Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: July 2023

นักบินรบ : การค้นพบความหวัง ในสมรภูมิที่สิ้นหวัง
Book
29 July 2023

นักบินรบ : การค้นพบความหวัง ในสมรภูมิที่สิ้นหวัง

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • หนังสือ ‘นักบินรบ’ หรือ ‘Flight To Arras’ เขียนโดย อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี เจ้าของวรรณกรรมเจ้าชายน้อย ผู้ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนจากประสบการณ์ชีวิต ‘นักบินรบ’ ของตัวเอง
  • ‘นักบินรบ’ ได้เปิดเปลือยถึงแก่นแท้และธาตุแท้ของมนุษย์ ในห้วงยามที่ชีวิตเฉียดกรายเข้าใกล้ความตายมากที่สุด ว่าในห้วงเวลานั้น คนๆ หนึ่งจะมีเวลาฉุกคิดถึงอะไรบ้าง
  • เหตุการณ์ทั้งหมดทั้งมวล หลอมรวมเป็นการตระหนักถึง ‘ความงดงามของชีวิต’ ที่ช่วยจุดประกายความหวัง ในโมงยามที่มืดมิดไร้ซึ่งความหวัง


 “ตราบเท่าที่คุณไม่สิ้นหวัง ทุกสิ่งอย่างล้วนเป็นไปได้” คริสโตเฟอร์ รีฟ นักแสดงชาวอเมริกัน ผู้โด่งดังจากบทซูเปอร์แมน เคยกล่าวไว้

สิ่งที่ทำให้คำกล่าวของรีฟ กลายเป็นโควตที่ทรงพลัง ไม่ได้มาจากการรับบทซูเปอร์ฮีโร่จากดาวคริปตัน หากแต่เป็นเพราะเขากล่าวประโยคนี้ หลังจากประสบอุบัติเหตุตกจากหลังม้าจนกลายเป็นอัมพาต ต้องใช้ชีวิตอยู่บนรถเข็น พร้อมเครื่องช่วยหายใจไปจนชั่วชีวิต

รีฟ ทำให้คำกล่าวนั้นกลายเป็นจริง ด้วยการใช้ชีวิตอย่างไม่สิ้นหวัง เขายังคงทำงานทั้งในวงการบันเทิง และงานการกุศลเพื่อคนพิการ และกลายเป็นเป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ตราบจนถึงวาระสุดท้ายในชีวิตของเขา

แน่นอนว่า ความหวังเป็นพลังขับเคลื่อนชีวิตให้เดินไปข้างหน้า แต่ในอีกมุมหนึ่ง การตั้งความหวัง อาจลงเอยด้วยความผิดหวัง ยิ่งตั้งความหวังไว้มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึกผิดหวังและเจ็บปวดมากเท่านั้น หากทุกอย่างไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวังไว้

ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจ ที่มีแสนยานุภาพทางทหารเป็นอันดับต้นๆของโลก ถูกกองทัพนาซีเยอรมัน บุกโจมตีอย่างรวดเร็วราวสายฟ้าฟาด หลังจากใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน ฝรั่งเศสลงนามยอมแพ้ต่อเยอรมนี

สงครามในครั้งนั้น ถือเป็นหนึ่งในความอัปยศของกองทัพฝรั่งเศส พวกเขาถูกชาติอื่นหยามเหยียดว่า ยอมรับความปราชัยง่ายเกินไป

ทว่า นักบินรบชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง แสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า ในสมรภูมิรบที่เสียเปรียบทุกด้าน กองทัพฝรั่งเศส ยืนหยัดต่อสู้อย่างสุดความสามารถแล้ว นักบินรบทุกนาย ล้วนเต็มใจพาตัวเองลงสู่สมรภูมิรบที่โอกาสรอดชีวิตน้อยยิ่งกว่าน้อย

ในสถานการณ์ที่ทุกอย่างเลวร้ายและมืดมดลงทุกที นักบินรบคนนั้นยังคงพาเครื่องบินขึ้นปฏิบัติภารกิจ ที่ไม่ใช่แค่ภารกิจในการสู้รบ หากแต่เป็นภารกิจค้นหาความหวัง… ท่ามกลางสมรภูมิที่สิ้นหวัง

นักบินรบชาวฝรั่งเศสคนนั้น ชื่อ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี

“ความพ่ายแพ้แม้จะน่าจะเกลียดน่าชัง แต่อาจเป็นหนทางเดียวที่นำไปสู่การฟื้นคืนชีพ… บทบาทนี้ ทรงคุณค่าเหนือสิ่งใด เพราะเรายอมรับโดยไม่เข้าใจผิดว่า ทหารของเราจะสู้หนึ่งต่อสาม”

ใช่ครับ แซ็งเต็กซูเปรี ที่เขียน ‘เจ้าชายน้อย’ วรรณกรรมเยาวชนอันเป็นที่รักของคนทั้งโลกนั่นแหละครับ

ก่อนหน้าจะค้นพบ ‘เจ้าชายน้อย’ กลางทะเลทรายเวิ้งว้างร้างผู้คน แซ็งเต็กซูเปรี เคยเป็นนักบินรบประจำกองทัพอากาศฝรั่งเศส ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาสมัครใจเข้าร่วมรบในสงคราม แต่เนื่องจากอายุที่มากถึง 39 ปี และร่างกายที่ไม่แข็งแรง เพราะประสบอุบัติเหตุทางการบินหลายครั้ง ทางกองทัพจึงปฏิเสธคำร้องขอของแซ็งเต็กซูเปรี ที่ต้องการทำหน้าที่นักบินประจำเครื่องบินขับไล่ โดยมอบหมายให้เขาปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนถ่ายภาพ เพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับที่ตั้งของฝ่ายตรงข้าม

แม้จะเป็นแค่ภารกิจลาดตระเวน แต่ก็เป็นภารกิจเสี่ยงตายที่โอกาสรอดกลับมาจากการปฏิบัติภารกิจ น้อยกว่าโอกาสที่จะไม่ได้กลับ โดยในช่วงที่แซ็งเต็กซูเปรีปฏิบัติภารกิจนั้น กองบินลาดตระเวนที่เขาสังกัดอยู่ มีทีมนักบินทั้งหมด 23 ทีม ซึ่ง 17 ทีมในกองบินนี้ ได้พลีชีพในระหว่างปฏิบัติภารกิจ

แซ็งเต็กซูเปรี ขึ้นบินลาดตระเวณทั้งหมด 7 ครั้ง ก่อนที่รัฐบาลฝรั่งเศสจะลงนามสัญญาสงบศึก ยอมแพ้ต่อรัฐบาลเยอรมนี หลังจากนั้น แซ็งเต็กซูเปรี เดินทางไปยังสหรัฐ เพื่อโน้มน้าวให้รัฐบาลอเมริกา เข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ต่อสู้กับกองทัพนาซี ซึ่งในขณะนั้น รัฐบาลอเมริกายังไม่ตัดสินใจในเรื่องนี้ อีกทั้งยังมีท่าทีดูหมิ่นดูแคลนฝรั่งเศสว่า ยอมแพ้ต่อฝ่ายเยอรมนีง่ายเกินไป

ทว่า เมื่อหนังสือ ‘นักบินรบ’ หรือในชื่อภาษาอังกฤษว่า Flight To Arras ออกวางจำหน่ายในปี 1942 และกลายเป็นที่ชื่นชอบของนักอ่านทั่วโลก รวมถึงคนอเมริกัน ประชาคมโลก จึงได้รับรู้ข้อเท็จจริงว่า กองทัพฝรั่งเศส ต่อสู้กับกองทัพนาซีอย่างสุดหัวจิตหัวใจ ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัด ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เลวร้าย และภายใต้สถานการณ์ที่สิ้นหวังเพียงใด

“พวกชาวต่างประเทศลงความเห็นว่า พวกเราชาวฝรั่งเศสยังสละชีพไม่เพียงพอ ผมถามตนเองทุกครั้งที่มองดูทีมของพวกเราบินออกไปพลีชีพว่า เราสละตนเองเพื่ออะไร ใครจะมาชดเชยให้เรา”

“ชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตไปแล้วหนึ่งแสนห้าหมื่นคน ทหารราบถูกเข่นฆ่าเป็นกองพะเนินในโรงนาซึ่งป้องกันอะไรไม่ได้ กองบินหลายกองถูกหลอมละลายดังหนึ่งเป็นสีผึ้งที่เขาโยนเข้ากองไฟ เหตุใดพวกเราจึงยอมสละชีพอีก… เพื่อให้โลกยกย่องนับถือกระนั้นหรือ”

“คนที่ยอมรับว่าตนจะถูกเผาขณะขับเครื่องบิน เราควรตัดสินเขาจากแผลไฟไหม้หรือ”

หลังจากนั้นไม่นาน รัฐบาลอเมริกา ตัดสินใจเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร และนำไปความพ่ายแพ้ของกองทัพเยอรมันและฝ่ายอักษะ ปิดฉากสงครามโลกครั้งที่ 2 ลงได้ในที่สุด

แน่นอนว่า การตัดสินใจของสหรัฐ มาจากหลากหลายตัวแปรและเงื่อนไข แต่ก็ไม่ใช่เรื่องอวดอ้างเกินเลยความจริง หากจะกล่าวว่า หนังสือ ‘นักบินรบ’ มีบทบาทสำคัญ ในการทำให้ท่าทีของหลายๆ ประเทศที่มีต่อฝรั่งเศส เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น

และก็ไม่ใช่เรื่องอวดอ้างเกินเลยความจริง หากจะกล่าวว่า หนังสือเล่มนี้ ช่วยกอบกู้ศักดิ์ศรีให้ชาวฝรั่งเศส จากความปราชัยในสงครามต่อกองทัพนาซีเยอรมัน

และนั่นคือ อีกหนึ่งคุณูปการของหนังสือเล่มนี้

เหนือสิ่งอื่นใด เช่นเดียวกับวรรณกรรมอีกหลายเล่มที่มีฉากหลังเป็นสงคราม ‘นักบินรบ’ ได้เปิดเปลือยถึงแก่นแท้และธาตุแท้ของมนุษย์ ในห้วงยามที่ชีวิตเฉียดกรายเข้าใกล้ความตายมากที่สุด

ในห้วงเวลานั้น คนๆ หนึ่งจะมีเวลาฉุกคิดถึงอะไรบ้าง?

สำหรับแซ็งเต็กซูเปรี เขาหวนนึกถึงการละเล่นในช่วงวัยเด็ก หวนนึกถึงพี่เลี้ยงคนโปรด หวนนึกถึงน้องชายที่จากไปในช่วงวัยรุ่น

แซ็งเต็กซูเปรี หวนนึกถึงวันวานแสนหวานและอ่อนโยน ในช่วงวินาทีที่เครื่องบินลาดตระเวนของเขา กำลังถูกไล่ล่าโดยเครื่องบินขับไล่ของข้าศึก

หลายฉากหลายตอนในชีวิต ประเดประดังเข้ามาในห้วงความคิดของเขา ระหว่างปฏิบัติภารกิจลาดตระเวณถ่ายภาพเหนือเมืองอาร์ราส เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม และทั้งหมดทั้งมวล หลอมรวมเป็นการตระหนักถึงความงดงามของชีวิต ที่ช่วยจุดประกายความหวัง ในโมงยามที่มืดมิดไร้ซึ่งความหวัง

ในสถานการณ์การสู้รบที่มองไม่เห็นชัยชนะ แค่การบินหลบพ้นกระสุนปืนที่ข้าศึกยิงจากเบื้องล่าง แค่การได้กลับคืนฐานที่มั่นโดยยังมีลมหายใจ ก็ถือเป็นชัยชนะอันยิ่งใหญ่แล้ว

“ผมเป็นดังหนึ่งผู้ชนะ เพื่อนนักบินคนไหนที่รอดชีวิตจากภารกิจ ทำไมจะไม่รู้สึกว่าตนชนะเล่า”

การตระหนักถึงความงดงามของชีวิต ทำให้ภารกิจของเขา ไม่ได้เป็นแค่การทำหน้าที่ทหารในสงคราม หากแต่กลายเป็นการค้นหาความหมาย หรือแก่นสำคัญของชีวิต ซึ่งสำหรับแซ็งเต็กซูเปรี สิ่งนั้นคือ ความสัมพันธ์ของผู้คน

ความสัมพันธ์ของผู้คน ซึ่งเปลี่ยนจากมนุษย์ในฐานะปัจเจก ให้กลายเป็นเพื่อนพ้องร่วมกองบิน ประชาชาติชาวฝรั่งเศส และเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ช่วยจุดประกายความหวังให้แก่นักบินรบในหนังสือเล่มนี้

“ถ้ามีใครมาเรียกร้องให้ผมยอมตายเพื่อผลประโยชน์บางประการ ผมก็จะปฏิเสธ… คนเรายอมตายเพื่อบ้านได้ แต่มิใช่ข้าวของในบ้าน คนเรายอมตายเพื่อโบสถ์ได้ แต่มิใช่เพื่อก้อนหิน คนเรายอมตายเพื่อเพื่อนร่วมชาติทั้งชาติได้ แต่มิใช่เพื่อฝูงชน คนเรายอมตายเพราะรักมนุษย์ หากมนุษย์ผู้นั้นเป็นหลักยอดโค้งของหมู่คณะ”

แม้ว่าสงครามจะเป็นสิ่งโหดร้าย ไร้สาระ และน่าขบขัน (ตามคำกล่าวของแซ็งเต็กซูเปรี) แต่ท้ายที่สุด ภารกิจลาดตระเวณเหนือเมืองอาร์ราสในวันนั้น ก็ทำให้นักบินรบชื่อ อ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรี ค้นพบสิ่งสำคัญ ที่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาว่า

“เมื่อร่างกายแยกสลาย สาระสำคัญก็โผล่ขึ้น มนุษย์เป็นเพียงขมวดปมแห่งความสัมพันธ์ ความสัมพันธ์เท่านั้นที่มีความหมายสำหรับมนุษย์”

Tags:

การใช้ชีวิตสงครามอ็องตวน เดอ แซ็งเต็กซูเปรีความสิ้นหวังนักบินรบสัจธรรมชีวิตหนังสือ

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Book
    ชีวิตที่ดีงามควร ‘หนักอึ้ง’ หรือ ‘เบาหวิว’: ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    รถไฟขนเด็ก – เพราะรักจึงยอมปล่อยมือ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    มหัศจรรย์ห้องสมุดเที่ยงคืน: ชีวิตมีไว้เพื่อใช้ มิใช่แค่เพื่อค้นหาความหมาย

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ‘ขอโทษ’ คำพูดติดปากจากบาดแผลที่พ่อแม่ทำให้รู้สึกผิดเสมอ: คุณคางคกไปพบนักจิตบำบัด

    เรื่อง อัฒภาค

  • Transformative learning
    เอื้อระบบนิเวศ เพื่อครูเป็นผู้ก่อการ: 9. เกื้อกูลความเป็นผู้ก่อการของครู

    เรื่อง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

อิจิโกะ อิจิเอะ: การพบกันครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ปรัชญาที่ชวนเราตกหลุมรักชีวิตในทุกเช้าวันใหม่
How to enjoy life
26 July 2023

อิจิโกะ อิจิเอะ: การพบกันครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ปรัชญาที่ชวนเราตกหลุมรักชีวิตในทุกเช้าวันใหม่

เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • อิจิโกะ อิจิเอะ 【一期一会】 เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น เกี่ยวกับแนวคิดความรู้สึก ‘ครั้งแรก’ และ ‘ครั้งสุดท้าย’
  • ‘การพบกันเพียงครั้งเดียว’ เป็นเพียงครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชั่วชีวิต  ช่วยให้เรามองเห็นความสำคัญในทุกเรื่อง ให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างถึงที่สุด และสอดคล้องกับการทำวันนี้วินาทีนี้ให้ดีที่สุด
  • อิจิโกะ อิจิเอะ พึงเตือนสติให้เรารักษามาตรฐานและเติมพลังใจให้แก่ทุกความสัมพันธ์ เราสามารถดูแลคนรอบตัวอย่างถึงที่สุดดีเยี่ยมที่สุดเสมือนเป็นครั้งสุดท้ายที่เจอกัน

รู้สึกยังไงบ้างครับถ้าคุณได้เข้ามาอ่านบทความนี้ของ The Potential เป็นครั้งแรก? ขออนุญาตถามต่อ แล้วคุณจะรู้สึกยังไง ถ้าสมมติว่านี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่คุณจะได้อ่านบทความนี้…และจะไม่มีโอกาสได้อ่านอีกต่อไปเลยตลอดช่วงชีวิตนี้? 

ความรู้สึก ‘ครั้งแรก’ และ ‘ครั้งสุดท้าย’ มันช่างทรงพลังจริงๆ ใช่ไหม?

วันนี้เลยอยากชวนทุกคนมาคุยเรื่องปรัชญาแนวคิดของคนญี่ปุ่นที่ชื่อว่า อิจิโกะ อิจิเอะ 【一期一会】 เป็นปรัชญาการใช้ชีวิตที่อาจจะอยู่นอกกระแสหลักไปบ้าง ไม่เหมือนอย่าง คินสึงิ ที่เคยกล่าวไปในบทความก่อน, ไคเซ็น หรือ อิคิไก ที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว 

อิจิโกะ อิจิเอะ การพบกันเพียงครั้งเดียว

ถ้าแปลตามตัวอักษรเลย อิจิโกะ อิจิเอะ แปลได้ว่า ‘การพบกันเพียงครั้งเดียว’ (Once in a lifetime) เราอาจพบเจอกันครั้งนี้จะเป็นเพียงครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในชั่วชีวิต จบแล้วจบเลย

ทำไมประโยคสั้นๆ นี้ถึงสำคัญขนาดนั้น? พบเจอกันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย…แล้วมันทำไมเหรอ? ดังที่เราจะได้ลงลึกกัน เพราะแนวคิดอิจิโกะ อิจิเอะนี้เอง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตคนเรา ช่วยให้เรามองเห็นความสำคัญในทุกเรื่อง ให้เราตกหลุมรักอีกครั้งกับการมีชีวิตอยู่ในเช้าวันใหม่ ช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะอย่างถึงที่สุด และสอดคล้องกับการทำวันนี้วินาทีนี้ให้ดีที่สุด

จากพิธีชงชา สู่อิจิโกะ อิจิเอะ

แนวคิดอิจิโกะ อิจิเอะมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์มาจาก ‘พิธีชงชา’ ของนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น อย่างที่เราพอจะทราบกัน ปรัชญาแนวคิดการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นมากมายก่อกำเนิดขึ้นมาจากพิธีชงชา หนึ่งในนั้นก็คือ ‘อิจิโกะ อิจิเอะ’ 

โดยพิธีชงชาที่แขกทุกคนต้องมานั่งลงอย่างสำรวม สงบนิ่ง ประณีต ได้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นมานานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว แต่สมัยก่อนเมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว การเดินทางไม่ได้สะดวกสบาย โอกาสที่สมาชิกทุกคนที่อยู่ในพิธีชงชาจะมาเจอกันนั้นมีน้อยมากๆ และน้อยยิ่งกว่าถ้าจะโคจรกลับมาพบกันอีก 

ในทางปฏิบัติ การพบเจอกันในพิธีชงชาครั้งหนึ่งจะเกิดขึ้นเพียง ‘ครั้งเดียว’ ในชีวิตเท่านั้น แขกทุกคนเจอกันเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้าย และเมื่อนั้นอิจิโกะ อิจิเอะก็เริ่มเบ่งบานขึ้นในใจจากพิธีชงชานี้ มันหล่อหลอมให้เราปฏิบัติต่อกันอย่างดีที่สุด เคารพให้เกียรติอีกฝ่ายอย่างถึงที่สุด เพราะห้วงเวลาอันมีค่าที่ได้อยู่ด้วยกันนี้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว

นอกจากนี้ ยังโยงไปถึงความเชื่อของคนญี่ปุ่นตั้งแต่โบราณด้วยเช่นกัน 

ท่ามกลางมนุษย์ที่มีอยู่มากมายและความกว้างใหญ่ไพศาลของโลกใบนี้ การที่คนสองคนมาโคจรพบกัน ถือเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งในชีวิต เราจึงควรซาบซึ้งและทำมันให้ดีที่สุดนั่นเอง

ในเวลาต่อมา แนวคิดอิจิโกะ อิจิเอะได้ถูกตีความแผ่ขยายออกมาจากพิธีชงชา และถูกหลอมรวมเป็นปรัชญาแนวคิดเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นมาถึงปัจจุบัน 

มาถึงตรงนี้ เราจะสังเกตได้ว่า อิจิโกะ อิจิเอะ จะมีคีย์เวิร์ด 2 คำที่โผล่มาพร้อมกันเสมอ นั่นคือ ‘ครั้งแรก’ และ ‘ครั้งสุดท้าย’ ก็น่าสนใจไม่น้อยว่าทำไม 2 คำนี้ถึงมีอิทธิพลกับใจเรามากขนาดนี้

ทำไม ‘ครั้งแรก’ ถึงมีความหมายขนาดนี้?

เมื่อสมองมนุษย์เราได้รับข้อมูลอะไรใหม่ๆ เป็นครั้งแรก มันจะไปกระตุ้นความรู้สึกตื่นเต้น จึงไม่แปลกเลยที่คนส่วนใหญ่รู้สึกถึงความเสน่หาเย้ายวนใจเวลาได้กินเมนูอาหารใหม่ๆ ทำอะไรใหม่ๆ ไปเยือนสถานที่ใหม่ๆ พบเจอผู้คนใหม่ๆ เป็นครั้งแรก

จากพิธีชงชา…เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไป อิจิโกะ อิจิเอะได้หลอมรวมอยู่ในวัฒนธรรมคนญี่ปุ่น ตัวอย่างที่แสดงออกมาได้ชัดเจน คือ วัฒนธรรมต้อนรับและการจากลาแขกผู้มาเยือน คนญี่ปุ่นจะพิถีพิถันเวลาทำความรู้จักกันครั้งแรกและจะพิธีรีตองกับการร่ำลาเป็นพิเศษ 

คนญี่ปุ่นถือว่าการพบกันครั้งแรกอย่างแท้จริงจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว วิธีสังเกตง่ายๆ คือคำพูดทักทายคนเวลาพบกันครั้งแรกอย่าง “ฮาจิเมะมาชิเตะ” (ยินดีที่ได้รู้จัก) คำนี้จะถูกนำมาพูดขึ้นครั้งแรกและครั้งเดียวในชีวิตของคนสองคน ครั้งหน้าที่เจอกันจะไม่ได้พูดคำนี้แล้ว ดังนั้น เมื่อครั้งแรกพูดออกไปแล้ว จะไม่มีการเอาคืน ไม่มีการยกเลิกกลางคัน ไม่มีการรีเซ็ตเริ่มใหม่

เราอาจตั้งข้อสงสัยว่า แล้วกิจวัตรประจำวันหลายต่อหลายอย่างของคนเราล่ะ จะถือว่าเป็นอิจิโกะ อิจิเอะไหม? แม้จะเป็นเรื่องที่พบเห็นจนเคยชินแล้วก็ตาม แต่ถ้าว่ากันให้ลึกซึ้งตามแนวคิดอิจิโกะ อิจิเอะนี้ ก็คงต้องตอบว่า…เป็น

เพราะทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เนื้อหาอาจเหมือนกันเป๊ะ แต่อย่างน้อยที่สุด ตัวแปรอื่นๆ เช่น แค่เวลาและความรู้สึกของเราที่เกิดขึ้นก็ต่างกันแล้ว ทุกช่วงเวลานั้นจึงสำคัญ เรื่องนี้เราอาจนำ ‘วันเวลา’ มาเป็นหมุดหมายก็ได้ว่ามันได้ผ่านไปแล้ว เช่น ทุกปีครอบครัวจะมีธรรมเนียมมาพบกันเพื่อรับประทานอาหารและแจกของขวัญกันทุกๆ วันคริสต์มาส แต่แม้จะเป็น 25 ธันวาคมของทุกปี เวลาเดิม คนเดิม อาหารเดิม ของขวัญเดิม แต่แค่ ‘ปี’ ก็ต่างกันแล้ว นอกจากนี้ พวกเราทุกคนยังเติบโตไปข้างหน้าและแก่ร่วงโรยไปตามกาลเวลาแม้จะผ่านไปแค่ 1 ปี

นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม First impression ถึงเป็นอะไรที่ตราตรึงในใจเราตราบนานเท่านาน บางคนจดจำมันได้ไปตลอดชีวิต เพราะมันมีแค่ ‘หนึ่งเดียว’ (เราจะใช้ตรรกะเชิงเศรษฐศาสตร์มาร่วมมองด้วยก็ได้ว่า อะไรยิ่งมีน้อย…ยิ่งมีค่า)

ทำไม ‘ครั้งสุดท้าย’ ถึงทรงพลังขนาดนั้น?

  • ยังจำความรู้สึกวันสอบไฟนอลตอนเรียนมหาวิทยาลัยได้รึเปล่า?
  • วันสุดท้ายก่อนย้ายงานจากบริษัทแรกเป็นยังไงบ้าง?
  • วันสุดท้ายที่ได้อยู่ด้วยกันกับแฟนเก่า?
  • แล้วถ้ารู้ว่าพรุ่งนี้จะเป็นวันสุดท้ายในชีวิต…คุณจะทำอะไร? 

ในทางจิตวิทยา ถ้าเรารับรู้ได้ว่าอะไรที่เป็น ‘ครั้งสุดท้าย’ ย่อมทรงพลังเสมอและปล่อยหลากหลายอารมณ์ความรู้สึก เรารู้แล้วว่าเราไม่มีโอกาสแก้ตัวจึงต้องทำครั้งนี้ให้ดีที่สุด หรือเราอาจหวาดกลัวว่าจะทำมันได้ไม่ดีพอจนนึกเสียใจถ้ามองย้อนกลับมา

  • ถ้าเป็นประสบการณ์ที่ดี เรารู้ว่าจะไม่มีโอกาสได้เพลิดเพลินมันอีก 
  • ถ้าเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดี เรารู้ว่าจะหลุดพ้นจากมันในเร็ววัน

ถ้าเราไปเยือนบ้านคนญี่ปุ่นและถึงเวลาร่ำลา เจ้าบ้านจะเดินออกมาส่งแขกที่หน้าบ้าน เมื่อกอดพูดจาร่ำลากันเสร็จสรรพ เจ้าบ้านจะยังไม่เดินหันหลังกลับเข้าบ้านในทันที แต่จะ ‘ยืนรอส่งแขกจนลับสายตา’ ถ้าระหว่างนั้น แขกหันหลังกลับมาเห็น เจ้าบ้านก็จะโค้งขอบคุณหรือโบกมืออำลาอีกครั้งหนึ่ง ช่างเป็นภาพที่สวยงามชวนประทับในหัวใจ

ซึ่งการยืนส่งจนลับสายตาก็ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของญี่ปุ่นเช่นกัน นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นเจ้าหน้าที่โรงแรมยืนส่งแขกขึ้นรถบัสจนลับสายตา หรือพนักงานท่าสนามบินยืนเรียงกันอย่างพร้อมเพรียงและโบกมืออำลาแก่ผู้โดยสารบนเครื่องที่กำลังบินออกจากญี่ปุ่น

ทั้งหมดนี้มีอิจิโกะ อิจิเอะอยู่เบื้องหลังในหัวใจทั้งสิ้น

โอบกอดอิจิโกะ อิจิเอะสู่ชีวิต

เราสามารถนำอิจิโกะ อิจิเอะมาลับคมทัศนคติว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องสดใหม่ในชีวิต เพราะเหตุการณ์ในชีวิตแต่ละเรื่องเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว เมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะไม่มีวันย้อนกลับมาอีก ไม่มีวันได้สัมผัสมันอีก แต่นั่นเอง…ก็เป็นการเริ่มต้นใหม่ของอีกสิ่งหนึ่งเสมอไม่ใช่หรือ?

อิจิโกะ อิจิเอะพึงเตือนสติให้เรารักษามาตรฐานและเติมพลังใจให้แก่ทุกความสัมพันธ์ เราสามารถดูแลคนรอบตัวอย่างถึงที่สุดดีเยี่ยมที่สุดเสมือนเป็นครั้งสุดท้ายที่เจอกัน แม้ว่าเราจะเจอเขาเป็นครั้งที่ 100 แล้ว และจะต้องเจออีกไปถึงครั้งที่ 1,000 ก็ตาม

อิจิโกะ อิจิเอะ ปลุกโสดประสาทในตัวเราให้ซาบซึ้งกับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า เรื่องตรงหน้า ของตรงหน้า ผู้คนตรงหน้า ตื่นตัวทางสติ รับรู้ความเป็นไปได้ เอาใจใส่อย่างรอบคอบ ช่วยให้เราดื่มด่ำกับสายธารของชีวิตที่ดำเนินไป เห็นความสำคัญของทุกช่วงเวลา กับสรรพสิ่ง กับผู้คนทุกคนที่ได้พบเจอกัน เพราะมันคือ ‘โอกาสครั้งเดียวในชีวิต’ ถ้าปล่อยผ่านไป เราจะสูญเสียมันไปตลอดกาล ซึ่งก็น่าตั้งคำถามต่อว่า ถ้าผ่านไปแล้วและมองย้อนกลับมา…เราจะเสียใจที่ได้ทำหรือไม่ได้ทำมันหรือไม่?

ในเชิงปรัชญา อาจพูดได้ว่า ‘ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวในจักรวาล’ อย่าไว้ใจอนาคต อย่ายึดติดอดีต แต่ให้อยู่กับปัจจุบันขณะ

เมื่อพิจารณาอิจิโกะ อิจิเอะลึกซึ้งมากพอ เราอาจตกผลึกกับการใช้ชีวิต โดยใช้ชีวิตเสมือนว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว (ครั้งแรกและครั้งสุดท้าย) พอเป็นแบบนี้ เราจะกลายเป็นคนที่ประณีตและพิถีพิถันในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าต้องโปรดักทีฟทำอะไรได้หลายอย่างหรือต้องบรรลุความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ แต่เป็นการอยู่กับปัจจุบันขณะ รับรู้ถึงคุณค่าของเวลาตรงหน้า 

เพราะที่นี่ ตรงนี้ ณ เดี๋ยวนี้ต่างหาก คือสิ่งที่เราทุกคนมีเหมือนกัน แปลกแต่จริง เหมือนคิดได้แบบนี้ ‘ความสุข’ ก็เบ่งบานขึ้นในใจเองโดยปริยาย…

อ้างอิง

https://www.you.co.uk/ichigo-ichie-japanese-philosophy/

https://www.mindbodygreen.com/articles/what-is-ichigo-ichie-10-rules-of-the-japanese-way-to-happiness

https://forge.medium.com/how-the-japanese-concept-of-ichigo-ichie-can-tune-you-in-to-your-life-b919dece8c1b

https://senbirdtea.com/the-meaning-of-ichigo-ichie-making-the-most-of-every-moment/

Tags:

ปรัชญาชีวิตการดำเนินชีวิตอิจิโกะ อิจิเอะ一期一会ประสบการณ์ชีวิต

Author:

illustrator

ปริพนธ์ นำพบสันติ

ชอบขบคิดในหัวและหาคำอธิบายให้กับสิ่งรอบตัว

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    ความตายขับเคลื่อนชีวิต (2): เมื่อการระลึกถึง ‘ความตาย’ ทำให้เข้าใจความหมายของ ‘ชีวิต’

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • How to enjoy life
    เดอสแตดนิง (Döstädning): มากกว่าจัดบ้านคือจัดการชีวิต ศิลปะการละทิ้ง(ก่อนตาย) สไตล์ชาวสวีเดน

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Movie
    Gran Turismo: ล้มกี่ครั้งไม่สำคัญเท่าลุกอย่างไรให้ไปต่อได้

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • How to enjoy life
    ลู่วิ่งแห่งความสุข (Hedonic Treadmill): เมื่อการไขว่คว้าพาเรากลับมาที่จุดเดิมเสมอ

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    Law of Jante: เอนจอยกับชีวิตด้วยแนวคิด ‘I ไม่ได้ดีเลิศไปกว่า You หรอก’

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

‘ไม่มีใครเกิดมาเพื่อที่จะเหงา’ 6 วิธีรับมือกับความเหงา
How to enjoy life
25 July 2023

‘ไม่มีใครเกิดมาเพื่อที่จะเหงา’ 6 วิธีรับมือกับความเหงา

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเหงา เราจึงไม่จำเป็นต้องเหงา!
  • ความเหงาส่งผลเสียได้มากทั้งทางกายและใจ ยิ่งรู้สึกเหงานานเท่าใดก็จะส่งผลกระทบกับร่างกายมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนป่วยง่ายขึ้น
  • 6 วิธีรับมือกับความเหงา คือ เริ่มชวนคุยกับคนอื่นก่อน บอกเล่าเรื่องที่ตัวเองรู้สึกเหงากับคนอื่น ฝึกเขียนขอบคุณสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองในแต่ละวัน หาโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมแบบหมู่เหล่า ออกกำลังกายและนอนหลับให้เพียงพอ ลดความเร็วในการใช้ชีวิต มีสติและสมาธิในการทำสิ่งที่เราชอบ

ความเหงาเป็นศัตรูความสุขที่ร้ายกาจที่สุดแบบหนึ่งของคนส่วนใหญ่ทีเดียว วัยรุ่นที่โดนกลั่นแกล้งและโดนโดดเดี่ยวจากเพื่อนๆ รอบตัวอาจรู้สึกเหงาถึงขั้นรู้สึกอยากฆ่าตัวตายก็มี แต่ไม่ใช่แค่วัยรุ่นเท่านั้น คนในวัยทำงานหรือแม้แต่คนที่เกษียณอายุแล้ว ก็อาจรู้สึกเหงาได้ไม่แตกต่างกัน

ความเหงาเกิดจากอะไรกันแน่? และเราจะรับมือกับความเหงาได้อย่างไรบ้าง?

ความเหงานี่แปลกนะครับ มันเป็นอารมณ์ที่เกิดกับใครก็ได้ เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เวลาเราถอยห่างจากกันทางกายภาพหรือจำเป็นต้องอยู่ห่างไกล ไม่ได้ติดต่อพบปะกับเพื่อนฝูงญาติมิตร แต่ความเหงาก็มีความเป็นส่วนตัวสูงมาก เราอาจรู้สึกเหงาขณะที่อยู่ท่ามกลางคนรอบตัวเต็มไปหมด อย่างในรถไฟฟ้า สนามกีฬา หรืองานปาร์ตี้ก็ได้!

แถมคนสองคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันมาก เช่น ครอบครัวคล้ายๆ กัน ทำงานแบบเดียวกัน และมีแวดวงเพื่อนฝูงไม่แตกต่างอะไรกันมากนัก แต่คนหนึ่งอาจรู้สึกสุขสบายดี ขณะที่อีกคนอาจรู้สึกเหงาแทบขาดใจ! 

มีปัจจัยมากมายที่มีส่วนกระตุ้นให้เกิดความเหงาได้ และแม้สิ่งแวดล้อมรอบตัวของเราอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก แต่จู่ๆ เราก็อาจรู้สึกเหงาจับจิตจับใจขึ้นมาได้เช่นกัน 

ปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้องแน่นอนคือ สภาพจิตใจในตอนนั้นเป็นอย่างไร การเผชิญกับปัญหาใหญ่ในชีวิตสักอย่าง เช่น โดนให้ออกจากงานหรือทำธุรกิจแล้วล้มละลาย แล้วไม่มีใครที่เราคิดว่าจะพูดคุยปรึกษาหรือขอคำแนะนำได้เลย ย่อมทำให้เกิดความเหงาได้ไม่ยาก เพราะเราจะรู้สึกว่าโดดเดี่ยวไร้คนพึ่งพาได้

ในอีกมุมหนึ่งคนอื่นอาจไม่ได้สังเกตหรือรับรู้เลยว่า เรากำลังเหงาแทบตายและตกที่นั่งลำบากอยู่

ยังมีปัจจัยอื่นอีกหลายอย่าง เช่น การสูญเสียก็ทำให้เกิดเหงาได้มาก ตั้งแต่การสูญเสียความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นการโดนบอกเลิก การหย่า หรือการเสียชีวิตของสามีหรือภรรยาหรือคนในครอบครัวที่เรารู้สึกผูกพันด้วยเป็นอย่างมาก หรือหากเป็นเด็กก็อาจจำเป็นต้องพึ่งพาเป็นหลักชีวิต 

การถึงจุดเปลี่ยนสำคัญบางอย่างของชีวิตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหงาได้มาก ไม่ว่าเป็นการเปลี่ยนงาน เปลี่ยนที่ทำงาน การเกษียณ หรือการย้ายที่อยู่จนทำให้ไม่อาจสานต่อความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อนสนิทมิตรสหายหรือครอบครัวได้ง่ายดังเดิม แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่เราเลือกทำเองก็ตาม  

การสร้างวงรอบความสัมพันธ์ใหม่กับคนใหม่ๆ เพื่อชดเชยสิ่งที่มีอยู่เดิมจำเป็นต้องใช้เวลา และสำหรับหลายคนช่วงเวลาระหว่างกลางนั้นก็อาจเกิดความเหงาได้อย่างท่วมท้น 

สำหรับบางคนความเหงาก็โยงใยกับเทศกาลหรือเหตุการณ์พิเศษบางอย่างของปีเป็นพิเศษ เช่น คนที่โดนบอกเลิกวันวาเลนไทน์อาจจะมองวันที่ 14 กุมภาพันธ์ด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป คนที่ไม่มีครอบครัวให้กลับไปหาในช่วงสงกรานต์ ตรุษจีน หรือเช็งเม้ง ย่อมเหงาได้ไม่ยาก และเด็กที่ไม่มีพ่อหรือแม่หรือตัวแทนไปร่วมงานวันพ่อหรืองานวันแม่ที่โรงเรียน ก็ย่อมรู้สึกว่าโดนคนรอบตัวโดดเดี่ยวตัวเองอยู่ 

คนบางกลุ่มอาจจะมีโอกาสเหงาได้มากกว่ากลุ่มอื่น เช่น คนสูงอายุ โดยเฉพาะที่ช่วยตัวเองได้น้อยหรือแทบไม่ได้ วัยรุ่นที่ไม่มีเพื่อนสนิทสักคน เนื่องจากจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ตามผู้ปกครอง แม่เลี้ยงเดี่ยวหรือพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ไม่มีพรรคพวกคอยช่วยเหลือประคับประคองด้วยอีกแรงหนึ่ง คนพิการบางส่วนที่โดนตัดขาดโลกภายนอก เพราะออกไปพบปะผู้คนได้ลำบากจากหลายๆ สาเหตุ คนส่วนน้อยหรือคนต่างชาติที่ต้องไปทำงานหาเงินในสถานที่ห่างไกลบ้านเกิดหรือในประเทศอื่นที่ไม่อาจสร้างสายสัมพันธ์ใหม่ได้ง่ายนัก เพราะพูดกันคนละภาษา ฯลฯ

แต่ความเหงาก็อาจโจมตีใครก็ได้ เมื่อไหร่ก็ได้ แค่ชั่วคราวหรือเป็นประจำก็ได้ไม่แตกต่างกัน เพราะมันเป็นเรื่องของใจโดยแท้ 

ความเหงาส่งผลเสียได้มากทั้งทางกายและใจ ในทางกายมีหลักฐานชัดเจนว่า ยิ่งรู้สึกเหงานานเท่าใดก็จะส่งผลกระทบกับร่างกายมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ ทำให้เป็นความดันโลหิตสูง และทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอลงจนป่วยง่ายขึ้น [1] 

ปัจจัยเรื่องพันธุกรรมก็มีความเกี่ยวข้อง ภายใต้สภาวะคล้ายๆ กัน คนหนึ่งอาจไม่รู้สึกอะไร แต่อีกคนอาจกลับรู้สึกเปลี่ยวเหงาแบบจับจิตจับใจได้ บางคนก็ชอบพูดคุยใช้ชีวิตสังคมกับเพื่อนฝูง ขณะที่บางคนก็อาจไม่รู้สึกว่าจำเป็นมากขนาดนั้น

แนวโน้มความเป็นคนขี้เหงาตั้งแต่เกิดจึงเป็นเรื่องจริง แต่กรรมพันธุ์ส่งผลมากน้อยเพียงใดหรือต้องมีตัวกระตุ้นในสิ่งแวดล้อมเป็นอะไรหรืออย่างไร ยังต้องศึกษาอีกมาก [2]  

มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าสังคมสมัยใหม่ทำให้เราสร้างสายสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นได้ง่ายขึ้นผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ที่ไม่จำเป็นออกมาพบปะต่อหน้ากันได้ แต่การทำงานร่วมกันแบบอยู่ต่อหน้ากันก็ยังมีความสำคัญอยู่มาก งานวิจัยของ Human Dynamics Lab ของ MIT ทำให้รู้ว่า 35% (หรือราว 1 ใน 3) ของผลงานที่ทำได้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับจำนวนครั้งของการพูดคุยกันแบบต่อหน้า [3] 

ส่วนโซเชียลมีเดียก็อาจส่งผลได้ทั้งดีและร้ายกับคนที่รู้สึกเหงา ในด้านหนึ่งก็เป็นลู่ทางให้เกิดสายสัมพันธ์และลดความรู้สึกเหงาได้ แต่ในด้านตรงข้าม การมองเห็นภาพหรือคลิปที่คนอื่นมีความสุขกายสบายใจ ก็ทำให้อาจรู้สึกเหงามากขึ้นไปอีกได้ง่ายๆ เหมือนกัน เพราะเป็นธรรมชาติที่คนเราจะเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น 

ถ้าเกิดความรู้สึกเหงาขึ้น จะมีวิธีการง่ายๆ อะไรบ้างที่ช่วยให้หายเหงา?

จูลี แบสเซตต์ (Julie Bassett) นักจิตวิทยาให้คำแนะนำไว้ในนิตยสาร Psychology Now [4] ว่ามีอย่างน้อย 6 วิธีที่คุณอาจนำมาใช้รับมือกับความเหงาได้

วิธีการแรกเป็นการแก้ไขปัญหาแบบตรงไปตรงมาที่สุดคือ ในเมื่อรู้สึกเหงา ก็หาทางต่อติดกับคนอื่นอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเริ่มชวนคุยกับคนอื่นก่อน การส่งอีเมลหรือข้อความผ่านทางอินบ็อกซ์ของโซเชียลมีเดียเจ้าต่างๆ 

วิธีการต่อไปก็ออกจะตรงไปตรงมาเช่นกันคือ บอกเล่าเรื่องที่ตัวเองรู้สึกเหงากับคนอื่น อาจจะเป็นเพื่อนที่พอรู้สึกว่าสนิทด้วยหรือคนในครอบครัว หรือถ้าหาไม่ได้จริงๆ แค่เขียนระบายลงในสมุดบันทึกก็พอจะช่วยได้บ้าง และอันที่จริงสำหรับคนไทย เดี๋ยวนี้เรามีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเราสามารถโทรไปปรึกษาได้เช่นกัน 

วิธีที่ 3 อาจดูไม่น่าเกี่ยวมากนัก แต่ก็ได้ผลสำหรับหลายคนคือ ฝึกนิสัยการเขียนขอบคุณสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวคุณเองในแต่ละวัน อาจจะสัก 3 อย่าง ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด เมื่อเขียนออกมาเราก็จะเห็นได้เองและได้เตือนตัวเองว่า เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นอยู่ ไม่ได้โดดเดี่ยวอย่างที่เรารู้สึกจริงๆ การเขียนก็ให้เขียนอะไรก็ได้ จะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหนก็ได้ เช่น คุณ ก ไม่เคยทักทายกับเราเลย แต่เช้านี้ยิ้มให้เราด้วย ส่วน ข ที่ปกติเฉยๆ วันนี้ใจดีให้ยืมพาวเวอร์แบงก์ด้วย ฯลฯ 

วิธีการต่อไปคือ หาโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรมแบบหมู่เหล่ากับคนอื่น อาจจะไปร่วมชมรม สมาคม หรือกลุ่มอะไรสักอย่าง ซึ่งมีกันอยู่เป็นร้อยๆ แบบ เลือกเลยตามความสนใจ กลุ่มนักอ่าน ชมรมคนชอบดูหนัง คนรักการถ่ายภาพ หรือคนชอบออกกำลังกาย 

โดยเฉพาะการออกกำลังกายนี่สำคัญ แม้ใจเป็นนายกายเป็นบ่าวก็จริง แต่เรื่องหนึ่งที่พอสรุปได้อย่างไม่น่าผิดเพี้ยนก็คือ ทุกคนสามารถใช้การออกกำลังกายและการนอนหลับให้เพียงพอเป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ให้จิตใจดีขึ้นจาก ‘สภาวะลบ’ ต่างๆ ในหัวให้กลับมาเป็นปกติได้เร็วขึ้น และหากทำเป็นประจำก็จะลดอาการความเครียดและความรู้สึกเหงาได้ด้วย 

การลดความเร็วในการใช้ชีวิตก็อาจช่วยให้เหงาน้อยลงได้ด้วยเช่นกัน พยายามผ่อนคลาย ทำกิจกรรมเบาๆ อย่างการออกไปเดินอย่างมีสมาธิ เช่น อาจจดจ่อกับจำนวนก้าว การเล่นโยคะ หรือแม้แต่การอาบน้ำอุ่นก็ช่วยลดความเครียดและแม้แต่จะช่วยให้เหงาน้อยลงได้ด้วย

เพราะกิจกรรมเหล่านี้ไปทำให้เราเกิดความรู้สึกในทางบวกกับตัวเองมากขึ้น 

วิธีสุดท้ายนี่เน้นเกี่ยวกับสติและสมาธิในการทำสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะสิ่งที่เราชอบ เช่น ทำใจจดจ่อกับการทำอาหาร อ่านหนังสือ ต่อจิ๊กซอว์ เดินเล่นในสวนหรือในป่า ฯลฯ โดยทำหัวโล่งๆ หรือจอจ่ออยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าหรือสิ่งที่เราเลือกขึ้นมาเป็นหลักให้ใจเกาะยึดเหนี่ยวไว้ชั่วคราว เช่น ขั้นตอนต่างๆ ของการทำอาหาร เนื้อหาในหนังสือ หรือจำนวนก้าวที่เดิน ฯลฯ 

การทำดังนี้จะช่วยให้เรารู้สึกเชื่อมโยงกับโลกรอบตัวหรือลดความรู้สึกโดดเดี่ยวหรือเหงาลงได้ 

เรื่องที่สำคัญก็คือ คุณต้องเลือกสิ่งที่จะทำเอง เพราะแต่ละคนไม่เหมือนกัน เรื่องที่เราชอบและจมดิ่งอยู่กับมันได้นานๆ ก็ย่อมไม่เหมือนกัน ลองเลือกเอาวิธีการที่คิดว่าทำได้ไม่ยุ่งยากจนเกินไป น่าทำและอยากทำ ไปลองทำดูเวลาเกิดความรู้สึกเหงาขึ้นมานะครับ 

จำไว้อย่างเดียว เราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเหงา เราจึงไม่จำเป็นต้องเหงา!  

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.heartandstroke.ca/articles/loneliness-isolation-and-your-heart-health

[2] https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/25910391/

[3] https://www.washingtonpost.com/sf/brand-connect/hilton/the-science-of-being-there/

[4] Psychology Now (2022) Vol. 3, 110-111

Tags:

โซเชียลมีเดียสุขภาพกายใจความเหงาความสุขการรับมือการจดจ่อใส่ใจ

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • How to enjoy life
    เพราะ ‘ข่าวร้าย’ มักดึงดูดใจกว่า ‘ข่าวดี’: Doomscrolling พฤติกรรมเสพข่าวร้ายไม่หยุด ที่ต้องหยุดตัวเองก่อนเสียสุขภาพจิต

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • loneliness-nologo
    How to enjoy life
    ‘ภัยเงียบของความเหงา’ เมื่อคนมากมายไม่อาจเติมช่องว่างทางความรู้สึก

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • meditation-nologo
    Adolescent Brain
    การฝึกสมาธิ (Meditation): วิธีเรียบง่ายที่จะช่วยปรับสมองวัยรุ่นให้พร้อมรับมือกับความว้าวุ่น

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Relationship
    Parasocial Relationship: รักข้างเดียวของแฟนคลับ ความสัมพันธ์ที่ต้องรู้เท่าทัน

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy life
    เลี้ยงลูกทั้งเหนื่อยทั้งหนัก ขอพักไปเล่นมือถือได้ไหม

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

วิทย์นอกเวลา การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเอง จากกรุงเทพคริสเตียนสู่เวทีโลก: ครูชนันท์ เกียรติสิริสาสน์
Social Issues
24 July 2023

วิทย์นอกเวลา การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเอง จากกรุงเทพคริสเตียนสู่เวทีโลก: ครูชนันท์ เกียรติสิริสาสน์

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • แม้จะไม่ใช่โรงเรียนที่มุ่งเน้นในด้านวิทยาศาสตร์ แต่นักเรียนของกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยสามารถคว้ารางวัลระดับนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง
  • เบื้องหลังความสำเร็จนี้ไม่ได้เกิดจากการเคี่ยวกรำทางด้านวิชาการ แต่เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงานตามความสนใจด้วยความสมัครใจ
  • โครงงานวิทยาศาสตร์นี้ไม่มีการตัดเกรด ไม่มีคะแนนพิเศษ มีเพียงการเรียนรู้ร่วมกันของครูและนักเรียน โดยครูทำหน้าที่เป็นโค้ชคอยตั้งคำถามให้นักเรียนได้ค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกรายการ Regeneron ISEF 2023 ที่เมืองดัลลัส สหรัฐอเมริกา ก่อนคว้ารางวัลที่ใหญ่ที่สุดของงานอย่าง ‘รางวัลสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์’ (Regeneron Young Scientist Award) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยได้รับรางวัลนี้ 

ท่ามกลางเสียงชื่นชมยินดี สิ่งที่น่าสนใจคือแบล็คกราวด์ของกลุ่มนักเรียนที่ไปคว้ารางวัลสุดยอดนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์นั้นไม่ได้มาจากโรงเรียนที่มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านวิชาการ แต่เป็นโรงเรียนเอกชนที่มุ่งมั่นสู่การเป็น ‘โรงเรียนแห่งความสุข’

The Potential ชวน ครูชนันท์ เกียรติสิริสาสน์ ครูประจำวิชาชีววิทยาและหนึ่งในครูที่ปรึกษาโครงงานวิทยาศาสตร์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย มาพูดคุยถึงแนวทางการออกแบบการเรียนรู้ที่ทำให้นักเรียนกล้าที่จะนำเสนอโครงงานตามความสนใจของตัวเองและลงมือทำด้วยความกระตือรือร้น จนสามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องๆ ในการตามฝันบนเส้นทางนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา

โจทย์ที่ 1 เปลี่ยนความกลัววิทยาศาสตร์เป็นการเรียนรู้อย่างมีชีวิตชีวา

เมื่อพูดถึง ‘วิชาวิทยาศาสตร์’ เชื่อว่าหลายๆ คนอาจนึกขยาดราวกับเป็นยาขม ซึ่งครูชนันท์ก็ไม่ปฏิเสธ แต่ขออธิบายต้นสายปลายเหตุว่า

“ยากครับ ไม่ใช่แค่เด็ก ครูเองก็ยังลำบากเลย ต้องบอกก่อนว่าปลายทางการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมันยังไม่เปลี่ยนและยังไม่หลุดจากกรอบคำว่า Content (เนื้อหา) ซึ่งไม่ผิดนะ เพราะคุณต้องมีพื้นฐานเอาไว้ใช้ในการตัดสินใจหรือเป็นตัวกำหนดกรอบบางอย่าง เพียงแต่ว่าเราดันยึด Content บางอย่างมากเกินไป พอยึดมากเกินไปกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่จะนำไปสู่กระบวนการคิดให้เป็นเหตุเป็นผลที่ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่สุดมันก็ลำบากไปด้วย”

ครูชนันท์มองว่าสิ่งเหล่านี้คือความท้าทายของเขาในฐานะผู้สอน เพราะเนื้อหาที่กระทรวงศึกษาธิการออกแบบมานั้นเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เยอะและยากกว่าสมัยที่เขายังเป็นนักเรียน 

“จำได้ว่าสมัยที่ครูเรียนหนังสือ ม.ต้น เขาสอนเรื่องระบบร่างกาย ระบบสืบพันธุ์ ระบบย่อยอาหาร ซึ่งเนื้อหามันกำลังน่ารักใช่ไหมครับ แต่ทุกวันนี้ตัดเรื่องอาหารทิ้งกลายเป็นเด็กม.2 ต้องเรียนระบบประสาทซึ่งครูก็ไม่รู้ว่าเขาอยากให้เด็กรู้อะไร ทำไมถึงเขียนหลักสูตรแบบนี้ คือเนื้อหายากจนไม่รู้จะยากไปไหน ทั้งที่วัยอย่างนั้นเราควรเรียนรู้ว่าเราควรกินอะไร เติบโตยังไง ระบบสืบพันธุ์เป็นยังไง เราจะได้ดูแลตัวเองถูก ครูว่าหลักสูตรแบบนี้กำลังน่ารัก แต่ไปแก้จนเป็นแบบทุกวันนี้ อันนี้พูดในฐานะของเด็กและฐานะของครูว่าเราเองก็ถูกภาวะกดดันเหมือนกัน ครูอยากให้ชอบวิชาวิทยาศาสตร์แต่ทิ้งเนื้อหาไม่ได้ เพราะปลายทางสำคัญคือเด็กต้องใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย 

ยิ่งสมัยนี้พอเด็กม.ต้นไปกวดวิชาเขาจะเอาเนื้อหาม.ปลายมาสอน พอครูในโรงเรียนสอนเท่าหลักสูตรก็กลายเป็นครูบกพร่อง หรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่เอาเนื้อหายากๆ บางอันเกินหลักสูตรมาออกข้อสอบ แล้วถ้าเราไม่สามารถทำเนื้อหาให้เท่ากันก็กลายเป็นว่าเราสอนไม่ดีเด็กถึงเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ พอเราสอนยากขึ้น เด็กบางคนที่ไปกับเราไม่ได้ก็เริ่มไม่ชอบวิทยาศาสตร์”

เมื่อแนวโน้มของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เป็นไปในทิศทางนี้ เด็กหลายคนจึงคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือไม่ชอบวิทยาศาสตร์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว วิทยาศาสตร์คือกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล

“ครูคิดว่าคุณลักษณะสำคัญที่สุดของการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์คือการมีกระบวนการคิดที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นขั้นเป็นตอนตามระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เพียงแต่การทำความเข้าใจและการฝึกกระบวนการคิดอย่างเป็นระเบียบระบบขั้นตอนเนี่ยจะทำยังไงให้เด็กไปถึงเพื่อเข้าใจการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาในเชิงของเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมต่างๆ ให้ได้ ทุกวันนี้ก็พยายามให้เด็กทดลอง พยายามให้เด็กออกไปสำรวจ แต่ด้วยการสอนปกติก็ลำบากอยู่ดีที่จะทำให้เกิดความเข้าใจนั้นๆ

ฉะนั้นสิ่งที่พยายามตอนนี้และเป็นจุดสำคัญที่สุดคือ ‘การตั้งคำถาม’ เพราะตั้งแต่สอนมาไม่ว่าทฤษฎีการศึกษาอะไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือครูจะขับเคลื่อนไปได้ต่อเมื่อมีการตั้งคำถามให้เด็กได้คิด 

เด็กจะคิดได้มากน้อยแค่ไหนไม่รู้ แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็เป็นการคิดที่อยู่บนเนื้อหานั้นๆ ว่าทำไม 1 ถึงเกิด 2 ทำไม 2 ถึงเกิด 3 แต่เราไม่สามารถทำตามทฤษฎีได้ทุกอย่างที่จะถามเด็กรายบุคคล อย่างน้อยที่สุดเบื้องต้นที่ทำได้คือการสุ่มถามทั้งห้องพร้อมกัน หรือการให้ประเด็นชวนคิดว่าจาก 1 ไป 2 จาก 2 ไป 3 มันจะเป็นไปได้ยังไง อันนี้ก็ท้าทายตรงที่เนื้อหามันลึก จะทำยังไงให้เกิดรูปแบบการตั้งคำถามที่ดี เวลาที่จำกัดจะทำยังไงให้การตั้งคำถามสามารถกระตุ้นความคิดของนักเรียนให้ทั่วถึงทุกคน”

โจทย์ที่ 2 เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ผ่านโครงงานวิทยาศาสตร์

แม้หลักสูตรจากภาครัฐจะทำให้ครูชนันท์ไม่สามารถเป็น ‘ครูวิทยาศาสตร์’ ในแบบที่เขาใฝ่ฝันได้เต็มร้อย แต่เนื่องจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยได้ประกาศตัวเป็นโรงเรียนแห่งความสุข โดยพยายามลดวิชาหรือเนื้อหาที่เด็กไม่ชอบแล้วเสริมด้วยวิชาเลือกเพิ่มเติมเพื่อให้บรรยากาศความตึงเครียดในการเรียนลดลง แถมยังเปิดโอกาสให้เด็กแต่ละคนมีโอกาสได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจ เช่น นิเทศ ดนตรี กีฬา การประกอบอาหาร สถาปัตย์ แพทย์ ไปจนถึงสเปซโปรแกรม ฯลฯ ทำให้การเรียนรู้นอกตำราและนอกเวลาเรียนได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่

“ครูรู้สึกว่าโรงเรียนมาถูกทางที่เปิดโอกาสให้เด็กค้นหาตัวเองตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะกิจกรรมตอนเย็นหลังเลิกเรียนที่เด็กแต่ละคนสามารถไปเรียนสิ่งที่ตัวเองสนใจ ถ้าคุณอยากเรียนลึกตอนเย็นเราจัดติวฟรีให้ คุณมาติวได้เลยเพื่อใช้ไปสอบ แต่ไม่ใช่การมาบังคับให้ทุกคนอยู่ในกรอบเดียวกันว่าต้องยากต้องโหด พอเด็กได้เรียนได้ทำสิ่งที่ชอบ เขาก็มีใจที่จะอยู่แม้ยากแค่ไหนเขาก็จะสู้” 

เมื่อบรรยากาศการเรียนการสอนผ่อนคลายขึ้น ประกอบกับการที่โรงเรียนเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองสนใจหลังเลิกเรียนทำให้ครูชนันท์ได้พบเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นกลุ่มนักเรียนที่บุกเบิกเส้นทางการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของโรงเรียน

“เด็กมาบอกว่าเขาประหลาดใจที่ต้นกาบหอยแครงสามารถงับและย่อยแมลงได้ ซึ่งมันก็ธรรมดามากสำหรับเราในฐานะครูชีววิทยา”

แต่แทนที่ครูชนันท์จะ ‘ช็อตฟีล’ นักเรียนด้วยการบอกว่า “เรื่องนี้ใครๆ ก็รู้” “ทำไมต้องตื่นเต้น” หรือไม่ก็ “เอาเวลาไปอ่านหนังสือดีกว่าไหม” เขากลับมองลึกเข้าไปในดวงตาที่เปล่งประกายของนักเรียนคนนั้น ก่อนตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดและกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติม

“ไม่นานเขากลับมาหาใหม่แล้วบอกว่าครูครับผมเจอความพิเศษอย่างหนึ่งคือวันที่ฝนตกมันจะหุบ ซึ่งในฐานะครูชีววิทยา เราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ก็ถามเด็กว่าคุณไปรู้มาได้ยังไง เขาบอกว่าผมนั่งดูนั่งสังเกตมันทั้งวันเพราะอยากศึกษาเรื่องนี้ ก็บอกเด็กไปว่าแทนที่คุณจะศึกษาเปล่าๆ ลองทำเป็นงานเพื่อประกวดไหม คือแค่รู้สึกว่ามันเป็นหัวข้อเล็กๆ ที่ไม่ได้ยากแต่ในฐานะของครูมันคือการจุดประกายความน่าสนใจว่าทำไมเรื่องนี้ไม่มีใครเห็น มันคือการที่เด็กเห็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เห็นคำตอบได้ด้วยตัวเอง” 

หลังจากตกลงทำโครงงานวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับต้นกาบหอยแครงด้วยกันโดยเริ่มต้นจากความสนใจของเด็กเอง หรือในความหมายว่า ‘เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้’ ครูชนันท์ก็สลัดภาพลักษณ์ของการเป็นครูในห้องเรียนมาเป็น ‘โค้ช’ ทำหน้าที่ตั้งคำถาม แนะนำ และเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กกลุ่มนี้  

“ครูบอกกับเด็กๆ ว่าการทำโครงงานอันนี้เราคือทีมเดียวกันนะ แล้วโครงงานมันคือการที่เราศึกษาหาสิ่งใหม่ ฉะนั้นสิ่งใหม่คือสิ่งที่ไม่เคยมีใครรู้มาก่อน เมื่อไม่มีใครรู้ ครูก็ไม่รู้ แต่หน้าที่ของครูคือครูมีประสบการณ์ที่จะตั้งคำถามคุณว่าในทางวิทยาศาสตร์มันต้องทำยังไง 

เช่น เรื่องต้นกาบหอยแครง ครูก็ตั้งคำถามว่าถ้าความชื้นเปลี่ยนไปมันจะหุบจะอ้าเหมือนกันหรือเปล่า พอถามเสร็จเด็กก็ไปผลิตเครื่องกำเนิดหมอกขึ้นมาเอง หรือตอนที่เด็กบอกว่าถ้าจิ้มเบาๆ ต้นกาบหอยแครงจะไม่หุบ ครูก็จะถามต่อว่าแล้วจิ้มเบาๆ นี่เบาเท่าไหร่ จะวัดแรงยังไงว่าเบาเพราะเบาของคุณกับเราไม่เหมือนกัน เขาก็ได้คิดและนำหลักการคานมาใช้ จนสุดท้ายมีเด็กคนหนึ่งในทีมหนึ่งที่ชอบหุ่นยนต์ก็บอกคุณครู ผมเห็นมันแล้วจินตนาการถึงมือก็เลยพัฒนาเป็นมือกลอย่างง่ายขึ้นมา จากนั้นก็ไปประกวดได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งระดับโลก”

และแล้วโครงงานวิทยาศาสตร์หลังเลิกเรียนเรื่อง ‘ปัจจัยที่มีผลต่อการตอบสนองของกาบหอยแครง’ จากประเทศไทยก็สามารถคว้ารางวัลอันดับ 4 ของโลกในสาขาวิทยาศาสตร์พืช ในรายการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดอย่าง ‘ISEF 2013’ มาครอง แต่สำคัญกว่านั้นคือรางวัลนี้ได้จุดประกายนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์อีกหลายคนให้กล้าออกมาแสดงศักยภาพของตัวเอง

โดยในการดูแลสนับสนุนเด็กๆ เหล่านี้ นอกจากครูชนันท์แล้ว ยังมีครูวนิดา ภู่เอี่ยม ครูวิทยาศาสตร์ระดับชั้นมัธยมต้น ร่วมเป็นทีมครูที่ปรึกษาด้วย ซึ่งครูวนิดากล่าวถึงความพิเศษของการทำโครงงานของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยว่าเป็นกิจกรรมนอกเวลาเรียนที่ไม่ได้บังคับให้เด็กทุกคนต้องทำ ดังนั้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นจะไม่มีเกรดหรือการให้คะแนนใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้โครงงานทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจของเด็กที่ชื่นชอบวิทยาศาสตร์จริงๆ  

“เราไม่เคยคัดเกรดเด็กหรือถามเด็กว่าได้เกรดเท่าไหร่ถึงจะให้ทำโครงงาน ดังนั้นจึงเป็นข้อดีที่พอมีเด็กไปแข่งแล้วได้รางวัลมาเรื่อยๆ พวกน้องๆ หรือเพื่อนก็เห็นว่า อุ๊ย! เขาไม่ได้เรียนเก่งแต่ทำไมถึงได้รางวัลล่ะ ทีนี้หลายคนก็อยากเข้ามาลองทำดู ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นข้อดีของการไม่คัดเกรด เพราะไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นว่า อ๋อ! ที่เพื่อนได้เพราะเขาเรียนห้องเก่ง กลับกันเขาก็จะเห็นว่าที่เพื่อนได้รางวัลเป็นเพราะเพื่อนตั้งใจและทุ่มเท”

ครูวนิดากล่าวต่อว่าผลจากการที่ได้เด็กที่สนใจวิทยาศาสตร์จริงๆ ทำให้เด็กมีแพสชันในการทำสิ่งที่ตัวเองรักอย่างสุดความสามารถจนสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศทุกเวทีในประเทศไทย ทั้งยังคว้ารางวัลระดับโลกมาแทบทุกรายการ

“ปกติการแข่งขันมันจะเหมือนแกรนด์สแลม อย่าง ISEF เป็นเหมือนเวทีใหญ่สุด ซึ่งล่าสุดโรงเรียนคว้ารางวัลที่ 1 ของโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา 

ส่วนรายการแกรนด์สแลมอีกเวทีคือ ISWEEP เราก็เป็นเหรียญทองแรกและเหรียญทองเดียวของประเทศไทย และรายการ GENIUS OLYMPIAD เราส่งไปสามปี ทุกปีที่ส่งก็ได้เหรียญทองทั้งหมด

ในการทำโครงงานครูจะบอกเด็กเสมอว่าถ้าเธอไม่ทิ้งครู ครูก็ไม่ทิ้งเธอ คือพอทำงานเป็นทีม ต่อให้เลิกดึกแค่ไหน จะต้องมีครูอยู่กับเด็กเสมอ ดังนั้นไม่ว่าจะสุขจะทุกข์เด็กก็จะไว้ใจเรา อย่างถ้าวันไหนเด็กเครียดก็จะชวนกันไปกินส้มตำแล้วค่อยกลับมาทำกันต่อ 

ส่วนเรื่องรางวัลถามว่ากดดันไหม ครูไม่กดดันแต่เด็กกดดัน อย่างถ้าเวทีไหนไม่ได้รางวัล เราจะไม่เคยตำหนิเด็ก คือจะบอกเด็กตลอดว่าก่อนแข่งเครียดได้นะ แต่ถ้าไม่ได้มาก็ให้รู้ว่าเราทำเต็มที่แล้ว ฉะนั้นเมื่อไหร่ที่เต็มที่แล้วไม่ได้ก็ไม่เป็นไร จากนั้นจะให้เขาตัดสินใจเองว่าจะแข่งรายการอื่นต่อหรือพอแค่นี้ แต่ส่วนใหญ่เขาจะขอกลับไปพัฒนาจุดด้อยของงานเพื่อเพิ่มให้มันเต็มกว่าเดิม”

โจทย์ที่ 3 เปลี่ยนตัวชี้วัดความสำเร็จจากเกรดเป็นทักษะชีวิตและความสุข

แม้รางวัลจะเป็นความภูมิใจของทั้งนักเรียนและคุณครู แต่นั่นไม่ใช่ความคาดหวังในการสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการทำโครงงาน เพราะสิ่งที่จะติดตัวเด็กไปตลอด นอกเหนือจากความรู้แล้วคือทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร 

“ทุกวันนี้เด็กสามารถค้นหา Content และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องได้เยอะแยะไปหมด แต่เขาจะต้องเอาความรู้มาเรียงเป็นระเบียบระบบตามหลักวิธีการทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ ผมคิดว่ามันเป็น Active Learning ที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบทีเดียวที่ครูและนักเรียนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน

แล้วเกิดการตั้งคำถาม ลงมือหาข้อมูล ตรวจสอบข้อมูล วิเคราะห์ ทดลอง สรุปผล ผิดพลาดก็ทดลองซ้ำ จนเมื่อคุณเข้าใจแล้ว คุณก็ต้องสื่อสารในเชิงวิทยาศาสตร์ถึงสิ่งที่คุณเข้าใจเพื่อให้คนอื่นเข้าใจด้วย

ในการทำโครงงาน ทุกคนจะต้องแบ่งงานกันทำ บางคนตัดต่อคลิปวิดีโอ บางคนทำตัวเล่มกับผังโครงงาน บางคนรับหน้าที่เลี้ยงพืชหรือสัตว์ที่เลือกมาทำโครงงาน แต่ถ้าเด็กบอกครูว่าอยากได้อะไร เช่น ตอนนี้อยากได้แบคทีเรียจากหน่วยงานราชการ เด็กก็ต้องโทรไปเองครูจะไม่ช่วยโทรให้เพราะมันคือชีวิตจริง ถ้าคุณอยากได้คุณก็ต้องหา ฉะนั้นพักกลางวัน เด็กก็จะโทรไปติดต่อหน่วยงานราชการ เด็กก็จะมาบอกครูครับ…โทรไปแล้วเขาไม่รับสาย ครูครับ…โทรไปแล้วเขาโอนสายไปสิบที่แล้วก็ยังไม่ได้คำตอบ ครูก็บอกว่าโอเคจะได้รู้ไงว่านี่คือชีวิตจริงที่คุณกำลังฝึกแก้ปัญหาอยู่ว่าคุณจะทำยังไงเมื่อไม่มี จะลองหาแบคทีเรียตัวใหม่มาแทนหรือคุณจะลองเลี้ยงเองไหม ถ้าเลี้ยงเองคุณต้องประเมินระยะเวลาว่าจะเลี้ยงทันไหม ถ้าไม่ทันก็ต้องหาใหม่ ถือเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงเลยซึ่งเด็กก็จะเรียนรู้สิ่งนี้ไปเรื่อยๆ จากการทำงาน”

มากไปกว่าทักษะที่ได้รับจากการทำโครงงาน การเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กก็เป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่ครูชนันท์ได้รับจากเสียงสะท้อนของผู้ปกครองซึ่งถือเป็นพลังใจสำคัญในการพานักเรียนไปให้ถึงฝั่งฝัน

“หลังจากที่เด็กผ่านกระบวนการทั้งหมด สิ่งที่ได้รับคือคำชื่นชมจากผู้ปกครองว่าลูกของเขาเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ไม่นึกว่าลูกจะโตขึ้นขนาดนี้ เพราะลูกมีการจัดระเบียบระบบความคิดที่ดี ซึ่งการจัดระเบียบระบบความคิดมันไม่ได้ใช้แค่โครงงาน แต่หมายถึงเขาต้องเอาไปใช้ในชีวิตของเขาว่าจะทำยังไง เมื่อตกเย็น…การบ้านก็ต้องทำ เรียนพิเศษก็ต้องเรียน จะจัดสรรเวลายังไงให้โครงงานเพื่อหางานวิจัยมาคุยกันวันถัดไป เพราะถ้าเด็กไม่หางานวิจัยมาวันนี้ตกเย็นเท่ากับเลิก ฉะนั้นเด็กเองก็จะรู้จักการจัดสรรเวลา” 

สำหรับครูชนันท์ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กคือภาพสะท้อนว่าเด็กเก่งขึ้น ในความหมายที่ไม่ได้ผูกความสำเร็จไว้กับผลการเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะเด็กแต่ละคนมีความชอบและเก่งในแบบที่ต่างกัน เกรดหรือคะแนนในห้องเรียนไม่ได้เป็นตัวชี้วัดสติปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ความสุข’

“พอเด็กแต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน ก็แปลว่าคนที่เรียนไม่เก่งเขาอาจจะแค่ไม่ชอบการเรียนในห้อง ฉะนั้นหน้าที่ของครูคือการทำให้เด็กหาศักยภาพตัวเองเจอ หาทางให้เขาเจอจุดที่เขาสนใจด้วยตัวเอง 

เพราะเจ้าตัวอาจไม่รู้ตัวหรอกว่าเขามีศักยภาพตรงนี้ที่เป็นจุดเด่น ถ้าเราทำให้เขาเห็นว่าพอเขามายืนตรงนี้ ไฟแห่งศักยภาพของเขาสามารถฉายส่องมาให้เห็นว่าฉันเก่งนะ พอเขารู้ตัวว่าเขาเก่งมันก็เกิดแรงจูงใจของเขาเอง มันเหมือนภูมิใจแล้วอยากจะทำอยากจะปรับปรุงแก้ไขยังไงให้ศักยภาพนั้นดีขึ้นเรื่อยๆ”

นอกจากนี้ จุดที่น่าสนใจคือครูชนันท์ในฐานะครูที่ปรึกษา ไม่ได้ใช้การตั้งคำถามเพื่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปถึงการเรียนรู้ในเรื่องทัศนคติที่ครูหลายคนอาจไม่ได้สอนในห้องเรียน

“ปกติเด็กส่วนใหญ่จะติดเกม แต่พอมาทำโครงงานกับเรากลายเป็นว่างานหนักจนไม่มีเวลาเล่นเกม ก็พยายามบอกเด็กว่ามันคือความสุขเหมือนกัน แต่คือความสุขที่นำไปสู่ความสำเร็จของการทำงานกับความสุขที่ได้เล่นเกม 

ฉะนั้นถ้ามันมีความสุขเหมือนกัน เลือกความสุขที่นำไปสู่ความสำเร็จดีกว่าไหม เพราะเป็นความสุขของคุณอีกแบบหนึ่ง เพียงแค่เหนื่อยหน่อย แต่เอาตรงๆ เล่นเกมนานๆ ก็เหนื่อยเหมือนกัน มันไม่มีอะไรไม่เหนื่อย แต่ความสำเร็จที่ได้มันไม่เท่ากัน ไหนๆ คุณจะลงทุนทั้งเวลาทั้งทรัพยากรแล้ว คุณก็ลงทุนในสิ่งที่เราเห็นความสำเร็จร่วมกันจริงๆ ดีกว่า”

ถึงตรงนี้ครูชนันท์เน้นย้ำว่า หัวใจสำคัญของความสำเร็จในแบบกรุงเทพคริสเตียนฯ คือการทำให้เด็กมีความสุขจากการลงมือทำ เพราะเด็กแต่ละคนต่างยืนอยู่บนพื้นฐานของความหลากหลาย ดังนั้นหน้าที่ของเขาในฐานะครูจึงไม่ใช่การผลิตเด็กให้ออกมาเป็นบล็อกเดียวกัน แต่สนับสนุนให้เด็กได้เปล่งประกายในแบบที่เขาเป็น 

“ความสำเร็จของเด็กจะต้องเกิดจากความสุขของแรงบันดาลใจที่เขาอยากลงมือทำ เพราะถ้าเขามีแรงบันดาลใจของตัวเองที่จะลงมือทำให้สำเร็จแล้ว มันจะเป็นกำลังใจที่เข้มแข็งที่เขาจะได้รู้ว่าทิศทางชีวิตของฉันควรจะไปทางไหน

ฉะนั้นคุณลักษณะที่ต้องการทั้งหมดมันเกิดขึ้นได้ ถ้าให้เด็กรู้จักการลงมือทำ แค่ให้เขาชอบอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเขาได้ลงมือทำมันจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นโครงงานก็ได้ ขอแค่สิ่งเหล่านั้นเป็นการลงมือทำจริงๆ โดยเกิดจากความสนใจและแรงปรารถนาภายใน แต่ขอให้ทุกอย่างเป็นไปด้วยความจริงจัง ครูเชื่อว่าเมื่อเขาเจอปัญหาเขาก็จะสู้และมุ่งมั่นสู่สิ่งที่เขาปรารถนาได้ในที่สุด”

Tags:

ครูวิทยาศาสตร์โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัยActive Learningความสุขนักเรียนชนันท์ เกียรติสิริสาสน์โครงงานวิทยาศาสตร์

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Related Posts

  • teaching-nologo
    Learning Theory
    การสอนคือความยินดีที่จะมอบใจให้ใครสักคนเข้ามาในชีวิตของเรา

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Movie
    Freedom Writers: ครูผู้ชวนเด็กๆ ขีดเขียนชีวิตในแบบของตัวเอง ด้วยความเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิมีชีวิตที่ดี

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Education trendSocial Issues
    ข้อสังเกตในยุคที่ ‘อะไรอะไรก็ต้องเป็น Active Learning’ เมื่อ AL อาจทำให้มุมมองการสอนของเราแคบลง

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative learning
    ‘นอกกรอบ อิงลิช with teacher ดาว’ ห้องเรียนภาษาอังกฤษที่เปลี่ยนความกลัวเป็นความกล้า ด้วย Active Learning

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

Kids Konference : ประชุมกลุ่มวัยอนุบาล เปิดให้คุยตั้งแต่ทำไมฝนตกถึงความตาย
Movie
21 July 2023

Kids Konference : ประชุมกลุ่มวัยอนุบาล เปิดให้คุยตั้งแต่ทำไมฝนตกถึงความตาย

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • การประชุมเด็ก (Kid Konference) เป็นสารคดีที่พาไปดูชีวิตของเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลเป็นระยะเวลา 1 ปีการศึกษา ที่ต้องการฝึกให้เด็กๆ ได้หัดคิดด้วยตัวเอง
  • ครูไม่ได้มีหน้าที่สอนตรงๆ หรือสั่งให้เด็กทำนู่นทำนี่ตาม แล้วก็ไม่ใช่ว่าครูไม่ทำอะไรเลย แต่จะเป็นคนเปิดพื้นที่ปลอดภัยและคอยสนับสนุนให้เด็กๆ คิดเอง
  • กิจกรรมทั้งหมดที่โรงเรียนแห่งนี้ทำอาจจะใช้เวลาซักหน่อยกว่าที่เด็กๆ จะเข้าใจและลงมือทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่การช่วยสร้างตัวตนที่มีคุณค่าให้กับพวกเขาโดยให้พวกเขาเป็นคนค้นพบมันเอง น่าจะเติบโตงอกงามอยู่ในตัวของพวกเขาได้อย่างแข็งแกร่ง

เดือนที่ผ่านมาเรามีโอกาสได้ดูสารคดีของญี่ปุ่นไป 3 เรื่อง (อีก 2 เรื่องได้เขียนถึงไปแล้วก่อนหน้านี้) เรื่องนี้คือเรื่องที่รักที่สุด เป็นสารคดีที่พาไปดูชีวิตของเด็กๆ ในโรงเรียนอนุบาลเป็นระยะเวลาเวลา 1 ปีการศึกษา แล้วมันเป็นสารคดีที่ไม่มีช่วงจังหวะน่าเบื่อเลย เพราะได้รวบรวมความน่ารัก สดใสไร้เดียงสาของการเป็นเด็กไว้ได้อย่างดีงาม ตลอดเวลาที่ได้ดูคือทั้งขำ ทั้งรู้สึกทึ่งกับความสามารถของเด็กๆ ไปจนเจอซีนประทับใจหลายครั้งจนต้องแอบปาดน้ำตา

โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น พวกเขามีกิจกรรมที่เรียกว่า “การประชุมเด็ก (Kid Konference)” เพื่อต้องการฝึกให้เด็กๆ ได้หัดคิดด้วยตัวเอง  การประชุมจะประกอบด้วยเด็กน้อยรุ่นโตสุดอายุ 6 ขวบมานั่งล้อมกันเป็นวงกลม พร้อมครูหนึ่งคนที่คอยช่วยดูแลและชวนเด็กๆ คุยด้วยบรรยากาศที่สบายๆ  การประชุมอย่างนี้เกิดขึ้นทุกอาทิตย์ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี

ในการประชุมจะเปิดโอกาสให้เด็กคิด ถามและตอบกันเอง ครูมีหน้าที่ดึงเด็กๆ ในกลุ่มให้อยู่ในวงสนทนา เรื่องที่คุยมีทั้งเรื่องง่ายๆ อย่างปิดเทอมหน้าร้อนทำอะไร ฝนตกได้ยังไง  ไปจนถึงเรื่องยากๆ อย่างเรื่องการเกิดมาบนโลกใบนี้ การตาย การแต่งงานมีลูก มีทั้งเด็กๆ ที่กล้าถาม กล้าตอบครูทันที และมีทั้งคนที่เลือกคำพูดไม่ถูกจนไม่อยากพูด ซึ่งก็จะไม่มีการบังคับให้ใครต้องพูดถ้าเขาไม่อยาก

ช่วงแรกก็จะมีเด็กบางคนที่ลงไปนอนกลิ้งเอกเขนกกับพื้นเลยเพราะไม่สนใจบทสนทนา เป็นภาพที่ชวนให้ผู้ใหญ่อย่างเราหลุดขำอยู่เรื่อยๆ แต่เมื่อถึงเวลาที่เขามีความพร้อม หรือสนใจเรื่องนั้นเขาก็จะพูดออกมาจนทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราสุดจะว้าว

เราประทับใจฉากนึงตอนคุณครูถามเด็กๆ ประมาณว่า พวกเธออยากทำอะไรถ้าเหลือชีวิตเพียงไม่กี่วันบ้าง บางคนบอกอยากกินราเมง บางคนบอกอยากทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ บางคนบอกว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษ แล้วครูก็ตอบว่า “แบบนั้นก็ดีเหมือนกัน”

เราสังเกตเห็นว่า ครูจะไม่ตัดสิน ไม่บอกว่าความคิดไหนถูกหรือผิด เขาจะแค่รับฟังแล้วชวนคุยต่อไปเรื่อยๆ เพื่ออยากให้เด็กฝึกคิด ฝึกแสดงความคิดเห็น ฝึกเป็นผู้ฟังและฝึกให้เกียรติความคิดของคนอื่น

ครูไม่ได้มีหน้าที่สอนตรงๆ หรือสั่งให้เด็กทำนู่นทำนี่ตาม แล้วก็ไม่ใช่ว่าครูไม่ทำอะไรเลย แต่จะเป็นคนเปิดพื้นที่ปลอดภัยและคอยสนับสนุนให้เด็กๆ คิดเอง

คุณครูให้สัมภาษณ์ว่า เด็กๆ ไม่ต้องคิดเหมือนกันก็ได้ เพราะทุกๆ คนต่างมีคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง เด็กคนนึงอาจเชื่อว่าฝนตกเพราะมีเด็กทารกเทน้ำลงมาจากท้องฟ้า เด็กอีกคนอาจบอกว่าเพราะมีเมฆมากฝนถึงตกแบบอิงหลักวิทยาศาสตร์จ๋ามาเลยก็ได้

คุณครูใหญ่กล่าวว่า เด็กๆ จะได้เรียนรู้ถึงความหลากหลาย พวกเขาจะซึมซับได้เองว่าถึงพวกเขาจะแตกต่างกันแต่ก็อยู่ด้วยกันได้

ที่เท่มากๆ อีกอย่างก็คือ โรงเรียนอนุบาลแห่งนี้มีสิ่งที่เรียกว่า ‘โต๊ะสงบศึก’ ที่มีการใช้งานตรงตามชื่อเลย คือ เมื่อมีเด็กทะเลาะกันแล้วเอามาฟ้องครู ครูก็จะให้เด็กๆ ไปที่โต๊ะนั้นเพื่อนั่งลงและเคลียร์กันเอง ครูจะเข้ามาแทรกแซงให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้เด็กๆ ปรับความเข้าใจกันเอง หน้าที่ของครูคือชี้ให้เห็นว่ามันมีทางออกเสมอโดยไม่ต้องทะเลาะกัน หรือใช้ความรุนแรงต่อกัน และครูจะไม่บังคับให้เด็กขอโทษกันโดยไม่เคลียร์ใจกันก่อน หรือทำเป็นเหมือนเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นเด็ดขาด สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆ ได้คุยเปิดใจต่อกัน ทำให้พวกเขากล้าแสดงความรู้สึกออกมาอย่างจริงใจ และฝึกคิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยตัวเอง 

มีคุณครูบอกว่า

“บางครั้งผู้ใหญ่ต้องถอยออกมานิดนึงเพื่อให้พื้นที่เด็กได้ลองคิดเอง จริงๆ พวกเขาจัดการมันได้ ถ้าผู้ใหญ่เชื่อใจเขามากพอ”

ซึ่งก็มีตัวอย่างสถานการณ์ให้เห็นอีกหลายครั้งว่าเด็กๆ สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ อย่างตอนนึงที่เด็กๆ ต้องแบ่งจักรยานกันเล่น มีเด็กผู้หญิงคนนึงมาฟ้องครูว่า เพื่อนไม่แบ่งจักรยานให้ขี่เลย เมื่อครูได้ยินก็ไม่ได้ใช้อำนาจในการสั่งเด็กว่า “เธอต้องแบ่งจักรยานให้เพื่อนเดี๋ยวนี้” แต่เป็นการพูดขึ้นลอยๆ ว่า “มีใครอยากแบ่งจักรยานให้เพื่อนมั้ยน้า” แล้วนั่งรอเป็นเพื่อนเด็กผู้หญิงคนนั้น เพื่อให้เด็กๆ ที่ขี่จักยานอยู่ตัดสินใจแบ่งปันด้วยตัวของเขาเอง

หรืออย่างตอนนึงที่โรงเรียนจะมีช่วงที่ให้พี่ 6 ขวบมาช่วยดูแลน้องเล็กเบบี๋ ครูก็อธิบายว่า การให้เด็กๆ ได้มาช่วย มันสอนให้เขาเห็นคุณค่าในตัวเองในการได้ทำอะไรซักอย่างเพื่อคนอื่น

เรารู้สึกว่าสิ่งที่โรงเรียนอนุบาลนี้กำลังทำ นอกเหนือจากจะช่วยเสริมสร้างตัวตนของตัวเด็กเองแล้ว ยังช่วยทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราได้เห็นอีกด้วยว่า จริงๆ เด็กๆ สามารถทำและคิดหลาย อย่างได้ด้วยตัวของเขาเอง

อีกอย่างคือเขารับรู้ทุกเรื่องไม่ว่าจะดีหรือร้าย พ่อแม่ทะเลาะกันเด็กก็สัมผัสได้ พ่อแม่ดูแลเขา เขาก็รับรู้ การมีพื้นที่ให้เด็กๆ ได้พูดคุยแชร์ความคิดของตัวเองมันดีมากเลยสำหรับเรา

และในฐานะที่เคยเป็นเด็ก รู้สึกอิจฉาอย่างมากที่เจ้าเด็กแก๊งนี้ได้เติบโตมาในสังคมที่ให้เกียรติความคิดของพวกเขา 

เราเองมีประสบการณ์อยู่กับแม่ที่ค่อนข้างใจร้อน ไม่ค่อยรอ หรือไม่ค่อยตั้งใจฟังสิ่งที่เราพูด เมื่อเรามีความคิดเห็นที่ต่างไปจากแม่จะถูกบอกว่า “อย่าเถียง” หรือ “ทำไมต้องคิดต่าง แค่เออออไปกับทุกเรื่องที่แม่พูดไม่ได้เหรอ” อยู่เสมอ

แล้วเรายังเติบโตมากับระบบการศึกษาที่ครูเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง เราเรียนรู้แต่วิธีการฟัง การท่องจำและสอบ ถูกหล่อหลอมด้วยระบบความคิดที่มีกรอบ สอนให้เคารพผู้ใหญ่โดยการไม่คิดต่าง

สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราทั้งอึดอัด ไม่กล้าเป็นอิสระ และรู้สึกเจอทางตันได้ง่ายมากเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่แล้วไม่มีใครมาคอยสั่ง หรือบอกว่าเราต้องทำอะไร ต้องจำอะไร

กิจกรรมทั้งหมดที่โรงเรียนแห่งนี้ทำมันอาจจะใช้เวลาซักหน่อยกว่าที่เด็กๆ จะเข้าใจและลงมือทำได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่เราก็คิดว่าการช่วยสร้างตัวตนที่มีคุณค่าให้กับพวกเขาโดยให้พวกเขาเป็นคนค้นพบมันเอง สิ่งนี้มันน่าจะเติบโตงอกงามอยู่ในตัวของพวกเขาได้อย่างแข็งแกร่งนะ ดังนั้นเราคิดว่าหน้าที่ของผู้ใหญ่ก็ควรที่จะฝึกวางใจและรอให้เด็กๆ ได้แสดงโพเทนเชียลที่เขามีกันดีกว่านะ

Tags:

Kid Konferenceโรงเรียนปฐมวัยการเติบโตความคิด

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Creative learning
    พาเด็กอนุบาลเรียนรู้ผ่าน ‘งานสวน’ เสริมสมรรถนะการอยู่ร่วมกันและการแก้ปัญหา:  ครูกิม – ภาวิดา แซ่โฮ่ โรงเรียนรุ่งอรุณ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • Early childhood
    วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.3 แนวทางในการเตรียมความพร้อมให้กับลูกก่อนเข้าสู่สังคม (โรงเรียน)

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Space
    เปลี่ยนสนามเด็กเล่นที่ไม่น่าเล่นและไม่ปลอดภัย มาเป็นผู้ช่วยให้เด็กพัฒนาสมวัย

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • EF (executive function)
    เพราะอะไรจึงไม่ควรเรียนหนังสืออย่างจริงจังก่อน 7 ขวบ: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

  • EF (executive function)
    เพราะอะไรจึงไม่ควรส่งเด็กไปเรียนหนังสือก่อน 7 ขวบ: นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ ทางออกอยู่ที่ไหน เมื่อเด็กตกอยู่ในการวนซ้ำของการหลุดจากระบบการศึกษา
Social Issues
20 July 2023

‘เปิดเทอมที่ไม่ได้เรียนต่อ’ ทางออกอยู่ที่ไหน เมื่อเด็กตกอยู่ในการวนซ้ำของการหลุดจากระบบการศึกษา

เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นปัญหาซับซ้อนที่โยงกับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัวจนแทบแยกออกจากกันไม่ได้ การหาทางออกโดยแก้ปมในทุกมิติจึงเป็นทางเดียวที่จะแก้ไขเด็กหลุดวนซ้ำได้
  • แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใน เวทีรายงานผลการศึกษาเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษาปี 2566  โดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา เพื่อวิเคราะห์จากข้อมูลและลงลึกแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
  • เมื่อเด็กไม่มีความพร้อมในการใช้ชีวิตพื้นฐาน การศึกษาก็จะกลายเป็นภาระที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ และหาทางออกด้วยการดึงบุตรหลานออกจากระบบการศึกษาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว

เด็กไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง แต่หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น

ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อน โยงใยทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ดังนั้นการทำให้เด็กคืนเข้าสู่ระบบแบบเดิมๆ อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสําหรับเด็กทุกคนอีกต่อไป 

เพื่อสำรวจแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา หลายหน่วยงานจึงได้นำข้อมูลจากการศึกษาวิจัยมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใน เวทีรายงานผลการศึกษาเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษาปี 2566  โดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ ที่จัดขึ้น ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา

โอกาสนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถิติและวิทยาการข้อมูลการศึกษา ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มรดกความยากจน ปัญหาวนซ้ำของเด็กที่หลุดออกจากระบบ

การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการศึกษาอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวด้วย เพราะเมื่อเด็กไม่มีความพร้อมในการใช้ชีวิตพื้นฐาน การศึกษาก็จะกลายเป็นภาระที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ และหาทางออกด้วยการดึงบุตรหลานออกจากระบบการศึกษาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว

“พอมีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ ครอบครัวของเด็กก็จะคิดว่า จะไปเอาเวลาไหนที่จะไปยุ่งกับเรื่องการศึกษา ในเมื่อเรื่องปากท้องยังดูแลไม่ได้”

อาจารย์สมพงษ์ วิเคราะห์ว่าปัจจัยด้านครอบครัวมีเป็นส่วนสำคัญ โดยอ้างอิงผลการศึกษาของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษาว่า จากการสำรวจที่ผ่านมานั้น มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาถึง  238,707 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความยากจน ทำให้เด็กจำเป็นต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยเหลือพ่อแม่ทำงาน ซึ่งโดยรวมมีสาเหตุมาจากทั้งครอบครัวและระบบของโรงเรียน

“เด็กกลุ่มที่หลุด(จากระบบการศึกษา) เพราะระบบครอบครัวนั้นได้รับผลกระทบจากมรดกความยากจน แล้วก็ผลของการที่พ่อแม่ตกงาน เรียกว่าเป็นความยากจนทับซ้อน ทำให้เด็กไม่สามารถจะทำให้ตัวเองให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนตามลําพังได้ ซึ่งถ้าไม่มีใครช่วยเขาก็ต้องอยู่ในวงจรความยากจนต่อไปอย่างแน่นอน” อาจารย์สมพงศ์ กล่าว

ดังนั้นเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ และนโยบายของรัฐบาลที่เป็นความหวังทางด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นวงล้อสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ เพราะการเมืองนั้นเดิมพันอยู่กับชีวิตและอนาคตของเด็กนับแสนคน

โดยกลุ่มที่ครอบครัวยากจนนั้นมีรายได้ต่ำลงกว่าเดิมถึงร้อยละ 5 ซึ่งคาดการณ์ว่ายังต้องคงอยู่ในสภาวะนี้ราว 3 ปี กว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ

“สถานการณ์ตอนนี้คือ ครอบครัวขัดสน รายได้ลดลง แต่ภาวะการศึกษานั้นมีทั้งค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า หรืออะไรอีกมากมาย และสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเผชิญกับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การส่งต่อความยากจนจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง และ ‘การวนซ้ํา’ ของการออกจากระบบการศึกษาซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งการวนซ้ำเกิดขึ้นถึง 82 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่หลุดออกจากระบบ เพราะเด็กก็ต้องออกจากโรงเรียนไปช่วยงานพ่อแม่วนไปเรื่อยๆ

ข้อมูลชุดหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน 50-70 เปอร์เซ็นต์ ออกในช่วงประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา แล้วพอเรามาดูระดับการศึกษาของพ่อแม่ของเด็กก็พบว่า พ่อแม่ก็ช่วงจบประถมกับมัธยมเหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการส่งต่อความยากจนจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง การวนซ้ำเกิดขึ้นแรงและหนักหน่วงมาก ในช่วงรอยต่อที่กําลังขาดรัฐบาลอยู่ในขณะนี้

ส่วนประเด็นเรื่องการเรียนฟรี เรามีพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ 2545 ใครไม่ส่งลูกเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับ ถูกปรับหนึ่งพันบาท ใครที่ทําให้เด็กไม่ได้รับการศึกษา ถูกปรับหนึ่งหมื่นบาท แต่ทําไมเรามีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาบังคับเป็นแสนๆ คน”

โดยเฉลี่ยแล้วเด็กหนึ่งคนจะมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาท ต่อปี หากเป็นเด็กในกรุงเทพฯ จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 37,000 บาท ต่อปี ซึ่งถ้าผู้ปกครองมีรายได้ต่อปีต่ำกว่าค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของลูก ก็บ่งชี้ได้ชัดว่าจะเกิดหนี้สินอย่างแน่นอน

“ตัวอย่างที่เราเห็น เช่น ค่าเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี คิดเป็นเงินประมาณ 900-1800 บาท ซึ่งนับเป็นค่าใช้จ่ายที่หนัก ผู้ปกครองก็ชักหน้าไม่ถึงหลังกันทั้งนั้น ยิ่งถ้าลูกเรียนต่อระดับม.ปลาย หรืออาชีวะ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วหากลูกเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 – 70,000 บาท ต่อปี ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เฉลี่ยเพียง 12,528 บาท ต่อปี เท่านั้น 

เพราะมีทั้งค่าธรรมเนียมเข้าโรงเรียน ค่าชุดนักเรียน ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายไม่ประจำต่างๆ อีกมากมาย แล้วผู้ปกครองจะหาทางออกอย่างไร เขาก็ต้องกู้เงินนอกระบบ เพราะนั่นคือทางออกเดียวของเขา นี่ก็เป็นตัวที่ทับชีวิตของเด็กลงไปอีก เพราะครอบครัวมีภาระหนี้สิน”

ดังนั้น หากกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็ก สามารถสรุปได้ดังนี้

  1. มรดกความยากจน – ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง และไม่มีพื้นที่ทำกินที่จะส่งต่อให้ลูกหลาน 
  2. Mindset ของครอบครัว – ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา, ขาดความกระตือรือร้นในการทำมาหากิน, ส่งต่อชุดความรู้ความยากจนสู่ลูกหลาน
  3. ปัญหาครอบครัว – ภาวะพึ่งพิง เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้, การใช้ความรุนแรงในครอบครัว, พ่อแม่แยกทาง ทอดทิ้ง และละเลยบุตร, เด็กตกอยู่ในหลุมดำทางความคิดว่าชีวิตไม่สามารถเปลี่ยนได้
  4. ปัญหาของเด็ก – ความเจ็บป่วยและพิการ, ความสามารถและความพร้อมในการเรียนรู้จำกัด, การติดยาเสพติด, ภาวะเด็กหลังห้อง 
  5. การเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐาน – ด้านสาธารณูปโภค, ด้านสิทธิการรักษาพยาบาล, ด้านสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง
  6. ปัญหาการเรียนและการวัดประเมินผล – เรียนไม่จบหลักสูตร, ติด 0 ติด ร, ไม่มีสิทธิ์สอบ, ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม

“เด็กแสนกว่าคนที่หลุดจากระบบการศึกษา ถ้าเราไม่รีบดึงกลับ หรือไม่ช่วยเหลือ เขาจะหลุดถาวร และถ้าคุณดึงเขากลับต้องมีมาตรการรองรับ เช่น มีครูคอยเยี่ยม ติดตาม มอนิเตอร์ คอยให้ข้อมูล กระตุ้น ให้กําลังใจ หาทุนการศึกษาให้ หรือหางานให้เขาทําระหว่างเรียน 

เราลงไปในหลายพื้นที่นะ อบต. เขาก็รู้ปัญหาว่าพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ไม่มีงานทํา เขาก็จ้างมาตักกับข้าวอาหารกลางวัน ช่วยทํานู่นทํานี่วันละร้อยบาทสองร้อยบาท มันพออยู่ได้ ถ้าเราไม่ช่วยคนกลุ่มนี้ เขาดึงลูกเขาออกแน่นอน เพราะว่ามันมีค่าใช้จ่ายทุกวัน แต่เขารายได้เขาไม่แน่นอน จึงต้องปฏิรูปให้ได้จริง ช่วยได้จริง”

สำหรับทางออกที่อาจารย์สมพงษ์เสนอว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง คือ

  1. แก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มาตรการส่งเสริมให้พ่อแม่มีงานทำ มีรายได้
  2. เรียนฟรีต้องฟรีจริง ลดช่องว่างนโยบายเรียนฟรี การเข้าถึงสวัสดิการ สวัสติการต้องครอบคลุมทุกช่วงชั้นและทุกรูปแบบการศึกษา
  3. การศึกษาที่มีหลายลู่หลายระบบ/ออกแบบเป็นรายบุคคล (ขั้นพื้นฐาน, อาชีวะ, ทางเลือก)
  4. หลักสูตรการเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับผู้เรียนมากขึ้น
  5. แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาในเมืองและชนบท

ถอดบทเรียนจากโครงการช่วยเหลือทางการศึกษา

นอกเหนือจากการวิเคราะห์ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาทั่วประเทศโดยรวมแล้ว อาจารย์สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน ได้วิเคราะห์ลงลึกไปยังกลุ่มเด็กที่อยู่ในโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา โดยอ้างอิงจากผลการวิจัยเมื่อปี 2565 ที่ทีมของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เข้าไปถอดบทเรียน เพื่อชวนดูว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหา และหาทางออกว่าจะไปต่ออย่างไร

“ที่ผ่านมาเราเห็นแต่สาเหตุแต่ยังไม่มีคำตอบเลยว่าเราจะไปต่ออย่างไร เราอาจจะเห็นข่าวที่เด็กอยู่ในภาวะวิกฤตที่ขาดแคลนรายได้ และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร 

แต่ก่อนอื่นต้องทําความเข้าใจว่า  เรานิยามเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษานั้นว่า เป็นกลุ่มที่กําลังอยู่ในระบบการศึกษา มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ และก็มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา 

อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่หลุดออกไปแล้วยังไม่ถึงปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เรากําลังจะให้ความช่วยเหลือ และกําลังเริ่มต้นดําเนินงาน  มีทั้งหมดห้าพื้นที่คือ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี พิษณุโลก ขอนแก่น และยะลา เราทดลองเป็นพื้นที่นําร่อง ที่ทางศูนย์วิกฤตได้ดําเนินการให้ทุนไป รวมเบ็ดเสร็จทั้งหมดตอนนี้มีน้องที่อยู่ในความช่วยเหลือดูแลของศูนย์ 858 คน

น้องๆ ในโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของเด็กประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งกลุ่มที่มากที่สุดคือประถมศึกษา น่าแปลกใจมากว่ากลุ่มนี้ ก็เป็นกลุ่มที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติการศึกษา จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทําไมเขาถึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสในการเสี่ยงหลุดออกมาจากระบบการศึกษา

โดยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยคือ มีปัญหาเรื่องของค่าเดินทาง ซึ่งบางเคสก็ไม่สามารถเดินทางมาโรงเรียนเองโดยการเดินเท้าได้ และบางเคสที่อยู่กับคุณตาคุณยายที่รับเบี้ยผู้พิการ เบี้ยผู้สูงอายุ ก็จะมีเงินมาพอจุนเจือทางด้านนี้ แต่ปัญหาคือพอเขาจ่ายตรงนั้น เขาก็จะไม่มีเงินกินข้าว

อีกทั้งยังมีค่าดูแลสุขภาพ เช่น บางเคสมีปัญหาเรื่องสุขภาพ พิการตั้งแต่กำเนิด หรือมีภาวะมะเร็งเม็ดเลือดขาว เขาก็ต้องเอารายได้ของครอบครัวไปจุนเจอรักษาตัวเองก่อน เพราะชีวิตสำคัญกว่า ซึ่งพอมีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ ครอบครัวของเด็กก็จะคิดว่า จะไปเอาเวลาไหนที่จะไป ยุ่งกับเรื่องการศึกษา ในเมื่อเรื่องปากท้องยังดูแลไม่ได้”

ครอบครัวและเศรษฐกิจ วิกฤตที่ต้องก้าวข้าม

สาเหตุของการเกิดความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาพบว่า 3 ใน 4 ของเด็กที่อยู่ในโครงการ เจอปัญหาหรือว่ามีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าหนึ่งสาเหตุในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจารย์สุรศักดิ์ชี้ว่า สาเหตุ 2 ประการ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันนั่นคือ สาเหตุจาก ‘ครอบครัว’ และ ‘เศรษฐกิจ’ 

จากข้อมูลของโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา  เด็กในภาวะวิกฤตส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับญาติหรือครอบครัวแหว่งกลาง (ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง) บางส่วนอาศัยเพียงลำพัง หรือเลี้ยงดูโดยผู้อื่น รวมแล้ว 585 คน (ประมาณร้อยละ 70 ของเด็กทั้งหมดในโครงการ) ซึ่งข้อมูลนี้ก็สะท้อนถึงปัญหาครอบครัวในสังคมไทยที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก

ส่วนในด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ครอบครัวผู้รับทุนโดยฉลี่ยแล้วพบว่า มีรายได้หลักร้อยแต่หนี้สินหลักหมื่น เพราะรายได้ของครัวเรือนอยู่ที่ 900 บาท/เดือน/คน ในขณะที่หนี้สินอยู่ที่ 40,000 บาท/ครัวเรือน หรือคิดเป็นหนี้สินสูงกว่ารายได้ ประมาณ 45%

“แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความยากจนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังเกี่ยวข้องกับ mindset ของครอบครัว เนื่องจากมีครอบครัวที่อยากปรับความคิดเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนน้อยมาก ส่วนใหญ่มองว่าไม่สามารถจะหลุดจากสภาพที่เป็นอยู่ได้ จึงกลายเป็นมรดกความยากจนที่ยากที่จะแก้ไข ดังนั้นสองปัญหานี้ก็ถูกผสมผสานกันกลายเป็นสาเหตุหลักที่จะทําให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา

เมื่อเด็กตกอยู่ภายใต้วิกฤตในการศึกษา ทุนของเราที่ให้ไป เป็นเพียงแค่ลูกโป่งที่ช่วยพยุงเท่านั้น แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะปัญหามันยังไม่ถูกแก้ 

จากการทดลองโมเดลที่พิษณุโลกได้ผลมาว่า การส่งเสริมอาชีพของผู้ปกครองต่างหาก ที่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทำให้ครอบครัวเขามีรายได้ 

แต่โมเดลนี้ก็พบปัญหาอีกขยักหนึ่งคือ เรื่อง mindset ของผู้ปกครอง นี่เป็นอุปสรรคใหญ่เลย เพราะบางครอบครัวเคยชินกับการได้รับ จนไม่พยายามจะขวนขวายตนเองเพื่อจะหลุดพ้นจากความยากจนนั้น นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่เราน่าจะต้องลงไปวินิจฉัยก่อนว่าครอบครัวนั้นๆ พร้อมจะออกจากความยากจนไหม และต้องทางออกให้เขา

ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่มิติทางการศึกษา แต่เราต้องลงไปช่วยดูแลครบทุกมิติ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าทุนไม่ได้ช่วยเหลือเพียงแค่ด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ช่วยไปทําให้เขาพร้อมที่จะเข้าสู่การศึกษาได้ด้วย โดยการทําให้เขาพร้อม เพื่อตัดปัญหาเด็กหลุดจากการศึกษาซ้ําๆ”  อาจารย์สุรศักดิ์ กล่าว

โดยสรุปแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาคือ การที่ผู้ปกครองมีความสามารถในการอุปการะด้านการศึกษาลดลง อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและฐานะของครอบครัว ซึ่งนอกเหนือจากการมอบทุนการศึกษาแล้ว ภาครัฐควรจะส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้ต่ำ เพื่อที่จะมีรายได้จุนเจือครอบครัว และมีความสามารถในการอุปการะด้านการศึกษาแก่บุตรหลาน 

รวมทั้งผลักดันในการสร้างเส้นทางการศึกษาใหม่ๆ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากที่การศึกษามีเพียงแค่เส้นเดียวตามระบบนั้น ทำให้เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วหลุดออกไปเลย ไม่สามารถที่จะกลับเข้ามาเรียนตามระบบได้ หรือมีความยากลำบากที่จะกลับเข้ามาสู่ระบบ

รัฐจึงต้องสร้างโอกาสให้เด็กที่อยู่นอกระบบกลับเข้ามาในระบบให้ได้ โดยมีระบบป้องกันให้เด็กไม่หลุดซ้ํา เพื่อที่จะลดปริมาณเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาลง และทำให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษากันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเช่นไรก็ตาม

Tags:

นโยบายเศรษฐกิจความยากจนเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาพ่อแม่ปฐมวัยการศึกษาผู้ปกครอง

Author:

illustrator

กนกพิชญ์ อุ่นคง

A girl who aspires to live like a yacht floating on the ocean, a dandelion fluttering over the heather, a champagne bursting in party.

Related Posts

  • Early childhoodFamily Psychology
    เติบโตไปด้วยกัน Alpha Generation EP.5 ‘ตัวตนภายในที่แข็งแรง ภายนอกจึงไม่เปราะบาง’

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Unique TeacherSocial Issue
    การศึกษาไม่ควรมีคำว่า ‘ชายขอบ’ พัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายแดนด้วย ICAP: ครูมื่อ-ประทิม สายชลคีรี 

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • Social Issue
    ‘ความผิดหวังต่อระบบการศึกษา’ ฝันร้ายในวิกฤตเด็กนอกระบบ

    เรื่อง The Potential

  • Space
    เปลี่ยนสนามเด็กเล่นที่ไม่น่าเล่นและไม่ปลอดภัย มาเป็นผู้ช่วยให้เด็กพัฒนาสมวัย

    เรื่องและภาพ ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Early childhoodCharacter building
    อนุบาลบ้านรัก : ตื่นเช้าไป ‘บ้าน’ ไม่ใช่โรงเรียน

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

การทำร้ายร่างกายตัวเอง (self-injury) ที่ไม่ใช่แค่การกดดัน ตำหนิตัวเอง
How to enjoy life
19 July 2023

การทำร้ายร่างกายตัวเอง (self-injury) ที่ไม่ใช่แค่การกดดัน ตำหนิตัวเอง

เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การทำร้ายร่างกายตัวเอง ปัญหานี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการทางจิตเวชเสมอไป
  • การทำร้ายร่างกายตัวเองคือสัญญาณว่าคนๆ นั้นกำลังต้องการความช่วยเหลือ เขาอาจไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ที่ท่วมท้น ไม่รู้ว่าจะระบายกับใครดีก็เลยเลือกเอาความอัดอั้นนั้นมาระบายกับตัวเอง
  • ถ้าคนรอบข้างทำร้ายตัวเอง เราควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาด้วยการรับฟัง ไม่สอนหรือบอกข้อคิดคุณธรรม พยายามทำความเข้าใจ และไม่ตัดสิน ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมายสำหรับเรา ดีไม่ดีเราอาจจะเข้าใจสาเหตุที่เขาทำแบบนั้นเองผ่านบทสนทนาก็ได้

[*บทความนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตัวเอง ทั้งนี้ไม่ได้มีเจตนาส่งเสริมหรือยกย่องการฆ่าตัวตายและการทำร้ายตนเอง โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน]

การทำร้ายร่างกายตัวเอง (self-injury) เป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นกับทุกคน โดยไม่จำเป็นต้องมีอาการทางจิตเวชเสมอไป หมายความว่าคนทั่วไปก็อาจคิดอยากจะทำร้ายตัวเองได้เหมือนกัน ปัญหานี้อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด บางทีเราอาจนึกภาพว่าคนที่ทำร้ายร่างกายตัวเองจะต้องเป็นคนที่ดูเจ็บปวดรวดร้าว สภาพดูไม่ได้ มีบาดแผลเหวอะหวะ เอาเข้าจริงก็มีส่วนหนึ่งที่เป็นแบบนั้น แต่อีกกลุ่มหนึ่งก็คือคนทั่วไปที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ออกไปสังสรรค์ คุยเล่นกับเพื่อนเหมือนพวกเราทุกคนนี่แหละ อย่านึกว่าคนที่ยิ้มเก่งจะเศร้าดำดิ่งไม่เป็น 

การทำร้ายตัวเองในที่นี้ไม่ใช่การดุว่า ใจร้าย หรือกดดันตัวเอง แต่คือการทำร้าย ‘ร่างกาย’ ตัวเองจริงๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ตั้งใจทำให้ตัวเองบาดเจ็บเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง โดยไม่ได้ตั้งใจให้ถึงขั้นเสียชีวิต พฤติกรรมยอดฮิตที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยก็เช่น การกรีดข้อมือ กรีดแขน ที่อาจเห็นบ้างก็อย่างเช่น การทุบตี การหยิก การดึงผม การแกะเกาจนเป็นแผล หรือการเผาผิวหนัง 

บางคนอาจมองว่าการทำร้ายตัวเองเป็นการกระทำที่ไม่ดี ไม่รักตัวเองเลย แต่อย่าลืมว่า ปัญหาเดียวกัน ต่างคนก็มีมุมมองและความรู้สึกต่อปัญหาต่างกัน บ้างอาจมองว่ามันเล็กน้อย บ้างก็อาจรู้สึกว่าใหญ่เกินจะรับไหว เรื่องแบบนี้ไม่มีคำว่าดีไม่ดี เพราะว่าการทำร้ายตัวเองคือหนึ่งในวิธีรับมือกับปัญหา ถ้าเริ่มด้วยมุมมองแบบนี้เราจะไม่ตีตราคนที่ทำร้ายตัวเอง 

หลายคนที่ผมเคยคุยด้วยมีมุมมองว่า การทำร้ายตัวเองคือการเรียกร้องความสนใจ ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าบางกรณีก็เป็นแบบนั้นจริง แต่หลายกรณีก็ไม่ใช่แบบนั้น เอาเข้าจริงไม่ว่าเขาจะเรียกร้องความสนใจหรือไม่ก็ไม่ได้สำคัญเท่าการมองว่า การทำร้ายร่างกายตัวเองคือสัญญาณว่าเขากำลังต้องการความช่วยเหลือ เขาอาจไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับอารมณ์ที่ท่วมท้น ไม่รู้ว่าเขาจะระบายกับใครดีก็เลยเลือกที่จะเอาความอัดอั้นนั้นมาระบายกับตัวเอง

บางทีผมก็รู้สึกว่า มันอาจเป็นวิธีการรักตัวเองแบบหนึ่งก็ได้ คือ ปัญหาที่เขาเจอมันหนักสำหรับเขามากเลยนะ เขารับมันไม่ไหว แต่เขาอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปนะ แล้วนั่นก็เป็นเพียงวิธีเดียวที่เขาอาจจะคิดออกในเวลานั้น 

การทำร้ายตัวเองไม่ได้หมายความว่าจะฆ่าตัวตายเสมอไป แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเมินเฉยคิดว่ามันไม่ใช่การฆ่าตัวตายเลยซะทีเดียว เพราะหลายการทำร้ายตัวเองก็อาจนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้เช่นเดียวกันหากถูกเพิกเฉย 

ทำไมถึงทำร้ายตัวเอง 

การทำร้ายตัวเองเกิดได้จากหลายสาเหตุ ความเป็นไปได้แรกคือ คนที่ทำร้ายตัวเองเกิดจากความรู้สึกแย่ในตัวเองที่มากจนไม่สามารถจัดการได้ ไม่รู้จะคิดบวกอย่างไร ไม่รู้จะปรึกษาใคร จึงใช้การทำร้ายตัวเองเป็นวิธีระบายความรู้สึกที่ท้วมท้น 

ความเป็นไปได้ที่สองคือ ทำร้ายตัวเองเพราะรู้สึกอยากลงโทษตัวเอง อาจเป็นความรู้สึกโกรธ หรือเกลียดตัวเองมากๆ จนรู้สึกว่า ‘มันก็สมควรแล้วที่ฉันจะทำร้ายตัวเอง เพราะตัวฉันมันแย่’ เขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ

ความเป็นไปได้ต่อมาคือ ความรู้สึกว่างเปล่าหรือรู้สึกเหมือนหลุดออกจากโลกความเป็นจริง มันเป็นความรู้สึกที่ไม่ได้รู้สึกอะไร คล้ายชินชาแต่ไม่ใช่ชินชาซะทีเดียว หลายคนที่ผมคุยด้วย จะพูดทำนองว่า ‘ถ้าให้รู้สึกเจ็บปวดยังดีกว่าต้องรู้สึกว่างเปล่าแบบนี้ มันเป็นความรู้สึกที่เคว้งคว้างมาก’

อีกหนึ่งความเป็นไปได้ที่ผมคิดไม่ถึงหลังอ่านบทความคือ การทำร้ายร่างกายเพื่อพยายามหยุดความรู้สึกหรือการพยายามฆ่าตัวตาย อาจพูดได้ว่าเขารู้สึกเจ็บปวดมากจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยการได้ทำร้ายตัวเองก็ช่วยทำให้อารมณ์เย็นลง

บางกรณีก็ใช้การทำร้ายร่างกายเพื่อให้ตัวเองได้รับความสนใจ หรือต่อรองสิ่งที่ต้องการจากคนอื่น หรือใช้เพื่อควบคุมบงการคนอื่นให้เป็นไปในแบบที่ตัวเองต้องการ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ได้ 

การทำร้ายร่างกายตัวเองเป็นวิธีการใช้รับมือกับปัญหาที่น่าเป็นห่วง เพราะยิ่งทำร้ายร่างกายบ่อยก็ยิ่งมีโอกาสที่จะใช้วิธีการแบบเดิมเวลาเครียด เหมือนคนที่คุ้นชินกับการตื่นนอนเวลา 08.00 ทุกครั้งที่ถึงเวลาก็จะตื่นนอน

วิธีรับมือกับการทำร้ายร่างกาย

อย่างแรก คุณอาจรู้สึกผิดที่ทำร้ายร่างกายตัวเอง แต่อยากให้กำลังใจว่า มนุษย์ทุกคนพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ดีที่สุดเท่าที่ตอนนั้นจะทำได้แล้ว ตอนนั้นอาจเป็นทางเลือกเดียวที่คุณมีเพื่อจัดการกับความรู้สึกแย่ ให้เวลากับความรู้สึกนี้ได้ แต่ไม่ต้องจมกับความรู้สึกผิดนานเกินไป ให้อภัยแล้วค่อยๆ เริ่มใหม่กับตัวเอง 

สอง หาพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง 

หาคนรอบข้างที่คอยช่วยเหลือ ให้กำลังใจ จากการศึกษาพบว่า คนที่มีคนรอบข้างสนับสนุนจิตใจมีแนวโน้มที่จะหยุดใช้วิธีการรับมือปัญหาด้วยการทำร้ายตัวเอง คนนั้นอาจเป็นเพื่อน แฟน ครอบครัว หรือถ้าไม่มีจริงๆ อาจขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา 

อาจฟังดูแปลก แต่สำหรับบางคน แหล่งพักพิงจิตใจของเขาไม่ใช่มนุษย์ แต่เป็นสัตว์เลี้ยง การ์ตูน ดาราก็อาจเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีที่ช่วยเยียวยาจิตใจได้เหมือนกัน 

สาม มองหาข้อดีหรือคุณค่าของตัวเอง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินไป ผมมองว่าการเห็นข้อดีหรือคุณค่าของตัวเองมี 2 ระดับ อย่างแรก ‘มอง’ หาข้อดีหรือคุณค่าตัวเองให้เจอ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องยิ่งใหญ่อย่างสอบได้ที่ 1 แต่อาจเป็นเรื่องทั่วไปอย่างเป็นคนที่นึกถึงความรู้สึกของคนรอบข้างก็ได้ 

ถ้าได้ระดับแรกแล้วให้ก้าวข้ามจาก ‘มองเห็น’ เป็นพยายาม ‘รู้สึก’ ขอบคุณข้อดีตัวเอง หรือสิ่งยากในชีวิตที่ผ่านมาได้ บางทีเราก็ใช้ชีวิตจนลืมทบทวนไปว่ากว่าจะเป็นเราในทุกวันนี้มันไม่ได้ง่าย กว่าจะผ่านสิ่งต่างๆ ในชีวิตมามันก็เก่งใช่เล่นเลย สักพักความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าน่าจะค่อยๆ พัฒนาขึ้น  ผมว่าไม่ง่ายสักเท่าไหร่ ผมเองก็ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็เป็นแบบฝึกหัดที่สนุกดีเหมือนกันนะ

เวลาผมพูดให้คนรอบข้างฟังว่าช่วงนี้เจอคนที่ทำร้ายร่างกายตัวเองเยอะขึ้น คนรอบข้างก็จะตอบคล้ายกันทำนองว่า โห แล้วทำยังไงเนี่ย ถ้าเป็นเขาคงไม่รู้จะทำยังไงเลย ผมว่านี่เป็นปัญหาคลาสสิก เมื่อเราไม่มีความรู้เราก็จะวิตกกังวล แนวทางด้านล่างน่าจะช่วยให้รับมือได้ดีขึ้น

ทำอย่างไรถ้าเห็นคนรอบข้างทำร้ายตัวเอง 

อย่างแรก คนที่ทำร้ายตัวเองจำนวนมากไม่ค่อยบอกใคร เราอาจต้องสังเกตรอยที่ข้อมือ หรือแขน ซึ่งเป็นจุดที่คนทำร้ายตัวเองมากที่สุด บางกรณีอาจสังเกตการใส่เสื้อกันหนาวที่ผิดจากสภาพอากาศ ทั้งที่อากาศร้อน แต่กลับใส่เสื้อกันหนาว ผมชอบแซวทำนองว่า ‘เอ้ย วันนี้อากาศไม่ร้อน ทำไมถึงใส่เสื้อกันหนาวล่ะ’ 

สอง การจัดการความรู้สึกตัวเอง สูดลมหายใจเข้าลึกๆ พยายามทำตัวเองให้นิ่ง ไม่แสดงความรู้สึกตกใจ หรือทำให้คนที่ทำร้ายตัวเองรู้สึกว่าตัวเองผิดปกติหรือโดนเป็นห่วงมากเกินไป เขาก็จะไม่กล้าพูด แล้วอย่าลืมประเมินตัวเองว่าเรารับมือไหวแค่ไหนถ้าจะต้องฟังเรื่องการทำร้ายตัวเอง ถ้าไม่ไหวก็ให้ไปบอกคนรอบข้างที่น่าจะรับฟังเขาได้แทน 

สาม เข้าไปคุยกับเขาด้วยท่าทีที่สงบ อาจเริ่มถามเขาจากคำถามกว้างๆ อย่าง ‘เห็นแขนมีรอย เกิดอะไรขึ้นหรือป่าว’ อย่าเพิ่งรีบถามถึงสาเหตุที่ทำร้ายตัวเองเพราะจะทำให้เขารู้สึกกดดัน ให้พยายามสร้างตัวเองเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เขาด้วยการรับฟัง ไม่สอนหรือบอกข้อคิดคุณธรรม พยายามทำความเข้าใจเขาให้ได้มากที่สุด และไม่ตัดสิน ทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความหมายสำหรับเรา รู้สึกว่ามีใครบางคนเห็นที่คุณค่าในตัวเขา ให้เขาได้ระบายทุกอย่างออกมาก่อน ดีไม่ดีเราอาจจะเข้าใจสาเหตุที่เขาทำแบบนั้นเองผ่านบทสนทนาก็ได้ 

ห้า พยายามอย่าให้เขาอยู่คนเดียว หาคนรอบข้างที่จะอยู่ข้างเขา เวลาที่เขาทำร้ายตัวเองมักจะเป็นช่วงที่เขาจะยั้งตัวเองได้ยาก การมีคนรอบข้างที่ปลอดภัยจะช่วยทำให้เขามีสติมากขึ้น  

อย่างที่เกริ่นไป การทำร้ายร่างกายตัวเองเป็นปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด การมีความเข้าใจเรื่องนี้จะช่วยให้เราเข้าใจคนที่ทำร้ายร่างกายตัวเองมากขึ้น เราจะไม่ตัดสิน ไม่ต่อว่า ไม่มองว่าคนเขาอ่อนแอ คนที่ทำร้ายตัวเองก็จะกล้าเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองมากขึ้น เราได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กันและกัน ไม่รู้สิ ผมว่าของขวัญที่ดีที่สุดเท่าที่มนุษย์คนหนึ่งจะมอบให้กันได้ก็คือ ความเข้าอกเข้าใจกันและกัน 

คุณคิดว่ายังไงบ้าง ? 

อ้างอิง

Cipriano, A., Cella, S., & Cotrufo, P. (2017). Nonsuicidal self-injury: A systematic review. Frontiers in psychology, 8, 1946.

Klonsky, E. D., & Muehlenkamp, J. J. (2007). Self‐injury: A research review for the practitioner. Journal of clinical psychology, 63(11), 1045-1056.

Mummé, T. A., Mildred, H., & Knight, T. (2017). How do people stop non-suicidal self-injury? A systematic review. Archives of suicide research, 21(3), 470-489.

Park, Y., Mahdy, J. C., & Ammerman, B. A. (2021). How others respond to non‐suicidal self‐injury disclosure: A systematic review. Journal of Community & Applied Social Psychology, 31(1), 107-119.

Tags:

การทำร้ายร่างกายตัวเอง (self-injury)วิธีรับมือกับปัญหาการไม่ตัดสินการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)จิตวิทยาการจัดการอารมณ์พื้นที่ปลอดภัยการให้อภัยตัวเอง

Author:

illustrator

ชัค ชัชพงศ์

นักจิตวิทยาที่เขียนบทความเพื่อช่วยให้คนเข้าใจตัวเองและคนรอบข้าง FB: Chuck Chatpong

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • How to enjoy life
    ‘รักตัวเอง’ สุขจริงหรือแค่ปลอบใจ แล้วแค่ไหนถึงกลายเป็นหลงตัวเอง

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Relationship
    มองโลกในแง่ดีเกินไป (Toxic Positivity) : ในวันที่เราต่างมีช่วงเวลาแย่ แต่ต้องกดมันไว้ว่า ‘ไม่เป็นไร’

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to enjoy lifeAdolescent Brain
    11 ชุดคำถาม ชวนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปคุยกับอดีตเพื่อรู้จักและเข้าใจตัวเอง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • EF (executive function)
    ไม่พอใจก็แค่ใส่หูฟังแล้วเปิดเพลงดังๆ ‘การจัดการอารมณ์’ ที่ท้าทายแต่ทำได้ในวัยรุ่น

    เรื่อง

  • Life classroom
    SELF-COMPASSION: ไม่ต้องใจร้ายกับตัวเองมากนักก็ได้วัยรุ่น

    เรื่อง ชลิตา สุนันทาภรณ์

วิชาตาลโตนด: ห้องเรียนเสียดฟ้าของ ‘อำนาจ ภู่เงิน’ ภูมิปัญญาหอมหวานที่รอคนสานต่อ
Everyone can be an EducatorSpace
17 July 2023

วิชาตาลโตนด: ห้องเรียนเสียดฟ้าของ ‘อำนาจ ภู่เงิน’ ภูมิปัญญาหอมหวานที่รอคนสานต่อ

เรื่อง ปริสุทธิ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • จากภูมิปัญญาที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ สู่การเป็นสวนตาลลุงถนอม การเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจึงค่อยๆ ปรับมาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับตาลโตนด เพราะภูมิปัญญานี้เสี่ยงที่จะสูญหายถ้ายังไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อ จึงเริ่มเปิดให้คนภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้
  • เปิดวิชานอกห้องเรียน ของ อำนาจ ภู่เงิน ผู้สืบทอดภูมิปัญญาตาลโตนด ให้ความรู้ตั้งแต่การเพาะขยายพันธุ์ การเก็บผลผลิต การแปรรูป รวมถึงการทดลองเก็บผลผลิต ทุกคนจะได้หัดบีบหัดนวดงวงตาล ส่วนการแปรรูปก็จะได้ช่วยกันเคี่ยวตาล และทำน้ำตาลสด
  • “เด็กทุกคนชอบนะ กว่าจะมาเป็นน้ำตาลสักหยดหนึ่งมันยาก เขาเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าของอาชีพนี้ก็เยอะ ได้ผลตอบรับที่ดีพอสมควร”

ห้องเรียนแห่งนี้ไม่มีประตูหน้าต่าง มีแต่ต้นตาลสูงเสียดฟ้า และเจ้าของรายวิชาที่ชื่อ อำนาจ ภู่เงิน 

ย้อนหลังไปเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้ว สวนตาลลุงถนอม จังหวัดเพชรบุรี เริ่มต้นด้วยความหวังที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากบนพื้นที่เพาะปลูกซึ่งทำให้ปลูกอะไรก็ตายหมด ลุงถนอม พ่อของ อำนาจ ภู่เงิน จึงทดลองปลูกต้นตาล 450 ต้น เพราะมองว่าเป็นไม้ทนทุกสภาวะและสารพัดประโยชน์ โดยมีหัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนจากการใช้สารเคมีมาเป็นวิถีธรรมชาติ และสานต่อภูมิปัญญาดั้งเดิม

ถึงวันนี้แม้ลุงถนอมจะเสียชีวิตแล้ว แต่ลูกชายยังคงสืบทอดภูมิปัญญาตาลโตนด ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกไปจนถึงแปรรูปเป็นน้ำตาลเมืองเพชร ความหวานอันทรงคุณค่าและเป็นเอกลัษณ์ทางภูมิศาสตร์ แต่ที่มากกว่านั้นคือการเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้คนรุ่นลูกหลานสนุกกับวิชานอกห้องเรียน ทั้งประวัติศาสตร์ การเกษตร สังคม คหกรรม โดยมีผลพลอยได้คือความภาคภูมิใจในท้องถิ่น ในภูมิหลังและในตัวเอง  

อำนาจ ภู่เงิน ผู้สืบทอดภูมิปัญญาตาลโตนด สวนตาลลุงถนอม จังหวัดเพชรบุรี

สำหรับโรงเรียนหรือครอบครัวที่อยากมาเรียนรู้ที่นี่ แนะนำให้ติดต่อนัดหมายและแจ้งวัตถุประสงค์มาก่อน เพื่อทางแหล่งเรียนรู้จะได้จัดกิจกรรมที่เหมาะสมกับวัยและความต้องการของผู้เข้าร่วม

โดยเมื่อมาถึงสวนตาลลุงถนอม วิชาแรกที่ทุกคนจะได้เรียนคือ ‘ประวัติศาสตร์ต้นตาล’ อำนาจเล่าว่า เดิมทีต้นตาลเป็นต้นไม้ที่ขึ้นตามหัวไร่ปลายนา ขึ้นบนที่ใครก็ถือกรรมสิทธิ์และใช้ประโยชน์จากตาลต้นนั้น บางคนประกอบอาชีพปีนตาล ขายตาล สืบทอดกันมาจากต้นสู่ต้น

“หากย้อนไปสมัยรัชกาลที่ 4 สมัยนั้นขึ้นตาลกันเยอะมาก มีการขอภาษีน้ำตาลเตาละเล็กเตาละน้อย รวมน้ำตาลแล้วไปขาย เงินที่สร้างพระนครคีรีก็คือภาษีน้ำตาล เงินก็ยังไม่หมดไปช่วยขุดคลองดำเนินสะดวกได้อีกส่วนหนึ่ง เราอาจจะอนุมานได้ว่าสมัยนั้นทำนา ทำน้ำตาล เป็นสินค้าหลักที่ส่งออกของเพชรบุรี

ถ้าจะย้อนไปว่าทำไมเพชรบุรีจึงมีต้นตาลเยอะ เมืองเพชรเป็นเมืองที่น้ำท่วมทุกปี พอลูกตาลสุกมันหล่นตามท้องไร่ท้องนา น้ำท่วมก็พาลูกตาลไปแห้งตรงไหนก็ไปขึ้นตรงนั้น ปีหน้าท่วมอีกก็ไปอีก ต้นตาลเมืองเพชรถึงเยอะ และมีการใช้ประโยชน์กันเยอะมาก เช่น เมื่อก่อนเอามาทำเป็นสมุนไพรรักษาโรค เป็นอาหาร เป็นสินค้าส่งออก เป็นเกือบทุกอย่างของคนเพชรบุรี

เอามาเป็นอาหารก็คือเอามาทำแกง เอามาเป็นยาก็คือพวกงวงตาล รากตาล เอามารักษาน้ำตาลในเลือดสูง เป็นสินค้าส่งออกก็คือผลิตภัณฑ์ที่เราส่งออกต่างจังหวัด เพราะอาหาร ขนม ทุกอย่าง น้ำตาลคือวัตถุดิบหลัก”

ถึงน้ำตาลจะทำจากวัตถุดิบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น อ้อย และน้ำตาลจากต้นตาลของแหล่งอื่นๆ ทว่า ทายาทของลุงถนอมยืนยันว่าเอกลักษณ์ของน้ำตาลโตนดเมืองเพชรคือเรื่องรสชาติที่อร่อยกว่าที่อื่น เพราะแร่ธาตุในดินของเพชรบุรีอุดมสมบูรณ์มาก จึงมีผลต่อรสชาติของน้ำตาล ซึ่งแร่ธาตุเหล่านี้สะสมจากน้ำท่วมพัดพาเอาตะกอนดินจากป่ามาทับถม เป็นอย่างนี้มานานนับร้อยปี ผืนดินเมืองเพชรจึงอุดมสมบูรณ์กว่าที่อื่น ซึ่งจะเห็นได้จากพืชพรรณชนิดอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นมะม่วง, ชมพู่ หรืออื่นๆ 

จากภูมิปัญญาที่เกิดจากธรรมชาติสร้างสรรค์ สู่การเป็นสวนตาลลุงถนอมที่นำต้นตาลมาปลูกบนพื้นที่เดียวกัน การเลี้ยงปากเลี้ยงท้องจึงค่อยๆ ปรับมาสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาเกี่ยวกับตาลโตนด เพราะยิ่งทำ ลุงถนอมยิ่งเห็นว่าภูมิปัญญานี้เสี่ยงที่จะสูญหายถ้ายังไม่มีคนรุ่นใหม่มาสนใจสานต่อ ที่นี่จึงเริ่มเปิดให้คนภายนอกเข้ามาศึกษาเรียนรู้

ในช่วงที่ลุงถนอมยังมีชีวิต อำนาจก็ขึ้นตาลและเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของที่นี่แล้วเช่นกัน ประจวบเหมาะกับเริ่มมีหลักสูตรที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น หลายโรงเรียนเริ่มพานักเรียนเข้ามาทัศนศึกษาที่สวนตาลลุงถนอม

“แรกๆ ก็แค่พูดคุย เด็กๆ เขาถามว่าน้ำตาลออกมาจากตรงไหน เขาก็เห็นแค่ต้นตาล เราก็เลยต้องเอาของจริงลงมาทั้งช่อ มาทำให้ดูข้างล่าง ทีนี้พอบ่อยเข้า หน่วยงานของจังหวัดก็บอกว่าคุณอำนาจควรทำเป็นแหล่งเรียนรู้ เอาที่สำคัญๆ ว่าเพาะขยายพันธุ์อย่างไร เก็บผลผลิตอย่างไร แปรรูปอย่างไร เขาจะได้เห็นวงจรของตาลที่มันชัดเจน”

สำหรับวิชาตาลโตนดที่อำนาจเตรียมไว้ต้อนรับทุกคนที่มาเรียนรู้ เขาจะให้ข้อมูลตั้งแต่พื้นฐานเกี่ยวกับตาล ไปจนถึงแสดงศาสตร์ชั้นสูงนั่นคือการปีนตาล

“ลอนตาลที่เรากินทุกวันนี้เป็นลอนอ่อนมันก็คือเมล็ดพันธุ์ พอเมล็ดพันธุ์เหล่านี้มันแก่ก็จะสุกร่วงลงมา ส่วนมากเขาเอาไปแช่น้ำก่อนเพื่อให้เนื้อเหลืองๆ พวกนี้จะหลุดออกหมด พอแช่น้ำได้ที่ประมาณเดือนหนึ่งเขาก็เอามาวางบนพื้นดินที่ชุ่มชื้น ประมาณ 7 วัน ก็จะเริ่มงอก งอกลงไปในดินประมาณ 40 เซนติเมตร เพื่อไปตั้งต้นที่ใต้ดิน จากนั้นประมาณเดือนที่ 6 ที่ 7 เขาจะมีใบโผล่พ้นดินขึ้นมา แล้วใช้เวลาเติบโตประมาณ 15-20 ปี ก็เริ่มออกช่อออกผล

พอเริ่มออกช่อออกผลก็ถึงการเก็บผลผลิต โดยเฉพาะน้ำตาล ช่อดอกเหล่านี้เขาจะต้องทำให้มันช้ำ โดยการเอาไม้ไปบีบนวดให้มันช้ำ พอมันช้ำได้ที่ เอามีดไปเชือดมันก็หยด พอเริ่มหยดเราก็ต้องเชือดทุกวัน เช้าเย็น เปิดแผลใหม่ แล้วก็รอเก็บ พอเย็นขึ้นไปเชือดก็เอากระบอกไปสวม พรุ่งนี้เช้าเก็บก็เชือดอีก เอาน้ำพวกนี้มาเคี่ยว 

การเคี่ยวคือการแปรรูป ใช้ความร้อนต้มสกัดเอาน้ำออก ให้อยู่แต่ผลึกน้ำตาล พอเคี่ยวไปสัก 2 ชั่วโมง น้ำตาลจะเริ่มงวด ส่วนมากถ้าเป็นน้ำตาลข้น น้ำตาลปี๊บ ก็เคี่ยวจากน้ำตาลดิบ 6 ลิตร ให้เหลือ 1 ลิตร พอมันเหลือ 1 ลิตร ยกออกมาจากเตา ใช้ไม้กวนข้างนอกเตา การกวนคือการใช้ออกซิเจนเข้าไปเซ็ตเนื้อให้เขาแห้ง ถ้าเคี่ยวเสร็จแล้วไม่กวนซ้ำก็จะเหมือนน้ำผึ้งค้างปี

พอกวนไปประมาณ 10 กว่านาทีก็จะเริ่มแห้ง พอแห้งทั่วถึงกันทั้งหมดเราก็ตักไปใส่กระปุก ใส่พิมพ์ทำเป็นน้ำตาลปึกได้ พร้อมจำหน่ายได้เลย” อำนาจสรุปเนื้อหาอย่างย่อให้ฟัง

ด้วยความที่เป็นกระบวนการตั้งแต่เริ่มปลูก เก็บผลผลิต จนกระทั่งถึงการแปรรูป ต้องอาศัยทั้งความรู้และทักษะ ต้องมีทั้งแรงกาย แรงใจ และเวลา ปัจจุบันคนที่ยังทำน้ำตาลในลักษณะนี้จึงเหลือน้อยลงทุกที เพราะนอกจากจะใช้พลังงานเยอะยังมีความเสี่ยงเวลาขึ้นต้นตาล หลายคนจึงละทิ้งสวนตาลแล้วหันไปทำอาชีพอื่นที่ไม่ต้องเสี่ยง ไม่ต้องเหนื่อย ในขณะที่การทำน้ำตาลโตนดไม่มีทางลัดอื่นนอกจากใช้คนเพียงอย่างเดียว

“งานภาคพื้นดินไม่ใช่งานยาก แต่งานอยู่บนยอดในการบีบนวด การเอามีดไปเชือด คุณต้องมีปฏิภาณไหวพริบดีพอสมควร ทำไมบีบนวดเท่ากัน น้ำตาลที่ออกมาไม่เท่ากัน ฤดูนี้ทำไมน้ำตาลมันหยดเยอะ ฤดูนี้ทำไมมันหยดน้อย อาการต่างๆ ของงวงตาลที่เราบีบนวดไว้ มันจะเป็นตัวบ่งบอก สภาพอากาศจะเป็นตัวบ่งบอก ว่าที่มันน้อยเพราะอะไร ที่มันมากเพราะอะไร ที่มันไม่หยดเพราะอะไร เราคือคนวินิจฉัยมันทั้งหมด

นี่จึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ศาสตร์ก็คือการถ่ายทอดความรู้ในเชิงทฤษฎีว่านวดกี่วัน ทำอย่างไรบ้าง และศิลป์คือศิลปะ ทำไมที่เขาถ่ายทอดมากับที่เป็นจริงมันถึงต่างกัน เราต้องพินิจพิเคราะห์เป็น เราก็เหมือนคุณหมอ เห็นอาการแล้วจะวินิจฉัยอย่างไรให้ตรงกับโรค”

ถึงจะหาคนสานต่อได้ยากเต็มที แต่สำหรับอำนาจยังพอมีความหวังว่าภูมิปัญญาและวิชาตาลโตนดนี้จะไม่สูญหายไปแบบสูญพันธุ์ ทว่าจะเหลือคนทำน้อยไปเรื่อยๆ และพอถึงวันนั้นน้ำตาลโตนดจะกลายเป็นแรร์ไอเทม ที่ถึงจะมีเงินก็ซื้อไม่ได้ เพราะมีน้อยเหลือเกิน

เขายกตัวอย่างว่าปัจจุบันน้ำตาลโตนดแท้กลายเป็นของฝากที่มีมูลค่าทางใจมาก ยิ่งถ้าใครได้รู้ถึงเรื่องราวกว่าจะมาเป็นน้ำตาลเมืองเพชรยิ่งรู้สึกประทับใจ เพราะนี่คือน้ำตาลที่เกิดมาจากความอดทน ความตั้งใจ และกระบวนการที่ยากลำบาก

“ตอนนี้มีเด็กรุ่นใหม่มาสนใจอยู่บ้างแต่ก็น้อย อาชีพนี้คุณต้องใจรัก ถ้าใจคุณไม่มา อย่างอื่นจะล้มเหลวทั้งหมด แต่ถ้าใจมาส่วนมากคุณจะเลี้ยงตัวเองรอด

ภูมิปัญญาการทำน้ำตาลโตนดเป็นสิ่งที่ผมอยากให้ภาครัฐช่วยกระตุ้น ไม่ใช่กระตุ้นแค่เรื่องทฤษฎีว่าต้นตาลเป็นมาอย่างไร แต่ให้เด็กเขาฝึกบ้าง หัดให้เขาลำบากบ้าง ความลำบากนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เขาดำรงชีวิตอยู่รอด วันหนึ่งถ้าเขาไม่ได้นั่งโต๊ะทำงานขึ้นมา มันจะมีอะไรรองรับชีวิตเขาในการเลี้ยงตัวเองให้อยู่รอดในวันข้างหน้า แต่ก็ไม่ใช่ให้ทุกคนมาขึ้นตาล พยายามปลูกฝังให้เขาหันกลับมาดูสิ่งที่บรรพบุรุษทำไว้ให้ มันอาจจะเป็นอีกอย่างที่ช่วยเกื้อกูลเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เพราะปัจจุบันนี้คนที่ทำอาชีพนี้เขาเลี้ยงตัวเองอยู่รอดโดยที่ไม่ต้องไปเปิดตลาดให้วุ่นวาย คุณแค่ผลิตอย่างเดียว ตลาดไปได้สวย”

นอกจากการสอนแบบเจอหน้าค่าตา อำนาจเปิดเผยถึงการเก็บรวบรวมองค์ความรู้วิชาตาลโตนดไว้ในรูปแบบอื่นๆ ด้วยว่ากำลังเรียบเรียง นึกอะไรออกที่จำเป็นก็จะจดไว้ แล้วเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมเขาจะรวบรวมเป็นหลักสูตรวิชาหนึ่งเพื่อให้ไม่มีวันหายไป เพราะลำพังจะเก็บวิชาไว้กับตัวคนก็มีโอกาสที่จะหายไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง

สำหรับคนที่สนใจ สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานใดต้องการเข้ามาศึกษาเรียนรู้วิชาตาลโตนดจากคนทำตาลตัวจริง สวนตาลลุงถนอมพร้อมต้อนรับด้วยความรู้และประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากหน้าจอหรือตำราเรียน เพียงแต่ขอให้โทรมานัดหมายก่อน โดยทั่วไปจะให้ความรู้ตั้งแต่การเพาะขยายพันธุ์ การเก็บผลผลิต การแปรรูป รวมถึงการทดลองเก็บผลผลิต ทุกคนจะได้หัดบีบหัดนวดงวงตาล ส่วนการแปรรูปก็จะได้ช่วยกันเคี่ยวตาล และทำน้ำตาลสด

“ที่ผ่านมา เด็กทุกคนชอบนะ กว่าจะมาเป็นน้ำตาลสักหยดหนึ่งมันยาก เขาเกิดความรู้สึกเห็นคุณค่าของอาชีพนี้ก็เยอะ ได้ผลตอบรับที่ดีพอสมควร 

มีหลายครั้งที่เด็กๆ กลับไปบ้านแล้วไปพาครอบครัวมา เขาจำได้หมด บรรยายได้ตั้งแต่เพาะขยายพันธุ์ เก็บผลผลิต แปรรูป บอกได้ทุกอย่าง อันนี้มันน่าชื่นใจนะว่าสิ่งที่เราถ่ายทอดไป มันเริ่มจะไม่สูญเปล่า

สำหรับผู้ใหญ่ ถ้าใครกำลังมองหาอาชีพ หรือวันหนึ่งคุณจะต้องเกษียณตัวเองจากการจากงาน ก็ลองดูสิ่งเหล่านี้ไว้บ้าง วางพื้นฐานไว้ก่อน วันหน้ามันจะเป็นการเชื่อมต่อระหว่างการเกษียณจากงานและการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในวัยเกษียณ ก็จะช่วยทำให้เรามีชีวิตที่ดีพอสมควร ก็อยากฝากว่าลองหันกลับมาดูอาชีพนี้บ้าง”

(หมายเหตุ: ติดต่อสวนตาลลุงถนอม โทร 08 7800 7716)

Tags:

ภูมิปัญญาตาลโตนดสวนตาลลุงถนอมคหกรรมประวัติศาสตร์ความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteem)พื้นที่การเรียนรู้วิชานอกห้องเรียนเกษตร

Author:

illustrator

ปริสุทธิ์

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Everyone can be an Educator
    มากกว่ารักษ์ คือการเรียนรู้ที่เห็นคุณค่าตัวเองและมรดกภูมิปัญญา: โนรา Gen Z ‘ชาดา สังวรณ์’ 

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • Everyone can be an EducatorSocial Issues
    ‘Saturday School’ วิชานอกห้องเรียนที่ทำให้เด็กกล้าฝันและเป็นเจ้าของการเรียนรู้: ยีราฟ-สรวิศ ไพบูลย์รัตนากร

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Everyone can be an Educator
    เพจวิเคราะห์บอลจริงจัง: สนามความรู้ที่มากกว่าเกมกีฬา พื้นที่แสดงวิชาของ ‘วิศรุต สินพงศพร’

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ขึ้นควนไปศึกษาเส้นทางธรรมชาติบ้านตะเหมก จังหวัดตรัง ไขปริศนาลี้ลับ “ควนดินดำ” ที่มีมากว่า 200 ปี

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Creative learning
    ลูกปัดโบราณท่าชนะอายุกว่าพันปี “คุณค่า” ที่ถูกขุดและค้นพบอีกครั้งจาก “นักโบราณคดีรุ่นเยาว์”

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

What can you do about it: สารคดีคุณลุงออทิสซึมที่เมืองดูแลให้เขาได้ใช้ชีวิต
Movie
14 July 2023

What can you do about it: สารคดีคุณลุงออทิสซึมที่เมืองดูแลให้เขาได้ใช้ชีวิต

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • ‘What can you do about it’ คือสารคดีของประเทศญี่ปุ่นที่ติดตามชีวิตประจำวันของคุณลุง ‘มาโกโตะซัง’ ผู้มีอาการออทิสซึมอ่อนๆ แต่มีบุคลิกอันแหวกแนวและน่าสนใจ
  • คนที่มีอาการออทิสซึมและบกพร่องทางสติปัญญาในระดับเล็กน้อย หรือมีความบกพร่องทางพัฒนาการนั้นสามารถทำอะไรเองได้ ดูแลตัวเองได้ดี แค่อาจจะใช้เวลามากหน่อยในการทำความเข้าใจอะไรๆ เมื่อเทียบกับคนที่มีระดับสติปัญญาแบบปกติเท่านั้น
  • นอกจากเรื่องราวชีวิตของคุณลุงมาโกโตะแล้ว ยังทำให้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีสวัสดิการที่รองรับผู้คนในประเทศของเขาเพื่อช่วยให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ

‘What can you do about it’ เป็นสารคดีของประเทศญี่ปุ่นที่เราได้ดูในช่วงนี้แล้วรู้สึกเพลินใจจนอยากนำมาเขียนเล่าให้ทุกคนได้อ่าน สารคดีได้เล่าเรื่องราวของผู้กำกับคนหนึ่งที่ไปติดตามชีวิตประจำวันของคุณลุงผู้มีอาการออทิสซึมอ่อนๆ ซึ่งผู้กำกับได้ค้นพบบุคลิกอันแหวกแนวและน่าสนใจของคุณลุงจนต้องถ่ายวีดีโอเก็บเอาไว้ 

คุณลุง หรือ ‘มาโกโตะซัง’ อายุ 61 ปี ได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการออทิสซึมและบกพร่องทางสติปัญญาในระดับเล็กน้อย ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มผู้มีความบกพร่องทางพัฒนาการ หรือมีชื่อเรียกว่า Pervasive Developmental Disorder หรือ PDD

เราจะได้เห็นว่าส่วนใหญ่แล้วเขาสามารถทำอะไรเองได้ ดูแลตัวเองได้ดี แค่อาจจะใช้เวลามากหน่อยในการทำความเข้าใจอะไรๆ เมื่อเทียบกับคนที่มีระดับสติปัญญาแบบปกติเท่านั้นเอง

ในสารคดีเราจะได้เห็นมาโกโตะซังทำท่าทางอะไรซ้ำๆ  วางของที่เดิมย้ำไปย้ำมา มีครั้งนึงเราจะได้ดูเขาเดินออกจากบ้านไปนิดนึง แล้วย้อนกลับไปกลับมาดูหน้าบ้าน 7-8 รอบเพื่อเช็คความเรียบร้อย บางครั้งก็จะได้ดูฉากเขายืนบ้วนน้ำล้างปากในห้องครัวอยู่หลายนาที

ตัวผู้กำกับเองก็ได้รับการวินิจฉัยว่ามีสภาวะหนึ่งซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มบกพร่องทางปัญญา (Developmental Disability) อยู่ในกลุ่มคล้ายๆ กับที่ลุงของเขาเป็น

แต่อาการของเขาออกแนวสมองไฮเปอร์ (ADHD หรือ attention-deficit hyperactivity disorder) เขามักจะฝันกลางวันคิดถึงอย่างอื่นแม้จะรู้ว่ามีสิ่งที่ต้องทำกองอยู่ตรงหน้า เขามักจะเลื่อนสิ่งที่สำคัญไปแล้วมานั่งกังวลสงสัยว่าเขาป่วยหรือเขาแค่ขี้เกียจกันแน่

เขาตัดสินใจมาเยี่ยมมาโกโตะซังบ่อยๆ เพื่อเข้าใจมุมมองของคุณลุงที่มีต่อโลกใบนี้ และเพื่อทำความเข้าใจในสิ่งที่เขาเป็นไปด้วย 

ก่อนหน้าที่ผู้กำกับจะมาถ่ายทำชีวิตของมาโกโตะซังนั้น มาโกโตะซังอาศัยอยู่กับแม่ของเขาสองคนมาตลอดเป็นเวลา 40 ปี จนแม่มาเสียชีวิตไป เขาจึงต้องอาศัยอยู่ในบ้านคนเดียวตลอด 10 ปีให้หลัง

ปัจจุบันพี่สาวที่เป็นลูกพี่ลูกน้องได้รับหน้าที่เป็นผู้ปกครองให้มาโกโตะซัง นางจะคอยมาเยี่ยมและช่วยดูแลมาโกโตะอยู่บ่อยๆ แล้วพี่สาวคนนี้นี่แหละที่ช่วยทำให้ลุงมาโกโตะได้รับสวัสดิการและบำนาญสำหรับผู้มีทุพพลภาพซึ่งทำให้ลุงสามารถอยู่คนเดียวได้อย่างมีอิสระ

นอกจากนี้สารคดีก็ได้พาเราไปเอ็นจอยกับความสัมพันธ์ของชายสองคน (มาโกโตะซังและผู้กำกับ) ลุงกับหลานที่พากันไปเที่ยว ดูกีฬา ร้องคาราโอเกะ ชมดอกไม้ ไปงานเทศกาล พูดคุยเรื่องเกี่ยวกับเพศบ้าง เรื่องชีวิตบ้าง และเรายังได้พบสิ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ

เราจะได้เห็นว่าประเทศญี่ปุ่นมีสวัสดิการที่รองรับผู้คนในประเทศของเขาเพื่อช่วยให้พวกเขาได้มีชีวิตที่ดีขึ้นจริงๆ

อย่างคุณลุงที่มีอาการออทิสซึม ก็จะมีเงินเดือนให้ มีสวัสดิการรองรับให้เขาสามารถใช้ชีวิตเองได้โดยส่งคนมาซัพพอร์ตเขาอย่างสม่ำเสมอ เช่น กลุ่มอาสาสมัครช่วยรับฟังที่มาคอยคุยด้วยเดือนละ 2 ครั้ง คนช่วยพาไปช้อปปิ้งของกินของใช้เข้าบ้านเพื่อช่วยควบคุมรายจ่ายให้อยู่ในกำหนด คนทำความสะอาดบ้านที่มาช่วยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง และเจ้าหน้าที่ที่ปรึกษาที่มาคอยพูดคุยเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับสวัสดิการอย่างลึกซึ้งอีกทาง

ส่วนตัวแล้วเราชอบกลุ่มรับฟังที่สุด กลุ่มรับฟังนี้คือคุณป้าใจดีสองคนที่ดูผ่านการอบรบมาอย่างดี มีการให้คำแนะนำที่เหมือนเป็นญาติผู้ใหญ่มาแสดงความห่วงใยต่อลูกหลานของตัวเอง มีความเปิดกว้างและเข้าใจสภาวะที่มาโกโตะซังเป็นจริงๆ

หลายครั้งจะได้ยินมาโกโตะซังพูดติดปากว่า “แล้วเราจะทำอะไรได้ละเนอะ” (What can you do about it?) กับบางเหตุการณ์ที่ทำให้เขาไม่ได้มีอิสระอย่างแท้จริง การที่เขาเป็นบุคคลทุพพลภาพทำให้เขายังมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิต เขาไม่สามารถตัดสินใจอะไรเองได้ 100% ซึ่งอาจจะทำให้เขารู้สึกว่าเขาทำได้แค่เท่านี้ 

แต่เราก็รู้สึกว่าการที่มีสวัสดิการเข้ามาซัพพอร์ตมันช่วยผ่อนความเครียด และน่าจะผ่อนปัญหาใหญ่หลายอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้

อย่างตอนที่มาโกโตะซังโดนเพื่อนบ้านร้องเรียนว่าเขาทิ้งถุงพลาสติกหน้าบ้านหลายครั้งแล้ว ซึ่งในญี่ปุ่นกฎหมายการทิ้งขยะของเขาคงเข้มแข็งกว่าไทยมาก เพื่อนบ้านบอกว่าถ้าทำอีกจะแจ้งตำรวจแล้วนะ กลุ่มรับฟังก็ค่อยๆ ถามหาสาเหตุกับมาโกโตะซัง ลุงก็บอกสาเหตุว่าเขาชอบดูเวลาถุงปลิวลม เขาพูดว่า “เขารู้ว่าเขาไม่ควรทำแบบนี้ แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเขาถึงทำมันอยู่ดี เขาอาจจะบ้าก็ได้ถึงได้ทำมัน”

กลุ่มรับฟังก็บอกว่า

“มันไม่เกี่ยวหรอกว่ามาโกโตะซังบ้ารึเปล่า ประเด็นมันเกี่ยวกับการควบคุมตัวเอง ซึ่งมาโกโตะซังรู้อยู่แล้วว่ามันผิด” 

คนที่มีอาการนี้ส่วนใหญ่จะชอบจดจ่อกับบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งในกรณีของลุงมาโกโตะคือการมองถุงพลาสติกปลิวพลิ้วไหวไปกับลม ทุกคนจึงพยายามช่วยกันคิดหาทางออกว่าจะทำยังไงให้ลุงไม่ทำอย่างนั้นอีก เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

สุดท้ายลุงมาโกโตะก็เสนอว่าจะเขียนป้ายติดไว้หน้าประตูเพื่อเตือนตัวเองไม่ให้ทำอีก กลุ่มรับฟังก็ชื่นชมว่า

“มาโกโตะซังควรจะภูมิใจในตัวเองนะ ที่สามารถคิดและทำสิ่งนี้ขึ้นมาเองได้ มันจะโอเคแน่เพราะมาโกโตะซังได้พยายามเต็มที่แล้ว”

ลองคิดดูว่าถ้ามาโกโตะซังไม่มีกลุ่มคนเหล่านี้มาช่วยซัพพอร์ต เขาอาจรู้สึกไร้คนที่เข้าใจแล้วเกิดเป็นปมในใจ หรือเขาอาจจะทะเลาะกับเพื่อนบ้านจนกลายเป็นปัญหาใหญ่โตขึ้นก็ได้

เมื่อได้ดูเรื่องนี้เรารู้สึกขอบคุณผู้กำกับที่ทำให้เรารู้จักสิ่งที่มาโกโตะซังเป็น ได้เห็นความหลากหลายของมนุษย์ ได้รู้ว่าเขามีชีวิตยังไงในประเทศที่มีกฎหมายและสวัสดิการคอยช่วยให้ประชาชนมีชีวิตที่สุขสบายขึ้น แล้วยังรู้สึกเอ็นดูที่ได้เห็นความอินโนเซนต์ จริงใจจากมนุษย์(เหมือนเด็ก)คนหนึ่งที่เติบโตในร่างของชายวัยกลางคน และได้เห็นมิตรภาพที่อบอุ่นของชายสองคน ซึ่งได้มาใช้เวลาร่วมกัน เจอคนที่เข้าใจ และทำให้โลกของพวกเขาไม่เหงาจนเกินไป

Tags:

ผู้มีความบกพร่องทางพัฒนาการPDDกลุ่มบกพร่องทางปัญญาออทิสติกสารคดี

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Movie
    F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • SpaceBook
    Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

    เรื่อง เจษฎา อิงคภัทรางกูร

  • Movie
    Elio:  ไม่ว่าจะหนีไปไกลแค่ไหน สุดท้ายความรู้สึกมีคุณค่า…เริ่มต้นจากหัวใจตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    A Little girl’s Dream (2014) : การเติบโตของโทโทมิกับครอบครัวที่ไม่ใจร้าย

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear ParentsMovie
    Stutz: เปิดอกสื่อสารออกไป ให้หัวใจได้บำบัด

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

เมื่อสังคมชวนกันตั้งคำถาม #โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ: ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล
12 July 2023

เมื่อสังคมชวนกันตั้งคำถาม #โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ: ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

  • โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ? กลายเป็นแฮชแทกที่ได้รับการตอบรับอย่างคึกคักในทวิตเตอร์ มีการแชร์ความรู้สึกกันเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การถูกขโมยความมั่นใจ ศรัทธา ความฝัน หรือแม้แต่เวลา
  • The Potential ชวนครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูสังคมศึกษาและหนึ่งในกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ คุยถึงสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ที่มาและความเป็นไปได้ในการหาทางออกร่วมกัน
  • สำคัญที่สุดคือต้องมองการศึกษาเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม เปิดพื้นที่ในการพูดคุยและรับฟัง โดยเฉพาะเสียงความต้องการของผู้ที่รับการศึกษา ซึ่งก็คือเด็กและเยาวชน

“โรงเรียนไทยขโมยความมั่นใจของนักเรียนไปหมดจริงๆ เคยถูกถามว่าทำไมโง่ขนาดนี้แค่เพราะไม่ชอบเรียนเลข ทั้งๆ ที่วิชาอื่นก็ทำได้ดี”

“จริงนะที่ว่าโรงเรียนขโมยความมั่นใจ หลายๆ อย่างโดนบั่นทอนไปมาก ทั้งจากครู หรือจากเพื่อนด้วยกันเอง”

“สิ่งที่เสียไปตอนเรียนคือ ความมั่นใจ ความเป็นตัวเอง คำพูดของครูคนเดียวเด็กจำไปจนตายมันมีจริงๆ นะ ไม่อยากได้ความหวังดีที่ toxic มันบั่นทอนจิตใจ”

“ในความคิดส่วนตัวตอนเรียนเหมือนถูกขโมยเวลาในการเรียนรู้ชีวิตภายนอก เพราะได้แค่เรียนรู้จากในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น”

“ขโมยความฝัน การตอบอาชีพที่อยากจะทำเวลาครูถามหน้าชั้นเรียนเป็นสิ่งที่เรามักจะถูกครูหัวเราะเยาะอยู่เสมอ ครูติตลอดว่าเธอจะทำได้เหรอ จนความฝันเราหายไปทีละอย่าง”

“ขโมยความเป็นมนุษย์และความเท่าเทียมในโรงเรียน ไม่เคยสอนให้เราเข้าใจความหลากหลาย เป็นที่อันตรายสำหรับคนที่ไม่ถนัดในเรื่องเรียน คนกลุ่มนี้จะโดนบูลลี่อย่างหนักหน่วงที่นำโดยครู”

“Self-Esteem ของเรามันต่ำมาก ขนาดอะไรที่เราเก่งๆ ยังต่ำได้ เรื่องอื่นคือไม่มีความมั่นใจเลยตอนอยู่โรงเรียน”

“ขโมยศรัทธา กว้างๆ เลยนะ ศรัทธาในความเชื่อในตัวเอง ศรัทธาในความชอบ เก่งอะที่สามารถขโมยศรัทธาเด็กที่มีเต็มร้อยไปได้”

หลากหลายความเห็นแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จากจำนวนหลายหมื่นทวิตของนักเรียนและอดีตนักเรียนที่ปรากฎใน #โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ ดันให้แฮชแทกนี้ติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์เมื่อหลายวันก่อน และเป็นจุดใหญ่ใจความที่ The Potential ชวน ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล ครูรุ่นใหม่ที่มองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของคนทั้งสังคม มาคุยให้เห็นบริบทของปัญหาที่สะท้อนหลากหลายมิติ ทั้งอุดมการณ์รัฐ สังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจ

“เป้าหมายการศึกษามันไม่ควรผูกขาดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักวิชาการแค่บางกลุ่มที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าควรจะอยู่ภายใต้ชุดคุณค่าแบบไหน หรือวิธีการแบบไหน แต่อย่างน้อยๆ ควรให้สังคมมีส่วนร่วมที่จะกำหนดว่าเราต้องการจะอยู่ในสังคมแบบไหน ต้องการพลเมืองแบบไหน…”

ปัจจุบันเป็นครูทิวเป็นครูสังคมศึกษาระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งเคลื่อนไหวในนามกลุ่ม ‘ครูขอสอน’ ขณะเดียวกันก็เป็นนิสิตปริญญาเอก คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คำตอบกับหลายๆ คำถามที่สืบเนื่องจากแฮชแทกดังกล่าว จึงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการวิเคราะห์และหาทางเลือกในการออกแบบการศึกษาที่ไม่ทำลายคุณค่าและความฝันของใคร

ครูทิว-ธนวรรธน์ สุวรรณปาล

เมื่อเร็วๆ นี้ในทวิตเตอร์ แฮชแทก #โรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณ ติดเทรนด์อันดับต้นๆ มีคนมาแสดงความเห็นจำนวนมาก ครูทิววิเคราะห์เรื่องนี้อย่างไร

ในระบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนรัฐหรือเอกชน ซึ่งแน่นอนโรงเรียนรัฐบาลมันเป็นส่วนใหญ่ในประเทศอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ก็จะผ่านระบบการศึกษาโดยโรงเรียนรัฐมา ทีนี้ในการจัดการศึกษาโดยระบบโรงเรียน ที่เรียกว่าเป็น Schooling ในแต่ละประเทศ ในแต่ละสังคม อาจจะมีจุดมุ่งหมาย มีเป้าหมายในการจัดการศึกษาที่แตกต่างกันไป รวมถึงวิธีการด้วย ซึ่งมันไปผูกโยงกับอุดมการณ์ของรัฐ หรือวิธีทางสังคม เศรษฐกิจการเมืองของสังคมนั้นๆ รวมไปถึงวัฒนธรรมในแต่ละสังคมด้วย 

ทีนี้ด้วยตัวบริบทของสังคมไทยมันเซตระบบการศึกษาขึ้นมาโดยมีลักษณะเฉพาะอยู่แบบหนึ่งที่อาจจะส่งให้เกิดผลลัพธ์แบบนี้ ผมจะเล่าให้ฟังอย่างนี้ครับว่า ตัวกลุ่มครูขอสอนเอง ในปีแรกๆ ที่ตั้งกลุ่มเราทำแบบสำรวจว่า เรามาโรงเรียนทำไม รวมไปถึงเวลาผมไปจัดเวิร์กชอปกับคุณครูหรือนักเรียนในหลายๆ โรงเรียน ก็จะใช้เซตคำถามและกิจกรรมเป็นตัวนำคุยว่าเป้าหมายการศึกษา หรือเป้าหมายในการมาโรงเรียนของนักเรียน คิดว่าเรามาเรียนเพื่ออะไรกัน หรือว่าคุณครูเองมองการสอนของตัวเองยังไง เราก็อิงตามปรัชญาการศึกษาพื้นฐาน 5 แนวคิดที่มันเป็นสากล และมันก็คล้ายๆ กับเฉดอุดมการณ์ทางการเมือง ซึ่งก็มีหลายสำนัก หลายวิธีคิด ซึ่งก็จะนำมาสู่การตั้งเป้าหมายในการจัดการศึกษาในโรงเรียน แล้วก็วิธีการด้วย 

กลุ่มแรกก็จะมองว่าการศึกษาเป็นไปเพื่อการขัดเกลา หมายความว่ามีคุณธรรมความดีอะไรบางอย่างที่มันสมบูรณ์ มีเหตุมีผล แล้วเราต้องขัดเกลา หรือทำให้ทุกคนมีวิธีคิด มีระเบียบวินัย หรือมีคุณลักษณะที่เป็นแบบนั้นให้ได้ 

แบบที่สองก็จะมองว่าการศึกษาเป็นไปเพื่อการถ่ายทอด หมายความว่าในสังคมมันมีสิ่งดีงามอยู่ มีคุณค่าอะไรบางอย่างที่ต้องรักษา สืบทอด แล้วก็มองเด็กนักเรียนเป็นแก้วเปล่า มองว่าคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจะต้องถ่ายทอดสิ่งที่รู้ องค์ความรู้ ทักษะอะไรต่างๆ ให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป เพื่อรักษาสืบทอดต่อไป สายนี้ก็จะเป็นมุมมองแบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งถามว่าผิดไหมก็ไม่ได้ผิด มันเป็นแค่วิธีคิดแบบหนึ่งในการจัดการศึกษา 

แต่ว่าที่เป็นกระแสหลักของโลก เราก็จะพูดถึง Progressivism หรือวิธีคิดที่มองว่าการศึกษามันเป็นไปเพื่อการพัฒนาร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา Learning by Doing การได้ลงมือทำ การที่มองว่านักเรียนเหมือนต้นไม้ที่จะเติบโตได้อย่างอิสระ ได้อย่างเต็มศักยภาพของเขา โรงเรียนหรือรัฐมีหน้าที่ที่จะรดน้ำพรวนดินใส่ปุ๋ยให้เขาเท่านั้นเอง แล้วก็วิธีคิดที่มองการศึกษาเพื่อการค้นพบตัวเอง ให้นักเรียนได้ลองทำ ลองผิดลองถูก ทำอะไรหลายๆ อย่าง มีวิชาเลือก มีชุมนุม หรือมีกิจกรรมหลากหลายให้เลือกเพื่อจะได้ค้นหาตัวเองว่าอะไรที่ใช่สำหรับเขา 

แล้วก็สุดท้ายก็คือ Existentialism การมองการจัดการศึกษาที่เน้นปัญหาของสังคม การชวนให้เขามองข้างในตัวตน มองสังคม และสะท้อนออกมาให้เห็นว่าสังคมที่เป็นอยู่ สิ่งที่กำลังดำรงอยู่ มันเป็นปัญหายังไง แล้วเขาจะใช้กระบวนการศึกษาเพื่อออกไปเปลี่ยนแปลงสังคมนั้น ไปรื้อถอนสิ่งที่มันเป็นอยู่เดิม ในสิ่งที่มันถูกผลิตซ้ำออกมาเรื่อยๆ ความไม่เท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำ อะไรต่างๆ แล้วมาประกอบสร้างใหม่เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้อย่างไร มันก็จะเป็นแนวคิดที่แตกต่างกัน 

ทีนี้พอตอนเราทำแบบสำรวจ ผมก็จะทำอยู่ 2 เซสชัน เซสชันแรกคือสิ่งที่เราอยากให้เป็นคืออะไร ส่วนใหญ่เราก็จะพบว่าเด็กนักเรียนจะตอบในกลุ่มหลัง กลุ่มที่เป็นความคิดแบบก้าวหน้า คือไม่เป็น Progressivism ก็เป็น Existentialism คือแบบค้นพบตัวเอง ได้มีอิสระ ได้เติบโตอย่างเต็มที่ หรือก็จะมีมุมที่เริ่มมีความคิดเชิงวิพากษ์ เริ่มมองการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่วนที่มองเห็นว่าเป็นการถ่ายทอด เป็นการขัดเกลาเป็นส่วนน้อย แต่พอถามว่าแล้วที่โรงเรียนเป็นอยู่มันเป็นแบบไหน ปรากฏว่าคำตอบคือการขัดเกลากับถ่ายทอดเยอะ ทุกคนก็เทไปที่สองอย่างนี้ 

แล้วอะไรที่เป็นตัวสะท้อนถึงวิธีคิดสองแบบนี้บ้าง หนึ่งคือโรงเรียนจะจุ้นจ้านวุ่นวายอยู่กับเสื้อผ้าหน้าผม เหมือนเป็นการขัดเกลา สร้างระเบียบวินัย คือมองเด็กนักเรียนเป็นหินเป็นกรวดที่มันมีส่วนเกินออกมาแล้วจะต้องขัดส่วนที่เราไม่ต้องการออกไป เพื่อให้ได้รูปร่างลักษณะที่เราต้องการ โดยไม่ได้ถามว่าเด็กเขาต้องการอย่างนั้นหรือเปล่า

‘เรา’ ในที่นี้คือผู้ใหญ่หรือผู้ที่กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ต้องการ? 

คนที่ต้องการก็คือรัฐ หรือผู้ใหญ่ หรือคนที่มีหน้าที่ในการจัดการศึกษา เพราะที่ผ่านมา เราก็จะมีวิธีคิดที่บอกว่าเด็กเหมือนเป็นผ้าขาว เหมือนเป็นแก้วเปล่า เด็กเหมือนผู้ที่ไม่รู้ ส่วนครูเป็นผู้รู้ หรือผู้ให้ จะต้องคอยถ่ายทอดอะไรต่างๆ หรือมันมีความดีความงามในสังคมที่เราบอกว่าจะต้องรักษาไว้ จะต้องสืบทอด จะต้องมาทำสิ่งนี้ๆ มีกิจกรรมที่ต้องบังคับ เพราะว่าถ้าไม่บังคับ ก็จะไม่มีคนทำ ไม่มีคนทำก็ไม่มีคนรักษาสืบสานมันต่อไป ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจจะเป็นไปตามกลไกการเปลี่ยนแปลงพลวัตของสังคมก็ได้ 

ผมคิดว่าในการสำรวจและการทดลองของผมที่ทำกับเด็กนักเรียนและคุณครูอยู่เป็นประจำ มันสะท้อนให้เห็นว่าเป้าหมายในการจัดการศึกษาที่คนเราต้องการกับสิ่งที่เป็นอยู่ มันไม่ได้ไปด้วยกัน มันอาจจะขัดกัน คือเราไม่ได้บอกว่ามันดีหรือไม่ดี จริงๆ แล้วมันอาจจะมีทั้ง 5 เป้าหมาย 5 รูปแบบนี้ ผสมปนเปกันก็ได้ แต่ว่าสัดส่วนของมันควรเป็นอย่างไร 

ปัจจุบันกลายเป็นว่าสัดส่วนที่เป็นอยู่มันฝืนกับสิ่งที่มันควรจะเป็นตามความต้องการ เราพูดถึงคำว่า Child Center, Child-oriented มานานมากแล้วหลายสิบปีมาแล้ว แต่ถามว่าทุกวันนี้เราตอบสนองความต้องการ หรืออย่างน้อยๆ ฟังเสียงเขา ฟังเสียงความต้องการของผู้ที่รับการศึกษาก็คือตัวเด็กเยาวชนมากน้อยแค่ไหน 

จากที่ไล่ดูความเห็นในทวิตเตอร์ ประเด็นที่มีคนแชร์ประสบการณ์กันมากคือ โรงเรียนขโมยความมั่นใจ Self-Esteem ขโมยความศรัทธา บางคนก็บอกว่าขโมยเวลา คิดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมีประสบการณ์ไม่ดีกับโรงเรียน

อยากจะขยายให้เห็นภาพอย่างนี้ครับว่า ประการแรกโดยเฉพาะเด็กนักเรียน ตอนประถมเราอาจไม่รู้สึกอะไรหรอก แต่เราเสียนะ แต่ด้วยช่วงวัยของเขา วัยประถมจะเชื่อครูมากเลย ครูบอกให้ทำอะไรก็จะทำก็อาจจะไม่ได้ตั้งคำถามอะไรเท่าไหร่ แล้วเราก็ไม่ได้ถูกฝึกให้ตั้งคำถามด้วย แต่พอมาในวัยมัธยม ธรรมชาติของเด็กวัยรุ่น คืออายุ 12-13 ปีขึ้นไป สิ่งสำคัญที่สุดของเด็กในวัยนี้ก็คือ Self-Esteem หรือความที่เขาตระหนักหรือเห็นคุณค่าในตัวเอง มองว่าที่ทางของตัวเองอยู่ตรงไหนแล้วมันก็ส่งผลถึง Self Confidence คือความมั่นใจ เราก็จะเห็นว่าเด็กไทยขาดอยู่เยอะ เป็นเพราะอะไร อย่างที่เล่าให้ฟังว่าพอเป้าหมายการศึกษามันเป็นแบบนี้ เราเห็นว่าเด็กในช่วงวัยโดยเฉพาะมัธยม เขากำลังมองหาตัวตนของตัวเอง กำลังต้องการลองผิดลองถูก หรือได้ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง เพื่อค้นหาว่าแบบไหนที่เขามั่นใจ หรือแบบไหนที่ใช่กับตัวเขา ปรากฏว่าโรงเรียนก็ไม่ได้ตอบสนอง โรงเรียนก็ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับเขาอย่างที่มันควรเป็น 

คือจริงๆ แล้วโรงเรียนก็มีเปิดพื้นที่แหละ แต่มันอาจจะไม่ตอบสนองต่อเด็กทุกกลุ่ม เด็กทุกคน หรือส่วนใหญ่มีแค่เด็กบางกลุ่มที่ได้พื้นที่ตรงนั้นไป แต่เด็กจำนวนมากที่ไม่ได้มีความชอบ ไม่ได้มีความถนัดที่ตรงกับความต้องการของโรงเรียนของคุณครู ก็จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เขาก็ไม่ได้เฉิดฉาย ไม่ได้มีพื้นที่ ไม่ได้มีเวทีให้แสดงออก อย่างนี้เป็นต้น 

มันก็ทำให้เรื่องของโอกาสที่เขาอยากจะพัฒนาตัวเองอย่างที่เขาอยากจะเป็น โอกาสที่เขาได้เฉิดฉาย ได้เปล่งแสงออกมา ลดน้อยถอยลงไป สุดท้ายแล้วมันก็จะเหลือพื้นที่แค่สำหรับเด็กที่มีความต้องการ ความถนัดตรงตามสเปกของครูและโรงเรียน ทางวิชาการบ้างอะไรบ้าง ตามที่โรงเรียนจะเรียกใช้ หรือสร้างชื่อเสียงให้กับโรงเรียนได้

ดูเหมือนว่าเวลามีประเด็นแบบนี้ คนจะโฟกัสไปที่ทัศนคติของครู ในฐานะครูรุ่นใหม่มองเรื่องนี้อย่างไรคะ 

ต้องยอมรับก่อนว่าระบบการผลิตครูมันถูกผลิตด้วยวิธีอนุรักษ์นิยมอยู่แล้ว โอเค…เวลาเราเป็นนิสิต นักศึกษาครู อย่างปรัชญาการศึกษาที่ผมยกตัวอย่างไป เราเรียน แต่ก็จำไปอย่างนั้น สุดท้ายแล้วเราไม่เคยกลับมาตั้งคำถามตัวเองเลยว่า เราเชื่อแบบไหน แล้วที่เราจะออกไปปฏิบัติการในห้องเรียน ไปปฏิบัติการในโรงเรียน ไปอยู่กับเด็ก เรากำลังทำด้วยวิธีการภายใต้ความคิดความเชื่อแบบไหน แล้วมันจะส่งผลอย่างไร หรือนโยบายที่กำลังดำเนินอยู่ มันอยู่ภายใต้แนวคิดแบบไหน แล้วมันควรจะเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เราไม่เคยถูกสอนให้ตั้งคำถามแบบนั้น 

ระบบผลิตครูถูกทำให้ หนึ่ง ถูกครอบด้วยมายาคติว่า ครูคือพระคุณที่สาม คือพ่อแม่คนที่สอง แล้วย้ำความศักดิ์สิทธิ์ด้วยพิธีกรรม ความเชื่อ หรืออะไรต่างๆ เกี่ยวกับครูในสังคมไทย มันก็ทำให้ครูมีอำนาจอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะกำหนดอะไรต่างๆ ได้ ซึ่งมันก็เอื้อต่อวิธีคิดในการจัดการการศึกษาที่ครูหรือผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนด ไม่ได้แชร์อำนาจ ไม่ได้แบ่งปันให้เกิดอำนาจร่วมกับนักเรียนที่จะไปรับฟังหรือไปดูว่าเขาต้องการอะไร เขาอยากเห็นแบบไหน 

สองคือ ครูถูกสอนหรือถูกทรีตให้เป็นนักเทคนิคมากกว่า ทำยังไงให้ผลสัมฤทธิ์ดี มีวิธีการไหนที่เด็กเรียนแล้วสนุก ทำเรื่องนี้มีทักษะเรื่องนี้ หรือว่ามีความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ได้ดี เราก็จะไปหาเทคนิคหาวิธีการมา สุดท้ายกลายเป็นนักเทคนิคมากกว่านักคิด บางครั้งไปโฟกัสที่วิธีการจนหลงลืมว่าแล้วหลักการของมันคืออะไร หัวใจของมันคืออะไร เราคิดแค่ว่าสิ่งนี้ดี แล้วเราต้องการให้เด็กเป็น มันมีวิธีการไหนบ้างที่จะทำให้เขาเป็นอย่างนี้ได้ 

ผมยกตัวอย่างเรื่องลูกเสือ ก็มีข้อถกเถียงกันเยอะ แต่วิธีคิดของผู้ใหญ่ ครูหลายคน ทั้งๆ ที่ครูจำนวนมากก็ไม่โอเคกับการสอนลูกเสือ แต่ทำไมล่ะ ผู้ใหญ่ในกระทรวงฯ หรือครูหลายคนก็บอกว่า เราต้องมาคิดนะ ทำยังไงเด็กเขาถึงจะเห็นความสำคัญของลูกเสือ อ้าว…นึกออกมั้ยครับ แทนที่เราจะมาคุยกันว่า จริงๆ แล้วเด็กเขาต้องการอะไร แล้วทำยังไงถึงจะปรับให้ตรงกับเขา เราตั้งธงมาแล้วว่าอันนี้มันดี นี่คือความจริงที่มันควรจะเป็น แต่เด็กไม่รู้เรื่องไม่เห็นคุณค่า เราควรหาวิธีที่จะทำให้เขาเห็นคุณค่า

หรือเด็กจะต้องมีคุณลักษณะแบบนี้ เด็กจะต้องรู้เรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วจำเป็นต้องรู้หรือเปล่า…ไม่รู้ แล้วใครเป็นคนกำหนดว่าสิ่งนี้คือความรู้ สิ่งนี้คือความจริง สิ่งนี้คือสิ่งที่เด็กจะต้องรู้หรือทำได้ สุดท้ายผู้ใหญ่กำหนดมาแล้วหาวิธีการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตรงนั้น โดยที่ไม่ได้ถามเด็ก มันก็เลยส่งผลไปว่า ทำไมโรงเรียนถึงขโมยความฝัน เพราะความฝันของเด็กไม่เคยถูกตอบสนอง โรงเรียนขโมยความต้องการ ขโมยตัวตน ขโมยความมั่นใจจากระเบียบ จากรายวิชา จากหลักสูตรที่ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของเขา ไม่ได้ส่งเสริมหรือเปิดพื้นที่ให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่มีความหลากหลายมากเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการหรือตัวตนของเขา 

โรงเรียนขโมยความมั่นใจและตัวตนของเขาจากระเบียบ จากกฎที่ไปลิดรอนลดทอนเนื้อตัวร่างกายของเขา แทนที่จะเป็นโอกาสที่เขาจะได้เรียนรู้ ปรับตัว ลองผิดลองถูก ก็ไปกดทับไว้ ไปบังคับไว้ แล้วสุดท้ายเขาก็ต้องไปเรียนรู้หลังจากออกจากรั้วโรงเรียนไปอีกที 

สุดท้ายก็คือการขโมยเวลา เด็กนักเรียนใช้เวลาอยู่กับโรงเรียน เผลอๆ มากกว่าการอยู่บ้านอยู่กับผู้ปกครองด้วยซ้ำ ดังนั้นทำยังไงให้เวลาที่อยู่ที่โรงเรียนเป็นเวลาคุณภาพ เราจะเห็นว่าหลายโรงเรียน เด็กเรียนถึงคาบ 9 คาบ 10 หมายความว่าบางโรงเรียนเด็กเลิก 4 โมง 5 โมง ผมถามว่าเด็กเขามีอะไรที่สนใจหรืออยากจะไปศึกษาด้วยตนเอง หรืออยากจะใช้กิจกรรมที่ได้ไปพัฒนาความสัมพันธ์ มิตรภาพกับเพื่อน หรือได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากในตำราเรียนที่ถูกกำหนดมา ไปใช้เวลาตรงนั้น อยากจะเล่นกีฬา อยากจะปลดปล่อยพลังงานของตัวเองในช่วงวัยรุ่น มันใช้เวลาตรงไหนได้บ้าง 

พอนอกเหนือจากการเรียนในโรงเรียนแล้ว บางบริบท บางโรงเรียน หรือบางครอบครัวก็ตั้งเป้าหมายและใส่ความหวังกับลูก เลิกจากโรงเรียนก็ต้องไปเรียนพิเศษต่อ ด้วยค่านิยมของคนในสังคมที่เราเห็นว่า มันคือการที่เด็กจะต้องรู้ ต้องเก่ง ต้องเข้านั่นเข้านี่ได้ โดยที่ไม่ได้ให้คุณค่ากับความหลากหลาย ไม่ได้ให้คุณค่ากับศาสตร์ต่างๆ ที่แตกต่างกัน การให้คุณค่ากับสายวิทย์/สายศิลป์แตกต่างกัน มันก็ทำให้สุดท้ายทุกคนก็ต้องไปพุ่งไปทำสิ่งที่เป็นตัวเองหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไปเสียเวลากับสิ่งที่ถูกกำหนดมา ถูกบังคับมา อย่างนี้เป็นต้น 

มันทำให้ไม่มีพื้นที่พอที่จะหายใจ อย่างผมเปิดชุมนุม เปิดชมรมให้เด็กที่สนใจเรื่องกฎหมายเรื่องการเมืองได้มาศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม มาพูดคุยกัน แล้วก็อาจจะมีโอกาสได้ไปแข่งหรือไปอะไรต่างๆ เราก็ส่งเสริมไม่ว่าจะเด็กสายวิทย์หรือสายศิลป์ แต่ปรากฏว่าหาเวลาจะมาเจอกันไม่ได้ แค่เด็กกลุ่มที่สนใจนะ เพราะเด็กบางคนเลิกคาบ 9 เวลา 5 โมง หรือ 6 โมง ก็เป็นเวลาที่ต้องกลับบ้านแล้ว ดังนั้นมันไม่มีช่องว่างมากพอที่จะเหลือให้เขาไปเลือกสิ่งที่เขาสนใจ ไปทำสิ่งที่เขาอยากจะทำ 

ด้วยบริบทที่เด็กเหมือนถูกกำหนดถูกบังคับทั้งทางตรงทางอ้อม มันเลยนำมาสู่ข้อสรุปที่หลายๆ คนบอกว่า โรงเรียนขโมยความสุขของเราไป?

เพราะว่าความสุขไม่เคยเป็นอินดิเคเตอร์ของโรงเรียน ของการจัดการศึกษา เพราะเวลาเราวัดกันที่ทำข้อสอบได้มากน้อยแค่ไหน ทำผลงานเป็นยังไง Productivity ของเด็กเป็นยังไงบ้าง การประเมินโรงเรียนก็มาด้วยเอกสาร ด้วยตัวเลข แต่ในฐานะที่เราเรียนครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์มา

เราต้องเข้าใจว่าอารมณ์มันส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกของเด็กส่งผลต่อการเรียนรู้ แต่กลายเป็นว่าโรงเรียนไม่เคยโฟกัส หรือไม่เคยคิดตรงนี้ว่าทำอย่างไรนักเรียนจะมีความสุขในการอยู่โรงเรียน แล้วทำให้เขาเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ 

สุดท้ายแล้วโรงเรียนไม่ได้ไปโฟกัสที่การเรียนรู้ ไปโฟกัสที่ตัวเลข ผลลัพธ์ ที่ตัวผลสอบ ว่าอ๋อ…นี่คือร่องรอยที่จะเป็นตัวบ่งบอกได้ว่ามันเกิดการเรียนรู้แล้วนะ ด้วยวิธีไหนก็ตาม เราดูได้จากเด็ก ม.3 ม.6 พอใกล้ช่วงสอบ O-NET ลูกเรียนมา 3 ปียังไงไม่รู้ แต่ 3-4 อาทิตย์สุดท้าย โรงเรียนงดเรียน เอาติวเตอร์มาติวเพื่อให้ทำข้อสอบได้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตรงนั้นมา เห็นมั้ยว่าสุดท้ายเราไปโฟกัสที่ตัวผลลัพธ์ที่เป็นตัวเลข เป็นในเชิงวิทยาศาสตร์มากกว่าความสุข หรือกระบวนการที่มันเกิดขึ้นระหว่างทางนั้น 

ในที่สุดเราก็ได้เด็กที่เป็นซึมเศร้า เด็กที่เรียนเก่งแต่ไม่สามารถจะใช้ชีวิตให้เป็นปกติสุขได้?

ไม่สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ ไม่เข้าใจอารมณ์สังคมของคนอื่น ไม่เข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ไม่เข้าใจว่าคนในสังคมมีความคิดแตกต่างหลากหลายในมุมมองแบบไหน ทำไมเขาถึงคิดแบบนั้น แล้วเราจะหาจุดที่อยู่ร่วมกันได้ยังไง เพราะว่าเราถูกบังคับให้คิดเหมือนกัน ต้องทำเหมือนกัน ต้องเชื่อเหมือนกันมาตลอด การตั้งคำถามคือความผิดแปลก การเป็นสิ่งแปลกปลอมคือสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และแน่นอนว่าก็ไม่มีเด็กคนไหนอยากจะถูกลงโทษ ไม่มีเพื่อน เพียงเพราะเขาต่างจากคนอื่น 

ถ้าอย่างนั้นในทัศนะของครูทิว ระบบการศึกษาแบบไหน แนวคิดแบบไหนที่จะดีต่อเด็กๆ ทั้งในวันนี้และอนาคตของพวกเขามากที่สุด 

สำหรับผมคิดว่าผมไม่มีคำตอบ หมายความว่าเราควรฟังกันมากกว่านี้ หมายความว่าเป้าหมายการศึกษามันไม่ควรผูกขาดโดยกระทรวงศึกษาธิการ โดยนักวิชาการแค่บางกลุ่มที่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางว่าควรจะอยู่ภายใต้ชุดคุณค่าแบบไหน หรือวิธีการแบบไหน แต่อย่างน้อยๆ ควรให้สังคมมีส่วนร่วมที่จะกำหนดว่าเราต้องการจะอยู่ในสังคมแบบไหน ต้องการพลเมืองแบบไหน เพราะว่าการออกแบบระบบการศึกษาในวันนี้ คือการที่บอกว่าเราจะเจอคนทำงาน เจอคนที่อยู่ร่วมในสังคมอีก 10-20 ปีข้างหน้าอย่างไร 

ดังนั้น อย่างน้อยๆ ผมว่าวิธีคิดที่สำคัญที่สุด คือการให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม ระบบการศึกษาที่มีความเป็นประชาธิปไตย ให้โอกาสทุกคน ทุกชุดคุณค่าได้ถกเถียง ได้พูดคุยกัน แล้วมันก็จะออกมาเป็นส่วนผสมที่เป็นเป้าหมายของทุกคน เป็นการศึกษาของทุกคนจริงๆ ที่ไม่ใช่แค่เรื่องของนักเรียน ครู หรือผู้ปกครอง แต่คือของทุกคนในสังคม ว่าเราต้องการการศึกษาแบบไหนกันนะ แล้วโดยเฉพาะตัวเด็กที่จะได้รับการศึกษาต้องการอะไร อยากให้ฟังเสียงเขาให้เยอะ 

ในฐานะที่ทำงานกับเด็กมาตลอด มีข้อเสนออะไรที่คิดว่าอย่างน้อยควรจะปลดล็อกก่อน หรือปรับก่อน เพื่อให้เด็กไม่ต้องรู้สึกทนทุกข์อยู่ในระบบโรงเรียน 

ผมให้สามส่วนแล้วกันครับ ส่วนแรกคิดว่าเป็นเรื่องวิธีคิดและวัฒนธรรม เรียกว่าทัศนคติก็ได้ หรือวิธีคิดที่อยู่ภายใต้ชุดคุณค่าบางชุดที่มันส่งผลต่อวัฒนธรรมที่เป็นอำนาจนิยม แล้วมันไปขวางการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง โอเคว่ามันจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่เปลี่ยนแปลง หรือจะเป็นแบบไหนมาถกเถียงกันได้ แต่การที่มันปิดกั้นไม่ให้ถกเถียง หรือบังคับว่าจะต้องมีสิ่งนี้ หรือเป็นอย่างนี้เท่านั้น ตรงนี้ต้องเปลี่ยนก่อน ซึ่งมันอาจจะเป็นผลพวงมาจากระบบราชการที่ครอบระบบการศึกษาอีกทีหนึ่ง 

สองคือ ตัวกฎระเบียบที่ไม่ได้มีไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือประโยชน์ของผู้เรียน แต่เป็นไปเพื่อการควบคุม ทำให้ง่ายต่อการควบคุม ซึ่งก็เป็นผลพวงมาจากข้อแรก ที่มันมาจากวิธีคิดและวัฒนธรรมที่เป็นอำนาจนิยม ก็ส่งผลต่อกฎระเบียบที่จะต้องมาบังคับควบคุม มามีอำนาจเหนือเนื้อตัวร่างกายและความคิดของเด็ก 

สุดท้ายก็คือ ตัวหลักสูตร ผมคิดว่าตรงนี้เป็นหัวใจหลักในการจัดการการศึกษา ตัวคนจัดการศึกษาเองบางทีก็อาจจะหลงลืมมันไป หลายครั้งผู้บริหารมุ่งไปที่แผนยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ นโยบาย แต่หลักสูตรคือหัวใจของโรงเรียน ทุกอย่างในโรงเรียนควรจะวิ่งตามหลักสูตร หมายความว่าโรงเรียนควรกำหนดเป้าหมายของผู้เรียนตามหลักสูตรไว้แล้วว่าควรจะเป็นอย่างไร โครงสร้างหลักสูตรเป็นอย่างไร มีรายวิชาไหน หรือกิจกรรมนอกหลักสูตรวิชาไหนบ้างที่จะมาส่งเสริมผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายนั้นที่ทุกคนร่วมกันสร้างขึ้นมา จำนวนชั่วโมงในหลักสูตรที่ลดน้อยลง และเนื้อหาหลักสูตรที่ควรจะบังคับเท่าที่จำเป็น คำว่าเท่าที่จำเป็น อ้าว…แล้วใครจะเป็นคนบอกว่าจำเป็น ไม่จำเป็น ก็ควรมาตั้งเป้าหมายร่วมกันว่า อย่างน้อยๆ อะไรบ้างที่จำเป็น อะไรที่มันเป็นสิ่งที่รัฐบอกว่าจำเป็น แต่เด็กบอกว่าไม่จำเป็นแล้ว สังคมบอกว่าเรื่องนี้ถ้าอยากจะเรียนก็ให้ไปเรียนเอง หรือให้เลือกเรียนก็ได้ ควรจะยืดหยุ่น เปิดสเปซให้ได้มีตัวเลือกมากกว่านี้ ผมคิดว่าตรงนี้น่าจะเป็นโจทย์สำคัญ

แน่นอนว่า Schooling ยังคงจำเป็น หลายคนบอก หลังจากโควิดมันไม่จำเป็นแล้ว เดี๋ยวนี้เรียนรู้ที่ไหนยังไงได้ แน่นอนว่างบางคนบางครอบครัวอาจพร้อมที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง หรือว่ามีทรัพยากรพอที่จะสนับสนุน แต่คนในสังคมอีกจำนวนมากยังต้องพึ่งพาระบบการศึกษาที่รัฐจัดให้ และนี่คือโอกาสที่จะทำให้เขาได้พัฒนาตัวเอง ตามสิทธิมนุษยชน ตามสิทธิเด็กที่ควรจะมี ดังนั้น Schooling ยังจำเป็นอยู่ แต่ควรเป็นอย่างไรต่างหาก

สุดท้ายกลับมาที่แฮชแทกที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุยในวันนี้ สมมติเราเปลี่ยนไปในทิศทางตรงข้ามว่า #โรงเรียนควรให้อะไรกับคุณ คำตอบควรเป็นอะไรคะ

แทนที่จะคุยกันว่าโรงเรียนขโมยอะไร โรงเรียนควรจะสนับสนุนอะไร หรือให้อะไรกับเรา แน่นอนว่าหลายๆ อย่าง ถ้าเรามีทรัพยากรเพียงพอ ทุกคนในสังคมมีทรัพยากรเพียงพอ ทุกคนก็ไปขวนขวายของตัวเองได้อยู่แล้วในทุกอย่างที่ตัวเองต้องการ แต่การที่มีโรงเรียนอยู่เพื่อเป็นบริการสาธารณะ ดังนั้นอะไรที่คิดว่ารัฐหรือโรงเรียนควรจัดหาให้ ไม่ว่าจะเป็นครู ผู้เชี่ยวชาญ หรือวิทยากร หรืออะไรก็ตามที่จะมาช่วยสนับสนุนส่งเสริม ให้ข้อแนะนำ ให้ความรู้ หรืออะไรต่างๆ เพื่อไปเติมเต็มสิ่งที่ผู้เรียนต้องการ โรงเรียนก็ทำ ทรัพยากรอย่างเช่น ห้อง พื้นที่ อุปกรณ์อะไรต่างๆ โรงเรียนจัดหาให้ และเด็กทุกคนควรมีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ถ้าต้องการ 

เด็กต้องการแสดงออก ต้องการการยอมรับ ต้องการเห็นคุณค่าตัวเอง โรงเรียนจัดพื้นที่ให้ ให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตจากการลงมือทำอะไรบางอย่าง และเป็นพื้นที่ให้เขาได้แสดงออกเพื่อให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของตนเอง ให้เกิดการยอมรับในวงเพื่อน

โรงเรียนให้การปกป้องคุ้มครองจากสิ่งที่จะไปคุกคาม ลดทอน ไม่ว่าจะเป็นการถูกรังแก การถูกละเมิด ไม่ให้ความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การที่เขาไม่ได้เรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพ โรงเรียนต้องปกป้อง กฎต่างๆ ควรจะมีไว้เพื่อปกป้องเด็กมากกว่าเป็นไปเพื่อการควบคุม ผมว่านี่คือสิ่งที่โรงเรียนควรทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้กับผู้เรียน ไม่ใช่เพียงแต่คอยควบคุมอย่างเดียว กฎระเบียบมันมีได้ แต่มีไปเพื่อรักษาประโยชน์ของผู้เรียน ของการอยู่ร่วมกัน 

ถ้าเด็กบอกว่า “ขออิสระทางความคิด อิสระในการแสดงออก” ถือเป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่งไปไหมคะในมุมมองของครู

ผมว่าไม่ได้เป็นความคิดที่สุดโต่ง หลายเรื่องเลยที่เด็กเรียกร้อง ถ้ามีพื้นที่พูดคุย เด็กเขาฟัง แล้วเด็กเขามีเหตุผลมากพอ บางเรื่องเด็กเขาไม่ได้รับข้อมูลหรือเหตุผลมากมายหลายมุมเพียงพอ หลายครั้งพอเรากะเกณฑ์เรื่องนั้นเรื่องนี้ไป เราก็ใช้อำนาจ เราไม่เคยใช้เหตุผล หรือไม่เคยเปิดพื้นที่ที่จะพูดหรือจะฟัง หลายครั้งเรามีพื้นที่ที่ใช้แต่อำนาจ แต่เราไม่มีพื้นที่รับฟัง เช่น เดี๋ยวโรงเรียนจะใช้พื้นที่เพื่ออธิบายชี้แจงเรื่องนั้นเรื่องนี้ นักเรียนมีข้อสงสัย หรือนักเรียนอยากจะแสดงออก หรือนักเรียนคิดว่าควรเป็นอย่างไร นักเรียนว่ามา แล้วโรงเรียนจะฟัง พอฟังเสร็จแล้ว มีข้อกังวลที่นักเรียนอาจจะไม่ได้นึกถึง หรือโรงเรียนยังมีข้อกังวลใจอะไรก็พูดแลกเปลี่ยนกัน แล้วถ้านักเรียนบอกว่ามันจะไม่เกิดสิ่งนั้นขึ้นหรอก หรือเราก็ใช้วิธีการนี้แทนสิ ถ้าเกิดกลัวว่าจะเกิดสิ่งนั้น เห็นมั้ยว่ามันมีทางออกใหม่ๆ อยู่เสมอ แต่มันไม่มี หมายถึงว่าไม่มีพื้นที่แบบนี้เกิดขึ้น ดังนั้นมันไม่สุดโต่ง 

หมายถึงไม่มี ‘พื้นที่ปลอดภัย’? 

ที่ผมบอกว่าโรงเรียนควรจะสนับสนุนทั้งหมด ควรจะปกป้อง ควรมีพื้นที่ให้เขาแสดงออก มันคือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยนั่นแหละ เป็น Save Space ที่ทำให้เขารู้สึกว่าสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ สามารถที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกละเมิดอะไรบางอย่างทั้งร่างกายและจิตใจ 

สุดท้ายครูทิวอยากส่งเมสเซจอะไรไปถึงสังคม หรือภาครัฐ เกี่ยวกับการจัดการศึกษาที่อย่างน้อยไม่ควรทำให้ใครรู้สึกว่าถูกขโมยอะไรไป

ระบบการศึกษา หรือตัวการศึกษา หรือตัวหลักสูตร หรือโรงเรียนเอง เรามักถูกวาทกรรมที่เรียกว่า Depoliticize หมายถึงว่า ถูกทำให้ปราศจากการเมือง เขาบอกว่าหลักสูตรเป็นเรื่องของวิชาการ ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่พอมองไปลึกๆ แล้ว ทุกอย่างมันอยู่ภายใต้ชุดคุณค่าทางอุดมการณ์ ทางเศรษฐกิจและสังคมการเมืองหมดเลย ดังนั้นสังคมควรที่จะร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ว่าเราอยากเห็นการศึกษาแบบไหน หลักสูตรแบบไหน โรงเรียนแบบไหน เป้าหมายการศึกษาแบบไหน ถามว่าเราจะแสดงออกยังไง เราก็แสดงเจตจำนงผ่านกลไกทางการเมือง เพราะว่าบริการสาธารณะ หรือการจัดการต่างๆ ของรัฐ มันก็มีระบบที่เป็นประชาธิปไตยที่ให้มีการเลือกตัวแทนของเราไปทำหน้าที่จัดการอยู่แล้ว ดังนั้นเราก็แสดงเจตจำนงแบบนั้น 

รวมไปถึงเราต้องส่งเสียงเรียกร้องว่าต่อให้ใครจะเข้ามาอยู่ มาดูแลการศึกษาจะต้องมีพื้นที่ให้กับสังคมและประชาชน ให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการศึกษา อย่าคิดให้ว่าการศึกษาเป็นเรื่องของกระทรวงศึกษาฯ ของครู ของนักเรียน แต่มันคือของคนทั้งสังคม เราต้องร่วมกันเป็นเจ้าของการศึกษา ร่วมกันเป็นเจ้าของอนาคตนี้ด้วยกัน

Tags:

การศึกษาธนวรรธน์ สุวรรณปาลนักเรียนโรงเรียนขโมยอะไรไปจากคุณครูขอสอนโรงเรียนการเห็นคุณค่าในตัวเอง(Self-esteem)

Author:

illustrator

ชุติมา ซุ้นเจริญ

ลูกครึ่งมานุษยวิทยาและนิเทศศาสตร์ รักการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษร พอๆ กับการเดินทางข้ามพรมแดนทุกรูปแบบ เชื่อเสมอว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสังคม แต่ไม่นิยมแบกโลกไว้บนบ่า

Photographer:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Voice of New GenSocial Issues
    ‘เด็กทุกคนมีศักยภาพขอเพียงอย่าปิดกั้นโอกาส’  ชีวิตไม่หยุดฝันในวัน Dropout:  ‘กัน’ บัณฑิตา มากบำรุง

    เรื่อง The Potential

  • Education trend
    ความผิดพลาดของการสอนวิทยาศาสตร์ที่อาจพาประเทศชาติหลงทาง

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • Social Issues
    ไม่ยุบ ไม่ควบรวม แต่ร่วมกันพัฒนา ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ ของชุมชน เพื่อโอกาสทางการศึกษาของเด็กไทย

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Social Issues
    ระบบการศึกษาที่ “อะไรอะไรก็ครู” ไว้ก่อน

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    คลี่ม่าน ‘มายาคติทางการศึกษา’ เปิดพื้นที่เรียนรู้บนความแตกต่างหลากหลายโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างทาง: ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel