- พ่อแม่ที่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นรอบตัวให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยปะติดปะต่อระบบการเรียนรู้ที่อาจยังคิดอ่านได้ไม่สมบูรณ์ของเขาให้ค่อยๆ active ที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวมากขึ้น
- นำไปสู่การสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นจนก่อเกิดเป็นภาพใหญ่ให้เข้าใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีความหมายหรือสำคัญต่อเขาอย่างไร
- พ่อแม่ต้องถ่ายทอดการรับรู้เรื่องราวและมุมมองความคิดผ่านความเข้าใจใคร่ครวญในตนเอง (self-reflection) มาแล้วเป็นอย่างดี ยิ่งพ่อแม่มีความเข้าใจในตนเองเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเข้าใจลูกเท่านั้น
เราอาจไม่ทันสังเกตว่าตลอดชีวิตเราเล่าเรื่องราวมากมายนับไม่ถ้วนทั้งในหัวตนเองหรือให้ผู้อื่นฟังอยู่ตลอดเวลา ตอนขับรถกลับบ้านเรานึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเช้า หัวหน้าเอ่ยชมผลงานที่ผ่านมาและให้เราทำแผนเสนอเข้าที่ประชุมดู เราคิดกับตัวเองว่าต้องทำอะไรบ้างต่อจากนี้และตื่นเต้นเพียงใดกับงานที่ได้รับมอบหมาย เมื่อถึงบ้านก็เล่าเรื่องนี้ให้ครอบครัวฟังแบ่งปันความรู้สึกตื่นเต้นยินดีกับความท้าทายครั้งนี้
ทำไมเรื่องราวจึงถูกเรียงร้อยขึ้นในหัวและอยู่ในทุกการสื่อสาร ในหนังสือ ‘Parenting from the Inside Out’ โดย ดร.เดเนียล ซีเกิล (Dr.Daniel Siegel) และ แมรี ฮาร์ทเซลล์ (Mary Hartzell) ซึ่งเป็นคู่มือเลี้ยงลูกที่ชูให้พ่อแม่หันมาศึกษาใส่ใจกับสุขภาวะภายในจิตใจของทั้งตนเองและลูก อธิบายว่า
การเล่าเรื่องราวเป็นพฤติกรรมพื้นฐานของมนุษย์จากการแปลงการรับรู้มาเป็นการแสดงออกถึงการมีตัวตนอยู่บนโลกใบนี้ และเป็นกระบวนการที่มนุษย์ใช้ทำความเข้าใจตัวตน (self-understanding) ในแง่ความรู้สึกนึกคิดภายในและมุมมองที่มีต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น และสถานการณ์ความเป็นไปที่เกิดขึ้นรอบตัวนั่นเอง
การเล่าเรื่องมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกให้ดีอย่างไร?
การเล่าเรื่องเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นเสริมกระบวนการรู้จักตนเอง (self knowledge) ของเด็กกับบริบทแวดล้อมได้ พ่อแม่ที่ถ่ายทอดมุมมองความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อโลก บรรยายสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยปะติดปะต่อระบบการเรียนรู้ที่อาจยังคิดอ่านได้ไม่สมบูรณ์ของเขาให้ค่อยๆ active ที่จะเข้าไปทำความรู้จักกับสิ่งละอันพันละน้อยรอบตัวมากขึ้น และสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นจนก่อเกิดเป็นภาพใหญ่ให้เข้าใจได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีความหมายหรือสำคัญต่อเขาอย่างไร
ยกตัวอย่างเช่น เด็กที่หกล้มแล้วพ่อแม่เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเหตุผลว่าที่ลูกสะดุดนั้นเพราะเป็นพื้นต่างระดับ เข่ากระแทกพื้นจึงเกิดแผลและเจ็บเป็นธรรมดา บาดแผลนี้เกิดขึ้นกับทุกส่วนในร่างกายได้ถ้าได้รับการกระทบกระเทือนในส่วนนั้น พอใส่ยาแผลก็จะหายในไม่ช้า การเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งโดยใส่รายละเอียดความเป็นมากับความใส่ใจต่อความรู้สึกเจ็บกลัวของเขา ไม่เพียงเด็กจะรู้สึกอุ่นใจจากพ่อแม่ ยังช่วยให้เขาเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นและคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในทางบวกว่า แผลที่เข่าของเขาจะได้รับการดูแลใส่ยาและหายเป็นปกติในที่สุด
ดร.เดเนียล อธิบายว่า แม้ทารกจะมีกลไกทางจิตที่พร้อมจะเรียนรู้เข้าใจโลก และความสามารถในการควบคุมอารมณ์ติดตัวมาตั้งแต่แรกเกิดอยู่แล้ว แต่พวกเขายังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลหรือเรื่องราวจากพ่อแม่เพื่อเติมเต็มกระบวนการสร้างความเข้าใจในสภาวะอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนเองที่เกิดขึ้นกับทุกสรรพสิ่งในโลกภายนอก
การเล่าเรื่องราวต่างๆ จึงเป็นปฏิสัมพันธ์ที่เป็นรากฐานสำคัญของสายใยความผูกพันที่พ่อแม่จะสร้างกับลูกได้ และเปรียบเป็นหน้าจอทีวีที่ฉายสภาพแวดล้อม เรื่องราวความเป็นไปของโลกที่จะปั้นแต่งตัวตนทั้งภายนอกและจิตใจของพวกเขาขึ้นมา โดยมีพ่อแม่เป็นผู้เขียนบทและกำกับอย่างเสร็จสรรพนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าในการเลี้ยงลูกนั้นพ่อแม่ต้องถ่ายทอดการรับรู้เรื่องราวและมุมมองความคิดผ่านความเข้าใจใคร่ครวญในตนเอง (self-reflection) มาแล้วเป็นอย่างดี ยิ่งพ่อแม่มีความเข้าใจในตนเองเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งเข้าใจลูกและสามารถเลี้ยงลูกอย่างปรับตัวยืดหยุ่น ความผูกพันก่อเกิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนรู้เข้าใจตนเองของลูกก็จะพัฒนาตามไปด้วย
เรื่องราวที่สมบูรณ์ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของสมองและจิตใจ
นอกจากจะเป็นการสื่อสารเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ในครอบครัว ความสำคัญของการเล่าเรื่องของพ่อแม่อยู่ตรงที่เรื่องเล่านั้นต้องมีความเป็น ‘เรื่องราวที่สอดคล้องสมบูรณ์’ (ศัพท์ทางเทคนิคเรียกว่า coherent narrative) ด้วย
อะไรคือความสอดคล้องสมบูรณ์? ทำไมเรื่องราวที่สื่อสารกับลูกจำเป็นต้องสอดคล้องสมบูรณ์ด้วย?
คำว่า ‘สอดคล้องสมบูรณ์’ ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเวลาจะคิดหรือสื่อสารแต่ละทีรูปประโยคต้องมาเต็มเสมอว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ เพื่ออะไร แต่สอดคล้องสมบูรณ์ในลักษณะว่า พ่อแม่สามารถถ่ายทอดการตระหนักรู้และเข้าใจตนเองได้อย่างเต็มที่ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่พบผ่านนั้นมีผลอย่างไรต่อมุมมอง ความรู้สึกนึกคิด หรือตัวตนของพวกเขาที่เป็นอยู่ และสะท้อนไปถึงขนาดว่าเขามีหมุดหมายในอนาคตอย่างไร เช่น
“ตอนเด็กๆ ปู่กับย่าจนมาก พ่อต้องทำงานรับจ้างไสไม้เพื่อช่วยที่บ้านตั้งแต่เล็ก ลำบากพอดูนะ แต่พ่อภูมิใจที่เราแบ่งเบาเขาได้ ปู่กับย่าเสร็จงานแล้วก็ต้มไก่ทำของอร่อยให้พ่อกินทุกวัน คุยหัวกันในวงทานข้าว มีความสุขมาก ดังนั้นเรื่องความลำบากยากแค้นจึงไม่ใช่ปัญหาในชีวิตพ่อเลยนะ ครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียวกันคือสิ่งที่หล่อเลี้ยงหัวใจให้เราผ่านความยากลำบากมาได้และเป็นความสุขที่เรียบง่ายที่สุดนะ”
เพราะการถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตที่สอดคล้องสมบูรณ์ให้ลูกฟัง ก็เหมือนการฉายละครน้ำดีที่ลูกดูแล้วได้พัฒนาความคิดและจิตใจของเขาให้เข้ารูปเข้ารอยตามไปด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะสื่อสารเรื่องราวให้ออกมาสอดคล้องสมบูรณ์ได้ก็ต้องผ่านการกลั่นกรองตกตะกอนความเข้าใจ ด้วยกลไกการทำงานของสมองและจิตใจเสียก่อน การนั่งลงทำความเข้าใจกลไกเหล่านี้จะช่วยให้พ่อแม่สำรวจกระบวนคิดตนเองได้ถี่ถ้วน และจัดระบบระเบียบความคิดและมุมมองที่ใช้มองโลกให้กระจ่างชัดได้
เอาล่ะ เริ่มด้วยกลไกการประมวลผลทางสมองที่มนุษย์ใช้ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ กันก่อนดีกว่า
กฎพื้นฐานคือ มนุษย์รับรู้ความเป็นไปของสิ่งรอบตัวแล้วก็จะเกิดการรับรู้ แล้วแสดงความคิดหรือพฤติกรรมบางอย่าง อธิบายเป็นสมการง่ายๆ ได้ว่า
Input -> Internal Processing -> Output
ทีนี้ลองนึกภาพสมองของเราที่ประกอบไปด้วยส่วนต่างๆ มากมายซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกันก็เชื่อมต่อเพื่อสนับสนุนซึ่งกันและกันแบบบูรณาการ การจะประมวลผลข้อมูลที่ได้รับจนเกิดเป็นการรับรู้และถ่ายทอดออกมาให้เป็นเรื่องราวที่สมเหตุสมผลเข้าใจได้นั้น ต้องอาศัยการรับส่งประมวลข้อมูลที่ซับซ้อนสอดประสานกันระหว่างสมองส่วนต่างๆ (integration) นั่นเอง
ในที่นี้จะพูดถึงกระบวนการประมวลผลที่จำเป็นที่สุดสำหรับการเล่าเรื่องก่อนคือ การประมวลผลที่อาศัยการทำงานของสมองสองซีก: ซ้าย-ขวา (horizontal integrations หรือ bilateral integration)
สมองซีกซ้าย (คิด วิเคราะห์ เหตุผล) | สมองซีกขวา (สัญชาตญาณ อารมณ์ ความรู้สึก) |
ประมวลผลแบบเรียงลำดับขั้นใช้เหตุผล ตรรกะตีความหมายทางภาษา สัญลักษณ์ เช่น การอ่าน การพูด การเขียนสามัญสำนึก รู้ผิดชอบชั่วดี | ประมวลผลแบบสะเปะสะปะ ไม่มีตรรกะรายละเอียดเหตุการณ์ที่เกิดกับตัวเองด้านบริบท สถานที่แบบเป็นภาพรวมผัสสะจากประสาทสัมผัสทั้ง 5 การรับรู้ทางจิตอารมณ์ความรู้สึกที่มีต่อบุคคลหรือเหตุการณ์อากัปกิริยา จินตนาการ |
การจะเล่าเรื่องให้สอดคล้องสมบูรณ์ได้ต้องมีข้อมูลพื้นฐานจากสมองซีกขวา คือที่ทางของเราในบริบทของเหตุการณ์ การรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของเราในสถานการณ์นั้นเป็นข้อมูลตั้งต้นเสียก่อน แล้วสมองซีกซ้ายจึงจะสามารถตีความ คิดวิเคราะห์ อธิบายภาพเหตุการณ์หรือความรู้สึกเหล่านั้นด้วยตรรกะความเป็นเหตุเป็นผลได้
ทั้งหมดนี้คือกระบวนการเดียวกับที่เราใช้ใคร่ครวญทำความเข้าใจตนเอง เรื่องราวที่มีรายละเอียดจากข้อมูลของสมองทั้งสองฝั่ง ครบถ้วนว่ารายละเอียดต่างๆ ในเหตุการณ์เป็นอย่างไร เรากับคนอื่นๆ คิดเห็นอย่างไรกับเหตุการณ์นั้น และท้ายที่สุดแล้วเราเห็นคุณค่าความสำคัญและความหมายที่เรื่องราวนั้นมีต่อเราอย่างไร ด้วยความเข้าใจนี้ เรื่องราวจึงจะเรียกว่าสอดคล้องกันโดยสมบูรณ์
แต่ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่า ใช่ว่าการทำงานของสมองทั้งสองซีกนี้จะประสานรับส่งอย่างสมดุลกันอยู่ตลอดเวลาเสมอไป บางทีการสั่งการของสมองซีกใดซีกหนึ่งอาจทำงานมากกว่า เช่น เวลาเรารู้สึกตื่นเต้น เครียดและกดดันมากๆ ก่อนพรีเซนต์งานให้ผู้ใหญ่ในบอร์ดที่ประชุม แต่พอถึงเวลาจริงกลับนิ่งสงบ มีความเป็นมืออาชีพขนานแท้ สามารถดึงสติตนเองออกจากความรู้สึกตื่นเต้นเหล่านั้นได้ (สมองซีกซ้ายทำงานมากกว่าซีกขวา)
หรือบางทีแค่เหลือบไปเห็นแมงมุมตัวเขื่องคืบคลานออกมาจากหลังตู้ เราก็เกิดความรู้สึกขนลุกหวาดผวาโดยอัตโนมัติว่ามันอาจจะกระโดดเข้าใส่ตอนไหนก็ได้ คิดอะไรไม่ออกนอกจากกลัวจนสติหลุด (สมองซีกขวาทำงานมากกว่าซีกซ้าย)
ในกรณีของคนที่มีปมติดค้างในใจ (ศัพท์ภาษาอังกฤษเรียกว่า unresolved issues) สมองทั้งสองซีกก็มักจะทำงานไม่ประสานสมดุลกันอย่างที่กล่าวมานี้ เหตุที่ปมติดค้างฝังลึกในใจเพราะเจ้าตัวอาจไม่เคยให้เวลาตัวเองนั่งทบทวนทำความเข้าใจกับอารมณ์ความรู้สึกที่เก็บกดไว้ หรือไม่ได้ลองปะติดปะต่อรายละเอียดเหตุการณ์นั้นเข้ากับอารมณ์ความรู้สึกอย่างยอมรับตรงไปตรงมา (การรับรู้ข้อมูลจากสมองซีกขวาอาจขาดวิ่นเว้าแหว่งจากภาวะความเครียด กดดัน หวาดกลัว หรือช็อก) เมื่อสมองซีกซ้ายซึ่งทำหน้าที่คิดวิเคราะห์และตีความหมายไม่มีข้อมูลด้านอารมณ์ความรู้สึกหรือรายละเอียดเหตุการณ์จากสมองซีกขวา การประมวลผลก็ทำได้ไม่บริบูรณ์และไม่อาจสร้างความเข้าใจในตนเองขึ้นมาได้
ตัวอย่างหนึ่งคือ หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งเสียคุณพ่อไปตั้งแต่เป็นวัยรุ่นและไม่เคยแสดงความเสียใจกับเรื่องนี้เลย จนกระทั่งมีโอกาสเล่าย้อนไปในช่วงเวลานั้น เธอร้องไห้ออกมาอย่างรุนแรงขณะทบทวนว่าเธอกับพ่อทะเลาะกันรุนแรงมากเรื่องที่เธอคบกับแฟนหนุ่มและพ่อบันดาลโทสะจนหัวใจวาย เพราะเหตุนี้ เธอจึงหนีจากความรู้สึกผิดและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับความรู้สึกสูญเสียมาโดยตลอด จนเมื่อได้เล่าเรื่องราวของเหตุการณ์ในวันนั้นให้ใครสักคนฟังอีกครั้ง การเรียนรู้ที่จะยอมรับและเข้าใจตนเองเกิดขึ้นเมื่อจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายซึ่งก็คือความรู้สึกที่เก็บซ่อนไว้ ถูกเชื่อมต่อเข้ากับภาพเหตุการณ์วันนั้นได้สมบูรณ์ในที่สุด
จะเห็นได้ว่า การเล่าเรื่องถือเป็นหนทางไปสู่การคลี่คลายปมบาดแผลและยกระดับจิตใจของมนุษย์กันได้เลยทีเดียว
คราวนี้ นอกจากการประมวลผลของสมองซีกซ้ายขวา ยังมีการประมวลผลของสมองอีก 2 รูปแบบคือ
- ประมวลแนวตั้ง (vertical integration) คือเปลือกสมองด้านบนที่ทำหน้าที่คิด ประมวลผลร่วมกับส่วนที่อยู่ข้างใต้ที่ทำหน้าที่รับความรู้สึก (จำง่ายๆ ว่า คิด+รู้สึก)
- ประมวลเป็นช่วงเวลา (temporal integration) คือสมองลำดับข้อมูลเข้ากับเวลาในรูปอดีต ปัจจุบันและอนาคตว่าเราผ่านอะไรมาบ้างจนเป็นวันนี้และมีหมุดหมายใดต่อไป
ว่ากันตามจริงแล้ว การดำรงชีวิตทุกมิติของเราจำเป็นต้องอาศัยการทำงานประมวลผลของสมองอย่างสอดผสานกันทุกรูปแบบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อย่างไรก็ตาม ดร.เดเนียล ชี้ว่า กลไกสำคัญที่สุดที่มนุษย์ใช้สร้างเรื่องราวที่สอดคล้องสมบูรณ์เพื่อสะท้อนความเข้าใจในชีวิตหรือตนเองนั้น มาจากการประมวลผลร่วมกันของสมองซีกขวาและซ้ายเป็นหลัก
ทั้งนี้ก็เพราะบริเวณด้านข้างของสมองซีกขวามีจุดเชื่อมต่อสำคัญกับวงจรลิมบิกโดยตรง ซึ่งวงจรนี้มีหน้าที่มหัศจรรย์พันลึกด้านการสร้างความรู้สึกจากสิ่งกระตุ้นและ ‘เซนส์’ สัมผัสถึงความรู้สึกของคนอื่นจากท่าทางอากัปกิริยา ตรงนี้เองที่เป็นจุดกำเนิดของ mindsight (ความสามารถในการอ่านความรู้สึกของคนอื่นและของตนเองได้) ซึ่งนำไปสู่ความมีเมตตากรุณาต่อกัน (compassion)
คราวนี้มาดูกลไกด้านจิตใจกันบ้าง
สภาวะทางจิตเกิดจากการรับรู้ประสบการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น (ผ่านทางหู ตา จมูก ปาก และผิวหนัง) และเมื่อได้รับประสบการณ์นั้นซ้ำๆ จนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตก็จะเกิดเป็นความทรงจำขึ้นมา ซึ่งความทรงจำรูปแบบนี้เป็นความทรงจำที่เกิดขึ้นเองโดยปริยาย (implicit memory) ความทรงจำนี้เป็นตัวกำหนดวิธีมองและตอบสนองโลกโดยไม่รู้ตัว เช่นเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาด้วยความรุนแรง โดนเฆี่ยนตีทารุณ ถูกละเลย ขาดความอบอุ่น ก็จะมองว่าการใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องธรรมดาที่เขาสามารถใช้มันกับคนอื่นได้เช่นกัน ขณะเดียวกันการจดจำความเจ็บปวดหวาดกลัวก็อาจสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะแข็งกร้าวกับทุกคน ไม่ไว้วางใจใครง่ายๆ หรือเด็กที่เคยถูกแมวกัด พอโตขึ้นเห็นแมวเดินอยู่ใกล้ๆ ก็ตั้งท่าจะเตรียมหนีทันทีเพราะจำฝังใจ ความทรงจำโดยปริยายนี้ คือสภาวะที่ใจจดจำความรู้สึกบางอย่างได้แน่วแน่จนกลายเป็นปกติวิสัยในตัวตนของเขาไป
สาเหตุที่ทั้งพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจกระบวนการทางจิตที่กล่าวมานี้ เพราะบางครั้งประสบการณ์ในอดีตอาจสร้างความทรงจำเลวร้ายบางอย่างที่ฝังใจโดยไม่รู้ตัว และส่งผลให้มุมมองที่มีต่อโลกนั้นปิดกั้นการเรียนรู้ทำความเข้าใจตนเองและลูกอย่างแรงกล้าได้
ดังนั้น ในประเด็นการทำงานของสมองและจิตใจกับการเล่าเรื่อง สาระสำคัญคือพ่อแม่ต้อง ทำความเข้าใจใคร่ครวญในตนเอง (self-reflection) เสียก่อนเพื่อจัดการกับปมบาดแผลบางอย่างหรือความรู้สึกนึกคิดที่ก่อเกิดอคติ การต่อต้านที่อาจก่อให้เกิดปัญหาในด้านความสัมพันธ์กับลูกหรือครอบครัว
ในที่นี้กระบวนการ self-reflection คือการหาความเชื่อมโยงสอดคล้องกันของความรู้สึกนึกคิดของตนเองกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วใช้สติ (awareness) เข้ามาคิดพิจารณาสภาวะจิตใจด้านลบที่เราเก็บไว้โดยไม่รู้ตัวเหล่านั้น แยกแยะอดีตออกจากปัจจุบัน ทบทวนตนเองอย่างถี่ถ้วน และโอบกอดยอมรับทางเลือกการตัดสินใจของตนด้วยความเข้าใจและมีเมตตากรุณา เมื่อเกิดความเข้าใจในตัวเอง ความสัมพันธ์ในครอบครัวอันเกี่ยวพันกับการเปิดใจเรียนรู้ยอมรับความคิดความรู้สึกของลูกก็จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นด้วย
คำแนะนำง่ายๆ ในการทำ self-reflection คือลองพยายามเปิดรับความรู้สึกนึกคิดที่โผล่แวบขึ้นชั่วแล่นหรืออารมณ์ความรู้สึกบางอย่างที่ผุดขึ้นอย่างแรงกล้าทุกครั้งซ้ำๆ เมื่อเจอเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่ง หาความเชื่อมโยงปะติดปะต่อให้ได้ว่าความรู้สึกนี้ (เช่น ความกลัว ความโกรธโมโหอย่างรุนแรง) เชื่อมโยงกับสถานการณ์นั้นอย่างไร และเรามองเห็นตนเองในเหตุการณ์นี้ด้วยมุมมองอย่างไร
พ่อแม่ที่มองเห็นตนเองอย่างชัดแจ้งในทุกประสบการณ์ที่พบผ่านด้วยการเรียนรู้เข้าใจสภาวะจิตใจที่มีที่มาที่ไป ทั้งจากในอดีตที่ส่งผลต่อความเป็นตัวตนในปัจจุบัน เห็นความเป็นไปได้ที่จะพาตัวเองไปสู่อนาคตที่มั่นคงสดใส ก็จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่สะท้อนการใช้ชีวิตให้กับลูกได้อย่างสร้างสรรค์
ด้วยการเล่าเรื่องที่กล่าวมานี้ จุดประสงค์เพื่อให้กำลังใจพ่อแม่ทุกคนว่า ทุกคนมีศักยภาพเต็มเปี่ยมที่จะแต่งเติมชีวิตของตนเองให้สอดคล้องสมบูรณ์ได้ และยังสามารถพัฒนาศักยภาพเดียวกันนี้ให้กับลูกๆ เพื่อเขาจะเติบใหญ่ไปอย่างงดงามด้วยเรื่องราวชีวิตที่พวกเขาเป็นผู้ลงมือแต่งเติมมันด้วยตนเอง
แบบฝึกหัดพ่อแม่ 1. จากหน้าที่ของสมองซีกซ้ายและซีกขวา ให้ลองนึกเหตุการณ์ของตนเองกับลูก (เช่น พาลูกไปซื้อของเล่นแล้วลูกร้องไห้งอแง) และจดบันทึกแยกแยะการทำงานของสมองทั้งสองด้านที่มีต่อเหตุการณ์นั้น ซีกขวาบรรยายรายละเอียดเหตุการณ์อย่างไร เรารู้สึกต่อเหตุการณ์และลูกอย่างไร จากนั้นสมองฝั่งซ้ายวิเคราะห์เหตุการณ์นี้ว่าอย่างไร ตรรกะเหตุผลที่ใช้คืออะไร พยายามฝึกแยกแยะกระบวนการนี้ให้บ่อย 2. การจำบันทึกเป็นการใช้งานสมองซีกซ้าย (การประมวลผลด้วยภาษา เช่น พูด อ่าน เขียน) ดังนั้นพ่อแม่ควรหมั่นฝึกตนเองจินตนาการบ่อยๆ เพื่อสร้างสมดุลการทำงานของสมองซีกขวาด้วย การทำงานของสมองซีกขวานี้มักเป็นไปโดยไม่รู้ตัวหรือเลือนรางกว่าการคิดวิเคราะห์จากสมองซีกซ้ายข้อนี้จึงอยากให้พ่อแม่หลับตาแล้วจินตนาการถึงภาพเหตุการณ์หรือความทรงจำที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก เหตุการณ์นี้ส่งผลหรือมีความหมายต่อความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูกอย่างไรบันทึกกระบวนการนี้ไว้ บรรยายความทรงจำให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทบทวนถึงความหมายของมัน จากนั้นสังเกตว่าการฝึกในข้อนี้ช่วยให้มีพัฒนาการด้านความสัมพันธ์กับลูกอย่างไรบ้าง และมีปัญหาหรือแง่มุมใดที่ยากลำบากในการจัดการกับมัน จินตนาการถึงปมบาดแผล (ถ้ามี) ลองจินตนาการถึงการเยียวยาว่าจะเยียวยาตนเองอย่างไร ถ้าปมบาดแผลที่ได้รับการคลี่คลายเยียวยาแล้ว สถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร 3. ขอ 3 คำที่จะอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างคุณกับลูก 3 คำนี้เป็นคำเดียวกันกับคำที่คุณใช้อธิบายความสัมพันธ์ในวัยเด็กระหว่างคุณกับพ่อแม่ด้วยหรือไม่ถ้าไม่ใช่คำเดียวกัน คำที่ต่างกันนั้นคืออะไร ต่างกันอย่างไร 3 คำนี้ครอบคลุมทุกแง่มุมความสัมพันธ์ได้หมดหรือไม่ มีความทรงจำใดบ้างที่อยู่นอกเหนือจากคำอธิบาย 3 คำนี้ความทรงจำที่อยู่นอกเหนือคำอธิบายนั้น ตรงกับความสัมพันธ์ของคุณกับพ่อแม่หรือคุณกับลูกอย่างไร |
ที่มา:
Daniel J. Siegel, M. a. (2004). How We Perceive Reality: Constructing the Stories of Our Lives. In Parenting from the Inside Out (pp. 31-51). New York: tarcherperigee.