- เปิดห้องเรียน Active Learning คุยกับ ครูนัน-วิตรานันท์ นันทผาสุข ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (ปทุมวัน) ผู้พยายามตอบคำถามของนักเรียนว่า ‘เราเรียนคณิตศาสตร์กันไปทำไม’ ด้วยการสร้างสรรค์วิธีการเรียนให้น่าสนใจและเหมาะกับนักเรียนในยุคนี้
- คอนเซ็ปต์คืออยากให้นักเรียนเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ และทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกไปกับการเรียน โดยดึงคอนเทนต์ต่างๆ มาใช้กับบทเรียน ไม่ว่าจะเป็นเกม เพลง หรือหนัง เพื่อให้นักเรียนลดอคติและเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างแท้จริง
- กิจกรรม ‘สืบเลือดปริศนา’ คือตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ที่ครูนันใช้สอนเรื่องตรีโกณมิติ ทำให้นักเรียนเห็นว่าบทเรียนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เพราะเรื่องคดีฆาตกรรม หรือเรื่องที่ลึกลับมักจะดึงดูดให้เด็กสนใจได้ เหมือนกับการ์ตูนโคนัน ที่ทำให้เรารู้สึกอยากติดตามเนื้อเรื่อง
เรียนตรีโกณมิติ จากการคำนวณหยดเลือด?
เรียนภาพตัดเลขาคณิต จากเกม Fruit Ninja?
เรียนเมตริกซ์ จากการคำนวณราคาชุดไก่ KFC?
ใครจะไปรู้ว่า สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรานั้นเชื่อมโยงกับคณิตศาสตร์จนสามารถดึงเอามาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นบทเรียนในห้องเรียนได้ และยังทำให้นักเรียนเข้าใจคณิตศาสตร์มากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
The Potential ชวนคุยกับ ครูนัน-วิตรานันท์ นันทผาสุข ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (ปทุมวัน) ผู้พยายามตอบคำถามของนักเรียนว่า ‘เราเรียนคณิตศาสตร์กันไปทำไม’ ด้วยการสร้างสรรค์วิธีการเรียนให้น่าสนใจและเหมาะกับนักเรียนในยุคนี้ โดยดึงเอาคอนเทนต์ต่างๆ มาเชื่อมโยงกับบทเรียน เพื่อทำให้นักเรียนเชื่อว่าสิ่งที่เรียนไปสามารถใช้จริงได้อย่างแน่นอน
“คอนเซ็ปต์ของเราคืออยากให้นักเรียนเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ และทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกไปกับการเรียน โดยเราจะดึงคอนเทนต์ต่างๆ มาใช้กับบทเรียน”
กิจกรรม ‘สืบเลือดปริศนา’ คือตัวอย่างการออกแบบการเรียนรู้ที่ครูนันใช้สำหรับการสอนเรื่องตรีโกณมิติ ซึ่งหลังจากจัดกิจกรรมไปก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนและสังคมเป็นอย่างมาก แต่นอกเหนือไปจากกิจกรรมนี้แล้ว ครูนันยังได้สร้างสรรค์และดึงสิ่งต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับการสอนอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเกม เพลง หรือหนัง เพื่อให้นักเรียนลดอคติและเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างแท้จริง
มาร่วมหาคำตอบกับ ครูนัน ถึงจุดเริ่มต้นการออกแบบห้องเรียน Active Learning ในวิชาคณิตศาสตร์ และความคิดเห็นในฐานะครูรุ่นใหม่ที่ต้องรับมือกับนักเรียนเจน Z รวมถึงมุมมองต่อการเรียนคณิตศาสตร์ในระบบการศึกษาไทย
อะไรคือจุดเริ่มต้นการออกแบบห้องเรียน Active Learning วิชาคณิตศาสตร์?
ในฐานะครูเราก็ต้องหาคำตอบที่ดีที่สุดเพื่อให้เด็กเชื่อว่า สิ่งที่เขาเรียนไปจะได้ใช้จริงๆ และจากประสบการณ์ของตัวเองก็เข้าใจเลยว่า คณิตศาสตร์มันเข้าใจยากและไม่ค่อยน่าสนใจ แต่ถามว่าเราจะแก้ปัญหายังไง ก็คือเราต้องทำให้เห็นภาพมากขึ้น ทำให้เห็นว่าสามารถนำคณิตศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตได้
แต่จุดเริ่มต้นที่ได้เห็นการเรียนการสอนแบบนี้เริ่มมาจากตอนที่เราเรียนอยู่ในคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ ครูจะพยายามเอาเคสและตัวอย่างกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างสร้างสรรค์ลักษณะนี้มาให้ดู ว่าสามารถทำได้มากกว่าการสอนแบบบรรยาย
พอเราเห็นกิจกรรมที่น่าสนใจ หรือมองว่าถ้านักเรียนได้เรียนแล้วจะไม่น่าเบื่อ ก็ดึงมาปรับให้เข้ากับบทเรียน เพราะก็มีหลายกิจกรรมที่เราจัดขึ้นโดยอ้างอิงจากเคสที่เราเคยเรียนในมหาลัย
และตอนที่เราก้าวเข้ามาสู่ระดับมหาวิทยาลัย สิ่งที่เราได้เรียนรู้ได้ระดับอุดมศึกษามันไปตอบคำถามที่เกิดขึ้นในสมัยมัธยมหลายข้อ เพราะตอนมัธยมเราอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเกิดเป็นสูตรนี้ขึ้นมา หรือทำไมต้องใช้สูตรนี้ๆ พอเราเรียนมหาลัยเราก็จะสามารถเชื่อมโยงได้ว่ามันมีที่มา และมีการเชื่อมโยงกันอย่างไร แน่นอนว่าถ้าเราได้รู้คำตอบตั้งแต่เด็ก เราอาจจะเห็นภาพมากขึ้นไปตั้งนานแล้ว
เราเลยตั้งใจที่จะจัดกิจกรรมให้ห้องเรียนไม่ใช่ห้องเรียนแบบเดิมๆ โดยมีเป้าหมายจะทำเดือนละครั้ง ขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นเนื้อหาไปถึงเรื่องไหน และพยายามจะเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นกิจกรรมที่ไม่น่าเบื่อ ซึ่งห้องเรียนและกิจกรรมต่างๆ ที่เห็น ก็ทำอย่างนี้ไปทุกเดือน โดยสามารถติดตามกิจกรรมต่างๆ ได้ผ่านเฟซบุ๊กของเราได้ (Witranan Nanthaphasuk)
ทำไมถึงเลือก กิจกรรม ‘สืบเลือดปริศนา’ มาใช้สอนเรื่องตรีโกณมิติ?
จริงๆ กิจกรรมทั้งหมดที่เราทำมีค่อนข้างหลากหลาย เพราะแต่ละเดือนเราเปลี่ยนกิจกรรมไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว แต่กิจกรรม ‘สืบเลือดปริศนา’ ก็เป็นคลาสหนึ่งจากทั้งหมดที่ได้รับความสนใจมาก
ตอนนั้นสอนถึงเรื่องตรีโกณพอดี ซึ่งเราก็ใช้วิธีตรงๆ ในการสอนเพื่อแก้โจทย์ร่วมด้วย แต่ที่สร้างกิจกรรมขึ้นมาเพราะเห็นว่าพวกโจทย์ปัญหาท้ายบทเป็นคำถามที่แค่ให้หาความสูงของเสาธง หรือความสูงของต้นไม้ อย่างเช่น มองต้นไม้ด้วยมุมเงย 30 องศา แล้วต้นไม้จะสูงเท่าไหร่ แค่นั้นเลย
ก็มองว่าโจทย์แบบนี้มันยังตอบคำถามนักเรียนไม่ได้ เพราะเด็กก็จะงงว่า “อ้าว นี่เราเรียนตรีโกณไปเพื่อแค่หาความสูงต้นไม้เหรอ?” มันไม่สามารถตอบโจทย์นักเรียนได้จริงๆ
เราคิดว่ากิจกรรมนี้จะทำให้นักเรียนเห็นว่าบทเรียนนี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ เพราะเรื่องคดีฆาตกรรม หรือเรื่องที่ลึกลับมักจะดึงดูดให้เด็กสนใจอยู่แล้ว เหมือนกับการ์ตูนโคนัน ที่ทำให้เรารู้สึกอยากติดตามเนื้อเรื่อง เลยคิดว่าถ้าเราทำให้คาบเรียนน่าติดตามเหมือนการ์ตูนหรือหนังที่เราดูได้ก็คงจะดี
ซึ่งคาบนั้นเราขอห้องเปิดประชุมเลย ไปเซ็ตสถานที่แล้วจัดฉากขึ้นมา แล้วไปตามนักเรียนให้ขึ้นมา พอขึ้นมาเราก็ค่อยๆ เล่าสตอรี่ว่ามีเหตุฆาตกรรมเกิดขึ้นในโรงเรียนของเรา เป็นขั้นนำเพื่อให้นักเรียนเกิดความสนใจ จากนั้นก็เปิดไฟให้เด็กดูของจริง
เริ่มจากการคุยตั้งคำถามโดยยังไม่ต้องพุ่งไปยังตัวเนื้อหา ว่าถ้าเกิดเจออย่างนี้แล้วต้องการสืบสวน ต้องดูจากอะไร ถ้าหากจะดูจากรอยเลือดเราต้องดูยังไง มีหลักฐานอะไรบ้าง
เราให้นักเรียนลองดูหยดเลือด เพราะว่าถ้าเลือดหยดลงมาตรงๆ ก็จะมีเป็นลักษณะเป็นวงกลม แต่ถ้าหยดเอียงๆ แสดงว่าต้องเกิดการไหล ก็ให้เขาลองเอาเชือกลากเส้นดู เพื่อให้เห็นว่าเลือดนั้นพุ่งมาจากจุดๆ เดียว พอกำหนดจุดคร่าวๆ แล้ว ก็มาดูว่าสถานที่จริงว่า ผู้เสียชีวิตนั้นอยู่ห่างไกลจากจุดเลือด แล้วถ้าเป็นแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง แล้วให้นักเรียนลองมาวัด คำนวณ ตั้งสมมติฐาน แล้วค่อยสรุปกิจกรรมว่าเราได้อะไรจากกิจกรรมนี้
ซึ่งผลที่เห็นได้ชัดคือ นักเรียนที่ไม่ค่อยจะสนใจเรียนเขาเริ่มมามุงดูว่าทำอะไรกัน เพราะคาบเรียนของเราไม่ใช่คาบที่นั่งเรียนอยู่กับโต๊ะแล้ว ส่วนนักเรียนที่เขาสนใจอยู่แล้วก็สนใจมากขึ้น ก็รู้สึกว่าการที่จัดกิจกรรมแบบนี้มันสามารถดึงความสนใจของเด็กได้ดีกว่า
แล้วกิจกรรมอื่นๆ ที่เคยจัดมามีอะไรบ้าง?
เนื่องจากคอนเซ็ปต์ของเราคืออยากให้นักเรียนเชื่อมโยงคณิตศาสตร์กับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงได้ และทำให้นักเรียนรู้สึกสนุกไปกับการเรียน โดยเราจะดึงคอนเทนต์ต่างๆ มาใช้กับบทเรียน อย่างเช่น การสอนกราฟ เราก็เอาเกม GraphWar ที่เป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่งในติ๊กต่อกมาโยง โดยเราก็ให้เด็กๆ เล่นเกมนี้กันในห้อง
หรือสอน sine cos tan ก็เอาเพลง Sine From Above ของ Lady Gaga มาให้เด็กดู แล้วมาคุยกันว่า sine ในที่นี้มันคือ sine ในตรีโกณหรือเปล่า ซึ่งก็มาเฉลยว่ามันเกี่ยวข้องกัน เพราะคลื่นเสียงที่เห็นใน MV นั้นอยู่รูปของกราฟ sine และเพลงในอัลบั้มนี้ก็ใช้รูปเป็นกราฟ sine เหมือนกัน
เราพยายามชี้ให้เด็กเห็นว่าแม้เหมือนมันจะดูไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้านักเรียนไปทำงานเกี่ยวกับเรื่องเสียง เขาก็ต้องมีความรู้เรื่องกราฟ sine เหมือนกัน ในเรื่องการเพิ่มเสียง ยืดกราฟเสียง เป็นต้น หรือว่าตอนที่เราฝึกสอนเราก็เอาเกม Fruit Ninja มาสอนประกอบในเรื่องภาพตัดเลขาคณิต และลองผ่าผลไม้ของจริงให้เด็กดู
อีกคลาสหนึ่งที่ได้ผลตอบรับค่อนข้างดีคือ KFC คือเราจะโยนคำถามให้เด็กว่า คิดว่าชุดสุขใจจะได้ไก่กี่ชิ้น แล้วถ้าชุดอิ่มใจได้ไก่ 3 น้ำ 2 ชุุดไหนคุ้มกว่ากัน คิดแบบสมการว่าจะประหยัดไปกี่บาท แต่ KFC มีตั้งหลายชุด จะคิดทุกชุดยังไง
ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นการสอนเรื่องเมตริกซ์ โดยเอาข้อมูลลง Excel แล้วคำนวณผ่าน Excel เพราะคณิตศาสตร์นั้นเราไม่จำเป็นต้องคำนวณเองเสมอไป เราแค่เอาคอนเซปต์ของมันมาใช้ว่าดำเนินการยังไง สอนว่าจะเอาตารางคูณตารางใน Excel ต้องทำยังไง ใช้สูตรอะไร
เราไม่ได้คาดหวังว่านักเรียนต้องคำนวณเลขถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ในวันนั้น แต่ต้องการให้นักเรียนเข้าใจว่าการคูณเมตริกซ์สองตัวคืออะไร และได้ผลลัพธ์ออกมาลักษณะไหน เพราะเราก็พยายามจะจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนโดยการหยิบคอนเทนต์ต่างๆ ขึ้นมา โดยดูว่าอะไรที่เหมาะกับนักเรียนของเรา
เคยพบปัญหา ‘สอนไม่ทัน’ เวลาจัดกิจกรรมแบบนี้ไหม?
แน่นอนครับ เพราะการจัดกิจกรรมแบบนี้ก็ต้องมีสิ่งที่เราต้องแลก เราจะต้องแลกคาบเรียนไป 2 คาบเต็มๆ กับโจทย์ที่อาจะทำได้แค่ 2-3 ข้อ ในสถานการณ์เดียวกัน ถ้าเราสอนไม่ทันจริงๆ เราก็ต้องเก็บกิจกรรมลงไปก่อน เพราะไม่อย่างนั้นเด็กเราก็จะเรียนไม่ทันห้องอื่น เลยเป็นข้อเสียคือเราสามารถทำได้แค่เดือนละครั้ง เนื่องจากว่าหลักสูตรแกนกลางพื้นฐานค่อนข้างแน่นมากอยู่แล้ว
ถามว่าปัญหามาจากไหน หนึ่งเลยคือเรื่องของหลักสูตร ทั้งโรงเรียนกับระดับชาติ เพราะถ้าเนื้อหาเยอะเกินไป เวลาต่อคาบก็จะมีน้อย เราไม่่ได้มีเวลาให้นักเรียนไปดื่มด่ำกับกิจกรรมเหล่านี้ เพราะเราอาจจะสอนไม่ทันแล้ว
หรือสมมติอีก 2 เดือนจะสอบแล้ว แต่เรายังเหลือเนื้อหาอีก 1 บท ซึ่งตัวเนื้อหากับเวลาที่เหลือมันไม่สามารถจะเอื้อให้จัดกิจกรรมแบบนี้ได้เยอะ
ในฐานะครูรุ่นใหม่ มีวิธีการรับมือกับเด็กนักเรียน เจน Z ยังไง?
อันดับแรกเราจะเห็นความแตกต่างได้ชัดเลย แต่ก่อนหน้านี้ที่สอนระดับชั้น ม.5 เขาจะอายุห่างจากเราประมาณ 5-6 ปี ก็ไม่ได้รู้สึกต่างขนาดนั้น ยังสามารถเข้าใจพฤติกรรมว่าเขาชอบอะไรไม่ชอบอะไร อะไรห้ามไม่ได้
แต่ว่าเด็กม.1 นี่คือห่างจากเราเป็น 10 ปีไปแล้ว ข้ามเจนไปเยอะแล้ว ทำให้พฤติกรรมบางอย่างเน้นออกมาชัดเลยว่าแตกต่างจากเจนเรามาก เช่น เขาไม่สามารถอยู่ห่างจากอุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้นานขนาดนั้น เราไม่ได้มองว่าผิดนะ เพราะเข้าใจว่ามันเป็นพฤติกรรมของเขาไปแล้ว ว่าต้องขอจับให้อุ่นใจสักนิดนึง ขอหยิบขึ้นมาให้ได้ดูหน้าจอสักนิดก็ได้
แต่ในทางกลับกัน ถ้าพูดถึงในเรื่องการเรียนรู้ นี่ก็ไม่ใช่พฤติกรรมที่ดีที่สุดที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้นั้นได้ ดังนั้นเราก็ต้องมีข้อตกลงบางอย่าง ซึ่งก็ไม่ใช่การดุการว่า เพราะเรารู้ว่าการดุการห้ามนั้นไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะเด็กอาจจะต่อต้านได้
มีอะไรอยากฝากถึงนักเรียนเกี่ยวกับการเรียนคณิตศาสตร์บ้าง?
สำหรับม.ต้น ขอให้เชื่อไว้ก่อนว่าสิ่งที่เราเรียนไปยังไงก็ได้ใช้แน่นอน เพราะแต่ละบทก็มีวิธีใช้ที่แตกต่างกัน หลายคนอาจจะตั้งคำถามว่าเรียนไปทำไม แน่นอนว่าเราเรียนไปเพื่อให้ได้ใช้ แม้อาจจะไม่ได้ใช้ทั้งหมดก็ตาม เพราะมันเป็นการศึกษาภาคบังคับที่เขาคิดมาแล้วว่ายังไงก็ได้ใช้
ส่วนม.ปลาย เนี่ย หากเรากางดูหลักสูตร เราเรียนม.ปลายเพื่อที่จะสามารถสอบเข้ามหาลัยโดยเฉพาะ เพราะนี่คือจุดประสงค์ของม.ปลาย ตามหลักสูตรของไทย เขามองว่า ถ้าจบ ม.3 คือคุณได้รับการศึกษาภาคบังคับที่เพียงพอแล้ว และสามารถไปต่อยอดอื่นๆ ตามสายอาชีพที่ต้องการได้
อันนี้คือปัญหาหนึ่งเหมือนกันที่ระบบการศึกษาในไทยทำให้นักเรียนมองภาพไม่ชัด ว่าเราเรียนคณิตศาสตร์ตอนม.ปลายกันไปทำไม
สุดท้ายอยากจะเสนอแนะอะไรถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหลักสูตรวิชาคณิตศาสตร์บ้าง?
เราขอแยกเป็น 2 ส่วน คือหลักสูตรแกนกลาง กับหลักสูตรเพิ่มเติม คือคิดว่ามีส่วนที่ต้องคุยกัน 3 หน่วยงาน คือ หน่วยงานแรกคือสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เขาต้องคุยก่อนว่า ที่เราเรียนไปทั้งหมดนั้นเพื่ออะไร ซึ่งถ้าเขาออกแบบมาดีพอแล้ว ถัดไปเขาต้องไปจับมือคุยกับกระทรวงการอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์(อว.) แล้วไปคุยกับ สสวท. ที่ออกข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย
บางครั้งสาเหตุที่เราไม่สามารถจะจัดกิจกรรมในห้องเรียนได้ก็เพราะอาจมีคนมองว่ามันไม่เห็นต้องเอาไปใช้สอบเข้าเลย สุดท้ายแล้วข้อสอบเข้ามันก็ไม่ได้สอดคล้องกับการจัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning แต่ถ้าเราสามารถออกแบบให้เชื่อมโยงกันได้มันจะดีกว่าไหม เพราะข้อสอบเข้าปัจจุบันก็ไม่ได้ stable ขนาดนั้น มีปัญหาที่นักเรียนบ่นกันทุกๆ ปี ที่เปลี่ยนระบบไปเรื่อยๆ ไม่คงที่สักที หรือดรามาต่างๆ ที่เอา TGAT มาให้สอบ ทั้งๆ ที่นักเรียนไม่เคยเรียน คิดว่าหน่วยงานต่างๆ ต้องกลับมาตั้งคำถามว่าเขาได้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนในโรงเรียนกับข้อสอบเข้าแล้วหรือยัง
สุดท้ายทางออกเดียวคือทุกฝ่ายที่ดูแลเรื่องนี้ต้องคุยกัน ว่าอะไรที่เหมาะสม อะไรที่สามารถตัดออกได้ บางเรื่องตัดออกได้เลยด้วยซ้ำ เพราะมีหลายเรื่องที่เราไม่จำเป็นต้องเรียนขนาดนั้นแล้ว
แต่ถ้าจะปรับหลักสูตรสักครั้งเราอยากให้คุยกันว่าอะไรคือเป้าหมายของหลักสูตร อยากให้เด็กมีสกิลในการคิดเชิงเชื่อมโยง หรือมีวิชาการเพื่อสอบเข้า
ยกตัวอย่างที่เกาหลี หรือจีนที่การสอบเขาเข้มข้นมาก อันนั้นก็ดูออกว่าเขาเน้นวิชาการหนักๆ ซึ่งไม่ผิดที่เขาจะสอนเรื่องยากๆ เพราะหลักสูตรประเทศเขามองว่าเด็กที่เก่งต้องเป็นแบบนี้
เพราะฉะนั้นประเทศไทยก็ต้องมากำหนดก่อนว่า เด็กที่เก่งของเราคืออะไร คือเด็กที่รู้วิชาการเข้มๆ หรือเด็กที่สามารถเชื่อมโยงความรู้กับชีวิตประจำวันได้