Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: September 2021

วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.1 ผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่มีต่อเด็กปฐมวัย
Early childhood
8 September 2021

วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.1 ผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาดที่มีต่อเด็กปฐมวัย

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • เกือบ 2 ปีที่โลกของเราเผชิญกับการระบาดของโควิด – 19 ผลกระทบเกิดกับคนแทบจะทุกกลุ่ม แต่ในเด็กเล็กที่เพิ่งใช้ชีวิตได้ไม่กี่ปี สถานการณ์ไม่ปกตินี้พรากโอกาสที่มีครั้งเดียวในชีวิตคือ ‘วัยเยาว์’ ของพวกเขาไปอย่างน่าเสียดาย 
  • บทความชุดนี้ เมริษา ยอดมณฑป นักจิตวิทยาแห่งเพจตามใจนักจิตวิทยา จะมาแชร์วิธีดูแลเยียวยาเด็กเล็กจากเหตุการณ์โควิด – 19 โดยในตอนที่ 1 จะเป็นการกล่าวถึงผลกระทบจากโควิด – 19 ที่อาจเกิดในเด็กปฐมวัย
  • ปัญหาที่มีแนวโน้มสามารถเกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัย ได้แก่ ปัญหาด้านอารมณ์ เพราะเด็กวัยนี้เป็นวัยช่างสังเกตซักถาม ทำให้เขามีคำถามมากมาย ซึ่งอาจส่งผลให้พ่อแม่หงุดหงิด กลายเป็นส่งผลแง่ลบทั้งสองฝ่าย ปัญหาการใช้หน้าจอที่ไม่เหมาะสม ปัญหาด้านพัฒนาการถดถอย หรือปัญหาโรคขาดธรรมชาติ

วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป…

สถานการณ์โรคระบาดโควิด – 19 ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เพียงพรากช่วงชีวิตที่ควรจะสดใสของบรรดาวัยรุ่นหนุ่มสาว และช่วงเวลาที่ควรได้ใช้ร่วมกันของผู้ใหญ่หลายๆ คน สถานการณ์ดังกล่าวยังได้พรากสิ่งที่สำคัญที่สุดที่เกิดขึ้นได้เพียงครั้งเดียวในชีวิตของคนเรา นั่นก็คือ ‘วัยเยาว์ของเด็กๆ ที่ถูกพรากไป’

ปฐมวัย 0 – 6 ปี คือ วัยแห่งการเรียนรู้โลก ที่นอกเหนือไปจากบ้านที่เขารู้จักเป็นอย่างดี แต่สถานการณ์โควิด – 19 ทำให้สิ่งธรรมดาๆ กลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเอื้อมถึง… 

‘รอยยิ้ม’ ที่ถูกปกปิดด้วยหน้ากากอนามัย ทำให้เด็กๆ ขาดโอกาสที่จะได้เรียนรู้อารมณ์จากสีหน้าของผู้อื่น

‘โรงเรียน’ ที่ถูกปิด และถูกแทนที่ด้วยการเรียนการสอนทางหน้าจอ ทำให้เด็กๆ อาจจะขาดโอกาสเรียนรู้และลงมือทำจากของจริง 

แม้เด็กบางคนอาจจะไม่มีปัญหากับการเรียนในลักษณะนี้ แต่ในระยะยาวการไปโรงเรียนอาจไม่ใช่เพียงเพื่อไปเรียนรู้แค่เนื้อหาทางวิชาการ แต่เพื่อให้เด็กๆ ได้ไปเพื่อฝึกใช้ชีวิต และการปรับตัวเข้ากับสังคม เด็กๆ อาจจะขาดโอกาสในการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ของพวกเขา

ปฐมวัยไม่ได้เป็นวัยที่เหมาะกับการเรียนออนไลน์เป็นระยะเวลานาน เพราะวัยของเขายังไม่มีสมาธิเพียงพอ

เด็กบางคนไม่ได้เหมาะกับการเรียนออนไลน์ เพราะเขาไม่สามารถเข้าใจผ่านการดูและฟังเพียงอย่างเดียว เขาต้องการลงมือทำ และมีคนพาเขาทำ

‘โลก’ ที่ถูกจำกัดไว้เหลือเพียงบ้านของเด็กๆ พวกเขาไม่ได้มีโอกาสออกไปเล่นที่สนามเด็กเล่น ไปว่ายน้ำที่สระขนาดใหญ่ แค่เพียงไปเยี่ยมคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย หรือคนอื่นๆ ในครอบครัวที่อาศัยอยู่ต่างบ้านก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

‘ร่างกาย’ ที่ถูกจำกัดการเรียนรู้

แทนที่เด็กๆ จะหายใจได้อย่างเต็มปอด ก็ต้องถูกจำกัดไว้เพียงแค่หายใจผ่านหน้ากากอนามัย 

แทนที่พวกเขาจะได้ใช้มือสัมผัสสิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่ ก็ระแวดระวัง และหมั่นล้างมือ กดเจลแอลกอฮอล์ให้กับมือตลอดเวลา

แทนที่พวกเขาจะได้เป่าเค้กวันเกิดได้อย่างที่ผ่านมา ก็ต้องใช้มือพัดให้เทียนดับลง

และสิ่งต่างๆ อีกมากมายที่เด็กๆ ถูกขโมยไปในช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิต

โลกใบเดิมที่คุ้นเคย กลับไม่ปลอดภัยดังเดิม…

ปัญหาที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นกับเด็กปฐมวัย

ข้อที่ 1 ปัญหาด้านอารมณ์ 

ย้อนไปตอนที่ยังไม่มีโควิด – 19 สมาชิกทุกคนอาจจะพอมีพื้นที่ส่วนตัวในบ้านกันบ้าง คุณพ่อและคุณแม่อาจจะมีโอกาสพาลูกๆ ออกไปเปลี่ยนบรรยากาศบ้าง กลายเป็นว่าทุกคนวนเวียนอยู่ในบ้าน บ้านที่มีพื้นที่ขนาดเล็กหรือเป็นคอนโดอาจจะทำให้คุณพ่อคุณแม่เจอกับภาวะเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก เพราะธรรมชาติของเด็กปฐมวัยเป็นวัยที่เต็มไปด้วยพลัง เด็กๆ ต้องการวิ่งเล่น ต้องการพื้นที่ปลดปล่อย พอต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเป็นเวลานาน เด็กๆ ย่อมรู้สึกอึดอัด ส่งผลให้เขารู้สึกหงุดหงิดงุ่นง่าน 

ผนวกกับการที่พ่อแม่อยู่กับเขา 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ อาจจะทำให้เราเผลอบ่น ตำหนิ และใช้คำว่า ‘ห้าม’ ‘อย่า’ ‘หยุด’ ‘ไม่’ เยอะขึ้น เช่น “อย่าเอาหน้ากากอนามัยออกนะ” “อย่าจับประตู” “ไม่ทำแบบนี้” “หยุดวิ่ง!” และอื่น ๆ อีกมากมาย 

คำสั่งเหล่านี้มันตรงกันข้ามกับพัฒนาการของเด็กที่เขาใช้ร่างกายของเขาตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย สำรวจ หรือแม้แต่กระทั่งค้นหาอย่างอิสระ จะเห็นได้ว่าการบังคับให้เด็กเล็กๆ ใส่แมสก์ตลอดเวลามันจึงส่งผลกระทบต่อชีวิตเขา และท้ายที่สุดเด็กๆ จะเกิดคำถามมากมาย “ทำไมล่ะ แค่อิสระที่จะหายใจก็ยังไม่ได้เลย ออกไปข้างนอกก็ต้องมีผ้าปิดปากตลอดเวลา” จุดนี้มันส่งผลต่อความหงุดหงิด อารมณ์ และเด็กโอกาสหลายอย่างที่เขาควรจะได้ทำไม่ต่างกันพ่อแม่ เมื่อลูกหงุดหงิด พ่อแม่ก็หงุดหงิด วนไปไม่มีที่สิ้นสุด

ดังนั้น เราทุกคนในบ้านควรมีทางออกให้กับอารมณ์ทางลบ เราควรอนุญาตให้ลูกแสดงออกถึงความรู้สึกของเขาที่มีต่อสถานการณ์ออกมาอย่างเหมาะสม ในพื้นที่ที่เหมาะสม เช่น ในมุมสงบที่ตกลงกันไว้ หรือการพูดคุยระบายให้เราฟัง สำหรับพ่อแม่เอง การพูดคุยกับคนที่เราไว้ใจ ช่วยให้เราได้ผ่อนคลายความเครียดที่สะสมอัดแน่นไว้ได้เช่นกัน

ในทางกลับกันสิ่งที่เราไม่อนุญาตให้ลูกทำ คือ ‘พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม’ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้น ได้แก่ พฤติกรรมที่อาจจะทำให้ตัวเขาและผู้อื่นเดือดร้อน เช่น การทำผิดกฎสามข้อ ไม่ทำร้ายตนเอง ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำลายข้าวของ

ข้อที่ 2 ปัญหาที่เกิดจากการใช้หน้าจออย่างไม่เหมาะสม

ถ้าหากเด็กปฐมวัยมีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จริงๆ อ้างอิงจาก The American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำว่า…

ข้อที่ 1 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 เดือนไม่ควรดูหน้าจอใดๆ เลย มากที่สุดที่เด็กวัยนี้สามารถเข้าถึงหน้าจอ คือ อาจจะแค่เป็น video call เพื่อให้คนไกลได้เห็นลูกหลานของตัวเองเท่านั้น ในกรณีอื่นควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด

ข้อที่ 2 เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 18 เดือน ถึง 2 ปี ถ้าหากมีความจำเป็น (จำเป็นมากๆ ไม่ใช่ดูเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือเล่นสำหรับเด็ก) เป็นต้องดูหน้าจอจริงๆ ไฟล์นั้น (วิดีโอนั้น) ต้องมีคุณภาพความละเอียดสูง และมีผู้ใหญ่คอยควบคุมกำกับดูแลตลอดเวลา ระยะเวลาในการดูแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 5 นาที ในหนึ่งวันไม่ควรเกิน 1 ครั้ง

ข้อที่ 3 เด็กที่มีอายุ 2 – 5 ปีถ้าหากจำเป็นจริงๆ ที่ต้องดูหน้าจอ ผู้ใหญ่ควรให้การกำกับดูแลตลอดเวลา และระยะเวลาในการดู คือ ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และรายการหรือ application นั่นควรมีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของเด็ก ด้วยเหตุนี้การเรียนออนไลน์อาจจะไม่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย และเด็กๆ ไม่ควรเรียนออนไลน์เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน

ข้อที่ 4 เด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปควรได้รับการจำกัดเวลา ตามตารางกิจกรรมต่อวันที่เหมาะสมของเด็ก (เด็กๆ ควรทำกิจวัตรประจำวันที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขาก่อนการมาดูหน้าจอ เช่น การกินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน เก็บที่นอน ทำงานบ้าน ทำการบ้าน หน้าจอควรมีไว้สำหรับเวลาว่าง ไม่ใช่เวลาหลักในชีวิตของเขา) และควรอยู่ภายใต้การดูแลของพ่อแม่และผู้ใหญ่

เทคโนโลยีไม่ได้ทำร้ายเด็กโดยตรง แต่ผู้ใหญ่ที่ส่งมอบเทคโนโลยีเหล่านั้นให้กับเด็กก่อนวัยอันควร และไม่สอนให้เขาใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธีต่างหากที่ทำร้ายเขาโดยตรง ทั้งๆ ที่สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ คือ การชะลอเวลาในการให้เด็กปฐมวัย (0 – 6 ปี) เข้าถึงเทคโนโลยีให้ช้าที่สุด ด้วยการส่งเสริมให้เขาทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับเขา การอ่านหนังสือนิทานให้เขาฟัง การชวนเขาทำงานบ้าน และการสอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองตามวัย 

เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กวัยนี้ คือ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ซึ่งเขาควรจะได้เรียนรู้จากของจริง และการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง

ที่สำคัญ การดูหน้าจอในเด็กวัยต่ำกว่า 6 ปี มักจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีที่ได้รับมา เช่น พฤติกรรมการติดหน้าจอ สมาธิที่ลดน้อยลง และอารมณ์ที่ไม่มั่นคง สาเหตุมาจาก ‘สมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex)’ ของเด็กวัยนี้ยังเติบโตไม่เต็มที่ สมองส่วนนี้ควบคุมเรื่องของการควบคุมตัวเอง (Self-regulation) ซึ่งส่งผลโดยตรงกับการควบคุมตัวเองในเด็กเล็กที่ยังไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มจะติดหน้าจอได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเขาควบคุมตัวเองให้หยุดดูได้ยากกว่าเรานั่นเอง

โรคที่สามารถเกิดขึ้นในเด็กจากการใช้เวลากับหน้าจออย่างไม่เหมาะสม 

  1. โรคออทิสติกเทียม หรืออาการคล้ายออทิสติก (Autistic-like Symptoms)

เด็กไม่ได้เป็นโรคออทิสติก (Autistic Spectrum Disorder; ASD) มาโดยกำเนิด แต่เมื่อดูหน้าจอในปริมาณมากติดต่อกันจนทำให้มีอาการออทิสติกเทียม หรืออาการคล้ายออทิสติก (Autistic-like Symptoms) กล่าวคือ เด็กมีความบกพร่องในการสื่อสารกับคนอื่นและสังคมภายนอก ทำให้เขาไม่สามารถบอกความต้องการหรือปฏิเสธได้อย่งเหมาะสม รวมทั้งบอกไม่ได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรหรือผู้อื่นรู้สึกอย่างไร มีปัญหาเด่นชัดเรื่องการปรับตัวเข้ากับสังคม และเด็กที่มีอาการนี้มักมีปัญหาพัฒนาการล่าช้าในหลายด้านและมีปัญหาด้านพฤติกรรมร่วมด้วย เด็กมักจะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ 

  1. สมาธิสั้นเทียม (Pseudo-ADHD : Pseudo-Attention Deficit Hyperactivity Disorder) 

เด็กที่มีอาการสมาธิสั้นมักจะมีพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่ง ( Hyperactive) ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับงาน และทำงานให้เสร็จได้ (Inattention) และหุนหันพลันแล่น (Impulsive) ซึ่งเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นเทียมซึ่ง เกิดจากปัจจัยทางสภาพแวดล้อมและการเลี้ยงดู มีลักษะเหล่านี้เช่นเดียวกับ เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นที่เกิด จากปัจจัยทางพันธุกรรมและความผิดปกติของสมอง สิ่งที่แตกต่างกัน คือ โรคสมาธิสั้นเทียมสามารถให้การป้องกันและแก้ไขได้ หากผู้ใหญ่ตระหนักถึงความสำคัญในการแบ่งเวลาในการให้เด็กดูหน้าจอและทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างเหมาะสม 

แนวทางในการบำบัดรักษาเด็กๆ เหล่านี้ คือ การลด หรืองดเวลาหน้าจอโดยทันที การบำบัดด้วยการปรับ พฤติกรรมร่วมกับการกระตุ้นพัฒนาการ ส่งเสริมเวลาว่างด้วยการเล่นและการปฏิสัมพันธ์กับคนในครอบครัว

ข้อที่ 3 โรคขาดธรรมชาติ (Nature Deficit Disorder) 

เด็กที่มีแนวโน้มเป็นโรคนี้ มักจะขาดโอกาสในการสัมผัสกับธรรมชาติ ไม่มีกิจกรรมนอกบ้าน และมักจจะอยู่แต่ในห้องปรับอากาศตลอดวัน ซึ่งเด็กๆ ในปัจจุบันที่ต้องกักตัวอยู่แต่ในบ้านเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ก็มีเป็นหนึ่งกลุ่มที่มีแนวโน้มจะเป็นโรคนี้ได้

ดังนั้น แม้จะอยู่บ้าน ผู้ใหญ่ควรหาพื้นที่ให้กับเด็กๆ ได้สัมผัสกับธรรมชาติบ้าง เช่น 

  • มุมเล่นทราย ถ้าบ้านมีพื้นที่เราสามารถทำบ่อทรายให้กับลูกลงไปเล่นทั้งตัวได้ แต่ถ้าที่บ้านไม่มีพื้นที่ เราสามารถนำทรายใส่ถาดหรือกล่องพลาสติกให้ลูกได้เล่นได้ ถ้าลูกแพ้ฝุ่นแพ้ทราย เราสามารถใช้ข้าวสาร เมล็ดถั่ว หรือ อื่นๆ ทดแทนได้ เพื่อให้มือของเด็กๆ ได้รับกระตุ้นการสัมผัสจากธรรมชาติ
  • มุมเล่นน้ำ จะเล่นในอ่าง ในบ่อ ในกะละมังซักผ้า แต่ละบ้านสามารถจัดสรรได้ตามสะดวก
  • มุมสีเขียว ผู้ใหญ่สามารถชวนเด็กๆ ปลูกต้นถั่วง่ายๆ ไปจนถึงไม้ประดับ พืชสวนครัว ต้นไม้ใหญ่ ทั้งนี้สามารถเลือกได้ตามขนาดพื้นที่ที่มีและความเหมาะสมได้ เป็นต้น

กิจกรรม ‘ทำอาหาร’ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่สามารถทำที่บ้าน และทำให้เด็กๆ ได้สัมผัสธรรมชาติได้ โดยผู้ใหญ่อาจจะให้เด็กๆ ช่วยล้าง หั่น บด คั้น ผัก – ผลไม้ หรือหุงข้าว และอื่นๆ เพราะวัตถุดิบเหล่านี้ก็มาจากธรรมชาติ

ข้อสำคัญ คือ ผู้ใหญ่ต้องเล็งเห็นความสำคัญของธรรมชาติที่มีผลต่อชีวิตของเด็กๆ รวมทั้งผู้ใหญ่อย่างเราด้วย และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เล่นกับธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ

ข้อที่ 4 ปัญหาด้านพัฒนาการถดถอย

เด็กบางคนต้องอยู่บ้านเป็นเวลานาน เขาอาจจะมีพฤติกรรมถดถอยเมื่อต้องกลับไปโรงเรียน 

ยกตัวอย่างพฤติกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นได้… การร้องไห้โวยวายกับทุกสิ่งที่ไม่ได้ดั่งใจ, ไม่ยอมกินข้าวเองจะให้เราป้อน, ไม่ยอมเดินให้เราอุ้ม เป็นต้น 

พฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เมื่อเด็กถูกคาดหวังให้ทำอะไรเมื่อเขายังไม่พร้อม พ่อแม่มีหน้าที่ชดเชยให้กับเขาในส่วนของเวลาคุณภาพ อ่านนิทาน เล่นกับลูก นอนกอดกัน รับฟัง และรับฟัง แต่ไม่ใช่ตามใจ แม้ลูกจะมีพฤติกรรมถดถอย ไม่ได้แปลว่า พ่อแม่ต้องทำสิ่งที่ลูกต้องทำได้ตามวัยของเขาให้เขา พาเขาทำ แต่ไม่ใช่ทำให้  ทำไปด้วยกัน ให้เขาเรียนรู้ว่า พ่อแม่รับฟังเขา แต่จะไม่ตามใจเขา

สุดท้าย แม้เราจะเตรียมความพร้อมมาอย่างดี เมื่อเด็กไม่พร้อม ก็คือไม่พร้อม เราควรรอ ไม่เร่งรัด และบีบบังคับเขาให้พร้อม เด็กแต่ละคนไม่ได้มีจังหวะชีวิตเหมือนกัน อย่าเปรียบเทียบลูกเรากับใคร เขาเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง

ข้อที่ 5 ปัญหาความวิตกกังวลและหวาดกลัวสภาพแวดล้อม 

สถานการณ์โรคระบาดสามารถทิ้งรอยแผลเอาไว้ในใจของเด็กๆ และผู้ใหญ่มากมาย ทั้งความหวาดกลัวต่อเชื้อโรคที่คร่าชีวิตคนที่รักไป และเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนทั้งโลกจากหน้ามือเป็นหลังมือ สำหรับเด็กๆ แล้ว การที่พวกเขาต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งที่ออกไปนอกบ้าน ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสสิ่งต่างๆ ข้างนอก และต้องเว้นระยะห่างจากเพื่อนๆ และคนอื่นๆ ในสังคม เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ 

แม้ว่าในอนาคตข้างหน้าสถานการณ์โรคระบาดอาจจะสิ้นสุดแล้ว แต่ร่องรอยที่หลงเหลืออยู่จากช่วงเวลาก่อนหน้า คือ ความทรงจำที่เต็มไปด้วยความวิตกกังวลและหวาดกลัว เมื่อเด็กๆ ต้องกลับไปใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง เด็กบางคนอาจจะยังไม่สามารถไว้วางใจสภาพแวดล้อมได้เช่นเดิม 

ความไม่ไว้วางใจสามารถทำให้เด็กๆ เกิดความวิตกกังวล ความเครียด และความกลัวได้ ซึ่งในเด็กบางคนอาจจะไม่กล้าออกจากบ้าน หรือ ไม่กล้าไปโรงเรียน หรือ ในเด็กบางคนที่ได้สูญเสียบุคคลที่รักไปจากเหตุการณ์โรคระบาด อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคจิตเวชต่าง ๆ ได้ เช่น  โรคซึมเศร้า (Depression)  โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive Compulsive Disorder)  โรคภาวะทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (PTSD: Post-Traumatic Stress Disorder) เป็นต้น

“การขอความช่วยเหลือ คือ สิ่งที่สามารถทำได้และควรทำ”

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกและตัวพ่อแม่เอง หากเกิดขึ้นเป็นระยะประมาณ 1 เดือนขึ้นไป และมีความรุนแรงเกินกว่าที่ทางบ้านจะรับมือไหว การปรึกษาจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และผู้เชี่ยวชาญต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นและควรทำ เพื่อให้ความช่วยเหลือกับเด็ก ๆ ได้อย่างทันท่วงที

บางครั้งปัญหาที่ดูเหมือนเล็กน้อย แต่ถ้าสะสมเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน อาจจะกลายเป็นปัญหาที่ใหญ่กว่าเดิม

และบางครั้งปัญหาที่เรากังวลใจ หากได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญอาจจะทำให้เราเข้าใจปัญหาและแก้ไขได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

อ้างอิง

AAP.org. (n.d.). Retrieved March 21, 2021, from https://www.aap.org/en-us/Pages/Default.aspx

American Psychiatric Association. (2013). Diagnostic and statistical manual of mental disorders 

(DSM-5®). American Psychiatric Pub.

Tags:

ปฐมวัยไวรัสโคโรนา(โควิด-19)โรคขาดธรรมชาติ(nature deficit disorder)

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Early childhood
    วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.3 แนวทางในการเตรียมความพร้อมให้กับลูกก่อนเข้าสู่สังคม (โรงเรียน)

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Early childhood
    วัยเยาว์ที่ถูกพรากไป ในโลกที่ไม่ปลอดภัยดังเดิม : EP.2 แนวทางการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับลูกปฐมวัย

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Creative learning
    ‘บ้านรัก’ สู่บ้านแห่งการเรียนรู้ ชวนพ่อแม่เป็นครู เรียนผ่านงานบ้าน งานสวน งานครัว : ครูอุ้ย – อภิสิรี จรัลชวนะเพท อนุบาลบ้านรัก

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Social Issues
    ผลกระทบของโควิด-19 ต่อครัวเรือนที่มีเด็กเล็ก

    เรื่อง

  • Early childhoodLearning Theory
    เข้าใจธรรมชาติวัยอนุบาล: เข้าอนุบาลไป ทำอะไรบ้าง

    เรื่อง อุบลวรรณ ปลื้มจิตร

ถอดบทเรียน ‘ครูสามเส้า’ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องเป็นโอกาสและโจทย์ร่วมของสังคม : มุมมอง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ
8 September 2021

ถอดบทเรียน ‘ครูสามเส้า’ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องเป็นโอกาสและโจทย์ร่วมของสังคม : มุมมอง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • โจทย์เรื่องการปฏิรูปการศึกษาจากล่างขึ้นบนในปัจจุบัน ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นการทำงานจะอยู่ในวงแคบๆ เพียง 8 – 9 จังหวัดนำร่องเท่านั้น อีกทั้ง Social movement การขับเคลื่อนกระแสสังคมว่า มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในระบบการศึกษา มีทางออก และมีเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการจากล่างขึ้นบน
  • คาแรกเตอร์ของครูซึ่งสำคัญในระบบการศึกษา คือ ‘ครู’ ต้องกล้าคิดนอกกรอบ มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องโครงงานฐานวิจัย หลักสูตรแกนกลาง 51 หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่สำคัญคือ ‘หลักสูตรภูมิสังคม’ เสริมด้วยระบบ PLC รวมถึงเรื่องการตั้งคำถามและการให้กำลังใจเด็กด้วย
  • “เพราะฉะนั้นอัตลักษณ์ที่เป็นความหวังของคนจังหวัดสตูลก็คือ ให้เขารู้จักกำพืดของคนในจังหวัด รู้เรื่องศิลปะ รู้เรื่องวัฒนธรรม เวลาเขาจบการศึกษาไปเขาจะไม่ย้ายออกจากถิ่นฐาน เขาจะไม่ดูแคลนอาชีพของพ่อแม่เขา อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อค้นพบสำคัญเรื่องหนึ่ง”

ภาพ : เว็บไซต์ กสศ.

“สตูลจะมีลักษณะเฉพาะ คือ มีโครงงานฐานวิจัยเป็นตัวหลัก ตัวขับเคลื่อนเป็นครูสามเส้า เพราะฉะนั้นครูสามเส้าในความหมายที่สตูลค้นพบขึ้นมาเป็นก้าวเล็กๆ แต่มีอำนาจในการพังทลายเรื่องห้องเรียน เรื่องของการเรียนรู้ แล้วมันเข้าไปสู่เรื่องชุมชน ที่สำคัญคือจะเปลี่ยน Mindset ครูอย่างไร จะเปลี่ยนกรอบระบบราชการก้าวไปสู่ระบบการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมากขึ้น และทลายกำแพงต่างๆ ได้อย่างไร” 

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สะท้อนมุมมองจากบทเรียนครูสามเส้า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ในงาน เสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ซึ่งนอกจากนำเสนอตัวอย่างการปรับตัวภายใต้บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของโรงเรียนบ้านเขาจีนและโรงเรียนอนุบาลสตูล ในช่วงท้ายของการเสวนายังมีเวทีสะท้อนคิดโดยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาอีกหลายท่านด้วย 

เอาชนะข้อจำกัด ต่อยอดองค์ความรู้ สู่ใบงานบูรณาการ

ในการจัดการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นั้น ด้านกระทรวงศึกษาธิมีการออกแบบการเรียน 5 รูปแบบ คือ ออนไซต์ ออนดีมานด์ ออนไลน์ ออนแอร์ และออนแฮนด์ ซึ่งโรงเรียนบ้านเขาจีนกับโรงเรียนอนุบาลสตูล สามารถนำ 5 ออนดังกล่าว เป็นพื้นฐานและต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ โดยจะใช้โครงงานฐานวิจัยที่ค้นพบร่วมกัน 

ทว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับคนทำงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็คือ หากเกิดเป็นพื้นที่นวัตกรรมโครงงานฐานวิจัยแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนใหญ่การทำงานจะไม่มีความต่อเนื่อง หรืออาจไม่ทำต่อ แต่ไม่ใช่กับโรงเรียนอนุบาลสตูล 

“ผอ.ยงยุทธ มาต่องานจาก ผอ.สุทธิ แล้วก็สร้างเรื่องนาฬิกาชีวิต เพราะฉะนั้นยังมีโครงงานฐานวิจัยอยู่ แต่มีเวอร์ชั่นใหม่ มีการต่อยอดเกิดขึ้น มันทำให้ตัวนวัตกรรมมันมีชีวิตต่อไป ผอ.พยายามใช้เรื่องนาฬิกาชีวิตต่อยอดจากโครงงานฐานวิจัย แล้วสามารถเอาชนะปัญหาข้อจำกัดเรื่องโควิด-19 ได้ แล้วเห็นศักยภาพ เห็นความร่วมมือการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ผู้ปกครองมันบวกยกกำลังสองของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น”

ในขณะเดียวกันโรงเรียนบ้านเขาจีน พบปัญหาความเครียดสามเส้า ทั้งเด็ก พ่อแม่ และครูต่างเผชิญกับความเครียด

“แต่แค่ใบงานใบเดียวที่เป็นใบงานบูรณาการ เห็นไหมครับว่าเขาสามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับเรื่องของการเรียนรู้และก็การใส่ใบงานใส่ๆๆๆ ลงไปแต่ไม่เกิดการเรียนรู้ แต่เกิดความเครียดและความกดดัน แล้วไม่มีความสุขกันทั่วแผ่นดินเลย พูดง่ายๆ PLC ที่คุยกันทำให้เกิดใบงานบูรณาการแล้วแก้ไขปัญหาได้”

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

เชื่อมโยงโรงเรียนกับชุมชน เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่ 

จากบทเรียนครูสามเส้า ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล ศ.ดร.สมพงษ์ สะท้อนว่า ครูสามเส้าจะต้องชัดเจนในบทบาทของตนเอง ครูคนแรก ‘ครูโรงเรียน’ ต้องกล้าคิดนอกกรอบ นั่นคือจะต้องมีพื้นฐานเรื่องโครงงานฐานวิจัยเสียก่อน และนอกจากความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องโครงงานฐานวิจัยแล้ว จะต้องมีหลักสูตรแกนกลาง 51 หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่สำคัญคือ ‘หลักสูตรภูมิสังคม’ เสริมด้วยระบบ PLC ซึ่งเห็นได้จากผลลัพธ์ในการจัดการเรียนรู้ เมื่อใบงานเยอะเกินไป : การปรับตัวของโรงเรียนบ้านเขาจีน กระทั่งกลายเป็นใบงานบูรณาการ อีกทั้งเรื่องการตั้งคำถาม การให้กำลังใจเด็ก นี่คือคาแรกเตอร์ของครูซึ่งสำคัญในระบบการศึกษาที่ศ.ดร.สมพงษ์ มองเห็น 

ครูคนต่อมาพวกเขาเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดทั้งคุณภาพ ความมั่นคง และเกิดการเชื่อมโยง นั่นก็คือ ‘ครูชุมชน’ ครูชุมชนจะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ทุนทางสังคม เช่น ระบบเครือญาติ ระบบทรัพยากร ศิลปะ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เหล่านี้คือปัจจัยที่เอื้อหนุนการหล่อหลอม ทำให้เด็กเติบขึ้นในชุมชนอย่างรู้เท่าทัน 

และครูที่สาม ซึ่งในที่นี้เรียกว่า ‘ครูชีวิต’ หรือ ‘ครูพ่อแม่’ นั่นเอง โดยจะถ่ายทอดสารพัดวิชาทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นการกรีดยาง การทำประมง การเลี้ยงไก่ หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงปลากัด จากตัวอย่าง ‘นาฬิกาชีวิตกับโครงงานฐานวิจัย : การปรับตัวของโรงเรียนอนุบาลสตูล’

“สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นคือความเป็นสตูล Active Citizen เกิดขึ้น แค่เคสสองเคสที่เราพบ อย่างน้องที่อยู่ในโรงเรียนขยายโอกาส ถ้าเรียนตามปกติเขาจะไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง แต่พอมีโอกาสเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในคุณภาพชีวิตเขา แล้วเด็กที่อยู่จังหวัดสตูลตัวชี้วัดคุณภาพเราจะเห็นคือ เขาเป็นเด็กหลังห้อง ถ้าพูดกันในระบบการศึกษาก็พร้อมจะหลุดจากระบบ ครูก็จะเอาใจใส่น้อย แต่ไม่ใช่ที่จังหวัดสตูล” 

แม้ว่าเด็กหลังห้องส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้รับการยอมรับ แต่เด็กหลังห้องคนนี้พิสูจน์และท้าทายทฤษฎีว่า ถ้าเขาสนุกกับการเรียนรู้เขาจะพัฒนาตัวเอง จนในที่สุดศักยภาพมีเกิดขึ้นมา เช่น มีความอดทน ช่างสังเกต รอบคอบ กระตือรือร้นอยากเรียน จะเห็นว่าเด็กในจังหวัดสตูล สามารถไต่ไปสู่ศักยภาพการค้นพบรู้จักตนเอง  

“เพราะฉะนั้น อัตลักษณ์ที่เป็นความหวังของคนจังหวัดสตูลก็คือ ให้เขารู้จักกำพืดของคนในจังหวัด รู้เรื่องศิลปะ รู้เรื่องวัฒนธรรม เวลาเขาจบการศึกษาไปเขาจะไม่ย้ายออกจากถิ่นฐาน เขาจะไม่ดูแคลนอาชีพของพ่อแม่เขา อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อค้นพบสำคัญเรื่องหนึ่ง”

สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกัน ผลักดันพื้นที่นวัตกรรมสู่การปฏิรูปการศึกษา

อีกประเด็นสำคัญที่ ศ.ดร.สมพงษ์ หยิบมาแลกเปลี่ยนนั้น คือโจทย์ที่ผอ.สุทธิ สายสุนีย์ โยนลงมาและสร้างแรงกระเพื่อมให้พื้นที่นวัตกรรมครั้งใหญ่ นั่นคือ 

“ใครเป็นเจ้าของนวัตกรรม ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ คนๆ นั้นจะเป็นคนทำ แต่ถ้าเขาไม่ได้มีความรู้สึกมีส่วนร่วม แล้วเป็นเจ้าของโจทย์ เขาจะอยู่รอบนอก จังหวัดสตูลก็เผชิญปัญหาแบบนี้ คือคนที่ทำเป็นเจ้าขอโจทย์เราก็จะดำเนินการ เรามุ่งมั่นแล้วเราเห็นความสำคัญ เรารู้ว่ามันดีแน่ๆ แต่คนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกับเราคือ ข้าราชการ เขามีความรู้สึกเลยว่าเขามีส่วนร่วมต่ำ อันนี้คือโจทย์ใหญ่ที่สุดว่า เราจะทำโจทย์นี้ให้เป็นเจ้าของโจทย์ร่วมอย่างไร” 

เพราะฉะนั้นโจทย์เรื่องการปฏิรูปการศึกษาจากล่างขึ้นบนในปัจจุบันนี้ ประเด็นสำคัญที่จะต้องทำก็คือ การทำให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นการทำงานจะอยู่ในวงแคบๆ เพียง 8 – 9 จังหวัดนำร่องเท่านั้น 

“ในส่วนที่ผมยังคิดว่าในเรื่องพื้นที่นวัตกรรมเราจะต้องแก้ไขกัน เรามีพื้นที่ละ เรามีโรงเรียนละ เรามีนวัตกรรมละ เรามีหลายฝ่ายที่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการระดับประเทศ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ Social movement คือการขับเคลื่อนกระแสสังคมว่า มันมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในระบบการศึกษา มันมีทางออกนะ มันมีเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการจากล่างขึ้นบน 

ส่วนนี้จะต้องมีใครมีส่วนร่วม หนึ่งสื่อมวลชน สอง NGO ภาคเอกชน จะช่วยกระเพื่อมแล้วในที่สุดจังหวัดอื่นเขาจะค่อยๆ เตรียมความพร้อม อย่างไปสั่งทุบโต๊ะสั่ง แต่เราจะทำยังไงให้แม่ฮ่องสอน ทำให้จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดต่างๆ เขามีความรู้สึกว่า เขาเป็นเจ้าของโจทย์ แล้วก็มีความรู้สึกว่าเขาอยากทำ”   

สุดท้ายแล้ว พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะต้องกลายเป็นโอกาสของทุกๆ จังหวัด ที่อยากจะจัดการเรียนรู้บนบริบทของจังหวัดนั้นๆ โดยมีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของโจทย์เป็นที่ตั้ง

Tags:

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครูสามเส้าResearch Base Learning(RBL)สตูลล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • Creative learning
    ‘ใบงานบูรณาการ’ โรงเรียนบ้านเขาจีน : เมื่อครูช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมในโจทย์เดียว ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • ‘ครูสามเส้า’ นวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนอนุบาลสตูล : เมื่อครูอยู่รอบตัวเรา และการเรียนรู้ไม่ได้หยุดแค่ห้องเรียน

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    การออกแบบการสอนที่ให้เด็กทำสิ่งสำคัญ คือ การ ‘ฝัน’ และพิสูจน์สิ่งที่ฝันให้ได้ก่อน: อภิชาติ อดิศักดิ์ภิรมย์

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี

  • Unique Teacher
    วนิดา ศิริวัฒน์: ครูที่ตั้งใจเป็น ‘ครูผู้ไม่รู้’ เพื่อเรียนรู้ไปพร้อมนักเรียน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learningLearning Theory
    ชวนพ่อแม่มาเป็นครู สอนวิชาที่เด็กๆ ชอบและไม่มีอยู่ในตำรา โรงเรียนบ้านควนเก จังหวัดสตูล

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

‘ครูสามเส้า’ นวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนอนุบาลสตูล : เมื่อครูอยู่รอบตัวเรา และการเรียนรู้ไม่ได้หยุดแค่ห้องเรียน
7 September 2021

‘ครูสามเส้า’ นวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนอนุบาลสตูล : เมื่อครูอยู่รอบตัวเรา และการเรียนรู้ไม่ได้หยุดแค่ห้องเรียน

เรื่อง ปริสุทธิ์

  • ‘ครูสามเส้า’ ประกอบด้วย ครูโรงเรียน ครูพ่อแม่ และครูชุมชน เป็นหลักในการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับการใช้โครงงานฐานวิจัย ที่ไม่เพียงทลายกำแพงห้องเรียนยังทลายกำแพงการเรียนรู้เพื่อให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสมรรถนะของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ
  • จากปัญหาหลายอย่างในการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เช่น ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน, ผู้ปกครองช่วยสอนไม่ได้, ใช้เครื่องมือไม่เป็น, เด็กอยู่หน้าจอมากเกินไป ฯลฯ นำไปสู่การ PLC เพื่อจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ ทั้งหลักสูตรฐานสมรรถนะ, ครูสามเส้า, โครงงานฐานวิจัย 14 ขั้นตอน และเครื่องมือสำคัญอย่าง ‘นาฬิกาชีวิต’
  • ในการนำโครงงานฐานวิจัย (RBL) มาใช้ในสถานการณ์นี้ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือ การลงพื้นที่จริง ลงมือปฏิบัติจริง แต่เมื่อต้องเรียนออนไลน์เป้าหมายก็เปลี่ยนเป็นนักเรียนต้องได้ทักษะและสมรรถนะติดตัว โดยครูมีบทบาทออกแบบการเรียนรู้และเป็นโค้ช ผู้ปกครองเป็นคนร่วมคิด ร่วมทำ พาทำ

เมื่อเด็กยุคใหม่ไม่ได้เรียนรู้เพียงในห้องเรียน แต่โลกทั้งใบคือตำราเล่มใหญ่ที่เปิดกว้าง พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล โดยโรงเรียนอนุบาลสตูลจึงพัฒนาแนวคิดในการออกแบบการเรียนรู้ที่เรียกว่า “ครูสามเส้า” ประกอบด้วย ครูโรงเรียน ครูพ่อแม่และครูชุมชน เพื่อสนับสนุนให้เด็กๆ เป็นเจ้าของการเรียนรู้บนฐานทุนชีวิตและชุมชน 

ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์‘ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 บทเรียนครูสามเส้า กรณีศึกษา เครือข่ายโรงเรียนนำร่องพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล โรงเรียนอนุบาลสตูลได้ขยายความแนวคิด ‘ครูสามเส้า’ ที่เป็นหลักในการออกแบบการเรียนรู้ร่วมกับการใช้โครงงานฐานวิจัย ที่ไม่เพียงทลายกำแพงห้องเรียนยังทลายกำแพงการเรียนรู้เพื่อให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะสมรรถนะของตนเองอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมกันนี้ยังได้แชร์ประสบการณ์การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ในบริบทของพื้นที่ด้วย

จากโครงงานฐานวิจัย สู่ ‘นาฬิกาชีวิต’  

ในบริบทของจังหวัดนำร่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนอนุบาลสตูลได้จัดการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัย หรือ Research Based Learning ในลักษณะ 1 ห้องเรียน 1 โจทย์วิจัยมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 การลงพื้นที่จริงในชุมชนมีข้อจำกัดมากมาย ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนและหาแนวทางออกแบบการเรียนรู้ใหม่ที่เหมาะสมกับสถานการณ์

ยงยุทธ ยืนยง ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล ชวนคิดว่า โดยปกติแล้วไม่ว่าจะโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรแกนกลาง 51 หรือหลักสูตรฐานสมรรถนะ นักเรียนมีเวลาเรียนจริงๆ ในระดับประถมศึกษาไม่เกินปีละ 1,200 ชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลืออีก 6,360 ชั่วโมง คำถามคือใครเป็นผู้รับผิดชอบการเรียนรู้ของเด็ก?

“ถ้าเราต้องการให้เด็กเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ตัวเลขนี้จะไม่ตอบโจทย์กับคำถามดังกล่าว สำหรับหลักสูตรของโรงเรียนอนุบาลสตูลเราแบ่งเป็น ภาคเช้าเรียนวิชาพื้นฐาน ภาคบ่ายวิชาบูรณาการ เราจัดการเรียนรู้ด้วยโครงงานฐานวิจัย (RBL) แต่ในสถานการณ์โควิดเราเป็นออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ ลงพื้นที่ไม่ได้”

เมื่อเป็นการเรียนการสอนออนไลน์ จึงมีปัญหาหลายอย่าง เช่น ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน, ผู้ปกครองช่วยสอนไม่ได้, ใช้เครื่องมือไม่เป็น, เด็กอยู่หน้าจอมากเกินไป ฯลฯ จากปัญหาดังกล่าวสู่การ PLC เพื่อจัดกระบวนการเรียนการสอนใหม่ ทั้งหลักสูตรฐานสมรรถนะ, ครูสามเส้า, โครงงานฐานวิจัย 14 ขั้นตอน และเครื่องมือสำคัญอย่าง นาฬิกาชีวิต

ผอ.ยงยุทธ อธิบายว่า ‘นาฬิกาชีวิต’ คือตารางกิจวัตรประจำวันของนักเรียนใน 24 ชั่วโมง ซึ่งเกิดจากการ PLC แล้วพบประเด็นว่าใน 24 ชั่วโมงเด็กๆ จะใช้อย่างไม่มีคุณภาพและไม่หลากหลาย ดังนั้นกิจวัตรประจำวันจึงเป็นสิ่งที่จะนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาตัวเองของเด็กๆ

“นาฬิกาชีวิตทำให้นักเรียนวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของตัวเองตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอนอีกครั้งหนึ่งว่าวิถีชีวิตของตัวเองนั้นต้องทำอะไรบ้าง ขณะเดียวกันต้องวิเคราะห์กิจวัตรประจำวันของผู้ปกครองด้วย พอได้ตารางนาฬิกาชีวิตแล้ว นักเรียนจะมีนาฬิกาชีวิตเป็นของตัวเอง ไม่เหมือนกันตามบริบทของตัวเอง”

สำหรับกระบวนการ 14 ขั้นตอนในโครงงานฐานวิจัย (RBL) เดิม  หลายขั้นตอนทำไม่ได้ในสถานการณ์นี้ เช่น การลงพื้นที่ การรวมกลุ่มกันทำโครงงาน ผอ.ยงยุทธจึงออกแบบใหม่จากเดิม 1 ห้อง 1 โจทย์ เป็น 1 ห้องมากกว่า 1 โจทย์ จากนักเรียนหลายกลุ่ม โดยกระบวนการพัฒนาโจทย์ออกแบบให้เกี่ยวข้องกับตัวนักเรียน ครอบครัว และชุมชน เพื่อให้สามารถลงพื้นที่ทดลองและปฏิบัติได้

ทลายกำแพงห้องเรียน ทลายกำแพงการเรียนรู้สู่สมรรถนะ

ในมุมของครูที่ได้นำ RBL มาใช้ในสถานการณ์โควิด ‘ครูสวย’ นัฐญา ไหมฉิม ครูโรงเรียนอนุบาลสตูล อธิบายว่าเป้าหมายคือการลงพื้นที่จริง ลงมือปฏิบัติจริง แต่เมื่อต้องเรียนออนไลน์เป้าหมายก็เปลี่ยนเป็นนักเรียนต้องได้ทักษะและสมรรถนะติดตัว โดยมีผู้ปกครองเป็นส่วนหนึ่งของครูสามเส้า

“ครูอยากเพิ่มบทบาทให้ผู้ปกครอง และอยากให้ผู้ปกครองพานักเรียนเดินไปด้วยกัน ครูเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามาในห้องเรียนออนไลน์ได้ ยกตัวอย่างโจทย์ปลากัดของครอบครัวนักเรียนที่เลี้ยงปลากัด เป็นเรื่องใกล้ตัว ลักษณะของโจทย์คือลงมือปฏิบัติและเรียนร่วมกับครอบครัว เมื่อ 6 ครอบครัว ต้องเรียนด้วยกัน 

ครูทลายกำแพงห้องเรียน ด้วยการที่เด็กดึงผู้ปกครอง ดึงเพื่อน ดึงเพื่อนต่างโรงเรียน หลังจากนั้นครูก็เพิ่มบทบาทให้ผู้ปกครอง ร่วมตั้งประเด็นระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ผู้ปกครองจึงได้มาร่วมเป็นเจ้าของโจทย์”

ณัฐรี ทองชู ผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนอนุบาลสตูล กล่าวถึงความรู้สึกหลังจากเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้ผ่านโครงงานฐานวิจัยของลูกว่า ดีใจและภูมิใจที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก

“จากเดิมที่ลูกเป็นเด็กนักเรียนหลังห้อง เขาไม่มีความมั่นใจ ตั้งแต่มาเรียนออนไลน์ ครูมีอะไรก็เรียกถามเขา เหมือนพอเขาได้ตอบคำถาม ได้เรียนรู้ไป เขาก็ไม่กลัวค่ะ เขาอยากจะเรียน เขาสนุก แม่เดินผ่านไปผ่านมาเห็นลูกมีความสุขก็ดีใจค่ะ ดีกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก ตื่นมาตอนเช้าก็เห็นเขาอยากเรียน คนเป็นแม่ก็ภูมิใจ เห็นลูกอยากเรียนหนังสือ

แม่เองก็ช่วยลูกทุกอย่างค่ะ ร่วมทำกิจกรรมกับลูก ถามลูกทุกวันว่าวันนี้มีอะไรให้แม่ช่วยได้ไหม ครูสั่งงานอะไรที่คุณแม่ช่วยได้ก็จะช่วยทุกอย่างเลยค่ะ ถ้าคุณแม่ไม่เข้าใจก็จะปรึกษาคุณครูตลอดค่ะ ตอนที่ยังไม่มีโควิด ลูกไปลงพื้นที่น่าจะเกี่ยวกับเรื่องเมล็ดกาแฟ คุณแม่ก็ไปคอย อยากเห็นลูกทำ เขาก็มาถามว่าเมล็ดกาแฟเป็นอย่างไร ก็บอกลูกว่าต้นเป็นแบบนี้ ดอกสีขาว มีกลิ่นหอม เขาเอาเมล็ดมาคั่ว คือเอาความรู้ของคุณแม่ที่เคยเห็นมาสอนเขา คุยกันว่าเหมือนกันไหมที่ลูกไปเรียน”

สิ่งที่ผู้ปกครองกล่าวมา ครูสวยอธิบายว่าตรงกับบทบาทของ ‘ครูสามเส้า’ ที่วางกันไว้ คือ ครูมีบทบาทออกแบบการเรียนรู้และเป็นโค้ช, ผู้ปกครองเป็นคนร่วมคิด ร่วมทำ พาทำ และนักเรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติและจัดการตัวเอง

ทั้งนี้ ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ขยายความถึงความสำคัญของกระบวนการโครงงานฐานวิจัย (RBL) ว่า

“จะเห็นเลยว่าโครงงานเดิมๆ ที่เราทำมา เราจะเน้นเรื่อง Active Learning คือให้เด็กลุกขึ้นมารับผิดชอบโครงงานของตัวเอง แต่สำหรับโครงงานฐานวิจัย จะมีกระบวนการวิทยาศาสตร์เข้ามาตลอดเส้นทาง เข้ามาตั้งแต่เรื่องการให้เด็กสืบค้นความรู้ด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้ความรู้ Input กับการทำงาน เด็กต้องตั้งคำถามก่อนว่าความรู้อะไรที่เขาไม่มี แล้วเขาจะต้องไปหาความรู้จากไหน มีการเก็บข้อมูล ข้อมูลนั้นเป็นตัวเลข เป็นวิทยาศาสตร์ มีการเฝ้าสังเกต แล้วเอาข้อมูลที่เก็บได้ตลอดทางมาวิเคราะห์ เอาข้อมูลที่วิเคราะห์กลับมาสังเคราะห์ได้เป็นชุดความรู้ใหม่ของเด็กเอง สุดท้ายแล้วอาจจะได้ผลที่ต้องการหรืออาจไม่ได้เลย นั่นคือ Output

กระบวนการ RBL ความสำคัญอยู่ที่ตลอดเส้นทาง เด็กมีสมรรถนะในการไปหาความรู้ มีสมรรถนะในการเก็บข้อมูล มีสมรรถนะในการสังเกต มีสมรรถนะในการวิเคราะห์ผล  และมีสมรรถนะในการสังเคราะห์ข้อมูล ความสามารถแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นโจทย์วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม เศรษฐศาสตร์ เด็กเอาสมรรถนะนี้ไปใช้ได้หมด นี่คือความหมายของการเรียนรู้จากโครงงานฐานวิจัย”

ชีวิตเด็กคือตัวตั้งในการออกแบบการเรียนรู้

ในวันที่ฐานการเรียนรู้ย้ายจากโรงเรียนไปที่บ้าน การปรับการเรียนเปลี่ยนการสอนเริ่มที่โรงเรียนอย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ผู้ปกครองและชุมชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมสร้างการเรียนรู้ให้เป็นหนึ่งเดียว 

สุทธิ สายสุนีย์ อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล และ คณะกรรมการขับเคลื่อนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดสตูล กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 10 ปีที่ตนย้ำมาเสมอว่าสัดส่วนการสร้างการเรียนรู้ของเด็ก ร้อยละ 40 แรกเกิดขึ้นที่บ้าน ร้อยละ 30 เป็นการเรียนรู้ในโรงเรียน และร้อยละ 30 ที่เหลือเป็นการเรียนรู้จากภายนอก 

เป้าหมายร่วมของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล คือ การจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning ที่ผู้เรียนปฏิบัติเองและสร้างการเรียนรู้ส่วนบุคคลได้ เพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าในตนเอง ครูสร้าง Learning Space หรือ พื้นที่การเรียนรู้ได้จากทุนในชุมชน ลดอำนาจและสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้อำนวยการ ครู เด็ก ผู้ปกครอง และชุมชน ทำให้ทุกพื้นที่กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ สร้างสาระการเรียนที่ใช้ชีวิตเป็นฐานแทนการเรียน 8 กลุ่มสาระวิชาที่เห็นผลได้อย่างชัดเจนในสถานการณ์ตอนนี้ว่าเด็กนำมาใช้ในชีวิตจริงไม่ได้

หลักสูตร ‘ครูสามเส้า’ เกิดขึ้นจากความเชื่อที่ว่า ครูเพียงคนเดียวไม่สามารถทำให้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจาก ครูในโรงเรียน ครูพ่อแม่ และครูในชุมชน เพื่อสร้างการเรียนรู้ให้อยู่ในวิถีของเด็ก ประเด็นสำคัญ คือ คนในพื้นที่ควรรู้จักตัวเองก่อนไปเรียนรู้สิ่งอื่น และโรงเรียนเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการศึกษา เป็นกลไกการจัดการหนึ่งที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระบบการศึกษาต่อไป

“ที่ผ่านมาการศึกษาทำลายศักยภาพของเด็กมามากแล้ว จากการเอาความแตกต่างมาทำให้เป็นความเหมือน เราฝากการศึกษาไว้กับเวลา 11% ในโรงเรียน เราจะฝากชีวิตเด็กไว้กับเวลาแค่ 11% นี้จริงๆ หรือ ทั้งที่สาระชีวิตเป็นสาระที่ทิ้งไม่ได้ เอาชีวิตมาเป็นตัวตั้งแล้วออกแบบการเรียนจากตรงนั้น 

เด็กคนหนึ่งไปอยู่ที่ไหนบทบาทของตัวเองก็เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ อยู่บ้านเป็นลูก อยู่โรงเรียนเป็นนักเรียน ขึ้นรถโดยสารก็เป็นผู้โดยสาร ไปตลาดก็เป็นผู้จ่ายตลาด เด็กควรรู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไรให้ถูกที่ถูกทาง บทบาทของโรงเรียนเปลี่ยนไปแล้ว โรงเรียนควรเป็นที่ปรึกษา ร่วมออกแบบการเรียนรู้กับครอบครัวและชุมชน จะไปจัดการเองทั้งหมดไม่ได้อีกแล้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ทำอะไร เมื่อมีตัวตน มีพื้นที่ มีกิจกรรม การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา” สุทธิ สายสุนีย์ กล่าวทิ้งท้าย

Tags:

Research Base Learning(RBL)โรงเรียนอนุบาลสตูลล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาครูสามเส้า

Author:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • ถอดบทเรียน ‘ครูสามเส้า’ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องเป็นโอกาสและโจทย์ร่วมของสังคม : มุมมอง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learningSocial Issues
    ปิดโรงสอน ย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็ก : พลิกโควิดเป็นโอกาส กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    การออกแบบการสอนที่ให้เด็กทำสิ่งสำคัญ คือ การ ‘ฝัน’ และพิสูจน์สิ่งที่ฝันให้ได้ก่อน: อภิชาติ อดิศักดิ์ภิรมย์

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี

  • Unique Teacher
    วนิดา ศิริวัฒน์: ครูที่ตั้งใจเป็น ‘ครูผู้ไม่รู้’ เพื่อเรียนรู้ไปพร้อมนักเรียน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learningLearning Theory
    ชวนพ่อแม่มาเป็นครู สอนวิชาที่เด็กๆ ชอบและไม่มีอยู่ในตำรา โรงเรียนบ้านควนเก จังหวัดสตูล

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

‘Transformative School Directive’ เปลี่ยนโรงเรียนทั้งระบบแบบกัลยาณมิตร : ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง โรงเรียนวัดตาขัน
6 September 2021

‘Transformative School Directive’ เปลี่ยนโรงเรียนทั้งระบบแบบกัลยาณมิตร : ผอ.วิชัย จันทร์ส่อง โรงเรียนวัดตาขัน

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • การจัดการเรียนรู้ที่ใช้ความรู้วิชาพื้นฐานประยุกต์กับวิชาชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในชุมชนและนักเรียน โดยเริ่มจากผอ.สร้างแรงบันดาลใจให้ครู เพื่อเปลี่ยนโรงเรียนทั้งระบบแบบกัลยาณมิตร โดย วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน
  • ภายใต้ School Concept ‘นักนวัตกรเชิงวิถี’ หรือ TK Bio-culture & Innovation School พัฒนานักเรียนให้รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ดูแลตนเอง สังคม และโลกได้อย่างสร้างสรรค์
  • “เรามองภาพว่า เด็กของเราต้องมีคาแรกเตอร์ ซึ่งน่าจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์วิถีสุขภาพ ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องเรียนรู้การเป็นนักนวัตกรน้อย นักเทคโนโลยีสร้างสรรค์ หรือนักธุรกิจน้อยด้วย จึงกลายมาเป็น DOL ของเรา และพัฒนาเป็นสมรรถนะ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน สำคัญคือ สมรรถนะพื้นฐาน 4 วิชาหลัก กับ สมรรถนะของโรงเรียน”

ภาพ : เพจเฟซบุ๊ก โรงเรียนวัดตาขัน

จากฐานทุนชุมชนและทุนโรงเรียนที่มี วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน เห็นความสำคัญในการใช้ความรู้วิชาพื้นฐานมาประยุกต์กับวิชาชุมชน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนในชุมชนและนักเรียน โดยเริ่มจากผอ.สร้างแรงบันดาลใจให้ครู เพื่อเปลี่ยนโรงเรียนทั้งระบบแบบกัลยาณมิตร 

และในสถานการณ์โควิด-19 ที่การเรียนรู้ในโรงเรียนเป็นไปได้ยากนี้ ผอ.ใช้การบูรณาการหลักสูตรที่มีให้เข้ากับวิกฤต รวมถึงพยายามแก้ปัญหาความไม่พร้อมที่จะเรียนออนไลน์ของเด็กตาขัน ขณะเดียวกันก็พัฒนาครูไปด้วย โดยผอ.วิชัย ได้แลกเปลี่ยนประเด็นเหล่านี้ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้’ EP.2 : สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง – Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง 

วิชัย จันทร์ส่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดตาขัน

เรียนรู้จากฐานทุนชุมชน ปั้น ‘นวัตกรน้อยเชิงวิถี’ 

สำหรับการจัดการเรียนรู้ที่โรงเรียนวัดตาขัน เริ่มจากการสำรวจและวิเคราะห์ฐานทุนของโรงเรียน ทุนชุมชน โดยพบว่า ชุมชนจะมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีแม่น้ำไหลผ่าน มีวัด และยังมีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรพอสมควร และในอนาคตอันใกล้ระยองจะกลายเป็นพื้นที่ของ EEC และ Smart city ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผอ.วิชัย กลับมาครุ่นคิดก็คือ จะสร้างหรือเตรียมความพร้อมของเด็กอย่างไร

“เรามองภาพว่า เด็กของเราต้องมีคาแรกเตอร์ ซึ่งน่าจะเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์วิถีสุขภาพ ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องเรียนรู้การเป็นนักนวัตกรน้อย นักเทคโนโลยีสร้างสรรค์ หรือนักธุรกิจน้อยด้วย จึงกลายมาเป็น DOL ของเรา และพัฒนาเป็นสมรรถนะ ซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วน สำคัญคือ สมรรถนะพื้นฐาน 4 วิชาหลัก กับ สมรรถนะของโรงเรียน”

โดยสมรรถนะพื้นฐาน 4 วิชาหลัก ได้แก่ การใช้ภาษาไทยเพื่อการสี่อสารและความเป็นไทย, คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน, การสืบสอบทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์, การใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร

ส่วนสมรรถนะของโรงเรียน เน้นไปที่การจัดการตนเองเพื่อพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง, การรู้เท่าทันเทคโนโลยีและสารสนเทศ, การเป็นนวัตกรสร้างสรรค์, การเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง และการเป็นผู้ประกอบการแบบร่วมมือกับผู้อื่น  

“จากการวิเคราะห์ทั้งหมดนี้ ทำให้เรามาสุรปเป็น School Concept หรือ Vision (วิสัยทัศน์) ว่า เราจะพัฒนานักเรียนโรงเรียนวัดตาขันให้เป็น ‘นักนวัตกรเชิงวิถี’ หรือ TK Bio-culture & Innovation School มุ่งพัฒนานักเรียนให้เป็นสมาร์ทคิดส์ ให้รักและเห็นคุณค่าของธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่น ออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา ดูแลตนเอง สังคม และโลกได้อย่างสร้างสรรค์ ถ้าเรามองดูดีๆ มันจะวิ่งไปหา DOL ของชาติ 3 เรื่อง ไม่ว่าจะเป็น ผู้ใฝ่รู้ ผู้ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม และเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง”

อนุบาลเรียนรู้ผ่าน ‘ฤดูกาล’ บ้านเรา

แล้วในสถานการณ์โควิด-19 เช่นนี้ เด็กตาขันเรียนรู้อย่างไร? ผอ.วิชัย ให้คำตอบว่า ออกแบบการเรียนการสอน โดยเน้นการบูรณาการวิชาชุมชนกับวิชาพื้นฐานที่เด็กควรได้รับ บนฐานสมรรถนะที่โรงเรียนวางไว้

“จากสมรรถนะของเราจึงได้เป็นโครงสร้างสัดส่วนเวลาเรียนและกลุ่มวิชาตามระดับชั้น โดยจัดการเรียนการสอนผ่าน Learning Area 4 ลักษณะ คือ กิจวัตรในชีวิตประจำวัน, วิชาพื้นฐาน, การบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง และระบบคุณค่าชีวิต”

ในระดับอนุบาลเป็นเรื่องกิจวัตร เช่น งานบ้าน การรับประทานอาหาร, การบูรณาการ งานสวน งานครัว งานเล่น และจิตศึกษาสะท้อนการเรียนรู้ เป็นต้น รวมถึงการคิด อ่าน เขียน เช่น ฟังนิทาน และกิจกรรมเสรี ที่เน้นการเคลื่อนไหวและจังหวะ 

โดยมีแนวคิดการเรียนรู้ คือ การดูแลและจัดการตัวเองในชีวิตประจำวัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย และการออกภาคสนามหรือสำรวจแหล่งเรียนรู้

“ในวิชาบูรณาการเราจะจัดการเรียนการสอนโดยใช้ธีม ‘ฤดูกาล’ การบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง อย่างเช่น ฤดูฝน ก็จะเป็น ‘ฝนมาพาชุ่มฉ่ำใจ’ หรือ ฤดูหนาว ‘ห่มใจคลายหนาว’ ทั้งหมดนี้เป็นของภาคปฐมวัย” 

ประถมศึกษา บูรณาการคุณค่าสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียง

มาถึงการจัดการเรียนรู้ในระดับประถมศึกษาของโรงเรียนวัดตาขัน ซึ่งออกแบบโครงสร้างเวลาเรียนและกลุ่มสาระการเรียนรู้ อย่างวิชาพื้นฐานไทย อังกฤษ คณิตฯ วิทย์, วิชาบูรณาการคุณค่าสู่ชีวิต, วิชาสุขภาวะกายจิต และทักษะชีวิต (กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน)

โดยวิชาบูรณาการมีแบ่งเป็นธีม Rayong MARCO หรือการบูรณาการสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียงโคก หนอง นา @ตาขัน และ Alternative Maker โดยมีชื่อชุดวิชาว่า TK-Alternative Maker เน้นการเป็นนักประดิษฐ์และนักสร้างสรรค์ 

“วิชาบูรณาการของประถมศึกษา ถ้าเป็นกลุ่ม Rayong MARCO ป.1-3 จะเป็นสไตล์นักสืบตัวจิ๋ว เช่น เรื่องธรรมชาติรอบตัว สายน้ำแห่งเมตตา บ้านค่ายบ้านฉัน ส่วนป.4-6 เป็นอารยเกษตรน้อย เช่น ยุวกสิกรรม ทรัพย์ในดิน young smart farmer” 

สำรวจผู้เรียน จัดกลุ่มย่อยเรียนรู้ในวิกฤต แบบ 4 ออน

“พื้นที่ระยองเราไม่สามารถเรียนในรูปแบบออนไซต์ได้ ดังนั้นเราจึงมาเริ่ม Set up กลุ่มนักเรียนก่อน วิเคราะห์สภาพความพร้อมในการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ของนักเรียนแต่ละคน โดยการวิเคราะห์ข้อมูลสถิติ สำรวจการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของนักเรียนโรงเรียนวัดตาขัน”  

โดยแบ่งกลุ่มผู้เรียนได้ 4 กลุ่มย่อย ตามความพร้อมในการเรียนของเด็ก และครูให้ความช่วยเหลือแต่ละกลุ่มตามความเหมาะสม ได้แก่

กลุ่มสีเขียว คือ นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ มีความพร้อมทั้งเด็กและผู้ปกครอง สามารถเรียนได้ทั้ง Online, On-Hand และOn-Demand ผ่านทาง DLTV ในช่องทางต่างๆ 

กลุ่มสีเหลือง คือ นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยมีสมาร์ทโฟนเป็นของตนเอง แต่มีปัญหาค่าบริการอินเทอร์เน็ต ทางโรงเรียนให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน และแนะนําแพ็กเกจอินเทอร์เน็ต

กลุ่มสีชมพู คือ นักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ โดยใช้สมาร์ทโฟนผู้ปกครอง และต้องรอเวลาที่อยู่กับผู้ปกครอง กลุ่มนี้จะจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน On-Hand และOn-Demand

กลุ่มสีแดง คือ ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ไม่มีสมาร์ทโฟน ฐานะยากจน นักเรียนกลุ่มนี้ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ จึงต้องใช้รูปแบบ On-Hand เท่านั้น โดยคุณครูสื่อสารผ่านการโทรศัพท์ให้เด็กมารับเอกสารพร้อมอธิบายอย่างละเอียด เพื่อให้เด็กสามารถนำใบงานกลับไปทำที่บ้านได้ และครูคอยติดตามผล

“ในหนึ่งวันของการเรียนออนไลน์ เรา Set up ไว้วิชาละ 2 ชม. วันหนึ่งเรียน 2 วิชา และมีหนึ่งวันเต็มๆ ที่เป็นวิชาบูรณาการ (PBL) นำธีมที่ออกแบบไว้มาปรับรูปแบบใหม่”

ผอ.จุดประกายครูสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ผ่านวง PLC

ในส่วนของครูโรงเรียนวัดตาขัน ผอ.วิชัย เล่าว่า มีการสำรวจพื้นฐานความถนัดและความต้องการของครู ตั้งแต่ความเข้าใจโครงสร้างหลักสูตร การจัดทำพฤติกรรมบ่งชี้ระดับสมรรถนะ การเขียนแผนการจัดการเรียนรู้แบบ OLE เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ครูมองเห็นว่าสิ่งไหนที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมบ้าง โดยแลกเปลี่ยนกันในวง PLC

สำหรับกระบวนการ PLC โรงเรียนวัดตาขันจัดทำ Model PLC นิเทศออนไลน์แบบกัลยาณมิตร สู่การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนในโรงเรียน โดยแบ่งเป็น 3 วงย่อย 

1. ร่วมกันออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ (BAR) ด้วยระบบไตรยางค์ (OLE) ในรายวิชาพื้นฐานและบูรณาการให้สอดคล้องระหว่างวัตถุประสงค์ (O) กระบวนการเรียนรู้ (L) และการวัดผล (E)

2. การสังเกตการสอนของครู (CRC) โดยโค้ชซึ่งในที่นี้คือผอ. และเพื่อนครูด้วยกัน เก็บบันทึกวิดีโอการสอนและอาการเรียนรู้ของนักเรียนผ่านระบบออนไลน์ เพื่อนำไปสะท้อนการเรียนรู้ โดยผู้สังเกตจะไม่เข้าไปแทรกแซงการสอนของครู

3. การสะท้อนผลการจัดการเรียนรู้ (AAR) กับแผนการจัดการเรียนรู้เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ มีสิ่งใดต้องปรับปรุง ครูได้รับประสบการณ์ใหม่อะไรและจะนำไปใช้อย่างไร บันทึกลงในแบบบันทึก PLC จากนั้นก็เริ่มกระบวนการใหม่ให้ดียิ่งขึ้น

“จากการจัดการเรียนการสอนตามแผนบูรณาการที่เล่ามา นักเรียนระดับปฐมวัยได้รับการพัฒนาตามวัย โดยครูออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ Theme ฤดูกาล เรียนรู้ที่บ้านร่วมกับผู้ปกครอง และเริ่มจัดการเรียนออนไลน์ได้บ้าง เด็กเริ่มคุ้นชินกับการใช้สื่อออนไลน์ และเด็กได้ฝึกวินัย การช่วยเหลือตนเอง ผ่านกิจวัตรประจำวันร่วมกับผู้ปกครอง” 

และในกลุ่มประถมศึกษา จากการบูรณาการ Theme อารยเกษตรกรน้อยสู่พื้นฐานชีวิตที่พอเพียงโคกหนองนา@ตาขัน นักเรียนได้บูรณาการนำเอาความรู้ที่เรียนมาใช้ในการดำเนินชีวิต ฝึกทักษะชีวิตผ่านกิจกรรมประจำวัน สามารถช่วยเหลือตนเองและครอบครัวได้ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตนี้

“ส่วนผู้ปกครองเราก็มีการสื่อสารกันในช่วงต้น มีการจัดประชุมผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจในการเรียนรู้ของเด็กในสถานการณ์นี้และให้ความร่วมมือในการดูแล ช่วยเหลือ โดยจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร เพื่อให้นักเรียนได้เรียนออนไลน์อย่างมีคุณภาพ” ผอ.วิชัย ทิ้งท้าย

Tags:

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้Transformative School Directiveโรงเรียนวัดตาขันผอ.วิชัย จัทร์ส่อง‘นักนวัตกรเชิงวิถี’ (TK Bio-culture & Innovation School)

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • Social Issues
    ปลดล็อกระบบการศึกษาไทย ปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ : เสียงสะท้อนจากผู้ทรงคุณวุฒิ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • ถอดบทเรียน ‘ครูสามเส้า’ พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาต้องเป็นโอกาสและโจทย์ร่วมของสังคม : มุมมอง ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • ‘ครูสามเส้า’ นวัตกรรมการศึกษาโรงเรียนอนุบาลสตูล : เมื่อครูอยู่รอบตัวเรา และการเรียนรู้ไม่ได้หยุดแค่ห้องเรียน

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learning21st Century skills
    วิชาสตูดิโอและภาคสนามออนไลน์ : เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเองได้ กับโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ลดภาระงาน เลือกทักษะที่สอดคล้องกับชีวิตเด็ก : หลักการจัดการเรียนรู้ในช่วงโควิด – 19 ของ ‘โรงเรียนบ้านปะทาย’

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

ชั้นหนังสือของเด็ก Gen Z
Book
5 September 2021

ชั้นหนังสือของเด็ก Gen Z

เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • หนังสือกำลังจะตาย… ประโยคที่ถูกเล่าขานมาหลายยุคหลายสมัยตั้งแต่การมาของเทคโนโลยี แต่ ณ วันนี้เรายังคงเห็นร้านหนังสือเรียงรายแม้ปริมาณจะลดลงไปบ้าง ยังคงเห็นช่องทางรีวิวหนังสือใหม่ๆ จากแต่ก่อนที่มีเป็นบล็อกหรือคอลัมน์ต่างๆ พัฒนามาเป็นช่องในยูทูป เพจเฟสบุ๊ก
  • บทความชิ้นนี้ สิทธิพงศ์ จะพาเราไปทำความรู้จักกับหนังสือบางส่วนที่คนเจน Z (น่าจะ) อ่านกัน
  • แม้บทความนี้ไม่ได้อ้างอิงข้อมูลสถิติแห่งชาติ หรือผลทดลองทางวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าเราสังเกตบริบทสังคมปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Gen Z อ่านหนังสือที่ ‘หนัก’ และ ‘หลากหลาย’

ในโลกยุคปัจจุบัน การเสพข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความบันเทิงทั้งหลาย สามารถทำได้ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ ทำให้บทบาทของหนังสือ ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งความรู้นอกห้องเรียน และในแง่ของการเป็นสื่อความบันเทิง ลดน้อยถอยลง จนถึงขั้นที่เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าหนังสือกำลังจะตาย…

แม้ว่าในความเป็นจริง ณ วันนี้ หนังสือยังไม่ตาย และยังคงมีคนรักการอ่านหนังสืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่เป็นกระดาษจริง หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-books) แต่ข้อเท็จจริงที่ว่าร้านหนังสือหลายแห่ง โดยเฉพาะร้านหนังสืออิสระขนาดเล็ก ทยอยปิดตัวลง ขณะที่ภาพคนเมืองใช้เวลาว่างไปกับการไถหน้าจอโทรศัพท์มือถือ มากกว่าการหยิบจับหนังสือ ก็ชวนให้เราคิดว่าประชากรหนอนหนังสือในโลก หรือเอาแค่ในเมืองไทยก็ได้ มีจำนวนลดน้อยลง

อย่างไรก็ดี หากดูจากงานวิจัยที่สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ทำร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติ กลับให้ข้อมูลที่ตรงกันข้าม โดยผลการสำรวจในปี 2561 พบว่า คนไทยใช้เวลาอ่านหนังสือมากขึ้น เฉลี่ยวันละ 80 นาที เพิ่มขึ้นจาก 66 นาทีต่อวันในปี 2558 และ 37 นาทีต่อวันในปี 2556

โดยกลุ่มวัยรุ่น (อายุ 15 – 24 ปี) เป็นกลุ่มที่ใช้เวลาอ่านหนังสือมากที่สุด ด้วยตัวเลขเฉลี่ย 109 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นจาก 94 นาทีต่อวันในปี 2558 และ 50 นาทีต่อวันในปี 2556 

แล้วเด็กวัยรุ่นสมัยนี้ อ่านหนังสืออะไร?

ย้อนไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ตอนยังเป็นเด็กต่างจังหวัด ต้องบอกเลยว่าผมโชคดีมากที่มีพี่สาวคนโตเป็นคนรักการอ่าน และพี่สาวคนนี้ก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมรักหนังสือมาจนถึงทุกวันนี้

ตอนนั้นผมน่าจะอยู่ในวัย 9 – 10 ขวบ คงจะอยู่ป.3 หรือป.4 ผมเริ่มติดตามพี่สาวไปยืมหนังสือที่หอสมุดประชาชนในอำเภอบ้านเกิด จำได้ว่าหนังสือเล่มแรกๆ ที่อ่าน (ที่ไม่ใช่หนังสือแบบเรียนนะครับ) น่าจะเป็นพวกการ์ตูนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะคำสาปฟาโรห์ หรือเรื่องอื่นๆ ที่เป็นแนวผู้ญิ้งผู้หญิงนั่นแหละครับ

ต่อจากนั้น ผมค่อยๆ อัพสกิลการอ่าน หันมาหยิบจับหนังสือที่เป็นหนังสือจริงๆ ไม่ใช่การ์ตูนที่มีรูปภาพประกอบ หนังสือเล่มแรกๆ ที่อ่าน น่าจะเป็นพวกวรรณกรรมเยาวชน เช่น แมงมุมเพื่อนรัก บ้านเล็กในป่าใหญ่ ดร.ดูลิตเติล เมืองในตู้เสื้อผ้า

พอเริ่มเข้าช่วงวัยรุ่น ในช่วงรอยต่อจากวัยเด็กก่อนจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หนังสือที่ผมอ่านเริ่มขยับขยายแนวและมีความหลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมังงะบู๊ล้างผลาญ นิยายผจญภัยลืมโลกอย่างเพชรพระอุมา นิยายสืบสวนอย่าง เชอร์ล็อค โฮล์มส หรือ แอร์กูล ปัวโรต์ ไปจนถึงการท่องยุทธภพผ่านตัวหนังสือในนิยายกำลังภายใน ไม่ว่าจะเป็นมังกรหยก เล็กเซียวหงส์ หรือฤทธิ์มีดสั้น

เมื่อกวาดตามองอย่างเร็วๆ จะเห็นว่า หนังสือที่ผมอ่านในช่วงเป็นวัยรุ่น มีแต่แนวบันเทิงประโลมโลกย์ ขณะที่หนังสือที่จัดว่าเป็นแนวหนักๆ ไม่ว่าจะเป็นพวกปรัชญา ศาสนา วิทยาศาสตร์ หรือวรรณกรรมเข้มข้น ไม่ได้เฉียดกรายเข้ามาอยู่ในสายตาของผมเลย กว่าที่จะหยิบจับหนังสือแนวหนักๆเหล่านี้ ก็เป็นช่วงชีวิตมหาวิทยาลัย หรือช่วงวัยแสวงหา ทั้งความรู้และความหมายของชีวิต

ด้วยบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงการที่เด็กวัยรุ่นสมัยนี้ เข้าถึงสื่อต่างๆ รวมถึงหนังสือ ได้ง่ายกว่าเด็กวัยรุ่นยุคก่อน ทำให้ผมพบว่า เด็กวัยรุ่นในยุคปัจจุบัน ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Gen Z อ่านหนังสือที่ ‘หนัก’ และ ‘หลากหลาย’ กว่าวัยรุ่นในสมัยผม (Gen X)

แน่นอนว่า บทความชิ้นนี้ ไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางวิชาการใดๆ ได้ อีกทั้งข้อมูลที่ได้ ยังจากการพูดคุยกับวัยรุ่นแค่ไม่กี่คน ซึ่งย่อมไม่ใช่ตัวแทนของวัยรุ่นทั้งหมดในประเทศไทย และตัวผมเองก็ไม่ใช่ตัวแทนของคน Gen X ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็พอจะทำให้เราได้เห็นว่า บนชั้นหนังสือของเด็ก Gen Z แตกต่างจากเด็ก Gen X ไม่มากก็น้อย

บนชั้นหนังสือของเด็กวัยรุ่น ระดับชั้นมัธยมปลาย หรือระบุเฉพาะเจาะจงลงไปก็คือ ม.5 สายศิลป์ – ภาษาจีน เรียงรายไปด้วยหนังสือที่หลากหลาย ไล่ตั้งแต่มังงะเลือดสาด นิยายไลท์โนเวล นิยายสืบสวนสอบสวน วรรณกรรมชั้นครูของโลก หนังสือปรัชญาตะวันตก ปรัชญาการเมือง และเรื่องราวชวนเข้าใจยากอย่าง ฟิสิกส์ควอนตัม

แต่จะให้กล่าวถึงหนังสือทุกเล่มบนชั้นก็คงไม่ไหว ผมเลยขอให้พวกเขาช่วยกันเลือกหนังสือ 7 เล่ม ที่อยากแนะนำให้อ่าน และนี่คือหนังสือ 7 เล่ม ที่พวกเขาเลือกหยิบลงมาจากชั้น

1.บ้านเล็กในป่าใหญ่

วรรณกรรมคลาสสิกกึ่งอัตชีวประวัติของลอรา อิงกัลล์ส ไวล์เดอร์ บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่ช่วงชีวิตวัยเด็กของเธอ ในกระท่อมน้อยกลางป่าลึก มลรัฐวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา ในช่วงปลายทศวรรษ 1870 หรือเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ผ่านการอพยพย้ายบ้านหลายครั้ง จนได้ไปลงหลักปักฐานในเมืองเดอร์สเม็ต มลรัฐเซาธ์ดาโกต้า

หนังสือชุดบ้านเล็ก ซึ่งมีทั้งหมด 10 เล่ม ครองใจนักอ่านทั่วโลก ด้วยงานเขียนที่สะท้อนประวัติศาสตร์ยุคบุกเบิกดินแดนตะวันตกของอเมริกา รวมถึงค่านิยมการต่อสู้ชีวิต ความรักในครอบครัว และวิถีชีวิตชาวไร่ชาวนา

วัยรุ่น Gen Z ที่เลือกหนังสือเล่มนี้ บอกกับผมว่า เขาซึมซับหนังสือเล่มนี้ตั้งแต่แบเบาะ โดยแม่ของเขาอ่านหนังสือเรื่องนี้ให้เขาฟังทุกคืนก่อนนอน และอาจพูดได้ว่า บ้านเล็กในป่าใหญ่ คือ ประตูบานแรกที่เปิดให้เขาก้าวเข้าสู่โลกแห่งหนังสือ

2.เจ้าชายน้อย

วรรณกรรมสุดรักของนักอ่านทั่วโลก ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ งานเขียนที่โด่งดังที่สุดของอองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี นักเขียนชาวฝรั่งเศส และว่ากันว่า เป็นหนึ่งในหนังสือที่เด็กทุกคนควรอ่านก่อนจะโตเป็นผู้ใหญ่

ในหนังสือเล่มเล็กเล่มนี้ เราจะได้พบกับข้อคิดคำคมที่ลึกซึ้งไม่แพ้หนังสือปรัชญา อาทิ “สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น” หรือ “เวลาที่เธอเสียไปให้กับดอกกุหลาบของเธอ ทำให้ดอกกุหลาบนั้นมีค่ามากขึ้น” และ “เธอต้องรับผิดชอบต่อทุกสิ่ง ที่เธอสร้างสัมพันธ์ด้วย”

คงไม่เกินเลย หากเราจะกล่าวว่า เจ้าชายน้อย ไม่ใช่แค่วรรณกรรมเยาวชน แต่เป็นวรรณกรรมของมนุษยชาติ

3.เดือนช่วงดวงเด่นฟ้า ดาดาว

ผลงานของวินทร์ เลียววาริณ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ที่มีความหลากหลาย ทั้งการท่องอวกาศ หุ่นยนต์ และปรัชญา โดยแฝงกลิ่นอายความเป็นไทย เหมือนเช่นชื่อหนังสือ ซึ่งมาจากนิราศสุพรรณบุรี ของสุนทรภู่

หนังสือเล่มนี้ ได้รับการจัดให้เป็นหนึ่งใน 88 หนังสือดีวิทยาศาสตร์ไทยด้วยครับ

4.เมื่อสวรรค์ให้รางวัลผม

วรรณกรรมเยาวชนของญี่ปุ่น ผลงานของโมริ เอโตะ แปลโดย วิยะดา คาวางุจิ เป็นเรื่องราววิญญาณดวงหนึ่ง ซึ่งได้รับรางวัลให้มาเกิดใหม่ในร่างของ “โคบายาชิ มาโคโตะ” เด็กหนุ่มวัยมัธยมที่เพิ่งฆ่าตัวตายไป โดยที่ดวงวิญญาณผู้โชคดี (หรือโชคร้าย) ไม่มีข้อมูลใดๆเกี่ยวกับมาโคโตะเลย พูดง่ายๆว่า เขาต้องมาเริ่มต้นเรียนรู้ชีวิตใหม่ พร้อมกับการค้นหาอดีตที่ผ่านมาในชีวิตของมาโคโตะ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจฆ่าตัวตาย

แม้ว่าพล็อตเรื่องจะฟังดูหม่นเศร้า แต่วรรณกรรมเรื่องนี้ ได้รับการขนานนามว่า วรรณกรรมโลกสดใส และเป็นนิยายแนวตลกหัวใจอบอุ่น

ใครที่ชอบอะนิเมะ ขอบอกว่า เรื่องนี้ถูกสร้างเป็นอะนิเมชั่นภาพสวยในชื่อ Colorful แถมกวาดรางวัลมาถึง 3 รางวัลใหญ่ รวมทั้ง Excellent Animation of The Year

5.ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น

หนังสือ Reality Is Not What It Seems ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น แปลโดยปิยบุตร บุรีคำ ผลงานเขียนของคาร์โล โรเวลลี ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นสตีเฟน ฮอว์กิง คนต่อไป เป็นเหมือนประวัติศาสตร์ฉบับย่อของฟิสิกส์ควอนตัม ซึ่งว่ากันว่า คือ องค์ความรู้ล่าสุดที่ช่วยให้เราเข้าใจจักรวาลมากขึ้น ตั้งแต่อะตอม แรงโน้มถ่วง บิ๊กแบง และหลุมดำ

และเมื่อเราเข้าใจมากขึ้นแล้ว เราจะค้นพบว่า ความจริงไม่ใช่อย่างที่เห็น

หรือยิ่งไปกว่านั้น เราอาจค้นพบว่า แม้กระทั่งความจริง ก็ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงแค่สนามควอนตัมเท่านั้น

6.Animal Farm

นิยายเสียดสีการเมืองผลงานของ จอร์จ ออร์เวล ซึ่งมีฉบับแปลไทยออกมาหลายสำนวน เป็นเรื่องราวของการปฏิวัติต่อสู้กับอำนาจเผด็จการ โดยมีสัตว์ในฟาร์มเป็นตัวเดินเรื่อง ทำให้โทนของเรื่องดูสนุกสนานราวกับวรรณกรรมเยาวชน แต่โดยสาระแล้ว เสียดสีการเมืองอย่างเข้มข้น

7.ด้วยรัก ความตาย และหัวใจสลาย

Norwegian Wood ผลงานที่โด่งดังที่สุดของ ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่น ผู้ครองใจนักอ่านทั่วโลก

แม้ว่าเรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ จะเป็นภาพสะท้อนของคน Gen X แต่แก่นหลักของเรื่อง คือ ความรัก ความสัมพันธ์ฉาบฉวย และการค้นหาความหมายของชีวิตอันเปลี่ยวเหงา ที่แปลกแยกจากสังคมอันวุ่นวาย ทำให้หนังสือเล่มนี้ กลายเป็นหนังสือในดวงใจของคน Gen Z ได้ไม่ยาก

แน่นอนครับ หนังสือ 7 เล่ม ที่หยิบลงมาจากชั้นหนังสือของคน Gen Z ไม่ได้เป็นข้อสรุปที่ชี้วัดใดๆ แต่อย่างน้อย ก็พอจะเป็นสิ่งที่ทำให้เราตั้งข้อสังเกตได้ว่า วัยรุ่นยุคนี้ ยังคงรักการอ่านหนังสือ และดีไม่ดี อาจจะรักการอ่านมากกว่าเด็กในรุ่นก่อนๆ ด้วย

Tags:

generation gapวัยรุ่นหนังสือ

Author:

illustrator

สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

อดีตนักแปล-นักข่าว ปัจจุบันเป็นพ่อค้า พ่อบ้าน และพ่อของลูกชายวัยรุ่น รักหนังสือ ชอบเข้าร้านหนังสือ และชอบซื้อหนังสือมาดองเป็นกองโต

Related Posts

  • Book
    นกนางนวลตัวนั้น – ยังโบยบินอยู่ไหม?

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Space
    PUBLIC SPACE …WHERE ARE YOU?

    เรื่องและภาพ SHHHH

  • Social IssuesBook
    WHY WE POST: เพราะโซเชียลมีเดียฉาบฉวย หรือช่องว่างระหว่างวัยทำให้ไม่เข้าใจกัน

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Social Issues
    เมื่อสังคมก้มหน้าฆ่าคนที่เรารักให้กลายเป็นอากาศ : นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • How to get along with teenager
    วัยรุ่นยุคก้มหน้า “ถ้าเราเงยขึ้นมา พ่อแม่จะคุยกับเราไหมล่ะ”

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

วิชาสตูดิโอและภาคสนามออนไลน์ : เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเองได้ กับโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณ
Creative learning21st Century skills
4 September 2021

วิชาสตูดิโอและภาคสนามออนไลน์ : เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเองได้ กับโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณ

เรื่อง ปริสุทธิ์

  • ‘วัยมัธยม’ เป็นวัยที่รับผิดชอบตัวเองได้ระดับหนึ่ง หลักการจัดการศึกษาให้เขาในช่วงระบาดของโควิด – 19 จึงต้องออกแบบให้เข้ากับธรรมชาติการเรียนรู้ของพวกเขา นั่นคือ Self – directed (การเรียนรู้ด้วยตัวเอง)
  • ‘ครูเอก’ ปิยสิทธิ์ เมินแก้ว ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนรุ่งอรุณ พาไปสัมผัสกระบวนการเรียนรู้ของเด็กมัธยมรุ่งอรุณ ผ่านงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 : บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
  • ‘วิชาสตูดิโอ’ วิชาโครงงานบูรณาการและเรียนรู้ผ่านโจทย์จริง พื้นที่สำหรับการลงมือปฏิบัติเพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นหาความชอบของตัวเองบนโจทย์ท้าทาย และใช้เทคโนโลยีได้อย่างชำนาญ

วัยมัธยมที่หลายคนนิยามว่าเป็น ‘วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ’ นอกจากเด็กช่วงวัยนี้จะโตจนรับผิดชอบตัวเองได้ในหลายมิติแล้ว พวกเขายังเข้าใจและใช้เทคโนโลยีได้อย่างเชี่ยวชาญมากอีกด้วย บทบาทของครูและผู้ปกครองจึงไม่ใช่การประคบประหงม แต่ต้องออกแบบโจทย์ที่ยากและซับซ้อนเหมาะสมกับเด็กมัธยมเพื่อให้เขาได้แสดงศักยภาพทั้งเพื่อการเรียนรู้และเพื่อการดำเนินชีวิต

ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 : สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง” – Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง ‘ครูเอก’ ปิยสิทธิ์ เมินแก้ว ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนรุ่งอรุณ พาไปสัมผัสกับผลสำเร็จของความเข้าใจวัยนี้ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ระดับมัธยมที่แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ สร้างการเรียนรู้ด้วยตัวเอง จัดการตารางชีวิตของตัวเองได้ เรียนรู้กับผู้เชี่ยวชาญหรือผู้รู้ในแต่ละสาขาโดยตรง ในคาบสตูดิโอและการเรียนรู้ภาคสนามออนไลน์

Self-directed การเรียนรู้ที่เลือกเองได้ของวัยมัธยม

ด้วยความที่เป็นเด็กโต การเรียนการสอนออนไลน์ของโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณจึงเน้นที่ Self – directed (การเรียนรู้ด้วยตัวเอง) ของนักเรียน ในหนึ่งวันของการเรียนถูกแบ่งสัดส่วนออกอย่างเหมาะสม คือ 30 นาทีแรกเป็นการพูดคุยทำความเข้าใจประเด็นการเรียนรู้ในวันนั้นๆ ต่อด้วยนักเรียนแยกย้ายทำงานทั้งกลุ่มย่อยและรายบุคคล โดยที่ครูคอยดูอยู่ในห้องเรียนออนไลน์นั้นตลอดเวลา

ครูเอกกล่าวว่าการที่ครูสแตนบายอยู่ในนั้นก็เพื่อให้เด็กซักถามได้ทันทีเมื่อมีข้อสงสัย หรือครูจะเข้าชาร์จได้ตลอดเมื่อเห็นว่ามีสิ่งที่ต้องแนะนำ แล้วปิดท้ายด้วยการนำเสนอแลกเปลี่ยนประเด็นการเรียนรู้ในวันนั้น

“ครูมีหน้าที่ดีไซน์งานต่างๆ ให้ครอบคลุมและเสร็จสิ้นในคาบเรียน และจะมีในช่วงท้ายสุดหลังจากสรุปหรือประมวลความรู้กันเสร็จ คือ ช่วงคลินิก ด้วยความที่นักเรียนเขาโตแล้ว ตอนที่เขาอยู่ On site ที่โรงเรียน จะมีช่วงเวลาที่เมื่อเขาไม่เข้าใจหรือต้องการความชัดเจนในการทำงานก็จะมาปรึกษาครูผู้สอน เราจึงมีช่วงเวลาสแตนบายในช่วงเย็นของแต่ละวัน ครูก็จะไปรออยู่ในห้อง Meet เพื่อรอให้นักเรียนเข้าไปพบ คุยแลกเปลี่ยนในประเด็นการเรียนรู้ต่างๆ”

วิชาสตูดิโอ เปลี่ยนห้องเรียนธรรมดาให้เป็นการลงมือทำ

หลังจากเติบโตมาจนถึงจุดที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ การลงมือทำจริงทำให้เกิดเป็น ‘วิชาสตูดิโอ’ ขึ้น สำหรับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเน้นการค้นหาความชอบของตัวเอง มีหลักการคือเป็นวิชาโครงงานบูรณาการและเรียนรู้ผ่านโจทย์จริง เพื่อให้เด็กได้ทำงานเป็นกลุ่มบนโจทย์ท้าทาย และใช้เทคโนโลยีได้อย่างชำนาญ

‘ครูมด’ พงศกร โรจนานุกูลพงศ์ อธิบายว่าวิชาสตูดิโอของมัธยมต้นประกอบด้วย 3 สตูดิโอ ได้แก่ Edutainment Studio สตูดิโอสื่อสร้างสรรค์เพื่อสังคม เชื่อมโยงกับวิชาสังคม ภาษาไทย และ ICT, Financial Literacy Studio สตูดิโอเงิน ทอง เป็นของมีค่า เชื่อมโยงกับวิชาคณิตศาสตร์ การคิดวิเคราะห์ และ Life Decode Studio สตูดิโอถอดรหัสชีวิต และปรากฎการณ์ เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์และกระบวนการ STEM

“Edutainment Studio เป็นการเรียนเรื่องราวปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ว่าจะสิ่งแวดล้อม วิกฤตอาหาร หรือสังคมเมือง สิ่งเหล่านี้จะถูกถ่ายทอดผ่านฐานงานสตูดิโอซึ่งเป็นด้านการทำสื่อ ในยุคปัจจุบันคนอยู่กับสื่อ เป็นผู้ใช้ ผู้เสพสื่อ แต่เราเปลี่ยนมุมมองใหม่เป็นผู้สร้างแทน เด็กๆ จะได้สัมผัสเรื่องนี้ผ่านการทำงานที่เป็นโจทย์จริง

“ในการเรียนเด็กๆ จะเป็นเจ้าของไอเดียของเขา โดยเขานำเสนอไอเดียขึ้น แล้วผู้เชี่ยวชาญก็จะแนะนำ ฟีดแบคแบบตรงไปตรงมา เหมือนมืออาชีพทำงานกันจริงๆ เด็กๆ ก็จะรับฟีดแบคแล้วนำไปปรับปรุงแก้ไขในงานของตัวเอง”

สำหรับ Financial Literacy Studio มี ดร.เดชรัต สุขกำเนิด นักเศรษฐศาสตร์มาให้ความรู้แก่เด็กๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ซึ่งเด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ การเงิน การออม ไปจนถึงขั้นการเป็นนักลงทุน

ส่วน Life Decode Studio มีผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสนามการเรียนรู้นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้า (The Electric Playground) ที่ดำเนินการภายใต้สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการขยะที่หลายคนมองว่าไร้ค่า กลับมาเปลี่ยนแปลงเป็นพลังงานหมุนเวียนและสร้างมูลค่าได้ ครูมดบอกว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้ Design Thinking เปลี่ยนขยะให้กลับมาเป็นพลังงาน ซึ่งในหนึ่งปีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นจะได้เรียนครบทั้ง 3 สตูดิโอ เพื่อชิมลางหาความถนัดของตนเองก่อนจะไต่ระดับขึ้นมาสู่มัธยมศึกษาตอนปลาย

ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ครูเอกขยายความว่ามีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสู่อาชีพของโลกยุคใหม่ ประกอบด้วยสตูดิโอการเรียนรู้ถึง 12 สตูดิโอ มีผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร ได้แก่ Studio of Entrepreneurs for Meaningful Business สตูดิโอผู้ประกอบการเพื่อธุรกิจ, Studio of Creative Media and Product สตูดิโอสื่อสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์เพื่อสังคม,

Studio of Thai for Creative Writing and Literacy สตูดิโอภาษาไทยเพื่อการเขียนเชิงสร้างสรรค์และอ่านโลก, Studio of Innovation Health Care สตูดิโอนวัตกรรมสุขภาพองค์รวม, Studio of Innovative Mechatronics สตูดิโอนวัตกรรมเครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์, Studio of Digital Technology สตูดิโอดิจิทัลเทคโนโลยี,

Studio of Graphic Design สตูดิโอออกแบบกราฟิก, Studio of Creative Arts สตูดิโอศิลปะและการออกแบบเพื่อการเรียนรู้, Studio of Sports Management สตูดิโอการจัดการทางด้านกีฬา, Studio of Architecture for the Community and Environment สตูดิโอสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม, Studio of Ensemble Laboratory สตูดิโอห้องแล็บดนตรี เสียงแห่งการทดลอง และ Studio of Foreign Language สตูดิโอภาษาที่ 3

“ทั้ง 12 สตูดิโอเปิดเพื่อให้นักเรียนค้นหาตัวเอง เรามีสตูดิโอก็จริง แต่เรามีวิชาพื้นฐานที่เราไม่ได้ทิ้ง เราพยายามฝึกการทำงานของครูและให้นักเรียนได้เจอบุคคลที่ทำงานทางด้านนั้นโดยตรง ทำให้โจทย์นั้นจริงกับนักเรียนอย่างมาก พอนักเรียนได้เจอคนที่ทำงานด้านนั้นจริงๆ เราเห็นได้ว่านักเรียนเขามีความมุ่งมั่นในการเรียนอย่างมาก” ครูเอกกล่าว

เรียนรู้ฐานสมรรถนะและ Learn from Home ผลลัพธ์ที่ไร้ขอบเขต

“จะเห็นว่า Mindset และ Concept ของเรา อยู่ในกระบวนการทุกขั้นตอนของการที่เราออกแบบ นับตั้งแต่เรื่องฐานสมรรถนะเป็นต้นทางของการเปิดสู่การออกแบบแผนการเรียนรู้ และการออกแบบแผนการเรียนรู้เรามีโจทย์ คือ ดึงการเรียนรู้นี้ให้กลับไปสู่เด็กได้อย่างไร นั่นคือการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้สู่การเป็น Self – directed learner และในแต่ละระดับวัยก็จะมีความแตกต่างกันไป

สอดคล้องกับ Concept ของเราด้วยว่า เราจะทำให้เกิดเป็นการเรียนรู้เองที่บ้านโดยประสานกับเพื่อน ครู และผู้ปกครองอย่างไร เพราะฉะนั้น วิกฤตของสถานการณ์โควิด จะไม่ใช่วิกฤตของการเรียนรู้ การเรียนรู้กลับยิ่งเปิดมากขึ้น เพราะพาผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครอง และทุกคนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการเรียนรู้นี้ เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นกับผู้เรียนอย่างแท้จริง เปิดช่องทางมากมาย ทำให้เราไม่จนมุม เรายิ่งทำเรายิ่งเรียนรู้” “ครูต้อย” สุวรรณา ชีวพฤกษ์ ผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณกล่าว

ในวิกฤตโควิด-19 ครูต้อยมองว่าแม้จะเป็นอุปสรรคของเด็กมัธยมที่ต้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง แต่ก็มองการที่เด็กไม่ได้มาโรงเรียนเป็นโอกาสของการเรียนรู้แบบใหม่ ซึ่งหลายวิธีการค่อยๆ เกิดขึ้น ทั้งเด็ก ครู ผู้ปกครอง ทุกคนถือว่าเป็นผู้กล้าต่อการเรียนรู้

“เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่การเรียนรู้ เราก็จะก้าวต่อไป และเปิดฐานคิดของเรามากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังอยู่บนหลักการที่ว่า ผู้เรียนของเราต้องเกิดสมรรถนะในการเป็น Learner Person เพราะสมรรถนะตัวนี้จะนำไปสู่การเรียนรู้ได้ด้วยตนเองไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรหรือจะมีอะไรเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

“ตรงนี้เป็นโอกาสอย่างมากที่เราทั้ง Reskill Upskill ฝึกครูของเราในทุกเรื่อง แม้ว่านักเรียนจะมาเรียนที่โรงเรียนเราก็ต้องทำเรื่องนี้เช่นกัน แต่เมื่อสถานการณ์เป็นไปเช่นนี้ เราก็ต้องมีหุ้นส่วนเข้ามามากขึ้น และต้องทำการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นกับทุกที่ ทุกคน เพื่อผลสุดท้ายอยู่ที่ผู้เรียน”

Tags:

21st Century skillsโรงเรียนรุ่งอรุณพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้

Author:

illustrator

ปริสุทธิ์

Related Posts

  • Social Issues
    ปลดล็อกระบบการศึกษาไทย ปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ : เสียงสะท้อนจากผู้ทรงคุณวุฒิ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Social Issues
    จุดเปลี่ยนพลเมืองไทยคุณภาพใหม่ ผู้เรียนต้องเป็น ‘learner person’ มีสมรรถนะเป็นฐานการเรียนรู้

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learning
    ‘เห็ดหรรษา’ วิชาปากท้องที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ ภาษาและทักษะสมรรถนะ : ผอ.ปวีณา พุ่มพวง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learningSocial Issues
    ปิดโรงสอน ย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็ก : พลิกโควิดเป็นโอกาส กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    ‘ปิดโรงเรียน เปิดชีวิต’ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสทางการศึกษาที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ : มุมมองจากผู้ทรงคุณวุฒิ

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

จุดเปลี่ยนพลเมืองไทยคุณภาพใหม่ ผู้เรียนต้องเป็น ‘learner person’ มีสมรรถนะเป็นฐานการเรียนรู้
Social Issues
3 September 2021

จุดเปลี่ยนพลเมืองไทยคุณภาพใหม่ ผู้เรียนต้องเป็น ‘learner person’ มีสมรรถนะเป็นฐานการเรียนรู้

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • ชวนดูวิธีสร้างผู้เรียนให้กลายเป็น ‘Learner Person’ ผ่านวงเสวนาผู้ทรงคุณวุฒิ ในงาน ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณและพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง
  • การเรียนแบบบูรณาการ เป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายอย่างมากกับผู้เรียน แตกต่างจากการสอนแบบเดิมที่ใช้ตัวชี้วัดหรือตัวมาตรฐานตั้ง แล้วสอนไปทีละตัว แต่การบูรณาการเป็นการเรียนรู้ตามธีม ตามความสนใจผู้เรียน และพิจารณาว่าผู้เรียนควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนั้นๆ สุดท้ายตัวชี้วัดหรือผลลัพธ์อื่นๆ ตามมาเอง
  • “อย่างหนึ่งที่เห็นชัด เราจะเอาผลลัพธ์การเรียนรู้แบบเดิมเป็นตัวตั้งไม่ได้ ไปใช้ตัวชี้วัดมาวัดแต่ละตัวไม่ได้แล้ว เราต้องโดดไปที่สมรรถนะของผู้เรียน เพราะสมรรถนะไปไกลกว่าตัวชี้วัดเดิม คือ สร้างคุณภาพใหม่ให้ผู้เรียน จนถึงขนาดที่เรียกว่า ผู้เรียนลุกขึ้นมาเป็น learner person สามารถไปถึง DOE ของชาติ (Desired Outcomes of Education ผลลัพธ์ที่พึ่งประสงค์ของการศึกษา)”

มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เราสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลาและทั้งชีวิต เกิดเป็นประโยคสวยๆ ที่ว่า ‘Lifelong learning’ การเรียนรู้ตลอดชีวิต  

แต่เราหลายคนกลับเลิกที่จะเรียนรู้เมื่อจบภาคการศึกษาบังคับ หรือระดับมหาวิทยาลัย นั่นเพราะเราอาจกำลังผูกการเรียนรู้ไว้ที่ ‘สถานศึกษา’ และ ‘อายุ’ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วสิ่งที่จะทำให้เราเกิดการเรียนรู้ ไม่ใช่แค่สถานที่ แต่เป็นเจตคติของตัวเราเอง การจะได้มาซึ่งมายเซ็ต ‘เรียนรู้ตลอดชีวิต’ จึงต้องอาศัยการติดตั้งเครื่องมือและทักษะที่ทำให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง

งานเสวนา ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 2 กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณและพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกเหนือจากการนำเสนอบทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง โรงเรียนวัดถนนกะเพราและโรงเรียนวัดตาขันแล้ว ยังมีเวทีสะท้อนคิดจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งในครั้งนี้มีทั้งหมด 6 ท่าน ได้แก่

  • ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช รองประธานกรรมการมูลนิธิสยามกัมมาจล
  • ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา
  • ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน)
  • ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ
  • รศ.ประภาภัทร นิยม อธิบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ
  • ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา

ผู้ปกครอง: ครูอีกหนึ่งคนของลูก

เช่นเดียวกับงานเสวนาครั้งที่ 1 (อ่านบทความ) เมื่อครูไม่สามารถดูแลนักเรียนได้เหมือนเดิม ‘ผู้ปกครอง’ มีบทบาทสำคัญที่จะทำหน้าที่นีแทน แต่บทบาทดูแลลูกกับบทบาทซัพพอร์ตให้ลูกเรียนรู้มีความแตกต่างกัน ต้องอาศัยการปรับมายเซ็ต ติดตั้งเครื่องมือให้ผู้ปกครอง

ดร.รัตนา แสงบัวเผื่อน ผู้อำนวยการสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษาสพฐ. กล่าวว่า ที่โรงเรียนรุ่งอรุณมีการช่วยเหลือผู้ปกครองมากๆ ทั้งทำคู่มือที่อธิบายรายละเอียดแม้กระทั่งการใช้คำพูดกับลูก ทำตารางพัฒนาการเด็กแต่ละวัย การเชิญนักจิตวิทยามาพูดคุยปรับมายเซ็ตผู้ปกครองอีกทางหนึ่ง  

ดร.สุธีระ ประเสริฐสรรพ์ อนุกรรมการด้านบริหารงานวิชาการ ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ให้ความเห็นว่า การที่ผู้ปกครองมีส่วนร่วมทำให้เกิดการ Reskills และ Upskills ใหม่ๆ ซึ่งอาจส่งผลระยะยาวต่อการเรียนรู้ของเด็ก เป็นเรื่องที่ควรลองศึกษาในอนาคต

ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ประธานคณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา กล่าวว่า ในฐานะผู้ปกครองคนหนึ่งมองเห็นโอกาสที่โรงเรียนเข้ามาหาผู้ปกครอง ผู้ปกครองจะมีโอกาสได้รู้ว่าการเรียนรู้ของลูกเป็นอย่างไร และผู้ปกครองสามารถช่วยเขาได้อย่างไรบ้าง  บทบาทใหม่กลายเป็นผู้ช่วยครูและกระตุ้นการเรียนรู้ของลูก ผู้ปกครองสามารถจับชีพจรการเปลี่ยนแปลงของลูกหลานได้

“วันนี้เป็นโอกาสของผู้ปกครองที่โรงเรียนมาให้ความรู้เรา ตั้งแต่ลูกอยู่อนุบาล ประถม มัธยม เราจะมีบทบาทดูแลเขาอย่างไร เชื่อว่าถ้าผู้ปกครองฉวยโอกาสนี้เรียนรู้และปฏิบัติไปกับโรงเรียนจะได้ประโยชน์มาก เป็นความรู้ที่ใช้ได้ตลอดชีวิต”  

การบูรณาการ: แนวทางการเรียนรู้ที่พัฒนาศักยภาพผู้เรียนได้จริง

ดร.รัตนา หยิบประเด็นหนึ่งขึ้นมาแชร์ในวงเสวนา คือ การเรียนแบบบูรณาการ เป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีความหมายอย่างมากกับผู้เรียน แตกต่างจากการสอนแบบเดิมที่ใช้ตัวชี้วัดหรือตัวมาตรฐานตั้ง แล้วสอนไปทีละตัว แต่การบูรณาการเป็นการเรียนรู้ตามธีม ตามความสนใจผู้เรียน และพิจารณาว่าผู้เรียนควรเรียนรู้อะไรจากเรื่องนั้นๆ สุดท้ายตัวชี้วัดหรือผลลัพธ์อื่นๆ ตามมาเอง

“หลักสูตรเป็นเพียงกรอบให้เราเห็นว่าเด็กควรจะเรียนรู้อะไร แต่การออกแบบการเรียนรู้อยู่ที่คุณครู ช่วงแรกๆ อาจจะยาก แต่กระบวนการ PLC จะช่วยให้ความกังวล ความเครียดของครูลงลด และรวมทั้งเกิดความสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการจัดการเรียนรู้” 

รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ แสดงความคิดเห็นเช่นเดียวกันว่า “อย่างหนึ่งที่เห็นชัด เราจะเอาผลลัพธ์การเรียนรู้แบบเดิมเป็นตัวตั้งไม่ได้ ไปใช้ตัวชี้วัดมาวัดแต่ละตัวไม่ได้แล้ว เราต้องโดดไปที่สมรรถนะของผู้เรียน เพราะสมรรถนะไปไกลกว่าตัวชี้วัดเดิม คือ สร้างคุณภาพใหม่ให้ผู้เรียน จนถึงขนาดที่เรียกว่า ผู้เรียนลุกขึ้นมาเป็น learner person สามารถไปถึง DOE ของชาติ (Desired Outcomes of Education ผลลัพธ์ที่พึ่งประสงค์ของการศึกษา)

“ประเด็น learner person เราอยากเห็นมาก พลเมืองของไทยจะมีคุณภาพใหม่ จุดเปลี่ยนตรงนี้เปิดโอกาสให้เราแล้ว ถ้าเอาสมรรถนะเป็นตัวตั้งจะไปถึงแน่นอน การเป็น co – creator เป็นพลเมืองที่เข้มแข็งมาได้หมด”

ปิยาภรณ์ ให้เห็นความเห็นเช่นเดียวกันว่า หมดยุคที่ตั้งเป้าหมายผู้เรียนได้ความรู้ หรือครูตั้งหน้าตั้งตาสอน เพราะโควิด – 19 ทำให้เห็นชัดขึ้นว่าคนเราเรียนเพื่อเอาความรู้ไปใช้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ คือ ต้องให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติเอง หากเราอยากให้ผู้เรียนเอาความรู้ไปใช้แก้ปัญหาได้ ไปต่อยอดสร้างสิ่งใหม่ๆ นั่นคือความรู้ที่ตั้งเป้าไว้ที่ทักษะสมรรถนะ

ดร.สิริกร มณีรินทร์ ประธานกรรมการอำนวยการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานฐานสมรรถนะ  ให้ความเห็นว่าหลังจากได้เห็นการทำงานของโรงเรียนรู้สึกมีความหวังว่าหลักสูตรสมรรถนะที่ทำจะสามารถใช้ได้จริง งานเสวนาครั้งนี้ทำให้เห็นภาพมหภาคการศึกษาของจังหวัดระยอง หนึ่งในจังหวัดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา สามารถทำได้ด้วยความร่วมมือจากผู้นำการเรียนรู้ 5 กลุ่ม หนึ่ง – โรงเรียนรุ่งอรุณที่เป็นโค้ชแนะนำโรงเรียนอื่นๆ สอง – โรงเรียนวัดกะเพรา สาม – โรงเรียนวัดตาขัน สี่ – ศึกษาธิการจังหวัดและศึกษานิเทศก์ของจังหวัดระยอง และห้า –  ภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วม

“คนที่เคยคิดว่าวิถีพุทธเป็นเรื่องเชย เป็นเรื่องของผู้สูงวัย แต่ไม่ใช่เลย โรงเรียนวิถีพุทธอย่างรุ่งอรุณก็สามารถเป็นผู้นำการจัดการศึกษาในลักษณะที่เรียกว่า ‘ฐานสมรรถนะ’ และเป็นโรงเรียนในศตวรรษที่ 21 ที่นำวิทยาการสมัยใหม่มาใช้ และเราได้เห็นภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษา ภาคของโลกอาชีพจริงมาบ่มเพาะนักเรียน

“เอกสารกรอบหลักสูตรกำลังจะเสร็จ สิ่งที่จะช่วยเติมเต็มให้สมบูรณ์ขึ้น คือ ตัวอย่างกิจกรรมการเรียนรู้ดีๆ ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง ขยับจากโรงเรียนเป็นฐาน กลายเป็นบ้านเป็นฐาน วันนี้เราได้เห็นการจัดการเรียนรู้ที่เป็น ‘กัลยานิมิตรกับผู้ปกครอง’

“ปีหน้าที่เคยกังวลเรื่องหลักสูตร สบายใจละว่าคงเกิดขึ้นอย่างงดงามแน่นอน เพราะมีผู้นำการเรียนรู้ไม่ว่าจะที่ศรีสะเกษ ระยอง หรือสตูล มีสีสันต่างกันไป”

ต้นทุนโรงเรียนไม่เหมือนกัน แต่ก็ใช้โมเดลเดียวกันได้

มีหลายเสียงที่กังวลว่าโมเดลการจัดการศึกษาจากโรงเรียนต้นแบบอย่างรุ่งอรุณ โรงเรียนอื่นๆ จะสามารถนำไปใช้ได้หรือไม่ ด้วยบริบทและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน

ดร.สุธีระ ให้ความเห็นว่า แม้โรงเรียนรุ่งอรุณเด็กและผู้ปกครองจะมีการเตรียมพร้อม มีต้นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่โมเดลที่นำเสนอครั้งนี้โรงเรียนอื่นๆ สามารถนำไปปรับใช้ได้แน่นอน แม้บริบทจะแตกต่างกัน ต้องอาศัยผู้นำ หรือผู้อำนวยการโรงเรียนในการปรับใช้โมเดล พัฒนาระบบ บริหารจัดการของโรงเรียน

ส่วนดร.รัตนา ยกเครื่องมืออีกหนึ่งชิ้นที่ช่วยให้การทำโมเดลสำเร็จ คือ วง PLC (Professional Learning Community) “เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงคุณภาพการศึกษาได้มากทีเดียว เห็นสิ่งที่ตามมา เช่น การกำหนดโจทย์ที่ทำให้มีความหมายที่สุด มีความท้าทายและซับซ้อน”

ปิยาภรณ์ แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า การสำรวจและใช้ต้นทุนที่โรงเรียนมีถือเป็นอีกหนึ่งคีย์หลัก จากการทำงานของโรงเรียนรุ่งอรุณที่ดึงศักยภาพคนรอบตัวและบริบทโรงเรียน ไม่ใช่แค่ศักยภาพครูเท่านั้น แต่เป็นเครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายของศิษย์เก่า ผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ในชุมชนที่โรงเรียนรู้จัก หรือจังหวัดศรีสะเกษในงานเสวนาครั้งก่อนก็มีการดึงนักกีฬาระดับชาติ นักคิด นักวิชาการ ผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าโรงเรียนใช้เครือข่ายดังกล่าวเข้ามาช่วยจัดการเรียนรู้เพื่อให้ได้การศึกษาในมิติใหม่ที่มีคุณภาพ

“ขอใช้คำพูดของผอ.โรงเรียนวัดตาขัน ‘เรื่องยากๆ อะไรก็ตาม ไม่พ้นความพยายามของครูและก็ผู้อำนวยการของเราหรอก ที่จะหาทางไปสู่ความสำเร็จได้’ ” ปิยาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

Tags:

โรงเรียนวัดถนนกะเพราโรงเรียนบ้านตาขันโรงเรียนรุ่งอรุณพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Related Posts

  • Creative learning
    ‘ใบงานบูรณาการ’ โรงเรียนบ้านเขาจีน : เมื่อครูช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมในโจทย์เดียว ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Social Issues
    ปลดล็อกระบบการศึกษาไทย ปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ : เสียงสะท้อนจากผู้ทรงคุณวุฒิ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learning21st Century skills
    วิชาสตูดิโอและภาคสนามออนไลน์ : เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเองได้ กับโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ‘เห็ดหรรษา’ วิชาปากท้องที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ ภาษาและทักษะสมรรถนะ : ผอ.ปวีณา พุ่มพวง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learningSocial Issues
    ปิดโรงสอน ย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็ก : พลิกโควิดเป็นโอกาส กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

‘เห็ดหรรษา’ วิชาปากท้องที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ ภาษาและทักษะสมรรถนะ : ผอ.ปวีณา พุ่มพวง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา
Creative learning
2 September 2021

‘เห็ดหรรษา’ วิชาปากท้องที่บูรณาการวิทยาศาสตร์ ภาษาและทักษะสมรรถนะ : ผอ.ปวีณา พุ่มพวง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • ทำอย่างไรที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ในขณะเดียวกันก็แบ่งเบาภาระค่าอาหารให้ผู้ปกครองแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม นี่คือจุดเริ่มต้นของแผนการบูรณาการวิชาการกับวิชาชีพชุมชน
  • ผอ. ปวีณา พุ่มพวง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา แลกเปลี่ยนการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ช่วงโควิด – 19 ที่ไม่ง่ายเลยสำหรับเด็ก ครู และผู้ปกครอง ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้’ EP.2 : สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง – Inclusive Education
  • “อย่างเห็ดหรรษาก็จะบูรณาการวิทยาศาสตร์และภาษาไทยเข้าไปด้วยกัน เราจึงประเมิน 2 สมรรถนะหลัก คือ สมรรถนะสร้างสรรค์นวัตกรรม กับ สมรรถนะภาษาสู่สากล โดยมีสมรรถนะย่อย คือ การคิดและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการสื่อความหมายอย่างสร้างสรรค์”

“ช่วงโควิดเราจะโดนบ่นตลอดเลยว่า ครูมาสร้างภาระให้ มาทวงงานผู้ปกครอง เราจะทำยังไงให้ผู้ปกครองรู้สึกว่า เขาอยากทำ ไม่ใช่บังคับ แล้วสิ่งนั้นเขาสามารถทำได้ด้วย เป็นเจ้าของบทเรียนร่วมกัน” 

ปวีณา พุ่มพวง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถนนกะเพรา จังหวัดระยอง แลกเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการเรียนรู้ให้เด็กๆ ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้’ EP.2 : สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างทุกคนให้เป็นครู กล้าเรียนรู้ด้วยตนเอง – Inclusive Education บทเรียนจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดระยอง 

ปวีณา พุ่มพวง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดถนนกะเพรา

จากเสียงสะท้อนของผู้ปกครอง ผอ.ปวีณา ใช้กลยุทธ์อะไรในการดึงผู้ปกครองเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญ เพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับนักเรียน รวมถึงการจัดการเรียนรู้ที่บ้าน (Home Based Learning) ผ่านวิชาบูรณาการ เรื่อง เห็ดหรรษาพาสนุก จะปลุกพลังการเรียนรู้ในตัวเด็กประถมได้อย่างไร และเด็กๆ จะได้สมรรถนะอะไรบ้าง เรามาเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน  

‘เรียนรู้ ปากท้อง’ ปัดฝุ่นหลักสูตรบูรณาการวิชาชีพชุมชน 

เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบกับชีวิตและการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งผู้ปกครองยังต้องรับภาระในการประคองการเรียนรู้ในช่วงที่เด็กต้องอยู่บ้าน ผอ.ปวีณา จึงมองหาความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือทั้งผู้ปกครองและเด็ก ทำอย่างไรที่จะสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก ในขณะเดียวกันก็แบ่งเบาภาระค่าอาหารให้ผู้ปกครองแม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตาม นี่คือจุดเริ่มต้นของแผนการบูรณาการวิชาการกับวิชาชีพชุมชน 

“เราก็มาพลิกวิกฤตโดยใช้ก้อนเห็ดเป็นสื่อให้ผู้ปกครอง ครั้งแรกคิดแค่ว่าเอาให้ผู้ปกครองเลี้ยงปากเลี้ยงท้องก่อน ยังไม่ได้คิดว่าแล้วจะเรียนรู้ยังไง รู้แต่ว่ามันจะช่วยลดรายจ่ายให้กับผู้ปกครอง” 

เล่าย้อนไปในช่วงที่ยังไม่เกิดวิกฤตโรคระบาด โรงเรียนวัดถนนกะเพราเป็นโรงเรียนเล็กๆ อยู่ใกล้ทะเล อาชีพส่วนใหญ่ของผู้ปกครองเกี่ยวกับการประมงและค้าขาย รวมถึงการแปรรูปอาหารทะเล เช่น ฮ่อยจ๊อ ในตอนนั้นผอ.ปวีณา มองเห็นโอกาสการเรียนรู้ของโรงเรียน เพราะนี่ถือว่าเป็นมรดกทางภูมิปัญญาที่ล้ำค่า เป็นต้นทุนชั้นดีในการต่อยอดสู่การเรียนรู้ จึงเกิดเป็น School Concept ที่ว่า ‘โรงเรียนสร้างสรรค์นวัตกรน้อยสู่สากล’ (Creative Glocal Innovative School) โดยวาง DOL (ผลลัพธ์การเรียนรู้) คือ เด็กมีความมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้วยความชาญฉลาด รักและภูมิในท้องถิ่นของตนเอง สามารถสื่อสารได้อย่างน้อย 3 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ และจีน รวมถึงอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยมี School Partner เช่น พื้นที่นวัตกรรมจังหวัดระยอง โรงเรียนรุ่งอรุณ กสศ. ชุมชนผู้ปกครอง ฯลฯ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงและเป็นคู่มือที่ดีในการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ 

และเมื่อเจอวิกฤตผอ.ปวีณา จึงปัดฝุ่นหลักสูตรที่มีการบูรณาการวิชาชีพชุมชน เช่น สวนผักของพ่อ เห็ดแปลงร่าง มหัศจรรย์ใบขลู่ หอยนางรมน่ารู้ น้ำปลารสเด็ด และฮ่อยจ๊อหรรษา นำสิ่งเหล่านี้มาบูรณาให้เกิดการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ เกิดเป็นแผนจัดการเรียนรู้วิชาบูรณาการ เรื่อง เห็ดหรรษาพาสนุก นั่นเอง

‘เห็ดหรรษา’ สู้โควิด ปลุกพลังการเรียนรู้เด็ก ครู ผู้ปกครอง 

“เรามีเห็ด แล้วเห็ดไม่ต้องมีอะไรยุ่งยากเลย แค่มีก้อนหัวเชื้อเห็ด เราก็เอาไปส่งให้นักเรียนของเราได้ ใช้กลุ่มไลน์ผู้ปกครองโรงเรียนเป็นตัวสานสัมพันธ์ ในช่วงที่ทดลองอาทิตย์แรกผู้ปกครองยังเงียบ ไม่ตอบรับ ผอ.จึงต้องกระตุ้นผู้ปกครองคอยถามว่า ก้อนเห็ดที่ได้ไปนั้นเป็นยังไงบ้าง เห็ดออกดอกบ้างไหม จากนั้นผู้ปกครองก็ค่อยๆ เล่า หลายคนก็บอกว่า เห็ดออกดอกเต็มเลยค่ะผอ. แต่ทำไมก่อนหน้านี้ถึงไม่มีการตอบสนองใดๆ เลย เราก็เลยรู้ว่า กับผู้ปกครองเราจะต้องใช้ความเป็นครูด้วย ก็คือโยนโจทย์ให้เขาเหมือนเขาเป็นนักเรียนคนหนึ่ง ถือเป็นการซ้อมก่อนที่จะใช้กับเด็กๆ ด้วย” 

“กลยุทธ์ของผอ. ในการดึงผู้ปกครองเข้ามาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ร่วมกัน คือ การกระตุ้นคำถามและใช้ความจริงใจ แสดงออกถึงความเอาใจใส่จริงๆ ว่า เราไม่ได้ทิ้งให้เขาสอนลูกเพียงลำพัง แล้วเราก็ไม่ได้สอนลูกเขาอย่างลำพังเช่นเดียวกัน การสื่อสารที่ชัดเจน จะทำให้ผู้ปกครองเขาตอบรับในสิ่งที่เราต้องการได้” 

เมื่อปรับรูปแบบในการสื่อสาร ผู้ปกครองเริ่มมีการปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น ซึ่งเป็นสัญญาณการตอบสนองที่ดี ผอ.จึงชวนผู้ปกครองถ่ายคลิปเด็กๆ ในขณะที่เรียนรู้เรื่องเห็ดส่งกลับมา เป็นการติดตามผล

ในส่วนของครูก็ต้องปรับการเรียนการสอนให้มีกระบวนการที่ชัดเจน ระบุสมรรถนะของผู้เรียนได้ว่า ในหน่วยการเรียนรู้เรื่องนั้นๆ จะต้องมีสมรรถนะอะไร พฤติกรรมบ่งชี้คืออะไรบ้าง เชื่อมโยงกับความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skill) และคุณค่า (attitude) อะไรบ้าง  

“อย่างเห็ดหรรษาก็จะบูรณาการวิทยาศาสตร์และภาษาไทยเข้าไปด้วยกัน เราจึงประเมิน 2 สมรรถนะหลัก คือ สมรรถนะสร้างสรรค์นวัตกรรม กับ สมรรถนะภาษาสู่สากล โดยมีสมรรถนะย่อย คือ การคิดและการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และการสื่อความหมายอย่างสร้างสรรค์”

สำหรับบรรยากาศในห้องเรียนออนไลน์ ขั้นแรกนักเรียนและครูพูดคุยเกี่ยวกับการเลี้ยงเห็ด เช่น เห็ดที่เลี้ยงออกดอกหรือไม่ เจอปัญหาและอุปสรรคบ้างไหม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเพื่อนๆ ซึ่งจะเห็นความแตกต่างของสถานที่ในการเลี้ยงเห็ด ในตอนนั้นครูจะใช้คำถามกระตุ้นเพื่อท้าทายให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นร่วมกันว่า “เพราะเหตุใดเห็ดบ้าน A จึงออกดอกมากกว่าเห็ดบ้าน B” โดยให้นักเรียนค้นหาคำตอบ จากสิ่งที่สังเกตได้จากคลิปวิดีโอการเลี้ยงเห็ดของเพื่อน เป็นการฝึกทักษะการสังเกต คิด วิเคราะห์ แยกแยะอย่างมีเหตุผล

จากนั้นครูชวนตั้งคำถามต่อว่า แล้วมีปัจจัยใดบ้างที่ทำให้เห็ดมีคุณภาพ และคำว่า ‘เห็ดมีคุณภาพ’ เราให้คำจำกัดความกันว่าอย่างไร ซึ่งจากการร่วมกันหาคำตอบก็สรุปได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้เห็ดมีคุณภาพ ได้แก่ อุณหภูมิ แสงแดด ความชื้น สถานที่ ความเป็นกรด-เบส การรดน้ำ ความสะอาด และเห็ดมีคุณภาพ หมายถึงเห็ดที่มีความสมบูรณ์ของดอก ไม่มีความแห้ง หรือฉ่ำน้ำมากเกินไป ไม่มีสีเหลือง เป็นสีขาว หรือสีเทาตามพันธุ์ ดอกที่สมบูรณ์ไม่จำเป็นต้องใหญ่ และต้องมีปริมาณการออกดอกมาก นี่เป็นความรู้ในวิชาวิทยาศาสตร์ที่เด็กจะได้รับ

ซึ่งการได้คำตอบเหล่านั้น ต้องออกแบบการทดลองในกระบวนการวิทยาศาสตร์ โดยตั้งสมมติฐาน กำหนดตัวแปรต้น ตัวแปรตาม และตัวแปรควบคุมอย่างมีประเด็น และหาความสัมพันธ์ของตัวแปรเหล่านั้น จนได้มาผลการทดลอง จากนั้นก็นำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาสรุปเป็นองค์ความรู้ในรูปแบบต่างๆ เช่น Mind mapping 

นอกจากนี้ ครูยังบูรณาวิชาภาษาอังกฤษ โดยส่งคลิปคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เกี่ยวกับเห็ด ให้ผู้ปกครองได้ให้เด็กๆ เรียนรู้ เรื่องภาษาด้วย  

บันทึกร่องรอยการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อประเมินผลตามสมรรถนะ

“เรามีเครื่องมือของครูประจำชั้น คือ ใบงานที่จะบอกให้เขาบันทึกร่องรอยการเรียนรู้ของเด็ก การเก็บเห็ด วันนี้พบอะไรในก้อนเห็ดบ้าง เห็ดออกดอกประมาณเท่าไร ฝึกการเป็นนักสังเกตและจดบันทึก” 

ระหว่างการนำเสนอผอ. ปวีณา ยังได้เปิดคลิปวิดีโอของเด็กนักเรียนที่ผู้ปกครองส่งมาให้คุณครู ไม่ว่าจะเป็นการสาธิตการรดน้ำเห็ดอย่างถูกวิธี หรือการเก็บเห็ดกับพ่อแม่เพื่อนำไปทำอาหาร 

“สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมานำเสนอเรื่องเห็ดกันนะคะ เห็ดของเราเป็นเห็ดนางฟ้า เราจะมารดน้ำเห็ดกันค่ะ รดไปที่ก้อนเห็ดห้ามให้น้ำเข้าปากเห็ดนะคะ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดเชื้อราได้ง่าย” เสียงเด็กนักเรียนในคลิปอธิบาย ซึ่งไม่เพียงสร้างการเรียนรู้ผ่านงานบ้าน งานสวน งานครัวได้เป็นอย่างดี ผู้ปกครองยังสะท้อนกลับมาว่า

“เด็กได้มีความรับผิดชอบ รดน้ำเช้าเย็น เขาดีใจที่ได้เห็นเห็ดออกดอก และได้เก็บเห็ดไปทำกับข้าว ทำไข่เจียวเห็ด ต้มไก่ใส่เห็ด เขาสนุกในการทำกับข้าว เป็นกิจกรรมที่ดีที่เด็กได้ทำกับครอบครัวด้วย” 

ในส่วนของการประเมินโรงเรียนวัดถนนกะเพราเราใช้การประเมินผลตามสมรรถนะของผู้เรียน เพื่อตอบโจทย์ DOL ของโรงเรียนเช่นเดียวกัน 

โดยประเมินจากการสังเกตการเรียนรู้ของนักเรียน การระบุคำตอบจากสิ่งที่สงสัยหรือเป็นปัญหา โดยอาจระบุได้จากการใช้ประสบการณ์เดิม มีครูคอยให้คำแนะนำ และใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อวิเคราะห์แยกแยะข้อมูลถึงองค์ประกอบย่อยที่เป็นเหตุปัจจัย จนสามารถพิสูจน์หาคำตอบ และสรุปเป็นความรู้ใหม่ที่นักเรียนได้ค้นพบ รวมถึงจากที่นักเรียนร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากประเด็นปัญหาที่พบในการเลี้ยงเห็ดที่บ้าน ได้อย่างมีประเด็น และพูดโต้ตอบได้อย่างสร้างสรรค์ 

“พ่อแม่จะเกิดความภาคภูมิใจ เพราะเขาสามารถเป็นเหมือนฮีโร่ของลูกได้ สอนในสิ่งที่ใกล้ตัว พ่อแม่เปิดใจและให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ครูเองก็มีการยืดหยุ่น ปรับตัวเปลี่ยนแปลง ผอ.ก็แฮปปี้ เด็กๆ ก็มีความสุข”

ในฐานะหัวเรือใหญ่ของโรงเรียน ผอ.ปวีณามองว่าการปรับรูปแบบการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้ ถือว่าได้ตามเป้าหมาย ‘โรงเรียนสร้างสรรค์นวัตกรน้อยสู่สากล’ แล้ว

“เรามองเรื่องที่ยากๆ ในสถานการณ์นี้ เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส นอกจากได้เรื่องปากท้องแล้วยังได้เรื่องการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วย” 

นี่คือผลลัพธ์จากการเป็นเจ้าของการเรียนรู้ร่วมกันของเด็ก ครู และผู้ปกครอง โรงเรียนวัดถนนกะเพรา

Tags:

พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาหลักสูตรฐานสมรรถนะล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้โรงเรียนวัดถนนกะเพรา

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • Education trendSocial Issues
    เมื่อ ‘หลักสูตร’ อาจไม่ใช่ผู้ร้ายในระบบการศึกษาไทย แต่เป็นปฏิบัติการทางวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

    เรื่อง The Potential

  • Creative learning
    ‘ใบงานบูรณาการ’ โรงเรียนบ้านเขาจีน : เมื่อครูช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมในโจทย์เดียว ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Social Issues
    ปลดล็อกระบบการศึกษาไทย ปฏิรูปการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะ : เสียงสะท้อนจากผู้ทรงคุณวุฒิ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learning21st Century skills
    วิชาสตูดิโอและภาคสนามออนไลน์ : เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กออกแบบเองได้ กับโรงเรียนมัธยมรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Social Issues
    จุดเปลี่ยนพลเมืองไทยคุณภาพใหม่ ผู้เรียนต้องเป็น ‘learner person’ มีสมรรถนะเป็นฐานการเรียนรู้

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

Ginny & Georgia : คนรักใหม่ของแม่ กับ การมีหรือไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจชีวิตของเรา
Dear ParentsMovie
2 September 2021

Ginny & Georgia : คนรักใหม่ของแม่ กับ การมีหรือไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจชีวิตของเรา

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • อีกหนึ่งซีรีส์พล็อตคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้มีลูกตั้งแต่ยังสาว Ginny & Georgia ให้ความรู้สึกเหมือนเรื่องราวของสองแม่ลูกจาก Gilmore Girls แต่เป็นเวอร์ชันอัพเกรดคู่แม่ลูกที่แซ่บกว่า จอร์เจียเป็นแม่ที่สามารถพาลูกไปหาหมอเพื่อรับยาคุมมากิน และจินนี่สามารถด่าแม่กลับได้โดยที่แม่ไม่โกรธ
  • ถึงแม้จินนี่จะสนิทกับแม่ และแม่ของเธอดูจะเข้าใจหัวใจวัยรุ่นแค่ไหนก็ตาม ก็ยังมีจุดที่ทำให้ทั้งสองต่อกันไม่ติด ด้วยวัยที่มีฮอร์โมนและอารมณ์พุ่งพล่านอยู่แล้วหนึ่ง สองคือจินนี่รู้สึกเกลียดสิ่งที่แม่ตัดสินใจโดยไม่คิดถึงผลกระทบกับตัวเธอและน้อง จนเกิดเป็นความเครียดสะสมที่ไม่เคยมีเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะต้องย้ายบ้านบ่อยๆ ทำให้จินนี่คอยโทษแม่อยู่บ่อยครั้ง และได้กลายเป็นเด็กเก็บกดที่ทำร้ายร่างกายตัวเอง
  • “ส่วนตัวเราเคยโดนผู้ชายของแม่พยายามมาบอกให้แม่ห้ามเราไม่ให้ทำนู่นทำนี่หลายครั้งมาก ‘บอกลูกเธอนะว่าอย่าทำอย่างนี้มันไม่ดีบลาๆๆ’ ซึ่งเรารู้สึกว่าเค้าล้ำเส้นชีวิตของเราและแม่มากเกินไป เค้าไม่เคารพการเลี้ยงดูลูกของแม่เราเลย และการที่แม่ฟังคนอื่นโดยไม่มาถามความรู้สึกเรา มันทำให้เห็นได้ชัดว่า สิ่งที่แม่สนใจคือความรู้สึกของคนอื่นมากกว่าลูกตัวเอง ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บช้ำอยู่บ่อยๆ”

Tags:

วัยรุ่นมายาคติการเป็นแม่ซีรีส์แบบแผนความสัมพันธ์

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Movie
    Shrinking : ชั่วโมงบำบัดพ่อลูกหัวใจพังทลาย

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear ParentsMovie
    Sex Education: ความเข้าใจเรื่องสิทธิ์เนื้อตัวไม่ได้มาเพราะโชคช่วย ครอบครัวต้องหยุดสร้างทัศนคติ Victim blaming

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Juno: การรับมือกับท้องไม่พร้อม และการบอกสิ่งที่ตัวเองตัดสินใจ(ด้วยตัวเอง)กับครอบครัว

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dear ParentsMovie
    “ถึงพ่อแม่จะเลิกรักกัน ไม่ได้แปลว่าเราจะเลิกเป็นครอบครัว” แคลร์ จิรัศยา ผู้กำกับที่ใช้ซีรีส์ส่งข้อความจากใจลูกถึงพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว

    เรื่อง ภาพพิมพ์ พิมมะรัตน์ ภาพ ณัฐสุชา เลิศวัฒนนนท์

  • Dear ParentsMovie
    Gilmore girls – ซีรีส์ที่ทำให้อยากมีแม่แบบเพื่อน ให้อิสระ อยู่ตรงนั้นเพื่อให้คำปรึกษาและพึ่งพิง

    เรื่องและภาพ พิมพ์พาพ์

‘งานบ้าน งานสวน งานครัว’ วิชาเรียนของเด็กๆ โรงเรียนบ้านกระถุนในช่วงโควิด – 19 ที่ยังคงได้ทักษะชีวิตและสมรรถนะที่จำเป็น
Creative learning
2 September 2021

‘งานบ้าน งานสวน งานครัว’ วิชาเรียนของเด็กๆ โรงเรียนบ้านกระถุนในช่วงโควิด – 19 ที่ยังคงได้ทักษะชีวิตและสมรรถนะที่จำเป็น

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • ห้องเรียนทางไกลของครูหมี – สินีนาฏ ยาหอม โรงเรียนบ้านกระถุน ในวันที่ครูและเด็กต้องห่างไกลกัน และผู้ปกครองขึ้นมามีบทบาทแทน ในงานเสวนา ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’
  • ขั้นตอนสำคัญ คือ การตั้งโจทย์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฎิบัติ ครูหมียกตัวอย่างวิธีให้โจทย์ของเธอกับเด็กๆ เธอจะตั้งโจทย์กว้างๆ เช่น งานบ้าน งานครัว งานสวน ฯลฯ ให้เด็กแต่ละชั้นออกแบบว่าเขาจะทำอะไรกับโจทย์นี้ ซึ่งเด็กป.1 เพิ่งเลื่อนชั้นจากอนุบาล อาจยังไม่สามารถวางแผนการทำงาน ให้ทำใบงานแทน ส่วนชั้นอื่นๆ ให้ออกแบบงานเอง โดยมีผู้ปกครองสวมบทบาทเป็นหน่วยสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ ตั้งคำถามชวนเด็กคิด ถ่ายผลงานส่งครูผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก 
  • “เวลาทำงานผู้ปกครองจะคิดว่าลูกต้องมีชิ้นงานสวยๆ ส่งครู ครูบอกเลยว่าไม่ต้องการชิ้นงานสมบูรณ์แบบ แต่ต้องการกระบวนการที่เด็กลงมือทำ อยากให้ผู้ปกครองชวนเด็กตั้งคำถาม เช่น ทำไมเทผงชูรสขนาดนี้ จะมีวิธีแก้ปัญหายังไง”

“ความท้าทายของครู คือ การที่เด็กต้องอยู่กับตายาย…จะทำอย่างไรให้เขาทำได้ตามเป้าหมายที่ครูตั้งไว้ เป็นเรื่องยาก ครูต้องแบ่งกลุ่มเด็ก ข้อดีของโรงเรียนเราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนเด็กที่ดูแลมีน้อย ครูสามารถลงพื้นที่ไปดูได้เลย เช่น บริบทเด็กคนนี้ไม่สามารถเรียนแบบเพื่อน ก็ดูว่าจะเสริมเขายังไง ต้องคุยกับผู้ปกครองเยอะๆ แนะนำว่าต้องตั้งคำถามกระตุ้นเด็กแบบไหน ผู้ปกครองก็ให้ความร่วมมือดี” 

ครูหมี – สินีนาฏ ยาหอม โรงเรียนบ้านกระถุน กล่าวในงานเสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 1 กรณีศึกษาโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและเครือข่ายโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมจังหวัดศรีสะเกษ’ จัดโดย คณะอนุกรรมการด้านการสื่อสารและการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการนโยบายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ร่วมกับสำนักงานบริหารพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ที่ผ่านมา 

พื้นที่แลกเปลี่ยนแนวทางการจัดการศึกษาในช่วงวิกฤตนี้ มีเป้าหมายให้ผู้เรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่แท้จริง (Child Based Learning) ‘อยู่ที่ไหนก็เรียนได้ อยู่ที่ไหนก็ได้เรียน เปลี่ยน Living เป็น Learning’ นำโดยโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและโรงเรียนในเครือข่ายพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โรงเรียนบ้านปะทายและโรงเรียนบ้านกระถุน (อ่านบทความ)

สำหรับโรงเรียนบ้านกระถุนเป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดเล็ก เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 โดยใช้นวัตกรรมจิตศึกษา, PBL (Problem Based Learning), PLC (Professional Learning Community) และลดกลุ่มสาระการเรียนรู้จาก 8 วิชาเหลือ 4 วิชา ได้แก่ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิชาบูรณาการ

เนื่องจากบ้านกระถุนอยู่ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา (อ่านบทความ) ทำให้สามารถออกแบบหลักสูตรได้เอง หลักสูตรที่โรงเรียนใช้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ปรับให้เข้ากับเป้าหมายในการพัฒนาเด็กของโรงเรียน ‘รู้คิด จิตใจดี มีทักษะชีวิต’ ซึ่งทักษะสมรรถนะที่เด็กต้องมี ได้แก่ การจัดการตัวเอง การสื่อสาร การรวมพลังทำงานเป็นทีม การคิดขั้นสูง และการเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง

แน่นอนว่าสาเหตุที่โรงเรียนต้องปรับการเรียนการสอนมาจากสถานการณ์ที่ต้องเว้นระยะห่างป้องกันโรคระบาด ผู้อำนวยการโรงเรียนชวนครูและผู้ปกครองร่วมทำวง PLC หาคำตอบวิธีจัดการเรียนรู้ เริ่มด้วยการแบ่งกลุ่มนักเรียนออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่สามารถเรียนได้ดีช่วงนี้ กลุ่มที่เรียนได้ปานกลาง และกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จากนั้นลงมือออกแบบการเรียนรู้ 3 ช่วง อนุบาล ประถมศึกษาตอนต้น และประถมศึกษาตอนปลาย ให้ครูดูแลช่วงชั้นละ 2 คน 

ขั้นตอนสำคัญ คือ การตั้งโจทย์ เด็กๆ จะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฎิบัติ ครูหมียกตัวอย่างวิธีให้โจทย์ของเธอกับเด็กๆ เธอจะตั้งโจทย์กว้างๆ เช่น งานบ้าน งานครัว งานสวน ฯลฯ ให้เด็กแต่ละชั้นออกแบบว่าเขาจะทำอะไรกับโจทย์นี้ ซึ่งเด็กป.1 เพิ่งเลื่อนชั้นจากอนุบาล อาจยังไม่สามารถวางแผนการทำงาน ให้ทำใบงานแทน ส่วนชั้นอื่นๆ ให้ออกแบบงานเอง โดยมีผู้ปกครองสวมบทบาทเป็นหน่วยสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ ตั้งคำถามชวนเด็กคิด ถ่ายผลงานส่งครูผ่านทางไลน์ เฟซบุ๊ก 

สุดท้ายทำ AAR (After Action Review) ผู้ปกครองฟีดแบ็กว่าเห็นความเปลี่ยนแปลงของลูกด้านไหนบ้าง มีปัญหาอะไรที่ต้องการความช่วยเหลือ ส่วนครูก็ฟีดแบ็กว่ากิจกรรมที่เด็กคิดเขาได้พัฒนาทักษะสมรรถนะด้านใดบ้าง สุดท้ายให้เด็กเขียนสรุปว่าเขาได้องค์ความรู้อะไรจากการทำกิจกรรม

“พอต้องเจอสถานการณ์ที่ครูไม่สามารถเจอเด็ก ก็คิดว่าจะเรียนยังไงให้เด็กยังได้วิเคราะห์ ก็คือการตั้งโจทย์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น ซึ่งผู้ปกครองต้องเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยกันคิดไทม์ไลน์การเรียนกับครู โจทย์หนึ่งใช้เวลาเรียน 1 – 2 วัน ผู้ปกครองและเด็กต้องมองเห็นเป้าหมาย รู้ว่าจะเดินไปยังไงให้ถึง

“กิจกรรมที่เด็กทำต้องมีวิชาหลักแทรกไปด้วย เช่น โจทย์งานครัว เด็กเลือกทำผัดกะเพราส่ง เราดูในคลิปเห็นเขาใส่ผงชูรสเยอะมาก เลยได้ไอเดียแทรกวิชาคณิตศาสตร์ เรื่องชั่งตวงวัตถุดิบ หรือวิชาภาษาไทย เขียนคำศัพท์ที่เกี่ยวกับงานครัว อ่านคำศัพท์ มาแต่งเป็นประโยคที่ได้ใจความสมบูรณ์ และนำไปแต่งเป็นเรื่องราว ได้ทักษะลำดับเรื่องราวเป็น”

ครูหมีเน้นว่า จุดสำคัญที่ทำให้ดำเนินกิจกรรมการเรียนเช่นนี้ได้ ผู้ปกครองกับครูต้องร่วมมือกันมากๆ เธออธิบายว่า ผู้ปกครองสามารถโทรหาได้ตลอดเวลา ช่วยกันแนะนำ แก้ไขปัญหา

“เวลาทำงานผู้ปกครองจะคิดว่าลูกต้องมีชิ้นงานสวยๆ ส่งครู ครูบอกเลยว่าไม่ต้องการชิ้นงานสมบูรณ์แบบ แต่ต้องการกระบวนการที่เด็กลงมือทำ อยากให้ผู้ปกครองชวนเด็กตั้งคำถาม เช่น ทำไมเทผงชูรสขนาดนี้ จะมีวิธีแก้ปัญหายังไง”

ความร่วมมือระหว่างผู้ปกครองและคุณครูถือเป็นคีย์สำคัญในการจัดการศึกษาเวลานี้ เพราะไม่ใช่ผู้ปกครองทุกคนจะสามารถมีเวลาหรือความรู้ความเข้าใจในการสอนลูกได้ ต้องอาศัยคำแนะนำ การดูแลจากครู เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กๆ ยังคงเติบโตและได้ประสิทธิภาพในช่วงเวลานี้

Tags:

เทคนิคการสอนพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ล็อกดาวน์ ไม่ล็อกการเรียนรู้ประถมศึกษาโรงเรียนบ้านกระถุนสินีนาฎ ยาหอม

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Related Posts

  • Creative learning
    ‘ใบงานบูรณาการ’ โรงเรียนบ้านเขาจีน : เมื่อครูช่วยกันออกแบบการเรียนรู้ร่วมในโจทย์เดียว ลดภาระผู้เรียนและผู้ปกครอง

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Creative learning
    ครูเป็นโค้ช โจทย์ต้องท้าทาย พลังสำคัญของการเรียนรู้ที่บ้าน : ครูเต้ย- โกเมน อ้อชัยภูมิ โรงเรียนประถมรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learningSocial Issues
    ปิดโรงสอน ย้อนคืนการเรียนรู้กลับสู่เด็ก : พลิกโควิดเป็นโอกาส กรณีศึกษาโรงเรียนรุ่งอรุณ

    เรื่อง ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    Self-Directed Learner ช่วงเวลาเรียนรู้ที่มีคุณภาพของเด็กมัธยม: ครูณี-พรรณี แซ่ซือ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา

    เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • Creative learning
    ลดภาระงาน เลือกทักษะที่สอดคล้องกับชีวิตเด็ก : หลักการจัดการเรียนรู้ในช่วงโควิด – 19 ของ ‘โรงเรียนบ้านปะทาย’

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

Posts navigation

Older posts
Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel