Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: March 2019

เลี้ยงอย่างไรหลังหย่าร้าง : ลูกจะโอเคที่สุดเมื่อพ่อแม่ไม่ขัดแย้งกัน
Family Psychology
29 March 2019

เลี้ยงอย่างไรหลังหย่าร้าง : ลูกจะโอเคที่สุดเมื่อพ่อแม่ไม่ขัดแย้งกัน

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • สามีภรรยาเลิกกันได้ แต่ความเป็นพ่อแม่เลิกไม่ได้ ทำอย่างไรให้ลูกโอเคที่สุดเมื่อบ้านไม่กลับไปเหมือนเดิม
  • แน่นอน ลูกได้รับผลกระทบ แต่เขาจะค่อยๆ ปรับตัวเมื่อพ่อแม่ร่วมมือกัน จับมือเป็นทีมเวิร์คช่วยประคับประคองให้ลูกใช้ชีวิตต่อไปได้โดยปราศจากปัญหา
  • เดินเว้นระยะเป็นคู่ขนาน ย่อมดีกว่าเดินด้วยกันแล้วทำร้ายซึ่งกันและกัน ความเป็น พ่อ-แม่-ลูก จะยังคงอยู่อย่างแข็งแรง

เมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ถึงทางตัน โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูกแล้ว คำถามที่อยู่ในใจคนเป็นพ่อแม่คำถามหนึ่ง น่าจะหนีไม่พ้น

“เลิกดีไหม หรือจะอยู่กันต่อไปเพื่อลูกดี?”

แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ท่ามกลางสถานการณ์ที่ชวนกระอักกระอ่วนนี้ หลายคู่ตัดสินใจยุติความสัมพันธ์ แล้วก็ผ่านมาได้ด้วยการยังคง “ความเป็นพ่อแม่” ให้กับลูก หากลองนึกดูดีๆ เราเห็นตัวอย่างการตัดสินใจลักษณะนี้มากขึ้นผ่านสื่อ จากความสัมพันธ์ส่วนตัวของดารานักแสดงที่เลี่ยงการเป็นจุดสนใจจากสาธารณะไม่ได้ หลายคนจำใจต้องตอบคำถามผ่านการสัมภาษณ์ โดนวิพากษ์วิจารณ์บ้าง ให้กำลังใจบ้างแตกต่างกันไป

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังตัดสินใจ ข้อมูลต่อไปนี้จะช่วยให้เห็นข้อดี ข้อเสีย วิธีการรับมือและวิธีการพูดคุยกับลูกหากจำเป็นต้องมีการหย่าร้าง ซึ่งจะช่วยคุณให้รอด!

หรือหากความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ของคุณ มีความเข้าใจกันดี เป็นความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันและทำให้คุณเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกมากขึ้น!!

อยู่ด้วยกันหรือแยกกันอยู่…ทางไหน คือ ทางรอด

เอมี่ มอริน (Amy Morin) นักจิตอายุรเวท (psychotherapist) และอาจารย์มหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์น  Northeastern University) เมืองบอสตัน (Boston) รัฐแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) การพูดบนเวที TEDx Talk ของมอรินในหัวข้อ The Secret of Becoming Mentally Strong เป็น 1 ใน 50 TEDx ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เธอกล่าวถึงสุขภาพจิตของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการทะเลาะกันของพ่อแม่ไว้ในบทความ “How Parents Fighting Affects a Child’s Mental Health” ว่า

ความขัดแย้งที่รุนแรงในครอบครัว ส่งผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิตของเด็กอย่างแน่นอน ไม่ว่าจากการเห็นพ่อแม่ใช้ความรุนแรงต่อกัน การขว้างปาสิ่งของ การทำร้ายร่างกาย การพูดจาดูถูกเหยียดหยาม ด่าทอ การขู่ว่าจะออกจากบ้านหรือแยกทางกัน ไม่เว้นแม้แต่การนิ่งเงียบ หรือเดินหนีออกจากบทสนทนาแห่งความขัดแย้งตรงหน้า ที่เหมือนไม่ได้สร้างผลกระทบใดๆ หรือคล้ายจะเป็นทางออกทางหนึ่ง แต่วิธีการนี้กลับเป็นการตอบสนองที่สร้างพลังงานลบ ทำลายบรรยากาศและความอบอุ่นในครอบครัว

เด็กสามารถสัมผัสพลังงานลบนี้ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็กในระยะยาว  โดยเฉพาะช่วงอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 19 ปี ซึ่งก็คือช่วงวัยรุ่นที่เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อในการใช้ชีวิตนั่นเอง

นอกจากนี้ หากการเงียบไม่พูดไม่จาและเดินหนีจากปัญหาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง พฤติกรรมนี้จะกลายเป็นการแสดงตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับลูก ในระยะยาวจะทำให้ลูกขาดทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการควบคุมอารมณ์ต่ำ และไม่มีทักษะจัดการกับความขัดแย้ง

หลายคนอาจกำลังตั้งคำถามต่อว่า การมีพ่อแม่อยู่ด้วยกันก็ดีกว่าการแยกกันอยู่ไม่ใช่หรือ? เพราะยังรักษาความเป็นครอบครัวไว้ได้

ไม่เสมอไป!

แต่ละครอบครัวเมื่อมาใช้ชีวิตร่วมกัน ย่อมมีปัญหาต่างกันไป ผลการวิจัย ระบุว่า ความขัดแย้งในครอบครัวหรือชีวิตแต่งงานส่งผลกระทบด้านลบต่อสภาพจิตใจของลูก เรื่องนี้จึงเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรรระวัง เพราะความขัดแย้งระหว่างพ่อแม่ ทำให้…

หนึ่ง เด็กรู้สึกไม่ปลอดภัย (Kids are emotionally insecure.) เกิดความหวาดระแวงขณะใช้เวลาอยู่ร่วมกับพ่อแม่ เนื่องจากไม่รู้ว่าพ่อกับแม่จะทะเลาะกันอีกตอนไหน ความรู้สึกนี้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับลูกด้วย เพราะพ่อแม่เองก็ต้องเผชิญหน้ากับความเครียด หากพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตนเอง และไม่สามารถแบ่งเวลาให้กับลูกได้อย่างมีคุณภาพ จะยิ่งสร้างบรรยากาศที่น่าอึดอัดในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ของลูกอย่างแน่นอน

สอง ผลกระทบด้านสุขภาพจิตในระยะยาว (Long-Term Mental Health Effects)

มีการศึกษาช่วงปี 2012 เผยแพร่ในวารสารการพัฒนาเด็ก เรื่องผลกระทบด้านสุขภาพจิตในเด็กกรณีที่พ่อแม่มีปัญหาขัดแย้งกัน กลุ่มเป้าหมาย คือ ครอบครัวที่อาศัยในเขตตอนกลางฝั่งตะวันตกและทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา จำนวน 235 ครอบครัว แต่ละครอบครัวมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 40,000 – 60,000 ดอลล่าร์ต่อเดือน และมีลูกที่กำลังศึกษาอยู่ระดับอนุบาล

นักวิจัยดำเนินการเก็บข้อมูลด้วยการถามคำถามยากๆ กับผู้ปกครอง ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสถานการณ์การเงิน เพื่อสังเกตทีท่าว่าทั้งพ่อและแม่มีความคิดเห็นตรงกันหรือไม่ มากน้อยขนาดไหน

หลังจากนั้น 7 ปีจึงกลับมาสัมภาษณ์ครอบครัวกลุ่มเป้าหมายอีกครั้ง สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป คือ ลูกเติบโตขึ้นจากระดับอนุบาลมาสู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ครั้งนี้นักวิจัยทำการสำรวจด้วยการถามคำถามทั้งผู้ปกครองและลูก ได้ข้อสรุปว่าเด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ลงรอยกัน หรือทะเลาะกันบ่อยครั้ง ลูกจะมีอาการซึมเศร้า มีความวิตกกังวล และมีพฤติกรรมเสี่ยงมากกว่า

และ สาม ความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตด้านอื่นๆ เช่น มีประสิทธิภาพในการเรียนรู้น้อยลง ทำให้ผลการเรียนตกต่ำ เนื่องจากเด็กตกอยู่ในภาวะกดดัน มีความเครียดและหวาดกลัว ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ขาดปฏิภาณไหวพริบ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ รวมไปถึงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ความก้าวร้าว การทะเลาะวิวาท สูบบุรี่ ติดเหล้า หรือการหันไปพึ่งพายาเสพติด เป็นต้น

เมื่อการดันทุรังอยู่ด้วยกันมีแต่จะสร้างผลเสีย แต่มอรินก็ไม่ปฏิเสธว่าการหย่าร้างส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม กุญแจสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ยังอยู่ที่ ‘พ่อกับแม่’ ที่แม้ไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว แต่คงต้องทำหน้าที่พ่อและแม่ เป็นทีมเวิร์คช่วยประคับประคองให้ลูกใช้ชีวิตต่อไปได้โดยปราศจากปัญหา

รู้ก่อนเพื่อรับมือกับการร้างลา

มอริน บอกว่า ปีแรกหลังการหย่าร้างเป็นช่วงเวลาที่ยากที่สุด

การหย่าร้างเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก 48% ของครอบครัวอเมริกันและอังกฤษกำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน ผลการสำรวจพบว่า เด็กต้องอยู่กับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 16 ปี ช่วง 1 – 2 ปีแรกหลังพ่อแม่แยกทางกัน เด็กมักตกอยู่ในภาะซึมเศร้า ฉุนเฉียวง่าย มีความวิตกกังวล หวาดกลัว อึดอัดใจ สับสน และปฏิเสธทุกอย่างรอบตัว

สำหรับช่วงวัยเด็ก ในระยะแรกพวกเขาอาจเกิดความสับสนจากการตั้งคำถามว่า ทำไมต้องไปมาระหว่าง 2 บ้านเพื่ออยู่กับพ่อและแม่ หรือเกิดความวิตกกังวลว่าหากพ่อกับแม่ไม่รักกันแล้ว ต่อไปพ่อกับแม่จะไม่รักพวกเขาด้วย

สำหรับวัยประถมพวกเขามักโทษตัวเองว่า การที่พ่อกับแม่แยกทางกันเป็นความผิดของพวกเขา คงเป็นเพราะพวกเขาทำตัวไม่ได้หรือทำอะไรผิดสักอย่าง

ส่วนวัยรุ่นมักฉุนเฉียวและหงุดหงิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โทษพ่อแม่ หรือคนใดคนหนึ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นต้นเหตุให้ครอบครัวล่มสลาย

นอกจากนี้ภาวะความเครียดจากการหย่าร้างทำให้พฤติกรรมของพ่อแม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมโดยไม่รู้ตัวแต่ลูกสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยปละละเลย การไม่ดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร เช่น พ่อแม่อาจเคยเข้มงวดกับบางอย่าง แต่กลับปล่อยผ่านไม่สนใจระเบียบข้อนั้นอีก การแสดงความรักต่อลูกที่มีน้อยลง หรือเด็กหลายคนปรับตัวไม่ทัน เพราะอาจถึงกับต้องย้ายบ้าน เปลี่ยนโรงเรียน และเข้าอยู่ในสังคมใหม่ที่ไม่คุ้นเคย

สิ่งที่ต้องพึงระวังอีกอย่างหนึ่ง คือ เด็กที่เติบโตจากครอบครัวหย่าร้างมักเป็นคนที่ชอบความเสี่ยง นำไปสู่การอยากรู้อยากลองสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นโทษต่อตัวเอง เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ติดยาเสพติด และการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาคุณแม่วัยใส หรือการมีลูกในขณะที่ตัวเองยังไม่มีความพร้อมเพราะอายุยังน้อย ยังเรียนไม่จบ ไม่มีงานทำ และไม่มีวุฒิภาวะในการเลี้ยงดูลูก

ผลการสำรวจบอกว่า การใช้ชีวิตคู่โดยไม่ตั้งใจตั้งแต่อายุยังน้อย มีแนวโน้มแยกทางกันสูงนำมาสู่การหย่าร้างวนเป็นวัฎจักรปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สุด

คำถามต่อมา ลูกควรอยู่กับใคร

เมื่อคำตอบสุดท้าย คือ การหย่า คำถามต่อมาคือ ลูกควรจะอยู่กับใคร? ลูกควรจะอยู่กับแม่มากกว่าไหม? หรืออยู่กับใครดีกว่ากัน?

พ่อแม่มีความสามารถในการเลี้ยงลูกได้เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นลูกผู้หญิงหรือลูกผู้ชาย ดังนั้นแทนที่ผู้ปกครองจะโฟกัสตามความเชื่อว่าลูกผู้หญิงควรอยู่กับแม่ ลูกผู้ชายควรอยู่กับพ่อ หรือลูกควรอยู่กับแม่มากกว่า ทั้งพ่อและแม่ถึงแม้หย่าร้างกันแล้ว ควรหันหน้าเข้าหากันเพื่อลูก ด้วยการให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลาอยู่กับลูกเท่าๆ กัน

หลังการหย่า คุณภาพของเวลาที่พ่อแม่ใช้อยู่กับลูกมีความสำคัญมากกว่าระยะเวลา พ่อแม่บางคนอาจมีเวลาน้อย แต่หากได้ใช้เวลาร่วมกันอย่างมีคุณภาพในทุกๆ ครั้งที่เจอกัน คุณภาพของเวลาจะส่งผลต่อการปรับตัวของลูกได้ดี ยกตัวอย่างเช่น การใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน ได้พูดคุยสื่อสารระหว่างกัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างความผูกพันและความเข้าใจระหว่างพ่อแม่กับลูกได้

ผลการศึกษาที่นำเสนอในวารสารการดูแลลูก (Journal of Custody Child) เกี่ยวกับการแบ่งบทบาทพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก กรณีศึกษาเป็นกลุ่มผู้ปกครองที่ดำเนินการขอคำตัดสินทางกฎหมายจากศาล

การศึกษาโฟกัสไปที่ผลลัพธ์เรื่อง การปรับตัวของเด็กกับการแบ่งบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครอง (Parent–child gender matching and child psychological adjustment after divorce) ซึ่งผู้เป็นพ่อมักได้รับคำตัดสินให้รับผิดชอบดูลูกผู้ชาย ส่วนแม่ให้ดูแลลูกผู้หญิง บทความนี้ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ราวท์เลดจ์ (Routledge) ของอังกฤษซึ่งเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ระบุว่า เทคโนโลยีช่วยให้ระยะห่างระหว่างพ่อแม่กับลูกลดลง เนื่องจากไม่ว่าลูกจะอยู่กับพ่อหรือแม่ ลูกสามารถติดต่อสื่อสารกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ด้วยตัวเองผ่านเทคโนโลยี ในทางกลับกันผู้ปกครองก็สามารถใช้เทคโนโลยีพูดคุยสื่อสารกับลูกได้ตลอดเวลาเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาสรุปว่า

การสานต่อความเป็นพ่อแม่ด้วยความร่วมมือที่ดีระหว่างผู้ปกครอง ด้วยการจับมือกันทำหน้าที่ดูแลลูก โดยไม่กีดกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายหลังจากชีวิตคู่สิ้นสุดลง ส่งผลอย่างมากต่อพฤติกรรมและการปรับตัวของลูกในเชิงบวก เพราะความรู้สึกเชิงลบต่างๆ จะค่อยๆ คลี่คลาย เมื่อพวกเขาพบว่าบรรยากาศแห่งความตึงเครียดเวลาพ่อกับแม่ทะเลาะกัน หรืออยู่ด้วยกันนั้นหายไป

เช่นเดียวกับการศึกษาเรื่องสภาวะการณ์การเลี้ยงลูกหลังการหย่าร้าง ความขัดแย้ง และคุณภาพการเลี้ยงดูที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวของเด็ก (Latent Profiles of Postdivorce Parenting Time, Conflict, and Quality: Children’s Adjustment Associations) ในวารสารจิตวิทยาครอบครัว (Journal of Family Psychology) โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ได้ผลลัพธ์ระบุว่า การเลี้ยงดูลูกหลังผู้ปกครองหย่ากัน ลูกจะปรับตัวได้ดีที่สุดเมื่อผู้ปกครองไม่มีความขัดแย้งระหว่างกัน

แม้ความสัมพันธ์จะสิ้นสุดลงแล้ว แต่ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถแบ่งเวลาและใช้เวลาร่วมกับลูกอย่างมีคุณภาพโดยไม่เกี่ยวข้องว่าใช้เวลานานแค่ไหน ผลการศึกษาย้ำว่า ต่อให้มีเวลาอยู่กับลูกมาก แต่พ่อแม่ไม่ร่วมมือกัน ไม่สามารถสร้างบรรยากาศที่ดีให้ลูกรู้สึกถึงความรักได้ นั่นเท่ากับไม่ได้ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพ เวลาที่ใช้ไปนั้นก็ไร้ความหมาย ดังนั้นกุญแจสำคัญในการเลี้ยงดูลูกหลังการหย่าร้างของทั้งพ่อและแม่ คือ การแบ่งเวลา และการใช้เวลาที่มีอย่างมีคุณภาพ

หย่าก็หย่า แต่ว่าจะบอกลูกยังไง?

มอริน ย้ำว่า ทีมเวิร์คระหว่างพ่อกับแม่เป็นเรื่องสำคัญ

แม้จะไม่ชอบหน้า ไม่อยากพูดจาปราศรัย ไม่อยากใช้เวลาร่วมกันมากขนาดไหน พ่อแม่ต้องคุยและตกลงกันให้เข้าใจถึงทิศทางการดูแลลูก ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเวลา หากมีลูกมากกว่า 1 คน ใครจะเป็นคนดูแลลูกคนไหน โดยใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์เป็นที่ตั้ง

อย่าทะเลาะกันต่อหน้าลูก และอย่ายกภาระให้ลูกเป็นฝ่ายเลือกว่าอยากอยู่กับใครเด็ดขาด

กรณีที่พ่อแม่ไม่ได้อยู่พร้อมหน้าเพื่อคุยกับลูก พ่อแม่ต้องตกลงกันอย่างชัดเจนว่าจะอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไหน ให้คำพูดเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยไม่โทษว่าเป็นความผิดของใครคนใดคนหนึ่ง

หากตัดสินใจชัดเจนเรื่องการหย่า พ่อแม่สามารถชวนลูกคุยถึงเรื่องการแยกกันอยู่นี้ได้ 2 อาทิตย์ก่อนที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะย้ายออก ถ้ามีลูกหลายคนสามารถอธิบายให้ลูกฟังพร้อมๆ กันในคราวเดียว และบอกให้ครูประจำชั้นรู้ล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน ที่ตัดสินใจบอกเรื่องนี้กับลูก ทั้งนี้ เพื่อให้ครูช่วยสังเกตและคอยดูแลขณะอยู่ที่โรงเรียนได้อย่างถูกต้อง ไม่เผลอหรือพลาดพูดสิ่งที่กระทบกระเทือนจิตใจเด็กอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ต้องให้เวลากับลูก ให้โอกาสเขาได้ถามในสิ่งที่สงสัยและค้างคาใจกับเรื่องที่เกิดขึ้น

ตัวอย่างคำพูดที่ใช้พูดกับลูก

ยกตัวอย่างเช่น

“พ่อกับแม่ตัดสินใจว่า เราจะไม่อยู่ด้วยกันแล้ว มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยแต่เราต้องตัดสินใจ พ่อกับแม่รักลูกมาก การที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วยกันไม่ใช่ความผิดของลูกนะ พ่อกับแม่ไม่ได้จะหนีไปไหน ลูกยังมีเราและยังอยู่กับเรา”

ระวังคำพูดที่ว่า “ไม่ต้องกังวล ทุกอย่างโอเค” หรือ “อย่าร้องไห้นะลูก”

พ่อแม่สามารถสื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ลูกแสดงความรู้สึกออกมาได้อย่างเต็มที่“พ่อกับแม่รู้ว่าลูกรู้สึกกลัวมากตอนนี้”

“พ่อกับแม่รักลูกมาก เรารู้ว่าลูกเสียใจที่เราจะไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันอีก”

และเมื่อถึงเวลาต้องแยกจากกันจริง ๆ หลีกเลี่ยงความดราม่า เพราะนี่ไม่ใช่บทสรุปสุดท้ายของชีวิตความเป็นพ่อแม่ แต่เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ สิ่งที่ควรทำ คือ ให้แยกจากกันด้วยรอยยิ้ม ทำให้เกิดบรรยากาศผ่อนคลาย ให้ลูกสัมผัสได้ว่าไม่มีอะไรน่ากังวล หรือแม้กระทั่งนัดกันอย่างชัดเจนว่าอีกฝ่าัสดยจะมารับลูกเมื่อไหร่ แล้วบอกให้ลูกรู้

เมื่อตัดสินใจเริ่มต้นชีวืตคู่กับใครสักคน คงไม่มีใครอยากให้เส้นทางความสัมพันธ์ เปลี่ยนจากการเดินทางไปด้วยกันมาสู่ทางแยก แต่เมื่อเลี่ยงไม่ได้พ่อแม่เองก็ต้องปรับจูนทางเดินชีวิตให้เป็นทางแยกที่วิ่งคู่ขนานกันไปให้ได้  พ่อและแม่ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อลูก หากพ่อแม่ร่วมมือกัน จัดสรรเวลาให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพ และยังคงช่วยเหลือด้านการเงินให้ลูกตามสมควร โดยเฉพาะเรื่องการศึกษา ปัญหา ปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบทางสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นกับลูกก็จะลดลงตามไปด้วย

อ้างอิง
https://www.tandfonline.com
https://psycnet.apa.org
https://www.verywellfamily.com
https://www.verywellfamily.com
https://www.verywellfamily.com/how-
https://link.springer.com

Tags:

จิตวิทยาแบบแผนทางความสัมพันธ์การเติบโตการหย่าร้าง

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    การต่อรองและปฏิกิริยาตอบโต้ลำดับขั้นทางสังคมในความสัมพันธ์

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • How to enjoy life
    Perfectionist : เมื่อเรายังคงไขว่คว้าหาความสมบูรณ์แบบด้วยการเฆี่ยนตีตัวเอง

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Relationship
    ทำไมเราถึงชอบเป็นผู้ให้และลำบากใจที่จะเป็นผู้รับ? ชวนมอง “การให้” ที่อนุญาตให้ผู้อื่นเป็นผู้ให้บ้าง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ MACKCHA

  • Myth/Life/Crisis
    Swan Lake 1: เงามืดในตัวเองที่เราไม่ยอมรับรู้ ซึ่งไปปรากฏในการเสพติดความสัมพันธ์

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Healing the traumaFamily Psychology
    ไม่เป็นไรถ้าจะมีวัยเด็กที่เจ็บช้ำ เรียนรู้จากมันเพื่อเป็นพ่อแม่ที่มั่นคงทางใจได้

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

6 หัวใจสำคัญ ของการใช้จิตวิทยาเชิงบวกปรับพฤติกรรมลูก
Family Psychology
29 March 2019

6 หัวใจสำคัญ ของการใช้จิตวิทยาเชิงบวกปรับพฤติกรรมลูก

เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • รวมคำอธิบายไทยและเทศอย่างละเอียดว่าทำไมการเลี้ยงลูกถึงต้องใช้จิตวิทยาเชิงบวก
  • เพราะจิตวิทยาเชิงบวกเป็นหลักการที่ทำความเข้าใจกับสมองของมนุษย์ และปัจจัยต่างๆ อย่างบุคคลแวดล้อม ความสัมพันธ์ โดยเฉพาะกับการเลี้ยงเด็ก จิตวิทยาเชิงบวก จะเป็นไปตามพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัย
  • พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่อยากปรับพฤติกรรมลูก บทความชิ้นนี้มี 6 วิธีเชิงบวกมาแนะนำ

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเลี้ยงลูกด้วยจิตวิทยาเชิงบวกได้รับความสนใจจากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ที่อยากนำมาปรับใช้ในการเลี้ยงลูกกันมากขึ้น กุมารแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก รวมไปถึงเพจว่าด้วยการเลี้ยงลูกและหนังสือสำหรับพ่อแม่หลายต่อหลายเล่มต่างแนะนำว่า จิตวิทยาเชิงบวกคือหนทางที่ไม่เพียงสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและลูกอย่างได้ผล แนวทางนี้ยังมีงานวิจัยและหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นเหตุเป็นผลอธิบายการแสดงออกทางพฤติกรรมและวิธีปรับพฤติกรรมของลูกซึ่งพ่อแม่สามารถปฏิบัติได้จริง

จิตวิทยาเชิงบวกคืออะไร

การเลี้ยงลูกเชิงบวกนั้นตั้งอยู่บนหลักจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) ซึ่งพัฒนามาจากจิตวิทยากระแสหลักโดย ศาสตราจารย์ มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology Center) และอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา จิตวิทยาดั้งเดิมนั้นเน้นเฉพาะอาการปัญหาของโรคกับวิธีรักษาเป็นหลัก ในขณะที่จิตวิทยาเชิงบวกแตกออกมาด้วยจุดประสงค์ที่จะนำหลักการอันเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ และการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อชีวิตมาพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้เป็นคนดีและมีความสุข โดยโฟกัสไปที่จุดแข็งของบุคคลและปัจจัยแวดล้อมที่มีอิทธิพล เช่น พ่อแม่ เพื่อน ครู ชุมชนหรือสังคม ความสัมพันธ์กับปัจจัยแวดล้อมเหล่านั้นจะส่งผลต่อความสุข การมองโลกในแง่บวก การปรับตัวยืดหยุ่น ความฉลาดทางอารมณ์ ความคิดสร้างสรรค์ ความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น

ในขั้นแรก คุณพ่อคุณแม่ที่สนใจแนวทางนี้ต้องเข้าใจเสียก่อนว่า ‘เด็กไม่ใช่ผ้าขาว’ แต่คือผ้าที่จะเป็นสีอะไรก็ได้ เพราะพวกเขาแต่ละคนมีจุดอ่อน จุดแข็ง ความชอบ ลักษณะนิสัยความถนัดแตกต่างกัน จุดหมายของแนวทางนี้ไม่เพียงเพื่อสนับสนุนความถนัด ขับจุดเด่น หรือด้านดีของเขาให้สว่างไหวกลายเป็นคนเก่งเพียงอย่างเดียว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูกจะเป็นไปอย่างผาสุก สุขภาวะทางกายใจของเขาบริบูรณ์ตามไปด้วย

เมื่อเข้าใจหลักการนี้ พ่อแม่จะไม่ยึดเอาความต้องการของตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่เปรียบเทียบความสามารถลูกเรากับเพื่อนๆ ของเขา แต่จะอยู่เคียงข้างสนับสนุนให้เขาหาจุดแข็งของตนเองด้วยความเข้าใจ และมองเห็นว่าชีวิตในแต่ละช่วงมีความหมายอย่างไร และต้องการเติมเต็มในด้านไหน นี่คือแนวทางของจิตวิทยาเชิงบวกซึ่งเชื่อว่าเมื่อส่งเสริมความถนัด และบ่มเพาะพัฒนาการทางจิตใจและอารมณ์ลูกให้ดี นิสัยใจคอและพฤติกรรมก็จะเจริญงอกงามในทางบวกเช่นกัน

ทำความเข้าใจที่มาของพฤติกรรมป่วนผ่านมุมมองของสมอง ฮอร์โมน และสิ่งแวดล้อม

รศ.นพ.สุริยเดล ทรีปาตี กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น แนะนำว่า การเลี้ยงลูกตามแนวทางนี้ พัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละช่วงวัยและอิทธิพลที่ส่งผลต่อพัฒนาการทางความคิดของพวกเขาคือสิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำเป็นต้องรู้และเข้าใจ

ประการแรก: พัฒนาการที่ดีของลูกตั้งต้นจากสมองและปัจจัยส่งเสริมเชิงบวก

สมองของคนเราแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ สมองส่วนคิด สมองส่วนอารมณ์ และสมองส่วนสัญชาตญาณ สมองส่วนอารมณ์มีพลังมากที่สุดและทำงานร่วมกันกับสมองส่วนสัญชาตญาณเชิงอัตโนมัติเพื่อให้มนุษย์ดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย เช่น ทารกเมื่อหิว กลัว หรือรู้สึกไม่ปลอดภัยก็ร้องไห้ สมองส่วนอารมณ์จึงเปรียบเสมือน ‘คันเร่ง’ ในรถที่กระตุ้นให้เราเกิดความอยาก อยากได้ อยากกิน อยากครอบครองข้าวของ ในขณะที่สมองส่วนคิดเป็นส่วนที่พิเศษสุดเพราะมีในมนุษย์เท่านั้น สมองส่วนนี้พัฒนาและฝึกฝนได้ ทำหน้าที่คอยยับยั้งชั่งใจ เปรียบเสมือน ‘เบรก’ ชะลอความเร็วหรือหยุดเมื่อคันเร่งกำลังผลักให้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง

การพัฒนาสมองส่วนความคิดนี้ให้งอกงามต้องอาศัยทฤษฎีนิเวศวิทยา (Ecological Theory) ของยูรี บรอนเฟนเบรนเนอร์ (Urie Bronfenbrenner) ควบคู่ไปด้วย บรอนเฟนเบรนเนอร์เป็นนักจิตวิทยาพัฒนาการชาวอเมริกันซึ่งเชื่อว่าพัฒนาการเด็กขึ้นอยู่กับบริบทที่ก่อขึ้นเป็นสภาพแวดล้อมรอบตัว หมายความว่า ลูกจะเป็นเด็กดีมีคุณภาพได้ สภาพแวดล้อมที่เขาเติบโตต้องเอื้อให้เขาได้พัฒนาความคิด จริยธรรม และกล่อมเกลาพฤติกรรมให้เขารู้และทำสิ่งที่ถูกที่ควร

องค์ประกอบของระบบนิเวศที่จะไปกระตุ้นพัฒนาการที่ดีของลูกมีดังนี้

1. บ้าน – บรรยากาศในครอบครัวอบอุ่นเป็นมิตรกับลูก ลูกพูดคุยกับพ่อแม่ได้โดยไม่ต้องกลัว พ่อแม่ไม่เอาแต่สั่ง พอไม่ทำหรือผิดพลาดก็เฆี่ยนตี ลิดรอนความคิดเห็นและการแสดงออกของลูก รวมถึงบรรยากาศที่พ่อแม่และบุคคลในครอบครัวปฏิบัติต่อกัน

2. โรงเรียน – ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความคิด ออกความเห็น เป็นตัวของตัวเอง ฝึกความกล้าหาญและรับผิดชอบในการตัดสินใจ ไม่ยัดเยียดกฎระเบียบให้เอาแต่ปฏิบัติตามคำสั่ง หรือสร้างบรรยากาศของการแข่งขันและกดดัน

3. เพื่อน – เพื่อนที่เขาคบเป็นอย่างไร

4. ชุมชน – ความเป็นอยู่ ผู้คนที่ครอบครัวคบหาสนิทสนม ค่านิยมที่บ้านหรือสังคม ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีที่ชุมชนยึดถือล้วนหล่อหลอมความคิด บุคลิกภาพ และการมองโลกของเขาในทางใดทางหนึ่ง

5. สภาวการณ์แวดล้อมอื่นๆ – เช่น การใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย สื่อต่างๆ เกม ดนตรี ภาพยนตร์

เหล่านี้เป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลกับพัฒนาการสมองส่วนคิดทั้งสิ้น ลูกที่เติบโตในระบบนิเวศที่อบอุ่น ได้รับการเอาใจใส่ที่เหมาะสม พัฒนาการสมองส่วนคิดก็จะแข็งแรง เวลาสมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณกระตุ้นให้ทำบางสิ่งที่จะไปทำร้ายคนอื่น สมองส่วนคิดที่มีภูมิคุ้มกันนี้จะทำหน้าที่ยับยั้งสิ่งเหล่านั้นได้

ประการที่สอง: ฮอร์โมนมีผลกับพฤติกรรมของลูก

ลูกที่กำลังก้าวสู่วัยรุ่นจะกลายร่างจากเด็กที่เคยว่านอนสอนง่ายเป็นปีศาจตัวร้ายประจำบ้านทันที ลูกอารมณ์ร้อนและงี่เง่า เป็นเรื่องธรรมดาอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน และเอสโตรเจนที่หลั่งในช่วงวัยนี้แล้วไปสปาร์คสมองส่วนอารมณ์ให้รุนแรงปรู๊ดปร๊าดขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า วัยรุ่นจึงเหมือนระเบิดถอดสลักที่พร้อมจะตูมตามได้ตลอดเวลา พวกเขาจะกล้าได้กล้าเสียกับสิ่งสุ่มเสี่ยงอันตราย และใช้อารมณ์กับทุกเรื่อง จุดต่างสำคัญในช่วงนี้จึงอยู่ที่สมองส่วนคิดของพวกเขาว่ามีเบรกติดตั้งไว้หรือไม่ ถ้าสมองส่วนคิดของพวกเขาถูกฟูมฟักขัดเกลามาในระบบนิเวศที่ดี สมองส่วนนี้จะมีวุฒิภาวะเพียงพอที่จะกระตุกให้เขาหยุดในจุดที่ควรหยุด

นอกจากฮอร์โมนทั้งสองแล้ว ยังมีฮอร์โมนอีกตัวชื่อ ออกซิโทซิน หรือเรียกเก๋ๆ ว่า ฮอร์โมนรัก ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่างมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น สาเหตุที่ถูกเรียกว่าฮอร์โมนรักก็เพราะสมองจะหลั่งออกมาเวลารู้สึกอยู่ในห้วงรัก เช่น ตอนออกเดทอย่างหวานแหววกับแฟน หรือขณะแสดงความรักความห่วงใยกันระหว่างพ่อแม่ลูก

ดร.ซาราห์ บารัคซ์ (Sarah Baracz) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทจิตวิทยา (Neuropsychology) แห่งมหาวิทยาลัย Macquarie ร่วมกับนักวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรม ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระบบการทำงานของฮอร์โมนตัวนี้กับพฤติกรรมการใช้ยาเสพติดในวัยรุ่น พบว่า เด็กที่ได้รับการการเลี้ยงดูอย่างอบอุ่นจากพ่อแม่มีการหลั่งออกซิโทซินในระดับปกติ ซึ่งส่งผลดีต่อการทำงานของระบบสมองส่วนคิด ผลคือ เด็กมีความยั้งคิดและหักห้ามตนเองไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางได้ดีกว่า ในขณะที่เด็กที่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่กดดัน เคร่งเครียด หรือหวาดกลัว มีการถดถอยของระดับการหลั่งฮอร์โมนตัวนี้ เด็กจะค่อยๆ เข้าสู่ภาวะบกพร่องในการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มหันไปพึ่งยาเสพติดและเกิดภาวะบกพร่องทางจิตใจอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น วิตกจริต ควบคุมอารมณ์ไม่ได้

6 หลักการใช้จิตวิทยาเชิงบวกปรับพฤติกรรมลูก

แก้ไขยังไงดี ถ้าลูกดื้อและต่อต้าน

ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องตีให้แตกเสียก่อนว่า เด็กดื้อสำหรับพ่อแม่เป็นอย่างไร และขนาดไหนเรียกว่าเป็นปัญหา เด็กดื้อในที่นี้ไม่ได้หมายถึง เด็กที่ไม่ทำตามคำสั่งเมื่อพ่อแม่บังคับให้เขาเรียนในสิ่งที่เขาไม่ชอบ ต้องเก่งในสิ่งที่เขาไม่ถนัด ห้ามไม่ให้ทำในสิ่งที่เขาชอบแล้วเขาต่อต้านฟูมฟาย หรือมีปัญหาเพราะสอบได้ที่โหล่ของห้อง เอาแต่เล่นฟิกเกอร์ ต่อโมเดล สนใจกีตาร์ อ่านการ์ตูนมากกว่าหนังสือสอบ พฤติกรรมที่เป็นปัญหาที่เรากำลังพูดถึงคือเด็กจัดการอารมณ์ของตนเองไม่ได้ มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงกับกับทั้งพ่อแม่หรือคนอื่น ไม่สามารถใช้เหตุผลในการตัดสินใจเกินกว่าจะรับได้ในวัยว้าวุ่น

ดร.เดวิด เจ ฮอว์ส (Dr. David J Hawes) ผู้อำนวยการคลินิกวิจัยพฤติกรรมเด็กแห่งศูนย์พัฒนาสมองและจิตใจ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ และจิตแพทย์เฉพาะทางด้านปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมในเด็ก อธิบายถึงลักษณะของพฤติกรรมเชิงลบที่เข้าข่ายว่าเป็นปัญหา เช่น เกรี้ยวกราด (tantrums) ก้าวร้าว (aggression) และต่อต้าน (defiance) ไว้ดังนี้

1. ลูกแสดงพฤติกรรมลบเป็นประจำจนแทรกแซงความผาสุกของทุกคนในครอบครัว ถึงระดับที่ไม่อาจพูดคุยกันได้พร้อมหน้าหรือต้องงดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน

2. เมื่อพฤติกรรมลบของลูกกระทบต่อสมาชิกในครอบครัวรุนแรง กระทบความสัมพันธ์ของพ่อแม่ หรือพี่น้องต้องมีปัญหาไปด้วย

3. เมื่อพฤติกรรมลบของลูกสร้างบาดแผลทางความรู้สึกอย่างใหญ่หลวง เกินกว่าจะรับมือด้วยวิธีที่ใช้เป็นปกติ

4. เมื่อลูกใช้พฤติกรรมลบยั่วยุให้ของพ่อแม่โมโหถึงขีดสุด เพื่อให้ลงโทษตัวเองหรือสร้างความเจ็บปวดทางใจ

เมื่อมาถึงจุดนี้ ได้เวลาที่พ่อแม่ต้องเยียวยาแก้ไขเขาแล้ว หนทางรักษาด้วยแนวทางจิตวิทยาเชิงบวกอาจเป็นยาขนานเอกที่พ่อแม่สามารถถอนพิษให้ลูกฟื้นจากความป่วยไข้ทางใจ

หลักสำคัญอันเป็นเสมือนยาครอบจักรวาลที่พ่อแม่ต้องมีไว้ประจำบ้านเสมอ คือ

1. ความอบอุ่นปลอดภัย และไว้วางใจระหว่างกัน ข้อนี้สำคัญเป็นอันดับหนึ่ง วิธีคิด และคุณค่าความดีงามจะงอกงามขึ้นในใจเขาได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าลูกได้รับความรัก ความเอาใจใส่เพียงพอหรือไม่ ความรู้สึกปลอดภัย มีคุณค่าในตัวเองจะเกิดขึ้น เมื่อพ่อแม่เปิดใจยอมรับในความชอบ ความต้องการของเขาด้วยความเข้าใจ อย่าทำให้บ้านเป็นที่ที่อยู่แล้วรู้สึกกดดัน หวาดกลัว

2. ค้นหาและโฟกัสที่จุดแข็งหรือด้านดีของลูกเป็นหลัก ให้พื้นที่กับด้านสว่างของเขาเป็นคำชมและกำลังใจในสิ่งที่เขาทำดี (positive reinforcement) ผศ.ดร.อุษณี โพธิสุข ผู้เขียนหนังสือ ‘เมื่อลูกรักมีปัญหา’ แนะนำวิธีเสริมจุดแข็งของลูกจากประสบการณ์ในการทำงานกับเด็กที่มีปัญหาระดับรุนแรงในโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กกลุ่มนี้และเป็นที่ปรึกษาให้พ่อแม่ผู้ปกครองมากว่า 20 ปี ไว้ดังนี้

  • เอ่ยขอบคุณเมื่อลูกช่วยงานบ้านหรือมีวินัยความเรียบร้อย ให้เขาเห็นคุณค่าความดีงามและรู้สึกบวกที่จะมีวินัยติดตัวไปในภายหน้า

“ขอบคุณมากจ้ะที่มีน้ำใจช่วยเก็บผ้าให้แม่”

“โอ้โห ลูกพับผ้าห่มเก็บเตียงซะเรียบร้อย เป็นเรื่องดีมากเลย แม่ชื่นใจจัง”

  • ให้รางวัลที่เขาชอบ อาจเป็นของโปรดหรือกิจกรรมที่เด็กสนใจ

“วันนี้ลูกน่ารักมาก ช่วยพ่อขนต้นไม้แล้วยังช่วยรดน้ำแปลงผักอีก เดี๋ยวเสร็จแล้วเราไปกินไอติมอร่อยๆ กันนะ”

“เดี๋ยวถ้าหนูทำการบ้านเสร็จแล้วเราค่อยไปเล่นแบดกัน”

  • กระตุ้นให้เขาลองลงมือทำในสิ่งที่ไม่มั่นใจ

“ถ้าอยากลงแข่งเต้น ก็เอาเลยลูก ไม่ลองไม่รู้นะ”

  • กระตุ้นให้เขาเรียนรู้ ทำในสิ่งที่ทำไม่เป็น และแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

“เย็บผ้าไม่ใช่เรื่องง่าย หนูลองทำตามที่เขาสอนในยูทูบดูสิ ทำเองหนูก็จะเก่งเองนะ”

  • ปลอบโยนเมื่อผิดพลาดและให้กำลังใจ

“ไม่เป็นไร ผิดเป็นครู พ่อเข้าใจว่าลูกท้อใจและชื่นชมในความพยายามของลูกมากเลยนะ”

ตรงข้ามกับการเสริมจุดแข็ง พ่อแม่ที่ใช้วิธีลงโทษ (punishment) ดุด่า บังคับ ยื่นข้อห้ามเด็ดขาดไม่ให้ทำสิ่งที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย (negative reinforcement) หรือลิดรอนสิทธิบางอย่างที่เขาเคยได้ (extinction) เช่นยึดโน้ตบุ๊ค ในการรับมือพฤติกรรมไม่ได้อย่างใจของลูกโดยปราศจากการรับฟังปัญหาอย่างเข้าใจ ธรรมชาติการปกป้องตนเองของเขาจะตื่นตัวทันที พวกเขาจะทำสิ่งที่สวนทาง โกหกแอบทำโดยพ่อแม่ไม่รู้ หรือไม่ก็อาจระเบิดการต่อต้านและปิดกั้นตัวเองรุนแรงขึ้น

3. การสื่อสารในบ้านระหว่างพ่อแม่กับลูกต้องอยู่บนความเข้าใจและเมตตาธรรม ดร.โธมัส กอร์ดอน (Thomas Gordon) ผู้เขียนหนังสือ ‘P.E.T. Parenting Effective Training’ และเปิดคอร์สอบรม ‘ห้องเรียนพ่อแม่’ ในสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยให้พ่อแม่เข้าใจลูกมากขึ้น เสริมสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นจากการลดช่องว่างระหว่างวัย และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างครอบครัว ชี้ว่ากุญแจที่จะไขประตูใจของลูกให้เปิดออกได้คือ การสื่อสารที่แสดงให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับและให้ความสำคัญกับปัญหาของเขา

  • ท่าทีที่แสดงออกถึงการยอมรับ เช่น พยักหน้าและสบตาระหว่างรับฟัง หรือ นิ่งฟังอย่างตั้งใจไม่ทำอย่างอื่นไปด้วย
  • คำพูดกระตุ้นหรือตอบสนองให้ลูกเล่าความคิด การตัดสินใจ แผนการ หรือความรู้สึก เช่น “อยากรู้ว่าลูกคิดยังไงตอนเพื่อนสารภาพกับหนูแบบนั้น” “ยังไงอีก เล่าต่อสิ พ่อกำลังฟัง” หรือ “ฟังเหมือนการประกวดเต้นนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับหนูมากเลย ไหน…เล่าให้ฟังหน่อยสิจ๊ะ”
  • รับฟังอย่างเข้าใจ ต้องมีคุณภาพและในเวลาที่เหมาะสมด้วย คือฟังเมื่อลูกพร้อมจะเล่าและเราพร้อมจะฟัง ไม่มีเวลาก็ต้องบอกตามตรง แล้วหาเวลาคุยกันใหม่ ขณะฟังให้ตัดความคิดการตัดสิน การวิจารณ์ คำเทศนา สั่งสอน คำแนะนำต่างๆ ไว้ก่อน แค่รับฟังจากมุมมองความรู้สึกของเขาจนจบ ให้เขาเห็นว่า เราไว้วางใจและยอมรับความรู้สึกของเขาไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ถูกผิดไม่สำคัญ กระตุ้นให้เขาคิดแก้ไข ตัดสินใจด้วยตนเองดูก่อน

ทั้งนี้ พ่อแม่สามารถศึกษาหลักการสื่อสารเพื่อยุติความขัดแย้ง หรือที่เรียกว่า การสื่อสารอย่างสันติ (Nonviolent Communication) เพิ่มเติมได้

4. สอนการควบคุมอารมณ์ (self-control) แต่ก่อนจะสอนลูกไม่ให้ใช้อารมณ์เหวี่ยงวีน พ่อแม่ต้องย้อนดูที่ตนเองก่อน เวลาโมโห ใช้อารมณ์คุยกับลูก แดกดัน ประชดประชันเสียดสีรึเปล่า หรือพ่อแม่บางคนเลือกที่จะเก็บซ่อนความโกรธ โมโหหรืออารมณ์ด้านลบทุกอย่างไม่ให้ลูกเห็นเลย เดินหนีทุกครั้งที่ตนหงุดหงิดหรือตอนลูกระเบิดอารมณ์

จอห์น แลมบี (John Lambie) อาจารย์สอนจิตวิทยามหาวิทยาลัย Anglia Ruskin สหราชอาณาจักร บอกว่าโลกแห่งความจริงหนึ่งที่ลูกต้องเรียนรู้คือ พวกเขามีโอกาสพบเจอคนที่กำลังหัวร้อน หรือตกอยู่ในอารมณ์เดือดพล่านเองได้เสมอ พ่อแม่ต้องดึงสติกับอารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นและใช้โอกาสนี้แสดงวิธีการจัดการอารมณ์ให้พวกเขาดูเป็นตัวอย่าง

แลมบีเล่าว่า แม้แต่เด็กที่เพิ่งเริ่มส่งเสียงอ้อแอ้ก็สามารถเข้าใจการแสดงออกทางอารมณ์ของแม่ตนเองได้ ในการทดลองที่ให้แม่แสดงสีหน้านิ่งเฉย ไม่พูด ไม่ตอบสนอง เด็กน้อยสามารถสัมผัสความมาคุในบรรยากาศได้และรู้สึกเครียดจนต้องร้องไห้ออกมา

ดังนั้น การที่พ่อแม่จะปิดกั้นอารมณ์ด้านลบด้วยการทำเฉย วางหน้านิ่งเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือเดินหนีลูกไปด้วยสีหน้าถมึงทึง ลูกจะสัมผัสได้ทันที การที่พ่อแม่ไม่แชร์อารมณ์เหล่านั้นทำให้เขารู้สึกไม่มีค่าและไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ดังนั้นทางที่ดีที่สุดเมื่อรู้ว่าตนเองกำลังโมโหหรือเหนื่อยล้า สิ่งที่ควรทำคือ บอกความรู้สึกของตัวเองกับลูกไปตามตรงโดยไม่ใส่อารมณ์ว่าตอนนี้กำลังรู้สึกเหนื่อย เครียด เพราะอะไร และจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร เช่น

“ตอนนี้แม่อารมณ์บ่จอยมากๆ เลย ยังไม่มีสมาธิคุยเท่าไหร่ ที่ทำงานแม่มีเรื่องวุ่นวายยังไกล่เกลี่ยไม่ได้เลย แม่ขออยู่ในห้องทำงาน โทรปรึกษากับ ผอ. สักชั่วโมงหนึ่งนะจ๊ะ เย็นนี้เราค่อยคุยกันหลังกินข้าวนะ”

“พ่อกำลังโมโหนะ เพิ่งรู้ว่าลูกไปบ้านป้าโดยไม่บอกก่อน บ้านเขาอยู่ไกลแล้วทางเข้าก็เปลี่ยวมาก พ่อเป็นห่วง เราจะคุยกันเรื่องนี้อีกทีหลังกินข้าว พ่ออยากฟังเหตุผลลูกตอนอารมณ์เย็นกว่านี้”

5. พ่อแม่ต้องตกลงเรื่องวินัยและกติกาในบ้านให้ไปทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่พ่อรับฟังและใช้ความเข้าใจ ให้อิสระในการคิด แต่แม่ไม่ยืดหยุ่นเข้มงวดทุกกระเบียด นอกจากลูกจะเกิดความสับสน เกิดการเลือกข้างและปิดกั้นแม่

6. คำนึงเสมอว่า ‘เด็กคือผ้าหลากสี’ อย่าเปรียบลูกของเรากับลูกของคนอื่น อย่ามองว่าเขาดีกว่าหรือด้อยกว่าพี่ หรือเพื่อนในชั้น พยายามทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีพื้นฐานอารมณ์ ความถนัดไม่เหมือนกัน เด็กแต่ละคนเหมือนสีคนละสี เฉดเข้มอ่อนคละกันไป บางคนว่านอนสอนง่าย ในขณะที่บางคนซน มีพลังล้นเหลือ พ่อแม่ต้องยืดหยุ่นปรับวิธีเลี้ยงดูให้เหมาะสมกับเขา

การเลี้ยงลูกเหมือนการฟูมฟักเมล็ดพันธุ์ให้เติบโตขึ้นด้วยการเอาใจใส่ รดน้ำเพิ่มใส่ปุ๋ย กำจัดวัชพืช และหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับชนิดของเขา ต้นไม้บางต้นต้องปลูกลงกระถางชอบที่ร่ม ไม่ชอบแสงแดด บางต้นปลูกกลางแจ้งลงดิน พ่อแม่ต้องปรับกลยุทธ์ ยืดหยุ่นกันตามแต่ว่าเขามีจุดเด่นแบบไหน สถานการณ์เป็นอย่างไร ขอให้พ่อแม่ทุกคนวางใจเป็นกลางว่า ไม่มีวิธีเลี้ยงลูกวิธีไหนที่ดีที่สุด และไม่มีใครเลี้ยงลูกได้สมบูรณ์แบบที่สุด ความรู้และแนวทางการเลี้ยงลูกต่างๆ เป็นเครื่องมือเสริมหนึ่งที่พ่อแม่สามารถปรับใช้ตามความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ความรักความอบอุ่น ความเข้าใจ และสายใยในครอบครัวก็คือปัจจัยยืนหนึ่งที่ต้องมั่นคงเสียก่อน แสดงต้นแบบของคนมีวุติภาวะทางอารมณ์และจิตใจที่เป็นตัวอย่างให้เขาเห็น ลูกก็จะเติบโตขึ้นด้วยการมองโลกในแง่บวกและมีวุฒิภาวะทางอารมณ์จิตใจที่แข็งแรงตามไปด้วย

อ้างอิง:
Baracz, S., & Buisman-Pijlman, F. (2017, October 17). How childhood trauma changes our hormones, and thus our mental health into adulthood. Retrieved from The Conversation:https://theconversation.com/how-childhood-trauma-changes-our-hormones-and-thus-our-mental-health-into-adulthood-84689

Gordon, T. (1975). P.E.T. Parent Effectiveness Training : The Tested New Way to Raise Responsible Children. New York: New American Library.

Lambie, J. (2018, October 11). Should you hide negative emotions from children? Retrieved from The Conversation: https://theconversation.com/should-you-hide-negative-emotions-from-children-104710
โพธิสุข, อ. (2542). เมื่อลูกรักมีปัญหา. กรุงเทพมหานคร: Mother’s Digest.
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี: จิตวิทยาเชิงบวก หรือ Positive Psychology ในการเลี้ยงดูเด็ก. (2016, September 3). Retrieved from Youtube: https://www.youtube.com/watch?v=_K3u0_oH9_U

Tags:

พัฒนาการพ่อแม่คาแรกเตอร์(character building)วินัยเชิงบวกพัฒนาการทางอารมณ์

Author:

illustrator

บุญชนก ธรรมวงศา

จบภาษาและการสื่อสาร เคยผ่านงานบริษัทออแกไนซ์ เปิดคลินิก ไปจนเป็นเลขาซีอีโอ หลังค้นพบและติดใจโลกนอกระบบตอกบัตร จึงแปลงร่างเป็นนักเขียน นักแปลและนักพยากรณ์ไพ่ ขี้โวยวายเป็นนิสัยที่อยากแก้ไขแต่ทำยังไงก็ไม่หาย ปัจจุบันกำลังเข้าใกล้ Midlife Crisis และหวังจะข้ามผ่านได้ด้วยวิถี “ช่างแม่ง”

Related Posts

  • Learning Theory
    พลังเคลื่อนการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ที่ปรากฎใน DNA ของเด็กทุกคน

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Family Psychology
    5 คำขู่ผิดๆ ของพ่อแม่ที่ทำให้เด็กโตมาไม่กล้าและขี้กลัว

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Early childhood
    KIND BUT FIRM พ่อแม่ไม่ต้องดุด่าแต่ว่า ‘เอาจริง’

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

  • Character building
    ปั้น ‘คาแรคเตอร์’ ที่ดีให้เด็ก: โรงเรียน พ่อแม่ ชุมชน ต้องร่วมมือกัน

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Early childhood
    ปล่อยให้ลูก โกรธ เศร้า เหงา กลัว เขาจะได้เติบโตทั้งตัวและหัวใจ

    เรื่อง ลีน่าร์ กาซอ

พ่อก็คือแม่ แม่ก็คือพ่อ อย่าเชื่อว่าพ่อเลี้ยงลูกไม่ได้
Family Psychology
28 March 2019

พ่อก็คือแม่ แม่ก็คือพ่อ อย่าเชื่อว่าพ่อเลี้ยงลูกไม่ได้

เรื่องและภาพ KHAE

ผู้ชายไม่ได้อยากมีลูกเท่าผู้หญิง ?

ตามธรรมชาติแม่ดูแลลูกได้ดีกว่าพ่อ ?

พ่อก็คือพ่อ พ่อเป็นผู้ชาย ทำอะไรมากไม่ได้หรอก ?

นี่เป็นบางส่วนของความเชื่อผิดๆ แล้วสรุปเอาเองว่า ‘แม่จะเลี้ยงลูกได้ดีกว่าพ่อ’ แต่ในความจริงเป็นอย่างนั้นหรือไม่ เราอาจคิดผิดและเหมารวมเกินไป จนปล่อยให้พ่ออยู่นอกสายตา

อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่

Tags:

มายาคติการเป็นแม่พ่อ

Author & Illustrator:

illustrator

KHAE

นักวาดลายเส้นนิสัยดี(ย้ำว่าลายเส้น)ผู้ชอบปลูกต้นไม้และหลงไหลไก่ทอดเกาหลี

Related Posts

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    ลูกเกิดมาดี สวยงาม สมบูรณ์แบบแล้ว: ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ พ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกที่มีความพิการ

    เรื่องและภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    อาริยา มิลินธนาภา: เพศสภาพไม่ได้ใช้ในการเลี้ยงลูก แม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เอกชัย กล่อมเจริญ: คุณพ่อช่างไม้ เลี้ยงเดี่ยว พาลูกเที่ยวและสอนให้ลงมือทำ

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เกรียงไกร นิตรานนท์: คุณพ่อผู้ลาออกจากงานเพื่อเป็น FULL TIME DADDY

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • Family Psychology
    โละ 6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับพ่อทิ้งไป อย่าให้พ่ออยู่นอกสายตา

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

วิรตี ทะพิงค์แก: ชวนคุณแม่ตั้งหลัก เมื่อลูกเข้าสู่วัยพรีทีน
อ่านความรู้จากบ้านอื่น
27 March 2019

วิรตี ทะพิงค์แก: ชวนคุณแม่ตั้งหลัก เมื่อลูกเข้าสู่วัยพรีทีน

เรื่อง วิรตี ทะพิงค์แก ภาพ บัว คำดี

  • เรื่องเล่าจาก วิรตี ทะพิงค์แก นักเขียน นักเล่าเรื่อง และบรรณาธิการอิสระ ที่ควบตำแหน่งแม่ของลูกชายวัย 10 ขวบ ช่วยถ่ายทอดวิชาแม่ให้เตรียมตัวตั้งหลักก่อนลูกถึงวัยพรีทีน
  • pre-teen คือช่วงเวลาก่อนลูกจะเป็นวัยรุ่น ซึ่งเกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคนในช่วงอายุไม่เท่ากัน เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของลูกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย
  • อย่าผูกตัวเองไว้กับการเป็นแม่เพียงอย่างเดียว,จัดระยะความไว้ใจใหม่, เปลี่ยนความสัมพันธ์เป็นแนวราบ, ฝึกจิตใจให้เป็นผู้เริ่มต้น,ระลึกว่าชีวิตเป็นของลูก นี่คือ 5 วิธีเตรียมพร้อมรับมือลูกพรีทีน

ทันที่รู้ว่ามีชีวิตน้อยๆ อยู่ในท้อง แม่ทุกคนตื่นเต้นและฝันจะเลี้ยงลูกให้ได้ดีที่สุดด้วยกันทั้งนั้น แต่ความยากของการเป็นแม่คือ ไม่เคยมีโรงเรียนไหนสอน ‘วิชาแม่’ มาก่อนในชีวิต ความเป็นแม่คือสิ่งที่มนุษย์ต้องเผชิญหน้าอย่างที่คนไม่ได้มีความรู้ หรือหากจะมีอย่างเต็มที่ ก็คือประสบการณ์ในวัยเยาว์ที่ตัวเองได้เติบโตมา… ก็เท่านั้นเอง

ฉันเคยทำงานเป็นนักเขียนอยู่ที่นิตยสารชื่อดังแห่งหนึ่ง ตอนนั้นบริษัทกำลังโปรโมทให้เป็นผู้บริหาร แต่เพราะคิดว่าอยากมีครอบครัวที่มีเวลาอยู่ด้วยกันใกล้ชิดทั้งแม่ลูก ฉันเลือกหันหลังให้การเติบโตทางการงานแล้วย้ายกลับมาอยู่บ้านที่ต่างจังหวัดเพื่อมีชีวิตครอบครัวเรียบง่าย แต่ชีวิตการเป็นแม่นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย

บทเรียนแม่ ที่โรงเรียนไหนๆ ก็ไม่ได้สอน

ตั้งแต่ลูกเกิดมา ฉันไม่เคยได้นอนเต็มอิ่มเลยสักคืน ลูกเป็นเด็กที่ค่อนข้างตื่นตัว นอนน้อยมากทั้งกลางวันและกลางคืน ต้องอุ้มอยู่เสมอ ที่สำคัญคือไม่ยอมให้ใครอุ้มเลยนอกจากแม่ ไม่รู้ว่าเป็นเพราะเหตุผลที่ฉันเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือเปล่า ลูกจึงติดแม่มากถึงขีดสุด ฉันเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยกินจากเต้า ไม่ได้ปั๊มนมใส่ขวด และให้ลูกกินนมแม่จนถึงอายุ 3 ปี (หมายถึงกินอาหารตามวัยตามปกติ เพียงแต่เวลานอนยังกินนมแม่เวลาตื่น)

ข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยตัวเองโดยไม่มีพี่เลี้ยงเลยคือ เราได้เห็นพัฒนาการลูกอย่างชัดเจน ฉันส่งเสริมให้ลูกคุ้นเคยกับหนังสือตั้งแต่ยังเล็ก หาซื้อหนังสือผ้าที่ฉีกไม่ได้มาให้เขาเล่น อ่านหนังสือให้ฟังก่อนนอนทุกคืน คุยกับลูกตลอดเวลา สิ่งที่เห็นได้ชัดคือลูกมีพัฒนาการดีมาก เร็วมาก โดยเฉพาะการพูด เขาพูดได้เร็ว พูดชัด คือพูดเป็นคำที่มีความหมายได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือน พูดเป็นประโยคได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี 2 เดือนพร้อมๆ กับที่วิ่งเล่นได้ไกล

ขณะที่เด็กหลายคนในวัยนี้ยังเพิ่งเริ่มตั้งไข่ เราเห็นพื้นนิสัยของลูก คือเป็นเด็กที่เรียนรู้ได้เร็ว อยากรู้อยากเห็น สนใจเรื่องกลไกต่างๆ ชอบลงมือทำ มีความโดดเด่นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ หยิบนั่นมาประกอบนี่ เป็นเด็กที่มีความโดดเด่นในการเรียนรู้ผ่านการใช้ร่างกายที่ชัดเจนมาก การมองเห็นบุคลิกลักษณะของลูกได้อย่างลึกซึ้งเป็นภาพสะท้อนของการมีเวลาดูแลลูกอย่างดีด้วยคุณภาพ ทำให้เราซึมซับทุกรายละเอียด

ไม่แปลกที่แม่จะเป็นเหมือนทุกอย่างในโลกใบนี้ของลูก และลูกก็เป็นเหมือนทุกอย่างในโลกใบนี้ของแม่ด้วยเช่นกัน

เด็กทุกคนเกิดมาเพื่อเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง

แต่แล้วความสั่นคลอนก็เริ่มมาเยือน

โดยปกติแล้วเด็กเล็กช่วงอายุ 0-7 ปี จะเป็นช่วงที่ติดแม่มาก อันนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม่เป็นแหล่งพึ่งพิงทั้งทางกาย (กินนม) และใจ (ความรู้สึกไว้วางใจมนุษย์และโลก) ช่วงขวบปีแรกของทารกเป็นช่วงเวลาการสร้างความรู้สึกไว้วางใจโลก (trust & attachment) ช่วง 1-3 ปี เป็นช่วงเวลาของการสร้างตัวตน (self) ช่วงวัย 4-6 ปี เป็นช่วงของการริเริ่มสิ่งใหม่ (self -esteem) หลังจากนั้นคืออายุ 7-14 ปี เด็กจะต้องเริ่มสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมาใหม่โดยไม่พึ่งพิงกับแม่อีก เพื่อพิสูจน์ความสามารถในการควบคุมตนเอง (self-control) ในกรณีเด็กหญิง แม่อาจเห็นความเปลี่ยนแปลงไม่ชัดเจนนัก (เพราะเด็กผู้หญิงจะยังมีแม่เป็นแบบอย่างไปอีกหนึ่งช่วงวัย) แต่สำหรับฉันที่มีลูกชาย การเปลี่ยนแปลงนี้มันเข้ามาเร็วมากจนเราไม่ได้ตั้งตัว

คำว่า pre-teen หรือช่วงเวลาก่อนเป็นวัยรุ่นเกิดขึ้นกับเด็กแต่ละคนในช่วงอายุไม่เท่ากัน ทั้งแนวคิดแบบวอลดอร์ฟเชื่อว่าวัย 9 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของลูกเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย เขาจะเริ่มพยศ ต่อต้าน ไม่เหมือนลูกคนเดิมแบบที่เราคุ้นชินอีกต่อไป (แต่ก็ไม่ได้แปรปรวนถึงขั้นระดับวัยรุ่น) ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่ได้เตรียมใจรับรู้หรือรับมือกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน

ฉันเองรู้สึกถึงความดื้อ ต่อต้านเล็กๆ จากลูกมาตั้งแต่ 7 ปี และพยายามทำความเข้าใจเพื่อปรับตัว เราสัมผัสได้ถึงความต้องการเป็นตัวของตัวเอง การต้องการระยะห่างจากแม่มากขึ้น และความอยากเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นในตัวเขา บทเรียนแรกที่ฉันเรียนรู้คือ ลูกไม่ยอมให้กอดหรือหอมแก้มก่อนเข้าห้องในโรงเรียนอีกแล้ว เขาจะรู้สึกเขินๆ ที่แม่ยังทำเหมือนเขาเป็นเด็กต่อหน้าสาธารณชน แต่ถ้าเป็นการกอดหรือหอมกันแบบส่วนตัว เขาก็ยังเต็มใจให้ทำอยู่

อย่างไรก็ตาม ความต้องการการเป็นตัวของตัวเอง ระยะห่าง โดยเฉพาะการต้องการตัดสินใจด้วยตัวเอง ทำอะไรบางอย่างในแบบที่ไม่ต้องเชื่อฟังแม่อีกต่อไปแล้ว จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่จะเรียกการไม่เชื่อฟังนี้ว่าดื้อ แต่จริงๆ แล้วลูกแค่กำลังพยายามพิสูจน์การเป็นมนุษย์ที่โตขึ้นอีกขั้นหนึ่งด้วยตัวเองอยู่

ฉันกับลูกทะเลาะกันมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะลูกไม่อยากเชื่อฟังแม่ บางครั้งลูกก็อยากไปใกล้ชิดกับพ่อมากกว่า (เป็นไปตามวัยที่เด็กผู้ชายจะเริ่มเรียนรู้ความเป็นผู้ชายจากพ่อ) เรารู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทิ้ง ไม่มีความสำคัญ ยิ่งเราอยากควบคุมทุกอย่างให้เป็นเหมือนเดิมมากเท่าไร เรายิ่งสัมผัสได้ถึงความรู้สึกต่อต้านจากลูกมากขึ้นเท่านั้น

และนี่คือจุดแตกหักที่เปราะบางมากสำหรับคนเป็นแม่

พอเราทุ่มเทชีวิตทั้งหมดมาเพื่อทำหน้าที่เพียงประการเดียวคือ ‘แม่’ ลูกจึงเป็นเหมือนทั้งหมดทั้งมวลของชีวิต พอเราต้องเผชิญหน้าความจริงที่ทำให้เรารู้สึกว่า ‘เราไม่สำคัญอีกแล้ว’ หรือ ‘ลูกไม่ต้องการเราอีกแล้ว’ มันเป็นความรู้สึกที่ปวดใจมาก

เหมือนโลกทั้งใบจะพังครืนลงมา เหมือนคนอยู่ในภาวะซึมเศร้า คุ้มดีคุ้มร้าย เพราะพยายามจะมองหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ตรงกลางระหว่างเรา’ ให้เจอ

แต่ฉันมาเรียนรู้ว่า เราจะไม่เจอสิ่งนั้นหรอก ตราบใดที่เรา-คนเป็นแม่ ยังมีความรู้สึกว่า มีแต่แม่เท่านั้นแหละที่รู้ดีที่สุด ทำได้ดีที่สุด เราจะไม่ไว้วางใจ (trust) คนอื่นเลย แม้แต่กระทั่งลูกของเราเอง ด้วยความรู้สึกลึกๆในใจว่า “เธอจะรู้ดีกว่าฉันได้ยังไง ฉันเป็นแม่เธอนะ”

ฉันเผชิญหน้ากับช่วงเวลานั้นอย่างทรมาน ตั้งคำถามกับการมีคุณค่าในตนเอง (นั่นคงเป็นภาวะซึมเศร้าแบบไม่รู้ตัว) และพบคำตอบว่า เราเกิดมามีคุณค่าในหลากหลายบทบาท ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นแม่อย่างเดียว หากเราลองขยับขยายตัวเองออกไปสู่บทบาทเดิมๆ ที่เราเคยทำได้ดี ทำได้เก่ง ความรู้สึกมีค่า ความเชื่อมั่นในตัวเองจะค่อยๆ กลับคืนมา

การปล่อยมือเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย มันต้องอาศัยความไว้วางใจต่อคนอื่น (ที่ดูแลลูก) ต่อลูก (ที่เชื่อว่าเขาโตขึ้นที่จะทำหลายอย่างเองได้) เป็นช่วงเวลาสำคัญที่แม่ทุกคนต้องกลับมารักตัวเองมากๆ หลังจากที่มอบพลังความรักทั้งหมดทุ่มเทไปให้ลูกแค่คนเดียวตลอดมา

ฉันกลับมาทำงานเขียนอีกครั้ง เป็นการรับงานแบบอิสระ ต้องออกเดินทางไปต่างจังหวัดบ้างเป็นครั้งคราว นั่นทำให้เราต้องทำใจปล่อยวางให้ได้ เชื่อมั่น ไว้วางใจว่าทุกอย่างจะเป็นไปได้อย่างดีตามสมควร โดยไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบตามความคาดหวังของมนุษย์แม่

เมื่อมีระยะห่าง เกิดพื้นที่ให้ได้ใช้ชีวิตในแบบของตัวเองตามสมควร ความสัมพันธ์ของฉันกับลูกก็ค่อยๆ ดีขึ้น เราเรียนรู้ที่เป็นแม่ที่จัดการน้อยลง (แม่ของเด็กเล็ก) และเรียนรู้การเป็นแม่ที่เป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัยมากขึ้น (แม่ของเด็กโต) ทำให้เขาเชื่อใจ ไว้วางใจว่ามีอะไรสามารถบอกพ่อกับแม่ได้ เปิดโอกาสให้เขาตัดสินใจได้มากขึ้น ทำให้ทุกคนได้มีพื้นที่เติบโตในแบบของตัวเอง อยู่ร่วมกัน แต่ก็มีระยะห่างที่มองเห็นกันได้ ความสัมพันธ์ของพ่อแม่ลูกจึงเป็นความสัมพันธ์ที่สมดุลขึ้น คือพึ่งพิงน้อยลง พึ่งพาตนเองได้มากขึ้น

สามเหลี่ยมของความรัก พ่อรักแม่ แม่รักพ่อ และพ่อแม่รักลูก

สำหรับฉัน สามีคือปัจจัยสำคัญในการช่วยสนับสนุนทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างราบรื่นมากขึ้น นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ชื่อดังเคยกล่าวว่า สามเหลี่ยมความรักที่สมดุลต้องเป็นสามเหลี่ยมคว่ำ คือพ่อรักแม่ แม่รักพ่อ เมื่อพ่อแม่รักกันมากพอ ความรักที่ส่งไปถึงลูกจึงจะเป็นรักที่สมดุล

ฉันเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้หญิงที่รับหน้าที่ดูแลลูกคนเดียว เนื่องจากสามีมีหน้าที่หาเงินเข้าบ้าน มันไม่ผิด แต่ก็ทำให้สมดุลครอบครัวหายไป ทำให้วงจรสามเหลี่ยมความรักในบ้านผิดเพี้ยน คือพอแม่เหนื่อยมากกับการดูแลลูกเพียงลำพัง แม่จะรู้สึกเป็นเจ้าของลูก จะรักลูกมากเป็นพิเศษ เบื่อหน่ายสามีกับการที่ไม่เคยยื่นมือช่วยเหลืออะไรเรื่องลูกเลย

นอกจากปล่อยให้เป็นหน้าที่แม่ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเริ่มเหินห่าง ในวัยที่ลูกควรได้เรียนรู้ความเป็นผู้ชายจากพ่อ แต่ก็ไม่ได้ใกล้ชิดพ่อ วันหนึ่งเมื่อลูกชายอยากสร้างระยะห่างจากแม่ขึ้นมาจริงๆ ชีวิตของแม่จะพังทลายทันทีเพราะมีลูกเป็นทั้งหมดของชีวิต

เหล่านี้เป็นวงจรแห่งความทุกข์ เพราะฉะนั้นครอบครัวที่เป็นสุขและสมดุลจึงต้องเกิดจากความร่วมมือของทั้งสามีภรรยา ในบทบาทของทั้งพ่อและแม่ร่วมกัน สำคัญคือคนเป็นพ่อต้องมีส่วนร่วมในการดูแลลูกบ้าง เข้าใจ เห็นใจ สนับสนุน ให้เกียรติภรรยาในฐานะที่เป็นแม่ของลูก (ไม่ใช่พ่อเป็นใหญ่) เมื่อพ่อแม่รักกัน พ่อให้เกียรติแม่ แม่ให้เกียรติพ่อ พ่อแม่มีทิศทางในการเลี้ยงลูกสอดคล้องกัน ชีวิตครอบครัวจึงจะไม่สั่นคลอน

ตอนลูกเล็กช่วงแรกเกิดถึง 7 ปี ฉันมีหน้าที่ดูแลลูกเป็นหลัก พ่อของลูกอาจช่วยสนับสนุนอยู่ห่างๆ เพราะลูกยังต้องการแม่มากกว่า แต่เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยที่สองคือ 7-14 ปี พ่อคือกำลังสำคัญที่มีความหมายมาก สำหรับลูกชาย พ่อคือฮีโร่เสมอ พ่อทำอะไรก็ถูกต้องดีงามไปเสียหมด ในขณะที่แม่ทำอะไรก็ดูน่าเบื่อหน่ายไปทุกสิ่งเช่นกัน (ฮา) ความเป็นผู้ชายคือการได้ผจญภัย ได้เสี่ยง ได้ลุย ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการในวัยของเขาพอดี

ฉันและสามีเป็นคนชอบลุย เรานิยมการผจญภัยในธรรมชาติและเรียนรู้ผ่านการเดินทาง เราสองคนพาลูกไปออกค่ายอาสาพัฒนาด้วยกันในอำเภอห่างไกลที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างยากลำบากตั้งแต่อายุ 7 ปีและยังคงทำต่อเนื่องทุกปี (ปีนี้ลูก 10 ขวบแล้ว)

เราต้องการให้เขาเรียนรู้ว่าตัวเองโชคดีแค่ไหนที่ได้เกิดมาพร้อมพรั่งกว่าคนอื่นอีกมายที่ยากไร้และขาดโอกาส การออกค่ายในชนบทมีความหมายมากสำหรับเด็กผู้ชายทุกคน ทั้งการเดินทางที่เปรียบเสมือนการผจญภัยในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย การอ่านแผนที่ เทคนิคการขับรถในเส้นทางสูงชัน การได้ก่อกองไฟ การได้ช่วยงานแบบผู้ชายๆ เช่นการก่อสร้าง การหัดใช้มีดพับเล็กๆ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงเสริมสร้างทักษะชีวิตพื้นฐาน หากยังเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง ทำให้ลูกตระหนักว่าตัวเองมีประโยชน์ต่อคนอื่น แม้ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เราก็สามารถหยิบยื่นความสามารถเพื่อช่วยเหลือคนอื่นได้ ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการบ่มเพาะความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ (empathy) ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งจะกลายเป็นคุณลักษณะที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับมนุษย์ในอนาคต ทั้งหมดนี้ เป็นการงานที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องร่วมมือกันทั้งพ่อและแม่

ตอนนี้ลูกชายของฉันมีอายุ 10 ปี เรา (แม่ลูก) จัดระยะกันได้ดีขึ้น เขามีความชอบที่ชัดเจนทางด้านการประดิษฐ์คิดค้น เรา (พ่อแม่) ส่งเสริมให้เขาได้เรียนรู้ มีพื้นที่ให้ทดลองได้อย่างอิสระ พ่อ-แม่-ลูก มีพื้นที่ของตัวเอง แต่ก็มีพื้นที่ร่วมกันด้วยในคราวเดียว พ่อแม่ยังเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกที่ทำให้ลูกเชื่อใจ ไว้วางใจได้ที่บอกกล่าวเรื่องราวต่างๆ แต่ก็นั่นแหละนะ เส้นทางการเป็นวัยรุ่นของเขายังอีกยาวไกลนัก คงยากที่จะบอกว่าเราข้ามผ่านช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านนั้นมาได้อย่างสมบูรณ์แล้ว แต่ฉันเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้อีก ไม่ว่าจะต้องเผชิญอะไรอีกก็ตาม

การมีจิตของผู้เริ่มต้น (beginner’s mind) คือสิ่งที่ฉันใช้ยึดถือในการใช้ชีวิต หลายเรื่องเราอาจเคยรู้ รู้ดี แต่ก็ต้องกลับมาทบทวนได้ว่าสิ่งที่เรารู้ อาจไม่เหมาะ ไม่สอดคล้องในตอนนี้ หากต้องเรียนรู้ใหม่ เริ่มต้นใหม่ และลองทำสิ่งใหม่ที่เราไม่เคยลองทำ การมีจิตใจเช่นนี้ จะทำให้พ่อแม่ผ่อนคลายจาก ‘ความเป็นพ่อเป็นแม่’ ในความหมายที่ว่า ต้องรู้ดีทุกเรื่อง ต้องทำถูกทุกเรื่อง ประสบการณ์ในอดีตไม่ได้ใช้ได้กับเหตุการณ์ในอนาคตเสมอไป จงเรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง ยอมรับ เรียนรู้ และเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ ชีวิตจะผ่อนคลายและเป็นสุข

หากเราเป็นพ่อแม่ที่ใจกว้างเพียงพอ ยอมรับความแตกต่างได้มากพอ เราจะมีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นกับลูกเสมอไม่ว่าเขาจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม

5 ไอเดียตั้งหลักสำหรับแม่พรีทีน

อย่าผูกโยงตัวเองไว้กับการเป็นแม่เพียงอย่างเดียว

สิ่งนี้คือความเสี่ยงสูงสุด เป็นเรื่องที่ดีที่แม่หลายคนลาออกมาเลี้ยงลูกในช่วงลูกเกิดใหม่ แต่เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น ดูแลตัวเองได้มากขึ้น เขาจะพึ่งพิงเราน้อยลง การที่แม่มีบทบาทหน้าที่อื่นๆ ทำในชีวิต เช่น กลับไปทำงานประจำ ทำงานอดิเรกที่หารายได้ได้ด้วย จะทำให้แม่ไม่เผชิญความสั่นไหวเมื่อลูกมีระยะห่างกับเรามากขึ้น หากยังสามารถมีความสุขกับบทบาทอื่นที่ตัวเองมีในชีวิต และรู้สึกมีคุณค่าในตนเองที่ยังคงพึ่งพาตนเองได้ทั้งใจเชิงเศรษฐกิจและจิตใจ นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการทำสิ่งใหม่ในชีวิตของคนเป็นแม่

จัดระยะใหม่และไว้ใจเพิ่มขึ้น

แม่ส่วนใหญ่ชอบควบคุมจัดการด้วยเจตนาที่ดี คืออยากให้ทุกอย่างสมบูรณ์แบบ จนบางครั้งลงไปรับผิดชอบแทน ทำให้ลูกไม่รู้จักโต หรือ ทำให้ลูกเบื่อหน่ายเพราะอยากจัดการชีวิตตัวเองบ้าง (แบบใดแบบหนึ่ง) เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยพรีทีน แม่ต้องเริ่มจัดระยะห่างใหม่ เพิ่มความไว้วางใจในตัวลูก ให้ลูกรับผิดชอบชีวิตเล็กๆน้อยๆ ในขอบเขตของตัวเอง ยอมรับให้เกิดความผิดพลาดได้เพื่อเรียนรู้ความรับผิดชอบและพัฒนาการเป็นผู้ใหญ่ให้ดีขึ้นเรื่อยๆ คิดเสมอว่ายอมให้ลูกเรียนรู้จากความผิดพลาดในเรื่องเล็กน้อยเสียตั้งแต่ตอนนี้ ย่อมดีกว่าให้เขาไปผิดพลาดเรื่องใหญ่อื่นๆในอนาคต

เปลี่ยนความสัมพันธ์เป็นแนวราบ

ตอนลูกยังเล็ก แม่อาจต้องจ้ำจี้จำไช คอยบอกทุกสิ่งทุกอย่างเพราะลูกยังคิดและตัดสินใจไม่ได้ แต่เมื่อลูกโตขึ้น เขาต้องการพิสูจน์ศักยภาพของตัวเอง เปิดโอกาสให้เขาคิด จงพูดให้น้อยลงและฟังให้มากขึ้น เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจมากขึ้น ผิดพลาดได้ และเรียนรู้จากความผิดพลาด คอยเติมเต็มและสนับสนุนอยู่ห่างๆ เมื่อเราให้เกียรติลูก ลูกจะให้เกียรติเรา หากิจกรรมครอบครัวทำร่วมกันที่ไม่ต้องพึ่งพิงกันและกันมากเกินไป หากสามารถมีพื้นที่ของตัวเองในการทำร่วมกันได้ เช่น ออกกำลังกาย ไปพิพิธภัณฑ์ ท่องเที่ยวธรรมชาติ เป็นต้น

มีจิตใจของผู้เริ่มต้นใหม่

พ่อแม่ต้องไม่ยึดติดกับสิ่งใด ตระหนักเสมอว่าทุกสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ดีและถูกต้องในวันนี้ อาจไม่ใช่เรื่องดีและถูกต้องในอนาคต เรียนรู้ที่จะเปิดกว้าง ทบทวน เพื่อการก้าวเดินในทุกก้าวของชีวิต ลูกเป็นแบบหนึ่งในวัยหนึ่ง และจะเปลี่ยนไปอีกเรื่อยๆ ในวัยที่เขาต้องเติบโตขึ้น อย่าคาดหวังให้เขาต้องเหมือนเดิม คอยจัดระยะห่างระหว่างกันและกันเสมอเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้สมดุล

ระลึกเสมอว่าชีวิตเป็นของลูก

แม่ทุกคนรักลูกที่สุด หวังดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าชีวิตเป็นของเขา อย่าหวังดีจนเอาชีวิตของเขามาใช้ ด้วยข้ออ้างของคำว่า ‘ความรัก’ จนลูกรู้สึกถูกบงการชีวิต  ชีวิตที่ดีไม่ใช่ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ แต่คือชีวิตที่ได้เรียนรู้ บางครั้งถูก ผิด สมหวัง ผิดหวังปนๆ กันไป สำคัญที่สุดคือชีวิตที่ลูกได้เป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง มีส่วนร่วมตัดสินใจ จัดการชีวิตตัวเองได้อย่างแท้จริง

Tags:

พ่อแม่วัยพรีทีน (Preadolescence)

Author:

illustrator

วิรตี ทะพิงค์แก

นักเขียน นักเล่าเรื่อง และบรรณาธิการอิสระ ที่ยังคงมีความสุขกับการเดินทางภายนอกเพื่อเรียนรู้โลกภายในของตัวเอง เจ้าของผลงานนิทานชุดดอยสุเทพเรื่อง ‘ป่าดอยบ้านของเรา’ หนังสือเรื่อง ‘เตรียมหนูให้พร้อมก่อนเข้าอนุบาล’ และ ‘ของขวัญจากวัยเยาว์’ คู่มือสังเกตความถนัดของลูกช่วงปฐมวัย เคยทำนิทานร่วมกับลูกชายเมื่อครั้งอายุ 6 ปี เรื่อง ‘รถถังนักปลูกต้นไม้’

Illustrator:

illustrator

บัว คำดี

เติบโตมากับเพลงป็อปแดนซ์ยุค 2000 เริ่มเป็นติ่งวงการ k-pop ในวัยมัธยม มีเพลงการ์ตูนดิสนีย์เป็นพลังใจในทุกช่วงวัยของชีวิต

Related Posts

  • How to get along with teenager
    พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร เมื่อลูกเข้าสู่วัยรุ่น

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Dear ParentsMovie
    Gilmore girls – ซีรีส์ที่ทำให้อยากมีแม่แบบเพื่อน ให้อิสระ อยู่ตรงนั้นเพื่อให้คำปรึกษาและพึ่งพิง

    เรื่องและภาพ พิมพ์พาพ์

  • How to get along with teenager
    รับมือวัยรุ่นยุค SEXTING: สื่อสารให้เข้าใจเรื่องความปลอดภัยของตัวลูกเอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Family Psychology
    5 ไอเดียเตรียมพร้อม เมื่อลูกเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • 21st Century skills
    ถึงเวลาปลูก ‘ฟาร์มคิดสร้างสรรค์’ โลกต้องการเด็กตั้งคำถามมากกว่าทำตามคำสั่ง

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

อ่าน เล่น ทำงาน: เด็กพูดคนเดียวคือเรื่องปกติ ความจำใช้งานของเขากำลังทำงาน
EF (executive function)
26 March 2019

อ่าน เล่น ทำงาน: เด็กพูดคนเดียวคือเรื่องปกติ ความจำใช้งานของเขากำลังทำงาน

เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

ข้อเขียนต่อไปนี้เก็บความแล้วเขียนขึ้นใหม่จากหนังสือ ‘The Development of Working Memory in Children’ เขียนโดย Lucy Henry สำนักพิมพ์ Sage ปี 2012

ความจำใช้งาน (working memory) เป็นความจำพร้อมใช้ เกิดขึ้นเพื่อใช้งานแล้วดับไป เป็นความจำที่เกิดขึ้นชั่วคราวเพื่อทำงานเวลานั้นอย่างดีที่สุด เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย

Baddeley & Hitch ได้เสนอโมเดลของความจำใช้งานขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1974 ก่อนที่จะปรับปรุงเพิ่มเติมในเวลาต่อมา โมเดลที่คนทั้งสองเสนอนี้ได้แบ่งความจำใช้งานออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนที่ 1 เรียกว่า central executive เป็นส่วนบัญชาการกลาง

ส่วนที่ 2 เรียกว่า phonological loop เป็นส่วนนำเข้าข้อมูลด้านเสียง

และส่วนที่ 3 เรียกว่า visuospatial sketchpad เป็นส่วนที่ใช้จัดการข้อมูลด้านภาพและช่องว่าง

สองส่วนหลังนี้มิได้เป็นส่วนปฏิบัติการจริงๆ แต่ก็มีผลกระทบต่อความรวดเร็วของความจำใช้งาน

อย่าลืมว่าความสำคัญของความจำใช้งานคือ ‘ความเร็ว’

พูดง่ายๆ ว่าส่วนที่ 1 คือกองบัญชาการมีหน้าที่ใช้ข้อมูลนำเข้าจากทั้งสองส่วน คือข้อมูลเสียงและข้อมูลภาพ เพื่อบริหารจัดการก่อนที่จะส่งต่อให้สมองส่วนหน้า prefrontal cortex เพื่อประมวลข้อมูล คิดยืดหยุ่น แล้วตัดสินใจปฏิบัติการ

วันนี้เรามาดูส่วนข้อมูลเสียง ซึ่งเรียกว่า phonological loop ส่วนข้อมูลนี้เสียงนี้ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบ

องค์ประกอบที่ 1 เรียกว่า phonological store ซึ่งน่าจะแปลว่าร้านเก็บรักษาเสียง ร้านเก็บรักษาเสียงนี้ทำหน้าที่เก็บรักษาเสียงที่เราได้ยินเป็นการชั่วคราวก่อนที่จะเลือนหายไป ชั่วคราวที่ว่านี้กินเวลาเพียงแค่ประมาณ 2 วินาที ซึ่งเร็วมาก จึงเรียกว่าเป็นร้านชั่วคราว เก็บขึ้นแล้วปล่อยออกไป เก็บขึ้นแล้วปล่อยออกไป เก็บขึ้นแล้วปล่อยออกไป

ตัวอย่างคือ ‘หมายเลขโทรศัพท์’ ใครคนหนึ่งบอกหมายเลขโทรศัพท์ 10 หลักให้เราฟัง เราสามารถทวนตัวเลข 10 หลักได้ไม่ยากหากทวนทันที เพราะแต่ละหลักจะเก็บเอาไว้นาน 2 วินาทีเท่านั้นเอง เมื่อทวนแล้ว หากต้องการเก็บไว้นานกว่านั้นเราต้องรีบจดหรือรีบท่องไปเรื่อยๆ จนกว่าความจำส่วนนี้จะย้ายออกจากร้านเก็บรักษาเสียงไปไว้ที่ลิ้นชักแห่งความทรงจำระยะสั้นต่อไป

ในทิศทางตรงข้าม เมื่อเราได้ยินตัวเลข 10 หลัก แล้วได้รับคำสั่งให้พูดตัวเลข 10 หลักนั้นกลับทิศทาง เรามักพูดได้เพียง 2-3 หลักแรก หลังจากนั้นคนส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดต่อได้ เหตุเพราะความจำชั่วคราวของเสียงที่ได้ยิน 7-8 หลักแรก บัดนี้เลือนหายไปแล้ว

มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าร้านเก็บรักษาเสียงหรือ phonological store นี้ตั้งอยู่ที่สมองซีกซ้าย แสดงให้เห็นได้ด้วยภาพถ่ายการทำงานของสมอง (Jonides etal 1998, Paulesu etal 1993)

การทวนตัวเลขที่ได้ยินทันทีนี้คือองค์ประกอบที่ 2 เรียกว่า articular rehearsal mechanism น่าจะแปลว่ากลไกการทบทวนเสียง ยกตัวอย่างเดิมคือตัวเลข 10 หลัก แม้ว่าเราจะใช้วิธีจด แต่เรามักต้องใช้เวลาช่วงหนึ่งในการหากระดาษและปากกา หรือเปิดสมาร์ทโฟน เปิดแอพพลิเคชั่น เพื่อกดตัวเลข และถ้าหากเราตั้งรหัสผ่านสมาร์ทโฟนด้วยตัวเลข นั่นแปลว่าเราจะถูกตัวเลขรหัสผ่านรบกวนความจำตัวเลข 10 หลักนั้นเข้าไปอีก ทั้งหมดนี้แก้ไขได้ด้วยการออกเสียงตัวเลข 10 หลักนั้นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจดลงเรียบร้อย

แต่ในชีวิตจริง เรามิได้ได้รับเพียงข้อมูลเสียง หลายครั้งที่เราได้รับข้อมูลภาพด้วย ตัวอย่างเช่นการจำหมายเลขทะเบียนรถที่ชนแล้วหนี นอกเหนือจากการจำหมายเลขทะเบียนรถซึ่งประกอบด้วยตัวอักษรและตัวเลขแล้ว ยังต้องจดจำลักษณะรถ ยี่ห้อรถ และสี อีกด้วย

การจดจำข้อมูลด้านภาพเป็นอีกเรื่องที่จะพูดถึงต่อไปแต่ในขั้นตอนนี้หลายคนจะเปลี่ยนข้อมูลภาพเป็นข้อมูลเสียงด้วยตนเองเสียก่อน ซึ่งทำได้ด้วยองค์ประกอบที่ 2 นี้นั่นเองคือการออกเสียงซ้ำๆ “รถเก๋ง คันเล็ก สีดำ” ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจดเก็บไว้เช่นกัน

กลไกการออกเสียงเพื่อคงไว้ซึ่งความจำใช้งานประเภทนี้สามารถทำได้ในใจของผู้ใหญ่ด้วย พูดง่ายๆ ว่าท่องในใจ ในขณะที่สำหรับเด็กแล้วส่วนใหญ่พวกเขาต้องพูดออกมา ปรากฏการณ์นี้เราจะได้เห็นเวลาเด็กเล่นในสนามแล้วพูดคนเดียว ดูเผินๆ คล้ายเขากำลังพากย์ตัวเอง แต่หากตั้งใจฟังหลายข้อความนั้นเป็นการทวนซ้ำเรื่องที่เขาทำเพื่อคงไว้ 2 วินาที มิเช่นนั้นเขาอาจจะไม่รู้ว่าขั้นตอนต่อไปจะทำอะไร

นี่คือขบวนของความจำใช้งาน!

เวลาเด็กเล่นคนเดียวก็ตาม หรือทำงานคนเดียวก็ตาม การพูดคนเดียวจึงมิใช่เรื่องผิดปกติ ที่แท้แล้วเขากำลังบริหารความจำใช้งาน พูดให้ถูกต้องมากขึ้นคือเขากำลังบริหารองค์ประกอบทั้งสองของร้านเก็บรักษาเสียง อันเป็นส่วนย่อยของระบบหรือโครงสร้างความจำใช้งาน

นี่คือคำอธิบายว่าเพราะอะไรเด็กเล่นจริงๆ หรือทำงานจริงๆ จะมีความจำใช้งานที่ดีกว่า

Tags:

พัฒนาการEFประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์อ่าน เล่น ทำงานความจำใช้งาน

Author:

illustrator

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Illustrator:

illustrator

antizeptic

Related Posts

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 2

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 1

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่าน-สมองและจิตใจของเด็กสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ตอนที่ 2 (จบ)

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: เด็กทำอะไรช้า มาจาก ‘ความจำใช้งาน’ เด็กๆ จึงต้องได้อ่านนิทานภาพก่อนนอน

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: ‘นิทาน’ สมาธิและความฉลาดเริ่มต้นในห้องนอนยามค่ำคืน

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

โละ 6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับพ่อทิ้งไป อย่าให้พ่ออยู่นอกสายตา
Family Psychology
25 March 2019

โละ 6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับพ่อทิ้งไป อย่าให้พ่ออยู่นอกสายตา

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • เรามักนึกถึงบทบาทของ ‘แม่’ มากกว่า ‘พ่อ’ บทบาทของพ่อจึงถูกมองข้ามและไม่ได้รับการพูดถึง จนเกิดเป็นมายาคติหรือความเชื่อที่พูดต่อๆ กันมาว่า ‘แม่เลี้ยงลูกได้ดีกว่า’
  • จากการศึกษาพบว่า หากปล่อยให้พ่อได้ใช้เวลาดูแลลูกในระยะเวลาพอๆ กับแม่ พ่อสามารถพัฒนาทักษะการดูแลลูกได้ไม่ต่างจากแม่เลยแม้แต่น้อย
  • สำหรับบทบาทของพ่อ การมีเวลาให้กับลูก ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ เรียกอิทธิพลของพ่อที่มีต่อลูกว่า dose effect บทบาทของพ่อมีผลทั้งต่อบุคลิกภาพ พฤติกรรม และวิธีคิดในการใช้ชีวิตของลูก

เอ่ยถึงบทบาทหน้าที่ในการเลี้ยงดูลูก ทั่วไปแล้วเรามักนึกถึงบทบาทของ ‘แม่’ มากกว่า ‘พ่อ’ อาจเพราะแม่เป็นผู้อุ้มท้องมาตลอด 9 เดือน แถมยังต้องรับหน้าที่ให้นมลูกต่อ ส่วนจะให้นมได้ยาวนานขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพ การดูแลเรื่องอาหารการกินของแม่ เพื่อให้เต้านมสามารถผลิตนมได้ดีและต่อเนื่อง ทั้งหมดต้องอาศัยความพยายามและความอดทนของผู้เป็นแม่ บทบาทของพ่อจึงถูกมองข้ามและไม่ได้รับการพูดถึง ซ้ำยังเกิดเป็นมายาคติหรือความเชื่อที่พูดต่อๆ กันมาว่า “แม่เลี้ยงลูกได้ดีกว่าพ่อ”

ลอเรน แม็คเคลน (Lauren McClain) และ ซูซาน แอล. บราวน์ (Susan L. Brown) นักสังคมวิทยา กล่าวถึงความเชื่อลักษณะนี้ไว้ในบทความ ‘The Roles of Fathers’ Involvement and Coparenting in Relationship Quality among Cohabiting and Married Parents’ ว่าเป็น ‘role traditionalization’ หรือ ‘บทบาทดั้งเดิม’ ที่มีความเสี่ยงต่อความสัมพันธ์ในชีวิตคู่หรือความมั่นคงในความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยา ผลการศึกษาชี้ว่า

การเข้ามามีบทบาทดูแลลูกของพ่อ ทำให้แม่มีความพึงพอใจในชีวิตคู่หรือชีวิตแต่งงานมากขึ้นด้วย ในทางกลับกัน หากพ่อละเลยบทบาทดังกล่าว ความสัมพันธ์ในชีวิตคู่ก็มีแนวโน้มสั่นคลอนได้เช่นกัน

ผู้เชี่ยวชาญด้านครอบครัวจากฟาร์เธอร์ฮูด (Fatherhood Institute) สถาบันที่ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นพ่อและบทบาทของพ่อ เอเดรียน เบอร์เกส (Adrienne Burgess) ได้เปิดเผย 6 ความเชื่อที่ไม่จริงเสมอไปเกี่ยวกับพ่อไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

หนึ่ง ผู้ชายไม่ได้อยากมีลูกเท่าผู้หญิง

(MEN DON’T WANT CHILDREN AS MUCH AS WOMEN DO)

ความอยากมีหรือไม่มีลูก เปลี่ยนแปลงได้ตามวัยหรือช่วงจังหวะชีวิต เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิต ที่เชื่อมโยงกับความรู้สึกมั่นใจ และความพร้อมของแต่ละบุคคลมากกว่าเพศสภาพ จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงจะมีความรู้สึกหรือมีความต้องอยากมีลูกก่อนผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นไปจนถึงช่วงอายุราว 30 ปี

ในทางกลับกันเมื่ออายุย่างเข้าเลข 4 ผู้ชายจะเริ่มมองว่าการมีลูกเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างจากผู้หญิง เพราะเป็นช่วงวัยที่รู้สึกว่าตนเองมีความพร้อม

สอง ผู้ชายไม่มีความอ่อนโยนกับเด็กทารก

(MEN ARE INSENSITIVE TO BABIES)

การศึกษาบอกอย่างชัดเจนว่า ความอ่อนโยนนั้นคุณพ่อมีไม่น้อยไปกว่าคุณแม่ รวมไปถึงความรู้สึกตามสัญชาตญาณอื่นๆ เช่น ความรู้สึกหวง ห่วงใย ความอาทรและความรัก สิ่งเดียวที่พ่อทำไม่ได้ก็คือ การให้นมลูกเท่านั้นเอง

การวิจัยได้ทำการสำรวจปฏิกิริยาตอบสนองของผู้หญิงและผู้ชาย เมื่อได้ยินเสียงทารกร้องไห้ พบว่า จังหวะการเต้นของหัวใจที่ตอบสนองต่อการได้ยินเสียงทารกร้องไห้ในผู้หญิงและผู้ชายมีอัตราการเต้นไม่ต่างกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเพศหญิงหรือชายเมื่อต้องกลายเป็นพ่อแม่ ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่จะรู้สึกใจอ่อนกับลูก

นอกจากนี้ จากการทดลองเก็บข้อมูล ยังพบว่า หากปล่อยให้พ่อได้คลุกคลีกอดเล่นกับลูกประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อปิดตาพ่อ ประสาทสัมผัสของพ่อสามารถแยกแยะได้ว่าเด็กคนไหนเป็นลูกของตัวเองจากการสัมผัสมือของลูกเท่านั้นเอง ถือว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์ของสายใยความสัมพันธ์ตามธรรมชาติ

สาม โดยธรรมชาติแล้วแม่ดูแลลูกได้ดีกว่าพ่อ

(MUMS ARE NATURALLY BETTER AT CARING FOR CHILDREN)

เมื่อเทียบแล้ว ในช่วงแรกเกิดแม่ใช้เวลาอยู่กับลูกมากกว่าพ่อ เนื่องจากต้องคอยให้นมลูกอย่างใกล้ชิด แม่จึงได้เรียนรู้และฝึกฝนการดูแลลูกจากประสบการณ์ตรงของตัวเอง แต่เรื่อง ‘ทักษะการดูแล’ อย่างคล่องแคล่วนี้เป็นคนละเรื่องกับ ‘ความมั่นใจ’ และ ‘ความเข้าใจ’ ความต้องการของเด็กทารก

จากการศึกษาพบว่า หากปล่อยให้พ่อได้ใช้เวลาดูแลลูกในระยะเวลาพอๆ กับแม่ พ่อสามารถพัฒนาทักษะการดูแลลูกได้ไม่ต่างจากแม่เลยแม้แต่น้อย

สี่ พ่อก็คือพ่อ พ่อเป็นผู้ชาย ทำอะไรมากไม่ได้หรอก

(DADS DON’T MAKE MUCH DIFFERENCE)

เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างสิ้นเชิง เพราะพ่อสามารถสร้างความแตกต่างและสร้างพัฒนาการที่ดีให้ลูกได้ตั้งแต่ในครรภ์ ด้วยการดูแลเอาใจใส่ผู้เป็นภรรยาหรือแม่ของลูกอย่างใกล้ชิด รวมถึงการส่งผ่านความรักและความห่วงใยให้แก่ภรรยาด้วย

การสร้างความอบอุ่นใจและสบายใจให้ผู้เป็นแม่ จะส่งผลต่อการสร้างสารเคมีในร่างกายของแม่ ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการของลูก

ดังนั้น พ่อจึงสร้างความแตกต่างด้านพัฒนาการของลูกได้ตั้งแต่แรกเกิด

จากการศึกษาพบว่า การเลี้ยงดูของพ่อมีผลต่อไอคิว (IQ) โดยเฉพาะพัฒนาการทางภาษาของลูก รวมทั้งเรื่องความมั่นใจในตัวเอง การเคารพตัวเอง และการเข้าสังคม ความสัมพันธ์ที่อบอุ่น แน่นแฟ้นระหว่างพ่อกับลูก ทำให้ลูกมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าน้อยลง

ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการรักษาความสัมพันธ์ระยะยาวในครอบครัว เมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่แล้วต้องรับผิดชอบดูแลตัวเองและครอบครัว

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากผลการศึกษา คือ พ่อที่สนใจเรื่องการเรียนของลูก ให้คำแนะนำ พูดคุย จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีผลการเรียนที่ดีได้ โดยเฉพาะในเด็กผู้ชาย นอกจากนี้ ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างพ่อกับลูก ยังส่งผลให้ลูกควบคุมอารมณ์ของตัวเองได้ดีอีกด้วย

กลับมามองที่ปัญหายาเสพติด ทางออกของการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจึงต้องกลับมาที่การสร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งในครอบครัว ทำให้ลูกเคารพและรักตัวเอง จากการให้ความรักความเข้าใจกับลูกนั่นเอง

ห้า พ่อไม่ค่อยมีเวลาดูแลลูกหรอก

(DADS HARDLY EVER LOOK AFTER CHILDREN)

แม้ส่วนใหญ่แล้ว พ่อต้องเป็นผู้รับผิดชอบทำงานนอกบ้านจนไม่มีเวลาดูแลลูกเท่าที่ควรในช่วงระหว่างวัน  ผลการศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า พ่อมีส่วนร่วมดูแลลูกหลังจากเลิกงาน เฉลี่ยแล้วประมาณ 2 ชั่วโมงต่อวัน รวมแล้วคิดเป็น 1 ใน 4 ของเวลาทั้งหมด นอกจากนี้ เมื่อลูกอยู่ในช่วงวัยที่แม่ต้องกลับไปทำงาน การใช้เวลาของพ่อกับลูก เพิ่มมากขึ้นตามลำดับและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

นี่แสดงให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติพ่ออาจไม่มีเวลามากนักในการดูแลลูก เนื่องจากต้องออกไปทำงาน แต่เมื่อมีเวลาพ่อสามารถใช้เวลาที่มีอย่างคุ้มค่าดูแลลูก

หก ผู้ชายทำอะไรพร้อมกันหลายอย่างไม่ได้

(MEN CAN’T MULTI-TASK)

เรื่องนี้ไม่จริงเสียทีเดียวเพราะเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เมื่อให้พ่อได้ใช้เวลาอยู่กับลูก และได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลลูก ไม่ว่าจะเรื่องชงนม เปลี่ยนผ้าอ้อม เล่นกับลูก และอื่นๆ ผลลัพธ์ คือ พ่อมีความสามารถในการดูแลลูกไม่แพ้แม่เลยทีเดียว เพียงแต่ส่วนใหญ่แล้ว พ่อมักได้รับบทบาทให้เป็นกองหนุนช่วยแม่มากกว่า เลยทำให้ถูกมองว่าไม่สามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘เวลา’ ที่ใช้กับลูกเป็นตัวแปรสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น ‘พ่อ’ หรือ ‘แม่’ หากมีเวลาให้ลูกอย่างเพียงพอ การเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิดของทั้ง 2 คน หรือคนใดคนหนึ่งมีผลต่อพัฒนาการของลูกไม่ต่างกัน

‘การดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด’ ในที่นี้หมายถึง การทำให้ลูก รู้สึกปลอดภัยและมีที่พึ่ง (safe) ด้วยการให้เวลาพูดคุยและรับฟังสิ่งที่ลูกต้องการสื่อสารโดยไม่ตัดสิน รู้ว่าตัวเองมีคุณค่าและมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ (competent) จากการให้กำลังใจและสนับสนุนของพ่อแม่ และ รู้สึกว่าเป็นที่รัก (lovable) เช่น การแสดงออกด้วยการกอด เป็นต้น

ดังนั้นไม่ว่าจะรับบทบาทเป็นพ่อแบบไหน…พ่อทางสายเลือด พ่อบุญธรรม พ่อเลี้ยงเดี่ยว หรือครอบครัวที่พ่อแม่ตัดสินใจสิ้นสุดความสัมพันธ์ต่อกัน พ่อแม่ยังคงต้องร่วมมือกันสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูก และแม่กับลูกให้ได้อย่างมั่นคง

สำหรับบทบาทของพ่อ การมีเวลาให้กับลูก เพื่อให้ได้ดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ เบอร์เกส เรียกอิทธิพลของพ่อที่มีต่อลูกว่า dose effect เพราะบทบาทของพ่อมีผลทั้งต่อบุคลิกภาพ พฤติกรรม และวิธีคิดในการใช้ชีวิตของลูก

Tags:

มายาคติการเป็นแม่เพศพ่อ

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    ลูกเกิดมาดี สวยงาม สมบูรณ์แบบแล้ว: ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ พ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกที่มีความพิการ

    เรื่องและภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    อาริยา มิลินธนาภา: เพศสภาพไม่ได้ใช้ในการเลี้ยงลูก แม่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิง

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เอกชัย กล่อมเจริญ: คุณพ่อช่างไม้ เลี้ยงเดี่ยว พาลูกเที่ยวและสอนให้ลงมือทำ

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เกรียงไกร นิตรานนท์: คุณพ่อผู้ลาออกจากงานเพื่อเป็น FULL TIME DADDY

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะรชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

  • Family Psychology
    พ่อก็คือแม่ แม่ก็คือพ่อ อย่าเชื่อว่าพ่อเลี้ยงลูกไม่ได้

    เรื่องและภาพ KHAE

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์: สังคมที่แม่เป็นบุคคลล่องหนและลูกคือศูนย์กลางของจักรวาล
Family Psychology
22 March 2019

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์: สังคมที่แม่เป็นบุคคลล่องหนและลูกคือศูนย์กลางของจักรวาล

เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

  • ในนามของความรักและความปรารถนาดี ตัวตนของแม่จำนวนมากค่อยๆ หายไป เพราะไม่ว่าจะทำอะไรมีแต่ลูก ลูก และลูก ตลอดเวลา
  • มูลเหตุสำคัญคือ ‘มายาคติความเป็นแม่’ ที่ไม่แค่ศักดิ์สิทธิ์ แม่หลายคนไม่คิดตั้งคำถาม ซ้ำยังแบกรับเอาไว้อย่างเต็มใจ
  • โดยอาจไม่รู้หรือคาดไม่ถึงว่า ภาระที่แบกเอาไว้นี้กำลังทำลายตัวเอง ทำลายลูก สร้างสังคมที่ทั้งบิดเบี้ยวและเปราะบางอย่างทุกวันนี้
  • The Potential ชวนนักสตรีศึกษาอย่าง รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ มาสำรวจมายาคติความเป็นแม่ต่างๆ ที่เคยเป็นใหญ่ ไม่ได้ชี้ถูก-ผิด แต่ชวนคิดว่ายังจะไปต่อหรือพอแค่นี้
เรื่อง: ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ, ชนม์นิภา เชื้อดวงผุย
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล

ในนามของความรักและความปรารถนาดี ตัวตนของแม่จำนวนไม่น้อยค่อยๆ หายไป เพราะไม่ว่าจะทำอะไร ‘ลูก’ ต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง อันดับสองก็ต้องไม่ใช่ตัวเอง ถ้าจะมีอันดับรั้งท้าย – นั่นแหละแม่

มูลเหตุสำคัญคือ ‘มายาคติความเป็นแม่’ ที่ไม่แค่ศักดิ์สิทธิ์ แต่แม่หลายคนไม่คิดตั้งคำถาม มิหนำซ้ำยังแบกรับเอาไว้อย่างเต็มใจ โดยอาจไม่รู้หรือคาดไม่ถึงว่า ภาระที่แบกเอาไว้นี้กำลังทำลายตัวเอง ทำลายลูก สร้างสังคมที่ทั้งบิดเบี้ยวและเปราะบางอย่างทุกวันนี้

ด้วยความสงสัยและไม่อยากให้แม่ค่อยๆ กลายไปเป็นบุคคลล่องหน The Potential จึงชวนนักสตรีศึกษาอย่าง รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาสำรวจมายาคติความเป็นแม่ต่างๆ ที่เคยเป็นใหญ่ ไม่ได้ชี้ถูก-ผิด แต่ชวนคิดว่ายังจะไปต่อหรือพอแค่นี้

ในความคิดเห็นของอาจารย์ ‘มายาคติความเป็นแม่’ มีอะไรบ้าง และรากมาจากไหน

พอพูดถึงความเป็นแม่ สิ่งที่เรียกว่าความเป็นแม่มันใหญ่หลวงกว่าที่เราคิด จริงๆ ไม่มีอะไรที่เป็นธรรมชาติเลยสักเรื่อง คุณต้องไปเริ่มดูตั้งแต่ ‘วิธี’ ที่คุณนิยามว่าความเป็นหญิงคืออะไร เพราะความเป็นหญิงมันไปผูกอยู่กับความเป็นแม่ด้วย ไปผูกอยู่กับความเป็นวัตถุทางเพศ ผู้หญิงต้องสวย ฯลฯ

ความเป็นแม่จะเป็นเเง่มุมที่ใหญ่มาก เเล้วก็ไม่ได้พูดแค่ว่าผู้หญิงเกิดมาเเล้วเป็นเพศเเม่เพียงอย่างเดียว เเต่มันลงไปถึงอะไรมากมาย เช่น ถ้าคุณพูดว่าผู้หญิงเป็นเพศแม่ นั่นคุณ assume แล้วใช่ไหมว่าผู้หญิงทุกคนเป็นแม่ได้ ให้กำเนิดได้ ซึ่งอันนี้ไม่จริง ถ้าคุณพูดอย่างนี้ คุณเชื่ออย่างนี้ เสร็จเเล้วคุณมีลูกไม่ได้ คุณตั้งครรภ์ไม่ได้ ใหญ่หลวงมากนะ สิ่งที่ตามมาคือธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อช่วยให้คนมีลูก ที่เป็น ‘ลูกของฉัน’

ยังมีอีกหลาย assumption เช่น ผู้หญิงเกิดมาเป็นเพศแม่ แปลว่าถ้าคุณตั้งครรภ์ คุณต้องดีใจใช่ไหม แล้วก็รักลูกทันที ซึ่งเอาเข้าจริง พอลูกเกิดมาใหม่ๆ บางคนรัก บางคนยังไม่รัก สำหรับผู้หญิงที่เกิดมามีเพศสภาพหญิงจำนวนไม่น้อยที่มีลูก ความสัมพันธ์แม่-ลูกหรือความรัก ต้องอาศัยการพัฒนา บางคนอาจจะไม่ได้รักทันทีที่เห็นหน้าลูก มันอาจต้องใช้เวลาและการค่อยๆ เลี้ยงดู ได้อยู่ด้วยกัน

ทีนี้กลายเป็นว่าคนที่เฉยๆ ไม่รักลูก ไม่ปลื้มการเลี้ยงเด็ก ก็จะถูกมองว่าบกพร่อง เพราะคุณดันไปเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศแม่ต้องเป็นดังนี้ มายาคติความเป็นแม่เลยซ้อนอยู่หลายเรื่อง

อีกเรื่องคือ ความปรารถนาที่จะเจริญพันธ์ุ คุณ assume ว่าผู้หญิงเกิดมาปุ๊บต้องอยากมีลูก เเละความผูกพันระหว่างแม่ลูกถูกมองเป็นเรื่องธรรมชาติหมด พอมาถึงเรื่องการเลี้ยงเด็ก เนื่องจากคุณดันไปเชื่อว่าแม่ พอมีลูกปุ๊บจะรักลูกทันที

มันส่งผลถึงวิธีที่คุณนิยามวิธีเลี้ยงลูกของแม่ แบบ ‘ยอดมหาโหด’ เลยนะ เหมือนกับว่าพอผู้หญิงเป็นแม่ปุ๊บ ตัวตนคุณหายไปเลย ลูกต้องมาก่อนและสำคัญกว่าทุกอย่าง แม่ต้องเสียสละเพื่อลูก ยอมตายเพื่อลูก ความปรารถนาของตัวเองทุกอย่างไม่มีความหมาย ความปรารถนาของลูกสำคัญกว่า นายทาสยังไม่ทำกับทาสขนาดนี้เลยนะ โหดมาก เพราะคุณเรียกร้องให้คนคนหนึ่ง โยนตัวตนของเขาในฐานะมนุษย์ทิ้งไป แล้วเอาคนอีกคนขึ้นมาสำคัญกว่า ฟังดูเหมือนโรเเมนติก

จะมีคนมากมายที่เถียงกับดิฉันว่า ความเป็นเเม่ก็อย่างนี้แหละยิ่งใหญ่มาก แล้วคนที่เขาทำไม่ได้ทำไง ที่สำคัญคนที่ทำไม่ได้มีเยอะด้วย คุณก็จะเห็นปัญหาของมันจากความคาดหวังที่บางทีมันบังคับตัวเอง บังคับคนอื่นว่าด้วยการเล่นบทบาทเเม่

วัฒนธรรมเข้ามามีส่วนร่วมกับความคิดชุดนี้มากน้อยเเค่ไหน

มันเป็นความเชื่อ ความหมายว่าด้วยเรื่องหญิงชาย ว่าด้วยเรื่องความเป็นเเม่ ซึ่งมันเคลื่อน เลื่อนไหลไปตลอด

ขณะนี้ความเป็นเเม่อย่างที่เราพูดถึงอยู่ ดิฉันว่ามันนำเข้าซะส่วนใหญ่ ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องของความเป็นหญิงสมัยใหม่ คือคุณเชื่อว่าเด็กจะมีคุณภาพ แม่ของเด็ก (ผู้ให้กำเนิด) ต้องเป็นคนเลี้ยงเองเท่านั้น ถ้าคนอื่นเลี้ยงเด็กจะโตขึ้นมาอย่างไม่เเข็งเเรง ไม่มีศีลธรรม แต่ถ้าคุณดูให้ดีๆ เมื่อก่อนนี้ดิฉันว่าผู้หญิงสยามไม่ได้เลี้ยงลูกเอง มีคนช่วยเลี้ยง หญิงชนชั้นสูง ก็มีคนอื่นที่เป็นบ่าวไพร่ เลี้ยงลูกให้ ถ้าเป็นสามัญชนก็เป็นผู้หญิงคนอื่นช่วยเลี้ยงลูก …เพราะถ้าเลี้ยงลูกเอง ตายไปหมดเเล้วคุณ น้อยมากที่ผู้หญิงคนเดียวเลี้ยงลูกแล้วมีความสุขเเฮปปี้

เฟมินิสซึม จะพูดถึงคอนเซ็ปต์หนึ่ง ชื่อว่า the other mother เพราะเอาเข้าจริงๆ เราหนึ่งคนโตขึ้นมาได้ทั้งเชิงร่างกาย เเละจิตใจ จิตวิญญาณตัวตนด้วยผู้หญิงหลายคน ไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียว

ทุกคนที่เลี้ยงลูกมาถือว่าเป็นเเม่หมดเลย?

ไม่ใช่ถือว่าเป็นเเม่ เเต่ว่าคนที่ทำหน้าที่เลี้ยงเด็ก กล่อมเกลาเด็กทั้งร่างกายและจิตใจมักจะไม่ใช่ผู้หญิงคนเดียว คุณลองถามตัวคุณให้ดีๆ คนที่มีความหมายกับคุณ ที่เลี้ยงดูคุณมาจริงๆ ทำให้กลายเป็นคุณ ณ วันนี้ มีเเต่เเม่คุณจริงหรือ พวกเราก็จะมีย่า ยาย พี่ ป้า น้า อา เพราะฉะนั้นภาพที่มีแม่คนเดียวอาจแปลกสำหรับคนหลายๆ คน แต่บางคนก็อาจจะโตมาจากการเลี้ยงของแม่คนเดียวก็ได้

แล้วพอความคิดชุดนี้กลายเป็นความโรเเมนติก มันมีผลต่อการเลี้ยงดู การเเบ่งหน้าที่ของตัวเอง เช่น ฉัน (แม่) ต้องทำงานด้วย ดูเเลบ้านด้วย ถึงจะสุดยอด อย่างนี้ถือว่าเป็นชุดความคิดที่มีถูก มีผิดไหมคะ

จริงๆ ความคิดชุดนี้มันยุ่งมาก การที่คุณนิยามความเป็นเเม่เเบบนี้ ต้องเลี้ยงลูกอย่างนี้ ทุกอย่างต้องเป๊ะ มันสร้างปัญหาตามมาเยอะมาก เพราะว่าความเป็นเเม่ที่ถูกนิยามเเบบนั้นมันไม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเลือกอะไรเลยในชีวิต ถ้าคุณเลือกเป็นอื่น และเลือกไม่เป็นเเม่ คุณผิดเเล้ว บกพร่อง

เลือกไม่เป็นเเม่ในความหมายต่างๆ คือเลือกไม่เจริญพันธ์ุ หรือเมื่อตั้งครรภ์เเล้วยุติการตั้งครรภ์ ผิดหมดเลย เพราะมันไม่สอดคล้องกับความเชื่อว่าผู้หญิงคือเพศเเม่ แปลว่าทางเลือกชีวิตของผู้หญิงมันปิด ถ้าคุณเลือกมีลูกตัวคุณหายไป แต่มันก็ต้องเป็นอย่างนี้สิ แม่บางคนจะได้ไม่รู้สึกผิด

อย่าลืมว่า ผู้หญิงที่ขณะนี้มีลูกเเล้วเล่นบทบาทแม่ยังต้องมีมิติอื่นๆ ในชีวิต บางคนการทำมาหากินนี่มันหมายถึงความอยู่รอด ไม่ใช่ทำมาหากินเล่นๆ และคุณก็ยังมีความปรารถนาส่วนตัว เช่นอยากใช้เวลาทำโน่นนี่ให้ตัวเอง คือตัวตนคุณยังอยู่ แต่คุณไม่สามารถทำหรือเลือกสิ่งเหล่านั้นได้โดยไม่รู้สึกผิด

หรือผู้ชายที่เป็นสามี คุณเจริญพันธ์ุมาด้วยกัน แต่คุณคิดว่าเมียต้องทำหน้าที่ในการเลี้ยงดูเด็กเพียงฝ่ายเดียว เเละมีความคาดหวังว่าเมียต้องทำอย่างนี้ๆ มันเป็นเเรงกดดันและความคาดหวังอีกชุดหนึ่ง นี่ไม่ต้องพูดถึงคนอื่นๆ นอกครอบครัว คือคนทั่วไปคาดหวังว่าผู้หญิงพอมีลูกปุ๊บ คุณต้องให้ความสำคัญกับบทบาทความเป็นเเม่ก่อน เเล้วก็ทึกทักเอาเองว่าพอมีลูกปุ๊บผู้หญิงจะด้อยคุณภาพลงในเเง่การทำงาน เพราะคุณต้องเอาเวลาทุ่มให้ลูกคุณก่อน นี่คือ priority สูงสุดในชีวิต เพราะฉะนั้นอีนี่ต้องกลายเป็นเเรงงานด้อยคุณภาพ

เวลาเป็นศตวรรษๆ คุณยังไม่สามารถทำให้เเรงงานหญิงกับเเรงงานชายได้ค่าจ้างเท่ากันเลย ในประเทศโซนยุโรปก็ทำไม่ได้เพราะความเชื่อแบบนี้ เช่น ผู้หญิงได้เงินเดือนเท่าผู้ชายได้อย่างไร พอมีลูกเดี๋ยวผู้หญิงเดี๋ยวก็ลาออกไป ถึงจะกลับทำงานได้ก็ยังให้ความสำคัญกับลูกมากกว่า หน้าที่แม่ยังไงก็สำคัญที่สุด

ในที่สุดเเล้ว ความเป็นแม่เป็นสิ่งที่สังคมเรียกร้องจากผู้หญิง คาดหวังจากผู้หญิง ขณะเดียวกันก็กลายเป็นเครื่องมือในการบอกว่าผู้หญิงทำอะไรหลายๆ อย่างได้อย่างไม่มีคุณภาพเพราะเป็นเเม่ ตกลงคุณจะเอาอย่างไรกันเเน่

หรืออย่างคำว่า มือก็ไกว ดาบก็แกว่ง ก็คือที่สุดของมายาคติความเป็นเเม่

แน่นอน ซูเปอร์วูเเมน ทำได้ทุกอย่าง เเล้วเพอร์เฟ็คท์ทุกอย่าง คือดิฉันยิ่งเเก่ยิ่งเห็นคนเป็น multi-tasker ดิฉันว่าเป็นทุกข์ของคนยุคหลังสมัยใหม่ คือบอกว่าทำอะไรได้หลายอย่างพร้อมกันมันดูโอเค เเต่ทำเเล้วดีเลิศทุกอย่างนี่แหละที่เป็นปัญหา

เช่น ในโซเชียลมีเดีย เราเห็นผู้หญิงอายุ 60 กว่าสวยปิ๊ง เสร็จเเล้วคุณก็จะรู้สึกว่าทำไมกูไม่ได้อย่างนั้นบ้าง กลายเป็นคุณบกพร่อง ดิฉันว่ามันเป็นปัญหา เพราะคุณจะรู้สึกว่าเเทนที่คุณจะตั้งคำถามอย่างที่เราคุยกัน คุณก็รู้สึกว่ามีคนทำได้ ฉันต้องทำได้บ้างสิ พอคุณทำไม่ได้มันทำให้คุณบกพร่อง โดยไม่คิดว่าพวกนั้นกำลังโกหกคุณอยู่

เอาเข้าจริงมายาคติที่อยู่ในหัวคนรอบข้าง กับมายาคติที่อยู่ในหัวผู้หญิงเองอันไหนมันรุนเเรงมากกว่ากัน

จริงๆ มันรุนเเรงหมด เวลาที่คุณพูดเรื่องความเป็นเเม่ ดิฉันพูดเรื่องนี้ไม่เคยไม่ถูกด่า ศักดิ์สิทธิ์มาก ห้ามเเตะต้อง

กลับกันถ้าอาจารย์เป็นผู้ชาย เเต่อาจารย์ไปพูดเรื่องนี้มันจะมีฟีดเเบ็คต่างกันไหม

ถ้ามีผู้ชายคนไหนพูดเเบบนี้ ต้องได้รับการยกย่อง ทรงปัญญา แต่พอผู้หญิงพูดเนี่ยนะ เจ้าอารมณ์ มองแต่เรื่องเล็กๆ

ความต่างนี้มันบอกอะไร

นี่คือ sexism หรืออคติในทางเพศ พูดเหมือนกันเเต่คุณตีความ ฟังเข้าหูเเล้วรับรู้ไม่เท่ากัน

มีปัญหาอะไรอีกบ้างจากมายาคติความเป็นแม่

เวลาคุณเลี้ยงคน แล้วคุณรู้สึกว่าคนนี้เป็นความรับผิดชอบของคุณ เป็น priority สูงสุด ตัวตนคุณไม่สำคัญเท่าคนนี้ แต่อย่าลืมว่าลูกคือคนอีกคนหนึ่ง เขาจะกลายเป็นอะไรก็ได้ เขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่ส่วนต่อขยายของคุณ ทีนี้เวลาที่ลูกบกพร่อง ไม่ได้สมบูรณ์แบบในเรื่องต่างๆ ผู้หญิงหลายคนจะรู้สึกตัวเองทำได้ไม่ดี เพราะฉันไม่ได้ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้หรือเปล่าลูกฉันถึงได้ออกมาเป็นเเบบนี้ โทษตัวเอง

เเละที่เเย่ไปกว่านั้นก็คือ มายาคติความเป็นเเม่ทำให้ผู้หญิงเห็นเเต่ลูกตัวเอง คุณไม่ได้เห็นเด็กคนอื่นๆ เป็นลูกคุณ ก็จะเกิดการทุ่มเทไปที่คนคนเดียวสูงมาก ขณะที่คุณสามารถละเลยเด็กคนอื่นๆ ในสังคมได้

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลปลายทางอย่างไรบ้าง

ผู้หญิงชนชั้นกลางที่ดิฉันเห็นในชีวิตประจำวัน มีเยอะที่ทุ่มเททุกอย่างที่ลูก เอาความฝันตัวเองไปฝากลูกด้วย แม่เคยอยากเป็นอะไรเเล้วเป็นไม่ได้ก็ลงที่ลูก อะไรๆ ก็อยู่ที่ลูกหมด

ความรักแบบนี้ของแม่ จริงๆ เเล้วมากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี แต่ถ้าเชื่อในมายาคติความเป็นเเม่มาก ก็ไปกันใหญ่ การจัดลูกใส่พิมพ์เเล้วก็บังคับให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ โดยไม่รู้ตัวว่าตัวเองกำลังบังคับ

ทั้งหมดอยู่ภายใต้ความรักความปรารถนาดีอยากให้เขาประสบความสำเร็จ อันนี้ก็จะกระทบทั้งเเม่ทั้งลูก พอเอาเข้าจริงๆ จะไม่มีลูกคนไหนได้ดั่งใจแม่ ลูกไม่ใช่ตุ๊กตา เป็นคน ทำให้เราได้เห็นความตึงเครียดในความสัมพันธ์เเม่ลูกมาโดยตลอด มันไม่ได้ราบรื่นสวยงาม

ลูกที่โตมากับความรับรู้ว่า ‘ฉันเป็นเบอร์หนึ่ง’ ‘ฉันเป็นทุกอย่างของเเม่’ เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างไร

เวลาที่คุณโตมาอย่างนี้ คุณคือศูนย์กลางจักรวาล เพราะสำหรับเเม่ ลูกคือศูนย์กลางของชีวิต คนอื่นไม่สำคัญ ลูกฉันสำคัญที่สุด

คน (ลูก) เเบบนี้เห็นตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล จักรวาลมีอยู่เพื่อเสิร์ฟฉัน ลองคิดดูแล้วกันว่าโตขึ้นมาจะเป็นอย่างไร มันมีอันตรายหลายอย่าง จากการถูกให้ความสำคัญมากๆ ความสามารถในการจัดการชีวิตตัวเองไม่มี กิจวัตรเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่โตก็ทำไม่ได้ มันก็จะเป็นทุกข์กับตัวคนคนนั้นเเละคนอื่นรอบข้าง

เป็นไปได้ไหม ถ้ากรณีทุ่มเททุกสิ่งอย่าง ดีก็ดีไปเลย ถ้าเเย่คือก็เเย่สุดๆ

ดิฉันว่าอะไรที่มากเกินไปไม่มีอะไรดี อะไรที่มากเกินไปจะสร้างปัญหาอีกชุดหนึ่ง อย่างที่บอก น้อยเกินไปก็สร้างปัญหาอีกชุดหนึ่ง

แล้วพ่ออยู่ไหนในมายาคติของความเป็นเเม่

มายาคติความเป็นเเม่ยกการเลี้ยงดูเด็กให้เเม่นะคะ พ่อเป็นคนที่ออกไปทำมาหากิน ตามอุดมการณ์ผัวเมีย ก็คือเมียอยู่บ้าน ผัวออกไปทำมาหากินสร้างฐานะ หารายได้เพื่อเลี้ยงครอบครัว นั่นก็กลายเป็นหน้าที่ของผู้ชายไป ถ้าคุณยึดในแบบนี้มากๆ มันก็จะมีระยะห่างระหว่างพ่อลูก

พอมาถึงปลายศตวรรษที่ 20 คุณก็เริ่มมีอุดมการณ์ความเป็น ‘พ่อใหม่’ พ่อต้องใช้เวลากับลูก ต้องใกล้ชิด กลายเป็นพ่อแม่ช่วยกันเลี้ยง ซึ่งมึโอกาสเละไปอีกแบบได้เช่นกัน

เเล้วจะเลี้ยงอย่างไรกันดี

อย่างที่ดิฉันบอก ความพอดี ขณะนี้ที่คุณมาคุยกับดิฉันเพราะมันมีความไม่พอดี เพราะอุดมการณ์ที่พูดถึงความเป็นพ่อ ความเป็นแม่ มันสุดโต่งมากๆ เอาลูกเป็นศูนย์กลาง คือทุกอย่างในชีวิตมันพังหมดเลย มันเยอะไป

ไม่ว่าอย่างไรคนเมื่อกลายเป็นพ่อเป็นเเม่ เขาก็ยังเป็นอื่นๆ อยู่ด้วย ไม่ใช่ผู้หญิงคนหนึ่งกลายเป็นแม่ก็เป็นแม่อย่างเดียว มันก็ยังเป็นอื่นๆ มีเเง่มุมอื่นๆ เช่นเดียวกับผู้ชาย

มันเป็นเรื่องของยุคสมัยด้วยไหมคะอาจารย์ สงสัยว่าสมัยก่อนพ่อแม่มีลูกหลายคน การเลี้ยงดูเลยเฉลี่ยๆ กัน เเต่ครอบครัวตอนนี้มีลูกแค่สองคนหรือคนเดียว มันอาจทำให้มายาคติความเป็นแม่ หรือลูกคือศูนย์กลางของจักรวาล ยิ่งรุนแรงขึ้น?

นอกจากจำนวนลูกเเล้วนะ ที่สำคัญมากคือการที่คุณได้รับข้อมูล ถูกกดดัน กำกับจากทุกฝ่าย ตั้งเเต่การศึกษา สื่อ หรืออะไรอื่นๆ ว่าความเป็นเเม่จะต้องเป็นอย่างนี้ ทีนี้ความเป็นเเม่ของคุณมันก็เลยเอ็กซ์ตรีม

ทีนี้พอแม่ลูกหนึ่งมาเจอกันเข้า มันถึงออกมาสภาพเกินพอดี และเนื่องจากปรากฏการณ์คนแต่งงานช้าลง มีลูกเองลำบากมากขึ้น หลายคนไปผ่านกระบวนการทำให้มีลูก ลูกยิ่งกลายเป็นศูนย์กลาง ลูกแก้วลูกนรกจึงเยอะมาก

เวลาจะพูดว่าปรากฏการณ์มันมาจากอะไร มันหลายองค์ประกอบมากๆ ทั้งนี้เพราะคุณเชื่อจริงจังว่าความเป็นเเม่ต้องเป็นแบบนี้ ครอบครัวที่สมบูรณ์ต้องเป็นเเบบนี้

เด็กที่โตมาอย่างเป็นศูนย์กลางจักรวาล เขาจะไปสร้างสังคมอย่างไร

ข้อสังเกตอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ใช่ของดิฉันอย่างเดียว เเต่เป็นของหลายๆ คน พอคุณเป็นศูนย์กลางของจักรวาล คุณคิดว่าทุกอย่างมีอยู่เพื่อเสิร์ฟคุณ เพราะวิธีที่แม่คุณพ่อคุณเลี้ยงดูคุณมันเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างต้องเป็นอย่างที่คุณต้องการ แต่โลกนี้ไม่ได้มีอยู่เพื่อเสิร์ฟคุณ พอออกมานอกบ้านคุณเจอโลกที่มันเป็นอีกแบบ คนแบบนี้จะทำอย่างไร

จัดการดูเเลตัวเองไม่ได้?

(พยักหน้า) เราจัดการดูเเลตัวเองไม่ได้ แฮนเดิลความรู้สึกที่ไม่ได้อย่างใจไม่ได้ มันก็จะมีปัญหาขึ้นมาชุดหนึ่ง อาจจะเรียกว่าเป็นความเสี่ยง เพราะจะจัดการชีวิตตัวเองไม่ได้ในหลายๆ เเง่มุม รับความผิดหวังก็ไม่ได้ เช่น เรื่อง (เชิงอารมณ์) ที่คนรุ่นก่อนหน้านี้รู้สึกว่ามันไม่น่าจะเป็นเรื่องใหญ่ คือมันก็เป็นทุกข์ของมนุษย์ ผู้ใหญ่จึงชอบพูดว่าทำไมคนรุ่นหลังจึงไม่อดทน

คุณไม่ได้ถูกเตรียมเพื่อที่จะอยู่กับโลกที่มันไม่ซัพพอร์ตคุณ โลกไม่ได้เสิร์ฟคุณนะ หลายคนต้องใช้เวลา บางคนใช้เวลาทั้งชีวิตก็ยังไม่เรียนรู้ว่าโลกไม่ได้อยู่เพื่อเสิร์ฟคุณ

มันส่งผลต่อภาวะซึมเศร้าด้วยไหม

ซึมเศร้าเป็นโรคอะไรอย่างไร ดิฉันขอละไว้มันจะได้ไม่ต้องเถียงกัน เเต่เอาเป็นว่าการจัดการอารมณ์จัดการตัวตนของคนมันยากขึ้นได้ คือคุณไม่ได้คิดว่าการไม่ได้ การผิดหวังมันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เเล้วก็ไปคาดหวังว่าทุกคนทุกอย่างในโลกนี้ต้องมีไว้เสิร์ฟคุณ แต่พอคุณออกไปอยู่ในโลกที่มันไม่ใช่อย่างนี้เลย คุณจะจัดการกับมันอย่างไร เอาเป็นว่าเเค่การจัดการกับความผิดหวังไม่ได้ มันเป็นทุกข์ใหญ่จริงๆ

พอลูกที่ไม่สามารถจัดการกับความผิดหวังของตัวเองได้ เจอกับแม่ที่ลูกเป็นศูนย์กลางทุกอย่าง จะช่วยกันได้ไหม หรือว่าพิงกันเเล้วล้มไปด้วยกันเลย

เวลาที่ลูกผิดหวัง จะคิดว่าตัวเองผิดหวังไม่เท่าไหร่ แต่กลัวพ่อแม่ผิดหวังมากกว่า หลายครั้งลูกไม่กล้าพูดเพราะกลัวพ่อแม่เสียใจ อันนั้นก็จะกลายเป็นปัญหาอีกชุด คือมาจากการที่คุณทุ่มเท คาดหวังกับลูกมากๆ จนตัวตนคุณหายไป ความสัมพันธ์ของมนุษย์มันเลยดูไม่ค่อยราบรื่นไปหมด

ความสัมพันธ์ที่เป็นปัญหากันในปัจจุบัน มีที่มาที่ไปจากเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน

คือคนเวลามีปัญหาความสัมพันธ์ ปัญหาความรัก ปัญหาหัวใจ หลักๆ เลยมาจากการไม่ได้ดั่งใจ มาจากไม่ได้หลายอย่าง เช่น กฎกติกามันบังคับคุณว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่าความปรารถนาคุณวิ่งเข้าชนกำเเพง คุณก็ไม่ได้ดั่งใจ

เเละอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมากคือในความรักความสัมพันธ์มันมักจะมีคนคนหนึ่งอยู่ด้วยในนั้นเสมอ เเละอีกหนึ่งคน มันก็เป็นคน คุณอาจจะรักเขา เเต่เขาไม่รักคุณเลย…ก็ได้ หรือ คุณรักเขาเเบบหนึ่ง เขารักคุณในเเบบที่ไม่ตรงกับที่ให้คุณรัก ความสัมพันธ์เริ่มไม่พร้อมกัน เลิกไม่พร้อมกัน ดำเนินไม่พร้อมกัน เป็นปัญหาหมด มันเป็นปัญหาความคาดหวัง

ทีนี้เวลาที่คุณเอาตัวคุณเป็นที่ตั้ง คุณก็จะไม่เห็นคนอีกคนหนึ่ง คุณจัดการตัวเองก็ไม่ได้ เเละบางทีคุณก็ไปลงที่อีกคนหนึ่ง กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตได้ เพราะวิธีที่คุณเห็น ตัวคุณใหญ่มาก

การเห็นตัวเองสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง จึงก่อปัญหาภาพรวม?

พวกเราเห็นตัวเราจะต้องสำคัญที่สุดอยู่เเล้ว ทุกข์ของฉันสำคัญที่สุดในโลก ทุกข์คนอื่นกูไม่รู้สึก อันนี้เข้าใจได้ เเต่ว่าไอ้ที่มันดูยุ่งๆ ก็คือคุณเห็นเเต่ทุกข์ของคุณ เเละคุณไม่ได้เห็นว่าคนอื่นก็เป็นมนุษย์ที่มีปัญหาของเขาที่เขาเผชิญทุกข์ คือถ้าคุณเห็นตัวเองและเห็นคนอื่นได้ด้วย เรื่องหลายเรื่องจะไม่เป็นปัญหานะ หรือเป็นปัญหาบ้างเเต่มันจะไม่ใหญ่ขนาดนี้

คนที่เห็นทุกข์ตัวเองด้วย ทุกข์คนอื่นด้วย เขาอาจจะไม่ได้โตมาแบบศูนย์กลางจักรวาลหรือเปล่า

อันนี้ลำบาก เพราะว่าจริงๆ เราไม่มีหลักฐาน คือดิฉันไม่อยากให้เอาไปเชื่อมโยง แต่อยากพูดว่า เวลาที่คุณทำให้คนเห็นตัวเองใหญ่มากเยอะๆ มันมีความเสี่ยง เพราะในเมื่อคุณไม่เคยเห็นคนอื่น เเล้วอยู่ดีๆ จะเห็นคนอื่นขึ้นมาง่ายๆ หรือเปล่า ควรจะตั้งคำถามอย่างนี้มากกว่า

ตอนนี้มี how to ทฤษฎีเลี้ยงลูกต่างๆ เยอะเเยะ และพ่อแม่ทุกคนต่างไม่อยากให้ลูกเป็นศูนย์กลาง ขออนุญาตถามแบบกำปั้นทุบดินเลยว่าแล้วจะทำอย่างไรกันดี

จริงๆ เด็กรุ่นที่กำลังจะโตขึ้นมาเนี่ย เขาจะเจอกับลูกของเขาที่เป็นเเบบเดียวกัน อะไรที่เขาถูกปฏิบัติมา มันก็จะมาใช้กับคนรุ่นต่อไปไม่ได้ เพราะบริบทเปลี่ยนทุกความหมาย รูปแบบวิถีชีวิตเปลี่ยน ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยน การทำงานเปลี่ยน มันเปลี่ยนหมด มันไม่มีทางเอาของใครไปใช้กับใครได้ถูกต้องเเล้ว

how to อะไรทั้งหลายบางทีมันทำให้คุณมองไม่เห็นอะไรอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก คือ การเห็นใจตัวเอง และเห็นใจลูก เหมือนคุณทำขนมเค้ก มีวิธีการทำอย่างนี้ ก็ทำตาม แต่นี่มันคน เป็นคนทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ตัวคุณก็คน ลูกคุณก็คน วิธีการเหล่านี่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของเราหรือเปล่า

ดิฉันกำลังสงสัยว่า how to ทั้งหลาย ความรัก ความสัมพันธ์ ความเป็นพ่อเป็นเเม่ เอาเข้าจริงๆ มันทำให้คุณไม่ได้หันมาเห็นความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เห็นความเปราะบาง เห็นความปรารถนา เห็นความทุกข์ในบางเรื่อง รวมถึงความเป็นทุกข์ในตัวลูกคุณหรือแฟนคุณ มันมองข้ามเรื่องพวกนี้ไปเลย แล้วมุ่งไปหาความสมบูรณ์แบบ ซึ่งดิฉันก็กำลังสงสัยว่าคุณกำลังดีลกับมนุษย์ สร้างมนุษย์ที่เพอร์เฟ็คท์โดยมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์กันอยู่หรือเปล่า

เช่น คุณ (แม่) จะเลี้ยงลูกได้คุณต้องมีความสุขเองให้ได้ก่อน ไม่อย่างนั้นคุณไปเลี้ยงคนอื่นให้มีความสุขไม่ได้ อันนี้มันสอดคล้อง หรือใกล้เคียงกับสิ่งที่เราคุยกันอยู่ไหม

คือดิฉันไม่รู้ว่าความสุขนั้นคืออะไร เพราะว่าความสุขของเเต่ละคนนิยามไม่เหมือนกัน เเต่ว่าเวลาคนเลือกที่จะเจริญพันธุ์ มันควรจะให้เป็นเจ้าตัวเขาเลือกที่จะเจริญพันธุ์เอง เเล้วก็ต้องรู้ว่ามีลูกขึ้นมาเนี่ยมันมีเเง่มุมทั้งสุขเเละทุกข์ มีปัญหาบางอย่างที่เราต้องแฮนเดิล เช่นนั้นเเล้วคุณเลือกจะเป็นเเม่ไหม

ถ้าเลือกจะเป็นเเม่แล้ว และคุณเลือกที่จะอยู่กับปัญหาหรืออยู่กับทุกข์พวกนั้นได้ ยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้ คุณจะโอเค เเล้วคุณจะจัดการกับชีวิตของคุณไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะคุณเข้าใจว่าทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

อาจารย์คิดว่ามายาคติความเป็นเเม่ต่างๆ เหล่านี้จะยังอยู่อีกนานไหม

มันอยู่กับเราเเล้วมันทรงพลัง ขณะเดียวกันคนก็เถียงกับมัน เขย่ากับมัน ในโลกวิชาการตั้งคำถามมากมายกับมายาคติความเป็นเเม่หรือการเลี้ยงดูเด็ก เถียงกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว คือมันจะอยู่เเละทรงพลัง เเต่มันก็ถูกเขย่า และอาจแปรรูปไป ส่วนจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเขย่าของคนจำนวนมาก

อาจารย์คิดว่าการเถียงเเละการตั้งคำถามกับมันส่งผลให้มายาคติความเป็นเเม่มันเคลื่อนหรือเปลี่ยนรูปแบบเดิมเยอะไหม

การเถียงและตั้งคำถามคือการเปลี่ยนโลก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องความเป็นเเม่ เพราะคนเริ่มคิดใคร่ครวญถึงเรื่องๆ หนึ่ง เเล้วก็คุณตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ ต่อรอง เรื่องนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนไป ทีนี้เวลามันเปลี่ยนมันจะค่อยๆ เปลี่ยน โดยที่คุณไม่ได้รู้สึกว่ามันกำลังเปลี่ยน

ทวิตรักของอาจารย์ คำถามไหนมีเข้ามามากที่สุด

ถ้าเอาคำถามที่มีตลอดเวลา และมีเป็นระยะๆ คือคำถามว่าสถานการณ์เป็นอย่างนี้แปลว่าคนนี้เขาคิดอย่างไร ตกลงเขาชอบเราไหม แล้วหนูชอบเขาไหมคะ อ้าว จะรู้ไหมวะ (หัวเราะ) คือคุณกำลังถามว่าคนนี้รู้สึกอย่างไร แล้วดิฉันคือไม่รู้จักใครเลย

เขารู้สึกอย่างไร หนูชอบเขาไหม และควรจะทำอย่างไร สามชุดนี้ที่เข้ามาตลอดเวลา

ทำไมคำถาม 3 ชุดนี้ ถึงมีเข้ามาบ่อยมาก เพราะอะไร เขาไม่รู้จักตัวเอง?

จริงๆ เพราะประเด็นว่าด้วยเรื่องความรักโรเเมนติกมันถูกผูกพันกับเรื่องเพศ คือผู้หญิงควรทำอย่างไร ผู้ชายควรทำอย่างไร เพราะฉะนั้นมันมีความคลุมเครือสูง ความหมายเรื่องเพศอย่างที่คุณอยู่กับมัน มันไม่ได้ทำให้คุณทำอะไรตรงไปตรงมาเลยทีเดียว เพราะคุณบอกรักไปตรงๆ ก็ไม่ได้ เพราะกลัวการถูกปฏิเสธ มันจึงมีอะไรที่ไม่ชัดเจนคลุมเครือๆ เยอะ เลยเกิดคำถามซ้ำๆ ว่าอย่างนี้แปลว่าอะไร เพราะเจ้าตัวก็ไม่แน่ใจ

แล้วอาจารย์ตอบอย่างไร

เรื่องแบบนี้มันก็ต้องให้ประเมิน ชวนให้คิดไปด้วยกันว่าอย่างนี้แปลว่าอะไรได้บ้าง มันไปอย่างนี้ได้ แต่ไม่ใช่อย่างนี้ก็ได้ ซึ่งแปลว่าคุณจะเลือกคำแปลชุดไหน เช่น มีคนเคยถามเมื่อนานมาเเล้วว่า มีคนที่โทรมาหาทุกวันเลย คุยอย่างนี้ ตกลงเขาชอบหนูไหม มันชอบก็ได้ไม่ชอบก็ได้ถูกไหม คุณจะเลือกการตีความชุดไหนล่ะ สมมุติคุณเลือกว่า เขาชอบฉันเเน่เลย เเล้วคุณทำไปแบบหนึ่ง คุณก็รับความเสี่ยงที่ว่ามันอาจจะไม่ใช่ และไม่ได้พัฒนาความสัมพันธ์กับคนที่จริงๆ คุณก็ชอบเขาก็ได้ คือประเด็นไม่ได้อยู่ตรงที่ว่า แปลว่าอะไร ประเด็นอยู่ที่มีการตีความได้หลายอย่าง คุณจะเลือกการตีความแบบไหนและคุณรับได้ไหมว่าถ้าเลือกแบบนี้แล้วผลออกมาเป็นอย่างนั้น คือมันมีความเสี่ยงว่าการตีความที่คุณเลือกนั้นมันผิด

คำถามแบบไม่รูัจักตัวเองแบบนี้ มันมีโอกาสมาจากการเลี้ยงดูที่พ่อแม่คอยแต่เสิร์ฟให้หรือเปล่า

ไม่ๆ คือมันมีความเสี่ยงอยู่บางประการว่า ถ้าคุณไม่เคยต้องเลือกอะไรในชีวิต มันก็จะเลือกไม่ค่อยได้ และก็จะหาคำตอบให้ตัวเองไม่ได้ คือมันไม่ได้เชื่อมโยงกันตรงๆ แต่มันมีความเสี่ยงที่จะเป็นเช่นนั้นได้

Tags:

จิตวิทยามายาคติการเป็นแม่ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์

Author:

illustrator

ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

อดีตนักข่าวที่ผันตัวมาทำงานด้านการเรียนรู้(อย่างรื่นรมย์) ด้วยอินเนอร์คุณแม่ลูกหนึ่ง(ที่เป็นวัยรุ่นและขายาวมาก) รักการทำงานก็จริงแต่ชอบหนีไปออกกำลังกายตามคำบอกของคุณหมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เพื่อให้ชีวิตการงานสมดุลอยู่

Related Posts

  • Relationship
    เกมของความรัก เกมที่ชนะคนเดียวไม่ได้

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Growth & Fixed Mindset
    เปลี่ยนคำชมจาก ‘เก่งจัง’ ‘ฉลาดมาก’ เป็น พยายามดีมาก ยากแค่ไหนเขาก็จะสู้

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    ต้องเป็นแม่ที่มีความสุขที่สุดถึงจะเป็นแม่ที่ดีที่สุดได้ BY ‘ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก’

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    ชีวิตปกติสุขของ ตุ๊ก ชนกวนัน: ไม่มีวันที่แม่ไม่ไหว แค่ไหนก็แค่นั้น

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • Family Psychology
    สอบตกไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทำยังไงให้เด็กไว้ใจเล่าให้ฟัง

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

5 คำขู่ผิดๆ ของพ่อแม่ที่ทำให้เด็กโตมาไม่กล้าและขี้กลัว
Family Psychology
21 March 2019

5 คำขู่ผิดๆ ของพ่อแม่ที่ทำให้เด็กโตมาไม่กล้าและขี้กลัว

เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

รวมคำพูดฮิตติดปากที่พ่อแม่มักใช้ขู่เด็กให้เชื่อฟัง ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้ผล เพราะลูกยอมหยุดและทำตาม แต่คำพูดเหล่านี้ไม่ใช่ทางออกและวิธีแก้ไขที่สร้างสรรค์ เนื่องจากเป็นคำขู่ที่ไม่อยู่บนหลักเหตุและผล ซึ่งหากหลอกลูกด้วยคำขู่เช่นนี้บ่อยๆ อาจส่งผลให้เด็กขาดความมั่นคงทางอารมณ์ พูดง่าย ๆ ก็คือ ‘ขี้กลัว’ ‘ไม่กล้าตัดสินใจ’ ‘ไม่มั่นใจในตนเอง’ จนส่งผลมาจนถึงพฤติกรรมแสดงออกเมื่อเขาเติบโต

อ่านบทความเลี้ยงลูกเชิงบวกฉบับเต็มได้ ที่นี่ 

Tags:

พัฒนาการพ่อแม่วินัยเชิงบวกพัฒนาการทางอารมณ์

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Illustrator:

illustrator

บัว คำดี

เติบโตมากับเพลงป็อปแดนซ์ยุค 2000 เริ่มเป็นติ่งวงการ k-pop ในวัยมัธยม มีเพลงการ์ตูนดิสนีย์เป็นพลังใจในทุกช่วงวัยของชีวิต

Related Posts

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.1 ร่างกายที่แข็งแรงคือรากฐานของสมองที่พร้อมเรียนรู้และจิตใจแข็งแกร่ง

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก พ่อแม่จะการประคองอารมณ์ตัวเองและอารมณ์ลูกอย่างไร

    เรื่อง The Potential ภาพ PHAR

  • Family Psychology
    การสื่อสารและตอบสนองจากพ่อแม่อย่างเข้าใจ ไม่บั่นทอน จะสร้างความรู้สึก ‘มีตัวตน’ ให้ลูก

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ antizeptic

  • Family Psychology
    6 หัวใจสำคัญ ของการใช้จิตวิทยาเชิงบวกปรับพฤติกรรมลูก

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Early childhood
    KIND BUT FIRM พ่อแม่ไม่ต้องดุด่าแต่ว่า ‘เอาจริง’

    เรื่อง The Potential ภาพ BONALISA SMILE

ยังตีอยู่ไหม เมื่อตีลูกให้จำ ทำลายความผูกพันและเพิ่มพฤติกรรมเสี่ยง
Early childhood
21 March 2019

ยังตีอยู่ไหม เมื่อตีลูกให้จำ ทำลายความผูกพันและเพิ่มพฤติกรรมเสี่ยง

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • การตี เป็นหนึ่งในการสร้างวินัยเชิงลบ นอกจากความกลัวแล้ว ลูกจะไม่มีทางเข้าใจเลยว่าทำไมถึงถูกตี
  • แม้การตีจะใช้ได้ผลในระยะสั้น (คือขู่ให้กลัว) แต่ในระยะยาวกลับส่งผลกระทบต่อจิตใจและทำลายความผูกพัน
  • มีการฝึกอีกหลายวิธีที่ดีกว่าการตี ทั้งยังเพิ่มความเข้าใจ ดึงลูกให้เข้ามาใกล้ๆ ถือเอาโอกาสนี้ปรับและเปลี่ยนวินัยพ่อแม่ไปในตัว

ไม่ใช่แค่ในสังคมไทย แต่เรื่องการลงโทษทางร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น การตี เป็นประเด็นถกเถียงมานานพอสมควรในแวดวงวิชาการทั่วโลก

‘รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี’ คือผลพวงจากฝั่งสนับสนุนที่ใช้การสอนแบบนี้มานานปี แต่อาจใช้ไม่ได้ในปัจจุบันนี้ เพราะเข้าข่ายวินัยเชิงลบ – ตีเพื่อให้กลัว แต่ไม่ได้สอนว่าทำไมถึงไม่ดีและไม่ควรทำ

จากการศึกษา วิธีการนี้ใช้ได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น ระยะยาวกลับพบว่าการลงโทษด้วยการตี หรือการลงโทษทางร่างกาย (Physical Punishment) ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและสภาพจิตใจของเด็ก

บทความวิชาการ ‘The Strength of the Causal Evidence Against Physical Punishment of Children and Its Implications for Parents, Psychologists, and Policymakers’ เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) ให้ข้อสรุปว่า แม้อยู่ท่ามกลางบริบทชุมชนที่แตกต่างกัน ต่างภาษา ต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม การลงโทษทางร่างกายส่งผลกระทบเชิงลบต่อเด็กในทุกสังคม ดังนั้นเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของพ่อแม่ แต่เป็นเรื่องที่บุคคลและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นครู นักจิตวิทยาครอบครัว หรือแม้กระทั่งหน่วยงานที่กำหนดนโยบายระดับชาติควรให้ความสำคัญ

ผลการศึกษาระบุชัดว่า เด็กที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่ใช้การลงโทษทางร่างกาย มีแนวโน้มที่จะมีอารมณ์ก้าวร้าว มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีปัญหาทะเลาะวิวาทใช้ความรุนแรง มีประสิทธิภาพการรับรู้และการเรียนรู้ต่ำ ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครองค่อนข้างห่างเหิน อีกทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเด็กในระยะยาว การศึกษานี้จึงเป็นหลักฐานเชิงข้อมูลยืนยันกับผู้ปกครองว่า การตีไม่ใช่ทางออก

‘ตี’ หรือ ‘ไม่ตี’ แล้วจะลงโทษลูกด้วยวิธีไหน ถึงจะดี?

คำตอบ…ไม่ใช่การลงโทษ แต่เป็นการสื่อสารให้เกิดความเข้าใจ

การลงโทษมีแนวโน้มที่จะเพิ่มความขัดแย้ง ขุ่นเคืองใจ และปิดกั้นการเรียนรู้ ยิ่งเมื่อได้รับการลงโทษด้วยการตี จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านและตอบโต้ เนื่องจากสมองกลีบหน้า (Frontal cortex*) ได้รับการกระตุ้น แล้วเชื่อมโยงไปสู่กลไกการป้องกันตัวขั้นพื้นฐาน

นี่ยังไม่รวมความรู้สึกอับอาย ความโกรธ ความรู้สึกอดทนอดกลั้น จนนำไปสู่การหาวิธีการไม่ให้ถูกจับได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกลงโทษ

บทความเเรื่อง ‘Spanking Is Ineffective and Harmful to Children, Pediatricians Group Says’ ใน เดอะนิวยอร์คไทม์ส โดย คริสตินา คารอน (Christina Caron) นำเสนอเรื่องราวของหมอและกุมารแพทย์รวม 67,000 คนในสหรัฐอเมริกาที่ลงความเห็นตรงกันถึงความไม่มีประสิทธิภาพและผลกระทบเชิงลบจากการลงโทษเด็กทางร่างกาย

ข้อมูลนี้เผยแพร่โดยสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งอเมริกา (American Academy of Pediatric) จากการศึกษาและวิจัยร่วม 20 ปี นำเสนอในวารสารกุมารแพทย์ (Jornal Pediatrics) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

“หนึ่งในความสัมพันธ์ที่สำคัญที่สุด คือ ความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรสร้างให้เด็กเกิดความกลัว จากการใช้ความรุนแรงในการลงโทษ” โรเบิร์ต ดี. เซจ (Dr. Robert D. Sege) กุมารแพทย์ จาก Tufts Medical Center and the Floating Hospital for Children หนึ่งในศูนย์การแพทย์สำหรับเด็กในบอสตัน กล่าว

เซจ ย้ำผลลัพธ์จากการศึกษาว่า หากพ่อแม่ใช้ความรุนแรงลงโทษลูก จะส่งผลให้ลูกมีความก้าวร้าวและขาดความยับยั้งชั่งใจ สนับสนุนข้อมูลที่นำเสนอโดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกันด้วยเหตุผลหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ผลจากการตีส่งผลเชื่อมโยงกับการทำงานของสมอง

ผลกระทบจากการตีไม่ต่างจากผลที่เกิดกับเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ สมองส่วนหน้าที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างการรับรู้ทางสังคม รวมถึงสมองส่วนที่เชื่อมโยงการเรียนรู้จะไม่สามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ ส่งผลให้เด็กเข้าสังคมยากและมีศักยภาพในการเรียนต่ำลง

อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้แล้วพ่อแม่บางคนหลีกเลี่ยงการลงโทษมาเป็น ‘การนิ่งเงียบ เฉยชา ไม่พูดไม่จา’ กับลูก ผลการศึกษาจากงานวิจัยเรื่อง ‘Not in Front of the Kids: Effects of Parental Suppression on Socialization Behaviors During Cooperative Parent–Child Interactions’ เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (American Psychological Association) เกี่ยวกับการแสดงออกทางอารมณ์ของพ่อแม่ที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก บอกว่า หากพ่อแม่นิ่งเงียบ แอบซ่อนความรู้สึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไม่แสดงอารมณ์ใดๆ เลยเมื่อลูกกระทำความผิด ส่งผลให้ลูกมีความร่าเริงน้อยลง กลายเป็นเด็กเก็บกด และขาดความอบอุ่น เนื่องจากภาวะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน ท้ายที่สุดย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้ลูกไม่กล้าพูดคุยอย่างเปิดเผยกับพ่อแม่ นอกจากนี้ยังกระทบต่อพัฒนาการและการแสดงออกทางอารมณ์ของลูกด้วย

การตีไม่ใช่ทางออกแรกและไม่ใช่ทางออกสุดท้าย

ฮีเธอร์ เทอร์เจียน (Heather Turgeon) นักจิตวิทยาอายุรเวท ที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและการเลี้ยงดูเด็ก เขียนถึงวิธีการรับมือเมื่อลูกไม่ได้อย่างใจไว้ได้อย่างน่าคิด บทความมีชื่อว่า ‘Which is Better, Rewards or Punishments? Neither.’ ในนิตยสารเดอะนิวยอร์คไทม์ส (The New York Times)

เธอบอกว่า ไม่ว่าจะเป็นการหลอกล่อด้วยของรางวัล (rewards) หรือ การลงโทษ (punishments) ทั้งสองอย่างเป็นสิ่งที่สร้างเงื่อนไขให้ลูกรู้สึกว่าพวกเขาจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

แต่หากพ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกถึงความรักและสัมผัสได้ถึงการดูแลเอาใจใส่อย่างเปิดเผย วิธีการนี้ไม่สร้างเงื่อนไขใดๆ ให้ลูกต่อต้านหรือปฏิวัติพ่อแม่ได้เลย

รางวัลล่อตามีอิทธิพลต่อแรงจูงใจที่อาจชักพาไปสู่ความคิดผิดๆ

การดึงดูดใจด้วยสิ่งของเป็นการลงโทษแบบแอบแฝงอย่างหนึ่ง วิธีการนี้ดูอ่อนโยน น่ายอมรับมากกว่าการลงโทษ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมของเด็กในระยะยาวได้ แถมยังส่งผลย้อนกลับสร้างพฤติกรรมที่ไม่น่ารักให้กับลูก

“ถ้าหนูทำตาม แล้วหนูจะได้รางวัลเป็นอะไร?”

ลองจินตนาการถึงประโยคสวนกลับนี้จากลูก เมื่อคุณแค่เอ่ยปากบอกให้ลูกรักษาความสะอาดห้องนอนหรือเก็บของให้เป็นระเบียบ

เจอแบบนี้พ่อแม่คงชะงัก

เทอร์เจียนบอกว่า นักจิตวิทยาเห็นพ้องต้องกันว่า การให้รางวัลผิดจังหวะ แทนที่จะเป็นแรงกระตุ้น กลับลดแรงจูงใจและความเพลิดเพลินตามธรรมชาติของเด็ก

ยกตัวอย่างเช่น การวิจัยกับเด็กที่ชอบวาดรูป เด็กกลุ่มที่รู้ว่าตัวเองจะได้ค่าตอบแทนในการวาด กลับวาดได้น้อยกว่ากลุ่มที่ได้รับการชักชวนให้มาวาดเพื่อความสนุกสนานแต่ไม่ได้ค่าตอบแทน

เห็นได้ว่าการมีรางวัลเป็นของล่อตาล่อใจ ด้านหนึ่งทำลายความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กไม่คิดอย่างลึกซึ้งและไม่ปล่อยให้จินตนาการโลดแล่นเพื่อมองหาความเป็นไปได้ในการสร้างชิ้นงาน

หากมองอีกมุมหนึ่งกับดักที่แท้จริงของเรื่องนี้อยู่ที่ผู้ใหญ่หรือเปล่า?

เพราะไม่ว่าจะเป็นการลงโทษหรือการให้รางวัล ต่างก็เกิดขึ้นจากสมมุติฐานเชิงลบของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กว่า เด็กควรได้รับการดูแลและอบรมสั่งสอนจากผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้มีพฤติกรรมที่ไม่ดีและไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางแต่ปฏิบัติในทางที่ผิด แต่การดูแลที่ว่ากลับกลายร่างเป็น ‘การควบคุม’ เพราะขาดความเข้าใจ ด้วยเหตุนี้ความเข้าใจถูกเรื่องการอบรมดูแลลูกเป็นเรื่องที่พ่อแม่ต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเองก่อน

เมื่อถึงคราวที่ลูกดื้อไม่อยู่ในระเบียบวินัยขึ้นมาจริงๆ พ่อแม่เปลี่ยนพฤติกรรมลูกได้จากการเปลี่ยนวิธีพูดและการแสดงออกของพ่อแม่เอง งานนี้ไม่มีการควบคุมใดๆ ไม่ต้องตี ไม่ต้องทำดีหลอกล่อ และไม่ต้องทำหน้าตาบึ้งตึงไม่พูดไม่จาใส่กัน

สิ่งแรกที่ผู้ปกครองควรทำ คือ เชื่อว่าเด็กมีศักยภาพในตัวเอง มีน้ำใจ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความอดทน และสามารถทำงานอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

หากพ่อแม่เชื่อแบบนี้ ความเชื่อนี้จะเปลี่ยนสายตาของพ่อแม่ที่ใช้มองลูก จากที่ไม่เคยฟัง ใช้อำนาจในการควบคุม พ่อแม่จะสามารถรับฟังลูกอย่างเข้าใจ และพูดคุยกับลูกได้อย่างมีเหตุผล

ต่อไปนี้เป็น 4 วิธีที่จะทำให้ผู้ปกครองเข้าใจลูกมากขึ้น และทำให้ลูกมีระเบียบวินัยได้โดยไม่ต้องตี

  • หนึ่ง มองให้ลึกถึงสาเหตุที่แท้จริง

ธรรมชาติแล้วเด็กๆ ไม่ตีพี่น้อง ไม่ทะเลาะกับเพื่อนที่เล่นด้วยกัน ไม่เฉยเมยหรือโมโหร้ายใส่พ่อแม่ หรือไม่ร้องไห้งอแง ชักดิ้นชักงอในร้านขายของเล่นโดยไม่มีเหตุผล พ่อแม่ช่วยลูกปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลักษณะนี้ได้ ด้วยการมองหาต้นเหตุที่แท้จริง พูดง่ายๆ คือ พ่อแม่ต้องรู้ใจลูก เช่น เอ่ยปากถามก่อนตำหนิหรือตีว่า “เป็นอะไรลูก?”

เมื่อถามแล้ว แน่นอนว่าลูกอาจไม่ตอบในครั้งแรก หรือไม่ตอบอะไรเลย แต่ยังคงร้องไห้หรือทำตัวไม่น่ารัก พ่อแม่ต้องใช้ความอดทนด้วยการถามซ้ำด้วยน้ำเสียงปกติ แล้วทำท่ารับฟังอย่างตั้งใจ ไม่ใส่อารมณ์ไปตามอารมณ์แปรปรวนของลูก

หรือขณะที่เดินเล่นอยู่ในสวนสาธารณะ หากพ่อแม่รู้ว่าลูกจะร้องไห้โวยวายทุกครั้งเมื่อต้องกลับบ้าน วิธีการคือบอกให้ลูกรู้ก่อนล่วงหน้าก่อน 10, 5 หรือ 2 นาที ตามความเหมาะสม เพื่อให้ลูกปรับตัว

การร้องไห้ โวยวาย หรือแม้กระทั่งกรีดร้อง การดื้อไม่ฟังเหตุผล และการแสดงอาการโมโห เป็นการแสดงออกที่ไม่น่ารัก แต่จริงๆ แล้วลูกอาจกำลังหิวหรือเปล่า ลูกง่วงนอนเพราะนอนน้อยเกินไหม ลูกอยู่ในสถานที่ใหม่ซึ่งไม่คุ้นเคยหรือเปล่า หรือทำกิจกรรมมามากมายทั้งวันจนเหนื่อยแล้วก็เป็นไปได้

พ่อแม่ถามลูกได้เพื่อแสดงให้ลูกเห็นถึงความเป็นห่วงเป็นใย ให้ลูกเปิดใจและไว้วางใจที่จะบอกความรู้สึกของตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องแสดงทีท่าฉุนเฉียววางทีท่าควบคุมลูก

อลิซาเบธ แพนท์ลีย์ (Elizabeth Pantley) ผู้เขียนหนังสือ ‘The No-Cry Discipline Solution’ ยกตัวอย่างพฤติกรรมของเด็กในวัยหัดเดินที่ยังไม่รู้ความนัก พวกเขาไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ จึงแสดงอารมณ์อย่างตรงไปตรงมา ตอนไหนอารมณ์ดีก็ยิ้มแย้มเฮฮา แต่ตอนจะร้องไห้ก็เต็มที่ โดยเฉพาะเวลารู้สึกเหนื่อย หิว เบื่อ และอึดอัด

เด็กมีความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติตามพัฒนาการการเจริญเติบโต จึงทำให้พวกเขาแสดงอารมณ์เพื่อทดสอบการตอบสนองของพ่อแม่ จุดนี้เองที่พ่อแม่ต้องแสดงออกให้ถูกทาง

แทนที่จะพูดว่า

“ทำตัวดีๆ ลูก เล่นเบาๆ แบ่งเพื่อนด้วย ไม่งั้นแม่/พ่อ ไม่ให้ดูการ์ตูนนะ”

ลองพูดแบบนี้สิ

“แม่/พ่อ รู้ว่าลูกกำลังจะแบ่งของเล่นกับเพื่อน แม่/พ่อ รู้ว่าแรกๆ มันอาจจะยาก แล้วลูกก็ไม่ชอบ ลูกลองคิดดูสิว่าจะแบ่งของเล่นกับเพื่อนยังไงบ้าง น่าสนุกดีออก ถ้ามีอะไรให้แม่/พ่อ ช่วยก็บอกได้นะ”

หรือเมื่อลูกงอแงไม่ยอมเข้านอน

“ลูกอยากทำอะไรก่อน ระหว่างแปรงฟันหรือว่าจะใส่ชุดนอนก่อน?”

  • สอง กระตุ้นแทนให้รางวัล

แรงจูงใจเป็นเรื่องที่ดี ถ้าใช้คำพูดสร้างแรงจูงใจอย่างถูกต้อง

แทนที่จะพูดว่า

“ถ้าลูกทำความสะอาดห้องให้สะอาด เราจะออกไปสนามเด็กเล่นกัน ถ้าไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องไป”

ลองพูดแบบนี้สิ

“พอห้องลูกสะอาดแล้ว เราออกไปสนามเด็กเล่นกัน พ่อ/แม่รอได้ หรือถ้าลูกอยากให้พ่อ/แม่ ไปช่วยก็บอกนะ”

หรือขณะที่ผู้ปกครองกำลังทำความสะอาดบ้านอยู่ ลองชวนลูกสั้นๆ ว่า

“พ่อ/แม่ เชื่อว่าลูกอยากช่วย เราเป็นทีมเดียวกัน”

  • สาม ‘ช่วย’ แทนที่จะ ‘ลงโทษ’

ไอเดียของการลงโทษ คือ การทำให้ลูกอยู่ในการควบคุม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัวกลับเป็นการทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่พยายามทำร้ายตนเอง ในทางปฏิบัติพ่อแม่สามารถวางข้อตกลงและแนะนำลูกได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงโทษ

แทนที่จะพูดว่า

“จะต้องให้พ่อ/แม่ พูดอีกกี่ครั้งว่าให้เล่นเบาๆ”

ลองพูดแบบนี้สิ

“ลูกเล่นแรงไปแล้ว พ่อ/แม่จะให้ลูกหยุดเล่นก่อน เพราะมันอันตราย ถ้าลูกนิ่งแล้วเรามาเล่นกันใหม่”

‘ไทม์ เอาท์’ (Time Out) สำหรับบทความนี้ขอเรียกว่า ‘พื้นที่พักใจ’ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ลูกสงบ แต่ต้องอาศัยการทำซ้ำๆ อาจฟังแล้วแปลกหู และไม่คุ้นเคยสำหรับวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกแบบไทยๆ แต่ลองดูก็ไม่เสียหาย

พื้นที่พักใจเป็นการกำหนดพื้นที่สักส่วนหนึ่งในบ้าน ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกสำหรับสงบสติอารมณ์ อาจเป็นบันไดบ้าน มุมบ้านส่วนใดส่วนหนึ่ง เมื่อลูกร้องไห้งอแงหรือทำความผิด ให้เขาได้ใช้เวลาอยู่ในพื้นที่ของเขา โดยไม่มีผู้ใหญ่เข้าไปรบกวน

ระยะเวลาที่ใช้เทียบเคียงกับอายุของลูกได้ เช่น เด็กอายุ 3 ขวบ ให้ใช้เวลาในพื้นที่พักใจประมาณ 3 นาที เป็นต้น

  • สี่ เป็นทีมเดียวกันกับลูก

ธรรมชาติของมนุษย์ไม่ขี้เกียจ โดยเฉพาะวัยเด็ก พ่อแม่สามารถให้พวกเขาทำโน่นทำนี่ได้ทั้งวัน หากทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำสิ่งนั้นจริงๆ ไม่ใช่แค่แกล้งหลอก เมื่อลูกเริ่มรู้ความ เป็นไปได้ตั้งแต่ช่วงเริ่มหัดเดิน พ่อแม่สามารถสื่อสารให้ลูกฟังได้ว่างานที่พ่อแม่ต้องรับผิดชอบมีอะไรบ้าง ในระยะแรกอาจเริ่มจากงานบ้าน พ่อแม่แจกแจงให้เห็นว่างานบ้านที่ต้องรับผิดชอบมีอะไร แล้วสิ่งไหนที่ลูกอยากทำ

การมีส่วนร่วมที่ว่านี้ทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนขึ้นหากทำขึ้นเป็นชาร์ต โดยระบุหน้าที่ของพ่อแม่ลงไปด้วย เมื่อใครทำหน้าที่ของตัวเองเรียบร้อยก็ให้มาขีดเครื่องหมายว่าได้ทำงานตามมอบหมายแล้ว เมื่อลูกทำได้สำเร็จ (เหมือนพ่อแม่) พวกเขาจะเกิดความภาคภูมิใจ และเห็นคุณค่าในตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้แนวคิดปฏิเสธการตีนี้ได้รับการเผยแพร่และยอมรับจนเป็นมาตรฐานเดียวกันในสังคม พ่อแม่ ผู้ปกครอง นักจิตวิทยาครอบครัวก็ควรให้คำแนะนำและสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ไปพร้อมๆ กับภาครัฐหรือผู้กำหนดนโยบายที่จะต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบจากการลงโทษลูกด้วยการตี และเสนอทางออกเพื่อแก้ปัญหาหากลูกไม่ปฏิบัติตามระเบียบวินัย

เห็นได้ว่าทางออกสำหรับการไม่ลงโทษ คือ การสื่อสารกับลูกอย่างถูกวิธี การเลี้ยงดูลูกจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ เด็กแต่ละช่วงวัยมีพัฒนาการแตกต่างกันไป เด็กแต่ละคนเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่สื่อสารกับเขาไม่เหมือนกัน หากอยากให้ลูกเข้าใจพ่อแม่ พ่อแม่ต้องเป็นฝ่ายเข้าใจลูกก่อน และทำให้ลูกมั่นใจว่าพ่อแม่เป็นทีมเดียวกับเขาไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม…

หมายเหตุ:
* Frontal cortex คือ กลีบหน้าผากส่วนหน้า สมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการวางแผน หรือโปรแกรมพฤติกรรมการรับรู้ที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นบุคลิก การตัดสินใจ และการควบคุมความประพฤติที่เกี่ยวข้องกับสังคม หน้าที่หลักของสมองส่วนนี้คือ การคิดและการกระทำที่เป็นไปตามเป้าหมายของแต่ละคน

อ้างอิง
https://www.verywellfamily.com 
https://www.nytimes.com
https://www.nytimes.com
https://www.psychologytoday.com
https://psycnet.apa.org
https://psycnet.apa.org
https://www.todaysparent.com
https://www.healthychildren.org/

Tags:

วินัยเชิงบวกการลงโทษพ่อแม่จิตวิทยาความรุนแรง

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Family Psychology
    ‘การตี’ วิธีลงโทษที่เด็กๆ อยากให้นึกถึงเป็นลำดับสุดท้ายเมื่อเขาทำผิด : ญา ปราชญา

    เรื่อง ปราชญา ศิริ์มหาอาริยะโพธิ์ญา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    หมอโอ๋: พ่อแม่ที่ไม่สร้างบาดแผลให้ลูก คือพ่อแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูก

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Family Psychology
    “ไม่ต้องมีพ่อแม่ที่ดี มีแค่พ่อแม่ที่ธรรมดา” หมอโอ๋ เลี้ยงลูกนอกบ้าน

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนาทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ภาพ สิทธิกร ขุนนราศัย

  • Early childhood
    5 วิธี ลบคำพูดร้ายในใจเด็ก

    เรื่อง The Potential ภาพ บัว คำดี

  • Dear Parents
    สงครามกลางบ้าน: อย่าคิดว่าเด็กไม่รู้ว่าผู้ใหญ่ทะเลาะกัน

    เรื่อง The Potential

ชีวิตปกติสุขของ ตุ๊ก ชนกวนัน: ไม่มีวันที่แม่ไม่ไหว แค่ไหนก็แค่นั้น
อ่านความรู้จากบ้านอื่น
20 March 2019

ชีวิตปกติสุขของ ตุ๊ก ชนกวนัน: ไม่มีวันที่แม่ไม่ไหว แค่ไหนก็แค่นั้น

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • เสียงหัวเราะที่แทรกในบทสนทนาหลายครั้ง กระทั่งตอนเล่าเรื่องเปลี่ยนสถานะเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว ยืนยันได้ดีว่า ‘ตุ๊ก’ ชนกวนัน รักชีพ อยู่กับมันอย่างมีความสุขแค่ไหน
  • แม้จะมีวินาทีที่เศร้าบ้าง แต่เราต้องเข้าใจ คือหนึ่งในวิธีรับมือกับเรื่องใหญ่เรื่องเล็กที่พัดเข้ามาในชีวิต
  • นี่คือชีวิตปัจจุบันที่ ‘ปกติสุข’ ของคุณแม่ลูกสอง ที่ไม่ยอมแบ่งพื้นที่แม้เศษเสี้ยวให้ความเกลียดชัง ไม่มีวันที่ไม่ไหว และเข้าใจมากๆ ว่า ก็มันมีแค่นี้และควรอยู่อย่างมีความสุข

หลายคนรู้จัก ‘ตุ๊ก’ ชนกวนัน รักชีพ จากบทบาทนักแสดง นางแบบ พิธีกร หลายคนชอบเธอในบทบาทเกษตรกรอินทรีย์ มีแปลงนาและแบรนด์ข้าวอินทรีย์เป็นของตัวเอง และอีกหลายคนเช่นกัน นับถือหัวใจเธอในฐานะ ‘ซิงเกิลมัมสายสตรอง’

“แต่ก่อนหน้านั้นไม่ใช่ว่าเขา (ลูก) ไม่เข้าใจนะ เราไม่ได้หลอกเขา ไม่ได้บอกว่า ‘แดดดี้ทำงาน ไปนอนบ้านอื่น’ ไม่มีแบบนี้ ทุกอย่างเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ละมุนละม่อม และใช้ชีวิตทุกวันแบบ positive ไม่มีพลังงานของความเกลียดชัง ไม่ใช่แบบ ‘ก็เขาไม่อยู่หนิ แยกบ้าน’ ไม่… อยู่คนละบ้านก็คืออยู่คนละบ้าน และแม่ก็ดู ‘ปกติสุข’ ไม่ใช่มีความสุขนะ แต่มันมีแค่นี้และมีความสุข ไม่ใช่ตื่นมาแล้วเราจะแบบ “เฮ้อ ถ้าเรามีแดดดี้ก็จะมีคนเปลี่ยนไฟให้’ ไม่ไง เปลี่ยนไม่เป็นก็เรียกช่างมาเปลี่ยน

“หน้าที่เรา พื้นฐานที่สุดแค่ ‘everything will be ok’ ถ้าเราโอเค เขาก็โอเค เราไม่ได้ตื่นเต้นบ้าบอ แบบ ‘ไม่นะลูก ชีวิตลูกไม่ขาด’ หรือ ‘โอเคนะลูก แม่รักลูกก็พอ’ ไม่ใช่ และมันไม่ใช่การเพิกเฉย เราแค่ ‘เออ… เรื่องนี้หนูว่ายังไง’ หรือบางทีต้องเงียบ บางทีแค่ ‘ถ้าลูกรู้สึกยังไง บอกแม่นะ’ ‘หนูอยากให้แม่ช่วยอะไรไหม’ ‘ถ้าอยากได้อะไรบอกแม่นะ แม่อยู่ตรงนี้นะ แม่พร้อมเสมอ’ อะไรก็ได้ที่เหมาะกับสถานการณ์นั้น ให้เขารู้ว่าเรามั่นคง

“ถ้าเขารู้ว่าเราผ่านได้ เขาก็พร้อมจะผ่าน ให้เขารู้ว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรกับเขา เราอยู่ตรงนี้”

อันที่จริงบทความนี้ไม่ได้พูดถึงเฉพาะมุมมอง ‘ซิงเกิลมัม’ หรือ ‘คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว’ แต่รวมถึงประเด็น ‘การเป็นแม่สไตล์คุณตุ๊ก’ คุณแม่สมัยใหม่ที่ไม่เน้นวิชาการกับลูกในช่วง 0-7 ปี แต่ให้เล่น ชวนกันปลูกข้าว ลงคอร์สเรียนทำขนมปัง เย็บผ้า หรือกิจกรรมต่างๆ ที่ใช้มือ ผัสสะ จินตนาการ ร่างกาย และอื่นๆ อย่างที่เธออธิบายว่า

“ถ้ายังสร้างบ้านไม่เสร็จแล้วเข้ามาอยู่ เราก็อยู่ไม่ถนัด ช่างก็ทำงานไม่ถนัด อยู่ๆ ไปก็กลัวว่าปูนจะหล่น ตะปูจะหล่นใส่รึเปล่า เหมือนกับพัฒนาการร่างกายและสมองที่เด็กจะพร้อมสำหรับวิชาการหลัง 7 ขวบ ระหว่างนี้ให้เขาฟอร์มตัวไปก่อน ระหว่างที่ร่างกายและสมองกำลังฟอร์ม การที่เขาได้เห็นความงาม ความจริงตามธรรมชาติ ได้กลิ่นหอมของดอกไม้จริง ได้เห็นช้างแบบจริงๆ ไม่ใช่จากสารคดีในทีวี จนมันประทับตราตรึงเข้าไปในสัญชาตญาณของเขา มันต่างกัน และมันจะเป็นส่วนที่ทำให้ทุกอย่างเติบโตอย่างดีและมีความสุขด้วย”

ทั้งหมดนี้ไม่ได้จะบอกว่าคุณตุ๊กเป็นซูเปอร์วูแมน เป็นคุณแม่สายสตรองมากไปกว่าคุณแม่ท่านอื่น (เพราะขึ้นชื่อว่า ‘แม่’ ยืนหนึ่งเรื่องความแกร่งอยู่แล้ว!) หากเธอคือผู้หญิงธรรมดาที่ดำเนินชีวิตอย่าง ‘ปกติสุข’ และชวนอ่านความคิดการเป็น ‘แม่ครั้งแรก’ ของผู้หญิงคนนี้ตั้งแต่ยังไม่ตั้งครรภ์ กระทั่งวันที่ลูกๆ ของเธอเกือบเข้าสู่วัย pre-teen หรือก่อนวัยรุ่นกันแล้ว!

ตุ๊ก ชนกวนัน กับ การเป็นแม่ครั้งแรก

ก่อนเป็นคุณแม่ คิดอยากเป็นคุณแม่ไหม อยากเป็นแบบไหน

ไม่คิด แต่ไม่ใช่เพราะไม่อยากมีลูกนะ แต่ถ้าต้องเป็นแม่ เคยอยากเป็นคุณแม่ full time ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีพี่เลี้ยง ทำงานบ้านเอง ทำกับข้าวเอง ทำทั้งหมดนี้ด้วยตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ ตอนนั้นเลยไม่อยากมีลูกจากอะไรบางอย่างที่ทำให้เราเป็นแม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว ถ้าเราไม่อยากทำอะไรเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น ยังเป็นนักแสดง (และเป็นคุณแม่) เหมือนตอนนี้มันก็ทำได้

คุณตุ๊กในวัย 29 ที่ยังไม่เป็นแม่ ตอนนั้นฝันว่าอยากเป็นแม่แบบไหน

ไม่ได้คิดเอาไว้ว่าอยากเป็นแบบไหน แต่คิดว่าอยากทำอะไรกับเขา คิดว่าเราจะซัพพอร์ตหรือให้ความสบายใจกับเขาได้แค่ไหนมากกว่า เวลาที่เขามีปัญหา อยากให้เขารู้ว่าเลือกจะคุยกับเราได้ เอาความคิดเราไปปรับใช้ในชีวิตเขาได้ ดำเนินชีวิตอย่างเชื่อมโยงกับเรา ไม่ได้ตัดสินใจคนเดียวตั้งแต่ต้นจนจบ จะใช้คำว่าอะไรดี (นิ่งคิด) อยากเลี้ยงให้เขามีความสุขกายสบายใจเพียงพอจะใช้ชีวิตบนโลกใบนี้ ให้มีทัศนคติที่ดี ให้มีคุณสมบัติในการเป็นมนุษย์ที่จะใช้ชีวิตแบบไหนก็ได้

เพราะเขาจะต้องเจอเรื่องราวในชีวิตประมาณล้านเรื่องอยู่แล้ว เราไม่รู้ว่าเขาจะเจออะไร แต่ให้เขาเลือกได้ว่าโหมดนี้เขาควรจะกล้าหาญ โหมดนี้ควรจะอ่อนโยน หรือโหมดนี้ควรจะมีคุณสมบัติอะไร มันคงไม่สมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยอยากให้เขาได้มากที่สุด และเขาต้องใช้คาแรคเตอร์ของเขาเอง

พอรู้ว่าตั้งครรภ์ กลัวไหมกับความคิด ‘กำลัง’ จะเป็นแม่

ไม่กลัว จะสรุปให้คนอื่นฟังเสมอว่าคงเป็นคาแรคเตอร์ของความเอ๋อ พี่ตุ๊ก จันจิรา (จันจิรา จูแจ้ง) เคยบอกว่า “เธอเหมือนคนที่มีลูกบอลอยู่ในท้องแล้วทำตัวปกติ” แต่เหนื่อยนะ ชีวิตเปลี่ยน

ไม่กลัว และพร้อมที่จะใช้วิธีธรรมชาติที่สุดเท่าที่ความรู้ของเรามีในขณะนั้น เช่น ท้องแรกเรารู้เท่านี้ ท้องคนที่สอง (ความรู้) ก็เพิ่มไปอีก คนที่สองนี่คลอดธรรมชาติและแบบโบราณเลย ไม่ขึ้นขาหยั่ง มีเชือก คุณหมอนั่งอยู่ไกลประมาณเรากับคุณตอนนี้ (ระยะห่างราวหนึ่งโต๊ะกินข้าว) ปกติการคลอดคุณหมอต้องอยู่ใกล้ๆ เราใช่ไหม? แต่นี่ไม่ คลอดแบบให้สามีภรรยาซัพพอร์ตกัน คุณหมอแค่ยืนดูความเรียบร้อยอยู่ตรงนั้น

วินาทีที่คลอดน้อง วินาทีเป็นแม่ครั้งแรก วันนั้นเป็นอย่างไร

ตอบแล้วจะดูตลก การเป็นคุณแม่มันต้องมีโมเมนต์น้ำตาไหลหรือรู้สึกนู่นนั่นนี่ใช่ปะ? เราน้ำตาไหลนะ แต่มันไม่ใช่ความรู้สึกแบบในหนังอะ สำหรับตุ๊ก วินาทีนั้นเป็นวินาทีรับผิดชอบ “โอเคไหมคะคุณหมอ” “ครบ 32 ไหมคะ?” “แล้วต้องทำยังไงต่อคะคุณหมอ” “ต้องอาบน้ำกี่โมง” “หัดกี่โมง” “schedule มีอะไรที่ต้องฝึกบ้าง จะได้เข้าไปตรงตามสูตร” เราจะซีเรียสบ้าบออะไรแบบนี้ กลัวจะพลาดมากกว่าหรือเป็นคนตลกก็ไม่รู้นะ

คุณแม่หลายคนกลัวว่าอาจทำขั้นตอนแรกไม่ถูกต้องตามวิธีที่ควรทำ?

ถูก และเราเป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์ด้วย จนมาท้องสองที่ความเป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์ลดลง และรู้แล้วว่าถ้าเราอยู่ในกระบวนการธรรมชาติ ยังไงมันก็ต้องดีเลยไม่กังวล การคลอดลูกมันมีอันตรายจริง แต่สุดท้ายเราจะคลอดจนได้ เลยไม่ได้กังวลใดๆ เอาแค่เช็คว่าลูกกลับหัว มดลูกเปิดตามเวลา แสดงว่าเราอยู่ในกระบวนการธรรมชาติและเราไม่มีอะไรผิดปกติ อีกอย่าง เราโชคดีด้วยที่การคลอดไม่มีปัญหา บางคนน้ำคร่ำไม่แตก บางคนมดลูกเปิด/ท้องไม่บีบ หรือ ท้องบีบ/มดลูกไม่เปิด ของเราเป็นไปตามธรรมชาติ เลยเหมือนได้ทำอะไรตามที่คิดคือคลอดธรรมชาติและไม่มีตัวช่วย

มีความรู้สึกหวาดกลัวจากภายในไหม เช่น ต้องเลี้ยงเขาไปอีกกี่ปี? ลูกออกมาเป็นตัวเป็นตนจริงๆ แล้วนะ

รู้สึกถึงความเป็นแม่มากกว่า เพราะตอนท้องยังไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองจะเป็นแม่จนคลอดออกมา “สิ่งมีชีวิตนี้เป็นของเราเหรอ” มันมีนิดหนึ่งนะ ความรักตอนนั้นก็ยังไม่เต็มเปี่ยมร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ค่อยๆ เพิ่มทุกวินาที การดูแล โอบอุ้ม ประคบประหงมในช่วงแรก (แพมเพอร์) ดูแล เอาเขานอน เอาเขากินนม ความรู้สึกมันเกิดจากการที่มือเราสัมผัสเนื้อตัวเขา ได้จับ ได้พลิกเจ้าก้อนกลมๆ นี้นอนคว่ำ เหล่านี้มันคือการสร้างความรัก เลยรู้สึกว่าความรู้สึกรักมันเกิดจากการได้เลี้ยงดู

ขวบปีแรกของการเป็นแม่ ทำอะไรบ้าง

ทำเองทั้งหมด ไม่มีใครมาทำแทนได้อยู่แล้ว เลี้ยงลูกเองเต็มเวลา ดูให้เขาเติบโตขึ้นจาก 1 วัน เป็น 1 เดือน เป็น 1 ปี การเลี้ยงเด็กเล็กไม่มีรายละเอียดอะไรมากนอกจากทำให้เขา ‘หลับ อิ่ม ยิ้ม’ ยิ้มที่แปลว่ามีความสุขและอุ่นพอ

จริงๆ ตอนนั้นเหนื่อยและวิตก เช่น วันหนึ่งลูกนอน 10 โมง อีกวันนอน 10 โมง 15 เราโทรฯ หาพี่หนิง ศรัยฉัตร (ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา) ว่าได้ไหม? พี่หนิงบอก “บ้าปะ 15 นาทีเอง” คือเราไม่เข้าใจอะไรเลย คิดว่ามันต้องเหมือนกัน ถ้าไม่เหมือนกันจะเป็นอะไรรึเปล่า แล้วต้องรีบถามด้วยนะ กลัว ต้องแก้ไขเร็ว กลัวว่าถ้าช้าจะเนิ่นนาน

แต่สิ่งหนึ่งที่จำได้แม่นและช่วยได้เยอะคือ คำจากแม่ แม่พูดกับเราตอนน้องแพรวหนึ่งเดือนว่า “เลี้ยงลูกนะ ไม่ได้ประกวด เลี้ยงด้วยหัวใจ” ได้ยินแล้วหายเหนื่อยเลย

ถึงได้บอกว่าจริงๆ แล้วแค่ ‘อิ่ม นอนหลับ ยิ้ม’ แต่เราต้องรู้หน้าที่ของเราด้วยนะว่าเราต้องให้อาหารหรือแพมเพอร์เขาตรงตามเวลา สร้างจังหวะ (rhythm) ของเขาให้โอเคและปลอดภัย พร้อมจะตื่นมาทุกวันด้วยความรู้สึกเสถียร แค่นั้น

พ่อแม่อยากทำทุกอย่างให้ดีที่สุดสำหรับลูก แต่บางทีก็กลัว เอาตัวเองไปเปรียบกับแม่คนอื่น?

ไม่เป็นเลย ดีใจที่ตัวเองไม่เป็น พอไม่เป็นก็เลยโชคดีที่ไม่ต้องปรับทัศนคติเรื่องนี้ เช่น เขาบอกว่าถ้าจะให้ลูกเรียนวอลดอร์ฟ พ่อแม่ต้องไม่ตื่นเต้นนะเวลาไปบ้านเพื่อนแล้วลูกคนอื่นอ่านหนังสือออก น้องภูมิที่เห็นวิ่งๆ อยู่นี่ยังอ่านไม่ได้นะคะ แต่เราไม่ได้รู้สึกอะไร คือเป็นธรรมชาติของเราจริงๆ ที่จะไม่ซีเรียสกับอะไร

บางครั้งเพื่อนเราเป็นนะ เช่น ไลน์มาในกรุ๊ปว่า “ทำยังไงดี มีเด็กมาแย่งของเล่นลูก อยากจะสอนให้ลูกเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แต่ก็ไม่อยากให้ใครเอาเปรียบในสังคมปัจจุบัน จะสอนลูกยังไงดี?” สิ่งที่เราคิด ณ วินาทีนั้นคือ “เรื่องเล็กมากเลย ให้เด็กเคลียร์กันเองดีไหม?”

หรือถ้าเจอคุณแม่ที่แบบ “หยุดเลยนะ อ่านหนังสือเดี๋ยวนี้” ชีวิตเขาเปลี่ยนเลยนะ “ตายละ จันทร์ถึงศุกร์ต้องกวดวิชา” จะบอกว่าความกลัวของเรา หนึ่ง-ลึกๆ แล้วสิ่งเหล่านั้นเป็นความต้องการของตัวเองทั้งหมดรึเปล่า ก็ต้องแยกอีกว่า เป็นเพราะปมวัยเด็กรึเปล่า? บางคนค้นพบเลยว่าที่ให้ลูกเล่นเปียโนเพราะชั้นอยากเป็นนักเปียโน ตอนเด็กไม่มีโอกาส สอง-เดี๋ยวพอเข้าสมาคมกับกลุ่มคุณแม่แล้วจะได้พูดคุยได้ หรือ บางทีก็เพราะรักลูกนั่นแหละ แต่บางทีต้องมาเคลียร์ให้ชัดเจนว่าเพราะลูก หรือจริงๆ แล้วเพื่อเรา

ที่น้องภูมิ (ลูกชายคนเล็ก) ยังอ่านหนังสือไม่ออก ไม่ใช่เพราะคุณไม่ส่งให้เข้าโรงเรียน แต่เพราะเชื่อว่าอายุ 0-7 ปีเป็นช่วงวัยที่ต้องเล่น ยังไม่เรียน อยากให้ช่วยขยายความตรงนี้

ไม่ใช่ว่าเราไม่กลัวเองโดยอัตโนมัติ แต่มีทฤษฎีหนึ่งที่ช่วยให้คุณแม่หายกังวลไปได้เปลาะหนึ่ง เขายกตัวอย่างง่ายมาก เช่น ถ้ายังสร้างบ้านไม่เสร็จแล้วเข้ามาอยู่ เราก็อยู่ไม่ถนัด ช่างก็ทำงานไม่ถนัด อยู่ๆ ไปก็กลัวว่าปูนจะหล่น ตะปูจะหล่นใส่รึเปล่า เหมือนกับพัฒนาการร่างกายและสมองที่เด็กจะพร้อมสำหรับวิชาการหลัง 7 ขวบ ระหว่างนี้ให้เขาฟอร์มตัวไปก่อน ระหว่างที่ร่างกายและสมองกำลังฟอร์ม การที่เขาได้เห็นความงาม ความจริง ตามธรรมชาติ ได้กลิ่นหอมของดอกไม้จริง ได้เห็นช้างแบบจริงๆ ไม่ใช่จากสารคดีในทีวี จนประทับตราตรึงเข้าไปในสัญชาตญาณของเขา มันต่างกัน และมันจะเป็นส่วนที่ให้ทำให้ทุกอย่างเติบโตอย่างดีและมีความสุขด้วย

เป็นช่วงเวลาที่เขากำลังทำงานกับสุนทรียศาสตร์?

ในเวลาที่เหมาะสมด้วยนะ หลายอย่างจะมาสุนทรียะตอนนี้ก็ไม่เท่าขวบปีแรกในตอนที่สัญชาตญาณดิบหรือความเป็นเมาคลีของลูกเราสูงสุด การเห็นของเขาในเวลานี้มันจะประทับเข้าไปข้างในจิตวิญญาณหรือพลังงานอะไรสักอย่าง ซึ่งมันพร้อมจะขับเคลื่อนและเรียนรู้จริงๆ ในวันที่มันสมควร

ถ้าตามอินสตาแกรมของคุณจะเห็นว่าคุณพาลูกทำกิจกรรมหลากหลายมาก ทำนา ทำขนมปัง ทำขนม เย็บผ้า พูดได้ไหมว่าเป็นความตั้งใจอยากสร้างประสบการณ์จริงให้เขาในช่วง 10 ปีแรก

ออกตัวก่อนว่ามันไม่ได้ถูกต้องทั้งหมด แต่เผอิญว่าครอบครัวสะดวกแบบนี้ และบอกตัวเองว่า รู้ทั้งรู้ว่าไม่ตามตำราก็จะหยวน ซึ่งพูดตรงๆ ก็คือ พ่อแม่อยากไปเที่ยวด้วย (ยิ้ม) จริงๆ 7 ปีแรกจะอยู่บ้านทุกวันก็ได้ เพียงแต่ทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ ตอนเราเด็กๆ มันไม่ได้มีกิจกรรม play group อะไรนะ แค่ตื่นมาอยู่กับแม่ แม่ทำกับข้าวเราช่วยล้างจานล้างกระทะ แม่ซักผ้า เราก็ตากผ้าเก็บผ้า กล้ามเนื้อมัดเล็กใหญ่ได้ใช้กับงานบ้านหมด ตอนเย็นถ้าพ่อแม่ไปนา เราได้อยู่กับความอิสระของธรรมชาติ พ่อแม่จะเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง ใช้หูฟังดนตรีธรรมชาติที่ไม่ผ่านเครื่องแปลงเสียง หูอันมหัศจรรย์ของเด็กได้ฟังดนตรีสดๆ โดยไม่ผ่านเครื่องแปลงเสียง ได้ใช้ศักยภาพสูงสุดในเวลานั้นจริงๆ หรือการฟังพ่อแม่อ่านนิทานโดยเห็นภาพขึ้นมาในหัว อันนั้นไม่ใช่เหรอที่กระตุ้นจินตนาการของเขา?

ลองเล่านิทานให้กับเด็ก 5 คนฟังสิ แต่ละคนคิดไม่เหมือนกันสักคน และนั่นหมายความว่ามันไม่มีการกำจัดความคิดด้วยว่าเจ้าหญิงต้องใส่กระโปรงบานยาวสีฟ้าหรือสีชมพู ผมต้องเป็นสีทองลอนๆ นะ เพราะถูกเลี้ยงมาแบบนั้น

อยากให้พูดถึงกิจกรรมของน้องๆ ในการทำขนมปัง เย็บผ้าด้วยตัวเองในวัยนี้

ถ้าตามไอเดียเลย พี่ตุ๊กอยากให้ลูกเติบโตมาในครอบครัวที่ “คุณแม่ทำขนมปัง คุณพ่อเล่นดนตรี ทำงานไม้กัน” อยากให้มีแบบนั้นมากเลย แต่แม่ทำอะไรไม่เป็นไง แต่เรามีพันธมิตรช่วยพาเขาทำจากของจริง และมันไม่ใช่แค่ทำขนมปังเป็น แต่การที่ลูกได้ดูขนมปังค่อยๆ ฟูขึ้นมา หรืออย่างการเย็บผ้า คนจะชมว่าลูกเราเป็นดีไซเนอร์ เรายินดีที่เขารักลูกเรานะ แต่ว่ามายด์เซ็ตของเราไม่ได้มองว่าเขาเป็นดีไซเนอร์

มันไม่ใช่ความตั้งใจ (ให้เขาเป็นแบบนั้น) ไม่ใช่การกดปุ่ม แต่เข้าใจว่าเขาควรได้รู้ ต้องได้ทำบางอย่าง ต้องได้สัมผัส รู้รสความเหนื่อยตามวัย หรืออย่างเช่น เขาจะรู้ว่า ไม่ใช่กลับบ้านมาแล้วโยนกระเป๋าแล้วออกไปเล่น เธอควรจะมาดูว่าแม่บ้านทำอะไร เธอกินข้าวควรจะล้างจานเอง แม่บ้านจะได้ไปพักบ้าง หรือควรจะรู้ว่า กลับมาบ้านแล้วรีบทำงานบ้านให้เสร็จนะ ถ้าช้า ทำไม่ทันเธอก็จะไม่ได้เล่น ห้าโมงออกไปเล่น หกโมงกลับมากินข้าวและเผื่อเวลาล้างจาน ถ้าล้างจานช้า นิทานก่อนนอนจะไม่ได้อ่าน คือให้เขาคิด วางแผน ไม่โอ้เอ้

เป็นคนชัดเจนเรื่องเวลา?

firm but kind – firm ชัดเจนให้เขารู้ว่าอะไรทำได้/ไม่ได้ แต่ก็ kind ถ่ายทอดทุกอย่างด้วยความอ่อนโยน ตุ๊กก็ทำไม่ได้ตลอดนะ มีเหนื่อย มีอึดอัด มีอารมณ์ แต่ก็ควบคุมให้ได้มากที่สุด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเราต้องเติบโตไปพร้อมกับเขาทุกวัน

เพื่อให้เขาได้แบบอย่างที่ดีเท่าที่เขาจะหาได้ในชีวิต เราคงไม่ได้ดีทั้งหมด แต่ดีที่สุดเท่าที่เราจะพัฒนาตัวเองทัน

เคยมีโมเมนต์ที่เหนื่อยมากๆ ไหม จัดการตัวเองอย่างไร

ไม่มีโมเมนต์ที่ไม่ไหว มนุษย์มีขีดจำกัดความอดทนได้มากกว่าที่คิดนะ มีแต่โมโหมากๆ แต่จัดการได้ ใช้หลายวิธีเลย อย่างตอนนี้น้องแพรวเป็นวัยรูบิคอน (Rubicon) หรือเป็นวัยแห่งความรู้สึก เราจะพูดความรู้สึกกับเขาตรงๆ เลย เช่น “แพรวทำแบบนี้ แม่เสียใจมากเลย” แต่ถ้าพูดแบบนี้กับภูมิ ภูมิยังไม่เข้าใจนะ

พูดตรงๆ กับลูกได้ ไม่อ้อมค้อม ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นแม่ที่ไม่ดี

พูดเลย “ทำแบบนี้แม่รู้สึกแย่นะ แม่อายที่ลูกพูดกับเพื่อนแม่แบบนั้น” บางทีคุณแม่กลัวว่าตัวเองจะเป็นแม่ที่ดุ กลัวเป็นแม่ใจร้าย ก็กลับไปที่เรื่องความกลัวสารพัด บางทีอ้อมค้อมจนลูกจับประเด็นไม่ได้ ตกลงแม่จะพูดอะไร?

แต่พูดในทาง positive นะคะ ไม่ใช่ด่าว่า แบบ “เสียใจจริงๆ เลยที่มีลูกอย่างแก” “ทำไมดื้ออย่างนี้” ไม่พูด แค่พูดความรู้สึกของเรา หรือ (เน้นเสียง) ดูที่กาละเทศะด้วยหรือเวลาอันเหมาะสมด้วย เช่น ตอนนั้นฝนมันตก แล้วแพรวกำลังเล่นโรลเลอร์เบลด เราบอกว่า “มันลื่นนะ” อีกไม่ถึงหนึ่งนาทีแพรวล้มเลย แล้วเขาพูดว่า “รู้งี้เชื่อแม่ก็ดี” เราไม่พูดอะไรต่อ เอาแค่นี้ pause ไว้ บางคนอาจบอก “นี่ ชั้นบอกเธอแล้ว” อย่างนี้พังเลย

ต้องมีจิตวิทยากับเขา?

บางอย่างเป็นเซนส์ของการเป็นแม่นะ ณ เวลานั้นแค่รู้สึกว่าเราจะเงียบ ให้ความเงียบเล่าเรื่อง เราอาจพูดคำอื่นก็ได้ที่เป็นการซ้ำเติม เช่น “ใช่ไหมลูก เห็นไหม ทีหลังเอาใหม่นะคะ” พูดแบบนี้ก็ได้ แต่เราเลือกจะไม่พูด การไม่พูด ณ เวลานั้นและในเหตุการณ์นั้น มันประทับลงไปลึกกว่า เพราะเขากำลังย่อยความรู้สึกของเขา แต่ในใจเราคือ “เห็นไหมล่ะ” (หัวเราะ)

บางคนบอก จะทำยังไงให้เขาเป็นคนแบบนี้ๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ดูว่าตัวเองต้องปรับปรุงให้เป็นคนยังไง เพราะเขาจะเป็นทุกอย่างแบบที่เราเป็น บางทีหันไป กำลังจะอ้าปากว่าแต่ยังไม่ได้พูด แค่คิดในใจว่า “ทำแบบนี้นิสัยไม่ดีเลย” แต่นั่นมันนิสัยชั้นเลย คือตัวเองทุกอย่าง

อยากเป็นคนที่ดีขึ้นเพื่อไม่ต้องสอนเขา

สอนไม่ได้ด้วย เพราะเด็กในวัยนี้ เขาทำตามแบบอย่างอยู่แล้ว การปากเปียกปากแฉะสอนลูกในช่วง 7 หรือ 10 ปีแรก เสียเวลานะ ลูกจะเป็นอย่างที่คุณเป็น การเป็นแบบอย่างให้ลูกเรื่องหนึ่ง แต่เขาก็จะเป็นตัวเขาเองด้วย เขาจะย่อยสิ่งที่รับฟังหรือเรียนรู้จากคนอื่นมาอีกทีหนึ่ง เลยรู้สึกว่า ตัวเองจะเครียดไปรึเปล่า? เราเองก็งดงามขึ้นและทำเท่าที่ทำได้

ตุ๊ก ชนกวนัน ทำทุกอย่างให้ปกติสุข ถ้าเรามั่นคง ลูกก็โอเค

เดือนมีนาคม ถึงพฤษภาคม The Potential ตั้งใจทำประเด็นเรื่องจิตวิทยาครอบครัว หนึ่งในนั้นคือบทบาทการเป็นแม่ มายาคติการเป็นแม่ สำหรับคุณ… มีเรื่องไหนไหมที่คิดว่าคือมายาคติการเป็นแม่ เรื่องที่คนคาดหวังว่าคนเป็นแม่ต้องทำ แต่คุณรู้สึกว่าทำไม่ได้?

แม่คือมนุษย์คนหนึ่ง ลูกไม่ได้ขอมาเกิด เขาเกิดเพราะเราทำ ก็ต้อง on duty ถามว่าเสียสละไหม? ก็ต้องเสียสละนั่นแหละ เป็นแม่แล้วก็ต้องเป็นตลอดด้วย ลาออกไม่ได้ เราทำได้หมดถ้าเราอยากทำ แต่บางอย่างไม่จำเป็นต้องทำ

เช่น เตะฟุตบอลกับลูก ไม่ชอบก็ไม่เตะ และไม่คิดว่าตัวเองผิดด้วย ให้เขารอวันที่เจอพ่อแล้วก็เตะ บางคนคิดว่าซิงเกิลมัมต้องทำได้ทุกอย่าง ถ้าให้เตะฟุตบอลกับลูกจริงๆ ก็ทำได้ เช่น ถ้าไม่ทำแล้วลูกจะไม่หายจากโรคร้าย คือถ้าต้องเล่นก็เล่นได้ แต่มันไม่จำเป็น

นี่อาจเป็นหนึ่งในมายาคติซิงเกิลมัม คนชอบคิดว่าแม่เลี้ยงเดี่ยวต้องเหนื่อยยาก และต้องทำได้ทุกอย่าง

เหนื่อยแน่นอนแต่มันไม่ถึงกับชีวิต ซิงเกิลมัมผ่านแต่ละวันไปได้ยากกว่าคนที่มีสามี การรู้ว่ามีใครข้างๆ คอยซัพพอร์ตเราทางใจมันแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่มันไม่มีอะ อย่าเปรียบเทียบ เพราะตอนนี้มีทางเลือกเดียว เราเปรียบเล่นๆ แต่มันไม่เป็นจริง แค่ไหนแค่นั้น ยอมรับเท่าที่ได้

สิ่งที่ยากของการเป็นซิงเกิลมัม มีอะไรบ้าง

อาจเริ่มเล่าว่า เพราะคุณพ่อแต่งงานหลายครั้ง หย่ากับคุณแม่ตอนตุ๊ก 6 ขวบ คิดมาตลอดว่าจะไม่ให้ลูกเป็นแบบเรา วันแรกที่เกิดเรื่องนี้รู้สึกว่า “เฮ้ย นี่เป็นอย่างเดียวที่ไม่อยากให้เกิด ไม่เอา ไม่เอาแบบตัวเอง” แต่ใช้เวลาคิดกี่นาทีไม่รู้ แล้วก็ “ช่างมันเหอะ” มันแค่เสียดายว่าไม่อยากให้เกิด อยากให้ลูกมีครอบครัวสมบูรณ์ อยากให้มีพ่อแม่ลูกน่ารักกุ๊กกิ๊กเหมือนในละคร แต่พอมันไม่ได้ก็แค่ทำใจ ไม่ได้ทำใจได้ด้วย (พูดเร็ว) แต่ตัดความรู้สึกนั้นแล้วโยนทิ้งทะเลไป ไม่อย่างนั้นเราจะย้ำคิดย้ำทำบ้าบออยู่ในหัวอยู่นั่นแหละ

แต่คนส่วนใหญ่กลัวว่าลูกจะขาด

ขาดก็ขาด เขาก็จะเป็นมนุษย์ที่ขาดเรื่องนี้ไป มันเป็นรูปธรรม จะมาเถียงว่า “เลี้ยงให้สมบูรณ์ เท่าคนที่มีพ่อ” ยอมรับเลยว่าไม่ใช่ เพียงแต่ว่า… อะไรที่ทำได้ก็ทำ ไม่ใช่ว่าขาดแล้วไปบ้าบออีก นึกออกปะ? ทำในสิ่งที่ทำได้

เราเข้าใจว่าความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นกับสรรพสิ่งในโลก ไม่ได้เกิดความสงสัยหรือตีโพยตีพายว่าทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดกับฉัน พี่บ๊วยก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เราต้องเคารพการตัดสินใจ แค่ทำให้ดีที่สุด ไม่งั้นก็จะอิหลักอิเหลื่ออยู่อย่างนี้ fresh up ตัวเองขึ้นมาแล้วเดินทางใหม่

ในการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ หลายคนใช้ลูกเป็นเครื่องต่อรองความรัก

คำถามนี้อาจจะได้ประโยชน์ถ้าถามหลายๆ คน ตุ๊กตอบได้แค่ความจริงของตัวเอง ซึ่งมันไม่มีใครเหมือนกัน อันดับแรก พี่เอาลูกเป็นเซ็นเตอร์ที่ไม่อยากให้เขามีความเกลียดชังในหัวใจ เพราะมันจะเกิดกับเขาอยู่แล้วในเรื่องอื่น ซึ่งมันเป็นเรื่องของเขาในอนาคต แต่ในเมื่อเรื่องนี้เราเลือกได้และเราไม่ใส่ความเกลียดชังกับเขา ให้เขาเติบโตมาด้วยความรัก และเราแฮปปี้ด้วยว่าเราทำสำเร็จแล้ว เพราะเด็กๆ ติดพี่บ๊วยมาก นั่นแสดงว่าแม้แต่พลังงานของเราที่แผ่ออกไปมันไม่มีความเกลียดชัง เขาจะเติบโตมากับความรัก ยังอยู่ในวัยที่ควรได้รับความรัก เขามีสิทธิ์ได้รับความรักจากพ่อเชา จากคุณปู่คุณย่า ให้เขารับไป

สื่อสารกับลูกอย่างไรท่ามกลางความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนแปลง

ไม่รู้ว่าทำถูกรึเปล่านะคะ แต่ใช้วิธีนี้… ตอนนั้นเขาเล็กมาก น้องภูมิเพิ่งเกิด แพรวเพิ่งสามขวบ เด็กวัยนั้น เขาไม่น่าจะเข้าใจการสื่อสารแบบลายลักษณ์อักษร แต่เข้าใจว่านี่ (ความจริงในครอบครัวแบบนี้) คือโลกของเขา เราแค่ทำทุกอย่างให้เป็นปกติ จนเขาโต เริ่มเห็น เริ่มตื่นจากตัวเองและเห็นคนรอบข้าง เห็นว่าบ้านเราไม่เหมือนคนอื่น พ่อแม่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกัน แค่นั้น เขาก็เห็นและเข้าใจ

แต่ก่อนหน้านั้นไม่ใช่ว่าเขาไม่เข้าใจนะ เราไม่ได้หลอกเขา ไม่ได้บอกว่า ‘แดดดี้ทำงานและไปนอนบ้านอื่น’ ไม่มี ทุกอย่างเป็นความจริง แต่เป็นความจริงที่ละมุนละม่อม และใช้ชีวิตทุกวันแบบ positive ไม่มีพลังงานของความเกลียดชัง

ไม่ใช่แบบ ‘ก็เขาไม่อยู่หนิ แยกบ้าน’ ไม่… อยู่คนละบ้านก็คืออยู่คนละบ้าน และแม่ก็ดู ‘ปกติสุข’ ไม่ใช่มีความสุขนะ แต่มันมีแค่นี้และมีความสุข ไม่ใช่ตื่นมาแล้วเราจะแบบ “เฮ้อ ถ้าเรามีแดดดี้ก็จะมีคนเปลี่ยนไฟให้’ ไม่ไง เปลี่ยนไม่เป็นก็เรียกช่างมาเปลี่ยน เขาจะไม่ฝันลอยแพว่านี่คือสุขที่สุดในโลก แต่มีความสุขแบบนี้ตามอัตภาพ เวลาแดดดี้มา… เขามีความสุขขึ้นแน่นอน แต่ไม่ได้บอกว่านี่คือสุขที่สุด แค่มีความสุขกว่าเดิม

มีโมเมนต์ที่รู้สึกว่ายากลำบากในการอธิบายเรื่องความสัมพันธ์กับลูกไหม

ไม่นานมานี้ตุ๊กบอกเขาด้วยความรู้เท่าที่มี คิดว่าคงต้องบอกเขานิดหนึ่ง แต่รู้เลยว่าตัดสินใจผิดเพราะบอกไปเขาก็ไม่เข้าใจ เขาเห็นว่าทุกอย่างเป็นแบบนี้ ปกติแบบนี้ก็พอแล้ว แต่แค่เข้าใจเพิ่มขึ้น หรือ เขาเริ่มสังเกตว่ามีเพื่อนที่เหมือนเขา เริ่มเห็นว่ามีเพื่อนที่ครอบครัวสมบูรณ์ และมีเพื่อนที่เหมือนเขาเลย เขาพูดด้วยความเศร้า มันเป็นวินาทีที่เศร้าแต่เขาก็ต้องเข้าใจ และเขาจะค่อยเข้าใจโลกใบนี้ขึ้นเรื่อยๆ

วันที่ลูกตั้งคำถาม คงเกิดความรู้สึกกับเราหลากหลาย ตอบคำถามและคลี่คลายความรู้สึกภายในตัวเองอย่างไร

รู้สึกมากเลย มีวันหนึ่งที่เขาถาม วันนั้นพี่ตุ๊กอยู่หลังพวงมาลัยรถ เขาบอกว่า “วันนี้เพื่อนหนูมาบอกว่าเราก็ขาดเหมือนกัน” ตุ๊กร้องไห้เลย แต่เขาไม่เห็นเพราะเขานั่งอยู่เบาะหลัง พอเขาไม่เห็นเรา มันก็เลยไม่ซับซ้อนว่าเราต้องทำหน้ายังไง แต่รู้สึกว่า “เฮ้ย ต้องตอบยังไงนะ”

สมองทำงานแรงมาก คิดหลายอย่างว่า เขาแค่จำคำมาพูดว่าขาด หรือเข้าใจว่าเขาขาด หรือแค่เพื่อนคนนั้นผ่านประสบการณ์ 1 2 3 4 มาคุยกับเขา แล้วเขาหยิบเอาคำนั้นมาสื่อสารกับเราว่า “เราก็ขาดเหมือนกัน” มันเป็นแค่ ขาด ‘ข-า-ด’ (สะกด) อาจไม่ได้เข้าใจความหมาย ในขณะที่เราประมวลผลในสมองว่าต้องตอบยังไงๆ เราก็หันไปถามเขาว่า “แล้วหนูว่ายังไงลูก” เขาตอบว่า “จำไม่ได้แล้ว” และก็เปลี่ยนเรื่อง เราไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนเรื่องเพราะลึกๆ เขาเฉไฉ หรือไม่ได้คิดอะไรจริงๆ หรือเปล่า แต่เท่าที่คุยกับหมอ หมอบอกว่าเขาไม่ลึกเท่าเราแน่นอน อาจเป็นประสบการณ์ที่เขาได้รับมาวันนั้น รู้เยอะรู้น้อยแต่ก็ได้รับๆ มา

หน้าที่เรา พื้นฐานที่สุดแค่ ‘everything will be ok’ ถ้าเราโอเค เขาก็โอเค เราไม่ได้ตื่นเต้นบ้าบอ แบบ ‘ไม่นะลูก ชีวิตลูกไม่ขาด’ หรือ ‘โอเคนะลูก แม่รักลูกก็พอ’ และมันไม่ใช่การเพิกเฉย เราแค่ ‘เออ… เรื่องนี้หนูว่ายังไง’ หรือบางทีก็ต้องเงียบ หรือบางทีแค่ ‘ถ้าลูกรู้สึกยังไง บอกแม่นะ’ ‘หนูอยากให้แม่ช่วยอะไรไหม’ ‘ถ้าอยากได้อะไรบอกแม่นะ แม่อยู่ตรงนี้นะ แม่พร้อมเสมอ’ อะไรก็ได้ที่เหมาะกับสถานการณ์นั้น ให้เขารู้ว่าเรามั่นคง ถ้าเขารู้ว่าเราผ่านได้ เขาก็พร้อมจะผ่าน

ทุกคนบอกว่าคุณคือคุณแม่สายสตรอง คิดแบบนั้นไหม?

มีคนบอกตั้งแต่วันแรกว่าเราเข้มแข็ง จน (ตอนนั้น) คิดว่าตัวเองเข้มแข็ง แต่พอเวลาผ่านไปแล้วเราเข้มแข็งขึ้นมาจริงๆ มองย้อนกลับไปวันแรกๆ เราไม่ได้เข้มแข็งเลย เหนื่อยนะ บางทีเพื่อนมาปรึกษา อยากฆ่าตัวตาย ซึมเศร้า นอนไม่หลับ เราไม่เคยมีโมเมนต์นั้นเลย รักในคุณสมบัติการหลับง่ายของตัวเอง ตอนที่เกิดปัญหา กินไม่ได้อยู่สิบวัน เฮ้ย… น้ำหนักลด พอกินได้ก็คิดว่า เอ๊ะ น่าจะลดอีกสักห้าโลนะ (หัวเราะ)

รักตัวเองรึเปล่าไม่รู้ แต่ยังหายใจได้ กินอิ่ม นอนหลับ สัญญาณชีพโอเค เท่านี้ก็ couldn’t ask for more จะขออะไรไปมากกว่านี้?

Tags:

พ่อชนกวนัน รักชีพจิตวิทยามายาคติการเป็นแม่

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

Related Posts

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    ลูกเกิดมาดี สวยงาม สมบูรณ์แบบแล้ว: ศุภฤทธิ์ ทวีเกียรติ พ่อเลี้ยงเดี่ยวของลูกที่มีความพิการ

    เรื่องและภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    ต้องเป็นแม่ที่มีความสุขที่สุดถึงจะเป็นแม่ที่ดีที่สุดได้ BY ‘ตามติดชีวิตแม่บ้านแขก’

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

  • อ่านความรู้จากบ้านอื่น
    เอกชัย กล่อมเจริญ: คุณพ่อช่างไม้ เลี้ยงเดี่ยว พาลูกเที่ยวและสอนให้ลงมือทำ

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Family Psychology
    พ่อก็คือแม่ แม่ก็คือพ่อ อย่าเชื่อว่าพ่อเลี้ยงลูกไม่ได้

    เรื่องและภาพ KHAE

  • Family Psychology
    โละ 6 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับพ่อทิ้งไป อย่าให้พ่ออยู่นอกสายตา

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel