Skip to content
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
  • Creative Learning
    Creative learningLife Long LearningEveryone can be an EducatorUnique Teacher
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Transformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent Brain
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)
EF (executive function)
9 April 2019

อ่านเถอะนะ ง่ายจะตายชัก

เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

ก่อนจะลงลึกเรื่องสมองอ่านอย่างไรให้ปวดหัวต่อไป ขอถอยมาเรื่องง่ายๆ อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความเสียดายนักหนาหากยังจะมีพ่อแม่ที่ไม่ทำ

เราแนะนำให้อ่านนิทานก่อนนอนเพราะนี่คือวิธีที่ง่ายที่สุดในโลกสำหรับการเลี้ยงลูกและกำไรมาก

ภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่าพ่อแม่สมัยนี้เกือบทุกคนอ่านหนังสือออก จะแก้ตัวว่าอ่านหนังสือไม่ออกนั้นฟังขึ้นยากแล้ว

เราขอเพียงวันละ 30 นาที เรามิได้ขอมากเลย ขอเพียง 30 นาทีเท่านั้นเอง คุณพ่อคุณแม่ยังเหลืออีก 23 ชั่วโมงครึ่งต่อวันที่จะไปทำอย่างอื่น เวลา 30 นาทีนั้นสั้นมาก เพียงเข็มยาวเดิน 6 ช่อง เวลายี่สิบสามชั่วโมงสามสิบนาทีนั้นยาวนานมาก แค่เขียนยังยาวเลย

เราขอให้อ่านอะไรก็ได้ ถ้ามีเงินซื้อนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กที่สำนักพิมพ์บางแห่งอิมพอร์ตมาแปลมาขาย เล่มละ 200 กว่าบาท จะว่าแพงก็ใช่ แต่คำว่าแพงนั้นควรแปลว่าเสียดายเงิน หากคุ้มค่าไม่เสียดายเงิน จะกี่บาทเราก็ไม่เรียกว่าแพง

เล่มละ 200 กว่าบาท กำไรที่ได้คืนนั้นน่าจะตกประมาณเล่มละ 200,000 บาท คือค่าใช้จ่ายที่เราประหยัดขึ้นมาได้ใน 20 ปีถัดไปเพียงเพราะว่าเขาจะเป็นเด็กดีว่านอนสอนง่าย ตัวเลขสองแสนคนเขียนมั่วเอาเอง

ถ้าเงินน้อยลงมา หาหนังสือของสำนักพิมพ์ระดับรองลงมาที่อิมพอร์ตหนังสือดีจากต่างประเทศมาเช่นกันแต่ทำราคาได้เหลือเล่มละร้อยกว่าบาท หากเป็นสำนักพิมพ์ที่มีมูลนิธิหรือนายทุนยักษ์ใหญ่หนุนหลังจะเหลือ 80-90 บาท และหากเป็นสำนักพิมพ์ไทยทำไทยเขียนไทยวาดไทยพิมพ์ก็ประมาณ 100 บาทบวกลบไม่มาก เทียบได้กับข้าวผัดกะเพราไข่ดาวสองจานเท่านั้นเอง พ่อแม่อดข้าวสองคน 1 มื้อได้หนังสือนิทานให้ลูก 1 เล่ม เราไม่ตายหรอกกินน้ำเปล่าได้ แต่ลูกได้คืนมากกว่ามาก

เทียบราคาหนังสือกับข้าวราดแกงน่าจะไม่ว่ากัน ปลอดภัยกว่าเทียบกับกาแฟ 1 ถ้วย หรือเบียร์ 2 กระป่อง อุ๊บ!

สมมุติไม่มีเงินจริง ซึ่งเชื่อว่าหลายบ้านที่ค่าแรงวันละ 300 บาทหรือเงินเดือน 15,000 บาท เรื่องหนังสือนิทานเริ่มจะไกลเกินฝันแล้ว อย่างน้อยที่สุดหาทางพรินท์นิทานจากเว็บนิทานฟรีออกมาอ่านให้ลูกฟังก็ได้ครับ และสุดท้ายของสุดท้าย เศษหนังสือพิมพ์ที่ห่ออะไรมาล้วนอ่านได้ทั้งสิ้น

เพราะที่ลูกต้องการจริงๆ มิใช่นิทาน แต่คือตัวเป็นๆ ของพ่อแม่ที่จับต้องได้ ถูกเนื้อต้องตัวได้ มีเสียงดังฟังชัดในห้องนอนทุกๆ คืน อย่างน้อยที่สุด 3 ปี ให้อู้ได้บางวัน เมาเหล้าได้บางวัน หรือสลบได้บางวัน รวมแล้วก็น่าจะได้ 1,000 วัน เวลาเท่านี้มากพอและนานพอที่ลูกจะสร้างพ่อและแม่ที่มีอยู่จริงขึ้นมาบนโลก

พ่อแม่ที่มีอยู่จริงจึงจะมีวาจาที่มีอยู่จริง พ่อแม่ที่มีอยู่ชัดจึงจะมีวาจาสิทธิ์ พูดคำไหนคำนั้น สั่งสอนอะไรก็ฟัง เรียกทำอะไรก็ทำ เด็กเกิดมาเพื่อรักสนุกและทดสอบเราอยู่แล้ว การที่เราไม่มีจริง เป็นมนุษย์ล่องหน เราจะไม่มีอะไรเหลือเลย พูดไม่ฟัง สอนไม่ฟัง สั่งไม่ทำ ชีวิตจะยุ่งมาก บ้านจะเดือดร้อนอย่างหนัก และเด็กที่ไม่ฟังอะไรเลยจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ในอนาคต ตอนนั้นเขาจะถอนทุนคืนจากพวกเราสูงมาก มากกว่า 200,000 บาท

สมมุติว่าพ่อแม่ไม่สามารถอ่านก่อนนอน เราให้อ่านตอนไหนก็ได้ แต่ถ้าจัดสรรให้ตรงเวลาได้ก็จะดี ที่เราอยากให้อ่านก่อนนอนเพราะเหตุผลพิเศษ 2 ข้อ

ข้อแรก คือ เราอยากให้ลูกเรียนรู้จังหวะชีวิต (rythm) พ่อแม่มีเวลาน้อย แต่ตรงเวลาทุกคืน อาจจะสองทุ่ม อย่างช้าไม่เกินสามทุ่ม อาบน้ำตัวสะอาด วางมือถือ แล้วเข้าห้องนอน อ่านตรงเวลา 30 นาที อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอและยาวนาน จนกระทั่งเด็กเรียนรู้จังหวะ จังหวะนั้นเหมือนเสียงกลองในคาราโอเกะ รู้จังหวะคือร้องเพลงได้ ตัวโน้ตระหว่างจังหวะไว้ค่อยๆแก้ไขปรับปรุงและพัฒนา แต่เราเอาจังหวะก่อน เพราะเมื่อเด็กรู้จังหวะการนอนเขาจะรู้จังหวะการกิน แล้วจังหวะการอาบน้ำแปรงฟันแต่งตัวทำการบ้านจะตามมาเอง

ข้อสองคือบรรยากาศสงบในห้องนอนที่มีแสงพอประมาณด้วยเสียงนิทานของพ่อหรือแม่จะช่วยเตรียมคลื่นสมองของเด็กเข้าสู่ระยะการนอน (stage of sleep) ที่ถูกต้องก่อนเคลื่อนตัวเข้าสู่โหมดการหลับ ซึ่งจะดีต่อความฝัน ระยะฝัน คุณภาพการนอน และการตื่นนอน

สมมุติว่าพ่อแม่ไม่มีพรสวรรค์ มีความซื่อบื้อ ก็ให้มีความอ่านนิทานไปตามธรรมดา ไม่ต้องมีความพยายามทำเสียงสูงต่ำหรือมีความอ่านพลิกแพลง เด็กไม่ต้องการ และที่จริงแล้วเราพบว่าเด็กหลายคนไม่ชอบให้พลิกแพลง “อ่านดีๆ!” เขากลับจะบอกพ่อและแม่เช่นนี้เสมอ

การเล่านิทานไม่ผิดกติกา ขอให้สนุกสนานคือใช้ได้ แต่สำหรับพ่อแม่ที่เล่านิทานไม่เป็นสับปะรดอะไรเลย การอ่านคือวิธีที่ง่ายที่สุด ดังที่บอกในตอนต้น ขอให้อ่านหนังสือออกก็พอ

น่าจะดีถ้าคนอ่านสนุก คำแนะนำประเภทหนังสือเรื่องไหนเหมาะกับเด็กอายุเท่าไรจึงไม่ควรจริงจังมากเกินไป เอาที่ทั้งพ่อแม่ลูกสนุกด้วยกันคือใช้ได้ หนังสือควันตัมฟิสิกส์สำหรับเด็กเล็กยังมีคนทำขายเลย อ่านให้อิเล็กตรอนชนกันระเบิดตู้มคือโอเค อย่าคิดมากไป

สมมุติลูกไม่ฟัง เดินหนี คลานหนี แย่งหนังสือไปกัด เอาหนังสือไปฉีก หรือสามนาทีหลับ เหล่านี้ไม่เป็นอุปสรรค เรายังคงอ่านไปเรื่อยๆ เสมอแม้ว่าเขาจะทำอะไรก็ตาม หรือแม้กระทั่งหลับไปใหม่ๆ ปล่อยให้คลื่นเสียงของเรากระแทกเยื่อแก้วหูของเขาไปพลางๆ เพื่อส่งแรงสะเทือนผ่านกระดูกค้อน ทั่ง และโกลนที่หูชั้นกลาง ทำให้ของเหลวในวงแหวนก้นหอยของหูชั้นในเกิดคลื่นสั่นสะเทือนเข้าไปจนถึงเซลล์สมอง

เขาเดินหนี เรากั้นระยะรัศมีทำการของเขาอย่าให้กว้าง เปิดไฟสลัวอย่าให้จ้า เอากองหนังสือ ตุ๊กตา แจกันดอกไม้ ของประดับทุกชนิดออกจากห้องนอนไปให้หมด อย่าให้เหลือสิ่งเร้ามากเกินไป คลานได้คลานไปอีกหลายคืนก็จะนอนฟัง

เขาเอาไปกิน เราหยิบเล่มสำรองขึ้นมาอ่าน เขาเอาไปฉีก เราหยิบเล่มที่สามขึ้นมาอ่าน เขากินและฉีกหมดทุกเล่ม เราเอาเล่มหนึ่งขึ้นมาใหม่ เขามิใช่มีสิบเศียรยี่สิบกรจะแย่งเราได้ยี่สิบเล่มไปกินเสียสิบเล่มเสียเมื่อไร เราอ่านวนไป พอตอนเช้าก็นั่งซ่อมไปทีละเล่มๆ คืนนี้เอาใหม่ เราแพ้ให้มันรู้ไป

กิจกรรมทุกชนิด เรากำหนดกติกาได้เสมอรวมทั้งการอ่านนิทาน จะเป็น 30 นาทีแล้วปิดไฟนอนพร้อมกัน หรือ 5 เล่มแล้วปิดไฟนอนพร้อมกัน เลือกทำได้ แล้วรักษากติกา เราควรนอนหรือแกล้งนอนไปก่อน เขาหลับเราจึงลงไปชงเครื่องดื่มกิน กรึ๊บๆ กันตามประสาสามีภรรยา

อ่านนิทานมิใช่เพื่อให้เด็กฉลาดหรือรักการอ่าน สองประการนี้เป็นผลพลอยได้ จะได้หรือไม่ได้ก็ช่าง ที่เราอยากได้คือพ่อแม่ที่มีอยู่จริง เราขอเท่านี้เอง เวลาเด็กงอแงให้กระซิบนิทานใส่หูเขา หยุดทุกราย

ง่ายเหมือนปอกกล้วยเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา

Tags:

พัฒนาการประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์อ่าน เล่น ทำงานEFและการศึกษาการอ่าน

Author:

illustrator

ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Illustrator:

illustrator

antizeptic

Related Posts

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านนิทานได้อะไร ฉบับสมบูรณ์ ตอน 7 (จบ)

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านวรรณคดีไทย ลูกจะเผชิญด้านมืดได้ดีกว่าคำพ่อแม่สั่งสอน

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน : การทำงานและความจำใช้งาน (1) “เด็ก 4-7 ขวบควรทำงาน”

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน : เล่นแล้วได้อะไร ไม่เล่นแล้วเด็กจะเป็นอย่างไร

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • EF (executive function)
    อ่าน-เล่น-ทำงาน : สมอง ‘อ่าน’ อย่างไร

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel