- “Children Faced With War memories” เรื่องราวที่เล่าถึงความทรงจำของครอบครัวหนึ่งที่หนีตายในช่วงสงครามเวียดนาม ความทรงจำที่เจ็บปวดและดิ้นรนจากสงคราม ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นครูที่ตั้งใจแน่วแน่ว่า นักเรียนของเขาทุกคนจะต้องอิ่มท้องเมื่อมาโรงเรียน
- การที่แต่ละคนเลือกแสดงออกถึงบางสิ่งด้วยวิธีการบางอย่าง ล้วนมาจากส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต แต่ที่ผ่านมาการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ และลดทอนความเข้าใจต่อชีวิตและความหลากหลายของผู้คนให้เป็นแค่เรื่องผิวเผิน
- ในฐานะครูหรือนักการศึกษา เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้ความจริงที่หลากหลาย ได้ถูกบอกเล่า แบ่งปัน และเรียนรู้ที่จะฟังกันและกัน เสียงที่เคยถูกทำให้เงียบและถูกกดทับ จะได้ถูกเปล่งออกมาผ่านเรื่องราวเหล่านั้น
บทบาทของการศึกษา คือ “การค้นหาวิธีการเปิดพื้นที่เพื่อผู้คนซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย พื้นที่ที่พวกเขาสามารถเป็นในสิ่งที่ต่างไปได้ พื้นที่ที่พวกเขาได้เติบโต” (Green, 1988,p.56)
The role of education is “to discover how to open spaces for persons in their plurality, space where they can become different, where they can grow” (Green, 1988,p.56)
ในหัวข้อการบรรยาย ‘Border pedagogy and Critical literacy- An Act of Decolonization and Solidarity of the Multitudes’ เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยรองศาสตราจารย์ Hsi Nancy Lien¹ จาก Graduate Institute of Multicultural Education มหาวิทยาลัย Nation Dong Hwa University, Taiwan² เธอได้เสนอแนวคิดที่ว่า ทำไมเราจึงจำเป็นต้องสร้างการศึกษาจากตรงชายขอบ
ในช่วงต้นของการบรรยาย Lien ได้อ่านเรื่อง “Children Faced With War memories” ให้ทุกคนฟัง มันคือเรื่องราวที่เล่าถึงความทรงจำของครอบครัวหนึ่งที่ต้องหนีตายในช่วงสงครามเวียดนาม ตลอดเส้นทางของพวกเขาเต็มไปด้วยความหิวโหย มีเพียงใบไม้และรากไม้ที่พอประทังชีวิตให้รอด พวกเขาตัดสินใจเดินทางข้ามแม่น้ำโขงเข้ามายังประเทศไทย แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็สูญเสียแม่ไปจากความอดอยากระหว่างการเดินทาง หลังจากใช้ชีวิตอยู่ในไทยได้ราว 1 ปี พ่อของพวกเขาก็ตัดสินใจที่พาลูกๆ ไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่อเมริกา เพื่อหวังจะมีโอกาสที่ดีขึ้น ความทรงจำที่เจ็บปวดและดิ้นรนจากสงคราม ทำให้เด็กคนหนึ่งเติบโตไปเป็นครูที่ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า นักเรียนของเขาทุกคนจะต้องอิ่มท้องเมื่อมาโรงเรียน
เธอเลือกเล่าเรื่องราวนี้ขึ้นมาเพื่อบอกกับเราว่า บ่อยครั้งเราเห็นผู้คนมากมายในสังคมเดียวกับเรา แต่เรากลับไม่เคยได้รับรู้เรื่องราวของพวกเขาเลย ทั้งที่จริงๆ แล้ว แต่ละคนต่างมีเรื่องราวที่เขาและเธอเดินผ่านมา การที่แต่ละคนเลือกที่แสดงออกถึงบางสิ่งด้วยวิธีการบางอย่าง ล้วนมาจากส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ความทรงจำที่เคยเกิดขึ้นในชีวิต แต่ที่ผ่านมาการศึกษากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้ และลดทอนความเข้าใจต่อชีวิตและความหลากหลายของผู้คนให้เป็นแค่เรื่องผิวเผิน
Lien มีความเห็นว่า การศึกษาต้องมีบทบาทสำคัญในการเปิดพื้นที่สนทนา (dialogue) ระหว่างกันของผู้คน การศึกษาจึงไม่ใช่เรื่องของใครของมันแบบปัจเจก แต่มันจำเป็นต้องเปิดกว้าง (public) ให้กับพหุเสียง (multiple voices) ได้เผชิญหน้าและสร้างการรับรู้ระหว่างกัน พื้นที่ที่เราต่างจะได้ยินและได้ฟังสิ่งที่ทำให้เราเติบโตขึ้นหรือแตกต่างไปจากเดิม เพราะการสนทนาผ่านเรื่องราวจะทำให้เราได้เห็นข้อจำกัดของความรู้และวิธีการมองโลกของตัวเราเองผ่านคนอื่น รวมถึงจะพาให้เราได้เรียนรู้และมองเห็นว่าอะไรคือเงื่อนไขที่ร้อยรัดจัดกระทำต่อความแตกต่างของเรา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญของการก่อกำเนิดสำนึกของอิสรภาพ (consciousness of freedom) ที่เราจะนิยามหรือกระทำการบางอย่างต่อโลกที่เราอยู่ขึ้นมาใหม่
ดังนั้น ความท้าทายของงานการศึกษาคือต้องค้นหาว่าอย่างไรที่จะทำให้เกิดพื้นที่แบบเปิดกว้างขึ้นมา (public space)
Border pedagogy
ข้อเสนอหนึ่งของเธอ คือการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่ในการทำความเข้าใจโลกจากสิ่งที่อยู่ตรงชายขอบให้กลายเป็นใจกลางของการเรียนรู้ Lien เรียกมันว่า ‘Border pedagogy’ ด้วยการเรียนรู้จาก ‘เรื่องราวของชีวิต’ (Life stories) หรือ ‘ประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล’ (personal histories) ที่เรื่องราวของแต่ละคนไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ แต่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากโลกทางสังคมและการเมืองที่เป็นอยู่ ที่ตรงนี้เองที่เราจะมองเห็นการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คน ภายใต้เงื่อนไขการกดขี่ในชีวิตของแต่ละคน ที่ซึ่งเราสามารถเรียนรู้จากความเจ็บปวดในชีวิตประจำวันที่ผู้คนเผชิญและอยากจะเปลี่ยนแปลงมัน
ในแง่นี้ border pedagogy จึงเป็นการสำรวจถึงประวัติศาสตร์ที่ถูกกดขี่และวัฒนธรรมความรู้ที่ไม่ได้ถูกนับ ด้วยการเปิดให้เสียงเหล่านี้ในประวัติศาสตร์ได้ถูกเปล่งออกมา เพื่อให้เราได้มองเห็นและเข้าใจว่าอดีตส่งผลอย่างไรต่อปัจจุบันของเขาและเธอ
ในฐานะครูหรือนักการศึกษา เราจำเป็นต้องสร้างพื้นที่ให้ความจริงที่หลากหลาย (multiple realities) ได้ถูกบอกเล่า แบ่งปัน และเรียนรู้ที่จะฟังกันและกัน เสียงที่เคยถูกทำให้เงียบและถูกกดทับ จะได้ถูกเปล่งออกมาผ่านเรื่องราวเหล่านั้น
ไม่เพียงเท่านั้น การเปลี่ยนตำแหน่งการทำความเข้าใจโลกจากชายขอบ สำหรับ Lien มันคือ การตอบโต้ความทรงจำ (counter memory) ต่อการศึกษากระแสหลักที่ทำให้ความรู้ เรื่องราว หรือความทรงจำของใครบางคนซึ่งถูกกำหนดไว้ ถูกผลิตซ้ำ ส่งต่อให้เราได้ยินได้ฟัง เรารับรู้มัน และกลายเป็นศูนย์กลางในที่สุด เธอเห็นด้วยกับ Bell Hooks นักเคลื่อนไหวและนักการศึกษาที่ต่อสู่เพื่อคนผิวดำและผู้หญิง ว่าสิ่งที่อยู่ตรงชายขอบนั้น ที่ตรงนี้เองที่เราไม่ได้เห็นแค่ว่าชีวิตของผู้คนชายขอบดำรงหรือเผชิญอยู่อย่างไร แต่มันยังเปิดเผยให้เห็นถึงสิ่งที่วัฒนธรรมอำนาจที่ครอบงำเรา เมื่อเรารับรู้ถึงมัน เราจะสร้างหนทางของการก่อร่างความเป็นไปได้ใหม่ของสังคมที่ต่างไปจากเดิมขึ้นมาได้
สิ่งสำคัญสำหรับ border pedagogy คือกระบวนการที่เสมือนว่าตัวเราต่างได้ข้ามเข้าไปในแขตแดนของคนอื่น และเชื่อมต่อกับคนอื่น ที่ซึ่งเราจะได้มองเห็นและรับรู้ในสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน ในแง่นี้มันจึงต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจ ความใส่ใจ เพื่อที่เราจะกล้าเปิดกว้างระหว่างต่อกันในความสัมพันธ์ ณ จุดนี้เองที่ Lien เห็นว่า เราต่างจะค่อยๆ กระทำการ (agencies) ทักทอจากความแตกต่างขึ้นมาใหม่ จนเกิดเป็น ‘solidarity of multitudes’ ที่จะประกอบกันเป็นความหมายในความสัมพันธ์อีกแบบ และจินตนาการถึงสังคมใหม่
ในฐานะครู เราจำเป็นต้องเข้าใจความรู้สึกของการเป็นคนนอก (being an outsider) หรือไม่? ช่วงเวลาแห่งการเป็นคนนอกนั้นถือเป็นการเรียนรู้ที่จำเป็นและสำคัญสำหรับนักการศึกษาหรือเปล่า?
Lien ทิ้งท้าย
¹อาจารย์ที่ปรึกษาปริญญาโทของผู้เขียน ²การบรรยายในงาน Seminar on English Educations, Literatures & Linguistics: Challenges and Opportunities for the English langue Education and Language Teaching in 5.0 Era จัดโดย Department of English education, UNIVERITAS PGRI MADIUN ประเทศอินโดนีเซีย ณ วันที่ 25 กรกฎาคม 2567 |