Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: August 2024

‘แม่โสสะ’ แม่ที่มีอยู่จริงของลูก 16 คนที่เธอไม่ได้ให้กำเนิด แต่รักหมดหัวใจ: แม่อ้อย- ลักษณี เลื่อนล่อง
11 August 2024

‘แม่โสสะ’ แม่ที่มีอยู่จริงของลูก 16 คนที่เธอไม่ได้ให้กำเนิด แต่รักหมดหัวใจ: แม่อ้อย- ลักษณี เลื่อนล่อง

เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • ‘แม่โสสะ’ คือแม่ผู้ที่ไม่ได้ให้กำเนิด แต่เป็นผู้ที่ทำหน้าที่ ‘แม่ฟูลไทม์’ และพร้อมเป็นครอบครัวทดแทนให้กับเด็กกำพร้าภายใต้ความดูแลของมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย
  • The Potential ชวนก้าวข้ามเรื่องความผูกพันทางสายเลือด และไปคุยกับ ‘แม่อ้อย-ลักษณี เลื่อนล่อง’ คุณแม่ลูก 16 ที่ทุ่มเทเวลาและความรักให้กับเด็กๆ ใน ‘บ้าน 12’ ของหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู จังหวัดสมุทรปราการ
  • นิยามความเป็นแม่สำหรับแม่อ้อยไม่ได้เกี่ยวกับสายเลือด แต่เป็นเรื่องของความผูกพัน ที่ปรารถนาและคาดหวังให้ลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม

‘แม่’ คือผู้ให้กำเนิด?

‘แม่’ คือผู้เสียสละ?

‘แม่’ คือพระอรหันต์ของลูก?

ไม่ว่านิยามความเป็นแม่ของคุณคืออะไร The Potential ชวนก้าวข้ามเรื่องความผูกพันทางสายเลือด ไปรู้จักกับผู้หญิงที่ถูกเรียกว่า ‘แม่’ ทั้งที่เธอไม่เคยคลอดลูกเลยสักครั้ง 

พวกเธอคือ ‘ผู้หญิงโสด’ ที่เลือกเส้นทางชีวิตเป็นแม่ฟูลไทม์ในนาม ‘แม่โสสะ’ ที่พร้อมเป็นครอบครัวทดแทนให้กับเด็กกำพร้าภายใต้ความดูแลของมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย 

สำหรับผู้ทำหน้าที่แม่โสสะจะต้องเป็นผู้หญิงโสดที่ไม่มีภาระผูกพันและมีความปรารถนาจะอุทิศตนเพื่อเด็กๆ เพราะจะต้องเข้ามาพักอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเด็กโสสะเต็มเวลา ซึ่งหลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว มูลนิธิฯจะมีการอบรมความรู้พื้นฐานต่างๆ อาทิ สุขอนามัย จิตวิทยา การปฐมพยาบาล จากนั้นจะต้องฝึกงานในตำแหน่ง ‘คุณน้า’ ก่อนเป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อสั่งสมประสบการณ์และความพร้อมในการเป็นแม่โสสะอย่างเต็มรูปแบบ

และแม้จะไม่ได้เริ่มต้นจากการเป็นครอบครัวเดียวกัน แต่ที่ผ่านมาแม่โสสะทุกคนก็พร้อมเป็นครอบครัวที่ให้ความรัก ความอบอุ่น และการดูแลอย่างไม่มีเงื่อนไขแก่เด็กๆ ไม่ต่างจากแม่ทั่วไป ตั้งแต่เรื่องกินอยู่หลับนอน การเรียน การเข้าสังคม และการใช้ชีวิตในทุกๆ ด้าน ที่สำคัญคือเติมเต็มความรักและความอบอุ่นให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัยและเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ

‘แม่อ้อย’ 18 ปี กับความเป็นแม่ของลูก 16 คน

เพราะความเป็นแม่ไม่ใช่แค่การให้กำเนิด แต่คือการให้ความรักและสร้างสายสัมพันธ์จากการดูแลเอาใจใส่

กว่า 18 ปีที่ ลักษณี เลื่อนล่อง หรือ ‘แม่อ้อย’ ได้เปลี่ยนเส้นทางชีวิตจากคุณครูจากจังหวัดตรัง สู่การเป็นหนึ่งในผู้ทำหน้าที่ ‘แม่โสสะ’ เธอได้ทุ่มเทเวลาและความรักให้กับเด็กๆ ใน ‘บ้าน 12’ ของหมู่บ้านเด็กโสสะบางปู จังหวัดสมุทรปราการ มาแล้วกว่า 16 คน

แม่อ้อยเล่าว่า ที่นี่เธอมีโอกาสได้ดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิดอายุเพียง 1 เดือน ซึ่งความรู้สึกแรกที่ได้เห็นเด็กน้อยไร้เดียงสา ทำให้เธอตั้งปณิธานที่จะดูแลเขาให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

“แม่ไม่เคยคิดเหมือนกันว่าเราจะสามารถมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ เพราะตัวเองไม่เคยดูแลเด็ก 24 ชั่วโมงมาก่อน แต่ส่วนตัวก็เป็นคนรักเด็กและเคยเป็นครูมาก่อน เลยไม่ได้ต้องปรับตัวอะไรกับเด็กมาก สิ่งที่ต่างคือ ถึงจะต้องดูแลเด็กเหมือนกับครู แต่อาชีพแม่จะต่างออกไปตรงที่แม่ต้องรับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องมีความรับผิดชอบสูง ต้องอยู่กับเด็ก 24 ชั่วโมง แม่จะพักไม่ได้ ป่วยไม่ได้ หยุดไม่ได้ เพราะเราเป็นแม่เขา

ซึ่งพอเราเข้าบ้านแล้วทางมูลนิธิก็เรียกไปคุยว่าเราต้องฝึกงานเป็น ‘คุณน้า’ ในหมู่บ้านก่อนประมาณ 2 ปี สิ่งหนึ่งคือแม่รู้สึกตั้งแต่ตอนนั้นคือ เราต้องช่วยเหลือเขาให้ตลอดรอดฝั่ง เพราะเด็กๆ ในบ้านเขาไม่มีใคร การมาอยู่ตรงนี้จึงเป็นสิทธิของแม่ที่จะดูแลให้เด็กๆ เติบโตขึ้นมาอย่างมีคุณภาพ

แล้วพอหลังๆ เด็กเรียกแม่ว่า ‘แม่’ สิ่งที่แวบขึ้นมาในหัวเลยคือ แม่ต้องช่วยเขา ต้องทำให้เขาประสบความสำเร็จในแบบของตัวเองให้ได้ เพราะเขาไว้ใจเรา และเด็กเขาไม่มีใครเลยนอกจากแม่”

‘บ้าน 12’ ของแม่อ้อยเปรียบเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกหลากหลายช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็กวัย 3 ขวบครึ่ง ไปจนถึงพี่ๆ ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาตรี รวมแล้วกว่า 10 คน ซึ่งการทำหน้าที่แม่ที่ต้องดูแลลูกๆ ในวัยที่แตกต่างกัน บุคลิกและความต้องการก็แตกต่างกัน ถือเป็นภารกิจที่ท้าทายอย่างมาก

“การเป็นแม่ที่นี่ สิ่งสำคัญคือต้องช่วยเหลือเขา ซึ่งหน้าที่ของเราจะหนักกว่าแม่ทั่วๆ ไป เพราะเรามีลูกเป็นสิบคน บวกกับความต้องการของเด็กแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางคนต้องการแบบนึง แต่เราไม่มีให้เขา เขาก็จะน้อยใจ 

ซึ่งพอแม่มีลูกหลายคน ก็ต้องลงรายละเอียดทุกคน เพราะคนๆ หนึ่งมีรายละเอียดเป็นร้อย แม่ต้องใส่ใจทุกคน เวลาลูกๆ กลับมาจากโรงเรียนเขาก็จะมีเรื่องราวมาเล่าให้เราฟังกันทุกคน บางทีพอคนเยอะ ลูกบางคนอาจจะน้อยใจว่าทำไมแม่ไม่ฟังฉัน แม่ก็จะค่อยๆ เข้าไปหาทีละคนให้เขาเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟังใหม่อีกรอบ เพื่อที่จะให้เขารู้ว่าแม่ให้ความใส่ใจเขา ให้ความสำคัญเขา

เพราะเด็กทุกคนต้องการให้แม่ให้ความสำคัญกับเขา ไม่ว่าจะเด็กหรือโตเขาก็ต้องการ เลยเป็นหน้าที่ของเราที่จะลงรายละเอียดว่าลูกแต่ละคนนิสัยยังไง แม่ต้องมีประสาทสัมผัสและสติที่ดีเพื่อที่จะประคองความรู้สึกลูกทุกคน เพราะเด็กแต่ละคนต่างกัน บางครั้งเขาก็มีความน้อยใจ รู้สึกว่าแม่รักคนนั้นคนนี้มากกว่า รักลูกไม่เท่ากัน แม่ก็จะคุยกับเขาด้วยเหตุผล และสอนให้เขารักกัน พยายามบอกเขาว่าบางครั้งปัญหาที่เก็บไว้ก็ต้องวางลงบ้าง ไม่อย่างนั้นจะเป็นเขาเองที่เครียด

การเลี้ยงดูลูกหลายๆ คนพร้อมกัน สิ่งสำคัญคือเราต้องตระหนักว่าเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และตัวเราต้องเป็นคนกระตุ้นให้เขารู้สึกว่าเขานั้นมีประโยชน์ มีคุณค่า มีสิ่งดีๆ ในตัว แม้ว่าคนอื่นจะไม่เห็น แต่แม่เห็น เพราะเราอยู่กับเขาแทบจะตลอดเวลา” 

แม้ไม่ใช่ ‘แม่แท้ๆ’ แต่แค่ลูกรู้ว่า ‘แม่รัก’ ก็พอแล้ว 

“ความเป็นแม่ไม่ได้เกี่ยวกับสายเลือด แต่เป็นเรื่องของความผูกพันมากกว่า เรารักเขา อยากให้เขาได้ดี ให้เขาได้รับในสิ่งที่เขาควรจะได้ แม่ก็ไม่รู้ว่าแม่เป็นแม่ได้จริงๆ หรือเปล่า แต่แม่แค่อยากให้เขาเติบโตได้ดี และมีอนาคตที่ดี แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”

สำหรับแม่อ้อย ความผูกพันที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่เธอเลี้ยงดูมานั้น ไม่ได้ต่างจากความผูกพันที่แม่ทั่วไปมีต่อลูกของตนเองเลย การได้กอด ได้เลี้ยงดู และได้เห็นรอยยิ้มของเด็กๆ ทำให้แม่อ้อยรู้สึกถึงความรักของแม่อย่างลึกซึ้ง และการที่ได้เลี้ยงดูพวกเขามาตั้งแต่เด็ก หรือบางคนก็ตั้งแต่แรกเกิด ทำให้เธอรู้สึกว่าเด็กๆ เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของชีวิตเธอไปแล้ว

“มีครั้งหนึ่งเด็กที่แม่เลี้ยงเขามาตั้งแต่ 1 เดือน วันนึงพอเข้าโรงเรียนเขาก็เริ่มสงสัยว่า ทำไมแม่นามสกุลไม่เหมือนกับเขา เขาเลยกลับบ้านมาถามว่า “หนูไม่ใช่ลูกแม่ใช่ไหม” ซึ่งคำถามนี้ก็แทงใจแม่เหมือนกัน เพราะแม่เลี้ยงเขามาแต่อ้อนแต่ออก แต่แม่ก็สื่อสารกับเขาว่า แค่รู้ว่าแม่รักเขาก็พอแล้ว จริงอยู่ที่คนเราทุกคนก็เกิดจากท้องแม่ แต่มันมีปัจจัยหลายอย่างที่อาจทำให้เราไม่ได้อยู่กับคนที่คลอดเราออกมา แต่ก็ถือว่ายังโชคดีที่ได้มาอยู่ตรงนี้ มาเจอกับแม่ มีแม่ที่คอยอยู่กับเขาทุกเวลา 

ซึ่งแม่ก็มองว่าครอบครัวของเราก็น่าจะทดแทนครอบครัวจริงๆ ได้ระดับนึงเลย ถ้าเขาไม่ได้มาเจอครอบครัวโสสะเขาก็คงลำบาก เพราะจริงๆ ในสังคมเรา ทุกครอบครัวก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบเสมอไป ทุกครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกครบก็มีปัญหาของตัวเอง แม่ก็บอกเขาว่า ถ้าวันหนึ่งลูกๆ มีความฝันที่อยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ ก็ให้ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน เพื่อที่เขาจะสามารถสร้างครอบครัวของตัวเอง หรือสร้างอะไรที่อยากสร้างในอนาคตได้”

ชีวิตการเป็น ‘แม่’ การเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ

สำหรับผู้หญิงคนหนึ่งที่ไม่เคยมีประสบการณ์เลี้ยงเด็กหรือเป็นแม่คนมาก่อน การต้องมาดูแลเด็กตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยไปจนถึงเรื่องใหญ่ ถือเป็นความรับผิดชอบที่หนักอึ้ง ซึ่งแม่อ้อยบอกว่า สำหรับตนเองทุกๆ วันคือการเรียนรู้ในทุกๆ เรื่อง เพื่อสอนลูกๆ ให้ดีที่สุด

“เอาจริงๆ ก็ไม่เคยคิดมาก่อนว่าการเป็นแม่จะต้องมาสอนทุกเรื่องขนาดนี้ โดยเฉพาะเราที่ไม่เคยเลี้ยงเด็กมาก่อนด้วย แต่ต้องสอนเขาทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งการใช้ชีวิต เพศศึกษา การศึกษา และสังคม บางทีแม่ยังรู้สึกทึ่งตัวเองเลยว่าไปเอาที่ไหนมาสอนเยอะแยะ แต่มันก็เป็นภาคบังคับว่าต้องสอนลูก 

บางเรื่องที่คิดว่าเขาอาจจะแก้ปัญหาเองได้ ปรากฏว่าบางครั้งเขาก็ยังคิดถึงแม่เป็นคนแรกๆ ซึ่งแม่เองก็ดีใจที่แม้ว่าเขาจะโตแล้วแต่ก็ยังนึกถึงแม่อยู่ แต่โดยภาพรวมแล้ว เด็กๆ ที่โตสุดเขาก็จะดูแลตัวเองได้ ถ้ามีปัญหาที่ไม่ได้หนักหนามาก ก็จะปล่อยให้เขาลองแก้ด้วยตัวเองก่อน แต่ถ้าแก้ไม่ได้ก็ให้มาหาแม่ มาแก้ไขปัญหาร่วมกัน ให้เขากล้าตัดสินใจด้วยตัวเอง และบอกเขาทุกครั้งว่าถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรที่ผิดก็ไม่ต้องกลัว จะสอนให้เขายืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้ ดูแลตัวเองให้ได้มากที่สุด”

และเพราะการเป็นแม่เปรียบเสมือนการเดินบนเส้นด้ายที่ต้องคอยทรงตัวและเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของลูกที่กำลังเติบโต ปัญหาของตัวเอง การรักษาสมดุลในทุกๆ สถานการณ์จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

“การอยู่ตรงนี้ปัญหาคือสิ่งที่เราต้องเจอแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาของเด็ก ของผู้ใหญ่ และของตัวเราเองด้วย เราเองเลยต้องมีสติและใจเย็นให้มาก เราจะจัดการไม่ได้เลยถ้าไม่มีสติแล้วโวยวายด้วยอารมณ์ 

การสอนของแม่ก็ปรับไปตามยุคสมัย เพราะบางทีวัยรุ่นจะมีความคิดเป็นของตัวเอง และฟังเพื่อนมากกว่า จะมีเด็กเล็กๆ ที่ฟัง ส่วนโตๆ เขาเริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เราก็ย้ำว่าคิดได้ทำได้ แต่อย่าให้มันเลยกรอบไปมากนัก เพราะเดี๋ยวเกิดปัญหาจะแก้ยาก

ลูกเองแม้จะโตและออกไปอยู่ข้างนอกแล้ว บางคนก็ยังพบปัญหาอยู่บ้าง สิ่งที่ทำได้ก็คือบอกให้ลูกใจเย็นและค่อยๆ แก้ปัญหาไป อันไหนที่ไม่เกินกำลัง หรือถ้าช่วยได้แม่ก็ช่วย แต่อันไหนเป็นสิ่งที่ลูกต้องปรับตัวเอง ก็ต้องจัดการปัญหาด้วยตัวเอง เขาจะได้เข้าใจและเรียนรู้ว่าการใช้ชีวิตในสังคมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ทุกวันนี้แม่ก็โทรหาพูดคุยกับลูกตลอดเวลา วันหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยสายจากลูกๆ ทั้งคนเล็กคนโต วางสายคนนั้น คนนี้ก็โทรมา เพราะเขาเคยชินกับการมีแม่มาแต่เด็ก แม่ก็พยายามบอกเขาให้ตัดสินใจบางอย่างเองบ้าง อะไรที่ควรทำก็ทำ อะไรไม่ควรก็อย่าไปทำ ทำทุกอย่างให้อยู่ในกรอบของกฎระเบียบ ไม่ต้องไปแหกกฎมากมายเพราะมันไม่ได้ช่วยอะไรเลย”

ความภูมิใจในฐานะ ‘แม่’ เพียงแค่เห็นลูกเติบโตเข้มแข็งและมีชีวิตที่ดี

เกือบ 20 ปีกับการทำหน้าที่แม่โสสะ เมื่อถามถึงความสุขของแม่อ้อย เธอตอบทันทีว่า คือการได้เห็นลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดี การได้อบรมสั่งสอนลูกๆ ให้เป็นคนดีของสังคมเป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่ง แม้ว่าระหว่างทางจะต้องเผชิญกับอุปสรรคและความผิดหวังบ้าง แต่การได้เห็นลูกประสบความสำเร็จและมีความสุข คือรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

“สิ่งที่เรามีความสุขคือการที่เห็นลูกๆ ที่เราเลี้ยงเติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม เขายอมรับตัวเอง และสังคมยอมรับเขา ซึ่งความภูมิใจที่สุดของแม่คือ แม่ภูมิใจที่เลี้ยงลูกๆ ไม่เป็นปัญหาของสังคม สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเราต้องสร้างความเข้มแข็งให้เขาก่อน เพราะถ้าออกไปข้างนอกแล้วคิดว่าลำบาก มันก็จะลำบาก แต่ถ้าเราออกไปด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง เราก็จะต่อสู้กับทุกอุปสรรคที่ผ่านเข้ามาได้ แม่ก็บอกเขาให้เข้มแข็ง พึ่งพาตัวเอง และพี่น้องก็อย่าทิ้งกัน

แต่บางครั้งก็อาจจะมีเสียใจบ้าง ถ้าหากสิ่งที่แม่สอนแล้วเขามองข้าม นั่นคือความเสียใจสําหรับแม่ แต่แม่เองก็มีลิมิต วันนี้แม่เสียใจได้ แต่พรุ่งนี้แม่จะต้องไม่เสียใจ แม่ต้องสร้างกําลังใจให้ได้ เพราะว่าเรามีลูกหลายคนถ้าเรามานั่งจดจ่ออยู่ว่าฉันเสียใจกับเธอมากนะ แล้วคนอื่นล่ะ คนอื่นเขาต้องการกําลังใจเหมือนกัน ถ้าเราอ่อนแอทุกอย่างก็จบ แต่วันนึงความเสียใจก็จะหมดไป เมื่อเราคิดที่จะอภัยให้เขา เราก็จะลืมสิ่งนั้นไป

แต่ถึงยังไงแม่ก็ดีใจที่ได้มาทํางานตรงนี้ แม่มีความรู้สึกว่าเราอาจจะไม่ได้ช่วยสังคมโดยตรง แต่เราก็ได้ช่วยบางส่วนเพื่อให้เด็กๆ ที่เขาเคยมีความทุกข์มีความยากลําบากได้หมดทุกข์ และมีความสุข ซึ่งแม่เชื่อว่าลูกที่แม่เลี้ยงเขาก็มีความสุข เพราะเขาได้รับในสิ่งที่ดี”

ความในใจจากแม่อ้อย ถึง ‘แม่ๆ’ และอนาคตของตัวเอง

“อยากจะให้แม่ทุกคนพูดคุยเอาใจใส่ลูกมากขึ้น คอยถามสารทุกข์สุขดิบลูก บางทีแม้ภายนอกเด็กวัยรุ่นจะดูเบื่อดูรำคาญ แต่แม่เชื่อว่าลึกๆ แล้ว ในใจเขาก็อยากหาแม่ กอดแม่ เพราะฉะนั้นจะต้องใช้ความเอาใจใส่ในการเลี้ยงดู

ทุกคนที่มีลูก แม่พยายามบอกให้พูดคุยกับลูกมากขึ้น ดูแลลูกให้เหมือนวันแรกที่เราเลี้ยงดูเขามา เพราะจริงๆ แล้วคำว่ารักลูก เราพูดได้ทุกคน แต่ถ้ามากกว่าความรักคือความผูกพัน เข้าใจว่าด้วยความเป็นแม่เราก็จะมีความคาดหวัง มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ลูกเติบโตไปเป็นคนดีของสังคม เพราะฉะนั้นทุกอย่างจึงต้องช่วยเหลือกัน ไม่ว่าจะในบ้าน หมู่บ้าน หรือในสังคมข้างนอก

ความรักและความเอาใจใส่เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความรัก ต้องช่วยกันดูแล ไม่ว่าจะพ่อหรือแม่ ทุกคนมีบทบาทต้องดูแลเลี้ยงดูลูกเท่ากัน ถ้าทั้งพ่อและแม่ช่วยกันได้ ก็อยากให้ช่วยกัน เพราะว่าพ่อกับแม่เหมือนครูคนแรกของลูก ยังไงเขาก็ต้องหันมามองพ่อกับแม่เป็นแบบอย่าง”

สำหรับแม่อ้อยเองกับบทบาทของแม่โสสะ ความผูกพันที่เกิดขึ้นกับลูกๆ ทุกคนเปรียบเสมือนสายใยอันแน่นแฟ้นที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินต่อบนเส้นทางนี้ เพราะความภาคภูมิใจที่ได้เห็นลูกๆ เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีคือสิ่งตอบแทนที่ล้ำค่า และเป็นแรงบันดาลใจให้เธอยังคงสานต่อบทบาทของ ‘แม่’ เพื่อมอบความรักและโอกาสให้กับเด็กๆ ที่ขาดโอกาสต่อไป

“จริงๆ พอทำไปเรื่อยๆ ก็ไม่ได้คิดล่วงหน้าว่าจะทำต่อไปอีกกี่ปี แต่คิดว่าแม่อยากเห็นอนาคตของลูก อยากจะส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเขา  ซึ่งถ้าถามว่าการเป็นแม่โสสะ พอเกษียณอายุ 60 แล้วยังต้องทําอยู่มั้ย แม่ก็ยินดีที่จะยังทําอยู่เพราะว่าเรามีลูกเยอะ และเป็นลูกที่เราเลี้ยงมา แม่จะตัดลูกๆ ออกจากชีวิตได้ยังไงล่ะ ในเมื่อแม่เลี้ยงมาตั้งแต่เล็กๆ ป้อนข้าว ป้อนน้ำ เห็นเขาเติบโต เรียนจบประถม มัธยม จนจบปริญญาตรี สุดท้ายแล้วเขาก็ยังมีสายสัมพันธ์กับเรา กับพี่น้องในบ้านเดียวกัน แล้วก็กับพี่น้องในหมู่บ้านเด็กโสสะทุกคนเสมอ ทุกคนจะมีความสัมพันธ์กัน จะมีความรัก รักน้อง รักแม่ และรักองค์กร

ถ้าไม่รัก แม่ทํางานที่นี่ไม่ได้ เราเห็นลูกเราเจ็บ เห็นลูกเราร้อง คนที่เป็นแม่ทุกคน แม้ไม่ได้เป็นแม่แท้ๆ เราก็มีความรู้สึกอยากปกป้อง อยากดูแล อยากโอบกอด แม่ถึงบอกว่า ความรักมันเกิดมาจากความผูกพันค่ะ” แม่อ้อยกล่าวทิ้งท้าย

Tags:

ความสัมพันธ์การเลี้ยงดูแม่แม่โสสะมูลนิธิเด็กโสสะแห่งประเทศไทย

Author:

illustrator

กนกพิชญ์ อุ่นคง

A girl who aspires to live like a yacht floating on the ocean, a dandelion fluttering over the heather, a champagne bursting in party.

Related Posts

  • Alexithymia-nologo
    How to enjoy life
    พูดไม่ออก บอกไม่ถูก? เมื่อใจรู้สึก แต่ปากกลับบอกไม่ได้ว่าคืออารมณ์อะไร: Alexithymia ภาวะไร้คำให้กับอารมณ์

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Curse Child Star-nologo
    Healing the trauma
    จิตวิทยาของ ‘เด็กดัง’: ทำไมดาวดวงน้อยถึงดิ่งลงเหวเมื่อพวกเขาเติบโต?

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Modern love Tokyo (2022): แม่ต้องปล่อยวางหลายเรื่อง แต่วันหนึ่งลูกจะภูมิใจในเราเองแหละ

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • MovieDear Parents
    Survival of the thickest – แด่ผู้รอดชีวิตจาก toxic parents

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear ParentsBook
    โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก: โลกร้ายกาจอาจไม่ทำลายคน ความเดียวดายต่างหาก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

May I quit being a mom? ความพยายามดูแลแม่ญี่ปุ่นของรัฐบาล
Movie
9 August 2024

May I quit being a mom? ความพยายามดูแลแม่ญี่ปุ่นของรัฐบาล

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • ‘May I quit being a mom?’ เป็นสารคดีสัญชาติญี่ปุ่นที่อกเล่าความยากลำบากของการเป็น ‘แม่’ ในหลายๆ ครอบครัว ซึ่งก็พูดถึงเรื่องราวเปราะบางและซับซ้อนในครอบครัวได้อย่างจริงใจ รวมถึงทำให้เห็นถึงวิธีการที่รัฐบาลพยายามเข้าไปดูแลเหล่า ‘แม่’ ที่ส่วนใหญ่ต้องเป็นคนที่ดูแลลูกเพียงคนเดียว
  • เรื่องราวที่ชวนเสียน้ำตามากที่สุดคือเรื่องของคุณแม่ ‘โทชิเอะ’ แม่ที่ไม่สามารถกอดลูกของตัวเองได้เพราะมีปมบาดแผลในอดีต ที่เคยถูกแม่ผู้ให้กำเนิดทิ้งไปตอนเป็นวัยรุ่น ทำให้เธอไม่สามารถที่จะแสดงความรักให้ลูกได้รับรู้ได้มากเพียงพอ
  • สังคมมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากในการเลี้ยงเด็กคนนึงขึ้นมา ทั้งครอบครัว จิตแพทย์ โรงเรียน รัฐบาล เมื่อทุกฝ่ายมาช่วยแบ่งเบา รับฟังปัญหา ก็จะช่วยเติมพลังให้แม่ผู้เปรียบเสมือนหัวหน้ากลุ่ม สามารถมอบความรักให้ลูกได้อย่างเต็มที่ ทำให้เห็นว่าการเลี้ยงเด็กคนนึงไม่ควรเป็นงานของแม่เพียงคนเดียว

สารคดีจากประเทศญี่ปุ่นที่บอกเล่าความยากลำบากของการเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะคนเป็น ‘แม่’  ที่สังคมมักจะกดดันว่าจะต้องเป็นคนที่ดูแลลูกเพียงคนเดียว โดยมีผู้กำกับจากสารคดีเรื่อง Kid konference (2022) เล่าถึงโรงเรียนอนุบาลแห่งหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับความคิดของเด็กๆ เหมือนพวกเขาเป็นผู้ใหญ่ซึ่งเราเคยเขียนถึงก่อนหน้านี้มาแล้ว

สำหรับสารคดีเรื่อง May I quit being a mom? ก็ทำให้เราเสียน้ำตามากมายเพราะพูดถึงเรื่องราวเปราะบางและซับซ้อนในครอบครัวได้อย่างจริงใจ และทำให้เห็นถึงวิธีการที่รัฐบาลพยายามเข้าไปดูแล และตัวผู้กำกับเองที่นำเรื่องนี้มาเผยแพร่เพื่อให้คนในสังคมรับรู้และทำความเข้าใจร่วมกัน

เรื่องเริ่มจากไปสัมภาษณ์คุณแม่ๆ หลายคนที่รู้สึกเหนื่อยกับการเลี้ยงลูกจนเกิดความคิด ‘อยากลาออกจากการเป็นแม่’ พวกเธอรู้สึกย้อนแย้งกับตัวเอง เพราะในใจรู้สึกรักลูกแต่บางครั้งก็อยากหนีไปให้พ้นๆ 

สารคดีพยายามพูดถึงภาวะซึมเศร้าและความรู้สึกโดดเดี่ยวที่คนเป็นแม่มักจะเผชิญหลังคลอดลูก เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงปัญหานี้จะได้ช่วยกันป้องกันก่อนจะสายเกินไป

พวกเขาเล่าว่ามีหลายครอบครัวที่มีปัญหาสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัวว่าต้องเข้ารับการรักษา มีครอบครัวที่ต้องเสียแม่ไปจากโรคซึมเศร้า และมีครอบครัวที่ทำร้ายเด็กเพราะต้องอยู่กับความเครียดและไม่เคยเข้าถึงการรักษาทางจิตใจ

โดยทางสารคดีก็ได้ไปติดตามชีวิตของหลายครอบครัว มีทั้งคุณแม่ที่กำลังจะต้อนรับลูกคนที่สามพร้อมกับกังวลว่าจะต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าหลังคลอดอีกครั้ง มีคุณแม่ที่เยียวยาตัวเองจากการที่แม่ของเธอฆ่าตัวตายตั้งแต่เธอยังเป็นเด็กน้อย เธอเคยไม่เห็นภาพตัวเองว่าจะเป็นแม่คนได้แต่กลับกลายเป็นว่าเธอสามารถมอบความรักให้ลูกได้อย่างเต็มเปี่ยม

และก็มีคุณแม่ที่ทำให้เราเสียน้ำตามากที่สุดคือคุณแม่ ‘โทชิเอะ’ เธอคือแม่ที่ไม่สามารถกอดลูกของตัวเองได้เพราะมีปมบาดแผลในอดีตที่เคยถูกแม่ผู้ให้กำเนิดทิ้งไปตอนเป็นวัยรุ่น

โทชิเอะมีลูกสามคน ลูกสาวคนโตของเธอกำลังเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น และมีปัญหาโดดเรียนบ้าง แกล้งเพื่อนบ้าง จนครูประจำชั้นเรียกโทชิเอะไปคุยด้วยบ่อยๆ โทชิเอะเปิดเผยว่าเธอรู้ว่าลูกๆ ต้องการความรักจากเธอแต่เธอไม่สามารถแสดงออกได้ เธอมักจะดุและเข้มงวดกับลูกๆ มาก

จนวันหนึ่งลูกสาวคนโตเขียนจดหมายมาว่า “แม่รักหนูบ้างมั้ย?” และเธอไม่ได้เขียนกลับไป เธอนำเรื่องนี้มาปรึกษากับทางทีมงานว่าเธอไม่อยากให้ลูกรู้สึกว่าเธอไม่รัก และรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้งอย่างที่เธอเคยรู้สึกกับแม่ของตัวเอง สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจเปิดใจกับลูกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

เธอบอกกับลูกว่า “แม่อยากแน่ใจว่าลูกรู้ว่าทุกครั้งที่แม่หงุดหงิด ซึ่งแม่จะหงุดหงิดอีกแน่ๆ แต่นั่นไม่ใช่เพราะแม่ไม่รักลูก” เธอขอกอดลูกและบอกลูกว่า “เธออยากกอดลูกมานานมากๆ แต่ที่ไม่ได้ทำไม่ใช่เพราะไม่รักลูก แต่แม่แค่ทำไม่ได้” หลังจากที่เธอบอกความในใจนี้ เธอกับลูกๆ ก็กลับมาเชื่อมต่อกันอีกครั้ง เธอบอกว่า เธอน่าจะทำแบบนี้มาตั้งนานแล้ว และต่อมาเธอยังตัดสินใจเขียนจดหมายฉบับหนึ่งให้กับลูกสาวคนโต ซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ลูกๆ หลายคนอยากได้ยินมากที่สุด เลยขอยกมาใส่ไว้ในครั้งนี้

“ฟูกะลูกรัก ขอบใจนะที่เป็นพี่สาวคนโต ยังกังวลอยู่ไหมว่าแม่ไม่รักลูก ถึงลูกจะไม่ชอบวิชาเลขหรือการเลี้ยงน้อง

ต่อให้ลูกหนีเรียนหรือเกลียดแม่ในบางครั้ง แม่ก็ยังรักลูกจ้ะ มาหาสิ่งที่ลูกชอบทำกันเถอะนะ แม่ดีใจที่จะได้ร่วมเส้นทางนี้ไปกับลูก

บางครั้งอาจเหมือนลูกกำลังแตกสลาย แต่อย่าลังเลที่จะมาให้แม่ช่วยนะ พ่อกับแม่จะอยู่ข้างลูกเสมอจ้ะ

รัก จากแม่”

ในสารคดีบอกเราอีกว่าสังคมมีส่วนรับผิดชอบอย่างมากในการเลี้ยงเด็กคนนึงขึ้นมา ทั้งครอบครัว จิตแพทย์ โรงเรียน รัฐบาล เมื่อทุกฝ่ายมาช่วยแบ่งเบา รับฟังปัญหา ก็จะช่วยเติมพลังให้แม่ผู้เปรียบเสมือนหัวหน้ากลุ่ม สามารถมอบความรักให้ลูกได้อย่างเต็มที่ ทำให้เห็นว่าการเลี้ยงเด็กคนนึงไม่ควรเป็นงานของแม่เพียงคนเดียวจริงๆ

เรื่องที่น่าสนใจที่เรารู้สึกว่าแทบทุกครอบครัวน่าจะเป็นคือมีปัญหาในการสื่อสารกัน ทั้งครอบครัวของโทชิเอะที่เล่าไปก่อนหน้านี้ ส่วนนึงของปัญหาก็เกิดจากการไม่ได้สื่อสารความรู้สึกกันนานหลายปี แล้วพอมีคนเข้ามาบอกวิธีที่จะแสดงความรู้สึก พวกเขาก็ผ่านมันไปได้

สารคดีพาไปให้เห็นอีกมุมหนึ่งของการไม่สื่อสารกัน คือเวลาอยู่บ้าน พ่อๆ ทั้งหลายมักจะอยู่ในท่าเล่นมือถือ หรือนอนหลับสบาย ขณะที่แม่ๆ ทำงานไม่หยุด เมื่อไปสัมภาษณ์ พ่อส่วนใหญ่จะบอกว่าไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือยังไง หรือเคยถามแล้วว่าให้ช่วยอะไรมั้ยแต่แม่ก็ไม่พูดอะไร เลยปล่อยให้แม่เป็นคนจัดการ 

ส่วนในมุมของแม่เองก็ยอมรับว่าไม่อยากพูด เพราะไม่อยากบังคับให้ทำ พวกเธอมักจะพูดว่าอยากให้พ่อมีจิตสำนึกช่วยเอง หรือบางครั้งพวกเธอก็ไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเพราะถูกกดดันว่าคนเป็นแม่ต้องทำได้สิ แต่มันกลายเป็นต่างฝ่ายต่างเข้าใจและมีความคาดหวังไปคนละแบบ ทุกคนต่างเลือกจะเก็บงำความรู้สึกของตัวเองจนมันระเบิดและกลายเป็นปัญหาใหญ่

ทีนี้สารคดีก็พาไปให้เห็นในมุมของพ่อบ้าง และชี้ให้เห็นว่าการออกไปทำงาน สามารถนับว่าเป็นการดูแลครอบครัวด้วยได้มั้ย เพื่อให้ฝั่งแม่เห็นใจว่าพวกพ่อๆ ก็พยายามทำเพื่อครอบครัวอยู่และมันไม่ได้สบายอย่างที่พวกเธอคิด

สุดท้ายการพยายามสื่อสารของทั้งสองฝั่งคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ทั้งพ่อและแม่ต้องมานั่งเปิดใจต่อกันโดยวิธีการสื่อสารที่เป็นสันติ แม่ก็ต้องฝึกพูดขอความช่วยเหลือให้เป็น พ่อก็ต้องฝึกแบ่งเบา ใส่ใจ หรือรับฟังปัญหาอย่างตั้งใจ ต่างฝ่ายต่างต้องมอบความเข้าอกเข้าใจ (Emphathy) ให้กัน ปัญหาถึงจะค่อยๆ คลี่คลายได้

เราคิดว่าสารคดีนี้เล่าเรื่องได้ดีเพราะเขาไม่ได้ทำมาเพื่อเข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือบอกว่าฝั่งไหนเหนื่อยกว่าฝั่งไหน แต่ทำตัวเป็นสื่อกลางที่บอกเล่าความในใจของแต่ละฝ่ายออกมาเพื่อผลักดันให้แก้ไขปัญหาร่วมกันด้วยน้ำเสียงที่ใจเย็น อาจจะทำให้คนเป็นพ่อแม่ไม่รู้สึกว่าตัวเองโดดเดี่ยว เพราะยังมีคนที่เข้าใจและกำลังเผชิญปัญหาเหมือนๆ กันอยู่ และยังทำให้เห็นว่าปัญหาครอบครัวส่วนใหญ่ก็ไม่สามาถแก้ไขด้วยคนเพียงคนเดียวได้ แม่ไม่ควรรับบทนางแบกจนต้องรู้สึกอยากลาออก มันเป็นหน้าที่ที่เราทุกคนในสังคมต้องตระหนักรู้และร่วมมือกันถึงจะทำให้ครอบครัวเติบโตอย่างแข็งแรง

Tags:

รัฐบาลซึมเศร้าหลังคลอดMay I quit being a mom?สุขภาพจิตพ่อแม่ลูกสังคมแม่

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Social Issue
    ยุติการบูลลี่ เริ่มต้นที่ทัศนคติของผู้ใหญ่: พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  •  The Road: ถึงโลกล่มสลาย…แสงสว่างยังอยู่ในใจเธอเสมอ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Dear ParentsBook
    โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก: โลกร้ายกาจอาจไม่ทำลายคน ความเดียวดายต่างหาก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Precious: แม้พ่อแม่จะสร้างแผลใจที่ไม่อาจลบเลือน แต่เราเติบโตและงดงามได้ในแบบของตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear ParentsBook
    Toxic Parents: ยังไม่ต้องให้อภัยพ่อแม่ก็ได้ เผชิญหน้ากับความรู้สึกตัวเองก่อน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

Border pedagogy การศึกษาที่ชายขอบเป็นศูนย์กลาง
Education trend
6 August 2024

Border pedagogy การศึกษาที่ชายขอบเป็นศูนย์กลาง

เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • “Children Faced With War memories” เรื่องราวที่เล่าถึงความทรงจำของครอบครัวหนึ่งที่หนีตายในช่วงสงครามเวียดนาม ความทรงจำที่เจ็บปวดและดิ้นรนจากสงคราม ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นครูที่ตั้งใจแน่วแน่ว่า นักเรียนของเขาทุกคนจะต้องอิ่มท้องเมื่อมาโรงเรียน
  • การที่แต่ละคนเลือกแสดงออกถึงบางสิ่งด้วยวิธีการบางอย่าง ล้วนมาจากส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต แต่ที่ผ่านมาการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ และลดทอนความเข้าใจต่อชีวิตและความหลากหลายของผู้คนให้เป็นแค่เรื่องผิวเผิน 
  • ในฐานะครูหรือนักการศึกษา เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้ความจริงที่หลากหลาย ได้ถูกบอกเล่า แบ่งปัน และเรียนรู้ที่จะฟังกันและกัน  เสียงที่เคยถูกทำให้เงียบและถูกกดทับ จะได้ถูกเปล่งออกมาผ่านเรื่องราวเหล่านั้น 

บทบาทของการศึกษา คือ “การค้นหาวิธีการเปิดพื้นที่เพื่อผู้คนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย พื้นที่ที่พวกเขาสามารถเป็นในสิ่งที่ต่างไปได้ พื้นที่ที่พวกเขาได้เติบโต” (Green, 1988,p.56)

The role of education is “to discover how to open spaces for persons in their plurality, space where they can become different, where they can grow” (Green, 1988,p.56)  

ในหัวข้อการบรรยาย ‘Border pedagogy and Critical literacy- An Act of Decolonization and Solidarity of the Multitudes’ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยรองศาสตราจารย์ Hsi Nancy Lien¹ จาก Graduate Institute of Multicultural Education มหาวิทยาลัย Nation Dong Hwa University, Taiwan² เธอได้เสนอแนวคิดที่ว่า ทำไมเราจึงจำเป็นต้องสร้างการศึกษาจากตรงชายขอบ 

ในช่วงต้นของการบรรยาย Lien ได้อ่านเรื่อง “Children Faced With War memories” ให้ทุกคนฟัง มันคือเรื่องราวที่เล่าถึงความทรงจำของครอบครัวหนึ่งที่ต้องหนีตายในช่วงสงครามเวียดนาม ตลอดเส้นทางของพวกเขาเต็มไปด้วยความหิวโหย มีเพียงใบไม้และรากไม้ที่พอประทังชีวิตให้รอด พวกเขาตัดสินใจเดินทางข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังประเทศไทย แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็สูญเสียแม่ไปจากความอดอยากระหว่างการเดินทาง หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในไทยได้ราว 1 ปี พ่อของพวกเขาก็ตัดสินใจที่พาลูกๆ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกา เพื่อหวังจะมีโอกาสที่ดีขึ้น ความทรงจำที่เจ็บปวดและดิ้นรนจากสงคราม ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นครูที่ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า นักเรียนของเขาทุกคนจะต้องอิ่มท้องเมื่อมาโรงเรียน

เธอเลือกเล่าเรื่องราวนี้ขึ้นมาเพื่อบอกกับเราว่า บ่อยครั้งเราเห็นผู้คนมากมายในสังคมเดียวกับเรา แต่เรากลับไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขาเลย ทั้งที่จริงๆ แล้ว แต่ละคนต่างมีเรื่องราวที่เขาและเธอเดินผ่านมา การที่แต่ละคนเลือกที่แสดงออกถึงบางสิ่งด้วยวิธีการบางอย่าง ล้วนมาจากส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต แต่ที่ผ่านมาการศึกษากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ และลดทอนความเข้าใจต่อชีวิตและความหลากหลายของผู้คนให้เป็นแค่เรื่องผิวเผิน 

Lien มีความเห็นว่า การศึกษาต้องมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่สนทนา (dialogue) ระหว่างกันของผู้คน การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของใครของมันแบบปัจเจก แต่มันจำเป็นต้องเปิดกว้าง (public) ให้กับพหุเสียง (multiple voices) ได้เผชิญหน้าและสร้างการรับรู้ระหว่างกัน พื้นที่ที่เราต่างจะได้ยินและได้ฟังสิ่งที่ทำให้เราเติบโตขึ้นหรือแตกต่างไปจากเดิม เพราะการสนทนาผ่านเรื่องราวจะทำให้เราได้เห็นข้อจำกัดของความรู้และวิธีการมองโลกของตัวเราเองผ่านคนอื่น รวมถึงจะพาให้เราได้เรียนรู้และมองเห็นว่าอะไรคือเงื่อนไขที่ร้อยรัดจัดกระทำต่อความแตกต่างของเรา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการก่อกำเนิดสำนึกของอิสรภาพ (consciousness of freedom) ที่เราจะนิยามหรือกระทำการบางอย่างต่อโลกที่เราอยู่ขึ้นมาใหม่

ดังนั้น ความท้าทายของงานการศึกษาคือต้องค้นหาว่าอย่างไรที่จะทำให้เกิดพื้นที่แบบเปิดกว้างขึ้นมา (public space)  

Border pedagogy 

ข้อเสนอหนึ่งของเธอ คือการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ในการทำความเข้าใจโลกจากสิ่งที่อยู่ตรงชายขอบให้กลายเป็นใจกลางของการเรียนรู้ Lien เรียกมันว่า ‘Border pedagogy’ ด้วยการเรียนรู้จาก ‘เรื่องราวของชีวิต’ (Life stories) หรือ ‘ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล’ (personal histories) ที่เรื่องราวของแต่ละคนไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ แต่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากโลกทางสังคมและการเมืองที่เป็นอยู่ ที่ตรงนี้เองที่เราจะมองเห็นการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คน ภายใต้เงื่อนไขการกดขี่ในชีวิตของแต่ละคน ที่ซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากความเจ็บปวดในชีวิตประจำวันที่ผู้คนเผชิญและอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน   

ในแง่นี้ border pedagogy จึงเป็นการสำรวจถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกกดขี่และวัฒนธรรมความรู้ที่ไม่ได้ถูกนับ ด้วยการเปิดให้เสียงเหล่านี้ในประวัติศาสตร์ได้ถูกเปล่งออกมา เพื่อให้เราได้มองเห็นและเข้าใจว่าอดีตส่งผลอย่างไรต่อปัจจุบันของเขาและเธอ 

ในฐานะครูหรือนักการศึกษา เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้ความจริงที่หลากหลาย (multiple realities) ได้ถูกบอกเล่า แบ่งปัน และเรียนรู้ที่จะฟังกันและกัน  เสียงที่เคยถูกทำให้เงียบและถูกกดทับ จะได้ถูกเปล่งออกมาผ่านเรื่องราวเหล่านั้น   

ไม่เพียงเท่านั้น การเปลี่ยนตำแหน่งการทำความเข้าใจโลกจากชายขอบ สำหรับ Lien มันคือ การตอบโต้ความทรงจำ (counter memory) ต่อการศึกษากระแสหลักที่ทำให้ความรู้ เรื่องราว หรือความทรงจำของใครบางคนซึ่งถูกกำหนดไว้ ถูกผลิตซ้ำ ส่งต่อให้เราได้ยินได้ฟัง เรารับรู้มัน และกลายเป็นศูนย์กลางในที่สุด เธอเห็นด้วยกับ Bell Hooks นักเคลื่อนไหวและนักการศึกษาที่ต่อสู่เพื่อคนผิวดำและผู้หญิง ว่าสิ่งที่อยู่ตรงชายขอบนั้น ที่ตรงนี้เองที่เราไม่ได้เห็นแค่ว่าชีวิตของผู้คนชายขอบดำรงหรือเผชิญอยู่อย่างไร แต่มันยังเปิดเผยให้เห็นถึงสิ่งที่วัฒนธรรมอำนาจที่ครอบงำเรา เมื่อเรารับรู้ถึงมัน เราจะสร้างหนทางของการก่อร่างความเป็นไปได้ใหม่ของสังคมที่ต่างไปจากเดิมขึ้นมาได้

สิ่งสำคัญสำหรับ border pedagogy คือกระบวนการที่เสมือนว่าตัวเราต่างได้ข้ามเข้าไปในแขตแดนของคนอื่น และเชื่อมต่อกับคนอื่น ที่ซึ่งเราจะได้มองเห็นและรับรู้ในสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน  ในแง่นี้มันจึงต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ ความใส่ใจ เพื่อที่เราจะกล้าเปิดกว้างระหว่างต่อกันในความสัมพันธ์ ณ จุดนี้เองที่ Lien เห็นว่า เราต่างจะค่อยๆ กระทำการ (agencies) ทักทอจากความแตกต่างขึ้นมาใหม่ จนเกิดเป็น ‘solidarity of multitudes’ ที่จะประกอบกันเป็นความหมายในความสัมพันธ์อีกแบบ และจินตนาการถึงสังคมใหม่

ในฐานะครู เราจำเป็นต้องเข้าใจความรู้สึกของการเป็นคนนอก (being an outsider) หรือไม่? ช่วงเวลาแห่งการเป็นคนนอกนั้นถือเป็นการเรียนรู้ที่จำเป็นและสำคัญสำหรับนักการศึกษาหรือเปล่า?

Lien ทิ้งท้าย

¹อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาโทของผู้เขียน
²การบรรยายในงาน Seminar on English Educations, Literatures & Linguistics: Challenges and Opportunities for the English langue Education and Language Teaching in 5.0 Era จัดโดย Department of English education, UNIVERITAS PGRI MADIUN ประเทศอินโดนีเซีย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567

Tags:

Border pedagogyประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล (personal histories)ความหลากหลายการศึกษา

Author:

illustrator

อรรถพล ประภาสโนบล

ครูพล อดีตครูสังคมศึกษาในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ผู้เขียนหนังสือ “ห้องเรียนล้ำเส้น” และบรรณาธิการร่วมหนังสือ “สังคมศึกษาทะลุกะลา” ปัจจุบันกำลังศึกษาต่อปริญญาสาขา Education studies ที่ไต้หวัน

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Voice of New GenSocial Issues
    ‘เด็กทุกคนมีศักยภาพขอเพียงอย่าปิดกั้นโอกาส’  ชีวิตไม่หยุดฝันในวัน Dropout:  ‘กัน’ บัณฑิตา มากบำรุง

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    ไม่ยุบ ไม่ควบรวม แต่ร่วมกันพัฒนา ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ของชุมชน เพื่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทย

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Learning Theory
    ทำไมเราควรมองพัฒนาการเรียนรู้ผ่าน ‘ม่านวัฒนธรรม’

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Transformative learning
    ทำไมครูควรมีมุมมอง พหุวัฒนธรรมศึกษา (Multicultural Education)

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    คลี่ม่าน ‘มายาคติทางการศึกษา’ เปิดพื้นที่เรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างทาง: ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

วันนั้นฉันเจอเพนกวิน: อย่าปิดกั้นจินตนาการของเด็กด้วยคำว่า ‘เพ้อฝัน’
Book
3 August 2024

วันนั้นฉันเจอเพนกวิน: อย่าปิดกั้นจินตนาการของเด็กด้วยคำว่า ‘เพ้อฝัน’

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • หนังสือ ‘วันนั้นฉันเจอเพนกวิน’ หรือ Penguin Highway เขียนโดย โมริมิ โทมิฮิโกะ เป็นเรื่องราวของอาโอยามะ เด็กชายวัยประถมสี่ ที่คิดโปรเจ็กต์งานวิจัย ‘เพนกวิน ไฮเวย์’ เพื่อไขปริศนาเหตุการณ์ที่มีเพนกวินโผล่มาในเมืองของเขา
  • อาโอยามะ มีคุณสมบัติหลายอย่าง ที่น่าจะเป็นต้นแบบของเด็กๆ ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการมีความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ หรือการต่อยอดจากการสนใจใฝ่รู้ และการรู้จักเก็บข้อมูล และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการพัฒนาตนเอง
  • เรื่องราวของอาโอยามะและผองเพื่อน เป็นเหมือนไทม์แมชชีนที่พาผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ย้อนความทรงจำกลับไปสู่วัยเด็ก ที่เต็มไปด้วยการผจญภัย มิตรภาพ ความรัก ความกล้าหาญ รวมไปถึงการค้นหาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ

ว่ากันว่า ช่วงวัยเด็กคือช่วงชีวิตที่มีความสุขที่สุด อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของคนๆ หนึ่ง และยังเป็นช่วงเวลาที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความมหัศจรรย์พันลึกมากที่สุด

นั่นอาจเป็นเพราะช่วงวัยเด็กเป็นช่วงชีวิตที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่กลัวที่จะผิดหวังหรือล้มเหลว และเต็มเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ

แม้ว่าบางคนอาจมองว่าเป็นความเพ้อฝัน ไม่เป็นความจริง หรือเป็นความคิดเพ้อเจ้อ แต่นักจิตวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านเด็ก ชี้ตรงกันว่า จินตนาการเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อพัฒนาการของเด็ก ทั้งทางด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมไปถึงการเรียนรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้ใหญ่ ที่เด็กนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในโลกจินตนาการ

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังสือ รวมถึงวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนหลายๆ เล่ม จะเต็มไปด้วยจินตนาการที่เหนือจริง ไม่ว่าจะเป็นความเหนือจริงในแบบแฟนตาซี หรือความเหนือจริงแบบอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์ หรือที่เรียกกันว่า นิยายไซไฟ

มีหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมเพิ่งอ่านจบไปเมื่อไม่นาน เป็นเรื่องราวของเด็กที่เต็มไปด้วยจิตนาการที่เหนือจริง ซึ่งผสมผสานทั้งความแฟนตาซี และอ้างอิงหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์

และที่สำคัญ หนังสือเล่มนี้ ชวนให้เราหวนระลึกถึงความเป็นเด็ก ที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ความสนใจใฝ่รู้ การผจญภัย มิตรภาพของผองเพื่อน รวมถึงความรักครั้งแรก

หนังสือเล่มที่ว่าก็คือ ‘วันนั้นฉันเจอเพนกวิน’ หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Penguin Highway เขียนโดยนักเขียนชาวญี่ปุ่น โมริมิ โทมิฮิโกะ แปลเป็นภาษาไทยโดย หนึ่งฤทัย ปราดเปรียว เป็นเรื่องราวของอาโอยามะ เด็กชายวัยประถมสี่ ผู้ชื่นชอบเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์แบบแฟนพันธุ์แท้ หรืออาจเรียกว่า ‘เด็กเนิร์ด’ ก็ได้ 

อาโอยามะ เป็นเด็กฉลาด ใฝ่รู้ ชอบจดบันทึกทุกเรื่องราวที่พบเจอ รวมทั้งชอบทำโครงการวิจัยในหัวข้อที่ตัวเองสนใจ ไม่ว่าจะเป็น บันทึกจักรวรรดิซูซูกิ ซึ่งเป็นหัวข้อเกี่ยวกับพฤติกรรมก้าวร้าวชอบบุลลี่เพื่อนของเด็กนักเรียนร่วมชั้น ที่ชื่อซูซูกิ หรือโครงการวิจัยพี่สาว เพื่อทำความเข้าใจและศึกษารายละเอียดของพี่สาวคนสวยที่อาโอยามะแอบชอบ

ข้อดีอีกอย่างหนึ่งของอาโอยามะ คือ เขาเป็นเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง ทำให้มีความกล้าทำอะไรหลายอย่างที่แม้แต่ผู้ใหญ่ยังไม่กล้าทำ แต่บางครั้ง เขาก็ดูจะมั่นใจในตัวเองมากเกินไป จนกลายเป็นเด็กอวดฉลาดอยู่สักหน่อย

“ผมหัวดีมาก แถมยังขยันหาความรู้อีกต่างหาก เพราะฉะนั้น โตไปผมต้องได้ดีแน่นอน” นั่นคือ ประโยคแรกของหนังสือเรื่องนี้ ที่บอกให้เรารู้ว่า อาโอยามะเป็นเด็กอวดฉลาดแค่ไหน

ความมหัศจรรย์ของเรื่อง เริ่มต้นเมื่อจู่ๆ ก็มีเพนกวินฝูงหนึ่ง ปรากฎตัวขึ้นในเมืองที่อาโอยามะอาศัยอยู่ ด้วยความที่ชอบจดบันทึก สเก็ตช์ภาพ และขยันค้นหาความรู้เพิ่มเติม ทำให้อาโอยามะรู้ว่า เพนกวินเหล่านั้น เป็นเพนกวินอาเดลี หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า พีโกซิลิส อาเดอเล ซึ่งอาศัยอยู่แถบขั้วโลกใต้และหมู่เกาะในพื้นที่ดังกล่าว

แต่สิ่งที่อาโอยามะและชาวเมืองทุกคนไม่รู้ ก็คือ เพนกวินเหล่านี้ โผล่มาอยู่ที่เมืองเล็กๆ แสนเงียบสงบของพวกเขาได้อย่างไร

อาโอยามะ จึงคิดโปรเจ็กต์งานวิจัยเพื่อไขปริศนาเพนกวินฝูงนี้ โดยตั้งชื่อว่า ‘เพนกวิน ไฮเวย์’ (Penguin Highway) ซึ่งเป็นคำที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เรียกเส้นทางที่เพนกวินใช้เป็นประจำ ในการเดินทางจากทะเลขึ้นบก

การทำงานวิจัยที่ดี มักต้องอาศัยคนเก่งหลายๆ คนมาช่วยกัน อาโอยามะ จึงชักชวนเพื่อนสนิท ชื่อ อุจิดะ มาร่วมทำงานวิจัยเรื่องนี้ ก่อนที่ฮามาโมโตะ เด็กหญิงร่วมชั้นเรียนผู้เฉลียวฉลาด (ถึงขนาดที่อาโอยามะยอมรับว่า มีสติปัญญาในระดับเดียวกับเขา) จะมาร่วมทีมอีกคนหนึ่งในเวลาต่อมา

ความแฟนตาซีของเรื่องนี้ เพิ่มทวีคูณเมื่ออาโอยามะ ค้นพบว่า เพนกวินเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งมีชีวิตจริง แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้าง หรือเสกขึ้นโดยคนๆ หนึ่ง และคนๆ นั้นก็คือ พี่สาวคนสวยที่เขาแอบหลงรักนั่นเอง

พี่สาวในเรื่อง เป็นตัวละครลึกลับไร้ชื่อ เธอทำงานเป็นพนักงานที่คลินิกทำฟัน ซึ่งอาโอยามะไปใช้บริการเป็นประจำ พี่สาว เป็นคนสวย จิตใจดี ชอบพูดคุยเล่น รวมทั้งคอยช่วยเหลืออาโอยามะอยู่เสมอๆ (แม้ว่าบางครั้งจะเรียกอาโอยามะว่า เจ้าเด็กแก่แดดก็เถอะ) ทำให้เจ้าตัวถึงกับตั้งปณิธานไว้ในใจว่า เมื่อโตขึ้น เขาจะแต่งงานกับพี่สาวแสนสวยคนนี้

แม้ว่าเรื่องราวจะดูพิลึกพิลั่นขึ้นเรื่อยๆ แต่อาโอยามะกลับไม่ถอดใจ หรือรู้สึกหวาดกลัว เขาจดบันทึกเก็บข้อมูลรายละเอียดทุกอย่างที่พบเจอ จนได้ข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น พี่สาว สามารถเสกนกเพนกวินขึ้นจากน้ำอัดลมกระป๋องได้ แต่ก็ไม่สามารถทำได้ทุกครั้ง นอกจากเพนกวินแล้ว พี่สาวยังสามารถเสกสัตว์ชนิดอื่น เช่น ค้างคาว ขึ้นมาได้ด้วย และที่สำคัญ การเสกเพนกวิน หรือสัตว์ชนิดอื่น มีความเกี่ยวพันกับสุขภาพของพี่สาว เพราะหลังจากที่พี่สาวเสกเพนกวินขึ้นมา เธอจะมีสุขภาพอ่อนแอลงจนต้องหยุดงาน

อ่านมาถึงตอนนี้ ผมอดคิดไม่ได้ว่า หนังสือเล่มนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนผลงานของสตูดิโอจิบลิ ผู้สร้างอะนิเมชั่นเปี่ยมด้วยเวทมนตร์และความอบอุ่นหัวใจอย่าง My Neighbor Totoro, Spirited Away, Kiki’s Delivery Service, Howl’s Moving Castle และอีกหลายๆ เรื่อง ซึ่งหากเป็นงานจิบลิ ก็คงพอเดาได้ว่า ตอนสุดท้าย จะมีการเฉลยว่า แท้ที่จริงแล้ว พี่สาวคนสวย คือ แม่มดที่มาจากโลกแห่งมนตรา

แต่เรื่องราวไม่ใช่อย่างนั้น เพราะผลงานของ โมริมิ โทมิฮิโกะ มักจะมีความเป็นไซไฟเจือปนอยู่ในความแฟนตาซีอยู่ด้วย ทำให้พี่สาวคนสวย ไม่ได้เป็นแม่มดที่ถูกสาปให้มาอยู่ในโลกมนุษย์ แต่เธอเป็นอะไรที่เหนือจินตนาการยิ่งกว่านั้น

ในช่วงกลางเรื่อง ฮามาโมโตะ ได้พาอาโอยามะและอุจิดะ ไปพบกับวัตถุลึกลับที่เป็นงานวิจัยของเธอ เธอเรียกสิ่งนั้นว่า ทะเล เป็นวัตถุทรงกลมโปร่งใสที่เหมือนจะประกอบด้วยน้ำ แต่วัตถุทรงกลมปริศนานี้ ซึ่งอยู่ในป่าลึกนอกเมือง สามารถลอยอยู่สูงจากพื้น อีกทั้งยังสามารถยืดและหดมวลของตัวเองได้ คล้ายกับปรากฎการณ์น้ำขึ้นน้ำลง

ต่อมา เด็กทั้งสามคน จึงได้ค้นพบว่า ทะเล นกเพนกวิน สัตว์ประหลาด และพี่สาวคนสวย มีความเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง

ผมจะไม่เฉลยบทสรุปเรื่องราวปริศนาเหนือจริงของหนังสือเล่มนี้ เพราะสิ่งที่ตั้งใจหยิบมาเขียนถึงในบทความชิ้นนี้ คือ ตัวตนของอาโอยามะ พระเอกของเรื่องนี้

นอกจากจะเป็นตัวละครที่มีเสน่ห์ จับใจคนอ่านจนอยู่หมัดแล้ว อาโอยามะ ยังมีคุณสมบัติหลายอย่าง ที่น่าจะเป็นต้นแบบของเด็กๆ ในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการมีความสนใจใฝ่รู้ในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะด้วยการสืบค้นหนังสือในห้องสมุด หรือค้นหาทางอินเทอร์เน็ต, การจดบันทึกเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งไม่ใช่แค่สักแต่ว่าจดอย่างเดียว อาโอยามะ ยังรู้จักสรุปแยกแยะเป็นหัวข้อ เพื่อให้มองเห็นภาพรวมทั้งหมดอีกด้วย, ความชื่นชอบในการทำงานวิจัย เพื่อต่อยอดจากการสนใจใฝ่รู้และการรู้จักเก็บข้อมูล และการมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการพัฒนาตนเอง

ด้วยคุณสมบัติทั้งสี่ข้อ ที่ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้อาโอยามะ เป็นเด็กฉลาดคนหนึ่ง ซึ่งเจ้าตัวก็มักจะชมตัวเองบ่อยๆ แต่เขาก็ไม่ได้พอใจเพียงแค่นี้ อาโอยามะ มุ่งมั่นจะเป็นเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่ง จนถึงขนาดคว้ารางวัลโนเบลมาครอบครอง

ฟังดูอาจเป็นเรื่องน่าขำ แต่มันคือเป้าหมายที่สามารถไปถึงได้ หากมีการเริ่มต้นทำตั้งแต่วันนี้ เหมือนอย่างที่อาโอยามะ พูดไว้ว่า

“แพ้คนอื่นไม่ใช่เรื่องน่าอาย แพ้ตัวเองคนเมื่อวานต่างหากที่น่าอาย ในแต่ละวัน ผมเรียนรู้เรื่องราวของโลกนี้เพื่อให้เก่งกว่าเมื่อวาน.. มีเวลาอีก 3,880 วัน กว่าจะอายุยี่สิบปี เท่ากับว่า ผมจะเก่งขึ้นอีก 3,880 วัน ลองคิดดูว่า เมื่อวันนั้นมาถึง ผมจะเก่งขนาดไหน ผมเองยังนึกภาพไม่ออกเลย”

คุณสมบัติทั้งหมดทั้งมวลของอาโอยามะ ส่วนหนึ่งต้องยกให้เป็นความดีความชอบของพ่อ ตัวละครที่แม้จะออกมาแค่ไม่กี่ฉาก แต่ก็บอกให้เรารู้ว่า พ่อแม่มีส่วนสำคัญมากแค่ไหน ต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพของเด็กคนหนึ่ง

ตอนหนึ่งในเรื่อง ขณะที่อาโอยามะ กำลังพบทางตันในการไขปริศนาของเพนกวิน เขาก็นึกถึงกฎ 3 ข้อ ที่พ่อเคยสอนให้นำมาใช้ในการแก้ปัญหาทุกเรื่อง

1 ย่อยปัญหาให้เล็กลง : เพื่อลดความยากของปัญหาลง จากเรี่องที่ยากแสนยาก กลายเป็นเรื่องที่ยากพอประมาณหลายๆเรื่อง จากนั้น ค่อยๆแก้ไปทีละเรื่อง

2 มองปัญหาจากมุมอื่น : เพื่อให้รู้จักมองหาทางเลือกอื่นในการแก้ปัญหา

3 ลองหาปัญหาอื่นที่คล้ายคลึง : เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ และอาจนำแนวทางการแก้ปัญหานั้นมาปรับใช้ได้

นอกจากกฎ 3 ข้อแล้ว พ่อยังสอนแนวทางแก้ปัญหาอื่นๆ ให้กับอาโอยามะ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การรู้ว่าปัญหาคืออะไร

ในเรื่อง พ่อได้ยกตัวอย่างให้อาโอยามะฟังว่า เวลาที่เรากลับบ้านแล้วเปิดไฟในห้อง แต่ไฟไม่ติด ปัญหาคืออะไร อาโอยามะตอบว่า สวิตช์ไฟน่าจะเสีย พ่อบอกว่า อาจเป็นการตั้งสมมติฐานที่ผิด เพราะหากเราปักใจเชื่อว่า สวิตช์ไฟเสีย เราจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการเปลี่ยนสวิตช์ไฟใหม่ ซึ่งจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในกรณีที่ไฟไม่ติด เพราะไฟดับทั้งเมือง

ดังนั้น ก่อนที่จะพยายามหาแนวทางแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม เราต้องแน่ใจว่า เรามองปัญหาได้ถูกจุด ซึ่งในกรณีนี้ อาจตรวจสอบด้วยการลองเปิดสวิตช์ไฟในห้องอื่น หากไฟในห้องอื่นติด ก็อาจอนุมานได้ว่า สวิตช์ไฟในห้องแรกมีปัญหา

แต่หากเปิดไฟในห้องอื่นๆ แล้ว ก็ไม่ติดเหมือนกัน เราอาจไปชะเง้อมองที่บ้านเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน เพื่อดูว่าบ้านเพื่อนบ้านตกอยู่ในความมืดเหมือนกันหรือเปล่า ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น เราน่าจะได้ข้อสรุปใหม่ว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สวิตช์ไฟเสีย หากแต่เพราะกระแสไฟฟ้าดับทั่วเมืองต่างหาก

แน่นอนว่า การอ่านหนังสือสักเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนังสือที่เป็นนิยาย สิ่งที่ผู้อ่านต้องการ ไม่ได้มีแค่ข้อคิด หรือความรู้ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ อารมณ์ความรู้สึกที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนั้น

เรื่องราวของอาโอยามะและผองเพื่อน เป็นเหมือนไทม์แมชชีนที่พาผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ย้อนความทรงจำกลับไปสู่วัยเด็ก ที่เต็มไปด้วยการผจญภัย มิตรภาพ ความรัก ความกล้าหาญ รวมไปถึงการค้นหาและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ ศิลปะ หรือการกีฬา

ท้ายที่สุด ผมก็ได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้ว คุณสมบัติทั้งหมดทั้งมวลในตัวอาโอยามะ คือคุณสมบัติเด็กทุกคนมีอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว อยู่ที่ว่าเด็กคนนั้น รวมถึงผู้เป็นพ่อแม่ จะทำให้คุณสมบัติเหล่านั้น ได้รับการปลดปล่อยออกมามากน้อยแค่ไหน

Tags:

หนังสือการเรียนรู้ความฝันเด็กความคิดสร้างสรรค์พ่อแม่

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Book
    หากวันใดคุณหลงทาง จงฟังเสียงที่อยู่ในหัวใจ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    รถไฟขนเด็ก – เพราะรักจึงยอมปล่อยมือ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Everyone can be an Educator
    เรียนรู้นอกกรอบ กับอดีตครูนอกคอก: อาจารย์จำลอง บัวสุวรรณ์ ผู้ก่อตั้ง ‘กลุ่มลูกหว้า’ เยาวชนก่อการดีแห่งเมืองเพชร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ สิริเชษฐ์ พรมรอด

  • Early childhood
    Play with your heart ‘เล่นอย่างอิสระ’ เรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณภาพ: ครูมอส- อนุพันธุ์ พฤกษ์พันธ์ขจี

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Myth/Life/Crisis
    โกลมุนด์: ความทรงจำที่ถูกฝังกลบ การเยียวยาผ่านความฝัน และสัญญาณการเปลี่ยนแปลง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

Modern love Tokyo (2022): แม่ต้องปล่อยวางหลายเรื่อง แต่วันหนึ่งลูกจะภูมิใจในเราเองแหละ
Movie
1 August 2024

Modern love Tokyo (2022): แม่ต้องปล่อยวางหลายเรื่อง แต่วันหนึ่งลูกจะภูมิใจในเราเองแหละ

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Modern love เป็นซีรีส์สัญชาติญี่ปุ่นที่ได้แรงบันดาลใจจากบทความออนไลน์เกี่ยวกับความรักของ New York Times โดยแต่ละตอนจะแบ่งออกเป็นเรื่องสั้นที่จบในตอน ผ่านเรื่องราวของคนมากมายหลายรูปแบบ
  • ตอนหนึ่งได้เล่าเรื่องราวของ ‘มาริ’ คุณแม่มือใหม่ผู้เป็นเวิร์คกิ้งวูแมนที่เคร่งครัดกับการให้นมลูกด้วยนมของแม่ กลายเป็นว่าเธอมีความกังวลใจกับน้ำนมมากถึงขนาดเรียกได้ว่าหมกมุ่น
  • แม้มันจะมีวันที่ลูกอาจจะโกรธ ไม่เข้าใจบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเขาได้เห็นว่าแม่ยังคงอยู่ข้างเขาเสมอไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น สิ่งนี้แหละที่จะเติบโตสวยงามแข็งแรงในตัวของลูกๆ ตลอดไป

Modern love เป็นซีรีส์ที่ได้แรงบันดาลใจจากบทความออนไลน์เกี่ยวกับความรักของ New York Times มีฉากหลังเป็นเมืองใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์อย่างนิวยอร์ก ในซีซันนี้ทางประเทศญี่ปุ่นนำไปสร้างซีรีส์โดยมีฉากหลังเป็นเมืองโตเกียวและใส่วัฒนธรรมที่น่าสนใจของชาวญี่ปุ่นเข้าไปแทน

แต่ละอีพีจะแบ่งออกเป็นเรื่องสั้นที่จบในตอน มีทั้งเรื่องราวของคู่สามีภรรยาวัย 30 กว่าที่ภรรยาต้องเผชิญกับโรคซึมเศร้าและหมดไฟในการทำงาน สาวใหญ่วัยเกษียณผู้กลับมาลงสนามนัดเดทอีกครั้ง และหญิงสาวที่ฟังเพลงโปรดในอดีตแล้วหวนระลึกถึงความทรงจำหวานปนขมสมัยเรียนมัธยมปลาย

 ซึ่งในครั้งนี้เราหยิบเอาเรื่องของ ‘มาริ’ คุณแม่มือใหม่ผู้เป็นเวิร์คกิ้งวูแมนที่เคร่งครัดกับการให้นมลูกด้วยนมของแม่เท่านั้น มาเล่าให้ฟัง

มาริเป็นหนึ่งในคุณแม่ที่เชื่อว่าการให้ลูกกินน้ำนมของแม่สำคัญที่สุด เพราะความเชื่อที่ว่าน้ำนมแม่จะสร้างภูมิคุ้มกันและทำให้แม่กับลูกรู้สึกผูกพันกัน แม้ว่าน้ำนมของเธอจะไม่ได้มากพอต่อความต้องการในการเจริญเติบโตและทำให้ลูกของเธอมีน้ำหนักที่น้อยกว่าเกณฑ์แต่เธอก็ยังยืนยันความเชื่อเดิมโดยไม่ให้ลูกกินนมผงเด็ดขาด

ตลอดทั้งอีพีนี้เราได้เห็นมาริพยายามปั๊มน้ำนมของตัวเองเก็บใส่ถุงอย่างสม่ำเสมอด้วยความมุ่งมั่นมากๆ แทบจะตลอดเวลาจนดูแล้วก็รู้สึกเหนื่อยล้าแทน

แล้วก็มีอยู่วันหนึ่งที่มาริต้องเดินทางไปทำงานที่ต่างประเทศ 2-3 วัน เธอจึงวานให้แม่ของเธอมาอยู่ช่วยแฟนสาวดูแลลูก (มาริแต่งงานกับผู้หญิงและมีฉากที่แม่พูดขึ้นมาว่า “ทั้งสองคนเหมือนเป็นสามี” เพราะต่างคนต่างยังออกไปทำงานกันทั้งคู่ มาริเลยบอกแม่ว่า เธอกับภรรยาเป็นคู่ชีวิตกัน บทบาททำงานหรือเลี้ยงลูกไม่ควรถูกแบ่งว่าเป็นของเพศไหน) 

มาริกำชับกับแม่ว่าต้องให้นมที่เธอเก็บใส่ถุงไว้เท่านั้น ซึ่งต่อมื้อมีปริมาณที่น้อยมากแล้วยังยุ่งยากในการเตรียม แม่ของมาริจึงต่อรองว่าขอให้นมผงแทนได้มั้ย แต่มาริบอกว่า “หนูเป็นภูมิแพ้ตั้งแต่เด็กเพราะกินนมผงนี่แหละ” ทั้งคู่เถียงกันต่อด้วยความเชื่อที่ต่างกัน จนมาริถูกแม่บอกว่า “จะเลือกทำทั้งสองอย่างไม่ได้หรอกนะ (ทำงานไปพร้อมๆ กับเลี้ยงลูก)” แต่มาริก็ยืนกรานให้แม่คอยดูแล้วกันว่าเธอทำได้ สุดท้ายฝ่ายแม่ก็ได้แต่ทำใจและทำตามที่มาริขออย่างไม่ได้เข้าใจกันมากนัก

ตลอดการเดินทางครั้งนี้ก็เกิดเรื่องราวท้าทายการเก็บน้ำนมของมาริมากมาย ทั้งอุปกรณ์ที่ช่วยรักษาความเย็นของน้ำนมที่ไม่สามารถพกขึ้นเครื่องได้ ทำให้เธอต้องสละมันแล้วไปขอน้ำแข็งบนเครื่องบินแทน แล้วยังมีช่วงที่เธอต้องเข้าไปปั๊มนมในห้องน้ำบนเครื่องแล้วเครื่องบินเกิดตกหลุมอากาศมาริก็สู้สุดใจไม่กลัวตาย พอเธอไปถึงที่โรงแรมก็พุ่งตัวหาตู้เย็นอันดับแรกเพราะต้องการที่จะเก็บน้ำนมที่มีค่าของเธอให้ปลอดภัยที่สุด แล้วยังไม่หมดเท่านั้นเพราะอยู่ๆ ไฟที่โรงแรมก็ดับ และแน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้เธอตกใจกระวนกระวายที่สุดก็คือ การที่น้ำนมของเธอจะบูด

เรียกได้ว่ามาริมีความกังวลใจกับน้ำนมมากถึงขนาดเรียกได้ว่าหมกมุ่น ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ healthy กับชีวิตเลย

คืนนั้นมาริได้นัดเจอเพื่อนสาวที่ไม่ได้เจอกันมานาน แล้วได้พูดคุยเรื่องการให้นมลูกเพราะเพื่อนเห็นว่ามาริไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อนเล่าว่า เธอเคยพยายามให้ลูกกินนมจากเต้าแต่เพราะหัวนมบอดเลยไม่สามารถให้นมลูกด้วยตัวเองได้ เธอรู้สึกว่าตัวเองเป็นแม่ที่ล้มเหลว แต่วันหนึ่งเธอก็เข้าใจและคิดว่า

“มันไม่ได้ทำให้ฉันรักลูกน้อยลงซะหน่อย ตั้งใจทำมากเกินไปก็ไม่มีประโยชน์และมันไม่เป็นอะไรหรอกเพราะสุดท้ายแล้วลูกของเธอก็แข็งแรงดี”

เพื่อนยังบอกอีกว่า “วันหนึ่งลูกน่าจะภูมิใจในตัวพวกเราเองแหละ” มาริพูดติดตลกว่า “ฉันยอมรับแค่ ‘น่าจะ’ ไม่ได้น่ะสิ” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเธอมีความเป็นคนจริงจังและเพอร์เฟคชันนิส (Perfectionist)ระดับนึงเลย

และเมื่อถึงวันเดินทางกลับมาริก็ได้เผชิญกับบทเรียนการปล่อยวางครั้งยิ่งใหญ่ เริ่มจากเธอจะต้องสละน้ำนมที่เธอปั๊มไว้ทิ้งไปอย่างทำอะไรไม่ได้เพราะปริมาณของเหลวที่เกินจะนำขึ้นเครื่อง ซึ่งสิ่งนั้นทำให้มาริรู้สึกหัวเสียมาก ต่อมาเกิดเหตุการณ์ฟ้าผ่าบนเครื่องบินจนทำให้เธอต้องเปลี่ยนเครื่องแล้วสัมภาระของเธอหลงไปอยู่ที่อื่นซึ่งนั่นหมายความว่าน้ำนมทั้งหมดที่เธอแพคอย่างดีและหวงแหนมาตลอดทั้งทริปจะต้องบูดและถูกทิ้งไปอย่างแน่นอน

ระหว่างทางกลับมาริบังเอิญเจอคุณแม่ที่เดินทางลำพังพร้อมลูกเล็กๆ ถึงสามคน แล้วเธอมองว่าคุณแม่คนนี้เก่งมากจึงชวนคุยว่าเธอทำได้ยังไง คุณแม่ลูกสามบอกว่า “เธอต้องปล่อยวางหลายๆ เรื่องเลย” แล้วก็เล่าว่า ลูกสองคนของเธอกินนมแม่ได้ปกติแต่ลูกคนเล็กแพ้นมแม่เลยต้องยอมให้กินนมผง ความเชื่อเรื่องนมแม่ก็ทำให้เธอแทบเป็นบ้าเหมือนกัน สุดท้ายเธอก็ได้ข้อสรุปกับตัวเองว่า “ไม่ว่าเราจะเลือกทางไหนก็จะมีความรู้สึกผิดเกิดขึ้นอยู่ดี”

ตอนที่มาริกลับมาถึงบ้านแล้วเห็นภาพแม่ของเธอให้นมผงกับลูก เธอก็ร้องไห้ออกมา แต่ไม่ใช่เพราะเธอรู้สึกไม่โอเคกับนมผง มันเป็นเพราะเธอรู้สึกขอบคุณในสิ่งที่แม่เคยพยายามทำเพื่อเธอแม้มันจะเคยไม่สมบูรณ์แบบในมุมมองของเธอ และการได้กลับมาเจอครอบครัวของตัวเองพร้อมหน้าพร้อมตาก็ทำให้มาริตระหนักได้ว่าอะไรคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

เราคิดว่าพอมาริเลือกกลับไปทำงานแทนที่จะอยู่เลี้ยงลูกที่บ้านตลอดเวลามันทำให้เธอเกิดความรู้สึกผิดข้างในจนไปยึดติดกับการให้นมแม่ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอมองว่าจะช่วยให้เธอกับลูกได้สานสัมพันธ์กัน แล้วถ้าเธอไม่ได้ให้นมลูก เธออาจกลัวว่าตัวเองจะเป็นแม่ที่ไม่ดีพอ

ส่วนตัวเราก็มีเพื่อนที่เริ่มต้นบทบาทของการเป็นแม่ เพื่อนของเราก็เผชิญกับปัญหาการให้นมเช่นเดียวกัน บอกตามตรงว่าตอนเพื่อนเล่าให้ฟังเรารู้สึกร่วมไปกับสิ่งที่เพื่อนต้องเจอ แล้วมันทำให้เราคิดว่าแม่ของเราจะเคยรู้สึกแบบเดียวกันมั้ยหรือยังมีแม่คนอื่นๆ ต้องเผชิญกับแรงกดดันในการเป็นแม่ที่ดี แม่แบบในอุดมคติแบบเดียวกันนี้รึเปล่า สิ่งนี้ทำให้เริ่มเข้าใจความยากลำบากของการเป็นแม่ขึ้นมา

เราคิดว่าการที่มาริยังมีชีวิตอยู่ไม่ตกเครื่องบินไปซะก่อน แล้วยังเป็นคุณแม่ที่มีสุขภาพแข็งแรง พยายามมอบความรักและเวลาให้กับลูกเท่าที่จะทำได้ก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เธอได้ทำให้ลูกแล้ว

ครั้งนี้เลยรู้สึกอยากเอ่ยคำขอบคุณคุณแม่ทั้งหลายที่พยายามมอบความรักให้ลูกอย่างเต็มที่ และอยากบอกแม่ๆ ว่าอย่ากดดันตัวเองมากเกินไปเลยเพราะเราเชื่อว่าในวันนั้นทุกคนก็คงทำดีที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว อยากให้คุณแม่ทั้งหลายดูแลใจตัวเองให้ดีๆ เหนื่อยก็พักบ้าง แค่อยู่เคียงข้างลูกในทุกๆ วันก็เพียงพอแล้ว

ถึงแม้มันจะมีวันที่ลูกอาจจะโกรธ ไม่เข้าใจบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วเขาได้เห็นว่าแม่ยังคงอยู่ข้างเขาเสมอไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นสิ่งนี้แหละที่จะเติบโตสวยงามแข็งแรงในตัวของลูกๆ ตลอดไป

Tags:

ภาพยนตร์ครอบครัวลูกการเลี้ยงดูแม่PerfectionismModern Love

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Playground
    หลานม่า: ในความทรงจำแสนดี คือวิถีที่ลูกหลานอาจต้องทน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    All The Bright Places: พ่อไม่รู้หรอกว่าผลลัพธ์ของการใช้กำลังวันนั้นมันแย่แค่ไหน 

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Yes Day: ขอให้มีสักวันที่แม่จะไว้ใจและให้พื้นที่อิสระพอที่เราจะใช้ชีวิตในแบบของตนเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Dear ParentsBook
    โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก: โลกร้ายกาจอาจไม่ทำลายคน ความเดียวดายต่างหาก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Lady Bird : ด้วยรักและเอาชนะ ระหว่างมนุษย์ลูกผู้อยากโผบินกับมนุษย์แม่ขี้โมโห

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel