Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: April 2025

‘เปลี่ยนความพิเศษเป็นพลัง’ ลบคำว่า ‘สงเคราะห์’ ออกจากการศึกษาของเด็กพิเศษ: ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม
Social Issues
30 April 2025

‘เปลี่ยนความพิเศษเป็นพลัง’ ลบคำว่า ‘สงเคราะห์’ ออกจากการศึกษาของเด็กพิเศษ: ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม

เรื่อง The Potential ภาพ ปริสุทธิ์

  • เด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือ ‘เด็กพิเศษ’ หมายถึง เด็กที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือเป็นพิเศษเนื่องจากความบกพร่องหรือข้อจำกัดทางด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ประสาทสัมผัส อารมณ์ และสังคม 
  • ปัจจุบันแม้ว่าสังคมส่วนหนึ่งจะตระหนักถึงศักยภาพของเด็กพิเศษ และพยายามส่งเสริมด้านการศึกษาให้พวกเขา แต่ยังพบว่าจำนวนไม่น้อยเมื่อเรียนจบไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานหรือสร้างอาชีพเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตนเองได้
  • The Potential คุยกับ ‘อาจารย์พิงค์’ ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงอุปสรรคปัญหา ข้อจำกัด ความท้าทายและโอกาสในการพัฒนาศักยภาพเด็กพิเศษให้สามารถอยู่รอดและอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีคุณค่ามีศักดิ์ศรี

เมื่อพูดถึงเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หรือเด็กที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกายและสติปัญญา หลายคนอาจรู้สึกสงสาร บางคนติดภาพจำของบุคคลที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้นคนจำนวนไม่น้อยยังตีตราเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็นภาระ เพราะการขาดทักษะความสามารถในหลายๆ ด้าน

“ความใจดีของเรามันแปรไปเป็นความสงสาร ยังมีคนจำนวนเยอะอยู่ที่มองว่าคนพิการคือคนที่ต้องให้ความสงสาร อยากจะบอกว่าตอนนี้ทุกอย่างกำลังจะต้องเปลี่ยนไป…”

“การศึกษาห้ามเป็นการสงเคราะห์เด็ดขาด การศึกษาต้องมองเขาคือมนุษย์ ต้องยกระดับความเป็นมนุษย์”

‘อาจารย์พิงค์’ ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าโครงการหนุนเสริมนักศึกษารับทุนและติดตามการประเมินผลการทำงานของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ภายใต้ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ (กสศ.) กล่าวถึงแนวคิดในการจัดการศึกษาสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษ พร้อมชวนสังคมทำความเข้าใจร่วมกันว่าเด็กเหล่านี้มีศักยภาพที่ไม่ต่างจากเด็กทั่วไป เพียงแต่พวกเขายังคงขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและสวัสดิการต่างๆ อย่างเท่าเทียม

ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม รองคณบดี คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ก่อนอื่นอยากให้อาจารย์เล่าถึงแนวคิดของทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูงสำหรับเด็กที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษและบทบาทของทีมหนุนเสริม?

ทุนนี้เป็นทุนที่ กสศ. ตั้งใจให้เป็นทุนสำหรับนักเรียนที่ขาดแคลนได้เรียนอาชีวะ แต่พอถึงจุดหนึ่งทุนอาจไม่ได้เจาะจงไปยังกลุ่มบุคคลที่มีความพิการ หรือที่เราเรียกว่ามีความต้องการจำเป็นพิเศษ ทีนี้ในปี 2563 ทาง กสศ. มาคุยว่าอยากจะขยายเรื่องการศึกษาอาชีวะไปในกลุ่มของผู้พิการโดยเฉพาะ ประกอบกับทีมคณะคุรุศาสตร์เราเคยทำงานวิจัยพบว่าการเรียนสายอาชีพกับกลุ่มนักเรียนที่มีความต้องการจำเป็นพิเศษนั้นแมตช์กัน โดยเฉพาะกลุ่มที่ปัญหาเรื่องความบกพร่องทางด้านการเรียนรู้และสติปัญญา ครั้งนั้นเราบอกว่าอาชีวะตอบโจทย์และเป็นทางเลือกที่เหมาะสม พอแมตช์กันก็ทำให้พวกเขามีโอกาสเข้าสู่กระบวนในการทำงานมากขึ้น พอ กสศ. มาคุยก็เลยทำหน้าที่เป็นผู้หนุนเสริมสถานศึกษาอาชีวศึกษา ที่เราเรียกกันว่าวิทยาลัย เริ่มรับสมัครตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาปีนี้ก็ปีที่ 5 แล้ว 

บทบาทของอาจารย์คือส่วนไหน ดูแลอะไรบ้าง 

บทบาทของทีมงานเราคือ เป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัย ทำหน้าที่ประสานกับสถานศึกษาอาชีวะ เพื่อที่จะส่งเสริมว่าการที่มีคนพิการ ผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ เข้ามาในระบบนั้นจะต้องดูแลอะไรบ้าง แบ่งเป็นสามธีมหลักๆ หนึ่งคือเรื่องของชีวิตความเป็นอยู่ การปรับตัว สองคือเรื่องของการศึกษา การเรียนรู้การปรับเนื้อหาวิชา และ สามคือโอกาสการมีงานทำ ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่เราเน้นมากแล้วก็วัดเป็นผลลัพธ์เป้าหมาย 

หลังจากดำเนินโครงการมาแล้ว พบปัญหาหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง

บทเรียนมันสะท้อนต่างกันไปทุกปี อย่างปีแรกๆ ต้องบอกว่า เราเลือกวิทยาลัยมาเลยว่า ที่นี่เคยมีประวัติรับคนพิการเข้ามา แล้วก็มาศึกษาจากเขาว่า การที่เขาเปิดหลักสูตรนี้มานานแล้วและมีคนพิการเข้าเรียนเจออะไรบ้าง ซึ่งตอนนั้นมีแค่ 5 วิทยาลัยและมีเด็กเข้ามาร่วมโครงการไม่ถึง 100 คน  

พอเข้ามาปีที่ 1 เราเจอว่าการหาคนพิการที่ยากจนและเก่งมาเรียน ปวส. เป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายมาก เพราะว่าในเด็กพิเศษ-คนพิการในประเทศไทย เขาจะเรียนอยู่โรงเรียนเฉพาะคนพิการเยอะมาก โดยเฉพาะกลุ่มหูหนวก ก็คือพวกโรงเรียนโสตศึกษาทั่วประเทศ พออยู่อย่างนั้นแล้วโรงเรียนก็ทำหน้าที่ของโรงเรียน ให้ความรู้ ดูแลกันไปตามสภาพข้อจำกัดเขาค่ะ เช่น สอนด้วยภาษามือ หรือว่าฝึกทำอะไรที่พอจะเป็นอาชีพได้ แต่คำว่า ‘พอจะเป็นอาชีพ’ ถึงเวลาเรียนจบแล้วมันก็ยังไม่พอสำหรับจะดำเนินชีวิตแบบที่บริษัทห้างร้านจะรับไปทำงาน ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความพิการ 

ดังนั้นตลอด 5 ปีที่ผ่านมานี้ สิ่งหลักๆ ที่เราเจอว่าเป็นปัญหา คือการยอมรับของสังคมต่อคนพิการ หรือในทักษะการเรียนการทำงานยังทำไม่ได้เท่าที่ควร อาจจะพูดยากว่าเท่าที่ควรคือเท่าไหร่ แต่ถ้าชวนสังคมคิด คือมองไปรอบๆ ตอนที่เราเข้าห้างร้านเพื่อซื้อของ จะมีกี่ครั้งที่เราเจอคนขายหรือผู้ให้บริการเป็นคนพิการ พอไม่มี คำถามคือเมื่อคนพิการเรียนจบแล้ว ต่อให้เรียนสายอาชีพ แล้วไปไหน นี่คือโจทย์หลักๆ เลย พอเราตั้งเป้าว่า ไม่ได้สิคุณจะเรียนโรงเรียนอะไรก็ตาม มันต้องเป็นการศึกษาที่ผลักคุณสู่การมีเงินเดือน ตอนนี้อาชีพมันอาจจะเบลอไปแล้ว เช่น มันไม่ได้มีอาชีพที่ต้องเป็นหมอเป็นครู แต่เป็นอาชีพที่บางคนก็ได้เงิน เช่น ยูทูบเบอร์ 

ดังนั้นเราควรตั้งโจทย์ว่า ทำยังไงคนพิการที่เรียนจบสูงขนาด ปวช. ปวส. หรือว่าปริญญาตรีด้วยซ้ำ สามารถเข้าสู่กระบวนการทำงานหรือสร้างอาชีพ แล้วเขาก็จะกลายเป็นผู้หนึ่งที่เสียภาษี เป็นพลเมืองที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมจริงๆ 

ก็เลยเป็นสโลแกนที่มาว่า เราจะเปลี่ยนความพิเศษเป็นพลัง เมื่อก่อนมันจะมีคำว่า เปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง แสดงว่าสังคมต้องมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นภาระใช่ไหม เราก็เลยบอกว่า อย่าเอาคำว่า ‘ภาระ’ ไปใส่ภาพให้ในสังคมอีก สื่อมวลชนก็ควรยกเลิกคำว่า ‘ภาระเป็นพลัง’ ก็เลยเปลี่ยนเป็น ‘ความพิเศษ’ 

ดังนั้นเวลาเราโปรโมทความพิเศษก็คือชูจุดขายที่เขามี ยกตัวอย่างเช่น เด็กออทิสติกเขาจะมีโฟกัส เป็นกลุ่มที่จัดเรียงข้อมูลเก่งมาก สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ แต่เขาอาจมีปัญหาเรื่องสังคม สัมพันธภาพอะไรต่างๆ หรือเด็กหูหนวกนั้นสมาธิดีมาก ถ้าให้ทำอะไรบางอย่างที่เขาจดจ่อ แล้วเขาไม่ต้องไปยุ่งกับใคร ไม่ต้องสื่อสาร ก็จะทำได้ดี

คนร่างกายพิการก็อยู่ในโครงการเรา Cognitive (ความสามารถทางสติปัญญา) ความฉลาดมี 100% แต่ว่าข้อจำกัดคือเขานั่งวีลแชร์ บริษัทอาจจะเกิดความกลัวไปก่อนว่ายังไม่มีทางลาดสำหรับวีลแชร์ จะรับเขาได้ไหม ทีนี้ถ้ามาโฟกัสที่ความพิเศษ ไม่ได้สนใจว่าเขานั่งวีลแชร์หรือไม่ แต่เป็นโปรแกรมเมอร์ที่เก่งมาก ทำไมคุณจะไม่จ้างเขา แล้วคุณไปคิดอย่างอื่นได้ไหม เช่นถ้าไม่มีทางลาดก็หาทางแก้ปัญหาไปก่อน เหล่านี้คือสิ่งที่เราจะโปรโมทให้เกิดขึ้นในโครงการเล็กๆ ที่เริ่มไม่เล็กแล้ว มันก็ขยายต่อมา

อัตราการมีงานทำของเด็กที่ได้รับทุนฯ เป็นอย่างไรบ้าง

ตอนนี้มีเด็กเรียนจบแล้วประมาณ 400-500 คน อัตราการมีงานทำมันก็เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เราบอกได้อย่างนี้ แต่การมีงานทำของเรานั้นมันก็มีปัจจัย เช่น ยั่งยืนหรือเปล่า เพราะวันที่เราสำรวจ เขามีงานทำ แต่เดือนต่อไปเขาอาจถูกให้ออก อะไรอย่างนี้ เราก็เลยยังเจอสถิติที่ไม่มั่นคงนักในเรื่องการมีงานทำ แต่ถามว่าเขาสตรองขึ้นไหม เขามีศักดิ์มีศรีขึ้นไหม ตอบได้ว่า ใช่  

พอเขาผ่านระบบการศึกษา อย่างน้อยที่สุดเขาไม่ได้ออกจากบ้าน หรือว่าอยู่เฉยๆ ไม่เคยทำอะไรเลยแล้วก็ออกไปสู่สังคม แต่การเข้ามาในระบบการศึกษาแล้วสถานศึกษาอาชีวะนั้นให้โจทย์บางอย่างกับเขา เช่น ลองผลิตนี่สิ ลองทำอันนั้นสิ ลองขายของสิ มันก็แน่นอน มันดีกว่าที่จะให้คนที่มีข้อจำกัดบางอย่างออกจากบ้านแล้วไปสู่ที่ทำงานเลย แบบนั้นไม่มีใครรับแน่นอน เพราะฉะนั้นตอนนี้มันก็คือโอกาสที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

ถ้าอย่างนั้น อาจารย์มองว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มนี้ 

มันมีหลายอย่างมากเลยนะ พูดง่ายๆ ถ้าเราคิดว่าโรงเรียนผลิตให้คนเก่งคนดี มันก็มีความทับซ้อนว่าในโรงเรียนคุณมีครูดีหรือเปล่า คุณมีครูที่เข้าใจเขาหรือเปล่า คุณสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้จริงหรือเปล่า 

ดังนั้นตัดภาพมาที่คนพิการ ปัจจัยของการเรียนรู้มันก็สูงมาก เพราะต้องผ่านครูอีก ครูผู้สอนก็มีทั้งเข้าใจและไม่เข้าใจ มีทั้ง มายด์เซ็ตที่เขาเรียกว่า Open หรือ Growth Mindset กับ Fixed Mindset ตัวอย่างเช่นครูที่ Fixed Mindset ก็จะคิดว่าเธอเป็นคนพิการ อยู่ๆ ไปเหอะ ไม่ต้องทำอะไรหรอก หรือเด็กพิเศษประถมเข้ามาในโรงเรียน แล้วครูไม่มีความเข้าใจหรือมี Fixed Mindset ก็จะคิดว่าซวยแล้วมีเด็กพิเศษมาอยู่ในห้องฉัน อีก 30 คนฉันก็ต้องดู เพราะฉะนั้นถ้าครูเป็นแบบนั้นมันก็จะกระจายมายด์เซ็ตนี้ไปสู่ห้องเรียน เพื่อนที่เป็นเด็กทั่วไป เป็นเด็กปกติก็มองไปตามที่ครูบอกว่าภาระ 

มันทำให้ทุกคนมองเด็กพิเศษว่าเกเรบ้าง ซนบ้าง เป็นภาระที่ทำให้ห้องเรียนเสียบรรยากาศบ้าง แล้วครูก็ทำหน้าเอือมใส่ ทีนี้ทุกคนก็คิดตามหมดเลย อย่างนั้นการเรียนรู้ของเด็กที่มีความแตกต่างมันก็เป็นไปไม่ได้ 

อันนี้ฉายภาพให้เห็นว่า บริบทแวดล้อมอาจจะเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งกว่าข้อจำกัดในตัวเขาอีก นี่คือสิ่งที่เราในฐานะคนฝึกหัดครูนั้นพยายามใส่ครูตลอด ไม่ใช่จัดหนักครูหรือว่าครูนะ แต่พยายามให้ครูเข้าใจว่า ตัวคุณน่ะ สิ่งที่คุณพูด สิ่งที่คุณทำ มีผลกับการเรียนรู้ของเด็กหมดเลย ทั้งเด็กพิเศษและเด็กปกติ 

แนวทางการจัดการเรียนรู้สำหรับเด็กพิเศษ ควรตั้งต้นจากการมองว่าเขาเหมือนเด็กปกติทั่วไป หรือมองแบบยอมรับว่าเขาพิการ?

เป็นคำถามที่ดีมากเลย ถ้าเรามองว่าคนเราสามารถแตกต่างกันได้ สูงต่ำดำขาว ผมสั้นผมยาว เราก็จะมองว่าความพิเศษก็อาจจะเป็นความแตกต่างอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็ได้ เพราะวันนี้ LGBTQ+ เราก็โอเคแล้ว โอเคแต่เลเบิล (Label) แต่กลายเป็นว่าพอเป็นเด็กพิเศษ อุ๊ย! พิเศษอะไรหรอ ออทิสติกหรือเปล่า สติปัญญาบกพร่องหรือเปล่า เพราะคำว่าเด็กพิเศษพอมาจับกับนักเรียน ครูก็อยากรู้ให้ชัดว่ามันคืออะไรกันแน่ มันก็เลยเกิดคำถามว่า พอรู้แล้วเป็นยังไง จะยอมรับหรือว่าไม่ยอมรับแต่ถามว่า รู้แล้วจะเปลี่ยนวิธีสอนไหม ก็ไม่เกี่ยว 

แล้วทีนี้รู้ไปทำไม รู้แล้วจะป่าวประกาศว่า มาดูสิเด็กออทิสติกอยู่ห้องฉัน ซึ่งวันนี้ถ้าเราทำอย่างนั้นกับ LGBTQ+ มาดูเร็วคนนี้เป็น LGBTQ+ ตายเลย มันคงเป็นเรื่องเป็นราวใช่ไหม แต่กลับกลายเป็นว่าพอมีออทิสติก ครูยอมรับแหละว่าเป็นเด็กออทิสติก แล้วก็บอกทุกคนว่านี่ออทิสติก แล้วทุกคนก็ยอมรับว่าออทิสติก แต่ก็ทรีตเขาแบบออทิสติก ทรีตเขาไม่เหมือนเรา มันก็เลยเกิดคำถามว่า ตกลงให้ทรีตแบบไหนกันแน่ 

กลับมาที่คำตอบ ถ้าในใจเราเอง เราก็คิดว่าถ้ารู้แล้วมันไม่ได้เปลี่ยนอะไร ก็ไม่จำเป็นต้องไปขอเลเบิล ไปขอให้รู้ว่าเป็นอะไร ซึ่งผู้ปกครองร้อยทั้งร้อย ใจเขาใจเรา เรามีลูกที่แตกต่างจากเด็กคนอื่น เราอยากจะบอกคนอื่นไหมว่าลูกฉันแตกต่างมากเลยนะ ลูกฉันอาจจะกรี๊ดแตก ลูกฉันอาจจะตีเธอได้ เขาก็ไม่อยากบอก อย่างจะไปจดทะเบียน ไปวินิจฉัยโรงพยาบาลนั้น เขาไม่ไปแน่นอน เขาก็จะปกปิดไว้ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แล้วก็เนียนๆ ไป ครูก็เลยโทษผู้ปกครอง ครูส่วนหนึ่งก็จะบอกว่า นี่ไงเพราะไม่บอก แต่ก็ต้องถามกลับว่า แล้วถ้าเขาบอก คุณจะทำอะไรที่แตกต่าง คุณจะช่วยเขาหรือเปล่า ก็เออ…ไม่รู้สินะ 

มันก็เลยไม่ใช่คำถามว่าเป็นหรือไม่เป็น รู้หรือไม่รู้ แต่คำถามในการศึกษาคือ ความเป็นครูของคุณมันครอบคลุมทุกคนหรือยัง สิ่งที่อยากบอกครูทุกคนคือ คุณมองเด็กทุกคนครบไหม คุณมีลูก 20-30 คนนะ แล้วคุณเลือกปฏิบัติกับลูกไหม เหมือนเรามีลูกแค่ 3 คน มันก็แค่ 3 ใช่ไหม แต่นี่ 30 ในห้องอ่ะ แต่ฉันชอบคนนี้ ฉันไม่ชอบคนนี้ เพราะเธอมีพฤติกรรมน่ารังเกียจ 

ดังนั้นถ้าความเป็นครูไม่ครอบคลุมทุกคน แล้วก็ไปเล็งอีกว่า คนไหนเป็นเด็กพิเศษ คนไหนไม่พิเศษ เราว่าจิตวิญญาณความเป็นครูต้องทบทวน 

ถ้าปรับโฟกัสมาที่เด็กพิการและมีปัญหาความยากจนด้วย สถานการณ์หนักหนากว่าไหม

มันเหมือน Double Standard เข้าไปอีก แต่ก็ต้องบอกว่าในความยากจนแล้วก็เป็นคนพิการ รัฐจะมีงบช่วยเหลืออยู่ซึ่งอาจจะเอื้อเขาพอสมควร แต่ถามว่าจะเดือดร้อนกว่าเด็กพิเศษที่ไม่ยากจน ก็แน่นอน เพราะว่าเด็กพิเศษ-คนพิการที่ไม่ยากจนก็จะเข้าถึงสวัสดิการอื่นๆ และมีทางเลือกมากกว่า ก็เหมือนเป็นโรค เป็นโรครุนแรงแล้วมีเงินกับเป็นโรครุนแรงแล้วไม่มีเงิน  ดังนั้นโรงเรียนก็คล้ายๆ กับการเข้าถึงโรงพยาบาลและเกรดของการรักษา 

อีกประเด็นที่คิดว่าสำคัญก็คือ การที่ครอบครัวมีฐานะนั้น ส่วนหนึ่งก็คือพ่อแม่ผู้ปกครองมีความรู้ด้วย พอผู้ปกครองมีความรู้ เขาจะเข้าถึงสิ่งที่ทางการศึกษาพิเศษเรียกว่า Early Intervention ก็คือการช่วยเหลือระยะแรกเริ่ม ความพิการเอย เด็กพิเศษเอย ถ้าช่วยได้เร็วไม่ใช่ว่าจะต้องหายนะ แต่เขาจะใช้ชีวิตได้อย่างคนปกติ เช่น หากเด็กพิเศษเกิดมาในประเทศที่เซอร์วิสเข้าถึง ผู้ปกครองแทบไม่ต้องทำอะไรเลย นักฝึกพูด หมอ จะมาเกี่ยวพันไปหมด เขาจะประเมินทุกอย่าง ผลออกมาสมมุติว่า เด็กคนนี้ต้องฝึกพูด 3 วันต่อสัปดาห์ หรือว่ามีนัดมากายภาพบำบัดทุก 3 ครั้งต่อวัน อะไรอย่างนี้

ในกรณีของเด็กพิเศษ คนที่รับการช่วยเหลือตั้งแต่แรกเริ่ม โอกาสที่จะเหมือนเด็กปกติตอนเข้าป.1 สูงมาก ตัดภาพมาบ้านเรา ส่วนใหญ่ผู้ปกครองก็จนด้วย แค่เดินทางไปโรงพยาบาลก็เป็นเรื่องแล้ว ต้องลางาน หยุดขายของ ต้องเอาลูกไปฝึก ต้องนั่งรอ สรุปก็คือหมดวัน หรือบางที่ภาครัฐบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกด้วย คือต้องเอาเวลา 3 เดือนเพื่อที่จะไปฝึกพฤติกรรมลูก 3 เดือนนั้นจะเอาเงินที่ไหนซื้อข้าวกินก่อน แล้วพอโรงเรียนบอกรับไปแต่โรงเรียนไม่ได้ดูได้ตลอดนะ คุณแม่ก็ต้องมาด้วย แล้วคนหาเช้ากินค่ำจะไปได้ยังไง

โครงการที่อาจารย์ทำอยู่สามารถซัพพอร์ตเด็กกลุ่มนี้ได้มากน้อยแค่ไหน

โครงการ กสศ. รีวิวตลอดว่าจุดที่เขาเอาเงินเข้าไปสนับสนุนนั้นเป็นการทดลองเชิงวิจัยด้วยนะ ซึ่งช่วยได้พอสมควรเลย แต่สิ่งที่สำคัญมากก็คือสื่อ การสื่อสารออกไปว่าผลนี้จะเป็นลักษณะของต้นแบบ เช่น รู้ไหมว่าวิทยาลัยนี้อาชีวะนี้เขาเริ่มรับคนพิการนะ หลังจากนั้นอาชีวะอื่นก็แค่ปรับตัว ถ้าวิทยาลัยนี้ทำได้ เราไปทำโมเดลวิทยาลัยนี้ที่จังหวัดอื่นด้วย เห็นภาพไหมคะ 

เช่นกันในบริบทภาพรวมประเทศ มันก็เริ่มผุดเป็นดอกเห็ดได้ว่า อ๋อ..อย่างนี้ๆ แล้วมันจะกลายเป็นภาพจำของประเทศว่า วันนี้มีการเอื้อคนพิการหลายภาคส่วนแล้ว ยกตัวอย่างเช่นในงานปัจฉิมนิเทศนักศึกษาทุนนี้ สถานประกอบการที่มาก็ไม่ใช่เล็กๆ เบทาโกร มิชลิน อเมซอน ปตท. เซ็นทรัล เขาก็มายกมือบอกว่าเราเป็นสถานประกอบการที่รับคนพิการแล้วนะ เขาบอกว่าเขาไม่ได้มองแค่การทำ CSR หรือภาพลักษณ์องค์กร แต่เขาคือต้นแบบของประเทศ 

เวลาทำงานเรื่องคนพิการ คำว่า CSR ล้าสมัยไปแล้ว ไม่ใช่แล้ว เขาใช้ว่า CSV คือ Shared Value ก็คือเริ่มสร้างด้วยกัน เรามาคิดโปรเจ็กต์ด้วยกัน จะเอาเงินที่บริษัทจ่ายนั้นไปทำยังไงให้คนพิการเข้ามาในกระบวนการมีงานทำ โดยกลไกภาครัฐของกระทรวงแรงงานเขาก็มี กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เขาก็ทำ มาตรา 33, 34, 35 ซึ่งอันนั้นก็อีกยาวเลย

ในมุมของคนที่ทำงานด้านนี้มาพอสมควร อาจารย์อยากฝากอะไรไปถึงสังคม โดยเฉพาะในมุมที่เกี่ยวกับโอกาสทางการศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ-คนพิการ

เรารู้ว่าคนไทยเป็นคนจิตใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตา แต่จุดหนึ่งคือความใจดีของเรามันแปรไปเป็นความสงสาร ซึ่งจะบอกว่ายังไม่หายไปหมด ยังมีคนจำนวนเยอะอยู่ที่มองว่าคนพิการคือคนที่ต้องให้ความสงสาร เหมือนมีขอทานแล้วเราเอาเงินไปให้ อยากจะบอกว่าตอนนี้ทุกอย่างกำลังจะต้องเปลี่ยนไป เพราะว่าถ้าเราใช้โมเดลของความสงสารแล้วก็ให้เงินมันจะจบเลย มันจะกลายเป็นภาพจำที่ว่าเรามีคนที่เป็นภาระ มารอขออีกเยอะๆ 

ที่สำคัญคือในเชิงของการเรียนรู้นั้น เรากำลังสร้างให้คนพิการโดยเฉพาะเด็ก เรียนรู้ว่าฉันเป็นผู้รับอย่างเดียว เขาจะให้ไม่เป็น เขาก็จะคิดว่าเขามีหน้าที่ขอ 

ยิ่งถ้าภาพกลายเป็นว่าสมาคมนี้ขอเก่งกว่าสมาคมนี้ เราจะเอาที่ไหนไปให้ ถึงจุดนึงมันก็จะเป็นความช่วยเหลือเฟ้อ และทุกคนก็จะรังเกียจ เหมือนที่เราพูดว่า ‘มือคนให้สูงกว่ามือคนรับ’ ส่วนคนรอรับก็จะโดนดูถูก คนให้ยังคิดว่าให้เงินไปแล้วยังขอทานอยู่อีกเหรอ คือต้องลบภาพเหล่านี้ให้ได้ แล้วการศึกษาคือการลบภาพเหล่านี้

แต่อย่าทำให้การศึกษากลายเป็น Another สงเคราะห์ ต้องแยกให้ออกเลย การศึกษาห้ามเป็นการสงเคราะห์เด็ดขาด การศึกษาต้องมองเขาคือมนุษย์ มันถึงเป็นความมั่นคงของมนุษย์ และการศึกษาก็คือการยกระดับมนุษย์ ไม่ใช่การให้เด็กมานั่งจมปุ๊กอยู่แล้วก็บอกว่าสงสารเธอจัง มานั่งกับเพื่อ แล้วเพื่อนก็ไม่เอาด้วย อย่างนี้ 

การที่เราเริ่มกับอาชีวะมันมีภาพเหมือนกันนะ เพราะอาชีวะก็เป็นภาพจำของสังคมที่รู้สึกว่า รุนแรง ตีกัน แต่วันนี้อาชีวะเขาเปลี่ยนภาพแล้ว เป็นภาพที่มาดูแลคนพิการ ทีนี้เขาจะกลายเป็นต้นแบบของที่อื่นเหมือนกันว่า อาชีวะกับคนพิการเขาจับมือกันแล้ว เขามีสถานประกอบการมีเครือข่ายอีก เขาไม่ใช่ขำๆ แล้วนะ ไม่ได้มาตีกันไปวันๆ ภาพของอาชีวะก็เปลี่ยน คิดว่าสิ่งนี้เป็นแรงกระเพื่อมสำคัญของสังคม แล้วสื่อจะช่วยได้มากที่สุดก็คือ ทำให้ภาพของความจำเดิมที่ว่า คนพิการคือขอ อาชีวะคือตีกัน เปลี่ยนใหม่เป็นสังคมร่วมกัน

คุณค่าของโครงการนี้มากกว่าการงานมีรายได้ น่าจะหมายถึงการทำให้เขามีชีวิตอย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี มีความภูมิใจในตัวเองด้วย?

ถูกต้องเลย ถูกต้องที่สุด เพราะสังคมเรามันจะรันไม่ได้นะถ้าเราแบ่งชนชั้น หรือเราเกลียดกันไปกันมา ถ้าเราไม่แก้ตั้งแต่เด็กๆ ก็จะโตไปเป็นเด็กที่มีกลุ่มไฮโซ กลุ่มยากจน แล้วเขาก็ไม่เป็นเพื่อนกันนะ สุดท้ายมันก็จะมาเจอกันตรงที่ว่า ‘สังคมเหลื่อมล้ำ’ นั่นก็เป็นที่มาของกองทุนเพื่อความเสมอภาค ‘เสมอภาค’ เกิดมาเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ แล้ววันนี้เราก็พูดกันไปกันมาว่าเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ก็สิ่งนี้แหละ คนพิการเด็กพิเศษ ความยากจน ก็คือสมการในความเหลื่อมล้ำเต็มๆ โครงการนี้ก็จะมาตอบโจทย์ 

หลายครอบครัวที่ไม่มีเด็กพิเศษคนพิการอาจไม่ตระหนักว่าตนเองไม่จำเป็นต้องเข้าใจหรือมีส่วนร่วมในการดูแลปัญหานี้ อาจารย์มีความเห็นอย่างไร

ยกตัวอย่างความรุนแรง อันนี้จะชัดแล้วคนจะสะดุ้ง ก็คือเราบอกว่าไม่เกี่ยว อย่าเอาเด็กพิเศษมาอยู่ในโรงเรียนลูกฉัน เด็กพิเศษก็ออกไป ไปไหน ไปซ่องสุมกำลัง ไปตีกันไปเป็นแก๊ง ถึงเวลาเข้าไปทำความรุนแรง หัวร้อน เพราะอะไร เพราะเขาถูกขับออกจากระบบ แล้วเขาไปอยู่รวมกันเป็นแก๊ง ทีนี้เดือดร้อนหรือยัง ฉันนั่งรถอยู่ดีๆ ไอ้หัวร้อนมาชนฉัน เดินห้างอยู่ดีๆ มีเด็กกราดยิง คือเรื่องนี้มันเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ซึ่งถ้าคุณไม่แก้ปัญหาตรงนี้คุณต้องรับผลที่ตามมาร่วมกันในสังคม รับได้ไหม วันที่ต้องกังวลว่าลูกหลานฉันปลอดภัยหรือเปล่าที่ไปเดินห้าง อันนี้เราไม่ได้บอกนะว่าอาชีวะ มีกลุ่มหนึ่งที่โดนขับออกจากโรงเรียน โดนขับออกจากระบบ ไม่มีใครสอนเขาว่าควบคุมอารมณ์ยังไง ทำยังไงไม่ตีกัน แล้วคุณบอกว่า ไม่เป็นไรหรอกตอนนี้มันห่างไกลตัวฉัน แล้วมันใกล้ตัวตอนที่คุณต้องเดินผ่านสถานที่เกิดเหตุ อันนี้คุณก็ต้องรับผิดชอบร่วมกันแล้ว เพราะว่าคุณบอกว่าไม่เกี่ยวกับฉัน แน่ใจหรือว่าไม่เกี่ยว ถามแค่นี้เลยค่ะ 

ตามเป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้แต่แรก ตอนนี้อยู่ในจุดที่น่าพอใจหรือเรียกว่าประสบความสำเร็จได้หรือยัง

เราคิดว่าเราก้าวหน้ามาเยอะมาก แต่ถามว่าสำเร็จไหม ก็ยังนะคะ คงต้องมีความต่อเนื่อง สมมุติเด็กจบ 120 คน ครึ่งนึงน่าจะได้งานทำ แต่อีกครึ่งนึงอาจต้องใช้โมเดลอื่นที่ไม่ใช่การศึกษาภาคบังคับ ปวช. ปวส. ปริญญาตรี แต่เป็นภาคของการสร้างงานกับครอบครัวเขา สร้างให้ชุมชนเขามีรายได้ จะเป็น OTOP เป็นอะไรที่เขาขายอยู่ ก็ต้องเอาพ่อแม่เขามาทำด้วย เพราะว่าวันนี้ตัวเขายังไม่สามารถแยกตัวจากพ่อแม่ได้ เด็กยังตอบว่ามีอะไรต้องไปถามแม่ก่อน มันเป็นอย่างนั้นอีกพอสมควรเลยนะ ซึ่งอันนี้ก็ไม่ได้เป็นแค่เด็กพิเศษ หลายโมเดลก็ต้องกลับไปจับที่ชุมชนและครอบครัว เพราะฉะนั้นการให้ทุนการศึกษาต่อตัวเขา ให้เรียนสูงที่สุด อาจจะเหมาะกับบางกลุ่ม และยังมีบางกลุ่มที่ต้องคิดนวัตกรรมอื่น กสศ. เองอาจจะมีการผันตัวจากผลงานวิจัยที่เปลี่ยนแปลงโมเดลหลายๆ อย่างในการจ้างงานของคนพิการ

สุดท้ายในมุมของนักการศึกษา อาจารย์มีทัศนะอย่างไรต่อการศึกษาไทยในปัจจุบัน 

การศึกษาไทยนั้นยังมีหวังใช่ไหม ทุกคนรับทราบร่วมกันว่าเราอยู่อันดับที่ 107 อยากให้ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องการศึกษายอมรับความจริง อะไรที่มันเป็น Pain Point อย่าซุกใต้พรม ต้องเอามันขึ้นมาวางถึงจะแก้ปัญหาได้ อเมริกา ยุโรป หรือประเทศต่างๆ จริงๆ เขาต้องผ่านจุดที่ยอมรับตัวเองก่อน อย่างอเมริกาเองเคยประกาศ A Nation at Risk เมื่อพบว่าเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ เขาเรียกผู้เชี่ยวชาญทั้งประเทศเป็นพันคนมารวมกัน เพื่อหาว่าเขาจะสอนอ่านเขียนยังไง แต่เราบอก….อ่านออกกันหมดแล้ว จริงเหรอ ถามใจเธอดูว่ายังมีคนอีกเยอะไหมที่อ่านหนังสือไม่ออก แล้วเป็นเด็กพิเศษหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่อย่าบอกว่าโอ้ย…ผลมันไม่ชัวร์ อะไรอย่างนี้ อย่าซุกใต้พรม เอาออกมาวาง แล้วก็หาผู้เชี่ยวชาญมาช่วยกันขบคิด เพื่อลูกหลานของเราค่ะ

Tags:

การศึกษาไทยเด็กพิเศษโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษการพัฒนาศักยภาพผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิมอาชีวะ

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • ‘ผลสอบ PISA’ กับความจริงที่ว่า ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ ความสามารถเด็กไทยลดลง

    เรื่อง The Potential

  • Education trendSocial Issues
    ข้อสังเกตในยุคที่ ‘อะไรอะไรก็ต้องเป็น Active Learning’ เมื่อ AL อาจทำให้มุมมองการสอนของเราแคบลง

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    ‘ทักษะที่ขาดหาย’ ความ(ไม่)พร้อมของเด็กปฐมวัย จากการสำรวจ School Readiness Survey: รศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง

    เรื่อง The Potential ภาพ ปริสุทธิ์

  • ข้อจำกัดทางร่างกาย ไม่ใช่ขีดจำกัดความสามารถ ขอเพียงไม่ปิด ‘โอกาส’ ผู้พิการ: จิดาภา นิติวีระกุล

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    ทำไมคุณภาพการศึกษาไทยยังไปไม่ถึงไหน? : ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ชวนหาคำตอบด้วยแนวคิดเศรษฐศาสตร์การศึกษา

    เรื่อง ศากุน บางกระ

เพราะ ‘ข่าวร้าย’ มักดึงดูดใจกว่า ‘ข่าวดี’: Doomscrolling พฤติกรรมเสพข่าวร้ายไม่หยุด ที่ต้องหยุดตัวเองก่อนเสียสุขภาพจิต
How to enjoy life
25 April 2025

เพราะ ‘ข่าวร้าย’ มักดึงดูดใจกว่า ‘ข่าวดี’: Doomscrolling พฤติกรรมเสพข่าวร้ายไม่หยุด ที่ต้องหยุดตัวเองก่อนเสียสุขภาพจิต

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Doomscrolling เป็นพฤติกรรมการเลื่อนหน้าจอเพื่อเสพข่าวร้ายหรือเนื้อหาเชิงลบอย่างต่อเนื่องจนหยุดไม่ได้ ซึ่งมักเริ่มจากความต้องการรู้เท่าทันสถานการณ์ แต่ลงท้ายด้วยความเครียด วิตกกังวล และกระทบต่อสุขภาพจิต
  • เหตุผลที่เราหยุดเสพข่าวร้ายไม่ได้ มาจากสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ที่ให้ความสำคัญกับภัยอันตราย หรือที่เรียกว่า ‘อคติต่อสิ่งลบ’ (Negativity Bias) ซึ่งทำให้ข่าวร้ายดึงดูดใจกว่าข่าวดีโดยไม่รู้ตัว
  • การเลือกติดตามข่าวที่เน้นการนำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่าการขายดราม่า ก็สามารถช่วยลดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ เพราะข่าวที่เน้นดราม่ามักกระตุ้นอารมณ์รุนแรง

ในยุคที่เราสามารถเชื่อมต่อกับผู้คนทั้งโลกได้ผ่านหน้าจอเพียงเครื่องเดียว การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากทั่วทุกมุมโลกจึงกลายเป็นเรื่องปกติในปัจจุบัน หลายคนเชื่อว่าการติดตามข่าวสารจำนวนมากเป็นสิ่งจำเป็น เพราะจะได้ไม่พลาดข้อมูลที่สำคัญและก้าวให้ทันทุกความเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม การเฝ้าติดตามข่าวสารจำนวนมากตลอดเวลาไม่ใช่สิ่งที่ดีเสมอไป บางคนเกิดความเครียดและความวิตกกังวลโดยไม่รู้ตัวจากการเสพข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นข่าวในเชิงลบ พฤติกรรมเสพติดข่าวลบเช่นนี้เรียกว่า ‘Doomscrolling’ และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตมากกว่าที่เราคิด

Doomscrolling คืออะไร?

Doomscrolling ประกอบขึ้นมาจาก 2 คำ ได้แก่ ‘doom’ หมายถึง หายนะ สถานการณ์เลวร้าย และ ‘scrolling’ หมายถึง การเลื่อนไถหน้าจอ เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง พฤติกรรมไถหน้าจอเพื่อเสพข่าวร้ายหรือเนื้อหาเชิงลบอย่างต่อเนื่องจนไม่สามารถหยุดได้ ซึ่งนำไปสู่ผลเสียต่อสุขภาพได้

เช่น จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมา หลายคนเฝ้าติดตามข่าวในโซเชียลมีเดียอยู่ตลอดเวลาจนเกิดความเครียดและความวิตกกังวล แม้จะรู้ว่าพฤติกรรมเช่นนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต แต่บางคนก็ไม่สามารถหยุดได้เพราะกลัวว่าตัวเองจะพลาดข่าวที่สำคัญไป

นอกจากนี้ พฤติกรรม Doomscrolling ยังหมายรวมไปถึงการอ่านข่าวลบแบบเจาะลึกลงไปเรื่อยๆ แบบที่ไม่สามารถถอนตัวได้ เช่น ข่าวอ่านหนึ่งแล้วยังตามอ่านคอมเมนต์ของข่าวนั้น อีกทั้งยังตามอ่านข่าวอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับข่าวนั้นอีกจนไม่อาจหยุดได้

ที่อ่านก็เพราะกลัวพลาดข้อมูลที่สำคัญ

ผศ.ดร.สกุลศรี ศรีสารคาม อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผู้ที่มีพฤติกรรม Doomscrolling มักอ้างว่าทำเพื่อให้รู้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราต้องแยกให้ออกระหว่าง ‘อ่านเพื่อให้รู้เท่าทัน’ กับ ‘ยิ่งอ่านยิ่งติด’

ผู้ที่อ่านข่าวเพื่อให้รู้เท่าทันข้อมูลจะคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล พิจารณาว่าเหตุและผลของข่าวนี้คืออะไร ข่าวนี้มีผลกระทบกับชีวิตเราอย่างไร เราควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อพิจารณาเสร็จสิ้นก็คือจบ ไม่เก็บมาคิดฟุ้งซ่านต่อ แต่ผู้ที่ยิ่งอ่านยิ่งติดหรือ Doomscrolling จะอ่านข่าวต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่สามารถหยุดได้ 

ผู้ที่มีพฤติกรรม Doomscrolling ในตอนนี้แรกอาจรู้สึกว่าการอ่านข่าวสามารถคลายความไม่รู้ได้ ทำให้เกิดความสบายใจและรู้สึกเครียดน้อยลง แต่เมื่อยิ่งอ่านไปเรื่อยๆ กลับยิ่งเครียดมากขึ้น ไม่สามารถหยุดอ่านได้ เพราะต้องการขวนขวายหาความรู้สึกสบายใจเหมือนในตอนแรก 

เมื่อการอ่านไม่ก่อให้เกิดความรู้เท่าทัน แต่นำไปสู่อารมณ์ที่ดิ่งลงเรื่อยๆ เราจึงรู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เครียด ฯลฯ อีกทั้งพฤติกรรมนี้ยังไปเบียดบังกิจกรรมอื่นๆ จนทำให้เกิดปัญหาสุขภาพกายได้ เช่น ออกกำลังกายน้อย กินอาหารไม่มีประโยชน์ น้ำหนักขึ้น ฯลฯ

ยิ่งไปกว่านั้น คนส่วนใหญ่จะรู้สึกว่าข่าวร้ายดึงดูดใจได้มากกว่าข่าวดี เนื่องจากมนุษย์มีความเอนเอียงที่เรียกว่า ‘อคติต่อสิ่งลบ’ (Negativity Bias) กล่าวคือ เรามักจะให้ความสำคัญกับเรื่องลบมากกว่าเรื่องบวก ทำให้คนส่วนใหญ่มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ง่าย

ย้อนกลับไปในยุคดึกดำบรรพ์ ตอนที่มนุษย์ยังอาศัยอยู่ในธรรมชาติที่ห้อมล้อมไปด้วยภยันตราย การมีความระแวดระวังเป็นเรื่องสำคัญมาก มนุษย์ที่ไม่สนใจสิ่งรอบตัวย่อมนำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้ไม่ยาก ดังนั้นเพื่อความอยู่รอดของตน มนุษย์จึงต้องคอยสังเกตและวิเคราะห์อยู่ตลอดว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวเป็นภัยหรือไม่

ด้วยเหตุนี้ มนุษย์จึงวิวัฒนาการมาให้สนใจเรื่องร้ายๆ มากเป็นพิเศษ และจดจำมันได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าในปัจจุบันมนุษย์จะไม่ได้อาศัยอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่อันตรายเช่นนั้นแล้ว แต่สัญชาตญาณนี้ก็ยังไม่หายไป ทำให้ข่าวร้ายหรือเรื่องลบจึงยังคงดึงดูดความสนใจของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี และการจมอยู่กับเรื่องลบๆ ที่มากเกินไปก็ยิ่งทำให้ร่างกายเครียด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ได้ในอนาคต

วิธีเลิก Doomscrolling

แม้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารจะเป็นประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของเรา แต่การมุ่งความสนใจไปที่ข่าวเชิงลบเพียงอย่างเดียวจนถึงขั้นเสพติดก็ไม่ใช่เรื่องที่ดี Dr. Aditi Nerurkar อาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพโลกและการแพทย์สังคมที่ Harvard Medical School แนะนำวิธีแก้ไขในเบื้องต้นด้วย ‘การลดเวลาใช้หน้าจอ’

Dr. Nerurkar ยกตัวอย่าง ‘การวางโทรศัพท์ให้ห่างจากเตียงนอน’ วิธีนี้จะช่วยลดการใช้โทรศัพท์ในตอนตื่นนอนได้ กล่าวคือ เมื่อโทรศัพท์อยู่ห่างตัว เราก็มีเวลาให้กับกิจกรรมหลังตื่นนอนมากขึ้น เช่น เข้าห้องน้ำ ล้างหน้าแปรงฟัน ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้จะเป็นเหมือนกับตัวกันชนไม่ใช่เราเจอกับเรื่องเครียดโดยตรง ทำให้อารมณ์โดยรวมของวันนั้นสดใสมากขึ้น

อีกวิธีที่เรียบง่ายแต่ก็ได้ผลดีในการลดการใช้หน้าจอ คือ ‘การเปลี่ยนหน้าจอเป็นสีขาวดำ’ เนื่องจากสีสันเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของเรา เห็นได้จากในปัจจุบันมีศาสตร์ด้านการตลาดมากมายที่ศึกษาว่าสีต่างๆ มีผลต่ออารมณ์ของผู้บริโภคอย่างไร

Alex Hern บรรณาธิการข่าวเทคโนโลยีของ The Guardian ได้ลองเปลี่ยนหน้าจอโทรศัพท์เป็นสีขาวดำแล้วพบว่า การแจ้งเตือนต่างๆ ดึงดูดความสนใจน้อยลง เนื่องจากการแจ้งเตือนส่วนใหญ่มักเป็นสีแดง ซึ่งเป็นสีที่กระตุ้นเร้าอารมณ์ได้ดี เมื่อการแจ้งเตือนกลายเป็นสีขาวดำ การกระตุ้นเร้านี้ก็ได้หายไป ทำให้การแจ้งเตือนไม่น่าดูดดึงให้กดเข้าไปดูอีกต่อไป

นอกจากนี้ การเลือกติดตามข่าวที่เน้นการนำเสนอข้อเท็จจริงมากกว่าการขายดราม่า ก็สามารถช่วยลดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ เพราะข่าวที่เน้นดราม่ามักกระตุ้นอารมณ์รุนแรง เช่น ความกลัว ความโกรธ หรือความเศร้า ซึ่งอารมณ์เหล่านี้มักเกิดขึ้นในตอนที่เราประสบกับภัยอันตราย ทำให้เราสนใจมากเป็นพิเศษตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์

เมื่อเราเสพข่าวที่นำเสนอโดยยึดข้อเท็จจริง จะช่วยให้รับรู้ข้อมูลอย่างมีสติ ไม่จมอยู่กับอารมณ์ด้านลบมากเกินไป ส่งเสริมการคิดอย่างมีเหตุผล รู้เท่าทันสถานการณ์ และเมื่อเข้าใจเนื้อหาอย่างชัดเจนแล้ว เราก็ไม่จำเป็นต้องไถหน้าจอต่อเพื่อหาอะไรเพิ่มเติมอีก จึงช่วยลดพฤติกรรม Doomscrolling ได้ในที่สุด

แม้พฤติกรรม Doomscrolling จะเริ่มต้นจากความตั้งใจที่ดีในการติดตามข้อมูลข่าวสารให้ทันโลก แต่หากเราปล่อยให้การเสพข่าวลบกลายเป็นกิจวัตรโดยไม่รู้ตัว ก็อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตในระยะยาวได้

เมื่อเรารู้เท่าทันธรรมชาติของมนุษย์ที่เอนเอียงไปทางเรื่องลบ และเลือกเสพข่าวอย่างเหมาะสมและมีสติ พฤติกรรม Doomscrolling ก็จะไม่ใช่กับดักที่ทำร้ายเราอีกต่อไป แต่เป็นโอกาสในการเติบโตอย่างมีคุณภาพท่ามกลางโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารมากมายไม่รู้จบ

อ้างอิง

ชัวร์ก่อนแชร์ Sure And Share. (2023). ชัวร์ก่อนแชร์ Keyword : DOOMSCROLLING ? — การเสพติดข่าว ที่บั่นทอนสุขภาพโดยไม่รู้ตัว !

นำชัย ชีววิวรรธน์. (2022). ‘ชั่วเจ็ดที กว่าจะดีสักหน’ ทำไมคนเราจำเรื่องแย่ๆ ได้ดีกว่าเรื่องอื่น?

Alex Hern. (2017). Will turning your phone to greyscale really do wonders for your attention?

Ashley Olivine. (2023). Doomscrolling: The Meaning and Impact on Mental Health.

Maureen Salamon. (2024). Doomscrolling dangers.

Nellie Bowles. (2018). Is the Answer to Phone Addiction a Worse Phone?

Thanatcha Suvibuy. (2022). รู้ว่าแย่แต่หยุดไม่ได้! ‘Doomscrolling’ พฤติกรรมเสพติดข่าวร้ายบนโลกอินเทอร์เน็ต.

Tags:

สุขภาพจิตโซเชียลมีเดียการรับมือการรู้เท่าทันสื่อDoomscrolling

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Social Issues
    ‘BuddyThai’ แอปคู่ใจของวัยรุ่นในวันที่ไม่มีใครยืนเคียงข้าง: พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    Parasocial Relationship: รักข้างเดียวของแฟนคลับ ความสัมพันธ์ที่ต้องรู้เท่าทัน

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    ‘ไม่มีใครเกิดมาเพื่อที่จะเหงา’ 6 วิธีรับมือกับความเหงา

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Healing the trauma
    จิตวิทยาของการกราดยิง (mass shooting): บาดแผลทางใจและการรับมือกับเหตุการณ์เลวร้าย

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    เลี้ยงลูกทั้งเหนื่อยทั้งหนัก ขอพักไปเล่นมือถือได้ไหม

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

Win or Lose: ‘ลูกไม่ต้องเป็นคนเก่งที่สุด แค่ลูกทำมันให้ดีที่สุด’ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่คือชนะใจตัวเองในแต่ละวัน
Movie
25 April 2025

Win or Lose: ‘ลูกไม่ต้องเป็นคนเก่งที่สุด แค่ลูกทำมันให้ดีที่สุด’ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่คือชนะใจตัวเองในแต่ละวัน

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Win or Lose เป็นซีรีส์แอนิเมชันออริจินัลเรื่องแรกจาก Pixar Animation Studios ที่สตรีมผ่านทาง Disney+ Hotstar มีทั้งหมด 8 ตอน เล่าเรื่องราวผ่านมุมมองของ 8 ตัวละครที่อยู่บนเส้นทางการแข่งขันซอฟต์บอลชิงแชมป์ครั้งใหญ่ 
  • ซีรีส์พาเราเข้าไปสำรวจ ‘จิตใจ’ ของตัวละครทั้ง 8 ที่ต่างกันทั้งวัยและสถานภาพ ผ่านประสบการณ์ ความกลัว ความหวัง และวิธีที่พวกเขาจัดการกับความเปราะบางภายใน ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนกลับมาสู่ผู้ชมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง
  • หนึ่งในนั้นคือ ลอรี่ เด็กสาวนักกีฬาซอฟต์บอลวัย 12 ปี ที่แบกรับแรงกดดันจากการที่มีพ่อเป็นโค้ช จนทำให้เธอทำผลงานในสนามได้ย่ำแย่ ซีรีส์ช่วยขยายภาพความวิตกกังวลที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตและแนวทางที่จะรับมือกับความรู้สึกนั้น

[บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]

“ทุกคนกำลังมองหาความรู้สึกของชัยชนะ แต่ถ้ามีคนชนะ ใครอีกคนก็ต้องแพ้ หรือบางทีชัยชนะนั้น อาจขึ้นอยู่กับว่าเรามองมันอย่างไร”

ประโยคเปิดจากซีรีส์แอนิเมชัน Win or Lose ของพิกซาร์ ไม่ได้แค่ตั้งคำถามถึงแนวคิดเรื่องแพ้-ชนะเท่านั้น แต่ยังชวนให้เราสำรวจมุมมองภายใน โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ชอบความพ่ายแพ้อย่างผมได้ย้อนคิดถึงคำจำกัดความของ ‘ชัยชนะที่แท้จริง’ ว่าบางครั้งมันอาจไม่เกี่ยวกับการเอาชนะใครเลยก็ได้ 

Win or Lose ถ่ายทอดเรื่องราวของ 8 ตัวละครหลักที่ล้วนเชื่อมโยงกับ ‘Pickles’ ทีมซอฟต์บอลเยาวชนที่ได้สิทธิเข้าแข่งขันในระดับรัฐ โดยแต่ละตอนอาจไม่ได้เล่าเรื่องการแข่งกีฬาเป็นหลัก หากแต่พาเราเข้าไปสำรวจ ‘จิตใจ’ ของตัวละคร ผ่านประสบการณ์ ความกลัว ความหวัง และวิธีที่พวกเขาจัดการกับความเปราะบางภายใน ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนกลับมาสู่ผู้ชมในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ภาพจาก Disney+ Hotstar © 2025 Disney/Pixar

หนึ่งในตอนที่จับใจผมเป็นพิเศษ คือเรื่องของ ‘ลอรี่’ เด็กสาวที่ต้องแบกรับคำครหาเรื่องการได้อยู่ในทีม เพราะมีพ่อเป็นโค้ช 

แม้ซีรีส์จะพยายามสร้างภาพให้ผมรู้สึกเห็นใจ แต่ถ้ามองแบบตรงไปตรงมา ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมเธอถึงถูกเพ่งเล็ง

อย่างไรก็ตาม พิกซาร์ไม่ได้ปล่อยให้ลอรี่ถูกตัดสินแบบที่คนทั่วไปมักตัดสินคนอื่นเพียงภาพภายนอกที่รับรู้อย่างผิวเผิน พวกเขาค่อยๆ ปล่อยรายละเอียดที่เผยให้เห็นความเป็นมนุษย์ของเธอ ความกังวลที่ฝังลึก ความกลัวการไม่เป็นที่ยอมรับ และการพยายามอย่างเงียบๆ เพื่อพิสูจน์คุณค่าของตัวเอง

ลอรี่เป็นเด็กที่มีความวิตกกังวลสูง เธอให้ความสำคัญกับสายตาและคำพูดของคนรอบตัวมากเกินไป จนละเลยที่จะโฟกัสผลงานในสนามซึ่งต้องอาศัยวินัยและความมุ่งมั่นของตัวเอง นั่นทำให้เธอตีไม่เคยโดนลูก และไม่สามารถรับลูกได้อย่างที่ควรจะเป็น จนเริ่มคล้อยตามคนอื่นที่มองว่าเธอไม่เก่งพอ ไม่ดีพอ และเป็นตัวถ่วงของทีม

แต่ยิ่งไปกว่าการตัดสินจากภายนอก คือความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของลอรี่เอง ซึ่งพ่อของเธอในฐานะโค้ชก็เห็นถึงปัญหาดังกล่าว เขาเฝ้ามองเธอห่างๆ อย่างห่วงใย พร้อมให้คำแนะนำง่ายๆ ว่า “เล่นให้มีความสุข” แต่แน่นอน ความวิตกกังวลไม่ได้หายไปเพียงเพราะมีใครมาบอกให้ใจเย็นหรือปล่อยวางความคิด

“ความกดดันก็เหมือนน้ำตาล ถ้าใส่ในกาแฟแค่ช้อนชาเดียว มันก็จะอร่อยเลิศ แต่ถ้าใส่มากไปจะอี๋และแหวะ!” พ่อบอกกับลูกทีมหลังการแข่งขันครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้เห็นว่าความกดดันก็มีข้อดี แต่ต้องควบคุมให้มันสมดุลกับจิตใจ

หนึ่งในลูกเล่นที่พิกซาร์ใช้อย่างชาญฉลาด คือการสร้างตัวละคร ‘Sweaty’ หรือเจ้าก้อนความกังวลซึ่งมีเพียงลอรี่เท่านั้นที่มองเห็น เจ้าก้อนความกังวลที่คอยตามเกาะติดลอรี่นี้สามารถขยายหรือหดตัวไปตามระดับความกลัวในใจ และมันยังเป็นตัวแทนของเสียงในหัวที่หลายคนคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นเสียงมักที่บอกเราว่า “เรามันไม่ดีพอ” “คนอื่นกำลังผิดหวังในตัวเรา” หรือ “อย่าพลาดอีกล่ะ ไม่งั้น…”

WIN OR LOSE – Sweaty blob and Laurie. © 2024 Disney/Pixar.

หากเราไม่ปล่อยให้มันครอบงำจนเสียศูนย์ ผมมองว่าความวิตกกังวลนี้ คือกลไกเตือนภัยของสมองที่เกิดจากสัญชาตญาณ การเรียนรู้ และประสบการณ์ในอดีต เพื่อช่วยเราวิเคราะห์สิ่งต่างๆ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 

Sweaty จึงไม่ได้เลวร้ายเสมอไป เหมือนอย่างที่พ่อของลอรี่บอก เพราะมันจะคอยผลักดันให้ลอรี่ตื่นแต่เช้ามาซ้อมซอฟต์บอลทุกวัน หรือการเอ่ยปากขอร้องเพื่อนร่วมทีมบางคนและพ่อให้ช่วยฝึกฝนเธอเพิ่มเติม เพื่อเข้าใกล้กฎ 10,000 ชั่วโมง ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า หากใครฝึกฝนสิ่งใดสิ่งหนึ่งถึง 10,000 ชั่วโมง ก็จะเชี่ยวชาญในสิ่งนั้น 

แน่นอนว่าผลจากความพยายามอย่างหนัก ในที่สุดลอรี่ก็ตีลูกซอฟต์บอลได้สำเร็จ แต่ถึงอย่างนั้น ในวันแข่งขัน ความกังวลความกดดันต่างๆ ได้ย้อนกลับมาหลอกหลอนลอรี่ เธอเริ่มมีอาการจิตตกจนนำไปสู่ปฏิกิริยาทางร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเหงื่อออกมากผิดปกติ มือไม้อ่อนแรง และกินขนมไม่หยุด ลอรี่ลืมสิ่งที่ฝึกซ้อมมาตลอดสัปดาห์ และตีไม่โดนลูกเหมือนที่ทุกคนคุ้นเคย พ่อที่เห็นท่าไม่ดีจึงขอเวลานอก ก่อนพยายามดึงสติลูกสาวให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ

และแล้วช่วงเวลาสำคัญที่สุดของลอรี่ก็มาถึง เมื่อเจ้าก้อนความกังวลขยายใหญ่จนกลืนเธอเข้าไปทั้งตัว ลอรี่ในร่างเดียวกับปีศาจยักษ์ถามพ่อว่า “หนูดีพอไหม” พร้อมกับระบายความอัดอั้นตันใจถึงสิ่งที่เธอได้ยินมาตลอดคือ “เธออยู่ตรงนี้ได้เพราะเป็นลูกของโค้ช” 

ด้านพ่อของเธอก็ไม่ได้แก้ต่างในเรื่องนั้น แต่เลือกจะบอกว่า “เฮ้! ลูกกำลังค้นหาตัวตนของลูก มันไม่ได้เกี่ยวว่าลูกต้องเป็นคนเก่งที่สุด แค่ลูกทำมันให้ดีที่สุด ใจเย็นๆ เดี๋ยวลูกก็คุมเกมได้”

สำหรับผม ประโยคนี้ไม่ใช่แค่คำปลอบใจ แต่คือบทเรียนชีวิตที่ย้ำเตือนว่าเราทุกคนล้วนเคยผิดพลาด และนั่นไม่ใช่จุดจบ หากเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ การค้นหาตัวเองท่ามกลางความสับสนและไม่แน่นอน

เพราะบางครั้ง ‘ชัยชนะที่แท้จริง’ ไม่ได้วัดจากคะแนนหรือถ้วยรางวัล แต่คือการกล้ายอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง เรียนรู้จากมัน และใช้มันเป็นแรงผลักดันในการเติบโต

ดังนั้นบทเรียนสำคัญที่สุดจาก Win or Lose คือ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ใช่เรื่องการชนะคนอื่นให้มากที่สุด แต่เป็นการชนะใจตัวเองในแต่ละวัน ต่อให้วันนี้เรายังไม่เก่งพอหรือยังไปไม่ถึงเป้าหมายก็ไม่เป็นไร เพราะตราบใดที่เรายังไม่หยุดพยายาม และยังเชื่อมั่นในเส้นทางของตัวเอง สุดท้ายแล้ว ผลลัพธ์ของ 10,000 ชั่วโมง ที่เราทุ่มเทด้วยใจ จะค่อยๆ ผลิบาน และกลายเป็น ‘ดอกไม้แห่งศักยภาพ’ ที่งดงามตามฤดูกาลของมัน

Tags:

กีฬาภาพยนตร์เด็กPixarความวิตกกังวลWin or Lose

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • Movie
    Elio:  ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน สุดท้ายความรู้สึกมีคุณค่า…เริ่มต้นจากหัวใจตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.4 ‘ความวิตกกังวลสูงในเด็ก’ อาจเริ่มต้นจากความกังวลของพ่อแม่

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Movie
    Instant family: ได้โปรดให้เวลาพวกเราหน่อยนะ 

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Matilda The Musical: เมื่อโลกไม่เข้าข้าง เราต้องยืนหยัดเพื่อตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน(พ่อสอนไว้): คงจะดีกว่านี้ถ้าพ่อพูดอะไรที่คำนึงถึงความรู้สึกเราบ้าง

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.4 ‘ความวิตกกังวลสูงในเด็ก’ อาจเริ่มต้นจากความกังวลของพ่อแม่
Early childhoodFamily Psychology
24 April 2025

เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.4 ‘ความวิตกกังวลสูงในเด็ก’ อาจเริ่มต้นจากความกังวลของพ่อแม่

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • ปัญหาความวิตกกังวลในเด็ก เกิดจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่อาจใช้ความกังวลหรือความต้องการของตัวเองเป็นตัวนำในการเลี้ยงดู ซึ่งส่งผลให้เด็กขาดประสบการณ์และความมั่นใจ
  • แม้พ่อแม่อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่บางครั้งสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุดและอาจเกินความจำเป็นของลูกไป ส่งผลให้เด็กไม่ได้พยายามด้วยตัวเอง และไม่มีโอกาสได้เป็นเด็กสมวัย
  • พ่อแม่ควรเคียงข้างและเชื่อมั่นในตัวลูก เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่เด็กรับรู้ว่า ‘พ่อแม่จะเป็นบ้านที่ปลอดภัย’ ให้กับเขาเสมอ เขาจะไม่กังวลและกลัวที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ

การเกิดของเด็กในปัจจุบันนั้นน้อยลงจนน่าใจหาย จากข้อมูลอัตราการเกิดของเด็กไทยในปี 2567 มีจำนวน 461,421 คน ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 70 ปี ที่ประเทศไทยมีจำนวนเด็กเกิดไม่ถึง 5 แสนคนต่อปี แนวโน้มจำนวนเด็กเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้นครอบครัวที่ตั้งใจมีลูกก็ยังมีอยู่ และด้วยสภาพแวดล้อมที่ยากลำบากส่งผลต่อความพร้อมในการมีลูก ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสุขภาพทำให้มีลูกยาก และอีกหลากหลายปัจจัยส่งผลให้การมีลูกและเลี้ยงเด็กหนึ่งให้เติบโตกลายเป็นเรื่องยาก

‘ลูกจึงกลายเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดของพ่อแม่’ 
พ่อแม่ที่ตั้งใจมีลูกทำให้ตัวเองอยากเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด แต่ความตั้งใจที่มากเกินพอดีอาจส่งผลในทางตรงกันข้ามกับลูก พ่อแม่บางท่านใช้ความกังวลและความกลัวนำทางและปกป้องลูกจากทุกสิ่งที่ตนคิดว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ดีต่อลูก หรือพ่อแม่บางท่านใช้ความต้องการของตัวเองนำทางและเติมเต็มลูกมากที่สุดเท่าที่ตนสามารถทำได้ เพราะที่ผ่านมาตัวเองอาจจะไม่เคยได้รับและอาจจะคิดแทนลูกว่าถ้าลูกได้สิ่งนี้ย่อมเป็นเรื่องดีแน่นอน

ผลจากการเลี้ยงดูลูกด้วยความกลัวและความกังวล

(1) จุดเริ่มต้น ‘พ่อแม่กังวล ลูกกังวล เพราะความกังวลสามารถส่งต่อถึงกัน’
เมื่อพ่อแม่กังวล ลูกย่อมรับรู้ถึงความกังวลนั้นได้จากท่าทาง สีหน้า และน้ำเสียง เด็กทารกไปจนถึงเด็กเล็กๆ สามารถรับรู้ถึงความรู้สึกของพ่อแม่ได้ แต่การรับรู้นั้นไม่ได้ทำให้เขาเข้าใจว่าพ่อแม่กังวลเพราะอะไร เมื่อไม่เข้าใจก็เลือกตอบสนองด้วยความกลัว เด็กจะหลีกเลี่ยงไม่เผชิญสิ่งนั้น พ่อแม่ที่วิตกกังวลเป็นทุนเดิม เมื่อเห็นลูกกลัว ก็ยิ่งปกป้องลูกจากสิ่งนั้น
ลูกไม่อยากทำอะไร ก็ให้ลูกเลิกทำ หรือ พร้อมทำให้ทันที เช่น

  • ลูกลองแกะไข่ต้มครั้งแรก แต่ทำไม่ได้ ร้องไห้ พ่อแม่ก็ทำให้ทันที
  • ลูกฝึกกระโดดเชือกครั้งแรก ลูกร้อนและเหนื่อย พ่อแม่ก็บอกให้หยุดทำและเลิกทำไปเลย
  • ลูกไม่ชอบอะไร ก็เอาออกทันที หรือ เลี่ยงไม่ให้ลูกเผชิญสิ่งนั้นอีก เช่น
  • ลูกไม่อยากเดินบนทรายหรือบนหญ้า พ่อแม่ก็อุ้มเขาขึ้นทันที 
  • ลูกลองกินผักชีครั้งแรก ลูกบ้วนทิ้ง ตั้งแต่นั้นพ่อแม่ก็เขี่ยผักชีออกให้เขาทันทีที่เจอ

ทั้งที่จริงแล้ว เด็กๆ ที่เพิ่งเคยเจอสิ่งต่างๆ ครั้งแรก เขาอาจจะไม่ได้ไม่ชอบสิ่งนั้นทันที เพราะเขาแค่ไม่คุ้นเคย และไม่มีประสบการณ์มาก่อนเท่านั้นเอง หรือ เด็กๆ ไม่ชอบ เพราะยังทำไม่ได้ เลยปฏิเสธไม่ทำไปก่อน หากเราสอนและให้เขาได้ฝึกฝน เด็กๆ อาจจะทำได้และค่อยๆ ชอบทำสิ่งนั้นก็เป็นได้

(2) ‘เมื่อหลีกเลี่ยงบ่อยๆ จนขาดประสบการณ์ ความกังวลก็กลายเป็นความกลัวการเผชิญสิ่งใหม่และปัญหาการปรับตัวเข้าสู่สังคม’ 

เด็กที่หลีกเลี่ยงไม่เผชิญสิ่งต่างๆ ตามวัย ส่งผลให้เขาขาดประสบการณ์ที่จำเป็นต่อการเรียนรู้และการปรับตัวเพื่อเติบโตไปสู่วัยต่อไป เด็กเล็กพัฒนาการเรียนรู้ผ่านร่างกายของเขา การปรับตัวกับสิ่งแวดล้อมจึงขึ้นอยู่กับการปรับตัวของร่างกาย

ยกตัวอย่างเช่น เด็กบางคนขาดประสบการณ์การรับสัมผัสกับพื้นผิวที่หลากหลาย เด็กอาจจะไม่อยากเข้าไปนั่งใกล้เพื่อน ส่งผลต่อการเข้ากลุ่ม เพราะเพื่อนๆ ของเขาก็ถือเป็นพื้นผิวสัมผัสรูปแบบหนึ่งเช่นกัน เขาคาดเดาไม่ได้ว่าเพื่อนจะตอบสนองต่อเขาอย่างไร ทำให้เด็กเลือกที่จะถอยห่างมากกว่าเข้าไป

(3) ‘เมื่อไม่มีประสบการณ์จึงไม่สามารถประเมินตัวเองและสถานการณ์ได้’

เด็กที่มีขาดประสบการณ์มักจะไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถมากน้อยเพียงใด ส่งผลให้เมื่อเผชิญปัญหา เด็กจะไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ ซึ่งส่งผลให้เขาไม่สามารถตัดสินใจได้ หรือ ถ้าตัดสินใจได้อาจจะตัดสินใจได้ไม่ดีพอ 

(4) ‘เมื่อแก้ปัญหาไม่ได้บ่อยๆ ส่งผลให้เด็กเลี่ยงการเผชิญปัญหา’

เด็กจึงหนีมากกว่าเผชิญ ส่งผลให้การรับรู้ความสามารถตัวเองต่ำลง และปลายทางของเด็กที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มักจะกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเองและรับรู้คุณค่าในตัวเองน้อย

ผลจากการเลี้ยงดูลูกด้วยความต้องการของพ่อแม่ แต่ไม่ใช่ความจำเป็นของลูก

(1) จุดเริ่มต้น ‘พ่อแม่คิดแทนลูก และบางครั้งอยากเติมเต็มวัยเด็กของตัวเองผ่านลูก’

พ่อแม่อยากมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูก แต่บางครั้งสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นที่สุดของลูก และบางครั้งสิ่งนั้นเกินความจำเป็นของลูกไป ส่งผลให้เด็กไม่ได้พยายามด้วยตัวเอง และเด็กไม่ได้มีโอกาสได้เป็นเด็กสมวัย

ตัวอย่างการสนับสนุนที่เกินพอดี ลูกอยากได้อะไร เราให้ทันที หรือ หามาให้มากกว่าที่ลูกขอ เช่น ลูกอยากเรียนเปียโน พ่อแม่บางท่านอาจจะคิดการผลักดันให้ลูกไปการแข่งระดับโลก จึงพยายามพาลูกไปหาครูที่เก่งที่สุด และลงคอร์สราคาแพงให้ลูก ทั้งที่จริงแล้วลูกอาจจะอยากเล่นเปียโนเป็นแค่นั้นเอง

(2) ‘เมื่อพ่อแม่มอบให้ เด็กจึงพยายามทำตามความคาดหวังนั้น แต่เมื่อทำไม่ได้จึงกลายเป็นความกังวล’

เมื่อเด็กทำไม่ได้ ‘ความคาดหวัง’ กลายเป็น ‘ความกดดัน’ และ ‘ความกดดัน’ ที่มากเกินจะรับไหวก็แปรเปลี่ยนเป็น ‘ความวิตกกังวล’ และ ‘ความกลัว’ ในท้ายที่สุด กลัวว่าตัวเองจะทำไม่ได้ กลัวว่าตัวเองจะทำให้พ่อแม่ผิดหวัง

นอกจากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปส่งผลให้จิตใจเด็กเปราะบางลง

สื่อออนไลน์เข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของเด็กๆ มากขึ้น เด็กๆ ในวัยเยาว์ได้รับสารมากมายโดยที่พวกเขายังกลั่นกรองไม่เป็น บางสารส่งผลให้เขาหวาดกลัวและวิตกกังวล เพราะภาพที่น่ากลัว และเนื้อหาที่กระทบใจเด็ก เราไม่มีทางรู้ว่าจิตใจของเด็กแต่ละคนแข็งแกร่งเพียงใด บางคนอาจจะเปราะบางกว่าที่คิด ด้วยเหตุนี้เด็กที่ต่ำกว่า 8 ปีดูสื่อเพียงลำพัง อาจจะเป็นเรื่องน่าหวั่นใจไม่น้อยกว่าการปล่อยให้เด็กออกไปไหนเพียงลำพัง

‘เด็กบางคนกลัวและกังวลจนไม่อาจใช้ชีวิตตามปกติ’

  • ไม่กล้าไปโรงเรียน
  • ไม่กล้าทำอะไรเลย
  • ไม่กล้าคุยกับใคร
  • ร้องไห้ทุกวัน

ตัวอย่างอาการเหล่านี้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวขาญ ได้แก่ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นักจิตวิทยาเด็ก

เด็กบางคนข้ามผ่านด้วยตัวเองไม่ได้เพราะมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติ อย่าปล่อยให้เขาจมกับความกลัวนานเกินไป เพราะเมื่อความกังวลที่มากเกินพอดีและนานเกินไปอาจจะกลายเป็นโรค

โรควิตกกังวลในเด็ก (Anxiety disorders in childhood) เป็นโรคที่พบบ่อยขึ้นในเด็ก โรคนี้ทำให้มีความวิตกกังวลรุนแรงจนทำให้เกิดไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ คิดไม่ตก คิดวนเวียน และหวาดกลัว ร้องไห้ หรือ บางคนมีอารมณ์รุนแรง โกรธ และทำร้ายตัวเองและผู้อื่นได้ ความวิตกกังวลนั้นส่งผลกระทบต่อการเรียน และความสัมพันธ์ในครอบครัวและเพื่อนๆ

เด็กบางคนอาจจะมีอาการโรควิตกกังวลที่ส่งผลต่ออาการทางกายด้วย เช่น เหงื่อออก ใจสั่น ปวดหัว ปวดท้อง อาเจียน ส่งผลให้เด็กไม่อยากไปโรงเรียน หรือ ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะรู้สึกกังวลตลอดเวลา ความกังวลที่มากถึงขั้นเป็นโรคอาจจะส่งผลให้เด็กมีอาการซึมเศร้า และหมดหวังกับการใช้ชีวิตได้ ดังนั้นพ่อแม่ที่พบว่าลูกมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาจิตแพทย์ทันที

แนวทางป้องกันความกังวลในเด็กที่ดีที่สุดคือ ‘ให้เด็กได้เป็นเด็กและทำสิ่งที่เขาทำได้’

(1) ‘ให้เด็กได้เป็นเด็กสมวัย’  

กินอิ่ม นอนหลับ ได้เล่น ได้ออกกำลังกาย ได้ทำอะไรตามวัยของเขา ได้รับความรักจากพ่อแม่ในบ้านที่อบอุ่นปลอดภัย

(2) ‘ให้เด็กได้ทำอะไรด้วยตัวเองมากที่สุด’

โดยมีพ่อแม่เป็นคนสอน แนะนำ และเคียงข้าง ถ้าเด็กยังไม่กล้าและกลัวความผิดพลาด ขอให้พ่อแม่เคียงข้างพาเขาเผชิญ

  • ทำในสิ่งที่จำเป็น เช่น การช่วยเหลือตัวเองตามวัย การทำการบ้านหรืองานบ้านก่อนไปเล่น
  • ทำในสิ่งที่ทำได้ เช่น ลองทำอะไรใหม่ๆ พยายามจนสุดกำลังด้วยตัวเองก่อนจะขอความช่วยเหลือ

(3) ‘ขอแค่ให้เด็กเริ่มลงมือทำ’

พ่อแม่ควรปรับเปลี่ยนความคิดให้ความสำคัญกับ ‘การให้เด็กลงมือทำ’ ผลลัพธ์จะออกมาเช่นไร เพราะทุกครั้งที่เขาทำเขาได้เรียนรู้ทุกครั้ง ที่สำคัญชวนเขามาคุยหลังทำอะไรได้หรือทำไม่ได้ พ่อแม่ช่วยเขาตั้งคำถามและชวนคิด

  • ‘ทำอะไรได้ดี’
  • ‘ยังทำอะไรไม่ได้ หรือ ต้องพัฒนาเรื่องไหนต่อ’
  • ‘ชมตัวเองหน่อย’

(4) ‘เมื่อเด็กทำผิดพลาด อย่าซ้ำเติม’

พ่อแม่มักจะเผลอใส่อารมณ์กับความผิดพลาดของลูก เพราะมองว่า ‘เรื่องแค่นี้ทำไมพลาดได้’ โดยลืมมองไปว่า ‘เขาเป็นเด็กคนหนึ่ง’ ถ้าเรารู้สึกโกรธจนไม่รู้จะพูดอะไรดี ขอให้เราสงบใจไว้ก่อน เพราะแค่ทำผิดพลาด เด็กก็รู้สึกแย่กับตัวเองมากพอแล้ว ไม่ต้องซ้ำเติมเขาอีก ถ้าเราเข้าใจเขาขอให้ปลอบสั้นๆ ว่า ‘ไม่เป็นไรนะ”  อย่าลืมว่าถ้าเลือกได้ คงไม่มีใครอยากทำผิดพลาดหรอก

(5) ‘ความมั่นใจของเด็กเกิดขึ้นได้จากคำชม’

ควรชมเด็กที่ความตั้งใจและพยายาม ถึงแม้ว่าวันนี้จะยังไปไม่ถึงปลายทาง แต่ถ้าเขาทำได้มากขึ้นจากจุดเริ่มต้น แค่นี้ก็สำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว

ในทางกลับกัน ถ้าเด็กไม่กล้าแม้แต่จะลงมือทำ เพราะกลัวผิดพลาด กลัวว่าจะไม่ดีพอ เขาจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย ซ้ำร้ายความมั่นใจจะค่อยถูกบั่นทอน และความกังวลจะก่อตัวใหญ่ขึ้นข้างใน

(6) ‘กอดแน่นๆ’

เมื่อเด็กกังวลและกลัวการเผชิญสิ่งใดๆ แต่จำเป็นต้องลงมือทำ และเผชิญสิ่งนั้นแล้ว ขอให้พ่อแม่กอดเขาแน่นๆ

  • กอดก่อนเผชิญ เพื่อให้เขารู้ว่าเราเป็นกำลังให้ให้เขาทำให้เต็มที่
  • กอดหลังทุกอย่างจบลง เพื่อให้เขารู้ว่าเขาทำได้ดีแล้วและเราจะรออยู่ตรงนี้เสมอ

สุดท้ายถ้าวันนี้ลูกยังกลัวและกังวลที่ก้าวออกไป ขอให้พ่อแม่เคียงข้างและเชื่อมั่นในตัวเขา กอดเขาแน่นๆ และเดินไปด้วยกัน เพราะไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ตราบใดที่เด็กรับรู้ว่า ‘พ่อแม่จะเป็นบ้านที่ปลอดภัย’ ให้กับเขาเสมอ เขาจะไม่กังวลและกลัวที่จะเผชิญสิ่งต่างๆ เพราะเขาไม่ได้เผชิญสิ่งเหล่านั้นเพียงลำพัง 

อ้างอิง

American Psychiatric Association, Anxiety Disorders. In: American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 5th ed. (DSM-5). Washington DC: American Psychiatric Publishing; pp. 189-233.

สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, จำนวนเกิด, สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, Editor. 2564: กรุงเทพฯ.

Tags:

การเลี้ยงดูความวิตกกังวลพ่อแม่เด็ก

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.5 ‘ตัวตนภายในที่แข็งแรง ภายนอกจึงไม่เปราะบาง’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Book
    บ้านเล็กในป่าใหญ่: ที่พักพิงแสนปลอดภัยในโลกอันน่าหวาดหวั่นคือ ‘ครอบครัว’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Healing the trauma
    ความสัมพันธ์ที่ทำร้ายทารุณ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Book
    พ่อแม่ไม่ใช่อรหันต์ ปล่อยวางความคาดหวังแล้วหันมา ‘ใจดีกับตัวเอง’ 

    เรื่อง อัฒภาค

  • Movie
    Life is Beautiful: โลกอาจโหดร้าย พ่ออาจไม่สมบูรณ์แบบ แต่ความรัก(ลูก)นั้นทำให้ชีวิตงดงามเสมอ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

‘ระดมสมองออนไลน์’ อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องความคิดสร้างสรรค์?
Social Issues
21 April 2025

‘ระดมสมองออนไลน์’ อาจไม่ตอบโจทย์เรื่องความคิดสร้างสรรค์?

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การประชุมแบบออนไลน์อาจทำให้ขอบเขตการใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ‘แคบลง’ มากกว่าการได้พูดคุยต่อหน้า 
  • มีงานวิจัยชี้ว่า ‘การระดมสมองออนไลน์’ ได้จำนวนไอเดียน้อยว่าการมาปฏิสัมพันธ์ต่อหน้า แต่กลับได้แนวคิดเจ๋งๆ ที่เกิดขึ้น … เรียกว่า ‘น้อยแต่มาก’ อย่างแท้จริง!
  • นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อประชุมแบบออนไลน์ เรารู้สึกเหมือน ‘เป็นหน้าที่’ ที่ต้องจ้องจอภาพตลอดเวลา ทำให้เรามีโอกาสเปลี่ยนเป้าสายตาไปรอบๆ แบบเดียวกับการประชุมต่อหน้าน้อยกว่า

ตั้งแต่ช่วงการระบาดของโควิด-19 มีข้อถกเถียงกันมากว่า การเรียน การสอน การประชุมและการทำงานแบบออนไลน์มีประสิทธิภาพดีหรือแม้แต่ใกล้เคียงกับการทำงานแบบได้ปะหน้าค่าตากันจริงหรือไม่? 

อย่างไรก็ตาม ก็มีงานวิจัยที่ชี้ว่าในคนทำงานบางส่วนทำงานได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือได้ผลงานมากขึ้นถึง 35-40% ทีเดียว แถมงานที่ได้ยังมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วยคือ มีความผิดพลาดน้อยลง 40% หากเทียบกับการทำงานในออฟฟิศ [1]

คำอธิบายยอดนิยมก็คือ การทำงานทางไกลช่วยตัดเรื่องการเดินทางและลดการประชุมที่ไม่จำเป็น ที่หัวหน้าบางคนชอบทำเมื่อเข้าทำงานในออฟฟิศ รวมไปถึงการพูดคุยกระจุกกระจิกไม่รู้จักจบจักสิ้นระหว่างเพื่อนร่วมงาน และเรื่องสิ้นเปลืองเวลาที่ไม่ก่อประโยชน์อื่นๆ ที่หลายคนอาจนึกออกเพิ่มเติมอีก 

แต่ผลสรุปแบบนี้คงใช้ไม่ได้กับทุกคนเช่นกัน คนที่ไม่มีวินัยในตัวเองก็อาจมีประสิทธิภาพการทำงานลดลงก็ได้ 

ข้อเท็จจริงอีกเรื่องที่น่าสนใจคือ เมื่อมีการยินยอมให้ทำงานแบบทางไกลได้มากขึ้น อัตราการลาออกก็ลดลงและพนักงานก็แสดงความพึงพอใจในการทำงานมากขึ้นด้วย ช่วยลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสัมภาษณ์หรือต้องหาคนใหม่ การฝึกให้คุ้นกับงานใหม่ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ซ่อนอยู่และไม่อาจมองเห็นได้โดยง่าย [2] 

ข้อดีหลายข้อดังกล่าวทำให้มีการเรียกร้องให้ออฟฟิศต่างๆ อย่างน้อยก็ควรจัดให้มีการทำงานแบบผสมผสานและไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน การสำรวจโดย Harvard Business Review สรุปว่า พนักงานออฟฟิศที่ร่วมแสดงความคิดเห็นอยากให้มีการทำงานแบบทางไกลสัปดาห์ละ 2.5 วันและมีการทำนายว่าสุดท้ายแล้วอย่างน้อย 20% ของวันทำงานของคนอเมริกันจะเป็นแบบทำงานทางไกล [3]   

แต่แน่นอนว่าข้อเสียของการทำงานทางไกลกันหมด ติดต่อกันเฉพาะทางออนไลน์ก็มีเช่นกัน ขณะที่พนักงานบางส่วนชอบการทำงานจากบ้านหรือร้านกาแฟ บางส่วนก็รู้สึกว่าการทำงานแบบนี้มันขาดความเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมงาน ลดความรู้สึกว่าเป็นทีมเดียวกัน บางคนที่เซนซิทีฟหรืออ่อนไหวง่ายมากสักหน่อยก็อาจรู้สึกเหงาหรือขาดแรงจูงใจบางอย่างในการทำงานได้ง่ายๆ เช่นกัน รายที่แย่หน่อยก็มีโอกาสกลายเป็นซึมเศร้าได้เวลาเจองานยากและไม่มีหัวหน้าหรือเพื่อนคอยสนับสนุนอยู่ใกล้ๆ [4]

การสื่อสารผ่านแอปแบบไม่สนใจเวลาจะดึกดื่นหรือวันหยุดก็ไม่สน ทำให้เกิดความเครียดกับคนจำนวนมากเช่นกัน

แต่ดูเหมือนเรื่องที่สำคัญที่สุดก็คือ การประชุมแบบออนไลน์ไม่สามารถทดแทนการประชุมกันแบบต่อหน้าได้อย่าง 100% เพราะขาดการสื่อสารทางกายอื่นๆ นอกเหนือไปจากคำพูดหรือน้ำเสียง 

หากพิจารณาเฉพาะการระดมสมอง (brainstorm) ซึ่งเป็นกิจกรรมสำคัญทั้งกับการทำงานและการเรียนในระบบการศึกษา การหันมาประชุมแบบออนไลน์ส่งผลอย่างไรบ้าง? 

มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ค.ศ. 2022 ที่ชี้ว่า การสื่อสารผ่านระบบแอปหรือระบบวิดีโอที่นิยมกันเช่น Zoom อาจส่งผลให้ลดจำนวนความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ [5] 

นักวิจัยทดลองแบบนี้ครับ เริ่มจากรับอาสาสมัครซึ่งก็ได้มา 602 คน จากนั้นก็ให้จับคู่กันแบบสุ่มและมอบภารกิจคือ ให้ออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งให้สร้างสรรค์ที่สุด การจับคู่นั้นมีทั้งแบบให้จับคู่กันทำงานแบบออนไลน์หรือต้องมาทำงานกันต่อหน้า จากนั้นก็ให้จัดอันดับแนวคิดว่าอันไหนสร้างสรรค์มากน้อยอย่างไร โดยให้พิจารณาเรื่องของความแปลกใหม่ว่ามีมากน้อยเพียงใด 

จากนั้นก็ให้เลือกไอเดียที่คิดว่าดีที่สุดเพื่อส่งให้นักวิจัย

เมื่อนำงานที่ได้มาวิเคราะห์พบว่า คู่ที่ทำงานแบบออนไลน์ด้วยกัน ได้จำนวนไอเดีย ‘น้อยว่า’ อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าปฏิสัมพันธ์บางอย่างที่ต้องทำกันต่อหน้าเท่านั้นจำเป็นต่อการเกิดความคิดสร้างสรรค์มาก 

แต่ที่น่าสนใจไม่น้อยกว่ากันก็คือ คู่ที่ทำงานแบบออนไลน์กลับได้คะแนนมากกว่า หากพิจารณาจากแนวคิดเจ๋งๆ ที่เกิดขึ้น … เรียกว่า ‘น้อยแต่มาก’ อย่างแท้จริง!

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้ว่าผลลัพธ์ข้างต้นอาจจะเกิดจากการประชุมแบบออนไลน์ทำให้ขอบเขตการใช้สมองในการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์ ‘แคบลง’ มากกว่าการได้พูดคุยต่อหน้า จึงทดสอบโดยสุ่มให้อาสาสมัครบางคนมาประชุมพร้อมๆ กันทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์ ทำให้รู้ว่าเมื่อมีการประชุมต่อหน้าร่วมด้วย อาสาสมัครจะใช้เวลามองคนที่อยู่ในห้องเดียวกันและสิ่งรอบๆ ตัวเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แทนที่จะเอาแต่จ้องไปที่จอภาพอย่างเดียวอยู่ตลอดเวลา 

การมองกันและกันและสิ่งแวดล้อมรอบตัวขณะพูดคุยจึงอาจมีส่วนกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์

นักวิจัยยังทำการทดลองอีกชุดหนึ่ง คราวนี้ทำกับวิศวกรโทรคมนาคมจำนวนเกือบ 1,500 คน โดยให้สุ่มจับคู่อีกเช่นกัน จากนั้นก็ให้ช่วยกันคิดไอเดียใหม่ๆ และเลือกเอามาสักไอเดียหนึ่งเพื่อใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต 

ผลการทดลองก็ตอกย้ำสิ่งที่เกิดขึ้นในการทดลองก่อนหน้าคือ คู่ที่พูดคุยแบบต่อหน้าได้ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ จำนวนมากกว่า แต่หากเทียบเรื่อง ‘คุณภาพ’ ของแนวคิดสุดท้ายที่เลือกมาก็อยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างจากคู่คิดแบบออนไลน์เท่าใดนัก 

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อเราประชุมแบบออนไลน์ เรารู้สึกเหมือนกับว่า ‘เป็นหน้าที่’ ที่ต้องจ้องจอภาพในขณะที่ประชุมเหมือนเป็นมารยาทที่ดีแบบหนึ่ง ทำให้เรามีโอกาสเปลี่ยนเป้าสายตาไปรอบๆ แบบเดียวกับการประชุมต่อหน้าน้อยกว่า เพราะเกรงว่าจะเป็นการเสียมารยาทหรือหยาบคาย ทำนองเดียวกับคุยกันต่อหน้าแต่เรากลับหันข้างหรือหันหลังหรือแม้แต่เดินไปที่อื่นทั้งๆ ที่คุยกันอยู่

ครูอาจารย์หลายคนที่ต้องสอนออนไลน์อย่างยาวนานตั้งแต่สมัยโรคโควิดยังระบาด ตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเปลี่ยนมาสอนแบบออนไลน์ มีจุดอ่อนบางอย่างอยู่จริง เช่น การไม่สามารถมองนักเรียน นักศึกษาทั้งห้องหรือทุกคนได้พร้อมกันในคราวเดียว และยากจะเรียกร้องความสนใจให้เด็กๆ มองมาที่ตนอยู่ตลอดเวลาได้ 

แต่ก็มีข้อดีบางอย่างเกิดขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่าง มีแนวโน้มที่นักเรียนจะแย่งกันพูดน้อยลง แต่จะคอยให้เพื่อนพูดจบก่อนมากขึ้น นอกจากนี้นักเรียนที่ขี้อายและปกติไม่ค่อยกล้าพูดในห้อง หลายคนก็พูดบ่อยมากขึ้น แสดงให้เห็นว่ามีความกังวลใจเรื่องการพูดต่อหน้าคนอื่นลดลง

นักวิจัยแนะนำว่าการยอมให้คนที่ประชุมออนไลน์อยู่ ‘ปิดกล้อง’ บ้าง ก็ช่วยให้เจ้าตัวรู้สึกปลอดโปร่งและคิดไอเดียต่างๆ ได้ดีมากขึ้น 

แต่ก็ดังที่ทุกคนทราบดีแล้วว่า หลังจากสิ้นสุดการระบาดของโรคโควิด-19 ออฟฟิศแต่ละแห่งก็ปรับตัวแตกต่างกันไป แล้วแต่ผู้บริหารจะมองเรื่องการมาอยู่พร้อมหน้ากันมีความจำเป็นแค่ไหน แต่ตามข้อมูลข้างต้นที่ให้ไปแล้ว การอนุโลมให้ทำงานระยะไกลจากบ้าน (หรือที่ไหนก็ได้) ก็มีข้อดีและประโยชน์ต่างๆ อยู่ไม่น้อย แต่ก็ไม่ควรทำเช่นนั้นตลอดเวลา ควรต้องมาพบปะเจอะเจอกันบ้าง 

เฉพาะเรื่องการระดมสมอง แม้การระดมสมองทั้งออนไลน์และออฟไลน์จะได้แนวคิดดีๆ ไม่แตกต่างกันนัก แต่การมาเจอหน้ากันก็ช่วยให้ได้แนวคิดที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งอาจเหมาะสมกว่าในบางกรณีก็เป็นได้

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.activtrak.com/blog/remote-work-vs-office-productivity/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 12 เม.ย. 2025

[2] https://www.bls.gov/opub/btn/volume-13/remote-work-productivity.htm เข้าถึงข้อมูลวันที่ 12 เม.ย. 2025

[3] Scientific American Mind, July/August 2022, p. 8-10 

[4] https://themobilereality.com/blog/hr/working-at-home-vs-office เข้าถึงข้อมูลวันที่ 12 เม.ย. 2025[5] Brucks, M.S., Levav, J. Virtual communication curbs creative idea generation. Nature605, 108–112 (2022). https://doi.org/10.1038/s41586-022-04643-y

Tags:

ความคิดสร้างสรรค์การระดมสมอง (brainstorm)ระดมสมองออนไลน์ประสิทธิภาพการทำงานการสื่อสาร

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Alexithymia-nologo
    How to enjoy life
    พูดไม่ออก บอกไม่ถูก? เมื่อใจรู้สึก แต่ปากกลับบอกไม่ได้ว่าคืออารมณ์อะไร: Alexithymia ภาวะไร้คำให้กับอารมณ์

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    วันนั้นฉันเจอเพนกวิน: อย่าปิดกั้นจินตนาการของเด็กด้วยคำว่า ‘เพ้อฝัน’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • How to enjoy life
    พลังแห่งการเขียน: ยารักษาบาดแผลทางจิตใจคือไดอารี่แห่งความรู้สึก

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย

  • How to enjoy life
    Feedback 101: คำติชมคือคำติหรือคำชม?

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Character building
    ฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ใช่แค่ได้ยินแต่เข้าใจ : บันไดขั้นแรกของ ‘สมรรถนะการสื่อสาร’ ที่ช่วยสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

โสกราตีสสลับขั้ว: มีเพียงการตระหนักว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลยเท่านั้นที่จะลดการตัดสินผู้อื่นลงได้
Book
19 April 2025

โสกราตีสสลับขั้ว: มีเพียงการตระหนักว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลยเท่านั้นที่จะลดการตัดสินผู้อื่นลงได้

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • โสกราตีสสลับขั้ว เป็นเรื่องสั้นในหนังสือรวมเรื่องสั้นของ โคทาโร อิซากะ เล่าเรื่องราวที่สะท้อนอคติของครูที่ปิดกั้นศักยภาพของเด็กนักเรียน และการเรียนรู้แบบโสกราตีสที่เริ่มต้นจากการ ‘รู้ว่าตัวเองไม่รู้’
  • การยึดติดว่าตัวเองรู้ทุกอย่างนำไปสู่อคติ การถ่อมตนว่ายังไม่รู้ คือจุดเริ่มต้นของการเปิดใจ และเป็นวิธีเดียวที่จะทำลายอคติที่บั่นทอนศักยภาพของคนอื่น
  • สิ่งที่เราได้จากการรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรของโสกราตีส ก็คือ ‘สัจธรรม’ หรือ ความรู้ที่สมบูรณ์แบบตายตัวอาจไม่มีอยู่จริง

มนุษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพอยู่ในตัว ศักยภาพที่จะเติบโตเป็นคนดี คนเก่ง คนที่มีความสุข คนที่มีความมั่นใจ หรืออะไรก็ได้ที่ใจตัวเองอยากให้เป็น

แต่รู้มั้ยครับว่า  มีสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ และมักจะบ่อนทำลายศักยภาพในตัวคนได้อย่างง่ายดาย สิ่งนั้นก็คือ ‘อคติ’ หรือความเชื่อแบบผิดๆ ที่ถูกนำมาใช้ในการตัดสินคนอื่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อคติที่มาจากคนที่เป็นครู ผู้ใหญ่ หรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อเด็กๆ ที่ยังไม่ค้นพบศักยภาพของตัวเอง

“พวกเราได้รับอิทธิพลจากใครสักคนอยู่เสมอ เราเผลอสนใจว่าคนอื่นคิดยังไงมากกว่าตัวเองคิดยังไง”

ประโยคในเครื่องหมายคำพูดข้างบน มาจากปากของ ‘อันไซ’ ซึ่งเป็นตัวละครหนึ่งในหนังสือรวมเรื่องสั้นชื่อ ‘โสกราตีสสลับขั้ว’ ผลงานเขียนของ โคทาโร อิซากะ แปลเป็นไทยโดย ชุติภัค ฉายวิโรจน์

ครั้งแรกที่เห็นชื่อหนังสือ ผมอดงุนงงไม่ได้ โสกราตีส ปรัชญาเมธีชาวกรีก ผู้ได้ชื่อว่า เป็นบิดาแห่งวงการปรัชญาตะวันตก มาเกี่ยวอะไรกับหนังสือเล่มนี้ด้วย แล้วทำไมต้องสลับขั้วด้วย สลับขั้วแล้วความหมายมันเปลี่ยนไปอย่างไร

และที่สำคัญ โสกราตีส กับ อคติ ที่ผมเกริ่นนำในตอนต้นของบทความ มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร นั่นคือสิ่งที่บทความชิ้นนี้จะเล่าให้ฟังครับ

-1-

คุรุเมะ เป็นครูประจำชั้นเรียนประถมของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เขาเป็นครูหนุ่มไฟแรง อายุแค่สามสิบกว่า เปี่ยมไปด้วยความมั่นใจ จนบางครั้งก็กลายเป็นความมั่นใจที่มากเกินไป และนำไปสู่อคติที่เชื่อว่า ตัวเองคือผู้ตัดสินความถูกต้องทุกอย่างในชั้นเรียน

คุซาคาเบะ อาจไม่ใช่เด็กฉลาดที่สุดในห้อง แต่เขาไม่ใช่เด็กเกียจคร้าน ตรงกันข้าม คุซาคาเบะตั้งอกตั้งใจเรียน จนหลายๆ ครั้งที่เขาสามารถตอบคำถามยากๆ ในชั้นเรียนได้

น่าเศร้า ที่ความตั้งใจเรียนของคุซาคาเบะ ไม่เคยได้รับคำชมเชยเลยสักครั้ง เพราะครูคุรุเมะเชื่อว่า นั่นคือเรื่องฟลุ๊ค หรือเหตุบังเอิญที่นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง ในหัวของเขา คุซาคาเบะ คือเด็กเรียนไม่เก่ง เล่นกีฬาอะไรก็ไม่ได้เรื่อง มิหนำซ้ำบางครั้งยังแต่งตัวเฉิ่มๆ เชยๆ (ในความคิดของครูคุรุเมะ) มาโรงเรียนอีก

อันไซ เป็นเด็กนักเรียนชั้นเดียวกับคุซาคาเบะ เขาคือคนแรกที่มองเห็นอคติของครู ที่กำลังปิดกั้นศักยภาพในตัวของคุซาคาเบะ และเขาคือ คนแรกที่เรียกครูคุรุเมะว่า ‘โสกราตีส สลับขั้ว’

โสกราตีส คือ หนึ่งในนักปรัชญากรีกที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุด แล้วทุกคนรู้มั้ยครับว่า หลักปรัชญา หรือความรู้ของโสกราตีส คืออะไร

สิ่งเดียวที่โสกราตีสรู้ คือ การรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง คุณธรรมคืออะไร ความสวยงามคืออะไร ความรักคืออะไร หรือคำถามเชิงนามธรรมในเรื่องอื่นๆ ซึ่งการที่โสกราตีส ถ่อมตนว่าตัวเองไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้ จึงเปิดโอกาสให้ตัวเขาได้ช่องซักถามจากคนที่เชื่อว่าตัวเองคือผู้รู้จริงในเรื่องราวเหล่านี้

และโสกราตีสก็พบว่า ทุกคนที่กล่าวอ้างหรือเชื่อว่า ตัวเองรู้จริงในเรื่องต่างๆ สุดท้ายแล้ว ไม่มีใครรู้จริงอย่างสมบูรณ์เลยสักคนเดียว

สิ่งที่เราได้จากการรู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไรของโสกราตีส ก็คือ ‘สัจธรรม’ หรือ ความรู้ที่สมบูรณ์แบบตายตัวอาจไม่มีอยู่จริง 

เพราะฉะนั้น จึงไม่สมควรอย่างยิ่งที่ใครสักคนจะทึกทักเอาว่า ตัวเองคือผู้รู้จริงถ่องแท้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และตัวเองเท่านั้นคือผู้ที่สามารถตัดสินความถูกผิด หรือความดีชั่วของผู้อื่น

หากมีใครที่คิดเช่นนั้น นั่นแปลว่า เขาผู้นั้นกำลังมีอคติอยู่ในใจ และวิธีเดียวที่จะรับมือกับอคตินั้น ก็คือ ทำลายมันเสีย

อันไซ วางแผนที่จะทำลายอคติของครูคุรุเมะ โดยเฉพาะอคติที่เขามีต่อคุซาคาเบะ ซึ่งอคติเหล่านั้น เกิดจากความเชื่อผิดๆ ของครูคุรุเมะ ที่คิดว่า ตัวเองรู้จริงถ่องแท้ในเรื่องต่างๆ จนสามารถบอกได้เลยว่า เด็กที่มีลักษณะเช่นนั้น คือ เด็กที่เรียนไม่เก่ง ต่อให้พยายามแค่ไหน ก็ไม่มีวันเก่ง ขณะที่มองว่า เด็กที่มีลักษณะอีกอย่าง คือ เด็กที่จะเติบโตไปกลายเป็นคนเก่งของสังคม

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า ครูคุรุเมะ คือ ขั้วตรงข้ามของโสกราตีส หรือเรียกอีกอย่างว่า โสกราตีสสลับขั้ว นั่นเอง

อันไซ เล่าให้ คางะ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้น ถึงสิ่งที่ตัวเองเคยดูมาจากในโทรทัศน์ว่า คำพูดของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะครู มีผลต่อพัฒนาการ หรือศักยภาพของเด็กนักเรียนได้จริง

“ถ้าครูปฏิบัติกับเด็กโดยเชื่อว่า นักเรียนคนนี้โตไปน่าจะเก่ง เด็กคนนั้นจะเก่งขึ้นมาจริงๆ… ในทางตรงกันข้าม ถ้าปฏิบัติกับเด็กโดยเชื่อว่า นักเรียนคนนี้เป็นเด็กไม่เอาไหน ต่อให้เด็กคนนั้นทำเรื่องดีๆ ครูก็จะคิดว่า บังเอิญน่ะสิ… วิธีปฏิบัติต่อเด็กของครู อาจมีอิทธิพลขนาดนั้นเลยก็ได้”

อันไซ โน้มน้าวและชักชวนเพื่อนๆ หลายคน โดยเฉพาะคุซาคาเบะ ให้เข้าร่วมในแผนพลิกทำลายอคติของครูคุรุเมะ โดยให้เหตุผลว่า การกระทำครั้งนี้ ไม่ใช่เพื่อคุซาคาเบะเพียงคนเดียว แต่เป็นแผนการเพื่อเด็กอีกหลายคน เพราะถ้าปล่อยให้อคติฝังหัวครูคุรุเมะต่อไป ในอนาคตข้างหน้า จะต้องมีเด็กอีกหลายคน ที่ถูกปิดกั้น หรือถูกทำลายศักยภาพที่จะเติบโตเป็นนักเรียนที่เรียนเก่ง นักกีฬาระดับประเทศ ผู้ใหญ่ที่ดีของสังคม 

และที่สำคัญที่สุด ศักยภาพที่จะเติบโตเป็นคนที่มีความสุขกับชีวิตที่ตัวเองเชื่อมั่น

แผนการของเหล่าเด็กๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อทำลายอคติของผู้ใหญ่ ไม่ใช่แผนที่คาดหวังจะบรรลุผลสำเร็จได้ในคราวเดียว ตรงกันข้าม เป็นแผนที่ค่อยๆ บั่นทอนความเชื่อมั่นของครูคุรุเมะ ซึ่งอันไซ ผู้เป็นต้นคิด กล่าวว่า เพียงแค่ทำให้ครูฉุกใจคิดว่า การด่วนตัดสินคนอื่นอาจไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แค่นั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้ครูคุรุเมะ ระมัดระวังตัวเองมากขึ้น ก่อนที่จะใช้อคติตัดสินคนอื่นเหมือนที่ผ่านๆ มา

แน่นอนว่า อคติ ซึ่งเกิดจากความเชื่อมั่นผิดที่ฝังลึกในใจคน ไม่ใช่สิ่งที่จะถูกทำลายได้ง่ายๆ ในเรื่องสั้นเรื่องนี้ อันไซ และเพื่อนๆ ต้องใช้ความพยายามและแผนการหลายอย่างกว่าที่จะเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จตามที่ต้องการ ในแผนการขั้นสุดท้าย

-2-

คุซาคาเบะ เป็นเด็กที่ชอบกีฬาเบสบอล แต่ไม่มีใครรู้เลยว่า เขาเล่นเก่งหรือไม่เก่ง แต่สิ่งที่แน่นอนก็คือ ครูคุรุเมะ ไม่เคยเอ่ยปากชมคุซาคาเบะแน่ จนกระทั่งวันหนึ่ง นักเบสบอลระดับประเทศคนหนึ่ง (ซึ่งในหนังสือไม่ได้เอ่ยชื่อ) เดินทางไปเยี่ยมโรงเรียนประถมทั่วประเทศ รวมทั้งทำกิจกรรมสอนเด็กนักเรียนหวดไม้เบสบอล

อันไซ กับ คางะ ไปดักเจอนักเบสบอลระดับประเทศคนนั้น เพื่อขอให้เขาเอ่ยปากชมคุซาคาเบะว่า เป็นเด็กที่มีศักยภาพในการเล่นเบสบอล เพราะรู้อยู่แก่ใจว่า ในความคิดของครูคุรุเมะ คุซาคาเบะ คือ เด็กที่นอกจากจะเรียนไม่เก่งแล้ว กีฬาก็ยังไม่ได้เรื่องอีก แต่ถ้านักกีฬาระดับประเทศเอ่ยปากชมคุซาคาเบะแบบนี้ อคติที่เขาใช้ในการตัดสินนักเรียน จะต้องถูกสั่นคลอนอย่างรุนแรงแน่

นักเบสบอลระดับประเทศ ฟังเรื่องราวที่อันไซเล่าให้ฟังแล้วก็พูดเพียงแค่ว่า เขายินดีที่จะกล่าวชมเด็กนักเรียน แต่เขาจะไม่พูดโกหกหากเด็กคนนั้นไม่มีศักยภาพอย่างที่คิด

เล่ามาถึงตรงนี้ ทุกคนคงพอเดาออกใช่มั้ยครับว่า เรื่องราวจะจบลงอย่างไร ใช่ครับ ในวันที่นักเบสบอลระดับประเทศเดินทางมาเยี่ยมโรงเรียน พร้อมสอนเด็กๆให้หัดหวดไม้เบสบอล ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำลายอคติของครูคุรุเมะได้จริง

พอถึงคราวของคุซาคาเบะ เขาหวดไม้ด้วยท่าทางเงอะงะ ครูคุรุเมะเห็นดังนั้น ก็พูดออกมาว่า คุซาคาเบะ หวดไม้เบสบอลเหมือนกับเด็กผู้หญิง ขณะที่เด็กคนอื่นๆ พากันหัวเราะ อันไซ รีบทักท้วงในทันที

“อย่าพูดเหมือนคุซาคาเบะทำอะไรก็ไม่ได้เรื่องสิครับ…  ผมไม่ขอให้ครูตั้งความหวังกับเด็กทุกคนหรอก แต่โดนตัดสินว่าไม่ได้เรื่อง มันอึดอัดนะครับ”

คุซาคาเบะ ได้มีโอกาสหวดไม้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่ดีขึ้น นักเบสบอลคนดัง จึงชวนคุยให้เขาหายประหม่า แล้วชี้แนะให้ลองขยับเปลี่ยนตำแหน่งข้อศอกและหัวไหล่ ซึ่งก็ทำให้คุซาคาเบะ หวดไม้เบสบอลได้ดีขึ้นอย่างสังเกตเห็นได้

“เยี่ยม!” นักเบสบอลระดับประเทศ ถึงกับเอ่ยปากชม “ไว้ขึ้นชั้นม.ต้นแล้ว เธอจะเข้าชมรมเบสบอลก็ได้นะ เธอมีศักยภาพ”

-3-

รู้อะไรมั้ยครับ อคติ ไม่ได้มีอยู่แค่ในตัวคนอื่นหรอกครับ แต่มันยังฝังอยู่ในจิตใจของเราด้วย และมันก็เป็นอคติที่สมควรจะถูกทำลายเช่นกัน

ย้อนกลับไปตอนก่อนที่พวกเด็กๆ จะเริ่มวางแผนทำลายอคติของครูคุรุเมะ อันไซ ได้คุยกับคางะ เรื่องอคติที่เขาเคยพบเจอหลายครั้ง จากความที่ต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ อันไซบอกว่า ไม่ว่าจะอยู่ที่โรงเรียนไหน ก็มีคนที่คิดว่าตัวเองสามารถตัดสินคนอื่นได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นครู หรือนักเรียน ที่เที่ยวบอกกับคนอื่นว่า ทำอย่างนี้ไม่เท่เลย แต่งตัวแบบนี้เชยเป็นบ้า หรือท่าทางเนือยๆ แบบนี้ต้องเป็นเด็กเรียนไม่เก่งแน่ๆ

ถึงตอนนั้น อันไซ บอกกับคางะว่า เขามีเคล็ดลับสำคัญที่ช่วยให้ไม่ถูกอคติของคนอื่นครอบงำจิตใจ และเคล็ดลับที่ว่า เป็นประโยคสั้นๆแค่ 5 พยางค์ ว่า…

“ฉันไม่คิดอย่างนั้น”

สมมติมีใครมาบอกว่า พ่อของนายเป็นคนน่าสมเพช เพราะต้องลาออกจากบริษัท หรือ เด็กผู้ชายใส่แจ็คเก็ตสีชมพู เหมือนกับเด็กผู้หญิงหน่อมแน้มเลย ก็ให้มองหน้าคนนั้น แล้วพูดออกไปช้าๆ อย่างหนักแน่นว่า…

“ฉันไม่คิดอย่างนั้น”

คำพูดสั้นๆ แค่ห้าพยางค์ ไม่เพียงแต่จะทำให้คนที่ชอบใช้อคติตัดสินคนอื่น ต้องหยุดคิดว่า มีคนที่คิดต่างจากตัวเองด้วย แต่ที่สำคัญยิ่งกว่า คำพูดประโยคนั้น ยังช่วยให้ตัวเราไม่ถูกครอบงำโดยอคติของคนอื่น จนกลายเป็นอคติที่เราคิดกับตัวเองอีกด้วย

หลังจากที่นักเบสบอลระดับประเทศเอ่ยปากชมคุซาคาเบะ ครูคุรุเมะ ผู้ถูกสั่นคลอนความเชื่อมั่นอย่างรุนแรง ยังไม่ยอมละทิ้งอคติง่ายๆ เขาพูดขึ้นมาว่า

“คุซาคาเบะ เธออย่าเชื่อจริงจังล่ะ เขาแค่ชมตามมรรยาทเท่านั้นแหละ”

ใช่ครับ ทุกคนทายถูกครับว่า คุซาคาเบะจะตอบอย่างไร เขามองหน้าครู แล้วพูดช้าๆอย่างหนักแน่น

“ครูครับ ผมไม่คิดอย่างนั้น”

Tags:

ครูเด็กนักเรียนGyaku Socrates

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Movie
    Freedom Writers: ครูผู้ชวนเด็กๆ ขีดเขียนชีวิตในแบบของตัวเอง ด้วยความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิมีชีวิตที่ดี

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Social Issues
    วิทย์นอกเวลา การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเอง จากกรุงเทพคริสเตียนสู่เวทีโลก: ครูชนันท์ เกียรติสิริสาสน์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • หน้าตาของความกลัวในรั้วโรงเรียน

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative learning
    ‘นอกกรอบ อิงลิช with teacher ดาว’ ห้องเรียนภาษาอังกฤษที่เปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า ด้วย Active Learning

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

การศึกษาไม่ควรมีคำว่า ‘ชายขอบ’ พัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายแดนด้วย ICAP: ครูมื่อ-ประทิม สายชลคีรี 
Unique TeacherSocial Issue
17 April 2025

การศึกษาไม่ควรมีคำว่า ‘ชายขอบ’ พัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายแดนด้วย ICAP: ครูมื่อ-ประทิม สายชลคีรี 

เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • ครูมื่อ – ประทิม สายชลคีรี ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.บ้านแม่ต้าน ทุ่มเททำงานในพื้นที่ชายขอบ โดยใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการ ICAP เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายแดนให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
  • ครูพยายามเชื่อมโยงผู้ปกครอง ครู และชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ทั้งทางภาษา ร่างกาย จิตใจ และสังคม ผ่านกิจกรรมที่เข้ากับบริบทท้องถิ่น
  • ความฝันของครูมื่อ คือการที่เด็กทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีพัฒนาการสมวัย และเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ แม้จะอยู่ชายขอบของโอกาสก็ตาม

พัฒนาการในช่วงปฐมวัยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม เพราะเป็นช่วงที่เด็กเริ่มสร้างพื้นฐานการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต แต่สำหรับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล พวกเขามักเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา ส่งผลต่อพัฒนาการที่ล่าช้าหรือไม่สมวัย

ครูมื่อ – ประทิม สายชลคีรี แห่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.บ้านแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงมุ่งมั่นพัฒนาเด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีพัฒนาการตามวัย สามารถ พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ โดยใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ด้วยเครื่องมือ ICAP (Integrated Child and Adolescent Development Program) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะเด็กในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม

“ถ้าเราสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ดีขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ งบประมาณและบุคลากรซึ่งยังไม่เพียงพอ ทำให้ทุกวันนี้การเรียนของเด็กส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กเอง ครูจึงต้องเป็นสื่อกลาง คอยกระตุ้นและส่งเสริม เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น”

ครูมื่อ กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า การส่งเสริมพัฒนาการในช่วงวัยนี้จะช่วยให้เด็กมีศักยภาพในระยะยาวและลดปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในอำเภอท่าสองยาง มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด 36 ศูนย์ โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ครูมื่อทำงานตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ต้าน เป็นศูนย์ใหญ่เพียงแห่งเดียวในตำบลนี้ ทั้งศูนย์มีเด็กจำนวน 100 คน แบ่งเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ และห้องสำหรับเด็กอายุ 4 ขวบ โดยในแต่ละห้องจะมีเด็กจำนวน 50 คน

เด็กๆ ที่เรียนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ซึ่งใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นหลัก พ่อแม่ของเด็กๆ หลายคนไม่สามารถพูด อ่าน หรือเขียนภาษาไทยได้ ทำให้การเรียนรู้ของเด็กๆ มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น 

กิจกรรมบูรณาการ สานพลังครูและครอบครัว

เนื่องจากครูมื่อทำงานบริเวณชายแดนและได้คลุกคลีและทำงานร่วมกับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์และครูในพื้นที่อย่างใกล้ชิดมาตลอด 25 ปี ทำให้ครูเริ่มพูดภาษาปกาเกอะญอได้จากการฟังเด็กพูด ครูจึงเชื่อว่าหากฝึกฝนทุกวัน เด็กก็จะสามารถพูดได้เช่นเดียวกัน

“ตอนแรกๆ ที่อยู่กับเด็ก เขาพูดภาษาถิ่นกันทุกวัน ตอนแรกครูก็ไม่เข้าใจหรอกค่ะ แต่ฟังไปเรื่อยๆ อยู่กับเด็กทุกวัน ครูก็พูดได้เอง สิ่งนี้ทำให้ครูเชื่อว่า ถ้าเราได้ยินและพูดอะไรทุกวัน เราก็จะซึมซับและพูดได้ เช่นเดียวกับเด็กๆ ถ้าเขาได้พูดภาษาไทยทุกวัน วันหนึ่งเขาก็จะพูดได้เอง

ครูเลยกำชับคุณครูที่อยู่ในพื้นที่ว่า ‘ห้ามพูดภาษาถิ่นกับเด็ก’ ให้ใช้แต่ภาษาไทย เวลาประชุมผู้ปกครองก็บอกพ่อแม่เหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่พวกเขาทำอาชีพค้าขายหรือเกษตรกรรม พูดภาษาไทยได้บ้างแต่ไม่ชัด อาจจะเป็นสำเนียงเหนือผสมภาษากลาง บางทีเขาก็ไม่กล้าพูดกับลูก”

โดยครูมื่อแนะนำผู้ปกครองว่า ให้เริ่มจากสิ่งง่ายๆ ใกล้ตัว เช่น บอกลูกว่า ‘ไปเอาช้อนให้หน่อย’ ‘ไปหยิบไม้กวาดให้หน่อย’ เน้นให้พูดบ่อยๆ เหมือนที่ครูทำในโรงเรียน เด็กจะได้คุ้นเคยกับภาษาไทย แล้วเวลากลับไปบ้าน ก็ให้พ่อแม่ช่วยคุยกับลูกต่อ

นอกเหนือจากการประสานกับผู้ปกครองแล้ว การปรับเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ครูมื่อจึงนำเครื่องมือการเรียนรู้ที่เป็นการบูรณาการจาก ICAP มาใช้ในการพัฒนาเด็ก

“การเรียนการสอนที่ศูนย์ฯ เน้นให้เด็กเรียนรู้จากการเล่น ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กในช่วงวัยนี้ นอกจากนี้ ครูยังพยายามนำกิจกรรมที่เหมาะสมกับความสนใจของเด็กๆ เข้ามาให้พวกเขาได้เรียนรู้” 

กิจกรรมที่ครูมื่อจัดทำจะเน้นไปที่การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งการเรียนรู้ผ่านการเล่นจะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติและเหมาะสมกับวัย โดยก่อนที่ ICAP จะเข้ามา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลักสูตรและแผนการจัดประสบการณ์ให้เด็กซึ่งกำหนดให้ต้องจัด 6 กิจกรรม และต้องบูรณาการให้ครบในแต่ละวัน

“เราพยายามจัดกิจกรรมให้ครบถ้วนที่สุด แต่ว่าในตอนนั้นยังไม่มีการจัดมุมของเล่นโดยเฉพาะ พอ ICAP เข้ามา รูปแบบการจัดการเรียนการสอนก็เริ่มเปลี่ยนไปเลยค่ะ ICAP จะจัดให้มีกิจกรรมทั้งหมด 5 มุม โดยจะไม่มีมุมดนตรี แต่จะให้เด็กๆ เลือกเครื่องดนตรีมาใช้ในการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ซึ่งสามารถนำมาบูรณาการเข้าด้วยกันได้ เด็กๆ ก็ยังคงสนุกกับกิจกรรมเหล่านี้อยู่นะคะ หลังจากนั้นเมื่อเสร็จแล้ว เด็กๆ จะต้องเก็บเครื่องดนตรีและไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมเสริมประสบการณ์ หรือมุมเสรี

สำหรับมุมเสรี เด็กๆ สามารถเลือกอยู่ในมุมที่ตัวเองสนใจได้ แต่จะจำกัดแค่ 5 คนต่อมุม ถ้ามีเด็กคนที่ 6 อยากเข้ามาก็จะไม่ได้เล่นในมุมนี้ และต้องเลือกมุมอื่นไป หรือถ้าอยากเล่นจริงๆ ก็ต้องรอวันพรุ่งนี้ ซึ่งในกระบวนการนี้ เด็กๆ จะเริ่มเรียนรู้ที่จะอดทนรอคอยและฝึกการเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันค่ะ”

ในเรื่องของการพัฒนาภาษาการพูดสำหรับเด็กที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ICAP ได้เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนและจัดห้องเรียน รวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่ใช้เพลง, คำคล้องจอง และหนังสือนิทานในการช่วยเสริมทักษะทางภาษา โดยเด็กๆ จะได้เล่าเรื่องจากภาพที่เห็น ซึ่งช่วยให้มีการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูก แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่ 10-15 นาที ก็ส่งผลให้พัฒนาการของเด็กดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผลลัพธ์จากความร่วมมือ คือการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

ครูมื่อเล่าว่า เมื่อมีการจัดกิจกรรมดังกล่าว เด็กมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบวินัย การอดทนรอคอย หรือทักษะด้านภาษา เด็กๆ เริ่มกล้าพูดและช่างถามมากขึ้น จากที่ในอดีตไม่กล้าพูดเพราะกลัวว่าจะพูดผิด เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่ถ้าพูดผิด ความหมายอาจเปลี่ยนไปเลย ทำให้เด็กๆ ขาดความมั่นใจ ดังนั้นจึงต้องกระตุ้นให้เด็กถามซ้ำๆ เพื่อช่วยให้เด็กจำได้ และในปัจจุบันเด็กๆ ก็เริ่มกล้าพูดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“เราใช้เวลาแค่ 15 วัน ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วค่ะ เพราะเด็กได้ฝึกทุกวัน หลังจากเรียนจบในแต่ละวัน เด็กจะได้รับหนังสือนิทานกลับไปที่บ้าน พอวันรุ่งขึ้น ครูก็จะถามว่า “เมื่อวานแม่เล่าเรื่องอะไรให้ฟัง” ให้เด็กได้มีโอกาสเล่าเรื่องหน้าชั้นเรียน ว่าเขาได้หนังสือนิทานอะไรไป และแม่เล่าให้ฟังว่ายังไง แรกๆ เด็กๆ ก็ไม่กล้าถามกันค่ะ เราก็ต้องกระตุ้นว่า ‘ต้องถามนะ หนูถามอะไรก็ได้’ เช่น ‘หนูเห็นอะไรในนิทานบ้าง’ เด็กก็จะเริ่มตอบว่า ‘เห็นหมีค่ะ หมีสีนี้นะ’ หรือ ‘เห็นไก่ค่ะ ไก่ออกไข่’

แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดก็คือความร่วมมือของผู้ปกครองในหมู่บ้านค่ะ ถึงแม้พวกเขาจะอยู่กันคนละที่ คนละทาง แต่พอเราขอความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องของลูกๆ ก็ไม่เคยมีใครปฏิเสธเลย ไม่มีใครบอกว่า ‘ไม่ไป’ หรือ ‘ไม่ทำ’ ทุกคนพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ ซึ่งเป็นเสียงตอบรับที่ดีมากเลยค่ะ 

และอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเลยก็คือ เดี๋ยวนี้เด็กๆ พูดภาษาไทยได้แล้ว เวลาเราถามว่า ‘คุณครูคนนี้ชื่ออะไร’ หรือถามชื่ออะไรต่าง ๆ เด็กก็ตอบได้หมดเลย แล้วเวลาประชุมผู้ปกครอง เราก็แนะนำว่า พอกลับถึงบ้านให้เปิดกระเป๋าลูกดู แล้วถามลูกเป็นภาษาไทยว่า ‘วันนี้คุณครูให้ทำอะไรบ้าง’ หรือ ‘วันนี้กินข้าวกับอะไร’ ซึ่งผู้ปกครองก็ทำตามนะคะ ผลที่ออกมาคือ ภาษาไทยของเด็กดีขึ้นมาก

ที่สำคัญกว่านั้นคือ เด็กกล้าพูดมากขึ้น เวลาโรงเรียนมีบุคคลภายนอกมา เขาก็กล้าสื่อสาร ไม่กลัวเหมือนเมื่อก่อน พอเห็นแบบนี้แล้ว มันทำให้เราที่เป็นครูมีความสุขมากเลยค่ะ คือเราได้เห็นแววตาของเด็กๆ และผู้ปกครอง มันเป็นอะไรที่ดีงามมากเลยจริงๆ” ครูมื่อ เล่า

ขยายผลด้วยความทุ่มเท เพื่อพัฒนาเด็กชายขอบอย่างทั่วถึง

นอกจากการพัฒนาในศูนย์ฯ ของตนเองแล้ว ครูมื่อยังพยายามเผยแพร่ความรู้ รวมทั้งขยายผลไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้รับโอกาสสำคัญในการเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่วิทยาลัยชุมชนตาก ที่มุ่งให้ความรู้แก่ครูที่ต้องการเรียนเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะของตนเอง ซึ่งเมื่อครูเหล่านี้มาเรียนและอบรมก็จะได้รับวุฒิการศึกษา สามารถนำความรู้ไปจัดการเรียนรู้ที่ศูนย์เด็กเล็กของตนเองได้

“กิจกรรมที่อบรมส่วนมากก็จะเป็นเรื่องของสื่อและของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยค่ะ เราจะเน้นใช้วัสดุในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย อยู่ใกล้ตัวเด็ก ให้เขาได้รู้จักและคุ้นเคย อย่าแถวบนดอยมีกอไผ่เยอะ เราก็ใช้ต้นไผ่มาทำของเล่น เช่น ทำเป็นล้อ ทำเป็นรถลากให้เด็ก หรือทำที่ยืนสองขาให้เด็กได้เล่น เพื่อฝึกพัฒนากล้ามเนื้อขา

นอกจากนี้ วัสดุรีไซเคิลที่หาได้ง่ายๆ ก็สามารถนำมาใช้ได้หมดเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นฝาขวดน้ำ หลอดกาแฟ เด็กๆ ก็จะชอบ โดยเฉพาะเด็กอายุ 3-4 ขวบ เพราะพัฒนากล้ามเนื้อมือเขายังไม่ค่อยแข็งแรง การให้เด็กได้ฉีกกระดาษ ตัดกระดาษ หรือแม้แต่ขยำกระดาษรีไซเคิลให้เป็นลูกบอลไว้โยนเล่น ก็เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เด็กๆ สนุก แล้วก็ช่วยเสริมพัฒนาการไปด้วย

โดยสิ่งที่เราทำตรงนี้ มันเกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของเราค่ะ อีกอย่างคือ เรามีความพร้อม เพราะไม่ได้มีภาระอะไร ครูก็เลยอุทิศเวลาที่มีให้กับการศึกษาปฐมวัยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้กับนักศึกษา เด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ปกครอง

ครูเองก็เข้าร่วมการอบรม ประชุม สัมมนาต่างๆ อย่างเต็มที่ แล้วก็นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดห้องเรียน หรือการส่งเสริมพัฒนาการเด็กว่าควรทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ทำแค่คนเดียวค่ะ แต่ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ช่วยผลักดัน หรือหมอพัฒนาการเด็ก และหมอปฐมภูมิที่ดูแลชุมชนและพัฒนาการเด็กในระดับอำเภอ รวมไปถึง ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย และสมาชิกในชุมชน

ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันนะคะ ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พอเราทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยให้เด็ก มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรามุ่งหวังและตั้งใจทำค่ะ” ครูมื่อกล่าว

ความฝันของครูมื่อ คือเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม  

เป้าหมายสูงสุดของครูมื่อ นอกจากการพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นคนที่มีศักยภาพในทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการมีความรู้และทักษะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ครูมื่อยังต้องการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถานะทางทะเบียนหรืออุปสรรคทางภาษา

“ครูมื่อมีความฝันที่จะเห็นเด็กๆ กลุ่มนี้ได้มีพัฒนาการสมวัย ไม่แพ้ใคร รวมถึงอยากให้ศูนย์เด็กเล็กที่ติดชายแดนทุกๆ ที่เป็นเหมือนของเรา ซึ่งตอนนี้ก็สำเร็จไปเกินครึ่งแล้วค่ะ หากบางที่ติดขัดปัญหาอะไร ครูมื่อก็จะเป็นคนไปประสานกับทางผู้ใหญ่ให้เพื่อทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมค่ะ”

สุดท้ายนี้ ครูมื่อฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่าการพัฒนาเด็กในพื้นที่ชายแดนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีทั้งข้อจำกัดด้านทรัพยากรและปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากสภาพแวดล้อม แต่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตามวัย และสามารถเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม

“อยากฝากถึงคุณครูของเราทุกคน ทุกวันนี้เรามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ครูเชื่อว่าครูชายขอบทุกคนที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการพัฒนาเด็กให้พวกเขามีพัฒนาการที่สมวัย มีความฝัน มีจินตนาการ และได้รับแรงบันดาลใจ 

เพื่อที่พวกเขาจะจดจำได้ว่า ตอนเด็กๆ พวกเขาเคยได้เรียนรู้ ได้เก็บเกี่ยวความสุข สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และเมื่อเด็กเติบโตขึ้น สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วยค่ะ” ครูมื่อกล่าวส่งท้าย

Tags:

ชายขอบพัฒนาการปฐมวัยการศึกษาICAP

Author:

illustrator

กนกพิชญ์ อุ่นคง

A girl who aspires to live like a yacht floating on the ocean, a dandelion fluttering over the heather, a champagne bursting in party.

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Social Issues
    ‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ ทางออกอยู่ที่ไหน เมื่อเด็กตกอยู่ในการวนซ้ำของการหลุดจากระบบการศึกษา

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Early childhood
    Play with your heart ‘เล่นอย่างอิสระ’ เรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณภาพ: ครูมอส- อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน(7): หย่านมแบบลูกนำ กับมื้ออาหารที่ไม่ต้องคอยป้อน

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Space
    เปลี่ยนสนามเด็กเล่นที่ไม่น่าเล่นและไม่ปลอดภัย มาเป็นผู้ช่วยให้เด็กพัฒนาสมวัย

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน : การทำงานและความจำใช้งาน (1) “เด็ก 4-7 ขวบควรทำงาน”

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

The Unbreakable Boy: เพราะชีวิตคือสิ่งล้ำค่า ไม่ว่ามันจะแตกต่าง หรือแตกสลาย
Movie
11 April 2025

The Unbreakable Boy: เพราะชีวิตคือสิ่งล้ำค่า ไม่ว่ามันจะแตกต่าง หรือแตกสลาย

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • ภาพยนตร์ The Unbreakable Boy ดัดแปลงจากหนังสือขายดีชื่อเดียวกัน ถ่ายทอดชีวิตจริงของ ‘สก็อต เลอแรตต์’ คุณพ่อยังหนุ่มที่ต้องเลี้ยงดูลูกชายที่เกิดมาพร้อมโรคกระดูกเปราะและมีภาวะออทิสติก
  • แม้ภาพยนตร์จะสร้างความประทับใจผ่านเรื่องราวของ ‘ออสติน’ เด็กชายผู้ไม่เคยยอมแพ้ต่อข้อจำกัดของตนเอง ทว่าบทความนี้อยากชวนทุกคนเรียนรู้และเติบโตไปพร้อมๆ ‘สก็อต’ คุณพ่อมือใหม่ที่ต้องเจอโจทย์ยากตั้งแต่วันแรก
  • “ชีวิตของมนุษย์เต็มไปด้วยบาดแผลและความพังทลาย แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อผิดพลาดและพยายามซ่อมแซมมันอย่างตั้งใจ เราก็จะค่อยๆ กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม”

ลองจินตนาการว่าคุณมีลูกสักคนที่เกิดมาพร้อมกับโรคกระดูกเปราะ (Osteogenesis Imperfecta: OI) และมีภาวะออทิสติก ขณะเดียวกันคุณยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิต คำถามคือคุณจะบริหารจัดการตัวเองในฐานะหัวหน้าครอบครัวอย่างไร

นั่นคือชีวิตจริงของ ‘สก็อต เลอเรตต์’ ที่ถูกนำมาบอกเล่าผ่านภาพยนตร์เรื่อง The Unbreakable Boy ที่สร้างจากหนังสือขายดีชื่อเดียวกันในปี 2014

[*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์]

เรื่องทั้งหมดเริ่มจากการที่สก็อตตกหลุมรัก ‘เทเรซา’ พนักงานขายเสื้อคนหนึ่งเข้าอย่างจัง แต่หลังจากเดทกับเธอได้เพียง 3 ครั้ง เขากลับพลาดทำเธอท้อง 

ผลจากการเป็นพ่อที่ไม่พร้อม ทำให้สก็อตมีความกังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะเมื่อรู้ว่าเทเรซาเป็นโรคกระดูกเปราะ ซึ่งหมายความว่า เด็กที่เกิดมามีความเป็นไปได้สูงที่จะเป็นโรคเดียวกัน ซึ่งความกังวลนั้นไม่เพียงเป็นจริงนับตั้งแต่ที่ ‘ออสติน’ ลูกชายของเขาลืมตาดูโลก แต่ยังเพิ่มเติมด้วยภาวะออทิสติกที่พวกเขาสังเกตได้ในภายหลัง

-1-

ออกตัวก่อนว่าแม้ภาพยนตร์ดูจะมุ่งเน้นเรื่องแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของออสติน แต่ผมกลับสนใจพัฒนาการของตัวละครอย่างสก็อตมากกว่า เพราะนอกจากการเป็นคุณพ่อยังหนุ่มโดยไม่ตั้งใจ หรือการพยายามช่วยให้ออสตินสามารถใช้ชีวิตแบบเด็กทั่วไปแล้ว เขายังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายที่ยากจะก้าวข้าม

สก็อตตระหนักดีว่าตัวเองเป็นเสาหลักของครอบครัว ทุกเช้าเขาจะออกไปทำงานนอกบ้าน และกลับมาบ้านตอนเย็นเพื่อเผชิญกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ซึ่งหลายครั้งเมื่อภรรยาไม่อยู่และฝากออสตินไว้ก็มักเกิดอุบัติเหตุร้ายแรง จากการที่เขาละสายตาจากลูก

“ผมรู้สึกว่าพ่อใกล้ชิดและห่างไกลในเวลาเดียวกัน ราวกับว่าแม้ว่าผมจะอยู่ที่นั่น แต่พ่อก็ไม่เคยเห็นผมจริงๆ” ออสติน ถ่ายทอดความรู้สึกของเขาที่มีต่อพ่อ

ซึ่งผมเชื่อว่าลึกๆ แล้ว สก็อตเต็มไปด้วยความเครียดและความวิตกกังวล หลายครั้งเขาหันไปพึ่งแอลกอฮอล์เพื่อหลีกหนีความจริงจากการเป็นพ่อ ‘ชั่วขณะ’ แต่ชั่วขณะก็ไม่มีอยู่จริง สก็อตเริ่มดื่มแอลกอฮอล์หนักขึ้นจนเสพติดและหยุดตัวเองไม่ได้ ทำให้ท้ายที่สุดเขาถูกบริษัทไล่ออกด้วยเหตุผลดังกล่าว ซึ่งการตกงานของเขาส่งผลต่อสถานะทางการเงินของครอบครัวถึงขั้นต้องขายบ้านหลังใหญ่ของตัวเอง ไม่เพียงเท่านั้นมันยังซ้ำเติมให้สถานการณ์เลวร้ายลงเรื่อยๆ จนถึงจุดแตกหัก และเขาต้องกลับไปอาศัยอยู่กับพ่อแม่

“ผมไม่รู้จริงๆ ว่าจะไปที่ไหนหรือทำอะไร ผมขอโทษนะแม่” 

หัวใจของสก็อตแหลกสลาย เขาระบายความกดดันต่างๆ ให้พ่อแม่ฟัง ทั้งเรื่องการตกงานและการสอบตกในฐานะหัวหน้าครอบครัว เขารู้สึกเหมือนชีวิตตัวเองพังทลาย ไร้ค่า และหมดหนทางที่จะกลับมาได้อีก แต่ในขณะที่เขาจมดิ่งอยู่กับความสิ้นหวัง แม่กลับยื่นแก้วใบหนึ่งให้เขาพร้อมกับบอกให้เขาทำลายมันทันที

หลังจากสก็อตทำแก้วแตกออกเป็นเสี่ยงๆ แม่จึงเปรียบเปรยว่า ชีวิตของมนุษย์ก็เหมือนแก้วใบนี้ เต็มไปด้วยบาดแผลและความพังทลาย แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะยอมรับข้อผิดพลาดและพยายามซ่อมแซมมันอย่างตั้งใจ เราก็จะค่อยๆ กลายเป็นคนที่ดีกว่าเดิม 

“ตอนนี้สถานการณ์ของลูกเป็นอย่างนี้ใช่ไหม  พวกเราทุกคนต่างก็เป็น แต่ลูกรัก ความผิดพลาดของลูกไม่ได้กำหนดตัวตนของลูก พวกเขาจะกำหนดลูกจากวิธีที่ลูกใช้แก้ไขตัวเอง”

เมื่อได้รับข้อคิดดีๆ จากแม่ สก็อตตัดสินใจเข้ารับการบำบัดจนสภาพจิตใจและอาการติดแอลกอฮอล์ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งผมชอบวิธีคิดของผู้กำกับที่ใส่ฉากที่สก๊อตนำเศษแก้วใบที่ทำแตกมาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้กาวผสมทอง ทำให้ผมนึกถึงศิลปะของญี่ปุ่นอย่าง Kintsugi ที่เน้นการตกแต่งร่องรอยที่แตกร้าวบนวัตถุแทนที่จะพยายามปกปิดมัน (สื่อถึงการยอมรับและเห็นคุณค่าของความไม่สมบูรณ์แบบ) 

ฉากนี้จึงไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นถึงการเยียวยาและการเริ่มต้นใหม่ของสก็อต แต่ยังเปรียบเหมือนการที่เขาเรียนรู้ที่จะยอมรับความล้มเหลวและรอยร้าวในชีวิตที่เคยทำให้เขารู้สึกไร้ค่า

นอกจากคำพูดของแม่ อีกประโยคที่ผมประทับใจคือคำพูดของเทเรซา เมื่อเธอให้อภัยสก็อต หลังจากเห็นถึงความพยายามและการเปลี่ยนแปลงของเขา

“คุณรู้ไหมว่าฉันชื่นชมอะไรในตัวคุณ คุณแหลกสลาย คุณหลงทาง หวาดกลัว และเข้าใจสิ่งต่างๆ ผิด แต่คุณก็ยังคงพยายามต่อไป” 

-2-

ในบรรดาเรื่องราวหรือผู้คนที่ทำให้สก็อตเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่เวอร์ชั่นที่ดีขึ้น ผมอยากชวนย้อนมองความสัมพันธ์ระหว่างสก็อตกับออสตินสักเล็กน้อย เพราะแม้เขาจะรักลูกมากแค่ไหน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกระทำของเขาในหลายๆ ครั้งมันสะท้อนว่าเขามองออสตินเป็นภาระหรือปัญหาหนักในชีวิต ซึ่งเด็กชายก็รับรู้ความรู้สึกนั้นได้

แต่หลังจากที่เขาค่อยๆ เปิดใจและทำความเข้าใจออสติน สก็อตก็เริ่มตระหนักว่าเด็กชายที่อาจจะเข้าใจยากสักหน่อยคนนี้ ไม่ใช่ตัวการความล้มเหลวในชีวิต แต่เป็นแสงที่ส่องสว่างแม้ในยามมืดมิด 

เช่น ในตอนที่ ‘โลแกน’ น้องชายของออสตินมีเรื่องชกต่อยกับไทเลอร์  (คนที่ออสตินมองว่าเป็นเพื่อนของเขา) เพราะไทเลอร์ชอบแกล้งสองพี่น้องอยู่บ่อยๆ ออสตินกลับบอกว่า “ไทเลอร์ไม่ได้เป็นคนไม่ดี” 

“เพราะว่าเขาเศร้าไง เขาเศร้า พ่อของเขาติดคุกมานานมาก แถมแม่ของเขาก็ป่วยเป็นมะเร็งอาการหนักมาก และฉันได้ยินมาว่าเขาไม่มีโอกาสฉลองคริสต์มาสด้วยซ้ำ ฉันคิดว่าเขาเศร้าและมันก็ทำให้ฉันเศร้าด้วยเช่นกัน”

คำพูดของออสตินทำให้พ่อ แม่ และโลแกน รวมถึงผม ได้รู้ว่าเขารับรู้ทุกอย่างแม้จะไม่สามารถสื่อสารได้ง่ายๆ เหมือนเด็กคนอื่น และมากกว่านั้นเขายังมีความเห็นอกเห็นใจที่เด็กปกติบางคนอาจจะไม่มีด้วยซ้ำ และนั่นทำให้โลแกนให้อภัยและกลับไปทำดีกับไทเลอร์ จนทั้งสามกลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในที่สุด 

สก็อตเองก็ได้เรียนรู้มากมายจากมองโลกอย่างจริงใจของออสติน ครั้งหนึ่งในการบำบัดเขากล่าวว่า เขาอยากเป็นเหมือนลูกชายมากขึ้น เพราะออสตินได้สอนบทเรียนต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะการมีความสุขกับปัจจุบันขณะ เหมือนกับที่ออสตินพูดถึงมิลค์เชค ซึ่งเป็นเครื่องดื่มสุดโปรดว่า 

“มิลค์เชคทุกแก้วสามารถเป็นมิลค์เชคที่ดีที่สุดได้” ดังนั้น ทุกวันก็สามารถเป็นวันที่ดีที่สุดได้ และทุกช่วงเวลาก็สามารถเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด เพียงแค่เราต้องมองเห็นคุณค่าของช่วงเวลาตรงหน้าเท่านั้น

“พ่อได้โปรดมองผมหน่อย ผมมีเรื่องสำคัญจะบอก นี่คือมิลค์เชคสตรอเบอร์รี่ที่ดีที่สุดที่ผมเคยดื่ม …มิลค์เชคนี้มันสมบูรณ์แบบมาก พ่อเข้าใจไหม มิลค์เชคนี้ดีมากมันทำให้ทุกอย่างดีขึ้นไปหมด นี่คือวันที่ดีที่สุดในชีวิตของผม”

-3-

ผมได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ แซคารี ลีวาย ฮีโร่หุ่นล่ำจาก Shazam! ผู้รับบทเป็น ‘สก็อต’ เขาบอกความในใจสั้นๆ ว่าการรับบทนี้ทำให้เขาตระหนักว่าเด็กๆ ก็สามารถเป็นครูที่ดีให้กับพ่อแม่และมีส่วนช่วยให้พ่อแม่ที่บกพร่องกลายเป็นพ่อแม่ที่ดีกว่าเดิม

“เขา (สก็อต) กำลังพยายามทำสิ่งต่างๆ อย่างเต็มที่ ภายนอกเขาดูเป็นคนมองโลกในแง่ดี แต่เห็นได้ชัดว่าเขากำลังดิ้นรนอย่างหนักภายในจิตใจ ผมคิดว่าเขายอมรับว่าเขาไม่ได้รักและโอบรับชีวิตที่เขาได้รับมาอย่างเต็มที่ และเขายังไม่ได้เรียนรู้จากตัวอย่างของลูกชายเขาเอง…

แต่แล้วทั้งเขาและผมก็เริ่มตระหนักว่าเด็กๆ สามารถเป็นครูของเราได้ พวกเขามีสิ่งที่มากกว่าชีวิตในอุดมคติที่เราคิดว่าเราควรจะมี และการยอมรับชีวิตที่พระเจ้ามอบให้เราอย่างสุดหัวใจ และในสิ่งนั้น เราก็จะได้รับทั้งความงามและของขวัญ นั่นคือสิ่งที่ผมหวังว่าผู้ชมจะได้เรียนรู้และนำกลับไปคิดต่อ”

ผมเองก็ได้เรียนรู้เช่นกันว่า Nobody’s Perfect ชีวิตของทุกคนต่างก็มีร่องรอยในแบบของตัวเอง สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่สมบูรณ์แบบ และยอมรับว่าบาดแผลหรือรอยร้าวก็เป็นส่วนหนึ่งของการเติบโต

Tags:

พ่อแม่ภาพยนตร์ครอบครัวThe Unbreakable Boy

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Movie
    Instant family: ได้โปรดให้เวลาพวกเราหน่อยนะ 

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    The Holdovers: ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล ขอแค่ใครสักคนที่มอบไออุ่นและเยียวยาหัวใจกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Elemental: การแบกความฝันของครอบครัว ภาระอันหนักอึ้งในนามความรักและหวังดี

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Yes Day: ขอให้มีสักวันที่แม่จะไว้ใจและให้พื้นที่อิสระพอที่เราจะใช้ชีวิตในแบบของตนเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear ParentsMovie
    Ted Lasso: โค้ชทีมฟุตบอลก็เหมือนการเลี้ยงลูก ในวันแข่งจริง เราแค่ภาวนาให้เค้าทำอย่างที่เราสอนไป

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.3’ในวันที่โลกเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เรากลับเห็นอกเห็นใจกันน้อยลง’
Early childhoodFamily Psychology
10 April 2025

เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.3’ในวันที่โลกเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เรากลับเห็นอกเห็นใจกันน้อยลง’

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • ทุกวันนี้โลกเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่บางสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์กลับไม่ได้โตตามไป  และความสัมพันธ์ของผู้คนกลับเปราะบางลง โดยเฉพาะ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ กลายเป็นว่าเด็กๆ ขาดความใส่ใจและความเข้าใจในกันและกัน
  • บางครั้งผู้ใหญ่มักจะมองไปไกลถึงปลายทางที่อยากให้เกิดในตัวเด็กๆ จนลืมไปว่าต้นทางที่ดีจะนำไปสู่ปลายทางที่ดี  ‘ต้นทาง’ ของความเห็นอกเห็นใจคือ ‘การใส่ใจสิ่งเล็กๆ รอบตัว’ ที่เรามักหลงลืมและมองข้ามไป
  • เด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมักจะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองและมองเห็นคุณค่าในตัวเขาและผู้อื่น แม้จะอ่อนโยน แต่ไม่ได้อ่อนแอ และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ยอมรับเคารพความแตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญเขาเคารพตัวเขาเองและรักตัวเองเป็น

‘โลกเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่บางสิ่งสำคัญสำหรับมนุษย์กลับไม่ได้โตตามไป’

ในขณะที่สิ่งปลูกสร้าง เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้สังคมให้ความสำคัญกับความสามารถและทักษะที่ต้องนำมาใช้งานและควบคุมสิ่งเหล่านี้ เช่น ทักษะการสื่อสาร ภาษาที่สอง สาม ไปจนถึงภาษาโค้ดดิ้ง และความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เด็กๆ ถูกคาดหวังให้เรียนรู้ ปรับตัว และเติบโตอย่างรวดเร็วตามสิ่งเหล่านี้ไป แต่ความสามารถหนึ่งที่อาจถูกมองข้าม ไม่ได้เติบโตไปพร้อมกับเด็กๆ และสังคม สิ่งเล็กๆ ที่ทำให้หัวใจของเรามองเห็นกัน ความสามารถนั้นก็คือ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’

‘สังคมที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ เพราะมองไม่เห็นกันและกัน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนก็จะเปราะบาง หัวใจของเราต่างก็อ่อนแอ’

ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็ว ความสัมพันธ์ก็เช่นกัน เจอกันผ่านสังคมออนไลน์ พูดคุยแลกเปลี่ยนสร้างความสัมพันธ์ผ่านหน้าจอ ทุกอย่างที่รวดเร็วและง่ายดาย กลับกลายเป็นดาบสองคมในเวลาเดียวกัน เรากลับไม่เห็นความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งหรือแม้แต่จะพยายามประคับประคองและรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ อีกทั้งการแสดงออกทางความคิดเห็นและการแสดงอารมณ์โดยไม่กลั่นกรองทำได้รวดเร็ว ทำให้เราต่างไม่ระวังและทำร้ายจิตใจกันง่ายขึ้น ส่งผลให้ความสัมพันธ์จบลงอย่างง่ายดายไม่แพ้กัน

‘ปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งความเห็นอกเห็นใจ‘

ความเห็นอกเห็นใจจำเป็นต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ เพราะหัวใจของเด็กเปิดรับได้ง่ายที่สุด อีกทั้งการสร้างฐานทางใจตั้งแต่วัยเยาว์จะแข็งแรงและเติบโตได้ดี

‘ก่อนที่เด็กๆ จะมีความเห็นอกเห็นใจ เด็กๆ ต้องมองเห็นตัวเองเสียก่อน จากนั้นจึงจะแผ่ขยายและพัฒนาไปสู่การมองเห็นผู้อื่น’

จุดเริ่มต้นของ ‘การมองเห็นตัวเอง’ 

บางครั้งผู้ใหญ่มักจะมองไปไกลถึงปลายทางที่อยากให้เกิดในตัวเด็กๆ จนลืมไปว่าต้นทางที่ดีจะนำไปสู่ปลายทางที่ดี  ‘ต้นทาง’ ของความเห็นอกเห็นใจคือ ‘การใส่ใจสิ่งเล็กๆ รอบตัว’ ที่เรามักหลงลืมและมองข้ามไป

ขั้นที่ 1 มองเห็นตัวเอง ดูแลตัวเอง

สิ่งเล็กๆ ที่มือน้อยๆ สามารถทำได้นั่นก็คือ ‘การดูแลร่างกายตัวเอง’

นี่คือจุดเริ่มต้นของความใส่ใจ เด็กๆ จะรู้จักใส่ใจผู้อื่น เขาต้องเริ่มจากการใส่ใจตัวเองเสียก่อน

– ตื่นเช้ามาล้างหน้าส่องกระจก

– เอ๊ะมีขี้ตาต้องแคะให้หมด

– มีคราบน้ำลาย น้ำมูก ล้างและเช็ดให้สะอาด

– อาบน้ำ ถูสบู่ ล้างจนหมดฟอง

– เช็ดตัวให้แห้ง แล้วแต่งตัว

– ติดกระดุมเรียงไปจากบนลงล่าง

– ใส่ถุงเท้าใส่ใจ มองข้างรองเท้าซ้าย-ขวา

จากร่างกายค่อยๆ พัฒนาไปสู่การแต่งตัวภายนอก จากส่องกระจกมองเห็นตัวเอง สายตาของเขาจะค่อยๆ มองออกไปนอกตัว

ขั้นที่ 2 มองเห็นสิ่งของ ดูแลสิ่งของ

เมื่อดูแลร่างกายได้ดี สิ่งของรอบตัวคือด่านแรกก่อนไปสู่ผู้คน เด็กๆ ที่ใส่ใจสิ่งของจะพัฒนาไปสู่การดูแลสิ่งที่ละเอียดมากขึ้น

– ให้เด็กๆ ดูแลสิ่งของอย่างไร เริ่มจาก ‘รื้อแล้วเก็บเข้าที่ตามเดิม’

• เล่นแล้วเก็บ

• หยิบมาใช้แล้วเอาไปคืน

– ให้เด็กๆ ดูแลรับผิดชอบสิ่งนั้นด้วยตัวเอง

• กระเป๋านักเรียนของเขา ให้เขาถือเอง

• กระติกน้ำของเขา ให้เขาล้างเอง

• ถุงเท้า-รองเท้าของเขา ให้เขาซักเอง

– อะไรที่ทำไม่เป็น เราสอนได้

แม้จะชอบหรือไม่ชอบ ถ้าเราได้ทำเองอาจจะเหนื่อยลำบาก แต่เพราะเหนื่อยและลำบาก เด็กๆ จึงเห็น

คุณค่าของการดูแลสิ่งนั้น และภูมิใจเมื่อทำได้ด้วยตัวเอง ในขั้นนี้เราจะเห็นเด็กที่ดูแลของตัวเองได้ จะ

พัฒนาทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นยิ่งขึ้นมา ได้แก่

– การมีวินัยและรับผิดชอบ

เด็กที่ดูแลของของตัวเองจะไม่โทษคนอื่น เพราะเขาเป็นคนเตรียมและดูแลของนั้น

• ถ้าเขาทำของหาย เขาจะหาเองก่อน

• ถ้าเขาลืมของ เขาจะไม่โทษใคร

– ประเมินตัวเองได้และพยายามแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน

เด็กที่ช่วยเหลือตัวเองเยอะและทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง เขาจะประเมินความสามารถตัวเองกับปัญหาที่เจอ ได้ ถ้าไม่ยากเกินไป และเคยทำมาก่อน เขาจะทำมันด้วยตัวเอง เช่น

• ใส่รองเท้าไม่ได้ เขาจะลองเองก่อน ถอดไม่ได้ เขาจะพยายามก่อน

• จัดระเบียบกล่องของเล่นและกระเป๋านักเรียน เขาจะทดลองจัดและเก็บ จดจำที่ของของได้เอง แต่ถ้ายากเกินไป เขาจะกล้าขอความช่วยเหลือ

ขั้นที่ 3 มองเห็นพื้นที่รอบตัว ดูแลพื้นที่รอบตัว

เด็กๆ ที่ดูแลร่างกายและสิ่งของของเขาได้จะพัฒนาไปสู่การดูแลพื้นที่รอบตัวที่เขาเข้าไปใช้งาน ในขั้นนี้มีหัวใจสำคัญที่แสนเรียบง่ายก็คือ ‘ใช้แล้วทำให้เหมือนเดิม’ และ ‘ถ้าทำสกปรกก็ทำความสะอาดให้เหมือนก่อนมาใช้งาน”

– ‘พื้นที่แรก’ ที่เด็กทุกคนควรดูแลคือบ้าน 

เช่น

• กินข้าวเสร็จก็เช็ดเก็บเศษอาหารที่หกเลอะเทอะ

• เข้าห้องน้ำเสร็จก็กดชักโครกและปิดไฟ

• ตื่นนอนมาเก็บที่นอนให้เรียบร้อย

• เล่นแล้วเก็บห้องให้เหมือนเดิม

เมื่อดูแลบ้านได้ดี เด็กๆ จะแผ่ขยายไปสู่การใส่ใจสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

– ‘โรงเรียน’ ที่เด็กๆ ไปเรียน เด็กๆจะดูแลได้ดี 

เช่น

• ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด

• กดน้ำเมื่อเข้าห้องน้ำเสร็จ

• เลื่อนเก้าอี้เก็บ เมื่อใช้งานเสร็จ

ขั้นที่ 4 มองเห็นผู้อื่น เคารพผู้อื่น

จากขั้นที่ผ่านมาทำให้เด็กรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี เด็กๆ รู้ว่า ‘ที่ตัวเองต้องการเป็นอย่างไร’ ดังนั้นจึงคิดได้ว่า ‘ผู้อื่นต้องการในสิ่งเดียวกันได้’ ทุกคนอยากอยู่ร่วมกับคนที่ทำให้ตัวเองสบายใจ

– การรู้หน้าที่

– การรักษาความสะอาด

– การไม่รบกวนกัน และไม่ทำให้ใครเดือดร้อน

สามข้อนี้คือ ‘กฎพื้นฐานง่ายๆ’ ของความใส่ใจ เด็กๆ เรียนรู้ที่จะเคารพกฎนี้

นอกจากนี้การสื่อสารขั้นพื้นฐานที่จะทำให้เด็กๆ รู้จักเข้าหาคนอื่นอย่างใส่ใจ ได้แก่ 

– การทักทายคนอื่นก่อน เช่น สวัสดี แนะนำตัวเอง ถาม-ตอบด้วยตัวเอง

– การขอบคุณ เมื่อมีใครทำอะไรดีๆ ให้กับเขา

– การขอโทษเมื่อเขาทำผิดต่อใคร

– การชื่นชมผู้อื่นด้วยตัวเองก่อน 

ขั้นที่ 5 ใส่ใจผู้อื่น เห็นอกเห็นใจผู้อื่น

ในขั้นก่อนหน้านี้เด็กๆ จะเรียนรู้การเคารพกติกา 

– เมื่อรู้ว่าสิ่งใดควรทำ เขาทำ

– เมื่อรู้ว่าสิ่งใดไม่ควรทำ เขาไม่ทำ

เด็กๆ  เขาสังเกตสิ่งแวดล้อมมากขึ้นว่าแต่ละที่เป็นอย่างไร เขาจึงจะสามารถทำให้ทุกอย่างเป็นตามกติกาหรือเก็บทุกอย่างเข้าที่เดิมได้ สิ่งง่ายๆ ค่อยๆ ทำให้เด็กพัฒนาไปสู่ความคิดที่ลึกซึ้งมากขึ้นนั่นคือ ‘การใส่ใจผู้อื่น’

เด็กที่ใส่ใจผู้อื่นไม่ได้หมายความว่าเขาต้องทำให้ผู้อื่นพึงพอใจ หรือ พยายามทำให้ผู้อื่นรู้สึกชอบเขา แต่ความใส่ใจในที่นี้หมายถึงการทำเพราะอยากทำและทำได้ เช่น

– เมื่อเห็นคุณแม่ถือของหนัก เด็กรับรู้และเข้าไปช่วยถือ

– เมื่อเห็นคนเดินต่อเขาเข้ามา เด็กช่วยเปิดประตูให้คนนั้นเข้ามาก่อน

– เมื่อเห็นคนต้องการความช่วยเหลือ ถ้าเขาช่วยไม่ได้ เขาจะพยายามขอความช่วยเหลือ

ทุกครั้งที่เด็กใส่ใจใครสักคน เขาได้รับการมองเห็นคุณค่าเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อเด็กทำสิ่งดีๆ ออกไป โดยไม่ได้รับการมองเห็นหรือชื่นชมจากผู้อื่น แต่คุณค่าในตัวเองที่เขารับรู้ได้งอกงามขึ้นในใจแล้ว

นอกจากนี้ ‘คำพูด’ ที่สื่อถึงความใส่ใจจะเกิดขึ้นด้วยตัวเอง ทั้งการขอบคุณ ขอโทษ และชื่นชมผู้อื่น เด็กๆ ที่ใส่ใจจะพูดคำเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย เพราะเขาจะมองเห็นและตอบสนองทันที

สุดท้าย ‘ความใส่ใจ’ ทำให้เด็กๆ ค่อยๆ มองเห็นผู้อื่น เมื่อใส่ใจมากพอ เขาจะมองเข้าถึงลึกถึงหัวใจอีกฝ่าย หรือ ที่เรียกว่า ‘ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น’

เด็กที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมักจะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองและมองเห็นคุณค่าในตัวเขาและผู้อื่น แม้จะอ่อนโยน แต่ไม่ได้อ่อนแอ และพร้อมจะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ยอมรับเคารพความแตกต่างหลากหลาย ที่สำคัญเขาเคารพตัวเขาเองและรักตัวเองเป็น

สังคมจะเติบโตต่อไปไม่พังทลาย หากเราหันกลับมาใส่ใจ ‘จิตใจ’ กันมากขึ้น

สังคมที่น่าอยู่จึงไม่ใช่สังคมที่เต็มไปด้วยวัตถุล้ำสมัย แต่คือผู้คนที่มีหัวใจและมองเห็นซึ่งกันและกัน

Tags:

ครอบครัวempathyความเห็นอกเห็นใจเด็ก

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Book
    บ้านเล็กในป่าใหญ่: ที่พักพิงแสนปลอดภัยในโลกอันน่าหวาดหวั่นคือ ‘ครอบครัว’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.2 ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ไม่ได้ทำให้สิ่งสำคัญต่อตัวเด็กเปลี่ยนแปลง

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Book
    Sunny กับเด็กที่อยู่กับการขาดหาย

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป

  • Movie
    The Holdovers: ในวันที่ไม่มีใครเหลียวแล ขอแค่ใครสักคนที่มอบไออุ่นและเยียวยาหัวใจกัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    รถไฟขนเด็ก – เพราะรักจึงยอมปล่อยมือ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

Love-Hate Relationship: จะอยู่อย่างไรให้ไหว เมื่อคนในครอบครัวคือคนที่ทั้งรักและเกลียด?
Relationship
8 April 2025

Love-Hate Relationship: จะอยู่อย่างไรให้ไหว เมื่อคนในครอบครัวคือคนที่ทั้งรักและเกลียด?

เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเฉพาะตัวสูงบทความนี้เขียนขึ้นจากมุมมองทั่วไปเพื่อชวนคิด ทบทวนความรู้สึก และค่อยๆ เดินไปในแบบที่ปลอดภัยกับใจของแต่ละคน
  • การพิจารณาความเป็นจริงของครอบครัว คือการยอมรับว่าบางคนอาจอยากแก้ไขแต่ไม่มีทักษะทางอารมณ์ บางคนอาจยังไม่รู้ว่าทำให้เราบาดเจ็บอย่างไร และบางคนก็อาจไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยอมรับเลยว่าเคยทำร้ายเรา
  • การเติบโตขึ้นของคน คือการเข้าใจได้ว่า คนทุกคน ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ ไม่สมบูรณ์แบบ โดยไม่รู้สึกหมดหวังหรือสิ้นหวังในชีวิต แต่มองอย่างยอมรับและเข้าใจได้ว่า ครอบครัวฉันมีข้อดี และครอบครัวฉันก็มีข้อเสีย

เคยได้ยินไหมที่เขาบอกว่า หากคุณไม่ชอบใครสักคน หรือคนนั้นทำให้คุณรักตัวเองน้อยลง คุณก็แค่เดินออกมา 

ผมเห็นด้วยว่าเราไม่ควรอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทำให้เรารักตัวเองน้อยลง ความสัมพันธ์ที่ดีควรเป็นความสัมพันธ์ที่ทำให้คุณชอบตัวเองเวลาที่อยู่กับเขา แต่แนวคิดนี้อาจจะประยุกต์ใช้ได้ยากกับความสัมพันธ์ในครอบครัว เพราะคุณเลือกคนรอบข้างได้แต่คุณเลือกครอบครัวไม่ได้ แล้วหลายครั้งคุณก็อาจจะต้องพึ่งพาครอบครัว นั่นจึงทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นสิ่งที่ซับซ้อนและตัดได้ยาก โดยเฉพาะในวัฒนธรรมเอเชียที่เน้นความเป็นกลุ่มก้อน บ้านเรามีแนวคิดที่บอกว่า ‘ลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ เพราะพ่อแม่คือคนที่มีพระคุณ’ นั่นยิ่งทำให้การเดินออกจากครอบครัวที่เป็นพิษนั้นยิ่งยากเข้าไปอีกขั้น 

โดยทั่วไปแล้วทุกคนเกิดมาพร้อมกับความรู้สึกที่จะต้องพึ่งพาพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ไม่มีมนุษย์คนไหนเติบโตมาได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องมีใครสักคนที่เขาพึ่งพาเสมอ คนเราจะพัฒนามุมมองที่มีต่อโลกใบนี้ผ่านวิธีที่พ่อแม่ปฏิบัติต่อเรา แล้วมุมมองนั้นก็ส่งผลต่อการรับรู้ตัวเองและโลกใบนี้ ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กเติบโตมาในสภาพแวดล้อมที่พ่อแม่ให้ความรักอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจความต้องการทางอารมณ์ และตอบสนองอย่างเหมาะสม เด็กคนนั้นก็จะพัฒนามุมมองว่าโลกเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย ผู้คนเชื่อถือได้ และตัวเขาเองก็มีคุณค่า เป็นที่รักได้ แต่ถ้าในทางกลับกัน เด็กคนหนึ่งเติบโตมาในบ้านที่ความรักถูกแสดงออกแบบไม่แน่นอน บางวันอบอุ่น บางวันเย็นชา หรือถูกคาดหวังให้เป็นในแบบที่พ่อแม่ต้องการโดยไม่มีพื้นที่ให้ตัวตนของเขา ความรู้สึกของเด็กคนนั้นก็อาจจะปะปนระหว่างความรักกับความไม่พอใจครอบครัว 

ความเป็นจริงแล้ว การที่พ่อแม่จะตอบสนองความต้องการของเด็กได้ทั้งหมดเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะการกระทำของพ่อแม่ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงจากการที่เขาทำ แต่มันเกิดจากการที่เด็กตีความหรือรับรู้สิ่งนั้นอย่างไรด้วย 

ยกตัวอย่าง พ่อแม่อาจไม่ได้ตั้งใจจะเพิกเฉยลูก เพียงแต่วันนั้นเขาเหนื่อยล้าจากการทำงาน แต่เมื่อเด็กไม่สามารถเข้าใจความซับซ้อนทางอารมณ์หรือสถานการณ์ได้ เขาก็อาจจะตีความว่า พ่อแม่ไม่รัก หรือเราไม่สำคัญมากพอ เมื่อเผชิญเหตุการณ์เดิมซ้ำๆ แล้วเขาไม่ได้เข้าใจความรู้สึกตัวเองมากพอ หรือระบายความรู้สึกตัวเองให้คนอื่นฟัง เขาก็อาจเผลอเข้าใจไปแบบนั้นจนกลายเป็นความเชื่อที่ฝังแน่นในใจว่าเขาไม่เป็นที่รัก หรือพ่อแม่ไม่รักเขา โดยที่เขาไม่รู้ทันการตีความเหตุการณ์ของตัวเอง ซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว 

อีกตัวอย่างคือ เด็กที่มีความต้องการอยากถูกพ่อแม่ปลอบประโลมเมื่อเศร้า แต่พ่อแม่ไม่รู้วิธีที่เหมาะสมในการปลอบจึงใช้คำสอนที่มาจากเจตนาที่ดี – ความรักลูก แต่ตอนนั้นเด็กอาจแปลความหมายการกระทำนั้นว่า พ่อแม่ไม่ใส่ใจ เราไม่ควรพูดความรู้สึกให้พ่อแม่ฟัง เพราะจะเจ็บมากกว่าเดิมที่เขาไม่ฟัง แล้วก็พัฒนาความรู้สึกน้อยใจและโกรธครอบครัวในใจลึกๆ 

อย่างที่บอกไปว่าวิธีการที่เราได้ถูกปฏิบัติจากพ่อแม่จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการเอาไว้ใช้รับรู้ตัวเอง เช่น เราเป็นคนแบบไหน คนน่ารัก คนเก่ง คนไม่เอาไหน คนไม่มีคุณค่า คนที่ดีไม่พอ และกลายเป็นวิธีที่เรารับรู้คนอื่น เช่น ผู้คนปลอดภัย ไว้ใจได้ ผู้คนจะทำร้ายเสมอหากไม่ระวังตัว 

แต่ความเป็นจริง ไม่มีอะไรที่เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครที่ดีไปหมดหรือแย่ไปหมด บางทีเราก็อาจมีความรู้สึกว่ารักพ่อแม่นะ แต่ลึกๆ ก็อาจจะไม่ชอบเขา มันเป็นอารมณ์ที่ขัดแย้งกันระหว่าง ‘ความรัก’ และ ‘ความไม่พอใจ’ ซึ่งหากความไม่พอใจนี้แรงมากพอก็อาจจะเปลี่ยนแปลงรูปไปเป็นความโกรธ หรือความเกลียด เพราะธรรมชาติของความรู้สึกเหล่านี้มักจะมีความรู้สึกเศร้า เจ็บปวด ผิดหวังอยู่ในนั้น 

ความรักและความเกลียดครอบครัว แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ 

1) ความรักและความเกลียดที่รู้ตัว 

คุณรับรู้ว่าไม่พอใจและรักเขา คุณรับรู้ว่าสิ่งที่ดีๆ ที่เขาทำมีอะไรบ้าง แต่คุณก็ยังมีส่วนที่โกรธเขาอยู่ด้วย นั่นอาจทำให้เวลาที่คุณอยู่กับเขา มันมีทั้งช่วงที่คุณมีความสุข และบางช่วงที่คุณก็รู้สึกไม่ชอบบางอย่างในตัวเขา 

2) ความรักและความเกลียดที่ไม่รู้ตัว 

คุณอาจจะรู้สึกเฉยๆ ไม่ได้รัก ไม่ได้เกลียด หรืออาจจะรับรู้แค่ว่าตัวเองรัก แต่ไม่ได้รับรู้ความรู้สึกไม่พอใจที่มีเกี่ยวกับเขา แต่มันอาจออกมาในรูปแบบพฤติกรรมที่คุณไม่อยากอยู่ใกล้เขา บางครั้งคุณหงุดหงิดง่ายทั้งที่มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องหงุดหงิด 

3) ความรักและความเกลียดที่เอามาลงโทษตัวเอง 

โดยเฉพาะในวัฒนธรรมไทยที่เรามักจะถูกสอนด้วยการที่เราต้องมองพ่อแม่เป็นคนที่ดี เราต้องอดทน กตัญญู จนไม่เคยอนุญาตให้ตัวเองโกรธหรือไม่พอใจคนในครอบครัว เพราะรู้สึกผิด ทำให้กลายเป็นคนที่ยอมทุกอย่าง เทิดทูนเขา ทั้งที่ข้างในใจอาจจะเจ็บปวดรวดร้าว มันอาจออกมาในรูปแบบของการที่ไม่ได้รักและเกลียดครอบครัวอย่างชัดเจน แต่ออกมาผ่านการที่เขาเกลียดตัวเองก็ได้ ซึ่งมีรากฐานมาจากการไม่พอใจครอบครัว 

ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ

เมลานี ไคลน์ (Melanie Klein) นักจิตวิเคราะห์ชาวอังกฤษ อธิบายกระบวนการพัฒนาทางจิตใจของคนที่สามารถนำมาอธิบายความรัก–ความเกลียดครอบครัว โดยมองว่า การเติบโตขึ้นของคนคือการเข้าใจได้ว่า คนทุกคน ความสัมพันธ์ทุกความสัมพันธ์ ไม่สมบูรณ์แบบ โดยไม่รู้สึกหมดหวังหรือสิ้นหวังในชีวิต แต่มองอย่างยอมรับและเข้าใจได้ว่า ครอบครัวฉันมีข้อดี และครอบครัวฉันก็มีข้อเสีย มองเข้าไปให้เข้าใจลึกขึ้นว่า คนที่รักเราอาจเคยทำร้ายเรา และคนนั้นก็คือคนที่รักเรามากที่สุดเท่าที่เขาจะทำได้ตามเงื่อนไขชีวิตที่เขามี 

มันเป็นความจริงที่เจ็บปวด เพราะเราต่างอยากถูกรักอย่างไร้เงื่อนไข แต่เมื่อต้องยอมรับว่า เขาอาจจะให้ได้เท่าที่ให้ และนั่นก็คือความรักของเขาแล้ว มันคือการเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต 

ผมต้องบอกเลยว่ากระบวนการที่จะเข้าใจเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ซับซ้อน และไม่สามารถบังคับหรือบอกแล้วทำได้ทันที แต่มันต้องมาจากความพร้อมทางจิตใจและตัวตนของคนนั้น หมายถึง ถ้าตอนนี้เขารู้สึกว่าเขาไร้คุณค่า เขาไม่ดีพอ การบอกให้เขาเห็นความจริงเช่นนี้อาจเป็นการทำร้ายเขามากกว่า เพราะเขาอาจรู้สึกว่าตัวฉันเองยังมีรูโหว่ที่ใหญ่ขนาดนี้ ฉันจะไปเข้าใจคนที่ทำร้ายฉันได้อย่างไร 

การก้าวข้ามผ่านความเข้าใจนี้จะพัฒนาบุคลิกภาพของคนนั้นให้มีความเข้มแข็ง เข้าใจโลกตามความเป็นจริง ความขัดแย้งทางอารมณ์ที่ทั้งรักและเกลียดจนนำไปสู่การจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้หรือมีปัญหาในความสัมพันธ์ก็จะลดน้อยลง สิ่งสำคัญของกระบวนการนี้คือ การอนุญาตให้ตัวเองรักและไม่พอใจ(หรือโกรธ)ครอบครัว อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกในแบบที่เป็น

เมื่อครอบครัวเป็นเช่นนั้น แล้วควรทำอย่างไร ? 

คำถามนี้อาจไม่มีคำตอบที่ตายตัว เพราะความสัมพันธ์แต่ละครอบครัวมีเงื่อนไขที่แตกต่างกัน บางคนก็อาจมีความรู้สึกห่วงใยอาวรณ์อยากได้รับความรัก แต่บางคนก็อาจเกลียดไม่ชอบไปเลย สามารถสรุปได้ว่า การจะเลือกได้ว่าจะทำอย่างไรสามารถพิจารณาได้จากองค์ประกอบดังนี้ 

1) เป้าหมาย 

คุณอยากจะมีความสัมพันธ์แบบไหนกับที่บ้าน อยากให้บ้านกลับไปเป็นบ้านเลยไหม หรืออยากจะรักษาระยะห่างไว้ ไม่พร้อมที่จะมีความสัมพันธ์ใดๆ ที่ใกล้ชิด แล้วก็พิจารณาผลกระทบของทางเลือกต่างๆ ทั้งข้อดีและข้อเสีย แล้วถามตัวเองว่ายอมรับได้หรือไม่ 

บางครอบครัวความรักและความเกลียดไม่ได้เกิดจากการที่บ้านทำร้ายจิตใจโดยตรงแต่เป็นการเพิกเฉยทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วที่บ้านก็พยายามแก้ไข แต่ปัญหาตอนนี้คือความฝังใจของคนที่ได้รับผลกระทบ ถ้าเขาอยากกลับไปมีความสัมพันธ์ที่ดีก็น่าจะง่ายกว่าครอบครัวที่ทำร้ายจิตใจอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเป้าหมายจะเป็นอย่างไร คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า คุณยอมรับข้อดีและข้อเสียของหนทางที่จะเลือกได้หรือไม่ 

2) ความเข้มแข็งของตัวตน 

คุณจัดการความรู้สึกตัวเองได้มากแค่ไหน คุณมีคนรอบข้างที่คอยสนับสนุนให้คุณมีกำลังใจที่เข้มแข็งไหม คุณสามารถแยกแยะความรู้สึกลบออกจากตัวเองได้มากแค่ไหน โดยไม่โทษตัวเองหรือเก็บทุกอย่างไว้เป็นความผิดของตัวเอง เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากเป็นครอบครัวที่ไม่ได้ตั้งใจทำร้าย แต่คนนั้นมีบาดแผลที่ค้างในใจ การกลับไปพยายามซ่อมโดยที่ตัวตนไม่พร้อมหรือจัดการความรู้สึกได้ไม่ดีก็อาจทำให้ยิ่งรู้สึกแย่กับตัวเองมากกว่าเดิม แต่ถ้าตัวตนเข้มแข็งมากพอ การกลับไปก็อาจจะง่ายขึ้น 

3) พิจารณาความเป็นจริงของครอบครัว 

การมองครอบครัวของเราให้ชัดในแบบที่เป็นอยู่ตอนนี้ ไม่ใช่แบบที่เรา ‘อยากให้เป็น’ หรือ ‘เคยหวังไว้’ เราต้องลองถามตัวเองว่า ครอบครัวของเรามีศักยภาพแค่ไหนในการเปลี่ยนแปลง? เขาเปิดใจฟังไหม? เขายอมรับความรู้สึกของเราหรือเปล่า? 

การพิจารณาความเป็นจริงของครอบครัว คือการยอมรับว่าบางคนอาจอยากแก้ไขแต่ไม่มีทักษะทางอารมณ์ บางคนอาจยังไม่รู้ว่าทำให้เราบาดเจ็บอย่างไร และบางคนก็อาจไม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยอมรับเลยว่าเคยทำร้ายเรา 

การมองความจริงตรงนี้ให้ชัด ไม่ได้แปลว่าเราต้องตัดความหวังหรือความรัก เพราะความเป็นจริงเราไม่สามารถใช้ชีวิตได้โดยไร้ซึ่งความคาดหวัง แต่สามารถคาดหวังให้ตรงตามความเป็นจริงได้ เพื่อให้เราวางแผนได้ว่า จะก้าวต่อไปในความสัมพันธ์แบบไหน ที่เราไม่ต้องเจ็บซ้ำอีก เช่น หากครอบครัวยังไม่ปลอดภัยพอในเชิงอารมณ์ เราอาจเลือกวางระยะห่าง หรือลดความคาดหวังลง เพื่อรักษาใจตัวเองไว้ เพราะความหวังที่ตั้งอยู่บนความเป็นจริง จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ชัดเจน และปลอดภัยกับตัวเรามากที่สุด 

ทุกครอบครัวล้วนแตกต่าง

เรื่องครอบครัวเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและมีความเฉพาะตัวสูง บทความนี้เขียนขึ้นจากมุมมองทั่วไปเพื่อชวนคิด และเปิดพื้นที่ให้คุณได้ทบทวนความรู้สึกของตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เขียนนี้จะสามารถใช้ได้กับทุกคนหรือทุกสถานการณ์ เพราะในความเป็นจริง แต่ละคนมี ‘บริบทชีวิต’ ที่แตกต่างกัน บางคนอาจยังอยู่ในบ้าน บางคนอาจต้องพึ่งพาครอบครัวในเรื่องสำคัญ บางคนอาจเผชิญกับความรุนแรงหรือบาดแผลที่ลึกมากจนยังไม่สามารถเผชิญหน้าได้ และแต่ละคนก็มีระดับ ‘ความพร้อม’ และ ‘ความเข้มแข็งของตัวตน’ ที่ไม่เหมือนกัน 

สิ่งที่เขียนในบทความนี้จึงไม่ได้มีเจตนาจะชี้นำหรือบอกว่าอะไรคือสิ่งที่ ‘ควรทำ’ แต่เป็นเพียงแนวทางให้คุณได้หยุดฟังตัวเอง ทบทวนความรู้สึก และค่อยๆ เดินไปในแบบที่ปลอดภัยกับใจของคุณที่สุด หากคุณรู้สึกว่าหัวข้อเหล่านี้กระทบจิตใจ หรือทำให้รู้สึกสับสนมากขึ้น การพูดคุยกับนักจิตบำบัด จิตแพทย์ หรือคนที่ไว้ใจได้ อาจช่วยให้คุณเห็นภาพได้ชัดขึ้น และเยียวยาตัวเองได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

Tags:

ความสัมพันธ์พื้นที่ปลอดภัยครอบครัวบาดแผลทางจิตใจตัวตน (Self)Love-Hate Relationshipรูปแบบความรักและความเกลียด

Author:

illustrator

ชัค ชัชพงศ์

นักจิตวิทยาที่เขียนบทความเพื่อช่วยให้คนเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง FB: Chuck Chatpong

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Dear Parents
    ถ้าพ่อนึกถึงความเจ็บปวดในวัยเด็กของตัวเองสักนิดคงไม่ทำร้ายจิตใจผมในแบบเดียวกัน

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    คุณยายผมดีที่สุดในโลก: ความรักความใส่ใจละลายความแข็งกระด้างของเด็กได้ดีกว่าการขู่บังคับ

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Aftersun: แม้ภายในจะรวดร้าวแต่พ่อยังอยากเป็นความทรงจำที่ดีของลูก

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Yes Day: ขอให้มีสักวันที่แม่จะไว้ใจและให้พื้นที่อิสระพอที่เราจะใช้ชีวิตในแบบของตนเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Myth/Life/Crisis
    ‘ครอบครัว’ ที่ไม่เป็นไปตามขนบ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel