- มาร์ติน มัวรีน เจส และเจเจ 4 คนแปลกหน้าที่ไม่รู้จักกัน แต่พวกเขามีจุดหมายที่เดียวกัน คือ มาที่ ‘ตึกคนโดด’ ในคืนสิ้นปีเพื่อกระทำสิ่งเดียวกัน ‘ฆ่าตัวตาย’ พล็อตจากหนังสือเป็นอันตกลง แต่งโดยนิค ฮอร์นบี (Nick Hornby)
- ชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ คือ A Long Way Down แปลได้ว่าการดำดิ่งที่แสนยาวไกล ขณะที่นัยยะของมันก็คือการฆ่าตัวตาย ที่บางครั้งก็เปรียบได้ดังการเดินทางที่แสนยาวไกล และไม่มีใครบอกได้ว่าเราจะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นหรือเปล่า
- “ที่ผมอยากฆ่าตัวตายนั่นไม่ใช่เพราะผมเกลียดการมีชีวิต แต่เป็นเพราะผมรักมันต่างหาก และที่สำคัญก็คือผมคิดว่าคนที่อยากฆ่าตัวตายจำนวนมากก็คงรู้สึกอย่างเดียวกัน… พวกเขารักชีวิต แต่ชีวิตทำให้พวกเขาผิดหวัง…”
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ มีการเปิดเผยบางส่วนของเนื้อเรื่องในหนังสือ และเนื้อหาในบทความบางส่วนหยิบยกมาจากหนังสือ “เป็นอันตกลง” แปลโดย จักรพันธุ์ ขวัญมงคง จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ mars space
สมมตินะครับ คุณมีเพื่อนคนหนึ่ง กำลังคิดจะฆ่าตัวตาย และคุณเป็นคนเดียวที่ได้โอกาสให้พูดคุยโน้มน้าวเขา (หรือเธอ) ให้เลิกล้มการฆ่าตัวตาย
ถ้าสิ่งเดียวที่คุณทำได้ คือ ยื่นหนังสือหนึ่งเล่มให้เขา (หรือเธอ) อ่านจนจบ แล้วค่อยตัดสินใจฆ่าตัวตาย คุณจะยื่นหนังสืออะไร
สำหรับผมแล้ว หนังสือเล่มนั้น คือ เป็นอันตกลง
ชื่อของหนังสือ ‘เป็นอันตกลง’ นอกจากจะหมายถึง การตกลงปลงใจเป็นมั่นเหมาะว่าจะฆ่าตัวตายแล้ว ยังมีนัยยะแฝงที่สื่อถึง การตกหรือร่วงหล่นลงจากยอดตึกเพื่อปิดฉากชีวิต หรืออาจหมายถึง การตกหรือร่วงหล่นจาก ‘ความเป็น’ สู่ ‘ความตาย’ ที่เป็นจุดหมายเบื้องล่าง
ส่วนชื่อภาษาอังกฤษของหนังสือเล่มนี้ คือ A Long Way Down ซึ่งแปลได้ว่า การดำดิ่งที่แสนยาวไกล ขณะที่นัยยะของมันก็คือการฆ่าตัวตาย ที่บางครั้งก็เปรียบได้ดังการเดินทางที่แสนยาวไกล และไม่มีใครบอกได้ว่า เราจะเดินทางไปถึงจุดหมายปลายทางนั้นหรือเปล่า
หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานของ นิค ฮอร์นบี (Nick Hornby) นักเขียนนิยายชาวอังกฤษ ผู้ประสบความสำเร็จจากนิยายหลายเรื่อง โดยเฉพาะ High Fidelity และ About a Boy ซึ่งทั้งสองเรื่อง ถูกนำไปดัดแปลงสร้างเป็นภาพยนตร์ และกลายเป็นหนังในดวงใจของใครหลายคน
แก่นสำคัญในหนังสือนิยายทุกเรื่องของฮอร์นบี ล้วนเป็นเรื่องความสัมพันธ์ของผู้คน ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ฉันท์คนรักระหว่างชายและหญิง ความสัมพันธ์กึ่งๆ หรือเกือบๆ จะเป็นความสัมพันธ์ฉันท์พ่อ-ลูก ระหว่างหนุ่มเสเพลและเด็กวัยรุ่นเจ้าปัญหา หรือความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในสังคม ซึ่งเต็มไปด้วยความคาดหวัง และบรรทัดฐานที่ถูกขีดขึ้น
แต่ดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์แบบไหน ที่วุ่นวายสับสน หรือ ‘ฉิบหายวายป่วง’ เท่ากับความสัมพันธ์ของตัวละครในหนังสือเรื่อง ‘เป็นอันตกลง’ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครแต่ละตัว กับคนสนิทชิดใกล้รอบข้าง หรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครหลักทั้งสี่ ซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน และชะตาชีวิต (หรือชะตาการจบชีวิต) นำพาพวกเขาและเธอให้มาพบกัน
มาร์ติน พิธีกรรายการทีวีผู้โด่งดัง ซึ่งต้องกลายเป็นอดีตพิธีกรผู้ฉาวโฉ่ เพราะความผิดพลาดจากการนอกใจภรรยา ไปมีอะไรกับเด็กสาวอายุ 15 แต่ถ้าจะให้พูดกันจริงๆ แล้ว มาร์ตินนอกใจภรรยาอยู่เรื่อยๆ แต่ครั้งนี้ที่ถือเป็นความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงก็คือเขาดันเข้าใจไปว่า หญิงสาวที่เขาเจอในไนท์คลับบรรลุนิติภาวะแล้ว
จากความผิดพลาดในค่ำคืนนั้น ลากชีวิตมาร์ตินเข้าสู่โหมดความฉิบหายวายป่วง เขาติดคุกในข้อหาพรากผู้เยาว์ ถูกไล่ออกจากงาน กลายเป็นข่าวอื้อฉาวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ ถูกภรรยาฟ้องหย่า พูดง่ายๆ ว่า ชีวิตของเขาพังทลายลงอย่างสิ้นเชิง
และทางเลือกเดียวในการแก้ปัญหาที่มาร์ตินพอจะคิดออก หลังจากพิจารณาไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ก็คือ การฆ่าตัวตาย ในคืนวันส่งท้ายปี ด้วยการกระโดดตึก คือ วิธีจบปัญหาที่รวดเร็วและรวบรัดที่สุด
มัวรีน สาวใหญ่แม่เลี้ยงเดี่ยว ผู้มีลูกชายพิการตั้งแต่เกิด เธออุทิศทั้งชีวิตให้กับแม็ตตี้ ลูกชาย (และพระเจ้า) ก่อนจะพบว่าเธอไม่มีชีวิตที่เป็นของตัวเอง ไม่สิ…ต้องบอกว่าเธอไม่รู้จักชีวิตแบบอื่นด้วยซ้ำ นอกเหนือจากการเช็ดล้างทำความสะอาด ป้อนข้าวป้อนน้ำ พอตกค่ำก็พาลูกชายผู้ไร้การตอบสนองใดๆ เข้านอน และทำแบบนั้นทุกวัน ตั้งแต่วันที่แม็ตตี้เกิดจนถึงวันที่เขากลายเป็นหนุ่ม
ความทุกข์ทนซ้ำซากที่เหมือนไม่มีวันสิ้นสุด ดูเหมือนจะไม่มีทางหลุดพ้นจากความเครียดอันแสนจำเจนั้นได้เลย ยกเว้นแต่การฆ่าตัวตาย
มัวรีนวางแผนทุกอย่างไว้เรียบร้อย เธอติดต่อสถานเลี้ยงเด็กพิการ ให้ส่งคนมาช่วยดูแลแม็ตตี้ 1 คืน โดยอ้างว่า เธอจะไปปาร์ตี้ฉลองสิ้นปีกับเพื่อนๆ ที่โบสถ์ แต่ความจริงแล้วเธอตัดสินใจจะขึ้นไปดาดฟ้าตึกที่มีชื่อเสียงโด่งดังว่า ‘ตึกคนโดด’ เพื่อที่จะจบชีวิตอันแสนหดหู่และจำเจของเธอ
เจส เด็กสาววัย 18 ลูกสาวรัฐมนตรีช่วยกระทรวงศึกษาธิการ แต่ถ้าไม่บอกทุกคนต้องเชื่อว่าเธอเป็น ‘สก๊อย’ ตลาดล่าง เจสใช้ชีวิตสุดเหวี่ยงจนถึงขั้นเหลวแหลก ทั้งมั่วยา ปาร์ตี้ แถมปล่อยหมาออกจากปากแทบทุกประโยค
ไม่มีใครบอกได้ว่าอะไรคือสาเหตุทำให้เจสกลายเป็นเด็กสาวใจแตก แต่เท่าที่รู้จากในหนังสือ เธอโหยหาความรักมาตลอด ตั้งแต่เล็กเจสมักจะถูกเปรียบเทียบกับพี่สาวผู้แสนดี และเมื่อถึงวันที่พี่สาวของเธอหายไปจากบ้าน ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเธอฆ่าตัวตาย เจสก็ยิ่งกลายเป็นตัวป่วนมากขึ้น
ด้วยนิสัยเพี้ยนๆ ขี้วีน อารมณ์รุนแรง บวกกับความปากร้าย และอาการละม้ายคล้ายผู้ป่วยโรคจิต ไม่แปลกที่เจสจะถูกแฟนหนุ่มทิ้ง เธอพยายามตามล่าหาตัวเขา เพื่อถามถึงเหตุผลในการเลิกรา สุดท้ายเจสไปตามหาแฟนหนุ่มในงานปาร์ตี้ที่ตึกคนโดด
ในตอนนั้นเอง เจสก็นึกขึ้นมาได้ว่าชีวิตเธอช่างไร้สาระสิ้นดี และทางที่ดีที่สุดก็คือจบชีวิตลงเสีย เมื่อคิดได้อย่างนั้น เจสก็เดินขึ้นบันไดที่ทอดไปสู่ดาดฟ้าตึกด้วยจิตใจที่ฮึกเหิม
เจเจ หนุ่มร็อคชาวอเมริกัน ผู้ยึดถือความ ‘คูล’ เป็นสรณะ เขาฝันจะเป็นร็อคสตาร์ ทว่าเขาไปไม่ถึงฝันตั้งแต่ยังไม่ทันก้าวเดิน จู่ๆ วงดนตรีของเจเจก็เลิกราไปอย่างเงียบๆ เช่นเดียวกับแฟนสาวของเขา ถึงตอนนั้นเจเจจึงพบว่าตัวเองกลายเป็น ‘ไอ้ขี้แพ้’ เต็มตัว
หนุ่มร็อคผู้ไม่รู้จักอย่างอื่นนอกจากหนังสือและดนตรี ต้องผันตัวมาเป็นเด็กส่งพิซซ่า และในคืนวันส่งท้ายปีมีคนเรียกเขาให้ไปส่งพิซซ่าที่ตึกคนโดด
จากที่เคยฝันจะเป็น somebody สุดท้าย กลายเป็น nobody จากที่เคยฝันจะเป็น rock star แต่เป็นได้แค่ loser สิ่งสุดท้ายที่เจเจทำได้ คือ เดินขึ้นไปบนดาดฟ้าตึก แล้วจบชีวิตตัวเองอย่างคูลๆ (ในความคิดของเขา) ตามรอยร็อคสตาร์อย่างเคิร์ท โคเบน หรือนักเขียนดังอย่างเวอร์จิเนีย วูล์ฟ
คน 4 คน ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน คิดจะทำสิ่งเดียวกันในเวลาเดียวกัน คือ การฆ่าตัวตาย และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางอันแสนยาวนาน ที่มีความตายเป็นจุดหมายปลายทาง ซึ่งผมจะไม่สปอยล์ว่าสุดท้ายแล้วทั้ง 4 คนไปถึงจุดหมายปลายทางของเขาและเธอหรือไม่
แต่ขอกระซิบบอกว่า หนังสือที่เต็มไปด้วยคำสบถ คำหยาบสองแง่สองง่ามทะลึ่งตึงตังเล่มนี้ คือ หนังสือที่สะกิดต่อมอารมณ์ขันในความตลกร้าย บวกกับชวนให้สมองคุณได้ขบคิดถึงคำถามว่าด้วยความหมายของการมีชีวิตได้อย่างเหลือเชื่อ
พูดง่ายๆ ว่า นี่คือหนังสือที่อยากให้ทุกคนได้อ่าน ไม่ว่าคุณกำลังคิดจะฆ่าตัวตายหรือไม่ก็ตาม
ปัจจัยที่นำไปสู่การฆ่าตัวตาย
จากสถิติตัวเลขขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ในแต่ละปีมีคนตายจากการฆ่าตัวตายราว 800,000 คน โดยเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง (แม้ว่าผู้หญิงจะมีความคิดอยากฆ่าตัวตายมากกว่า)
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนๆ หนึ่ง ตัดสินใจทำสิ่งที่ขัดต่อสัญชาตญาณความรักชีวิต
จากข้อมูลของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ระบุว่า มีหลายปัจจัยที่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ อาทิ โรคซึมเศร้า ปัญหาสุขภาพเรื้อรัง การใช้ยาเสพติด คนในครอบครัวเคยมีประวัติการฆ่าตัวตาย หรือพยายามฆ่าตัวตายมาก่อน
นอกจากนี้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การละเมิดทางเพศในช่วงวัยเด็ก การมีอาวุธปืนเก็บไว้ในบ้าน รวมทั้งการได้รับรู้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ต่อความพยายามฆ่าตัวตาย ก็ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจโน้มน้าวให้เกิดการตัดสินใจฆ่าตัวตายได้เช่นกัน
ส่วนปัจจัยเสริมที่จะกระตุ้นให้มีการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ประกอบด้วยการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การประสบปัญหาการเงินอย่างรุนแรง หรือการเผชิญปัญหายุ่งยากทางกฎหมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้นับเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความตึงเครียดให้กับชีวิตอย่างรุนแรง
ขณะเดียวกัน ปัญหาด้านอารมณ์ก็นับเป็นปัจจัยเสริมที่อาจกระตุ้นให้มีการตัดสินใจฆ่าตัวตาย ยกตัวอย่างเช่น ปัญหาความสัมพันธ์ การถูกบูลลี่ การถูกทำให้อับอาย รวมไปถึงการถูกแบ่งแยกหรือเหยียดชนชั้น – สีผิว
พูดง่ายๆ ว่า แทบทุกปัญหาในชีวิตของคนล้วนสามารถเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือปัจจัยเสริมที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ทั้งนั้น เหมือนดังคำพูดของมัวรีน ที่กล่าวไว้ว่า
“เขาฆ่าตัวตายเพราะต้องพรากจากลูกๆ ของเขา แต่ฉันจะฆ่าตัวตายเพราะฉันต้องอยู่กับลูกของฉัน พอคิดอย่างนี้แล้ว ฉันว่ามันก็ทุกข์ได้หมดเลยนะคะ ในทุกเรื่องและทุกทางก็ว่าได้ มีคนที่ฆ่าตัวตายเพราะต้องพรากจากคู่ชีวิต และก็มีคนที่ฆ่าตัวตายเพราะพวกเขาต้องทนอยู่กับชีวิตคู่”
อย่าเพิ่งตกลงปลงใจเลยนะ
เรามักได้ยินคำพูดในทำนองที่ว่า คนที่ฆ่าตัวตาย คือ คนที่คิดสั้น แต่มาร์ตินไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง
“โทษทีนะครับ แต่ผมจะบอกว่าพวกเขาไม่ได้คิดสั้นเลยนะ… เมื่อเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าขนาดนั้น วันนึงคุณก็รับไม่ไหว และคุณก็ตัดสินใจขับรถครอบครัวแบบแฮทช์แบ็คพุ่งลงมาจากที่จอดรถบนตึกที่อยู่ใกล้ที่สุด… มันควรจะสรุปว่า เขาฆ่าตัวตายอย่างมีสติหลังจากพิจารณาใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนถึงเรื่องเลวร้ายที่ได้เกิดขึ้นต่างหาก”
ถึงแม้มาร์ตินจะเป็นแค่ตัวละครในหนังสือ แต่สิ่งที่เขาพูดไว้คือความจริง ข้อมูลจากหน่วยงานด้านสุขภาพหลายแห่งระบุตรงกันว่า คนที่คิดฆ่าตัวตายจะมีการไตร่ตรองวางแผนมาอย่างรอบคอบ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนพินัยกรรมไว้ล่วงหน้า การบอกลาสมาชิกในครอบครัว และการยกทรัพย์สินของรักให้กับคนอื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนว่า คนๆ นั้นอาจจะมีความคิดที่จะจบชีวิตของตัวเอง
ถ้าหากพบสัญญาณบ่งชี้ถึงความคิดฆ่าตัวตาย เราควรทำอย่างไร?
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต แนะนำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การรับฟัง พยายามพูดคุยให้เขาได้ระบายออก ให้เธอได้บอกเล่าถึงปัญหา แม้ว่าการพูดคุย อาจไม่ได้นำไปสู่ทางออกของปัญหา แต่อย่างน้อยก็เป็นจุดเริ่มต้นให้คนที่คิดฆ่าตัวตายได้ฉุกใจคิดว่า เขาหรือเธอไม่ได้เผชิญหน้ากับปัญหาเพียงลำพัง หากยังมีคนรับฟังและรับรู้ปัญหานั้นกับเขา
และอีกเช่นกันที่เรามักได้ยินคำพูดในทำนองที่ว่า คนที่ฆ่าตัวตาย คือ คนที่ไม่รักชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่เลย พวกเขาล้วนรักชีวิต อาจจะรักมากเกินไปจนทนความผิดหวังที่ชีวิตมอบให้ไม่ได้ เหมือนเช่นที่หนุ่มเจเจกล่าวไว้ว่า
“ที่ผมอยากฆ่าตัวตายนั่นไม่ใช่เพราะผมเกลียดการมีชีวิต แต่เป็นเพราะผมรักมันต่างหาก และที่สำคัญก็คือ ผมคิดว่าคนที่อยากฆ่าตัวตายจำนวนมากก็คงรู้สึกอย่างเดียวกัน… พวกเขารักชีวิต แต่ชีวิตทำให้พวกเขาผิดหวัง… เราขึ้นไปบนดาดฟ้าเพราะเราไม่รู้จะอยู่ต่อได้ยังไง แบบนั้นแหละ…”