- สิ่งสำคัญก่อนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือการตระหนักว่า พลังประชาธิปไตยในมือเรามีมากแค่ไหน
- การจะไปสอนประชาธิปไตย ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจหน้าที่พลเมือง
- ซึ่งเป็นหน้าที่พลเมือง คนละความหมายกับที่เด็กๆ เรียนในวิชาหน้าที่พลเมือง
ขณะที่ประเทศไทยกำลังเข้าใกล้จุดเปลี่ยนทางการเมืองเข้าไปทุกขณะ ถ้าและถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง คำถามสำคัญ เราตระหนักถึงพลังประชาธิปไตยในมือมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะคนที่มีสิทธิเลือกตั้งเป็นครั้งแรก
ถ้าย้อนลงไปในวัยที่เด็กกว่านั้น ก่อนจะเข้าใจคำว่าประชาธิปไตย เขาน่าจะเริ่มทำความรู้จัก ‘หน้าที่พลเมือง’ ก่อน ซึ่งอาจจะคนละอย่างกับวิชาหน้าที่พลเมืองที่เด็กๆ กำลังเรียนอยู่โดยที่ยังไม่รู้ว่าเรียนไปทำไม
บทความนี้ The Potential ขอชวนคุณครูมาทำความเข้าใจว่าเราจะสอนเรื่องพลเมืองประชาธิปไตยอย่างไร และหลัก 3 ข้อที่โรงเรียนต้องใส่ใจในการสอนเพื่อสร้างพลเมืองประชาธิปไตยมีอะไรบ้าง
การสอนให้ตั้งคำถามคือกุญแจสำคัญ
โจเอล เวสไฮเมอร์ (Joel Westheimer) ประธานองค์การวิจัยด้านการศึกษาและประชาธิปไตยแห่งมหาวิทยาลัยออตตาวา (The University of Ottawa) ได้ศึกษาหลักสูตรการสอนในประเทศต่างๆ ที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการ เช่น เกาหลีเหนือ จีน อิหร่าน เขาสังเกตว่านักเรียนในประเทศเผด็จการอย่างเกาหลีเหนือและจีน เรียนคณิตศาสตร์และวิชาการ โรงเรียนต่างสอนให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลข แก้สมการพีชคณิต และเศษส่วน ไม่ต่างกับเด็กในสังคมประชาธิปไตยในอเมริกาหรือแคนาดาเลย
เปรียบเทียบการศึกษาระหว่างประเทศในระบอบประชาธิปไตยกับประเทศในระบอบเผด็จการแล้ว เขาเกิดคำถามว่าในเมื่อโรงเรียนที่อยู่ในระบอบการปกครองที่ต่างขั้วกันต่างสอนวิชาการเหมือนกัน แล้ว “จุดต่างของเป้าหมายการศึกษาในสังคมประชาธิปไตยกับเผด็จการอยู่ตรงไหน”
ในเมื่อเป้าหมายการศึกษาของระบอบเผด็จการไม่ได้มีเป้าหมายให้นักเรียนมีความคิดเป็นของตนเอง แต่เป็นไปเพื่อจำกัดและตีกรอบให้รู้ในสิ่งที่รัฐต้องการ ให้รู้และทำในสิ่งที่รัฐต้องการให้ทำ ไม่มีสิทธิมีเสียงโต้แย้งใดๆ ดังนั้น ในทางตรงข้าม การศึกษาในสังคมประชาธิปไตยจึงควรต้องสอนให้นักเรียนรู้จักตั้งคำถาม คำถามที่อาจไม่รื่นหู หรือแม้แต่กล้าท้าทายขนบประเพณีดั้งเดิม นักเรียนจำเป็นต้องคิดและเปิดรับทัศนคติหลากหลายแง่มุม เพราะการสร้างสังคมด้วยประชาธิปไตย คือการรับฟังความคิดที่แตกต่างหลากหลายด้วยความเข้าใจซึ่งกันและกัน และร่วมกันตัดสินใจหาทางออกบนประโยชน์ส่วนรวมที่เป็นไปได้มากที่สุด
อย่างไรก็ดี หนทางเพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยของโรงเรียนนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม จากการสำรวจบทบาทหน้าที่ในการอบรมความเป็นพลเมืองของโรงเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ สถาบันการศึกษา องค์กรและหน่วยงานในชุมชนต่างๆ ในแคนาดา ภายใต้หัวข้อ Democratic Dialogue (การสานเสวนาทางประชาธิปไตย) ปัญหาแรกที่เวสไฮเมอร์พบคือ การปฏิรูปการศึกษาในอเมริกา (ซึ่งแคนาดารับจากที่นั่นมาอีกที) มุ่งเน้นแต่ความพร้อมในการประกอบอาชีพและการเรียนการสอนเพื่อสอบ จนปิดกั้นโอกาสที่ครูจะปลูกฝังเจตคติ ความรู้ และลักษณะนิสัยสำคัญในการสร้างสังคมประชาธิปไตยให้กับนักเรียน
โรงเรียนต้องสร้างพลเมืองแบบไหน
เวสไฮเมอร์และโจเซฟ คาห์น (Joseph Kahne) เพื่อนร่วมวิจัย ใช้เวลากว่าสิบปีสังเกต วิเคราะห์หลักสูตรการสอนทั่วโลกที่มุ่งสร้างทักษะความเป็นพลเมืองที่ดีในเด็กและเยาวชน ซึ่งระบุลักษณะจำเป็นของพลเมืองประชาธิปไตยไว้ในจุดประสงค์การสอน
พวกเขาพบว่าแนวทางสร้างพลเมืองประชาธิปไตย (Citizenship Education) ในหลักสูตรเหล่านั้นพยายามสร้าง“พลเมืองที่ดี” 3 แบบคือ
- พลเมืองที่ตระหนักในความรับผิดชอบของตนต่อสังคม (The Personally Responsible Citizen)
- พลเมืองที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม (The Participatory Citizen)
- พลเมืองที่มีจิตสำนึกด้านความยุติธรรมทางสังคม (Social-Justice-Oriented Citizen)
พลเมืองที่ตระหนักในความรับผิดชอบของตนต่อสังคม (The Personally Responsible Citizen)
คือพลเมืองที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ด้อยโอกาส การสอนมุ่งเน้นการสร้างบุคลิกและอุปนิสัยที่ดีงาม (Character Education) ให้นักเรียนมีคุณธรรม และแสดงออกถึงความเอื้อเฟื้อในการบริจาคการกุศล ช่วยเหลือสังคมด้วยทุนทรัพย์หรือแรงกายเท่าที่จะทำได้ ในหลักสูตรนี้ โรงเรียนมักกระตุ้นให้นักเรียนบริจาคอาหารหรือสิ่งของแก่ผู้ยากไร้
พลเมืองที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางสังคม (The Participatory Citizen)
คือพลเมืองที่มีส่วนร่วมในกิจการงานเมืองตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับประเทศ ครูเน้นการสอน ให้ความรู้ความเข้าใจถึงหน้าที่ของรัฐบาล หน่วยงานรัฐต่างๆ อาทิ องค์กรรัฐในชุมชน โบสถ์ ว่าทำหน้าที่อะไร และสอนให้นักเรียนวางแผนและแบ่งหน้าที่ในกิจกรรมเพื่อส่วนรวม ในขณะที่พลเมืองที่ตระหนักรู้ถึงความรับผิดชอบของตนต่อสังคมแสดงความเอื้อเฟื้อเป็นสิ่งของหรืออาหารบริจาค พลเมืองที่มีส่วนร่วมจะทำหน้าที่แจกจ่ายอาหารและสิ่งของที่ได้รับบริจาค
พลเมืองที่มีจิตสำนึกด้านความยุติธรรมทางสังคม (The Social-Justice Oriented Citizen)
คือพลเมืองที่สามารถรับฟังความคิดเห็นและตริตรองความคิดเห็นได้อย่างละเอียดรอบด้าน สามารถวิเคราะห์โครงสร้างสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และมองหามาตรการที่จะแก้ไขปัญหาจากต้นตอ ลักษณะของพลเมืองในข้อนี้คือนักคิดอย่างมีวิจารณญาณอันเป็นลักษณะที่ถูกละเลยมากที่สุด คำว่า “มีจิตสำนึกด้านความยุติธรรมทางสังคม” เพราะแนวทางที่จะเสริมสร้างทักษะด้านนี้ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนคิดในประเด็นเรื่องความเที่ยงธรรม โอกาสที่เท่าเทียม และการมีส่วนร่วมในประชาธิปไตย
สำคัญอย่างยิ่งคือ ครูต้องตระหนักเสมอว่าทุกคนมีสิทธิคิดต่าง การสอนต้องกระตุ้นให้นักเรียนมองหาหนทางปรับปรุงสังคมให้ดีขึ้น ทั้งมีส่วนรู้เห็นในประเด็นปัญหาที่มีอยู่ในท้องที่ของตนเสียก่อน
แนวทางนี้จะไม่เน้นเรื่องการช่วยเหลือการกุศล แต่เน้นให้นักเรียนเข้าใจการพัฒนาภาพรวมของสังคมมากกว่า
เปรียบเทียบพลเมืองสามแบบข้างต้น หลักสูตรที่สร้างพลเมืองที่ตระหนักในความรับผิดชอบของตนต่อสังคมจะเน้นการสอนสร้างอุปนิสัยและคุณงามความดี (character education) ที่สามารถแสดงออกเพื่อช่วยเหลือคนอื่น ในขณะที่การสอนสร้างพลเมืองที่แสดงออกถึงการมีส่วนร่วมทางสังคมจะเน้นการเข้าไปช่วยบริหารการจัดกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวม แต่สำหรับการสอนสร้างพลเมืองที่มีจิตสำนึกด้านความยุติธรรมทางสังคม จะสอนให้รู้จักคิด และตั้งคำถามเมื่อเห็นปัญหาความขาดแคลนที่เกิดขึ้นในสังคม และลงมือแก้ปัญหา
แต่ถึงอย่างนั้น หลักสูตรจากการศึกษาเกือบทั้งหมดเป็นไปในทางที่สนับสนุนให้นักเรียนเป็นอาสาสมัครการกุศล หรือสอนแบบบรรยายให้ทราบขั้นตอนการออกกฎหมายและหน้าที่พลเมือง 2 แบบแรกเสียมากกว่า โรงเรียนที่มุ่งสอนให้นักเรียนพิจารณาถึงต้นเหตุความไม่เท่าเทียมในสังคม เศรษฐกิจ และ นโยบายการเมืองอย่างลึกซึ้งนั้นแทบไม่มี
หากพิจารณาแล้ว แม้พลเมืองสองแบบแรก เป็นลักษณะอันพึงมีในการอยู่ร่วมกันในสังคม แต่ก็เป็นคนละเรื่องกับการเป็นพลเมืองประชาธิปไตยโดยสิ้นเชิง การเคารพกฎและรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ต่อสังคมอาจสวนทางกับการคิดอย่างเสรีซึ่งสะท้อนถึงความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง
หลัก 3 ข้อที่โรงเรียนต้องใส่ใจในการสอนสร้างพลเมืองประชาธิปไตย
เวสไฮเมอร์ ศึกษาบทบาทความสำคัญของโรงเรียนที่มีต่อการสร้างพลเมืองประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงปี 90 แนะให้ครูและโรงเรียนอิงหลัก 3 ข้อเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนในการสอนสร้างพลเมืองประชาธิปไตยให้มีประสิทธิภาพ คือ
- สอนให้คิดลึกซึ้งกว่าการรู้เพียงข้อเท็จจริง (Go Beyond Facts) การสอนให้นักเรียนเข้าถึงข้อเท็จจริงเป็นเรื่องจำเป็น แต่การศึกษาที่มุ่งเน้นให้รับเอาแต่ข้อเท็จจริงเพียงอย่างเดียวก็ตื้นเขินเกินไป ครูต้องให้โอกาสนักเรียนคิดด้วยตนเอง และตั้งคำถามอย่างมีส่วนร่วม เมื่อต้องฝึกทักษะการอ่าน เขาควรอ่านเรื่องอะไรจึงจะเป็นประโยชน์และอ่านเพื่อเป้าหมายอะไร ทักษะความสามารถของเขาเหล่านั้นจะทำประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติอย่างไรบ้าง
- สอนอย่างการเมือง (Be Political) นักเรียนต้องเข้าใจก่อนว่า การเมืองเป็นหนทางที่ช่วยให้คนต่างค่านิยม ต่างพื้นเพ ต่างความคิด สามารถทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาและสร้างสรรค์สิ่งที่มีคุณค่าต่อส่วนรวมได้ สาระสำคัญของมันคือการบรรลุซึ่งเสรีภาพและความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ดังนั้น ห้องเรียนต้องเปิดรับต่อความเห็นต่างและอุดมการณ์หลากหลาย และสร้างคุณค่าให้กับเรื่องนี้
- เปิดใจกับวิธีการสอนที่หลากหลายไม่ตายตัว (Embrace Pedagogical Diversity) โลกที่กว้างใหญ่และแตกต่าง เหตุปัจจัยของปัญหาในแต่ละเมือง แต่ละชุมชนหรือประเทศล้วนส่งผลต่อการคิดหลักสูตรและแนวทางการสอนทั้งสิ้น นักการศึกษาบางคนให้คุณค่ากับการศึกษาแนวก้าวหน้า (Progressive Education) ที่หันหลังให้การท่องจำและพุ่งการเรียนรู้ไปที่ประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติของนักเรียนเอง ในขณะที่ผู้ปกครองที่เป็นพลเมืองชั้นสองมองว่าแนวทางการศึกษานี้อาจกีดกันไม่ให้บุตรหลานเข้าถึงวัฒนธรรมกระแสหลัก เพราะเด็กจะไม่ถูกสอนว่าอะไรเป็นอะไรโดยตรง
ดังนั้น การสอนความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยแต่ละแห่งก็แตกต่างไปตามนิยามของพลเมืองที่ดีว่าควรเป็นแบบใดจึงสอนแบบนั้น ดังนั้น จึงไม่มีข้อจำกัดในวิธีการสอนว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้เพื่อให้นักเรียนคิดได้ และตระหนักรู้
หากแต่ต้องพึงตระหนักเสมอว่าการสร้างพลเมืองให้เกิดขึ้นได้นั้น สำคัญคือต้องไม่เพียงให้โอกาสนักเรียนได้คิดต่าง แต่ต้องเคารพอุดมการณ์ ความเชื่อของผู้อื่น แม้ไม่เห็นด้วยก็ตาม
ประชาธิปไตยที่สุดปลายทาง
มีเส้นทางพานักเรียนก้าวไปสู่ปลายทางของการเป็นพลเมืองได้มากมาย และเส้นทางเหล่านั้นก็ไม่ตายตัวเสียด้วย ทั้งการให้นักเรียนทำโครงการที่มีส่วนร่วมในโรงเรียน ชุมชน หรือการสอนให้ตั้งคำถาม คิด และอภิปราย
ครูเกรด 5 คนหนึ่งในชิคาโกให้นักเรียนทำโครงการศึกษาย่านชุมชนที่อยู่อาศัยเพื่อแก้ปัญหาความอดอยาก หรือ ครูชั้นประถมในวิสคอนซิลตั้งคำถามเรื่องเหตุวินาศกรรม 9/11 ให้นักเรียนในชั้นอภิปรายและฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน จากนั้นไปสืบค้นข้อมูลแล้วมาหารือถึงบทบาทที่พวกเขาพึงกระทำต่อเพื่อนมนุษย์ ชุมชนและโลกใบนี้
อ้างอิง: What kind of citizen? 2008 และ Teaching for democratic Action 2015: Joel Westheimer