- บุคลิกภาพที่ส่งผลต่อพฤติกรรมตอนมีความรักค่อนข้างมากเรียกว่า ‘รูปแบบความผูกพัน’ เป็นกลไกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทำให้เด็กและแม่หรือผู้เลี้ยงดูอยากอยู่ใกล้ชิดกัน รวมถึงทำให้คนรักตัวติดกันด้วย
- มิติแรกของรูปแบบความผูกพัน คือ ความวิตกกังวล จะบอกถึงระดับการรับรู้ว่าตัวเองว่ามีค่าแค่ไหนในสายตาคนที่เรารัก คนที่วิตกกังวลสูงจะมองว่าตัวเองไม่มีค่าพอ นำไปสู่ความหึงหวงเกินเหตุ ติดแฟนมากเกินไป
- มิติที่สองของรูปแบบความผูกพัน คือ ความหลีกหนี จะบอกถึงการรับรู้คนที่เรารักว่ามีค่าแค่ไหนในสายตาเรา คนที่หลีกหนีสูงจะตอบสนองต่อคู่รักในแบบเหินห่าง ไม่อยากให้คนรักใกล้ชิดมากเกินไป
ปัญหาโลกแตกของคู่รักอย่างหนึ่งก็คือ ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่รัก หรือรักตัวเองไม่มากพอ บางคู่เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ทะเลาะกันได้ทุกวัน ดราม่ากันจนเหนื่อยใจ สิ่งที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งรู้สึกว่าอีกฝ่ายไม่รักมันก็มีหลายอย่างครับ แต่ระดับความใกล้ชิดมักเป็นเรื่องหลัก พอคบกันไปนานๆ บางคนจะเริ่มรู้สึกว่า คู่รักไม่ค่อยจะดีใจเวลาเจอกัน นัดทีไรก็มีแต่ฝ่ายเราที่เป็นคนนัด รอเขานัดเผลอๆ จะเจอกันแค่เดือนละครั้ง พอเรามาตามติดหน่อยเขาก็ทำท่าทางอึดอัด เวลาเขาดูเครียดๆ เราอยากเข้าไปเป็นที่พักใจ กลับโดนไล่ให้อยู่ห่างๆ พอเจอแบบนี้อีกเลยฟันธงได้เลยว่า เขาไม่รักเราแล้วแน่ๆ หรือเขาอาจจะรักคนอื่นแทนเราเสียแล้ว
ที่คิดแบบนี้ก็ไม่แปลก เพราะคนมักจะมองว่าถ้ารักกันก็ต้องอยากอยู่ใกล้กัน อยากเจอกันบ่อยๆ ถ้าไม่ได้เจอกันก็ต้องแสดงความคิดถึง มีอะไรก็ต้องเปิดใจให้กันตลอด แล้วมันจริงเสมอไปหรือเปล่าว่าที่รักแล้วต้องทำแบบนั้น บทความนี้จะมาตอบคำถามนี้กันครับ
มนุษย์เรานั้นแตกต่างกัน เวลาเจอเรื่องเหตุการณ์หรือสิ่งใดก็ตอบสนองแตกต่างกันไป เช่น หากต้องพูดหน้าชั้น คนที่กล้าแสดงออกกับคนขี้อายย่อมตอบสนองต่างกันอยู่แล้ว รูปแบบการตอบสนองที่ต่างกันทางจิตวิทยาเรียกสิ่งนั้นว่า ‘บุคลิกภาพ’ ครับ หลายๆ ท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า คนอินโทรเวิร์ต (Introvert) นั่นคือการบุคลิกภาพแบบหนึ่ง ที่ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบเจอคนแปลกหน้า ชอบทำกิจกรรมเงียบ ๆ อยู่กับตนเอง ซึ่งถ้าคนที่อินโทรเวิร์ตน้อย ก็จะกลายเป็นเอ็กซ์ทราเวิร์ต (extravert) ที่ตรงกันข้ามกัน ชอบเข้าสังคม ชอบเจอสิ่งใหม่ๆ ชอบความคึกคัก อาจจะไม่ใช่ทุกครั้ง แต่โดยรวมแล้วจะตอบสนองตามบุคลิกภาพที่มี
บุคลิกภาพที่เกี่ยวกับความรักมีหลายเรื่อง แต่เรื่องที่ส่งผลต่อพฤติกรรมตอนมีความรักมากทีเดียว เรียกว่า “รูปแบบความผูกพัน” ผมเคยพูดถึงทฤษฎีความผูกพันไปแล้วในบทความ Attachment Theory: เหตุใดเราต้องการอยู่ใกล้คนรักตลอดเวลา? ว่าเป็นกลไกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ที่ทำให้เด็กและแม่หรือผู้เลี้ยงดูอยากอยู่ใกล้ชิดกัน รวมถึงทำให้คนรักตัวติดกันด้วย เพราะหากต้องอยู่ห่างกันเมื่อไรจะรู้สึกวิตกกังวล กระวนกระวาย โดยรูปแบบความผูกพันนั้นเป็นความแตกต่างในด้านที่ว่าคนเรานั้นตอบสนองต่อคนที่ผูกพันด้วย เช่น ผู้เลี้ยงดู หรือต่อคู่รักอย่างไร โดยในบทความนี้เราจะพูดถึงรูปแบบความผูกพันของผู้ใหญ่ที่มีต่อคู่รัก รูปแบบความผูกพันแบ่งออกเป็น 2 มิติ ดังนี้
มิติแรกของรูปแบบความผูกพัน คือ ‘ความวิตกกังวล’ จะบอกถึงระดับการรับรู้ว่าตัวเองว่ามีค่าแค่ไหนในสายตาคนที่เรารัก คนที่วิตกกังวลสูงจะมองว่าตัวเองไม่มีค่าพอที่จะให้ใครมารัก ดังนั้นจึงตอบสนองต่อคู่รักออกมาเป็นความกังวลว่าคู่รักจะไม่รักเรา กังวลว่าคู่รักจะทิ้งเราไป และนำไปสู่ความหึงหวงเกินเหตุ ติดแฟนมากเกินไป ต้องตามติดตามเช็คตลอด เพราะกังวลว่าคู่รักจะนอกใจไปรักคนอื่นที่มีค่ามากกว่าเรา
มิติที่สองของรูปแบบความผูกพัน คือ ‘ความหลีกหนี’ จะบอกถึงการรับรู้คนที่เรารักว่ามีค่าแค่ไหนในสายตาเรา คนที่หลีกหนีสูงจะมองว่าคู่รักไม่มีค่าพอให้ตัวเองพึ่งพา หรือพอที่จะตนจะหาความสุขด้วย ดังนั้นจึงตอบสนองต่อคู่รักในแบบเหินห่าง ไม่อยากให้คนรักใกล้ชิดกับเรามากเกินไป เจอหน้ากันก็อาจจะดีใจแค่ในระดับหนึ่ง แต่เจอบ่อยเกินไป คู่รักมาตามติดเกินไปก็จะอึดอัด มีปัญหาก็ไม่กล้าพึ่งพาคู่รัก เก็บเอาไว้คนเดียว
คนเราจะมีมิติของความวิตกกังวลสูง หรือความหลีกหนีสูงทั้งคู่ก็ได้ ต่ำทั้งคู่ก็ได้ หรือมิติหนึ่งต่ำอีกมิติสูงก็ได้ โดยการจะมีรูปแบบความผูกพันมิติใดสูงหรือต่ำ ทฤษฎีทางจิตวิทยาบอกว่าเราค่อยๆ สร้างมันขึ้นมาตั้งแต่เราผูกพันกับแม่ตั้งแต่ทารก จากนั้นเมื่อเราโตขึ้นมันจะค่อยๆ เปลี่ยนไปทีละนิดตามความสัมพันธ์กับคนที่เรามองว่าสำคัญ เริ่มต้นจากแม่หรือผู้เลี้ยงดู ถัดไปคือเพื่อน และจนถึงกับคนที่เรารัก
กลับมาที่คำถามของเราว่า หากคนรักนั้นดูเย็นชาเหลือเกิน นานๆ ถึงจะเป็นฝ่ายออกปากนัดเจอเราทีนึง บางทีก็ทำท่ารำคาญหรืออึดอัดตอนเรามาคอยตามติด มีปัญหาอะไรไม่เคยปริปากขอให้เราช่วยหรือมาระบายปรับทุกข์กับเราเลย แบบนี้เขารักเราหรือเปล่า คำตอบคือก็เป็นไปได้ว่าเขารัก แต่เขาอาจมีรูปแบบความผูกพันในมิติหลีกหนีที่สูง ทำให้ไม่ชินกับการให้คนสำคัญสร้างความสุขให้แก่เขา กับการพึ่งพาใคร หรือเปิดใจให้ใคร แม้แต่กับคนรักเขาก็ยังรักษาระยะห่างจนดูเหมือนเย็นชา แถมคนเรานั้นไม่จำเป็นต้องรู้ตัวว่ารูปแบบความผูกพันส่งผลกระทบต่อการกระทำของตนอยู่ เพราะมันก็เหมือนบุคลิกภาพอื่นๆ ที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ
ดังนั้น การแสดงออกไม่ได้เกิดจากเจตนาที่จะเหินห่าง หรือต้องการเย็นชาใส่คนรักให้คนรักรู้สึกแย่ แต่เขาถูกตั้งโปรแกรมมาให้ตอบสนองคู่รักของเขาแบบนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าหากเรามีคนรักที่รูปแบบความผูกพันมิติหลีกหนีสูงๆ แล้ว เราก็ไม่ต้องใส่ใจเขามากก็ได้นะครับ ตามธรรมชาติหากรักกัน ต่อให้มีรูปแบบหลีกหนีสูงแค่ไหน หากคนรักห่างไปเลยเป็นเดือน เป็นปีก็รู้สึกแย่ รู้สึกวิตกกังวล คิดว่าอีกฝ่ายไม่รัก ได้เหมือนกัน
ในมุมมองของคนที่รูปแบบความผูกพันแบบหลีกหนีสูง เขาก็ต้องการคนรัก แต่เขาไม่อยากให้คนรักใกล้เกินไป สนิทเกินไป ไม่ต้องเจอกันบ่อยมาก แต่ไม่ใช่ว่าหายไปเลย เขาจะไม่พึ่งพาเรามาก แต่นานๆ ทีหรือเรื่องหนักๆ เขาก็อาจจะต้องการพึ่งเราบ้าง แค่อยู่กันแบบนั้นก็สบายใจแล้ว
คำถามต่อมาคือ จะทำอย่างไรดีหากคนรักของเรามีรูปแบบความผูกพันที่หลีกหนีสูงๆ บุคลิกภาพนั้นเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ แต่เปลี่ยนแปลงได้ยาก และส่วนใหญ่ต้องใช้เวลานานในการเปลี่ยนรูปแบบความผูกพันก็เช่นกันครับ เพราะมันค่อยๆ สั่งสมมาตั้งแต่เด็กเป็นสิบๆ ปี ดังนั้นจะให้เปลี่ยนภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่เดือนคงเป็นไปได้ยาก หากคนรักของเรามีเปลี่ยนรูปแบบความผูกพันที่หลีกหนีสูงให้ต่ำลง ต้องให้เขาเจอประสบการณ์ที่ทำให้เขารู้ว่า คนรักของเขานั้นพึ่งพาได้ ตอนเครียดตอนกลุ้มใจ คนรักก็เป็นผู้ฟังที่ดี คนรักคอยช่วยเหลือหากเขาร้องขอ (ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นแค่นานๆ ที) คนรักทำให้เขาสบายใจขึ้นยามใกล้ชิด ซึ่งต้องให้ประสบการณ์เหล่านั้นนานๆ และผลที่เกิดขึ้นอาจจะแค่เล็กน้อย ต้องอดทนกันไปในระยะยาว
แต่ก่อนที่จะไปปรับเปลี่ยนเขา ก้าวแรกสุดที่ผมคิดว่าจะช่วยให้อยู่กับคนรักที่มีรูปแบบความผูกพันที่หลีกหนีสูงๆ ได้ดีขึ้น คือ เริ่มทำความเข้าใจในความแตกต่างของบุคลิกภาพ หลายๆ คนนั้นมักจะมีมุมมองมาจากสื่อต่างๆ ว่าคนรัก แฟน หรือสามี/ภรรยาที่ดีต้องเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจากนิยายและภาพยนตร์รักโรแมนติก ที่มักจะทำให้เราคิดว่า คนที่รักเราคือคนที่ต้องอยากเจอหน้ากันตลอดเวลา คิดถึงทุกนาทีที่เราไม่อยู่ใกล้ ห่วงใยกันตลอด 24 ชั่วโมง
ซึ่งในโลกความจริง ไม่ใช่ทุกคนที่มีความรักแล้วจะเป็นแบบนั้น กับบางคนเขาใกล้ชิดได้ที่สุดและเปิดใจได้ที่สุดแค่ในระดับหนึ่ง เพราะบุคลิกภาพของเขาเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะไม่รักเรา แต่การตอบสนองต่อความรักในแบบเขาทำได้แค่นี้ และการที่เขามีบุคลิกภาพแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเขาผิด เขาไม่ได้เป็นแบบนี้เพราะตั้งใจ หากเราคิดจะรักเขาต่อ เราก็ต้องยอมรับเรื่องนี้ให้ได้ก่อน อย่าเพิ่งไปคิดว่าเขาไม่รัก
การไม่เชื่อใจว่าอีกฝ่ายรัก นั่นคืออีกปัญหาหลักๆ ที่ทำให้ชีวิตรักมีแต่ทุกข์ เพราะรักมันไม่ได้ขึ้นป้ายบนหัวบอกว่า ‘รักอยู่นะ’ ถ้าคนรักไม่เชื่อใจ อีกฝ่ายจะทำอะไรก็มีแต่จะคิดว่าเขาไม่รักไปเสียหมด มีแฟนแทนที่จะสุข ต้องกลับมาอมทุกข์แทน หากปากเขาบอกว่ารัก การกระทำอาจจะไม่ถึงขั้นที่เราคาดหวัง แต่ถ้าเรายังรัก และอยากจะคบกับเขาต่อ เราก็ต้องเชื่อใจว่าเขารัก แต่แน่นอนครับถ้ารักกันจริง ต่อให้รูปแบบความผูกพันหลีกหนีจะสูงขนาดไหน ก็ใช่ว่าจะไม่อยากเจอ ไม่สนใจไยดีเลย หรือหายไปเป็นเดือนๆ ไม่ติดต่อ ไม่ถามไถ่ ตอนเราป่วยจะเป็นจะตายก็ไม่มาเยี่ยม อันนี้ก็เย็นชาเกินไป เพราะถ้ารักกันมันก็ต้องการใกล้ชิดกันบ้าง ห่วงใยกันบ้างไม่มากก็น้อย
ในทางกลับกัน หากท่านเป็นคนที่มีรูปแบบความผูกพันที่หลีกหนีสูงเสียเอง และแฟนท่านก็งอนบ้าง บ่นบ้าง น้อยใจบ้างที่ท่านดูเย็นชา จริงอยู่ที่มันเป็นเรื่องยากและต้องฝืนอยู่เหมือนกันที่จะคอยใกล้ชิดมากขึ้น ติดต่อเขาให้บ่อยกว่านี้ เจอหน้ากันปั้นสีหน้าให้ดูดีใจกว่าเดิม มีปัญหากลุ้มใจก็ลองปรึกษาเขาหน่อย ถึงทำแล้วอาจจะไม่เป็นตัวเราเท่าไรนัก แต่การมีคนรักนั้น มันก็ต้องปรับตัวกันบ้างไม่มากก็น้อย หากยังคิดจะรักเขาต่อไป แค่ปากบอกว่ารัก แต่การกระทำมันดูเหินห่างเย็นชาในสายตาเขา มันคงไปต่อกันยาก หากยังรักกันก็ต้องค่อยๆ ปรับตัวกันไปทั้งคู่ ให้ทั้งเราและเขาให้อยู่ในจุดที่เราไม่ฝืนเกิน และเขาไม่รู้สึกว่าเราห่างเหินไป
หลายคนอาจจะสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตนเองหรือคนรักมีรูปแบบความผูกพันแบบไหน วิธีการวัดรูปแบบความผูกพันนั้นมีทั้งวิธีการสัมภาษณ์และการใช้แบบสอบถาม ซึ่งนำความคิดและการกระทำในอดีตของบุคคลนั้นมาคำนวณผล ซึ่งความแม่นยำก็ขึ้นกับว่าผู้ตอบตอบตามความเป็นจริงหรือไม่ และขึ้นอยู่กับเทคนิคการสัมภาษณ์หรือคุณภาพของแบบสอบถามด้วย แต่ปัญหาคือมันมักจะใช้ในวงการวิจัยมากกว่าเอามาวัดกันบ่อยๆ เหมือนวัดไอคิว
อย่างไรก็ตาม หากท่านไปรื้อใน Google ท่านก็อาจจะพบแบบสอบถามออนไลน์ ที่ประเมินรูปแบบความผูกพันให้ท่านได้ แต่การจะบอกว่าความหลีกหนีหรือวิตกกังวลสูงหรือต่ำด้วยการทำแบบสอบถามออนไลน์ที่บอกผลจากการนับคะแนนอย่างเดียวอาจจะไม่แม่นยำนัก เพราะเวลาวิจัยจริงๆ ต้องนำข้อมูลและเทคนิคทางสถิติมาร่วมวิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจรูปแบบด้วย ดังนั้นถ้าจะทำแบบสอบถามออนไลน์ก็ใช้พอเป็นแนวทางได้ แต่อย่าไปเครียด กลุ้มอกกลุ้มใจ หากท่านได้คะแนนสูงในมิติไหนก็ตาม แค่เก็บเอาไว้สำรวจตนเองว่าจริงไหม หรือมันทำให้ตนเกิดปัญหากับคู่รักหรือความสัมพันธ์ด้านอื่นๆ ไหม หากพิจารณาแล้วว่ามันมีปัญหาที่ไม่รู้จะแก้อย่างไร ลองปรึกษากับนักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาได้นะครับ
ผมขอทิ้งท้ายด้วยผลสำรวจที่น่าสนใจ คือ จากการสำรวจคู่รักในสหรัฐอเมริกา ฝ่ายชายที่หลีกหนีสูง กับฝ่ายหญิงที่หลีกหนีต่ำนั้นมักจะไปกันได้รอดมากกว่าในกรณีที่สลับกันคือ ฝ่ายหญิงหลีกหนีสูง ฝ่ายชายหลีกหนีต่ำ ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะค่านิยมในสังคมที่ผู้หญิงจะรับได้หากฝ่ายชายจะขรึม ไม่ค่อยพูดเยอะ มีโลกส่วนตัว เพราะมันเข้ากับผู้ชายตามแบบฉบับ ‘พระเอกพูดน้อยต่อยหนัก’ ไม่แสดงออกว่ารักแบบเห็นชัด ๆ แค่รู้กันสองคนพอ แต่ฝ่ายชายอาจจะรับได้ยากหน่อยหากฝ่ายหญิงขรึมเสียเอง เพราะผู้หญิงถูกมองว่าเป็นเพศที่จะเข้ามาดูแล ตามติด ใส่ใจ ตามแบบฉบับ ‘นางเอกใจดีขี้อ้อน’
อย่างไรก็ตาม ค่านิยมพวกนี้ผมคิดว่าจะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะสื่อในสมัยใหม่ก็มีพระเอกนางเอกที่บุคลิกตรงกันข้ามกับแบบนี้เยอะขึ้น ดังนั้นหากรู้ว่าตัวเองขรึมไป เย็นชาไป ก็ลองพยายามปรับตัวกันสักหน่อยดีกว่าครับ เพราะความรักมันก็เรื่องของคนสองคน หากมีฝ่ายไหนไม่พอใจ ก็ต้องร่วมมือปรับตัวกันทั้งคู่ ชีวิตรักถึงจะอยู่ได้ยืนนานจริงไหมครับ