- อธิบายความผูกพัน (Attachment) ในเชิงวิวัฒนาการและจิตวิทยา ความผูกพันในแม่และเด็ก คู่รักทุกเพศ ถึงปรากฏการณ์สังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักมากมายดำเนินความสัมพันธ์แบบห่างไกล แต่ทำไมความผูกพันทั้งทางกาย ใจ และความคิด จึงยังสำคัญอยู่?
- ความวิตกกังวลจากการแยกจากนั้นมีความสำคัญมากทีเดียวต่อสิ่งมีชีวิตที่ตัวอ่อนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น ลูกคน ลูกลิง และลูกนก แม่นั้นต้องอยู่ใกล้ลูกแทบจะไม่ให้คลาดสายตา ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายกับลูกได้ คำถามต่อมาคือ แล้วคู่รักที่ดูแลตัวเองได้ หากินเองได้ไม่ได้ง่อยเปลี้ยเสียขา ทำไมถึงต้องผูกพันกัน?
- แล้วกับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว คู่รักที่แยกกันอยู่หรือความรักในคนหลากหลายทางเพศซึ่งไม่ต้องการมีลูก หรือการเปลี่ยนของสังคมที่ทำให้คู่รักต้องห่างกันมากขึ้นล่ะ? ทั้งหมดนี้มีคำอธิบายที่เกี่ยวพันกับคำว่า ‘ความผูกพันทางความคิด’
หากคุณเพิ่งคบหากับแฟน หรือแม้แต่แต่งงานแล้ว ถ้ายังอยู่ในช่วงข้าวใหม่ปลามัน รักกันหวานชื่น คุณเคยมีความรู้สึกว่าตนเองแทบจะอยู่ห่างคนรักไม่ได้ ตัวติดกันเป็นปาท่องโก๋ ไม่ว่างานยุ่งแค่ไหน ก็ต้องหาเวลามาเจอกันให้ถี่ที่สุดเท่าที่จะทำได้ ถ้าไม่ได้เจอหน้ากัน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่ฟังขึ้นแค่ไหน เช่น ต้องรีบทำงานส่ง ต้องไปงานแต่งงานญาติ รู้ก็รู้ว่าอีกฝ่ายมีเหตุจำเป็น แต่คุณก็ยังรู้สึกไม่ดี รู้สึกกังวลไปหมด การมีคนรักก็เป็นเรื่องดี แต่ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ โดยเฉพาะถ้าที่นั่นไม่มีเขาอยู่ด้วย
ปัญหานี้อาจจะเกิดได้บ่อย ๆ ในสถานการณ์ที่เดินทางไปมาหาสู่กันไม่สะดวก เช่น สถานการณ์โรคระบาด ใครบ้านอยู่ห่างแฟน แถมต้องใช้รถสาธารณะก็คงลำบากหน่อย เพราะออกจากบ้านก็ต้องเจอกับความเสี่ยง แต่ใจก็อยากเจอเหลือเกิน ทั้งทุกข์ใจและบางคนอาจถึงขั้นน้อยใจที่อีกฝ่ายไม่ยอมมาหา
เป็นเรื่องแปลกที่อาการแบบนี้เกิดกับความสัมพันธ์ในแบบแบบคู่รักเท่านั้น คนอื่นๆ ที่เรารัก เช่น พ่อแม่พี่น้อง หรือเพื่อนสนิท ถ้าต้องอยู่ห่างกันแล้วไม่ได้เจอพวกเขานานๆ เช่น ไม่ได้เจอเพื่อนเลยเพราะห้างปิด ไม่รู้จะนัดเจอที่ไหน พ่อแม่อยู่ต่างจังหวัดก็กลับไปไม่ได้ ช่วงนี้นั่งรถตู้มันเสี่ยงติดโรค ถ้าเขาเหล่านั้นยังสุขสบายดีอยู่เราก็อาจจะคิดถึงบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นกระวนกระวายแบบห่างแฟน แม้ว่าอีกฝ่ายจะยังอยู่สุขสบายดี
แล้วทำไมความรักแบบคู่รัก มันต้องการใกล้ชิดกันขนาดนั้น ทำไมเวลาอยู่ห่างกันถึงรู้สึกเป็นทุกข์ วิตกกังวล เอาแค่เจอกันแบบพอเหมาะแบบสบายๆ อิสระเหมือนกับเพื่อน หรือพออบอุ่นแบบพ่อแม่พี่น้อง ที่นานๆ เจอกันทีก็ยังไหวไม่ได้หรือ ความทุกข์เพราะรักจะได้มีน้อยหน่อย ไม่ว่างไม่เป็นไร ไม่ต้องโหยหาจนทรมาน แบบนี้จะดีกว่าไหม พูดมันง่าย แต่พอจะทำจริงๆ มันยากแสนยาก
อารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์นั้นมีต้นกำเนิดทางวิวัฒนาการเสมอครับ เรามีอารมณ์ทางบวกกับสิ่งที่ดีต่อการเอาตัวรอดและการสืบทายาทสร้างคนรุ่นถัดไป เช่น เรามีความสุขตอนกินอาหารหวานและมัน เพราะเป็นแหล่งพลังงานชั้นดี เรากลัวที่มืดเพราะมันอาจมีอันตรายซ่อนอยู่ และรู้สึกเจ็บเพื่อที่เราจะได้เอาตัวเองออกจากอันตรายของสิ่งที่ทำให้เราเจ็บนั้น คำถามคือแล้วความรู้สึกกระวนกระวายตอนไม่ได้เจอหน้าคนรัก มันมีประโยชน์อะไร…
ก่อนที่จะตอบคำถาม อยากให้คุณสังเกตพฤติกรรมของเด็กเล็กๆ กับแม่หรือคนเลี้ยง แล้วเอามาเปรียบเทียบกับคู่รัก ความต้องการที่จะอยู่ใกล้กันนั้นเรียกได้ว่าคล้ายกันมาก และสิ่งหนึ่งที่เห็นชัดมากคือ ความวิตกกังวลหากต้องอยู่ห่างอีกฝ่าย กับเด็กนั้นแค่ไม่เห็นหน้าก็ร้องไห้แล้ว แม้จะไม่ได้หิวหรือผ้าอ้อมเปียกก็ตาม ส่วนแม่เองถ้ามีธุระต้องอยู่ห่างลูก บางทีก็กระวนกระวายเหมือนกันทั้ง ๆ ที่มีคนเลี้ยงแทนอยู่แล้ว
ที่เล่ามาเพราะอยากบอกว่าความต้องการการใกล้ชิดในแม่และเด็ก และกับคู่รักนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ มันคือกลไกอย่างหนึ่งที่ฝังมาในดีเอ็นเอของมนุษย์เลยก็ว่าได้ ในวงการวิชาการกลไกนี้มีชื่อว่า “ความผูกพัน” หรือ “attachment”
John Bowlby นักจิตวิทยาชาวอังกฤษสังเกตพฤติกรรมของแม่และเด็กทั้งในมนุษย์ไปจนถึงสัตว์ที่เป็นญาติ ๆ ของเรา อย่างเช่น ลิงชิมแปนซี ที่แม่ต้องคอยดูแลลูกเล็ก ๆ จนเขาตั้งทฤษฎีความผูกพันขึ้นมา ความผูกพัน นั้นเป็นกลไกตามชื่อ คือ “ผูก” และ “พัน” ให้คนที่รักกันต้องอยู่ใกล้กันไว้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งห่างไป ก็เหมือนไปรั้งเชือกดึงให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี โดยความรู้สึกไม่ดีหลัก ๆ ก็คือ “ความวิตกกังวลจากการแยกจาก” หรือ “separation anxiety” ในเด็กเล็กเองแม้จะไม่รู้จักคำว่ากังวล แต่ก็แสดงทางสีหน้าหรือแสดงออกด้วยการร้องไห้ เช่นเดียวกับแม่ที่มักกังวลเเมื่ออยู่ห่างกันกับลูก
ความวิตกกังวลจากการแยกจากนั้นมีความสำคัญมากทีเดียวต่อสิ่งมีชีวิตที่ตัวอ่อนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เช่น ลูกคน ลูกลิง และลูกนก แม่นั้นต้องอยู่ใกล้ลูกแทบจะไม่ให้คลาดสายตา ไม่อย่างนั้นอาจเกิดอันตรายกับลูกได้ เพราะธรรมชาติเต็มไปด้วยนักล่าที่พร้อมจะกินตัวอ่อนที่ไร้ทางสู้นี้ นอกจากนี้ ตัวอ่อนหรือทารกเอง ต้องอยู่ใกล้พ่อแม่เอาไว้เพราะถ้าห่างพ่อแม่ไปนอกจากจะอันตรายแล้ว ทารกยังหาอาหารเองไม่ได้ ต้องคอยพึ่งพาให้แม่มาป้อน ดังนั้น สัตว์เหล่านี้เลยมีวิวัฒนาการความวิตกกังวล และความทุกข์อย่างรุนแรง เพื่อให้ทารกอยู่ใกล้กับแม่เพื่ออยู่รอดสืบเผ่าพันธุ์ต่อไป
คำถามต่อมาคือ แล้วคู่รักที่ดูแลตัวเองได้ หากินเองได้ไม่ได้ง่อยเปลี้ยเสียขา ทำไมถึงต้องผูกพันกัน นักจิตวิทยาที่ชื่อ Fraley กับทีมวิจัยก็หาคำตอบมาได้ว่า
ในสัตว์ที่ตัวอ่อนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น ความผูกพันก็ทำงานในคู่รักเช่นเดียวกัน ในโลกของธรรมชาติ คนรักก็คือคนที่จะมีลูกด้วยกัน ความผูกพันจึงทำหน้าที่ดึงพ่อกับแม่ให้อยู่ด้วยกัน เพื่อช่วยเลี้ยงลูกที่แสนจะอ่อนแอนั่นเอง
ลองนึกดูนะครับ ว่าถ้าแม่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว แล้วพ่อไม่ค่อยสนใจรับผิดชอบ แม่ก็ต้องทั้งปกป้องอันตราย และหาอาหารไปด้วย ซึ่งตอนไปหาอาหารมันก็เสี่ยงที่ลูกจะโดนสัตว์อื่นกิน ดังนั้น ยีนส์ของทั้งพ่อและแม่ก็อดสืบทอดในรุ่นต่อไปเพราะลูกตายก่อน พ่อและแม่จึงมีบทบาทสำคัญทั้งคู่ ถ้าฝ่ายใดไปหาอาหารอีกฝ่ายก็ปกป้องลูก และสิ่งที่จะทำให้คู่รักอยู่ติดกันไว้ก็คือความวิตกกังวลจากการแยกจาก ดังนั้น คู่รักพอต้องห่างกัน จึงรู้สึกเป็นทุกข์ วิตกกังวล ทุกอย่างธรรมชาติเขียนไว้ให้แล้วในดีเอ็นเอของเราครับ
หลายๆ ท่านอาจสงสัยว่า แต่ปัจจุบันพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็เยอะ หรือทั้งพ่อทั้งแม่ไม่อยู่ ก็จ้างพี่เลี้ยงได้ หรือให้ญาติเลี้ยงแทน ทำไมกลไกนี้ถึงยังฝังอยู่ทั้งๆ ที่ไม่มีประโยชน์แล้ว คำตอบคือสังคมมนุษย์เปลี่ยนไปไวมาก เราเพิ่งมีสังคมที่ทารกปลอดภัยจากนักล่ามาแค่หลักพันปี แต่วิวัฒนาการที่จะเปลี่ยนลักษณะบางอย่างนั้นใช้เวลาเป็นแสนปีขึ้นไป ความกังวลจากการแยกจากก็เลยอยู่กับเราไปอีกนาน
ความรักตามธรรมชาติก็คือการจับคู่ให้เป็นพ่อแม่ แม้ในปัจจุบันเราอาจจะรักกันโดยไม่อยากมีลูก หรือใน LGBTQ+ (คนหลากหลายทางเพศ) ที่รักกันได้โดยไม่ต่างจากคู่ชายหญิง หากเป็นคู่เพศเดียวกันก็มีลูกด้วยกันไม่ได้ แต่เมื่อใดที่รักกัน กลไกของความผูกพันก็ถูกกระตุ้นให้ทำงาน และเมื่อนั้นก็ทำให้คนเราอยากจะอยู่ใกล้ชิดกันเข้าไว้
ความลำบากของคู่รักในปัจจุบันคือ สังคมนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สมัยก่อนคนเราก็รักกันในเผ่าเดียวกัน ในหมู่บ้านเดียวกัน คนรักก็คือคนอยู่ใกล้ๆ แต่พอสังคมที่เปลี่ยนรูปแบบ ทำให้คนที่ปกติอยู่ห่างกันมารักกันได้ โดยเฉพาะในสังคมเมือง เรามาจากที่ห่างกัน นั่งรถมาเรียนหรือทำงานเป็นชั่วโมง แต่บังเอิญได้พบเจอและรักกัน จะมาหากันทีก็ไม่ง่าย มันเลยมีช่วงเวลาที่คู่รักต้องอยู่ห่างกัน สิ่งนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่มากครับ คือช่วงหลักแสนปีของมนุษย์นั้น พอรักกันก็คืออยู่ด้วยกันและเตรียมพร้อมจะมีลูกในทันที แต่เพราะวัฒนธรรมและค่านิยมที่เปลี่ยนไป รูปแบบความสัมพันธ์มันเลยเปลี่ยนไปด้วย ไม่ใช่รักแล้วมาอยู่กันเลยทันที แต่เช่นเคยครับ ดีเอ็นเอมันเปลี่ยนตามสังคมไม่ทัน
โชคดีหน่อยตรงที่เรามีเทคโนโลยีให้เจอกันแบบทางอ้อม คือ การสื่อสารออนไลน์ ไม่ว่าจะจดหมาย และโทรศัพท์ในยุคเก่า จนถึงการแชท และวิดีโอคอลในยุคใหม่ ซึ่งก็ช่วยลดความวิตกกังวลตอนอยู่ห่างกันได้ แต่ว่ามนุษย์ที่สื่อสารกันแบบระยะใกล้มาเป็นแสนปี ตอนเราพูดคุยกันเราเลยชินกับการมีครบทั้งได้ยินเสียง ได้เห็นหน้า และการสัมผัส หรือถึงแม้ไม่สัมผัสก็ได้รู้ว่าอยู่ใกล้ก็ยังดี ดังนั้นต่อให้เป็นวิดีโอคอล ก็ยังทดแทนการมาเจอหน้ากันไม่ได้ทั้งหมด การได้เจอกันแบบตัวเป็น ๆ จึงยังเป็นสิ่งที่คนรักมักจะต้องการอยู่ดี
สังคมเปลี่ยน แต่ธรรมชาติมนุษย์ไม่เปลี่ยน ความเครียดจึงเกิดขึ้น แต่ในเมื่อเราเปลี่ยนสังคมไม่ได้ เราก็ต้องเท่าทันจิตใจเราเองให้ได้ครับ มนุษย์นั้นมีความคิดมีเหตุผล ซึ่งหลายๆ ครั้งเหตุผลอาจจะสู้อารมณ์ไม่ได้ แต่ถ้าเราหนักแน่นเพียงพอ มันก็ช่วยทุเลาความทุกข์ของเราได้ ตอนที่ต้องห่างไกลคนรัก ธรรมชาติกระตุ้นให้เราทุกข์โดยอัตโนมัติ และนั่นทำให้เราคิดลบไปต่าง ๆ นานาในรูปแบบความวิตกกังวล เขาไม่รักเราแล้ว เขาจะทิ้งเราไปหรือเปล่า หรือบางคนก็ออกมาในรูปแบบความเป็นห่วงว่าทำไมถึงไม่ตอบไลน์ ไม่รับสาย เพราะเขาไม่สบาย หรือไปเจออุบัติเหตุหรือเปล่า มีอันตรายเกิดขึ้นหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่อีกฝ่ายเองก็ไม่ได้ทำงานเสี่ยงอันตรายอะไร
นักจิตวิทยาชื่อ Baldwin พบว่าความผูกพันนั้นเกี่ยวกับความคิด ยิ่งกังวลเราจะยิ่งหาเรื่องที่สอดคล้องกับความกังวลมาใส่หัว เช่น ตอนเราต้องอยู่ห่างจากแฟนเพราะแฟนไม่ว่าง ในหัวของเราที่กำลังกังวลจะไม่คิดหรอกว่า ก็เขาไม่ว่าง มันช่วยไม่ได้ แต่เราจะเลือกคิดแต่เรื่องที่สอดคล้องกับความกังวลของเรา เช่น เขาไม่รักเราแล้ว และยิ่งคิดแบบนั้นมันก็จะยิ่งกังวลเข้าไปอีก และยิ่งกังวลก็ยิ่งคิดลบกลายเป็นวงจรอุบาทว์ หลายๆ คู่ทะเลาะกันใหญ่โตทั้งที่แค่อีกฝ่ายไม่ว่างมาหาก็มีให้เห็นเยอะ
คนเรามีกลไกลอัตโนมัติที่ทำให้เกิดความทุกข์จากความรักก็จริง แต่เราเป็นมนุษย์ที่ใช้ชีวิตหลุดกรอบจากวิวัฒนาการมามากแล้ว เราอาจใช้ความคิดและเหตุผลที่หนักแน่นมาต้านอารมณ์ที่มาจากธรรมชาติ แต่หลายๆ ครั้งที่เหตุผลก็ยังสู้ไม่ไหว เราก็เลยยังกังวลบ้าง แต่ขอให้ทบทวนและมีสติไว้ ที่เราอยู่ไกลกันเพราะมันจำเป็น ที่เขาไม่มาหาเพราะเขาไม่ว่าง ไม่ใช่เพราะเขาไม่รัก ถ้าหนักแน่นพอ ทุกข์ที่มากก็จะน้อยลง ความกังวลที่หนักหนา ก็จะเบาลง
นอกจากนี้ สื่อออนไลน์ถึงจะให้เราได้ไม่ครบ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีประโยชน์เลย ยิ่งตอนนี้เรามีวิดีโอคอลที่ให้ความรู้สึกสมจริงเกือบครบในการสื่อสาร ขาดก็แต่ความรู้สึกว่าอยู่ใกล้ หรือการสัมผัสร่างกายเท่านั้น แต่ขอให้ใส่ใจในน้ำเสียง ใส่ใจในสีหน้า และด้วยความคิดที่อย่าปล่อยให้สัญชาตญาณมาครอบงำ การได้พูดคุยเจอหน้ากับคนรัก ก็จะช่วยให้เราลดความกังวลได้มากครับ
และคนรักกัน หากไม่มีเหตุจำเป็นจริง ๆ เช่นต้องไปเรียนต่อหรือทำงานต่างจังหวัด ต่างประเทศ การมาพบกันบ่อย ๆ หากทำได้ก็เป็นเรื่องดีเสมอ อย่าคิดว่าแค่รักแท้แล้วไม่มีทางแพ้ระยะทาง เพราะมนุษย์เรายังต้องอยู่กับสัญชาตญาณที่จะพอใจที่สุดเมื่อเจอตัวจริงไปอีกนานแสนนานครับ จะมีอะไรชื่นใจไปมากกว่าการได้มาเจอหน้าคนที่ตัวเองรัก ถ้าถามว่าเพราะอะไร คำตอบคือความผูกพันไม่ได้ให้เราแต่ความวิตกกังวลนะครับ แต่มันให้ความสุขที่ล้นเหลือตอนที่เราอยู่ใกล้คนรักด้วย มันเลยทำให้คู่รักอยากอยู่ใกล้กันไว้
ในธรรมชาติทุกอย่างมีประโยชน์มีโทษ มีทำให้สุขทำให้ทุกข์ แต่ขอให้เข้าใจธรรมชาติไว้ แม้ความเข้าใจจะกำจัดทุกข์ได้ไม่หมดทุกครั้ง แต่ก็จะช่วยให้เราควบคุมความคิดและอารมณ์ของเราได้ดีขึ้นแน่นอนครับ