- ‘คุณธรรมจริยธรรม’ และ ‘ความถูกผิด’ ไม่ได้หมายถึงแค่ ความดี ความชั่ว หรือความเชื่อทางศาสนา แต่เป็นทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นในตัวมนุษย์ ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของบุคคลหนึ่ง
- การทำงานของสมองเกี่ยวกับคุณธรรมเปรียบได้กับกล้องถ่ายรูป ที่ตั้งค่าได้ทั้งระบบอัตโนมัติ (Auto) และแมนนวล (Manual)
- การตัดสินใจด้วยคุณธรรมจริยธรรมบนพื้นฐานของเหตุผล ต้องอาศัยการทำงานของสมองทั้ง 2 ระบบ แต่สมองส่วนไหนจะทำงานมากกว่ากันขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้านมากมาย เช่น พื้นฐานครอบครัว การศึกษา ประสบการณ์ชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเชื่อทางศาสนา ความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและค่านิยม
ในซีรีส์เรื่อง ‘บูล’ (BULL) ออกอากาศทางช่องซีบีเอส (CBS) สหรัฐอเมริกา เจสัน บูล เป็นนักจิตวิทยา เจ้าของบริษัทที่ใช้จิตวิทยาเข้ามาผนวกกับเทคโนโลยีอย่างอัลกอรึทึม วิเคราะห์และทำความเข้าใจคณะลูกขุน เพื่อให้ทนายความมีข้อมูลที่รอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับอคติของคณะลูกขุนที่เข้าร่วมตัดสินคดีในชั้นศาล
หลายประเทศใช้คณะลูกขุนช่วยพิจารณาพิพากษาคดีในกระบวนการยุติธรรม เช่น อังกฤษ อเมริกา ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น แนวปฏิบัตินี้ใช้ในประเทศอังกฤษมาก่อนเป็นเวลากว่าร้อยปี ทั้งนี้ คณะลูกขุนจำนวน 6 – 12 คน (แล้วแต่ประเภทคดี) จะนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี ร่วมกับฝ่ายอัยการ (ฝ่ายโจทย์ หรือ ผู้ฟ้องร้อง) ฝ่ายจำเลย (ผู้ถูกฟ้องร้อง) และผู้พิพากษา
คณะลูกขุนเป็นใคร?
คณะลูกขุน คือ บุคคลทั่วไป มีอาชีพ สถานภาพครอบครัว มีพื้นเพต่างกัน ศาลเปิดโอกาสให้ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงทางกฎหมายได้เข้ามามีส่วนร่วมตัดสินคดี การพิพากษาคดีจึงไม่ได้ยึดกฎหมายและคำตัดสินจากผู้พิพากษาเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องของ อารมณ์ ความรู้สึกและการตัดสินใจเชิงคุณธรรมจริยธรรม โดยคณะลูกขุนเข้ามาร่วมด้วย เพราะเชื่อว่า มติจากคณะลูกขุนมีความน่าเชื่อถือและน่าไว้ใจมากกว่าการให้อำนาจผู้พิพากษาตัดสินแต่เพียงผู้เดียว
คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ แล้วความยุติธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เหตุผลหรือความรู้สึกตัดสินกันแน่? หากทั้ง 2 อย่างเป็นสิ่งจำเป็น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราคิดหรือตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและยุติธรรม?
ท่ามกลางสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารโลดแล่นเปลี่ยนผ่านเข้ามาสร้างการรับรู้ให้ทุกทิศทาง พ่อแม่จะสอนลูกอย่างไรให้ยืนหยัดอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยไม่ถูกเอาเปรียบและไม่เอาเปรียบผู้อื่น นอกจากความรู้แล้ว ครูและโรงเรียนจำเป็นต้องส่งเสริมทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านใดให้กับผู้เรียนบ้าง เพื่อเตรียมความพร้อมสู่อนาคตที่คาดเดาได้ยากเหลือเกิน
The Potential อยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน
เราตัดสินผิดถูกด้วยสมองหรือความรู้สึกกันแน่?
ลำดับแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ‘คุณธรรมจริยธรรม’ และ ‘ความถูกผิด’ ที่กำลังพูดถึงอยู่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่ ‘ความดี’ ‘ความชั่ว’ หรือ ‘ความเชื่อทางศาสนา’ แต่เป็น ทักษะ และ คุณลักษณะอันพึงประสงค์ ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นในตัวมนุษย์ แตกต่างกันตามพื้นฐานครอบครัว สภาพสังคม วัฒนธรรม การศึกษา และสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิต ทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นนี้ส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของบุคคลหนึ่ง แน่นอนว่าการกระทำของบุคคลหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อผู้อื่นและสังคมได้เช่นกัน
โจชัว กรีน (Joshua Greene) ศาสตรจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด นักปรัชญา นักจิตวิทยา และนักประสาทวิทยา เจ้าของหนังสือ ‘Moral Tribes’ ตีพิมพ์ฉบับบภาษาไทยในชื่อ ‘พวกฉัน พวกมัน พวกเรา’ นำเทคโนโลยีการสแกนสมองผนวกเข้ากับการทดสอบเกี่ยวกับจิตวิทยาเชิงศีลธรรม เพื่อศึกษากระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลและอารมณ์ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจด้านคุณธรรมจริยธรรม ผลการวิจัยสรุปว่า ทั้งอารมณ์และเหตุผลมีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินเชิงคุณธรรมจริยธรรม
กรีน อธิบายว่า วิวัฒนาการของคุณธรรมจริยธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความดีงาม แต่เพราะมนุษย์อยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายที่สามารถสร้างความขัดแย้งระหว่างกันได้ทุกเมื่อ วิวัฒนาการด้านคุณธรรมจริยธรรมจึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือหรือเป็นแนวทางให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้ ทำงานด้วยกันได้ สร้างสังคมร่วมกันได้ แม้ว่าต้องแข่งขันกันอยู่ตลอดเวลา คุณธรรมจริยธรรม (Morality) จึงมีเรื่องของการหาจุดร่วมเพื่อสร้างความร่วมมือกัน (Cooperation) เป็นพื้นฐาน
การทำงานของสมองเกี่ยวกับคุณธรรมเปรียบได้กับกล้องถ่ายรูป ที่ตั้งค่าได้ทั้งระบบอัตโนมัติ (Auto) และแมนนวล (Manual)
“ข้อดีของการออกแบบกล้องให้มีทั้ง 2 ระบบ คือ มันให้สิ่งที่ดีที่สุดกับช่างภาพได้ทั้ง 2 ส่วน ระบบอัตโนมัติที่มีประสิทธิภาพ แค่เล็งแล้วกด กล้องก็ทำงานได้ด้วยตัวเอง และความยืดหยุ่นของระบบแมนนวลที่ต้องอาศัยช่างภาพเป็นผู้กำหนด…
“เคล็ดลับคือ การรู้ว่าเมื่อไหร่ควรใช้โหมดอัตโนมัติ เล็งแล้วกด และเมื่อไหร่ควรใช้โหมดแมนนวล สมองมนุษย์ถูกออกแบบมาให้มีการทำงานพื้นฐานไม่ต่างจากทั้ง 2 ระบบของกล้องถ่ายภาพ” กรีน กล่าว
การตอบสนองทางอารมณ์ หรือสัญชาตญาณเหมือนระบบอัตโนมัติ ทำงานได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ได้รับอิทธิพลจากองค์ประกอบทางชีววิทยาของร่างกาย เป็นสิ่งที่มนุษย์เรียนรู้ ปรับตัวผ่านประสบการณ์ทางสังคม กลายเป็นค่าที่ถูกตั้งล่วงหน้าไว้ แต่ไม่ยืดหยุ่น และไม่สามารถลงลึกเพื่อจัดการรายละเอียดของภาพได้
การตอบสนองด้วยเหตุผลเหมือนระบบแมนนวล ช่างภาพต้องปรับแต่ง เซ็ตการทำงานของกล้องด้วยตัวเอง สามารถตั้งค่าให้เข้ากับสภาพแสง ปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ใช้เวลานานและยุ่งยาก
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้กรีนไม่ได้เป็นเพียงแค่นักปรัชญา แต่สวมบทบาทเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาทดสอบการทำงานของสมองด้วยเครื่องมือทางประสาทวิทยา สแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแบบ fMRI หรือ Functional Magnetic Resonance Imaging การศึกษาด้านประสาทวิทยาทำให้รู้ว่า
สมองส่วนหน้าเชื่อมโยงกับการตัดสินใจอย่างมีเหตุผลและไตร่ตรอง
สมองส่วนอะมิกดาลาเชื่อมโยงกับการตอบสนองทางอารมณ์ และสิ่งที่แต่ละบุคคลให้คุณค่า เช่น อาหาร เงิน และอื่นๆ
ปัญหารถราง (the trolley problem) เป็นการศึกษาการทำงานของสมองด้วยการตั้งคำถามด้านคุณธรรมจริยธรรมผ่านสถานการณ์สมมุติ การทดลองหนึ่งตั้งคำถามให้คิดว่า
“เราจะยอมผลักคนๆ หนึ่งที่เราไม่รู้จัก ลงไปขวางทางรถรางเพื่อรักษาชีวิตของคนอีก 5 คนหรือไม่?”
การศึกษาพบว่า คนที่ตอบว่า “ไม่” ผลจากการสแกนสมองแสดงให้เห็น สมองที่ตอบสนองทางอารมณ์ทำงานชัดเจนกว่าสมองด้านเหตุผล ด้านคนที่ตอบว่า “จะผลัก” 1 ชีวิตเพื่อแลกกับ 5 ชีวิต สมองส่วนที่ใช้เหตุผลทำงานชัดเจนกว่า นอกจากนี้ ยังพบว่าคำถามด้านคุณธรรมจริยธรรมเดียวกัน หากให้เวลาคิดต่างกัน การตัดสินใจก็แตกต่างกันได้ เมื่อจำกัดเวลาให้ต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว มนุษย์มีแนวโน้มใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล แต่เมื่อให้เวลาตัดสินใจมากขึ้น สมองส่วนหน้าซึ่งสัมพันธ์กับการใช้เหตุผลทำงานมากขึ้น
ท้ายที่สุดแล้วการตัดสินใจด้วยคุณธรรมจริยธรรมบนพื้นฐานของเหตุผล ต้องอาศัยการทำงานของสมองทั้ง 2 ระบบ แต่สมองส่วนไหนจะทำงานมากกว่ากันขึ้นอยู่กับปัจจัยรอบด้านมากมาย เช่น พื้นฐานครอบครัว การศึกษา ประสบการณ์ชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความเชื่อทางศาสนา ความแตกต่างทางเชื้อชาติ วัฒนธรรมและค่านิยม เป็นต้น
การพัฒนาให้สมองตัดสินใจอย่างมีเหตุผลโดยไม่ทิ้งสัญชาตญาณ
เรื่องราวในซีรีส์เรื่องบูลที่กล่าวถึงในตอนต้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของกรีนที่สะท้อนให้เห็นว่า คุณธรรมจริยธรรมไม่ได้เป็นเรื่องของความดีงามเท่านั้น และการตัดสินบนหลักการและเหตุผล เช่น การใช้กฎหมายก็ไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว ยกตัวอย่าง ศาลที่มีคณะลูกขุนเข้ามาช่วยพิพากษาตัดสินคดีความ หากเปลี่ยนคณะลูกขุนกลุ่มใหม่ผลการพิพากษาให้ผลลัพธ์แตกต่างกันได้ หรือการสับเปลี่ยนลูกขุนแค่คนใดคนหนึ่งที่ตัดสินใจต่างจากลูกขุนคนเดิม เมื่อรวมผลการพิพากษาสัดส่วนคำตัดสินของคณะลูกขุนก็แตกต่างกันได้เช่นกัน แน่นอนว่าทุกการตัดสินมีผลต่อคำพิพากษาในแต่ละคดีความ
เราพบเห็นประเด็นด้านคุณธรรมจริยธรรมมากมายที่มักถูกพูดถึงในสังคม เช่น การทำแท้ง ความเท่าเทียมกันทางสังคม การส่งทหารไปรบในสงคราม ประชาชนที่ถูกฆ่าและได้รับผลกระทบจากสงคราม การรักษาพยาบาล การตัดสินโทษจำคุกหรือการประหารชีวิต การการุณยฆาตตัวเอง หรือแม้แต่เรื่องอัตราการเก็บภาษี สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ต่างๆ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การใช้ชีวิตนำพาทุกคนไปสู่การตัดสินใจทำและไม่ทำบางอย่างเสมอ กระบวนการตัดสินใจที่ว่านี้จึงไม่มีวันสิ้นสุด
ผลการศึกษาจำนวนมากด้านประสาทวิทยาย้ำชัดว่า อุปนิสัยด้านคุณธรรมจริยธรรมของเด็กและเยาวชนลดลงอย่างต่อเนื่อง
ผลจากการสำรวจจากผู้เข้าร่วมในสหรัฐอเมริการาว 2,600 คน โดย เอ็นบีซีนิวส์สเตทออฟไคน์เนส (NBC NEWS State of Kindness) แสดงสถิติ ดังนี้
ผู้ใหญ่ ร้อยละ 60 มองว่า การเรียนรู้ด้านคุณธรรมในเด็กเยาวชนล้มเหลวและเป็นปัญหาสำคัญของชาติ ร้อยละ 72 มองว่า ค่านิยมด้านคุณธรรมในสังคมกำลังแย่ลง ร้อยละ 40 ของเด็กเยาวชนมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่นลดลงเมื่อเทียบกับ 3 ทศวรรษก่อน และมองว่า เด็กเยาวชนแสดงพฤติกรรมที่วางตัวเองเป็นศูนย์กลางโดยไม่คิดถึงผู้อื่นมากขึ้นร้อยละ 58
ทั้งนี้ ผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนร่วมปลูกฝัง ทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้การการตัดสินใจอย่างมีคุณภาพอย่างมีเหตุผลและมีคุณธรรมได้ เช่น การจัดการตนเอง ความมีน้ำใจ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น การมีวินัยต่อตนเอง ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ การคิดขั้นสูง การสื่อสาร การทำงานเป็นทีม การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวิทยาการอย่างยั่งยืน เป็นต้น
มิเชล โบร์บา (Dr.Michele Borba) นักจิตวิทยาด้านการศึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูบุตร กล่าวถึง เคล็ดลับการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมในเด็กเยาวชน ไว้ดังนี้
- ผู้ปกครองมีความมุ่งมั่นที่จะเลี้ยงลูกด้วยคุณธรรม
ผู้ปกครองต้องมีความเชื่อว่า ทักษะและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านคุณธรรมจริยธรรมสร้างได้ และมีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตของลูกในอนาคต
- ผู้ปกครองรู้และเข้าใจที่มาที่ไปของความเชื่อและวิธีคิดของตัวเอง และพร้อมถ่ายทอดให้กับลูก
- ผู้ปกครองเป็นแบบอย่างที่ดีด้านคุณธรรมให้กับลูก
- สอนลูกในจังหวะเวลาที่เหมาะสม พูดคุยทำความเข้าใจกับลูกเกี่ยวกับคุณลักษณะด้านคุณธรรมด้านต่างๆ เช่น ในจังหวะที่สถานการณ์บางอย่างกำลังเกิดขึ้นแล้วต้องตัดสินใจ หลังดูการ์ตูน ละคร หรือหลังการอ่านนิทาน ที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรม รวมถึงการชวนคิดจากสถานการณ์สมมุติ
ตัวอย่างคำถาม
- ลูกชอบตัวละครตัวไหน เพราะอะไร?
- ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าลูกเป็นตัวละครนั้น ลูกจะทำอย่างไร เพราะอะไร?
- ถ้ามีคนขโมยตุ๊กตา/ ของเล่นโปรดของลูกไป ลูกจะรู้สึกอย่างไร? ลูกคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำไหม เพราะอะไร?
- ชื่นชมและให้กำลังใจ เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม ไม่ตำหนิ หรือลงโทษเมื่อลูกทำผิดพลาด แต่ใช้การตั้งคำถามจากข้อ 4 ชวนลูกสะท้อนคิดจากสถานการณ์สมมุติ เพื่อให้ลูกมองเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตนเอง