ทุกทรัพยากรรอบบ้าน ต้องถูกมองและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนได้ด้วย มันจะเป็นแบบนั้นได้หรือเปล่า? ครูในชุมชนที่มีบทบาทสร้างการเรียนรู้กับคนรุ่นใหม่คือใครก็ได้ที่อยู่ในชุมชน แล้วเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่จะลุกขึ้นมาอยู่ร่วมในชุมชนของเขา คนๆ นั้นเราเรียกเขาว่าเป็น “พี่เลี้ยง” กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชน (active citizen) มาแบ่งปันฮาวทูพัฒนา 5 ทักษะในการเป็นพี่เลี้ยงสร้างการเรียนรู้ให้เยาวชน ทั้งพี่เลี้ยงนักฟัง พี่เลี้ยงนักสื่อสาร พี่เลี้ยงนักสร้างทีม พี่เลี้ยงนักวางแผน และ พี่เลี้ยงนักตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ เพื่อเป็นที่พึ่ง เป็นความมั่นคง เป็น ‘พี่’ ที่ไม่ใช่แค่พาน้องๆ ทำงาน แต่เป็นความไว้ใจ คนรุ่นใหม่อยากพูดคุยปรึกษา
กว่าจะโตมาเป็นคุณทุกวันนี้ อยากชวนย้อนคิดว่าคุณเติบโตมากับสภาพแวดล้อมแบบไหน กับคนกลุ่มใด?
กับเพื่อนเล่นวัยเด็ก กับสนามเด็กเล่นใกล้บ้าน กับคุณป้าร้านขายของชำ กับรักครั้งแรก กับการเข้าไปรับผิดชอบในโครงการธนาคารขยะหมู่บ้าน และหากอายุของคุณพ้นเลข 3 ไปนิดหน่อยถึงค่อนข้างมาก คุณอาจมีภาพทรงจำวัยเด็กอย่างการวิ่งเล่น และมีหน้าที่ใดหน้าที่หนึ่งในท้องไร่ท้องนา เรื่องราวแบบนี้พาคุณย้อนเวลาไปทบทวนได้เป็นวันๆ
คิดถึงตรงนี้ เราพูดได้ไหมว่า การเรียนรู้ของคุณไม่เคยอยู่แค่ในขอบรั้วโรงเรียน? แต่การพัฒนาคนๆ หนึ่งให้เติบโตอย่างมีประสบการณ์ มีทักษะ เป็นคุณอย่างที่เป็นทุกวันนี้ ประกอบด้วยสภาพแวดล้อม ผู้คน และชุดประสบการณ์จากกลุ่มคนวัยเด็กมากมายเหลือเกิน
คุณไม่ใช่ลูกหลานของคนในบ้านหลังเดียว แต่เป็นลูกเป็นหลานคนในหมู่บ้านนั้น ในชุมชนนั้น ไม่ทางใดทางหนึ่ง …พวกเขาช่วยเลี้ยงดูคุณมา
การมาของโรคระบาดในรอบ 100 ปี อย่างโควิด-19 ทำให้หลายคนคาดการณ์ว่าหรือกำแพงโรงเรียนจะค่อยๆ ล่มสลาย จะมีการเรียนออนไลน์ หรือจะเรียนที่บ้านเป็นหลักผ่านการออกแบบร่วมของโรงเรียนและผู้ปกครอง แต่ก็ไม่ใช่การเอานักเรียนออกจากรั้วโรงเรียนเพื่อไปขังอยู่ในรั้วบ้าน (และหน้าจอสี่เหลี่ยม) แต่ทุกทรัพยากรรอบบ้านต้องถูกมองและพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนได้ด้วย มันจะเป็นแบบนั้นได้หรือเปล่า?
เราคิดถึงคนหลายกลุ่มที่ทำงานพัฒนาเด็กและคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ผู้ปกครอง พ่อค้าแม่ค้า ผู้นำชุมชน หรือคนกลุ่มไหนก็ตามที่เป็นเหมือนครูในชุมชน หรือในที่นี้จะเรียกว่า “พี่เลี้ยง” เป็นผู้ที่ตั้งใจทำงานจัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ด้วยวิธีหลากหลาย ตั้งแต่การสร้างการเรียนรู้ผ่านทรัพยากร หรือวัฒนธรรมท้องถิ่น (อาหาร เสื้อผ้า ประเพณี วิถีชุมชน) การทำงานกับเด็กโดยให้พวกเขาทำโครงการ (project) ที่ตัวเองสนใจ ที่เรียกว่า community based learning หรือ project based learning ที่มีเป้าหมายเพื่อให้นี่เป็นพื้นที่ของเด็กๆ ในการที่จะพัฒนาตัวเองไม่ต่างจากโรงเรียน เราคิดว่า การทำงานของคนกลุ่มนี้จะยิ่งมีค่ายิ่งขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน
พี่เลี้ยงที่ไม่ใช่แค่คนที่อยู่กับเด็ก แต่ต้องเป็นที่พึ่ง เป็นความมั่นคงให้พวกเขา แทนครู แทนผู้ปกครองบางครอบครัวที่ต้องไปทำงานไกลบ้าน และเป็นคนจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการพัฒนาเยาวชน (active citizen) มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในคนทำงานด้านการพัฒนาคนรุ่นใหม่มานานกว่า 7 ปี ชวนพูดคุยว่า วิธีเสริมศักยภาพผู้ใหญ่ในชุมชนหรือพี่เลี้ยง ให้เป็นผู้ประคับประคองการเรียนรู้ให้เด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ ทำได้อย่างไร พวกเขาควรมีทักษะอะไรบ้าง
ใครบ้างที่จะเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็ก เยาวชน และพี่เลี้ยงนักฟัง นักสื่อสาร นักสร้างทีมนักวางแผน และนักตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้ ทำได้อย่างไร จำเป็นอย่างไร ทำไมพี่เลี้ยงต้องมีทักษะเหล่านี้?
พี่เลี้ยง คือใคร ทำไมจึงกลายเป็นคีย์หลักในการพัฒนาคนรุ่นใหม่ในช่วงเวลานี้
ต้องพูดก่อนว่าโครงการ Active Citizen เป็นโครงการที่สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะตัวเอง 4 ด้าน ถ้าคำศัพท์ในเรื่อง ‘ทักษะศตวรรษที่ 21’ เราเรียกว่า 4Cs คือ
หนึ่ง -พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) สอง -การพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaboration) สาม -พัฒนาทักษะเรื่องการสื่อสาร (Communication Skills) และ สี่ -เรื่องจิตสำนึกความเป็นพลเมือง ที่จะลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อปัญหาของชุมชนตนเอง (Citizenship หรือ Civic Engagement)
โครงการนี้เราทำงานกับคนรุ่นใหม่ในชุมชนทั่วประเทศ และคนในชุมชนที่มีบทบาทสร้างการเรียนรู้กับคนรุ่นใหม่หลายคนมาก แต่ผู้ที่มีบทบาทมากที่สุดก็คือผู้นำชุมชน พี่เลี้ยง หรือใครก็ได้ที่อยู่ในชุมชน แล้วเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ที่จะลุกขึ้นมาอยู่ร่วมในชุมชนของเขา คนๆ นั้นเราเรียกเขาว่าเป็นพี่เลี้ยง พูดง่ายๆ ว่า พี่เลี้ยงชุมชนเป็นคนในชุมชนที่อยากจะลุกขึ้นมาสนับสนุนคนรุ่นใหม่ให้มีพื้นที่ ให้มีกระบวนการเรียนรู้ใดๆ ก็ตามที่จะเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับชุมชนได้ ที่น่าสนใจคือ พี่เลี้ยงคนนี้ไม่ได้มีอาชีพเป็นพี่เลี้ยง และก็ไม่ได้เป็นครูด้วย
ทำไมหน้าที่สร้างการเรียนรู้ให้เด็ก เยาวชน ต้องไปอยู่ในมือพี่เลี้ยง หรือคนในชุมชน
สถานการณ์คนรุ่นใหม่หรือสถานการณ์ในการพัฒนาของชุมชนตอนนี้ พี่เลี้ยงหลายคนบอกว่าเรากำลังเจอวิกฤต หนึ่ง พอมีสื่อเทคโนโลยีเข้ามา เขาก็เลือกใช้เวลาอยู่กับมัน ผลที่ตามมาก็คือ คนรุ่นใหม่จะไม่ได้อิงอยู่กับชุมชนแล้ว สอง หน้าที่ของคนรุ่นใหม่คือการไปโรงเรียน อยู่แต่ในโรงเรียน เรียนเฉพาะวิชาความรู้ สอบ ติวเตอร์ พ่อแม่ก็คาดหวังให้ลูกได้เกรดดีๆ สุดท้าย คือ เด็กๆ ไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลบ้าน ซึ่งมันสอนเรื่องความรับผิดชอบและการมีส่วนร่วมที่สำคัญมากๆ เพราะเวลาส่วนใหญ่ของเด็กอยู่ที่มือถือ
ไม่นับว่ากิจกรรมของชุมชนเอง งานวัฒนธรรมประเพณีมันก็ลดน้อยลงแล้ว ทำให้มองกันว่าสถานการณ์แบบนี้ทำให้ไม่มีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมามีส่วนร่วม ฉะนั้น การมีพี่เลี้ยง การพาคนรุ่นใหม่กลับมาเชื่อมโยงตัวเองกับสิ่งแวดล้อม กับวัฒนธรรม กับชาติพันธุ์ เชื่อมโยงกับรากเหง้า กับงานกิจกรรมของชุมชน เราคิดว่าจำเป็นและสำคัญมากสำหรับโลกยุคนี้ เพราะถ้าเขาเชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนตัวเองได้ มันเป็นพื้นฐานในการเชื่อมโยงกับความรู้สึกรับผิดชอบต่อประเทศ จังหวัด ชุมชน ที่สำคัญคือการเชื่อมโยงตัวเองกับประเด็นหรือวาระของโลก ที่เราเรียกว่า Global Citizens เหมือนเกรต้า ธันเบิร์ก ที่ลุกขึ้นมารณรงค์ให้คนตระหนักเรื่องภาวะโลกร้อน จุดเริ่มต้นก็เขารู้สึกว่าเราใช้ทรัพยากรมากเกินไปแล้ว
เวลาเรานึกถึงคนสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก เรามักนึกถึงครู หรือไม่ก็พ่อแม่ แต่นี่เรากำลังพูดถึงบทบาทของพี่เลี้ยงที่เป็นใครก็ได้ในชุมชน
บทบาทของคนๆ นี้น่าสนใจมากนะ คนๆ นี้จะเป็นใครก็ได้ที่อยากสร้างการเรียนรู้กับคนรุ่นใหม่ แล้วบทบาทของเขาคืออะไรกันแน่? เรามองว่าบทบาทของเขามี 3 เรื่องด้วยกัน
บทบาทที่หนึ่ง – เป็นคนชักชวนเด็ก เยาวชน ที่อยากพัฒนาตัวเอง คนๆ นี้เขาจะมีหน้าที่ในการแสวงหาคนรุ่นใหม่มารวมกลุ่มกันแล้วทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ทำกิจกรรมเก็บขยะที่ชายหาด ทำกิจกรรมปลูกป่า พาไปทำกิจกรรมที่งานบุญ งานบวช งานตายในชุมชน
บทบาทที่สอง – การหนุนเสริมหรือสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ทำกิจกรรม ตรงนี้พี่เลี้ยงก็อาจจะแนะนำว่าคนรุ่นใหม่จะไปทำกิจกรรมอะไรดี คล้ายๆ เป็นหัวหน้าในการชวนให้น้องๆ ไปทำกิจกรรมดังที่พูดไปแล้ว
บทบาทที่สาม – สำคัญมากและต้องใช้ทักษะพอสมควร คือ บทบาทในการเสริมพลังและสร้างคนรุ่นใหม่ให้เกิดการเรียนรู้และเติบโต เติบโตทั้งทักษะ ทั้งกระบวนการคิด และเติบโตภายใน จากระบวนการที่ทำกิจกรรม พูดให้ถึงที่สุด มันคือการสร้างจิตสำนึกที่โตขึ้น จิตสำนึกที่อยากจะร่วมรับผิดชอบชุมชน
ซึ่งเราคิดว่าทั้ง 3 กระบวนการนี้เป็นกระบวนการเหวี่ยงไปเหวี่ยงมา นอกจากคนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้เนื้อหาวิชาการระหว่างทำกิจกรรมแล้ว การทำอะไรสักอย่างเพื่อชุมชนยังเป็นการเรียนรู้วิชาชีวิตด้วย ฉะนั้น ทั้ง 3 บทบาทของพี่เลี้ยงเป็นบทบาทที่จำเป็นมากของคนในยุคนี้ ต้องกล้าและบ้าบิ่นมากด้วยนะที่จะมาทำ คนเราอยู่บ้านเฉยๆ ก็ได้ หรือถ้าไม่ได้เป็นครู เป็นพ่อแม่ ก็ไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาสร้างการเรียนรู้ให้เด็กหรอก
นอกจากบทบาทพี่เลี้ยง มีประเด็นอะไรที่พี่เลี้ยงต้องทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานร่วมกัน
เรื่องพัฒนาการตามช่วงวัย ต้องเข้าใจก่อนว่าช่วงวัย 14-24 ปี เป็นช่วงวัยที่มีพัฒนาการทางสมองที่น่าสนใจมาก เป็นช่วงวัยที่สมองกำลังจะพัฒนาส่วนอารมณ์ได้อย่างเต็มที่แล้วค่อยเชื่อมมาสู่การพัฒนาสมองส่วนหน้า ซึ่งเป็นส่วนแห่งการคิด การวางแผน การกำกับตัวเอง (ที่เราเรียกว่า EF) เราเรียกช่วงวัยนี้ว่าเป็นหน้าต่างแห่งโอกาสในการที่จะพัฒนาเซลล์สมองส่วนนี้ได้ดีที่สุด
วัยรุ่นเป็นวัยที่สมองมีความยืดหยุ่น ภาษาวิชาการเรียกว่า Brain Plasticity วัยนี้เป็นวัยที่อารมณ์พลุ่งพล่าน มี passion หรือความคลั่งไคล้อยากทำอะไรอย่างสุดความสามารถ ขณะเดียวกัน แม้ทักษะการกลับมาคิด ทบทวน และวางแผน จะค่อยๆ ทำงานได้ดีขึ้น (เพราะช่วงวัยนี้สมองส่วนหน้ายังทำงานไม่สมบูรณ์) แต่การวิ่งไปมาระหว่างการคิดกับอารมณ์ที่ยังทำงานคู่กันไม่สมบูรณ์เต็มร้อย ทำให้เขาเป็นคนที่อาจจะคิดน้อย ทำด้วยอารมณ์เป็นหลัก แต่ถ้าคิดแล้ว ตั้งใจแล้ว เขาจะลงมือทำ ใช้พลัง ใช้อารมณ์ตัวเองทำอย่างเต็มความสามารถ เรียกว่ามาแบบเต็มร้อยเลย
หมายถึงว่า พัฒนาการของวัยรุ่น ถ้าดีก็ดีเลย ถ้าเขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์มาทำอะไรสักอย่างเพื่อชุมชน เขาจะทำอย่างสุดความสามารถ แต่ถ้าเขาเดินในทางลบ อยากลองยาเสพติด ลองอะไรเสี่ยงๆ เขาก็จะเต็มที่มากเช่นกัน เราจึงอยากให้พี่เลี้ยงใช้โอกาสของวัยรุ่นช่วงนี้ทำงานกับเขาอย่างเข้าใจพัฒนาการเขา การที่เขามีอารมณ์แปรเปลี่ยน หุนหันพลันแล่น การกำกับอารมณ์ตัวเองไม่ได้ มันจำเป็นต้องมีใครสักคนที่ต้องอยู่เคียงข้างเขา เห็นเขา เป็นเพื่อนคนหนึ่งในการรับฟัง เป็นความมั่นคงให้กับเขา เราเรียกว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่กำลังอยู่ในวัยเปลี่ยนผ่าน กับใครสักคนที่เป็นความมั่นคงให้กับเขา
โดยเฉพาะสังคมปัจจุบันที่หลายคนไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ บางทีพ่อแม่ก็ไปทำงานต่างจังหวัด ต้องอยู่กับตายายในบ้าน หรือไปอยู่ในโรงเรียนก็ไม่มีครูที่จะนั่งฟังเขา ไม่ได้มีเวลาอยู่กับเขาทุกชั่วโมง ทุกนาที การมีพี่เลี้ยงคนหนึ่งที่อยู่ในชุมชนแล้วลุกขึ้นมาให้ความสัมพันธ์กับเขา เป็นหลักยึดให้เขา จึงคิดว่านี่คือหน้าที่ที่สำคัญมาก
เพื่อทำบทบาททั้ง 3 นี้ได้ พี่เลี้ยงต้องมีทักษะอะไรบ้าง
เราเชื่อว่าการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นจากการได้ลงมือทำ และการลุกขึ้นมาร่วมรับผิดชอบกับความทุกข์ร้อนกับประเด็นปัญหาในชุมชน กระบวนการนี้เราเรียกว่า Project Based Learning การเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาชุมชนด้วยโครงงานอะไรก็ตาม การทำโครงการต้องการการวางแผน คิดก่อนทำ และหาข้อมูลเพื่อทำให้เขารู้จักและเข้าใจปัญหานั้นมากขึ้น เมื่อรู้สาเหตุปัญหามากขึ้น ก็เอาข้อมูลนั้นกลับมาคิดทบทวนว่าจะทำ (Action) อะไรเพื่อช่วยคลี่คลายปัญหาในชุมชน
ลักษณะโครงการแบบนี้ต้องการคุณลักษณะและทักษะของพี่เลี้ยงที่สร้างการเรียนรู้ได้ตลอดเส้นทางการเรียนรู้ ฉะนั้น เราจึงวางคุณสมบัติพี่เลี้ยงหรือทักษะพี่เลี้ยงที่จำเป็นต้องมี 5 ด้าน คือ ฟัง สื่อสาร สร้างทีม วางแผน และตั้งคำถามสร้างการเรียนรู้ หรือพูดในอีกภาษาว่า ต้องเป็น พี่เลี้ยงนักฟัง พี่เลี้ยงนักสื่อสาร พี่เลี้ยงนักสร้างทีม พี่เลี้ยงนักวางแผน หรือ การทำกระบวนการทางความคิดให้คนรุ่นใหม่วางแผนก่อนทำงานได้ และ สุดท้าย พี่เลี้ยงนักตั้งคำถามเพื่อสร้างการเรียนรู้
เริ่มกันที่พี่เลี้ยงนักฟังก่อน ทักษะนี้สำคัญยังไง และทำให้มีทักษะนี้ได้อย่างไร
พี่เลี้ยงนักฟัง เป็นพี่เลี้ยงที่เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกตามพัฒนาการของเยาวชน เข้าใจความต้องการลึก ๆ ของเขา ที่สำคัญคือเป็นพี่เลี้ยงที่เห็นโอกาสการเติบโตจากปัญหาชีวิต หรือการเจอปัญหาในการทำกิจกรรมของเยาวชนอยู่เสมอ การเป็นพี่เลี้ยงนักฟังจึงเป็นประตูบานแรกที่จะเข้าไปสู่หัวใจคนรุ่นใหม่และหล่อเลี้ยงการเรียนรู้ของเขาได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่จำเป็นต้องฝึกเพื่อสร้างการเป็นนักฟังที่ดีมี 4 เรื่อง หรือ 4 ระดับ
ระดับแรก คือ การฟังระดับปกติ การรับฟังเมื่อเยาวชนมาปรึกษาระดับที่สอง การฟังเพื่อเข้าไปเข้าใจความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ ที่เขาพูดแบบนี้เขากำลังรู้สึกอะไรระดับที่สาม การฟังความต้องการที่แท้จริง หรือสิ่งที่เขาอยากได้รับการตอบสนอง ซึ่งเขาอาจไม่ได้พูดออกมาระดับที่สี่ ระดับสุดท้าย คือการฟังตัวตน ฟังเสียงของตัวตนแห่งการเติบโตของเขาว่าช่วงเวลานี้ปัญหาที่เขาเจอ เขาต้องการพัฒนาตัวตนอะไร ซึ่งระดับนี้เป็นการฟังระดับลึกที่สุด
ซึ่งการทำให้พี่เลี้ยงมีทักษะการฟัง 4 ด้านนี้เริ่มต้นฝึกจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ ก่อนไปลงมือทำจริง
การฟังระดับแรก เราจะชวนพี่เลี้ยงไปฟังเรื่องราวง่ายๆ เช่น ความสุขความทุกข์ของคนรุ่นใหม่ ความสุขเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด แค่เราฟังอย่างไม่ตัดสิน ฟังอย่างเข้าไปนั่งในหัวใจเขา หรือเท่าทันความคิดที่เกิดขึ้นมากมายของเราขณะฟัง แล้วก็ฟังอย่างใจจดใจจ่อ มองเข้าไปเห็น แล้วก็ฟังด้วยสายตา แค่นี้ก็จะเป็นเรื่องที่ยากแล้วนะ แต่เรานำกิจกรรมฟังเรื่องราวความสุขเข้ามาในขั้นแรก ให้พี่เลี้ยงฟังแบบปกติให้ได้ อดทนที่จะฟังอย่างยาวนานพอ
ส่วนการฟังที่ลึกขึ้นในระดับที่สอง คือ ฟังความรู้สึก คนที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่จะรู้เลยว่าเขาเป็นช่วงวัยแห่งการใช้อารมณ์ความรู้สึก ถ้าใช้อารมณ์ความรู้สึกแล้วทำงานได้ดีมาก จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกพี่เลี้ยงในการรับฟังความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกมีเยอะมากนะ ทั้งความรู้สึกตื่นเต้น ความรู้สึกหวาดกลัว ความรู้สึกท้อ ความรู้สึกเศร้าเสียใจ
กระบวนการเรียนรู้ที่จะฝึกให้พี่เลี้ยงเข้าไปฟังความรู้สึก คือให้พี่เลี้ยงลองช่วยเล่าความทุกข์ของเพื่อนพี่เลี้ยงด้วยกันดู ลองดูว่าในห้วงเวลาที่เรามีความรู้สึกทุกข์ เราก้าวข้ามมาได้อย่างไร ช่วงเวลาที่รู้สึกว่ายาก ตอนนั้นมันเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น เราจะฝึกพี่เลี้ยงให้เข้าไปฟังเรื่องราว แล้วก็จับความรู้สึกหลักของเหตุการณ์นั้นของเพื่อนให้ได้ มันยาก แต่พี่เลี้ยงก็ทำได้ทุกคนนะ พอเราจับความรู้สึกเป็น เราจะใช้สายตา ใช้การสังเกตดูว่าในเรื่องราวใดๆ ก็ตามที่เขาอยากจะเข้ามาหาเรา อยากมาปรึกษาเรา เหตุการณ์นั้น เขารู้สึกอย่างไร
ระดับที่สาม คือพาลงไปรับรู้ความต้องการ เวลาพาไปรับรู้ความต้องการ เขาอาจจะไม่พูดออกมาเป็นคำพูด แต่มักจะพูดหรือแสดงออกมาเป็นมวลอารมณ์ ภาษากาย หรืออาจจะมีคำพูดเฉพาะบางอย่าง ใน 100 เปอร์เซ็นต์เรื่องเล่าของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาปรึกษาพี่เลี้ยง มีความต้องการเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
พี่เลี้ยงนักฟังที่ดี คือ คนที่ฟังได้ยาวพอและจับประเด็นได้ว่าเรื่องราวที่เขาเล่านั้น เขาต้องการอะไร
ทำไมเราจึงต้องรู้ความต้องการของเด็กด้วย? เพราะเราจะได้ตอบสนองได้อย่างดีที่สุด และเมื่อคนรุ่นใหม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ มันจะเสริมพลังการเรียนรู้ เสริมพลังการเติบโตของเขา
สุดท้าย ซึ่งเป็นการฟังอย่างลึกที่สุด คือการฟังตัวตนแห่งการเติบโตของเขา คนทุกคนอยากจะเติบโตขึ้นมาในโลกใบนี้ได้อย่างเป็นคนที่มีศักยภาพ เขาอาจจะมีศักยภาพลึกๆ ที่ซ่อนอยู่ อยากจะทำ แต่มีไม่มีความกล้า มีแต่ ความกลัวและความไม่คุ้นชินเข้ามาเป็นปัจจัย การที่เราละเลยที่จะรับฟังตัวตนแห่งการเติบโตของเขา อาจเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาตัวตนของเขาได้อย่างเต็มที่ ฉะนั้นเวลาเขามาปรึกษา ไม่ว่าจะไปทะเลาะกับเพื่อนมาใหญ่โต เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกว่าเพื่อนไม่ฟังเขา แล้วทำให้เขาไม่อยากจะพูดกับพี่เลี้ยง ไม่อยากพูดกับเพื่อนเลย แต่พอเราเข้าไปฟังความรู้สึกของเขาว่าเขาเสียใจที่เพื่อนไม่ฟัง ความต้องการที่จะถูกรับฟังไม่ถูกตอบสนอง พี่เลี้ยงที่ฟังได้ดีจะช่วยเข้าไปสนับสนุนหรือเปิดโอกาสให้เขาได้แสดงความเห็นนั้นได้อย่างเต็มศักยภาพ ทั้งหมดนี้ทำให้การฟังกลายเป็นทักษะหรือประตูบานแรกที่พี่เลี้ยงต้องฝึก และนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดีที่สุด
ต่อกันที่ทักษะของพี่เลี้ยงนักสื่อสาร
แน่นอนว่าการพี่เลี้ยงต้องใช้ชีวิตกับคนรุ่นใหม่ มันก็ต้องแลกเปลี่ยนความคิด ต้องพูดคุยกัน แล้วการสื่อสารมีช่องทางเดียวคือการพูดกับเขา และความเชื่อที่สำคัญของโครงการ active citizens คือพี่เลี้ยงต้องไม่ชี้นำทางความคิด
พี่เลี้ยงจะสื่อสารด้วยการช่วยกันตั้งคำถาม ทำกระบวนทางความคิด และหรือเสริมพลังผ่านคำพูด
เพราะที่ผ่านมา เวลาเราเชื่อมโยงหรือสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ แน่นอนว่าพี่เลี้ยงอายุเยอะกว่า ประสบการณ์ก็มากกว่า ความรู้ก็มากกว่า ทำงานกับชุมชนมาก็มากมาย มันก็อดไม่ได้ที่พี่เลี้ยงจะสื่อสารแบบชี้นำหรือบอกความรู้ หรือกระทั่งมีอารมณ์เวลาสื่อสารกับพวกเขาด้วยคำพูดเชิงลบ เช่น เวลาคนรุ่นใหม่มาสาย เวลาทำงานไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้ พี่เลี้ยงจะสื่อสารประมาณว่า “ทำไมเพิ่งมาถึง มาช้าแบบนี้ ไม่ต้องมาเลยดีไหม” หรือ “ถ้าทำเสร็จไม่ทัน เพื่อนรออยู่ ไม่ต้องทำเลยดีกว่าไหม” ซึ่งจริงๆ ความต้องการลึกๆ ของพี่เลี้ยงคือต้องการให้เขาเกิดการพัฒนา แต่เราจะไม่สื่อสารเชิงบวกเพื่อให้เกิดการพัฒนาแต่กลับใช้คำพูดเชิงลบมาก่อน
การที่พี่เลี้ยงจะสื่อสารเชิงบวกได้ คือ หนึ่ง -พี่เลี้ยงต้องเข้าใจความรู้สึกของตัวเองก่อนว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร เราหงุดหงิด เราโกรธ เมื่อทำความเข้าใจความรู้สึกเราแล้วก็ไปทำความเข้าใจความรู้สึกคนรุ่นใหม่ ที่เขามาสายอาจจะไม่ได้ตั้งใจ เขาอาจจะมีภารกิจที่บ้าน แน่นอน คนที่มาสายเขารู้สึกผิดอยู่แล้ว ยิ่งเราใช้คำพูดในเชิงลบ มันยิ่งทับถมอารมณ์ความรู้สึกให้เขายิ่งปิดกั้นกับเรา
หรือทำความเข้าใจว่าเราต้องการอะไร เราอยากสื่อสารอะไรกันแน่ แน่นอนว่าพี่เลี้ยงทุกคนย่อมต้องการให้เขาเติบโต ให้เขาได้ใช้ศักยภาพ ต้องการวินัย ต้องการให้เขากำกับตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานเป็นทีม หรือทำงานร่วมกับชุมชนก็ดี พอพี่เลี้ยงเข้าใจความต้องการในระดับลึกแล้ว เวลาสื่อสาร เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนความรู้สึกเชิงลบและคำพูดเชิงลบสู่คำพูดเชิงบวกมาเสริมพลังคนรุ่นใหม่
ในการฝึกทักษะนี้ เราให้พี่เลี้ยงได้ลองฝึกเปลี่ยนคำพูด เปลี่ยนการสื่อสาร โดยให้เข้าใจความรู้สึกและความต้องการของตัวเองก่อน แล้วจึงสื่อสารความรู้สึกและความต้องการนั้นออกไปในเชิงบวก เช่น จากประโยค“มาช้าแบบนี้ ไม่ต้องมาเลยดีกว่าไหม” เปลี่ยนเป็นพูดความรู้สึกก่อน “พี่รู้สึกหงุดหงิด พี่รู้สึกเสียใจ ที่เราไม่ตรงต่อเวลา พี่จึงต้องการให้น้องมาตรงเวลา เพราะเพื่อนๆ ทุกคนที่มารออยู่ไม่สามารถทำงานต่อไปได้” แล้วก็อาจจะเป็นในลักษณะของการเสริมพลังว่า “พี่เชื่อว่าเราไม่ตั้งใจที่จะมาสาย พี่อยากเห็นเรามาตรงเวลา เพื่อที่จะทำให้งานเดินต่อไปได้” แบบนี้เป็นต้น
การอยู่ด้วยกัน การใช้คำพูดเสริมพลังจะเป็นส่วนหนึ่งให้เขาปรับปรุงตัวเองในทางบวก ไม่ใช่การทำงานเชิงลบหรือการต่อว่า และหรืออาจมีการใช้คำพูดที่เรียกว่ากระตุ้นให้คนรุ่นใหม่เห็นตัวเองว่าการกระทำหรือพฤติกรรมของเขาส่งผลกับเพื่อนอย่างไร แต่ต้องมีกระบวนการในการสื่อสารที่พลิกมาเป็นเชิงบวกให้เขาเห็นว่าแม้เขาจะทำผิด แต่เขาก็มีโอกาสที่จะปรับปรุงตัวเองเพิ่มขึ้นมาได้
พี่เลี้ยงนักสร้างทีม
ทำไมพี่เลี้ยงต้องทำเรื่องการสร้างทีม? เพราะการทำโครงการเพื่อลุกขึ้นมาคลี่คลายปัญหาชุมชนต้องใช้ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น การทำงานมันไม่มีใครทำงานคนเดียวได้ เราจึงเห็นความสำคัญของการที่พี่เลี้ยงจะช่วยพาน้องๆ เยาวชนเรียนรู้ผ่านการทำงานเป็นทีม
อย่างแรก -จะทำอย่างไรให้เยาวชนเห็นเป้าหมายตรงกัน เห็นภาพความสำเร็จ และเห็นทิศทางที่จะไปสู่ความสำเร็จในทิศทางเดียวกัน สอง -การบริหารจัดการทั้งเวลาและความสัมพันธ์ จะทำอย่างไรให้น้องๆ สามารถพุ่งเป้าไปสู่ทิศทางเดียวกัน ทุ่มเทพลังกาย พลังใจ ลงมือทำโครงการร่วมกัน แน่นอนต้องมีการขัดแย้งกันบ้าง แต่การเป็นทีมต้องมีการปรับตัวค่อนข้างสูง เมื่อเจอปัญหาแล้วไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการยืดหยุ่น ถ้าเราเห็นเป้าหมายตรงกัน เราก็อาจจะปรับความยืดหยุ่นของเรา ปรับลดความต้องการของเรา ถ้าเรานำเกินไป คนที่ตามมีปัญหา ถ้าคนตามไม่ลุกขึ้นมานำบ้างในการทำงานร่วมกัน มันก็ไปกันไม่ได้ รวมถึงเวลาทำงานเป็นทีมคนเรามีศักยภาพต่างกัน
แนะนำกิจกรรมเพื่อฝึกพี่เลี้ยงในการสร้างทักษะการทำงานเป็นทีมให้เยาวชน เริ่มจากกิจกรรมที่ 1 การแข่งขันทำเรือกระดาษเพื่อใช้ข้ามมหาสมุทร พี่เลี้ยงต้องทุ่มเทพอสมควรในการวางแผนว่ากระดาษที่เรามีแค่นี้ใช้ให้ครบคนอย่าง ไร จะเคลื่อนตัวด้วยกระดาษแผ่นที่ 2 ไปข้างหน้าอย่างไร จึงจะบรรลุชัยชนะร่วมกัน ผู้ชายกำลังแรงดีกว่าก็ต้องช่วยประคองผู้หญิง แล้วเราจะต้องหยิบกระดาษ ต้องลุกขึ้นลุกลง ก้าวแล้วพากันไปทีละคนๆ จนกว่าจะถึงเส้นชัย
กิจกรรมที่ 2 เราเรียกว่าเกมไข่ตลกตกไม่แตก คือการทำเครื่องห่อหุ้มไข่ไก่ ใช้อุปกรณ์ที่มอบให้มาวางแผนว่าจะห่อหุ้มไข่เพื่อปล่อยจากที่สูง 6 เมตรแล้วไข่ไม่แตก เป็นกิจกรรมง่ายๆ ให้พี่ๆ เรียนรู้เรื่องการระดมความคิด การไว้ใจกัน การวางแผนร่วมกัน การใช้ศักยภาพที่แต่ละคนมีในกลุ่มเข้ามาวางแผน และออกแบบเครื่องหุ้มไข่
โดยหลังจากที่เราทำกิจกรรมเสร็จแล้ว จะต้องถอดบทเรียนเพื่อเรียนรู้ว่าอะไรคืองานที่กลุ่มทำได้ดี อะไรคืองานที่ยังทำได้ไม่ค่อยดี ปัจจัยอะไรที่ทำให้ทำงานได้ดี แล้วถ้าเรามีโอกาสทำงานนี้อีกครั้งจะทำงานร่วมกันได้ดีขึ้นอย่างไร เราอยากให้พี่เลี้ยงได้เห็นพลังของการร่วมแรงร่วมใจว่าความสำเร็จจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเราไม่เห็นเป้าหมายร่วมกัน ไม่ร่วมคิด ไม่ร่วมกันลงแรง
ที่สำคัญคือการทำงานเป็นทีมจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มี ‘ผู้นำร่วม’ ในการแก้ปัญหา ไม่รอ ‘ผู้นำเดี่ยว’ มาชี้ว่าแก้ปัญหาแบบนี้สิ แต่ทีมเกิดขึ้นจากการที่ทุกคนลุกขึ้นมาร่วมแก้ปัญหา ร่วมกันเข้าไปอุด ร่วมกันดำเนินงานไป
ฟังดูแล้วเหมือนพี่เลี้ยงต้องมีทักษะการสร้างสรรค์เกมหรือกิจกรรมด้วย
บางครั้งการจะสร้างการเรียนรู้ไม่ว่าเรื่องการทำงานเป็นทีมหรือเรื่องอื่นๆ ต้องอาศัยเกมหรือกิจกรรมให้เยาวชนเขาทำ ซึ่งเกมทุกเกมมีความหมาย และพาไปสู่การเรียนรู้ได้ พี่เลี้ยงต้องชัดเจนก่อนว่าวัตถุประสงค์ของเกมนั้นใช้ไปเพื่ออะไร และที่สำคัญคือหลังเล่นเกม พี่เลี้ยงต้องมีทักษะในการถอดบทเรียน ซึ่งมันนำไปสู่ทักษะตัวต่อไป คือ การตั้งคำถาม พี่เลี้ยงนักตั้งคำถาม
งั้นต่อกันที่ พี่เลี้ยงนักตั้งคำถามเลยค่ะ
คำถามเป็นเครื่องมือหรืออาวุธที่ดีที่สุดในการสร้างการเรียนรู้ ที่ผ่านมาเรามักเข้าใจว่าการเรียนรู้จะเกิดขึ้นจากการสั่งสอน เราจะมีคำพูดมากมาย มีความรู้หรือประสบการณ์มากมายในการสั่งสอนคนรุ่นใหม่ บอกให้ทำแบบนั้นแบบนี้
แต่จริงๆ แล้ว การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นผ่านการลงมือทำนั้น ต้องวางเงื่อนไขหรือเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีประสบการณ์ก่อน ซึ่งจะทำให้เขาได้ลองผิด ลองถูก และแก้ปัญหา สุดท้ายแล้วทักษะจะเกิดขึ้นในระหว่างทางที่เขาลงมือทำ จะเนียนเข้าไปอยู่ในเนื้อในตัว จากนั้นพี่เลี้ยงค่อยใช้การตั้งคำถามเพื่อให้เขาได้ทบทวนประสบการณ์ ทบทวนความรู้สึก สำคัญคือทบทวนบทเรียน การเรียนรู้ และความรู้ที่เขาได้จากการทำกิจกรรมในครั้งนั้น
เราจะแบ่งชุดคำถามที่ใช้ในการถอดบทเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้ออกเป็น 6 ข้อด้วยกัน คือ
คำถามแรก เป็นคำถามง่ายๆ ระหว่างทำกิจกรรม คือ เขารู้สึกอย่างไร เพราะเวลาที่เพิ่งผ่านประสบการณ์มาสดๆ ร้อนๆ เขาจะมีความรู้สึกเยอะมาก บ้างสนุก บ้างกลัว บ้างไม่กล้า เราถามความรู้สึกเพื่อให้เขาได้ตระหนักรู้ในความรู้สึกตัวเองก่อน กระบวนการเรียนรู้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าเราไม่ห้อยแขวนความรู้สึกไว้ พอเราตระหนักรู้ความรู้สึกแล้ว เราค่อยขยับไปสู่เรื่องทักษะ
คำถามที่ 2 นี่เป็นชุดคำถาม คือ การถามว่าเราได้ใช้ทักษะอะไรบ้างในการทำกิจกรรม ตรงนี้เขาจะพรั่งพรูเลย เพราะเขาเพิ่งผ่านประสบการณ์มาสดๆ ร้อนๆ ทักษะการคิด ทักษะการฟัง ทักษะการสื่อสาร ทักษะการออกแบบ ทักษะการคิดสร้างสรรค์ มันจะพรั่งพรูออกมามากเลย
คำถามที่ 3 เป็นชุดคำถามที่เอาไว้ทบทวนขั้นตอนการทำงาน ตรงนี้สำคัญมาก เพราะการเรียนรู้จะต้องเกิดขึ้นจากการที่เขาย้อนกลับไปมองหรือ reflection ทวนดูว่าการลงมือทำนั้นเขาผ่านอะไรมาบ้าง เราจะช่วยให้น้อง ค่อยๆ คลี่ว่าขั้นที่ 1, 2, 3, 4, 5 นั้น เขาทำขั้นตอนอะไร พอพี่เลี้ยงทบทวนขั้นตอนแล้ว พี่เลี้ยงอาจเขียนขึ้นกระดานให้น้องๆ ได้เห็นว่าพวกเราผ่านขั้นตอนอะไรมาบ้าง การขึ้นกระดานถึงขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้พี่เลี้ยงตั้งคำถามต่อไปได้
คำถามที่ 4 ต่อเนื่องจากคำถามที่ 3 คือ ในการทำงานแต่ละขั้นนั้น พวกเราเจอปัญหาอุปสรรคอะไร แล้วเราแก้ไขมันอย่างไร และกระบวนการแก้ไขปัญหานั้นทำให้เราได้บทเรียนหรือความรู้ใหม่อะไรที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นการถอดบทเรียนที่มีค่าที่สุดเพราะเป็นการถอดบทเรียนจากปัญหา เราเชื่อว่าปัญหาสามารถสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ให้ได้
คำถามที่ 5 หลังจากที่รู้ว่าน้องๆ เจอปัญหาและแก้ปัญหาอย่างไรแล้ว เราจะถามว่า แล้วเราควรทำอะไรเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น นี่เป็นการสร้างเงื่อนไขว่าถ้าเขามีโอกาสทำอีกครั้งเขาจะทำอะไรให้ดีขึ้น หากเราได้ให้โอกาสทุกคนได้พูดและได้รับฟังกัน ก็จะเกิดการออกแบบการทำงานได้ดีที่สุด
คำถามสุดท้าย เป็นคำถามที่กลับมาสู่การเติบโตภายในของเขา อาจจะเป็นคำถามง่ายๆ เช่น อะไรคือสิ่งที่เราค้นพบใหม่ อะไรคือสิ่งที่เราเคยรู้และไม่เคยรู้ อะไรคือสิ่งที่เราเคยทำและไม่เคยทำ และเราเห็นตัวเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร คำถามที่ถามว่า ‘เราเห็นตัวเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร’ จะช่วยให้เขากลับไปดูตัวเองในระดับลึก ไปค้นตัวเองจริงๆ ว่าอะไรที่เขาเติบโตจากการผ่านประสบการณ์ครั้งนี้ มันจะทำให้เกิดการกดปุ่ม save บันทึกการเรียนรู้เข้าไปข้างในตัวเขา และเราอาจจะมีคำถามต่อได้ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาอยากจะพัฒนาเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต
เหล่านี้ก็จะเป็นทักษะการตั้งคำถาม ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการช่วยให้น้องเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ที่เขาทำ คำถามที่ดีจะช่วยให้เขาชื่นชมตัวเองได้ว่าที่เขาผ่านประสบการณ์มานั้น ผ่านมาได้อย่างไร ทำให้ท้ายที่สุดแล้วเขาได้เห็นศักยภาพที่เขามีติดตัวอยู่แต่ไม่เคยมองเห็นมันมาก่อน แล้วคำถามที่ดีมันจะช่วยเสริมพลังให้เขานำศักยภาพนี้มาใช้บ่อย ๆ
พี่เลี้ยงนักวางแผน
ทำไมเราจึงใช้คำว่าพี่เลี้ยงนักวางแผน? เพราะพี่เลี้ยงไม่ใช่คนลงมือทำกิจกรรม แต่ส่วนใหญ่พี่เลี้ยงจะอดไม่ได้ที่จะทำให้น้อง เช่น เวลามีการจัดเวทีคืนข้อมูล พี่เลี้ยงไปประสานงานให้ จับไมค์พูดแทนน้อง การที่พี่เลี้ยง ‘ทำให้’ จะปิดกั้นโอกาสที่น้องจะได้เรียนรู้ เมื่อไม่ลงมือทำเองแล้วทำอย่างไร? วิธีการเดียวคือการช่วยน้องวางแผน
พี่เลี้ยงนักวางแผนต้องรู้อะไรบ้าง หนึ่ง -ต้องรู้ว่าแผนที่ดีมาจากการเห็นเป้าหมายร่วมกัน สอง -แผนที่ดีจะได้มาจากการที่พี่เลี้ยงช่วยตั้งคำถามและคลี่การบริหารจัดการออกมาเป็นก้อนเพื่อให้น้องเห็นว่ามีอะไรต้องจัดการบ้าง โดยอาจใช้คำถาม เช่น ‘เพื่อทำให้งานนี้สำเร็จ มันมีกี่งานที่ต้องทำ’ พี่เลี้ยงเขียนกระดาษหรือใส่โพสต์อิทก็ได้ แปะงานให้เห็นเป็นก้อนๆ น้องก็จะเห็นว่ามีหลายงานมากเลย
ต่อมาคือคำถามว่า ‘แล้วจะบริหารงานอย่างไร’ แน่นอนว่าต้องมีคนรับผิดชอบ สิ่งที่พี่เลี้ยงจะช่วยได้คือการตั้งคำถามว่า ‘ใครอยากรับผิดชอบงานนี้บ้าง’ ‘ใครมีความถนัดที่จะทำงานนี้ได้ดี’ หรือ ‘แม้ว่าเราไม่ถนัด ใครอยากจะทดลองฝึก’
เช่น แบบฝึกหัดในค่ายครั้งนี้เราให้พี่เลี้ยงลองชวนน้องวางแผน โจทย์คือ น้องจะต้องทำสื่อหนึ่งชิ้นเพื่อนำเสนอในค่าย น้องจะคิดเยอะมากว่าอยากทำอะไร มีทั้งคลิปวิดิโอ อยากทำโมเดลจำลองชุมชนของเขา อยากทำโมเดลจำลองหอยที่เขาค้นพบว่ามีกี่ชนิด
น้องจะกำหนดเป้าหมายเพื่อให้บรรลุงานนั้น พี่เลี้ยงก็ต้องตั้งคำถามว่าถ้าเราอยากทำสื่อให้สำเร็จ อยากทำโมเดลให้สำเร็จ เราต้องทำอะไรบ้าง เช่น หนึ่ง-เอาข้อมูลมาเทกองเพื่อมาวิเคราะห์ สอง-แยกแยะ สาม-ไปเก็บหอยจริงๆ มาให้เพื่อนดู หรือวาดภาพให้ดู สี่-ใครจะเป็นคนเตรียมอุปกรณ์ ห้า-ใครจะเป็นวางแผนการเขียนอธิบายความว่าอุปกรณ์แต่ละชนิดที่เราต้องการสื่อสารคืออะไร อย่างนี้เป็นต้น
สิ่งที่พี่เลี้ยงช่วยได้ คือ การทำให้น้องเห็นเป้าหมายตรงกัน เห็นงานที่มีทั้งหมด และสุดท้ายคือพี่เลี้ยงก็สามารถช่วยตั้งคำถามให้น้องๆ แบ่งบทบาทหน้าที่ในการรับผิดชอบงานได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะเวลาทำงานอันใดอันหนึ่ง ใครทำมากหรือทำน้อยกว่ามันจะเกิดปัญหาความขัดแย้ง การทำงานเป็นทีมที่ดีทุกคนต้องเหนื่อยยากเท่ากัน มีบทบาทหน้าที่เท่าๆ กัน แล้วเวลาที่งานมันสำเร็จ น้องจะได้รู้สึกว่าสิ่งที่เราทุ่มเททำงานนี้ เราเหนื่อยยากเท่ากัน เราบรรลุความสำเร็จร่วมกัน เราจะไม่ตัดใครออกไป คนทำงานน้อยก็จะไม่กันตัวเองออกไป ไม่คิดว่านั่นคือสิ่งที่เพื่อนทำ เราไม่ได้ทำ
ฉะนั้น บทบาทพี่เลี้ยงในการเป็นนักวางแผน ช่วยน้องให้น้องกำหนดเป้าหมาย แบ่งงาน บริหารจัดการเวลา อะไรควรเสร็จก่อนเสร็จหลัง เป็นทักษะที่จำเป็นมาก ลองคิดดูว่าถ้าคนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้การวางแผนแล้วได้ลงมือทำงานจริงและทำเป็น ไม่ว่างานยากหรือซับซ้อนอะไร เขาก็จะใช้ทักษะเหล่านี้ในชีวิตจริง
การเป็นพี่เลี้ยงนี่ยากเหมือนกันนะคะ เพราะนอกจากสร้างการเรียนรู้ให้เยาวชนแล้วยังต้องสร้างการเรียนรู้ให้ตัวเองด้วย
เยาวชน คนรุ่นใหม่ เป็นวัยแห่งการคลุกฝุ่น เขาจะใช้อารมณ์ มีการทะเลาะเบาะแว้ง มีความเครียด การเรียนรู้ของเขาก็เกิดขึ้นจากการใช้พลังสร้างสรรค์ พลังคลั่งไคล้สุดโต่งในการกระโจนเข้าไปที่ปัญหาเลย พี่เลี้ยงเองต้องใจเย็น การสร้างความมั่นคงในตัวเองเป็นเรื่องสำคัญมาก การทำงานกับคนรุ่นใหม่เหมือนเราอยู่ท่ามกลางพายุ มีทางเดียวก็คือรอให้พายุค่อยๆ คลายลง พี่เลี้ยงต้องใจเย็นและให้รู้ว่าพายุจะมีวันคลายตัวไป เหมือนเยาวชน วันหนึ่งเขาจะหยุดตัวเองได้ วิธีการที่พี่เลี้ยงจะสร้างความมั่นคงให้ตัวเองทำได้หลายด้าน หนึ่ง คืออาจจะใช้การตั้งคำถามตัวเองว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร เราต้องการ อยากให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้อะไร แล้วถ้าเขาผ่านการเรียนรู้ในความวุ่นวายเหล่านี้ไปได้ เขาจะได้อะไร มันก็เป็นกระบวนการถามตัวเอง
สอง ถ้าจะสร้างความมั่นคงให้ตัวเอง พี่เลี้ยงอาจต้องถอยออกมาบ้าง เดินออกไปที่ต้นไม้ เดินออกจากงานในช่วงนั้น หรือไปทำงานส่วนตัว พอถึงเวลาเราค่อยกลับมาหาน้อง เพราะในช่วงที่น้องผ่านประสบการณ์ที่ยากขนาดนั้น เขาก็ต้องการคนที่มั่นคงพอที่จะอยู่กับเขา ประการที่สาม คือ พี่เลี้ยงอาจใช้วิธีการให้น้องๆ ได้เช็คอิน-เช็คเอ้าท์ ล้อมวงพูดถึงความคาดหวังและความรู้สึกของตัวเองกับงานครั้งนี้ การเช็คเอ้าท์ก็อาจเป็นคำถามให้พี่เลี้ยงชวนน้องๆ ชื่นชมตัวเอง ชื่นชมเพื่อน หลังจากทำงานครั้งนี้ผ่านมาได้ ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านมาได้ เราอยากชื่นชมอะไรตัวเอง อยากชื่นชมอะไรเพื่อน
อยากให้กำลังใจพี่เลี้ยงว่า เราเชื่อว่าพี่เลี้ยงทุกคนมีใจ แต่เราค่อยๆ ฝึกประสบการณ์ตัวเองไปพร้อมๆ กับน้อง ต้องมาถอดบทเรียนตัวเราเองในแต่ละครั้งด้วยหลังจากถอดบทเรียนกับน้องแล้ว การที่พี่เลี้ยงได้ถอดบทเรียนตัวเองว่าเราได้เรียนรู้อะไร เราได้ฝึกทักษะอะไร การมีวงพี่เลี้ยงต่างชุมชนได้มานั่งคุย ได้มาเจอกันก็เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้และเสริมพลังใจกัน
ทักษะทั้ง 5 ด้านนี้คือสัญชาตญาณของการหล่อเลี้ยงคนๆ หนึ่งให้เติบโตโดยไม่จำเป็นต้องมองให้มันเป็นงานที่ยากเลย เพราะเรามีสัญชาตญาณอยู่ในเนื้อในตัวเราทุกคนอยู่แล้ว
ความยากของการเป็นพี่เลี้ยง คือ การทำงานที่โดดเดี่ยว แต่พี่เลี้ยงไม่ควรทำงานคนเดียว ในชุมชนของเราอาจจะมีพี่เลี้ยงหลายคนที่เราจะจับมือกัน ช่วยกันเสริมพลังการเรียนรู้ให้กับน้องๆ พี่เลี้ยงบางคนอาจจะเก่งเรื่องการตั้งคำถาม บางคนอาจเก่งเรื่องการเล่นเกม พี่เลี้ยงบางคนอาจไม่ได้อยู่ใกล้เด็กเลยแต่มีบทบาทหนุนเสริมช่วยประสานงานกับน้องๆ พี่เลี้ยงบางคนเป็นตัวต่อที่ดีในการเชื่อมผู้นำชุมชน สนับสนุนให้น้องทำงานสำเร็จได้ ฉะนั้น การมีทีมพี่เลี้ยงชุมชน หรือเรียกว่ากลไกชุมชน ที่ลุกขึ้นมาช่วยกันเสริมพลังการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ คิดว่าสำคัญมากเลยที่จะทำให้พี่เลี้ยงไม่ทำงานโดดเดี่ยว ทำงานร่วมกันแม้ต่างบทบาทต่างหน้าที่ แต่ทำงานเป็นทีมของพี่เลี้ยงช่วยกันสร้างการเรียนรู้กับคนรุ่นใหม่ในชุมชนของตนเอง