- เพราะมีโอกาสเห็นแคตตาล็อกแห่งความหลากหลายทางชีววิทยา และสะดุดซ้ำใส่คำว่า ‘วิวัฒนาการ’ ทำให้เด็กเรียนปานกลางและออกจะชอบวาดรูปอย่างเขา กระโดดเข้าใส่กองหนังสือชีววิทยา
- ปี 2539 เขาคว้าเหรียญทองแดง การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ประดับติดบ้าน
- ในบรรดาแก๊งเพื่อนโอลิมปิก เขาคือหนึ่งเดียวที่ยังไม่ได้เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือเดินตามเส้นทางวิชาการจัดจ้านอย่างเพื่อนคนอื่นๆ แต่เป็นมาแล้วทั้งอาจารย์มัธยมสุดยีสต์ นักเขียน นักแปล ปัจจุบันเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ในนามกลุ่ม WitCast
ภาพ: ศิริโชค เลิศยะโส
ในซีรีส์ ‘รักที่จะ…’ เราออกไปพูดคุยกับวัยรุ่น อดีตวัยรุ่น และคนทำงานกับวัยรุ่นในประเด็นที่หลากหลายเพียงเพื่ออยากจะรู้ว่า ในวัยรุ่น เขาจะเปลี่ยนพลังที่พลุ่งพล่าน ไปสนใจเรื่องอะไร ไปหลงรักอะไร และด้วยเหตุผลอะไรบ้าง
‘รักการเรียน’ คือหัวข้อที่ผุดขึ้นท่ามกลางการสนทนาเพื่อถกเถียงหาประเด็น ที่เราสนใจ ‘เด็กเรียน’ เนื่องด้วยเหตุผลสองประการ หนึ่ง-วัยรุ่นกับการเรียน มักไปด้วยกันไม่ค่อยได้ มันช่างน่าปวดหัว เรียนเพื่อจำ จำแล้วไปสอบ ชีวิตก็วนเวียนอยู่แค่นี้ และเพราะ สอง-เด็กวัยรุ่นที่รักการเรียน มักเป็น ‘เด็กเนิร์ด’ และคำนี้ดูจะเป็นคำที่ติดลบหน่อยๆ และเหมารวมนิดๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดถึงคำว่า ‘รักการเรียน’ ถ้าจะไปให้สุดด้านวิชาการ ก็ต้องเป็น ‘นักเรียนโอลิมปิก’ สิ
The Potential จึงชวน แทนไท ประเสริฐกุล นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผู้คว้าเหรียญทองแดง การแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศ ปี 2539 อดีตครูพิเศษวิชาชีววิทยาโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง จนก่อเกิดเป็นเรื่องราวสุดยีสต์ ยวน ยูน (สำเนียงและคำติดปากของแทนไทในหนังสือ) เขาเป็นนักเขียน นักแปล และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งรายการ WitCast รายการเกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้วยช่องทาง Podcast เป็นหลัก
อยากเข้าใจว่า เหตุใดเขาจึงหลงใหลในวิทยาศาสตร์ จุดคลิกแบบไหนที่เปลี่ยนจากนักเรียนชีววิทยาทั่วไปให้กลายเป็นนักเรียนที่คว้ารางวัลเวทีวิชาการระดับโลก อะไรคือพลังที่ทำให้เขายังมุ่งมั่น อ่านหนังสือหามรุ่งหามค่ำจนเดินถึงจุดที่เขาคาดหวังไว้ และอะไรคือความรักของเขาในวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่เสื่อมคลาย
แต่คำตอบเบื้องต้นของแทนไทที่คล้ายกันในซีรีส์ ‘รักที่จะ…’ คือ เมื่อเห็น สัมผัส ได้เห็นความหลากหลายในโลกชีววิทยาแล้วก็ ‘โดนใจ’ และ ‘ขออ่านเพิ่ม’ และเมื่อได้รับการสนับสนุน เขาจึงใช้พลังหนุ่มสาวทุ่มไปกับมันอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย
ช่วงนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
สิ่งหลักในชีวิตช่วงนี้คือ WitCast เป็นพื้นที่ของผมในการทำงานสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์ มีทั้งเพจเฟซบุ๊ค ออกไปจัดวงคุย ไปปรากฏตัวในงานต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานวิชาการ ร่วมงานในฐานะสื่อ หรือแม้แต่การจัดอีเวนต์ ตั้งหัวข้อขึ้นมาแล้วจัดงานทอล์คที่ TK Park บ้าง ตามมหาวิทยาลัยบ้าง
แต่หลักๆ Witcast เริ่มต้นจากเป็นรายการ Podcast พูดคุยเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างเน้นเฮฮา ผู้จัดรายการเป็นเพื่อนกันสามคน คือ อาบัน (อาบัน สามัญชน) และคุณป๋องแป๋ง (อาจวรงค์ จันทมาศ) แต่ละคนต่างบุคลิกกันไป พอมาจัดรายการด้วยกันแล้วมันสนุก เราพูดคุยเรื่องวิทยาศาสตร์บ้าง ดราม่าชีวิตส่วนตัวบ้าง ใครไปเจอประสบการณ์อะไรก็เอามาแชร์ แต่ธีมหลักคือผู้ที่รักความรู้สายต่างๆ มานั่งคุยกัน
ก่อนหน้านี้คุณเคยเขียนหนังสือด้วย ปัจจุบันยังเขียนอยู่ไหมคะ
เล่มแรกคือ โลกนี้มันช่างยีสต์, โลกนี้มันช่างยุสต์, mimic เลียนแบบทำไม และ โลกจิต ซึ่งหลังจากโลกจิต ก็หมดแรงไปพักหนึ่งกับการเขียน เคยพยายามจะเริ่มคอลัมน์ใหม่ใน a day ด้วยแต่ไม่สำเร็จ หลังจากนั้นก็หันมาเป็นนักแปลอยู่พักใหญ่ คือมีหนังสือนิยายและความรู้วิทยาศาสตร์ ประมาณสี่ห้าเล่ม แปลปีละเล่มๆ เรื่อยมา แล้วก็เหนื่อยกับการแปล (หัวเราะ) เลยเปลี่ยนมาจัดรายการแทน
และตอนนี้ก็ยังถือว่าตัวเองเป็นนักเรียนปริญญาเอก พยายามจะตีพิมพ์ผลงาน ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด น่าจะได้ตีพิมพ์ปีนี้
ชื่อหัวข้อธีสิสคืออะไร
คือ ‘พฤติกรรมการรวมกลุ่มของหิ่งห้อย’ การจับคู่ผสมพันธ์ของหิ่งห้อย แบบที่เราชอบนั่งเรือไปดูกันที่อัมพวา
ทำไมถึงหลงใหลในชีววิทยาขนาดนี้ และถ้าดูจากหัวข้อใน WitCast หรือธีสิสปริญญาเอกของคุณมักจะเกี่ยวกับการผสมพันธุ์พืชและสัตว์หน่อยๆ
อันดับแรก ผมไม่ได้หมกมุ่นเรื่องการผสมพันธุ์สัตว์ อันนี้ต้องขอแก้ข่าว (หัวเราะ) ผมแค่รู้สึกว่าพอยกประเด็นขึ้นมานำแล้วมันเฮฮาดี แต่จริงๆ มันมีอะไรลึกซึ้งกว่านั้นเยอะ
แซวเล่นค่ะ ถามใหม่แบบจริงจัง จุดเริ่มต้นของความรักในชีววิทยา มุ่งมั่นจนเป็นนักเรียนโอลิมปิกอยู่ตรงไหน
คือตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการได้เห็นอะไรแปลกๆ แล้วเราอยากรู้ว่าในโลกนี้มันมีตัวอะไรบ้าง ลักษณะเดียวกับผู้หญิงอยากรู้ว่าเครื่องสำอางมีกี่รุ่น อะไรบ้าง ซึ่งผมก็อยากรู้ว่าปลาทะเลมันมีรุ่นอะไรบ้าง
ซึ่งเยอะมาก
เยอะ แล้วเราก็จะแบบ อ๋อ… รุ่นนี้มันต่างกับรุ่นนี้แบบนี้นะ
รุ่นนี้มันครีบเหลือง ตัวนี้มีจุด มีปลาตัวใหญ่ยาว 30 เมตร จนถึงปลาตัวเล็กกระจิ๋วหลิว พอได้เห็นแคตตาล็อกทั้งหมด เรารู้สึกว่ามันตื่นตาตื่นใจ มีอะไรแปลกกว่าคนทั่วไปเยอะเลย
เปรียบเทียบกับตัวเราเอง เวลาที่ไปโอเชียนเวิลด์ ไปสวนสัตว์ ได้เห็นความหลากหลายทางธรรมชาติทั้งทางตรงและทางอ้อมในหนังสือเรียน เราอาจจะแค่ ‘ว้าว’ แล้วก็ไปสนใจเรื่องอื่น เรื่องที่ตัวเองรู้สึกคลิกและสนใจมากกว่า จุดคลิกของคุณในทางชีววิทยาคืออะไร จุดไหนที่เปลี่ยนจากนักเรียนสายวิทย์ ไปเป็นนักเรียนชีววิทยาโอลิมปิก
จริงๆ ผมไม่ได้ต่างจากเด็กเหล่านั้นเลย ที่ต่างคือ พอผมโตขึ้นมาแล้วผมได้เรียนชีวะ ถึงได้เข้าใจว่ามันมีเหตุผลเบื้องหลังความหลากหลายนั้น
ทำไมปลาตัวนี้แบน ตัวนี้สีสวย ทำไมตัวนี้มีหงอน หรืออะไรก็แล้วแต่ อวัยวะและระบบภายในทุกอย่างมันมีคำอธิบายเบื้องหลัง ทั้งคำอธิบายในแง่ว่ามันทำงานยังไง เรานั่งอยู่เราก็หายใจไปเรื่อยๆ แต่เราไม่ทันได้คิดเลยว่า เรากำลังขยับกล้ามเนื้อ สูบเอาลมเข้าไปเพื่อไปแตกแขนงในท่อหลอดลม แล้วมันไปทำอะไรต่อ? มันไปเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาได้ยังไง เอาออกซิเจนมาได้ยังไง มันเป็นคำอธิบายในระดับที่ว่า เหมือนเราเปิดเครื่องยนต์รถออกมาดูแล้วเข้าใจว่า แต่ละส่วนคืออะไร อันนี้คือระดับหนึ่ง
แต่อันนี้ก็ยังไม่ใช่ระดับที่โดนใจผมอยู่ดี เพราะถ้าโดนใจระดับนี้ ผมอาจจะไปเป็นหมอหรืออาชีพอื่นๆ ที่เด็กเรียนเก่งจะเป็น ที่มันโดนใจผมมากที่สุดตอนเรียนชีวะลึกไปเรื่อยๆ คือคำอธิบายในระดับวิวัฒนาการ มันทำให้เราเห็นว่า หนึ่ง ทุกชีวิตเชื่อมโยงกันหมด ตั้งแต่แบคทีเรีย กล้วย ช้าง ม้า วัว ควาย ซึ่งกำเนิดมาจากสิ่งเดียวกัน มันน่ามหัศจรรย์ที่เราได้เห็นเครือญาตินี้
อีกเรื่องคือ มันตอบคำถามว่า ชีวิตที่เราเห็นทั้งหลายแหล่ ทำไมจึงเป็นอย่างที่มันเป็น มันลึกซึ้งในระดับที่ว่า ตอนนี้เรานั่งอยู่ในสวน เราเห็นใบไม้บางใบมีลักษณะใหญ่ บางอันเป็นแฉก ใครเป็นคนออกแบบ เกิดมาแล้วมันรู้ได้ยังไงว่าต้องเป็นแบบนี้ ข้อมูลเหล่านั้นใครเป็นคนเขียน มันกลายเป็นคำถามที่ผมรู้สึกว่าวิชานี้มันลึกซึ้ง
นอกจาก ‘คำถาม’ ที่คุณรู้สึกว่ามัน ‘ลึกซึ้ง’ อะไรอีกที่เปลี่ยนนักเรียนสายวิทย์ที่ชอบวิชาชีววิทยา ให้กลายเป็นนักเรียนโอลิมปิก
เอาจริงๆ ก็ไม่เคยตอบคำถามนี้เหมือนกันนะ แต่จะลองลิสต์ๆ ดู อาจจะเป็นเพราะผมโชคดีได้รับอิทธิพลจากหลายๆ ทิศทางด้วย
หนึ่ง ที่บ้านผมไม่ค่อยเคร่งครัดว่าลูกต้องจบมาประกอบอาชีพอะไร จงเรียนไปตามความอยากรู้ของตัวเอง ผมเลยไม่เคยโดนกดดันว่า ต้องมาเป็นหมอ วิศวะ หรืออะไรที่เด็กเก่งๆ เขาต้องเป็นกัน เอาเข้าจริงผมเป็นเด็กเรียนปานกลางนะ แต่มีความอินเฉพาะด้าน ถ้าให้ไปทำโจทย์เลข ผมจะห่วย แต่ผมมีความอยากรู้ อยากจะอ่านชีวะมากกว่าคนอื่นที่เขาเรียนกันเฉยๆ เราเรียนแล้วอยากจะแบบ… ขอดูเพิ่มๆ นะ
สอง ผมได้ไปเข้าโครงการโอลิมปิก หมายความว่าเด็กมัธยมปลาย จะได้ไปเรียนกับอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับหลักสูตรของเด็กปีหนึ่งปีสอง ตั้งแต่ ม.4 ม.5 เลย พอไปเจออาจารย์ระดับมหาวิทยาลัย เวลาที่เขาสอน เขาบิวด์ให้เราอินได้มากกว่าเรียนในห้องเรียนมัธยม หลังจากคลาสในมหาวิทยาลัย กลับมาก็อ่าน Text Book อ่านตำราเมืองนอก ทำให้เราเห็นการบรรยายอะไรต่างๆ ที่ลึกซึ้งกว่าตำราเรียนในบ้านเรา
ได้รับอิทธิพลจากหนังสือฝรั่งต่างๆ ซึ่งไม่ใช่ตำราเรียน แต่เป็นหนังสืออย่างของริชาร์ด ไฟน์แมน (Richard Feynman) นักฟิสิกส์ผู้โด่งดังและเขาก็มีบุคลิกที่เท่มาก ชอบเขียนหนังสือเล่าเรื่องราวต่างๆ สอดแทรกความคิดมุมมองของเขาและอธิบายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไปด้วย
ทำให้เราเริ่มซึมซับแนวคิดที่มาจากต่างประเทศ เป็นแนวคิดที่ไม่ได้มาจากระบบการศึกษาไทย ทำให้รู้ว่าการเรียนรู้เรื่องพวกนี้ เขาไม่ได้เรียนไปสอบ ไม่ได้เรียนเพื่อไปประกอบอาชีพที่ดูว่าจะได้เงินเดือนเท่าไร แต่เขาเรียนเพื่อไขปริศนาจักรวาล นั่นคือสปิริตของความเป็นวิทยาศาสตร์ที่ผมชอบ
‘สปิริตของนักวิทยาศาสตร์’ คำนี้มันลึกซึ้งมากเลย
เออ อันนี้ผมเพิ่งพูดตะกี๊นี้เลย ไม่เคยพูดคำนี้มาก่อนเลยครับ (หัวเราะ)
กลับไปช่วงที่คุณเข้าคอร์สโอลิมปิกตั้งแต่ ม.4 ม.5 ไม่หนักเกินไปสำหรับเด็กวัยนั้นหรือ
อธิบายก่อนว่าไม่ใช่กรณีลูกถูกพ่อแม่บังคับให้ไปเรียนเปียโน หรือบัลเล่ต์ แต่เป็นเพราะลูกชอบเอง อยากเรียนเพิ่มเอง แล้วก็อินเอง และพ่อแม่สนับสนุนด้วย
เอาจริงๆ ผมแทบจะจำอะไรไม่ค่อยได้ แต่กิจวัตรคือเรียนเช้าจรดเย็น กลับมากินข้าวพักผ่อนหน่อย แล้วกลางคืนก็อ่านหนังสือต่อ แต่ถ้าเป็นผมตอนนี้ ให้กลับไปอ่านหนักขนาดนั้นไหม ผมตอบเลยว่าไม่มีแรง (หัวเราะ) ทุกวันนี้ผมยังหาเวลาอ่านยากเลย แต่เด็กคนนั้นมันฟิต และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เพื่อนทุกคนก็ฟิตเหมือนกัน และไม่มีใครมีเฟซบุ๊ค
พอพูดถึงคำว่า ‘โอลิมปิก’ มันให้ความรู้สึกของเด็กที่เรียนอย่างหนัก ไม่ได้กิน ไมได้นอน เครียด กดดัน เป็นการแข่งขันขั้นกว่าการสอบปกติ
เท่าที่จำได้คือไม่กดดันเลย สนุกเสียส่วนใหญ่ ได้เจอเพื่อนใหม่ๆ เยอะแยะ วิชาที่เรียนก็ตื่นเต้นกับมัน หนังสือที่อ่านก็อินกับมัน
ไม่ได้คิดว่าจะต้องสอบให้ผ่าน ต้องได้เหรียญ คิดแค่ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้นมากกว่า ที่สำคัญกว่าคืออยากเข้าใจตัววิชาให้แตกฉานมากกว่าอยากทำข้อสอบ
แก๊งเด็กโอลิมปิก เหมือนหรือต่างจากแก๊งวัยรุ่นอื่นๆ
ผมก็ไม่รู้ว่าวิธีแบ่งเวลาตอนวัยรุ่นนี่มีเคล็ดลับยังไงนะ แต่มองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกเหมือนได้ทำครบทุกอย่าง เล่นบาสทุกเย็น กลางคืนเล่นไพ่ ว่างอ่านการ์ตูน จีบสาวก็จีบ เพลงก็ฟัง หนังก็ดู เพื่อนก็เยอะ ทำทั้งหมดนี้ได้ทั้งๆ ที่มุ่งอ่านหนังสือเรียนไปด้วย เอาจริงๆ อยากกลับไปให้ ‘มัน’ หมายถึงตัวเองวัยหนุ่ม สอนเหมือนกันนะ ทุกวันนี้กลับแทบไม่มีเวลาอ่านหนังสือเลย
คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเชื่อมตัวเองกับวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ไปไม่ถึง
วิทยาศาสตร์มันมีเวอร์ชั่นจัดเต็ม แบบ… (เอามือตบเข่า) เอาจริงแล้วนะ อันนี้จะยาก แต่มันจะมีอีกเวอร์ชั่นหนึ่งที่ผมรู้สึกว่ามันกลมกล่อมได้ คือได้ทั้งความรู้ ความสนุก เอามาคิดต่อกับสิ่งต่างๆ ที่เราเห็นในชีวิตได้เยอะแยะเต็มไปหมด ไม่จำเป็นต้องท่องสูตรสมการ ต้องท่องศัพท์ ซึ่งอันนี้เป็นเวอร์ชั่นที่ขาดหายไปในสังคม
เหมือนว่าสังคมเรามีสองระดับ ระดับที่หนึ่งคือ ‘น้องๆ หนูๆ ครับ วันนี้เรามาดูไดโนเสาร์กันเถอะ’ กับอีกระดับหนึ่งคือสัมมนาวิชาการ ไมโทคอนเดรีย เอ็กซ์ตราสเปเชียลไลฟ์ ไมโครทิวบลูอะไรไปเลย คือมันไม่มีช่วงกลางๆ
ในฐานะที่คุณเป็นนักเรียนวิทยาศาสตร์ เป็นอดีตอาจารย์อยู่ช่วงหนึ่ง คิดว่าปัญหาของการศึกษาบ้านเราอยู่ที่ตรงไหน
ผมว่ามันเอาความโรแมนติกออกจากความรู้ จริงๆ แล้ววิทยาศาสตร์เป็นอะไรที่โรแมนติกมาก เช่น มันมีนิทานคลาสสิกของฝั่งวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับดวงดาว เวลาที่นั่งดูดาวแล้วคิดคำนึงไปว่า
จักรวาลนี้มีดวงดาวมากมาย กว่าแสงจะเดินทางมาถึงเรามันช่างยาวไกล ภาพที่เดินทางมาถึงเรามันคือภาพในอดีต บางทีเป็นล้านปี เป็นพันล้านปี ถ้าเกิดคนที่อยู่ฝั่งนู้นมองมาที่โลกตอนนี้ เขาก็ไม่เห็นเรานะ เพราะเขาจะเห็นภาพในอดีต ตอนนี้เขายังเห็นคุณลุงไดโนเสาร์ หรือคุณปู่อะมีบาหรืออะไรที่เป็นโลกในอดีตอยู่
คิดต่อไปได้ว่า จริงๆ ดาวฤกษ์ทั้งหลาย คือสสารที่ตายแล้ว เพราะตอนที่ดาวฤกษ์เผาผลาญเชื้อเพลิงนิวเคลียร์หมดแล้วมันก็จะระเบิดใช่มั้ย? ตอนระเบิดนี่แหละ มันจะรุนแรงมาก จะก่อให้เกิดธาตุต่างๆ เช่น คาร์บอน ไนโตรเจน ออกซิเจน และธาตุเหล่านั้นก็ลอยไปในอากาศ สุดท้ายแรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วงปั่นให้มันดูดกลับมาอีกรอบหนึ่ง (ทำท่าปั่นสสาร) กลายเป็นดาวฤกษ์ดวงใหม่ ดาวเคราะห์ดวงใหม่ แล้วก็กลายเป็นพวกเรานี่แหละ หมายถึงว่าเราเนี่ย… ก็มาจากละอองดาว
แล้วเวลาที่เรามองไป ดาวพวกนี้ไม่เคยรู้เลยนะว่าสักวันหนึ่งมันจะกลายมาเป็นเรา คือมันจะมีนิทานซึ่ง base on ความจริงที่เล่าแล้วปลุกจิตวิญญาณความโรแมนติกแบบนี้เยอะและแทบจะอยู่ในทุกแขนงของวิทยาศาสตร์เลย แต่มันถูกออกจากหนังสือเรียนหมด
ในหนังสือเรียนของเราคือ คุณต้องรู้ว่าดาวฤกษ์คลาส A ประกอบด้วยไฮโดนเจนกี่เปอร์เซ็นต์ ปฏิกิริยานิวเคลียร์แบ่งออกเป็นฟิชชั่น ฟิวชั่น แตกตัวได้ไอออน ได้โปรตอนเท่านั้น่
เสมือนการให้คุณไปวาดรูปศิลปะแล้วให้ท่องจำเบอร์สี ว่าเบอร์ที่แวนโก๊ะใช้คือเบอร์ไหนแล้วก็จิ้มตาม มันคือการเอาความคิดสร้างสรรค์หรือแก่นของศิลปะออกไปใช่มั้ย? วิทยาศาสตร์ก็ถูกทำเช่นนั้นในหลักสูตรบ้านเรา
ทำไมเราไม่ได้เรียนอะไรแบบนี้ในห้องเรียน!
แต่จริงๆ จะไปว่าเขาทั้งหมดแบบนั้นก็เว่อร์ไป (หัวเราะ) เขาก็ไม่ได้แย่อะไรขนาดนั้น แต่หมายความว่า เมื่อเทียบกับเมืองนอกที่เขามีความเป็นมาทางวิทยาศาสตร์หลายรุ่นยาวนาน จิตวิญญาณแบบนั้นของเขายังอยู่
คือถ้าถามเด็กไทยว่า รู้ไหมว่าโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ ผมว่าเด็กไทยตอบได้มากกว่าเด็กอเมริกา เพราะถ้าเด็กบ้านเขาไม่เอาก็คือไม่เอาเลย แต่คนที่เอา ก็เป็นผู้นำของโลกไปเลย
อะไรที่ทำให้เรารู้ว่า โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ แต่เราไม่อิน
การสอบ (ตอบทันที) จบเลย ซึ่งถ้าถามว่าไม่ต้องสอบได้มั้ย มันก็ไม่ได้อีกอะเนอะ แต่มันเหมือนว่า จุดมุ่งหมายปลายทางไม่ควรจะเป็นการสอบ แต่จุดมุ่งหมายต้องอยู่ตั้งแต่ตอนที่เรียนแล้วว่าอินหรือไม่อิน
การสอบและบรรยากาศว่า ‘เพื่อจบไปแล้วจะไปทำอาชีพอะไร’ ‘เพื่อได้เงินเดือนเท่าไร’ บรรยากาศตรงนี้ไม่ใช่ว่าไม่ควรมีเลยนะ แต่มันมีเยอะไป มันมากลบอย่างอื่นหมด
เพราะครูไม่อินด้วยรึเปล่า เลยเหมือนเป็นวงจร
จริง วงจรนี่ก็น่าจะนูโวนะ ถ้าจำไม่ผิด (เงียบและแป้ก…) ใช่ๆ คือ คนที่ถูกเทรนให้มาเป็นครูก็ไม่ได้ถูกเทรนให้รู้ในระดับลึกซึ้งอะไร มาสอนเด็กก็ไม่สามารถทำให้เด็กอินได้ ก็เป็นวงจรไปแบบนี้
จึงเป็นเหตุผลให้คุณสมัครเป็นครูในโรงเรียนมัธยมอยู่ช่วงหนึ่ง?
จริงๆ แล้วเป็นเรื่องโชคชะตาที่เราไม่ได้วางแผน ‘เบร้อ’ อะไร (‘เบร้อ’ คำติดปากของแทนไท เมื่อก่อนเขามีคำติดปากว่า ‘ยีสต์’ ติดตามความ ‘ยีสต์’ ได้ในหนังสือ ‘โลกนี้มันช่างยีสต์’) เหมือนมันเป็นใบไม้ใบหนึ่งที่ลอยไปตามน้ำ เพียงแต่มันลอยไปติดตรงไหน เราก็ทำตรงนั้นให้ดีที่สุด
กรณีนี้คือ ผมสมัครปริญญาโท-เอกที่เมืองนอกไม่ติด ถูกบังคับให้กลับมาเรียนต่อในไทย อยู่บ้านนานๆ แม่ก็ด่า ทำไมไม่ออกไปหาการหางานทำบ้าง เราก็ออกไปหาการหางานทำ ตอนแรกไปสอนพิเศษ เป็นติวเตอร์นู่นนี่ แล้วก็มีเพื่อนมาทาบทามว่า โรงเรียนนี้มีตำแหน่งว่างอยู่พอดีนะ ต้องการคนด่วน ผม… ซึ่งตอนนั้นเส้นผมเป็นสีทองแบบโอนิซึกะ (GTO) เลย รู้สึกว่าอะไรก็เอาทั้งนั้น เป็นช่วงกล้าเผชิญชีวิต คือถ้าเป็นตอนนี้ก็อาจจะคิดเยอะมากกว่า ก็สมัครเข้าไป ไม่คิดอะไรมาก ขณะเดียวกันก็มีความคิดแบบขบถว่า เราจะสอนธรรมดาไม่ได้ เราจะต้องแนว ต้องสร้างความหวือหวาในโรงเรียน ก็ได้เกิดเป็นเรื่องราวที่สนุกสนานขึ้นมา
แต่อันนั้นคือโชคชะตาพลิกผันไป แต่ยังไงๆ ชาตินี้ ไม่ว่าจะอยู่เมืองนอก อยู่เมืองไทย จะเรียนจบหรือไม่จบ ยังไงก็ต้องทำสิ่งนี้ต่อไป คือการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่ได้เล่าในโรงเรียน ก็มาจัดรายการแทน ตรงนี้เป็นค่าคงที่ของผม
ซึ่งก็คือการสื่อสาร
WitCast เป็นบทสนทนาของเพื่อนที่อินเรื่องอะไรสักอย่างแล้วเราได้มานั่งฟังด้วย เหมือนการตั้งวงนั่งคุย จะไม่ใช่อารมณ์ว่า เอาล่ะ… เรามาปูพื้นฐานวิทยาศาสตร์เรื่องนี้ๆ กันนะ
แต่เหมือนเป็นชุมชน เป็น community ซึ่งอาจจะเป็นคนที่สนใจวิทยาศาสตร์มาก่อนตั้งแต่แรก แล้วในที่สุดก็เจอเพื่อนแล้วโว้ย (เสียงไชโย) หรืออาจจะเป็นคนไม่เคยสนใจเลย แล้วก็ เฮ้ย… มันมีโลกนี้อยู่ด้วยเหรอ แล้วจึงค่อยๆ กระดึ๊บเข้ามา อย่างนี้ก็ได้เหมือนกัน
กลุ่มเป้าหมายของ WitCast จึงเป็นครึ่งๆ ครึ่งหนึ่งคือคนที่เรียนวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ อยู่แล้ว ซึ่งคนกลุ่มนี้ มักจะชอบฟังหรืออินกับสาขาที่ตัวเองไม่ได้เรียนอยู่ กับอีกครึ่งหนึ่งคือคนที่ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์เลย แฟนที่เหนียวแน่นที่สุดคนหนึ่งของ WitCast เป็นอาจารย์สอนปั้นหม้อที่เชียงราย
หมายถึงว่าคนคนหนึ่ง มิติในสิ่งที่เขาสนใจ สิ่งที่เรียนมา สิ่งที่เขาทำงาน ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างเดียวแล้วหยุดแค่นั้น หลายๆ คนอยากจะเรียนรู้ต่อจนข้ามไปสู่ความคิดประมาณว่า ‘สมัยก่อนไม่เคยเรียนวิทยาศาสตร์เลย แต่อยากรู้ว่ามันมีอะไรบ้าง’ การฟัง WitCast อาจจะตอบโจทย์ตรงนี้
ธงหรือเป้าหมายของ WitCast คืออะไร มีอุดมการณ์เบื้องหลังสิ่งนี้ไหม
ผมมักจะเปรียบเทียบวิทยาศาสตร์กับดนตรี ไม่ว่าจะเพศไหน วัยไหนก็ฟังเพลงได้ คือมีเพลง มีดนตรีที่ชอบและศิลปะหลายๆ แขนง รวมถึงละครไทยไปด้วย ยังได้แทรกอยู่ในสังคม คือมอบอะไรให้เราหลายอย่าง รวมทั้งอารมณ์ วิทยาศาสตร์ควรเอามาทำให้เป็นดนตรีที่แทรกอยู่ในสังคมเช่นกัน
และไม่ใช่ว่าการสื่อสารวิทยาศาสตร์แบบนี้ เราเป็นประเทศแรกที่ทำ มีหลายประเทศที่เป็นแบบนี้ ซึ่งผมอยากทำให้ประเทศเราเป็นแบบนั้นบ้าง เช่น เปิดทีวีมาแล้วเจอรายการที่เล่าความรู้วิทยาศาสตร์อย่างสนุกสนาน เข้าร้านหนังสือไปเจอกำแพงหนังสือวิทยาศาสตร์ วันนี้เรามาสนใจเรื่องสมองดีมั้ย หรือเราจะสนใจเรื่อง (หยุดคิด) วันนี้คนกำลังสนใจเรื่องเสือดำกันอยู่ใช่มั้ย ไหนลองหยิบมาอ่านซิ
คือถ้าเป็นเมืองนอกจะเป็นแบบนี้ มีหนังสือแนว Popular Science หรือวิทยาศาสตร์เพื่อประชาชน มีทุกหัวข้อที่สนใจและหาอ่านได้ และการอ่านในที่นี้ไม่ใช่การอ่านเพื่อเอาไปสอบ เคร่งเครียด แค่เป็นคนที่อยากได้ความรู้ อ่านหนังสือพวกนี้ในยามว่าง นั่งในสวน จิบกาแฟอ่าน อ่านเพื่อความผ่อนคลายอย่างหนึ่ง
ผมอยากเป็นส่วนหนึ่งที่เติมบรรยากาศแบบนี้ในสังคมเรา แต่ WitCast เน้น Audio Content มากกว่า
คิดว่ามีปัจจัยอะไรอีกมั้ย ไม่ว่าจะมีคาแรคเตอร์แบบไหน ที่ทำให้วิทยาศาสตร์เข้าถึงเด็กๆ ได้
ทำวิทยาศาสตร์ให้เป็นเรื่องสนุก ขณะเดียวกันก็ดึงมันไปสู่ความลึกซึ้งได้ด้วย แล้วก็เป็นบรรยากาศที่ไม่ใช่ห้องเรียน แต่เป็นการเสพความรู้ เหมือนไปกินขนมหวาน กินเค้ก อย่างคนที่ฟัง WitCast จบก็จะมาคอมเมนต์ว่า ตอนนี้ฟินมากเลย ซึ่งเราอาจค่อยๆ กระจายความสนุกนี้ให้คนอื่นได้ร่วมอินด้วยได้ แต่ไม่ใช่ภาคบังคับ คุณต้องมาฟังนะ
และคิดว่าการเทรนผู้สอนคงเรื่องหนึ่ง แต่พวกนอกห้องเรียน เช่น สื่อต่างๆ ถ้ามีรายการทีวีก็ต้องดันให้สนุก มีไอดอลสายวิทยาศาสตร์อย่างคุณเฌอปราง (เฌอปราง อารีย์กุล ไอดอลวง BNK48) ก็ต้องช่วยกันดัน
คุณก็เป็นแฟนคลับด้วย?
ก็แบบ ‘แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ แต่เธอไม่รู้บ้างเลย’ มีคนเชียร์ให้คุณเฌอเปรางมาออก WitCast ถ้าได้มาจริงๆ ก็จะดีมากเลย ถ้าคุณเฌอปรางอ่านอยู่แล้วอยากจะมาช่วยสื่อสารวิทยาศาสตร์ ผมคิดว่าช่องทางนี้เป็นช่องทางที่เหมาะสมนะครับ
อะ… ต่อเลยค่ะ ^^ เมื่อกี๊ถึงตอนที่ว่า ต้องดันทุกสื่อให้สนุก
คือถ้าช่องทางบันเทิงทุกอย่าง หนัง สารคดี ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ หมายความว่าการเรียนในห้องเรียนคือเรียนเพื่อเอารายละเอียดและการฝึกเทคนิคในเพื่อเข้าใจและจำ แต่พอออกไปนอกห้องเรียน ก็ต้องมีความโรแมนติกของความรู้ ได้เห็นไอดอล ได้อินกับหนังสือที่ดึงให้เราคิดต่อจาก fact หรือข้อเท็จจริงที่ได้รับมา ผมว่ามันควรสนับสนุนแนวนี้
คำถามสุดท้ายแล้วค่ะ เคยคิดไหมว่า ถ้าไม่รักวิทยาศาสตร์ ถ้าไม่ได้โอลิมปิกวันนั้น ชีวิตเราจะไปทางไหน
ผมว่าผมคงไปเป็นนักร้อง (หัวเราะ) คือจริงๆ ผมมีความอาร์ตอยู่ในตัวแบบที่ไม่ได้รับการเพาะบ่มเท่ากับสายวิทย์ แต่เป็นหน่ออยู่ คือผมชอบวาดภาพ แต่งเนื้อเพลง ซึ่งถ้าไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ ทักษะเหล่านี้ เช่น การวาดรูป วาดการ์ตูนอาจได้รับการพัฒนา อาจจะเป็นนักเขียนการ์ตูน