ถาม-ตอบทุกประเด็นสำคัญเรื่องการยกเลิกสอบเข้า ป.1 ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้า ครม. ยกเลิกสอบเพราะอะไรคงมีคำอธิบายไปเยอะแล้ว แต่ยกเลิกสอบแล้วจะไปต่ออย่างไร ในเมื่อคุณภาพของโรงเรียนในประเทศไทยยังไม่เท่ากัน แต่ถ้าไม่ผ่าน เด็กอนุบาลยังคงต้องติว-สอบๆ ต่อไป แล้วเด็กจะอยู่อย่างไรในโลกใหม่ที่ไม่ได้เรียกร้อง การจำและการทำตามคำสั่งอีกต่อไปแล้ว
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
ยกเลิกสอบ ป.1 จริงหรือไม่
ถ้าไม่มีการสอบแล้วโรงเรียน (ที่เล็งไว้) จะมีวิธีคัดเลือกอย่างไร
ถ้าไม่สอบจริงๆ แล้วลูกจะได้เข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพหรือเปล่า
และ
ทำไมต้องยกเลิกการสอบเข้าด้วย
คำถามเหล่านี้ ‘ครูหวาน’ ธิดา พิทักษ์สินสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย อนุกรรมการเด็กเล็กในกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา กรรมการบริหารสมาคมอนุบาลแห่งประเทศไทยฯ และเป็นผู้ที่ผลักดันให้ยกเลิกการสอบเข้าชั้น ป.1 มากว่า 30 ปี ได้ยินและคอยตอบมาตลอด
แต่ตอนนี้ ครูหวานต้องตอบบ่อยและถี่เป็นพิเศษ เพราะ พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย กำลังเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ก็จะถึงขั้นตอนนำสู่การปฏิบัติ และเกิดผลทันที และหนึ่งในประเด็นหลักคือ การรับเด็กเพื่อเข้าเรียนต่อในระดับ ป.1 โดยวิธีสอบคัดเลือกจะกระทำมิได้
เพื่อเป็นหลักประกันว่าเด็กปฐมวัยจะไม่ถูกติว ถูกบังคับให้เร่งเรียนเขียนอ่าน ตั้งแต่วัยยังไม่พร้อม จนเกิดความเครียดต่อเนื่องระยะยาว
“และเรากำลังฝึกเด็กให้เป็นพลเมืองที่ตกรุ่นค่ะ” เหตุผลสำคัญจากครูหวาน
ทำไมต้องมีพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย
เพราะรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดพุทธศักราช 2560 พูดถึงการพัฒนาเด็กเล็กหรือเด็กก่อนวัยเรียนเอาไว้อย่างชัดเจน และเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พูดถึงและให้ความสำคัญกับเด็กเล็กเป็นอย่างมาก เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีรัฐธรรมนูญเช่นนี้ เราก็ต้องมีกฎหมายขึ้นมาเพื่อรองรับให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง จะได้เป็นหลักประกันว่า เด็กปฐมวัยทุกคนต้องได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องเหมาะสมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
ถ้าเรามองนอกเหนือจากรัฐธรรมนูญแล้ว มีข้อมูลทางวิชาการยืนยันได้ว่าปฐมวัยเป็นวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์ เพราะเป็นวัยที่พัฒนาการด้านสมองสูงที่สุด ทั้งเรื่องการพัฒนาทักษะสมองส่วนหน้าหรือที่เรียกว่า Executive Functions (EF) และการพัฒนาทุกด้านโดยรวม ซึ่งทั่วโลกให้ความสำคัญเพราะมันเป็นรากฐานของชีวิตมนุษย์ แต่ประเทศไทยกลับตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเร่งแก้ไขด่วน
ประเทศไทยเผชิญสถานการณ์ที่พัฒนาการของเด็กปฐมวัยล่าช้า ไม่สมวัย ถึง 30 เปอร์เซ็นต์เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันมานานกว่า 15 ปีแล้ว อีกอย่างคือทักษะของสมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่ คิด ตัดสินใจ เด็กไทยก็พัฒนาล่าช้าไปถึง 29 เปอร์เซ็นต์ อันนี้ยังไม่ได้รวมด้านอื่นอีก เช่น โภชนาการของเด็ก เช่น เรื่องความสูง ความอ้วน ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ การพัฒนาทางด้านภาษาของเราก็ล่าช้า ถ้ามองทั้งหมดแล้วมันถึงจุดที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
‘ครูหวาน’ ธิดา พิทักษ์สินสุข
ขณะเดียวกันมันก็มีสถานการณ์ที่เข้ามาซ้ำเติมเด็กๆ เช่น เรื่องจอใส ที่องค์การยูนิเซฟร่วมกับสถาบันสำนักงานสถิติแห่งชาติแนะนำว่าพบว่าในเด็กเล็กต่ำกว่า 2 ขวบ ที่ไม่ควรจะเล่นไอแพด ไอโฟน แต่ของไทยเราเล่นไปแล้วถึง 25 เปอร์เซ็นต์
เด็กอนุบาลกว่า 60 เปอร์เซ็นต์เล่นมือถือ สิ่งเหล่านี้มันไปกระทบต่อสมาธิ ภาษา สัมพันธภาพ พ่อแม่ให้มือถือเป็นพี่เลี้ยง หรือการที่ปู่ย่าตายายไม่อยากให้เด็กที่ซุกซนออกไปวิ่งเล่นข้างนอกเพราะอันตรายเลยยื่นมือถือให้ พอให้ปุ๊บ เด็กก็มีความสุข พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายก็ตอบสนองเด็ก และทำให้ดูแลเด็กได้ง่ายขึ้น แต่ผลกระทบร้ายแรงมาก
ปัญหาที่สำคัญคือ พ่อแม่เองก็ติดมือถือ อุ้มลูกกำลังให้นมแต่มืออีกข้างหนึ่งจิ้มมือถือ ไม่ได้สบตาลูก ทั้งๆ ที่การสบตาคือการสร้างความสัมพันธ์ ความผูกพัน ซึ่งมีอิทธิพลสูงมากต่อการพัฒนาตัวตนของเด็กแต่ละคน
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ปฐมวัยแห่งชาติมีอะไรบ้าง
อันดับแรก พ.ร.บ.นี้จะกำหนดชัดเจนว่าการพัฒนาเด็กปฐมวัยจะเริ่มจากทารกในครรภ์มารดาจนกระทั่ง 6-8 ปี ตามหลักสากล การกำหนดแบบนี้ทำให้เกิดความชัดเจนว่า ต้องพัฒนาตั้งแต่เด็กเริ่มมีชีวิตอยู่ในท้อง เมื่อคลอดออกมาแล้ว เด็กทุกคนก็จะได้รับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และทำให้มั่นใจได้ว่าเด็กๆ จะได้รับประสบการณ์ที่ดี ในช่วงของรอยต่อระหว่างชั้นอนุบาลและประถมศึกษา
ส่วนที่สองคือ พ.ร.บ.นี้ จะไปสร้าง ส่งเสริม สนับสนุนกระบวนการหรือกลไกการทำงานด้วยการบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพราะปัจจุบันการพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นการทำงานของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะจาก 4 กระทรวงหลัก จึงมีการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันหรืองานบางอย่างก็กลับไม่มีเจ้าภาพ
เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ประสงค์ให้เกิดกลไกทำงานที่มีประสิทธิภาพ ให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ มีความเป็นเอกภาพ แล้วก็เชื่อมโยงให้เกิดกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาเด็กปฐมวัยตั้งแต่นโยบายระดับชาติสู่ระดับของการปฏิบัติในพื้นที่
พ.ร.บ.นี้ ยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนด้วย ถือว่าท้องถิ่นเป็นเจ้าของเด็กเช่นกัน และทำงานใกล้ชิดกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง เพราะฉะนั้น การทำงานในระดับพื้นที่จะได้ส่งผลตรงต่อเด็กและเกิดประสิทธิภาพได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้นก็ยังขจัดอุปสรรคที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่เป็นประเด็นตอนนี้คือ การยุติการสอบเข้า ป.1
เหตุผลสำคัญที่ต้องยุติการสอบเข้า ป.1 คืออะไร
มันเป็นสิ่งที่กระทบต่อความเชื่อ กรอบคิดของสังคม เด็กกลุ่มที่มาสอบ ทั้งสอบได้และไม่ได้ เด็กกลุ่มนี้น่าสงสาร เพราะว่าต้องเผชิญกับความเครียดต่อเนื่องในระยะยาว ทั้งๆ ที่คุณภาพของเด็กในช่วงชีวิตนี้ดีที่สุด เวลาพัฒนาสมอง ความคิดสร้างสรรค์ มันก็หมดไปกับระบบการติวต่างๆ และการเร่งเรียน เร่งรัด แล้วความเครียดระยะยาวมันก็ไม่มีผลดีต่อเด็กเลย โดยเฉพาะการพัฒนาสมอง
การแข่งขันกันสอบเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีคุณภาพ ยิ่งย้ำให้ทุกคนเข้าใจว่าจะต้องเร่งรัดเด็กทั้งเรียนเขียนอ่าน กระแสนี้ไปทั่วประเทศ มันกำลังจะบอกว่าความเก่งของเด็กปฐมวัยคือการเรียนเขียนอ่านใช่หรือไม่ ประกอบกับช่วงที่ผ่านมามีนโยบายการสอบวัดผลความสามารถตั้งแต่ภาคแรกของ ป.1 ครูและผู้บริหารก็ยิ่งกลัว ก็ยิ่งไปซ้ำว่าอนุบาลต้องท่องได้ สะกดได้คือความเก่ง แต่ความจริงแล้วการพัฒนาเด็กมันต้องพัฒนาทั้งตัว เพราะนี่คือรากฐานของชีวิต
ฉะนั้นการเร่งรัดเรียนเขียนอ่าน มันทำลายชีวิตในเยาว์วัยของเด็กที่ควรจะเบิกบานและมีความสุข ทำลายทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้ในอนาคต ทำลายสัมพันธภาพที่ดีของเด็ก แทนที่พ่อแม่จะชวนลูกเล่น ซึ่งมันเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดีที่สุด
ถ้าเด็กไม่ต้องสอบเข้า ป.1 จะมีแผนรองรับอย่างไร
มันจะเชื่อมโยงกับใจความสำคัญของ พ.ร.บ. อีกเรื่องหนึ่ง คือการให้ความรู้กับพ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน สังคม ให้เข้าใจกระบวนการพัฒนาเด็กอย่างถูกวิธี เพราะใน พ.ร.บ. กำหนดไว้ว่ารัฐจะต้องให้ทุกจุดรับบริการ เป็นพื้นที่ที่พ่อแม่ผู้ปกครอง ผู้เลี้ยงดูเด็กจะต้องได้รับความรู้ เช่น แม่ตั้งครรภ์ ต้องไปฝากท้อง สถานีอนามัยหรือศูนย์บริการสาธารณสุขก็ต้องให้ความรู้ ต่อมามีเด็กเล็กพาไปฉีดวัคซีนก็ต้องให้ความรู้อีก ต่อมาเมื่อเข้าศูนย์เด็กหรือศูนย์พัฒนาเด็ก ก็ต้องมีกระบวนการให้ความรู้ทุกขั้นทุกตอนจนกระทั่งเด็กโตขึ้นมา หรือแม้ในตัวเด็กเอง โตขึ้นมาก็ต้องมีความรู้ที่จะดูแลตัวเอง
ถ้าถามว่าถ้าไม่สอบจะคัดเลือกอย่างไร การคัดเลือกเด็กยังคงต้องมีอยู่ เพราะว่าความต้องการมันมากกว่าจำนวนที่รับได้ แต่ว่าใน พ.ร.บ. ประสงค์ว่าถ้าจะรับเด็กแล้วจะต้องเป็นการคัดเลือกที่ไม่กระทบต่อตัวเด็ก
คัดเลือกอย่างไรให้ไม่กระทบกับตัวเด็ก
ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละโรงเรียน บอกไม่ได้ว่าจะใช้วิธีใดวิธีหนึ่ง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของโรงเรียน การจับฉลากก็เป็นทางเลือกหนึ่ง หรือใช้ลำดับของการสมัคร ทั้งออนไลน์และลำดับคิว หรือจะใช้วิธีหลายๆ เกณฑ์ เช่น บ้านใกล้ พ่อแม่เคยเป็นศิษย์เก่า พี่น้องอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน หรือใช้วิธีการสัมภาษณ์พ่อแม่ มีหลากหลายวิธี มีการเสนอถึงขั้นให้พ่อแม่ร่วมสอบด้วยจะได้เป็นการพัฒนา ความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงลูกอย่างเหมาะสม
ขอเพียงว่าอย่าทำสิ่งใด ที่เป็นการกระทบต่อตัวเด็กทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม สติปัญญา วิธีการเหล่านี้มันจะไม่กระทบต่อตัวเด็ก และเชื่อว่าระบบการติว การเร่งรัดการสอบ มันจะเบาบางลง
อย่างการจับฉลาก จับอย่างไรไม่ให้เป็นการทำร้ายเด็ก
การจับฉลากเป็นหลักปฏิบัติอยู่แล้วในทุกๆ โรงเรียนของภาครัฐ การจับฉลากจะมี 2 แนว เด็กจับ กับพ่อแม่จับ ถ้าเด็กจับจะต้องรู้สึกแย่มาก ให้เป็นพ่อแม่จับดีกว่า เพราะการจับฉลากมันชัดเจนที่ความเท่าเทียมกัน
พ่อแม่จะทำอย่างไร ในเมื่อคุณภาพของแต่โรงเรียนยังไม่เท่ากัน
เป็นปัญหาหลักของตอนนี้เลย เพราะทุกคนก็อยากให้ลูกอยู่ในโรงเรียนที่ดี ต้องมาย้อนดูในภาพใหญ่ มันถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่เราจะต้องพัฒนาและให้ความใส่ใจในเรื่องมาตรฐานอย่างแท้จริง ถ้าเกิดกรณีจับฉลากเข้าไป โรงเรียนก็จะได้รับเด็กหลายๆ ประเภท สังคมในโรงเรียนก็จะมีพ่อแม่หลายระดับ
ต้องยอมรับว่าโรงเรียนที่จัดสอบ พ่อแม่กลุ่มที่มีโอกาสคือพ่อแม่ที่พาลูกไปติว จ้างครูมาสอนที่บ้าน มีเงินที่จะไปซื้อแบบฝึกหัด พ่อแม่กลุ่มนี้ก็จะได้มีโอกาสเข้าสู่ระบบของการสอบ โอกาสของการที่ลูกจะได้เข้าเรียนจึงเยอะกว่า
แต่ถ้าเราใช้วิธีอื่นสังคมก็จะหลากหลายขึ้น จะว่าไปมันก็ลดความเหลื่อมล้ำไประดับหนึ่ง พอมาตรฐานโรงเรียนเป็นเช่นนี้เราก็จะดิ้นรนให้โรงเรียนที่ลูกเราอยู่มีมาตรฐานที่ดี ดังนั้นพ่อแม่จึงเป็นส่วนสำคัญต้องมีส่วนร่วม เป็นกำลังสำคัญที่จะเข้ามาพัฒนาโรงเรียน นอกเหนือจากจะเชื่อว่าเอาลูกมาส่งไว้แล้วหมดหน้าที่
สมมุติถ้าคุณพ่อเป็นพนักงานแบงก์ ส่งลูกมาเรียนโรงเรียนเดียวกับลูกคนขายกล้วยแขก ด้วยวิธีการจับฉลาก มันจะเกิดข้อดีมาก ต้องถามกลับว่าเรามองมาตรฐานของชีวิตจากอะไร ถ้ามองว่าโอกาสของการพัฒนาเด็กคือการเรียนรู้ เด็กก็จะได้โอกาสตรงนี้ในการเรียนรู้ เขาจะมีเพื่อนต่างสถานะและเกิดความเข้าใจกัน ความเหลื่อมล้ำจะลดลง
ถ้าโรงเรียนดีคัดเด็กดี ครูดี ผู้ปกครองดี ดีไปหมด มันก็ยิ่งห่างกันไป มาตรฐานที่เรียกร้องมันก็จะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น ในขณะพ่อแม่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาโรงเรียน จะปล่อยให้ลูกอยู่ในโรงเรียนที่ห้องน้ำสกปรกเหรอ หรือการบริหารที่ด้อยคุณภาพก็ไม่ได้ เขาก็จะต้องหาวิธีที่จะพัฒนาโรงเรียนที่ลูกอยู่ โรงเรียนกับบ้านร่วมมือกัน ดังนั้น การกระจายศักยภาพของพ่อแม่สู่โรงเรียนมันก็จะเกิดขึ้น แล้วทุกโรงเรียนก็จะถูกพัฒนาไปสู่มาตรฐานที่ต้องการ
มันน่าจะถึงเวลาแล้วล่ะค่ะ ที่เราจะไม่แยกเอาคนที่มีศักยภาพมีความสามารถไปรวมกันไว้ที่โรงเรียนที่มีคุณภาพ แล้วก็ทิ้งห่าง จากอีกกลุ่มหนึ่งไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันเราเรียกร้องคุณภาพว่าไม่มีโรงเรียนดีๆ ใกล้บ้าน ถึงเวลาแล้วที่จะลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงแล้วก็ลงมือทำกันทั้งประเทศ
นอกจากพ่อแม่และสถานศึกษา ครูต้องปรับตัวอย่างไร
เวลาที่เราลงพื้นที่ไปทำงานกับคุณครู จะพบว่ามีเสียงเรียกร้องจากครูจำนวนมาก ว่าสิ่งที่เขาเรียนมาโดยตรง และการเรียนการสอนตามแนวทางหลักสูตรปฐมวัยไม่ได้ใช้ เขาอยากสอนเด็กแบบถูกต้อง คือส่งเสริมพัฒนาร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม ให้เด็กมีพัฒนาการต่างๆ ตามวัย
ครูกลุ่มนี้ไม่สบายใจที่จะเร่งเรียนเขียนอ่าน เพราะเขารู้ว่าสิ่งเหล่านี้มันฝืนธรรมชาติของเด็ก บางครั้งเขาก็เครียดเพราะถูกกดดันจากความไม่เข้าใจของพ่อแม่ผู้ปกครอง
ประการต่อมา คือผู้บริหารไม่เข้าใจในการพัฒนาเด็ก คิดว่าเด็กปฐมวัยที่เก่งคือการอ่านออกเขียนได้ สอบเข้า ป.1 ได้ มันก็จะกดดันกันต่อที่ระดับชั้นเรียนอนุบาล ครูก็ไม่สามารถทำสิ่งที่อยากจะทำได้ เพราะฉะนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จะไปตอบสนองความต้องการของครูเสียด้วยซ้ำ ยกเว้นว่าครูคนนั้นอาจจะรู้สึกว่าเมื่อติวเด็กแล้วเด็กสอบเข้าได้ เขาจะได้รับความชอบความถูกใจจากผู้บริหาร
แล้วบทลงโทษสำหรับโรงเรียนที่ยังจัดการสอบและพ่อแม่ที่ให้เงินบำรุงพิเศษยังมีอยู่หรือไม่
คณะอนุกรรมการพัฒนาเด็กเล็ก พิจารณากันหลายรอบ อยากให้ พ.ร.บ. เป็น พ.ร.บ. ที่ส่งเสริมและไม่สร้างแรงกดดัน ในขณะที่ยังต้องอาศัยความเข้าใจที่ตรงกันก่อน จึงไม่ได้ระบุโทษเอาไว้ แต่ใน พ.ร.บ. กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเด็กปฐมวัย และมีสำนักงานกลางทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานปฐมวัย ควรเป็นผู้กำหนด
หลักเกณฑ์เรื่องการยุติการสอบกรณีที่โรงเรียนไม่ปฏิบัติ จะต้องทำอย่างไรต่อไป ยกให้เป็นภารกิจของคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะเกิดขึ้นมา
‘ครูหวาน’ ธิดา พิทักษ์สินสุข
ถ้าไม่กำหนดบทลงโทษ จะไปต่ออย่างไร
พ่อแม่ที่พาลูกไปสอบอาจจะไม่เข้าใจ เป็นเพราะเราต่างหากที่ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้มากพอ ถ้าโรงเรียนไม่จัดสอบแล้วมันควรแก้ที่ต้นทางอย่างพ่อแม่ดีกว่า คือไปแก้ที่ความรู้ ความเข้าใจ เพราะโรงเรียนก็เข้าใจนะแต่ไม่ปฏิบัติมากกว่า
แล้วจะทำอย่างไร คณะกรรมการชุดใหม่ภายใต้ พ.ร.บ. อาจจะต้องให้มีบทลงโทษทางสังคมเพิ่มขึ้นด้วย เช่น นอกจากแจ้งกลับไปที่ต้นสังกัดให้พิจารณามาตรฐานคุณภาพ อาจจะประกาศให้สังคมรับรู้ว่าสถานศึกษาแห่งนี้ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ควรจะเป็นสำหรับเด็ก เป็นการกดดันทางสังคมอย่างหนึ่ง
อีกอย่างคือเรื่องการกำหนดมาตรฐานคุณภาพของสถานศึกษา ที่เขาจะได้รับการประเมิน ขณะนี้มาตรฐานสถานศึกษาปฐมวัยกำหนดเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จะเข้ามาพร้อมๆ กันกับที่ พ.ร.บ. จะได้รับพิจารณา ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ของสังคม
อาจจะมีคนที่เสียประโยชน์บ้าง แต่หากเราเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เด็กปฐมวัยเป็นวัยเดียวที่ไม่สามารถลุกขึ้นมาปกป้องตัวเองได้ พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู นักวิชาการ ผู้ใหญ่จะต้องโอบอุ้มและปกป้องคุ้มครองสิทธิของพวกเขา ให้พวกเขาได้ใช้ช่วงปฐมวัยไปกับการสร้างรากฐานชีวิตที่มีคุณภาพ
ตอนนี้ พ.ร.บ. อยู่ขั้นตอนไหน มีผลบังคับใช้ได้เมื่อไร
(ตอนนี้รอเข้า ครม.) ถ้า พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ก็จะถึงขั้นตอนนำสู่การปฏิบัติ เกิดผลทันที แต่หลายเรื่องอาจต้องใช้ระยะเวลา แต่หลายเรื่องก็ทำได้เลย เช่น การที่เราจะให้ความรู้ ความเข้าใจกับพ่อแม่ ก็เริ่มทำได้เลย การที่เราจะเชื่อมประสานสำหรับหน่วยงานต่างๆ เพื่อดูแลเรื่องต่างๆ เช่น มาตรฐานกลาง หลักสูตร ขณะนี้ก็ผลักดันอยู่แล้ว แต่ถ้ามี พ.ร.บ. ช่วยก็จะเป็นตัวหนุนเสริม กับเรื่องของท้องถิ่น ที่จะขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัย
ตอนนี้ทุกภาคส่วนพร้อมขยับ ถ้ามี พ.ร.บ. เป็นตัวหนุนเสริมหลัก การขับเคลื่อนเรื่องปฐมวัยก็จะทำได้ดี เพราะทุกคนที่ทำงานด้านปฐมวัยรู้ดีว่ามันวิกฤติจริงๆ แต่มันติดที่กลไกของการทำงานบูรณาการเท่านั้นเอง
แล้วเรื่องอะไรบ้างที่ต้องใช้เวลา
เรื่องของกลไกการทำงานแบบบูรณาการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การมีสำนักงานกลางที่เป็นหน่วยที่ทำให้การขับเคลื่อนแบบบูรณาการ
ส่วนการยกเลิกการสอบเข้า ป.1 เป็นเรื่องที่ต้องรอจังหวะของการรับสมัครปีการศึกษาต่อไป เพราะตอนนี้กระแสมันก็ออกมา และสถาบันการศึกษาชั้นนำเริ่มพิจารณากระบวนการสอบของตัวเองใหม่ เช่น โรงเรียนสาธิตราชภัฏสวนดุสิต เริ่มพูดคุยกับเด็ก และมีการให้พ่อแม่จับฉลากบ้าง หรือ โรงเรียนสาธิตประสานมิตร ปกติจะมี pretest ช่วงปลายปี แต่สมาคมศิษย์เก่าฯ ก็ได้ประกาศระงับการสอบแล้ว เดี๋ยวเราไปรอดูผลอีกทีว่าตอนสอบจริง ผลจะออกมาเป็นอย่างไร
ถ้าเป็นเรื่อง ป.1 อาจจะต้องให้เวลากับสถาบันการศึกษานิดนึง ในการจัดกระบวนการเรียนการสอนสำหรับปีการศึกษาหน้าถ้าเป็นไปได้ แต่ใครทำได้ก่อนก็ทำเลย โรงเรียนที่ยังไม่พร้อมก็ขยับไปอีก ปีการศึกษาต่อไป
เด็กที่ไม่ต้องสอบเข้า ป.1 กับ เด็กที่ผ่านการสอบเข้า ป.1 อย่างเข้มงวด เขาจะแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
เด็กที่เสียเวลาไปกับการเร่งรัดการเขียนอ่านเพื่อเข้า ป.1 ก็จะขาดโอกาสในการพัฒนาแบบรอบด้านที่จำเป็น เช่น ทักษะชีวิต การเรียนรู้อย่างมีความสุข ความสามารถในการคิดตัดสินใจ ภาวะผู้นำการทำงานร่วมกับคนอื่น เหล่านี้คือรากฐานที่สำคัญที่ก่อตัวตั้งแต่ปฐมวัย และเรื่องการเรียนวิชาการนั้นก็มีงานวิจัยชี้บอกมานานแล้วว่า ไม่เกิน ป.3 ก็เรียนทันกันหมดอยู่ดี
ถ้าเราให้เด็กเร่งเรียนเขียนอ่าน เขาจะเข้าใจว่าชีวิตของเขา ความสามารถของตัวเขา ความเก่งของเขา ขึ้นอยู่กับการเรียนแล้วก็การแข่งขันกัน เพราะฉะนั้นการศึกษาที่เริ่มจากการชิงดีชิงเด่น การแพ้ชนะกันแบบนี้มันไม่ใช่การศึกษาที่เอื้อต่อกัน
1. เขาจะไม่มีความสุขในการเรียน ทัศนคติทางการเรียนก็จะไม่ดี การเรียนกลายสิ่งที่ยาก ไม่เชื่อมโยงกับชีวิต
2. เกิดภาวะความเครียด จากการเรียนที่เป็นระบบแข่งขัน และแพ้คัดออก
3. เด็กแข่งขันกัน เราอาจจะได้แชมป์ไม่กี่คน แต่เด็กที่แพ้ ที่บอกตัวเองว่าไม่เก่ง ไม่มีความสามารถ ตัวนี้เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการพัฒนาองค์รวม
มนุษย์หัวโตข้างเดียวไม่ได้ สติปัญญาได้ก็เพียงบางส่วน แต่สิ่งที่หายไปคือความคิดสร้างสรรค์ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ มันก็ไม่ได้อีกเหมือนกัน ได้แต่การจดจำวิธีการทำ ทำตามแบบ แล้วก็การพัฒนาด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม มันก็เสียหายไปด้วย
ถามว่าคุณลักษณะแบบนี้ มันตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ไหม โลกมันเปลี่ยนไป เราต้องการเด็กที่มีความสามารถหลายๆ แง่มุม ที่จะตอบโจทย์ในโลกที่มีความซับซ้อน โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เด็กที่ถูกเตรียมพร้อมอย่างมีความสุขและเข้าใจ เขาจะรู้สึกว่า มีพลังชีวิตที่จะเดินต่อไปข้างหน้า มีศักยภาพในการเรียนรู้ เพราะเขารักที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิต
เด็กเกิดมาพร้อมกับความกระหายใคร่รู้อยู่แล้ว แต่เราจำกัดเขาอยู่แค่แบบฝึกกับแบบทดสอบ โลกใบนี้น่าเรียนรู้อีกเยอะแยะมากมาย
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความรู้ใหม่ในโลกใหม่คืออะไร ดังนั้นเขาต้องพร้อมที่จะปรับตัว พร้อมที่จะเป็นมนุษย์ มนุษย์จะต้องอยู่กับมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเด็กเติบโตอยู่กับความรักความผูกพัน มีความสุขกับพ่อแม่ ครอบครัว ได้ทำกิจกรรมที่พัฒนากล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก พัฒนาด้านภาษา ได้เล่นกับเพื่อน ในขณะที่เด็กเล่นเขาจะมีความสุข ได้แก้ปัญหา ประนีประนอม ฝึกภาษา รู้แพ้ชนะ รู้กติกา มีวินัย มันมีคุณสมบัติอีกมากมายที่เขาจะได้ทำ มันสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ มากกว่าการที่เอาเด็กไปไว้ในกรอบ ในกรงแคบๆ แล้วบอกว่านี่คือเด็กเก่งที่เราต้องการ
การฝึกเด็กแบบที่ผ่านมา เรากำลังฝึกเด็กให้เป็นพลเมืองที่ตกรุ่น เราจะต้องรีบเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกไม่ได้หยุดรอประเทศที่เอาแต่พูดแล้วไม่ลงมือทำ เด็กไม่เคยหยุดโตแม้แต่วันเดียว เราไม่พัฒนามัวแต่ประชุมไปประชุมมา ห้วงเวลาแรกเกิดถึง 8 ปีของเด็กมันไม่หยุดรอเรานะคะ เด็กโตทุกวัน และเวลาก็ไม่สามารถย้อนคืนมาได้