เด็กๆ พยายามทำความรู้จักกันก่อน เพื่อให้ทุกคนรู้สึกกลมกลืนและลดช่องว่างระหว่างกัน หากเด็กทุกคนรู้จักและคุ้นเคยกันอยู่แล้วถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้าเด็กมาจากคนละที่ ไม่มีใครรู้จักกัน เมื่อต้องมาอยู่ในพื้นที่เดียวกันการ Ice Breaking ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้กิจกรรมไปต่อได้  

“ถ้าไม่มีการละลายพฤติกรรมในกลุ่มคนที่ไม่ได้รู้จักกัน มันจะยากมากกับการไปต่อ ถ้าเขามีกำแพง เขาจะไม่เปิดรับอะไรเลยและไม่กล้าที่จะดึงความเป็นตัวเองออกมา สิ่งที่ต้องทำคือให้เขาทะลายกำแพงของตัวเองลงก่อน ไม่ได้หมายความว่าให้มันหายไปหมดนะ เพราะว่าไม่มีใครสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยภายในดีดนิ้วเดียว แต่เราชวนให้เขาพยายามสร้างพื้นที่ตรงนี้ร่วมกัน ทุกคนมีความพยายามของตัวเองเพื่อทำให้มันเป็นพื้นที่ของ ‘พวกเรา’ ให้ได้”

ครูกล้วยชี้ให้เห็นว่าบันไดขั้นแรกคือ ‘การสร้างพื้นที่ปลอดภัย’ เมื่อเด็กรู้สึกว่าตรงนี้คือพื้นที่ของตัวเอง เขาจะ ‘กล้า’ ดึงความเป็นตัวเองออกมา เธอย้ำกับเด็กๆ เสมอว่า นี่คือพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนกล้าคิด กล้าทำ กล้าเป็นตัวเอง โดยครูจะคอย ‘รับฟัง’ และสร้างความเข้าใจว่ามีโอกาสให้เขาได้ลองทำในขอบเขตพื้นที่ตรงนี้เสมอ 

ชวนเด็กขยับร่างกายและความคิด ปลดปล่อยพลังแห่งจินตนาการ

ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นพื้นที่เปิด หากให้เด็กเข้าสู่พาร์ทของการทำกิจกรรมในทันที บางคนยังไม่มีความพร้อมขนาดนั้น ยังไม่มีสมาธิมั่นคงพอจะโฟกัสกับการทำกิจกรรม และอาจถูกสภาพแวดล้อมรอบตัวทำให้เสียสมาธิได้ง่าย ท้ายที่สุดเขาจะหลุดโฟกัสกับสิ่งที่ทำตรงหน้า ยิ่งไปกว่านั้นเด็กๆ ยังมีพลังล้นเหลือ เธอจึงเลือกให้เด็กใช้ ‘ฐานกาย’ เคลื่อนไหวร่างกาย ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่กล้ามเนื้อมัดเล็กผ่านการวิ่ง ขยับตัว เพื่อปลดปล่อยพลังในตัวออกมาให้หมด จะทำให้เขาสามารถสร้างสมาธิและโฟกัสได้ดียิ่งขึ้น

หลังจากปลดปล่อยพลังกายก็ถึงเวลาของการปลดปล่อยพลังแห่งจินตนาการ ครูกล้วยเลือกใช้กิจกรรมระบายสี โดยสิ่งที่เด็กได้ระบายจะเชื่อมโยงกับนิทานหรือเรื่องราวที่ดีไซน์ไว้ ยกตัวอย่างเช่น วันนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับดอกไวโอเล็ต เด็กๆ จึงได้ระบายสีดอกไม้ของตัวเองสำหรับใช้ในเซคชั่นต่อๆ ไป ทุกคนมีอิสระในการเลือกสีที่ใช่ บรรยากาศที่ชอบ สามารถเลือกสีและพื้นที่นั่งระบายตามความต้องการด้วยตัวเอง แต่มีโจทย์สำคัญคือ ระบายสียังไงก็ได้ให้ตัวเองชอบ โจทย์นี้ดูเหมือนว่าจะเป็นโจทย์ง่ายๆ แต่แท้จริงแล้วมีกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้เด็กเข้าใจตัวเองซ่อนอยู่ 

ซึ่งเด็กบางคนตั้งคำถามว่า “ไม่รู้ว่าตัวเองจะชอบไหม” ครูกล้วยจึงต้องกระตุ้นให้ค่อยๆ ‘ลอง’ ทำดูก่อน ทดลองไปเรื่อยๆ จนกว่าจะชอบและพอใจในผลงานของตัวเอง บางคนระบายสีเสร็จแล้วแต่ยังลังเลเมื่อถูกถามว่า “หนูชอบแล้วหรือยัง” ดังนั้นต้องให้เวลาแก่เด็กๆ เพื่อค้นหาคำตอบที่ใกล้เคียงกับคำว่า ‘ชอบ’ ในแบบของตัวเองเท่าที่จะทำได้

โจทย์ต่อไปคือ การตั้งชื่อดอกไม้ที่สะท้อนความเป็นตัวเองมากที่สุด พูดง่ายๆ คือต้องมีคุณสมบัติของตัวเด็กอยู่ในชื่อดอกไม้ ครูกล้วยจะค่อยๆ ไล่คำถามง่ายๆ เพื่อกระตุ้นให้เด็กคิดและเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองไปในตัว ตัวอย่างคำถามเช่น “ปกติชอบทำอะไร” “การที่เราชอบสิ่งนี้มันบอกอะไรเราบ้าง” เด็กๆ จะได้ย้อนกลับมามองตัวเองและตั้งคำถามโดยใช้ประสบการณ์เดิมตกตะกอนความคิดออกมาเป็นคำตอบ 

ในกรณีที่เด็กเขียนบางคุณสมบัติออกมาแล้วเขาไม่ได้ชอบมัน เช่น บางคนบอกว่าตัวเองเป็นคนขี้เกียจ ครูกล้วยจะเน้นการปรับมุมมองให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับคุณสมบัตินั้นๆ  

(บทสนทนาที่ครูกล้วยยกตัวอย่าง)

ครูกล้วย : หนูชอบสิ่งที่ตัวเองเป็นไหม

เด็ก : ไม่ชอบเลยที่ตัวเองขี้เกียจ

ครูกล้วย : แล้วความขี้เกียจให้อะไรเราบ้าง 

เด็ก : ได้พักผ่อน

ครูกล้วย : แล้วหนูชอบพักผ่อนไหม

เด็ก : ชอบพักผ่อน

ครูกล้วย : งั้นก็แปลว่าหนูให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

บทสนทนานี้สะท้อนให้เห็นว่า วิธีสร้างการเรียนรู้ที่ครูกล้วยใช้คือ ‘การไม่ตัดสิน’ ว่าคุณสมบัติแบบไหนเรียกว่า ‘ดี’ หรือ ‘ไม่ดี’ แต่เป็นการให้เด็กพยายามตั้งคำถามและตอบคำถามนั้นด้วยตัวเองมากกว่า เพื่อให้เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากขึ้น ไม่สร้างความรู้สึกลบต่อตัวเอง และสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าลักษณะนิสัยมนุษย์เปลี่ยนแปลงได้เสมอ

ส่วนถัดมาจะเข้าสู่กระบวนการเล่นละคร เด็กๆ จะได้ลองสวมบทบาทตัวละครในเรื่อง มีการปล่อยโจทย์ด้วยคีย์เวิร์ดง่ายๆ ให้เด็กเข้าใจและลองทำตาม โดยที่เขาไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่คือการเล่นละคร ครูกล้วยเปิดโอกาสให้มีการสลับบทบาทกันหลายครั้ง เพื่อให้เด็กได้ลองเปลี่ยนคาแรกเตอร์หลายๆ แบบ

เติมคลังคำศัพท์ ลองสวมหลายบทบาท เพื่อสะท้อนคิดเข้าใจตัวเอง

กระบวนการ Creative Drama ในคลาสครูกล้วย เริ่มต้นตั้งแต่บันไดขั้นแรกมาจนถึงขั้นสุดท้าย ทุกขั้นตอนสนับสนุนให้เด็กรู้จักตัวเอง มีความเข้าใจในตัวเองมากขึ้นผ่านการใช้ความคิดและลงมือทำ โดยภาพรวมแล้วหากถามว่า กระบวนการละครทำให้เด็กรู้จักตัวเองอย่างไร ครูกล้วยสรุปให้ฟังว่า

“ในการละครจะมีสิ่งที่เลือกว่า ‘คาแรกเตอร์’ การจะมาทำความเข้าใจบทบาทนั้นๆ ได้ดี มันคือการที่เราพยายามยอมรับเพื่อรับรู้ว่ามันมีคำว่า ‘กล้าหาญ’ ‘ใจดี’ ‘มีน้ำใจ’ ‘ขี้แกล้ง’ อยู่นะ เป็นการเติมคลังคำศัพท์และสร้างความเข้าใจคาแรกเตอร์ใหม่ๆ  เราอยากให้เขารับรู้ว่า ถึงแม้วันนี้เขาเป็นอย่างนี้แต่นี่ไม่ใช่ตัวเขาตลอดไป วันนี้อาจจะเป็นคนขี้แกล้ง แต่มันไม่ได้แปลว่าเขาต้องเป็นอย่างนี้ไปทุกวัน เพราะจริงๆ แล้วคนเราก็เปลี่ยนแปลงตลอด แต่อยากให้เขารู้จักว่า มันมี Wording นี้อยู่ในพจนานุกรมของฉันนะ”

นอกจากนี้ส่วนสุดท้ายของกิจกรรมเป็นการนั่งล้อมวงสะท้อนคิด เด็กทุกคนจะมาแชร์ความคิดและความรู้สึกหลังเล่นละคร พูดคุยกันว่าใครชอบคาแรกเตอร์ไหนที่สุด เพราะอะไร ครูกล้วยจะค่อยๆ ถามให้เขาได้ย้อนคิดและวิเคราะห์ตัวเอง หลังจากได้ทดลองคิด ทดลองทำและสำรวจความต้องการของตัวเอง ท้ายที่สุดเด็กจะมีความเข้าใจตัวเองมากขึ้น โดยมีครูคอยช่วยเหลืออยู่ข้างๆ

ปลายทางของ Creative Drama คือการเปิดประตูรับทักษะอื่น

‘การรู้จักตัวเอง’ ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของการทำ Creative Drama แต่เป็น ‘ประตู’ ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ ฝึกฝนและเก็บเกี่ยวทักษะใหม่ๆ ครูกล้วยแชร์ให้ฟังว่าทักษะที่เธอปรารถนาให้เด็กทุกคนได้รับหลักๆ มี 3 อย่างด้วยกัน ทักษะแรกคือ Critical Thinking ที่เด็กเรียนรู้จากการวิเคราะห์ตัวเองจากบทบาทต่างๆ ที่ได้รับ

“ถ้าถามว่าทำไมถึงชอบคาแรกเตอร์นี้ เด็กบางคนอาจจะค้างไปเลย เราก็จะพยายามถามต่อเพราะอยากให้เขาลองวิเคราะห์ตัวเองดู แต่เราจะไม่ตัดสินว่าสิ่งที่เขาเป็นมันถูกหรือผิดนะ แค่อยากให้เขาหาเหตุผลหรือความเชื่อมโยงกันได้ แค่นั้นเราก็พอใจแล้ว”

ถัดมาคือความคิดสร้างสรรค์หรือ Creativity จินตนาการของเด็กสะท้อนออกมาผ่านคำพูดและการกระทำระหว่างทำกิจกรรม เมื่อปล่อยให้เด็กทำอะไรในจังหวะของตัวเอง เขาจะคิดของเขาเองว่าควรทำสิ่งนี้ในเวลานี้ ครูกล้วยอธิบายว่า “การที่เล่นละครอยู่ดีๆ มีน้องบอกว่าผมอยากเป็นสัตว์ประหลาด อยากจะลองทำอย่างนั้น อย่างนี้ ทำให้เรามองว่าสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความสำเร็จในเรื่อง Creativity มาก เพราะเราเปิดพื้นที่ให้เขาอย่างเต็มที่”

สุดท้ายคือ Communication การสื่อสารระหว่างกันเป็นอีกทักษะที่จำเป็นในการสร้างความเข้าใจทั้งตัวเองและผู้อื่น คลาสของครูกล้วยกระตุ้นให้เด็กกล้าสื่อสารความคิดและความรู้สึกตัวเองออกมาผ่านการพูดคุยในวงสนทนา ตั้งแต่การแนะนำตัว การแสดงละคร ตลอดจนพาร์ทการสะท้อนคิด 

นอกจากเราจะให้อะไรแก่เด็ก เด็กก็ยังให้อะไรแก่เราด้วย

ครูกล้วยเรียนรู้หลายอย่างหลังจากได้ลงมาทำงานกับเด็กโดยตรง เธอให้ความเห็นว่า การสื่อสารกับเด็กเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ สำหรับผู้ใหญ่เราสามารถให้ฟีดแบ็กโดยตรงได้ แต่สำหรับเด็กเขาไม่ได้มีความสามารถมากพอที่จะมานั่งวิเคราะห์ได้เหมือนผู้ใหญ่

“มันไม่ใช่เรื่องการทำลายจินตนาการ แต่มันเป็นเรื่องการทำลายความมั่นใจของเขามากกว่า”  

บาง Wording ที่พูดออกไปทำให้เด็กบางคนรู้สึกแย่และสูญเสียความมั่นใจ ครูกล้วยเองเคยเผลอพูดบางคำที่อาจไปกระทบความมั่นใจของเด็กบางคน เธอจึงเน้นย้ำว่า “เราต้องกลับไปรับผิดชอบคำพูดของเรา ต้องพยายามหาวิธีที่ดีที่สุดที่สามารถแก้ไขสถานการณ์ในตอนนั้น”

การมายืนอยู่จุดนี้ทำให้เธอเปิดมุมมองใหม่ เห็นเฉดสีที่หลากหลายของตัวเองมากขึ้น เรียนรู้จากประสบการณ์ในการเลือกใช้คาแรกเตอร์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับเด็กที่มีบุคลิกแตกต่างกัน รู้จักสังเกตและพร้อมปรับเปลี่ยนกระบวนบางอย่างเพื่อให้เด็กสนุกและสบายใจตลอดการเข้าร่วมกิจกรรมมากที่สุด 

สำหรับครูกล้วย Creative Drama ทำงานกับความคิดและความรู้สึกของตัวเธอเองและเด็กๆ ผู้เข้าร่วมกิจกรรม ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ชวนให้เด็กทบทวน ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเองอีกด้วย

“Creative Drama ชวนให้เรากลับมารู้จักตัวเอง กล้าจินตนาการ กล้าขยับ กล้าที่จะลองเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ ให้เด็กได้กลับมาวิเคราะห์ตัวเอง” ครูกล้วยกล่าวทิ้งท้าย

Tags:

ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทินจินตนาการนิทานการแสดงละครสร้างสรรค์(Creative Drama)พื้นที่ปลอดภัยself-awareness

Author:

illustrator

บุญญิสา รัตนมณี

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Pakorn_1
    Everyone can be an EducatorSocial Issues
    “เราก็แค่ส่องไฟให้เขาเลือกเส้นทางเอง” ปกรณ์ นาวาจะ นักออกแบบการเรียนรู้ผู้ขอเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้เด็กนอกระบบ

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    ‘BuddyThai’ แอปคู่ใจของวัยรุ่นในวันที่ไม่มีใครยืนเคียงข้าง: พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    ฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ใช่แค่ได้ยินแต่เข้าใจ : บันไดขั้นแรกของ ‘สมรรถนะการสื่อสาร’ ที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Adolescent BrainHow to enjoy life
    11 ชุดคำถาม ชวนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปคุยกับอดีตเพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอนที่ 6

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

ความตายขับเคลื่อนชีวิต (1): เพราะมนุษย์รู้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องตาย การเห็นคุณค่าในตัวเองจึงสำคัญ
Myth/Life/Crisis
1 July 2025

ความตายขับเคลื่อนชีวิต (1): เพราะมนุษย์รู้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องตาย การเห็นคุณค่าในตัวเองจึงสำคัญ

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • มนุษย์เรากลัวความตายเป็นเรื่องปกติจากสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด การพบว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสัญชาตญาณดังกล่าว มนุษย์จึงคิดหาวิธีการจัดการกับความกลัวนี้ โดยนักจิตวิทยาได้ศึกษาเรื่องนี้ผ่านทฤษฎีที่เรียกว่า ‘Terror Management Theory’
  • สิ่งที่มนุษย์ทำคือการสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจที่เรียกว่า ‘กันชนความวิตกกังวล’ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 สิ่งหลักๆ คือ โลกทัศน์ทางวัฒนธรรม และ การเห็นคุณค่าในตนเอง
  • ‘การเห็นคุณค่าในตนเอง’ (Self-esteem) ก็เป็นสิ่งที่ช่วยลดความวิตกกังวลต่อความตายได้ โดยการดำเนินชีวิตตามคุณค่าที่วัฒนธรรมได้วางไว้ว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่สำคัญ จะช่วยเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะมันก่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่าฉันเป็นคนที่ดีและมีคุณค่า

มนุษย์ต่างจากสัตว์อย่างไร?

อันที่จริงแล้วมนุษย์กับสัตว์แทบไม่ต่างกันเลยในเรื่องของ ‘สัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด’ เมื่อมนุษย์เจอกับภัยอันตราย ระบบสู้หรือหนี (Fight or Flight) จะทำงาน ทำให้มนุษย์มีพละกำลังมหาศาลภายในชั่วพริบตาที่จะต่อสู้หรือวิ่งหนีจากภัยนั้นอย่างสุดชีวิต ดังนั้นแล้วมนุษย์กับสัตว์ย่อมเป็นสิ่งมีชีวิตที่กลัวความตาย

แต่มนุษย์ต่างจากสัตว์ในเรื่องของ ‘สติปัญญา’ มนุษย์สามารถใช้ความคิดที่ซับซ้อนและมีความเป็นนามธรรมสูงจนทำให้รับรู้ ‘เวลา’ ได้อย่างถ่องแท้ 

มนุษย์รู้ว่าอดีต ปัจจุบัน และอนาคตคืออะไร รู้ว่าวันที่ผ่านมาคืออะไร และวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เหตุนี้เองมนุษย์จึงค้นพบว่าสิ่งน่ากลัวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ นั่นคือ ‘ความตาย’

มนุษย์เรากลัวความตายเป็นเรื่องปกติจากสัญชาตญาณการเอาชีวิตรอด การพบว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสัญชาตญาณดังกล่าว ดังนั้นมนุษย์จึงต้องคิดหาวิธีการในจัดการกับความกลัวนี้ โดยนักจิตวิทยาได้ศึกษาเรื่องนี้ผ่านทฤษฎีที่เรียกว่า ‘Terror Management Theory’

Terror Management Theory คืออะไร?

‘Terror Management Theory’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า ‘TMT’ เป็นทฤษฎีที่คิดขึ้นมาในปี 1986 จากนักจิตวิทยา 3 คน ได้แก่ Jeff Greenberg, Sheldon Solomon และ Tom Pyszczynski โดยเป็นการต่อยอดจากหนังสือ The Denial of Death ของนักมานุษยวิทยา Ernest Becker

TMT เสนอว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตระหนักรู้ว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย โดยการตระหนักรู้นี้เองก่อให้เกิด ‘ความวิตกกังวลต่อความตาย’ (Death Anxiety) หากความวิตกกังวลนี้ไม่ได้รับการจัดการจะทำให้เราเครียดมากจนร่างกายขยับเขยื้อนไม่ได้และส่งผลต่อการใช้ชีวิต

ดังนั้นมนุษย์จึงต้องคิดหาวิธีการบางอย่างเพื่อลดความวิตกกังวลนี้ โดยสิ่งที่มนุษย์ทำคือการสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจที่เรียกว่า ‘กันชนความวิตกกังวล’ (Anxiety Buffers) ซึ่งประกอบไปด้วย 2 สิ่งหลักๆ ดังนี้

  1. โลกทัศน์ทางวัฒนธรรม (Cultural Worldview)

เมื่อมนุษย์มีความสามารถในการคิดเชิงนามธรรมที่เข้าใจถึงเวลาและความตาย มนุษย์ก็ได้ใช้ความคิดเชิงนามธรรมนั้นมาใช้ในการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการสร้าง ‘วัฒนธรรม’ ขึ้นมา วัฒนธรรมทำให้การใช้ชีวิตมีระบบระเบียบ เข้าใจได้ และคาดการณ์ได้ เมื่อทุกอย่างสามารถคาดการณ์ได้จึงทำให้ความตายน่ากลัวน้อยลง

ต่อมาคือการสร้างความหมายให้กับชีวิต หากเรารู้ว่าสักวันหนึ่งตัวเองจะต้องตาย เราก็คงไม่มีกะจิตกะใจในการใช้ชีวิต ดังนั้นวัฒนธรรมจึงได้สร้างชุดความคิดความเชื่อขึ้นมาเพื่อบอกว่าสิ่งไหนดี-ไม่ดี สิ่งไหนสำคัญ สิ่งไหนควรปฏิบัติ เรียกว่า ‘โลกทัศน์ทางวัฒนธรรม’ (Cultural Worldview) สิ่งนี้ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย เรารู้สึกมีเป้าหมายว่าจะใช้ชีวิตเพื่ออะไร

นอกจากนี้ โลกทัศน์ทางวัฒนธรรมยังให้แนวทางในการก้าวข้ามความตายผ่านการชี้ว่าชีวิตยังคงดำเนินต่อไปแม้เราจะตายไปแล้วผ่าน ‘ความเป็นอมตะ’ (Immortality) โดยในที่นี้ตีความได้ 2 แบบ ได้แก่ 

  • ความเป็นอมตะโดยแท้จริง (Literal Immortality) คือ แนวคิดที่ว่ามนุษย์ไม่ได้สูญสลายไปอย่างแท้จริง เพียงแต่ย้ายไปอยู่อีกที่หนึ่ง ในส่วนนี้จะเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา เช่น การเวียนว่ายตายเกิด, การขึ้นสวรรค์, การพบกับพระเจ้า ฯลฯ
  • ความเป็นอมตะเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic Immortality) คือ แนวคิดที่ว่าแม้มนุษย์เราจะตายไป แต่สิ่งต่างๆ ที่เราได้สร้างหรือทำไว้ย่อมหลงเหลือไว้ให้แก่โลกใบนี้ เป็นเหมือนตัวแทนของเรา เช่น ครอบครัว, อนุสรณ์สถาน, หนังสือ, วาดภาพ, แนวคิด ฯลฯ
  1. การเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem)

กลับมาที่ระดับปัจเจก การใฝ่หาพฤติกรรมหรือกิจกรรมที่เพิ่ม ‘การเห็นคุณค่าในตนเอง’ (Self-esteem) ก็เป็นสิ่งที่ช่วยลดความวิตกกังวลต่อความตายได้ โดยการดำเนินชีวิตตามคุณค่าที่วัฒนธรรมได้วางไว้ว่าเป็นสิ่งที่ดี สิ่งที่สำคัญ จะช่วยเพิ่มการเห็นคุณค่าในตนเอง เพราะมันก่อให้เกิดความรู้สึกที่ว่าฉันเป็นคนที่ดีและมีคุณค่า

Becker กล่าวว่า การเห็นคุณค่าในตัวเองคือความรู้สึกถึง ‘ความสำคัญระดับจักรวาล’ (Cosmic Significance) กล่าวคือ เรารู้สึกว่าการดำรงอยู่ของเรามีความสำคัญ สิ่งต่างๆ ที่เราได้กระทำลงไปเป็นสิ่งที่มีความหมายและมีความสำคัญนอกเหนือไปจากตัวเราเอง เราจึงมีคุณค่ามากกว่าวัตถุหรือสัตว์อื่นๆ อีกทั้งตัวเราจะยังคงอยู่ต่อไปแม้จะตายไปแล้วผ่านความเป็นอมตะสองแบบที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้

ผลพวงจากการสร้าง ‘กันชนความวิตกกังวล’

กันชนความวิตกกังวลก่อให้เกิดผลในทางบวก เป็นเหมือนเกราะป้องกันทางจิตใจไม่ให้เราวิตกกังวลต่อความตายจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเรา มนุษย์ได้สร้างวัฒนธรรมขึ้นมา และวัฒนธรรมเองก็ได้ก่อร่างเป็นสังคมของมนุษย์ที่มีแบบแผน ความมีแบบแผนทำให้ความตายน่ากลัวน้อยลง เราใช้ชีวิตได้สงบสุขมากขึ้น

นอกจากนี้ วัฒนธรรมก็ได้ให้มุมมองต่างๆ ที่มีต่อโลก (โลกทัศน์ทางวัฒนธรรม) ทำให้ชีวิตของเรามีความหมาย รู้สึกมีเป้าหมายในการใช้ชีวิตต่อไป อีกทั้งการมีโลกทัศน์ที่เหมือนกับคนอื่นก็ยังช่วยสร้างความรู้สึกเชื่อมต่อและเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ทำให้เราอยากสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายและมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่คงอยู่ไปได้อย่างยาวนาน (ความเป็นอมตะเชิงสัญลักษณ์)

อย่างไรก็ตาม การสร้างกันชนความวิตกกังวลอย่างวัฒนธรรมขึ้นมาก็ก่อให้เกิดผลในทางลบได้เช่นกัน บางครั้งอาจเกิดการแบ่งแยก ‘พวกเรา’ กับ ‘พวกเขา’ เมื่อพบเจอกับวัฒนธรรมที่ต่างกัน นำไปสู่ทัศนคติรังเกียจกลุ่มอื่น (Prejudice) และอคติเข้าข้างกลุ่มตัวเอง (In-group Bias)

Pyszczynski และคณะ (2006) ได้ศึกษาพบว่า ในสถานการณ์ที่กระตุ้นให้นึกถึงความตาย (Mortality Salience) เช่น สงคราม ผู้คนมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความสุดโต่งในความเชื่อของตัวเอง พูดง่ายๆ คือ มีความยึดมั่นในกลุ่มของตัวเองมากขึ้น และพยายามกำจัดอีกกลุ่มที่มีความเชื่อไม่เหมือนตัวเอง 

การศึกษาดังกล่าวรวบรวมความคิดเห็นของ ‘ชาวอเมริกัน’ และ ‘ชาวอิหร่าน’ ที่มีต่อความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับอิหร่าน โดยพบว่า ชาวอเมริกันสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารอย่างรุนแรงกับอิหร่าน แม้จะเสี่ยงทำให้พลเรือนเสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม ในทางกลับกัน ชาวอิหร่านก็สนับสนุนการโจมตีแบบพลีชีพต่อเป้าหมายในสหรัฐฯ มากขึ้น พร้อมทั้งมีความเต็มใจมากขึ้นที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมดังกล่าวด้วยตนเอง

โดยสรุปคือ การกระตุ้นให้นึกถึงความตายทำให้ผู้คนเชื่อมั่นในโลกทัศน์ของตัวเองมากขึ้น ปกป้องความเชื่อของตนเมื่อถูกท้าทาย และพยายามแสวงหาการเห็นคุณค่าในตนเองผ่านการดำเนินชีวิตตามสิ่งที่วัฒนธรรมมองว่าดี แทนที่จะเกิดการคิดไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วนถึงความตาย เช่น ความตายเป็นสิ่งไม่แน่นอนและควบคุมไม่ได้

แผนภาพสรุปกลไกของ TMT

แม้มนุษย์จะสามารถลดความวิตกกังวลต่อความตายผ่านการสร้างกันชนความวิตกกังวลอย่าง ‘วัฒนธรรม’ ขึ้นมา แต่วิธีการนี้ก็อาจก่อให้เกิดผลเสีย เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก เกิดความคิดสุดโต่ง และนำไปสู่การเข่นฆ่ากัน ซึ่งขัดกับจุดประสงค์ที่แท้จริงของการสร้างวัฒนธรรมขึ้นมา

ดังนั้นในบทความหน้าจะพูดถึงการจัดการกับความวิตกกังวลต่อความตายในแนวทางอื่นที่เน้นความเข้าใจในความตายอย่างแท้จริง

อ้างอิง

Hayes, J. (2017). Terror Management Theory. In Zeigler-Hill, V., & Shackelford, T. (Eds), Encyclopedia of Personality and Individual Differences. Springer.

Myers, E. (2023). Terror Management Theory.

Pyszczynski, T., Abdollahi, A., Solomon, S., Greenberg, J., Cohen, F., & Weise, D. (2006). Mortality Salience, Martyrdom, and Military Might: The Great Satan Versus the Axis of Evil. Personality and Social Psychology Bulletin, 32(4), 525-537.

Vinney, C. (2024). Terror Management Theory: How Humans Cope With the Awareness of Their Own Death.

Tags:

Terror Management Theoryระบบสู้หรือหนี (Fight or Flight)ความวิตกกังวลต่อความตายการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • เมื่อสังคมชวนกันตั้งคำถาม #โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ: ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

  • How to enjoy life
    ‘รักตัวเอง’ สุขจริงหรือแค่ปลอบใจ แล้วแค่ไหนถึงกลายเป็นหลงตัวเอง

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Book
    ที่ปลายขอบฟ้า มีขุมทรัพย์…และความฝัน

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Myth/Life/Crisis
    Burn out (2) ชวนนักรบที่ไม่ยอมพัก ดู 4 ข้อเสนอและคำถามทบทวนตัวเอง โหมงานจนป่วยไข้แปลว่ามีคุณค่าและจริงหรือ?

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • How to get along with teenager
    จิตวิทยาวัยรุ่นเรื่องการยอมรับนับถือตัวเอง กับ หมอโอ๋ เลี้ยงลูกนอกบ้าน

    เรื่อง กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ภาพ จิตติมา หลักบุญ

Recent Posts

  • Elio:  ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน สุดท้ายความรู้สึกมีคุณค่า…เริ่มต้นจากหัวใจตัวเอง
  • ปาฏิหาริย์ร้านชำของคุณนามิยะ: ปาฏิหาริย์ของการรับฟัง ‘โดยไม่ตัดสิน’
  • เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.8 ‘ความเบื่อและการเล่นอิสระ’ ส่วนประกอบสำคัญของวัยเยาว์
  • ‘Creative Drama’ กิจกรรมละครสร้างสรรค์ที่ชวนเด็กรู้จักตัวเองและพัฒนาสู่เวอร์ชั่นที่ดีขึ้น: ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน
  • ความตายขับเคลื่อนชีวิต (1): เพราะมนุษย์รู้ว่าสักวันหนึ่งจะต้องตาย การเห็นคุณค่าในตัวเองจึงสำคัญ

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Uncategorized
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel