Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: July 2020

ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ ไม่ใช่หลักสูตรเก่า: 1 ใน 4 แนวทางพัฒนาการศึกษายุคใหม่
Voice of New Gen
31 July 2020

ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ ไม่ใช่หลักสูตรเก่า: 1 ใน 4 แนวทางพัฒนาการศึกษายุคใหม่

เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์

  • ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ไม่ใช่หลักสูตรเก่า, ทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill), การเชื่อมต่อและการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล และ เข้าถึงชุมชนด้อยโอกาส
  • คือ 4 แนวทางที่พัฒนาการศึกษายุคใหม่ โดยคนรุ่นใหม่จากหลายประเทศที่เห็นว่านี่คือการศึกษาที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพมากขึ้น โดยเฉพาะหลังวิกฤตโควิด-19
  • “ผมหวังว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 จะพาเราไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่เพียงแค่หวังกำไรเท่านั้น และการจะไปสู่จุดนั้นได้เราต้องพัฒนาคนให้มีทักษะทางอารมณ์มากขึ้น”

วิกฤตการณ์ COVID-19 เป็นเมฆหนาที่บดบังอนาคตของคนรุ่นใหม่ทั่วโลก สำหรับเด็กๆ ที่กำลังมองหาช่องทางการยกระดับการศึกษาและการพัฒนาทักษะนั้น เมื่อเผชิญการระบาดของโรคก็ยิ่งเป็นอุปสรรคใหญ่ของการเรียนรู้ ซึ่งโดยปกติเด็กจบใหม่ก็ประสบปัญหาทักษะที่เรียนมาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานอยู่แล้ว ในช่วง COVID-19 มีเด็กที่ไม่ได้ไปโรงเรียนทั้งสิ้นกว่าพันล้านคน และคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจจะหางานทำหลายล้านคนก็ไม่สามารถหางานได้

ช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะต้องหันกลับมาพิจารณาเนื้อหาและวิธีการสอน ทั้งในด้านวิชาการและการพัฒนาทักษะใหม่อีกครั้ง เพื่อให้นักเรียนสามารถเตรียมพร้อมและรับมือกับโลกของการประกอบอาชีพที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ภาครัฐบาลและภาคเอกชนไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ได้ลุล่วงหากขาดความร่วมมือจากภาคประชาชน

ดังนั้นโครงการเยาวชนขับเคลื่อนสังคม Generation Unlimited จึงได้จัดการเสวนาออนไลน์ขึ้นในวันที่ 15 กรกฎาคม วันพัฒนาทักษะเยาวชนโลกที่ผ่านมา โดยหัวข้อที่จะสื่อสารในการเสวนาครั้งนี้คือ “ความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการออกแบบระบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะให้ตรงต่อความต้องการของพวกเขาหลังสถานการณ์ COVID-19” ดำเนินการเสวนาโดยลิซ่า เอ็นเจนก้า ผู้สนับสนุนเยาวชนจากประเทศเคนย่า 

โดยวิทยากรที่มาร่วมแลกเปลี่ยนประกอบไปด้วย

  • เฮนเรียตต้า ฟอร์ ผู้บริหาร UNICEF องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ มีเป้าหมายในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็ก
  • โรเบิร์ต มอริตซ์ ผู้บริหาร PwC หนึ่งในสี่บริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีการจ้างงานพนักงานกว่า 276,000 คน
  • อูลิเซส เบรนกี คนรุ่นใหม่จากประเทศอาร์เจนตินา นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (University of Buenos Aires) ทำงานให้องค์กร Eidos Global เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์และทักษะดิจิทัลให้คนรุ่นใหม่
  • มาเรียม เอลโกนี คนรุ่นใหม่จากประเทศแอฟริกาใต้ นักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นักเขียนและสมาชิกขององค์การ UNICEF
  • ราฟีค อัมรานี คนรุ่นใหม่จากประเทศอัลจีเรีย นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และธุรกิจ (American University of Beirut) เจ้าของโครงการ Beyond Your Thinking โครงการพัฒนาการศึกษาให้มีประโยชน์มากขึ้นโดยการปรับปรุงหลักสูตรให้ทันต่อยุคสมัย

เฮนเรียตต้า ฟอร์ ผู้บริหาร UNICEF ได้แบ่งปันบทเรียนและคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ ที่พนักงานทุกคนควรมีสำหรับการทำงานในช่วง COVID-19 

  1. เป็นคนมีความยืดหยุ่น : สิ่งที่โควิด-19 สอนเราก็คือการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา เราเองก็จำเป็นจะต้องปรับตามโลกด้วย
  2. เป็นคนรู้จักแก้ไขปัญหา : ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไร อย่ายอมแพ้ แต่จงหาทางออกให้เจอ เมื่อเจอทางออกแล้ว คุณก็จะทำทุกสิ่งให้สำเร็จได้

โรเบิร์ต มอริตซ์ ผู้บริหาร PwC ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับทักษะที่จำเป็นต่อการหางานและแบ่งปันประสบการณ์ทำงานของเขาเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้อื่นสามารถเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้เช่นเขา

  1. ทักษะการริเริ่มสิ่งใหม่ : คือการท้าทายต่อสิ่งที่เป็นอยู่ ทักษะนี้ได้สร้างนวัตกรรมและธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากมายในโลก 
  2. ทักษะการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง : คือการไม่ยึดติดอยู่กับอดีต และต้องการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทนักเรียน กำลังหางาน หรือกำลังทำงานอยู่ หากคุณเป็นคนที่มองไปข้างหน้าอยู่เสมอ การเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้นทั้งด้านอาชีพและด้านสังคมรอบตัว “เราทุกคนมีหน้าที่ต้องผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น”

4 แนวทางที่พัฒนาการศึกษายุคใหม่
ให้เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพมากขึ้น

อูลิเซส เบรนกี, มาเรียม เอลโกนี และ ราฟีค อัมรานี คนรุ่นใหม่จากประเทศอาร์เจนตินา แอฟริกาใต้ และอัลจีเรีย ได้เสนอ 4 แนวทางที่จะพัฒนาการศึกษายุคใหม่ให้เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนในการดำรงชีวิตและประกอบอาชีพมากขึ้น ดังนี้

ผู้เรียนต้องการทักษะสมัยใหม่ ไม่ใช่หลักสูตรเก่า

อูลิเซส เบรนกี คนรุ่นใหม่จากประเทศอาร์เจนตินากล่าวว่า “การศึกษาในปัจจุบันคือการให้ครูจากศตวรรษที่ 20 มาสอนนักเรียนที่เกิดในศตวรรษที่ 21 ราวกับว่าหลักสูตรนั้นตามหลังความเป็นจริงอยู่ 100 ปี”

โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในปัจจุบันไม่ได้สอนทักษะที่เหมาะสม ไม่ได้สอนด้วยเทคโนโลยีที่ทันต่อยุคสมัย และไม่ได้ตอบรับกับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่เลย “ผมคิดว่าเราต้องทำให้ครูผู้สอนทราบว่าหลักสูตรในปัจจุบันมันล้าหลังไปแล้ว” เขาแสดงความคิดเห็นว่าบริษัทต่างๆ มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ “บริษัทมีเกณฑ์ในการรับพนักงานอยู่แล้ว พวกเขารู้ว่าทักษะใดที่เป็นที่ต้องการ ดังนั้นบริษัทจึงสามารถกำหนดทิศทางการสอนของคุณครูได้”

ทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill) คือคำตอบ

มาเรียม เอลโกนี คนรุ่นใหม่จากประเทศแอฟริกาใต้กล่าวว่า “เด็กรุ่นใหม่ต้องมีทักษะการสื่อสารและการโน้มน้าว เพื่อให้พวกเขาสามารถเรียกร้องสิ่งที่ต้องการและผลักดันการเปลี่ยนแปลงได้” 

วิทยากรคนรุ่นใหม่อีกสองท่านก็เห็นด้วยกับมาเรียม พวกเขามองเห็นว่าการจะประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน คนรุ่นใหม่ต้องพัฒนาทักษะทางอารมณ์ (Soft Skill) เช่น การสื่อสาร การคิดแบบวิพากษ์ และความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้ไปตลอดชีวิต

“เมื่อไม่มีนโยบายหรือกฎหมายรับรองคนบางกลุ่มในสังคม คุณต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงมัน เช่น วิธีดำเนินคำร้อง วิธีจัดเดินขบวนเรียกร้อง หรือการสื่อสารให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อการร่างนโยบาย”

อูลิเซส เบรนกี ให้ความเห็นเสริมว่าสังคมควรเปลี่ยนความคิดที่ว่าทักษะเป็นเรื่องยากหรือต้องเน้นวิชาการ แต่ให้มองใหม่ว่าทักษะคือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ในชีวิตประจำวันหรือที่เรียกว่า Human Skill 

“ผมหวังว่าวิกฤตการณ์โควิด-19 จะพาเราไปสู่เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น ไม่เพียงแค่หวังกำไรเท่านั้น และการจะไปสู่จุดนั้นได้เราต้องพัฒนาคนให้มีทักษะทางอารมณ์มากขึ้น”

การเชื่อมต่อและการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล

ราฟีค อัมรานี คนรุ่นใหม่จากประเทศอัลจีเรียกล่าวว่า “วิกฤตการณ์นี้สอนให้เรารู้ว่าการเรียนออนไลน์เกิดขึ้นได้ สอนให้เราใช้เครื่องมือออนไลน์ในการแลกเปลี่ยนทักษะ สอน และเรียนรู้” อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญคือศักยภาพของการเชื่อมต่อและการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัลที่ขยายการเข้าถึงและขยายโอกาสในการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่

อูลิเซส เบรนกี ให้ความเห็นเสริมว่า “เพื่อที่จะค้นพบทักษะโลกอนาคต ผมคิดว่าเราต้องเพิ่มความหลากหลายในช่องทางการเข้าถึงการเรียนออนไลน์เสียก่อน เมื่อมั่นใจว่าเด็กทุกคนสามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต เราก็สามารถสร้างความเท่าเทียมในการพัฒนาทักษะโลกอนาคต”

เข้าถึงชุมชนด้อยโอกาส

มาเรียม เอลโกนี กล่าวว่า “ที่ประเทศซูดานบ้านเกิดของฉัน ผู้คนไม่ได้ทะเยอทะยานที่จะเป็นวิศวกร แต่พวกเขาปรารถนาเพียงแค่จะเป็นภรรยาของใครสักคน ซึ่งฉันคิดว่ามันควรจะเปลี่ยนแปลงได้แล้ว”

การเข้าถึงการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่เราได้ถกเถียงกันไปเมื่อสักครู่ มาเรียมแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหยิบยื่นโอกาสให้ผู้คนในพื้นที่ยากไร้ “การทำความเข้าใจแนวคิดเรื่องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในห้องเรียนเท่านั้น ฉันคิดว่ามันมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะยื่นมือออกไปช่วยผู้คนที่เข้าไม่ถึงโอกาส”

มาเรียมเสริมว่า “ในมุมมองด้านธุรกิจ นี่คือการสร้างโอกาสให้ผู้คนในพื้นที่ห่างไกล ส่วนใหญ่นักศึกษาที่ได้รับโอกาสในการฝึกงานมีเพียงคนที่อาศัยอยู่รอบตัวเมืองหรือสามารถเข้าถึงสถานที่ทำงานได้เท่านั้น เพื่อไม่ทิ้งพวกเขาไว้ข้างหลัง เราต้องมั่นใจว่าเด็กๆ ในพื้นที่ยากไร้เข้าถึงโอกาสนั้นเช่นกัน”

นอกจากนี้มาเรียมได้แสดงวิสัยทัศน์ที่ทรงพลังเปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจว่า 

“ฉันตั้งตารออนาคตที่เด็กรุ่นใหม่ทุกคนสามารถมีความฝัน โดยที่ไม่ต้องรู้สึกเจียมตัวว่าจะเป็นไปไม่ได้ด้วยสถานภาพของพวกเขา เมื่อถึงวันนั้น จะไม่มีทักษะใดในโลกนี้ที่ไกลเกินเอื้อมเพียงเพราะเขาเกิดมาด้อยโอกาส”

มาเรียม เอลโกนี

รับชมไฮไลต์ของการเสวนาย้อนหลังได้ที่ YouTube : World Youth Skills Day 2020 Virtual Dialogue With Youth Highlights 

การเสวนานี้เป็นเพียงการแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะช่วยลดช่องว่างระหว่างทักษะที่ผู้คนมีและสิ่งที่จำเป็นสำหรับโลกดิจิทัล เมื่อต้นปีนี้ PwC และ UNICEF ร่วมมือกัน เพื่อช่วยเหลือคนหนุ่มสาวหลายล้านคนทั่วโลกในการพัฒนาทักษะ โดยทั้งสององค์กรมีเป้าหมาย 10 ปีร่วมกันที่จะมอบอาชีพ การศึกษา และทักษะต่างๆ แก่คน 1 พันล้านคนภายในปี 2030 มุ่งสร้างโลกที่ยุติธรรมและยั่งยืนยิ่งขึ้นหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19

อ้างอิง
บทความ Reimagining the future of skills: what do young people think?
YouTube : World Youth Skills Day 2020 Virtual Dialogue With Youth Highlights

Tags:

21st Century skillsไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ความเหลื่อมล้ำ

Author:

illustrator

ปรียานุช ปรีชามาตย์

นิสิตภาควารสารที่สมัครฝึกงานกับ The Potential เพราะชอบสีม่วง แต่ดันค้นพบสีสันมากมายระหว่างบรรทัดที่ได้ลองเขียน ชอบหนีออกจากบ้านไปเที่ยวตามตรอกเพื่อคุยกับแมวจร รอ fromis_9 คัมแบคมา 1 ปีแล้ว

Related Posts

  • Social Issues
    การเรียนออนไลน์ : สมองของเด็กที่ชำรุดและสุขภาพจิตที่แปรปรวนของพ่อแม่

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก

    เรื่อง

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เปลี่ยนสถานการณ์รอบตัวให้เป็นห้องเรียนรู้แสนสนุก กับครอบครัวเพอร์เฟกท์ฮาร์โมนี

    เรื่องและภาพ วิรตี ทะพิงค์แก

  • Social Issues
    พรเพ็ญ เธียรไพศาล หันหลังให้ความกลัว ทำงานอาสาสู้ความเดือดร้อนของคนคลองเตยจากโควิด-19

    เรื่อง นฤมล ทิพย์รักษ์

  • Education trend
    การศึกษาไม่ได้ล้มเหลวแค่ล้าหลัง: PASSION และ PURPOSE หัวใจสำคัญของการศึกษาใน INNOVATION ERA

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

หลีกเลี่ยง รวนเร ขาดการจัดการ และมั่นคงปลอดภัย: รูปแบบความผูกพัน 4 แบบของพ่อแม่กับวัยรุ่น
Adolescent Brain
30 July 2020

หลีกเลี่ยง รวนเร ขาดการจัดการ และมั่นคงปลอดภัย: รูปแบบความผูกพัน 4 แบบของพ่อแม่กับวัยรุ่น

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ที่ประกอบขึ้น จะมีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางความคิด การพัฒนาตนเอง การแสดงออกทางพฤติกรรม ไปจนถึงการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
  • รูปแบบความผูกพันที่สมองรับรู้จากความสัมพันธ์ที่เด็กเยาวชนสร้างขึ้นกับผู้ดูแลรอบตัว มี 4 รูปแบบ ได้แก่ ความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัย ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ความผูกพันแบบรวนเร และความผูกพันแบบขาดการจัดการ
  • หากเราบอกว่า “วัยรุ่นถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย” ความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัยจะช่วยให้พวกเขา “ถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ยากขึ้น”
  • ในทางกลับกัน เมื่อใดก็ตามที่วัยรุ่นไม่เชื่อใจและไว้ใจพ่อแม่ รู้สึกว่าต้องหลีกเลี่ยงจากคนในครอบครัว เมื่อนั้นพวกเขาจะพาตัวเองไปสร้างความผูกพันกับบุคคลอื่น สถานที่อื่น หรือสิ่งอื่น เพื่อเติมเต็มความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่ขาดหายไป

บีบีซี ฟิวเจอร์ (BBB FUTURE) นำเสนอบทความเรื่อง “โควิด-19 กำลังทำให้โลกของเด็กๆ เปลี่ยนไปอย่างไร?” (How Covid-19 is changing the world’s children) มีเนื้อหาท่อนหนึ่งใจความว่า สิ่งที่น่ากังวลใจไม่แพ้การส่งเสริมทักษะความรู้ในช่วงที่เด็กๆ ถูกกักตัวอยู่ที่บ้าน คือ การพัฒนาด้านอารมณ์และการเข้าสังคมซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กเล็กและประถมศึกษา นอกจากนี้ยังมีเรื่องสุขภาพจิตวัยรุ่นขณะใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวตลอด 24 ชั่วโมงเป็นระยะเวลานาน จากสถิติในสหรัฐอเมริกา พบว่า วัยรุ่นร้อยละ 35 ได้รับโอกาสเข้ารับการฟื้นฟูสุขภาพจิตภายใต้การดูแลของโรงเรียน ครูมักเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นอาการผิดปกติแล้วกระตุ้นให้พวกเขาเข้ารับการรักษา สำหรับวัยรุ่นหลายคน ‘บ้าน‘ ไม่ใช่สถานที่ที่ทำให้พวกเขารู้สึกปลอดภัย เมื่ออยู่บ้านบางคนต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัวทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น การต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านอย่างต่อเนื่องในช่วงกักตัวแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องดีนักสำหรับพวกเขา

บทความนี้สะท้อนให้เห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างเด็กเยาวชนกับคนใกล้ชิด หรือเรียกรวมๆ ว่า ‘ผู้ดูแล’ ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และเพื่อน มีอิทธิพลและบทบาทสำคัญอย่างมากในช่วงชีวิตของวัยรุ่น

“วัยรุ่นติดเพื่อนฝูง”

“วัยรุ่นถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย”   

เมื่อเอ่ยถึงพฤติกรรมของวัยรุ่นทีไร แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงคำนิยามเหล่านี้ แต่แทนที่จะหยุดรับรู้แค่พฤติกรรมที่แสดงออกในระดับผิวเผิน แล้วตัดสินวัยรุ่นไปตามความเข้าใจที่ว่านั้น น่าจะดีกว่าถ้าเราหันมาทำความเข้าใจเบื้องหลังความรู้สึกนึกคิดของวัยรุ่นซึ่งเป็นที่มาของพฤติกรรมดังกล่าว แน่นอนว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องของฮอร์โมน แต่เป็นเรื่องของประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ซึ่งมีอิทธิพลต่อการประกอบร่างสร้างตัวของเซลล์ประสาทในสมองส่วนต่างๆ

แดเนียล เจ. ซีเกล (Daniel J. Siegel) ผู้อำนวยการสถาบันมายด์ไซด์ และศาสตราจารย์คลินิกจิตเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทชีววิทยาระหว่างบุคคล (interpersonal neurobiology) กล่าวว่า ในช่วงวัยเด็กไปจนถึงวัยรุ่น มิตรภาพ ประสบการณ์ในโรงเรียน กิจกรรมต่างๆ ที่เด็กและเยาวชนได้มีส่วนร่วม และ ‘ความสัมพันธ์‘ ระหว่างสมาชิกในครอบครัวมีอิทธิพลต่อการพัฒนาสมอง สมองของมนุษย์เติบโตอย่างต่อเนื่องผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์รอบตัว 

และเมื่อย่างก้าวสู่วัยรุ่น (อายุ 12-24 ปี) ความสัมพันธ์รูปแบบต่างๆ ที่ประกอบขึ้น จะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตทางความคิด การพัฒนาตนเองและการแสดงออกทางพฤติกรรมของวัยรุ่น เชื่อมโยงไปจนถึงการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ในหมู่เพื่อนฝูง ความสนใจเพศตรงข้าม / เพศเดียวกัน ความสัมพันธ์กับครอบครัวและผู้คนรอบข้าง

ความสัมพันธ์ก่อให้เกิด ‘ความผูกพัน‘ เราไม่ได้กำลังพูดถึงความสัมพันธ์ที่สร้างความผูกพันในเชิงโรแมนติกเท่านั้น แต่เป็นรูปแบบความผูกพันที่สมองรับรู้จากความสัมพันธ์ที่เด็กเยาวชนสร้างขึ้นกับผู้ดูแลรอบตัวพวกเขา ซีเกล จำแนกความผูกพันออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่ ความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัย ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง ความผูกพันแบบรวนเร และความผูกพันแบบขาดการจัดการ

ส่วนผสมของความมั่นคงปลอดภัย (ทางใจ)

ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กเยาวชนและผู้ดูแลเป็นประสบการณ์ชีวิตที่เกิดขึ้นซ้ำๆ จนทำให้สมองสร้างพิมพ์เขียวตอบสนองการรับรู้ต่อเหตุการณ์ต่างๆ สื่อสารออกมาทางพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึก รูปแบบความผูกพันที่ว่าสะท้อนให้เห็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์ คือ ความรู้สึกมั่นคงและปลอดภัย (ทางใจ)

เด็กเยาวชนต้องการความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยเป็นเกราะคุ้มกัน ช่วงเวลาในวัยเด็กคิดเป็นร้อยละ15 ของช่วงชีวิตที่ยังต้องพึ่งพิงผู้ใหญ่ หากรวมช่วงวัยรุ่นเข้าไปด้วยจนถึงอายุราว 24 ปี นั่นเท่ากับหนึ่งในสามของชีวิตที่มีอิทธิพลต่อช่วงชีวิตที่เหลือ ซีเกล อธิบาย ‘ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย หรือ secure‘ ว่าเกิดขึ้นได้ เมื่อความสัมพันธ์นั้นประกอบด้วย seen, safe และ soothed

seen – ในที่นี้ ไม่ใช่แค่ การถูกมองเห็น การมีตัวตน หรือการเป็นที่ยอมรับ แต่หมายถึง การมองเห็นเข้าไปถึงความต้องการภายในจิตใจ เมื่อเด็กเยาวชนแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกไป ผู้ดูแล สามารถมองเห็น รับรู้และเข้าใจความรู้สึกนึกคิดเบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านั้นของพวกเขา เช่น เมื่อเด็กๆ ร้องไห้ เด็กไม่ใช่แค่ได้รับความสนใจจากเสียงร้อง แต่ผู้ดูแลสามารถค้นพบความต้องการจริงๆ ของเด็กแล้วตอบสนองความต้องการเหล่านั้น

safe – การที่เด็กๆ ได้รับการปกป้องจากความรุนแรงทั้งทางร่างกายและจิตใจ ผู้ดูแลไม่ทำให้เด็กรู้สึกหวาดกลัวหรือหวาดระแวง และไม่สร้างสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกดังกล่าว

soothed – การทำให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีที่พึ่งพิง เช่น เมื่อเด็กๆ รู้สึกเศร้า ท้อแท้ หมดหวัง ผู้ดูแลสามารถปลอบประโลมให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น เช่น การกอด และการรับฟัง

เมื่อเด็กเยาวชนถูกเติมเต็มด้วย seen safe และ soothed แล้ว พวกเขาจะรู้สึกถึงความมั่นคงปลอดภัยในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างพวกเขากับพ่อแม่ เกิดเป็นรูปแบบความผูกพันแบบแรก คือ ความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัย (The Secure Model)

ส่วนความผูกพันอีก 3 รูปแบบ มีที่มาจากความสัมพันธ์ผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไป

รูปแบบความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง (The Avoidant Model) เกิดขึ้นเมื่อเด็กขาด seen และ soothed จนทำให้เด็ก ‘ถอยห่าง‘ จากพ่อแม่ เช่น เมื่อพวกเขามีปัญหาต้องการคำปรึกษาหรือต้องการคนรับฟัง พ่อแม่กลับไม่สนใจ เพิกเฉย ไม่สามารถตอบสนองความต้องการนั้น จากการศึกษาพบว่า พ่อแม่กลุ่มนี้มักมองข้าม/ มองไม่เห็นการแสดงออกทางสีหน้าและท่าทางของลูก ทั้งที่พวกเขาสื่อสารถึงความไม่สบายใจ ความเศร้าและความกดดันต่างๆ อย่างชัดเจนเพียงแค่ไม่ได้พูดออกมา

เมื่อเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เด็กๆ ย่อมรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจพวกเขาแล้วมองหาที่พึ่งพิงอื่นที่ทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัย เราจึงมักเห็นวัยรุ่นใกล้ชิดกับพ่อแม่น้อยลง ความเชื่อใจและความไว้ใจของวัยรุ่นที่มีต่อพ่อแม่ก็ค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับพ่อแม่เท่านั้น แต่รูปแบบความผูกพันแบบหลีกเลี่ยงนี้ยังส่งผลต่อการปรับตัวของเด็กเพื่อสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

รูปแบบความผูกพันแบบรวนเร (The Ambivalent Model) เกิดขึ้นเมื่อเด็กต้องเผชิญหน้ากับ “ความไม่คงเส้นคงวา” ของผู้ใหญ่ จากประสบการณ์ที่บางครั้งพ่อแม่ก็ให้ความสนใจพวกเขา แต่บางครั้งก็เมินเฉยหรือแสดงความรู้สึกรำคาญ จนพวกเขารู้สึกสับสน คิดไม่ตกว่าจะเข้าหาหรือขอคำปรึกษาจากพ่อแม่ดีหรือปล่อยผ่าน ภาวะแบบนี้มีที่มาจากการที่เด็กขาดทั้ง seen, safe และ soothed

บ่อยครั้งที่พ่อแม่มีความวิตกกังวล การไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียดของตัวเองได้ ซึ่งอาจมีที่มาปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาเรื่องงาน จนไม่สามารถโฟกัสไปที่การดูแลลูก ทำให้ไม่เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของพวกเขา ไม่สามารถตอบสนองสิ่งที่พวกเขาต้องการและจำเป็นต้องได้รับอย่างตรงจุด แต่ที่ยิ่งกว่านั้นคือ สมองของเด็กจะซึมซับความรู้สึกกังวลใจและความเครียด จนทำให้เด็กเกิดความกลัวและหวาดผวาแม้กระทั่งกับการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่

และ ความผูกพันแบบขาดการจัดการ (The Disorganized Model) เป็นความผูกพันแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อระหว่างความผูกพัน 3 รูปแบบก่อนหน้า ความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้ต้นเหตุไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างพ่อแม่กับเด็กโดยตรง แต่เป็นผลพวงของสภาวะอารมณ์ที่ถูกโอนย้ายมาลงที่เด็ก เช่น พ่อแม่ทะเลาะกันมาก่อนแล้วอารมณ์ไม่ดีใส่ลูก ทั้งที่พวกเขาไม่ได้ทำอะไรผิด เด็กจึงรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรมแต่ไม่สามารถเรียกร้องหาทางออกให้กับตัวเองได้ บรรยากาศของความเกรี้ยวกราด และอารมณ์ขุ่นมัวที่เกิดขึ้นนี้กระตุ้นการทำงานของระบบสมอง 2 ส่วน

ส่วนแรกระบบสมองที่ตอบสนองเพื่อการเอาตัวรอด ‘Flee – หนี’ และ ‘Freeze – ภาวะหยุดชะงัก’ และส่วนที่สองเป็นการทำงานของระบบลิมปิกที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า ตัวเองควรได้รับการปกป้องและปลอบประโลม แต่ระบบสมองทั้งสองส่วนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ในเวลาเดียวกัน ความปั่นป่วนภายในสมองที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ลักษณะนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตและภาวะซึมเศร้าได้ (อ่านบทความ ไม่หนี ไม่สู้ สมองถูกแช่แข็ง จากความเครียดท่วมท้นในสมองเด็ก)

รูปแบบความผูกพันที่เด็กเยาวชนสร้างขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัว เป็นการทำงานด่านแรกของสมอง แต่เรามักมองข้ามความสัมพันธ์นี้ จากคำตัดสินว่า ‘วัยรุ่นติดเพื่อนฝูง‘

ทั้งที่ “ความผูกพันที่มั่นคงปลอดภัย” จากความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในครอบครัวและจากคนใกล้ชิด เป็นเกราะป้องกันพวกเขาจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ หากเราบอกว่า “วัยรุ่นถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ง่าย” ความผูกพันนี้จะช่วยให้พวกเขา “ถูกชักจูงไปในทางที่ผิดได้ยากขึ้น” 

เมื่อใดก็ตามที่วัยรุ่นไม่รู้สึกเชื่อใจและไว้ใจพ่อแม่ ไม่รู้สึกปลอดภัยและสบายใจเมื่อมีพ่อแม่ผู้ปกครองอยู่ใกล้ชิด รู้สึกว่าต้องหลีกเลี่ยงจากคนในครอบครัว หวาดระแวง และสับสน เมื่อนั้นพวกเขาจะพยายามหาทางเติมเต็มส่วนที่ขาดด้วยการมองหาแล้วพาตัวเองไปสร้างความผูกพันกับบุคคลอื่น สถานที่อื่นหรือสิ่งอื่น เพื่อเติมเต็มความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยที่ขาดหายไป และเพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ โชคดีหน่อยหากเด็กเหล่านี้มีครูที่ทำให้พวกเขาไว้วางใจ มีรุ่นพี่หรือเพื่อนที่คอยชี้แนะแนวทางที่ถูกต้อง หรือมีไอดอลที่เป็นแบบอย่างที่ดี แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่เกิดขึ้นมักตรงกันข้าม

ดังนั้นจึงไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการทำความเข้าใจวัยรุ่น และไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการยอมรับข้อผิดพลาด แล้วปรับเปลี่ยนวิธีคิดและทัศนคติเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพให้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวและคนรอบข้าง รวมถึงกับตัวเราเอง

รายงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ปี 2019 จากศูนย์ข้อมูลเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Center for Biotechnology Information: NCBI) ระบุว่า ความรุนแรงในครอบครัวสร้างความเสียหายทางอารมณ์ต่อเด็กและเยาวชนและส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องเมื่อเหยื่ออายุมากขึ้น

– เด็กเยาวชนราว 45 ล้านคน มีประสบการณ์ด้านความรุนแรงในครอบครัวตั้งแต่วัยเด็ก
– ร้อยละ 90 อยู่ในเหตุการณ์และอยู่ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้น
– เด็กเยาวชนที่พบเห็นความรุนแรงในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงที่จะใช้ความรุนแรงกับคนที่ตัวเองคบหา มีปัญหาชีวิตคู่และการดูแลลูก
– เด็กเยาวชนที่พบเห็นความรุนแรงในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงที่จะพบอาการผิดปกติจากความเครียดภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีพฤติกรรมก้าวร้าว วิตกกังวล พัฒนาการบกพร่อง มีปัญหาการเข้าสังคมในกลุ่มเพื่อน ปัญหาด้านการศึกษา และมีความเสี่ยงสูงที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด
– เด็กเยาวชนที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัวมีความเสี่ยงสูงที่ประสบปัญหาภาวะทางจิต
– ร้อยละ 80-90 ของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวมีพฤติกรรมทารุณกรรมและทอดทิ้งลูก
– ยังมีวัยรุ่นอายุราว 12-19 ปีส่วนหนึ่งที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวแต่ไม่ได้แสดงตัวการถูกล่วงละเมิด จากสถิติพบเคสช่วงอายุดังกล่าวถูกรายงานเรื่องความรุนแรงในครอบครัวเพียง 1 ใน 3 ขณะที่ช่วงอายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป ได้รับรายงานเชื่อมโยงกับความรุนแรงในครอบครัวถึงครึ่งหนึ่ง
อ้างอิง
Brainstorm: The Power and Purpose of the teenage brain by Daniel J. Siegel
Presence, Parenting, and the Planet | Dan Siegel | Talks at Google
drdansiegel
How Covid-19 is changing the world’s children
Domestic Violence

Tags:

สุขภาพจิตแบบแผนทางความสัมพันธ์ทฤษฎีความผูกพัน(Attachment Theory)พื้นที่ปลอดภัย

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Social Issues
    ‘BuddyThai’ แอปคู่ใจของวัยรุ่นในวันที่ไม่มีใครยืนเคียงข้าง: พีเจ-หริสวรรณ ศิริวงศ์

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    All The Bright Places: พ่อไม่รู้หรอกว่าผลลัพธ์ของการใช้กำลังวันนั้นมันแย่แค่ไหน 

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Early childhoodFamily Psychology
    พัฒนาการความสัมพันธ์ 4 ขั้นในเด็กแรกเกิด เมื่อความสัมพันธ์ใน ‘วัยแรกเกิด’ มีผลไปตลอดชีวิต

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    เหมือนดูเย็นชา แต่ใช่ว่าไม่รัก

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Family Psychology
    พ่อแม่ห้ามด้วยความเป็นห่วงแต่ลูกตีความว่าถูกตำหนิ และอีกหลายความขัดแย้งในบ้าน อ่านวิธีคลี่คลายที่นี่

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

เปลี่ยนสถานการณ์รอบตัวให้เป็นห้องเรียนรู้แสนสนุก กับครอบครัวเพอร์เฟกท์ฮาร์โมนี
อ่านความรู้จากบ้านอื่น
29 July 2020

เปลี่ยนสถานการณ์รอบตัวให้เป็นห้องเรียนรู้แสนสนุก กับครอบครัวเพอร์เฟกท์ฮาร์โมนี

เรื่องและภาพ วิรตี ทะพิงค์แก

  • การอ่านหนังสือพาไปในโลกจินตนาการและความคิด ส่วนการลงมือทำก่อให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์จริง 
  • ลูกไม่ได้เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่พูด แต่เรียนรู้จากสิ่งที่พ่อแม่ทำ อยากให้ลูกทำ (เพื่อผู้อื่น) อย่างไร พ่อแม่ต้องร่วมลงมือทำด้วย ผ่านคำถามง่ายๆ “เราจะทำอะไรได้บ้างในสถานการณ์นี้” ฝึกการคิดเพื่อเป็นผู้ให้และผู้ลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงจากตัวเอง
  • การงานของพ่อแม่คือการเรียนรู้ของลูก เปิดโอกาสให้เขาได้มีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาศักยภาพซ่อนเร้น และความภาคภูมิใจในตัวเอง

คำว่าทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเป็นพลเมืองของโลก ฯลฯ เป็นถ้อยคำที่ได้รับการเอ่ยถึงมาพักใหญ่ แต่ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้ยังเป็นเพียงภาษาที่แยกส่วนออกไป ไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้ในชีวิตอย่างแท้จริง หากครอบครัวของวีระชัย-ฮิโรมิ เจือสันติกุลชัย แห่งบริษัทเพอร์เฟกท์ ฮาร์โมนี อินเตอร์เนชันแนล จำกัด ผู้ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์พรีเมียมสัญชาติไทย-ญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับในเวทีโลก มองว่าโลกทุกวันนี้เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว เด็กแต่ละคนควรเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีสำนึกรู้ว่าโลกคือบ้านที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมกันดูแลรักษาและรับผิดชอบ  

จากซ้ายไปขวา คุณฮิโรมิ, คะสึมิ, คะสึคิ, ยามาโต และคุณวีระชัย เจือสันติกุลชัย

ทั้งสองคนเชื่อมั่นว่าทุกสถานการณ์ในโลกใบนี้จะเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่และบทเรียนชั้นดีที่พ่อแม่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อริเริ่ม สร้างสรรค์ ต่อยอดความคิด ชักชวนไปสู่การเรียนรู้และการลงมือทำสิ่งสำคัญร่วมกันกับลูกได้อย่างไม่มีวันจบสิ้น สอดคล้องกับแนวคิด Phenomenon based learning ดังที่ประเทศฟินแลนด์ใช้ขับเคลื่อนเด็กๆ ด้วยการนำสถานการณ์ปัจจุบันมาเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ 

ครอบครัวนักอ่าน การปลูกฝังวิธีคิดของ ‘นักสร้าง’ ผ่านการทำงานอาสาไม่ว่าจะเรื่องการเข้าไปดับไฟป่าและทำงานเรื่องฝุ่นพิษจิ๋วที่เชียงใหม่ ถึงมุมมองในการจัดการเรียนรู้ที่บ้านช่วงโควิด19 คือสิ่งที่ผู้เขียนอยากชวนครอบครัวเจือสันติกุลชัย มาแชร์กันในบทความนี้ 

เปิดรับ เรียนรู้ สู่การยกระดับ

ประสบการณ์ของพ่อแม่ในวัยเยาว์มีส่วนก่อร่างความคิด ความเชื่อจนกลายเป็นตัวตนในปัจจุบัน วีระชัยบอกว่าตัวเองโชคดีที่มีบ้านอยู่ใกล้ร้านหนังสือขนาดใหญ่ โลกของหนังสือพาเขาไปไกลแสนไกลเกินกว่าเด็กวัยเดียวกันมากมายนัก บ่มเพาะให้เป็นนักคิด นักตั้งคำถาม และนักใคร่ครวญความจริง  

“ข้อดีของการมีร้านหนังสือใกล้บ้านคือเราสามารถเข้าถึงหนังสือได้จำนวนมากทุกหมวดหมู่ ตอนแรกเริ่มอ่านหนังสือเด็กๆ ตอนหลังอ่านไปหมดทั้งร้านเลย ศาสนา ปรัชญาก็อ่าน อ่านจนจบเป็นเล่มๆ เลย (หัวเราะ) หนังสือเรื่อง ‘แด่โลกและชีวิต ปรัชญาความคิดบุคคลสำคัญของโลก’ แปลโดยอาจารย์วิทยากร เชียงกูล ทำให้รู้ว่าโลกนี้กว้างใหญ่นะ เราอ่านหนังสือ Future shock (2513) และ The third wave (2523) ของอัลวิน ทอฟเลอร์ ตั้งแต่ม.ต้นขึ้นม.ปลาย สมัยนั้นเมืองไทยยังไม่มีอินเทอร์เน็ตเลย แต่ในหนังสือก็มีคำว่า ‘หมู่บ้านอิเล็คทรอนิกส์’ มีเรื่องต่างๆ ที่ล้ำสมัยมาก 

“การที่เราได้เรียนรู้เรื่องเหล่านี้เร็ว ทำให้ความคิดโตเกินวัย เป็นเหตุผลที่ทำให้เราคิดต่างจากคนอื่นในวัยเดียวกันอยู่พอสมควร พอได้ไปเรียนต่อที่อเมริกา มีโอกาสได้ฟังเรื่องราวที่คุ้นเคยจากมุมมองอื่นๆ ทำให้มองเห็นวิธีคิดที่หลากหลาย เห็นว่าความคิดเป็นไปได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องยึดถือความเชื่อแบบที่มีอยู่ตลอดเวลา

“ตอนนั้นคิดเลยว่าถ้ามีลูกก็ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกให้เป็นคนไทยเท่านั้น แต่น่าจะเลี้ยงดูให้เขาเป็นสมาชิกของโลก เขาจะอยู่ที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ขอให้คิดว่าตัวเองเป็นพลเมืองของโลกก็พอ”

ส่วนฮิโรมิเป็นชาวญี่ปุ่นที่มีโอกาสไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา เป็นประสบการณ์ที่หล่อหลอมให้เห็นความสำคัญของความหลากหลายที่งดงาม “หลังกลับจากอเมริกาสังเกตว่า วิธีคิดของเราแตกต่างจากเพื่อนๆ ที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น แนวคิดของญี่ปุ่นยังค่อนข้างเป็นอนุรักษ์นิยม คนที่นั่นจะไม่กล้าคิดหรือพูดแบบที่เราเป็น บางทีคนอื่นก็ไม่เข้าใจเรา เคยคิดว่าถ้าเขาลองเปิดใจอาจได้เห็นอะไรที่ดีขึ้นก็ได้นะ แต่ขณะเดียวกันทำให้เราได้เห็นว่า เมื่อก่อนเราเคยก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน ความแตกต่างไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี ถ้าเรามีลูก เราอยากให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คนเราแตกต่างได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจคนอื่นด้วย จะช่วยให้เรียนรู้อะไรได้กว้างขวางมากขึ้น”

Active Citizen คือหัวใจของพลเมือง (โลก)

ถ้ามองในมุมหนึ่งวีระชัยคือนักธุรกิจคนหนึ่ง แต่หากมองอีกมุม เขาคือพลเมืองชาวเชียงใหม่ (ที่มีสำนึกเป็นส่วนหนึ่งของโลก) ที่กระตือรือร้นยิ่ง หลายเรื่องที่เป็นความยากลำบากที่ผู้คนในสังคมเผชิญหน้าร่วมกันอยู่ เขามักเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งคำถามแล้วลงมือทำบางอย่างให้เกิดขึ้นเสมอ เช่น ในสถานการณ์หมอกควันไฟป่าปี 2562 เขาร่วมกับกลุ่มเพื่อนๆ ในนาม Clean Air for All ร่วมกันลงมือประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศอย่างง่ายแจกจ่ายไปในพื้นที่ยากลำบากและกลุ่มเปราะบางต่างๆ แจกหน้ากากกันฝุ่นพิษและรณรงค์ให้คนในพื้นที่ห่างไกลสวมหน้ากากเพื่อป้องกันอันตรายจากฝุ่น PM 2.5 และในสถานการณ์ปี 2563 นี้ ไฟป่าเชียงใหม่หนักหนารุนแรงและยาวนานกว่าทุกปี เขาก็ได้ร่วมแรงร่วมใจกับเพื่อนพ้องมอบสิ่งของบริจาคให้เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า จัดทำเสื้อดับไฟ เรื่อยไปจนถึงชวนลูกๆ ไปทำแนวกันไฟป่า ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้ป่า เป็นต้น

“เราไม่ได้มีความคิดว่าลูกต้องเป็นผู้นำหรือต้องเป็นอินฟลูเอ็นเซอร์อะไร แต่ลูกต้องเป็นคน แอคทีฟ แอคทีฟในความหมายที่ว่า ต้องลงมือทำและมีส่วนร่วมรับผิดชอบ คนเราต้องหมั่นถามตัวเองเสมอว่าจะทำและเป็นประโยชน์ต่อสถานการณ์ตรงหน้าได้อย่างไร สังคมนี้กำลังร้องเรียกและต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง นี่คือความหมายของ active player เราต้องอยู่ในสังคมโดยไม่คิดว่าตัวเองเป็นผู้รับเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผู้ให้ด้วย 

“สิ่งนี้สอดคล้องกับธุรกิจและหลักการดำเนินชีวิตของเราทุกอย่าง ปรัชญาที่ครอบครัวเรายึดถือคือ ‘การเป็นผู้สร้าง’ ให้คุณค่ามันออกจากตัวเรา แล้วความมั่งคั่งร่ำรวยจะเกิดจากการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมเอง ถ้าในสังคมใดๆ มีสัดส่วนของคนที่เป็นผู้สร้างเยอะ สังคมนั้นจะกำไร เราเชื่อว่าความคิดสร้างสรรค์ ทรัพย์สินทางปัญญาสามารถเปลี่ยนเป็นมูลค่าได้ และถ้าคนในสังคมคิดทางบวก คิดแบบให้กำไรออกจากตัวเอง สังคมนั้นจะน่าอยู่

“เราอยากให้เด็กๆ มีพื้นฐานความคิดเรื่องการสร้างคุณค่า ซึ่งพ่อแม่ต้องสร้างตั้งแต่เด็ก อะไรที่ทำบ่อยก็จะกลายเป็นความเคยชิน เด็กต้องฝึกเป็นผู้ให้ เป็นผู้สร้าง ถ้าเขาเคยชินกับการให้ ให้แล้วรู้สึกอิ่มใจ อีกหน่อยเราก็ไม่ต้องกังวลแล้วว่าเขาจะทำอาชีพอะไรในอนาคต เพราะเมื่อเขาทำตามความคุ้นเคยแบบนี้ ไปที่ไหนก็จะมีคนรักโดยอัตโนมัติ เป็นการการันตีได้ว่าโตขึ้นลูกจะมีความสุขแน่นอน เราเพียงใช้ปรากฏการณ์ในสังคมมาเป็นพื้นที่โอกาสให้เด็กๆ ได้ฝึกฝนการให้ ด้วยคำถามเดิมๆ นี่ล่ะว่า ‘เราจะทำตัวให้เป็นประโยชน์ในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร’ ที่บ้านนี้มันกลายเป็นบรรทัดฐาน กลายเป็นธรรมชาติไปแล้ว  เป็นวิถีชีวิตที่ต้องทำ”

ด้านคุณแม่ฮิโรมิช่วยเสริมรายละเอียดว่า “เด็กๆ สนุกกับการทำกิจกรรมเพื่อคนอื่นๆ นะคะ แม้ว่าบางครั้งจะบ่นบ้าง เพราะเด็กก็คือเด็ก (หัวเราะ) แต่เขาก็เต็มใจทำ อะไรที่เป็นสิ่งที่ครอบครัวทำ เขาเต็มใจทำด้วยกัน เราทำเรื่องนี้กันมานาน เหมือนการปลูกต้นไม้ ต้องใช้เวลาถึงจะเห็นว่าได้ผลอย่างไร การที่ลูกเป็นแบบนี้ ทำให้เรามีความสุขมาก ดีใจที่เห็นลูกเป็นอย่างนี้ เป็นคนที่นึกถึงคนอื่น”

การทำเพื่อคนอื่นคือการทำเพื่อตัวเอง

เราพูดคุยกับยามาโต-เด็กชายผู้เปี่ยมพลังและคะสึมิ-น้องสาวผู้อ่อนโยน ถึงกิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ ที่ครอบครัวชวนกันไปลงมือทำร่วมกัน โดยเฉพาะปีนี้เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าในพื้นที่ดอยสุเทพ (ปุย) จังหวัดเชียงใหม่ลุกลามกินบริเวณกว้างขวางจนทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ป่าจำนวนมาก อาทิ หมาไม้ อีเห็น ข้างลาย แมวดาว ลิงเสน ชะนี เหยี่ยวรุ้ง ฯลฯ คราวแรกเด็กๆ เพียงเข้าไปเยี่ยมอาการบาดเจ็บของสัตว์ป่าเท่านั้น แต่เมื่อได้พูดคุยกับหัวหน้าคลินิกสัตว์ป่าแล้วพบว่ามีปัญหาขาดแคลนเรื่องน้ำใช้ ยามาโตจึงอยากมีส่วนร่วมริเริ่มแก้ปัญหาในครั้งนี้ 

“ตอนที่เกิดเรื่องไฟป่า ผมสงสารสัตว์ป่า อีเห็นชื่อเรนเจอร์ไม่แข็งแรง เหยี่ยวรุ้งก็ขยับไม่ได้ ผมได้คุยกับหัวหน้า เขาบอกว่าน้ำประปามาไม่ถึง เลยอยากระดมทุนช่วยซื้อแทงค์น้ำให้คลินิกมีน้ำใช้เพียงพอ โดยขอรับบริจาคเงินจากคนรู้จัก ใช้เวลาสองสามสัปดาห์ ได้เงินประมาณ 60,000 บาท พอได้มาแล้วก็เอาเงินซื้อแทงค์น้ำหกอันและทำหลังคาเพื่อป้องกันตะไคร่ในแทงค์น้ำ ตอนนี้ยังมีเงินที่เหลืออีกนิดหน่อย เราเอาไปช่วยมูลนิธิช่วยเหลือสัตว์ต่างๆ ได้อีก”

เราแอบเย้าเด็กๆ ด้วยคำถามที่ว่ารู้สึกอย่างไรที่ต้องออกไปทำงานอาสาต่างๆ ทั้งที่อากาศร้อนและเราก็ต้องเหน็ดเหนื่อย 

“ตอนที่เราไปทำแนวกันไฟ เรากวาดใบไม้ออกจากทาง เวลามีไฟป่า จะได้ไม่ลาม ป้องกันให้เกิดไฟป่าน้อยลงได้ เวลามีหมอกควัน ผมเบื่อ เพราะไม่อยากใส่หน้ากาก เราต้องหาวิธีช่วยกันที่จะทำให้เกิดไฟป่าน้อยลง เวลาพ่อชวนไปทำกิจกรรมผมก็ดีใจ จะได้ไปช่วยสังคม ทำให้ที่ที่เราอยู่ให้มันสวยขึ้น ถ้าเราทำแนวกันไฟก็จะไม่มีควันด้วย” 

ยามาโตเล่าความทรงจำ โดยมีคะสึมิรีบเสริมทันที “ใช่ ไม่อยากใส่หน้ากากเลย เวลาไปทำกิจกรรม เราสนุกด้วยแล้วก็เหนื่อยด้วย เวลาเราไปช่วยสังคม พ่อบอกว่าเป็นการเรียนรู้ จะได้ไม่มีฝุ่นควัน ถ้าไม่มีฝุ่นควัน เราจะเล่นข้างนอกบ้านได้ สัตว์ป่าก็ปลอดภัย เราเป็นเด็กแต่เราก็ช่วยสังคมได้ อย่างเช่น เขียนโปสเตอร์ให้คนอย่าเผาไฟ ถ้าหนูบอกคนเผาไฟได้ หนูอยากบอกให้เขาหยุด หนูจะได้เล่นข้างนอกบ้านได้” ช่างเป็นคำตอบที่น่ารัก ใสซื่อ และสะท้อนหัวใจที่งดงามยิ่งนัก

เพราะทุกสิ่งล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน

สถานการณ์โรคระบาดโควิด19 ทำให้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยต้องตั้งรับปรับสมดุลกันครั้งใหญ่ ชีวิตที่เคยถูกแบ่งเป็นส่วนเสี้ยวทั้งการงาน ชีวิต ครอบครัว ดูเหมือนได้รับการทบทวนใหม่และเกิดเป็นโอกาสเชื่อมร้อยความสุขนั้นเข้าด้วยกัน ฮิโรมิสะท้อนความเห็นว่าในวิกฤติครั้งนี้ก่อให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ได้มากมายอย่างที่เธอไม่เคยคิดมาก่อนเลย 

“ตอนปิดเมืองแรกๆ ก็เครียดนะคะ เพราะอยู่กับลูกตลอดเวลา แต่สักพักก็รู้สึกว่าดีนะที่ลูกได้อยู่กับพ่อแม่ ได้ช่วยงานบ้าน ได้ช่วยงานของธุรกิจ กลายเป็นแบบฝึกหัดที่ทุกคนได้เรียนรู้ ไม่ต้องรอให้เป็นผู้ใหญ่แต่ก็ทำได้เลย เพียงแค่หนึ่งเดือนเห็นได้เลยว่าเด็กๆ โตขึ้นเยอะมาก มีความรับผิดชอบมากขึ้น ทำงานได้หลายอย่างมากขึ้น ลูกมีโอกาสเรียนรู้จากสังคมรอบตัวมากขึ้น ไม่ได้อยู่แค่ในโรงเรียนเท่านั้น ยิ่งธุรกิจของครอบครัวเรามีเป้าหมายที่ชัดเจน เขาก็มีส่วนร่วมได้ การหยุดเรียนทำให้เขาได้มีเวลา ได้ลองทำสิ่งที่ตัวเองสนใจ ได้พัฒนาในสิ่งที่เขาชอบได้ด้วย ทำให้เขาพัฒนาได้เร็วขึ้น”

วีระชัยเองก็รู้สึกโชคดีที่มองเห็นโอกาสและการเชื่อมโยงชีวิตเป็นหนึ่งเดียวได้จากวิกฤติครั้งนี้ ด้วยการออกแบบธุรกิจกล่องดนตรีเชื่อมโยงไปสู่การเรียนรู้สำหรับลูก (และอาจรวมถึงเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กคนอื่นในอนาคต) 

“เราคิดเรื่องการศึกษาที่ออกแบบเองมาสักปีสองปีแล้ว แต่วิกฤติรอบนี้ทำให้คนเห็นโอกาสว่าเราทำได้เพราะเทคโนโลยีมันอนุญาต ถึงจุดหนึ่งปริญญาจะไม่สำคัญ มันไม่มีหลักสูตรความรู้ที่เหมาะกับทุกคน แต่การสร้างเนื้อหาที่สอดคล้องเหมาะสมกับคนแต่ละคนย่อมได้ประโยชน์ที่ดีกว่า การเคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและมีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรในระดับอุดมศึกษามาก่อนช่วยได้มาก หลายกิจกรรมที่ทำกับลูกก็มีจุดประสงค์เบื้องหลัง(หัวเราะ) หลายเรื่องไม่ใช่เรื่องที่ต้องสอนทันที แต่อะไรก็ตามที่ตั้งใจจะสอนอยู่แล้ว แล้วตรงกับความสนใจของเขา เราจะฉวยคว้าโอกาสนั้นทันที เช่น ตอนนี้เด็กๆ สนใจเรื่อง AI เราก็เอามาเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจมิวสิคบ็อกซ์โดยใช้เศษไม้ที่เหลือจากการผลิตมาออกแบบเป็นสิ่งประดิษฐ์ใหม่โดยใช้ IOT (Internet Of Things) ซึ่งลูกก็กำลังเริ่มเรียนรู้ในเรื่องนี้ ถ้าอยู่ๆ เราไปจับลูกมานั่งสอน รับรองว่าไม่สนุก แต่พอเขาอยากรู้ปุ๊ป เราแทบไม่ต้องสอนอะไรเลย  ความอยากรู้จะพาไปเอง

“ในสถานการณ์วิกฤติโควิดครั้งนี้ เราได้โอกาสออกแบบการเรียนรู้ให้ลูกรวมถึงธุรกิจให้เป็นหนึ่งเดียวกัน รู้สึกเลยว่า เฮ้ย… มันดีมากน่ะ พูดแล้วคนอาจจะหมั่นไส้ แต่เราชอบแบบนี้นะ เราออกแบบทุกอย่างใหม่หมด แล้วทำให้ชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันทั้งธุรกิจ การเลี้ยงลูก การใช้ชีวิตต่างๆ เพราะในเงื่อนไขของเรา เราค้นพบว่าเราทำทุกเรื่องให้อยู่ด้วยกันได้ ที่ชอบที่สุดคือไม่ต้องส่งลูกไปโรงเรียน พอมีเวลาเหลือ ตอนเช้าเราก็ชวนกันไปออกกำลัง ไปวิ่งที่อ่างแก้ว เหมือนเราได้เวลาคุณภาพกลับคืนมามหาศาล เป็นเวลาของการทบทวนอะไรบางอย่าง เพื่อให้เราออกแบบ ‘ชีวิตที่มีความสุขร่วมกันเป็นตัวนำ’ เพราะท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายสูงสุดของการทำธุรกิจและปรัชญาของครอบครัวก็คือหนึ่งเดียว คือการได้เป็นส่วนเล็กๆ ที่ทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้น เหมือนกับบริษัทของเราที่ชื่อว่า ‘เพอร์เฟกท์ ฮาร์โมนี’”

หากชีวิตคือวงดนตรีออร์เคสตรา สมาชิกครอบครัวทั้งห้าคนอันประกอบด้วย วีระชัย ฮิโรมิ ยามาโต คะสึมิ และคะสึคิ เจือสันติกุลชัย คงกำลังค้นพบท่วงทำนองใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนใคร ไม่ต้องตามใคร ทว่างดงาม ผ่อนคลาย เป็นอิสระในจังหวะแบบของตัวเอง

ช่างเป็นท่วงทำนองของ ‘ความกลมกลืนที่สมบูรณ์แบบ’ ดังว่านั้นจริงๆ

อ้างอิง
Facebook : Perfect Harmony International Co., Ltd. /
Facebook : Music Box Factory Co., Ltd./
Facebook : Wami Studio

Tags:

21st Century skillsนวัตกรรมไวรัสโคโรนา(โควิด-19)HOME-BASED LEARNINGการอ่านวีระชัย เจือสันติกุลชัยพลเมือง

Author & Photographer:

illustrator

วิรตี ทะพิงค์แก

นักเขียน นักเล่าเรื่อง และบรรณาธิการอิสระ ที่ยังคงมีความสุขกับการเดินทางภายนอกเพื่อเรียนรู้โลกภายในของตัวเอง เจ้าของผลงานนิทานชุดดอยสุเทพเรื่อง ‘ป่าดอยบ้านของเรา’ หนังสือเรื่อง ‘เตรียมหนูให้พร้อมก่อนเข้าอนุบาล’ และ ‘ของขวัญจากวัยเยาว์’ คู่มือสังเกตความถนัดของลูกช่วงปฐมวัย เคยทำนิทานร่วมกับลูกชายเมื่อครั้งอายุ 6 ปี เรื่อง ‘รถถังนักปลูกต้นไม้’

Related Posts

  • Social Issues
    การเรียนออนไลน์ : สมองของเด็กที่ชำรุดและสุขภาพจิตที่แปรปรวนของพ่อแม่

    เรื่อง The Potential

  • Learning Theory
    ‘การเรียนรู้ที่บ้าน’ กำลังมา: กำกับตัวเองให้มาก ใช้ความสงสัยใคร่รู้และความสุขจากการเล่นนำทาง

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Education trend
    CODING คืออะไร ครูไทยพร้อมไหม ทำไมหนูต้องเรียน

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • Education trend
    เป้าหมายและหลักสูตร CODING ป.1 – ป.6

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Education trend
    เอาชนะหุ่นยนต์ได้ด้วยการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และความฉลาดทางอารมณ์

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

ปลาบู่ทอง: การรับมือกับความสูญเสียคนที่รักและผูกพัน และหนทางเยียวยาตนเอง
Myth/Life/Crisis
29 July 2020

ปลาบู่ทอง: การรับมือกับความสูญเสียคนที่รักและผูกพัน และหนทางเยียวยาตนเอง

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • เราต่างก็มีวิธีรับมือกับการสูญเสียคนที่ผูกพันและมีกระบวนการเยียวยาตนเองหลังการสูญเสีย โดยในกระบวนการเหล่านี้มักมีห้วงเวลาสำคัญที่ผู้สูญเสียต้องกลับมาอยู่กับตัวเองก่อนจะออกไปสัมพันธ์กับโลกอีกครั้ง อย่างที่จะค่อยๆ อธิบายในเชิงสัญลักษณ์ ผ่านนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องปลาบู่ทอง
  • การพลัดพรากจากคนที่เราผูกพันด้วยเป็นโอกาสในการ เกิดใหม่ ทางจิตใจ ความสูญเสียจึงสามารถเป็นหมุดหมายหนึ่งของการเติบโต
  • ภัทรารัตน์ วาดภาพให้เห็นปฏิกิริยาต่างๆ ของผู้ที่สูญเสียและวิธีการรับมือการสูญเสียที่เห็นโดยทั่วไป เช่น หาสิ่งแทนบุคคลอันเป็นที่รักซึ่งได้จากไป ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังนำเสนอทางเลือกอีกสามประการในการช่วยปรับสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย โดยเริ่มจากกิจกรรมที่มีฐานการรับรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งมีการใช้ ร่างกาย สัมผัสกับ วัตถุ

“…ท่านอยู่ไหน? สุดสายตาจรดฟ้า เพียงหญ้าเฉาโรยอันแผ่ไปมิรู้จบในความห่างไกล มองถนน กระวนกระวาย รอท่านกลับมา”  
ถอดความจากบทกวีของหลี่ชิงเจ้า (李清照) กวีหญิงยุคราชวงศ์ซ่ง

การพลัดพรากสูญเสียคนที่เราผูกพันด้วย อาจทำให้เราถอนตัวจากโลก แล้วดำดิ่งลงในตนเองเป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะกลับมาเชื่อมโยงกับคนอื่นอีกครั้ง บางทีก็ทำให้เราหาทางเชื่อมโยงกับคนที่จากไปด้วยผ่านสิ่งแทนหรือตัวแทน หรือทำให้เบลอ เฉยชา หรือแม้แต่อาจทำให้เราหลีกเลี่ยงความสัมพันธ์ใหม่ๆ แต่ไม่ว่าอย่างไร เราต่างก็มีวิธีการของตนในการรับมือกับความสูญเสียและมีหนทางเยียวยาตนเองได้ อย่างที่จะค่อยๆ อธิบายผ่านนิทานพื้นบ้านของไทยเรื่องปลาบู่ทอง ดังนี้

เอื้อย หญิงสาวชาวบ้านใจงามผู้หนึ่งมีแม่ชื่อขนิษฐา มีพ่อชื่อว่าเศรษฐีทารก (ทา-ระ-กะ) พ่อของเอื้อยมีภรรยาอีกคนด้วยชื่อขนิษฐี ต่อมาพ่อฆ่าแม่ของเอื้อยตาย เอื้อยไปนั่งร้องไห้อยู่ท่าน้ำและได้พบแม่ซึ่งกลับมาเกิดเป็นปลาบู่ทอง เอื้อยจึงมาหาปลาทุกวัน ต่อมานางขนิษฐีจับปลามาขอดเกล็ดทำอาหาร เอื้อยจึงนำเกล็ดปลาบู่ไปฝังดินเพื่อให้แม่เกิดเป็นต้นมะเขือ แต่ขนิษฐีก็ตามราวีโค่นต้นมะเขืออีก เอื้อยจึงนำเมล็ดมะเขือไปฝังดินพร้อมกับอธิษฐานให้แม่เกิดเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิทองที่ไม่มีใครทำลายหรือเคลื่อนย้ายได้

ต่อมา พระเจ้าพรหมทัตเสด็จประพาสป่ามาเห็นต้นโพธิ์เงินโพธิทองจึงต้องการย้ายไปปลูกในวัง ซึ่งก็มีเพียงเอื้อยเท่านั้นที่เคลื่อนย้ายต้นโพธิ์ได้ พระเจ้าพรหมทัตจึงทรงแต่งตั้งให้เอื้อยเป็นพระมเหสีแล้วย้ายเข้าวัง แต่ก็ถูกแม่เลี้ยงลวงให้กลับไปเยี่ยมบ้านแล้วฆ่าทิ้ง

เอื้อยตายไปเกิดใหม่เป็นนกแขกเต้าและได้โบยบินกลับไปหาพระเจ้าพรหมทัต ทำให้ถูกจับถอนขนเตรียมทำเป็นอาหาร แต่ได้หนูช่วยไว้และได้พักฟื้นในรูหนูจนขนงอกขึ้นมาใหม่ เมื่ออาการดีขึ้นก็บินออกจากรูหนูไปเจอฤๅษีในป่า ฤาษีจึงช่วยเสกให้คืนร่างเป็นเอื้อยดังเดิม พร้อมกับวาดรูปเด็กแล้วเสกให้เป็นคนและมอบให้เป็นของลูกเอื้อย เมื่อเด็กโตก็ได้นำมาลัยที่เอื้อยร้อยไปให้พระเจ้าพรหมทัต พระองค์ทรงจำฝีมือเอื้อยได้และเมื่อทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดก็เสด็จไปรับเอื้อยกลับวัง

หลุมมืดแห่งความตรอมตรมของคนสูญเสีย และชีวิตใหม่

ในเรื่องปลาบู่ทอง เราเห็นความพยายามของเอื้อยผู้สูญเสียในการสื่อสารกับแม่ผ่านรูปของสิ่งมีชีวิตที่สามารถแปลงกายปรากฏใหม่ไปได้เรื่อยๆ จากคนเป็นปลาบู่ จากปลาบู่เป็นต้นมะเขือ และเปลี่ยนร่างเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองอีกก็ได้ และย่อมจะเปลี่ยนได้อีกเรื่อยๆ หากเอื้อยยังต้องการเช่นนั้น

ทว่า เอื้อยเองก็ไม่ได้เศร้าโศกตรอมตรมและยึดติดกับแม่อยู่ตลอดไป ในที่สุดแม่ของเอื้อยก็กลายเป็นต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองที่มั่นคงและไม่มีใครโค่นลงได้ อีกทั้งเรื่องเล่าหลังจุดนี้ไม่ได้เน้นความสัมพันธ์กับต้นโพธิ์เงินโพธิ์ทองที่เป็นร่างปราฏของแม่อีก แต่เริ่มให้น้ำหนักกับตัวเอื้อยเองมากขึ้นในการสร้างสัมพันธ์กับสิ่งใหม่และผู้คนใหม่ๆ

หากเปรียบกับผู้สูญเสียนอกนิทาน ก็เป็นการที่เขาค่อยๆ ถอนพลังงานที่ใช้ไปกับความอาลัยอาวรณ์ผู้ตายอันเป็นที่รักออก และเริ่มใช้พลังงานมากขึ้นไปกับชีวิตของเขาเอง เสมือนหนึ่งว่าในที่สุดเขาก็ ‘ยอมรับ’ ความสูญเสียแล้วจริงๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าต้องรู้สึกโอเคกับสิ่งเกิดขึ้นทั้งหมดก็ได้

สัญลักษณ์สำคัญในนิทานที่สะท้อนการยอมรับความสูญเสียโดยสิ้นเชิงคือ เอื้อยตายกลายเป็นนกที่สามารถโบยบินไปตามที่ต่างๆ ได้ดังใจ อุปมาได้กับจิตใจของผู้สูญเสียที่เป็นอิสระมากขึ้น ทว่าตอนที่นกถูกถอนขนออกจนมีสภาพปางตายกระทั่งต้องเข้าไปหลบในรูหนู ตรงนี้แสดงถึงพลังงานทางจิตที่เคลื่อนเข้าด้านในและถดถอยอีกครั้ง โดยมีรูหนูเป็นภาชนะโอบกอดการดำดิ่งเข้าไปในอารมณ์หดหู่ ทั้งนี้ หนูที่ช่วยนกแสดงคุณลักษณะภายในของผู้สูญเสียเอง นั่นคือความสามารถที่จะใจดีกับตัวเอง และฤาษีก็คือปัญญาหยั่งรู้ของเราทุกคน

ยกตัวอย่างจิตแพทย์ชาวสวิสชื่อ คาร์ล กุสตาฟ ยุง ซึ่งเคยมีช่วงเวลาแห่งการสูญเสียอันทำให้เขาถอนตัวจากโลกและดำดิ่งลงในหลุมมืดแห่งจิต การถอนตัวจากโลกซึ่งเริ่มในปี 1914 จากที่ยุงสูญเสียความสัมพันธ์กับ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ นักจิตวิเคราะห์ชาวออสเตรีย ที่อาจเปรียบเป็น ‘พ่อ’ อีกคนของยุงในตอนนั้น ซึ่งแม้ไม่ใช่การจากตายแต่ก็เป็นความสูญเสียใหญ่หลวง เขาลาออกจากตำแหน่งของมหาวิทยาลัยซูริก ถอนตัวจากแวดวงที่เขาเคยมีบทบาทสำคัญ แล้วกลับมาโดดเดี่ยวราวกับเด็กน้อยที่เล่นกับก้อนหินคนเดียว

ยุงปฏิสัมพันธ์กับข้อมูลในจิตไร้สำนึกอย่างเต็มที่ เช่น ใส่ใจเนื้อหาของความฝันและวาดความฝันออกมาเป็นรูปภาพ อีกทั้งปล่อยให้ภาพฟุ้งฝันในใจได้พรั่งพรูออกมาในขณะที่เล่นก่อกองหิน เมื่อเวลาผ่านไปยุงก็เปลี่ยนจากการเป็นคนป่วยและค่อยๆ กลายเป็นเฒ่าผู้ทรงปัญญา นอกจากนี้ หลังฟื้นตัวจากเหตุการณ์แตกหักกับฟรอยด์ เขาก็มีผลงานชิ้นสำคัญเรื่อง Pyschological Types (1921) ด้วย (เนื้อหาส่วนหนึ่งพยายามอธิบายความแตกต่างระหว่างเขากับฟรอยด์ ยุงเห็นว่าการเคลื่อนความสนใจเข้าด้านใน (Introversion) ของเขา ไม่เหมือนการไหลออกสู่ภายนอก (Extraversion) ของฟรอยด์)

การพลัดพรากจากคนที่เราผูกพันด้วยเป็นโอกาสในการเกิดใหม่ทางจิตใจ ชีวิตใหม่ของผู้ที่เคยสูญเสียมีความเข้าใจโลกมากกว่าเดิม คงจริงที่ว่าความสูญเสียเป็นหมุดหมายหนึ่งของการเติบโต  

ในความพลัดพรากสูญเสีย

ในความสูญเสียแบบการจากตายของคนเรา ความเชื่อในเรื่องโลกหลังความตายย่อมมีผลกับความนึกคิดรับรู้ของผู้สูญเสีย ในช่วงแรกของการสูญเสีย หลายคนเห็นตรงกันว่าวิญญาณของพ่อหรือแม่มาบอกลา บ้างก็เห็นตอนยังไม่หลับแต่เป็นวันที่ทำพิธีกรรม บ้างก็เห็นหรือรู้สึกถึงวิญญาณตอนกึ่งหลับกึ่งตื่นในวันที่พ่อหรือแม่จากไป หรือฝันถึงในวันใกล้ครบรอบปีแห่งมรณพิธี

คนที่สูญเสียพ่อแม่หรือผู้ดูแลที่ผูกพันด้วยมีปฏิกิริยาได้มากมายหลายอย่าง บ้างก็บอกว่าเสียใจที่เคยขัดแย้งกับผู้ตายมามาก เพราะต่อให้ความสัมพันธ์จะดีร้ายอย่างไร เขาก็เคยดูแลเรา บ้างก็บอกว่าเสียใจแต่ก็โล่งใจที่ไม่ต้องก่อกรรมกับแม่อีกแล้วเพราะก่อนหน้านั้นเคยทะเลาะกันประจำ หรือบอกว่าไม่ต้องทำตามความคาดหวังของพ่อแม่ที่คอยผลักดันให้เขาสมบูรณ์แบบอีกแล้ว

ผู้สูญเสียบางคนรับมือด้วยการพยายามลืมเลือนทุกอย่างและมีกรณีที่ถึงขนาดว่าความทรงจำของชีวิตหายไปเกือบทั้งหมด หรือบ้างก็กลายเป็นคนเฉยชาไร้ความรู้สึกทั้งที่แต่ก่อนเป็นคนรู้สึกกับสิ่งต่างๆ อย่างลึกซึ้ง หรือบ้างก็หลีกเลี่ยงความผูกพันใหม่ๆ โดยในหลายกรณีการที่ผู้สูญเสียพยายามป้องกันความสูญเสียในอนาคตกลับทำให้สูญเสียความสัมพันธ์กับผู้คนที่ยังเหลืออยู่ในปัจจุบัน และการที่เขาตระหนักว่าตัวเองไม่สามารถป้องกันความสูญเสียในอนาคตจึงเป็นการเยียวยาความสูญเสียในอดีตได้อย่างหนึ่ง

นอกจากนี้ ผู้สูญเสียมากมายหาทางรักษาความสัมพันธ์ที่หายไปผ่านช่องอื่นๆ เช่น เขียนจดหมายหาผู้จากไป เอาสิ่งของคนนั้นมาใช้ เล่นและฟังบทเพลงที่ผู้จากไปชอบ หรือหาสิ่งแทนอื่นๆ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่นในเหตุการณ์หนึ่ง พ่อของผู้ชายคนหนึ่งจากลาเขาไป โดยที่ก่อนตายนั้นพ่อบอกให้เขาถอดนาฬิกาของพ่อมาใส่ แล้วกล่าวคำอำลาว่าวันหนึ่งลูกเองก็ต้องลาจากทุกอย่างไปเหมือนกัน หลังจากพ่อเสียชีวิต ผู้ชายคนนี้ก็ใส่นาฬิกาอันเป็น ‘ตัวแทนของพ่อ’ มาตลอด โดยแทบไม่ถอดออกเลย แต่วันหนึ่งนาฬิกานั้นก็หายไป แม้ว่าจะปั่นป่วนแต่สุดท้ายเขาก็ต้องหาวิธีเชื่อมโยงกับพ่อใหม่ ซึ่งก็คือเชื่อมโยงกับคำเตือนของพ่อที่ว่าวันหนึ่งเขาก็ต้องจากทุกอย่างไปเหมือนพ่อ (อ้างจาก Life Lessons)

ส่วนชายอีกคนนั้นเคยมีความรับรู้เกี่ยวกับพ่อตามคำบอกเล่าเชิงลบของแม่ที่ว่าพ่อไม่ค่อยทำงานการอะไร แต่พอพ่อจากไปเขาพบว่าแท้จริงแล้วพ่อได้ทำงานอย่างลับๆ ให้กับพรรคกั๋วหมินหรือก๊กมินตั๋ง ทุกวันนี้แม้นไร้เงาบิดา เขากลับยิ่งใช้เวลาว่างศึกษาภาษาและวัฒนธรรมเก่าแก่อันรุ่มรวยของจีน อีกทั้งศึกษาพระคริสตคัมภีร์อย่างลึกซึ้งเหมือนดั่งผู้ร่วมก่อตั้งพรรคกั๋วหมิน อันเป็นพรรคที่พ่อของเขาเคยทำงานให้นั่นเอง

นอกเหนือจากการพยายามกลับไปเชื่อมโยงกับคนที่จากเราไปผ่านสิ่งแทนตามที่เล่ามาข้างต้น ก็ยังมีวิธีการอื่นอีกมากที่สามารถช่วยปรับสภาพจิตใจของผู้สูญเสีย โดยขอคัดมาเพียงสามข้อ ดังนี้

1.  ดึงความสนใจไปที่กิจกรรมอย่างอื่นนอกจากความสูญเสีย โดยกิจกรรมเหล่านั้นควรมีบรรยากาศแนวงานอดิเรกอันผ่อนคลายที่อยู่นอกเหนือกรอบจำกัดของภาระหน้าที่ในการเรียนหรือการทำงานตามปรกติ ตัวอย่างเช่น การกลับมาอยู่กับตัวเองผ่านการทำขนม ทำสวน วาดรูป เล่นดนตรี ต่อจิ๊กซอว์ ต่อเลโก้ สร้างสิ่งต่างๆ จากหินหรือดินหรือทราย ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้มีฐานการรับรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรม และช่วยทำให้ใจสงบได้ดีเพราะได้ใช้ ร่างกาย ถ่ายทอดพลังงานทางจิตออกมาในวัตถุ อีกทั้งจะทำให้เห็นรูปแบบข้อมูลบางอย่างภายในจิตใจของตัวเองชัดขึ้นผ่านสิ่งที่เป็นรูปธรรมด้วย

2.  การทำใจยอมรับว่าเราสูญเสียบุคคลนั้นไปแล้วโดยทิ้งความคาดหวังไปก่อนว่าจะได้อยู่ด้วยกันอีก แม้ว่าอาจมีโอกาสก็ตาม จากการคุยกับคนจำนวนหนึ่งที่สูญเสียคนที่ผูกพันด้วยไปก็พบว่า

ช่วงแรกๆ คนมักจะมีความคิดว่า “ถ้า ได้อยู่ด้วยกันอีกจะ…(มักเป็นการแก้ไขสิ่งที่คิดว่าผิดพลาด)…” แม้ว่าการคิดในลักษณะนี้บ้างจะไม่ได้ผิดอะไร แต่ถ้ามากเกินไปก็ทำให้เสียเวลาในปัจจุบันไปกับการคิดแก้ไขอดีต และเป็นการใช้พลังงานไปกับเรื่องนอกตัวเองที่ส่วนใหญ่แล้วก็ควบคุมไม่ได้จริง ทำให้ผู้สูญเสียไม่ได้ เผชิญกับอารมณ์ตัวเองอย่างซื่อตรง

ทางเลือกคือ ผู้สูญเสียสามารถใช้กิจกรรมตามข้อ 1 ในการเผชิญกับตัวเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจตัวเองชัดขึ้นและอารมณ์มั่นคงขึ้นเร็วกว่าการเอาแต่คิดแก้ไขเรื่องภายนอก เมื่อหยั่งรากมั่นคงในการอยู่กับตัวเองได้แล้วก็จะช่วยเพิ่มความยั่งยืนให้ความสัมพันธ์ใหม่ๆ และ/ หรือความสัมพันธ์เก่าที่อาจกลับมาด้วย

3.  ยอมรับว่าความพลัดพรากสูญเสียเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตของเราทุกคน ซึ่ง

3.1 อาจเป็นการตกผลึกแล้วยอมรับได้เองเมื่อกาลเวลาผ่านพ้นไป หรือ

3.2 อาจเป็นการยอมรับผ่านการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และรับรู้การสูญเสียของผู้อื่น สิ่งเหล่านี้หาได้จากการพูดคุยกับผู้อื่นโดยตรง อีกทั้งจากการเสพวรรณกรรมทางศาสนาและเรื่องเล่าต่างๆ ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่เรื่องเล่าของผู้ใหญ่ เพราะแม้แต่นิทานและอนิเมชั่นสำหรับเด็กนับไม่ถ้วนก็มีการพูดถึงการเปลี่ยนผ่านเติบโตของตัวละครหลักซ้อนไปกับการสูญเสียผู้ที่ตัวละครเอกผูกพันด้วย เช่น The Lion King และ Mowgli: Legend of the Jungle และอื่นๆ มากมาย เหล่านี้ล้วนย้ำเตือนว่าเราทุกคนย่อมมีประสบการณ์พลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดา เราทั้งหมดมีเพื่อนร่วมทุกข์

ไม่ว่าเราจะสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักโดยการจากเป็นหรือจากตาย โปรดจำไว้ว่าชีวิตของเราเองก็มีค่า เมื่อให้เวลากับความเศร้าโศกและกระบวนการเยียวยาแล้ว ชีวิตที่เหลืออยู่ของเราก็ยังต้องเดินทางต่อไป โดยมีเพื่อนเดินทางเป็นความเข้าใจชีวิตที่ดีมากขึ้น  

อ้างอิง
Jung A very short Introduction โดย Anthony Stevens
On Grief and Grieving: Finding the Meaning of Grief Through the Five Stages of Loss และหนังสือ Life Lessons โดย Elisabeth Kübler-Ross และ David Kessler

Tags:

จิตวิทยาการตั้งแกน (Centering)การจัดการอารมณ์ความสูญเสีย

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • How to enjoy life
    Hate-Following: งานอดิเรกในโลกโซเชียลที่ผสมผสาน ‘การนินทา’ กับ ‘เทคโนโลยี’

    เรื่อง จณิสตา ธนาธรชัย ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Myth/Life/Crisis
    ผ่านไซเรนในน่านน้ำ: เสียงวิจารณ์ภายในที่ต้อนเราให้อยู่ในวิธีคิดเดิมๆ

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • How to get along with teenager
    เปิดใจ-รับฟัง ช่วยวัยรุ่นแก้ปัญหาอย่างนักจิตวิทยาโรงเรียน

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Family Psychology
    ไม่ผิดหรอกหากพ่อแม่จะกอดตัวเองบ้าง

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

  • EF (executive function)
    ไม่พอใจก็แค่ใส่หูฟังแล้วเปิดเพลงดังๆ ‘การจัดการอารมณ์’ ที่ท้าทายแต่ทำได้ในวัยรุ่น

    เรื่อง

บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน (4): หน้าที่ของพ่อคือเปิดโอกาสให้แม่ไม่ต้องเป็นแม่
Life classroomอ่านความรู้จากบ้านอื่น
24 July 2020

บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน (4): หน้าที่ของพ่อคือเปิดโอกาสให้แม่ไม่ต้องเป็นแม่

เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • หากใครเคยมีโอกาสเลี้ยงเจ้าตัวน้อยคงจะรับทราบดีว่าการเลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องสนุกนัก ยิ่งเฉพาะถ้าเราต้องอยู่ดูแลเพียงลำพัง จะเดินไปไหนก็อดไม่ได้ที่จะกังวล แม้แต่จะไปดื่มน้ำหรือทานข้าวก็ยังแทบไม่มีเวลา พ่อจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการแบ่งเบาภาระ โดยรับลูกน้อยมาอยู่ในความดูแลสักวันละสองชั่วโมง เพื่อให้คุณแม่ได้ใช้ชีวิตส่วนตัวได้แบบสบายไม่ต้องกังวล
  • ความสุขของทุกคนในครอบครัวมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูกน้อย รวมถึงตัวผมเอง มันคงไม่ยุติธรรมนักหากใครสักคนต้องสูญเสียตัวตนอื่นทั้งหมดไป เพียงเพราะมีบทบาทใหม่ที่ชื่อว่า ‘แม่’

บทบาทและหน้าที่ของคนเป็นพ่อคืออะไรในสมการเรื่องลูก?

นี่คือคำถามที่ผมครุ่นคิดอยู่เสมอตั้งแต่ภรรยาตั้งท้องจนกระทั่งลูกอายุครบสามเดือน เพราะคนเป็นพ่อไม่ต้องตั้งครรภ์ ไม่ต้องคอยสร้างน้ำนมให้ลูกอิ่มหนำ แม้จะพยายามเข้าไปช่วยเหลือภรรยาในการดูแลลูกน้อย มากแค่ไหน ในช่วงแรกเราก็ได้แต่มองอยู่ห่างๆ คอยหยิบนู่นจับนี่เมื่อเรียกหาซึ่งเป็นงานที่ใครๆ ก็ทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อ

หากมองย้อนกลับไป การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นพ่อด้วยเวลาชั่วข้ามวันทำให้ผมเผชิญ ‘วิกฤตการมีชีวิตอยู่ (existential crisis)’ ครั้งเล็กๆ ที่ชวนให้ใคร่ครวญความรับผิดชอบในสถานะความเป็นพ่อของตัวเอง ก่อนจะได้คำตอบในภายหลังว่า หน้าที่ของพ่อคือเปิดโอกาสให้แม่ไม่ต้องเป็นแม่

ฟังแล้วชวนสงสัยว่าประโยคข้างต้นหมายความว่าอะไรกันแน่ ผมขอเริ่มเรื่องจากประสบการณ์ตรงที่ทำลายมายาคติที่ว่าการได้อยู่ดูแลทารกตัวน้อยทั้งวันว่าเป็นเรื่องที่น่าสนุก

เลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องสนุก

หากใครเคยมีโอกาสเลี้ยงเจ้าตัวน้อยคงจะรับทราบดีว่าการเลี้ยงเด็กไม่ใช่เรื่องสนุกนัก ยิ่งเฉพาะถ้าเราต้องอยู่ดูแลเพียงลำพัง จะเดินไปไหนก็อดไม่ได้ที่จะกังวล แม้แต่จะไปดื่มน้ำหรือทานข้าวก็ยังแทบไม่มีเวลา นี่คือสิ่งที่ภรรยาผมต้องเผชิญหลังจากที่ผมต้องกลับไปทำงานหลังจากลางานมาครบสองสัปดาห์เต็ม

ทุกชั่วโมงที่ต้องห่างบ้านเต็มไปด้วยความรู้สึกไม่สบายใจ ผมไม่ค่อยห่วงเจ้าตัวเล็กเท่าไหร่เพราะเชื่อมือภรรยา แต่อดกังวลไม่ได้ว่าคุณแม่มือใหม่จะทั้งเหนื่อยและเครียด คำบอกเล่าเรื่องภาวะซึมเศร้าหลังคลอดยิ่งทำให้ผมวิตกว่าภรรยาจะรับมือกับเด็กชายเพียงลำพังได้หรือไม่ แม้ว่าบางช่วงเวลาจะมีญาติผู้ใหญ่เข้าไปสลับกันดูแลก็ตาม

เวลากลางคืนคือช่วงที่ผมจะได้อยู่ใกล้ชิดกับภรรยาและลูกน้อยแบบเต็มๆ แต่ภาระหนักก็ยังตกอยู่บนบ่าของคนเป็นแม่ที่ต้องตื่นมาให้นม ขณะที่ผมทำได้เพียงอุ้มปลอบ เปลี่ยนผ้าอ้อม หรือนึ่งของใช้สำหรับทารก สุดท้ายก็ไปนั่งสัปหงกจนถูกไล่ให้ไปนอนขณะที่ภรรยาพาตัวเล็กเข้าเต้า คงไม่ผิดนักหากจะพูดว่าคุณแม่ทำหน้าที่หลักในการดูแลเจ้าตัวเล็กตลอด 24 ชั่วโมง

ผ่านไปร่วมหนึ่งเดือน ผมเริ่มสังเกตเห็นอย่างชัดเจนว่าภรรยาที่สดใสร่าเริงอยู่เสมอกลับเซื่องซึมลงถนัดตา นั่นไม่ใช่เรื่องเกินคาด เพราะบทบาทความเป็นแม่ได้กัดกินและช่วงชิงเวลาที่เธอจะมีกิจกรรมอื่นตั้งแต่การสังสรรค์กับเพื่อนฝูง เล่นกีฬาออกกำลังกาย หรือแม้กระทั่งได้ไปทำงานพูดคุยกับพนักงานและพบปะลูกค้า การอยู่บ้านคอยดูแลลูกน้อยตลอดเวลาไม่มีทางที่จะเติมเต็มบทบาทอื่นๆ ได้

นี่คือโจทย์สำคัญที่ผมต้องหาทางออก เพราะสำหรับผม ความสุขของทุกคนในครอบครัวมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นภรรยา ลูกน้อย รวมถึงตัวผมเอง มันคงไม่ยุติธรรมนักหากใครสักคนต้องสูญเสียตัวตนอื่นทั้งหมดไป เพียงเพราะมีบทบาทใหม่ที่ชื่อว่า ‘แม่’

เคราะห์ซ้ำกรรมซัดหลังจากที่โควิด-19 ระบาด แผนการที่จะพาเจ้าตัวเล็กไปสลับกันเลี้ยงบริเวณด้านหลังร้านเป็นอันต้องพับเก็บ ขณะเดียวกันกิจการของเราต้องเผชิญกับคลื่นลูกใหญ่ เพิ่มกระบวนการมากมายทั้งจุดคัดกรองและการเว้นระยะห่าง พนักงานเองในร้านต่างซึ่งอายุค่อนข้างมากต่างก็หวาดกังวลว่าจะติดโรคระบาด ส่วนตัวเลขยอดขายก็ลดฮวบเป็นประวัติการณ์ ผมรู้ว่าภรรยาในฐานะผู้จัดการร้านย่อมไม่สบายใจ ในขณะที่นักการเงินอย่างผมช่วยอะไรได้ไม่มาก

แต่ในที่สุด ผมได้ไอเดียว่าจะทำอย่างไรให้ทุกคนได้ประโยชน์ นั่นคือการสลับให้ภรรยาไปทำงานที่ร้านหนึ่งวันต่อสัปดาห์โดยทิ้งให้เด็กชายอยู่กับผมที่บ้านเพียงลำพัง นับเป็นข้อเสนอที่หาญกล้ามากเพราะเจ้าตัวเล็กติดแม่งอมแงมแถมยังไม่ค่อยยอมดื่มนมจากขวด แม้จะกังวลแต่ผมก็พยายามกลบมันให้มิด พลางคิดในใจว่าถ้าแม่ทำได้ พ่อก็ต้องทำได้เช่นกัน

วันของพ่อและเด็ก

แล้ววันนั้นก็มาถึง ภรรยาผมดูสดใสทะมัดทะแมงในชุดทำงานที่ไม่ได้ใส่มาร่วมสองเดือน ก่อนไปยังได้สั่งการอย่างละเอียดว่าน้ำนมแม่อยู่ไหน อุ่นนมกี่นาที ต้องป้อนนมกี่โมง ของเล่นชิ้นไหนพร้อมจะนำไปให้ลูกเล่น และอีกสารพัด พร้อมทั้งกำชับว่าถ้าไม่ไหวให้โทรหาแล้วเธอจะรีบปลีกตัวกลับมาทันที

ผมฟังรายละเอียดยุบยิบแบบเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ได้แต่ย้ำกับตัวเองว่าจะไม่โทรไปรบกวนเวลางานของภรรยาเด็ดขาดเพราะต้องการให้เธอได้ใช้เวลาอยู่กับบทบาทอื่นที่ไม่ใช่แม่ได้อย่างเต็มที

ผมประคองเจ้าตัวเล็กไว้ในอ้อมกอดพลางโบกมือลาภรรยาที่ขับรถออกไปทำงาน ยิ้มกว้างแสดงความมั่นใจว่าไม่ต้องกังวล หลังจากประตูปิดลง เด็กน้อยก็ยังหลับอย่างสงบในอ้อมกอดร่วมครึ่งชั่วโมง ผมเผลอคิดกระหยิ่มยิ้มย่องว่าสบายจัง ไว้ภรรยากลับมาเมื่อไหร่อาจจะขอเพิ่มเป็นสองวันต่อสัปดาห์

แต่ความโกลาหลก็เกิดขึ้นเมื่อเด็กน้อยลืมตาตื่นแล้วร้องไห้จ้า ต้องคอยพาอุ้มเดินแกว่งไปมารอบแล้วรอบเล่า รอบแล้วรอบเล่า พอเด็กชายเริ่มสงบลงผมก็ทิ้งตัวลงนั่ง ทันใดนั้นเสียงแผดร้องก็ดังขึ้นอีกครั้งจนผมต้องเริ่มปลอบประโลมด้วยการเดินไปรอบบ้านอีกครั้งจนมือสองข้างเริ่มล้าและข้อเท้าเริ่มปวด ผมจึงพาเจ้าตัวเล็กไปนั่งในลานของเล่นแล้วหันไปมองนาฬิกา

เวลาผ่านไป 10 นาทีถ้วน. . .

เด็กน้อยยังคงคึกคักแม้ว่าจะนอนหลับไปไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ผมหยิบสารพัดของเล่นมาให้เจ้าหนูกัดแทะ สลับกับนอนอ่านหนังสือนิทานให้ฟัง เวลาเหมือนจะผ่านไปนานแต่พอหันไปดูเข็มยาวของนาฬิกาบนฝาผนังกลับกระดิกไปครั้งละไม่เกิน 5 นาทีถ้วน พอเด็กน้อยเริ่มเบื่อที่จะเล่นของเล่นหรือฟังนิทานก็ได้เวลากลับมาพาเดินวนรอบบ้านอีกครั้ง

การอยู่กับลูกเพียงลำพังทำให้ผมได้สัมผัสประสบการณ์ของเวลาที่ผ่านไปช้าแสนช้า เพราะนี่คืองานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมากมาย แต่ต้องใส่ใจและมีสมาธิเพื่อดูแลไม่ให้ลูกเข้าใกล้อันตราย ขณะนั่งเล่นกับลูกก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าเสียดายเวลาจัง แทนที่เราได้ใช้เวลาไปทำงานหาเงิน คิดแผนกระตุ้นยอดขาย พัฒนาตัวเองด้วยการอ่านหนังสือหรือเรียนคอร์สออนไลน์ แต่กลับต้องมานั่งจับเจ่าเล่านิทานเรื่องเดิมซ้ำเป็นสิบรอบ หยิบของเล่นที่ลูกปัดตก หรือเดินวนไปมาอย่างไร้จุดหมาย

ความโกลาหลเริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่อได้เวลาเจ้าตัวเล็กต้องดื่มนม ผมงมกับวิธีใช้เครื่องอุ่นน้ำนมอยู่นานสองนานจนลูกชายร้องไห้จ้า หลังจากเชื่อมั่นว่าน้ำนมแม่ในขวดอุ่นกำลังดีก็ต้องทดขอเวลานอกไปเปิดดู Youtube ว่าด้วยท่าป้อนนมที่ถูกต้อง เด็กน้อยร้องจนน้ำตาไหลอาบแก้มกว่าจะได้ดูดนม แต่กลืนไปไม่กี่อึกก็อมนมไว้เต็มปากแล้วบ้วนออกมาจนเลอะเทอะเต็มหมอน ผมเองก็ร้อนใจกลัวลูกหิวจนต้องเปลี่ยนมาอุ้มป้อนซึ่งผลลัพธ์คือเปลี่ยนจากเปื้อนหมอนมาเปื้อนพื้นแทน

ผมทั้งขู่ทั้งปลอบตั้งแต่ฟ้าข้างนอกเป็นสีทองอร่ามของแดดเย็นจนกระทั่งพระอาทิตย์ตกดิน สุดท้ายก็ถอดใจแขวนขวดนม หันไปมองปริมาณนมที่หายแล้วก็อดท้อไม่ได้เพราะพยายามแทบตายกลับลดไปแค่ราวหนึ่งออนซ์จากปริมาณที่ควรจะดื่มสามออนซ์ต่อหนึ่งมื้อ ยังไม่นับน้ำนมที่หกอยู่บนพื้นและชุ่มอยู่บนหมอน

เด็กน้อยกลับมาสดใสราวกับต้นไม้ได้น้ำ หันมาสนใจจะของเล่นและนิทานอีกครั้ง ส่วนสมาธิของผมก็หลุดลอยไปที่นาฬิกาบนฝาผนังเพราะอีกไม่นานภรรยาก็คงจะกลับมาถึงบ้าน ช่วงเวลานั้นเองที่ประสาทหูของผมเริ่มหลอนเพราะไม่ว่าจะได้ยินเสียงหมาเห่า ใบไม้ไหว หรือหลังคาคลายตัว ก็ดันคิดไปเองว่าภรรยากลับมาถึงบ้านแล้ว

ไม่นานเกินรอ ผมและลูกชายก็ได้ยินเสียงกุญแจกรุ๊งกริ๊งพร้อมกับภรรยาหน้าตาสดใสที่กลับมาพร้อมอาหารเย็น ประสบการณ์ในวันนั้นเองที่ทำให้ผมทราบว่าภรรยาต้องอดทนมากแค่ไหนในแต่ละวัน ความเข้าใจนี้เองที่ทำให้ผมพยายามอย่างเต็มที่ที่จะพาเจ้าตัวเล็กออกห่างจากแม่บ้างอย่างน้อยวันละหนึ่งหรือสองชั่วโมง เพื่อให้คุณแม่มีเวลาส่วนตัวแบบไร้กังวล จะไปอาบน้ำ สระผม ชงกาแฟ แชทกับเพื่อน คุยกับเซลล์ เคลียร์เอกสาร หรือซื้อของออนไลน์ก็ตามสบาย

ในแวดวงเศรษฐศาสตร์ที่นับว่าชายเป็นใหญ่ จะมีมุกตลกเนิร์ดๆ ซึ่งผมเองก็เคยขำว่านักเศรษฐศาสตร์ไม่ควรแต่งงานกับสาวใช้ที่บ้านเพราะจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีลดลง เพราะหลังจากแต่งงานเราก็คงไม่จ่ายค่าตอบแทนสาวใช้ที่กลายมาเป็นภรรยาเพื่อทำงานบ้าน ซึ่งภาระความรับผิดชอบเรื่องงานบ้านรวมถึงการเลี้ยงดูลูกไม่เคยอยู่ในสมการการคำนวณจีดีพี

นี่คือสาเหตุที่เหล่านักเศรษฐศาสตร์สตรีนิยมมักปรามาสตัวเลขจีดีพี เพราะตัวเลขดังกล่าว ‘มองข้าม’ คุณค่าทางเศรษฐกิจของงานบ้านทั้งที่บ้านเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญอย่างยิ่ง

หลังจากได้อยู่ดูแลลูกแบบเต็มเวลา ผมอยากไปสะกิดบ่าตัวเองในอดีตและเหล่านักเศรษฐศาสตร์ว่าลองมาเลี้ยงลูกด้วยตัวเองดูสักวันไหม รับรองว่าจะได้รับแรงบันดาลใจอย่างเต็มเปี่ยมในการคิดค้นสมการจีดีพีใหม่ที่ผนวกรวมคุณค่าของงานบ้านเข้าไปอย่างแน่นอน

Tags:

พ่อบันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน

Author:

illustrator

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

คุณพ่อลูกอ่อน นักการเงินทาสหมา ที่ใช้เวลาว่างหลังลูกนอน (ซึ่งไม่ค่อยจะมี) ในการอ่าน เขียน และเรียนคอร์สออนไลน์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน(5): รูปลูกออนไลน์ โพสต์แค่ไหนถึงพอดี

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน (3): โกลาหลหลังคลอด และต้องลุ้นว่าน้ำนมจะมารึเปล่า

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่นBook
    บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน (2): ตามหาสูตรสำเร็จในการเลี้ยงลูก

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    บันทึกนักการเงินพ่อลูกอ่อน (1): ความไม่ง่ายของการตัดสินใจเป็นพ่อ

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เอกชัย กล่อมเจริญ: คุณพ่อช่างไม้ เลี้ยงเดี่ยว พาลูกเที่ยวและสอนให้ลงมือทำ

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ESSENCE แก่นสำคัญของการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่น
Adolescent Brain
24 July 2020

ESSENCE แก่นสำคัญของการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่น

เรื่อง The Potential ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

4 แก่นสำคัญของการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่น ที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในวัยผู้ใหญ่และการใช้ชีวิตในอนาคต หรือ ESSENCE

วัยรุ่นเป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทาย พัฒนาการทางสมองและความเปลี่ยนแปลงของสมองที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ ไม่ได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของวัยรุ่นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อความแข็งแกร่งและมั่นคงทางจิตใจ ความเปลี่ยนแปลงของสมองวัยรุ่นสัมพันธ์กับสภาวะทางจิตใจ 4 ส่วน ซึ่งแตกต่างจากวัยเด็กอย่างสิ้นเชิง

ที่เรียกว่า ESSENCE แก่นสำคัญของการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นที่จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในวัยผู้ใหญ่ และการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต

สภาวะทางจิตใจทั้ง 4 ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด การตอบสนองต่อสถานการณ์เฉพาะหน้าและการตัดสินใจ ซึ่งสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวก ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบได้ ดังนี้

หนึ่ง การจุดประกายทางอารมณ์ (Emotional Spark: ES) มนุษย์มีแรงขับและแรงผลักดันในการใช้ชีวิตจากภายในจิตใจอยู่แล้วตามธรรมชาติ ซึ่งทำงานอย่างเข้มข้นในช่วงวัยรุ่น แรงขับและแรงผลักดันนี้ช่วยสร้างความหมายและพลังชีวิตให้พวกเขาได้ แต่พลังงานนี้อาจเปลี่ยนเป็นความรุนแรงทางอารมณ์ที่แสดงออกในทางที่ผิดได้เช่นกัน หากอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (เช่น การถูกบูลลี่ (bully) โดนแกล้ง โดนล้อจากกลุ่มเพื่อน)

สอง การมีส่วนร่วมทางสังคม (Social Engagement: SE)

เป็นเรื่องของมิตรภาพ การเข้าสังคม และความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้คน ธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตรอบตัว ไม่เฉพาะแค่ในพื้นที่ของสังคมวัยรุ่นเอง ผู้ใหญ่ไม่ควรทำให้วัยรุ่นรู้สึกแปลกแยกจากสังคมผู้ใหญ่ แต่เปิดพื้นที่ให้พวกเขามีตัวตน ทั้งในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

วัยรุ่นไม่ควรตัดขาดตัวเองจากกลุ่มเพื่อนหรือสังคม เช่น การเล่นเกมออนไลน์ เก็บตัวอยู่คนเดียวมากเกินไป หรือถูกตัดขาดความสัมพันธ์กับผู้อื่น ถูกผลักออกจากสังคมใกล้ชิด เพราะนั่นทำให้พวกเขาไม่สามารถควบคุมหรือใช้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงทางสมองที่เกิดขึ้นในช่วงวัยนี้ได้

สาม ความสนใจใคร่รู้สิ่งแปลกใหม่ (Novelty: N)

วัยรุ่นมักมีแรงกระตุ้นหรือแรงบันดาลใจจากภายในให้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ที่ให้ความหมาย ให้คุณค่าและท้าทายกับชีวิต เป็นการกระตุ้นประสาทสัมผัส อารมณ์ความรู้สึก การคิดและร่างกาย แต่หากขาดการยับยั้งชั่งใจ ขาดการคิดไตร่ตรองอย่างมีสติ อาจนำไปสู่การทำสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงและเป็นอันตรายได้

สี่ การค้นคว้าอย่างสร้างสรรค์ (Creative Exploration: CE) การคิดนอกกรอบเพื่อจัดการปัญหาหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ผ่านการลงมือทำ ซึ่งอาจเกิดข้อผิดพลาด การวิพากษ์วิจารณ์หรือต้องเผชิญกับแรงกดดันรูปแบบต่างๆ หากวัยรุ่นไม่สามารถจัดการกับจิตใจตนเองได้ ไม่ได้รับความเชื่อมั่น ไว้ใจ และไม่ได้กำลังใจจากผู้ใหญ่ อาจทำให้ท้อแท้ หลงทาง และหมดความเชื่อมั่นในตนเอง

สำหรับวัยรุ่น สิ่งที่เกิดขึ้นกับสมองจากการขับเคลื่อนสภาวะทางจิตใจทั้ง 4 ส่วน ตามธรรมชาติแล้วจะดึงดูดให้พวกเขาออกไปผจญภัย สร้างพลังชีวิต สร้างความแจ่มใส ความตื่นเต้น ท้าทายและการได้รับการยอมรับจากผู้อื่น โดยเฉพาะในกลุ่มเพื่อน

มุมมองที่ผู้อื่นสะท้อนมายังพวกเขามีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อมั่นที่พวกเขามีต่อตัวเองด้วยเช่นกัน ดังนั้น แทนที่ผู้ใหญ่จะตัดสินความเป็นวัยรุ่นจากความเชื่อและทัศนคติเดิมๆ คัดง้าง และสร้างความกดดัน จนนำมาสู่ความขัดแย้งและการไม่เคารพซึ่งกันและกัน การโน้มน้าวด้วยการบอกเล่าถึงสิ่งที่ให้คุณค่า การพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจ การเปิดพื้นที่ให้ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน มีส่วนสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์และสร้างการยอมรับระหว่างกัน

อ่านบทความฉบับเต็มที่ “เอสเซนส์” 4 แก่นสำคัญของการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่น

Tags:

Adolescent Brainการจัดการอารมณ์ESSENCE

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Education trend
    ประเมินกำลัง หาวิธีปราบ ใช้ไอเท็มเสริม: จัดการความเครียดช่วงเปิดเทอมกับนักจิตวิทยาโรงเรียน

    เรื่อง เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to get along with teenager
    พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Adolescent Brain
    “เอสเซนส์” 4 แก่นสำคัญของการใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่น

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    คาแรกเตอร์สำคัญ 24 ข้อ: เป้าหมายการศึกษาสากลและคุณภาพชีวิตคนรุ่นใหม่

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ บัว คำดี

  • Adolescent Brain
    เหตุผลทางสมอง ทำไมวัยรุ่นชอบเรื่องท้าท้าย

    เรื่อง The Potential ภาพ antizeptic

7 วิธี ตั้งคำถามแบบโสเครติส
Learning Theory
24 July 2020

7 วิธี ตั้งคำถามแบบโสเครติส

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

การตั้งคำถามแบบ Socratic Questioning ทำอย่างไรได้บ้าง และเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนเกิดการคิดเชิงวิพากษ์ได้อย่างไร?

#การตั้งคำถามแบบโสเครติส ช่วยกระตุ้นให้นักเรียนเกิดทักษะคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) เพราะเปิดให้คิดเกี่ยวกับมโนทัศน์สำคัญที่ปรากฏในชีวิตประจำวันด้วยมุมมองที่หลากหลาย เกิดเป็นความเข้าใจใหม่ของนักเรียนขึ้นมา

นักเรียนได้สะท้อนคิดอย่างจริงจังบนความเข้าใจที่เขาเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเด็น เกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ เกิดความสงสัย และฝึกฝนให้ได้รู้จักไต่สวนจากหลักเหตุผล สุดท้ายเมื่อเขาเผชิญกับข้อมูลชุดใหม่ เขาจะเป็นคนที่จะไม่เชื่ออะไรโดยง่าย และนักเรียนจะกลายเป็นผู้ที่รู้จักการคิดและตรวจสอบสิ่งที่เขาได้รับมาเสมอๆ

นักการศึกษาที่สนใจการสอนแบบโสเครติส (Socratic pedagogy) เห็นว่าการสอนเช่นนี้ ครูจะเป็นผู้สังเกต เป็นผู้ช่วยเหลือแนะนำ ไม่ใช่เจ้าของความรู้ ที่สำคัญคือการพานักเรียนแบ่งปันความคิดผ่านการสนทนาด้วยคำถามกับเพื่อนร่วมชั้นเรียน

นี่คือ 7 วิธี การตั้งคำถามแบบโสเครติส

สรุปจากบทความ Designing Effective Project : Questioning The Socratic Questioning Technique และบทความ มุมมองใหม่การเรียนรู้ ศิลปะการตั้งคำถามโดยวิธีโสเครติส ของ รศ. มัณฑรา ธรรมบุศย์

เรียบเรียงโดย อรรถพล ประภาสโนบล

บทความฉบับเต็ม: ทำไมคำถามจึงสำคัญ? สร้างบทสนทนาในห้องเรียนด้วยคำถามแบบโสเครติส: อรรถพล ประภาสโนบล

Tags:

การฟังและตั้งคำถามอรรถพล ประภาสโนบลการตั้งคำถามแบบโสเครติส (Socratic Questioning)ทักษะคิดเชิงวิพากษ์(Critical Thinking)เทคนิคการสอน

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Learning Theory
    ทำไมคำถามจึงสำคัญ? สร้างบทสนทนาในห้องเรียนด้วยคำถามแบบโสเครติส : อรรถพล ประภาสโนบล

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล

  • BookLearning Theory
    วิจารณ์ พานิช: เป้าหมายของการเรียนรู้คือเปลี่ยนแปลงสมอง

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ บัว คำดี

  • 21st Century skills
    3 คำยอดฮิตที่คุณครูใช้กระทุ้งบรรยากาศการคิดของนักเรียนได้ตลอดกาล

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Character building
    ที่ปรึกษาให้ตัวละครในนิยาย : วิธีระบายความเจ็บปวดโดยไม่ต้องเล่าแต่เข้าใจ

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ antizeptic

  • Transformative learning
    ‘ก่อการครู’ เปลี่ยนห้องเรียนด้วยการ ‘ฟังอย่างลึกซึ้ง’ และ ‘ตั้งคำถามไม่รู้จบ’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

ห้องแนะแนวที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า อารมณ์ น้ำตา และคนรับฟัง ของครูต้น-เบญจวรรณ บุญคลี่
Unique Teacher
22 July 2020

ห้องแนะแนวที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่า อารมณ์ น้ำตา และคนรับฟัง ของครูต้น-เบญจวรรณ บุญคลี่

เรื่อง The Potential ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • จากครูที่เด็กๆ ไม่กล้าเข้าใกล้ กลายเป็นครูที่แค่อยู่ใกล้ๆ ก็ทำให้นักเรียนพร้อมจะแลกเปลี่ยนสุขทุกข์ หัวเราะและน้ำตาแตกในเวลาใกล้กันได้ ครูต้น – เบญจวรรณ บุญคลี่ ครูแนะแนวประจำโรงเรียนสามพรานวิทยา จังหวัดนครปฐม
  • “การฟังเป็นพื้นฐานของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เราต้องทำให้เด็กสบายใจที่จะพูด กล้าที่จะบอกความรู้สึก และให้เพื่อนรู้จักรับฟังกัน เพราะถ้าพูดแล้วไม่มีคนฟัง ก็ไม่รู้สึกว่าปลอดภัยหรืออยากจะเล่าให้ใครฟัง”
เรื่อง: ดวงใจ

“เมื่อก่อนนี้ครูเคยไปซื้อของที่ห้างฯ แล้วเจอเด็กๆ กำลังซื้อขนมอยู่ พอทั้งกลุ่มหันมาเห็นครู ก็วิ่งหนีกันไปหมดเลย เรารู้สึกแย่มาก ทำไมเด็กถึงวิ่งหนีทั้งที่เราเป็นครูแนะแนว หลังจากนั้นก็เลยมานั่งคิดว่าตอนเด็กๆ เราอยากได้ครูแบบไหน แล้วตอนนี้เราเป็นครูแบบนั้นหรือเปล่า”

หนึ่งในคำบอกเล่าของครูต้น-เบญจวรรณ บุญคลี่ ครูแนะแนวประจำโรงเรียนสามพรานวิทยา จังหวัดนครปฐม ที่เล่าถึงตัวเองในอดีต อันเป็นที่มาของจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในวิชาชีพ

เรากำลังเดินทางไปที่โรงเรียนสานพรานวิทยา จังหวัดนครปฐม ที่นี่มีชื่อเสียงเรื่อง ‘กีฬา’ มีห้องเรียนสำหรับนักกีฬา รวมถึงบ้านพักและสนามฝึกซ้อม เมื่อมาถึงก็พบกับภาพวาดขนาดใหญ่บนผนังอาคารเรียน เขาคือ ‘เจ – ชนาธิป สรงกระสินธ์’ นักเตะชื่อดังศิษย์เก่าของที่นี่

แต่วันนี้เราไม่ได้มาเพื่อพบกับเมสซี่เจ…

เสียงเพลงดังขึ้น บอกให้รู้ว่าถึงเวลาเข้าเรียนแล้ว เรารีบมุ่งตรงไปยังห้องแนะแนวที่มีเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กำลังนั่งล้อมวงกันอยู่ โดยมี ‘ครูต้น – เบญจวรรณ บุญคลี่’ เรียกเด็กๆ ให้มานั่งรวมกัน เราเลือกนั่งอยู่ตรงมุมห้อง ในจุดที่คิดว่าจะมองเห็นการเรียนการสอนทั้งหมด

‘สายธารชีวิต’ คือกิจกรรมในห้องเรียนแนะแนววันนี้ คาบเรียนของครูต้นดำเนินไปด้วยการที่นักเรียนเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเองตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน ผ่านภาพวาดที่เป็นเหมือนเส้นแม่น้ำ และนักเรียนเป็นผู้วาดเอง เสียงพูดคุยแลกเปลี่ยนสลับกับเสียงร้องไห้ระบายความอัดอั้นตันใจ ถ้าไม่บอกว่านี่คือห้องเรียน เรานึกว่าเป็นการนั่งล้อมวงคุยกันระหว่างเพื่อนสนิท 

“เราไม่อยากให้ความสัมพันธ์ในชั้นเรียนเป็นแบบครู – นักเรียน ที่นี่ทุกคนเท่ากัน กิจกรรมแนะแนวมันต้องสนุก มีเกมให้เล่น เด็กๆ สนุกไปกับสิ่งที่เราสอน” ครูต้นเริ่มต้นบทสนทนา บอกกับเราอย่างนั้น และอธิบายว่า “สายธารชีวิตคือการให้เด็กคิดทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้เขาเป็นเขาในวันนี้ และสำรวจว่าชีวิตมีจุดเปลี่ยนแปลงอะไร เป้าหมายในอนาคตคืออะไร ซึ่งแม่น้ำชีวิตของแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน” 

แต่ก่อนหน้านี้ครูต้นไม่ใช่ครูแนะแนวแบบนี้ เธอเป็นครูตามขนบทั่วไป ด้วยบุคลิกส่วนตัวที่ ‘แมนๆ’ ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีภาพจำของคุณครูผู้แสนอ่อนหวานอย่างครูแนะแนวในจินตนาการ และอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น เธอเคยเป็นครูที่เด็กๆ เลือกหลบหนีมากกว่าจะทักทายอย่างสนิทใจและเป็นกันเอง 

จุดเปลี่ยนของครูคืออะไร จากครูต้นที่เด็กๆ ไม่กล้าเข้าใกล้ กลายเป็นครูที่แค่อยู่ใกล้ๆ ก็ทำให้นักเรียนพร้อมจะแลกเปลี่ยนสุขทุกข์ หัวเราะและน้ำตาแตกในเวลาใกล้กันได้ รับชมได้ ณ บัดนี้ 

ก่อนอื่นเลย อยากทราบว่าทำไมถึงเลือกทำอาชีพครู

เราเรียนสายวิทย์ – คณิตฯ มา แต่พอจะเข้ามหาวิทยาลัยก็รู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นมีอยู่ 2 อาชีพที่ถูกคุณตาฝังมาในหัวว่าโตขึ้นต้องเป็น คือ ครูหรือไม่ก็พยาบาล เราก็เลยเลือกที่จะเป็นครู แล้วตอนนั้นรู้สึกว่าชื่อ ‘จิตวิทยาและการแนะแนว’ มันเท่ดี พอไปสมัครก็สอบผ่าน ตอนแรกก็เรียนเกี่ยวกับพื้นฐานจิตวิทยาทั่วไป เพราะอะไรคนถึงแสดงพฤติกรรมต่างๆ ตอนที่เรียนจบก็ยังไม่ทำงาน เพราะรู้สึกว่าระบบราชการมันมีเส้นสาย เลยไปขายของ แต่รายได้ไม่พอจุนเจือครอบครัว สุดท้ายเลยตัดสินใจสมัครเป็นครูที่โรงเรียนเอกชนใกล้บ้าน

ได้สอนวิชาแนะแนวตรงกับที่เรียนมาเลยไหม

ใช่ แล้วก็สอนวิชาอื่นบ้าง อย่างสังคมศึกษา พระพุทธศาสนา ภูมิศาสตร์ แต่ว่าด้วยระบบของโรงเรียน ทำให้ไม่ได้ทำงานแนะแนวอย่างเต็มตัว เราทำได้อย่างมากแค่แนะแนวให้กับเด็กที่กำลังจะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนเรื่องทุนการศึกษาก็ไม่ค่อยได้ทำ เพราะเด็กนักเรียนของที่นี่ส่วนใหญ่มีฐานะดีอยู่แล้ว ทำไปได้ 7 – 8 ปีก็เริ่มอิ่มตัว อยากลาออกไปทำนา แต่ก็มีจุดเปลี่ยนอีกคือคุณแม่ป่วยเป็นโรคไต ด้วยสภาพครอบครัวของเราคงดูแลไม่ได้เต็มที่ ก็เลยตัดสินใจสอบเข้ารับราชการ แล้วก็ได้บรรจุเป็นครูแนะแนวที่โรงเรียนสามพรานวิทยา

งานของครูแนะแนวที่นี่ต่างจากที่เดิมอย่างไรบ้าง

เราได้ทำงานแนะแนวมากขึ้น และเป็นครูประจำชั้นด้วย ต้องทำเรื่องทุนการศึกษา ต้องไปเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียนที่ประจำชั้นทุกคนเพื่อดูสภาพความเป็นอยู่ ได้ให้คำปรึกษาเรื่องการเรียนต่อ เด็กที่นี่ส่วนใหญ่ถ้าสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัยได้แล้วจะตัดสินใจเลือกที่นั่นเลย เราก็งงว่าเขาไม่คิดจะสมัครสอบที่อื่นอีกบ้างหรือ แต่พอได้ไปเยี่ยมบ้าน เห็นสภาพครอบครัว ถึงได้รู้ว่าเขาไม่ได้มีทางเลือกมากนัก ต้องรีบหาที่เรียนให้ได้ เพื่อเอาเวลาไปทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียน สภาพสังคมของนักเรียนที่นี่จะต่างจากโรงเรียนเอกชนที่เคยสอน ที่นั่นบางคนสอบติดวิศวะของมหาวิทยาลัยรัฐบาลชื่อดังในจังหวัด ก็ยังสละสิทธิ์เลย เพราะว่าเขามีครอบครัวซัพพอร์ต มีทางเลือกมากกว่า

ครูต้นเคยเป็นครูแบบไหน

ด้วยความที่ทำงานฝ่ายปกครองด้วย เราก็จะเป็นคนตึง มีระเบียบเป๊ะ เครื่องแต่งกาย ผม หน้า เล็บ เวลาสอนใครเข้าห้องช้าต้องลุกนั่ง แต่ถ้าเป็นห้องที่เราประจำชั้นเวลาทำผิดก็จะตี มีอยู่ครั้งหนึ่งเคยตีจนเรายกแขนไม่ขึ้น เพราะมีครูมาแจ้งว่าเด็กโดดเรียนเกือบทั้งห้อง เราตีเพราะคิดว่าถ้าเด็กทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ และครูก็มีหน้าที่อบรมสั่งสอน

แสดงว่านักเรียนต้องกลัวครูต้นมากๆ

นักเรียนก็จะไม่ค่อยกล้าคุยกับเรา เขาจะแค่ฟังเพื่อรับทราบอย่างเดียว ถ้าเราตักเตือนอะไรส่วนใหญ่ก็จะไม่ทำอีก เพราะว่ากลัวถูกลงโทษ เรื่องสะท้อนใจที่สุดคือเราเคยไปเดินซื้อของที่เทสโก้ โลตัส สามพราน เจอกลุ่มนักเรียนหญิง 5-6 คนกำลังยืนซื้อขนมอยู่ พอหันมาเจอเราก็วิ่งหนีกันไปหมดเลย ตอนนั้นเรารู้สึกว่า ‘เฮ้ย…เราเป็นครูแนะแนวนะ ทำไมเด็กต้องวิ่งหนี’ วันนั้นเรารู้สึกแย่มาก แต่ทุกวันนี้เลิกจับไม้เรียวแล้วนะ (ยิ้ม)

จริงหรือ อะไรที่ทำให้ครูสุดเฮี้ยบยอมทิ้งไม้เรียวของตัวเอง

ตอนปี 2560 เราได้รู้จักกับโครงการอบรมครูแนะแนวรุ่นใหม่ฯ ของ a-chieve เขามาท้าทายเราว่ามีวิธีการที่ทำให้เด็กรู้จักตัวเองโดยไม่ต้องใช้แบบทดสอบ เราอยากรู้ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตอนที่เรียนจิตวิทยามันต้องมีแบบทดสอบในการรู้จักเด็ก ก็เลยตัดสินใจไปอบรม ตอนที่ไปครั้งแรกก็นั่งฟังเฉยๆ เขาถามอะไรก็ไม่ค่อยตอบ ถ้าให้แสดงความคิดเห็นยิ่งเงียบเข้าไปใหญ่เลย แต่ทางโครงการฯ ก็ดีมาก เขาไม่ได้บีบให้เราพูด 

หลังจากอบรมครั้งแรกตอนเดือนเมษายน เราก็นำกิจกรรมที่เขาสอนกลับมาทดลองใช้ในห้องเรียน พอสังเกตตัวเองก็พบว่ามีความสุขกับการสอนมากขึ้น เวลาเจอเด็กดื้อก็ไม่ได้รู้สึกว่า โอ้โห ต้องสอนห้องนี้อีกแล้วหรือ เด็กๆ ก็สนุก และค่อนข้างให้ความร่วมมือกับกิจกรรมของเรา ต่อมาได้กลับไปอบรมอีกครั้งในเดือนตุลาคม คราวนี้ทุกคนบอกว่าเราเปลี่ยนไป เรากล้าพูดมากขึ้น เวลาเขาถามว่ามีใครอยากบอกอะไรไหม เราก็ยกมือโดยที่ไม่ต้องรอให้คนอื่นพูดก่อน แต่ก็ทำกิจกรรมหลายรอบเหมือนกันนะกว่าจะเปลี่ยนได้

“ตอนที่ไปอบรม เราต้องแสดงบทบาทสมมติ ทั้งที่ไม่ชอบเลย รู้สึกเขิน ประหม่ามาก ตอนที่แสดงก็คิดขึ้นมาได้ว่า เฮ้ย…เด็กบางคนก็คงจะรู้สึกแบบนี้เหมือนกัน เราที่เป็นครูในชั้นเรียนก็คิดแค่ว่าทำไมถึงทำไม่ได้ล่ะ แสดงแค่นี้เอง รีบทำสิเพื่อนรออยู่ เราไม่ได้คิดเลยว่าเด็กรู้สึกอย่างไร แต่พอไปยืนที่จุดนั้นถึงได้เข้าใจ …เข้าใจแบบที่เข้าไปในความรู้สึก ไม่ใช่เข้าใจแบบที่แค่อยู่ในความคิด” 

ความแตกต่างของครูต้นในเวอร์ชั่นก่อนอบรมและหลังอบรมคืออะไร

เรากลายเป็นครูที่ฟังแบบไม่ตัดสิน เมื่อก่อนนี้เราฟังในฐานะครูก็จะฟังแบบคิดไปด้วย ทำไมเธอไม่ทำแบบนั้น หรือทำแบบนี้ดีมั้ย บางครั้งก็สอนหรือบอกประสบการณ์ของตัวเอง แทนที่จะฟังให้จบ การฟังแบบไม่ตัดสินมันคือการเปิดโอกาสให้เด็กได้พูด นอกจากนี้วิธีจัดการกับปัญหาก็เปลี่ยนไป เราไม่ได้ลงโทษเด็กด้วยการตีแล้ว 

เคยสอนอยู่แล้วมีนักเรียนต่อยกันในห้อง เราก็เรียกมาคุย ถามว่าทำอย่างนี้มันโอเคไหม เพราะอะไรถึงทำ แล้วก็ให้คู่กรณีบอกว่ารู้สึกอย่างไรที่โดนกระทำ ถ้าเป็นไปได้อยากให้เป็นแบบไหน คิดว่าถ้าให้จบวันนี้จะแก้ปัญหาอย่างไร แล้วมันจะเกิดขึ้นอีกไหม เด็กจะคิดแล้วก็ขอโทษกันเอง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนเราคงจับเด็กส่งห้องปกครองไปเลย ความเป็นครูของเราตลอด 12 – 13 ปีเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง เรามองเห็นตัวเองว่าแต่ก่อนเป็นอย่างไร ตั้งคำถามว่าเราเคยอยากได้ครูแบบไหน แล้วเราเป็นครูแบบไหน ซึ่งก็ได้คำตอบว่าเราอยากได้ครูที่เป็นกันเอง เข้าใจ และรับฟังนักเรียน แต่ตอนนั้นเราไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย

รู้สึกผิดหวังกับ ‘ครูต้น’ ในอดีตไหม

ไม่ เรารู้สึกว่าเราก็สอนไปตามกระบวนการ ตามสิ่งที่เรียนรู้มา แล้วสิ่งที่เราทำก็ไม่ใช่เพราะความเกลียดหรือมีอคติกับเด็ก แต่อยู่บนพื้นฐานความเป็นครู ผู้มีหน้าที่ให้ความรู้และอบรมสั่งสอน ซึ่งตอนนั้นเข้าใจว่ามันรวมไปถึงการมีสิทธิ์ลงโทษด้วย แต่พอหลังจากอบรมถึงได้เข้าใจว่าการลงโทษคือการแสดงอำนาจเหนือกว่าของครูที่กระทำกับนักเรียน โดยความรักและหน้าที่ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ถูกต้อง มันเป็นการละเมิดสิทธิ์ในร่างกายและเนื้อตัวของเด็ก

เราเข้าใจว่าครูที่ยังตีเด็กเขาคงจะใช้ความเคยชิน หรือหาวิธีแก้ปัญหาอย่างอื่นไม่ได้ ถ้าเป็นเราเมื่อก่อนก็จะรู้สึกเฉยๆ แต่ตอนนี้มองว่ามันเป็นวิธีการของครูที่หมดมุก ไม่รู้จะทำอย่างไรก็เลยจบด้วยการตี สุดท้ายแล้วการตีก็ทำให้เขาหยุดแค่ชั่วคราว แต่การพูดคุยกับเด็ก เขาอาจจะยังไม่เชื่อหรือไม่ได้แก้ไขเลย แต่อย่างน้อยเขาก็ได้คิดทบทวน ซึ่งมันน่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้มากกว่า 

ถ้าไม่ดุหรือตีนักเรียนเลย แบบนี้ก็ถูกปีนเกลียวน่ะสิ

มันคือการสู้กับความรู้สึกตัวเองมากกว่า ว่าเด็กล้ำเส้นไปแล้วหรือยัง เราอยากทำให้เด็กเข้าใจว่าพวกเขามีสิทธิ์ที่จะทำ แต่ก็ควรเคารพคนอื่นด้วย ถ้าไม่เหมาะสมก็ต้องเตือน บางครั้งเด็กด่ากันข้ามหัว เราก็จะบอกว่า เฮ้ย ข้ามหัวครูแล้ว ทำอย่างไรดี เด็กก็จะขอโทษ แต่เราไม่ได้อยากได้คำขอโทษ เราอยากรู้ว่าถ้ามีครั้งต่อไปเขาจะทำอย่างไร

การที่นักเรียนกล้าเข้ามาหา มาพูดคุยกับเรา มันดีกว่าการที่เขาไหว้เพียงเพราะเราเป็นครูที่สอน ถ้าเป็นแบบนั้นพอไม่ได้เรียนกับเราแล้ว เขาก็ไม่สนใจเราอีก ถ้าเราเป็นครูที่วางฟอร์ม แต่เด็กไม่กล้าเข้าหา งั้นไม่ต้องมีฟอร์มก็ได้

ครูต้นคนใหม่ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนเปลี่ยนไปด้วยไหม

เปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนนี้เคยสอนด้วยการเปิดยูทูบ มีใบงาน มีแบบทดสอบ แต่พอไปอบรมมาแล้ว เราก็ขออนุญาตผู้อำนวยการและฝ่ายวิชาการว่า ขอใช้กระบวนการแบบนี้มาทดลองสอน เขาก็อนุญาต คาบแนะแนวของเราก็จะพาเด็กทำกิจกรรมนอกห้องเรียน เล่นเกมกู้ระเบิด เกมปิดตา เด็กก็จะสนุก ส่งเสียงกรี๊ดๆ อยู่ที่สนาม ก็รู้สึกว่ามันทำให้เราและเด็กมีความสุข

เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของนักเรียน ทำอะไรก็ต้องทำด้วยกัน เคยทำกิจกรรมอัพเดตชีวิต ให้เด็กร้องเพลงสักท่อนหนึ่งที่ตรงกับชีวิตตัวเองมากที่สุด เด็กบางคนก็ร้องไห้ และกล้าบอกความรู้สึกของตัวเอง วางใจเพื่อนในห้องแล้วเล่ามันออกมา บางคนก็อกหักบ้าง คิดถึงแม่บ้าง ไม่เคยเจอพ่อเลยบ้าง เด็กบางคนก็จะแซวว่าถึงตาครูบ้างแล้ว เราไม่เคยร้องเพลงก็ต้องร้องไปด้วย กลายเป็นว่าช่องว่างระหว่างครูกับนักเรียนลดลง ทั้งที่จริงกิจกรรมนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์อะไรเลย แค่อยากรู้ว่าตอนนี้เด็กแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง เราไม่คิดว่าแค่การร้องเพลงมันจะทำได้ขนาดนี้

กระบวนการสื่อสารที่ใช้ในห้องเรียนมีอะไรบ้าง

ในห้องเรียนนี้ทุกเสียงจะต้องถูกได้ยิน ซึ่งเราไม่ได้เป็นผู้ฟังแค่คนเดียว แต่จะให้เพื่อนๆ ของเขาฟังด้วย โดยจะมีกติการ่วมกันอยู่ 3 ข้อคือ หนึ่ง-ถ้ามีผู้พูด ต้องมีผู้ฟัง สอง-ฟังแบบไม่ตัดสิน สาม-พูดที่นี่ และจบที่นี่

บางครั้งมีเด็กคนหนึ่งกำลังเล่าเรื่องของตัวเอง แล้วเพื่อนไม่ฟัง เราก็จะบอกให้คนนั้นหยุดเล่าก่อน แล้วถามทุกคนในชั้นเรียนว่า “ตอนนี้เพื่อนกำลังเล่าเรื่องของตัวเอง เขาต้องการกำลังใจ เราจะช่วยเพื่อนอย่างไรดีนะ?” มันเป็นคำถามปลายเปิดให้เขาคิด สุดท้ายเด็กที่ซนๆ ก็จะเงียบไปเอง หรือเพื่อนๆ ก็จะช่วยกันเตือน

ส่วนการฟังแบบไม่ตัดสิน คือเราจะไม่คิดไปด้วยว่าทำไมเขาทำแบบนั้น หรือทำไมไม่ทำแบบนี้ และจะไม่สอนหรือแทรกประสบการณ์ แต่จะเปิดโอกาสให้เด็กพูดอย่างเต็มที่ นอกจากจะได้แสดงความรู้สึกแล้ว เขาก็เหมือนได้ทบทวนตัวเอง บางครั้งคำตอบก็อยู่ในคำถาม หรืออยู่ในเรื่องราวที่เขาเล่า เราเชื่อว่าเด็กมีความสามารถในการจัดการตัวเอง ถ้าได้คิดทบทวน 

พอหมดคาบแล้ว เคยมีฟีดแบ็กจากเด็กว่าชั้นเรียนของเราคือ “ห้องแห่งความลับ” เขาบอกว่าห้องนี้เล่าได้ทุกอย่าง แต่พูดแล้วจบที่นี่ 

การฟังเป็นพื้นฐานของการสร้างพื้นที่ปลอดภัย เราต้องทำให้เด็กสบายใจที่จะพูด กล้าที่จะบอกความรู้สึก และให้เพื่อนรู้จักรับฟังกัน เพราะถ้าพูดแล้วไม่มีคนฟัง ก็ไม่รู้สึกว่าปลอดภัยหรืออยากจะเล่าให้ใครฟัง

ทำไมต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในห้องเรียน

พื้นที่ปลอดภัยทำให้เด็กกล้าและมั่นใจที่จะคิด พูด และตัดสินใจ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกเรื่อง อย่างเช่นเขาจะกล้าคิดว่าอยากเป็นอะไร กล้าบอกเป้าหมายที่คิดในหัว กล้าบอกปัญหาบางอย่าง สุดท้ายนำไปสู่การตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าเขาไม่วางใจเพื่อนหรือครูในห้องเรียน ก็อาจจะไม่กล้าพูดมันออกมา

พอเด็กรู้สึกว่าเรามีพื้นที่ปลอดภัยให้เขา เขาก็จะกล้าคุย กล้าปรึกษาเรามากขึ้น อย่างตอนที่ทำกิจกรรมสายธารชีวิต มีเด็กผู้ชายคนหนึ่งไม่ยอมพูด ต้องข้ามไป พอท้ายคาบเราก็ถามว่าทำไมถึงไม่พูด เขาก็ร้องไห้บอกว่ามีปัญหาเรื่องการออกเสียง ถ้าพูดไปแล้วเพื่อนจะล้อ เราบอกว่าเดี๋ยวคาบหน้าช่วยบอกเพื่อนๆ หน่อยว่าเราเป็นอะไร เพื่อนจะได้เข้าใจว่าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาล้อ แล้วก็กำลังดูแลตัวเองอยู่ พอคาบต่อมาเขาก็เล่า แล้วก็บอกว่าไม่อยากให้เพื่อนล้อ หลังจากวันนั้นเขาก็กล้าพูดในชั้นเรียนมากขึ้น

เมื่อก่อนไม่รู้ว่าพื้นที่ปลอดภัยคืออะไร เราก็ควบคุมชั้นเรียน เด็กได้ความรู้ในแบบที่เราอยากจะให้ ไม่มีการทะเลาะวิวาท ก็คิดว่านั่นคือห้องเรียนที่ปลอดภัยแล้ว แต่พอได้สัมผัสจริงๆ คำว่าปลอดภัยต้องรู้สึกที่ใจด้วย 

ใช้เวลานานไหมกว่าจะมาเป็นห้องเรียนอย่างทุกวันนี้

เราใช้เวลากับเด็กมาเกือบครึ่งปีแล้ว มันมีวิธีการและคำพูดที่ทำให้เด็กรับรู้ว่าสามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้ แต่ความลึกของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน บางคนก็เล่าไม่หมดเพราะยังไม่วางใจ ส่วนคนที่วางใจแล้วก็จะแสดงความรู้สึกออกมาเต็มที่ เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องเล่าทั้งหมด ขอแค่กล้าที่จะพูดในวันนี้ ต่อไปเขาก็อาจจะรู้สึกวางใจมากขึ้น

นอกจากจะส่งผลดีกับนักเรียนแล้ว มันดีกับครูอย่างไรบ้าง

เราได้รู้จักและเข้าใจเด็กอย่างลึกซึ้งมากขึ้น เคยมีเด็กผู้หญิงมัธยมฯ ปลายคนหนึ่ง พูดจาไม่มีหางเสียง หน้าตาโคตรเหวี่ยงเลย รู้สึกได้ว่าเขาไม่ชอบขี้หน้าเรา เพราะเราจะคอยเฝ้าหน้าประตูโรงเรียนเพื่อตรวจระเบียบวินัย จนถึงคาบเรียนที่เราได้สอนเขา วันนั้นมีกิจกรรมสายธารชีวิต คือให้เล่าเรื่องของตัวเองตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน แล้วเด็กคนนี้เล่าว่าพ่อแม่แยกทางกัน เขาต้องไปอยู่กับแม่ ญาติที่อยู่ด้วยกันก็ไม่รักเขา ถูกดุด่าว่ากล่าวเป็นประจำ เขาต้องต่อสู้กับสถานการณ์นี้ด้วยคำพูดและกิริยาท่าทาง เราถึงได้เข้าใจว่าสาเหตุที่เขาเป็นแบบนี้ ไม่ใช่เพราะไม่ชอบขี้หน้าเรา แต่เขาต้องปกป้องตัวเองมาตลอด ถ้าไม่มีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาวางใจที่จะเล่าเรื่องนี้ เราก็จะไม่ได้รู้จักเขาจริงๆ

ครูมีหน้าที่สอนหนังสือก็พอแล้วไม่ใช่หรือ ไม่จำเป็นต้องทำแบบนี้

ครูไม่ใช่แค่สอนเนื้อหาความรู้ แต่ต้องรู้จักและเข้าใจเด็กด้วย ยิ่งวิชาแนะแนวเป็นวิชาชีวิต ถ้าเราเข้าใจเขา เราก็จะค่อยๆ พาให้เขาได้เรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องหรือเหมาะสม เป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่เรารู้ข้อมูลเกี่ยวกับเด็กเยอะๆ มันเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นครูนะ ไม่ใช่สิ่งที่เกินหน้าที่

ถ้าอย่างนั้นครูแนะแนวสำหรับครูต้นคืออะไร

แนะแนวคือการทำให้เขารู้จัก เข้าใจตัวเอง เข้าใจปัญหา และแก้ไขมันด้วยตัวเอง ส่วนเรื่องการแนะแนวอาชีพ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แบบทดสอบ เด็กบอกว่าแบบทดสอบก็เหมือนอาหารตามสั่ง คือมีคนปรุงมาให้แล้ว เราก็เลยใช้ ‘ตุ๊กตาขนมปัง’ เพื่อให้เด็กๆ คิดเมนูอาหารของตัวเอง โดยวาดตุ๊กตาตัวหนึ่ง แล้วให้เขียนสิ่งที่ชอบ ข้อดีและข้อเสียของตัวเอง เป้าหมายและความฝัน ปัญหาและอุปสรรค เพื่อให้เด็กรู้จักวิเคราะห์ ทบทวนตัวเอง และได้สะท้อนความรู้สึก ครูแนะแนวก็เหมือนเป็นโค้ชที่คอยช่วยดึงสิ่งเหล่านั้นออกมา  

วิชาแนะแนวไม่มีการสอบวัดผลเหมือนวิชาอื่นๆ แบบนี้จะประเมินนักเรียนอย่างไร

แนะแนวเป็นกิจกรรม ประเมินผ่านกับไม่ผ่านจากเวลาเรียนและการเรียนรู้ตามมาตรฐานแนะแนว เราสามารถประเมินผลได้หลายวิธี ยกตัวอย่าง การให้ความร่วมมือในชั้นเรียน ถ้าเด็กกล้าพูด กล้าเปิดเผย เราก็ให้คะแนนได้ในเรื่องการรู้จักและเข้าใจตนเอง การตัดสินใจและแก้ปัญหา ฯลฯ ซึ่งจริงๆ แล้วคะแนนมันก็แค่ส่วนหนึ่ง มันมีไว้ประเมินวิทยฐานะของครูมากกว่านะ (ยิ้ม)

บางครั้งก็ประเมินจากชิ้นงาน อย่างเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทุกคนจะต้องทำโปรเจ็กต์อิสระ จะกลุ่มหรือเดี่ยวก็ได้ โดยให้เลือกอาชีพที่สนใจ แล้วไปทดลองทำ 1 เดือน บางคนก็เป็นยูทูบเบอร์ ขายของออนไลน์ เลี้ยงกุ้งก้ามแดง พวกเด็กที่เป็นนักกีฬาก็จะสนใจเรื่องการสร้างกล้ามเนื้อ เวทเทรนนิ่ง ซึ่งที่โรงเรียนมีโค้ชต่างชาติมาสอนฟุตบอลที่โรงเรียน ก็มีเด็กคนหนึ่งไปขอช่วยงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการทีม จากนั้นก็เอามาสรุปที่หน้าชั้นเรียนให้เพื่อนๆ ฟัง ไม่ต้องทำรายงานเป็นรูปเล่มเลย ขอแค่มีหลักฐาน เช่น รูปถ่าย วิดีโอ อย่างกลุ่มที่ทำเวทเทรนนิ่ง วิธีพรีเซนต์ของเขาคือโชว์กล้าม เปิดซิกซ์แพ็กให้ทุกคนดู สิ่งที่เราได้เห็นคือเด็กบางคนก็ตัดสินใจได้ว่าจะไปต่อกับอาชีพนี้ หรือเปลี่ยนแนวไปทางอื่นดีกว่า ก็ถือว่าเกิดการเรียนรู้ เอามาใช้ประเมินผลการเรียนได้ 

แบบนี้ก็โกหกได้น่ะสิ

ก็มีคนที่ไม่ได้ทำจริงๆ นะ เด็กคนหนึ่งบอกว่าเลี้ยงปลาที่บ้าน แต่เพื่อนก็แซวให้เราได้ยินว่าซื้อมาจากที่ตลาด เราก็ถามเขาว่าแล้วได้เรียนรู้อะไรบ้าง ถ้าเขาไม่ได้เลี้ยงจริงๆ อย่างน้อยก็ต้องหาข้อมูลมาให้เนียนว่าต้องไปซื้อปลาที่ไหน มีขั้นตอนการเลี้ยงอย่างไรบ้าง ก็ถือว่าได้เรียนรู้แล้ว แต่ก็มีเด็กบางคนที่เราต้องให้เขาไม่ผ่าน เพราะไม่มาโรงเรียน ไม่ตามงาน พอไม่ผ่านแล้วก็ไม่ได้มาแก้ อันนี้เราถือว่าเขาไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย กรณีเด็กที่ไม่มาโรงเรียน อาจจะด้วยสาเหตุทางบ้าน หรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะไม่พูดกับเขานะว่าถ้าเรียนไม่ได้ก็ไม่ต้องเรียน แต่จะบอกว่าโรงเรียนยินดีต้อนรับเธอเสมอ ขึ้นอยู่กับว่าเธอจะมาหรือไม่มา เพราะเรานึกถึงคำพูดของป้ามล (ทิชา ณ นคร) ที่บอกว่า เมื่อไรที่ประตูโรงเรียนปิด ประตูคุกก็เปิดรอเด็กอยู่แล้ว

ปัญหาอันดับต้นๆ ในโรงเรียนคือเรื่องการบูลลี่ มองประเด็นนี้อย่างไร

มันเป็นเรื่องที่มีข่าวให้เห็นตลอด และเกิดขึ้นกับเด็กอายุน้อยลงเรื่อยๆ มีทั้งคนที่ถูกบูลลี่ทำร้ายตัวเอง หรือทำร้ายคนอื่น ซึ่งเขาคงจะรู้สึกว่ามันกระทบจิตใจรุนแรง ถึงได้ตัดสินใจแบบนั้น เด็กบางคนเวลาผ่านไปหลายปีแล้ว แต่ถ้าพูดถึงปุ๊บก็ร้องไห้ แสดงว่ามันยังอยู่ในความทรงจำของเขา เราก็พยายามเตรียมแผนการสอนเรื่องนี้ เอาข้อมูลเรื่องวิชาชีวิตของป้ามล กับเทคนิคการสอนของ Inskru มาปรับใช้ 

เคยทดลองกับเด็กมัธยมศึกษาปีที่ 4 เราให้เขาเขียนคำที่ตัวเองไม่ชอบลงในกระดาษ แล้วบอกให้เพื่อนในห้องรู้ว่าไม่ชอบคำนี้เพราะอะไร บางคนเขียนคำว่า “ไอ้แว่น” เพราะเพื่อนเรียกจากที่เขาใส่แว่น เด็กที่เป็นนักกีฬาก็เขียนคำว่า “ขี้เกียจ” เพราะถูกโค้ชดุ บางคนเขียนคำว่า “ดำ” เพราะเขาเป็นคนผิวเข้ม แล้วเพื่อนชอบล้อ จากนั้นเราจะชวนคิดว่า บางครั้งเราพูดอะไรโดยที่ไม่คิดถึงใจคนอื่น สิ่งนั้นมันก็จะอยู่ในใจเขา จนเก็บมาคิดมาก ซึ่งอาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ พอรู้ว่าเพื่อนไม่ชอบคำนี้แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป หรือจะไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายแล้วต้องเคารพการตัดสินใจของเด็กว่าจะทำอย่างไร เราคิดว่าในฐานะครูที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กๆ ควรทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เรื่องพวกนี้มันเบาลง

ตอนนี้สนุกกับการสอนแล้วใช่ไหม

2 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่หลังอบรมเราก็รู้สึกมีความสุขกับห้องเรียน มีความสุขกับการสอน ทั้งๆ ที่บางคาบเด็กก็ไม่ได้ให้ความร่วมมือกับเราเต็มร้อยนะ แต่เราก็จะนึกถึงตอนที่ไปดูบ้านกาญจนาภิเษกของป้ามล ที่นั่นทำให้รู้ว่ามันจะมีวันที่เด็กหันด้านที่สว่างให้เรา แต่ก็มีบางวันที่จะหันด้านมืดให้เราเช่นกัน วันไหนที่เป็นด้านมืดก็อย่าไปเฟลมาก

ป้ามลบอกว่าเขาต้องทำงานกับคนปลายน้ำ เราโชคดีเสียอีกที่ได้อยู่กับเด็กๆ ที่เป็นคนต้นน้ำ แล้วทำไมเราจะไม่สร้างให้เขาดีมาตั้งแต่ต้นน้ำเลยล่ะ

ถ้าเรามีครูแบบนี้เยอะๆ ก็คงจะดี

ถ้าไม่ได้เจอกับ a-chieve และไม่ได้อยู่ในสภาพแวดล้อมโรงเรียนที่ดี เราก็คงยังเป็นครูต้นในแบบเดิม ต้องขอบคุณทีมนี้ที่ทำให้เราเปิดใจ ได้พูด ได้เห็น ได้สัมผัส แล้วก็ขอบคุณตัวเองที่กล้าที่จะเปลี่ยน ถึงจะเปลี่ยนครูทุกคนไม่ได้ แต่มันเริ่มเปลี่ยนได้ที่ตัวเรา ที่คาบเรียนแนะแนวของเรา

Unique Teacher 

นิยาม 3 คำของความเป็นครูต้น

“ไว”

ถ้าเป็นสิ่งที่เราใส่ใจหรือให้ความสนใจ แค่นิดเดียวก็รู้สึกได้ อย่างท่าทางของนักเรียน บรรยากาศในห้องเรียนที่แปลกไป สายตาที่เด็กๆ มองกัน ก็รู้แล้วว่าไม่ปกติ จากนั้นก็ค่อยสืบจากเด็กๆ ในห้องว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ถ้าเป็นสิ่งที่ไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจ ก็จะไม่รับรู้เลย เพื่อนที่สนิทกันมากๆ ก็ทักว่าเราเป็นแบบนี้

“จริงใจ”

เป็นคนที่ไม่พูดโกหก อะไรที่ทำแล้วไม่มีความสุข ฝืนความรู้สึกตัวเอง ถ้าเลี่ยงได้ก็จะไม่ทำ ต่อให้ปฏิเสธไปแล้วเขาอาจจะเสียใจ แต่เรารู้สึกว่าเราได้พูดในสิ่งที่อยากบอก แล้วก็เวลาที่ทำอะไรให้นักเรียนหรือคนอื่นๆ ก็จะทำเพราะอยากทำ มันออกมาจากใจ ไม่ใช่ว่าทำไปเพราะหน้าที่ หรือทำเพื่อสร้างภาพ แต่ถ้าไม่ชอบก็จะไม่ทำให้ คำว่า “จริงใจ” นี่ล่ะที่เป็นตัวเราที่สุด

“มั่นคง”

เรามั่นคงต่อความรู้สึกและความคิดของตัวเอง และถ้าคิดหรือรู้สึกอะไรแล้วก็จะเปลี่ยนค่อนข้างยาก

Tags:

เทคนิคการสอนกลั่นแกล้ง(bully)unique teacherพื้นที่ปลอดภัยวิชาแนะแนวเบญจวรรณ บุญคลี่

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Photographer:

illustrator

ศรุตยา ทองขะโชค

ออกเดินทางเก็บบันทึกห้วงอารมณ์ความสุขทุกข์ผ่านภาพถ่าย ร้อยเรียงความคิดในใจก่อนลั่นชัตเตอร์ ภาพทุกภาพล้วนมีเรื่องราวและมีที่มา ตัวเราเองก็เช่นกัน ในอนาคตอยากทำหลายอย่าง หนึ่งในลิสต์ที่ต้องทำแน่ๆ คือออกไปเผชิญโลกที่กว้างกว่าเดิม เพื่อบันทึกเรื่องราวที่เติมเต็มจิตใจให้พองฟูได้มากกว่าเดิม

Related Posts

  • Unique Teacher
    เด็กผู้ชายชอบสีชมพู นักเรียนติครู ความปกติในห้องเรียนอนุบาลของ ‘ครูนกยูง’ ปานตา ปัสสา

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Voice of New Gen
    Deschooling Game ถอดวิธีคิดคนสร้างเกม ออกแบบประสบการณ์อย่างไรให้รู้สึกรู้สมจนอยากเปลี่ยนแปลง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Unique Teacher
    ห้องเรียนที่เท่ากัน กับ ความจริงใจที่ไม่ต้องเอาอะไรมาแลก ของครูโปเต้ ธนา เอี่ยมบำรุงทรัพย์

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Learning Theory
    ชวนครูสร้างพื้นที่ปลอดภัย ช่วยให้นักเรียนกล้าเสี่ยงที่ผิดพลาด แล้วเขาจะเติบโต

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชครูใหม่ วิมลศรี ศุษิลวรณ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    SEX EDUCATION ควรรู้ของเด็กวัย 5-8 ปี

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

จุดร่วม 8 ข้อของประเทศที่มีการศึกษาคุณภาพสูง: สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ จีน ออสเตรเลีย
Creative learningEducation trend
22 July 2020

จุดร่วม 8 ข้อของประเทศที่มีการศึกษาคุณภาพสูง: สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ จีน ออสเตรเลีย

เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิชปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ภาพ อัยยา มัณฑะจิตร

  • พาไปดูวิธีคิดและนโยบายทางการศึกษาของ 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ จีน (เซี่ยงไฮ้) ออสเตรเลีย แคนาดา และฟินแลนด์ ที่ใช้การวางรากฐานระบบการศึกษาของคนในชาติ มาแก้ปัญหาในบริบทที่ต่างกัน จนสามารถพลิกจากประเทศที่ล้าหลังขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการศึกษาของโลกภายในเวลาไม่ถึงสามสิบปี
  • ทำความรู้จักลักษณะร่วม 8 ประการของการศึกษาคุณภาพสูง จากการถอดบทเรียนการพัฒนาการศึกษาของทั้งห้าประเทศ

เวลานี้สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในประเทศและทั่วโลกกำลังส่งสัญญาณที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคในครั้งนี้ ทำให้เราเห็นรากของปัญหาต่างๆ ในสังคม ความไม่เท่าเทียมที่ถูกกวาดซ่อนไว้ใต้พรม และกลับมาตั้งคำถามทั้งกับตัวเองและสังคมถึงสาเหตุของปัญหาเพื่อตั้งรับและเตรียมรับมือสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 

หนึ่งในนั้นคือ เรื่องการศึกษา ที่จะพูดไปก็เหมือนไก่กับไข่ บ้างว่าปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นจากการที่คนได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียม บ้างว่าการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมเกิดจากความไม่เท่าเทียมในสังคม บ้างว่าเป็นโครงสร้างของระบบที่สายเกินแก้ เกิดเป็นวงจรทับซ้อนจนจับต้นชนปลายไม่ถูก 

แต่ไม่ว่าต้นสายจะคืออะไร ไม่มีปัญหาไหนที่สายเกินแก้ ชวนมาดูวิธีพัฒนาระบบการศึกษาของประเทศที่วันนี้ได้ชื่อว่ามีการศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก กว่าจะมาถึงจุดนี้บางประเทศเริ่มนับจากศูนย์ บางประเทศต้องเริ่มจากติดลบ เขาแก้เกมการศึกษานี้อย่างไร และทำสำเร็จได้อย่างไร 

มาร่วมคิดวิเคราะห์ และต่อไฟความหวังของการศึกษาไทย สร้าง new normal ที่ดีกว่าเดิม กับบทเรียนจากการปฏิรูปการศึกษาของ สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ จีน และออสเตรเลีย

เนื้อหาต่อจากนี้มาจากหนังสือการศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก ซึ่งเป็นการรวมบันทึกการตีความ (ไม่ใช่แปล) ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช จากหนังสือ A World-Class Education: Learning from International Models of Excellence and Innovation (2012) เขียนโดย Vivien Steward 

“การศึกษาในปัจจุบันจะต้องมุ่งพัฒนาเด็กให้ไปมีชีวิตที่ดีในอนาคต เข็มมุ่งหลักมี 2 ประการ คือ สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาและเสาะหาทักษะที่ต้องการสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับบริบทและวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ” 

สิงคโปร์ : สร้างประชากรคุณภาพสูงด้วยการศึกษาที่ส่งเสริมและสอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ 

สิงคโปร์เริ่มวางรากฐานการศึกษา หลังจากได้รับเอกราชและตั้งเป็นประเทศในปี ค.ศ. 1965 หากย้อนกลับไปในขณะนั้นจิตวิญญาณของคนสิงคโปร์ คือ ความอยู่รอด ในสังคมที่ไร้ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนยากจน และไม่มีระบบการศึกษาภาคบังคับ รัฐบาลภายใต้ภาวะผู้นำของ ลี กวน ยู จึงต้องสร้างทุกอย่างขึ้นมาจากศูนย์ โดยมุ่งเน้นการสร้างสังคมที่ปราศจากการคอร์รัปชัน 

วันนี้สิงค์โปร์เป็นที่รู้จักในฐานะประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาคุณภาพสูงและมีประชากรคุณภาพและสุขภาวะที่ดีในอันดับต้นๆ ของโลก

“สิงคโปร์มีวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ ที่มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องจัดการศึกษาคุณภาพสูงให้แก่พลเมืองเพราะทรัพยากรหลักสำหรับความอยู่รอดและอยู่ดีของประเทศสิงคโปร์ คือ ทรัพยากรมนุษย์”

เคล็ดลับ คือ เขาออกแบบระบบการศึกษาตามแนวทางการพัฒนาประเทศที่แบ่งออกเป็น 3 ยุค คือ 

  • ยุคที่ 1 เพื่อความอยู่รอด (1959-1978) 
  • ยุคที่ 2 เพื่อประสิทธิภาพ (1978-1996) 
  • ยุคที่ 3 ความรู้โลก (1990s-ปัจจุบัน) 

ในยุคที่ 2 หลังพบว่ามีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวนมาก เขาจึงออกแบบการศึกษาใหม่ให้มี 3 เส้นทาง คือ สายวิชาการ สายโปลีเทคนิค และสายอาชีวะ โดยทุกสายสามารถข้ามไปข้ามมาได้ เพื่อให้เด็กทุกคนได้เรียนตามความถนัด ความชอบ และความสามารถของตัวเอง เขามองว่าการส่งเสริมการศึกษาคือการยกระดับพลเมืองซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

เปลี่ยนผ่านจากเศรษฐกิจแบบใช้แรงงาน สู่เศรษฐกิจแบบใช้ทุนและทักษะ มีการจัดตั้ง ITE (Institute for Technical Education) เป็นสถาบันการศึกษาหลังระดับมัธยม รับคนที่เรียนจบมัธยมแล้ว (เกรด 10) หรือผู้ใหญ่ที่ต้องการเปลี่ยนงานเข้าศึกษา ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้คนสิงคโปร์เห็นคุณค่าของการศึกษาสายอาชีวะมาถึงปัจจุบัน และตอกย้ำด้วยการรณรงค์ว่า Hands-on, Minds-on, Hearts-on เพื่อย้ำว่าอาชีวศึกษาไม่ใช้แค่เพียงการฝึกทักษะทางมือ แต่ยังเป็นการฝึกทักษะทางจิตใจและหัวใจด้วย 

เมื่อเข้าสู่ยุคที่ 3 เพื่อให้ทันต่อโลกที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคค้นพบและประยุกต์ความรู้ใหม่ การศึกษาของสิงคโปร์จึงเพิ่มการเน้นด้านนวัตกรรม ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และการวิจัย โดยรัฐบาลส่งเสริมทึนวิจัยและดึงดูดนักวิทยาศาสตร์ตัวท็อปเข้าไปเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยมีคำขวัญทางการศึกษาว่า “Thinking Schools, Learning Nation” นอกจากนั้น ยังมีการส่งเสริมคุณภาพครู กระจายอำนาจให้ครูมีอิสระในการดำเนินการ ประกาศใช้นโยบาย “Teach Less, Learn More” ส่งเสริมการใช้ไอที ศิลปะ และดนตรี ในหลักสูตรให้มากขึ้น รวมทั้งเน้นการเล่นสำหรับเด็กเล็กเพื่อกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของเด็ก 

แคนาดา: ยกระดับผลลัพธ์การเรียนรู้ของโรงเรียนทั้งในเมืองและชนบทไปพร้อมๆ กัน

ประเทศแคนาดานั้นเป็นสหพันธรัฐที่ประกอบด้วย 10 รัฐ (Province) และ 3 พื้นที่ (Territory) การศึกษานั้นจัดการโดยรัฐ ไม่ใช่รัฐบาลกลาง ในที่นี้จะยกตัวอย่างรัฐที่มีการศึกษาคุณภาพสูง คือ Alberta และ Ontario

Alberta มีภูมิศาสตร์เป็นทุ่งหญ้ากว้าง มีพลเมืองเพียง 3.5 ล้านคน โดยเป็นนักเรียนถึงหกแสนคน แนวทางของที่นี่ คือ การให้ความสำคัญกับครู ทั้งความไว้ใจในการออกแบบการเรียนการสอน มีหลักสูตรคุณภาพสูงที่ครูเป็นผู้ออกแบบและพัฒนา ให้อำนาจครูในการบริหารและประยุกต์ใช้หลักสูตร และการยกย่องให้เกียรติวิชาชีพครู เป็นอาชีพที่ได้รับความนับถือและมีเงินเดือนสูง จึงดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามาเป็นครู 

นอกจากนั้น ครูทุกคนต้องเสนอแผนพัฒนาตนเองประจำปีโดยแผนนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักสูตรของโรงเรียน และของรัฐโดยที่ครูเป็นผู้เสนอวิธีการบรรลุแผนพัฒนาตนเอง และยังมี โปรแกรมการวิจัยชั้นเรียน (Alberta Innitiative for School Improvement) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ครูในโรงเรียนรวมตัวกันสร้างนวัตกรรมในการเรียนการสอน การทำงานเป็นทีมครู และสร้างการผูกพันกับนักเรียน (Student Engagement) รวมทั้งศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นในห้องเรียน มีคลังข้อมูลกิจกรรม และมีการจัดประชุมวิชาการประจำปีเพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้ให้ทั่วถึงทั้งรัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการใช้ข้อมูลเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนของครูแต่ละคน 

อีกประการที่สำคัญ คือ การขับเคลื่อยนโยบายสร้างการเปลี่ยนแปลง ในปี ค.ศ. 2010 กระทรวงศึกษาธิการได้จัดกระบวนการสอบถามความเห็นจากสาธารณะด้านนโยบายการศึกษา (Public Engagement) ผ่านทางออนไลน์ โดยส่งอีเมลไปยังประชาชนเพื่อถามว่า การศึกษาของรัฐอัลเบอร์ต้าควรเป็นอย่างไรในอีก 20 ปีข้างหน้า และมีการสื่อสารกับประชาชนก่อนหน้านั้นเพื่อชี้ให้เห็นว่านำ้มันและก๊าซธรรมชาติที่สร้างรายได้หลักให้รัฐจะต้องหมดไปในไม่ช้า ต่อจากนั้นความอยู่ดีกินดีภายในรัฐจะขึ้นอยู่กับทรัพยากรมนุษย์ ไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติอีกต่อไป ความเห็นที่ได้นั้นกลายมาเป็นรายงานชื่อ Inspiring Change เสนอเป็นนโยบายจัดการศึกษาเพื่อเตรียมเยาวชนสู่อนาคต ไม่ใช่จัดตามอดีตของผู้ใหญ่อีกต่อไป

รัฐ  Ontario เป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุดในแคนาดา มีนักเรียนกว่าสองล้านคน และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 27 เป็นผู้อพยพเข้าเมือง นักเรียนจึงมีความแตกต่างหลากหลายมาก ที่นี่มีแนวทางการพัฒนาการศึกษาที่แตกต่างจากรัฐอัลเบอร์ต้าโดยสิ้นเชิง ซ้ำยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างครูในระบบและรัฐบาลมายาวนาน จนในปี 2004 มีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี และปรับนโยบายมาเป็นมิตรกับครู จัด Ontario Education Partnership Table ชี้ให้เห็นว่าการปฎิรูปจะไม่มีทางสำเร็จด้วยรูปแบบ Top-down แต่ต้องดึงทุกฝ่ายมาร่วมกันพัฒนาการศึกษา ให้อำนาจแต่ละเขตพื้นที่การศึกษาและโรงเรียนตั้งเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ของตนเอง และวางแผนรวมกันในการดำเนินการ 

อีกทั้งเพิ่มครูดนตรี ศิลปะ และกีฬาในระดับประถมศึกษา เพื่อให้ครูประจำชั้นมีเวลาดูแลพัฒนาการของเด็กแต่ละคนมากขึ้น ในระดับมัธยม มีการจัดตั้ง Student Success Innitiative เพื่อค้นหาสัญญาณของเด็กที่จะออกจากโรงเรียนกลางคัน และมีมาตรการช่วยเหลือ ทั้งเด็กที่เบื่อเรียน และการฝึกทักษะร่วมกับบริษัทเอกชนเพื่อเพิ่มรายได้ให้เด็กนักเรียน 

นอกจากการเน้นประสิทธิภาพของครูแล้ว กลไกการจัดการการศึกษาของแคนาดาจัดโดยรัฐไม่ใช่รัฐบาลกลาง จึงทำให้มีความคล่องตัวในการประยุกต์และตัดสินใจตอบสนองต่อปัญหาในบริบทที่แตกต่างกันได้ดีกว่า และในภาพรวมระดับประเทศ มีเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างรัฐทั้งที่ผ่านกระทรวงและผ่านกลไกทางวิชาการ 

ฟินแลนด์: การพัฒนาจากประเทศเกษตรกรรมที่มีพลเมืองจบมัธยมเพียงร้อยละ 40 สู่ประเทศที่มีการศึกษาอันดับหนึ่งของโลก และเด็กจบมัธยมร้อยละ 99 ภายในสามสิบปี 

หากย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1970 ขณะนั้นอาชีพหลักของชาวฟินแลนด์คือทำป่าไม้ และเกษตรกรรม มีเพียงร้อยละ 40 ของประชากรเท่านั้นที่เรียนจบชั้นมัธยมปลาย แต่เมื่อสามสิบปีผ่านไป ชื่อของฟินแลนด์สามารถทะยานขึ้นสู่อันดับหนึ่งของ PISA ในด้านผลสัมฤทธฺ์ทางการศึกษาของเด็กอายุ 15 ปี และที่สำคัญผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนนี้ยังมีความแตกต่างกันน้อยมาก (น้อยกว่าร้อยละ 5) ปัจจุบัน 99% ของเด็กฟินแลนด์จบการศึกษาภาคบังคับในระดับมัธยมต้น (เกรด 9) เมื่ออายุ 16 ปี และใช้งบประมาณประเทศอยู่ในระดับปานกลาง (เมื่อเทียบกับนานาประเทศ ซึ่งไทยอยู่ในกลุ่มใช้งบด้านการศึกษาสูงสุดของโลก) 

เบื้องหลังความสำเร็จนี้มาจากการที่รัฐสภาออกกฏหมาย เพื่อจัดการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี ที่มีคุณภาพให้กับเด็กทุกคน ไม่เกี่ยงว่าพ่อแม่จะมีฐานะหรืออาชีพใด หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ใดของประเทศ ทุกคนมีสิทธิเข้าเรียนใน Common School โดยมีทั้งการซื้อโรงเรียนเอกชนมาพัฒนาต่อ ซื้อตัวครูเก่งๆ จากโรงเรียนเอกชนมาสอน พัฒนาหลักสูตรใหม่ระดับชาติโดยมีครูแกนนำจากทั่วประเทศมาร่วมพัฒนา 

เขาเห็นว่า การจะบรรลุเป้าหมายทางการเรียนของเด็กทุกคนได้ ต้องมีการผลิตครูที่มีความรู้และทักษะชุดใหม่ มีการกำหนดมาตรฐานว่าครูต้องจบการศึกษาระดับปริญญาโท และยกย่องวิชาชีพครูว่าเป็นอาชีพของคนที่มีความรู้ความสามารถ มีความน่าเชื่อถือและอิสระในการทำงาน จนกลายเป็นอาชีพยอดนิยม ที่คนต้องสอบแข่งขันกันเข้ามาเป็นครู 

พร้อมกันนั้นยังชูนโยบาย No Child Left Behind ที่เอามากางดูจะพบว่า ครูทุกคนถูกฝึกให้มีทักษะในการวินิจฉัยเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือทั้งในด้านการเรียนและความเป็นอยู่ และมีทักษะในการให้ความช่วยเหลือเด็ก มีครูพิเศษสำหรับช่วยเหลือเด็กด้านการเรียน มีทีมบริการสุขภาพร่วมดูแล และในทุกโรงเรียนมี “ทีมช่วยเหลือเด็ก” ที่ประกอบไปด้วย ครูใหญ่ ครูประจำชั้น ครูพิเศษ และนักจิตวิทยา ที่ประชุมและประเมินเด็กอย่างสม่ำเสมอ และหากเกินกำลังของโรงเรียน ทางเทศบาลก็มีหน่วยช่วยเหลือพิเศษรองรับอีกด้วย และมอบอิสระให้โรงเรียนเป้นผู้จัดการหลักสูตรและสร้างนวัตกรรมการเรียนการสอน 

นอกจากนั้น การเรียนในชั้นมัธยมต้น นักเรียนแต่ละคนสามารถออกแบบหลักสูตรของตัวเองได้ (โดยมีครูคอยแนะนำ) นักเรียนแต่ละคนจึงมีตารางเรียนแตกต่างไปตามความสนใจของแต่ละคน แถมยังเป็นการเรียนที่เน้นความเป็นพลเมืองโลก โดยเรียนเป็นภาษาฟินนิชแล้วเพิ่มภาษาต่างประเทศอีก 2 ภาษา 

เมื่อการศึกษาขั้นพื้นฐานถึงมัธยมต้นได้รับผลตอบรับอย่างดี จึงทำให้มีความต้องการศึกษาต่อในชั้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยเพิ่มมากขึ้น เขาจึงออกแบบการเรียนเป็นระบบ Module ที่นักเรียนสามารถออกแบบโปรแกรมการเรียนตามวิชาที่ตัวเองสนใจ และเเบ่งออกเป็น สายอาชีพ กับ สายวิชาการ ซึ่งทั้งสองสายสามารถเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยได้ การปฏิรูปนี้ส่งผลให้คนฟินแลนด์ อายุ 20-30 ปี จบการศึกษาระดับอุดมศึกษาถึงร้อยละ 43 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในยุโรป

จีน: จากปฏิวัติวัฒนธรรม สู่การปฏิรูปการศึกษา พลิกฟื้นระบบการศึกษาที่ถูกทำลายสู่การศึกษาคุณภาพอันดับหนึ่งของโลก ภายใน 20 ปี

ผลพวงจากยุคปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976) ระบบการศึกษาของจีนถูกทำลาย แต่หลังจากนั้นไม่นาน ในปี 2009 จีนส่งมณฑลเซี่ยงไฮ้ ซึ่งมีประชากรกว่า 50 ล้านคน และเขาหมายมั่นว่าเป็นมณฑลที่มีความก้าวหน้าทางการศึกษาที่สุดเข้ารับการประเมิน ผลคือ จีนได้อันดับหนึ่งของโลก ทั้ง 3 วิชา คือ การอ่าน วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ 

ที่มาของความสำเร็จนี้ เกิดจากการมุ่งมั่นเอาจริงที่จะพัฒนาการศึกษา โดยสร้างวัฒนธรรมให้คุณค่าต่อการเรียน เชื่อว่าการศึกษาจะช่วยยกระดับฐานะในสังคม 

จีนมีระบบจอหงวนที่ให้คุณค่ากับความสามารถ ฝังรากในสังคมมากว่าพันปี ซึ่งความเชื่อนี้สะท้อนให้เห็นการให้ค่าในความขยันหมั่นเพียรมากกว่าความฉลาด ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกว่า กระบวนทัศน์พัฒนา (Growth Mindset) บวกกับวิสัยทัศน์ที่มุ่งประยุกต์ความรู้ให้เกิดผลที่ตัวผู้เรียน ในปี ค.ศ. 1988 จีนออกกฏหมายการศึกษาภาคบังคับ 9 ปี จนถึงชั้นมัธยมต้น และด้วยความกระหายในการศึกษาของจีน ทำให้การศึกษาภาคมัธยมปลายขยายตัวตามเช่นกัน โดยจีนออกแบบให้มีทั้งสายอาชีวะ และสายวิชาการคู่กัน เพื่อตอบสนองการขยายตัวของภาคการผลิตของประเทศ ปัจจุบัน ระบบการศึกษาของจีนมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีนักเรียนระดับประถมและมัธยมถึง 200 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 20 เปอร์เซ็นของนักเรียนทั้งโลก

อีกเคล็ดลับสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาของจีน คือเริ่มจากการศึกษาตัวอย่างของประเทศชั้นนำกว่า 30  ประเทศ แล้วนำมาทดลองปรับใช้ในบางมณฑลในรูปแบบมณฑลนำร่อง เลือกเอาส่วนที่ประสบความสำเร็จมาขยายผลไปยังมณฑลอื่นๆ อย่างรวดเร็ว ในส่วนหลักสูตรก็หันมาเน้นการเรียนแบบสหวิทยาการ ยกเลิกการท่องจำตามครูและการสอบวัดความรู้ มาเป็นการสอบความคิดสร้างสรรค์และการประยุกต์ใช้ความรู้ เน้นเนื้อหาด้านศิลปะ มนุษยศาสตร์ และการเรียนจากการปฏิบัติมากขึ้น และเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ชั้น ป.3 เพื่อเตรียมเด็กให้เป็นพลเมืองโลก 

หนึ่งในมณฑลกองหน้าในการนำร่องระบบการศึกษาใหม่ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง คือ เซี่ยงไฮ้ ที่นี่มีมาตรการลดความเครียดของเด็ก ยกเลิกโรงเรียนสำหรับเด็กเก่งที่เน้นการสอบแข่งขัน แล้วทดแทนด้วยโรงเรียนคุณภาพใกล้บ้าน และยกระดับคุณภาพโรงเรียนด้วยโปรแกรม “จับคู่” โรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนชนบท และความสัมพันธ์แบบโรงเรียนพี่โรงเรียนน้อง กับโรงเรียนชั้นนำในต่างประเทศทั่วโลก มีการกระจายครูสอนเก่งไปทั่วทั้งมณฑล และจัดวิธีการสอบเข้ามหาลัยในมณฑลใหม่ เพื่อลดการแข่งขันระดับประเทศที่สุดโหด และที่สำคัญคือ ส่งเสริมการให้ feedback ในห้องเรียน ทั้งจากครูและนักเรียน หรืออาจเรียกได้ว่า ใช้นักเรียนเป็นโค้ชให้ครู

ออสเตรเลีย: ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงเด็กที่อยู่ห่างไกล และส่งเสริมการศึกษาทางไกล 

ออสเตรเลียเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่มาก ทำให้มีเด็กอยู่ในพื้นที่ห่างไกล จึงนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาระบบการศึกษา มีการใช้ Teleconference จากเด็กที่อยู่ห่างไกลเข้ามาเรียนในห้องเรียน 

วิสัยทัศน์ของหลักสูตร คือ “เพื่อพัฒนาเยาวชนให้มีทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถในการอยู่ร่วมกันและมีความก้าวหน้าในสังคม รวมทั้งมีความสามารถในการแข่งขันในโลกแห่งโลกาภิวัฒน์ มีความสามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในอนาคตที่ต้องใช้ข้อมูลซับซ้อน หลักสูตรดังกล่าวจะต้องเข้าถึงเยาวชนออสเตรเลียทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวที่มีเศรษฐฐานะใดหรืออยู่ในโรงเรียนใด”

จะเห็นได้ว่าวิสัยทัศน์นี้เน้นที่ความเท่าเทียมและการเป็นพลเมืองโลกอย่างเด่นชัด 

หลักสูตรของที่นี่ครอบคลุมตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม เน้นการเรียนรายวิชาโดยแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่หนึ่ง ประกอบด้วย วิชาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์ ขั้นตอนที่สอง มีวิชาภูมิศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ และศิลปะ ขั้นตอนที่สาม มีวิชาไอซีที เศรษฐศาสตร์ การออกแบบและเทคโนโลยี และหน้าที่พลเมือง นอกจากนั้นยังมี “Cross Curriculum Themes”  ได้แก่ วิชาโลกทัศน์ของคนพื้นเมือง เอเชียเเละความผูกพันของออสเตรเลียต่อเอเชีย รวมทั้งการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน 

มีการจัดตั้ง ACARA (The Australian Curriculum, Assessment, and Reporting Authority) โดยมีสภารัฐมนตรีศึกษาธิการของทุกรัฐทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และติดตามตรวจสอบผลลัมฤทธิ์ของโรงเรียน ที่น่าสนใจ คือ การตรวจสอบนี้เน้นเป็นการตรวจสอบประสิทธิภาพในเชิงระบบ (Formative Assesment) มากกว่าการจี้จุดว่าโรงเรียนไหนดีไม่ดี และมีมาตรการสร้างความโปร่งใสของผลประเมินด้วยการตั้งเว็บไซต์ MySchool เพื่อเปิดเผยข้อมูลต่อ พ่อแม่ ครู และประชาชนทุกคน 

จากตัวอย่างที่กล่าวมา ทั้ง 5 ประเทศ ล้วนมีแนวทางการพัฒนาและโจทย์ที่ใช้ตั้งหลักในการปฏิรูปการศึกษาที่ต่างกันตามบริบทของประเทศ  

แต่มีมาตรการสำคัญที่ทั้ง 5 ประเทศนำมาปรับใช้เหมือนกันอยู่ 8 ประการคือ 

  1. วิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ
  2. กำหนดมาตรฐานสูงหรือท้าทาย
  3. มุ่งสร้างความเท่าเทียม
  4. ครูและผู้นำการศึกษาคุณภาพสูง
  5. มีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกันและสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทั้งในระดับนโยบายถึงปฏิบัติการ 
  6. แนวทางการจัดการและระบบรับผิดรับชอบที่สะท้อนผลลัพธ์ที่ผู้เรียน 
  7. นักเรียนมีแรงจูงใจต่อการเรียนสูง
  8. มุ่งเรียนเป็นพลโลก และเพื่ออนาคต

จากบทเรียนของทั้ง 5 ประเทศ จะเห็นว่า การศึกษามิใช่เพียงการจัดให้ผู้ที่สมควรเข้าเรียนได้รับการศึกษาเท่านั้น แต่เป็นการตั้งเป้าหมายให้สูงและมุ่งสร้างความเท่าเทียม (High Expectation, High Support) เพื่อคนทั้งประเทศด้วย ดังเช่นที่ อาจารย์หมอวิจารณ์เขียนไว้ในหนังสือว่า 

“การสอนเด็กตามแนวที่เราเคยได้รับการสอนในอดีตเป็นการปล้นอนาคตของเด็ก” และ “นโยบาย High expectation for all เป็นประเด็นท้าทายในการปฏิรูปเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทย” และการมุ่งสร้างผลลัพธ์ให้เกิดที่ผู้เรียน เป็นแนวทางที่เราควรนำมาพิจารณาและปรับใช้แทนการ สอนเพื่อสอบอย่างที่การศึกษาไทยกำลังทำอยู่” 

นอกจากนั้นการเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการศึกษาให้มีคุณภาพสูงของทุกฝ่าย ทั้ง ครู ผู้บริหารโรงเรียน ภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้ประกอบการ ชุมชน และผู้ปกครอง ก็เป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปการศึกษาประสบผลสำเร็จ

ข้อมูลจากหนังสือ การศึกษาคุณภาพสูงระดับโลก โดย ศ.นพ วิจารณ์ พานิช และ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร
สามารถดาวน์โหลดหนังสือได้ที่นี่

Tags:

ระบบการศึกษาโรงเรียนการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกคุณภาพการศึกษา

Author:

illustrator

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้อำนวยการคนแรกของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) และได้ดำรงตำแหน่ง 2 สมัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม(สคส.) ดำรงตำแหน่งกรรมการของหน่วยงานและมูลนิธิหลายแห่ง

illustrator

ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร

ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Potential

Illustrator:

illustrator

อัยยา มัณฑะจิตร

Related Posts

  • Social Issues
    ‘บ้านไม่เป็นบ้าน โรงเรียนไม่เป็นโรงเรียน’ เด็กไทยต้นทุน(ชีวิต)ต่ำ: รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Family PsychologyEarly childhood
    มหากาพย์การเลือกโรงเรียน (โรงเรียนที่ดีของพ่อแม่ โรงเรียนที่แย่ของลูก)

    เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative learning
    มีชัย วีระไวทยะ: “เราสร้างการเรียนที่ไม่รู้มามากพอแล้ว”

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัย

  • Social Issues
    เมื่อโรงเรียนเป็นพื้นที่แห่งความกดดันและไร้สุข จึงต้องปรับตัวและรับผิดชอบความป่วยไข้นี้

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Social Issues
    เกิดเป็นครูไทย ต้องทำอะไรบ้าง?

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

วิชาการสื่อสารภายในบุคคลที่ชวนทำ Biography ย้อนมองชีวิตและทำความเข้าใจตัวเอง
Creative learningHow to enjoy life
21 July 2020

วิชาการสื่อสารภายในบุคคลที่ชวนทำ Biography ย้อนมองชีวิตและทำความเข้าใจตัวเอง

เรื่อง ปรียานุช ปรีชามาตย์ ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • คนทั้งโลกถามซักเด็กไม่หยุดว่า “คุณทำอะไรได้บ้าง” โดยที่ไม่มีใครสักคน หรือวิชาไหนพาพวกเขาย้อนกลับไปทบทวนตัวเอง
  • ชวนไปสำรวจชีวประวัติ (Biography) ในวิชาการสื่อสารภายในบุคคล พร้อมเดินทางย้อนเวลาไปสู่จุดเริ่มต้นของการหล่อหลอมตัวตนตั้งแต่วัยเด็ก มาจนถึงการสะท้อนตัวตนในปัจจุบันไปพร้อมๆ กัน กับครูอิ๊ก ณฐิณี เจียรกุล
  • ในช่วงชีวิตของทุกคนควรมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตตัวเอง เพื่อกลับมาตั้งหลักและยืนอยู่บนเท้าของตัวเองอีกครั้ง เตรียมพร้อมตัวเองวันนี้ในการที่จะก้าวต่อไป ไม่งั้นเราก็จะไม่รู้เลยว่าเราก้าวต่อไปเรื่อยๆ เพื่ออะไร

ชีวิตที่ผ่านมาของคุณเป็นอย่างไรบ้าง? ตั้งแต่ปฐมวัย-ประถมศึกษา-มัธยมศึกษา-มหาวิทยาลัย-ทำงาน-เปลี่ยนงาน-มีลูก ฯลฯ ลองนำความทรงจำช่วงนั้นขึ้นมาทบทวนตัวเองกันอีกครั้ง เพราะตัวตนที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจากเหตุการณ์สำคัญในทุก 7 ปี อาจสะท้อนให้เห็นอีกครั้งโดยที่คุณก็ไม่รู้ตัวในอีกหลายปีให้หลัง

ตลอดชีวิตที่ผ่านมา หลายคนอาจไม่เคยมีเวลาสงบๆ ให้ตัวเองได้นั่งพักแล้วคิดทบทวนการเติบโตของชีวิตเลยสักครั้ง อาจไม่เคยกลับมาตั้งหลักพิจารณาอดีตก่อนจะตัดสินใจก้าวต่อไปในอนาคต อาจพบกับปัญหาเดิมซ้ำซากในทุกความสัมพันธ์ที่แก้เท่าไหร่ก็ไม่หาย นั่นอาจเพราะเราไม่เคยมองเห็นนิสัยบางอย่างของตัวเองที่สะสมมาตั้งแต่เด็กจนโตอย่างแนบเนียน และถ้าเรายังไม่ให้ความสำคัญกับการสำรวจตัวเอง เราอาจต้องใช้ชีวิตอยู่กับคำถามในใจที่ไม่เคยมีใครตอบไปตลอดหรือเปล่า?

ตัวผู้เขียนเองก็เคยอยู่ในจุดที่มองเห็นเพียงแค่สิ่งรอบกายแล้วตอบสนองกับมันไปตามสถานการณ์อย่างร่างที่ไร้จิตวิญญาณ ไม่เคยย้อนถามตัวเองว่าทำไมถึงทำแบบนั้น? ทำไมถึงคิดแบบนั้น? หรือแท้จริงแล้วต้องการอะไรกันแน่? แต่มีวิชาหนึ่งที่ตอบปัญหาที่ค้างคาในใจจนหมดสิ้นคือวิชาการสื่อสารภายในบุคคล (Intrapersonal Communication) ซึ่งทำให้ได้รู้จักกับครูคนหนึ่งที่มารื้อฟื้นความทรงจำในวัยเด็กที่สะท้อนมาถึงตัวตนของเราในปัจจุบันผ่านการสำรวจ Biography หรือชีวประวัตินั่นเอง

เมื่อมีโอกาสจึงอยากชวน ครูอิ๊ก ณฐิณี เจียรกุล คุณครูผู้สอนการทำความรู้จักตัวเองผ่าน Biography มาแบ่งปันผู้อ่าน เพราะคิดว่าอาจช่วยให้หลายคนสามารถค้นพบตัวตนบางอย่างจากการสำรวจ Biography และอาจคลี่คลายปมบางอย่างที่ตัวเองซ่อนไว้จนหาต้นเหตุไม่เจอ

ปัจจุบันครูอิ๊กเป็นอาจารย์สอนนิสิตครุศาสตร์และนิสิตนิเทศศาสตร์ รวมทั้งทำงานเกี่ยวกับเด็กปฐมวัยด้วย แต่ก่อนหน้านั้นเธอผ่านการประกอบอาชีพมาอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแอร์โฮสเตส ติวเตอร์ นักแสดง ถ่ายโฆษณา แอคติ้งโค้ช หรือแม้กระทั่งเด็กเสิร์ฟ แต่ท้ายที่สุดเธอก็ได้คำตอบกับตัวเองว่าอาชีพในฝันของเธอจริงๆก็คือการเป็นครูสอนเด็กปฐมวัย จึงลาออกจากการเป็นแอร์โฮสเตสเพื่อมาทำตามความฝัน

จุดเชื่อมโยงของครูละคร & ครูปฐมวัย

ครูอิ๊กเรียนจบปริญญาตรีคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาวาทวิทยาและสื่อสารการแสดง เอกสื่อสารการแสดงมาก่อนที่จะไปเรียนต่อทางครุศาสตร์ปฐมวัย นั่นทำให้เธอมีความรู้สำหรับการสอนนักเรียนทั้งสองคณะ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการที่เธอนำ “ละคร” มาใช้สอน “เด็กปฐมวัย”

เธอเล่าเกี่ยวกับสาขาวิชาสื่อสารการแสดงที่เธอเรียนจบออกมา แต่อีกวิชาหนึ่งที่เธอให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือวาทวิทยา 

เธออธิบายว่าวาทวิทยาและการละครไม่ได้แยกออกจากกัน ละครเป็นสิ่งที่ช่วยให้ครูเข้าใจนักเรียน ขณะเดียวกันวาทวิทยาก็เป็นเหมือนเครื่องมือในการสื่อสารกับนักเรียน ซึ่งทั้งสองศาสตร์แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนอยู่แล้ว ละครจะช่วยให้เรามองเห็นความคิดและความต้องการของอีกฝ่ายผ่านการสวมบทบาทให้เขาเป็นตัวละครหนึ่ง ส่วนวาทศาสตร์คือการเลือกว่าจะใช้วิธีการไหนเพื่อให้สื่อสารได้ตรงวัตถุประสงค์ 

เธอยกตัวอย่างเด็กเล็กคนหนึ่งที่ดึงของจากมือเพื่อน แล้วเพื่อนคนนั้นก็เตรียมอาละวาด ครูจึงต้องใช้ศาสตร์ทางวาทวิทยามาอธิบายให้เด็กๆ ฟังว่า “เหตุผลที่เพื่อนดึงของจากมือเราเพราะ ‘เขายังใช้ภาษาไม่ค่อยได้ จึงต้องใช้ภาษากายแทน’ เด็กคนที่แย่งของไปไม่ใช่เด็กนิสัยไม่ดีแต่เพราะเขามีข้อจำกัดบางอย่างนึ่คือการใช้ละครในการทำความเข้าใจเขา”

ในการสอนเด็กโตอย่างนิสิตคณะครุศาสตร์ เอกปฐมวัย เธอก็ได้ประยุกต์ศาสตร์แห่งวาทวิทยาและสื่อสารการแสดงมาสอนนิสิตในการวางแผนการสอนให้มี “ความเป็นมนุษย์” มากขึ้น ครูอิ๊กแบ่งปันกระบวนการวางแผนการสอนว่า เธอจะออกแบบเหมือนพีระมิดของพล็อตละคร มีตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไต่ไปจนถึงไคลแม็กซ์ เจอปมขัดแย้งต่างๆ ค่อยๆ คลี่คลาย แล้วก็จบ เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกสนุกมากกว่าแผนการแบบทั่วไป และเธอก็ได้แบ่งปันเทคนิคนี้ให้กับนิสิตคณะครุศาสตร์เพื่อไปสอนนักเรียนของพวกเขาให้สนุกกับบทเรียนมากขึ้น

นอกจากนี้เธอยังฝากคำถามชวนคิดทิ้งท้ายให้นิสิตได้หาคำตอบว่าพวกเขา “คุณเป็นครูแบบไหน” โดยให้นิสิตลองนึกย้อนกลับไปว่าวิธีการสอนของพวกเขานั้นได้รับอิทธิพลมาจากไหน แล้วสไตล์การสอนแบบนี้มีผลดีผลเสียกับเด็กอย่างไรบ้าง ครูอิ๊กให้เหตุผลว่า “ครูต้องทบทวนบทบาทของตัวเองให้ดี เพราะการจะเป็นครูที่ดีได้นั้นต้องเข้าใจตัวเองก่อน แล้วจึงจะเข้าใจคนอื่นได้”

ครูละครสอนวิเคราะห์ชีวประวัติ Biography

บทเรียนเรื่อง Biography นั้นอยู่ในวิชาการสื่อสารภายในบุคคล เป็นวิชาของภาควาทวิทยา ซึ่งภาควิชานี้ถูกมัดรวมอยู่ในสาขาเดียวกับสื่อสารการแสดงเพราะทั้งสองวิชามีความคาบเกี่ยวกันในด้านการทำความเข้าใจเกี่ยวกับมนุษย์ ภาควิชาวาทวิทยาจะมุ่งเน้นการสอนเรื่องการสื่อสารภายในตัวเอง การสื่อสารกับคนรอบข้าง หรือแม้แต่การสื่อสารต่อสาธารณะ ส่วนภาควิชาสื่อสารการแสดงสอนเรื่องการสื่อสารกับผู้ชมผ่านบทบาทสมมติจากบทที่แต่งขึ้น

Biography หรือทฤษฎีการสำรวจชีวประวัติของตัวเอง ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง คล้ายการเขียนไดอารีรายวัน แต่เป็นก่อนย้อนอ่านชีวิตตั้งแต่เกิดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นทฤษฎีที่อยู่ในรากฐานของมนุษยปรัชญา ที่เชื่อว่าทุก 7 ปี ชีวิตมนุษย์จะเปลี่ยน โดยจะเปลี่ยนไปอย่างไรขึ้นอยู่กับการเติมเต็มความต้องการในช่วงวัยหนึ่งๆ 

ครูอิ๊กยกกรณีศึกษาที่เห็นในสังคมมาตั้งคำถาม ทำไมคนที่มีทุกอย่างพร้อมจึงลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เราคาดไม่ถึง หรือสิ่งที่ไม่ควรทำ นั่นอาจเป็นผลมาจากประสบการณ์วัยก่อนหน้านี้ที่เขาเคยพบเจอมาก็ได้

ครูอิ๊กแสดงความคิดเห็นอย่างมีความหวังว่า “วิชาการสื่อสารภายในบุคคลควรเป็นวิชาที่ถูกบรรจุให้ทุกหลักสูตรของทุกคณะ เพราะไม่ว่าโตไปเป็นอาชีพใด ก็ไม่ควรละเลยการทำความเข้าใจตัวเอง” โดยช่วงวัยที่ครูอิ๊กแนะนำให้เรียนการทบทวน Biography นั้น อย่างน้อยที่สุดผู้เรียนควรอยู่ในช่วง 15-21 ปี แต่ถ้าจะให้ดีที่สุดควรจะเรียนในวัยที่ผ่านโลกมามากกว่า 20 ปีขึ้นไป

บทเรียน Biography : ช่วงวัยไหนต้องการอะไร แล้วได้เติมเต็มหรือยัง?

ก่อนเรียนครูอีกฝากคำถามให้นิสิตสำรวจตัวเองคร่าวๆว่า

  1. ตลอดชีวิตที่ผ่านมา ในแต่ละปีคุณเจออะไรมาบ้าง
  2. สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับคุณในแต่ละช่วงวัย ส่งผลต่อคุณอย่างไร
  3. คุณคิดว่านิสัย/ตัวตน/ความคิดของคุณที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์นั้นจะมีผลต่อไปในอนาคตอย่างไร

จากนั้นเธอจึงพานิสิตร่วมเดินทางไปกับทฤษฎี Biography ว่าทุกๆ 7 ปีชีวิตคนเราจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง โดยสิ่งหลักๆ ที่เปลี่ยนไปคือวิธีการมองโลกและความคาดหวังที่จะได้รับจากคนรอบข้าง รวมถึงความคาดหวังต่อชีวิตของตัวเอง

0-7 ปี The world is good (โลกนี้ดี)  : ช่วงวัยแห่งการสะท้อน ทำอะไรให้ลูก ลูกจะทำสิ่งนั้นตอบกลับมา พ่อแม่จึงต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้เขา แสดงให้เห็นว่าโลกนี้มีสิ่งดีๆที่รอเขาอยู่ เขาต้องการรู้ขอบเขตว่าว่าสิ่งใดทำได้สิ่งใดทำไม่ได้ และต้องการจะรู้ว่าโลกนี้ไว้ใจได้ คนใกล้ชิดจึงสำคัญมาก นอกจากนี้สิ่งที่เด็กซึมซับในช่วงวัยนี้จะสะท้อนให้เห็นเมื่อเขาอายุ 56-63 ปี

8-14 ปี The world is beautiful (โลกนี้ช่างงดงาม) : ช่วงวัยนี้จะเริ่มมีความรัก เริ่มเข้าใจเรื่องเพศมากขึ้น ช่วงอายุ 9 ปีเป็นช่วงที่เด็กตื่นตัวต่อสิ่งรอบข้าง เขาเริ่มสังเกตว่าทุกสิ่งไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมด แต่โลกก็ยังคงงดงาม

15-21 ปี The world is true (โลกนี้คือความจริง) : ช่วงวัยนี้หากพ่อแม่ทำผิดต้องแสดงให้ลูกเห็นว่าควรแก้ไขยังไง ไม่ใช่ผิดแล้วหมกเม็ด การโกหกหรือผิดสัญญาจะทำให้ลูกเริ่มหันหลังให้ เพราะสิ่งที่เขาตามหาในช่วงวัยนี้คือแบบอย่างที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต หากครูสอนผิดหรือทำผิดแล้วไม่ยอมรับจะทำให้นักเรียนปิดใจไม่เปิดรับอีก เพราะเขารู้สึกว่าครูไม่สามารถมอบความจริงให้เขาได้ นอกจากนี้วัย 16 ปียังเป็นช่วงวัยที่เด็กเริ่มขบถ เช่น การโดดเรียน การทำสีผม การฉีกกรอบบังคับบางอย่าง เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าเขามีตัวตนอยู่ในโลกใบนี้

22-28 ปี The world is interesting (โลกนี้น่าสนใจ) : เป็นช่วงวัยที่อยากจะออกไปสำรวจโลกภายนอก อยากค้นหาสีสันในชีวิต อยากลองผจญภัยและใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

29-35 ปี The world is feasible (โลกนี้มีความเป็นไปได้) : เป็นช่วงเวลาที่เราใช้จิตวิญญาณในการรับรู้โลก เป็นวัยที่มีทั้งกำลังและสติปัญญา หาจุดสมดุลระหว่างความฝันและความจริง แสวงหาคำตอบอื่นๆในชีวิต เป็นช่วงที่คนเริ่มหางานที่จะอยู่กับมันตลอดไป

36-42 ปี The world is contradictory (โลกกำลังกลับด้าน) : เป็นช่วงวัยที่ค้นพบสิ่งสำคัญหรือความหมายที่แท้จริงของชีวิต อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเลือกชีวิตแบบไหนให้ตัวเอง

ครูอิ๊กชี้ให้เห็นว่าคำตอบของแต่ละคนจะออกมาหลากหลายแทบไม่ซ้ำกัน นั่นเพราะทุกคนได้รับการเติมเต็มความต้องการที่ไม่เท่ากัน ต่อให้มีพ่อแม่คนเดียวกันหรือประสบสถานการณ์เดียวกันทุกอย่าง แต่เกิดขึ้นคนละช่วงวัยผลลัพธ์ก็อาจจะออกมาไม่เหมือนกัน 

หากอิงตามทฤษฎี Biography เด็กที่พ่อแม่หย่ากันในช่วง 0-7 ปี The world is good (โลกนี้มันดี) ซึ่งเป็นวัยที่ต้องการรับรู้ว่าโลกนี้มีสิ่งดีๆ รอเขาอยู่และต้องการเชื่อใจใครสักคน อาจทำให้โลกของเขาทั้งใบอาจพังทลายลง แต่หากเหตุการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นกับเด็กในวัย 8-14 ปี The world is beautiful (โลกนี้ช่างงดงาม) ซึ่งเขาเริ่มแยกแยะความจริงต่างๆ ได้แล้ว เขาอาจจะรับมือกับการหย่าร้างของพ่อแม่ได้ และอาจมองเห็นความงดงามของความรักที่พ่อแม่ยังคงมอบให้เขาต่อไป แม้พวกท่านจะแยกทางกัน

กิจกรรมหลังเรียน : ชวนมองพ่อแม่ ย้อนอดีตไปยังจุดเกิดเหตุ

ถึงแม้ว่าช่วงวัยของนิสิตจะอยู่ในช่วง 20 ปี แต่การสำรวจ Biography ก็สามารถทำให้พวกเขามองเห็นตัวเองในอดีตและมองเห็นความเป็นไปได้ในอนาคตจากการสังเกตและสวมบทบาทเป็นคนในครอบครัว

ตอนที่ครูอิ๊กเป็นนักแสดง เธอได้ลองสวมบทบาทของตัวละครจึงทำให้เธอเข้าใจการกระทำของตัวละครนั้นที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจ หรือตัดสินไปว่าเป็นเรื่องผิด เธอคิดว่านั่นเป็นเพราะทุกคนก็ต่างมองในมุมของตัวเอง จึงมีเหตุผลและการกระทำที่ต่างกันออกไป

ในห้องเรียนครูอิ๊กจะให้นิสิตที่สมัครใจช่วยแบ่งปันเกี่ยวกับการกระทำของพ่อแม่ที่พวกเขาเคยตั้งคำถามหรือรู้สึกต่อต้าน แต่ปัจจุบันรู้สึกเข้าอกเข้าใจพ่อแม่มากขึ้นเพราะค้นพบเหตุผลที่แท้จริงของพวกท่าน

มีนิสิตแสดงความคิดเห็นกันหลากหลาย เช่น พ่อแม่ของบางคนในช่วงชีวิต 0-21 ปีประสบกับความยากลำบากในชีวิตหลายประการ จึงนำความคาดหวังที่จะเต็มเติมความสุขสบายของเขามาลงที่ลูก ในยามที่เป็นพ่อแม่ โดยที่เขาอาจไม่รู้ตัวว่ากำลังใช้ลูกเพื่อเติมเต็มสิ่งที่ขาดหรือกำลังเอาความฝันของตัวเองมายัดให้ลูก

ครูอิ๊กเองก็แบ่งปันให้นิสิตฟังว่า “คุณแม่ของครูมักเกรงใจ จนไม่ร้องขอเพื่อความต้องการของตัวเอง” ซึ่งทำให้บางครั้งครูอิ๊กรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากในการคาดเดาความต้องการของคุณแม่ เมื่อได้รู้จักกับ Biography เธอไม่เพียงแต่ย้อนความทรงจำไปยังวัยเด็กของตัวเองอย่างเดียว แต่พยายามย้อนไปมองว่าทำไมแม่ของเธอถึงชอบเสียสละ จนได้พบคำตอบว่าแม่ของเธอมีพี่น้องหลายคน จึงต้องแสดงออกว่าตัวเองไม่ต้องการเพื่อให้ยายสบายใจ เมื่อเธอทราบข้อเท็จจริงนี้จึงพยายามปรับมุมมองใหม่ แล้วเริ่มบอกความต้องการที่แท้จริงกับลูกมากขึ้น เริ่มปรึกษาเรื่องต่างๆ กับลูก และเธอก็ได้ค้นพบว่าปัญหาบางอย่างที่ผู้ใหญ่กังวล เด็กๆ อาจแก้ไขมันได้อย่างง่ายดาย

ครูอิ๊กยังกล่าวอีกว่า “พ่อแม่มักหลงลืมว่าตอนที่ตัวเองเป็นเด็กนั้นรู้สึกยังไง เพราะความคาดหวังจากทั้งตัวเองและคนรอบข้างทำให้พ่อแม่กลัวที่จะเป็นคนอ่อนแอ กลัวว่าจะรู้น้อยกว่าลูก กลัวที่จะยอมรับกับลูกว่าตัวเองกำลังเสียใจ บางครั้งผู้ใหญ่ก็คิดมากเกินไป ลูกอาจจะไม่ได้ต้องการพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบทุกอย่าง เขาอาจจะต้องการใครสักคนที่สามารถพูดคุยกันได้”

กิจกรรมหลังเรียน : ชวนคุยชีวิต ชวนคิดกับผู้เรียน

นอกจากกิจกรรมชวนมองพ่อแม่ที่มีจุดประสงค์ให้นิสิตมองเห็นจุดเริ่มต้นของผู้เลี้ยงดูพวกเขาแล้ว ครูอิ๊กก็ชวนให้นิสิตแบ่งปัน “การขบถในวัย 15-21 ปี” ของพวกเขา เพื่อให้นิสิตลองเปิดใจทำความรู้จักตัวเอง ทำความเข้าใจกับบริบทของครอบครัวหรือสังคมที่ตัวเองเติบโตมา

โดยคำตอบของนิสิตออกมาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการโดดเรียน การปลอมลายเซ็นผู้ปกครอง การทำสีผม หรือแม้แต่การกลับบ้านช้า ซึ่งครูอิ๊กให้ความเห็นว่า “การแบ่งปันวิธีขบถของตัวเองนี้ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าวีรกรรมของใครดีหรือแย่กว่ากัน แต่แสดงให้เห็นถึงกฎเกณฑ์และขอบเขตในวัยเด็กที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าการลองทำบางอย่างเป็นเรื่องต้องห้าม เช่น การกลับบ้านช้าดูเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยแต่อาจเป็นขบถใหญ่หลวงของเด็กบางคน”

ผู้เขียนเองก็ได้แบ่งปันการขบถในวัย 15-21 ปีในห้องเรียนเหมือนกัน มีอยู่ 2 ข้อคือ การออกจากบ้านที่ต่างจังหวัดมาเรียนที่กรุงเทพฯ และ “การเปลี่ยนศาสนา” เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากความรู้สึกอึดอัดใจที่ไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้เวลาอยู่บ้าน และรู้สึกว่าบ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย เราสังเกตตัวเองว่าเวลาอยู่โรงเรียนเราจะมีความเป็นผู้นำ มีความกล้าแสดงออก ผิดกับตอนอยู่บ้านที่กลายเป็นคนเก็บตัวเงียบ ซึ่งคิดว่าการแสดงออกที่แตกต่างออกไปเวลาอยู่บ้านเกิดขึ้นจากนิสัยของคุณพ่อที่ชอบเอาชนะ ยกตัวอย่างเช่น เราชอบบะหมี่น้ำ พ่อก็จะบอกว่าบะหมี่แห้งอร่อยกว่าทำไมไม่กิน เราต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโดยใส่เส้นก่อนผงปรุงรส พ่อก็จะบอกว่าต้มไม่เป็นแบบนี้เส้นมันก็จืดสิ

ผู้เขียนจึงตัดสินใจเดินทางมาสอบเข้าโรงเรียนมัธยมปลายในกรุงเทพฯ เพื่อจะได้อยู่หอพักคนเดียวและใช้ชีวิตตามใจตัวเอง เมื่อย้ายมาอยู่ก็ตัดสินใจเข้าโบสถ์ไปเรียนศาสนาอยู่ 1 ปี จนได้รับการบัพติศมาหรือพิธีรับเข้าเป็นคริสต์ศาสนิกชน ทั้งๆที่คุณแม่เป็นคนเคร่งศาสนา(พุทธ)มาก ซึ่งนี่ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่ได้เลือกทำตามความชื่นชอบและความต้องการของตัวเอง

ในห้องเรียนแห่งนี้นิสิตทุกคนได้ย้อนกลับไปสู่การเติบโตของพ่อแม่ และอดีตอันใกล้ของพวกเขา ซึ่งนั่นก็ทำให้พวกเขาก็เริ่มเห็นภาพของชีวิตตัวเองแต่ละฉากชัดเจนขึ้น ภาพชีวิตเหล่านี้นี่เองที่เป็นจิ๊กซอว์บอกใบ้ตัวตนของเขาในปัจจุบัน ซึ่งการจะระบุว่าเองตัวเองเป็นคนแบบไหน ได้รับอิทธิพลมาตั้งแต่ตอนไหน หรือเหตุการณ์ใดที่พัดพาให้นิสัยบางอย่างปรากฏขึ้นกับตัวเรา ก็ขึ้นอยู่ที่วิธีตีความของแต่ละคน แต่อย่างน้อยสิ่งที่นิสิตกลุ่มนี้ได้รับจากคาบเรียน คือชิ้นส่วนความทรงจำที่เคยเลือนรางหรืออาจเป็นชิ้นส่วนของความทรงจำที่เขาเผลอทำหล่นหายไปในอดีต

ทำไมต้องทบทวน Biography 

การเรียนรู้ Biography ของตัวเองไม่ใช่เพื่อทำนายอนาคต แต่เพื่อย้อนไปมองตัวเองในอดีตทุกๆ 7 ปี แล้วเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่อาจสะท้อนในช่วงวัยต่อมา เป้าหมายหลักในการสอนเรื่องนี้ให้นิสิตก็เพื่อให้เขาทำความรู้จักชีวิตตัวเอง น้อยวิชาที่สอนให้เด็กรู้จักตัวเอง แต่คนทั้งโลกกลับถามซักเขาไม่หยุดว่า “คุณทำอะไรได้บ้าง” โดยที่ไม่มีใครสักคนพาพวกเขาย้อนกลับไปทบทวนตัวเอง

ครูอิ๊กกล่าวว่าจริงๆ แล้วในช่วงชีวิตของทุกคนควรมีโอกาสได้ทบทวนชีวิตตัวเอง เพื่อกลับมาตั้งหลักและยืนอยู่บนเท้าของตัวเองอีกครั้ง เตรียมพร้อมตัวเองวันนี้ในการที่จะก้าวต่อไป ไม่งั้นเราก็จะไม่รู้เลยว่าเราก้าวต่อไปเรื่อยๆ เพื่ออะไร หรือจะก้าวต่อไปด้วยท่าทีแบบไหน บางคนอาจทบทวนทุกวันผ่านการเขียนไดอารี บางคนทบทวนทุกปี บางคนเพิ่งมาทบทวนแค่ในตอนที่สูญเสียคนสำคัญไป แต่ความจริงแล้วเราควรทบทวนชีวิตตัวเองอยู่เรื่อยๆ เธอเสริมอีกว่าการทบทวนตัวเองโดยไม่มีอคติ ช่วยให้เราให้อภัยตัวเองและคนที่ผ่านมาในชีวิตของเราได้ดีขึ้น 

“เป้าหมายของวิชาการสื่อสารภายในบุคคล (Intrapersonal Communication) คือการสอนให้นิสิตเข้าใจตัวเอง ตระหนักในทุกการกระทำ เคารพการตัดสินใจและผลลัพธ์ในทางเดินที่นิสิตเลือกเอง” – ครูอิ๊ก ณฐิณี เจียรกุล

Tags:

วิชาการสื่อสารภายในบุคคล (Intrapersonal Communication)ณฐิณี เจียรกุล

Author:

illustrator

ปรียานุช ปรีชามาตย์

นิสิตภาควารสารที่สมัครฝึกงานกับ The Potential เพราะชอบสีม่วง แต่ดันค้นพบสีสันมากมายระหว่างบรรทัดที่ได้ลองเขียน ชอบหนีออกจากบ้านไปเที่ยวตามตรอกเพื่อคุยกับแมวจร รอ fromis_9 คัมแบคมา 1 ปีแล้ว

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Creative learning
    ห้องเรียนฐานชุมชน (Social Lab) เมื่อครูไม่ได้เป็นผู้ให้คำตอบ แต่เปิดพื้นที่ ให้นักเรียนสร้างคำตอบเอง: ครูภัทร – ภัทฑริก เอียดเกลี้ยง

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ‘Creative Drama’ กิจกรรมละครสร้างสรรค์ที่ชวนเด็กรู้จักตัวเองและพัฒนาสู่เวอร์ชั่นที่ดีขึ้น: ครูกล้วย-หรรษลักษณ์ จันทรประทิน

    เรื่อง บุญญิสา รัตนมณี ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ‘ไม่สอนสูตร ไม่บอกวิธี’ ห้องเรียนคณิตฯ Pro-Active ของ ‘ครูบอย – มานะ คำจันทร์’ ที่เน้นกระบวนการคิด ติดตั้งทักษะการแก้ปัญหา

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Everyone can be an Educator
    ‘ครูอ้อย-สุธิวา บุญวัง’ ครูที่ไม่มีห้องเรียน แต่มี ‘ห้องสมุด’ ไว้ให้เด็กเปิดใจเลือกเส้นทางเดินใหม่โดยไม่ถูกตัดสิน

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Kru Jo
    Social Issues
    จากครูปกครองสุดเฮี้ยบที่ผลักเด็กจากระบบการศึกษา สู่ครูนางฟ้าที่สื่อสารด้วยหัวใจ: ครูโจ-วิฑูลย์ แซมสีม่วง

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel