- Becoming หนังสารคดีถ่ายทอดเรื่องราวของ มิเชล โอบามา อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกา สร้างจากหนังสือชื่อเดียวกันที่แต่งโดยเจ้าตัว
- หนังสารคดีเล่าเรื่องโดยแบ่งเป็น 3 พาร์ท คือ ตั้งแต่เด็กๆ ก่อนจะเป็นมิเชล โอบามาที่ทุกคนรู้จัก ตอนเจอกับบารัก โอบามา ไปจนถึงตอนเป็นสตรีหมายเลขหนึ่งของอเมริกาถึง 8 ปี และชีวิตหลังจากบอกลาทำเนียบขาว
- ในหนังมีฉากหนึ่งที่วัยรุ่นผิวดำคนหนึ่งถามมิเชลว่า เธอผ่านการถูกเมินเฉยมาได้ยังไง ในฐานะที่เป็นคนแอฟริกัน – อเมริกัน มิเชลบอกว่าเธอไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน เธอคิดว่ามันเกิดจากครอบครัว จากพ่อแม่ของเธอ ที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอมีตัวตนอยู่เสมอ
Month: December 2021
- ‘การตัดขาดครอบครัว’ หนึ่งในทางเลือกแก้ไขปัญหาครอบครัวที่น้อยคนนักจะอยากเลือกเดินทางนี้ ไม่ว่าครอบครัวมีปัญหาหนักแค่ไหน ตัวเราถูกทำร้ายสักเท่าไร หลายคนเลือกที่จะยอมอดทนอยู่ต่อ เพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ไว้
- คุยกับ หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ในประเด็นดังกล่าวว่า บางครั้งทางเลือกนี้อาจจะเป็นตัวช่วยชีวิต และวิธีรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัวเพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญกับวันที่เราต่างปล่อยมือกัน คือ ทางเลือกดีที่สุด
- ” Generosity หมายถึงพื้นที่ที่เราจะเปิดรับคนๆ หนึ่ง มันจะกว้างและเผื่อให้กับความไม่น่ารัก ความผิดพลาด เผื่อให้ในวันที่เขาเฮิร์ทเรา ความใจกว้างที่เราเผื่อไว้จะทำให้เรารับรู้ว่า…เฮ้ย เขามาจากจุดที่ต่างจากเรา และเราก็มาจากจุดที่ต่างจากเขา“
ตัดขาดครอบครัว
หนึ่งในทางเลือกแก้ไขปัญหาครอบครัวที่น้อยคนนักจะอยากเลือกเดินทางนี้ ไม่ว่าครอบครัวมีปัญหาหนักแค่ไหน ตัวเราถูกทำร้ายสักเท่าไร หลายคนเลือกที่จะยอมอดทนอยู่ต่อ เพื่อรักษาสิ่งที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ ไว้
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ปัจจุบันการตัดขาดครอบครัวดูจะไม่ใช่ทางเลือกที่ยากหรือน่ากลัวเกินไป อาจเพราะยุคนี้เราให้ความสำคัญกับจิตใจของเรา หากสิ่งที่ทำร้ายเราแม้จะเป็นครอบครัว การปล่อยมือ หรือเดินออกมาก็เป็นวิธีรักษาจิตใจเราที่ดีไม่น้อย แม้อาจต้องเผชิญกับความเจ็บปวด แต่ในระยะยาวอาจส่งผลดีกว่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่เราโตมากับการปลูกฝังว่า ‘ครอบครัวอันดับหนึ่ง’ ‘ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นยังไงครอบครัวต้องมาก่อน’ ‘เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ’ คงทำให้ทางเลือกนี้สั่นคลอนความเชื่อเราไม่น้อย ประกอบกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา หากได้อยู่บนโลกทวิตเตอร์ที่มีหลายแอคเคาท์มาแชร์ว่าโดนพ่อแม่ไล่ออกจากบ้านเพราะความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน หรือลูกตัดขาดพ่อแม่เอง ยิ่งทำให้เราสงสัยในความหมายของคำว่า ‘ครอบครัว’
ชวนคุยกับ หมอโบว์ – พญ.วินิทรา แก้วพิลา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และอาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในประเด็นยุคนี้ครอบครัวปล่อยมือกันง่ายหรือไม่ การตัดขาดครอบครัวส่งผลอะไรบ้าง วิธีเยียวยาต่อจากนั้น และหากเกิดความขัดแย้ง วิธีรับมือเพื่อให้ไม่ต้องไปถึงจุดที่การจากกัน คือ ทางเลือกที่ดีที่สุด
‘ตัดขาดครอบครัว’ ดูจะเป็นคำแนะนำที่เราเห็นบ่อยในยุคนี้ โดยเฉพาะตามโลกโซเชียล หมอโบว์มีความคิดอย่างไรบ้าง?
การให้คำแนะนำ เราต้องดูบริบทด้วยว่าสถานการณ์ครอบครัวนั้นเป็นอย่างไร บางครอบครัวอาจมีปัญหาที่รุนแรง เรื้อรังและซับซ้อน ผ่านความพยายามจนมาถึงจุดที่ไม่สามารถไปต่อได้แล้ว ถึงจุดหนึ่งทางเลือกแยกออกมาก็ดูจะสมเหตุสมผล แต่บางครอบครัวบริบทเขาอาจจะไม่ถึงขั้นนี้ การให้คำแนะนำต้องดูเป็นกรณีๆ ไม่ควรรีบตัดสินหรือให้คำแนะนำตามอารมณ์ ณ ขณะนั้น
ถามว่าทำไมยุคนี้คำแนะนำเชิงนี้ถึงมีเยอะขึ้น ตัวเองคิดว่าคุณค่าสำคัญที่แต่ละเจเนอเรชันส่งต่อกันมาอาจจะเปลี่ยนไป ก่อนนี้สังคมจะให้ความสำคัญกับ Collectivism หรือความเป็นหมู่เหล่า มาก ความเป็นหนึ่งเดียวเหมือนๆกัน คือ เซฟ ปลอดภัย ทั้งแบบครอบครัว สังคม หรือความเป็นชาติ จากเป็นความปลอดภัยก็กลายเป็นความดี เป็นศีลธรรม เป็นความถูกต้องที่สังคมยึดถือ
พอสังคมเปลี่ยน คนเราพึ่งตัวเองได้มากขึ้น เริ่มมีคุณค่าแบบ Individualism บุคคลเป็นปัจเจกมากขึ้น คุณค่าที่คนรุ่นเก่ายึดถือ ก็ไม่จำเป็นที่คนรุ่นใหม่จะเห็นตาม เพราะเขาก็ไม่รู้สึกว่าสิ่งนั้นนี้ที่ถือตามๆกันมา มันเป็นความดีงามตรงไหน และสังคมปัจจุบันมีความเป็น Polarity เป็นขั้วมากขึ้น ด้วยโซเชียลมีเดียเป็นฟิลเตอร์ที่เลือกรับข้อมูลแทนวิจารณญาณของเรา ความเป็นขั้วจะค่อยๆ ใหญ่ และชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
อีกอย่างหนึ่ง คือ คนรุ่นใหม่จะรู้สึกว่าเราไม่จำเป็นต้องอดทนกับอะไรที่มันไม่โอเค คนรุ่นก่อนจะรู้สึกว่า ‘ต้องอดทนสิ!’ ไม่ได้แปลว่าแบบไหนดีหรือไม่ดีนะ มันขึ้นกับแต่ละเรื่อง เป็นมุมมองที่มองต่างกัน คือ มันมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา
ทางเลือกนี้ก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีแก้ไขปัญหาครอบครัว ถ้าเราเลือกวิธีแก้ไขวิธีนี้ มันจะส่งผลอะไรบ้าง โดยเฉพาะกับคนที่เลือกทำแบบนี้
ครอบครัวก็มีฟังก์ชันของมันนะ มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราอยู่ได้ด้วยความสัมพันธ์ ถึงแม้บางคนตัดครอบครัว(ในสายเลือด)ทิ้งไป แต่เขาก็อาจยังต้องพึ่งพาความสัมพันธ์อื่นๆ มีครอบครัวแบบอื่น เช่นเพื่อนหรือชุมชนอื่นๆ
ในความสัมพันธ์กับครอบครัว เราก็มีพาร์ทอื่นที่ไม่ใช่พาร์ทที่ขัดแย้งกัน พาร์ทที่ไม่ใช่เรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มุมมองและความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ใช่ตัวเราทั้งหมด เรายังมีพาร์ทอื่นๆ พาร์ทที่เราใช้เวลาร่วมกัน เล่นด้วยกัน ห่วงใยดูแลกัน ในความสัมพันธ์ยังมีส่วนอื่นๆ อีกมากมายที่มีความหมาย
ในหลายครอบครัวถึงจะมีปัญหาความขัดแย้ง พอสมาชิกในครอบครัวเดือดร้อนหนัก ก็ยังมีเป็นห่วง ต่างฝ่ายต่างปรารถนาดีต่อกัน ก็ยังมี Bonding (สายสัมพันธ์) อยู่ แต่บางครอบครัวอาจจะมีบาดแผลที่ลึกกว่านั้น มันเจ็บปวดเกินไปสำหรับใครบางคน ก็อาจจะดีกว่าที่คนคนนั้นและครอบครัวเลือกใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้น้อยลง
สายสัมพันธ์ที่ว่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่จริง หรือแค่ความเชื่อที่สังคมส่งต่อกันมา?
ตามชีววิทยามีอยู่แล้ว แม้แต่สัตว์ก็สามารถรับรู้ได้ว่าตัวไหนเป็นลูก ตัวไหนเป็นพ่อแม่ ก็จะปกป้องลูกตามสัญชาติญาณ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกมาก็เกิดความผูกพัน (Attachment) ซึ่งในวัยเด็กสำคัญมาก เพราะเราทุกคนมีวัยเด็กและสมองช่วงนั้นเปิดรับและไวต่อสิ่งเร้า เราในวัยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เรียนรู้ว่า…การเป็นมนุษย์ต้องพึ่งพาคนอื่น นอกจากเรื่องความอยู่รอดแล้ว มนุษย์ก็ยังต้องการความรักความผูกพันเพราะมันทำให้เราเป็นสุข และทำให้ชีวีตเรามีความหมาย เป็นอาหารใจของแต่ละคน
วิธีรักษา Bonding ในครอบครัว ที่ต่อให้มีความขัดแย้ง เราก็จะยังไม่แตกหักกัน
คนทุกคนต้องการการยอมรับและเคารพในความเป็นตัวเขาในแบบที่เขาเป็นจริงๆ หลายครั้งพ่อแม่รัก แต่ไม่ยอมรับหรือสนับสนุนในสิ่งที่เขาเป็น ซึ่งลูกเขาก็รับรู้นะว่าพ่อแม่รัก แต่พ่อแม่อาจไม่ยอมรับความคิดเห็นหรือวิถีชีวิตที่ลูกเลือก มองว่ามันไม่ดี ไม่ถูก หรือไม่ปลอดภัย เขาก็เป็นห่วงและอยากปกป้องลูก แต่ลูกอาจจะเต็มไปด้วยความรู้สึกที่ไม่ถูกยอมรับ ไม่ได้รับความเคารพ หรือถูกปฏิเสธตัวตน
เราต้องรู้จักอาหารใจของคน สิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการมันคืออะไรบ้าง
แน่นอนว่าเราต้องการความรัก การดูแล ถ้าครอบครัวดูแลลูก ให้สิ่งจำเป็น ยอมรับและเคารพในความเป็นตัวตนของเขา เปิดพื้นที่ให้เขาได้เป็นตัวเอง ชื่นชม ยินดีในสิ่งที่เขาเป็น สนับสนุนความฝันของเขา ในขณะเดียวกันก็ปกป้องเวลาที่ลูกเกิดอันตราย ตรงนี้เป็นสมดุลที่เกิดขึ้นไม่ง่ายเลย แต่ก็เป็นไปได้ ต้องค่อยๆ เรียนรู้ว่าแบบไหนที่เหมาะกับลูกเรา บางครอบครัวมีลูกหลายคน แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน
การตัดขาดครอบครัว จะมีทั้งมุมที่ลูกเป็นคนตัดขาด และมุมที่พ่อแม่เป็นคนตัดขาด ซึ่งอย่างหลังเป็นสิ่งที่น่าจะเกิดยากมากๆ แต่ปัจจุบันเราเห็นมากขึ้นที่พ่อแม่ตัดลูก บางคนกำลังเรียนอยู่ พึ่งพาตัวเองยากแน่นอน
เวลาเห็นตามข่าวเราไม่รู้ว่ามีอะไรซับซ้อนอยู่เบื้องหลังนั้นบ้าง อะไรที่นำพาให้มาถึงจุดนี้ จุดที่พ่อแม่สามารถไล่ลูกคนหนึ่งออกจากบ้าน อาจจะเป็นอารมณ์ชั่ววูบ การสื่อสารที่ไม่ Healthy หรือมีพื้นฐานความสัมพันธ์บางอย่างที่มีปัญหามากอยู่แล้ว เมื่อเกิดความขัดแย้ง เราต่างก็ต้องการให้อีกฝ่ายทำแบบที่เราต้องการ แต่หลายครั้งที่เราเข้าไม่ถึงความต้องการภายในตัวเรา เห็นแต่ความโกรธเต็มไปหมด จนเลือกจะใช้วิธีควบคุม เช่น ลูกอยากไปประท้วง พ่อรู้สึกเป็นห่วง และกลัวทั้งความปลอดภัยของลูก และความปลอดภัยในอาชีพรวมถึงตัวเองและครอบครัว แต่ความรู้สึกเหล่านี้ส่งมาไม่ถึงลูก ลูกก็ไม่สามารถที่จะเข้าใจหลายมุมของชีวิตผู้ใหญ่ ชีวิตของหัวหน้าครอบครัว
ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่ละคนมีวิธีการรับมือไม่เหมือนกัน หลายครั้งเราก็พลาด เวลาที่เราโกรธหรือกลัวมากๆ การตัดสินใจของเราอาจไปละเมิดหรือกระทบจิตใจคนอื่น ถ้าป้องกันก่อนได้ตั้งแต่แรกก็ควรทำ
แต่ถ้าเผลอทำพลาดไป เราก็ต้องแก้ไขเยียวยามันด้วย อย่างน้อยบอกเขาได้ไหมว่า…ขอโทษนะ วันนั้นพูดแรงไปหน่อย ทุกคนพลาดได้ ถ้ารู้ว่าพลาดก็กลับมาแก้ไขเนอะ
ลองมองหาอีกด้านของสิ่งที่เราไม่โอเค เช่น พ่อก็รับรู้ว่าลูกทำเพราะมีอุดมการณ์ มีความกล้าหาญ ลูกก็รับรู้ว่าที่พ่อมีความห่วงใย และปกป้องครอบครัว มันมีคุณค่าอีกมากมายเพียงแต่ส่งมาไม่ถึง ถ้าจูนกันได้ กลับมาคุยกันดีๆ ก็อาจจะเห็นทางออกอื่นๆ ที่ไม่เหมือนเดิม
การจะสร้างพื้นที่หรือวิธีจูนเข้าหากัน ถ้าเราต่างมีพาร์ทที่ขัดแย้งกัน
เราต้องกลับมาโฟกัสที่ข้างใน หลายครั้งมีสิ่งกระตุ้นภายนอกจากสังคมที่มาบอกว่านี่คือความดี นี่คือคุณค่า เราต้องลงมือทำอะไรหลายอย่างเพื่อความดี และความถูกต้อง ซึ่งมันจะมีคนเห็นต่าง แต่เรากลับมาข้างใน จริงๆ ข้างในคนเราไม่ได้ต่างกันมาก ทุกคนมีความกลัว โกรธ เศร้า ไม่ต่างกันเลย ทุกคนอยากได้ความรัก การยอมรับ การเป็นส่วนหนึ่ง ความผูกพัน ทุกคนต้องการแบบนี้หมด แต่ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ การเติบโตที่ไม่เหมือนกันก็ทำให้เรามีวิธีการที่จะเข้าถึงสิ่งเหล่านั้นไม่เหมือนกัน
ถ้าเราเชื่อมโยงความเหมือนของเราได้ หมอคิดว่านี่เป็นเรื่องของ Generosity ความใจกว้าง ที่เราทุกคนควรบ่มเพาะ ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหนก็ตาม ลูกต้องใจกว้างกับพ่อแม่ พ่อแม่เองก็ต้องใจกว้างกับลูก
Generosity ในใจหมายถึงการขยายพื้นที่ที่เราจะเปิดรับคนๆ หนึ่ง มันจะกว้างและเผื่อให้กับความไม่น่ารัก ความผิดพลาด เผื่อให้ในวันที่เขา hurt เรา พื้นที่จากความใจกว้างนั้นจะทำให้เราระลึกได้ว่า…เขามาจากจุดที่ต่างจากเรา และเราก็มาจากจุดที่ต่างจากเขา และจะซื้อเวลาให้เราได้เห็นอีกด้านของความจริง
วิธีทำให้เรามีความใจกว้าง
เกิดจากที่เราเลือกเผชิญความเจ็บปวดที่เกิดในใจของเราได้ไหม คนยุคนี้ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่อยู่กับ Pain ได้น้อยลง เวลาที่คนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เราคิดหรือเชื่อ เราก็ Pain ละ เขาทำไม่ถูก ทำไมเขาไม่เชื่อเรา หลายครั้งคนอื่นมองว่าสิ่งที่เราคิดมันไม่ดี มันโง่เง่า เลวร้าย ก็ยิ่งรู้สึก Pain และคนเราอยู่กับ Pain ตรงนี้ไม่ค่อยได้ ก็สวนกลับ ‘คุณนั่นแหละที่ไม่โอเค’ ‘คุณนั่นแหละที่ไม่ดี’ เราต่างยื่นเอา Pain ที่มีโยนให้คนอื่น
เราพร้อมมั้ยที่จะรู้สึกเหมือน ‘นั่งอยู่ในกองไฟ’ เวลาที่ถูกดูถูก ไม่เห็นด้วย ถูกตัดสินหรือควบคุม ทั้งๆ ที่เราคิดว่าสิ่งที่เราทำมันถูก เราอยู่กับ Pain ตรงนั้นได้ไหม? แล้วในขณะที่เรา Pain ก็ยังใจกว้างพอที่จะฟัง และอยากรู้ว่าที่มาของอีกฝ่ายคืออะไร อะไรทำให้เขาคิดแบบนั้น ก่อนที่เราจะปกป้องตัวเองหรือโจมตีคนอื่นกลับ
Generosity เราต้องเป็นฝ่ายเริ่มเปิดก่อน เพราะทุกคนมักคาดหวังให้คนอื่นเป็นคนทำก่อน ลูกก็คาดหวังว่าพ่อแม่เป็นผู้ใหญ่ควรจะใจกว้าง พ่อแม่ก็จะคาดหวังกับลูกเหมือนกัน…เราเป็นพ่อแม่นะ ลูกก็ควรจะเชื่อฟังและเคารพเราสิ ถ้าทุกคนต่างรอคนอื่นให้เริ่มก่อน มันก็ไม่เกิด แต่ถ้ามันเกิดแล้ว มันติดต่อกันได้นะ
เราจะฝึกสิ่งนี้ได้อย่างไรบ้าง
อาจจะเริ่มฝึกในพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย กับคนที่เรารู้สึกปลอดภัยด้วย การห้ามไม่ให้พูดบางเรื่องเพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง ทำให้เราไม่ได้ฝึกทักษะเหล่านี้ เราต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารความรู้สึกและความต้องการโดยไม่ทำร้ายคนอื่น เรียนรู้ที่จะพูดเรื่องยาก เรื่องเปราะบาง เช่น เริ่มในกลุ่มเพื่อนของเรา ลองคุยกันดูไหม set ground rule กันก่อน แล้วดูว่าเกิดอะไรขึ้น หมอก็เคยลองเหมือนกัน บางทีถ้าไปแตะเรื่องที่เราให้ความสำคัญมากๆ ก็มีปฏิกิริยาบางอย่างเกิดขึ้น เพราะเราไม่เห็นตัวเองเวลาพูด บางเรื่องถ้าเราไม่พอใจสีหน้าแววตามันออกไป ก็เป็นการฝึกตัวเราว่าจะดูแลตัวเองยังไงให้ไม่ส่งอะไรไปทำร้ายคนอื่น
การใจกว้างกับคนในครอบครัว ต้องมีข้อควรระวังไหม เพราะบางทีความใจกว้างของเราอาจกลายเป็นยอมทนคนในครอบครัวทำร้าย
จุดสำคัญที่สุด คือ Boundary เราใจกว้างได้แต่ต้องมีขอบเขต ความใจกว้างไม่ได้แปลว่าเราต้องยอมรับทุกอย่าง เราสามารถที่จะเชื่อ รู้สึก และคิดเห็นในแบบที่เป็นตัวเราได้ แม้ต่างจากคนในอื่น เพราะเราเป็นเจ้าของประสบการณ์ในตัวเรา ทุกความคิด ทุกความรู้สึก ทุกความต้องการของเรามันมีที่มา สมเหตุสมผลสำหรับเรา ณ ตอนนี้ มันอาจจะเปลี่ยนในอนาคตก็ได้ นี่คือขอบเขตของเรา คนอื่นจะข้ามมาไม่ได้ ถ้าเราเสียใจแล้วคนอื่นบอก…เรื่องแค่นี้ทำไมต้องเสียใจ งี่เง่าไปไหม? เราจะไม่ให้มันข้ามขอบมา เราต้องบอกตัวเองว่า มันโอเคที่เราจะเสียใจ ที่จะร้องไห้ ถึงมันจะเป็นเรื่องเล็กในสายตาคนอื่น แต่มันสำคัญกับเรา
เราสามารถรักษาขอบเขตและใจกว้างได้ในขณะเดียวกัน แทนที่จะโจมตีกลับ ‘ทำไมพ่อแม่มาว่าหนูแบบนี้ ทำไมใจแคบ’’ เราสามารถบอกว่า ‘…ก็ไม่รู้อะพ่อ หนูก็รู้แหละว่ามันเรื่องเล็กสำหรับคนอื่น แต่หนูรู้สึกจริงๆ มันอยากร้องไห้’
ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่เล็งเห็นว่าเราจะรับมือไม่ไหว หรือถูกต้อนจนมุม เราสามารถขอมี safe exit ทางออกที่ปลอดภัย เช่น ขอเวลานอก หรือหยุดพักก่อน และไม่ใช่แค่บอก ‘โอเค จบ แยกย้าย’ นะ เพราะมันเป็นการปิดประตู เหมือนเราไม่ฟังเขา แต่อาจบอกว่า “สิ่งที่เธอพูดทำให้เราต้องคิดเยอะเหมือนกัน เราอาจจะต้องใช้เวลาคิดซักหน่อย ถ้าเราพร้อมเมื่อไหร่ก็อาจจะได้คุยกันอีก” เป็นการส่งสัญญาณว่าตอนนี้เราไม่พร้อม แต่ว่าเราก็เคารพความเห็นเขา และเห็นความพยายามที่จะรักษาน้ำใจรักษาความสัมพันธ์
ทุกควรเรียนรู้ที่จะมีสิ่งนี้ ถ้าลูกขอเวลานอก พ่อแม่ก็ต้องเรียนรู้ตรงนี้ ต้องเคารพความเป็นลูก เพราะถ้าลูกขอเวลานอกแปลว่าเขาไม่ไหวแล้ว และถ้าเรารับรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังทุกข์เราก็ควรที่จะหยุดนะ หรือถ้าบอกแล้วพ่อแม่ไม่ฟัง เราก็หยุดด้วยตัวเองได้ เช่น ไม่พูดต่อ เพราะไม่มีใครบังคับให้เราพูดได้ หรือถ้ามีพื้นที่ส่วนตัวของเราเองก็เข้าไปอยู่ที่นั่น แต่ถ้าสุดท้ายเราไม่มีพื้นที่นี้ ผิวหนังก็คือห้องของเรา ไม่มีใครที่จะเข้ามาได้แล้ว
บางคนอยู่ในบ้านที่มีการทำร้ายกัน ไม่มีใครช่วยเขาจริงๆ ตัวเขาต้องช่วยตัวเอง ต้องพูดหรือเป็นในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตนเขา แต่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดปลอดภัย ทำไปด้วยความจำเป็น แต่ความคิดความรู้สึกทุกอย่างยังอยู่และเป็นของเขา ซึ่งสำคัญมากเรื่อง Boundary ตัวเราไม่มีใครเข้ามาได้ทั้งนั้น
ถ้าปัญหาในครอบครัวที่เกิดขึ้นทำให้คนคนนั้นรู้สึกว่า การเลือกตัดครอบครัวเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีผลกระทบตามมา วิธีดีลกับผลลัพธ์นั้น และถ้าวันหนึ่งเราอยากกลับไปหาครอบครัว ควรทำอย่างไร
ถ้าเราตัดสินใจจะเดินออกมาแล้ว ให้บอกกับตัวเองว่าสิ่งนี้ดีที่สุดกับเรา ณ เวลานี้ เคารพการตัดสินใจของตัวเอง ให้เวลาตัวเองเต็มที่ แล้วลองสังเกตว่ามีอะไรที่เรายังติดค้างไหม มีอะไรที่เรารู้สึก หรือต้องการอย่างซื่อตรง ระลึกไว้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ถ้าเรายังไม่แน่ใจ เราสามารถสร้างระยะ สร้างพื้นที่ส่วนตัวได้ การที่เรายังรักษาความสัมพันธ์กับครอบครัว ก็จะช่วยให้เรากลับไปง่ายขึ้น ติดต่อไปบ้าง ให้เขารู้ว่าเราก็ไม่ได้อยากหายไปไหน เราแค่ต้องการพื้นที่สำหรับตัวเรา
แต่ถ้ามั่นใจแน่ๆ ว่าในอนาคตจะไม่กลับไป ก็ไม่เป็นไร หรือถ้าจะเปลี่ยนใจก็สามารถทำได้ ส่วนอีกฝ่ายจะยื่นมือกลับมาไหมก็ขึ้นอยู่กับเขา ถ้าสุดท้ายเขาไม่ยอมรับเรา ก็ไม่เป็นไรเรายังอยู่ต่อไปได้ เรายังมีสิ่งอื่น ถึงจะสูญเสียครอบครัว แต่เรายังมีตัวของเรา เราจะอยู่ด้วยตัวเองหรือสร้างครอบครัวใหม่ก็ได้
ในมุมคนรับฟังปัญหา การให้คำแนะนำควรเป็นยังไง
เราถามเขาได้ คนเรามักจะมีคำตอบบางอย่างของตัวเองอยู่แล้ว ถ้าเกิดทางออกที่เขาบอกมาเราฟังแล้วรู้สึกเป็นห่วง ก็ทักท้วงกลับไปได้ ‘ตรงนี้จะเป็นอะไรไหม’ ‘เธอโอเคใช่ไหม’ เราก็แค่ช่วยเขาคิด ถ้าเขาคิดครบแล้วตัดสินใจแล้ว เราก็ทำได้แค่ซับพอร์ต ถ้าเขาลองแล้วมันไม่เวิร์กเราก็ซับพอร์ตและให้กำลังใจสู้ต่อ เพราเขาเป็นเพื่อนเรา ไม่จำเป็นต้องไปซ้ำเติม
สุดท้ายแล้วหมอโบว์มีอะไรอยากทิ้งท้ายไหมคะ
ขอบคุณนะคะที่เป็นช่องทางให้ได้สื่อสารถึงเรื่องสำคัญเหล่านี้ 🙂
- ‘ลูกคนกลาง’ มักจะถูกปฏิบัติแตกต่างจากพี่น้อง ลำดับการเกิดที่คลุมเครืออาจส่งผลให้เขาสับสนว่าควรจะวางตัวอย่างไร เพราะตัวเขาไม่ได้โตที่สุดในบรรดาพี่น้องและไม่ได้เด็กที่สุดในบ้าน
- การเป็นลูกคนกลางไม่ได้ทำให้เด็กสูญเสียคุณค่าภายในตัวเองไป แต่เป็นปัจจัยในการเลี้ยงดูที่ส่งผลกระทบต่อ ‘ลูกคนกลาง’ ก็คือ ‘การไม่ได้รับความรักอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก’
- ลูกคนกลางอาจจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป เพราะพ่อแม่ไม่ได้มองเห็นและสนใจเขาเทียบเท่ากับพี่น้องคนอื่น เขาต้องพยายามมากกว่าใครๆ เพื่อให้ได้รับการมองเห็นนั้น แต่ไม่ใช่ทุกความพยายามจะสำเร็จ
หมายเหตุ: บทความนี้ได้เขียนขึ้นโดยอ้างอิงทฤษฎีทางจิตวิทยา และประสบการณ์ของพ่อแม่และเด็กที่เข้ามารับการปรึกษา ดังนั้น บางท่านอาจจะไม่ได้รับประสบการณ์ในรูปแบบเดียวกันกับในบทความ เพราะเนื้อหาในบทความจะเป็นเพียงแนว โน้มที่สามารถเกิดขึ้นได้เท่านั้น
‘ตัวฉัน’ ผู้ซึ่งไม่ได้โตที่สุด เพราะไม่ใช่ลูกคนแรก
และไม่ได้เด็กที่สุด เพราะยังมีน้องเล็กที่เด็กกว่าตัวเอง
ไม่ใช่ทั้งพี่ ไม่ใช่ทั้งน้อง “ฉันเป็นลูกคนกลาง”
‘ลูกคนกลาง’
‘Wednesday’s child’
‘Middle Child Syndrome’
ชื่อเรียกต่างๆ เหล่านี้คือชื่อที่ใช้เรียกเด็กน้อยที่เกิดเป็น “ลูกคนกลาง”
ที่มาของชื่อเหล่านี้เกิดจากความเชื่อที่ว่า ‘ลูกคนกลาง’ มักจะถูกปฏิบัติแตกต่างจากพี่น้องของเขา รวมทั้งลำดับการเกิดที่คลุมเครืออาจจะส่งผลให้ลูกคนกลางเกิดความสับสนว่าเขาควรจะวางตัวอย่างไร เพราะบางครั้งเขาอยากจะให้คนในครอบครัวมองว่า เขาโตพอจะได้รับผิดชอบสิ่งต่างๆ และได้รับความเคารพ แต่กลับกลายเป็นว่าเขาไม่ได้โตที่สุดในบรรดาพี่น้อง ในทางกลับกันเขาอยากจะให้คนในครอบครัวมองว่าเขายังเด็กและควรได้รับการดูแล แต่กลับกลายเป็นว่าเขาไม่ได้เด็กที่สุดในบ้าน เขาเป็นเพียงลูกคนกลางที่อยู่ตรงกลางระหว่างพี่และน้องของเขา
“ลำดับขั้นการเกิดส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก (Birth order effect) ได้อย่างไร?”
Alfred Adler (1973) เชื่อว่า “พ่อแม่มักปฏิบัติและตอบสนองต่อลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาเชื่อว่าเกิดจากลำดับการเกิดของลูกแต่ละคนนั่นเอง”
‘ลูกคนกลาง’ เป็นลูกที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่น้อยที่สุด ทำให้เขาเป็นเด็กที่มีความ ทะเยอทะยานสูง อดทน และมีแนวโน้มเป็นคนดื้อรั้นและดื้อเงียบ ลูกคนกลางบางคนจะพยายามทำตัว โดดเด่นกว่าพี่น้องของตน หรือทำตัวแปลกแยกไปเลยเพื่อให้เป็นที่สนใจของพ่อแม่และคนรอบตัว ทั้งนี้หากพ่อแม่เข้าใจและให้ความสนใจลูกคนกลางอย่างเพียงพอ เขาจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าพี่น้อง และเป็นกาวเชื่อมใจระหว่างคนในครอบครัวอีกด้วย
ภาระทางใจที่สามารถเกิดขึ้นได้กับลูกคนกลาง
สำหรับลูกคนกลาง เขาเกิดมาโดยที่มีพี่อยู่แล้ว เขาต้องคอยแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ระหว่างพี่กับตัวเขา และหลังจากนั้นเมื่อน้องคนเล็กเกิดมา ตัวเขาก็ต้องแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ไปให้น้องด้วย ตัวเขาไม่เคยมีช่วงเวลาที่มีแค่เขากับพ่อแม่มาก่อน เขาต้องต่อสู้กับพี่คนโต และแบ่งความสนใจกับน้องคนเล็ก ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ถ้าเขาอยากทำให้ทุกคนมองเห็น เขาต้องพยายามทำตัวให้แตกต่างจากพี่กับน้องของเขา นอกจากนี้เขาต้องปรับตัวอยู่เสมอเพราะเขาต้องรับบทบาทถึงสองบทบาทในเวลาเดียวกัน คือ เป็นน้องของพี่คนโต และเป็นพี่ของน้องคนเล็ก
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อ ‘ลูกคนกลาง’ เป็นปัจจัยเดียวกันที่สามารถส่งผลกระทบต่อลูกคนอื่นๆ ได้ เช่นเดียวกัน ปัจจัยนั้น คือ ‘การไม่ได้รับความรักอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่หรือผู้เลี้ยงดูหลัก’ นั่นเอง
การเป็นลูกคนกลางไม่ได้ทำให้เด็กสูญเสียคุณค่าภายในตัวเองไป
แต่การที่พ่อแม่หรือคนในครอบครัวไม่ได้แสดงความรัก ความสนใจ และการยอมรับอย่างเหมาะสม สามารถส่งผลกระทบต่อตัวเด็กได้ ดังนี้
- เขาอาจจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป เพราะพ่อแม่ไม่ได้มองเห็นและสนใจเขาเทียบเท่ากับพี่น้องคนอื่น เขาต้องพยายามมากกว่าใครๆ เพื่อให้ได้รับการมองเห็นนั้น แต่ไม่ใช่ทุกความพยายามจะสำเร็จ ดังนั้นเมื่อเผชิญความผิดหวังซ้ำๆ ความมั่นใจของเขาก็ถูกสั่นครอนไปด้วย การรับรู้ในคุณค่าของตัวเองติดลบ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถยอมรับตัวเอง และพัฒนาตัวตนที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาในอนาคตได้
- ในเด็กบางคนเลือกที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ่อแม่หันกลับมามองและสนใจเขา ถึงแม้สิ่งที่เขาทำจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น
ลูกบางคนเลือกที่จะทำตัวดี ขยันเรียน เรียนให้ได้คะแนนดีๆ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจและชื่นชมเขาบ้าง ลูกบางคนเลือกที่จะทำตัวตลกๆ เพื่อให้พ่อแม่สนใจสิ่งที่เขาทำ หรือลูกบางคนเลือกที่จะทำเรื่องร้ายกาจ แกล้งพี่น้องตัวเอง ทำให้ข้าวของเสียหาย เพื่อให้พ่อแม่ตำหนิเขา เพราะแม้จะเป็นการตำหนิ แต่อย่างน้อยพ่อแม่ก็สนใจเขาในเวลานั้น เป็นต้น
ความพยายามที่ไม่เป็นผลนานวันเข้าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ กัดกินหัวใจเกิดเป็นบาดแผลทางใจ และรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพ่อแม่และพี่น้อง
- ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เด็กอาจจะทำตัวห่างเหินและไม่อยากใกล้ชิดกับพี่น้องตนเอง เพราะรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นน้องหรือพี่ได้รับความรักในขณะที่ตัวเองไม่เคยได้รับเช่นนั้น อยากเกลียดพี่น้องตนเอง แต่ก็รู้ในใจลึกๆ ว่าไม่ใช่ความผิดของพี่น้องที่พ่อแม่ไม่รักเขาเท่ากับคนอื่น
- ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะความเครียด ความเกลียดตัวเองจากการไม่ได้รับความรักส่งผลต่อการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ยิ่งทำให้ไม่รู้ว่าตนเองจะอยู่ไปเพื่อใครหรือสิ่งใด
ดังนั้น ลูกที่เติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกว่า ‘พ่อแม่ไม่รักตัวเอง’ หรือ ‘พ่อแม่รักพี่น้องมากกว่าตนเอง’ อาจจะต้องกลับมาทำความเข้าใจตัวเราเอง เพราะเราไม่สามารถแก้ไขพ่อแม่ของเราได้
วิธีรับมือและเยียวยาจิตใจตัวเองที่ได้รับการปฏิบัติแบบ ‘ลูกคนกลาง’
สำหรับ “ลูกคนกลาง” ที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่แล้วในวันนี้ สิ่งที่เราสามารถทำได้
ขั้นที่ 1 ยอมรับ และอนุญาตให้ตนเองรู้สึกทางลบไม่ว่าจะเป็น ‘โกรธ’ ‘เศร้า’ ‘เหงา’ หรือแม้กระทั่ง ‘ผิดหวัง’ ในตัวพ่อแม่ของเรา
เราควรยอมรับว่า “ไม่เป็นไรที่พ่อแม่อาจจะรักเราไม่เท่ากับพี่น้องคนอื่น” หรือ “ไม่เป็นไรที่พ่อแม่ไม่สามารถรักเราได้อย่างที่เราต้องการ” ไม่ใช่ความผิดของเราเลยที่พ่อแม่ทำเช่นนั้น เพราะพ่อแม่เป็นคนธรรมดา และเรามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาเช่นกัน
ขั้นที่ 2 หาที่พึ่งพิงทางใจ หรือพื้นที่ปลอดภัย
เราควรหาที่พึ่งทางใจหรือใครสักคนที่สามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเราได้ ข้อสำคัญ คือ บุคคลหรือพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำให้เรารู้สึกสบายใจ และเป็นตัวของตัวเองได้ อาจจะเป็นบุคคลอื่นในครอบครัวที่เขารักและหวังดีต่อเรา หรือคนรอบข้างที่ให้การเคียงข้างพร้อมรับฟังเรา เช่น เพื่อน คุณครู จิตแพทย์ นักจิตวิทยา เป็นต้น
เพื่อให้เราได้มีโอกาสเทใจและพักใจของเราในวันที่ไม่พร้อม ก้าวต่อเมื่อใจของเราปลอดโปร่ง เราจะสามารถมองเห็นตัวเราเองกับทางข้างหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น
ขั้นที่ 3 เรียนรู้ที่จะรักตัวเองก่อน
ถึงแม้พ่อแม่ไม่สามารถรักและยอมรับเราได้ในแบบที่เราต้องการ แต่เราสามารถรักและยอมรับตัวเราเองได้ ถ้าวันนี้เรายังไม่พร้อมรักตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฝืน ค่อยๆ หาจุดดีของตัวเรา ค่อยๆ หาสิ่งที่เราสบายใจที่จะทำและสิ่งที่เราอยากจะเป็น การลงมือทำ คือ คำตอบของการเพิ่มความรักให้กับตัวเราเอง ยิ่งเราทำอะไรเพื่อตัวเรา เราจะค่อยรับรู้ถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นกับตัวเอง
ขั้นสุดท้ายเราอาจจะเลือกทำหรือไม่ทำก็ได้ คือ การบอกความรู้สึกของเราออกไปให้พ่อแม่ได้รับรู้
ถ้ามีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่ของเราอย่าตรงไปตรงมา ลองบอกความรู้สึกที่เรามีให้พ่อแม่เราได้รับรู้ ถึงแม้ผลที่ออกมา คือ พ่อแม่ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ อย่างน้อยๆ เราได้บอกสิ่งที่เรารู้สึกออกไป เราจะได้ไม่รู้สึกค้างคาใจ ที่สำคัญวันนี้พ่อแม่อาจจะไม่ยอมรับ แต่อย่างน้อยเขาได้รับรู้แล้วว่าเรารู้สึกอย่างไร
บางครั้งการยอมรับต้องใช้เวลาในการตกตะกอนทางความคิด เพราะไม่ใช่แค่เพียงพ่อแม่ต้องยอมรับสิ่งที่เราบอกเพียงอย่างเดียว แต่พวกเขาต้องยอมรับในตัวเองด้วยว่า ตัวพวกเขาเป็นเช่นนั้น และเคย (หรือกำลัง) ทำเช่นนั้นกับเราอยู่
ทางเลือกสุดท้าย ในกรณีที่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ การออกมาจากสภาพแวดล้อมที่ทำร้ายเราอาจจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด และเราไม่ควรรู้สึกผิดที่ตัวเราปกป้องตัวเองในวันนี้
ไม่ว่าจะเป็นลูกคนที่เท่าไหร่ก็ตาม ทุกคนต่างต้องการความรักและความสนใจอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่
ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนควรเข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้…
ข้อที่ 1 ยอมรับลูกในแบบที่ลูกเป็น
เด็กแต่ละคนเกิดมาแตกต่างกัน แม้เขาจะเป็นลูกของเราทุกคน แต่ลูกแต่ละคนก็เกิดมาเป็นตัวเขาเอง ดังนั้น เราควรยอมรับลูกในแบบที่เขาเป็น เขาไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร เพราะลูกสามารถเป็นตัวเขาในแบบฉบับที่ดีที่สุดได้
ข้อที่ 2 ไม่ควรเปรียบเทียบลูกกับพี่น้องหรือเด็กคนอื่น
ตัวอย่างคำพูดเชิงเปรียบเทียบที่มักทำร้ายเด็กเสมอ
“ดูพี่ของลูกสิ ทำไมพี่เขาถึงทำได้”
“ทำไมไม่ทำตัวให้ว่าง่ายเหมือนน้องบ้าง”
“ทำไมชอบทำตัวแปลกแยกจากพี่น้องคนอื่น” เป็นต้น
หรือแม้กระทั่งการให้คำชมลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่อาจจะมีการชื่นชมลูกคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษก็สามารถทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีได้เช่นกัน เช่น “พี่ของลูกเก่งอย่างนั้นอย่างนี้” หรือ “น้องของลูกทำอันนี้ดีมากเลย ดูสิ”
แม้ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากพ่อแม่ทำกับเราเช่นนี้ บางครั้งตัวเราเองยังแอบเก็บมาน้อยใจลึกๆ เลย ถ้าเป็นเด็ก เขาจะรู้สึกขนาดไหน แม้เด็กจะไม่ได้พูดออกมาก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รับรู้ หรือไม่รู้สึกสิ่งที่พ่อแม่ควรทำ คือ การมอบความรักและการมองเห็นคุณค่าในสิ่งที่ลูกแต่ละคนเป็น
ข้อที่ 3 ไม่ทำให้ลูกอับอายต่อหน้าพี่น้องหรือเด็กคนอื่น
แม้ว่าเราจะถือคติว่า “ทำโทษเด็กอีกคนเพื่อให้เด็กอีกคนไม่ทำตาม” ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อสภาพจิตใจของคนถูกต่อว่านั้นแก้ไขไม่ได้ เขาจะรู้สึกแย่ต่อตนเอง และอับอายที่ถูกตำหนิต่อหน้าพี่น้องของตน
เวลาเด็กทำผิด พ่อแม่ควรพาลูกออกสอนตัวต่อตัว ในพื้นที่สงบและปลอดภัยทางกายใจ เพราะสำหรับเด็กแล้ว เขาต้องการการยอมรับและช่วยเหลือเพื่อเรียนรู้ว่าสิ่งที่ถูกและสิ่งที่ควรทำคืออะไร ไม่ใช่การลงโทษและการทำให้อับอาย
ข้อที่ 4 เคารพในตัวลูกแต่ละคน
เริ่มต้นง่ายๆ จากเคารพการตัดสินใจ ในการแบ่งหรือไม่แบ่งปันของของเขา
ถ้าเราซื้อของอะไรให้ลูกแต่ละคน แล้วบอกว่า “นั่นคือของของเขา” นั่นแปลว่า ถ้าพี่หรือน้องมาแย่งของเขาไปเล่น อย่าบอกเจ้าของว่า “ให้แบ่งปัน ยอมๆ พี่หรือน้องบ้าง” เพราะเขาจะรู้สึกว่าไม่มีของของเขาที่แท้จริง ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้งเด็กจะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถรักษาสิทธิ์ที่ตนพึงได้รับได้ ตนเองต้องยอมพ่อแม่และพี่น้อง เขาจะท้อจนไม่อยากปกป้องสิทธิ์ของตนเองอีก ใครจะขอ ใครจะทำอะไร เขาจะยอมๆ ไป (แม้ใจไม่อยากก็ตาม)
หรือเด็กบางคนจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ เขาจะหวงของมาก เขาจะแอบเล่นของชิ้นนั้นเพื่อไม่ให้ ใครมาแย่งของของเขาไป ที่สำคัญเขาจะมองว่าผู้ใหญ่ คือ ศัตรูของเขาในเรื่องนี้ เพราะพ่อแม่เป็นคนบังคับให้เขาต้องแบ่งของของเขาให้พี่น้องคนอื่น
การแบ่งปัน ขอให้รอเวลาอันสมควร และเกิดจากการที่เด็กพร้อมและอยากให้ด้วยตัวเขาเองจะดีกว่ามาก
ข้อที่ 5 พี่น้องทุกคนควรได้รับการมอบหมายหน้าที่
ในกรณีที่เด็กโตพอแล้ว ช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐานได้ เวลาเรามอบหมายงานให้เด็ก เราควรให้งานที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เช่น คนน้องช่วยเช็ดโต๊ะ คนกลางช่วยเช็ดพื้น คนโตช่วยล้างจาน ให้เราเลือกงานให้เหมาะสมกับวัยของเขา ให้เขาช่วยทำงานคนละอย่าง หรือจะผลัดกันทำก็ได้
เราควรสร้างค่านิยมให้กับพี่น้องใหม่ว่า ‘ทำในสิ่งที่ตนทำได้ ช่วยกันคนละนิด ทำกันคนละอย่าง’ นั่น คือสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่มีใครควรจะแบกรับภาระหน้าที่ไว้แค่เพียงคนเดียว ใครพร้อมมากกว่าควรช่วยในสิ่งที่ตนทำได้ ใครพร้อมน้อยกว่าก็ช่วยในสิ่งที่ตนทำได้เช่นกัน
สุดท้าย ไม่ว่าจะเป็นลูกคนกลาง ลูกคนโต ลูกคนเล็ก พวกเขาต่างต้องการความรัก ความสนใจ และ การยอมรับจากพ่อแม่ไม่แตกต่างกัน พ่อแม่อย่าลืมโอบกอดพวกเขาทุกคนด้วยความรักและรักเขาใน แบบที่พวกเขาเป็น
อ้างอิง
Adler, A. (1973). How position in the family constellation influences life-style. International Journal of jndividual Psychology 3, 211-227
- การจัดโครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent เป็นการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแผนการเรียนการสอน ไม่ว่าจะครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือแม้แต่ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชุมชน เกิดเป็นการเรียนรู้จริงในชีวิตประจำวัน
- หน่วยการเรียนรู้เรื่องขยะ ผลลัพธ์ที่สำคัญคือ เด็กมองขยะด้วยสายตาใหม่ ขยะไม่ได้ไร้ค่าแต่กลับมีมูลค่า เราสามารถสร้างมูลค่าให้กับขยะได้ แต่ที่สำคัญคือ เราจะไม่สร้างขยะเพิ่ม
- การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการสอน แต่รวมไปถึงการวัดและประเมินผลที่จะต้องเน้นเรื่องการสะท้อนให้นักเรียนรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง และปรับอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญควบคู่ไปกับการใช้คำถามกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก
หัวใจสำคัญในการออกแบบการเรียนรู้ คือ การฟังเสียงของนักเรียน ซึ่งจะนำไปสู่บทเรียนที่มีจุดริเริ่มจากการทำงานร่วมกันระหว่างนักเรียนกับครู โดยที่นักเรียนเป็น ‘เจ้าของการเรียนรู้’ นี่คือแนวคิดในการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนของโรงเรียนบ้านกู้กู โรงเรียนเล็กๆ ใจกลางเมืองภูเก็ต โดยเน้นการเรียนรู้เชิงรุกหรือ Active Learning ที่ทำให้ผู้เรียนรู้สึกถึงการเป็น Co – Agent ความคิดเห็นของนักเรียน เป็นตัวจุดประกายให้ครูนำไปออกแบบการเรียนรู้
โดยความสนใจของเด็กๆ ในครั้งนี้คือเรื่องขยะ เพราะพวกเขามองว่า “ถ้ามีขยะในโรงเรียน โรงเรียนก็จะสกปรก” ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าอยู่
โรงเรียนแห่งนี้มีกระบวนการทำงานกันอย่างไรในการพาคุณครูและนักเรียนเดินไปพร้อมๆ กัน แล้วหน้าตาห้องเรียนของแต่ละระดับชั้นเป็นแบบไหน ถอดความจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ Online PLC Coaching เรื่องเล่าจากครูต้นแบบ ครั้งที่ 1 ของเครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ผ่านห้องเรียนที่เล็กแต่เต็มไปด้วยประสบการณ์ ในหัวข้อ ‘การจัดการเรียนรู้โครงงานฐานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent’ หน่วยการเรียนรู้เรื่อง ‘ขยะ’ โรงเรียนบ้านกู้กู จังหวัดภูเก็ต
โรงเรียนบ้านกู้กู สถานศึกษาแห่งความสุข
การจัดโครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent เป็นการดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแผนการเรียนการสอน ไม่ว่าจะครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือแม้แต่ปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับชุมชน เกิดเป็นการเรียนรู้จริงในชีวิตประจำวัน โดยยังไม่ทิ้งเป้าหมายเดิม นั่นคือเน้นให้ผู้เรียนมีสมาธิ อ่านออก เขียนได้ คิดวิเคราะห์เป็น แยกแยะสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และสามารถเชื่อมโยงทักษะหรือองค์ความรู้ที่ได้ไปสู่การตัดสินใจและเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง ซึ่งมาจากการสะท้อนของครู นักเรียน ผู้ปกครอง รวมถึงการสังเคราะห์จากข้อมูลผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้ของนักเรียนที่ผ่านมา
“สำหรับโรงเรียนบ้านกู้กู หลังจากที่เราได้เข้าร่วมโครงการการพัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง เป็นโครงการ TSQP2 ของกสศ. และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จุดสำคัญของการเปลี่ยนแปลง คือ เราดึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเข้ามา โดยเริ่มจากการย้อนมองตัวเอง โดยมองจากการวิเคราะห์ข้อมูล สารสนเทศที่เรามี จากที่เราจัดวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สะท้อนการที่จะไปถึงเป้าหมายสถานศึกษาแห่งความสุข ทั้งวงของผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง กรรมการสถานศึกษา และที่สำคัญที่สุดก็คือนักเรียน” ครูศิวพร ไกรนรา ครูประจำวิชาวิทยาศาสตร์ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เล่าถึงการจัดการเรียนรู้โครงงานฐานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent
แล้วทำอย่างไรจึงจะไปสู่สถานศึกษาแห่งความสุขได้ คำถามนี้ นักเรียน ซึ่งเป็นผู้ที่ใช้เวลาวันละหลายชั่วโมงในการเรียนรู้ รวมถึงเล่นในโรงเรียนแห่งนี้ ถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยในมุมมองของนักเรียนนั้น สำคัญคือ ความรู้สึกและความต้องการของตัวนักเรียนเอง
“เด็กๆ รู้สึกอย่างไร อะไรทำให้อยากจะมาโรงเรียน โรงเรียนแห่งความสุขของเขาหน้าตาเป็นอย่างไร เด็กๆ ต้องการอะไร อยากเห็นอะไรบ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสภาพแวดล้อม อยากให้ครูสอนแบบไหน อยากให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ของลูกและดูแลลูกอย่างไร หรือแม้กระทั่งตัวของนักเรียนเองเขาก็จะต้องสะท้อนออกมาด้วยว่า เขาจะต้องปฏบัติตนอย่างไรที่จะทำให้การเรียนรู้หรือการอยู่ในโรงเรียนมีความสุข จากทุกภาคส่วนตรงนี้เราก็ได้เป้าหมายแบบมีส่วนร่วมของโรงเรียนขึ้น”
ในการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนบ้านกู้กู อย่างแรกคือ ไม่ได้มองว่า คุณครูจะสอนอะไร แต่เลือกที่จะฟังเสียงของผู้เรียนว่า อยากจะเรียนอะไร?
“เด็กๆ มีการสะท้อนออกมาว่า เขาอยากให้โรงเรียนสะอาด เนื่องจากมีขยะเกิดขึ้นในโรงเรียนเยอะ หรือบางครั้งมีชาวบ้านเข้ามาใช้พื้นที่ ก็จะมีขยะเพิ่มขึ้น ตรงนี้ที่เขาสะท้อนเราจึงเอามาพัฒนาเป็นหน่วยการเรียนรู้ต่อ”
โดยครูจะมาร่วมกันจัดวง PLC ระดมสมองพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ไปสู่เป้าหมาย นั่นก็คือ การพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต และการนำไปเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง ซึ่งวิธีการในวง PLC จะมีเครื่องมืออยู่ 3 ตัวด้วยกัน คือ LS (Lesson Study), Coaching และ DE (Development Evaluation)
“สำหรับหน่วยการเรียนรู้นี้ เรามองว่าครูเองก็ต้องพัฒนาหรือเติมเต็มในเรื่องของการสร้างชุดคำถาม โดยเฉพาะชุดคำถามขั้นสูงที่จะกระตุ้นให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ แล้วทำชุดคำถามอย่างไร ที่จะให้เด็กคิดเป็นลำดับขั้นไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการได้ ซึ่งการใช้ชุดคำถามตรงนี้จะเป็นการบ่มเพาะนักเรียนโดยใช้ปัญหาเป็นฐานไปสู่การทำโครงงาน”
นอกจากนี้อีกส่วนหนึ่งก็คือ การวัดและประเมินผลเพื่อพัฒนา ในระหว่างทางของการเรียนรู้มีการให้ฟีดแบคกลับไปกลับมาระหว่างนักเรียนกับครูตลอด และปิดท้ายด้วยการถอดบทเรียน
กระบวนการสร้าง Co – Agent
สำหรับขั้นตอนการจัดโครงงานบูรณาการกับการสร้าง Co – Agent ในหน่วยการเรียนรู้ ‘ขยะ’ เริ่มต้นจากการเสนอและตัดสินใจเลือกประเด็นการเรียนรู้โดยการมีส่วนร่วมของนักเรียน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้มีเพียงประเด็นเดียว จะต้องมีการโหวตเลือกประเด็น เพราะฉะนั้นนักเรียนก็จะต้องยอมรับในข้อตกลงและกติกาของห้อง จากนั้นครูจัดวง PLC ระดมสมองเพื่อพัฒนาหน่วยการเรียนรู้โครงงานฐานบูรณาการ
“ที่สำคัญไม่ใช่แค่ครูที่เป็นผู้จัดการเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนเท่านั้น เรายังดึงโค้ชจากชุมชนก็คือ ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ในด้านการจัดการขยะมาเสริมให้กับครูและนักเรียน ทั้งยังได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้กับครูด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่จะทำให้การเรียนรู้ของเราไปสู่โครงงานฐานบูรณาการได้ จะต้องมีการคิดเกิดขึ้นและการจะกระตุ้นให้เขาเกิดการคิดได้ ครูก็จะต้องมีการออกแบบชุดคำถาม”
และจากหน่วยการเรียนรู้เรื่อง ‘ขยะ’ นี้ ก็เกิดเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ โดยได้ออกมาเป็น 6 หน่วยการเรียนรู้ 6 ระดับชั้น เริ่มตั้งแต่ปฐมวัย เรียนรู้ว่า ‘อะไรคือขยะ’, ในระดับชั้นป.1 จะเป็นหน่วยการเรียนรู้ Trash to know ขยะน่ารู้, ชั้นป.2 เรื่องแฟนซีรีไซเคิล, ชั้นป.3 เรื่อง Work to make, ชั้นป.4 เรื่องเล่าของขยะ ส่วนชั้นป.5 และ ป.6 จะเป็นเรื่องบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ โดยภายใต้เป้าหมายเดียวกับคือการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะ
บูรณาการเข้ากับวิชา เชื่อมโยงสมรรถนะ
ในวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งมีครูศิวพรเป็นผู้สอน เธอเล่าว่า ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องขยะ ได้เชื่อมโยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสาร การเปลี่ยนแปลงทางเคมีและทางกายภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยของการศึกษาการย่อยสลายของขยะแต่ละประเภท หรือจะเป็นวิชาคณิตศาสตร์ ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของ ครูบุษบาวรรณ นามมล ที่เชื่อมโยงในเรื่องการนำเสนอข้อมูลทางสถิติของขยะ ในบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ
“เนื่องจากเป็นวิชาสุดท้ายในกระบวนการสอนของหน่วยนี้ ต้องรวบรวมข้อมูลสถิติ ข้อมูลการซื้อขายขยะของนักเรียนแต่ละห้อง ซึ่งในหน่วยบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ พี่ๆ เขาจะเป็นผู้นำหรือเจ้าของบริษัท เป็นคนบันทึกข้อมูลว่าแต่ละห้องขายขยะในแต่ละสัปดาห์ได้เท่าไร ขายอะไรได้มากกว่า พอบันทึกเสร็จ ในหน่วยนี้ครูจะให้เขามาออกแบบการนำเสนอข้อมูล โดยจะให้อิสระกับนักเรียนในการออกแบบ”
“และในระหว่างการออกแบบในขั้นตอนการสอนครูก็จะให้เขาร่วมกันคิดคำถามกลุ่มละ 3 ข้อจากข้อมูลที่เขาสร้างเพื่อนำมาถามเพื่อนๆ กลุ่มอื่นๆ หลังจากนำเสนอกันเรียบร้อยก็จะมาร่วมกันวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมด และตอบคำถามว่า ปีการศึกษาหน้าบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะของโรงเรียนเราจะมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งนี่ไม่ใช่การถามเพื่อเปรียบเทียบ แต่เป็นการถามเพื่อให้นักเรียนวิเคราะห์แนวโน้ม หรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
แนวทางการจัดการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์
- การออกแบบกิจกรรมที่บ่มเพาะทักษะและสมรรถนะทางคณิตศาสตร์
- การสร้างโจทย์ปัญหาจากสถานการณ์ในชีวิตประจำวันให้เป็นสูตรทางคณิตศาสตร์
- การใช้ทักษะด้านคณิตศาสตร์ในการแปลงข้อมูลและนำเสนอ
- การใช้คำถามที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง สถานการณ์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน (Situated Learning)
- การทำงานเป็นทีมของนักเรียนเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
- การให้ข้อมูลย้อนกลับกับนักเรียนในการปรับปรุงชิ้นงาน
“ในการเปลี่ยนแปลง อย่างแรกเลย นักเรียนมีใจในการอยากเรียนคณิตศาสตร์ ทัศนคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ พอนักเรียนเปิดในรับ พฤติกรรมเชิงบวกต่อการเรียนรู้ก็จะเกิด เช่น การให้ความร่วมมือคุณครูในการเรียนรู้ การมีส่วนร่วม ควาสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนก็ดีขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียนก็ดีขึ้น ทั้งเพื่อนกับเพื่อน และพี่กับน้อง เมื่อความสัมพันธ์จากการทำงานเป็นทีมเกิดขึ้น กระบวนการเรียนรู้ที่ดี มีความสุขก็เกิด และความรู้ที่ได้ก็นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้จริงๆ ด้วย มีการประชาสัมพันธ์จากพี่สู่น้อง เพื่อให้น้องๆ ช่วยกันคัดแยกขยะ แล้วก็ลดประมาณขยะ”
ห้องเรียนปฐมวัย อะไรคือขยะ
อีกหนึ่งระดับชั้นที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ ปฐมวัยหรือระดับชั้นอนุบาลนั่นเอง ซึ่งเป็นช่วงวัยแห่งการเริ่มต้นเรียนรู้ และท้าทายครูผู้สอนในการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ไม่น่าเบื่อ ขณะเดียวกันต้องไม่เป็นการยัดเยียดให้เด็กเรียนรู้ด้วย โดย ครูสุภาภรณ์ ปราณเกิด ครูชั้นอนุบาล 3 โรงเรียนบ้านกู้กู เล่าถึงห้องเรียนปฐมวัยว่า คำถามของนักเรียนนั้นสามารถต่อยอดไปสู่การทำโครงงานในเรื่องที่เด็กๆ สนใจได้
สำหรับการจัดการเรียนรู้ระดับปฐมวัยในหน่วยการเรียนรู้เรื่องขยะนั้น ครูสุภาภรณ์อธิบายโดยเริ่มจาก
- การลงพื้นที่สำรวจเพื่อสร้างความตระหนักให้กับนักเรียน จากปัญหาขยะ
- การใช้คำถามที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง สถานการณ์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน (Situated Learning)
- การมีส่วนร่วมในการเรียนรู้กับพี่ประถมศึกษา
- การทำงานเป็นทีมของนักเรียนเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
- การให้ข้อมูลย้อนกลับกับนักเรียนและการถามต่อยอดเพื่อสรุปเป็นประเด็นที่ศึกษาต่อโดยใช้โครงงานที่บูรณาการกับชีวิตจริง
“ในความคิดของเด็กๆ ปฐมวัย แน่นอนว่าพวกเขาอยากจะเรียนรู้ในสิ่งที่สวยงาม ถ้าพูดเรื่องขยะแล้ว เด็กๆ ก็ต้องอี๊… ขึ้นมา ดังนั้นหน่วยขยะจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากสำหรับเด็กและครูปฐมวัย ว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องขยะที่เด็กๆ ร้องอี๊ให้กลายเป็นเรื่องที่ว้าวได้”
และเนื่องจากการทำความสะอาดหรือเก็บขยะในบริเวณโรงเรียนเป็นกิจวัตรที่เด็กๆ ทุกคนในโรงเรียนบ้านกู้กูจะต้องทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว และแต่ละคนจะมีบริเวณที่จะต้องรับผิดชอบ ซึ่งหลังจากที่ได้โจทย์ในการสร้างการเรียนรู้ร่วมกันมาแล้ว ก็นำมาเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำ
“ทีนี้ครูที่เป็นโค้ชก็จะเริ่มใช้คำถามเพื่อให้เด็กเกิดการสังเกตว่า เด็กๆ เห็นขยะที่ถูกทิ้งตามจุดต่างๆ ของโรงเรียนแล้วรู้สึกอย่างไร ขยะที่เด็กๆ พบมีอะไรบ้าง และอะไรบ้างที่คิดว่าเป็นขยะ เด็กๆ ลองเล่าให้คุณครูฟังสิคะ ทำไมเด็กๆ จึงคิดว่ามันคือขยะ เด็กๆ ก็ตอบคำถามจากประสบการณ์ของตนเองว่า ถ้ามีขยะอยู่ในโรงเรียน โรงเรียนก็จะสกปรก ซึ่งขยะในความหมายของพวกเขา ก็คือสิ่งที่ทิ้งแล้ว ไม่ใช้แล้ว”
จากนั้นที่ทั้งเด็กและครูได้สำรวจ และรวบรวมขยะตามจุดต่างๆ รอบบริเวณโรงเรียน เพื่อทำการแยกประเภทขยะจากความคิดและประสบการณ์เดิมของเด็กเอง โดยถ่ายทอดความคิดผ่านผลงานศิลปะและนำเสนอหน้าชั้น
“หลังจากได้เรียนรู้การแยกขยะในห้องเรียนแล้ว ยังมีพี่ประถมและวิทยากรจากธนาคารขยะจิตอาสา มูลนิธิพัฒนาป่าตอง มาให้ความรู้เพิ่มเติมและทำกิจกรรมคัดแยกขยะร่วมกัน ซึ่งในส่วนนี้เด็กก็จะเข้าใจมากยิ่งขึ้นว่า ทำไมเราต้องแยกขยะ และทำไมเราต้องลดปริมาณขยะ เนื่องจากเกี่ยวกับการย่อยสลายของขยะด้วย”
แต่เรื่องราวยังไม่จบเพียงเท่านี้ ครูสุภาภรณ์เล่าต่อว่า เนื่องจากโรงเรียนมีบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ เด็กๆ ต่างก็ช่วยรวบรวมขยะทั้งที่เก็บจากในโรงเรียน ขยะจากที่บ้าน นำมาขายให้กับบริษัทเพิ่มมูลค่าขยะ ซึ่งในการซื้อขายนี้เอง เด็กๆ เขาพบว่าเงินที่ได้จากการขายขยะน้อยกว่าที่พวกเขาคาดไว้มาก
“มีเด็กคนหนึ่งถามครูขึ้นมาว่า ทำไมได้เงินน้อยจัง ต้องทำยังไงถึงจะได้เงินเยอะขึ้นกว่าเดิม นี่แหละค่ะเป็นสิ่งแรกที่ครูรู้สึกว่าจากอี๊เริ่มจะเป็นว้าวแล้วค่ะ”
“จากนั้นนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาต่อยอดโครงงานสร้างมูลค่า เราก็มาคุยกันระหว่างครูกับเด็กๆ เราจะทำขยะให้มีประโยชน์ได้อย่างไร โดยที่มีข้อตกลงร่วมกันว่าเราจะไม่เพิ่มขยะอีกแล้วนะ เราจะใช้ขยะเท่าที่เรามีอยู่นี่แหละนำมาทำให้มีมีค่ามาขึ้น ซึ่งเด็กๆ ก็อยากเรียนรู้ในขยะประเภทแผงไข่และหลอดดูด โดยที่เด็กจะมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของการเรียนรู้ตั้งแต่ วิธีการออกแบบ หาความรู้ นอกจากการถามครูแล้ว จะหาความรู้ได้อย่างไร ถามพ่อแม่ได้ไหม หรือสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต เด็กๆ เขาก็จะเสนอความคิดออกมาด้วยตัวเอง”
ในครั้งนั้นได้ข้อสรุปว่า จะนำแผงไข่มาทำเปเปอร์มาเช่ (Paper mache) นำหลอดดูดมาทำหมอนหลอด ซึ่งหมอนหลอดนั้นสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยที่ติดเตียงได้ด้วย โดยช่วยไม่ให้เกิดแผลกดทับ จะเห็นว่าเด็กๆ อยากรู้และอยากทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อคนอื่นด้วย ไม่ใช่แค่ต่อตัวเองเท่านั้น
“เมื่อเด็กๆ ทำทุกอย่างทุกกระบวนการสำเร็จแล้วก็มีการนำเสนอผลงานจากสิ่งที่ได้เรียนรู้ให้กับพี่ประถมและผู้ปกครองด้วย ตรงนี้เห็นจุดพีคอย่างหนึ่ง คือการเปลี่ยนมุมมองว่า ฉันจะต้องไปเก็บขยะให้ได้เยอะๆ เพื่อมาขายได้เงิน แต่เป็นลักษณะของการให้เขาได้เห็นเอง ประสบเองว่าพอขายไปแล้วเงินที่ได้กับปริมาณขยะมันไม่ได้สมดุลกัน การสร้างวงการพูดคุยกันจากสิ่งที่เขาพบเจอหรือสถานการณ์ในชีวิตจริง แล้วครูเป็นโค้ชที่สำคัญมากเลยในการที่ทำให้นักเรียนเปลี่ยนมุมมองว่าเราต้องมาช่วยกันดูแลเรื่องปริมาณขยะในโรงเรียน หรือทำยังไงให้ขยะเพิ่มมูลค่าได้”
และที่สำคัญคือ เด็กๆ ไม่ได้เลือกเก็บเฉพาะขยะที่มีมูลค่า แต่เก็บสิ่งที่เป็นขยะทั้งหมด แล้วนำไปคัดแยกก่อนที่ขยะแต่ละประเภทจะถูกนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี นอกจากนี้ยังต่อยอดไปสู่การจัดการขยะเปียก เนื่องจากเด็กๆ เกิดความสงสัยว่า เศษอาหารที่กินเหลือ หรือวัตถุดิบในการประกอบอาหารที่เหลือทิ้งนั้น จะสามารถนำไปทำอะไรต่อได้บ้าง
อย่างไรก็ตามการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการสอน แต่รวมไปถึงการวัดและประเมินผลที่จะต้องเน้นเรื่องการสะท้อนให้นักเรียนรู้ว่าต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง และปรับอย่างไรเพื่อให้เกิดการพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งหัวใจสำคัญควบคู่ไปกับการใช้คำถามกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็ก
- มาร์ติน มัวรีน เจส และเจเจ 4 คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกัน แต่พวกเขามีจุดหมายที่เดียวกัน คือ มาที่ ‘ตึกคนโดด’ ในคืนสิ้นปีเพื่อกระทำสิ่งเดียวกัน ‘ฆ่าตัวตาย’ พล็อตจากหนังสือเป็นอันตกลง แต่งโดยนิค ฮอร์นบี (Nick Hornby)
- ชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ คือ A Long Way Down แปลได้ว่าการดำดิ่งที่แสนยาวไกล ขณะที่นัยยะของมันก็คือการฆ่าตัวตาย ที่บางครั้งก็เปรียบได้ดังการเดินทางที่แสนยาวไกล และไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นหรือเปล่า
- “ที่ผมอยากฆ่าตัวตายนั่นไม่ใช่เพราะผมเกลียดการมีชีวิต แต่เป็นเพราะผมรักมันต่างหาก และที่สำคัญก็คือผมคิดว่าคนที่อยากฆ่าตัวตายจำนวนมากก็คงรู้สึกอย่างเดียวกัน… พวกเขารักชีวิต แต่ชีวิตทำให้พวกเขาผิดหวัง…”
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อเรื่องในหนังสือ และเนื้อหาในบทความบางส่วนหยิบยกมาจากหนังสือ “เป็นอันตกลง” แปลโดย จักรพันธุ์ ขวัญมงคง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ mars space
สมมตินะครับ คุณมีเพื่อนคนหนึ่ง กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย และคุณเป็นคนเดียวที่ได้โอกาสให้พูดคุยโน้มน้าวเขา (หรือเธอ) ให้เลิกล้มการฆ่าตัวตาย
ถ้าสิ่งเดียวที่คุณทำได้ คือ ยื่นหนังสือหนึ่งเล่มให้เขา (หรือเธอ) อ่านจนจบ แล้วค่อยตัดสินใจฆ่าตัวตาย คุณจะยื่นหนังสืออะไร
สำหรับผมแล้ว หนังสือเล่มนั้น คือ เป็นอันตกลง
ชื่อของหนังสือ ‘เป็นอันตกลง’ นอกจากจะหมายถึง การตกลงปลงใจเป็นมั่นเหมาะว่าจะฆ่าตัวตายแล้ว ยังมีนัยยะแฝงที่สื่อถึง การตกหรือร่วงหล่นลงจากยอดตึกเพื่อปิดฉากชีวิต หรืออาจหมายถึง การตกหรือร่วงหล่นจาก ‘ความเป็น’ สู่ ‘ความตาย’ ที่เป็นจุดหมายเบื้องล่าง
ส่วนชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ คือ A Long Way Down ซึ่งแปลได้ว่า การดำดิ่งที่แสนยาวไกล ขณะที่นัยยะของมันก็คือการฆ่าตัวตาย ที่บางครั้งก็เปรียบได้ดังการเดินทางที่แสนยาวไกล และไม่มีใครบอกได้ว่า เราจะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นหรือเปล่า
หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานของ นิค ฮอร์นบี (Nick Hornby) นักเขียนนิยายชาวอังกฤษ ผู้ประสบความสำเร็จจากนิยายหลายเรื่อง โดยเฉพาะ High Fidelity และ About a Boy ซึ่งทั้งสองเรื่อง ถูกนำไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ และกลายเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน
แก่นสำคัญในหนังสือนิยายทุกเรื่องของฮอร์นบี ล้วนเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ฉันท์คนรักระหว่างชายและหญิง ความสัมพันธ์กึ่งๆ หรือเกือบๆ จะเป็นความสัมพันธ์ฉันท์พ่อ-ลูก ระหว่างหนุ่มเสเพลและเด็กวัยรุ่นเจ้าปัญหา หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ซึ่งเต็มไปด้วยความคาดหวัง และบรรทัดฐานที่ถูกขีดขึ้น
แต่ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์แบบไหน ที่วุ่นวายสับสน หรือ ‘ฉิบหายวายป่วง’ เท่ากับความสัมพันธ์ของตัวละครในหนังสือเรื่อง ‘เป็นอันตกลง’ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครแต่ละตัว กับคนสนิทชิดใกล้รอบข้าง หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลักทั้งสี่ ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และชะตาชีวิต (หรือชะตาการจบชีวิต) นำพาพวกเขาและเธอให้มาพบกัน
มาร์ติน พิธีกรรายการทีวีผู้โด่งดัง ซึ่งต้องกลายเป็นอดีตพิธีกรผู้ฉาวโฉ่ เพราะความผิดพลาดจากการนอกใจภรรยา ไปมีอะไรกับเด็กสาวอายุ 15 แต่ถ้าจะให้พูดกันจริงๆ แล้ว มาร์ตินนอกใจภรรยาอยู่เรื่อยๆ แต่ครั้งนี้ที่ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงก็คือเขาดันเข้าใจไปว่า หญิงสาวที่เขาเจอในไนท์คลับบรรลุนิติภาวะแล้ว
จากความผิดพลาดในค่ำคืนนั้น ลากชีวิตมาร์ตินเข้าสู่โหมดความฉิบหายวายป่วง เขาติดคุกในข้อหาพรากผู้เยาว์ ถูกไล่ออกจากงาน กลายเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ถูกภรรยาฟ้องหย่า พูดง่ายๆ ว่า ชีวิตของเขาพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง
และทางเลือกเดียวในการแก้ปัญหาที่มาร์ตินพอจะคิดออก หลังจากพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ก็คือ การฆ่าตัวตาย ในคืนวันส่งท้ายปี ด้วยการกระโดดตึก คือ วิธีจบปัญหาที่รวดเร็วและรวบรัดที่สุด
มัวรีน สาวใหญ่แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้มีลูกชายพิการตั้งแต่เกิด เธออุทิศทั้งชีวิตให้กับแม็ตตี้ ลูกชาย (และพระเจ้า) ก่อนจะพบว่าเธอไม่มีชีวิตที่เป็นของตัวเอง ไม่สิ…ต้องบอกว่าเธอไม่รู้จักชีวิตแบบอื่นด้วยซ้ำ นอกเหนือจากการเช็ดล้างทำความสะอาด ป้อนข้าวป้อนน้ำ พอตกค่ำก็พาลูกชายผู้ไร้การตอบสนองใดๆ เข้านอน และทำแบบนั้นทุกวัน ตั้งแต่วันที่แม็ตตี้เกิดจนถึงวันที่เขากลายเป็นหนุ่ม
ความทุกข์ทนซ้ำซากที่เหมือนไม่มีวันสิ้นสุด ดูเหมือนจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความเครียดอันแสนจำเจนั้นได้เลย ยกเว้นแต่การฆ่าตัวตาย
มัวรีนวางแผนทุกอย่างไว้เรียบร้อย เธอติดต่อสถานเลี้ยงเด็กพิการ ให้ส่งคนมาช่วยดูแลแม็ตตี้ 1 คืน โดยอ้างว่า เธอจะไปปาร์ตี้ฉลองสิ้นปีกับเพื่อนๆ ที่โบสถ์ แต่ความจริงแล้วเธอตัดสินใจจะขึ้นไปดาดฟ้าตึกที่มีชื่อเสียงโด่งดังว่า ‘ตึกคนโดด’ เพื่อที่จะจบชีวิตอันแสนหดหู่และจำเจของเธอ
เจส เด็กสาววัย 18 ลูกสาวรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ แต่ถ้าไม่บอกทุกคนต้องเชื่อว่าเธอเป็น ‘สก๊อย’ ตลาดล่าง เจสใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงจนถึงขั้นเหลวแหลก ทั้งมั่วยา ปาร์ตี้ แถมปล่อยหมาออกจากปากแทบทุกประโยค
ไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรคือสาเหตุทำให้เจสกลายเป็นเด็กสาวใจแตก แต่เท่าที่รู้จากในหนังสือ เธอโหยหาความรักมาตลอด ตั้งแต่เล็กเจสมักจะถูกเปรียบเทียบกับพี่สาวผู้แสนดี และเมื่อถึงวันที่พี่สาวของเธอหายไปจากบ้าน ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเธอฆ่าตัวตาย เจสก็ยิ่งกลายเป็นตัวป่วนมากขึ้น
ด้วยนิสัยเพี้ยนๆ ขี้วีน อารมณ์รุนแรง บวกกับความปากร้าย และอาการละม้ายคล้ายผู้ป่วยโรคจิต ไม่แปลกที่เจสจะถูกแฟนหนุ่มทิ้ง เธอพยายามตามล่าหาตัวเขา เพื่อถามถึงเหตุผลในการเลิกรา สุดท้ายเจสไปตามหาแฟนหนุ่มในงานปาร์ตี้ที่ตึกคนโดด
ในตอนนั้นเอง เจสก็นึกขึ้นมาได้ว่าชีวิตเธอช่างไร้สาระสิ้นดี และทางที่ดีที่สุดก็คือจบชีวิตลงเสีย เมื่อคิดได้อย่างนั้น เจสก็เดินขึ้นบันไดที่ทอดไปสู่ดาดฟ้าตึกด้วยจิตใจที่ฮึกเหิม
เจเจ หนุ่มร็อคชาวอเมริกัน ผู้ยึดถือความ ‘คูล’ เป็นสรณะ เขาฝันจะเป็นร็อคสตาร์ ทว่าเขาไปไม่ถึงฝันตั้งแต่ยังไม่ทันก้าวเดิน จู่ๆ วงดนตรีของเจเจก็เลิกราไปอย่างเงียบๆ เช่นเดียวกับแฟนสาวของเขา ถึงตอนนั้นเจเจจึงพบว่าตัวเองกลายเป็น ‘ไอ้ขี้แพ้’ เต็มตัว
หนุ่มร็อคผู้ไม่รู้จักอย่างอื่นนอกจากหนังสือและดนตรี ต้องผันตัวมาเป็นเด็กส่งพิซซ่า และในคืนวันส่งท้ายปีมีคนเรียกเขาให้ไปส่งพิซซ่าที่ตึกคนโดด
จากที่เคยฝันจะเป็น somebody สุดท้าย กลายเป็น nobody จากที่เคยฝันจะเป็น rock star แต่เป็นได้แค่ loser สิ่งสุดท้ายที่เจเจทำได้ คือ เดินขึ้นไปบนดาดฟ้าตึก แล้วจบชีวิตตัวเองอย่างคูลๆ (ในความคิดของเขา) ตามรอยร็อคสตาร์อย่างเคิร์ท โคเบน หรือนักเขียนดังอย่างเวอร์จิเนีย วูล์ฟ
คน 4 คน ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คิดจะทำสิ่งเดียวกันในเวลาเดียวกัน คือ การฆ่าตัวตาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันแสนยาวนาน ที่มีความตายเป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งผมจะไม่สปอยล์ว่าสุดท้ายแล้วทั้ง 4 คนไปถึงจุดหมายปลายทางของเขาและเธอหรือไม่
แต่ขอกระซิบบอกว่า หนังสือที่เต็มไปด้วยคำสบถ คำหยาบสองแง่สองง่ามทะลึ่งตึงตังเล่มนี้ คือ หนังสือที่สะกิดต่อมอารมณ์ขันในความตลกร้าย บวกกับชวนให้สมองคุณได้ขบคิดถึงคำถามว่าด้วยความหมายของการมีชีวิตได้อย่างเหลือเชื่อ
พูดง่ายๆ ว่า นี่คือหนังสือที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน ไม่ว่าคุณกำลังคิดจะฆ่าตัวตายหรือไม่ก็ตาม
ปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
จากสถิติตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปีมีคนตายจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คน โดยเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง (แม้ว่าผู้หญิงจะมีความคิดอยากฆ่าตัวตายมากกว่า)
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนๆ หนึ่ง ตัดสินใจทำสิ่งที่ขัดต่อสัญชาตญาณความรักชีวิต
จากข้อมูลของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ระบุว่า มีหลายปัจจัยที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ อาทิ โรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง การใช้ยาเสพติด คนในครอบครัวเคยมีประวัติการฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
นอกจากนี้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การละเมิดทางเพศในช่วงวัยเด็ก การมีอาวุธปืนเก็บไว้ในบ้าน รวมทั้งการได้รับรู้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ต่อความพยายามฆ่าตัวตาย ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจโน้มน้าวให้เกิดการตัดสินใจฆ่าตัวตายได้เช่นกัน
ส่วนปัจจัยเสริมที่จะกระตุ้นให้มีการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ประกอบด้วยการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การประสบปัญหาการเงินอย่างรุนแรง หรือการเผชิญปัญหายุ่งยากทางกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดให้กับชีวิตอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน ปัญหาด้านอารมณ์ก็นับเป็นปัจจัยเสริมที่อาจกระตุ้นให้มีการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การถูกบูลลี่ การถูกทำให้อับอาย รวมไปถึงการถูกแบ่งแยกหรือเหยียดชนชั้น – สีผิว
พูดง่ายๆ ว่า แทบทุกปัญหาในชีวิตของคนล้วนสามารถเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือปัจจัยเสริมที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ทั้งนั้น เหมือนดังคำพูดของมัวรีน ที่กล่าวไว้ว่า
“เขาฆ่าตัวตายเพราะต้องพรากจากลูกๆ ของเขา แต่ฉันจะฆ่าตัวตายเพราะฉันต้องอยู่กับลูกของฉัน พอคิดอย่างนี้แล้ว ฉันว่ามันก็ทุกข์ได้หมดเลยนะคะ ในทุกเรื่องและทุกทางก็ว่าได้ มีคนที่ฆ่าตัวตายเพราะต้องพรากจากคู่ชีวิต และก็มีคนที่ฆ่าตัวตายเพราะพวกเขาต้องทนอยู่กับชีวิตคู่”
อย่าเพิ่งตกลงปลงใจเลยนะ
เรามักได้ยินคำพูดในทำนองที่ว่า คนที่ฆ่าตัวตาย คือ คนที่คิดสั้น แต่มาร์ตินไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
“โทษทีนะครับ แต่ผมจะบอกว่าพวกเขาไม่ได้คิดสั้นเลยนะ… เมื่อเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าขนาดนั้น วันนึงคุณก็รับไม่ไหว และคุณก็ตัดสินใจขับรถครอบครัวแบบแฮทช์แบ็คพุ่งลงมาจากที่จอดรถบนตึกที่อยู่ใกล้ที่สุด… มันควรจะสรุปว่า เขาฆ่าตัวตายอย่างมีสติหลังจากพิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนถึงเรื่องเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นต่างหาก”
ถึงแม้มาร์ตินจะเป็นแค่ตัวละครในหนังสือ แต่สิ่งที่เขาพูดไว้คือความจริง ข้อมูลจากหน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่งระบุตรงกันว่า คนที่คิดฆ่าตัวตายจะมีการไตร่ตรองวางแผนมาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนพินัยกรรมไว้ล่วงหน้า การบอกลาสมาชิกในครอบครัว และการยกทรัพย์สินของรักให้กับคนอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า คนๆ นั้นอาจจะมีความคิดที่จะจบชีวิตของตัวเอง
ถ้าหากพบสัญญาณบ่งชี้ถึงความคิดฆ่าตัวตาย เราควรทำอย่างไร?
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แนะนำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรับฟัง พยายามพูดคุยให้เขาได้ระบายออก ให้เธอได้บอกเล่าถึงปัญหา แม้ว่าการพูดคุย อาจไม่ได้นำไปสู่ทางออกของปัญหา แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นให้คนที่คิดฆ่าตัวตายได้ฉุกใจคิดว่า เขาหรือเธอไม่ได้เผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพัง หากยังมีคนรับฟังและรับรู้ปัญหานั้นกับเขา
และอีกเช่นกันที่เรามักได้ยินคำพูดในทำนองที่ว่า คนที่ฆ่าตัวตาย คือ คนที่ไม่รักชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย พวกเขาล้วนรักชีวิต อาจจะรักมากเกินไปจนทนความผิดหวังที่ชีวิตมอบให้ไม่ได้ เหมือนเช่นที่หนุ่มเจเจกล่าวไว้ว่า
“ที่ผมอยากฆ่าตัวตายนั่นไม่ใช่เพราะผมเกลียดการมีชีวิต แต่เป็นเพราะผมรักมันต่างหาก และที่สำคัญก็คือ ผมคิดว่าคนที่อยากฆ่าตัวตายจำนวนมากก็คงรู้สึกอย่างเดียวกัน… พวกเขารักชีวิต แต่ชีวิตทำให้พวกเขาผิดหวัง… เราขึ้นไปบนดาดฟ้าเพราะเราไม่รู้จะอยู่ต่อได้ยังไง แบบนั้นแหละ…”
- ในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีลำดับขั้นทางสังคมสูงกว่า เรามักรู้สึกว่าต้องตอบรับความต้องการของเขา ‘ได้ครับพี่’ ‘ดีค่ะนาย’ แต่บางครั้งก็อาจไม่รู้ตัว ว่าเราก็ได้ส่งสัญญาณความไม่สยบยอมออกไปแล้วเหมือนกัน
- ภัทรารัตน์ เขียนถึงความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจน้อยกว่าอีกฝ่าย ซึ่งมักส่งสัญญาณปฏิเสธเพื่อโต้ตอบผู้ที่มีลำดับขั้น (ranking) สูงกว่า โดยที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ผ่านเรื่องราวของตัวละคร ‘ เกรซ มาร์คส์’
- “การที่เกรซเชื่อมโยงการแต่งตัวของผู้หญิงสูงศักดิ์กับความ ‘ตื้นเขิน’ ของพวกหล่อนซึ่งเป็นเสมือนนักโทษเช่นเดียวกับเธอ ก็อาจเป็นข้อสรุปที่กำลังต่อสู้อยู่กับอภิสิทธิ์ของพวกหล่อนที่มีอยู่มากมายกว่าเธอ”
1.
ในปี 1843 เกรซ มาร์คส์ แม่บ้านวัยสิบหกปีผู้อพยพมาจากไอร์แลนด์ ได้มีส่วนร่วมกับ เจมส์ แมคเดอร์มอตต์ ในเหตุสังหารนายจ้างและแม่บ้านของเขา เธอไม่มีความทรงจำเกี่ยวกับรายละเอียดการฆาตกรรม ทว่าก็ถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิตไปแล้ว ในการพิจารณาคดีเจมส์กล่าวหาว่าเธอใช้เสน่ห์ล่อลวง ซึ่งพ้องกับอคติของชนส่วนหนึ่งที่ว่า เจมส์ลงมือฆ่าคนก็เพราะมารยายั่วยวนของ ‘ฆาตกร’ สาว
ในระยะเวลาแห่งการรับโทษ เกรซถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยแพทย์ชาย ผู้คุมคุกชาย และมันก็สอดคล้องกับชีวิตของเธอก่อนหน้า ซึ่งถูกผู้ชายจ้องกลืนกินหรือกดขี่แม้แต่โดยพ่อผู้ติดเหล้าของเธอเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เธอไม่ไว้วางใจผู้ชายที่มีอำนาจมากกว่า
ภายหลังจากการรับโทษมาอย่างยาวนาน เกรซได้รับอนุญาตให้ไปทำงานที่บ้านของผู้อำนวยการเรือนจำ อันเป็นสถานที่ซึ่งภรรยาของผู้อำนวยการใช้จัดกิจกรรมตามความสนใจทางสังคมและศาสตร์ลึกลับ เกรซสังเกตว่าหญิงสาวที่มารวมตัวกันที่บ้านหลังนี้แต่งตัวอลังการอย่างยากจะนั่งลงได้ ซึ่งเธอมองว่าไร้สาระและเชื่อมโยงมันเข้ากับความตื้นเขิน
อาภรณ์เนื้อแข็งอันวิลิศมาหรานั้น คือ กรงที่ใช้คุมขังพวกหล่อน ซึ่งก็เป็นนักโทษของสังคมชายเป็นใหญ่เช่นเดียวกันกับเธอ เธอเห็นใจหญิงสาวเหล่านั้นซึ่งเป็นรองผู้ชายอยู่วันยังค่ำ
อีกฝั่งหนึ่ง คนในแวดวงของภรรยาผู้อำนวยการเรือนจำเชื่อว่าเกรซสมควรได้รับอภัย และอาจพ้นโทษได้หากมีข้อสนับสนุนจากแพทย์ว่าเธอเป็นผู้บริสุทธ์ ในที่สุดจิตแพทย์ ไซมอน จอร์แดน ก็ได้เดินทางมาพูดคุยกับเกรซ เขาอาจดึงเสี้ยวความทรงจำของหญิงสาวให้กลับคืนมาได้ ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเธอทำผิดจริงหรือไม่? ทว่าความไม่ไว้ใจผู้ชายและไม่มั่นใจว่าหมอจะเข้าใจมุมมองของเธอ ทำให้เธอเล่าเรื่องราวของตัวเองให้หมอหนุ่มฟังโดยเลือกปิดบังและปรับแต่งข้อมูลเป็นส่วนๆ ดังนี้
พ่อแม่ของเธอมีลูกมากและพ่อผู้ติดเหล้าหนักก็เอาเงินไปถลุงกับเหล้าเกินกว่าจะหาเลี้ยงครอบครัว พวกเขาทั้งหมดจึงอพยพจากไอร์แลนด์มาสู่ประเทศแคนนาดา และเมื่อถึงแคนนาดา พ่อผู้ชอบข่มเหงก็บีบให้เกรซรีบหางานเพื่อจะได้ส่งเงินกลับไปให้เขา
เกรซได้งานเป็นแม่บ้านประจำของครอบครัวเศรษฐีและได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกับ แมรี่ แม่บ้านสาวซึ่งวิพากษ์เรื่องชนชั้นแต่ก็ตั้งครรภ์กับบุตรชายเจ้าบ้าน ซึ่งแน่นอนว่าสุภาพบุรุษผู้มีผลรวมแห่งอภิสิทธิ์มากมายกว่าเธอในทุกด้านคนนั้นเลือกจะรักษาสถานะของเขาเองมากกว่าเธอและลูกในท้อง นั่นทำให้เธอตัดสินใจทำแท้งด้วยคมมีดสุภาพบุรุษ ซึ่งพาเธอไปสู่ความตาย
สาวโศกผู้สูญเสียมิตรรักย้ายไปทำงานที่บ้านของ ธอมัส คินเนียร์ โดยต้องทำงานร่วมกับ เจมส์ แมคเดอร์มอตต์ แรงงานหนุ่มผู้แข็งกร้าวราวกับมีความโกรธอยู่ภายใน และ แนนซี่ มอนต์โกเมอรี่ แม่บ้านซึ่งสานสัมพันธ์สวาทกับคุณผู้ชาย ความสัมพันธ์ของคนทั้งสามไม่ค่อยราบรื่นเท่าใด จนในที่สุดแนนซี่ก็ไล่เจมส์และเกรซออกไปในขณะที่เจ้าของบ้านไม่อยู่ ทว่าเจมส์ลงมือฆ่าแนนซี่ และปลิดชีพชายเจ้าของบ้านเมื่อเขากลับมาด้วย
เกรซและหมอใจดี ที่ลึกๆ แล้วก็ใส่ใจเรื่องอำนาจในความสัมพันธ์ สนทนากันมากมายหลายครั้ง โดยที่เธอเองก็ไม่สามารถระลึกถึงรายละเอียดแห่งการฆาตกรรมได้อย่างชัดเจนนัก กระทั่งเมื่อเธอได้รับการสะกดจิต เธอกลับมีท่าทีเปลี่ยนไปราวกับผีแมรี่กำลังเข้าสิง ในภวังค์ เสียงแปร่งนั้นบอกเป็นนัยว่าผีแมรี่ได้ใช้ร่างของเกรซยั่วยวนเจมส์ รวมถึงมีส่วนร่วมกับเจมส์ในความตายของแนนซี่ด้วย
ไม่มีใครรู้ได้ว่าเกรซถูกวิญญาณแมรี่สิง? หรือมีอาการเชิงจิตเวชของคนหลายบุคลิก หรือเธอแค่ยืมตัวตนของแมรี่มาบอกเล่าเรื่องราวส่วนที่สังคมไม่อนุญาตให้เธอพูดได้อย่างปลอดภัย กันแน่?
2.
ลำดับขั้นทางสังคมในความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ผู้ก่อตั้งจิตวิทยาเชิงกระบวนการ (Process Work) อันอาจเปรียบเสมือนลูกสาวของจิตวิทยาสายยุง (Jungian Psychology) อาร์โนลด์ มินเดล (Arnold Mindell) นิยาม ‘ลำดับขั้น’ (Ranking) ไว้หลายลักษณะ เช่น ความสามารถทางสังคมหรือส่วนบุคคล อีกทั้งพลังอำนาจและการสนับสนุนจากวัฒนธรรมและชุมชน และอีกหนึ่งในนิยามที่น่าสนใจก็คือ ‘ผลรวมอภิสิทธิ์ของบุคคลหนึ่งๆ’
ลำดับขั้นมีหลายประเภท แต่หนึ่งในนั้นก็คือ ลำดับขั้นทางสังคม ซึ่งอาจมาจากเพศ เชื้อชาติ การศึกษา วิชาชีพ สุขภาพ พละกำลัง อายุ และศาสนา ซึ่งเมื่อคิดตามแล้วก็ดูเป็นเหตุเป็นผล เช่น คนที่สุขภาพดีและมีกำลังวังชามากกว่า มีสติปัญหาและการศึกษาดีกว่า มีแนวโน้มจะสามารถหาทรัพยากรบางอย่างได้มากกว่าคนที่มีคุณสมบัติเหล่านี้น้อยกว่าเขา แต่คนรอบตัวเหล่านั้นก็มีโอกาสได้รับแบ่งทรัพยากรนั้นจากเขา ซึ่งทำให้ง่ายที่จะพากันสนับสนุนหรืออวยเขา นั่นทำให้เขามีอำนาจบารมีบางอย่างมากกว่าไปโดยปริยาย
น่าสำรวจต่อว่าระบบชายเป็นใหญ่มีที่มาส่วนหนึ่งเช่นนี้หรือไม่? อย่างไรก็ตาม เกรซอยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ซึ่งมีลำดับชั้นระหว่างกลุ่มคนแยกย่อยออกไปอีก โดยที่เธออยู่ท่ามกลางคนที่มีลำดับขั้นสูงกว่า ซึ่งจะสังเกตได้จากพฤติการณ์ต่างๆ เช่น
- พวกเขาสามารถกำหนดรูปแบบ เวลาและสถานที่ ในการสัมพันธ์/ สื่อสารกับเธอ
- พวกเขาเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่า ในขณะที่เธอต้องใคร่ครวญก่อนพูดและแสดงออกมากกว่าพวกเขา
การที่เกรซเลือกนำเสนอข้อมูลของตัวเธอเองเท่าที่และในแบบที่เธอเห็นควรมาจากความกังวลซึ่ง กำลังปฏิสัมพันธ์อยู่กับอำนาจของผู้ชายที่เคยได้กระทำต่อเธอ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์และผู้คุมคุกที่ล่วงละเมิดเธอทางเพศ และการข่มเหงโดยพ่อของเธอเอง
แม้แต่หมอจอร์แดนที่ดูจะใจดีกับเกรซ ก็ยังพยายามรักษาอำนาจผ่านความเป็นแพทย์ในระหว่างที่พยายาม ‘ล้วง’ ข้อมูล ‘จากเธอ’ เฉกเช่นเดียวกับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทั้งหลายที่แม้จะดีกับเธอ แต่ก็เป็นท่าทีในการอุปถัมภ์และมีระยะห่าง
มากกว่าเพียงอำนาจจากความเป็นชายหรือหญิง
ผู้หญิงอย่างเธอและแมรี่วิทนีย์ ต้องถูกเอาเปรียบและล่วงละเมิดโดยเฉพาะจากผู้ชายที่สังกัดในลำดับชั้นที่มีข้อได้เปรียบมากกว่า แต่ก็ไม่ใช่เพียงผู้ชายเท่านั้นที่จะมีอำนาจและอภิสิทธิ์ในความสัมพันธ์มากกว่าผู้หญิง ในระหว่างผู้หญิงด้วยกันเองก็ยังมีผลรวมอภิสิทธิ์ที่ไม่เท่ากัน
ภรรยาของผู้อำนวยการเรือนจำและสุภาพสตรีที่มารวมกลุ่มกันที่บ้านของเธอนั้นมีข้อได้เปรียบในชีวิตมากกว่าเกรซแน่นอน แต่ก็ยังน้อยกว่าผู้ชายจากสังคมเดียวกับพวกหล่อน เช่นเดียวกับแนนซี่ที่เมื่ออิงอยู่กับอำนาจของชายผู้ร่ำรวยผ่านสัมพันธ์สวาท เธอก็มีอำนาจสั่งการเหนือกว่าเกรซ และแม้ดูเหนือกว่าผู้ชายอย่างเจมส์ แต่เขาก็ได้เปรียบในทางพละกำลัง ซึ่งทำให้การฆ่าเธอไม่ได้ยากเย็นอะไร
3.
ปฏิกิริยาต่อความต่างชั้น
ในการปฏิสัมพันธ์กับคนที่มีลำดับขั้นทางสังคมสูงกว่า เรามักรู้สึกว่าต้องตอบรับความต้องการของเขา ‘ได้ครับพี่’ ‘ดีค่ะนาย’ แต่บางครั้งก็อาจ ไม่รู้ตัว ว่าได้ส่งสัญญาณความไม่สยบยอมออกไปแล้วเหมือนกัน
ในกรณีของเกรซ เธอต่อรองกับลำดับขั้นที่เหนือกว่าทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น เธอตั้งใจปรับแต่งเรื่องราวของเธอเพื่อนำเสนอให้กับดร.จอร์แดนฟัง เพราะรู้สึกได้ว่าผู้ชายที่มีอภิสิทธิ์มากกว่าอย่างเขานั้นกำลังต้องการบางอย่างจากเธอเฉกเช่นผู้ชายคนอื่น แม้เขาจะดีกับเธอมากกว่าก็ตาม หรือการที่เธอเชื่อมโยงการแต่งตัวของผู้หญิงสูงศักดิ์กับความ ‘ตื้นเขิน’ ของพวกหล่อนซึ่งเป็นเสมือนนักโทษเช่นเดียวกับเธอ ก็อาจเป็นข้อสรุปที่กำลังต่อสู้อยู่กับอภิสิทธิ์ของพวกหล่อนที่มีอยู่มากมายกว่าเธอ เช่นเดียวกับความ ‘เห็นใจ’ ที่เธอมีให้สาวทรงศักดิ์ซึ่งก็ยังเป็นรองผู้ชาย เหล่านี้สามารถเป็นกลไกลการปกป้องตัวเองของเกรซเพื่อไม่ให้ตนเองรู้สึก ‘ด้อยกว่า’ เกินไปนักหรือแม้แต่เพิ่มความ ‘เหนือกว่า’ ได้ด้วยซ้ำ
ส่วนความไม่ศิโรราบต่อลำดับขั้นที่สูงกว่าอันชัดเจนยิ่งขึ้นนั้นก็เช่น การใช้ความรุนแรงกับผู้ที่มีผลรวมอภิสิทธิ์มากกว่าและต่อสังคมโดยรวมที่ดูเหมือนมีส่วนร่วมในระบบเช่นนั้น การประท้วง กระด้างกระเดื่อง โค่นล้ม ปฏิวัติ หรือก่อการร้ายที่มีการทำร้ายและเข่นฆ่าผู้คนในกระแสหลักนั้นราวกับเป็นการตะโกนอย่างสุดเสียงเพื่อให้เสียง ‘ภูตผี’ ที่คนในลำดับชั้นสูงกว่าไม่เคยสนใจฟังถูกสดับรับฟังในที่สุด ในที่นี้การทำลายล้างจึงกลายเป็นการโต้ตอบเพราะความรู้สึกโคตรไม่สำคัญและถูกกดทับนั่นเอง (อ้างอิง Sitting in the Fire โดย Arnold Mindell)
ดังนั้น หากเราได้สัมผัสบรรยากาศการขัดข่มจากผู้อื่นในชีวิตประจำวันบ่อยๆ ก็น่าทบทวนว่าเรามีผลรวมอภิสิทธิ์อะไรมากกว่าคนอื่นบ้างและคนอื่นอาจรู้สึกถูกกดทับโดยเราไม่รู้ตัวหรือไม่? (ประเด็นถกเถียงเรื่อง 1) ปัญหาเชิงโครงสร้างและ 2) การสร้างอาณาเขตว่า ในกรณีที่เราปราศจากเจตนากดทับคนอื่น ความรู้สึกของคนอื่นก็เป็น ปัญหาของเขา นั้น ขอละไว้พูดถึงในครั้งต่อๆ ไป)
และสัญญาณต่อต้านอันดูก้าวร้าวของตัวเราเองที่มีต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะผ่านวจนและอวจนะภาษา แม้แต่ความป่วยไข้ทางกาย ความฝัน ฯลฯ ก็สามารถส่ง สารบางอย่าง เช่นกัน
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ฟังเสียงผีแมรี่และหลากหลายบุคลิกลักษณะที่ซ่อนอยู่ภายใน
อ้างอิง
Alias Grace: Study Guide | SparkNotes
Alias Grace โดย Margaret Atwood และภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากหนังสือซึ่งฉายทางช่องทาง Netflix
Sitting in the Fire: Large Group Transformation Using Conflict and Diversity โดย Arnold Mindell
เอกสารการอบรม Process Work ปี 2016 นำกระบวนกรโดยจิล แมกอลิสเตอร์
- เมื่อประโยค ‘ความสมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง’ กลายเป็นคำพูดหลอกเด็ก เพราะเราต่างยังคงสร้างตัวเองให้ต้องเป็นเวอร์ชันที่ ‘สมบูรณ์ไร้ที่ติ’ แม้จะทรมานแค่ไหน…
- มนุษย์สมบูรณ์แบบ (Perfectionist) มักมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออยู่ลึกๆ ทำให้แม้จะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ยากที่จะโอบกอดตัวเองได้อย่างหมดหัวใจ
- การเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบอาจไม่ใช่เรื่องแย่มากนัก หากเราเรียนรู้ที่จะใช้อย่างถูกต้อง ตระหนักรู้ถึงผลเสีย พยายามสังเกตสาเหตุที่อยากทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ดีว่าแรงขับคืออะไร เพื่อให้ไม่ทำร้ายตัวเองและคนอื่น
หากมีก้อนหินที่เรียงอย่างสวยนับ 100 แต่มีก้อนนึงที่บิดเบี้ยวไป สิ่งที่มนุษย์สมบูรณ์แบบสนใจมักจะเป็น 1% นั้นมากกว่า 99% ที่สวยงาม
เบรนเน่ บราวน์ นักวิจัย เจ้าของหนังสือ The Gift of Imperfection เคยบอกว่า ความสมบูรณ์แบบไม่ใช่การพยายามเพราะอยากทำงานให้ดีที่สุด แต่คือการพยายามเพราะกลัวที่จะล้มเหลว ถูกตัดสิน และดูไม่ดี แม้จะเป็นการพยายามเหมือนกัน แต่มีแรงจูงใจที่ต่างกัน แน่นอนว่าแม้ผลลัพธ์จะออกมาดีเหมือนกัน แต่ความรู้สึกของคนที่พยายามเพราะอยากให้งานดี กับพยายามเพราะกลัวความล้มเหลว ย่อมมีความหนักอึ้งในการทำงานที่ต่างกันอย่างแน่นอน
มนุษย์สมบูรณ์แบบ : กลัวความล้มเหลว ผัดวันประกันพรุ่ง และรู้สึกว่า ‘ตัวเองไม่ดีพอ’
มนุษย์สมบูรณ์แบบมักมีมาตรฐานการทำงานที่สูงเกินความเป็นจริง ลักษณะกลัวความล้มเหลว ไม่กล้าลงมือทำอะไรใหม่และและผัดวันประกันพรุ่งจนกว่าจะแน่ใจวิธีทำอย่างชัดเจน มักมองงานที่ผลลัพธ์มากกว่าความสุขระหว่างทาง และใช้เวลาจำนวนมากกับงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้
เรื่องน่าสนใจคือ การเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบกับมนุษย์ภูมิใจในตัวเองต่ำ (Low self-esteem) มีความสอดคล้องกัน เมื่อเขาไม่สามารถทำงานออกมาให้ได้ดีตามความคาดหวัง ก็จะรู้สึกแย่กับตัวเอง แล้วพยายามหนักขึ้นเพื่อให้ทำได้ ความรู้สึกระหว่างที่พยายาม คือ ความกดดันที่ท่วมท้น ทำให้มีแนวโน้มที่จะผัดวันประกันพรุ่ง ทำไม่สำเร็จ จนเป็นวงจรอุบาทว์ไปเรื่อยๆ
มนุษย์ประเภทนี้มักมีความรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพออยู่ลึกๆ ทำให้แม้จะเป็นคนเก่งแค่ไหนก็ยากที่จะโอบกอดตัวเองได้อย่างหมดหัวใจ อาจมีดีใจบ้าง เวลาได้ผลลัพธ์ดังหวัง แต่ความหอมหวานนั้นก็มักหายไปอย่างรวดเร็ว แล้วความรู้สึกว่าฉันต้องไขว่คว้า ก็จะตามมาอีกครั้งเพื่อให้รู้สึกภูมิใจกับตัวเองได้อีก (ใช้งานเป็นสัญลักษณ์ของความภูมิใจ)
หากสังเกตรูปแบบการแก้ปัญหาจะพบว่า มนุษย์สมบูรณ์แบบจะแก้ปัญหาความรู้สึกแย่กับตัวเองด้วยการหางานหรือคุณค่าภายนอกมาชดเชย ซึ่งก็อาจแก้ปัญหาผิวเผินบางอย่างได้ แต่ก็อาจแลกมาด้วยการเสพติดความสมบูรณ์แบบเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นตอความรู้สึกว่า “ทำไมฉันถึงกลัวความล้มเหลวขนาดนี้”
หลายครั้งมนุษย์สมบูรณ์แบบมักปกปิดตัวตนที่แท้จริงจากคนอื่นและพยายามจะเป็นใครบางคนที่ไร้ที่ติ เพราะมีความกลัวลึกๆ ว่าถ้าเปิดเผยไปแล้วคนอื่นจะยอมรับตัวตนเขาไม่ได้ เมื่อไม่เปิดเผยตัวตนออกมาทำให้คนทั่วไปมักรู้สึกว่าเขาเข้าถึงยาก แล้วก็กลายเป็นการสร้างเงื่อนไขทางจิตใจว่า ฉันจะเป็นที่รักก็ต่อเมื่อฉันทำงานได้ดี หากทำงานได้ไม่ดีฉันก็จะไม่มีคุณค่า แล้วก็มีแนวโน้มที่จะปฏิเสธด้านที่ไม่สมบูรณ์แบบของตัวเองแล้วเสนอแค่ด้านที่ดูดี ก็จะส่งผลให้ลึกๆ รู้สึกเหงาเปล่าเปลี่ยวว่าไม่มีใครยอมรับตัวตนที่แท้จริงเขา นั่นก็เพราะเขาเองก็ไม่ได้ยอมรับตัวเอง – ที่ไม่สมบูรณ์แบบเช่นเดียวกัน
จากลักษณะที่กล่าวมาทั้งหมด จึงทำให้มนุษย์สมบูรณ์แบบมีแนมโน้วที่จะขาดความยืดหยุ่น และขาดความสร้างสรรค์ในการทำงานสูง
โดยหลัก มนุษย์สมบูรณ์แบบถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภท
อย่างแรก มนุษย์ฉันต้องทำได้ดี (Self-Oriented) มักมีภาพในอุดมคติที่ไร้ที่ติ โดยมักจะมีมาตรฐานของตนเองที่สูงและพยายามไปถึงจุดนั้นให้ได้
อย่างที่สอง มนุษย์ถูกสังคมกำหนด (Socially prescribed) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับคนที่อยากได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง อาจเป็นเด็กที่พยายามทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ พนักงานที่พยายามทำงานให้เจ้านายพอใจ
อย่างที่สาม มนุษย์เจ้าสั่งการ (Others-oriented) มักมีความคาดหวังที่สูงกับคนรอบข้าง จนบางครั้งไม่ได้ปล่อยให้คนรอบข้างมีอิสระ มักแอบควบคุมในเรื่องเล็กน้อยอยู่เสมอ
การเติบโตเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบเกิดหลายสาเหตุร่วมกัน ซึ่งมีบางองค์ประกอบดังนี้
- ความกลัวการไม่ได้รับการยอมรับจากคนอื่น
- ความสำเร็จในอดีตทำให้ต้องคอยแบกใส่บ่าเพื่อรักษามาตรฐานไว้ ไม่ว่าจะเป็นจากคนในครอบครัว หรือผลงานตนเอง
- ได้รับคำชมที่มุ่งเน้นผลลัพธ์มากกว่ากระทำ ต้องยอมรับว่าการชมที่ผลลัพธ์ก็เหมือนการให้ความสำคัญที่จุดนั้น คนรับคำชมจึงมีแนวโน้มจะเอาใจไปยึดติดผลลัพธ์
- ประสบการณ์จากพ่อแม่ที่เคร่งครัด และแสดงท่าทีไม่ยอมรับในความไม่สมบูรณ์แบบของเด็กซ้ำๆ
- การใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ที่อาจได้รับอิทธิความคิดจากสื่อ เพลง หนังที่แสดงถึงภาพชีวิตที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง
ต้องไม่ลืมเลยว่า ความสมบูรณ์แบบไม่มีจริง มีแค่ดีที่สุดเท่าที่วันนี้จะเกิดขึ้น
- ปัญหาสุขภาพจิตเช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคย้ำคิดย้ำทำ มีงานวิจัยบอกถึงความเชื่อมโยงระหว่างโรคย้ำคิดย้ำทำกับพฤติกรรมเจ้าสมบูรณ์แบบ อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกคนที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบ และก็ไม่ใช่มนุษย์สมบูรณ์แบบทุกคนจะเป็นโรคเช่นกัน
- ความรู้สึกอยากเหนือกว่าคนอื่น
ลองหยุดตามหาความสมบูรณ์แบบ แต่ยอมรับตัวตนจริงๆ ของเรา
เพราะอยากเป็นมนุษย์ไร้ที่ติจึงเจ็บปวด แล้วจะพัฒนาตัวเองอย่างไร?
- พยายามสังเกตความคิดตัวเองระหว่างที่ทำงานหรือใช้ชีวิต ถ้าเมื่อไหร่ที่เจอความคิดว่าต้องสมบูรณ์แบบก็ให้รู้ตัว และสิ่งนั้นจะค่อยๆ ลดลง
- จริงใจกับตัวเอง กล่าวคือ การซื่อสัตย์และกล้ายอมรับความผิดพลาด ความอ่อนแอของตัวเองอย่างเปิดเผย ยอมรับในที่นี้ คือ การเผชิญหน้ากับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นโดยไม่หลีกหนีหรือปฏิเสธความจริงนั้นเมื่อเปิดเผยเราจะรักตัวเองได้มากขึ้น และความรักนั้นก็จะส่งผลให้คนอื่นรักเราได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะเขาจะรู้สึกว่าเราเข้าถึงได้ง่าย มีความเป็นมนุษย์ – ที่ดีและไม่ดีในตัว และสิ่งวิเศษของการเปิดเผยตัวตน คือ ได้รู้สึกเป็นตัวของตัวเองจริงๆ ในทุกที่ที่อยู่ สังเกตไหมว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงรู้สึกสบายใจเวลาอยู่ที่ห้องตัวเอง – คำตอบง่ายๆ เพราะเขาได้เป็นตัวเองอย่างแท้จริง
- มองว่าความล้มเหลว ผิดพลาด คือ บทเรียนชั้นดี พยายามมองหาข้อดีที่สมเหตุสมผลจากสิ่งนั้น แล้วยอมรับว่าล้มเหลวก็คือล้มเหลว ไม่ใช่ล้มเหลวคือคุณแย่ ไม่มีคุณค่า สังเกตการณ์ตีความเหตุการณ์ที่ผิดเพี้ยน
- ลดการตัดสินคนอื่นและตัวเองเวลาที่ผิดพลาด เมื่อเราตัดสินคนอื่นน้อยลง เราจะตัดสินตัวเองน้อยลง เช่นเดียวกันเมื่อตัดสินตัวเองน้อยลง คนอื่นก็จะได้รับสิ่งนั้นด้วย
- เอาใจวางไว้ที่ความสุขระหว่างทางมากกว่าเป้าหมายว่าต้องทำให้ได้ดีไร้ที่ติ แล้วใจจะเบาขึ้น กดดันน้อยลงทันที
- ตั้งเป้าหมายที่เล็กและทำได้จริงเพื่อเป็นรางวัลระหว่างทางให้ได้รู้สึกถึงความรู้สึกสำเร็จ อย่างที่คุณขุนเขาบอก “เป้าหมายต้องใหญ่ วินัยต้องเล็ก”
- มนุษย์สมบูรณ์แบบมักลงรายละเอียดมากเกินไป ดังนั้น การจัดลำดับความสำคัญตั้งแต่แรกจึงสำคัญ เราจะรู้ทันทีว่าอะไรคือสิ่งที่ควรโฟกัสและอะไรไม่ใช่
- ปรับความคิดให้ตรงความเป็นจริง ปกติเวลาทำงานอาจมีเสียงในหัวว่า “ฉันต้องทำให้ดีเลิศ ไร้ที่ติ” อาจเปลี่ยนเป็นว่า “ฉันจะทำงานนี้ให้ดีที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นความผิดพลาดก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ฉันก็จะใจดีค่อยเป็นค่อยไปกับตัวเองและงาน”
- งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Australian Catholic บอกว่า ถ้ามนุษย์เชื่อมโยงกับตัวเองด้วยความรู้สึกเมตตา พูดง่ายๆ คือ หัดใจดีกับตัวเอง พูดดีๆ ไม่ต้องกระแทกแดกดัน เช่น “วันนี้ทำดีแล้ว วันพรุ่งนี้เอาใหม่นะ” ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบจะค่อยๆ ลดลง
- หาใครสักคนที่จะคอยสะท้อนสิ่งที่คุณทำเรื่อยๆ ว่ามันส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างไร
อย่างไรก็ตามการเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบไม่ใช่เรื่องแย่อะไร หากเราเรียนรู้ที่จะใช้จุดแข็งอย่างถูกต้อง และตระหนักรู้ถึงผลเสีย และพยายามสังเกตสาเหตุที่อยากทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ดีว่าแรงขับนั้นคืออะไร เพื่อให้ไม่ทำร้ายตัวเองและคนอื่น
ท้ายสุด อยากเล่าเรื่องตัวเองให้ฟังครับ เมื่อเกือบสองปีที่แล้ว อาจารย์ทักผมเรื่อง Perfectionist จากที่ไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นเลย ก็มาได้เห็นรูปแบบความคิดที่ชัดขึ้น เข้าใจเลยว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่เปลี่ยนแปลงแต่ก็ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้
จากวันนั้นผมก็หมั่นสังเกต ทำความเข้าใจความคิดที่เกิดขึ้น ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่แต่ก็ลดลงจากเมื่อก่อน
สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากประสบการณ์ตรง คือ ความรู้สึกเบาสบาย ไว้ใจคนอื่นได้มากขึ้น ทำงานสนุก มีความสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ดีขึ้น เพราะไม่มัวแต่พยายามทำตัวเองให้ดูดีสมบูรณ์แบบ และที่ดีที่สุดคือ สามารถยอมรับและเป็นตัวเองได้มากขึ้น
เป็นกำลังใจให้ทุกคนที่กำลังฝึกยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ
ขอให้วันนี้เป็นวันที่ไม่สมบูรณ์แบบบ้างครับ
อ้างอิง
Brown, B. (2010). The gifts of imperfection: Let go of who you think you’re supposed to be and embrace who you are. Hazelden Publishing.
Ferrari, M., Yap, K., Scott, N., Einstein, D. A., & Ciarrochi, J. (2018). Self-compassion moderates the perfectionism and depression link in both adolescence and adulthood. PloS one, 13(2), e0192022.
Hewitt, P. L., & Flett, G. L. (1991). Dimensions of perfectionism in unipolar depression. Journal of abnormal psychology, 100(1), 98.
- การฟังอย่างตั้งใจเป็นการแสดงออกว่า “ฉันไม่ใช่แค่ได้ยินในสิ่งที่เธอพูด แต่ฉันเข้าใจ” เป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติผู้อื่นและทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงการถูกยอมรับ หากเราแค่ได้ยินแต่ไม่ได้ตั้งใจฟัง อาจทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อสาร และอาจนำมาสู่การเข้าใจผิดได้อีกด้วย
- พูดคุยกับเด็กๆ เป็นประจำ, ฟังแล้วสนใจต่อยอดสิ่งที่เด็กๆ กำลังสื่อสาร, ชี้ให้เห็นภาษาทางกาย และคิดก่อนพูดหรือเขียน คือ 4 วิธีพัฒนาการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ ผู้ปกครองรวมทั้งผู้สอนมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารในเด็กและเยาวชนได้
- พ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันระหว่างอยู่บนรถ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สะท้อนความคิดและความรู้สึก โดยไม่ตัดสินถูกผิดหรือพูดคุยกับเด็กๆ ถึงสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขากังวลใจ แน่นอนว่าผู้ปกครองต้องสวมบทบาทช่างสักถาม ช่างสงสัย
“คุณคิดว่าเฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือที่ดี เป็นปีศาจ หรือเป็นอะไร?”
แกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) หรือ แกรี่ วี (Gary Vee) นักการตลาดออนไลน์แห่งยุคที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กดันยอดขายธุรกิจของเขาถึงพันล้านดอลล่าร์ได้ภายใน 5 ปี ตอบคำถามนี้ไว้ในรายการ “ฮ็อตวันส์” (Hot Ones) ว่า
“เฟซบุ๊กเป็นกระจกเงาสะท้อนตัวตน”
“ในเฟซบุ๊กเราเห็นคนส่วนใหญ่จับจ้องไปที่การโทษคนอื่น จริงๆ แล้วเทคโนโลยีทำให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของคน ไม่ได้เข้ามาเปลี่ยนคน”
ใจความสำคัญที่แกรี่กำลังเอ่ยถึงอย่างหนึ่ง คือ เรื่องของการสื่อสาร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารด้วยการพูดหรือการพิมพ์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดียและช่องทางอื่นๆ
การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร?
ผู้ที่มีทักษะการสื่อสารที่ดี คือ ผู้ที่มีทักษะการฟังและการแสดงออกอย่างชัดเจนและมีเหตุผล การเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เราแสดงความคิดและความรู้สึกออกมาได้อย่างเข้าใจง่ายและตรงประเด็น ช่วยพัฒนาความสัมพันธ์และไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างตัวเองและผู้อื่น เพราะการสื่อสารที่ดีและมีประสิทธิภาพจะช่วยป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าใจผิดหรือคิดไปเอง แต่จะสร้างความเข้าใจและทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน
สำหรับหลักสูตรสมรรถนะที่จะนำมาใช้เป็นมาตรฐานการเรียนการสอนในระบบการศึกษาของไทย ให้ความหมาย ‘การสื่อสาร’ คือ การรับและส่งสารด้วยความใส่ใจ บนพื้นฐานความเข้าใจและความเคารพในความคิดหรือวัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนสามารถเลือกใช้กลวิธีสื่อสาร ทั้งวัจนภาษาและอวัจนภาษา หรือการสื่อความหมายผ่านสื่อในรูปแบบต่างๆ อย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายในการสื่อสาร
‘บูลลี่’ ตัวอย่างการสื่อสารที่ด้อยประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบ
หากมองไปรอบตัว เด็กเยาวชนหรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่เองใช้เวลาบนหน้าจอมือถือมากขึ้น เราส่งข้อความถึงกันขณะที่อยู่บ้านหรือห้องทำงานเดียวกันแทนที่จะเดินไปหากัน เราไม่ได้กำลังตัดสินว่าพฤติกรรมที่ว่ามานี้ดีหรือไม่ได้ แต่กำลังสื่อสารให้เห็นว่า…พฤติกรรมของมนุษย์ปรับเปลี่ยนไปตามเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวก
ผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2563 โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ผู้ตอบแบบสำรวจฯ ใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที ในปี 2563 เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที โดยปีแรกที่เริ่มทำผลสำรวจในปี 2556 คนไทยใช้เน็ตเฉลี่ยเพียงวันละ 4 ชั่วโมง 36 นาทีเท่านั้น คิดเป็นอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว แน่นอนว่าผลกระทบจาก โควิด-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะในที่สาธารณะ
อินเทอร์เน็ตทำให้การติดต่อสื่อสารทำได้ง่ายขึ้น ยิ่งท่ามกลางวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เทคโนโลยียิ่งเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบการติดต่อสื่อสาร เมื่อระบบดีแล้วสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าระบบคือ ‘ทักษะการสื่อสาร’ (ที่มีประสิทธิภาพบนความรับผิดชอบ) ของผู้ใช้งานระบบอย่างเราๆ ทุกคน
เราเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งที่สื่อสารออกไป ทั้งจากการพูดและการเขียน
แต่ดูเหมือนว่าสถิติที่ได้จากการสำรวจไม่เป็นเช่นนั้น
จากวิทยานิพนธ์ หลักสูตรพยาบาลศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง ‘การถูกรังแกผ่านโลกไซเบอร์และความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในเยาวชน’ ตีพิมพ์ในวารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต ประจำเดือนกันยายน – ธันวาคม 2563 พบว่า เยาวชนกลุ่มตัวอย่าง (อายุ 18-25 ปี) ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกรังแกทางไซเบอร์ เช่น ถูกลบหรือบล็อกออกจากกลุ่ม ถูกนินทา ด่าทอ และพูดคุยตอบโต้ด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย หรือถูกบุคคลอื่นนำความลับที่เป็นข้อมูลส่วนตัวไปเผยแพร่ มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายถึงร้อยละ 39.50 ในจำนวนนี้ร้อยละ 54.20 มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายในระดับรุนแรง
ด้านศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติ (National Center for Health Statistics: NCHS) สหรัฐอเมริกา เผยแพร่ข้อมูลในเดือนเมษายนปี 2563 พบว่า ในประชากรสหรัฐอเมริกาที่มีอายุระหว่าง 10 ถึง 34 ปี “การฆ่าตัวตาย” เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่สอง แม้สถิตินี้ไม่ได้ระบุโดยตรงว่าการฆ่าตัวตายที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากไซเบอร์บูลลี่ แต่ก็สอดคล้องกับงานวิจัยอีกชิ้นในปี 2561 จากความร่วมมือของมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ดและเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ ที่ชี้ให้เห็นว่า เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 25 ปีซึ่งตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์มีแนวโน้มฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเองสูงขึ้นเป็นสองเท่า งานวิจัยนี้ศึกษากลุ่มตัวอย่างอายุ 21 ปีขึ้นไป ทั้งหมด 150,000 คนจาก 30 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ศูนย์การศึกษาสถิติแห่งชาติ (National Center for Education Statistics: NCES) สหรัฐอเมริกา พบว่า นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 (เกรด 6) เป็นช่วงชั้นที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนมากที่สุด ร้อยละ 29 เด็กเยาวชนที่ถูกกลั่นแกล้งมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า มีความวิตกกังวล นอนหลับยาก ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ต่ำ นำไปสู่การถูกให้ออกจากโรงเรียน
หัวใจสำคัญของการสื่อสาร คือ การฟังอย่างตั้งใจ และ ความเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น
ตัวอย่างการศึกษาและสถิติทั้งหมด แสดงให้เห็นว่า การสื่อสารที่ขาดประสิทธิภาพและขาดความรับผิดชอบไม่ว่าจะเกิดในชีวิตจริงหรือในโลกออนไลน์ส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้อื่นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
- การฟังอย่างตั้งใจ
มนุษย์ต่างต้องการการยอมรับและการเคารพซึ่งกันและกัน การฟังอย่างตั้งใจเป็นการแสดงออกว่า “ฉันไม่ใช่แค่ได้ยินในสิ่งที่เธอพูด แต่ฉันเข้าใจ” เป็นการแสดงออกถึงการให้เกียรติผู้อื่นและทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงการถูกยอมรับ ในทางกลับกันหากเราแค่ได้ยินแต่ไม่ได้ตั้งใจฟัง เพราะมัวแต่โฟกัสกับตัวเองว่าจะตอบโต้คู่สนทนาอย่างไร นอกจากอาจทำให้ไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้พูดกำลังสื่อสารแล้ว อาจนำมาสู่การเข้าใจผิดได้อีกด้วย ดังนั้น ขณะที่คนอื่นกำลังพูด ผู้พูดนั้นควรเป็นคนที่มีความสำคัญมากที่สุดในช่วงเวลานั้น หากเราไม่เข้าใจหรือมีข้อสงสัยควรถามเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนในทันที
สำหรับโลกออนไลน์ นอกจากการฟังอย่างตั้งใจแล้ว เราควรรู้ที่มาที่ไปหรือแหล่งที่มาของสิ่งที่กำลังฟังอยู่ เช่น คลิปตัดต่อสั้นๆ จากรายการโทรทัศน์ ผู้พูดต้องการสื่อสารเรื่องอะไร หากเรามีความสนใจในเรื่องนั้นเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากการฟังคลิปที่ถูกตัดต่อมา เราควรย้อนฟังการสื่อสารในประเด็นทั้งหมดในรายการจากผู้พูด
- ความเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น
ความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของคนรอบข้างเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้สื่อสารไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางจนลืมคุณค่าที่จะนำเสนอแก่ผู้อื่น ทำให้ผู้สื่อสารไม่ยึดติดกับความคิดเห็นของตัวเองจนปิดใจรับฟังความคิดเห็นรอบด้าน
ดังนั้นนอกจากความรู้ ความต้องการและเป้าหมายในเรื่องที่กำลังสื่อสาร การมีความฉลาดทางอารมณ์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารให้อยู่บนพื้นฐานของการเคารพผู้อื่น ยิ่งกว่านั้นอาจทำให้เข้าถึงใจ ถูกใจและสร้างความประทับใจแก่ผู้รับสารได้มากยิ่งขึ้น
3 วิธี พัฒนาการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ
สำหรับวัยเด็กตั้งแต่อนุบาล พวกเขากำลังเรียนรู้วิธีโต้ตอบกับเพื่อนๆ เมื่อโตขึ้นพวกเขายังต้องการวิธีการสื่อสารความคิดและความรู้สึกของตัวเอง โดยเฉพาะในวัยรุ่น ผู้ปกครองรวมทั้งผู้สอนมีส่วนช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารในเด็กและเยาวชนได้ ดังนี้
1. พูดคุยกับเด็กๆ เป็นประจำ
การพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ เป็นประจำ ทำให้การสร้างบทสนทนาเป็นเรื่องปกติ แม้ในบางครั้งจะเป็นหัวข้อที่เด็กๆ ไม่อยากพูดถึง ลองนึกถึงความรู้สึกของเด็กๆ ที่พ่อแม่หรือครูแทบไม่ชวนพวกเขาคุยถึงเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวันเลย แต่ทุกครั้งที่บทสนทนาเกิดขึ้นมักเป็นจังหวะเวลาที่มีเรื่องแย่ๆ หากเป็นเช่นนี้แทนที่การสื่อสารจะเป็นเวลาของการเปิดใจ ผ่อนคลาย สบายใจและเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กๆ เรากำลังทำให้การสื่อสารกลายเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัวขึ้นมาในทันที จนทำให้เด็กๆ ปิดบัง ปกปิด และไม่อยากพูดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพวกเขา
พ่อแม่สามารถพูดคุยกับลูกถึงเรื่องราวทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันระหว่างอยู่บนรถ เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สะท้อนความคิดและความรู้สึก โดยไม่ตัดสินถูกผิด หรือพูดคุยกับเด็กๆ ถึงสถานการณ์ที่ทำให้พวกเขากังวลใจ แน่นอนว่าผู้ปกครองต้องสวมบทบาทช่างสักถาม ช่างสงสัย เช่น
- ทำไมลูกถึงคิดอย่างนั้น? ทำไมลูกถึงทำอย่างนั้น?
- ลูกคิดว่าทำไมเพื่อนถึงพูดอย่างนั้นกับลูก?
- ลูกชอบไหมที่เพื่อนทำแบบนั้น ลูกรู้สึกอย่างไร?
2. ฟังแล้วสนใจต่อยอดสิ่งที่เด็กๆ กำลังสื่อสาร
ยกตัวอย่างบทสนทนา เช่น
“วันนี้ที่โรงเรียนลูกชอบอะไรมากที่สุด เพราะอะไร?”
สมมุติ เด็กๆ ตอบว่า “ชอบโปรเจกต์งานศิลปะที่โรงเรียน เพราะ….”
ผู้ปกครองสามารถถามต่อยอด สิ่งที่เด็กๆ กำลังสื่อสารได้
“ดูเหมือนโปรเจกต์งานศิลปะที่ลูกเล่ามา ต้องใช้ความอดทนมากๆ เลย ลูกเก่งมากที่ทำมันได้ แล้วมีโปรเจกต์สนุกๆ อะไรอีกไหมที่ลูกอยากทำ ลูกคิดว่าครั้งนี้จะทำให้แตกต่างจากครั้งก่อนยังไงบ้าง”
3. ชี้ให้เห็นภาษาทางกาย
นอกจากภาษาพูดแล้ว ภาษากายก็สำคัญไม่แพ้กัน ภาษากายบางท่าทางสุภาพ บางท่าทางอาจทำให้ตีความผิดพลาดไปในเชิงลบ เช่น การเอามือกอด-อกที่แสดงออกถึงความอึดอัด การกลอกตาที่แสดงออกถึงความไม่พอใจและไม่ให้ความเคารพ การดูนาฬิกาข้อมือบ่อยๆ ที่อาจทำให้คู่สนทนารู้สึกว่าเราไม่ให้ความสำคัญกับบทสนทนาที่กำลังเกิดขึ้น ผู้ปกครองสามารถชี้ให้เด็กๆ เห็นถึงความหมายของภาษากายที่สุภาพและไม่สุภาพ เพื่อให้พวกเขาปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้
4. คิดก่อนพูด/ เขียน
อธิบายให้เด็กๆ เข้าใจความสำคัญของการสื่อสาร บางครั้งหากพูดหรือเขียนโดยไม่ไตร่ตรองให้ดี คำพูดและสิ่งที่เขียนออกไปอาจทำร้ายความรู้สึกของใครบางคน หรือบางครั้งอาจไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ดังนั้น การให้เวลาตัวเองได้คิดก่อนพูดหรือเขียนจึงมีความจำเป็น ไม่ใช่แค่เพราะเราต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเองที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้อื่นด้วย
ยกตัวอย่างกิจกรรมสอนให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ ด้วยการเรียนรู้คำศัพท์ คำว่า T H I N K
ก่อนพูดหรือเขียนอะไรออกไป ต้องมั่นใจว่าสิ่งที่พูดหรือเขียนนั้น
T = TRUE เป็นความจริง
H = HELPFUL มีประโยชน์
I = INSPIRING เป็นแรงบันดาลใจ
N = NECESSARY มีความสำคัญ/ จำเป็น
K = KIND ไม่ทำร้ายจิตใจผู้อื่น
สิ่งที่ แกรี่ วี กล่าวไว้ในตอนต้นว่า “เฟซบุ๊กเป็นกระจกเงาสะท้อนตัวตน” เป็นคำพูดเตือนใจที่ดีทีเดียว เราควรมีสติก่อนสื่อสารสิ่งต่างๆ ออกสู่สาธารณะ เพราะสิ่งที่ถ่ายทอดออกไปนั้นสะท้อนตัวตนของตัวเอง แน่นอนว่าทุกคนมีความคิดเห็นและความรู้สึกส่วนตัวต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ต้องไม่ลืมว่าเสรีภาพในการสื่อสารสิ่งต่างๆ ออกไปนั้นต้องมีความรับผิดชอบและเคารพผู้อื่นด้วยเช่นเดียวกัน
อ้างอิง
https://www.understood.org/articles/en/10-ways-to-improve-your-grade-schoolers-communication-skills
https://www.comparitech.com/internet-providers/cyberbullying-statistics/
https://www.sciencedaily.com/releases/2018/04/180419130923.htm
https://www.etda.or.th/th/Useful-Resource/publications/Thailand-Internet-User-Behavior-2020.aspx
- ช่วง 6 – 12 ปี ถือเป็นช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และพัฒนาการต่างๆ ทางด้านสติปัญญา ถ้าเด็กได้รับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเขาในทุกๆ ด้าน ก็จะปรับตัวให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ได้อย่างราบรื่น
- เด็กวัยนี้จะอ่อนไหวกับความรู้สึกสำเร็จหรือล้มเหลว เมื่อรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ เด็กจะภูมิใจในตนเองมีความพยายามที่จะเรียนต่อไป นำไปสู่การมีบุคลิกที่มั่นคง สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดี แต่หากเด็กรู้สึกล้มเหลว ไม่มีความสามารถจะท้อแท้และรู้สึกด้อย มีผลต่อภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมในภายหลัง
- “มีนักวิจัยกล่าวว่า ทักษะ EF นั้น มีความสำคัญมากกว่าทั้ง IQ และ EQ เนื่องจากเป็นทักษะสำคัญในการชีวิตที่ทุกคนต้องมี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นทักษะที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความสำเร็จในชีวิต แต่อย่างไรก็ดีหากเด็กมีทักษะทั้ง 3 อย่างดี ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและมีความสุขได้มากกว่า”
เด็กวัย 6 – 12 ปี แม้จะอยู่ในวัยเรียน แต่การเรียนไม่ใช่โลกทั้งใบของเด็ก การเรียนรู้ที่ส่งเสริม ‘พัฒนาการสมวัย’ คือ สิ่งที่นักกิจกรรมบำบัดเด็กยืนยันว่าจะช่วยสร้างเด็กที่มีศักยภาพได้แบบองค์รวม
“ช่วงอายุของเด็กในวัยเรียน 6 – 12 ปีนั้น ถือเป็นช่วงสำคัญของเด็กในการเรียนรู้ทักษะชีวิต และพัฒนาการต่างๆ ทางด้านสติปัญญา” อาจารย์ ดร.กันนิกา เพิ่มพูนพัฒนา นักกิจกรรมบำบัดเด็ก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว อธิบายถึงพัฒนาการของ ‘เด็กวัยเรียน’ หนึ่งในช่วงเวลาทองที่เด็กทุกคนจะเติบโตอย่างแข็งแรงและแข็งแกร่ง
นักกิจกรรมบำบัดเด็กบอกว่า ใน ‘เด็กวัยเรียน’ ถ้าเด็กได้รับสิ่งแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเขาในทุกๆ ด้าน ก็จะปรับตัวให้เข้ากับประสบการณ์ใหม่หรือสิ่งแวดล้อมใหม่ได้อย่างราบรื่น
พัฒนาการ 4 ด้าน ช่วงสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน
การที่เด็กจะเติบโตอย่างมีคุณภาพนั้นประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่าง แต่ถ้าผู้ใหญ่ส่งเสริมอย่างถูกต้อง พวกเขาจะมีพัฒนาการที่ดีครบทั้ง 4 ด้าน
พัฒนาการด้านร่างกาย เด็กในช่วงวัยนี้เจริญเติบโตในอัตราที่ช้ากว่าช่วงวัยเด็กตอนต้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น 3 – 3.5 กิโลกรัมต่อปี ส่วนสูงเพิ่มขึ้น 6 – 7 เซนติเมตรต่อปี รอบศีรษะเพิ่มขึ้น 2 – 3 เซนติเมตร ฟันน้ำนมเริ่มหลุดเมื่ออายุประมาณ 6 ปี
การเคลื่อนไหวโดยใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ การทรงตัว การใช้สายตา และมือประสานกันทำกิจกรรมต่างๆ มีความคล่องแคล่วแม่นยำมากขึ้น เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทางเพศ โดยเฉพาะเพศหญิงอาจมีการเข้าสู่วัยสาวที่อายุ 7 – 8 ปี
พัฒนาการด้านอารมณ์และสังคม เด็กวัยนี้มีความต้องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ของตนเองและของคนรอบข้าง ชอบซักถาม ชอบแข่งขันและแสดงออก เพื่อให้ได้รับความสนใจและยอมรับจากครอบครัว เพื่อน และครู เด็กจะอ่อนไหวกับความรู้สึกสำเร็จหรือล้มเหลว เมื่อเด็กรู้สึกว่าตนเองมีความสามารถ มีความสำเร็จ เด็กจะมีความภาคภูมิใจในตนเอง มีความมุมานะพยายามที่จะเรียนต่อไป นำไปสู่การมีบุคลิกที่มั่นคง สร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ดี
ในทางตรงกันข้าม หากเด็กรู้สึกล้มเหลว ไม่มีความสามารถ เด็กจะท้อแท้และรู้สึกด้อย มีผลต่อภาพลักษณ์ของตนเอง ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมในภายหลัง
ในด้านสังคม เด็กจะอยู่กับกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันและเพศเดียวกัน มีการกำหนดบทบาททางเพศ หรือแสดงออกซึ่งเอกลักษณ์ทางเพศอย่างชัดเจน (gender identity) เด็กจะเรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น เรียนรู้มารยาททางสังคม รู้จักกฎกติกา การยึดตนเองเป็นศูนย์กลางน้อยลง ทำให้ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดีขึ้น
พัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กอายุ 6 – 10 ปีจะมีการคิดอย่างใช้เหตุผลเชิงรูปธรรม (concrete operation) เช่น ความเข้าใจเรื่องความคงอยู่ (conservation) ของน้ำหนัก ปริมาตร และมวลสาร ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงรูปร่างอย่างไร ความเข้าใจเรื่องเวลา การจัดหมวดหมู่ คิดเลขในใจได้ วาดรูปสามมิติง่ายๆ ได้ มีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสจริงโดยใช้การสังเกต ทดลอง
เด็กวัยนี้เล่นและทำกิจกรรมกลุ่มแบบร่วมมือกันโดยเข้าใจบทบาทของแต่ละคน รู้จักการอดทนรอคอย ประนีประนอม และการต่อรอง มีทักษะการบริหารจัดการ (Executive function: EF) ที่พัฒนามากขึ้น ทำให้ควบคุมตนเอง ยืดหยุ่นทางความคิด และวางแผนจัดการต่างๆ ได้ดีขึ้น
พัฒนาการด้านภาษา เด็กในวัยนี้จะพูดได้ชัด เข้าใจความหมายของคำ และเลือกใช้คำอย่างถูกต้องมากขึ้น เข้าใจประโยคที่ซับซ้อนรวมทั้งความหมายของโคลงกลอน อ่านจับใจความ อ่านในใจได้ และวิเคราะห์เรื่องราวที่ได้อ่านหรือฟังมา พร้อมทั้งอธิบายเหตุผล แสดงความคิดเห็นได้ชัดเจน เชื่อมโยงเหตุผลได้ดีพูดคุยสื่อสารได้เหมือนผู้ใหญ่
มาถึงคำถามที่ว่า ผู้ใหญ่จะสังเกตว่าเด็กมีแรงจูงใจหรือความชอบอย่างไรเพื่อค้นหาและส่งเสริมศักยภาพในตัวเด็ก อาจารย์กันนิกาแนะนำว่า หัวใจสำคัญ คือ ‘การทำความเข้าใจเด็กๆ’ ต้องยอมรับว่าเด็กแต่ละคนมีความสามารถพิเศษแตกต่างกัน
“พรสวรรรค์หรือความสามารถพิเศษของเด็กนั้นมีได้หลายด้านที่ไม่ใช่แค่เรื่องของการเรียนอย่างเดียว แต่ยังมีมุมอื่นๆ ที่สามารถสังเกตลูก เช่น ด้านดนตรี ด้านมนุษยสัมพันธ์ด้านภาษา เป็นต้น
เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกอย่างใจเย็นและไม่กดดัน เข้าใจและพร้อมสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ จะมีส่วนช่วยให้ลูกได้ค้นพบความถนัดของตัวเองเมื่อถึงเวลา ในแบบของตัวเอง
ตัวช่วยในการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของเด็ก ทำได้โดยอาศัยทั้งวิธีการสังเกตพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำตามปกติ และการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันออกไป เพราะโดยปกติแล้วเด็กจะมีความสามารถครอบคลุมในหลายด้าน แต่มีมากน้อยลดหลั่นกันไป การค้นหาและพัฒนาศักยภาพจึงจำเป็นต้องให้เวลาและโอกาสกับเด็ก ได้ค้นพบสิ่งที่ตัวเองมีความสนใจและโดดเด่นเป็นพิเศษอย่างแท้จริง”
ทักษะ EF ตัวช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จและมีความสุข
ทักษะ EF หรือ Executive Functions เป็นทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก นักกิจกรรมบำบัดเด็กให้ข้อมูลว่า EF มีความสัมพันธ์กับความพร้อมทางการเรียนและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในระยะยาว
“จากการศึกษาพบว่า ในด้านทักษะการเคลื่อนไหว สหสัมพันธ์ของร่างกาย สหสัมพันธ์ระหว่างการเคลื่อนไหวและการมองเห็น เป็นพื้นฐานสำหรับการเรียนรู้ ความสามารถด้านการรู้คิด ทักษะการคิดเชิงบริหาร working memory และ self – regulation
การศึกษาโดยทีมอาจารย์ในเด็ก ป.1 – 4 พบว่า เด็กที่มีประสิทธิภาพในการเคลื่อนไหวดี จะมี working memory ที่ดีด้วย”
Executive Functions มีทั้งหมด 9 ด้าน แบ่งออกเป็นทักษะพื้นฐาน (Basic) 3 ด้าน และทักษะสูง (Advance) 6 ด้าน ได้แก่
ทักษะพื้นฐาน (Basic) ประกอบไปด้วย
(1) Working Memory (ความจำเพื่อใช้งาน) คือ ความสามารถในการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลและดึงข้อมูลที่เก็บในคลังสมองออกมาใช้ในสถานการณ์ที่ต้องการ
(2) Inhibitory Control (ยั้งคิด ไตร่ตรอง) คือ ความสามารถในการยั้งคิดไตร่ตรอง สามารถควบคุมความต้องการ หยุดคิดก่อนที่จะทำหรือพูดได้
(3) Shifting หรือ Cognitive Flexibility (ความคิดยืดหยุ่น) คือ ความสามารถในการยืดหยุ่นทางความคิด ร่วมแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน รู้จักพลิกแพลงและปรับตัว เป็นจุดเริ่มต้นของการมีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ
ทักษะสูง (Advance) ประกอบไปด้วย
(4) Focus หรือ Attention (จดจ่อ ใส่ใจ) คือ ความสามารถในการใส่ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ โดยไม่วอกแวก รู้จักการทำงานให้เสร็จเป็นอย่างๆ ไป
(5) Emotional Control (ควบคุมอารมณ์) คือ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จัดการกับอารมณ์ตนเองไม่ให้รบกวนผู้อื่น ไม่โกรธเกรี้ยว ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายเกินไป รู้จักแสดงอารมณ์อย่างถูกวิธี
(6) Self – Monitoring (ติดตาม ประเมินตนเอง) คือ การประเมินตนเองเพื่อหาจุดบกพร่องแล้วนำมาแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้น รู้จักไตร่ตรองว่าตัวเองทำอะไร รู้ว่าตัวเองทำอะไร และรู้ว่าใกล้จะเสร็จหรือเรียบร้อยแล้ว
(7) Initiating (ริเริ่มและลงมือทำ) คือ ความสามารถในการริเริ่มและลงมือทำ กล้าคิดกล้าทำ ลงมือทำทันที ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง
(8) Planning and Organizing (วางแผน จัดระบบ ดำเนินการ) คือ การวางแผนจัดการตนเองอย่างเป็นขั้นตอน ดำเนินการตั้งแต่วางเป้าหมาย มองเห็นภาพรวม รู้จักจัดลำดับความสำคัญ จัดระบบ ดำเนินการ และประเมินผล
(9) Goal – Directed Persistence (มุ่งเป้าหมาย) คือ การวางเป้าหมายที่ชัดเจน มีความพากเพียรและความมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมาย รู้จักฝ่าฟันอุปสรรค หากล้มต้องรู้จักลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
“มีนักวิจัยกล่าวว่า ทักษะ EF นั้น มีความสำคัญมากกว่าทั้ง IQ และ EQ เนื่องจากเป็นทักษะสำคัญในการชีวิตที่ทุกคนต้องมี เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นทักษะที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อความสำเร็จในชีวิต แต่อย่างไรก็ดีหากเด็กมีทักษะทั้ง 3 อย่างดี ย่อมมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จและมีความสุขได้มากกว่า” อาจารย์กันนิกากล่าว
เพื่อ ‘พัฒนาการสมวัย’ เรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องรู้
ทั้งเรียนรู้และเติบโต ดูจะเป็นภารกิจที่เด็กต้องแบกรับมากหน่อยในยุคนี้ แต่คนที่จะประคับประคองให้พวกเขามี ‘พัฒนาการสมวัย’ ได้ คือ พ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งกุญแจสำคัญ คือ ทัศนคติที่ผู้ใหญ่ต้องมีต่อเด็ก หากปรับได้ตามที่นักกิจกรรมบำบัดเด็กแนะนำไว้ การจะช่วยให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอย่างมีคุณภาพก็ไม่ใช่เรื่องยาก
สำหรับบัญญัติ 10 ประการ ในการดูแลเด็กช่วงวัยเรียน มีดังนี้
- ให้เด็กมีอิสระในการเล่นหรือทำกิจกรรมอย่างเหมาะสม
- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการแสดงออกของเด็กในทางที่เหมาะสม
- ใช้คำพูดที่ช่วยให้เด็กมีความรู้สึกที่ดีต่อตนเอง
- ดูแลเอาใจใส่ในการคบเพื่อนของเด็ก
- ให้การเลี้ยงดูอย่างเข้าใจการเปลี่ยนแปลงในทุกด้านของเด็ก
- ส่งเสริมให้เด็กสามารถช่วยเหลือตนเองตามวัยได้อย่างเหมาะสม
- ดูแลแนะนำเกี่ยวกับการรับสื่อต่างๆ อย่างถูกต้อง
- ส่งเสริมการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
- กฎเกณฑ์ที่ใช้กับเด็ก ควรมีความยืดหยุ่น และสามารถปฏิบัติได้
- สนับสนุนให้เด็กรู้จักทำงานร่วมกัน และเคารพกติกา
ในด้านร่างกาย อาจารย์กันนิกาแนะนำว่า พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูไปถึงเรื่องโภชนาการที่ถูกต้องด้วย เพราะอาหารที่ดีจะสร้างร่างกายที่ดี
“เด็กวัยเรียนมีการเคลื่อนไหวและใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลาไม่หยุดอยู่เฉยในแต่ละวัน ความต้องการพลังงานของเด็กประมาณ 1,500 แคลอรี่/วัน เด็กวัยเรียนควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ใน 6 กลุ่มอาหาร ได้แก่ กลุ่มข้าว – แป้ง กลุ่มผัก กลุ่มผลไม้ กลุ่มเนื้อสัตว์ กลุ่มไขมัน และกลุ่มนม เพื่อได้รับพลังงานและสารอาหารที่ครบถ้วน
การส่งเสริมพัฒนาการในเด็กวัยนี้ควรให้ความสำคัญกับทุกด้าน ไม่ใช่การเน้นเรื่องเรียนเพียงอย่างเดียว ควรเน้นเรื่องร่างกาย เรียนรู้ทักษะชีวิต เรียนรู้ไปพร้อมกับลูกอย่างใจเย็นและไม่กดดัน เข้าใจและพร้อมสนับสนุนในสิ่งที่เขาต้องการ”
- เมื่อ ‘ปารีส ฮิลตัน’ แฟชั่นไอคอนยุค 2000 ที่มาด้วยภาพลักษณ์แสบซ่า เซ็กซี่ คือคาแรกเตอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อปกปิดบาดแผลในใจที่เกิดจากพ่อแม่ พิมพ์พาพ์หยิบสารคดี ‘This is Paris’ ที่จะทำให้เรารู้จักฮิลตันมากขึ้น
- ปารีสและน้องสาวมีพ่อแม่ที่เข้มงวด พวกเธอถูกห้ามทุกอย่าง ไม่ว่าจะห้ามแต่งหน้า ห้ามออกเดท และต้องถูกส่งไปเรียนมารยาทเพื่อเข้าสังคม ปารีสเล่าถึงเรื่องนี้ว่า “ฉันรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ธรรมชาติของฉัน”
- “การที่ปารีสได้ไปอยู่ในโรงเรียนที่ทำร้ายร่างกายและใจ และยังมีครอบครัวที่ไม่สามารถพึ่งพิงและเชื่อใจได้ มันทำให้เธออยู่กับปัญหาหลายอย่างที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข และทำให้เธอไม่สามารถมูฟออนไปเป็นคนที่มีความสุขและมีอิสระในชีวิตได้จริงๆ ซักที”