- มายมิ้น – ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มีความตั้งใจว่าอยากไปเป็นครูดีๆ ในชีวิตเด็กสักคน เพราะตัวเธอที่ผ่านมาไม่ค่อยเจอครูดีๆ
- “ถ้าครูบอกเราต้องเป็นแม่พิมพ์ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองบิดเบี้ยวยังไง คิดว่าฉันเป็นแม่พิมพ์ ฉันดีแล้ว เด็กที่ออกจากพิมพ์นั้นก็อาจจะกลายเป็นเด็กที่บิด ๆ เบี้ยว ๆ เหมือนกันนะ เพราะฉะนั้น เราคิดว่าครูไม่ควรเป็นแม่พิมพ์”
- “เราอยากเป็นครูที่ถามมากขึ้นว่า…เกิดอะไรขึ้น เพราะคงไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากทำผิดให้คนอื่นมาว่า ซึ่งเด็กแบบนี้ถ้าเรา force เขามากๆ เขาจะยิ่งหลุดออกไปเลย เราอยากโฟกัสเด็กที่ถูกมองว่าไม่เอาไหน”
“ที่เราเลือกเรียนครูเพราะเราไม่เจอครูที่ชอบเลย…”
เป็นเหตุผลที่ทำให้มายมิ้น – ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ ในปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ปีสี่ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยความตั้งใจอยากเป็น ‘ครูที่ดี’ ให้กับเด็กสักคน เพราะความเชื่อที่ว่า การได้เจอครูดี ๆ สักคนสามารถเปลี่ยนชีวิตเด็กคนหนึ่งได้ และในทางกลับกันการเจอครูแย่ ๆ ก็อาจทำให้ชีวิตเด็กคนนั้นพังด้วยเช่นกัน
ชีวิตช่วงวัยเรียนอาจสร้างบาดแผลให้ใครหลายคน บางคนนับวันรอเวลาจะได้หลุดพ้นจากช่วงเวลานี้ แต่บางคนอย่างเช่นมายมิ้นเลือกที่จะเข้ามาเป็นคนเปลี่ยนระบบการศึกษาในบทบาท ‘ครู’ เพราะเธอเชื่อว่าอาชีพนี้คืออาชีพที่เปลี่ยนโลกได้ จะมีสักกี่อาชีพที่สามารถติดตั้งทัศนคติให้คน การนัดหมายครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อพูดคุยกับ Voice of new gen หนึ่งเสียงของคนรุ่นใหม่จากวงการการศึกษา
บทสนทนาต่อไปนี้เป็นอีกหนึ่งความหวังว่าการศึกษาไทยจะเปลี่ยนแปลงรวมถึงสังคม เพื่อจะได้ไม่มีเด็กคนไหนต้องทนทรมานอีกต่อไป
มายมิ้นตอนอยู่โรงเรียนกับคะแนนพฤติกรรมติดลบ
ถ้ามนุษย์สามารถมีสัญลักษณ์แสดงออกทางอารมณ์เหมือนตัวละครในเกมเดอะซิม นักเรียน ‘มายมิ้น’ ในวัยมัธยมคงมีเครื่องหมายคำถามตัวโต ๆ ปรากฏตลอดเวลา
“โรงเรียนเราเป็นโรงเรียนประจำจังหวัด ทุกคนอยากเรียน พอเราเข้ามาเรียนก็แบบ…อะไรวะ? ครูสอนอะไร? ทำไมครูถึงพูดกับเด็กแบบนี้? ทำไมโรงเรียนถึงทำแบบนี้? เรียนตั้งแต่ม.1 – ม.6 เรารู้สึกไม่มีครูคนไหนที่ชอบเป็นพิเศษเลย”
ให้ทหารสอนเด็กจัดแถวในโรงเรียน พาไปเข้าค่ายลูกเสือที่ค่ายทหาร ทำโทษตีนักเรียนหน้าเสาธง ให้ความสำคัญเฉพาะเด็กสายวิทย์ ความฝันนักเรียนโดนดูถูก – บรรยากาศส่วนหนึ่งในโรงเรียนที่มายมิ้นเจอ (เชื่อว่าคงเป็นบรรยากาศร่วมที่หลายคนเคยเจอ) ถามว่ามันส่งผลหนักขนาดไหน ก็ถึงขั้นที่เป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เธอเป็นโรคซึมเศร้าต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
“ประมาณม.5 มีน้องเพื่อนสอบติดโครงการช้างเผือกของมหาลัยที่หนึ่งแต่ไม่ไป เราก็โพสต์ลงเฟซบุ๊กว่า อย่าต่อโรงเรียนนี้เลย (โรงเรียนที่มายมิ้นอยู่) ถ้าใครไปไหนได้ก็ไปเถอะ มีอาจารย์ที่เราสนิทด้วยมาต่อว่า ประโยคที่เราจำได้แม่นเลย คือ เขาบอกว่าเราเป็นคนอกตัญญู ทำไมมีอะไรไม่มาพูดดี ๆ ช่วยกันพัฒนาโรงเรียน โอ๊ย…เราทำมาตั้งแต่ม.1 ทำกิจกรรม แข่งทุกอย่าง ห้าปีที่เราทำเพื่อโรงเรียน แต่สุดท้ายถูกด่าว่าอกตัญญูเพราะเราบอกว่าโรงเรียนไม่ได้ดีขนาดนั้น
“ช่วงม.ปลายเราค่อนข้าง Liberal (เสรีนิยม) จัด ๆ คนก็ไม่เข้าใจว่าเราคิดอะไร ทำไมเราถึงถามแบบนั้น เราคงเป็นเด็กที่ไม่ดีมาก ๆ ในสายตาครูในระบบ เพราะเราไม่พอใจวิชาไหนก็จะไม่เข้าเรียน งานก็ไม่ทำส่ง มาตอนสอบทีเดียวซึ่งเราทำได้คะแนนเกือบเต็ม ยกเว้นคณิตนะ (หัวเราะ)”
คะแนนพฤติกรรมติดลบห้าร้อยห้าสิบห้าเป็นหลักฐานการใช้ชีวิตในโรงเรียนของมายมิ้น เธอรู้สึกว่ากิจกรรมหรือสิ่งที่นักเรียนถูกบอกว่า ‘ต้องทำ’ เป็นเรื่องที่ไม่สามารถหาเหตุผลมารองรับได้ว่า “ทำไมเราต้องทำ” คำอธิบายเดียวที่เธอได้รับ คือ “ก็มันเป็นกฎ” “ก็เป็นสิ่งที่เขาทำตามกันมานานแล้ว”
“เรารู้สึกว่า…เราอยู่กับสังคมแบบนี้ไม่ได้ เราทนอยู่กับระบบการศึกษาแบบนี้ไม่ได้ เราต้องไปเปลี่ยน เพราะถ้าเด็กคนหนึ่งเจอครูแย่ ๆ เขาจะพังไปทั้งชีวิตเลยนะ เพราะฉะนั้นเราต้องมาเป็นครูที่ดีสักคนสิ
“ถ้าให้ใช้คำใหญ่ เราจะบอกว่าครูคืออาชีพที่เปลี่ยนโลกใบนี้ได้เลย ถ้าเราเจอครูดีสักคน ชีวิตจะดีไปเลย เราก็ขอไปเป็นครูดี ๆ ในชีวิตของเด็กสักคนเถอะ”
มายมิ้นในมหาวิทยาลัย อิสระขึ้นภายใต้พื้นที่ที่ประกอบสร้างจากอำนาจนิยม
ชีวิตมหาวิทยาลัยของมายมิ้นไม่แย่เท่าตอนอยู่โรงเรียน แต่ก็ไม่ได้ดีเลิศ มายมิ้นนิยามว่า ‘เป็นชีวิตที่มีอิสระ อาจารย์มองนักศึกษาเป็นคนเท่ากัน’
“เข้าเรียนวิชาแรกอาจารย์บอก “ไม่ต้องเข้าก็ได้นะ” “ใส่ชุดอะไรก็ได้นะ” แถมอาจารย์แทนตัวเองว่าพี่ด้วย บางสัปดาห์มีคิดธีมนัดแต่งตัว เรารู้สึกว่ามันเป็นบรรยากาศการเรียนที่ดี เจอเพื่อนที่ดี”
‘อาจารย์มหา’ลัยไม่ค่อยสนใจ ปล่อยตัวใครตัวมัน’ วาทกรรมที่เรามักได้ยินบ่อยครั้ง สำหรับมายมิ้นปัดตกสิ่งนี้ทันที เพราะอาจารย์มหาวิทยาลัยที่เธอสัมผัสต่างเป็นคนที่แคร์และทำให้รู้สึกว่ายังมีคนเชื่อในตัวเธอ
มายมิ้นยกเหตุการณ์หนึ่งมาเล่าให้ฟัง เป็นช่วงที่เธอได้เรียนวิชา Democratic Citizenship Education เป็นวิชาการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตย ทำให้มายมิ้นได้เรียนรู้และเข้าใจการเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับช่วงนั้นมีการยุบพรรคการเมือง มายมิ้นตัดสินใจแสดงออกตามสิทธิพลเมืองระบอบประชาธิปไตย คือ ทำการ Hyde Park (การออกมาชุมนุมเพื่อถกเถียง ปราศรัย พูดคุยในประเด็นต่าง ๆ บนเสรีภาพแห่งการพูด) ตรงลานคณะ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย ตำรวจสันติบาลมาดูด้วย
เหตุการณ์วันนั้นสำหรับมายมิ้นทำไปเพื่อแสดงจุดยืนของตัวเอง และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ใครบางคนรู้สึกประทับใจ
“เราไปเสวนางานหนึ่ง มีอาจารย์อรรถพล อนันตวรสกุล ร่วมงานด้วย ในตอนหนึ่งของเสวนาอาจารย์ได้บอกว่า “เมื่อพูดถึงความหวัง วันที่เกิดม็อบในคณะผม แล้วมีการทิ้งป้ายผ้าลงมาจากตึกเรียน มีการพูดชวนทุกคนในไปม็อบขึ้นมาในคณะ เป็นโมเมนต์ที่ผมรู้สึกว่าผมรู้แล้วว่าผมทนอยู่ที่คณะนี้มายี่สิบกว่าปีเพื่ออะไร” “เรารู้สึกดีใจ น้ำตาคลอทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะมีคนที่ภูมิใจและเชื่อในสิ่งที่เราทำอยู่ที่นี่ ที่ ๆ เราไม่เคยหาเจอได้ในชีวิต มีอาจารย์ที่มหา’ลัยหลายคนพยายามเข้าใจ ช่วยเหลือเรา เพราะทุกวันนี้เรายังมีเอฟเฟกต์จากโรคซึมเศร้าบ้าง
“สิ่งที่ต่างออกไปจากการเรียนโรงเรียน ที่นี่เขาเห็นเราเป็นคนเท่ากัน เขาเลือกเลยที่จะปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง คุยกันอย่างคนเท่ากัน เราเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง”
ที่บอกว่าชีวิตมหาวิทยาลัยดีแต่ไม่มาก เพราะยังมีบางสิ่งที่มายมิ้นไม่เข้าใจ เช่นระบบอำนาจนิยม เธอบอกว่านับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาคุณสามารถสัมผัสการใช้อำนาจได้ตั้งแต่ระดับนักศึกษาถึงมหาวิทยาลัย ต้องเจอกับประโยคที่ยังคงตามหลอกหลอน “ก็เขาทำตามกันมา”
“นับได้เลยว่าคณะศึกษาศาสตร์ หรือครุศาสตร์ในไทยที่ไม่มีระบบรับน้องโซตัสมีกี่ที่เพราะมันน้อยมาก ถ้าคุณไม่เป็นตัวเองตั้งแต่ต้น ไม่กล้าตั้งคำถาม ไม่กล้าแหกสิ่งที่คนอื่นกดทับคุณไว้ตั้งแต่ต้น แล้วคุณจะไปสอนให้นักเรียนได้ยังไง เราเข้าใจว่า ‘มันเป็นสิ่งที่ปฏิบัติตามกันมา’ กิจกรรมเพื่อสร้างความใกล้ชิดระหว่างคนในคณะ แต่มันมีวิธีอื่นอีกไหมอะ? ที่ไม่ต้องไปนั่งโดนพี่ว้ากใส่ ไปกินหมูกระทะแทนไหม (หัวเราะ) มันมีวิธีการอื่นอีกมาก ถ้าเราไม่เริ่มด้วยการตั้งคำถามว่า…มันต้องทำแบบนี้เท่านั้นเหรอ มีวิธีอื่นไหม ก็จะเป็นแบบนี้ตลอดไปเรื่อย ๆ
“เรารู้สึกเหมือนทุกคนกำลังเดินไปพร้อม ๆ กันแล้วเจอกำแพง ทุกคนเลือกที่จะเดินลัด ๆ กำแพงไป เพราะคิดว่าข้างหน้าจะมีทางออก แต่เราคือคนที่พยายามทุบกำแพงและปีนออกไป พยายามบอกทุกคนว่าตรงนี้มันข้ามไปได้
“อำนาจนิยมมันเริ่มตั้งแต่เราเป็นนิสิต – นักศึกษา ถ้าไม่ถูกสอนให้ตั้งคำถาม ไม่ถูกสอนให้แหกขนบ ไม่ถูกสอนให้ก้าวข้ามคำว่า ‘ก็เขาทำมาแบบนี้’ เราก็จะอยู่ในอำนาจนิยมต่อไป พอเราเป็นครูถ้าเด็กทำไม่ตรงตามที่เราคิด เด็กตั้งคำถาม เราก็จะมีคำตอบแค่ว่า ‘ก็เขาทำมาแบบนี้’ ตอนเด็ก ๆ เราเคยถามอาจารย์ปกครองที่สนิทกัน ‘ทำไมต้องไม่ให้ใส่ถุงเท้าข้อสั้นด้วย’ เขาก็บอกมันเป็นกฎ! เราก็ถามว่าแล้วแก้ไม่ได้เหรอ? เขาบอกก็ต้องไปแก้ที่กระทรวงสิ
“พอมีโควิดก็ทำให้เห็นว่า…ไม่ใส่ชุดนักเรียนก็ไม่ตายนิ ทำสีผมเรียนก็ไม่ตายนิ ไม่มีใครตายจากสิ่งเหล่านี้ เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้มันแก้ได้ เราว่าถ้าจะแก้ระบบการศึกษาต้องแก้ที่ระบบฝึกครูเนี่ยแหละ ต้องทำให้ครูตั้งคำถาม ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจ คุณก็จะได้เด็กที่จะโตไปเป็นพลเมืองที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจ แต่เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่ความผิดของอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่ว่าเราเกิดในสังคมประเทศนี้ที่มีอำนาจนิยมสูง อยู่ในโรงเรียนที่อำนาจนิยมสุด ๆ มันเลยหลุดจากตรงนั้นยาก”
มายมิ้นกับการเรียนเอกสังคมศึกษาและการศึกษานอกระบบ
‘เอกสังคมศึกษาและการศึกษานอกระบบ’ คำแรกพอเข้าใจว่าเรียนเกี่ยวกับอะไร แต่คำหลังชวนให้เกิดอาการงงว่าเป็นครูสายไหน มายมิ้นอธิบายว่าเอกการศึกษานอกระบบ เป็นการเรียนปรัชญาและวิธีการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียนทั้งหมด รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัย ครูที่เรียนเอกนี้จบออกไปสามารถจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ ให้สำหรับคนที่ไม่สามารถเรียนในระบบได้ เช่น Homeschool, กศน. (การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยศัย) รวมถึงโรงเรียนทางเลือกต่าง ๆ
วิชาที่เรียนก็จะมีหลากหลายตามกลุ่มเป้าหมายที่ต้องจัดการศึกษาให้ เช่น การศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ การศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ การศึกษาสำหรับสตรี การศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาส จุดเด่นของเอกนี้คือการเน้นย้ำประโยคที่ว่า Lifelong Learning ทุก ๆ คนสามารถเป็นคนที่เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต
“เรารู้สึกว่าเอกนี้เป็นเอกที่รองรับความต้องการของสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เรียนในระบบไม่ได้ แต่คนไม่ค่อยรู้จัก ตอนเข้าเรียนครั้งแรก อาจารย์ถามว่าในระบบกับนอกระบบต่างกันยังไง เราก็ไม่รู้เหมือนกัน งงว่าเรามาเรียนอะไรนะ (หัวเราะ)
“ความแตกต่างจะอยู่ที่ความเข้มงวดของเนื้อหากับให้ใครเป็นหลักในการเรียน นอกระบบคนสอนดูผู้เรียนเป็นหลักว่าเขาต้องการอะไร ซึ่งที่จริงการศึกษาในระบบมีความพยายามที่จะนำแนวคิด Student Centered เอาผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง แต่ด้วยคำว่า ‘ระบบ’ สิ่งที่พ่วงตามมาก็คือความเป็นลำดับชั้น การทำงานแบบ top – down บนลงล่าง คนสั่งไม่ได้ทำ คนทำเองก็ต้องเจอการเปลี่ยนรัฐมนตรีทุก 2 ปี นโยบายก็เปลี่ยนตาม ไม่มีอะไรที่อยู่นาน ก็เลยทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง”
ปัญหาระบบการศึกษาไทยในสายตามายมิ้นก็คือ Centralization การรวมอำนาจไว้ที่ราชการ ทุกอย่างมาจากส่วนกลาง สั่งให้ทำอะไรก็ต้องทำ แต่เสียงสะท้อนจากคนหน้างานกลับไม่เคยไปถึง เธอยกตัวอย่างการออกนโยบายที่เหมือนแปะป้ายต้องไปทำ แต่ไม่ได้อธิบายอะไรเพิ่มเติม มุมหนึ่งอาจเป็นการเปิดโจทย์ให้กว้างเพื่อให้อิสระคนทำงาน แต่อีกด้านจะทำให้การทำงานไม่มีมาตรฐาน เพราะจะมีทั้งโรงเรียนที่ทำได้ นำนโยบายไปต่อยอดอย่างสวยงาม กับโรงเรียนที่ไม่สามารถทำได้เพราะมีข้อจำกัดของตัวเอง
“เราชอบนโยบายที่ทุกคนได้ทั้งหมดเสมอหน้ากัน นโยบายที่เราชอบแต่ไม่ที่สุดก็คือสมัยที่มีการแจกแท็บเล็ต ตอนนั้นเราก็จินตนาการไม่ออกว่าเด็กจะเอาแท็บเล็ตไปทำอะไร แต่จริง ๆ มันคือการทำให้ทุกคนมีทรัพยากรเท่ากัน คิดดูว่าถ้านโยบายนี้ยังดำเนินต่อไปในโลกที่เกิดโควิด เด็กคงไม่หลุดออกจากระบบการศึกษาเยอะขนาดนี้
“ถ้าให้เราคิดนโยบายเอง…คงไม่เลือกที่จะเป็นคนคิดว่าจะทำนโยบายอะไร เราจะขอคิดกระบวนการทำนโยบายของเรา ซึ่งต้องเริ่มจากนักเรียนต้องการอะไร คนในระบบต้องการอะไร เราเชื่อในกระบวนการ Design Thinking เพราะเราเคยเรียนรู้จากประโยคหนึ่งที่ว่า นิสิตครูไปฝึกสอนแต่นักเรียนไม่ได้ฝึกเรียน นี่คือการเรียนของเขาจริง ๆ เพราะฉะนั้น การเอานโยบายมาทดลองยาเด็กทุก ๆ ปี โคตรจะไม่แฟร์เลยนะ เพราะมันคือชีวิตของเขา”
มายมิ้นในอนาคต
แม้ตอนเลือกคณะเพื่อเรียนต่อ มาจากความตั้งใจแรกที่อยากทำงานตรงสายที่เรียน แต่ระยะเวลาเกือบ 4 ปีก็อาจทำให้ความตั้งใจเปลี่ยนไปได้ มายมิ้นตอนปี 4 เองก็ไม่ได้รู้สึกอยากเป็นครูเหมือนเมื่อตอนปี 1 เธอให้เหตุผลว่า ถ้าเป็นครูให้นักเรียนก็อาจเปลี่ยนคนได้ไม่เยอะเท่าไร แต่ถ้าเป็นครูของครู ช่วยก่อร่างสร้างเขาให้เขาไปเปลี่ยนเด็กคนอื่น ๆ ก็อาจได้จำนวนมากกว่า
“เราเชื่อในศักยภาพตัวเอง ที่เราคิดว่าวันหนึ่งเราอาจจะเข้าไปเปลี่ยนระบบได้ การเป็นครูอาจจะทำงานนี้ยากหน่อย เราก็คิดว่าจะถีบตัวเองไปทำอย่างอื่นที่จะแก้โครงสร้างนี้ควบคู่ไปด้วยกัน ฟังดูยาก แต่จริง ๆ ถ้าเราแก้ระบบการศึกษาได้ แทบจะแก้ปัญหาทุกอย่างในประเทศนี้ได้เลย”
ถึงจะเปลี่ยนจุดหมายแล้ว แต่เรายังอยากเห็นภาพคุณครูมายมิ้นว่า ณ วันหนึ่งที่ตัวเองต้องไปเป็นครู ครูแบบไหนที่มายมิ้นอยากเป็น เธอนิ่งคิดไปพักหนึ่ง คำถามอาจจะยากสักหน่อย เมื่อเปลี่ยนเป็น “แล้วครูแบบไหนที่มายมิ้นไม่อยากเป็น” คำตอบออกมาทันทีว่า “ไม่ลงโทษนักเรียน” คุณครูมายมิ้นจะไม่ลงโทษนักเรียนคนไหนโดยเฉพาะทางกายภาพ ถ้าเขาทำผิดสิ่งแรกที่เธอจะทำ คือ ถามว่าเกิดอะไรขึ้น ให้เด็กได้ระบายสิ่งที่อยู่ในใจ และที่สำคัญคือไม่พูดทำร้ายจิตใจนักเรียน
“เราอยากเป็นครูที่ถามมากขึ้นว่า…เกิดอะไรขึ้น เพราะคงไม่มีใครเกิดมาแล้วอยากทำผิดให้คนอื่นมาว่า ซึ่งเด็กแบบนี้ถ้าเรา force เขามากๆ เขาจะยิ่งหลุดออกไปเลย เราอยากโฟกัสเด็กที่ถูกมองว่าไม่เอาไหน จริง ๆ ก็อยากเป็นครูปกครองเหมือนกันนะ (หัวเราะ)
“เราไม่ชอบคำว่า ‘แม่พิมพ์’ เพราะการทำงานของแม่พิมพ์ คือ การกด การทับให้ออกมาเป็นแบบเดียวกัน แต่เด็กไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ครูที่ดีควรเป็นช่างปั้น เด็กทุกคนเป็นเหมือนดินเหนียวที่ไม่มีใครเหมือนกัน สิ่งที่ครูควรทำ คือ ทำให้เจ้าก้อนกลายเป็นสิ่งที่เขาอยากเป็น “ครูครับ ผมอยากเป็นแจกัน” เราก็ต้องช่วยกันปั้นให้ออกมาเป็นแจกัน”
“ถ้าครูบอกเราต้องเป็นแม่พิมพ์ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองบิดเบี้ยวยังไง คิดว่าฉันเป็นแม่พิมพ์ ฉันดีแล้ว เด็กที่ออกจากพิมพ์นั้นก็อาจจะกลายเป็นเด็กที่บิด ๆ เบี้ยว ๆ เหมือนกันนะ เพราะฉะนั้น เราคิดว่าครูไม่ควรเป็นแม่พิมพ์”
มายมิ้นในอนาคตข้างหน้าอาจจะเป็นครูหรือใครสักคนที่ทำงานแก้ระบบการศึกษาให้ดีขึ้น ถึงสถานะจะยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่มั่นใจแน่ๆ ว่ามายมิ้นในอนาคตต้องทำ คือ เธอยังคงทำงานขับเคลื่อนสังคมต่อไป “อยากชวนคนที่เป็นนิสิตนักศึกษาครุศาสตร์ คนที่เป็นครู คนที่ทำงานการศึกษา มาช่วยกันข้ามกำแพงนี้ไปให้ได้ ‘กำแพง…ก็เขาทำกันมาแบบนี้’ ‘กำแพง…ก็มันเป็นกฏ’ ชวนตั้งคำถามกับมันว่ามันจำเป็นต้องเป็นแบบเดิมไหม แก้ได้ไหม”