“เราฟังลูกค้าได้ ฟังเจ้านายได้ ฟังลูกน้องได้ แต่ทำไมเราไม่เคยเปิดใจฟังลูกตัวเองบ้าง” “เรามีเวลาเล่นเฟซบุ๊ค ดูละคร ส่องไอจี แต่ไม่มีเวลาสนทนาเรื่องปัญหาและอนาคตลูก เรา outsource การศึกษาให้กับโรงเรียนได้ แต่การสร้างอนาคต เราต้อง insource กลับมาสนทนากับลูก” “ในอนาคต ลูกต้องเป็นผู้กำหนดธงนำ ธงต้องมีหนึ่งเดียว และเป็นธงของลูก ไม่ใช่ธงของพ่อแม่” ทั้งหมดนี้คือบทข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ จาก ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่หวังว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับพ่อแม่และบุตรหลาน
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
แม้จะออกตัวว่า ไม่อยากสนทนาเรื่องการศึกษา เนื่องจากไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ และไม่ได้มีความชำนาญเฉพาะ แต่เมื่อแม่ของลูกสาววัย 13 ถาม นักเขียนเจ้าของผลงานซีรีส์ ‘ปัญญา’ ทั้ง FUTURE (ปัญญาอนาคต), PAST (ปัญญาอดีต) และ ONE MILLION (ปัญญาหนึ่งถึงร้อยหมื่น) ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา จึงลองตอบด้วยประสบการณ์แบบฉับพลันทันที ด้วยหวังว่าข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ จะมีประโยชน์กับพ่อแม่และบุตรหลาน ซึ่งกำลังวางแผนสร้างอนาคตในโลกที่เปลี่ยนแปลงรุนแรงเช่นปัจจุบัน
ทำไมคุณถึงบอกว่าอุปสรรคของคนรุ่นใหม่ คือการไม่รู้จักตัวเอง
เราอยู่ในประเทศหรือในสังคมที่ไม่ได้สอนให้เด็กคิด ไม่ได้อนุญาตให้เด็กคิด ว่าแท้จริงแล้วเด็กอยากเป็นอะไร หรือศักยภาพสูงสุดของเขาคืออะไร เราออกแบบความคิดให้กับเด็กโดยความคิดของพ่อแม่ เพราะเราถูกสอนมารุ่นต่อรุ่น ให้พ่อแม่คาดหวังต่อเด็กว่าจะเติบโตเป็นอย่างนี้ๆ เพราะฉะนั้นเด็กจึงไม่ได้ถูกฝึกให้คิดตั้งแต่เด็ก เมื่อไม่มีระบบคิด… แค่การคิดเรื่องตัวเอง เด็กยังไม่ได้รับอนุญาตให้คิดเลยว่าตกลงอนาคตของตัวเองจะเป็นอย่างไร ความชอบของตัวเองที่แท้จริงคืออะไร หัวใจสูงสุดของตัวเองคืออะไร
ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
ความหมายในทางปรัชญาที่ลึกไปกว่านั้น อย่างมนุษย์คนหนึ่งเกิดมาเพื่ออะไร? เพื่อเรียนหนังสือให้สอบเข้าโรงเรียนสาธิตได้อย่างนั้นหรือ? แล้วไปเรียนโรงเรียนมัธยมชื่อดัง ไปเข้ามหาวิทยาลัย จบมาทำงานในบริษัทที่ดี ทำงานไป 30 ปี เกษียณอายุไปใช้ชีวิตที่ต่างจังหวัด แค่นั้นหรือ? เราเคยตั้งคำถามเหล่านี้กับระบบการศึกษาหรือเรื่องการเลี้ยงดูลูกมั้ยว่า ตกลงเราเกิดมาทำไม เด็กแต่ละคนมีหน้าที่อะไร ความหมายของการมีชีวิตอยู่คืออะไร เราไม่เคยตั้งคำถามใหญ่ (เน้น) ขนาดนี้กับการเลี้ยงดูลูกหลาน
ชวนคิดต่อว่าเพราะอะไรคนรุ่นปู่ย่า, พ่อแม่ถึงเลี้ยงดูและสอนโดยไม่เคยให้ลูกตั้งคำถาม
เราเติบโตมาในยุคที่เรายังไม่สบาย พ่อแม่ปู่ย่าตายายยังมีความยากลำบากทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นคำสอนที่สำคัญที่สุดคือ ‘รู้อะไรไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี’ คือต้องเอาตัวให้รอดก่อน การจะเอาตัวให้รอดก็ต้องตอบคำถามเรื่องเศรษฐกิจก่อนว่าทำยังไงที่จะ ‘เอาตัวให้รอด’ การจะเอาตัวรอดทางเศรษฐกิจแสดงว่าคุณต้องเลือกวิชาชีพที่ถูก เลือกอาชีพที่ถูก ถ้าเลือกไม่ถูกมันเอาตัวไม่รอด ถ้าเอาตัวไม่รอด เรื่องอื่นจะตามมาหมด
ฉะนั้นความกลัวสูงสุดในรุ่นปู่ย่าตายาย คือทำยังไงให้คุณจบไปแล้วมีงานทำ ให้ทำงานที่พอจะเอาชีวิตรอดได้ ซื้อบ้าน ผ่อนรถ ตั้งหลักแหล่งของตัวเองขึ้นมาได้แล้วค่อยไปคิดเรื่องอื่น ถ้าไปคิดเรื่องอื่นก่อนมันหรูหราเกินไป ยังไม่มีข้าวจะกิน ไม่มีบ้านจะอยู่ ไม่มีรถจะขับ ไม่มีอะไรที่เป็นมาตรฐานของการดำรงชีพอยู่ ไปคิดเรื่องอื่นไม่ได้ เราเข้าใจความจำกัดของยุคนั้น เข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่มีระดับชั้น คุณต้องทำตามเกณฑ์เขาไป คุณเป็นขบถตั้งแต่เด็กก็เอาตัวไม่รอดในสังคมนี้
แต่พอมาถึงรุ่นเรา ไอ้ความยากลำบากทางเศรษฐกิจในชนชั้นกลางมันได้ถูกแก้ไปแล้วในระดับหนึ่ง ความยากลำบากของลูกไม่ได้สูงเหมือนคนรุ่นเรานะ คำถามเดิม วิธีคิดเดิมในการบอกลูกหลานมันเหมาะสำหรับคนรุ่นเรา เราต่างหากที่ไม่รู้ว่า คำถามชุดใหม่ วิธีคิดใหม่ แบบไหนที่เหมาะกับเด็กรุ่นต่อไป เราก็เลยใช้วิธีคิดที่ว่า ‘เรารู้ดีกว่า’ แล้วไปคิดแทนเด็ก ทั้งที่สังคมภายนอกเปลี่ยนไปหมดแล้ว
กระทั่งตัวเด็กเอง แทนที่พ่อแม่จะเป็นแรงส่ง เป็นพลังงานที่จะทำให้เด็กเดินทางไปต่อ แต่ถึงที่สุดพ่อแม่กลับกลายเป็นอุปสรรคในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ลูกหลานเอง เพราะพ่อแม่แบกรับความกลัวที่ตัวเองเคยมีมา แล้วเอาความกลัวและความคาดหวังนี้ไปใส่ตัวเด็กและหวังว่าเด็กจะทำหน้าที่ในสิ่งที่ตัวเองหวัง หรือทำแทนเรา เติมความฝันที่ขาดหาย ความทะเยอทะยานที่เรามีอยู่ ความสำเร็จที่เราอยากได้แต่เราไม่มี เราเอาไปใส่ไว้บนบ่าลูก
ลูกหลานจำนวนไม่น้อยแบกความคาดหวังของพ่อแม่เดินไปเดินมาแถวสยามเต็มไปหมดแหละ เมื่อแบกไว้หนักขนาดนั้น มันไม่มีความเบาพอจะคิดว่า ‘แล้วสูงสุด หัวใจ หรือความฝันของตัวเองคืออะไร?’
ไม่มีเวลาว่างพอจะคิดว่าตกลงเราอยากเป็นอะไรจริงๆ เราอยากเรียนอะไร อะไรที่เราไม่ชอบ… สิ่งที่เด็กเรียนอยู่ทุกวันนี้ เกินครึ่งเขาไม่ชอบ อีกครึ่งอาจเป็นสิ่งที่เด็กไม่จำเป็นต้องรู้ ไม่จำเป็นต้องเรียนก็ได้ เด็กเลยเอาพลังงาน เอาวัยเยาว์ของเขาไปใช้ในเรื่องที่ไม่จำเป็น สูญเปล่ามาก
เด็กบางคนอยากค้นหาตัวเอง อยากมีความคิดสร้างสรรค์ อยากมีทักษะต่างๆ แต่ด้วยสังคมแบบนี้เขาทำไม่ได้ด้วยตัวเอง คนรอบๆ ข้างไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ระบบการศึกษา จะช่วยเด็กได้อย่างไร
ทุกวันนี้ระบบการศึกษาอยู่ในกระบวนการแห่งความล้มเหลว ถ้าเราโยนภาระกลับไปมันไม่เกิดผล เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะฝากความหวังไว้กับใครได้นอกจากตัวเอง การไปแก้ระบบการศึกษา คุณต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการปฏิรูประบบการศึกษาให้เป็นการ ‘ปฏิรูป การปฏิรูปการศึกษาก่อน’ แล้วเลิกพูดกันเรื่องนี้สักที เพราะตลอด 30 ปีที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จ
แต่คุณจะปล่อยลูกหลานให้เข้าสู่ระบบที่ล้มเหลว โดยที่คุณไม่ทำอะไร แล้วฝากความหวังไว้กับระบบที่ล้มเหลวเหรอ? ชีวิตจริงคุณปล่อยลูกเข้าไปอยู่ในบริษัทที่ล้มเหลว ในกิจการที่ล้มเหลวเหรอ? คุณยังไม่ปล่อยบริษัทคุณล้มเหลวเลย แต่ทำไมคุณปล่อยลูกเข้าสู่ระบบการศึกษา
เมื่อไม่ได้ วิธีแก้ที่ง่ายที่สุด คือการย้อนกลับไปที่พ่อแม่ พ่อแม่ไม่สามารถ outsource การวางแผนอนาคตของลูกจากที่อื่นได้
ถ้าระบบการศึกษาล้มเหลวและรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเร็วและสูงขนาดนี้ไม่ได้ ภาระต้องกลับไปที่พ่อแม่ พ่อแม่ต้องเริ่มดีไซน์ว่าจะวางแผนอนาคตให้ลูกหลานยังไง หนึ่ง-ต้องเอาภาระ ความคาดหวัง และความคิดของตัวเองในอดีตที่คิดว่าเป็นสูตรแห่งความสำเร็จออกจากลูกหลานไปก่อน เพราะถ้าเป็นสูตรสำเร็จ มันสำเร็จไปแล้ว และถ้ามันสำเร็จ ตัวพ่อแม่ก็รอดไปแล้ว การที่มันเคยประสบความสำเร็จในรุ่นหนึ่งมาแล้ว แต่รุ่นนี้ เป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง ทุกอย่างไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป พ่อแม่ยังไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น
เช่น เทคโนโลยีสมัยใหม่ เราบอกลูกว่าอย่าเล่นมือถือ แต่ลูกใช้ประโยชน์มือถือในการทำงานได้มากกว่าเรา เมื่อโลกภายนอกมันเปลี่ยนแปลงสูงขนาดนั้น เราไม่สามารถไปดีไซน์อนาคตเขาด้วยความคิดและความรู้เดิมของเราได้
หลังจากเอาความคาดหวังออกไปจากตัวเด็ก จากนั้นค่อยๆ สอนให้เขากล้าตัดสินใจ พร้อมให้เขารับความเสี่ยงว่า ‘ลูก ผิดได้’ เรื่องบางอย่าง ให้เขาตัดสินใจเอง อย่าบังคับ แล้วบอกเขาว่า ‘ถ้าตัดสินใจแล้วผิด เรายอมรับความเสียหายได้’ ช่วยกันประคับประคองการตัดสินใจที่ผิด แต่ไม่ใช่ไม่ให้เขาเรียนรู้การตัดสินใจเลย วางแผนให้เขาหมดทุกอย่าง แล้วถ้าผิดขึ้นมาใครรับผิดชอบ? ลูกตัดสินใจผิด ลูกรับผิดชอบ ถ้าเราตัดสินใจผิด ถามว่าใครรับผิดชอบ? เราเคยรับผิดชอบการตัดสินใจของเราเองมั้ย?
ถ้าลูกผิด… เราเคยรับผิดชอบอนาคตเขามั้ย? ความรัก ความปรารถนาดีอย่างเดียวไม่พอ พ่อแม่ต้องมีวิสัยทัศน์และรู้ด้วยว่าอะไรเกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ ต้องพร้อมให้ลูกรับความเสี่ยง เพราะในอนาคตที่โลกผันผวนสูงขนาดนี้ ลูกต้องเรียนรู้ที่จะอยู่แบบยืดหยุ่น flexible มากขึ้น เพื่อปรับตัวให้ได้กับทุกความเปลี่ยนแปลง
เมื่อเรียนรู้ที่จะเข้าได้กับทุกความเปลี่ยนแปลง ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความผิดพลาด สอนให้ลูกรับความผิดพลาดได้ ล้มเหลวได้ สอนให้ลูกบาดเจ็บได้ เสียหายได้ ลุกขึ้นได้ สู้ แล้วสอนว่านี่คืออนิจจัง เป็นความธรรมดาของโลก ไม่มีใครสำเร็จหมด ไม่มีใครยิ่งใหญ่หมด วันนี้มีสุข พรุ่งนี้อาจทุกข์ แล้วเดี๋ยวก็กลับไปสุข ให้เข้าใจสัจธรรมของโลก แล้วลูกจะอยู่กับโลกนี้ได้
ทุกวันนี้เราตั้งความหวังกับเด็กสูง แล้วเมื่อไม่ได้ก็กดดันลูกตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่ทำให้สังคมรุ่นใหม่เกิดโรคที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เด็กรุ่นนี้เป็นโรคซึมเศร้ามากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน คนรุ่นผมหาน้อยมากที่จะเป็นซึมเศร้า
อยู่ดีๆ ทำไมมนุษย์เผ่าพันธุ์เราถึงกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในยุคที่มีทุกอย่างพร้อม เรื่องทางวัตถุ ความสะดวกสบาย พ่อแม่ขับรถไปส่งโรงเรียน ทำทุกอย่างให้พร้อม? แสดงว่าต้องมีบางสิ่งที่ขาดหายไป มีบางสิ่งที่ไปคาดหวังเขาสูง ต้องมีบางสิ่งที่ไม่ตอบสนองต่อเขา ซึ่งเขาเป็นลูกค้าที่แท้จริงของระบบการศึกษา เขาเป็นคนที่สร้างอนาคต นั่นแสดงว่าต้องมีการทบทวนฐานคิดกันขนาดใหญ่ ในพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ กับคนรุ่นต่อไป ไม่อย่างนั้นความซึมเศร้าจะกลายเป็นโรคมาตรฐานของคน เหมือนคนรุ่นพ่อแม่ที่เป็นโรคเครียด
คนรุ่นพ่อแม่เราเป็นโรคเครียด และเราแบกรับเรื่องเหล่านี้ไว้และส่งต่อมา ลูกก็แบกรับความเครียดแต่สะท้อนออกเป็นความซึมเศร้า เราเครียด เราระบายออกได้ แต่เด็กไม่มีทางระบายออก เด็กจะไประบายออกจากอะไร จากที่ไหน เด็กก็ต้องไปต่อสู้ เรียนมัธยม 6 ปี มหาวิทยาลัยอีก 4 ปี ปริญญาโทอีก 2 ปี เป็น 12 ปี นี่คือ 12 ปีแห่งความเครียด ซึมเศร้ากันหมดทั้งระบบ
พ่อแม่ต้องเลิกคาดหวัง และบอกกับลูกว่า ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา เอาเข้าจริงแล้ว ระหว่างการบอกตัวเองกับบอกลูก อะไรยากกว่ากัน
เชียร์มวยยากกว่าชกเองอยู่แล้ว เชียร์ลูกให้ทำแบบนั้นแบบนี้มันง่าย ชกมวยเองมันยาก ฉะนั้นการจะให้ใครเปลี่ยนแปลงตัวเองมันยาก มันเลยเป็นความคุ้นเคย เคยชินที่เราจะสั่งลูกอย่างนู้นอย่างนี้ ถามจริงว่าในโลกสมัยใหม่เรามีอำนาจเหนือใครบ้าง แทบไม่มีอำนาจเหนือใคร สั่งลูกค้าก็ไม่ได้ สั่งลูกน้องก็ไม่ได้ สั่งเจ้านายก็ไม่ได้ เหลือแต่ลูกคนเดียว ลูกเป็นสิ่งที่ทุกคนโยนภาระไปให้เขาหมด ทุกคนสั่งลูกได้อย่างเดียวเพราะว่าลูกเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราไม่อยากให้มันเถียง เราฝึกไม่ให้มันเถียง ‘เถียงเรอะ…’ นึกออกมั้ย?
ลูกกลายเป็นเด็กดื้อเมื่อเถียง แต่ทำไมเรายอมฟังความเห็นของลูกค้าได้ รับฟังความเห็นของผู้อ่าน ผู้ชมมีคอมเมนต์ได้ เราฟังทุกคนได้หมด แต่ไม่เคยฟังลูกเราเลย ลูกเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจมีความเห็นได้ ทำไม?
ทำไมเราทำกับสิ่งมีชีวิตที่เรารักมากที่สุดด้วยวิธีการที่แย่ที่สุด เราทรีทเขาแย่ที่สุด
เราเรียกร้องสังคมที่ก้าวหน้า เรียกร้องสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ยอมรับคุณค่าสมัยใหม่ เราให้กับสังคมได้หมดเลย แต่พอเป็นลูกตัวเองบอก ‘เฮ้ย ไม่เอาว่ะ’ ต้องมีคุณค่าที่ถูกต้อง
เช่นนั้น เรา (พ่อแม่) ต้องไปแก้ความคิดที่ว่า อะไรคือคุณค่าที่ถูกต้อง?
ถูกต้อง เราต้องกลับไปหาตรงนั้น เริ่มที่ตัวเราก่อน ง่ายที่สุด… อะไรที่ตอนเป็นเด็ก เราไม่ชอบสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำกับเราที่สุด…ท่านผู้ปกครองที่เคารพ กรุณาอย่าทำกับลูกหลาน อย่าส่งต่อความผิดพลาดที่เราเคยได้รับให้กับลูกหลาน ทำตรงข้ามก็ประสบความสำเร็จได้
พ่อแม่ยุคนี้ อาจไม่สามารถใช้ความรู้จากคนรุ่นปู่รุ่นย่าได้แล้ว ขณะเดียวกันก็ขวนขวายหาความรู้ ฮาวทูเลี้ยงลูกใหม่ๆ แต่ก็สับสน ไม่รู้ว่าอันไหนถูก อันไหนผิด?
สมัยก่อนมันยากเพราะมันไม่มีสื่อ พ่อแม่ก็ไม่รู้จะจับต้องอะไร เดี๋ยวนี้หนังสือเต็มไปหมด คลิปยูทูบก็มี เลือกเอาเลยว่าคุณศรัทธาสำนักไหน หนังสือก็ย่อยความรู้ในยุคสมัยใหม่ทั้งหมดมาให้เราอยู่แล้ว องค์ความรู้สมัยใหม่ เช่น คุณสมบัติที่ดีของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 โอ้โห มีอาจารย์มาจากทั่วโลก คุณจะเรียนกับใครก็ได้ คลิปไหนก็ได้ คุณแค่อาราธนาสิ่งเหล่านี้มายึดถือเป็นสรณะไว้และคุณปรับว่า เออ… ถ้าเป็นแบบนี้ คุณจะใช้กับลูกคุณยังไง
ตอนนี้ไม่ใช่ว่าเราไม่มีความรู้ เราไม่มีการจัดการความรู้ต่างหาก ความรู้มันมาก แต่การจัดการและการเลือกคัดว่า อะไรคือความรู้ที่จำเป็นสำหรับลูกหลานเรา มันไม่มีการจัดการตรงนี้ที่ดี พ่อแม่เองก็เสียเวลา เสียพลังงานไปกับสิ่งไร้สาระ จนเราบอกว่าเราไม่มีเวลาจะทำเรื่องแบบนี้ แต่เรามีเวลาดูละคร ดูเฟซบุ๊ค ลงรูปอาหาร ลงรูปการกิน อัพเดทเรื่องการท่องเที่ยว
แต่เรากลับปฏิเสธภาระที่ต้องใช้พลังงานและเวลามาจัดการอนาคตของลูกหลาน ไม่ใช่ให้คิดแทนเขานะ แต่ต้องวางแผนอนาคตร่วมกันว่า ลูกหลานจะไปสู่อนาคตยังไง
มันมีหมดทั้งเวลาและความรู้ หัวใจสูงสุดของกลยุทธ์คือ time, talent, energy (ชื่อหนังสือ โดย Michael C. Mankins) คุณจะใช้เวลา พลังงานและปัญญายังไง ถ้าคุณเอาไปใช้กับเรื่องพวกนี้หมด คุณสำเร็จทางธุรกิจ ทางสังคม เกียรติยศชื่อเสียง แต่ลูกหลานพังทลาย คุณตอบตัวเองไม่ได้
ล่าสุดประเด็นยกเลิกสอบเข้า ป.1 พ่อแม่ส่วนใหญ่บอกว่า เข้าใจและเห็นด้วยกับคอนเซ็ปท์ แต่ข้อเท็จจริง คือ ถ้าคุณไม่ส่งลูกสอบเข้า ลูกก็จะไปอยู่โรงเรียนไร้มาตรฐาน…โลกมันโหดร้าย อย่ามองโลกสวยนักเลย?
สังคมที่แย่คือ สังคมที่มีปัญหาแต่ไม่สามารถสร้างทางเลือกให้เป็นคำตอบของปัญหาได้ เราบอกว่าเรารู้ว่าการศึกษาห่วย ระบบการศึกษามีปัญหามานาน การแข่งขันสอบเข้าเป็นเรื่องทารุณ และเราต้องยอมรับ แต่เราไม่รู้จะทำยังไง ฉะนั้น พ่อแม่ทุกคนจึงซื้อประกันหมด คือความพยายามยัดลูกเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดให้ได้ ให้ติว สอบเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดเพื่อเข้าไปอยู่ในสังคมที่ดีที่สุด หรือถ้าไม่ได้ก็ต้องซื้อโรงเรียนที่แพงที่สุด โรงเรียนอินเตอร์จ่ายปีละล้านเพื่อให้ลูกอยู่ในสังคมที่ดีแล้วหวังว่ามันจะดี นี่คือการซื้อประกันเพือให้ลูกไปอยู่ในระบบที่มันถูกต้อง
การซื้อประกันไม่ได้อันตรายอะไรเท่าไหร่ แต่มันไม่ใช่คำตอบที่แท้ของการศึกษา ในที่สุดพ่อแม่ก็ต้องกลับมาดูว่าเราจะสร้างระบบให้เป็นทางเลือกได้อย่างไรในวันที่สังคมยังไม่มีทางเลือก เราจะโยนภาระเหรอ? ในเมื่อไม่มีทางเลือก ไม่มีก็ต้องสร้างเอง
กับเรื่องอื่น เช่น เวลาคุณทำธุรกิจ มันเป็นธุรกิจที่ไม่เคยมีอยู่ในสังคม คนถึงทำมันไง มันไปต่อได้ เพราะมี demand และคุณก็ประสบความสำเร็จ แต่พอเป็นเรื่องการศึกษาคุณกลับยอมจำนน
ทำไมคุณไม่ใช้วิธีคิดเดียวกับธุรกิจว่า คุณสร้างทางเลือกได้ คุณสร้างธุรกิจใหม่ได้ ถ้าระบบการศึกษามันห่วย ทำไมคุณไม่กล้ารับความเสี่ยงที่จะสร้างธุรกิจใหม่ให้ลูกคุณได้ ไม่ต้องยัดลูกเข้า ป.1 ไม่ต้องเข้าสู่ระบบทั้งหมด
ผมไม่รู้คำตอบ ผมไม่ใช่นักการศึกษาว่าต้องสร้างระบบยังไง แต่ทำไมธุรกิจมันสร้างทางเลือกได้เต็มไปหมด ทำไมร้านดริปกาแฟมีมากมายเต็มไปหมดทั้งที่มี Starbucks มี Amazon ฯลฯ มัน custom made มาก แต่ทำไมในเรื่องการศึกษา เราทำกับลูกขนาดนั้นไม่ได้ เราแค่อยากจะ outsource ภาระเข้าไปในระบบมากกว่า เพื่อที่ตัวเองจะไปทำอย่างอื่น
คุณ outsource การศึกษาได้ แต่ outsource การวางแผนอนาคตให้ลูกไม่ได้ คุณ (พ่อแม่) ต้องรับภาระอันนี้ เฉพาะเวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลง
พ่อแม่บางคนที่มีเวลาหรือโอกาสมากพอ ก็เริ่มหันไปโฮมสคูลหรือโรงเรียนทางเลือก แต่ทุกคนไม่ได้มีความพร้อมขนาดนั้น ถามแบบกำปั้นทุบดินเลย ทำยังไงดี
วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง ปล่อยลูกให้อยู่ที่โรงเรียน 8 ชั่วโมง ให้ลูกนอน 8 ชั่วโมง คุณยังเหลือเวลาอีก 8 ชั่วโมง คำถามคือ คุณจะใช้ 8 ชั่วโมงนั้นยังไง? ไม่ต้องใช้ครบ 8 ชั่วโมงก็ได้นะ เวลาคุณภาพ quality time ในการสอนลูกไม่ต้องสอนถึง 8 ชั่วโมงหรอก แค่หาเวลาอาทิตย์ละ 1-2 หรือ 3 ชั่วโมง ใช้ปัญญาของคุณที่มีนั่งคุยกับลูกหน่อยได้มั้ย
ใช้เครือข่ายคุณที่มี เอาเพื่อนฝูงที่เก่งๆ ที่อยู่หลากหลายวงการมาตั้งวงคุยกัน แล้วคุยกับลูกคุณหน่อยได้มั้ย เอาลูกเพื่อนมาเจอ มาคุยกัน ตั้งระบบการศึกษา สอนวิธีคิดกันได้มั้ย
ใช้แค่ 2 ชั่วโมง/วัน อาทิตย์ละ 3 วัน เป็น 6 ชั่วโมง คุณหาเวลาแบบนั้นได้มั้ย? ไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไร เอา 1 ชั่วโมงใน 7 วันคุยแบบเข้มๆ เรื่องชีวิต ฟังเขาหน่อย หาทางช่วยเขาขบคิดสักชั่วสักโมงได้มั้ย
ใน 7 วัน ไม่มีสัก 2 ชั่วโมงเลยเหรอ? ลดการอาบน้ำดีมั้ย จะได้เอาเวลา 2 ชั่วโมงคืนมา เลิกดูซีรีส์ เลิกดู Netflix สักหน่อยมั้ย แล้วเอา 3 ชั่วโมงที่เข้มข้นมาคุยกับลูก
ใครจะสอนลูกได้ดีที่สุดเท่ากับตัวคุณ ยีนของเขาอยู่ในตัวคุณ และยีนของคุณอยู่ในตัวเขา มันมีสายใยที่เชื่อมกันได้ระหว่างพ่อแม่ลูก เพียงแต่คุณต้องฝึกเป็นผู้ฟังบ้าง ไม่ใช่ผู้พูด
คำถามต่อมาคือ คุยกับลูก และฟังลูกด้วยท่าทีอย่างไร
ถ้าคุณคิดว่าลูกคือลูก คุณก็จะสั่งตลอดเวลา ให้ลูกทำตามความคิดคุณตลอดเวลา
เวลาคุณไปเสนองานกับลูกค้า คุยกับเจ้านาย เขาพูดอะไรทำไมคุณฟังหมด? คุณกล้าเถียงเหรอ คุณกำลังพรีเซนต์งานแล้วลูกค้าแย้งขึ้นมา คุณกล้าขัดเหรอ คุณต้องรอให้เขาพูดให้จบ หรือเวลาเจ้านายพูด คุณต้องรอให้เขาพูดให้จบ นายกฯ พูด ผมยังต้องทนฟังเลย แกพูดอยู่คนเดียวอะ
ถ้าคนที่คุณรักมากที่สุดอย่างลูกพูด ทำไมคุณไม่ฟัง ทำไมทนฟังลูกไม่ได้ กลับข้างสิ คิดว่านี่คือลูกค้าคุณ เจ้านายคุณ นายกรัฐมนตรีของประเทศคุณ คุณฟังแบบนั้น คุณจะได้ยิน แต่ถ้าไม่ฟังเขาเลยและคิดว่าเขาเป็นลูก คุณจะไม่มีทางได้ยิน
นัดกันทุกวันศุกร์ตอนเย็นก็ได้ ปิดทีวีแล้วฟังลูกซะ คืนความสุขให้ลูกคุณ ฟังลูกคนอื่นมาเยอะแล้ว ฟังลูกคุณช้าๆ คุณจะเปลี่ยนท่าที ไม่ตัดสิน
เราแค่เปลี่ยนจุดยืน ยกเขาให้สูงขึ้น อยากฟังเขา อยากช่วยเขา ฟังเขาให้มากแล้วเขาจะเล่า ถ้าเมื่อไรที่ไปตั้งแง่กับเขา ตั้งกำแพงกับเขา เราจะไม่มีทางรู้ความจริงที่อยู่ลึกที่สุดในใจเขา ความฝัน ความรัก ความกลัว ความกังวล จนกว่าเราจะฟังเป็น เราถึงจะเข้าใจหัวใจเขา ถ้าไม่เข้าใจหัวใจเขา-เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้
พอฟังเขา ไม่ตัดสิน เป็นเพื่อนช่วยคิด ช่วยหาวิธีออกแบบของเขาเอง แล้วธงของพ่อแม่เอง ควรเป็นอย่างไรที่จะไม่ทำร้ายธงลูก
พ่อแม่ต้องเอาธงออกก่อน ธงมีได้แค่ธงเดียว หาให้เจอว่าธงของเขาคืออะไร แล้วจะทำยังไงให้เขาใช้ชีวิตให้ไปถึงธงนั้นได้ ให้เขารับผิดชอบในธงของเขาเอง อย่าเอาธงเราไปคู่กับธงเขา เพราะเกิดธงไปคนละทิศ ธงเราไปตะวันออก ธงเขาไปตะวันตก ถามว่ารถคันนี้จะไปทิศไหน? รบไม่ได้เพราะมี 2 ธง ไม่มีที่ไหนที่มี 2 ธงแล้วจะไปสู่อนาคตที่ดี ต้องมีหนึ่งธง และธงนั้นต้องเป็นธงของลูก
ลูกจะหาธงยังไง ในเมื่อยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบหรืออยากเป็นอะไรเลย
เพราะไม่ได้ถูกฝึกมาตั้งแต่เด็กไง ไม่ใช่ความผิดของเขา เราไม่เคยสอนให้เขากล้าตัดสินใจตั้งแต่เด็กๆ แล้วอยู่ดีๆ วันหนึ่งถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร แต่เขาไม่เคยมีอำนาจในการตัดสินใจมาก่อนเลย แล้ววันนี้บอกว่าช่วยตัดสินใจหน่อยซิ ใครจะไปตัดสินใจเป็น
ฉะนั้นต้องคืนอำนาจตัดสินใจให้เขาไปก่อน ให้เขากล้าตัดสินใจก่อน และลองผิดลองถูกก่อน ลองผิดไม่ได้แปลว่าผิด ลองผิดก็คือลองผิด ลองถูกก็คือลองถูก แล้วค่อยๆ กล้าตัดสินใจ ทิ้งสิ่งที่ไม่ชอบไม่ใช่ไปเรื่อยๆ
ไม่ต้องรู้ว่าชอบอะไร ไม่ต้องรู้ว่าอะไรใช่ แต่ทิ้งสิ่งที่ไม่ชอบไปเรื่อยๆ ในที่สุดมันจะเหลือสิ่งที่ชอบ เมื่อเจอสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ ฝึกไปเรื่อยๆ จะเจอสิ่งที่ใช่ เมื่อเจอสิ่งที่ชอบและใช่ ทีนี้ก็ใส่พลังงานไปให้เต็มที่เพื่อไปตามหาและเจอธง
ทีนี้ต้องให้เวลาช่วงนี้ยาวพอ เพราะที่ผ่านมาเราไม่เคยให้เวลาช่วงนี้ในระบบการศึกษาเลย และไม่เคยให้เวลาช่วงนี้เลยเวลาอยู่บ้านกับครอบครัว เหมือนเราทำงานในชีวิต ผ่านหน้าที่การงานกันมาหมดทุกคน รู้ได้ยังไงว่าอะไรชอบ อะไรใช่? ไม่รู้ไง ก็ลองผิดลองถูก และครั้งหนึ่ง สิ่งที่เคยถูก อาจไม่ถูกแล้วก็ได้ ก็ลองกันใหม่ ผ่านกระบวนการเดียวกับลูกเรานั่นแหละ ถ้าเรายังหาเจอ ดำรงตนดำรงชีวิตอยู่ได้ ทำไมเด็กซึ่งอ่อนเยาว์กว่า ปรับตัวง่ายกว่า จะดำรงตนอยู่ไม่ได้ หรือหาไม่เจอ พ่อแม่ต้องเริ่มลงมือตั้งแต่วันนี้ อย่า (เน้นเสียง) ผลักภาระไปสู่อนาคต
ทักษะอะไรที่ควรมีติดตัว เพื่อพร้อมไปอยู่ในโลกอนาคตที่ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
ตอบแบบง่ายที่สุด สังคมมนุษยชาติต้องการความเป็นมนุษย์ที่แท้
แล้วมนุษย์ที่แท้คืออะไร? มนุษย์ที่แท้คือสิ่งที่เครื่องยนต์ไม่มี ความเห็นอกเห็นใจ ผมไม่แน่ใจว่าเครื่องจักรจะผลิตความเห็นอกเห็นใจให้เราได้นะ ความเมตตา ความดีที่เรามีต่อกัน มิตรภาพไมตรีจิตที่เรามีต่อกัน มันมีคุณสมบัติที่สำคัญที่เป็นนามธรรมทั้งหมด การรู้จักให้อภัย หุ่นยนต์ให้อภัยเป็นมั้ย? แพ้เป็นมั้ย? มนุษย์เล่นแพ้เป็นนะ
ความเป็นมนุษย์ที่แท้คือสิ่งจำเป็น ซึ่งมันต้องหวนกลับมาสู่จุดนี้ ไปศึกษาคัมภีร์โบราณ ศึกษาคุณสมบัติของนักปราชญ์ คุณสมบัติผู้นำทางจิตวิญญาณที่อยู่บนโลกได้โดยไม่ทุกข์โศก ปรับตัวกับโลกได้โดยเข้าใจสัจธรรมของชีวิต ความเป็นมนุษย์ที่แท้เป็นคุณสมบัติเดียวที่จะอยู่ในโลกสมัยใหม่ได้และมีความสุข แล้วก็แจกแจงเป็นคุณสมบัตินามธรรมเต็มไปหมดเลย มันอยู่ในตำราเรียนแล้วทั้งหมด อยู่ในตำราทางศาสนาแล้วทั้งหมด เราแค่อาราธนาแล้วเอามาใช้จริง มันจะไม่อยู่ในตำราอีกต่อไป
เราต้องทิ้งคุณสมบัติของหุ่นยนต์ไป ทั้งการคิดเป็นระบบ หรืออะไรหลายต่อหลายอย่าง เพราะระบบจะทำงานแทนเราได้ ต้องสร้างคุณสมบัติที่เป็นจิตวิญญาณมนุษย์กลับคืนมา และนั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ต้องมีให้กับลูกหลาน
ด้วยการทำให้เห็น?
ใช่ ผมถึงบอกให้ลองผิดลองถูกไง คุณจะได้รู้ว่าต้องยืดหยุ่นในโลกสมัยใหม่ คุณต้องแพ้เป็น เพราะบางทีคุณก็แพ้ในการแข่งขัน คุณต้องให้อภัยเป็นเพราะบางทีคุณก็ทำผิด บางทีความขัดแย้งก็ต้องมีเมตตากรุณา เพราะทุกคนก็ไม่ได้ดีเสมอกันหมด บางทีมันเปลี่ยนอะไรไม่ได้ก็ต้องวางอุเบกขาแล้วคุณจะก้าวข้ามความขัดแย้ง รับให้ได้ว่าโลกเป็นอนิจจัง
ความสำเร็จทางธุรกิจวันนี้ อีกสามปีอาจล้มเหลว คุณจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่สูงขนาดนี้ได้ยังไงถ้าคุณไม่มีคุณธรรมของความเป็นมนุษย์ที่แท้ในใจ
หมายถึง เอาความเป็นมนุษย์มาเป็นเกราะคุ้มกันตัวเอง?
เราเป็นมนุษย์ คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่ในตัวอยู่แล้วไม่ต้องไปหาข้างนอกเลย แต่เราแค่หลงลืมมันไป และคนที่ทำให้หลงลืมมากที่สุด คือระบบการศึกษาและพ่อแม่
เราสอนให้ลูกไปแข่งขัน อย่างที่ว่า… สอบเข้า ม.1 ก็ต้องเอาชนะเพื่อนละ เอาเกรดไปข่มเพื่อน เพื่อนได้ที่เท่าไรไม่รู้แต่ลูกกูได้ที่ 1 2 3 ห้องมี 50 คน แต่อีก 47 คนที่เหลือจะคิดยังไง เราเป็นคนเรียนเก่งไม่ค่อยรู้สึกหรอก เรา (สอบได้) ที่ต้นๆ เราก็ภาคภูมิใจมาตลอด แล้ววันหนึ่งถ้าเราไม่ได้เรียนเก่ง เราไม่ได้อยู่ที่ 1 เราอยู่ที่ 50 พ่อแม่จะมีทีท่ายังไงกับลูกที่สอบได้ที่ 50 ของห้อง เราเคยคิดมั้ย? แล้วมันเป็นไปได้เหรอที่จะไม่มีคนที่ได้ที่ 50 ของห้องในห้องที่มี 50 คน มันต้องเป็นลูกใครสักคนล่ะ แล้วที่ 48 ละ 49 ละ 47 ละ ความภาคภูมิใจมีแค่ที่ 1 เท่านั้นเหรอ? ชีวิตจริงได้ที่ 1 ทั้ง 50 คนได้เหรอ?
การได้ที่ 50 ไม่มีความหมายเหรอ เขาอาจจะกลายเป็นเชฟที่ทำอาหารอร่อยที่สุดก็ได้ คนที่ได้ที่ 49 อาจเป็นช่างตัดเสื้อที่เก่งที่สุดก็ได้ ที่ 48 ไม่ขยันเรียนเลย อาจเป็นนักดนตรีที่เก่งที่สุดก็ได้ ที่ 47 ไม่ขยันเรียนเลย ไม่ชอบอะไรเลย อาจทำอาชีพใหม่ที่ไม่เคยมี และประสบความสำเร็จก็ได้
อย่าทำลายเขา เห็นใจเขาว่าเขาไม่ได้แข่งในเกมเดียวกับเรา หาคุณสมบัติเหล่านี้ให้เจอ นี่คือความเห็นใจกันในความเป็นมนุษย์
เรากำลังบอกว่าระบบการศึกษาล้มแล้ว พ่อแม่ต้องช่วยลูกหาแล้วหยิบคุณสมบัติความเป็นมนุษย์เหล่านี้กลับคืนมา?
เอาง่ายๆ เลย สมัยเราเด็กๆ แล้วเกิดวิกฤติ มีคนบ้าบุกเข้าไปในโรงเรียน ถามจริงเราจะทิ้งลูกไว้ในโรงเรียนมั้ย? พ่อแม่ทุกคนทำไง (วิ่งไปรับลูก?) พ่อแม่ทุกคน ไม่ว่าอยู่ไกลแค่ไหนจะวิ่งไปรับลูกจากโรงเรียนกลับมาอยู่ในอ้อมกอดของตัวเอง แล้ววันนี้เราบอกว่าการศึกษาล้มเหลว พ่อแม่ทุกคนรู้อยู่แก่ใจ มันไม่ได้ล้มเหลวโดยสมบูรณ์หรอก แต่เรารู้อยู่แก่ใจ ว่ามันเป็นระบบที่กำลังล้มเหลว ทำไมเราไม่ดึงลูกกลับมาอยู่ในอ้อมกอดของเราล่ะ
ทำไมต้องรอให้เกิดวิกฤติ แล้วเราถึงเอาเขสกลับมา ทำไมไม่ช่วยเาาตั้งแต่ยังไม่เกิดวิกฤติ
ในเมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าระบบการศึกษามันวิกฤติ เราจะดันเขาไปต่อ คนบ้าถือมีดในโรงเรียนหนึ่งคน กับระบบที่ล้มเหลว ผมไม่แน่ใจว่าอะไรมันอันตรายกว่ากัน ทำไมพ่อแม่ถึงรู้สึกว่า ‘เออ… ปล่อยไปก่อน ฝากไว้ก่อน’
ทำไมไม่รีบขับรถไปรับลูกจากโรงเรียน คุณรับลูกทุกวันคุณรู้มั้ยว่ามันมีวิกฤติ? คุณก็รู้ แต่คุณทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ใครน่าห่วงกว่ากัน ระหว่างลูกกับพ่อแม่
พ่อแม่น่าจะน่าห่วง เพราะเซนส์ในการปรับตัวของพ่อแม่น่าจะต่ำกว่าลูก ความสามารถในการเรียนรู้โลกสมัยใหม่และการปรับตัว เราต่ำกว่าลูก คนที่ต้องห่วงคือเรา ลูก… ถ้าเก่งจริงแล้วไปสู่อนาคตได้ เขารอด ภาระ ของลูกคือต้องมาเลี้ยงดูคนรุ่นเราซึ่งไม่ปรับตัว แล้วเราต้องเผชิญความท้าทายทางเทคโนโลยีอีก 50 ปี
ตอนเราอายุ 90 เราจะทำตัวเป็นคนแก่ที่ไม่น่าเบื่อและไม่เป็นภาระต่อลูกหลานยังไงต่างหาก ลูกหลานที่ต้องเลี้ยงพ่อแม่ที่น่าเบื่อตั้งแต่อายุ 60 70 80 เป็นเวลา 30-40 ปี ในสังคมที่กำลังจะกลายเป็นสังคมสูงวัย (aging society) ภาระตกไปอยู่กับลูกหลานมากนะ ถ้าพ่อแม่ไม่ปรับปรุงตัวเอง ไม่แอคทีฟไม่เรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่ ไม่ relearn สกิลที่ต้องมีในอนาคต
เราจะเริ่ม relearn อย่างไร
ไม่เชิงปรับใจแต่เปิดใจ ว่าความรู้ที่เราเคยมี ชุดความคิดที่เคยมีมาในอดีตมันอาจใช้ไม่ได้กับอนาคต ซึ่งวันนี้ที่เราอยู่ในวงการสื่อสาร โฆษณา หรือทุกธุรกิจ เราเห็นแล้วว่ามันเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว ธนาคารเปลี่ยน ธุรกิจขนาดใหญ่ล้มหายตายจาก ไอ้ที่เคยเป็นยักษ์ใหญ่ทั้งหลาย กำลังจะไม่ยักษ์ใหญ่อีกต่อไปหรืออาจถึงขั้นล่มสลาย ถ้าเราเพียงแค่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลง เราก็รู้ว่าเราต้องเริ่มเรียนรู้ใหม่ละ
เรียนรู้ใหม่อย่างไร? คนทำหนังสือ เราบอกว่าง่ายที่สุด คุณเริ่มอ่านหนังสือก่อนเลยว่าความคิดสมัยใหม่ ที่เขาคุยกันในโลกสมัยใหม่มันคืออะไร แล้วหัวใจสำคัญคือ เรียนรู้วิธีคิดในการเรียนรู้ว่า ‘ถ้าอยากเรียนรู้ เรียนอย่างไร’
มันเลยกลับมาสู่ที่เราคุยกันทั้งหมดว่า คุณต้องรู้ว่าคุณเรียนอย่างไร วิธีไหน คุณเรียนรู้ด้วยการอ่าน การฟังคลิป ฟังคนสนทนา ฯลฯ แล้วคุณใช้กระบวนการนั้นเริ่มเรียนรู้ใหม่ ต้องรู้วิธีการเรียนก่อนแล้วถึงไปสู่องค์ความรู้ได้ แต่ทั้งหมดจะเรียนด้วยวิธีใดก็ได้
ในหนังสือ ‘Future’ คุณเขียนไว้ว่าเราต้องค้นหาว่าเราแข็งแรงหรือเด่นเรื่องอะไร และทำให้มันดีไปเลย แต่โลกอนาคตพูดถึงความจำเป็นของการมีสกิลหลากหลาย multitask – เราจะเอายังไงกันดี
เราไปแบ่งแยกกันระหว่าง หนึ่ง กับ หลาย ผมถึงเขียน ‘one กับ million’ เราต้องเลือก (อะไร) ระหว่าง one หรือ million วะ? เราเป็น ‘one ใน million’ หรือเป็น million (อย่างเดียว) คือรู้ทุกเรื่อง เพราะเราแบ่งว่าเราจะ multitask หรือมีจุดแข็งเรื่องนี้ ไม่ใช่…ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน
ความรู้ในโลกสมัยใหม่มันจะเชื่อมกันหมด เรามีหน้าที่ต้องเห็นการเชื่อมต่อของมันว่าเป็นเรื่องเดียวกันหมด คุณไม่สามารถเลือกว่าจะเรียนวิทย์แล้วทิ้งศิลปศาสตร์หรือทิ้งสุนทรียศาสตร์ได้ ทั้งหมดเป็นเรื่องเดียวกัน คือองค์ความรู้ที่มีในโลกชุดหนึ่ง ซึ่งใหญ่มากและมนุษยชาติได้สร้างขึ้นมา วันดีคืนดีในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมคุณก็ไปแบ่งสาขา ให้เด็กไปเรียนตามสาขาต่างๆ แล้วบอกว่าต้องเชี่ยวชาญหรือรู้เฉพาะสาขา แต่เทคโนโลยีข้างหน้ามันจะทำลายกรอบความคิดนี้จนความคิดเชื่อมเข้าหากันทั้งหมด
เมื่อความรู้เชื่อมเข้าหากันทั้งหมด เราจำเป็นต้องรู้ความรู้แบบนี้ในภาพใหญ่ เมื่อความรู้ในภาพใหญ่ ทุกคนรู้เสมอกันหมด แต่มนุษย์ไม่ได้ถูกสร้างให้เป็นระบบอุตสาหกรรมที่เป็นแบบแผนเดียวกันทั้งหมด
หัวใจสำคัญคือ เมื่อรู้เสมอกันหมดก็ต้องกลับมาดูว่า ถ้าอย่างนั้นอะไรคือความสามารถเฉพาะตัวของเราที่เราเก่งที่สุด เพราะสิ่งที่โลกสมัยใหม่ต้องการ คือทักษะที่สูงมากในด้านในด้านหนึ่งเพื่อที่เราจะดำรงชีพอยู่ได้เป็นอาชีพ ด้านนั้นเราต้องสูงที่สุด
คุณอาจจะรู้ฟิสิกส์ ชอบวางแผน ดริปกาแฟ เข้าใจหมด แต่คุณอาจเลือกอาชีพเป็นช่างตัดสูทที่เก่งที่สุดก็ได้ คุณอาจรู้วิทยาศาสตร์ เข้าใจแคลคูลัส ชอบดูดาว แต่คุณเลือกอาชีพเป็นนักทำขนมปัง เพราะคุณผสมสูตรออกมาแล้วมันอร่อยมาก คุณก็เลือกจะทำขนมปังแต่ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่รู้เรื่องอื่นไง
มันต้องหาให้เจอ รู้กว้างและลึก มันเป็นเรื่องเดียวกัน ยิ่งรู้กว้างก็จะยิ่งเข้าใจว่าความลึกคืออะไร แต่ถ้ารู้ตื้นๆ รู้แคบๆ คุณก็นึกว่าคุณรู้ลึก คุณแคบไง คุณไม่เห็นการเปรียบเทียบ แต่รู้กว้างคือเห็นทั้งระนาบ เมื่อเห็นทั้งระนาบ คุณจะรู้เลยว่าระนาบมันกว้างขนาดนี้
วิธีที่จะอยู่รอดได้ คุณต้องรู้ลึกเพราะคุณเห็นแล้วว่ามีคนไหนที่รู้ไม่ลึก เมื่อลึก คุณก็ขึ้นมาได้ แล้วพอทุกคนลึกหมด สังคมที่กว้างมากและมีความลึก มันจะมั่นคง ฉะนั้นมันเป็นเรื่องเดียวกัน one และ million เป็นเรื่องเดียวกัน แต่เราต้องเข้าใจภาพใหญ่ของมันทั้งหมด
การรู้กว้างทำให้เกิดข้อเปรียบเทียบ การรู้ลึกทำให้รู้จักตัวเอง ทั้งหมดคือเรื่องเดียวกัน อย่าแยกกัน one และ million คือเรื่องเดียวกัน
ความรู้ที่คุณใช้กับลูก เป็นความรู้แบบไหน
ที่เราเล่าทั้งหมด ไม่ได้เล่าจากทฤษฎี แต่คือสิ่งที่เราทำ ฉะนั้น อะไรที่เราไม่ชอบสิ่งที่คนรุ่นพ่อแม่ทำกับเรา อะไรที่ไม่ชอบที่โรงเรียนทำกับเรา เราจะไม่ทำกับลูก ไม่ใช่ลูกอย่างเดียว ไม่ทำกับเด็กรุ่นต่อไป ลูกหลานหรือเด็กในเจนเนอเรชั่นต่อไป เราจะไม่ทำกับเขา อะไรที่เราบอกลูกได้เราจะบอกคนอื่น นี่คือเหตุผลที่เราเขียนหนังสือเหล่านี้ เพราะเราไม่คิดว่ามันจะมีประโยชน์อะไรที่จะเอาความรู้เหล่านี้สอนเด็กแค่ 1 หรือ 2-3 คน ถ้าความรู้แบบนี้สอนคน พันคน หมื่นคน แสนคนได้ ความรู้ไม่ได้หายไป องค์ความรู้ยังอยู่ เรายินดีจะพูดเรื่องเหล่านี้ให้ฟัง เพราะถ้าเด็กสิบคน ยี่สิบคน ร้อยคน พันคน เขาคิดได้ มันจะเป็นประโยชน์มหาศาลต่อชีวิตเขา การที่ลูกคนอื่นดีหมดทั้งประเทศ ไม่ได้แปลว่าลูกเราแย่ลงนะ
ทั้งระนาบในมุมกว้างจะดีขึ้นไปหมด และแต่ละคนจะรู้จักตัวเอง สังคมที่เขาจะเติบโตขึ้นในรุ่นต่อไปจะดีขึ้น มันคืออนาคตของประเทศ พ่อแม่ต้องลงมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในอนาคต มันไม่ง่าย แต่รุ่นเรามีศักยภาพ ทำได้ ก็พ่อแม่หรือคนในรุ่นเราล้วนประสบความสำเร็จในอาชีพการงานกันเป็นจำนวนไม่น้อย ไม่งั้นประเทศเราเดินมาขนาดนี้ไม่ได้
ถ้าคุณประสบความสำเร็จในการงาน ในอาชีพคุณ ทำไมคุณจะถอดสูตรสำเร็จ ถอดปัญญาที่เรียกว่าวิชาชีพที่คุณมีทั้งหมด แล้วส่งมอบองค์ความรู้เหล่านี้เพื่อลูกเพื่อหลานไม่ได้ สังคมเดินมาถึงขนาดนี้ มันต้องมีสูตรสำเร็จอะไรบางอย่างที่แต่ละคนมี เราก็ส่งมอบความรู้เหล่านี้ต่อเนื่องไป
คนรุ่นปู่ย่าตายายเลี้ยงเรามาได้ก็ต้องมีสูตรสำเร็จ ปัญญาบางอย่าง เราถอดเอารหัสเหล่านี้แล้วส่งมอบ อะไรไม่ดีก็ทิ้งไปซะ ยุคสมัยเปลี่ยนก็เก็บแก่นของปรัชญา ที่เราชอบเรียกว่าเคล็ดวิชา ถ้าคุณเข้าใจเคล็ดวิชาคุณจะจับหลักมาใช้ได้ แต่ถ้าเข้าใจรายละเอียดทั้งหมดและไม่เข้าใจแก่นกลางวิชา คุณจะเห็นปัญหายิบย่อยเต็มไปหมด เพราะคุณไม่เข้าใจว่าหัวใจที่สำคัญสูงสุดของมันคืออะไร
สิ่งที่เราพยายามถ่ายทอด ทำไมต้องสั้น กระชับ เพราะเราถ่ายทอดเคล็ดวิชา เราไม่ได้ถ่ายทอดรายละเอียดทั้งหมด เราบอกแค่วิธีคืออะไร สอนวิธีคิดแต่ไม่ได้สอนว่าปฏิบัติทำยังไง ใครจะไปสอนการปฏิบัติได้ สูตรใครก็สูตรมัน
แต่คนจำนวนมากชอบฮาวทู มันง่ายเกินไปที่จะเอาวิธีเหล่านี้ไปใช้กับทุกคน
มันเป็นธรรมชาติของเพจ ของเฟซบุ๊ค ของโซเชียลมีเดีย ที่จะอ่านเพื่อผ่านไปเร็วๆ เราไม่เคยประมวลผล ไม่เคยตกตะกอน ไม่เคยนั่งคุยกันยาวๆ ไม่เคยถอดความแล้วคุยกันให้ลงลึก คุยกันเนี่ย… เราเห็นแววตาที่มีความเจ็บปวด แล้วทุกคนไม่เคยได้ลงลึกกันขนาดนี้ ไม่เคยได้จิบชา ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงก่อนสนทนา แล้วก็สนทนากันไปอีก 1 ชั่วโมง แล้วคนฟังจะได้มีเวลาค่อยๆ คิด
ที่คุยกันขนาดนี้ ต่อให้ไม่มียอดไลค์ ยอดวิว แต่ถ้ามีพ่อแม่สัก 100-200 คนที่เข้ามาดูเรา แล้วไปใช้วิธีใหม่กับลูกหลานเขา เขาได้ประโยชน์ เราก็ได้ประโยชน์แล้ว ถือว่าคุ้มค่าที่เรามานั่งคุยตลอดบ่าย
เรามีหน้าที่ต้องคุย ไม่ยอมจำนน ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อไม่ยอมจำนน เราเป็นคนวงนอก เราเล่าจากประสบการณ์ สิ่งที่ทำ เราอาจเป็นกบฏมาก เราก็สอนให้เด็กเป็นกบฏได้มากกว่า แต่พื้นฐานมันมีอยู่แล้วทั้งหมด เราแค่อาราธนามันมาใช้เท่านั้น
เด็กสมัยนี้ถูกสอนให้อยู่ใน safety zone กลัวผิด ตลอดเวลา เราจะพูด ประคอง อย่างไรเพื่อให้เขาเห็นว่า ความกล้าไม่ใช่เรื่องผิด
มันง่ายมาก ลองกลับข้าง เพราะที่ผ่านมา ถ้าเรากล้าและทำผิด เราจะถูกลงโทษ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ก่นด่า เสียหาย แต่ถ้าเรากล้า และต่อให้ผิดก็ได้รับคำชม ได้รับกำลังใจ ปลอบใจ และสนับสนุนให้ไปต่อ เมื่อไรที่ใช้ความกล้าแล้วได้รางวัล คนจะใช้ความกล้า แต่ถ้าเมื่อไรใช้ความกล้าแล้วผิด คนไม่อยากรับความเสี่ยง
เด็กไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่โง่เขลา ใครจะอยากรับความเสี่ยงแล้วมีแต่คำวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ได้รับคำชมเลย ไม่ได้รางวัลจากการใช้ความกล้าหาญเลย ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้เมื่อกล้าหาญแล้วได้รับรางวัล พ่อแม่มีหน้าที่ต้องให้สิ่งที่เป็นบวก เมื่อลูกหลานใช้ความกล้า
ในสังคมเรา คนกล้าถูกลงโทษ ในสังคมที่คนกล้าถูกลงโทษ จะมีคนกล้าหาญได้ยังไง? ในสังคมที่คนปอดแหกได้รางวัลชีวิตโดยการเป็นคนดี จะมีคนกล้าหาญในสังคมได้ไง และในสังคมที่ไม่มีคนกล้าหาญ จะไปสู่อนาคตได้ยังไง? ต้องให้รางวัลคนกล้า แม้จะผิดพลาด
สภาพสังคมเองก็ไม่ได้หล่อหลอมให้เด็กกล้า
อย่างน้อยเราเป็นพ่อแม่ เราอาจบอกว่า โอเค… สังคมภายนอกมันเป็นยังงั้นนะลูก แต่ที่สุดเราต้องรู้ว่า เรากล้าได้ และความผิดพลาดไม่ถูกลงโทษ ความผิดพลาดคือบทเรียนที่คุณจะไปต่อได้ ความผิดพลาดไม่มีอยู่จริงหรอก ทางใดทางหนึ่งๆ ลองไปเรื่อยๆ เราจะรู้ได้ยังไงว่าความผิดพลาดในวันนี้จะไม่ใช่บทเรียนของความสำเร็จในอนาคต เราจะรู้ได้ยังไงว่านี่ไม่ใช่บทเรียนที่ดีที่สุด
บทเรียนที่ดีที่สุด เราได้ตอนเราพลาดหลายๆ เรื่องในชีวิต ปัญญาสูงสุดเกิดตอนทุกข์ที่สุดในชีวิต เรื่องนั้นสอนคุณได้ลึกที่สุด และถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจเรื่องแบบนี้ ก็ยากที่จะไปสอนลูก บทเรียนที่สอนเราที่สุด คือตอนที่เรายากลำบาก เมื่อเรายากลำบาก เราผิดพลาดล้มเหลว เราเยียวยาตัวเองแล้วลุกขึ้นใหม่ได้ เราจะเกิดปัญญาขั้นสูง ซึ่งวิชาความรู้ต่างๆ สอนเราไม่ได้ เพราะองค์ความรู้เหล่านี้เกิดขึ้นในใจและจิตวิญญาณ และถ้าเราไม่ลองให้ลูกผ่านบททดสอบทางจิตวิญญาณนี้เลย ลูกจะโตขึ้นมาเป็นคนเข้มแข็งได้ยังไง ลูกเลยซึมเศร้าหดหู่ไปทั้งประเทศ และรู้ว่าการเข้าสู่โหมดซึมเศร้าหดหู่มันปลอดภัยกว่า
หลายคนเป็นโรคอยากซึมเศร้า เพราะต้องการให้ทุกคนมาปกป้องเรา แต่ทำยังไงให้ไม่ต้องรู้สึกเป็นโรคอยากซึมเศร้า เป็นโรคอยากลองดีกว่า ลองดู แล้วไม่มีใครรังแกในความผิดพลาดของคุณ โห… คุณดีมากเลยที่คุณลองผิด นี่คือหัวใจของการมีชีวิตอยู่ในโลกเลยนะ คุณต้องผิดอยู่แล้ว คุณต้องรีบลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ แล้วคุณจะเจอทางของคุณ
แล้วสังคม การศึกษา โรงเรียน พ่อแม่ อย่าลงโทษลูกที่ลองผิดลองถูก ต้องให้กำลังใจลูกว่าลองผิดลองถูกได้ เขาจะเจอทางของเขา และทุกครั้งที่เขาเจอผิดหรือถูก จะไม่มีใครก่นด่าหรือลงโทษเขา สังคมก็ไม่ควรก่นด่าลงโทษเด็กที่ลองผิดลองถูกและผิดพลาด นี่คือคุณสมบัติของมนุษย์ยุคใหม่ที่จำเป็นมากในศตวรรษที่ 21 คือความเป็นมนุษย์ที่แท้