Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: October 2020

ถ้อยคำทำร้ายลูก(3): ไม่ต้องร้อง เป็นพี่ต้องเสียสละ เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่ เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่ ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูก
Family PsychologyEarly childhood
28 October 2020

ถ้อยคำทำร้ายลูก(3): ไม่ต้องร้อง เป็นพี่ต้องเสียสละ เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่ เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่ ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูก

เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • “ไม่ต้องร้องลูกๆ” “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ” “เรียนหนังสือเก่งๆ นะ” “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะ” และอีกสารพัดประโยคที่ผู้ปกครองอาจพูดด้วยความหวังดี แต่จริงๆ แล้วคำพูดเหล่านี้อาจทำร้ายลูกทางอ้อม ครูณา – อังคณา มาศรังสรรค์ และเม้ง – ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ จะมาขยายกันต่อกับประเด็น รวมถ้อยคำทำร้ายลูก 3 หมวดความหวังดี
  • “พี่คิดว่าเราไม่ได้เลี้ยงลูก แต่ลูกน่ะเลี้ยงเรา ลูกเลี้ยงให้พี่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ลูกเลี้ยงให้พี่สงบลง ลูกเลี้ยงให้พี่มีชีวิตที่มีชีวา ลูกเลี้ยงให้พี่มีความสุข มีความรักที่ไม่มีเงื่อนไข พี่ไม่ได้เลี้ยงเขา พี่แค่ส่งความรักความมั่นคงจากข้างใน ส่งความรู้สึกปลอดภัยทางกาย ทางใจ ที่เหลือจากนั้น ลูกส่งบทเรียนกลับมาเพื่อให้พี่เรียน เพื่อที่จะเข้าใจตัวเองมากที่สุด พี่คิดว่าเขาเลี้ยงเรา เขาหล่อเลี้ยงเราทางด้านจิตใจที่ทำให้เราเรียนมากขึ้น และท้ายที่สุดมันเป็นของขวัญของเรามากเลยว่า วันนี้ฉันรู้จักตัวเองที่สุดเลย”

“ไม่ต้องร้องลูกๆ” “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ” “เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่” “ต้องทำได้ดิ ง่ายนิดเดียว” “เรียนหนังสือเก่งๆ นะ” “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะ” “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” “ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูกนะ”

ทั้งหมดนี้คือลิสต์ถ้อยคำดีๆ ที่อาจไม่ดีอย่างที่คิด และเป็น ‘ถ้อยคำทำร้ายลูก’ ที่เหลืออยู่ เราเริ่มที่คำแรกกันเลยนะครับ… “ไม่ต้องร้องลูก” 

บทความนี้ถอดความมาจาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ตอนที่ 3 รวมถ้อยคำทำร้ายลูก 3 คำดีๆ อาจไม่ดีอย่างที่คิด ดำเนินรายการโดย เม้ง – ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา – อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์ 

รับฟังในรูปแบบพอดแคสได้ที่นี่

“ไม่ต้องร้องลูกๆ”

อย่างนี้ครับ ลูกผมเกิดมาวันแรกก็ร้องไห้เลย จนทุกวันนี้อายุจะ 2 ขวบก็ยังร้องไห้ครับ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรก็ร้องไห้ทุกวัน แล้วสิ่งที่ผมเข้าไปหาเขาก็คือคำว่า “ไม่ต้องร้องลูกๆ” คำนี้มันไม่ดียังไงครับ

คือเวลาที่เราพูดกับเด็กว่า “ไม่ต้องร้อง” มันเหมือนเราสอนให้เขาฝึกที่จะกดอารมณ์ แต่ความจริงมนุษย์ควรจะเท่าทันอารมณ์ รู้จักอารมณ์ที่แท้จริงของตัวเอง การพูดกับลูกว่า “ไม่ต้องร้อง” “อย่าร้องนะ” “เป็นลูกผู้ชายอย่าร้องไห้” มันทำให้เขารู้สึกว่าการร้องไห้คือความอ่อนแอ แล้วมันก็ทำให้เขากดมันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาไม่รู้จักกับอารมณ์ ความจริงอารมณ์หรือความรู้สึกเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราควรจะทำความเข้าใจ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเข้าใจแล้วก็เท่าทันว่า เราจะดูแลอารมณ์เหล่านี้ได้อย่างไร มันคือความเป็นจริง แต่เวลาที่เราบอก “อย่าร้องๆ” มันกดอารมณ์เขาเยอะมาก 

วันก่อนนั่งดูซีรีส์ มีคำพูดหนึ่งบอกว่า “เวลากายเราเจ็บ เราก็ร้องไห้ แต่หัวใจน่ะสิ เวลาเจ็บแล้วทำเป็นเงียบ” เนี่ย…จริงๆ แล้วร่างกายของเรามันรับรู้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นความรู้สึก แล้วเราก็ควรที่จะแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เจ็บก็ร้องไห้ เสียใจก็ร้องไห้ได้ แต่พอถึงวันหนึ่งเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ เราก็อาจจะร้องไห้ในระดับที่เป็นความรู้สึกอย่างที่เราดูแลและควบคุมได้ และมันเป็นความรู้สึกจริงๆ ของเรา แต่พอบอกว่า “อย่าร้องๆ” “ไม่ร้องๆ” นั่นน่ะ… คือการปฏิเสธอารมณ์ พอปฏิเสธอารมณ์ไปเรื่อยๆ ก็มองว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ผิด จะทำให้เด็กเลือกที่จะไม่แสดงออกทางอารมณ์ เลือกที่จะไม่ทำความเข้าใจกับอารมณ์ วันหนึ่งเขาก็ไม่รู้เลยว่าเขาเป็นอะไร 

เหมือนผู้ใหญ่ในรุ่นพวกเรา เต็มไปหมดเลยนะ วันนี้ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คือหงุดหงิด แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร

อ๋อ… นี่คือผลพวงของการเก็บอารมณ์เอาไว้ หรือแบบ พอลูกจะร้องไห้เขาก็ถูก Disrupted จากเราทันที คือวิ่งเข้าไป “อึ๊บ! ไม่ต้องร้องนะลูก แค่นี้เอง”

ใช่ แบบนี้มันคือการปฏิเสธ แล้วก็มองว่าคนที่ร้องไห้คือคนอ่อนแอ และท้ายที่สุดเขาไม่ได้อยู่กับมัน หรือบางทีเด็กไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดหมายถึงอะไร เช่น เขาล้มครั้งแรกของชีวิต เลือดไหล เกิดมาไม่เคยมีประสบการณ์นี้ แล้วแม่บอกว่า “ไม่เป็นไรๆ ไม่เจ็บ” แต่เขางงว่า แล้วไอที่เขาผิดปกติอยู่ตอนนี้เรียกว่าอะไร? เราพูดมาทุกตอนว่าสมองเหมือนเป็นกล่องเปล่าที่เราค่อยๆ ใส่ข้อมูล เขายังไม่มีพจนานุกรมของความรู้สึกเกิดขึ้นมาเลย แล้ววันหนึ่งที่เขามีความรู้สึกแปลกๆ เกิดขึ้น แล้วแม่บอกไม่เป็นไร แล้วไอที่รู้สึกอยู่เนี่ย มันต้องเป็นอะไรสักอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กก็ไม่เข้าใจ แล้วพ่อแม่เองก็ไม่เข้าใจตัวเองว่าพูดไปทำไม เพราะอันนี้มันไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ พี่ก็มักจะยกตัวอย่างต่อนะว่า พอบอกว่าไม่เจ็บ ถามว่าจริงๆ เธอเห็นลูกล้มเธอรู้สึกสั่นไหวไหม?

แน่นอน 

อ้าว แต่ปากของเราจะพูดว่า “ไม่เป็นไรๆ” แล้วหลังจากนั้นเราก็เดินไปเอายา พี่ได้บอกไปแล้วเนอะว่าโลกของเรามันเป็นโลกของพลังงาน แม่ถือยามามือสั่นๆ รู้สึกตกใจแต่ปากก็พูดว่า “ไม่เป็นไรลูก ไม่เป็นไร” มันย้อนแย้งมากเลยอะ แม่บอก “ไม่เป็นไร” แต่พลังงานของแม่มันดูจะ “เป็นอะไร” แล้วพอแม่บอกจะใส่ยา แม่ก็บอกว่า “นิดเดียวๆ ไม่เป็นไร” แต่พอใส่มาปุ๊บ มันแสบมันผ่าวไปทั้งตัว แล้วเขาก็ร้องไห้ พอจิตของเขามันอยู่ข้างนอก ไม่ได้สังเกตความรู้สึกของตัวเอง เขาก็ร้องไห้ไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็สรุปว่า ไอ้นี่มันไม่ได้เป็นจริงกับสิ่งที่แม่พูด ผลลัพธ์คืออะไร? ครั้งหน้าเป็นอีกที แม่ถือขวดยามา เธอว่าเขาจะอนุญาตให้แม่ใส่ไหม 

ไม่เอาดิครับ 

ก็ไม่ เพราะแม่จะบอกอีกว่า “ไม่เป็นไร” ซึ่งไม่ใช่ เพราะครั้งที่แล้วฉันรู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น แต่ฉันไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่าอะไร เพราะฉันไม่มีพจนานุกรม แล้วเขาก็จะปฏิเสธแล้วทะเลาะกัน บางทีเตะขวดยากระเด็น คือสุดท้ายเราเป็นตัวที่สร้างสภาวะอารมณ์ให้หมุนใหญ่ขึ้น ยาวขึ้น 

ที่ถูกควรทำยังไง? 

พี่ก็จะบอกกับทุกคนว่า ให้เราฝึกที่จะสะท้อนอารมณ์ที่แท้จริง ตรงไปตรงมา อยู่กับความเป็นจริง เช่น พอเขาล้มแล้วเราเดินเข้าไป “เจ็บใช่ไหมลูก เลือดไหลเลยเนาะ อย่างงี้เจ็บเนาะ อะ…มา แม่กอดที” เชื่อไหม ให้ท่านผู้ฟังลองทำกับเด็กเลย จะเห็นการสงบนิ่งลงดิ่งเลยนะ เพราะมันคือการพาจิตกลับมาอยู่ในตัวเองแล้วก็รู้สึกได้ว่า อันนี้เขาเรียกว่าความเจ็บ แล้วความรู้สึกมันเป็นอย่างที่ธรรมะสอนนะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอเขาดูปุ๊บ เขารู้ว่ามันเป็นยังไง แล้วเดี๋ยวมันจะค่อยๆ ดับ 

พอเด็กเป็นแบบนี้ ตอนที่พี่จะใส่ยาเด็กก็จะบอกว่า “ครั้งที่แล้วมันแสบใช่ไหม” เด็กเขาจะงงเลยนะ อ๋อ…อันนี้เรียกว่าแสบใช่ไหม เขาก็จะพยักหน้า เราก็จะบอกว่า “ครูเข้าใจว่าหนูแสบ แต่ถ้าหนูไม่ใส่มันจะเจ็บมากขึ้นมากๆ เลย จะเน่าและอาจเป็นแผลใหญ่ขึ้นๆ ครูขอใส่ยาเนอะ ลูกจับมือครูไว้นะ ถ้าลูกแสบ ลูกบีบมือครูแรงๆ นะ ครูจะได้รู้ว่าหนูเจ็บ แล้วครูจะเป่า ลองดูนะครูจะเป่าอย่างงี้นะ” แล้วเราก็เป่าไปที่แผลเด็ก “เป่าอย่างงี้แล้วมันดีขึ้นใช่ไหม” เขาก็บอก “ใช่” เราก็บอก “ถ้าบีบมือครู ครูจะได้รู้ว่าหนูแสบ ครูจะเป่าแรงๆ แรงๆ เลย แล้วถ้าหายก็ปล่อยมือครู ครูจะได้รู้ว่าหายแล้ว โอเคไหม” 

พอเราทำให้เขาเห็นภาพแบบนี้ มันทำให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องราวเหล่านี้จัดการได้ ดังนั้นพอเด็กจับมือตอนเราใส่ยา พอเขาแสบปุ๊บเขาจะบีบมือเรา เราก็เป่าๆๆ พอสักพักเขาหาย เขาก็จะปล่อยมือเรา แล้วบอก “หายแล้วค่ะ” นั่นแสดงว่าเขาดูจิต เขาค่อยๆ เห็นตัวเองแล้วก็รู้ว่าความรู้สึกเหล่านี้มันดับไปแล้ว นี่คือการที่เขาได้ฝึกว่า ความรู้สึกเหล่านี้มันคือของจริงของชีวิตเขา มันเรียกว่าอะไร แล้วเขาจะจัดการกับมันได้ยังไงบ้าง มันเป็นการฝึกเขา เราปฏิเสธอารมณ์กันจนกระทั่งวันหนึ่งที่เราอายุเยอะ แก่แล้ว พลุ่งพล่านจัดการตัวเองไม่ได้ แล้วค่อยเข้าวัดไปฝึกเท่าทันอารมณ์

เราเป็นกับทุกคนอะฮะ ผลพวงจากการที่ปากไม่ตรงกับใจหรืออาจไม่สามารถเล่ามันออกได้ สุดท้ายหงุดหงิดงุ่นงาน นี่คือการที่เราแสดงออกตรงข้ามกับอารมณ์มาเสมอตั้งแต่เด็ก 

ใช่ เราปฏิเสธอารมณ์ซึ่งมันมีความผิดปกติ จนเป็นปกติ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าความผิดปกตินี้คืออะไร และมันสร้างปัญหายาวนานนะ เหมือนเราสร้างวงจรใหม่ หมุนไปเรื่อยๆ หรืออย่างการเดินทางแล้วลูกจะถามว่า “ถึงยังๆ” พอเราบอกว่า “ยังลูก จะถึงเวลาเท่านี้ซึ่งมันนานเหมือนกัน ลูกนอนไปเลย” หรือจะให้เขาเล่นอะไรก็บอกเขา ไม่ใช่ว่าพูดแค่ว่า “จะถึงแล้วๆ” แต่ไอ ‘จะ’ ของแม่นี่มันหมายความว่าไง สุดท้ายพอเขาโตมาแล้วเราไปถามเขาว่า “เมื่อไหร่จะเลิกเล่น” เขาก็จะตอบเรากลับว่า “จะแล้วแม่ แปปแม่” เพราะเขาไม่รู้ว่า ‘แปป’ มันคืออะไร 

แต่มันก็เป็นความกลัวลึกๆ นะฮะ คือกลัวว่าเขาจะตำหนิเราก็เลยไม่กล้าพูดความจริง ทุกอย่างจะต้องถูก ‘กระเถิบ’ ปกป้องลูกไว้ก่อนด้วยการไม่พูดความจริง โอเคฮะ แต่เมื่อกี๊ เท่าที่ฟังครูณา  ผมจับได้ว่าอย่างแรกเลยต้องใจเย็นก่อน แล้วคำพูดคำจาก็ต้องคำนึงถึงพลังงาน (Energy) ที่ส่งถึงกันได้ คือใจเย็นๆ ก่อนแล้วพูดความจริง ตรงไปตรงมา ด้วย Energy ที่ดี อันนี้ดีที่สุด เหมือนต้องฝึกอย่างที่เล่าไปในอีพีที่1 ด้วยเนอะว่าเราต้องคิดบรีฟที่ดี ไม่ใช่พูด “อย่าทำอย่างงั้น” พูดลอยๆ แล้วก็ไปกันไม่ถูก 

ใช่ค่ะ พอพูดแบบนี้เหมือนกับเวลาที่เราจะเถียงกัน บางทีพี่ก็พูดกับสามีนะว่า เอ๊ย…ตอนนี้ที่เราจะเถียงกัน ณาเถียงเพราะณาต้องการอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขแล้วเข้าใจกันมากขึ้นนะ เราไม่ได้เถียงสะเปะสะปะแล้วทำให้ชีวิตคู่มันพังไปเลยนะ เราต้องยืนยันเลยว่า การสนทนาครั้งนี้ การทะเลาะกันครั้งนี้ เพื่อเราจะเข้าใจกัน

โห…งี้คุณผู้ฟังต้องกลับไปฟังตั้งแต่อีพีที่ 1 มันชัดมากๆ จริงๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู ไม่รู้ว่าปัญหาตัวเราเองต้องการอะไรด้วยซ้ำ แล้วถ้าจะแก้ เราต้องการอะไร ความชัดเจนจะเกิดขึ้นรวมไปถึงเจ้านาย ลูกน้องเลยนะ แต่ความยากก็เกิดขึ้นเพราะเราถูกสั่งสอนมาอย่างงี้

นึกถึงตอนที่เราคุยกันข้างหลัง เป็นพ่อแม่นี่มันยากเนอะ โห…ไอนั่นก็ต้องทำ ไอนี่ก็ต้องทำ แต่ให้เรานึกถึงสัจจะของชีวิต คือ Truth ความจริงของชีวิต อะไรที่เธออยากได้ แล้วจับตรงนี้ให้ได้ แล้วที่เหลือมันไม่ต้องเรียนเยอะ จะเข้าใจเอง 

เหมือนว่าการสอนลูก ก็คือการกลับมาเรียนรู้ตัวเองมากๆ 

แน่นอน ลูกคือครูที่ดีที่สุด เพราะว่าเรามีความรักเขามาก เราจึงเอาความรักนั้นมาฝึกตน ฝึกตัวเรา 

ขอแวะนิดนึงนะครับ ครูณากำลังบอกว่าถ้าเขาร้องไห้ เข้าไปปลอบเขา “ร้องสิลูก ร้องออกมา เจ็บใช่ไหม” เดี๋ยวมีคนพิมพ์ใต้คอมเมนต์นี้ว่า อ้าว…แล้วจะไม่ทำให้เขาเป็นเด็กขี้แงเหรอ แบบ…เราควรปล่อยเขา ถ้าเขาร้องไห้ก็ให้ร้องจนจบกระบวนการที่เขาพอใจเหรอ นี่คือสิ่งเราควรจะทำให้ลูกหรอฮะ 

คือเราก็ไม่ต้องบิลท์เขาขนาดนั้นก็ได้ เหมือนกับว่า “เจ็บใช่ไหมลูก มาแม่กอด ร้องไห้ได้นะ” เปิดโอกาสให้เขารู้สึกว่าการร้องไห้เป็นเรื่องปกติ เพราะอะไร เราผ่านชีวิตวัยรุ่นกันมาแล้วเนอะ นึกถึงตอนที่เราอกหัก เราก็ร้องไห้อยู่นั่นแหละ ร้องอยู่เป็นปีแล้วก็กลายเป็นว่าเราไปมีแฟนใหม่ไม่ได้ สำหรับพี่พี่รู้สึกว่า ร้องให้เสร็จ ร้องให้จบ พอจบแล้วเธอจะเข้าใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราร้องไห้ ก็คือการที่เราได้อยู่กับตัวเอง เราเห็นกระบวนการข้างในของตัวเราจนเราคิดเสร็จ เด็กก็ควรที่จะฝึกแบบนี้ว่า ทุกอย่างเธอเสียใจได้ เสียใจแล้วคิดให้เสร็จ ไม่งั้นเด็กก็ไม่รู้ กลายเป็นรู้สึกว่า “ก็เขาไม่ให้ฉันเสียใจอะ เขาบอกว่าถ้าฉันร้องไห้แล้วฉันจะเป็นคนแบบนี้ๆๆ” แล้วเขาก็สร้างตัวเองว่า ฉันเป็นคนเก่ง เจ๋ง สนุกทุกวัน มีความสุขทุกวัน แต่ข้างในเน่าเฟะ ท้ายที่สุดวันหนึ่งเขื่อนก็แตก แล้วมันก็กลายเป็นโรคที่เกี่ยวกับอารมณ์

“เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ” “เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่”

ต้องโน้ตไว้เลยฮะว่าถ้าคุยเรื่องอกหักนี่ต้องคุยกันอีกยาวเลย เพราะผมเองนี่ก็ร้องไห้เป็นปีๆ แต่ต้องไปต่อละฮะ คำต่อไปคือ คำพูดพี่น้องที่ว่า “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ” “เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่” โอ้โห…ผมเห็นคนเจ็บปวดจากคำนี้เยอะเหมือนกัน มันเป็นคำพูดที่ถูกต้องใช่ไหมฮะ เป็นพี่ เป็นคนเรียนรู้คนแรก ก็ต้องเสียสละ มันก็ดีนี่ฮะ สร้างพี่ที่ถูกต้อง สร้างน้องที่เชื่อฟังพี่ แล้วมันทำร้ายอะไร 

คงไม่ได้บอกว่าความเป็นพี่ต้องเสียสละอะไรขนาดนั้น สิ่งที่ซ่อนอยู่ในประโยคนี้คงเป็น เราอยากได้ลูกที่เสียสละให้กันและกันมากกว่า กับอย่างที่สองคือ ความรักระหว่างพี่น้อง เรามองว่าพี่ที่เสียสละให้น้อง น้องก็จะรักเขา แล้วก็จะรู้สึกดีถึงคุณค่าของพี่ เราอยากได้ภาพนี้ถูกไหมคะ

แต่ความเสียสละหรือว่าความรักต้องถูกสร้างจากจิตใจเด็กข้างใน ถ้าเราไปบังคับให้เขาเสียสละ ให้มีน้ำใจแบ่งปัน ให้ยอมรับผิดหรือขอโทษ หากเราบังคับเขาให้ทำ… มันไม่มีประโยชน์เลยนะ เพราะมันไม่ได้เกิดคุณค่าจากข้างใน 

เด็กสองคนแย่งของกัน แล้วเราก็บอกว่า “แบ่งน้อง” “ให้น้อง” “เป็นพี่ต้องเสียสละ” ถามหน่อย วิธีการแบบนี้คนที่เป็นพี่จะรู้สึกว่า “ได้ครับ ผมรักน้อง” มันจะมีไหม? 

ไม่เนอะ ก็ผมเล่นอยู่ก่อนแล้วน้องมาแย่งทำไมอะ 

ใช่มั้ย? นี่มันของฉันนี่หว่า ทำไมฉันต้องแบ่ง เพราะเขายังไม่ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ในชีวิต ประโยคเหล่านี้ มันคือการที่เรากำลังบังคับให้เขามีความรัก กำลังบังคับให้เขาเสียสละ ซึ่งทำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องออกมาจากจิตใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำก็คือ การที่เราสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้เด็กได้เห็น แล้วเราก็ทำให้เขาเลือกได้ว่า ลูกทำได้นะ ลูกทำด้วยวิธีใหม่ได้ที่จะได้ทางออกที่ดี 

พี่ยกตัวอย่างเรื่องของลูกพี่แล้วกัน มีวันหนึ่ง ลูกพี่สองคนเล่นต่อสู้กัน แล้วคนเล็กวิ่งไปเอาการ์ดยูกิมาสัก 3 ใบแล้วก็บอกว่า “ปุ๊นมีการ์ดยูกิ ปุ๊นมีพลัง เฮียปันแพ้ปุ๊นแน่ๆ” โหว…มันก็เตรียมจะต่อสู้โดยใช้พลังเนอะ ไอตัวโตก็บอกว่า “รอก่อน” แล้ววิ่งไปหามาอีก 6 ใบ คือตัวมันก็ใหญ่กว่า การ์ดมันก็เยอะกว่า มันก็บอกว่า “เฮอะ! เฮียมี 6 ใบ ปุ๊นแพ้เฮียแน่ๆ” เท่านั้นแหละ ปุ๊นก็ร้องไห้ พี่นั่งอยู่ พี่ก็รู้สึกว่า เอาล่ะ…โจทย์มาละ ต้องฝึกใช้วิชา แล้วเสร็จปุ๊บพี่หมู (สามี) …ซึ่งตอนนี้เขาเปลี่ยนไปแล้วนะ แต่เหตุการณ์วันนั้นคือ พี่หมูเดินเข้ามาแล้วก็บอกว่า “ปัน! แบ่งน้อง เสียสละ อย่าเห็นแก่ตัว” โอ้โห…พอพูดแบบนี้นะ เราก็รู้เลยว่าประโยคนี้ไม่เวิร์คแล้วเราก็เห็นผลลัพธ์ทันตา ไอเจ้าตัวโตเขวี้ยงการ์ดแล้วก็บอกว่า “เอาไป! เอาไปให้หมดเลย! เกลียดมัน!”

วิธีการแบบนี้มันไม่เคยได้ผล คุณบังคับความเสียสละและบังคับแม้แต่ความยุติธรรม พอเขาเขวี้ยงการ์ดปุ๊บเรารู้แล้วว่า ถ้าให้พ่อพูดต่อไม่ได้ผล เราก็สะกิดพี่หมูว่า “พ่อ ขอจัดการ” เขาก็จะรู้เลยว่า… ตำราอีกแล้ว (หัวเราะ) คือวันนี้ต้องบอกท่านผู้ฟังเลยนะว่า การเรียนเพื่อที่จะสื่อสารให้พูดจาได้ถูกต้อง จำเป็นต้องเรียนและฝึก เพราะไม่งั้นเราก็จะทำโดยอัตโนมัติอย่างที่เราถูกสร้างมา 

โอเค จากนั้นเราก็สะกิดเขาว่า “ขอๆ” พี่หมูก็ออกไป วิธีการที่เราทำก็คือ Reflection สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เด็กฟังอย่างตรงไปตรงมา เหมือนเราถอยวิดีโอไปให้เขาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วให้เขาเป็นคนเลือกทางเลือกเอง นี่คือวิธีการ วันนั้นพี่ก็เอาลูกสองคนนั่งแล้วก็บอกว่า “ปัน ลูกมีการ์ด 6 ใบ ลูกไม่อยากแบ่งน้องเนอะ” ปันตอบว่า “ใช่! อะไรๆ ก็ต้องแบ่งมัน! เกลียดมัน!” เราก็กอดเขาแล้วบอกว่า “แม่รู้ๆ แม่อยากให้ฟังเฉยๆ ลูกมีการ์ด 6 ใบ แต่ลูกไม่อยากแบ่งน้องเนอะ” พี่ก็บอกไอตัวเล็กว่า “ปุ๊นมีการ์ด 3 ใบ ปุ๊นอยากได้ของอาเฮียใช่ไหม” ปุ๊นบอกว่า “ใช่ เฮียใจดำ” อะ… นี่เอาคำพูดพ่อมาพูดอีกนะ โอเค… เราก็บอกต่อ “ปุ๊น แม่อยากบอกแค่ว่าลูกมีการ์ด 3 ใบ ลูกอยากได้ของเฮียใช่ไหม” ปุ๊บบอก “ใช่ครับ” เราก็เลยสะท้อนกลับไปว่า “ก่อนหน้านี้ลูกเล่นกันดีเนอะ แม่เชื่อว่า ลูกจะมีวิธีการที่จะหาว่าจะเล่นกันยังไงได้ดีและสนุก เพราะทะเลาะกันก็ไม่สนุก แม่อยากให้ลูกเล่นกันสนุกและมีความสุขนะ คุยกันดีๆ นะลูก แม่ไปละ” 

ทำแค่นี้เองนะ แล้วเราก็ออกไปแอบดู เพราะเราอยากรู้ว่ากระบวนการมันจะเป็นยังไงต่อ เราก็ไปนั่งแอบดูเขาตรงรูประตู ปรากฏว่าเขาก็ดึงกันไปสักพักหนึ่ง แล้วเฮียปันก็บอกว่า “หยุด เอามานี่” แล้วเขาก็เอาการ์ดน้องมารวมเป็น 9 ใบ แล้วเขาก็สับการ์ดแบ่งกันคนละ 4 ใบ อีกใบหนึ่งเขาก็วางไว้ แล้วไอตัวเล็กก็หยิบการ์ดขึ้นมายิ้ม พอเราเห็นสงบศึกเราก็เปิดประตูเข้าไป “เป็นไงลูก” ปุ๊นบอก “เฮียปันเขาแบ่งปุ๊นด้วย” แล้วเราก็มองที่ลูกคนโต เขาก็ยิ้มๆ แล้วบอก “ยังเหลือใบนึง แม่เอาไปด้วย” ก็คือเอาใบที่เกินให้แม่ เราก็ “หืม… แม่ได้ด้วย โอ้โห ใจดีจัง ขอบคุณนะลูก มีน้ำใจมากๆ เลย เสียสละมากๆ เลย” อันนี้เราต้องสร้างกระบวนการเพื่อให้มันเกิดขึ้นข้างใน แล้วพอเราพูดแบบนี้ ลูกก็เหมือนกับภูมิใจในตัวเอง แล้วสิ่งเหล่านี้คือกระบวนการที่เขาต้องทำมันจากข้างใน 

หรือความยุติธรรม มันต้องเกิดจากเขาสองคนดีลกันเพื่อเจอความยุติธรรม ลองนึกภาพสิ จะมีพ่อแม่หลายคนมากที่เข้ามาจัดการว่า “เอามานี่ แม่แบ่งให้เท่าๆ กันเอง” อย่างงี้ลูกคนโตเขาจะยอมไหม เพราะมันไม่ได้เกิดจากกระบวนการข้างในของเขา เขาก็จะรู้สึกเหมือนกับว่า “ก็มันของปัน” แต่การที่เราให้ลูกหาทางออกของเขา ให้เขาเห็นว่าเขาคิดกับมันได้นะ แล้วทำให้เขาแสดงมันออกมาด้วยตัวเอง นี่คือความยุติธรรม นี่คือความเสียสละ นี่คือความรัก เราได้ทุกอย่างเลย ปรากฏว่าพ่อเดินขึ้นมา อ้าว… เล่นกันแล้ว หายแล้วหรอ เราก็ยืดเลยนะว่า “ฉันใช้วิชาของฉันถูกแล้ววันนี้ เพราะมันสัมฤทธิ์ผล”

พี่จะไม่ชอบเลยที่เวลาใครทำผิดแล้วเราไปบอก “ขอโทษ! ขอโทษเขา!” “ขอโทษเดี๋ยวนี้!” แล้วไงล่ะ? ปากพูดว่าขอโทษ แต่ข้างในจิตใจไม่ได้รู้สึก แล้วเราให้เขาทำเพื่ออะไร? 

“ต้องทำได้ดิ”, “ง่ายนิดเดียว”

อีพีแรกๆ ที่เราคุยกันจะเป็นคำตำหนิลูกเนอะ เช่นคำว่า “ทำไม่ได้หรอก” “ทำได้แค่นี้” แต่เที่ยวนี้เรามาอยู่ที่คำให้กำลังใจ คือ “ทำได้” “ต้องทำได้” แต่ถ้าเขาทำไม่ได้อะครับ หรือบางเหตุการณ์เขาทำได้ไม่ดี “ทำได้ ทำได้ดีกว่านี้ ง่ายนิดเดียว คนอื่นยังทำได้เลย” ไอคำพูดอย่างงี้ ความตั้งใจจริงของเราก็คืออยากให้เขาทำได้ดีหรือทำได้สำเร็จ หนังฝรั่งเขาก็พูดกันเยอะ “You can do it!” 

ผู้ฟังต้องลองฟังแล้วเห็นภาพ เช่น สิ่งที่เด็กกำลังทำอยู่นี่มันยากนะ อย่างการเรียนคณิตศาสตร์หรือเรียนภาษาอังกฤษ ให้ท่านนึกว่าตอนที่เป็นเด็ก ท่านว่ามันยากหรือมันง่าย มันยากใช่มั้ย? แล้วผู้ใหญ่ก็มักจะพูดว่า “ง่ายนิดเดียว” 

พี่ยกตัวอย่าง ตอนนั้นลูกพี่จะปีนหน้าผา แล้วตรงนั้นก็เต็มไปด้วยพ่อแม่ที่มากับเด็กแล้วก็บอกว่า “ง่ายนิดเดียว ใครๆ เขาก็ปีนกัน ปีนเลยลูก” ลูกก็บอก “ไม่เอา ยาก” พ่อแม่ตอบ “ไม่ยากหรอก ใครๆ เขาก็ปีนกัน” ให้พ่อแม่ลองทบทวนนะ สมมติว่าสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ตรงหน้ามันยากมากๆ สำหรับเขา เช่น ปีนหน้าผา แล้วเราพูดว่า ‘ง่ายนิดเดียว’ ถ้าเขาทำได้ เขาจะภูมิใจไหมกับสิ่งที่ง่ายนิดเดียว? แล้วเขาก็คงงงอะว่า มันง่ายตรงไหนวะ ทำไมฉันทำแล้วมันยากจังวะ เพราะฉะนั้นคำว่า “ง่ายนิดเดียว” เด็กทำได้ก็จะไม่ค่อยภูมิใจ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่นิดเดียว คนอื่นเขาก็ทำกัน หรือไม่ก็สงสัยว่า ทำไมกูทำแทบตายแต่คนบอกว่าง่ายนิดเดียวนะ 

หมายถึงว่า มันกลายเป็นว่าเราทำให้เขารู้สึกติดลบด้วยซ้ำใช่มั้ยฮะ ไอของที่เขาทำได้กลายเป็นธรรมดาอีก นี่ไม่มีอะไรดีเลยนะเนี่ย แล้วถ้าเขาทำไม่ได้ก็กลายเป็น… ไปกันใหญ่เลยทีนี้ 

ใช่ เหมือนกับว่าของที่ง่ายนิดเดียวฉันยังทำไม่ได้ วันนั้นที่ปีนหน้าผา ข้างๆ พี่มีแม่กับลูกทะเลาะกัน แม่บอก “ปีนไปเลยง่ายนิดเดียว” ลูกบอก “ถ้าง่ายแม่ก็ปีนเองสิ” ทีนี้เรื่องใหญ่เลย หยิกกันนะ โอ้โห… เราก็ว่าไม่ใช่แล้ว คำพูด “ง่ายนิดเดียว” เนี่ย ไม่ใช่แล้ว 

ขอเล่าต่อ ลูกพี่อยากปีน ซึ่งตอนนั้นพี่ก็กำลังเรียนเรื่องภายในเรื่องความสัมพันธ์อะไรแบบนี้เนอะ เราก็ไปยืนอยู่ คนอื่นๆ เขาก็ทะเลาะกับลูกเรื่อง “ง่ายนิดเดียว” นี่แหละ เราก็คิดในใจว่า ไอแบบนี้ต้องไม่ได้แน่เลยว่ะ แต่ตอนนั้นพี่ก็ยังคิดไม่ออก เพราะว่าเราก็ยังคิดไม่เก่ง แต่ตอนนั้นลูกพี่ก็เดินมาบอกเลยว่า “แม่ เปลี่ยนใจละ สงสัยจะยาก” 

เชื่อไหมว่า ความอัตโนมัติของพี่ก็จะพูดไปเลยว่า “ไม่ยากหรอก” แต่พอพี่กำลังจะพูด ก็ฉุกคิดได้ว่าเมื่อกี้ฉันตั้งใจจะทำอะไรอยู่นะ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่พูด แต่ถามว่า “อ้าวทำไมอะ” ลูกบอก “โหแม่ ไปยืนดูละ ท่าทางจะยาก” ข้างในของเราก็จะบอกไม่ยากหรอก แต่รู้ว่าคำนี้มันไม่เวิร์คอะ เราก็เลยเดินจูงมือลูกแล้วบอกว่า “ลูกเอางั้นหรอ” แต่พี่ก็คิดว่ายังไงเราต้องอยู่กันที่นี่อีกสองคืน เดี๋ยวฉันขอกลับไปคิดก่อน แต่ตอนเดินกลับก็อึ้งไปเลยนะ คิดว่าถ้าลูกพูดแบบนี้แล้วฉันจะพูดยังไงดีนะ เพราะมันยังไม่เคยฝึกไง คืนนั้นนอนคิด แต่คิดเท่าไหร่ก็ไม่ออก

ในเมื่อฉันคิดไม่ออก ฉันจะต้องหาประสบการณ์ให้ได้ เช้าวันถัดมาพี่ก็ไปลงชื่อ บอกลูกว่าเดี๋ยวไปด้วยกัน ไปถึงพี่ก็ลงชื่อคนแรกเลย เขาก็ถามว่าทำไม เราก็บอกว่า “แม่อยากรู้ไงว่ามันเป็นยังไง เพราะว่าแม่อยากลองทำ” แต่ขอโทษเหอะ ปีนไปได้แค่สองก้อนเท่านั้นแหละ เราเหมือนกับเกือบจะตายเลย แล้วเราก็รู้ว่ามันยากมาก ท้ายที่สุดเราก็เลิกแล้วก็ลงมา แล้วบอกลูกว่า “ไปเหอะลูก ยากมากเลย” 

เราเข้าใจลูกละ ยอมแพ้

ใช่ เราเข้าใจจิตใจเขาละ ทีนี้ลูกสะบัดมือพี่แล้วบอกว่า “ปันจะลอง” ซึ่งตอนที่พี่ปีน พี่คิดอันนี้ไว้แล้วว่าจะบอกลูกว่า “มันยาก” เพราะมันยากจริงๆ การที่เราจะดึงน้ำหนักของเรามันยาก แล้วถ้าเราบอกลูกว่ามันยาก แล้วถ้าลูกไม่ทำก็ไม่เป็นไรนะ เพราะแม่ก็ยังทำไม่ได้ แล้วถ้าเขาตัดสินใจที่จะทำ เขาก็จะได้พบประสบการณ์ด้วยตัวเอง แล้วอะไรที่มันยาก แม่ทำไม่ได้ แล้วเขาทำได้ เป็นไง?

เขายิ่งภูมิใจ แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะแม่ยังทำไม่ได้เลย

ใช่ เขาก็บอกว่าเขาจะปีน แต่เราก็มียื้อๆ หน่อยนะ “อย่าเลย มันยาก” เขาบอก “ไม่ ปันจะลอง” เออไปลองเลยลูก (หัวเราะ) เราก็ให้เขาไปเซ็นชื่อเพื่อปีนหน้าผม เชื่อไหมว่าพอเขาขึ้นไปถึงข้างบน เขาตีระฆัง ถึงยอดแล้วโรยตัวลงมา เขาลงมาเป็นเด็กอีกคนหนึ่ง เป็นเด็กที่ผ่านด้วยตัวเอง แล้วเขาผ่านสิ่งที่ยาก 

เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม เราต้องกลับมาที่ความรู้สึกที่เป็นจริงของเราก่อนที่เราจะคุยกับเด็ก เด็กทำเลขไม่ได้ พ่อนั่งข้างๆ “พ่อจำได้ ตอนที่พ่อเล็กๆ เลขแม่งก็โคตรยากเลย เดี๋ยวครั้งนี้เราลองดูด้วยกันว่าพ่อจะทำไหวไหม” เขาจะรู้สึกว่า อ๋อ… นี่ฉันปกติใช่ไหมที่ทำไม่ได้ พ่อก็ยังทำไม่ได้ แล้วพ่อก็บอกว่าเราจะมาช่วยกัน แสดงว่าเขาเริ่มเห็นทางออกว่า ถ้าทำไม่ได้ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เรียนรู้ พอเขาหาทางออกเสร็จ… สุดท้ายเด็กเรียนรู้ได้ดีมากเลยนะเวลาที่พบว่าพ่อแม่ก็ทำสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะมันคือความจริงของมนุษย์ สิ่งที่ควรจะสอนคือ พาเขาไปดูเลยว่าอันนี้พ่อทำไม่ได้นะ แต่เราไปหาคนที่ทำได้กัน เขาก็จะรู้ว่าถ้าทำไม่ได้ต้องปรึกษาคนอื่น เราไม่ทำให้เด็กมี Ego หรืออัตตาเกินไป ไปถามคนที่เชี่ยวชาญ ไปหาความรู้ข้างนอก นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ควรที่จะฝึกเด็กแบบนี้ 

 “เรียนหนังสือเก่งๆ นะคร้าบ” “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะคร้าบ”

ขออีก 2 ชุดคำครับ คำที่เราบอกลูก คำนี้ได้ยินบ่อย ผมได้ยินตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้ก็ยังได้ยิน “เรียนหนังสือเก่งๆ นะคร้าบ” “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะคร้าบ” มันก็ดีปะฮะและเราก็ได้ยินเสมอๆ แต่มันแฝงมาด้วยอะไรครับ แล้วมันแอบทำร้ายเขายังไง

พี่ก็ต้องถามเม้งว่าเวลาได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า “เรียนหนังสือเก่งๆ นะลูก” รู้สึกยังไง 

กดดันนิดนึงฮะ คือเราก็อยากเรียนเก่งแต่เรา.. (หัวเราะแห้ง) 

คือมีเด็กหลายคนบนโลกใบนี้ที่เรียนหนังสือไม่เก่ง แต่ทำงานเก่ง คำว่า “เรียนหนังสือเก่งๆ” มันเหมือนกับการที่บอกว่า คนที่เก่งคือคนที่เรียนหนังสือเก่ง แต่ไม่มีความเก่งด้านอื่นเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราบอกเด็กแบบนี้ มันทำให้เด็กรู้สึกว่าฉันไม่มีวันที่จะเก่งในสายตาของคนอื่นเลย ทั้งที่จริงๆ เขาอาจจะทำอย่างอื่นเก่ง 

พี่พูดจริงๆ นะ ถ้าเราไม่รู้จะอวยพรอะไร กอดคืออะไรที่เราอยากจะส่งความรู้สึกดีๆ ให้กับเขา เราลูบหัวเขา แล้วบอกว่า “ดูแลตัวเองดีๆ นะลูก” มันเป็นพรที่มีพลังมหาศาลเลย คือเราจะเห็นว่าคำพูดเหล่านี้มันจะเป็นคำพูดอัตโนมัติเหมือนเราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้พร เราแค่พูดให้เสร็จอะ

หรือคำว่า “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะ” ไม่รู้นะ พี่กับลูก เราฝึกว่าเราจะเท่ากัน เขาไม่จำเป็นจะต้องเชื่อว่าพี่เป็นคนที่ถูกทุกอย่าง เวลาบอกว่า “ต้องเชื่อฟังพ่อแม่นะ” สู้เราพูดว่า “ลูก มีอะไรก็คุยกับพ่อแม่นะ” อย่างงี้ยังรู้สึกว่าเราสามารถที่จะคุยอะไรได้

แต่พอบอกว่าเชื่อฟัง มันเหมือนพ่อกับแม่มีคำตอบอยู่อีกอย่างหนึ่งที่อาจไม่ตรงกับเราแล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเชื่อฟัง การไม่เชื่อฟังพ่อแม่เป็นสิ่งที่ผิด ความจริงเราไม่ต้องเชื่อฟัง เราเห็นต่างได้ เราคุยกันได้ แต่สื่อสารกันดีๆ ในบ้าน

หรือการให้พรโดยการบอกว่า “ตั้งใจกับชีวิตนะลูก ขอให้ทำงานอย่างมีความสุข ขอให้เรียนรู้อย่างมีความสุข” มันยังเป็นพรที่ทำให้เปิดกว้างและรู้สึกได้ว่า เขามีคุณค่าในด้านอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ Fix ไปเลยว่า การไม่เชื่อฟังหรือการเห็นต่างจากพ่อแม่เป็นเรื่องที่ผิด พี่รู้สึกว่ามันเป็นพรที่แคบเกินไป เด็กอาจจะ Roller Blade เก่ง ตีแบดฯ เก่ง แต่เรียนหนังสือไม่เก่ง กลายเป็นว่า เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ไม่เก่งเลยใช่ไหม คือการพูดแบบนี้พี่ว่ามันแคบไปนิดนึง

ทั้งสองคำมันเหมือนการอวยพรอย่างเป็นคำอัตโนมัติ ซึ่งเราจะเห็นว่าคำพูดเหล่านี้มันเป็นคำพูดอัตโนมัติ เหมือนเราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้พร เราแค่พูดให้เสร็จอะ แต่พี่พูดจริงๆ นะถ้าเราไม่รู้จะอวยพรอะไร… กอด แล้วส่งความรู้สึกดีๆ ให้กับเขา ลูบหัวเขา บอกแค่ว่า “ดูแลตัวเองดีๆ นะลูก” แค่นี้มันเป็นพรที่มีพลังมหาศาลแล้วนะ 

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร”

“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” อันนี้ผมโดนถามตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้ผมก็ยังได้ยินอันนี้อยู่เลย ซึ่งตอนได้ยินตอนเด็กๆ มันไม่มีอะ เราไม่มีความฝัน แต่คนอื่นเขามี แล้วเราก็รู้สึกว่า… ต้องมีด้วยหรอ? สุดท้ายก็ตอบไปว่า เป็นวิศวกร เป็นตำรวจ หรืออาชีพเท่าที่คิดออก กลุ้มใจอะ ตอนเด็กๆ ก็อยากเป็นเด็กไง 

จริงๆ คำถามมันก็เป็นเหมือนอย่างเมื่อกี้เนอะ คือเป็นชุดคำถามอัตโนมัติ เราต้องรู้ว่าเด็กมีประสบการณ์น้อยจะตาย การไปคิดถึงเรื่องอาชีพของเขามันยังคับแคบมากเลย ขนาดชุดอารมณ์ยังไม่มีพจนานุกรมเลย แล้วจะให้เขามีพจนานุกรมเรื่องอาชีพ เวลาถามอย่างงี้ สุดท้ายเด็กก็จะเรียนรู้ที่จะตอบในสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบ บางคนบอกว่า อยากเป็นคนกวาดถนน แล้วผู้ใหญ่ก็หัวเราะ เราก็คิดว่าอย่างงี้มันผิด ซึ่งมันไม่ผิดไง ทุกอย่างเป็นสิ่งที่โอเคหมด แต่ว่าเวลาที่เด็กตอบมาแล้วผู้ใหญ่กลับไปพูดล้อเล่น มันเลยฝึกให้เด็กไปให้คุณค่าหรือไปดูถูกบางอย่าง 

แล้วที่สำคัญ อาชีพบางอาชีพซับซ้อนมากเลย ไม่รู้จะเรียกว่าอาชีพอะไร หรือเขาก็ยังคิดไม่เสร็จ เด็กที่จะเริ่มคิดถึงเรื่องอาชีพตัวเองได้ มันต้อง 15 ปีขึ้นไป ถึงจะเริ่มคิดแล้วว่าจะเป็นอะไรดีวะ แต่คุณเล่นไปถามเขาตั้งแต่เด็ก มันสะสมความสงสัยในตัวเอง แล้วขณะที่เด็กตอบ เขาตอบโดยการที่เขาไม่ได้รู้ความจริงหรอก 

โอเค เด็กบางคนอาจจะมีความฝัน อยากเป็นนักบินด้วยความรู้สึกอะไรบางอย่างซึ่งเขาก็ยังมีของเขาเนอะ เพียงแต่ว่าเวลาที่เราถามไปเรื่อยๆ อย่างล่องลอย ไม่มีความหมาย บางทีเด็กบางคนก็รู้สึกยากนะ เหมือนอย่างที่เม้งเล่าแหละ เออ… ทำไมเราเป็นคนที่ไม่มีความฝันเลยวะ บางคนตอบว่าเป็นวิศวะทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าวิศวะคืออะไร 

“ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูกนะ”

ประโยคสุดท้ายครับ อันนี้ดูปราถนาดีจริงๆ “ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูกนะ” อย่างงี้มันดีหรือไม่ดีครับ 

เป็นสิ่งที่พ่อหรือแม่มักคิดเสมอแหละ แต่ประเด็นคือ เรากำลังเอาความดีของเราทั้งหมดไปให้ลูกแบก เหมือนกับว่าฉันทำมาทั้งหมดก็เพื่อเธอ เธอทำผิดพลาดไม่ได้นะ เธอหลุดจากความดีหรือความรักที่ฉันนิยามไว้ไม่ได้นะ เพราะฉันอุทิศทั้งหมดให้แก่เธอ แล้วมันทำให้เขาแบกมากเลย แล้วเวลาที่เขารู้สึกว่าเขากำลังทำบางอย่างที่ไม่ได้สอดคล้องกับความรักและความดีในนิยามของแม่เนี่ย เขารู้สึกว่าเขากำลังผิด เขากำลังทำบาป 

ฉะนั้นในความรัก พี่กลับมองว่าคนที่พูดแบบนี้เขาเห็นแก่ตัวกับลูกนะ เพราะเขาให้และทำทุกอย่างโดยที่หวังว่าลูกจะเห็นคุณค่าตรงนี้ ซึ่งสุดท้ายความรักที่เขาทำมาตั้งเยอะ มันกลายเป็นไม่มีคุณค่าหรือมันกลายเป็นไม่บริสุทธิ์ แล้วมันทำให้ลูกสงสัย พี่รู้สึกว่าคำพูดนี้มันหนักไปสำหรับคนที่เป็นเด็ก

อย่างนี้รึเปล่าครับ เวลาที่พ่อแม่พูดคำนี้ออกไป อาจพูดด้วยความน้อยใจรึเปล่าครับ เหมือนเราพยายามทำเต็มที่แต่ลูกอาจจะไม่เชื่อฟัง หรือลูกอาจจะไม่ได้ตอบสนอง เราน้อยใจเลยพูด 

เม้งพูดถูก พ่อแม่ส่วนใหญ่น้อยใจ แต่พ่อแม่กับเด็กใครโตกว่ากัน? 

พ่อแม่ดิครับ

เพราะฉะนั้นใครคือคนที่ควรจะหาหนทางแก้ไขความน้อยใจ พ่อแม่ถูกปะ?  ถ้าเราน้อยใจ น้อยใจเรื่องอะไรก็ไปหาให้ถูก ไปหาสิ่งที่จะสื่อสารให้เฉพาะเจาะจงกับลูกให้ได้ว่าเราน้อยใจเรื่องอะไร เช่น “โห… ลูก คำพูดของลูกเมื่อกี้ แม่ฟังแล้วแม่เสียใจ” แค่นี้จบ ไม่ใช่เราโยนไปว่า “ที่ทำมาทั้งหมดก็เพื่อเธอคนเดียว” อ้าว… แล้วลูกจะหาทางออกยังไงต่อล่ะ 

เพราะฉะนั้น คำพูดของพ่อแม่เป็นสิ่งที่ต้องถามตัวเองเยอะมากเลยว่า ใครควรจะแก้ไขความรู้สึกนี้ แล้วแก้ไขด้วยวิธีใด เพราะว่าเด็กเขามีประสบการณ์น้อยกว่าเรา แต่เรากลับเอาโลกทั้งใบของเราโยนไปให้เด็ก หาทางออกให้ได้นะว่าเธอจะแก้ไขความน้อยใจของฉันได้ยังไง 

โห หลังแอ่นเลยฮะ ตัวเล็กนิดเดียว 

แล้วเขาจะรู้สึกว่า แล้วเขาต้องทำยังไงวะ คือเขาต้องเชื่อทุกอย่างใช่ไหม แต่ท้ายที่สุดมันทำให้ความรู้สึกของเขาแคบลงๆ 

เฮ้ออออ (ถอนหายใจยาว) แหม่ จบตอนนี้ด้วยความกลุ้มอกกลุ่มใจ จริงๆ แล้วก็กลับไปประเด็นที่ว่า พ่อแม่แก้ที่ตัวเอง สงบปากสงบคำ ถ้ายังไม่มีคำพูดดีๆ ก็อย่าพึ่งพูด แสดงออกโดยการสัมผัส แล้วก็ใจเย็นลงหน่อย ผมว่ารู้สึกให้ปราณีตขึ้น และอาจต้องเริ่มที่ความใจเย็น ต้องเงียบก่อน แล้วความช้า ความปราณีตมันอาจจะมา 

คือถ้าผู้ฟังฟังอย่างเข้าใจจริงๆ มันคือการที่เราเอาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงลูกกลับเข้ามาเพื่อหาแก่นของชีวิตของเราคนเดียวเลยนะ จริงๆ ถ้าเราเข้าใจความเป็นพ่อแม่หรือความเป็นชีวิตของเรา การที่เราจะสื่อสารกับลูกหรือเลี้ยงลูก มันจะง่ายขึ้นเลย 

พี่คิดว่าเราไม่ได้เลี้ยงลูก แต่ลูกน่ะเลี้ยงเรา ลูกเลี้ยงให้พี่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ลูกเลี้ยงให้พี่ช้าลง สงบลง ลูกเลี้ยงให้พี่มีชีวิตที่มีชีวา ลูกเลี้ยงให้พี่มีความสุข มีความรักที่ไม่มีเงื่อนไข พี่ว่าพี่ไม่ได้เลี้ยงเขา พี่แค่ส่งความรักความมั่นคงจากข้างใน ส่งความรู้สึกปลอดภัยทางกาย ทางใจ ที่เหลือจากนั้น ลูกส่งบทเรียนกลับมาเพื่อให้พี่เรียน เพื่อที่จะเข้าใจตัวเองมากที่สุด พี่คิดว่าเขาเลี้ยงเรา เขาหล่อเลี้ยงเราทางด้านจิตใจที่ทำให้เราเรียนมากขึ้น และท้ายที่สุดมันเป็นของขวัญของเรามากเลยว่า วันนี้ฉันรู้จักตัวเองที่สุดเลย

ครับ ไม่ต้องสรุปอะไรแล้วนะ เรากลับมาให้ ‘ลูกเลี้ยงเรา’ ดีๆ กันครับ ทุกวันนี้พ่อแม่ไม่ค่อยให้ลูกได้เลี้ยงเราเท่าไหร่ ไปตัดโอกาสซะเยอะ และตอนนี้เราก็คุยกันเรื่องคำพูดคำจามา 3 ตอนแล้วเนอะ คิดว่าเพียงพอแล้ว ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ความรักความปราถนาดีของเราอาจจะไปบั่นทอนคนที่เลี้ยงเราซะเยอะเลย 

ตอนต่อๆ ไปก็จะมาคุยเรื่องโรงเรียน การเรียน ให้กว้างขวางกว่านั้นว่า มันมีโรงเรียนอะไรที่ส่งไปแล้วลูกไม่มีความสุข เพราะโรงเรียนนี่ลูกอยู่พอๆ กับบ้านเลยนะ อยู่จนมหา’ลัย เราส่งลูกไปที่ที่ทำให้เขามีความทุกข์แค่ไหน แล้วก็โรงเรียนแบบไหนที่เหมาะสมกับลูกจริงๆ ที่เราจะไม่เผลอไปส่งเขาไปในที่ที่ทำให้เขาและเราลำบากในอนาคต แล้วก็รวมถึงมีหลายๆ ตอนเกี่ยวกับการเล่นมือถือ ต้องติดตามฟังนะครับ งั้นตอนที่ 3 ก็เพียงพอแค่นี้ดีกว่านะครับ ขอบคุณครูณาครับ สวัสดีครับ 

Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ รายการที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ โรคพ่อแม่ทำ เขียนโดย ศ.นพ. ชิเงโมริ คิวโกกุ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านโรคภูมิแพ้และโรคทางกายที่เกิดจากสภาพจิตใจไม่ปกติ (Psychosomatic Disorder) ได้บันทึกและทำวิจัยเกี่ยวกับโรคที่รักษาว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะการเป็นผู้ปกครองหลังยุคอุตสาหกรรมที่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนเคร่งเครียดขึ้นและส่งผลทางจิตวิทยาและทางกายต่อลูกๆ หลายโรคดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง แต่เมื่อคุณหมอคิวโกกุแนะนำให้รักษาด้วยการ ‘ห่าง’ จากพ่อแม่ อาการนั้นกลับหายราวไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติ ภูมิแพ้ เป็นต้น

โรคบางอย่างที่เกิดกับลูกนั้น หลายอย่างมาจากความรักและหวังดีของพ่อแม่(ที่อาจมากเกินไป) คือคีย์เวิร์ดจากหนังสือที่รายการนี้อยากหยิบยกมาพูดถึงต่อ เจาะจงไปที่พ่อแม่มือใหม่ ทำความเข้าใจเพื่อไม่สร้างโรคให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกัน ก็ชวนคนเป็นลูกทุกช่วงวัยเปิดฟังเพื่อกลับไปสำรวจบาดแผลวัยเด็ก ทำความเข้าใจพ่อแม่ในมุมมองใหม่ และฟังเพื่อถอนพิษให้กับตัวเอง 

ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์ 

Tags:

แบบแผนทางความสัมพันธ์อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์โรคพ่อแม่ทำ

Author:

illustrator

อังคณา มาศรังสรรค์

กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์

illustrator

ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์

คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Book
    Olive Kitteridge : อาจใช้เวลาทั้งชีวิตกว่าจะยอมรับ เราไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอารมณ์ร้ายๆ ของแม่

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Family Psychology
    คำพูดอาจส่งเสริม หรือเป็นอุปสรรคกับพัฒนาการ ถ้อยคำเหล่านี้ชวนคิดอีกที ก่อนพูดกับเด็กๆ ของเรา

    เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhoodFamily Psychology
    มหากาพย์การเลือกโรงเรียน (โรงเรียนที่ดีของพ่อแม่ โรงเรียนที่แย่ของลูก)

    เรื่อง อังคณา มาศรังสรรค์ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    สิทธิเด็กอยู่ตรงไหน (ในการนินทา) ข่าวดาราเลิกกัน: จะเด็จ เชาวน์วิไล

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Early childhoodFamily Psychology
    ถ้อยคำทำร้ายลูก(2): อย่าทำนะ เดี๋ยวตำรวจมาจับ, ตีพื้น นี่แหนะจัดการให้แล้ว, นิสัยเหมือนพ่อ/แม่ไม่มีผิด

    เรื่อง ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์อังคณา มาศรังสรรค์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

ลำดับการเกิดที่แตกต่าง มาพร้อมความคาดหวังและภาระที่ต้องแบกรับไม่เท่ากัน
Family Psychology
28 October 2020

ลำดับการเกิดที่แตกต่าง มาพร้อมความคาดหวังและภาระที่ต้องแบกรับไม่เท่ากัน

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • ปัญหาคลาสสิกของการมีพี่น้องคือ เราอาจมีประเด็นแข่งขันโดยไม่เจตนากับพี่น้องอยู่เสมอ และหรือเราจะเติบโตโดยมี ‘บทบาท’ บางอย่างวางไว้ให้ จึงอาจทำให้คาแรกเตอร์ของคนเป็นพี่ ลูกคนกลาง น้องคนเล็ก คล้ายกันกับหลายๆ บ้านไปโดยปริยาย
  • ชิ้นนี้ เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา เขียนถึงบทบาทและความคาดหวังที่แตกต่างอันเนื่องจากลำดับการเกิดในครอบครัว ที่อาจสรุปไม่ได้ว่าทุกคนเป็นเช่นนี้ แต่อาจพูดโดยรวมได้ว่าในส่วนเสี้ยวหนึ่ง ลำดับการเกิดในครอบครัวก็ส่งผลต่อจิตใจและตัวตนคล้ายๆ กัน

“การที่พี่น้องรักกัน ถือเป็นโชคดีของพ่อแม่” แต่ความรักระหว่างพี่น้องจะเกิดขึ้นได้ หากพวกเขาได้รับความรักและการดูแลอย่างเข้าใจจากพ่อแม่ ซึ่งลูกแต่ละคนเกิดมามีความแตกต่างกัน และลำดับการเกิดมีผลต่อบุคลิกภาพของเขา หากพ่อแม่สามารถทำความเข้าใจกับข้อเท็จจริงเหล่านี้ เราจะสามารถเข้าใจและยอมรับลูกแต่ละคนในแบบที่เขาเป็นมากขึ้น

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป 

ปมในใจที่สามารถเกิดขึ้นได้ของลูกแต่ละคน….

ลูกคนโต “ผู้ถูกปลดออกจากบัลลังก์”

ตั้งแต่วินาทีแรกที่เด็กน้อยลืมตาดูโลก เขากลายเป็นศูนย์กลางของความรักระหว่างพ่อกับแม่ มีผู้คนมากมายรายล้อมเขา ช่วงวัยทารกเป็นช่วงที่เด็กเป็นจุดสนใจของทุกคนภายในบ้าน แค่เพียงเขาร้องไห้ พ่อแม่ก็จะอุ้มเขาขึ้นมาปลอบโยน เปลี่ยนผ้าอ้อม ให้นม และขับกล่อมต่ออีกนานสองนาน

เด็กน้อยที่ได้รับความรัก ความสนใจที่เพียงพอ เขาจะสามารถสร้างความสัมพันธ์กับพ่อแม่ได้ (พ่อแม่มีจริงสำหรับเขา) และเขาจะวางใจต่อโลก แต่ในขณะเดียวกัน การยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง (Egocentrism) นั้นยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ด้วย เป็นเรื่องธรรมดาโดยเฉพาะในเด็กก่อนวัยเรียน 0 – 3 ปีหรือก่อน 7 ปี จะเชื่อว่า ‘เขาเป็นดวงอาทิตย์ และโลกหมุนรอบตัวเขา’

กล่าวคือ ‘ทุกคนต้องเห็นในสิ่งที่ฉันเห็น ได้ยินในสิ่งที่ฉันได้ยิน เข้าใจในแบบที่ฉันเข้าใจ และไม่เข้าใจว่า ผู้อื่นมีมุมมองการรับรู้ที่แตกต่างจากตนเอง เขาต้องการเป็นคนสำคัญที่สุดของพ่อแม่เสมอ’

ดังนั้น เมื่อเขาจำเป็นต้องแบ่งปันความสนใจและความรักจากพ่อแม่หรือคนอื่นๆ ให้กับ ‘น้อง’ ที่เกิดขึ้นมาใหม่ นั่นเป็นเรื่องที่น่าตกใจ และเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่สำหรับเขามาก ไม่ต่างอะไรกับการสูญเสียตำแหน่งจุดศูนย์กลางของคนในบ้านไป

ภาระทางใจที่มักเกิดกับลูกคนโต

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักคาดหวังให้เราดูแลรับผิดชอบน้องๆ และสิ่งต่างๆ ภายในบ้าน รวมทั้งธุรกิจภายในครอบครัว แม้พี่คนโตอาจจะมีฝันที่อยากทำ แต่ด้วยภาระที่พ่อแม่มอบให้ตั้งแต่วันที่เขามีน้องเกิดมา ทำให้เขาเรียนรู้ที่จะต้องรับผิดชอบ แม้ว่าจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม เขาทำหน้าที่ตามสัญชาตญาณ จึงเป็นเหตุให้ผู้ใหญ่หลายคนในยุคปัจจุบันที่เป็นพี่คนโตของครอบครัว มักจะมีช่วงเวลาที่ขมขื่นอยู่ไม่น้อยที่ตนเองต้องคอยตามรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ที่พ่อแม่มอบให้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ มรดกทรัพย์สิน ไปจนถึงหนี้สินต่างๆ

บางคนต้องรับผิดชอบส่งเสียน้องๆ ให้ได้เรียน ในขณะที่ตนเองต้องยอมเสียสละลาออกมาทำงานเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว บางคนต้องรับผิดชอบดูแลธุรกิจของครอบครัว ยอมละทิ้งฝันที่ตนมี ในขณะที่น้องๆ สามารถออกไปทำตามฝันของตัวเองได้อย่างอิสระ

พี่คนโตอย่างเขาจึงเลือกที่จะวางสิ่งที่ตัวเองต้องการไว้เบื้องหลัง และแบกรับความต้องการของครอบครัวก่อนเสมอ

ลูกคนที่สอง หรือ ลูกคนเล็ก “คู่แข่งตัวฉกาจของคนพี่”

สำหรับลูกคนที่สอง ตั้งแต่เขาเกิดมาตัวเขาได้กลายเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของคนพี่ไปโดยทันที เพราะพอเราเกิดมา ความรักและความสนใจจากพ่อแม่ได้ถูกแบ่งครึ่งจากพี่มาให้เขา ทำให้คนพี่ไม่ชอบใจเสียเท่าไหร่ แม้ว่าจะไม่ใช่ความผิดของเขาเลยที่เกิดมาเป็นลูกคนที่สอง แต่พี่คนโตก็รู้สึกเช่นนั้นกับน้องของเขาไปเสียแล้ว 

ด้วยเหตุนี้เอง การเป็นลูกคนที่สองทำให้เขาต้องพยายามทำตัวให้ดี และดิ้นรนเพื่อจะเป็นที่ยอมรับของพี่ให้ได้ เขาจึงชอบเลียนแบบพี่ของเขา พี่จะทำอะไร เขาจะพยายามทำตาม พี่เล่นอะไร กินอะไร ชอบอะไร คนน้องทำ เล่น กิน ชอบบ้างทันที ซึ่งกลายเป็นว่า ยิ่งน้องทำแบบนี้ คนพี่อาจจะหงุดหงิดกว่าเดิม แต่ก็มีพี่บางคนรู้สึกดีใจที่น้องกลายเป็นลูกสมุนก๊วนเดียวกับเขา

ดังนั้น ลูกคนที่สองจึงมีแนวโน้มทางพัฒนาการในด้านต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะเขาเลียนแบบเด็กวัยใกล้เคียงอย่างพี่ของเขา และพ่อแม่อาจจะมีประสบการณ์มาพอสมควรจากการเลี้ยงลูกคนแรกไปแล้ว จึงสามารถรับมือกับลูกคนที่สองง่ายขึ้น

ภาระทางใจที่มักเกิดกับลูกคนที่สอง

พ่อแม่มักคาดหวังว่า ลูกคนที่สองจะต้องเจริญรอยตาม ‘คนพี่’ หากคนพี่ทำสิ่งต่างๆ ไว้อย่างโดดเด่น น้องอย่างเขาก็ยิ่งรู้สึกกดดัน ยกตัวอย่างเช่น หากพี่น้องเรียนโรงเรียนเดียวกัน แล้วคนพี่เรียนเก่งมาก คนรอบข้างมักจะคาดหวังว่าน้องคนที่สองจะต้องเรียนเก่งอย่างคนพี่แน่ๆ หรือเมื่อคนพี่ทำสิ่งใดได้ดี พ่อแม่มักจะคาดหวังว่า คนน้องย่อมทำได้ดีด้วยเช่นกัน เป็นต้น ความคาดหวังเหล่านี้มักส่งผลให้ลูกคนที่สองมีเป้าหมาย คือการทำได้เท่าพี่หรือดีกว่าพี่ของเขา ซึ่งบางครั้งเป้าหมายนั้นสูงเกินไป และสุดท้ายเขาไม่สามารถทำได้สำเร็จ ทำให้ลูกคนที่สองอย่างเขามักรู้สึกแย่และรู้สึกว่าตัวเองไม่เอาไหน ทั้งๆ ที่เขาอาจจะทำได้ดีกว่าคนอื่นมากมาย แต่อาจจะไม่ดีเท่าพี่ของเขาเท่านั้นเอง การที่เขาและใครๆ ต่างเปรียบเทียบตัวเองกับพี่อยู่ตลอดเวลา ทำให้ลูกคนที่สองอย่างเขาต้องรู้สึกกดดัน และเอาจริงเอาจังกับผลลัพธ์ และผลแพ้ชนะเสมอ

ลูกคนกลาง “ผู้ประนีประนอมและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด”

สำหรับลูกคนกลาง เขาเกิดมาโดยที่รับรู้ว่ามีคนเกิดก่อนตัวเองอยู่แล้ว เขาต้องคอยแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ระหว่างพี่กับตัวเขา และหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อน้องคนเล็กเกิดมา ตัวเขาก็ต้องแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ที่เดิมทีมีอยู่น้อยนิดไปให้น้องด้วย ตัวเขาไม่เคยมีช่วงเวลาที่มีแค่เขากับพ่อแม่มาก่อน 

เขาต้องต่อสู้กับพี่คนโต และแบ่งความสนใจกับน้องคนเล็ก ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ถ้าเขาอยากทำให้ทุกคนมองเห็น เขาต้องพยายามทำตัวให้แตกต่างจากพี่กับน้องของเขา นอกจากนี้เขาต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพราะเขาต้องรับบทบาทถึงสองบทบาทในเวลาเดียวกัน 

คือ เป็นน้องของพี่คนโต และเป็นพี่ของน้องคนเล็ก เวลาพี่น้องทะเลาะกัน ลูกคนกลางอย่างเขาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้เป็น และทำหน้าที่ประนีประนอมระหว่างพี่คนโตกับน้องคนเล็กให้ได้ บ่อยครั้งเขาเลือกที่แยกตัวออกจากพี่น้องเพื่อที่จะได้อยู่กับตัวเองอย่างสงบสุข จึงไม่น่าแปลกใจที่ลูกคนกลางจะค่อนข้างเป็นตัวของตัวเองสูง

ภาระทางใจที่อาจเกิดกับลูกคนกลาง

ลูกคนกลางที่จะมีปมทางใจ มักเกิดจากการที่พ่อแม่มักมองข้ามลูกคนกลางอย่างเขาเสมอ ทำให้เขารู้สึกไม่มีตัวตนในสายตาพ่อแม่ หรือ คนในครอบครัว ลูกคนกลางอย่างเขาจึงต้องพยายามทำตัวแตกต่างเพื่อให้ทุกคนสนใจ แต่ลูกคนกลางบางคนก็เลือกที่จะอยู่เงียบๆ เพราะเหนื่อยที่จะพยายามทำให้ทุกคนสนใจเขา เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่า เสียงของตัวเองนั้นไม่สำคัญ ไม่ว่าเขาจะพูดอะไร คงไม่มีใครใส่ใจเขา เพราะขนาดพ่อแม่ยังให้ความสำคัญกับพี่และน้องของเขามากกว่า

ลำดับขั้นการเกิดส่งผลต่อบุคลิกภาพของเด็ก (Birth order effect)

Alfred Adler (1973) เชื่อว่า พ่อแม่มักปฏิบัติและตอบสนองต่อลูกแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งเขาเชื่อว่า เกิดจากลำดับการเกิดของลูกแต่ละคนนั่นเอง

ลูกคนโต

เป็นลูกที่ได้รับความรักและความสนใจอย่างเปี่ยมล้นตั้งแต่เกิดมา พ่อแม่มักใส่ใจเขามาก เพราะพ่อแม่เองก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์มีลูกมาก่อน ทำให้ลูกคนแรกได้รับการประคบประหงม และดูแลความสะอาดเป็นพิเศษ ทำให้ลูกคนโตมีแนวโน้มจะรักสะอาดและไม่ชอบสิ่งสกปรก

แต่เมื่อลูกคนโตกำลังจะมีน้อง เขาจะรู้สึกว่าน้องกำลังจะขโมยสิ่งเหล่านี้ไปจากเขา ถ้าหากพ่อแม่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้กับพี่คนโตในเรื่องของการมาช่วยพ่อแม่ดูแลน้อง พี่คนโตอย่างเขาจะต่อต้านและปฏิเสธน้องโดยสิ้นเชิง ในทางกลับกันหากพ่อแม่เตรียมเขาเพื่อให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลน้องแบบเดียวกับพ่อแม่ พี่คนโตจะรับรู้ถึงอำนาจ และความรับผิดชอบ เขาจะทำหน้าที่พี่คนโตได้อย่างดี

ลูกคนกลาง

เป็นลูกที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจจากพ่อแม่น้อยที่สุด ทำให้เขาเป็นเด็กที่มีความทะเยอทะยานสูง อดทน และมีแนวโน้มเป็นคนดื้อรั้นและดื้อเงียบ ลูกคนกลางบางคนจะพยายามทำตัวโดดเด่นกว่าพี่น้องของตน หรือทำตัวแปลกแยกไปเลยเพื่อให้เป็นที่สนใจของพ่อแม่และคนรอบตัว ทั้งนี้ หากพ่อแม่เข้าใจและให้ความสนใจลูกคนกลางอย่างเพียงพอ เขาจะสามารถปรับตัวได้ดีกว่าพี่น้อง และเป็นกาวเชื่อมใจระหว่างคนในครอบครัวอีกด้วย

ลูกคนสุดท้อง

เป็นลูกที่พ่อแม่และทุกคนในบ้านตามใจ คอยให้ความช่วยเหลืออยู่เสมอ ทำให้ลูกคนสุดท้องกลายเป็นเด็กค่อนข้างเอาแต่ใจ และมักทำตัวเป็นเด็กไม่รู้จักโต แต่ในขณะเดียวกันหากพ่อแม่มอบหมายหน้าที่ให้กับน้องคนเล็กอย่างเขา เช่นเดียวกับพี่ๆ เขาจะสามารถพัฒนาศักยภาพได้ดี เพราะมีพี่ๆ เป็นตัวอย่าง

ไม่ว่าจะเป็นลูกคนโต ลูกคนกลาง ลูกคนเล็ก ทุกคนต่างต้องการความรักและความสนใจอย่างเหมาะสมจากพ่อแม่ ดังนั้น พ่อแม่ทุกคนควรเข้าใจข้อเท็จจริงเหล่านี้

ข้อที่ 1 ลูกของเราเป็นคนละคนกัน นั่นหมายถึงพวกเขามีความแตกต่างกัน อย่าเปรียบเทียบพวกเขา

ตัวอย่างคำพูดเชิงเปรียบเทียบ

“ดูพี่ของลูกสิ ทำไมพี่เขาถึงทำได้”

“ทำไมไม่ทำตัวให้ว่าง่ายเหมือนน้องบ้าง”

“ทำไมชอบทำตัวแปลกแยกจากพี่น้องคนอื่น” เป็นต้น

และที่ลืมไม่ได้ คือ การให้คำชมลูกไม่เท่ากัน พ่อแม่อาจจะมีการชื่นชมลูกคนใดคนหนึ่งมากเป็นพิเศษ ก็สามารถทำให้เด็กรู้สึกไม่ดีได้เช่นกัน เช่น “พี่ของลูกเก่งอย่างนั้นอย่างนี้” หรือ “น้องของลูกทำอันนี้ดีมากเลย ดูสิ”

แม้ว่าเราจะโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว หากพ่อแม่ทำกับเราเช่นนี้ บางครั้งตัวเราเองยังแอบเก็บมาน้อยใจลึกๆ เลย ถ้าเป็นเด็ก เขาจะรู้สึกขนาดไหน แม้เด็กจะไม่ได้พูดออกมา ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่รับรู้ หรือไม่รู้สึก

ไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาเพื่อเป็นเหมือนเด็กอีกคน พวกเขาเกิดมาเพื่อเป็นตัวเขาเอง และพ่อแม่ควรรักและเห็นคุณค่าในสิ่งที่ลูกแต่ละคนเป็น ดังนั้น รักเขาอย่างที่เขาเป็น เพื่อว่าเขาจะได้รับความรักอย่างเต็มที่จากเรา และไม่ต้องไปโหยหาจากที่อื่น

ข้อที่ 2 ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ห้ามต่อว่าเด็กต่อหน้าเด็กอีกคนหนึ่ง

แม้ว่าเราจะถือคติว่า “ทำโทษเด็กอีกคนเพื่อให้เด็กอีกคนไม่ทำตาม” ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นต่อสภาพจิตใจของคนถูกต่อว่านั้นแก้ไขไม่ได้ เขาจะรู้สึกแย่ต่อตนเอง และอับอายที่ถูกตำหนิต่อหน้าพี่น้องของตน

บางคนบอกว่า “ลงโทษพี่ให้น้องดู น้องจะได้สงสารพี่” ความคิดนี้อาจจะเกิดขึ้นได้ที่คนน้องจะสงสารคนพี่ แต่เราแน่ใจได้อย่างไรว่า คนที่ถูกลงโทษจะไม่รู้สึกอับอายต่อหน้าน้อง

ดังนั้น ในเมื่อเราไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ทำจะสร้างปมให้กับลูกๆ หรือเปล่า ไม่ทำสิ่งนั้นกับพวกเขาดีที่สุด

ข้อที่ 3 ของของเขา ก็คือ ของของเขา

ถ้าเราซื้อของอะไรให้ลูกแต่ละคน แล้วบอกว่า “นั่นคือของของเขา” นั่นแปลว่า ถ้าพี่หรือน้องมาแย่งของเขาไปเล่น อย่าบอกเจ้าของว่า “ให้แบ่งปัน ยอมๆ พี่หรือน้องบ้าง” เพราะเขาจะรู้สึกว่า ไม่มีของของเขาที่แท้จริง ถ้าเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เด็กจะรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถรักษาสิทธิ์ที่ตนพึงได้รับได้ ตนเองต้องยอมพ่อแม่และพี่น้อง เขาจะท้อ จนไม่อยากปกป้องสิทธิ์ของตนเองอีก ใครจะขอ ใครจะทำอะไร เขาจะยอมๆ ไป (แม้ใจไม่อยากก็ตาม) 

หรือ เด็กบางคนจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม คือ เขาจะหวงของมาก เขาจะแอบเล่นของชิ้นนั้นเพื่อไม่ให้ใครมาแย่งของของเขาไป ที่สำคัญเขาจะมองว่า ผู้ใหญ่ คือ ศัตรูของเขาในเรื่องนี้ เพราะพ่อแม่เป็นคนบังคับให้เขาต้องแบ่งของของเขาให้พี่น้องคนอื่น การแบ่งปัน ขอให้รอเวลาอันสมควร และเกิดจากการที่เด็กพร้อมและอยากให้ด้วยตัวเขาเองดีกว่ามาก

ข้อที่ 4 ทั้งพี่และน้องควรได้รับการมอบหมายหน้าที่ ไม่ใช่มีใครคนใดคนหนึ่งไม่ต้องทำอะไรเลย

ในกรณีที่เด็กโตพอแล้ว ช่วยเหลือตัวเองขั้นพื้นฐานได้ เวลาเรามอบหมายงานให้เด็ก เราควรให้งานที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน เช่น คนน้องช่วยเช็ดโต๊ะ คนพี่ช่วยล้างจาน ให้เราเลือกงานให้เหมาะสมกับวัยของเขา ให้เขาช่วยทำงานคนละอย่าง หรือ จะผลัดกันทำก็ได้ เช่น เมื่อวานคนพี่ล้างจานแล้ว วันนี้คนน้องล้างบ้าง เป็นต้น

ไม่ใช่การมอบหมายงานโดยคำนึงเพียงว่า ‘คนพี่’ ต้องทำงานมากกว่า ‘คนน้อง’ หรือ คนน้องไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะเป็นการปลูกฝังความคิด ‘เสียสละ’ แบบแบกรับหน้าที่ให้กับคนพี่ และ ‘ให้คนอื่นทำก่อน’ แล้วถ้าเขาไม่ทำฉันค่อยทำให้กับคนน้อง เราควรสร้างค่านิยมให้กับพี่น้องใหม่ว่า ‘ทำในสิ่งที่ตนทำได้ ช่วยกันคนละนิด ทำกันคนละอย่าง’ นั่นคือสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่มีใครควรจะแบกรับภาระหน้าที่ไว้แค่เพียงคนเดียว ใครพร้อมมากกว่าควรช่วยในสิ่งที่ตนทำได้ ใครพร้อมน้อยกว่า ก็ช่วยในสิ่งที่ตนทำได้เช่นกัน

ทุกวันนี้ผู้ใหญ่หลายคนที่เติบโตมาในฐานะพี่คนโต มักจะบอกเสมอว่า ‘พวกเขาชินชาเสียแล้วกับการต้องแบกรับหน้าที่ทุกอย่าง แม้ว่าจะไม่มีใครร้องขอก็ตาม เพราะถ้าไม่ทำเช่นนั้นจะรู้สึกผิดมากมาย’ แม้ว่าตนเองจะไม่พร้อมแบกรับหน้าที่นั้น ก็ต้องแบกมันทั้งน้ำตา เช่น ภาระค่าใช้จ่ายในบ้าน และพ่อแม่ที่ชราภาพ เป็นต้น

ข้อที่ 5 อย่าด่วนตัดสินลูก

ในวันที่ลูกทะเลาะกัน จนพ่อแม่แบบเราแทบจะประสาทกิน อย่าเพิ่งตัดสินลงโทษใครทันที พาไปสงบสติก่อน (ทั้งลูกและเรา) สงบแล้ว ให้บอกว่า ‘แม่จะฟังลูกพูด แต่เราจะผลัดกันพูดทีละคน ขณะที่คนหนึ่งพูดไม่จบ ห้ามอีกคนพูดแทรก แม้จะอยากพูดแค่ไหนก็ตาม รอถึงตาตัวเอง’ ทำวนไป จนหมดเรื่องที่จะพูด ถ้าฟังแล้วเหมือนจะผิดทั้งคู่ ให้ทั้งคู่ ‘ขอโทษซึ่งกันและกัน’ และมาช่วยงานแม่เสียเลย

ถ้ามีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งผิด อย่าเพิ่งตำหนิทันที ถามเขาว่า ‘ทำไมหนูถึงทำเช่นนั้น และหนูควรจะทำอย่างไรดี’ ถ้าเขายังไม่พร้อมสำนึกผิด ไม่เป็นไร ไม่ต้องรีบ บอกเขาว่า ‘แม่รอได้ หนูพร้อมเมื่อไหร่ก็บอกแม่’ เมื่อท้ายที่สุดเด็กไม่รู้ว่า จะต้องพูด ‘ขอโทษ’ เราสามารถถามเชิงแนะนำได้ว่า ‘เวลามีคนทำแบบนี้กับหนู หนูจะรู้สึกอย่างไร’ และ ‘หนูอยากทำอย่างไรเพื่อให้อีกฝ่ายรู้สึกดีขึ้น’ เป็นต้น ถ้าเขาไม่รู้อีก เราแนะนำได้ว่า ‘ถ้าเป็นแม่ มีคนมาขอโทษและกอดแม่ แม่จะรู้สึกดีมากเลย’ เป็นต้น

การทะเลาะจบลง แต่บทเรียนยังควรย้ำเตือน การทะเลาะกันในพี่น้องเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้เสมอ และบ่อยครั้ง แต่การทะเลาะกัน ควรจบด้วยความเข้าใจ

พ่อแม่ควรจะใจเย็น ไม่ด่วนตัดสินลงโทษลูกคนใดคนหนึ่ง หรือทั้งสองทันที โดยที่ยังไม่รู้ว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะแม้ว่าจะทำให้เรื่องจบอย่างรวดเร็ว แต่เด็กจะไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

ข้อที่ 6 ในสถานการณ์ที่เราไม่รู้ว่าจะต้องพูดอย่างไรดี บางทีการไม่พูดอะไรเลย อาจจะเป็นการไม่ทำร้ายลูกมากกว่า

การเผลอพูดอะไรออกไป คำพูดไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ บาดแผลในใจที่เกิดขึ้นแล้วก็เช่นกัน หายดีได้ แต่ไม่มีวันหายไป

สุดท้ายการมีลูกมากกว่าหนึ่งคนเป็นเรื่องดี แต่การเลี้ยงลูกมากกว่าหนึ่งคน เป็นเรื่องยาก ถ้าหากเรามีความรัก เวลา และความเข้าใจมากพอสำหรับลูกเราทุกคน เราจะผ่านมันไปได้ดี

พี่น้องที่รักกัน มักบอกว่า พวกเขามีวัยเด็กที่ทะเลาะกันมากอยู่ แต่พวกเขาสนุกด้วยกันมากกว่า

อ้างอิง
Adler, A. (1973). How position in the family constellation influences life-style. International Journal of jndividual Psychology 3, 211-227

Tags:

พ่อแม่แบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)การเลี้ยงลูกThe Untold Stories

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    ดอเรียน เกรย์ : ความเหงาและหัวใจที่เชื่อมโยง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Family Psychology
    ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (พ่อแม่ก็เช่นกัน)

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    ด้วยรัก ภาระ และบาดแผล จากการเติบโตในครอบครัวใหญ่ที่ต้องทำตามความต้องการของสมาชิกหลายคน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักเป็นเรื่องไม่อาจฝืน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Healing the traumaFamily Psychology
    เปิดลิ้นชักความทรงจำพ่อแม่ สะสางปมเลวร้าย เลี้ยงลูกด้วยหัวใจที่เป็นมนุษย์

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

“ให้ดนตรีช่วยบำบัด” เป็นฟังก์ชันลดความเจ็บปวด และเจ็บป่วยในชีวิต
How to enjoy life
28 October 2020

“ให้ดนตรีช่วยบำบัด” เป็นฟังก์ชันลดความเจ็บปวด และเจ็บป่วยในชีวิต

เรื่อง ณัฐชานันท์ กล้าหาญ ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • “ดนตรีบำบัดต่างจากศาสตร์อื่นตรงที่เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ ซึ่งมันมีความพิเศษตรงที่เข้าถึงได้ง่าย ได้ยินปุ๊ปรู้ถึงอารมณ์ ความคิดของตัวเอง และเป็นเครื่องมือที่จะใช้สื่อสารออกมาได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องพูด บางคนมีทักษะจำกัด ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ก็ต้องร้องเพลง ฮัมเพลง หรือใช้แค่เสียง ร่างกายก็ขยับได้แล้ว เขาก็จะรู้สึกสนุก ปลอดภัย มันสร้างสัมพันธภาพทางการบำบัดได้ง่าย”
  • ดนตรีบำบัดทำได้ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน หรือพื้นที่ส่วนตัว เช่น ในคุก บริษัท แถมยังมีการใช้ในหลากหลายเป้าหมาย เช่น การใช้ดนตรีบำบัดกับเด็กในเรื่องความกลัวต่อการเข้ารับการรักษา บำบัดความเจ็บปวด หรือ ใช้กิจกรรมที่ทำกับนักดนตรีบำบัดกับพัฒนาทักษะทางสังคมกับเด็กที่อยู่บนเตียงนานๆ
  • ดนตรีสามารถเป็นภาษาของอารมณ์ เป็นตัวช่วยในการระบายความเครียด สร้างความมั่นใจ และยังช่วยค้น pain point หรือปัญหาบางอย่างในใจของมนุษย์และผู้ป่วยทางจิตได้ ตัวโน้ตและเนื้อร้องจะเข้าไปรื้อขุดความขุ่นข้องหมองใจ และค่อยๆ ตามหารอยแตกร้าวของความทรงจำ

“เราจะมีชีวิตที่ปราศจากความกังวลได้ไหม” 

“ปกติมนุษย์ต้องมีความเครียดไหมถึงจะประสบความสำเร็จ” 

“ดนตรีบำบัดคืออะไร แตกต่างจากการฟังดนตรีทั่วไปอย่างไร” 

ล้วนเป็นคำถามที่เหล่าผู้เข้าร่วม เวิร์กชอปรับมือกับโลกวุ่นวาย…ด้วยเสียงดนตรี คิดกันไม่ตกระหว่างระยะเวลาสามชั่วโมง

ภายในห้องสี่เหลี่ยมเย็นสบาย ทุกคนต่างนั่งล้อมวงและมาด้วยความคาดหวังที่แตกต่างกัน บางคนแค่อยากมาคลายเครียดจากสถานการณ์ปัจจุบัน ในขณะที่บางคนมาเพื่อเรียนรู้การฟังเพื่อที่จะนำไปปรับใช้กับโปรเจกต์ผู้สูงอายุที่ทำอยู่

อาจารย์วิพุธ เคหะสุวรรณ และ อาจารย์กฤษดา หุ่นเจริญ

อาจารย์วิพุธ เคหะสุวรรณ หัวหน้าสาขาวิชาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์กฤษดา หุ่นเจริญ อาจารย์ประจำสาขาดนตรีบำบัด วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สองวิทยากรเริ่มต้นด้วยประเด็นการจัดการอารมณ์ของคนในยุคปัจจุบัน ความกดดันสามารถนำไปสู่ความกังวลและความเครียดหากตามสเต็ปอารมณ์ของตัวเองไม่ทัน

“ดนตรีบำบัดคือการเอากิจกรรมทางดนตรีมาใช้เพื่อช่วยเหลือหรือคงไว้ซึ่งทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทักษะเหล่านั้นก็เช่น การควบคุมอารมณ์ การสื่อสารร่างกายและสติปัญญา ซึ่งนักดนตรีบำบัดที่ผ่านการเรียนการสอนทางด้านดนตรีบำบัดโดยตรงจะประเมินและออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้รับบริการ และกิจกรรมเหล่านี้จะตั้งอยู่บนหลักฐานทางงานวิจัย”

อ.วิพุธให้คำนิยามสั้นๆ ของดนตรีบำบัด และยังเสริมว่าดนตรีบำบัดสามารถทำได้ในหลากหลายพื้นที่ ทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน หรือพื้นที่ส่วนตัว เช่น ในคุก บริษัท แถมยังมีการใช้ในหลากหลายเป้าหมาย เช่น การใช้ดนตรีบำบัดกับเด็กในเรื่องความกลัวต่อการเข้ารับการรักษา บำบัดความเจ็บปวด หรือ ใช้กิจกรรมที่ทำกับนักดนตรีบำบัดกับพัฒนาทักษะทางสังคมกับเด็กที่อยู่บนเตียงนานๆ 

“หรือจะเป็นวัตถุประสงค์เรื่องการศึกษาพิเศษก็ได้เช่นกัน เรามีนักดนตรีบำบัดที่อยู่ในโรงเรียนเพื่อเด็กพิเศษ เด็กที่มีปัญหาด้านอารมณ์ โดยจะปรับพฤติกรรมเพื่อให้เขากลับไปเรียนได้” อ.กฤษดาเสริมต่อ

แต่ดนตรีบำบัดต่างจากดนตรีที่เราฟังแล้วรู้สึกดีในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง ถือว่าเป็นดนตรีบำบัดเหมือนกันหรือเปล่า

“ถ้าทั่วไปที่เราใช้ดนตรี เราจะเรียกว่าการใช้ดนตรีเพื่อดูแลตัวเองในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าดนตรีบำบัดจะประกอบไปด้วยผู้รับบริการ ตัวนักดนตรี และดนตรี เพราะฉะนั้นถ้าฟังเองจะไม่ถือว่าเป็นดนตรีบำบัด ต้องมีผู้เชียวชาญที่คอยดูแลว่าใช้เหมาะสมไหม ใช้ดนตรีแบบไหน มีการตั้งเป้าหมาย คัดเลือกกิจกรรมและประเมินผล” อ.วิพุธตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม

เวิร์กชอปดนตรีบำบัดขนาดย่อมในครั้งนี้เป็นไปอย่างเรียบง่ายและเชื่องช้าเพราะอาจารย์ทั้งสองคนปูพื้นฐานด้านอารมณ์แวดล้อม ตัวตน ปัจจัยทางด้านสังคมและชีววิทยาเพื่อประกอบในการสังเกตมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน

บางคนเครียดง่าย บางคนเติบโตมาพร้อมกับการฝ่าฟันและความยากลำบาก บางคนประสบการณ์ต่อความผิดหวังน้อย เจอความล้มเหลวหรือการปะทะทางความคิดหนักๆ ก็เป็นโรคซึมเศร้าได้โดยง่ายแล้ว ผู้เข้าร่วมจึงได้มีโอกาสเลือกอารมณ์ว่าในเวลานี้เรารู้สึกถึงอารมณ์แบบไหนบางที่สุด เช่น วิตกกังวล, เครียด, หวาดกลัว, หดหู่, โกรธ จากนั้นจึงฟังบรรยายต่อว่าความเครียดที่หลายคนสัมผัสและโอบกอดมันอยู่ตอนนี้ก็มีทั้งความเครียดภายในและภายนอก และยังมีความเครียดที่เป็นเชิงบวกถ้าเราสังเกตมันดีๆ เช่น ถ้าเครียดเรื่องสุขภาพ บางคนอาจจะกระตือรือร้นออกกำลังกาย หรือไปพบแพทย์เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น

แต่ท้ายที่สุดแล้วการปรับสมดุลของความเครียดและคุณค่าในตัวเองจึงเป็นปัจจัยสำคัญลำดับต้นที่ควรนึกถึงบ่อยๆ อาจารย์ย้ำด้วยรอยยิ้มว่าความเครียดหรือความวิตกกังวลก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อเสียเสมอไป การกดข่มความรู้สึกและไม่เลี้ยงมันไว้อย่างทะนุถนอมมากพอต่างหากคือข้อเสีย

“เราจัดวางทักษะหรือความรู้เชิงดนตรีและจัดการกับชีวิตให้เหมาะสมได้อย่างไร อันดับแรกคือคนที่ใช้ดนตรีต้องตระหนักรู้กับตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราฟังหรือเล่นดนตรีแล้วเรารู้สึกอย่างไร เราใช้มันอย่างเหมาะสมหรือเปล่า” อ.วิพุธเสนอ

สไลด์เลื่อนต่อไปในบทของประโยชน์ของดนตรีในด้านร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณ ดนตรีบำบัดสามารถปรับใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย ในผู้ป่วยระยะสุดท้ายหรือผู้ป่วยที่ประสบอุบัติเหตุ ดนตรีมีประโยชน์ในแง่ของการช่วยฟื้นฟูจิตใจและสร้างแรงบันดาลใจให้มุมสดใสของชีวิตที่นับถอยหลังลงไปเรื่อยๆ 

“เรารู้ว่าผู้ป่วย Dementia (โรคภาวะสมองเสื่อม) ส่วนมากจะไม่หายหรอก เต็มที่คือคงสภาพฟังก์ชันการทำงานได้ของเขาได้มากที่สุด เพราะส่วนใหญ่ก็จะแย่ลงๆ ดนตรีบำบัดก็จะทำเพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของเขา เอาเพลงที่เคยฟังตอนหนุ่มสาวและมีความหมายกับเขามาเปิด อย่างน้อยที่สุดเขาก็จะรู้สึกดีกับบรรยากาศเก่าๆ รู้สึกปลอดภัย คุณภาพชีวิตนี้แม้มีสัก 5-10 นาทีต่อวันก็ถือว่าดีมากแล้ว” อ.กฤษดาให้ข้อมูล

ดนตรีสามารถเป็นภาษาของอารมณ์ เป็นตัวช่วยในการระบายความเครียด สร้างความมั่นใจ และยังช่วยค้น pain point หรือปัญหาบางอย่างในใจของมนุษย์และผู้ป่วยทางจิตได้ ตัวโน้ตและเนื้อร้องจะเข้าไปรื้อขุดความขุ่นข้องหมองใจ และค่อยๆ ตามหารอยแตกร้าวของความทรงจำ

“การที่เรามานั่งคุยกันแบบนี้อาจจะยังไม่สบายใจพอ และบางทีเป็นปัญหาที่เก็บลึกในระดับจิตสำนึก (unconscious) ไม่สามารถนึกออกได้ทันที หรือยังไม่รู้ว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร เราก็ใช้ดนตรีไปเชื่อมกับความเป็นตัวตนของเขาออกมา ถามว่าทำไมถึงเลือกเพลงนี้ มันสัมพันธ์กับชีวิตยังไงบ้าง บางคนฟังเพลงแล้วน้ำตาแตกเลย เราก็จะถามว่าเห็นภาพอะไรระหว่างฟัง” อ.วิพุธเล่า

“แม้แต่การเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองเวลาฟังเพลงก็สำคัญ เช่น ฟังแล้วปลีกตัวจากสังคมไหม ต่อต้านอะไรหรือเปล่า หรือฟังแล้วระลึกถึงเรื่องอะไร ไปสู่อารมณ์เชิงลบหรือพฤติกรรมที่นำไปสู่สิ่งที่แย่ลง บางครั้งพฤติกรรมเหล่านี้ก็เกิดจากการที่มีเพลงมากระตุ้น” อ.กฤษดาเสริมต่อ

แต่การฟังเพลงมากเกินไปก็อาจจะเป็นปัญหาได้เช่นเดียวกัน วัยรุ่นที่เปิดเพลงฟังยาวไปตลอด 1 สัปดาห์ เปิดทั้งวัน ทุกวันก็อาจจะประเมินได้ว่ามีแนวโน้มปลีกตัวเองออกจากสังคม หรือเนื้อหาเพลงที่มีความรุนแรงก็อาจนำไปสู่พฤติกรรมเสี่ยง เราอาจจะตั้งคำถามได้ แต่ไม่ควรไปโทษแนวเพลงใดแนวเพลงหนึ่ง สิ่งที่ควรป้องกันอันดับแรกคือการให้ความรู้ในการฟังเพลงกับเด็กมากกว่า

ดังนั้นคำถามที่ว่าเพลงที่ดีหรือเพลงที่ไม่ดีคืออะไรจึงซับซ้อนและฟันธงไม่ได้

“ดนตรีมันไม่มีถูกไม่มีผิดเพราะเป็นเรื่องของรสนิยม ขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการใช้ของแต่ละคน บางทีเพลงที่มีเนื้อหารุนแรง เช่น เพลงใต้ดิน ไม่ใช่ว่าคนที่เสพทุกคนจะมีพฤติกรรมไม่ดี มันขึ้นอยู่กับครอบครัว การเลี้ยงดู และตัวเองว่าเขาจะสามารถย่อยมันได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบางคนชอบที่แนวเพลงไม่เกี่ยวกับเรื่องเนื้อหาเลย อย่างดนตรีบำบัดเราก็จะเลือกใช้เพลงที่คนมาบำบัดชอบเพราะทำให้รู้สึกปลอดภัย เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้อยากฝึกทักษะต่างๆ ” อ.วิพุธออกความเห็น

ตลอดเวิร์กชอป ผู้เข้าร่วมมักจะยิงคำถามเพื่อโต้ตอบกับวิทยากรเสมอ ต่อจากเลคเชอร์พื้นฐานเรื่องดนตรีบำบัด  จึงเข้าสู่ช่วงที่อาจารย์ทั้งสองคนเปิดโอกาสให้เราเลือกเครื่องดนตรีประหลาด หน้าตาไม่คุ้นบนโต๊ะขึ้นมากันคนละหนึ่งอย่างเพื่อสร้างวงดนตรี

เสียงเคาะ ดีด เขย่า ตบ ดังขึ้นรอบวงไปคนละทิศละทาง ไม่สามารถระบุได้ว่าจังหวะหรือเพลงที่เรากำลังบรรเลงอยู่เป็นลักษณะแบบไหน แต่พอเริ่มเล่นซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ จังหวะของเครื่องดนตรีบางชิ้นเริ่มเข้าที่มากขึ้น มีทิศทางและจับท่วงทำนองได้ ต่างคนต่างมองหน้ากัน บางคนโฟกัสกับเครื่องดนตรี บางคนเงี่ยหูฟังจังหวะของกลุ่มอย่างตั้งใจ

เพลงจบ อาจารย์ทั้งสองเลยถอดบทเรียนสั้นๆ จากเมื่อครู่ว่าใครรู้สึกอย่างไรกันบ้าง คิดว่าเพลงที่เล่นไปเพราะไหม หลายคนสะท้อนว่าเพราะทั้งๆ ที่ตอนแรกไม่คาดคิดเลยว่าจะออกมาเพราะได้ บางคนถึงขั้นบอกว่ารู้สึกว่าเป็นเสียงที่ดูศักดิ์สิทธิ์ ทุกคนเล่นดนตรีจนกลายมาเป็นเสียงเดียวกัน

“เห็นไหมว่าเราไม่ได้ใช้ภาษาสื่อสารกันเลย” อ.กฤษดากล่าวปิดท้ายยิ้มๆ

“ทุกวันนี้ทุกคนรวมถึงเด็กๆ สามารถหาดนตรีหรือเสียงของเรากันได้อยู่แล้ว จะเป็นเพลงแร็ป ร็อค หรือเพลงอะไรก็แล้วแต่ เช่น ถ้าฟัง Blackpink ก็อาจจะช่วยให้เขาฟังก์ชันกับกลุ่มเพื่อนเพราะเขามีความรักในสิ่งเดียวกัน ดนตรีเป็นของทุกคนอยู่แล้ว”

จากเวิร์กชอปเล็กๆ สั้นๆ  อาจารย์กฤษดาตีความว่าดนตรีสามารถนำไปสู่การ empowerment หรือเสริมพลังให้กับคนได้ เช่น โอกาสที่ได้เล่นดนตรี ได้มองเห็นว่ามีเสียงของตัวเองเป็นหนึ่งในกิจกรรมของสังคม 

“ดนตรีเป็นพาร์ทใหญ่ของชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ก่อนหน้านี้สักปีสองปี เพลงประเทศกูมี สร้างมูฟเมนท์ให้คนมาสนใจ ตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้น เด็กก็จะหันมาฟัง หรือเพลงในสมัยก่อน เช่น เพลงโรงเรียนของหนู ซึ่งเป็นเพลงเพื่อชีวิต ก็สะท้อนออกมาให้คนตระหนักว่ามีโรงเรียนที่ห่างไกลอยู่นะ หรือทุกวันนี้ที่มีเด็กมารวมกลุ่มกันไปคอนเสิร์ต BNK ก็แสดงให้เห็นว่าเขาต้องการพื้นที่ในการแสดงออกหรือเปล่า ดนตรีมันสร้างมูฟเมนท์บางอย่างได้แน่นอน”

ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังมีปัญหาขาดแคลนนักดนตรีบำบัด เพราะเป็นศาสตร์ใหม่และมีจัดสอนแค่ที่มหาวิทยาลัยมหิดลที่เดียวจึงผลิตนักศึกษาปริญญาโทได้เพียงรุ่นละ 5 – 6 คน แต่หากรัฐสามารถเพิ่มหลักสูตรดนตรีบำบัดเข้าไปในโรงเรียน หรือเพิ่มลงในรัฐสวัสดิการ ประชาชนทั่วไปจะสามารถเลือกใช้บริการให้เหมาะสมกับกลุ่มอาการ เยียวยาความเครียด และปัญหาของปัจเจกที่เกิดจากมลพิษทางสังคมได้

“ตอนนี้ระบบการศึกษาพิเศษมีดนตรีบำบัดอยู่ในทุกศูนย์เลย แต่ยังไม่มีนักดนตรีบำบัดไปอยู่ครบ เราคิดว่าถ้ามีโอกาสแล้วไปเชื่อมกับเขาได้จริงๆ ก็สามารถให้นักดนตรีบำบัดไปเทรนครูดนตรีต่อได้” อ.วิพุธบอกความคาดหวัง 

“เราอยากให้ดนตรีบำบัดมีสมาคมวิชาชีพเหมือนที่พยาบาลหรือหมอมี นี่เป็นอีกหลักไมล์หนึ่งที่ควรจะต้องเกิดขึ้นในประเทศไทย และอีกฝั่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่คือเรื่องการทำงานวิจัยในด้านนี้” อ.กฤษดาเสริม

นอกจากการเล่นเครื่องดนตรี ผู้เข้าร่วมเวิร์กชอปยังได้ฝึกร้องเพลงสองสามเพลงไปด้วยกัน อาจารย์สะท้อนความรู้สึกง่ายๆ หลังจากที่ได้ร้องเพลงและฝึกกำหนดลมหายใจเพื่อปลดปล่อยความกังวล และให้ลองสังเกตตัวเองและความรู้สึกของตัวเองอยู่เมื่อมีสติ

ภายใต้เปลือกตาที่ปิดสนิท ห้องเงียบสงบ อาจารย์ทั้งสองคนให้ลองสังเกตตัวเอง ให้เวลาตัวเองในการหายใจมากขึ้นเพราะในชีวิตประจำวันเราอาจจะทำเพื่อคนอื่นเยอะมากพอแล้ว หายใจเข้า ออก และแนะนำให้ลองหาเวลาในช่วงชีวิตปกตินั่งลงที่เก้าอี้ ในภาวะที่ไม่มีงาน ไม่มีความคาดหวังจากคนอื่น แล้วลอง ‘let go’

“ดนตรีบำบัดต่างจากศาสตร์อื่นตรงที่เราใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ ซึ่งมันมีความพิเศษตรงที่เข้าถึงได้ง่าย ได้ยินปุ๊ปรู้ถึงอารมณ์ ความคิดของตัวเอง และเป็นเครื่องมือที่จะใช้สื่อสารออกมาได้ง่ายโดยที่ไม่ต้องพูด บางคนมีทักษะจำกัด ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ก็ต้องร้องเพลง ฮัมเพลง หรือใช้แค่เสียง ร่างกายก็ขยับได้แล้ว เขาก็จะรู้สึกสนุก ปลอดภัย มันสร้างสัมพันธภาพทางการบำบัดได้ง่าย” อ.วิพุธเสริม

มนุษย์มีศักยภาพที่จะปลดปล่อยพลังออกไป พลังที่จะควมคุมความวิตกกังวลหรือความเครียดให้อยู่หมัด ล้วนรวบตึงได้ด้วยการฟังดนตรีง่ายๆ การจัดการกับภาวะภายในอาศัยกำลังภายใน และหนึ่งในกำลังภายในก็มีคำว่า “ช่างมัน” ปะปนอยู่ด้วย เป็นคำที่สำคัญมากสำหรับการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบัน

ถ้าในอนาคตเรามีการเมืองที่พัฒนาจนสามารถระบุหลักสูตรดนตรีบำบัดเข้าไปในระบบการศึกษา ปรับใช้เป็น know-how ง่ายๆ ได้ในครอบครัว และยกระดับคอร์สในโรงพยาบาลให้เป็นพื้นฐานที่ดีต่อการรักษาสุขภาวะของประชาชนได้ เสียงเพลงที่เข้าถึงทุกคนจะมีอำนาจในการบำบัดสมดุลทางอารมณ์ ปรับพื้นฐานของการใช้ชีวิตบางช่วง และอาจจะนำไปสู่สังคมที่มีคุณภาพใจอบอุ่นแข็งแรง

Tags:

ดนตรีบำบัดอีเวนต์

Author:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Photographer:

illustrator

ธีระพงษ์ สีทาโส

คนถ่ายภาพ คนทำละครเร่ กระบวนกร คนทำงานสื่อสารที่เลือกข้างแล้ว ชอบมองหาการเมืองในชีวิตประจำวัน เสพติดนิโคตินและแอกอฮอล์ ไม่มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ยกเว้นจำเป็นเพื่อความอยู่รอด ความฝันคือได้เป็นคนเท่ๆ ตอนอายุ 50 ที่นั่งจิบเบียร์เย็นๆ รสชาติหลากหลายในราคาเอื้อมถึงได้ทุกวันบนประเทศที่มีรัฐสวัสดิการดี ตอนนี้กำลังมีส่วนร่วมดันกลุ่มช่างภาพ REALFRAME ที่ตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิกให้แมส

Related Posts

  • Everyone can be an Educator
    เด็กทุกคนเล่นดนตรีได้(และควรได้เล่น) ไม่ว่าเขาจะพิการหรือไม่ก็ตาม

    เรื่องและภาพ คชรักษ์ แก้วสุราช

  • Creative learning
    ต่อบล็อกไม้ ปั้นขนมไข่เต่า เดินสวนสมุนไพร เพื่อรู้จักชุมชน ที่ตำบลทุ่งควายกิน จังหวัดระยอง

    เรื่องและภาพ เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Family Psychology
    ดนตรีบำบัดสร้างจังหวะของลูกให้ตรงกับจังหวะของโลก

    เรื่อง The Potential

  • Space
    ปัตตานี ดีโคตร: ต่อจิ๊กซอว์ประวัติศาสตร์ เดินเล่นส่องย่าน ‘PATTANI DECODED’

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีกิตติรัตน์ ปลื้มจิตร

  • Space
    ปัตตานี ดีโคตร: เดินเล่นในย่านส่วนตัว แต่เรียนรู้แบบส่วนรวม

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีอุบลวรรณ ปลื้มจิตร

บัว วรรณประภา ตุงคะสมิต: Papercutting Art จากมุมมองของโลกจิ๋วๆ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์
Everyone can be an Educator
27 October 2020

บัว วรรณประภา ตุงคะสมิต: Papercutting Art จากมุมมองของโลกจิ๋วๆ ภายใต้กล้องจุลทรรศน์

เรื่อง ศิริกร โพธิจักร ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • “งานภาพประกอบ จะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับการตีโจทย์งาน อ่านบทความนั้นเขาพูดเรื่องอะไร เราหยิบมาตีความ บัวไม่ใช่สายสัญลักษณ์หรือตีความอะไรขนาดนั้น บัวรู้สึกอะไรกับงานนี้บ้าง บัวก็จะเล่าออกมา คนอื่นเขาอ่านงานแล้วอาจจะเล่าแบบอื่นก็ได้ บัวไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด แต่เราก็ทำงานแบบนี้มาเรื่อยๆ”
  • คุยกับบัว-วรรณประภา ตุงคะสมิต ศิลปินที่ทำงานตัดกระดาษ หรือ Papercutting Art ทำอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี เจ้าของเพจ COLLAGECANTO ที่เธอเอาไว้ใช้รวบรวมผลงานในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

โดยทั่วไป หน้าที่ของกระดาษคือสิ่งรองรับข้อความหรือรูปภาพ ดูเป็นของพื้นๆ ที่เป็นเพียงฉากหลังให้สิ่งอื่นปรากฏ แต่งานที่คุณบัว วรรณประภา ตุงคะสมิต ศิลปินที่ทำงานตัดกระดาษ หรือ Papercutting Art ทำอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10 ปี ทำให้เรามองกระดาษด้วยการรับรู้ถึงความเป็นไปได้ของชิ้นงานและความคิดสร้างสรรค์ที่แตกต่างออกไป

ในประเทศไทย คุณบัว ถือว่าเป็นศิลปินที่ทำงานตัดกระดาษ หรือ Papercutting Art อย่างต่อเนื่องคนหนึ่ง โดยมีเพจ COLLAGECANTO ที่เธอเอาไว้ใช้รวบรวมผลงานในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา

ก่อนที่จะไปดูว่าอะไรพาเธอมาพบตัวตนผ่านงานตัดกระดาษที่มีเอกลักษณ์เช่นนี้ ขอย้อนกลับไปทำความรู้จักกับเด็กหญิงบัวกันก่อน เพราะการตั้งต้นจากตรงนั้นน่าจะทำให้เราได้รู้จักกับเธอและผลงานของเธอมากขึ้น

EXPLORE THROUGH ARTS & CRAFT

เธอเล่าว่า ตัวเองชอบวาดรูปและรักอิสระตั้งแต่เด็ก ขอให้ได้คิดและทำตามที่ตนเองสนใจจริงๆ เมื่อถามถึงการทำงานด้วยมือหรืองานคราฟท์ คุณบัวอธิบายว่า พี่สาวเป็นคนแรกที่ทำให้เธอเข้าสู่โลกของการลงมือทำงานแบบนี้ 

“บัวเป็นลูกคนกลาง พี่สาวกับบัวอายุห่างกัน 6 ปี ขณะที่พี่โตเป็นสาวแล้วเรายังเป็นเด็กวิ่งไปวิ่งมาอยู่เลย น้องสาวอายุห่างกับบัว 3 ปี แต่ก่อนบัวก็เล่นกับน้องเป็นตุ๊กตาเลย เล่นขายของกัน ไปปั่นจักรยานอะไรแบบนี้

“พี่สาวบัวเขาเป็นสายคราฟท์แบบถักโครเชท์ เราก็เห็นเขาต้องถักอันนั้นอันนี้ไปส่งครู พี่เคยถักโครเชท์เป็นถุงใส่เหรียญห้อยคอ ทำโบติดผมให้บัวด้วย ทุกวันนี้พี่ก็ยังชอบถักอยู่ เรารู้สึกว่าพี่เป็นผู้นำเทรนด์การทำงานคราฟท์ในสายตาเราเองนะ 

“ส่วนตัวเอง ตอนประถมเริ่มชัดละ เราชอบวาดรูปเล่น มีกระดาษให้วาดรูป ชอบวิชาที่ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ ไม่ค่อยชอบวิชาที่เป็นวิชาการ ส่วนวิชาพวกเย็บปักถักร้อยในโรงเรียนก็ไม่ได้ชอบนะเพราะคิดว่าทำไมต้องเย็บแบบนี้ ทำไมมันไม่สนุกเลย ชอบทำอะไรที่มีอิสระมากกว่า

“เราจะชอบเอาภาพประกอบสวยๆ จากแมกกาซีนของแม่ ต้องขออนุญาตเขาก่อนนะไม่งั้นโดนดุแย่ สะสมไว้แล้วเอามาเย็บเป็นปก ส่วนไส้ในเอากระดาษจากสมุดที่ยังเหลือมารวมกัน พอเย็บเสร็จแล้วก็เอาไปใช้ตอนเรียนพิเศษช่วงซัมเมอร์ อีกอย่างที่ชอบทำเองคือเย็บชุดตุ๊กตาเอง เอาผ้าสองชิ้นมาเนาติดกันเป็นชุดกระสอบ ก็ไม่ได้สวยอะไรแต่เรารู้สึกว่า ตุ๊กตามีชุดที่เราทำเองแล้ว”

พอโตขึ้นเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คุณบัวเล่าว่าก็ห่างจากการทำงานคราฟท์ หันไปฟังเพลงตามยุคสมัย พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เรื่องเพลงกัน แต่ยังชอบวาดรูปอยู่ เพื่อนๆ ร่วมชั้นจะมีภาพจำว่าเพื่อนคนนี้เป็นคนชอบวาดรูป

แม้ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจนถึงวัยรุ่น ความสุขของเธอจะอยู่กับการทำงานศิลปะที่ให้อิสระทางการแสดงออกและความคิด แต่น่าแปลกที่ตอนสอบเข้ามหาวิทยาลัย เธอกลับไม่ได้รู้สึกชัดเจนมากว่าต้องเลือกเรียนคณะวิชาทางศิลปะ

“พอย้อนกลับไปนึกดูก็ เอ๊ะ…อะไรของเรานะ เหมือนกันค่ะ ในขณะที่เพื่อนมีแนวทางชัดเจน คนที่ชอบดนตรีก็มุ่งไปทางนั้นเลย ตอนมัธยม ตัวเราเองก็ชอบวาดรูป เขียนการ์ตูน เป็นช่วงที่แอนิเมชันยุค 90 รุ่งเรือง มีเซเลอร์มูนงี้ บัวมีรุ่นพี่คนหนึ่งเป็นเด็กสายวิทย์ เขียนโดจินเป็นเล่มๆ พี่วาดรูปเก่งและชอบฟังเพลงญี่ปุ่นแนว J-Rock เปิดโลกเรามาก แต่พี่ก็ไม่ได้อยากไปเป็นนักวาดการ์ตูน สุดท้ายก็ไปเรียนพยาบาล วาดรูปก็สวยเรียนก็เก่ง

“ตอน ม.ปลาย บัวเรียนศิลป์ภาษา มีความคิดอยากเรียนมหา’ลัยศิลปากรนะ แต่เหมือนเรารู้ตัวช้ากว่าจะไปติวความถนัดเฉพาะทางก็คงไม่ทัน เลยเลือกเรียนอะไรกลางๆ อย่างสายภาษา สายมนุษยศาสตร์ สื่อสารมวลชน สอบติดที่คณะมนุษยศาสตร์ ม.เกษตรฯ เอกสื่อสารมวลชน ได้เรียนได้ลองทุกอย่าง

BE A COLLAGE ILLUSTRATOR

“ตอนเรียนมหาวิทยาลัย บัวชอบสายทำหนังสือ ขณะที่สมัยก่อนคนอื่นเขาจะฮิตเรียนสายโฆษณาหรือทำโปรดักชัน แต่เราคิดว่าเราไม่ได้คล่องตัวขนาดนั้น มันก็กลับมาที่ตอนเด็กๆ เราชอบอ่านหนังสือ ชอบเปิดดูแมกกาซีน เลยเลือกเรียนวิชาที่เราชอบมากที่สุด ช่วงปี 3 จะชัดเจนและไปเลือกฝึกงานตามที่เราสนใจ บัวเลือกไปฝึกงานที่แมกกาซีนออกแบบตกแต่งบ้าน

“ช่วงรอยต่อก่อนจะเรียนจบก็ได้ไปฝึกงานที่ a day Magazine ได้ทำงานเต็มที่จริงจัง ทำให้เราได้วิชาเยอะและค้นพบว่า นี่คือสิ่งที่เราชอบ ได้เขียนบทความและบทสัมภาษณ์ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เราเห็นอะไรกว้างขึ้น เรียนจบก็ได้ทำงานที่นี่ต่อ แต่เป็นอีกกองหนึ่ง จากที่นี่ก็ได้ไปทำงานที่ฝ่ายสื่อสารองค์กรให้มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ได้ทำงานเขียนและได้อยู่ในบรรยากาศมหาวิทยาลัย ทำอยู่ปีครึ่งด้วยความเป็น out source เขาก็เปลี่ยนผู้รับงานไปเรื่อยๆ แล้วบัวก็ได้ไปทำฟรีแมกกาซีนที่วางไว้ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเป็นผู้ช่วยน้องๆ แต่ละมหาวิทยาลัยทำเนื้อหาและต้องทำอีเวนท์กับแต่ละมหาวิทยาลัยไปด้วย ต่อมา ได้ทำแมกกาซีนเล่มหนึ่งเป็นงานประจำเล่มสุดท้าย ได้ทำงานเต็มที่ เขียนกันอยู่สองคน บัวเขียนสิบคอลัมน์ โอ้โห…สนุกมาก เราขอมีคอลัมน์หนึ่งชื่อ SIY ย่อมาจาก Saw It Yourself ชวนเพื่อนในกองไปซื้อผ้า สนุกดีค่ะ

“ส่วนความชอบวาดรูปของเราก็เป็นงานอดิเรก เรียนมหาวิทยาลัยอยู่บัวก็ยังวาดรูปอยู่นะ ทุกอย่างที่ผ่านมามันค่อยๆ สะสมเข้ามาในตัว เพื่อนตอนประถมมาเจอบัวตอนนี้ทุกคนก็บอกว่า บัวเหมือนเดิม เหมือนโดนสต๊าฟเอาไว้ ทุกอย่างเลย ไม่ว่าจะเป็นนิสัยหรือความชอบความสนใจ…แทบจะเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

“เรื่องการทำงานคราฟท์ ก็ทำสะสมมาตลอดรวมเอาไว้ใน blog ชื่อ COLLAGECANTO ตั้งแต่ช่วงที่ทำงาน out source ให้กองสื่อสารฯ ในมหาวิทยาลัย เราอยากทำงานศิลปะ ไม่อยากทำ blog ที่เขียนยาวๆ เลยเขียนเป็นแคนโตซึ่งเป็นบทกวีสั้นๆ ซึ่งเริ่มรู้จากการอ่าน a Day”

จุดเริ่มต้นที่ได้ทำภาพประกอบก็มาจากการ blog เปลี่ยนจากงานอดิเรกเป็นงานกึ่งๆ ประจำและกลายเป็นการเดินทางสู่การทำงานศิลปะที่ชอบอย่างเต็มที่ ซึ่งเธออธิบายว่า ได้นำความสนุกตอนเด็กๆ กลับมาใช้ในการทำงานภาพประกอบ เด็กหญิงที่เคยชอบอะไรแล้วทำเลยได้กลับมาลงมือสร้างสรรค์งานผ่านตัวตนของเธอในวัยทำงาน เปิดโอกาสให้ได้ทดลองทำงานในรูปแบบที่สนใจ ไม่ต้องมีกรอบหรือข้อจำกัดใดๆ 

ข้อดีของการทำงานศิลปะแบบคุณบัว คือ เธอไม่ได้ผ่านการเรียนศิลปะตามแบบแผนมาก่อน จึงมีวิธีการทำงานจากการทดลองลงมือทำด้วยตัวเองจนมีทักษะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ

“ใน blog บัวทำงานคอลลาจ ถ่ายรูปเสร็จก็เขียนแคนโต 3 บรรทัดจบ โพสต์ขึ้น blog เหมือนจุดเริ่มต้นการทำงานภาพประกอบด้วย รู้สึกสนุกมาก ทำเกือบทุกวัน พอย้อนกลับไปดูงานปีแรกทำเกือบ 60-70 ชิ้นได้ อาจเป็นเพราะงานที่ทำก็ไม่หนักมากทำให้เรามีเวลาพอที่จะมาทำงานอดิเรกที่ชอบได้ รู้สึก work-life balance ดี

“มีรุ่นพี่ที่ a Day เห็นเราทำ blog ก็เลยชวนมาทำงานภาพประกอบลงในคอลัมน์ Talking Head และคอลัมน์ ไม่เชื่อต้องลบหลู่ ที่คุณแทนไท ประเสริฐกุล เขียน เป็นงานที่สีสันเยอะมาก เป็นงานดูแตกต่างจากงานตอนนี้มากๆ ช่วงที่ทำก็รู้สึกสนุกเลยจัดเต็ม ใส่ทุกอย่างที่อยากใส่เข้าไป

“งานภาพประกอบ จะยากหรือง่ายขึ้นอยู่กับการตีโจทย์งาน อ่านบทความนั้นเขาพูดเรื่องอะไร เราหยิบมาตีความ บัวไม่ใช่สายสัญลักษณ์หรือตีความอะไรขนาดนั้น บัวรู้สึกอะไรกับงานนี้บ้าง บัวก็จะเล่าออกมา คนอื่นเขาอ่านงานแล้วอาจจะเล่าแบบอื่นก็ได้ บัวไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด แต่เราก็ทำงานแบบนี้มาเรื่อยๆ”

A JOURNEY IN A TINY WORLD

พอได้ดูงานของคุณบัวในปัจจุบัน หลายคนจะรู้สึกว่างานตัดกระดาษช่างเป็นการทำงานที่ละเอียดและคงต้องใช้เวลานาน เธอจึงเล่าถึงที่มาของการทำงานตัดกระดาษว่า

“ของที่เราชอบ ตั้งแต่เด็กๆ เราก็ชอบเล่นของเล็กๆ ไม่ชอบอะไรใหญ่ๆ ชอบเล่นลูกแก้ว เล่นตุ๊กตา การทำงานตัดกระดาษก็มาแนวเดียวกัน เห็นแล้วชอบงานที่มีรายละเอียด มีเลเยอร์ และเล่าเรื่องอะไรบางอย่าง ปีที่เริ่มทำงานแบบนี้ คือ ปี 2010 ก่อนหน้านั้น ทำภาพประกอบให้ a Day ปี 2008-2009 ตอนที่เริ่มทำ blog ตั้งแต่ปี 2007 ระหว่างนั้นบัวก็ทำงานกองบรรณาธิการและขอทำคอลัมน์งานคราฟท์

“เพื่อนๆ ที่เห็นงานเรา เขาจะให้เราไปทำงานภาพประกอบให้ ตั้งแต่ปี 2012 เป็นต้นไป งานบัวจะดูเป็นกลุ่มเป็นก้อนมากขึ้น ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการชวนๆ กันจากเพื่อนและคนรู้จักที่อยู่รอบตัวเพราะเขาเห็นเราทำงานแนวนี้ต่อเนื่อง ถ้ามีโอกาสและรู้สึกว่าเราทำได้ บัวก็จะทำ”

“บัวรู้สึกว่าตัวเองโชคดี ที่บ้านตามใจเราเลยใช้แต้มบุญได้อย่างสุรุ่ยสุร่าย ตอนนี้เลยทำงานสุดมาก บัวเชื่อว่าทุกงานไม่มีงานไหนสบายและเราจะต้องทำต่อไป ฮึบต่อไป อยากจริงจังในงานที่ทำให้มากกว่านี้

“ตอนนี้ กล้าพูดตรงๆ ว่าอยากกลับไปเป็นพนักงานออฟฟิศ ทำเหมือนคนปกติทำ แม่เคยพูดว่า ถ้าเธอทำอันนั้นแล้วเธอจะได้ทำอันนี้รึเปล่าล่ะ ถ้าแม่พูดแบบนี้บัวก็ต้องลุยต่อ มาวันนี้ถอยหลังไม่ได้แล้ว นี่เป็นงานที่เราชอบ เราตัดสินใจมาแล้ว ดังนั้น งานนี้ คือ 70%-80% ของชีวิตเรา เราก็ต้องรับผิดชอบให้เต็มที่ เป็นการรับผิดชอบชีวิตตัวเอง เหมือนเราเป็นลูกของตัวเราเอง พยายามจะทำให้ดีค่ะ”

กลับมาที่งานล่าสุดของคุณบัวที่ทำออกมาช่วงนี้ ช่างคล้ายกับการสำรวจสิ่งรอบตัวด้วยกล้องจุลทรรศน์ นั่นเป็นเพราะความชอบของเล็กๆ ที่เธอมีชัดเจนตั้งแต่เด็กๆ เลยรึเปล่า คุณบัวอธิบายว่า

“บัวมีวัฏจักรชีวิตแบบ จะมีช่วงที่นึกอยากทำงานแบบนี้ก็จะทำๆ แป๊บนึงแล้วก็จะเลิก พักไว้ก่อนดองเอาไว้ หลังจากนั้นผ่านไปสักระยะหนึ่ง เราถึงจะเอางานที่เราอยากทำต่อหยิบกลับมาทำอีกครั้ง ช่วงนี้เป็นช่วงที่หยิบงาน Microscope มาจากความชอบของตัวเองที่ชอบดูภาพถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ ดูแล้วก็คิดว่าถ้าเราเอามาตัดงานก็คงสวยดี เพราะว่าบัวชอบรูปร่างฟรีฟอร์มประกอบกับตัวเองชอบของเล็กๆ อยู่แล้ว จากนั้นถึงจะหยิบไปเล่าในแง่ไหนได้บ้าง 

“ชุดแรกชื่อ My Micro Journey ทำเป็นสมุดบันทึกภาพที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นที่เมืองคิวชู บัวไปก็ snap ภาพเก็บไว้ด้วยโทรศัพท์ จากนั้นก็เลือกมาแล้วก็คิดว่า ถ้าภาพพวกนี้เป็นรูปถ่ายจากกล้องจุลทรรศน์ภาพมันจะออกมาเป็นยังไง ก็เลยทำเป็นซีรีส์ ประมาณ 10 กว่ารูป ทาง a Day ก็เลยชวนมาทำโปรเจคที่ใช้สมุดบันทึกของ Moleskine ให้สมุดมาคนละเล่มแล้วเราจะทำอะไรก็ได้ 

“บัวเลือกทำเรื่องการท่องเที่ยวเชิงกล้องจุลทรรศน์ เราชอบเก็บกระดาษ เก็บตั๋ว เราก็เอามาตัด ไม่มีคำพูดหรือข้อเขียน ในงานจะมีแค่รูปที่ตัดแล้วก็คำบรรยายชื่อสถานที่และเราใช้กระดาษอะไรมาตัด จบแค่นั้น เป็นเล่มที่ชอบมากๆ บัวคิดว่า ถ้าเราไปเที่ยวที่ไหนก็จะเลือกวิธีบันทึกความทรงจำเก็บไว้แบบนี้ล่ะ

“เมื่อเดือนตุลาปีที่แล้ว มีโอกาสได้ไปโอซาก้า คราวนี้ก็ทำแบบเดิมแต่ทำใหญ่ขึ้นเป็นรูปใส่กรอบเลยมี 8 รูป ไม่ได้ทำลงสมุด เลือกทำรูปอาหารที่เราชอบกินแล้วคิดว่าถ้าเรามองอาหารผ่านกล้องจุลทรรศน์มันจะออกมาหน้าตาเป็นแบบไหน วางเล่มที่เราไปเที่ยวคิวชูไว้ด้วย เพื่อให้มันเป็นซีรีส์ไปด้วยกัน อยากทำงานที่มีไอเดียเป็นกลุ่มเป็นก้อน

“หลังจากกลับมาจากโอซาก้าก็ได้ไปทำงานในโปรเจค Artist Resident ที่โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพ เป็นงานลูกไม้ขนาดใหญ่เป็นผ้าคลุมเตียงได้เลยซึ่งเหมาะกับสถานที่ แตกต่างจากงานที่บัวทำเป็น series ในปีนี้ เน้นชิ้นเล็กๆ

“ตอนทำโปรเจคนี้แฮปปี้มาก เราตื่นเช้าทุกวันเพื่อที่จะได้กินข้าวเช้า เราไม่ได้เป็นคนลึกซึ้งอะไร บางอย่างดูไม่ได้สลักสำคัญ เราแค่อยากจะเก็บช่วงเวลานั้นที่เราชอบเอาไว้เฉยๆ บัวชอบอาหารและรู้สึกว่าความเป็นอาหารเข้าถึงงานเลยเก็บความประทับใจจากอาหารที่พบในโรงแรมเอามาทำงานที่ในช่วงล่าสุด ถ้าเรามองอาหารพวกนั้นใต้กล้องจุลทรรศน์แล้วจะออกมาเป็นแบบนี้ ชอบให้คนดูมาเดา อันนี้รูปอะไรแล้วก็ไม่ค่อยมีคนเดาถูกเลย เวลาเอามาโพสต์เพื่อนๆ ก็จะมาแล้วนี่ๆ ต้องเป็นอันนี้ๆ บัวก็บอก…ไม่ใช่ ก็รู้สึกสนุกดีค่ะ”

SELF REFLECTION

เมื่อการทำงานผสานกับชีวิตได้ ถึงจุดหนึ่งเราจะรับรู้ได้เอง คุณบัว เล่าถึงความรู้สึกตอนนั้นว่า

“งานตัดกระดาษ บัวรู้สึกว่าใครๆ ก็ทำได้นะ แต่ว่าการสร้างภาพจำหรือเอกลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติของเรามันยากนะ ตอนแรกพอบอกว่าบัวทำงานตัดกระดาษ คนก็จะถามว่าทำงาน pop-up ได้ไหม บัวก็บอก อุ๊ย…ทำไม่ได้ๆ แล้วก็จะอธิบายว่าคนละเทคนิคกัน

“บัวมักจะทำงานจากตัวเองเป็นหลัก ย้อนไปดูเรื่อยๆ นี่ก็ตัวบัวตอนนั้น เอากลับมาคิดงานต่อ บางคนเวลาคิดงานอาจจะมีแนวทางว่าต้องสร้างสรรค์สิ่งใหม่ไปเลย ตัวบัวเองเวลากลับไปดูงานเราจะพบว่า นี่งานตอนนั้นก็ดีนี่น่าเอามาทำต่อดีกว่า เวลาคุยกับเพื่อน เราจะพบว่าเราไม่มีประสบการณ์แบบนี้ ไม่มีความรู้ตรงนี้ เราไม่ได้ลึกซึ้ง บางคนมีข้อมูลอ้างอิงได้เลย ถ้าอยู่ในวงสนทนาบัวจะแบบ เอ่อ…ขอไปเข้าห้องน้ำก่อนนะ เวลาฟังเพื่อนๆ คุยกันเราก็จะค่อยกลับบ้านไป google ต่อว่า อ้อ…อันนี้คืออะไร

“เวลาได้ทำงานกับเพื่อนที่เป็นคนลึกซึ้ง มีข้อมูล อย่างทำงานภาพประกอบ เพื่อนบัวทำการบ้านหาข้อมูลให้บรรณาธิการเยอะมาก เราเห็นเพื่อนทำงานเต็มที่ขนาดนี้ก็รู้สึกว่าถูกต้องแล้ว มาแนวข้อมูลแบ่งงานกันทำได้ชัดเจน ส่วนเราก็ต้องมาทำอีกแนวหนึ่ง การทำงานกับเพื่อนที่ลึกซึ้งทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง 

“บัวรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนธรรมดาๆ รู้สึกแบบนี้ก็ทำงานออกมา พอไปลองทำแบบนั้นแล้วบัวว่ามันไม่ใช่ เรายอมรับตัวเองได้มากขึ้น แต่ก่อนอาจจะรู้สึกว่า เราต้องขยันมากกว่านี้มากขึ้นอีกรึเปล่า แต่พอยอมรับได้กับตัวเองก็สบายใจขึ้น ถึงจุดหนึ่งเราจะรู้ว่าเราทำอะไรไม่ได้ทั้งหมดหรอก เราพยายามก่อนแล้วนะถึงจะรู้ได้แบบนี้ เพิ่งจะมารู้สึกช่วงปีสองปีนี้เองนะคะ ไม่ได้รู้เร็วค่ะของแบบนี้คงต้องใช้เวลาพอสมควร ไม่รู้ต้องมีอายุเท่าไหร่กว่าจะรู้นะคะ 200 ปีเลยไหม

“เราเห็นเพื่อนๆ มีจุดแข็งแบบนี้ๆ เราก็พยายามมั่งแต่มันจะเครียดค่ะ ทำงานไม่ค่อยมีความสุข แต่พอได้พูดกับเพื่อนหรือเขียนระบายออกมาก็อ้อ…แค่นี้เอง เราก็บอกว่าเราทำไม่เป็น หรือเราชอบแบบนี้ แค่นี้ก็จบ รู้สึกสบายขึ้น ไม่ใช่ว่าเราเลือกงานหรืออะไร แค่เราถนัดแบบนี้มากกว่า ถ้ามันไม่ได้ก็ไม่เป็นไร

“ตั้งแต่ตอนทำงาน out source ให้กองสื่อสารองค์กรมหาวิทยาลัย มีพี่คนหนึ่งบอกบัวว่า อย่าไปยึดติดอะไร แม้แต่ของที่เราบอกว่าชอบมาก วันหนึ่งเราอาจจะไม่ชอบก็ได้ ทำให้บัวกลับมาคิดว่า อย่างงานตัดกระดาษที่บัวทำตอนนี้มันต้องใช้ร่างกาย เราต้องทำทุกอย่างด้วยมือ ถ้าเกิดไม่สบายแล้วทำแบบเดิมไม่ได้ มันแปลว่าเราต้องหยุดทำไปเลยรึเปล่า แล้วมันจะยังไงต่อ เลยทำให้คิดว่า ถ้าเราไม่ต้องยึดติดว่า เราต้องทำงานแบบนี้ไปตลอด ตัวเราเองก็จะรู้สึกสบายใจและเปิดใจรับสิ่งอื่นๆ ได้ด้วย 

“ที่บัวบอกว่า อยากลองไปทำงานออฟฟิศก็ไม่ได้เล่นมุกนะ แต่มันหมายถึงว่าเราเปิดใจให้กับการทำงานแบบอื่นๆ ไม่มีงานไหนที่ดีหรือไม่ดี บัวแค่รู้ว่า ตอนนี้บัวทำงานนี้ได้ เราก็ทำแล้วมุมหนึ่งมันก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน มันสร้างประโยชน์ได้ ทำให้เรามีอาชีพ มีความภาคภูมิใจในตัวเอง

“ที่บ้านจะบอกว่าบัวเป็นคนเอ็กซ์ตรีม เวลาทำอะไรก็จะทำสุดมากซึ่งมันก็จริง ถ้าเราอยากทำก็จะทำๆ ทีนี้ถ้ามันมากเกินไปก็จะไม่สบาย ที่บ้านก็จะเป็นห่วงว่าทำไม่ไม่พักเลย แต่ในขณะเดียวกันเราก็รู้นะ แต่มันก็สนุกดี ทำต่อๆๆๆ และบางทีก็ต้องเร่งตามเดดไลน์ ถ้าใช้ร่างกายเยอะมันก็ปวด 

“ช่วงนี้ บัวทำงานที่ต้องใช้การตัดน้อยลงนะ เราทำงานชิ้นเล็กๆ คนอื่นอาจจะไม่รู้สึกเท่าไหร่ ตอนนี้บัวทำงานเล็กลง เลือกใช้วัสดุตัดง่ายขึ้น เปลี่ยนมาลองเล่าเรื่องแบบนี้ดูไหม มีหลายวิธีที่ทำให้ตัวเองทำงานได้สบายมากขึ้น กลับมาที่งานคอลลาจอีกครั้ง ส่วนเรื่องสุขภาพ บัวก็หันมาออกกำลังกาย เรื่องนอนก็ไม่นอนดึกมากเหมือนเมื่อก่อน 

“ถึงตอนนี้ บัวว่าเราประนีประนอมกับตัวเองมากขึ้นนะ”

กว่าแต่ละคนจะรู้ว่า ตรงกลางระหว่างความสุขและความมุ่งมั่น ความเต็มที่ในงานกับการผ่อนคลาย หรือกระทั่งความคิดเล็กๆ ความชอบ แบบแผน หรือ พฤติกรรมที่เราทำไปตามธรรมชาติคืออะไรก็จำเป็นต้องอาศัยเวลาและการกลับไปทบทวนตัวเองอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อถึงจุดที่ทุกๆ มองเห็นความธรรมดาของตัวเองและกฎธรรมชาติก็จะมีความสุขในการใช้ชีวิตทุกๆ วันได้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าวันนี้หรือวันพรุ่งนี้จะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม

Tags:

ศิลปินศิลปะ

Author:

illustrator

ศิริกร โพธิจักร

Photographer:

illustrator

ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

ศิลปศาสตร์บัณฑิต และมนุษย์ฟรีแลนซ์ที่ทำงานเขียน ถ่ายรูป สัมภาษณ์ แปลงาน ล่าม ไปจนถึงครูสอนพิเศษเด็กชั้นประถม ของสะสมที่ชอบมากๆ คือถุงเท้าและผ้าลายดอก เขียนเรื่องเหนือจริงด้วยความรู้สึกจริงๆ ออกเป็นหนังสือ 'Sad at first sight' ซึ่งขายหมดแล้ว ผลงานล่าสุดคือ I Eat You Up Inside My Head รับประทานสารตกค้างในกลีบดอกปอกเปิก

Related Posts

  • Life classroomEveryone can be an Educator
    ‘ผมอยากเห็นสังคมที่ปลอดภัย’: Alex Face ศิลปินสตรีทอาร์ต และพ่อที่ขอเป็นเบาะในวันที่ลูกล้ม 

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

  • Voice of New Gen
    เรียนรู้กับครูยูทูบ เปิดตัวในโลกศิลปะผ่าน NFT ชีวิตที่ออกแบบเองของ ‘กิม’ – ฮากีม หมันวาหาบ ในวัย 15 ปี

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

  • Everyone can be an Educator
    PUPPETOMIME: ศิลปะง่ายกว่าที่คิด หยิบสิ่งของในบ้านนำมาเล่านิทานหรือสร้างงานละครได้

    เรื่อง ขวัญชนก พีระปกรณ์

  • Growth & Fixed Mindset
    เพราะวันนั้นยังไง ฉันถึงได้กลายเป็น “นักวาดรูป”

    เรื่องและภาพ PHAR

  • Everyone can be an Educator
    SPIRITUAL SPACESHIP การออกไปตามหาความหมายบางอย่างที่มนุษย์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ของ ‘เหิร’ ต่อลาภ ลาภเจริญสุข

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

ที่ก้าวร้าวก็เพราะข้างในบอบช้ำ: ATLAS หลักสูตรที่ ‘ครู’ ใช้รักษาบาดเเผลในใจนักเรียน
Education trend
27 October 2020

ที่ก้าวร้าวก็เพราะข้างในบอบช้ำ: ATLAS หลักสูตรที่ ‘ครู’ ใช้รักษาบาดเเผลในใจนักเรียน

เรื่อง ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การเเสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเเละรุนเเรงของนักเรียน ไม่ได้แปลว่าพวกเขาคือเด็กก้าวร้าว เเต่อาจมาจากประสบการณ์ในชีวิตที่ได้รับมาจนเกิดเป็นบาดเเผลที่ยังรักษาไม่หาย ครูจะต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาเเละไม่ตัดสินจากการกระทำนั้น
  • ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้ นักเรียนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง รวมถึงการเเสดงพฤติกรรมต่อต้านเเละใช้ความรุนเเรงโดยไม่มีสาเหตุมักถูกลงโทษเเละไล่ออกจากโรงเรียน โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองบาร์เทิลสวิลล์ (Bartlesville) รัฐโอคลาโฮมา จึงอยากแก้ปัญหาแเละพยายามหาทางช่วยเหลือนักเรียน
  • เพราะอยากแก้ที่ต้นเหตุโดยเฉพาะบาดแผลทางใจที่มาจากทางบ้าน หลักสูตร ATLAS (Alternative Therapeutic Learning Academic Setting) จึงเกิดขึ้น โดยเน้นการสร้างเเละออกเเบบสภาพเเวดล้อมที่มาจากความต้องการของนักเรียน มากกว่าการทำแบบฝึกหัด โปรเจค หรืองานกลุ่ม

ในช่วงเวลาที่คุณครูจะต้องรับมือกับนักเรียนที่เเสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมเเละรุนเเรง เพราะไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ระหว่างการเรียน เช่น การปาข้าวของ หรือก่อกวนระหว่างเรียน ทำให้คุณครูต้องเเยกพวกเขาออกมาจากห้องเรียน คงเป็นเรื่องยากที่คุณครูจะรับมือ เพราะไม่รู้ว่าควรจะทำสิ่งไหนก่อน สอนก็ต้องสอน นักเรียนก็ต้องดูเเล เเล้วนักเรียนคนอื่นในห้องจะปลอดภัยไหม

เเต่การเเสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นไม่ได้หมายความว่าพวกเขาคือเด็กก้าวร้าว เเต่อาจจะมาจากประสบการณ์ในชีวิตที่เขาได้รับมาจนเกิดเป็นบาดเเผลที่ยังรักษาไม่หายในใจของนักเรียน ทั้งเรื่องราวในครอบครัว สังคม เเละการดำเนินชีวิต ดังนั้น คุณครูจะต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของพวกเขาเเละไม่ตัดสินจากการกระทำนั้น 

ห้องเรียนในโรงเรียน Bartlesville’s Ranch Heights Elementary School รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา สร้างหลักสูตร ATLAS ที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจเเละจัดการอารมณ์ด้วยตัวพวกเขาเอง เมื่อ 2 ปีก่อน คุณครูเเฮเตอร์ บอยล์ (Heather Boyle) คุณครูประถมที่ผ่านการสอนมานานกว่า 23 ปีก็เผชิญกับเหตุการณ์เเบบนี้เช่นกัน ระหว่างที่เธอสอนวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนชั้น ป.1 เเล้วเบ็น (Ben – ชื่อสมมติ) คลานไปใต้โต๊ะที่นักเรียนคนอื่นกำลังนั่งเรียนอยู่ จนทำให้พวกเขาไม่พอใจ เมื่อบอยล์เรียกให้เขาขึ้นมาเรียน เบ็น ก็ตะโกนขึ้นมาด้วยความโกรธว่า “ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับวิชาคณิตศาสร์หน้าโง่นี้ดี”

เเม้ว่าเบ็นจะโกรธมาก เเต่บอยล์กลับพูดด้วยความใจเย็นว่าเธอจะอยู่ข้างๆ เเละช่วยเหลือเขา เเทนที่เบ็นจะใจเย็นลง เเต่กลายเป็นว่าเขาโกรธมากกว่าเดิมเเล้วเริ่มปาข้าวของ ทำให้บอยล์จัดการห้องเรียนด้วยการโทรศัพท์เรียกหัวหน้าคุณครู เเละรอจนกว่านักเรียนของเธอจะอารมณ์เย็นลง

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเเสดงให้เห็นว่าเบ็นจัดการอารมณ์ตัวเองไม่ได้ ทำให้มีพฤติกรรมก่อกวนในห้องเรียน เเต่ความจริงเเล้วเบ็นเป็นเด็กฉลาด อารมณ์ดี ช่วยสร้างรอยยิ้มจากเรื่องราวที่เขาเล่าเเละเข้าใจคนอื่นเสมอ ชอบวิชาวิทยาศาสตร์เเละโปเกมอน  

สิ่งที่เกิดขึ้นในห้องเรียนของบอยล์ไม่ใช่ครั้งเเรก เพราะในปี 2018 โรงเรียนประถมในเมือง Bartlesville รัฐโอคลาโฮมา สหรัฐอเมริกา สถานการณ์เเบบนี้เกิดเป็นเรื่องปกติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา จนโรงเรียนเริ่มสังเกตเห็นถึงปัญหานี้เเละพยายามหาทางช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ เเละสร้างสภาพเเวดล้อมที่ปลอดภัยให้พวกเขา เพราะนักเรียนที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเอง รวมถึงการเเสดงพฤติกรรมต่อต้านเเละรุนเเรงโดยไม่มีสาเหตุ หรือเรียกว่า room clearers มักถูกลงโทษเเละไล่ออกจากโรงเรียน 

หลักสูตร ATLAS กับวิชาเรียนรู้ตนเอง ให้นักเรียนบรรเทาบาดเเผลในใจด้วยตัวเอง

หลังจากโรงเรียนมองเห็นเหตุการณ์เรื่องการเเสดงพฤติกรรมของนักเรียนมากขึ้น ก็พบว่า มาจากเรื่องราวที่สร้างบาดเเผลในใจของเด็กในอดีต จึงเป็นที่มาของ ATLAS (Alternative Therapeutic Learning Academic Setting) Program ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นการสร้างเเละออกเเบบสภาพเเวดล้อมที่มาจากความต้องการของนักเรียน มากกว่าการทำแบบฝึกหัด โปรเจค หรืองานกลุ่ม โดยงานวิจัยของโรงเรียนที่ร่วมมือกับศูนย์สุขภาพของชุมชนสนับสนุนหลักสูตรนี้ว่า การสอนเเบบ ATLAS จะช่วยสร้างประสบการณ์ในการจัดการบาดเเผลในใจเเละกระบวนการเรียนรู้ให้กับนักเรียนจนเรียนในห้องเรียนปกติได้

นอกจากนั้น ประสบการณ์เเละความทรงจำไม่ดีในวัยเด็กซึ่งมักจะมาจากเหตุการณ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นในชีวิต เช่น การหย่าร้างหรือการสูญเสียคนรัก เเละอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ส่งผลต่อจิตใจ เช่น การละเมิดทางร่างกาย การละเมิดทางเพศ พ่อเเม่ติดยาเสพติด หรือออกจากบ้านเพราะการลี้ภัย จะส่งผลต่อการเรียนรู้ของเด็กในระยะยาว ซึ่งสามารถวัดระดับประสบการณ์เหล่านั้นได้ว่ามีผลต่อจิตใจเรามากเเค่ไหนในช่วง 17 ปีเเรกของชีวิตจากคะเเนน ACE (Adverse Childhood Experience) 

ทำแบบประเมิน ACE ที่ถูกพัฒนาให้เป็นปัจจุบันได้ที่นี่

งานวิจัยของ Education Law Center ชี้ให้เห็นว่านักเรียนที่มีคะเเนน ACE สูงจะเจอปัญหาการเรียน เพราะความบอบช้ำเเละบาดเเผลในจิตใจของนักเรียนที่ทำให้เกิดความเครียดเเละความกังวล ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาสมองเเละการรับมือกับอารมณ์ จึงแสดงพฤติกรรมที่รุนแรงออกมาโดยไม่รู้สาเหตุ ทำให้พวกเขาต้องใช้เวลาในการปรับตัวหากต้องเรียนร่วมกับเพื่อนๆ ในห้องเรียน เเละเด็กๆ ที่มีคะเเนน ACE สูงที่สุดก็คือเด็กในเมืองโอคลาโฮมานั่นเอง ทั้งอัตราการกักขังชาย หญิง เเละผู้ต้องขังที่สร้างความไม่สบายใจเเละความทุกข์ให้กับนักเรียน

ดังนั้น ห้องเรียน ATLAS ครูบอยล์ ครูผู้ช่วย นักบำบัด เเละนักกิจกรรม จึงร่วมกันออกเเบบห้องเรียนที่เรียกว่า ‘วิชาเรียนรู้ตนเอง’ (self-contained classroom) เป็นเวลาครึ่งวันที่จะทำให้นักเรียนได้เรียนทั้งวิชาการ ทักษะการเข้าสังคม เเละเรียนรู้อารมณ์ของตนเองได้ที่โรงเรียน โดยนักเรียนป.2 จะเรียนในครึ่งวันเช้า เเละนักเรียนป.3 – ป.5 เรียนในช่วงบ่าย ส่วนอีกครึ่งวันที่เหลือจะเปิดโอกาสให้นักเรียนทำกิจกรรมของชมรมในชุมชน เเละทีมคุณครูก็หวังว่านักเรียนจะใช้เวลากับการเรียนรู้ตัวเองทั้งวัน 

อีกทั้งหลักสูตรนี้ยังเป็นการหลอมรวมการวิจัยด้านการศึกษาเเละจิตวิทยาที่เเสดงให้เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการสอนนักเรียนที่มีบาดเเผลหรือผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมา คือการส่งเสริมให้นักเรียนเข้าใจความรู้สึกของตนเอง เมื่อคุณครูเข้าใจความกังวลของพวกเขาเเล้ว เช่น การใช้เสียง การสัมผัส เเละมองเห็นความไม่สบายใจของนักเรียนได้เร็วก็จะช่วยลดการเกิดสถานการณ์ที่เขาเเสดงพฤติกรรมรุนเเรงออกมาได้ทันเวลา

กิจกรรมสร้างจังหวะเเละการลงมือทำ ทำให้นักเรียนเข้าใจอารมณ์ของตัวเอง

นอกจากนี้ เนื่องจากเมื่อสมองสั่งการเเละทำซ้ำ (repetition and order) จะทำให้สมองของเด็กพัฒนาเเละเติบโต ดังนั้น การสอนให้พวกเขาเข้าใจตนเองสามารถออกเเบบกิจกรรมสร้างจังหวะประกอบการสอนในรายวิชาทั่วไปได้ เพราะบอยล์เองก็ใช้กิจกรรมเหล่านี้สร้างความสนุกให้กับเด็กๆ ก่อนเริ่มเรียนโดยใช้ร่างกายเป็นเครื่องมือสร้างจังหวะ เช่น จังหวะกลอง การหายใจ หรือ การสร้างภาพประกอบเสียง

กิจกรรมของคุณครูบอยล์ ไม่ใช่เเค่สร้างความสนุกเท่านั้น เเต่ยังช่วยขยายคำศัพท์ให้เด็กๆ ทำให้พวกเขาเเสดงอารมณ์ของตัวเองมาได้เต็มที่ ด้วยการเล่นบทบาทสมมติจำลองการกินอาหารกลางวันกับครอบครัว ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้ทักษะสังคม (Social Skills) เเละความกล้าที่จะลงมือทำ (do-overs)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้ากระเป๋าถูกโยนด้วยความโกรธ เเล้วเด็กเดินไปหยิบมันขึ้นมา หมายความว่าเราเปิดโอกาสให้เขาลองเผชิญเเละควบคุมสถานการณ์นั้นด้วยตัวเขาเอง เพราะพวกเขาจะมีวิธีจัดการหรือเเก้ปัญหาต่างกัน ถึงเเม้ว่าเด็กๆ จะใช้เวลานานเเค่ไหน เเต่ตัวเขาก็จะชื่นชมเเละฉลองให้กับสิ่งที่พวกเขาลงมือทำ

“บางครั้งเราเห็นเด็กลงมือทำด้วยตัวเขาเองหรือถามว่าเขาจะทำอะไรได้บ้าง ทำให้เห็นว่าพลังของการลงมือทำมันสุดยอดจริงๆ” 

ตัดภาพมาที่เคสของเบ็นที่เเสดงความโกรธในวิชาคณิตศาสตร์เพราะไม่รู้ว่าจะเเก้ปัญหาโจทย์คณิตศาสตร์อย่างไร เมื่อคุณครูสั่งงาน เขาจะเเสดงความกังวลเเละไม่สบายใจ ดังนั้น บอยล์ คุณครูของเขาจึงเเบ่งงานชิ้นใหญ่ให้เล็กลง เเล้วพบว่าการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เเตกต่างให้กับเบ็น ช่วยทำให้เขาสบายใจมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น คุณครูยังสร้างความตระหนักเเละเข้าใจจังหวะการเต้นของหัวใจที่จะช่วยให้เบ็นเข้าใจเอารมณ์โกรธของตนเองเเละจัดการอารมณ์ของตนเองได้

ห้องเรียน ATLAS นอกจากสร้างประสบการณ์เเละการเรียนรู้ให้นักเรียนเเล้ว ยังสอนทักษะการสอนให้กับครูด้วย เพราะการสอนวันเเรกของบอยล์ เธออยากพานักเรียนทั้งหมด 12 คนไปที่สนามเด็กเล่น เเต่เรื่องที่เธอควบคุมไม่ได้ เพราะระหว่างทางเดิน เด็กๆ กระโดด เเกล้งกัน หรือเดินเเตกเเถวไปตรงบอร์ดของโรงเรียน วันต่อมาเธอดึงความสนใจของนักเรียนด้วยการตบมือเเละจับจังหวะการเดิน ทำให้บรรยากาศการเดินเเถวเปลี่ยนไปจากวันก่อนอย่างสิ้นเชิง 

“เด็กๆ ไม่ได้ต้องการให้ครูเข้ามาเเทรกเเซงการเรียนของเขา เเต่ต้องการครูที่เข้าใจว่าพวกเขาอยากเรียนเเบบไหนเเละต้องการอะไร”

ลดกำเเพงระหว่างครูนักเรียน – ทำให้พ่อเเม่เข้าใจ สร้างความรู้สึกร่วมในการสร้างห้องเรียน

อีกหนึ่งสิ่งสำคัญคือการสร้างความไว้ใจเเละความรู้สึกร่วมกับนักเรียน บอยล์ใช้วิธีติดต่อกับนักเรียนผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ อีเมล จดหมาย หรือการไปหาพวกเขาที่บ้านตั้งเเต่ปิดเทอมช่วงซัมเมอร์ เเละพอเปิดเทอม ก็เป็นเวลาที่คุณครูเเละนักเรียนจะร่วมสร้างห้องเรียน ATLAS ที่จะทำให้นักเรียนรู้จักการรวมกลุ่มเเละรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ห้องเรียนซึ่งเป็นสถานที่การเรียนรู้ของพวกเขา บอยล์ให้เด็กๆ ทักทายกันในรูปเเบบที่เขาอยากทำ เช่น การเเปะมือหรือการเกี่ยวก้อย ในเเต่ละวันของการมาโรงเรียน เเละเเชร์บางส่วนของชีวิตเธอให้กับเด็กๆ 

ความตั้งใจที่อยากให้ไม่มีกำเเพงระหว่างครูเเละนักเรียน เป็นเพราะประสบการณ์ในวัยเด็กของเธอที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อพยายามเลิกยาในช่วงสงครามเวียดนาม ทำให้เเม่ต้องเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพัง สถานที่เดียวที่เหมือนสถานที่ปลอดภัยของเธอในช่วงนั้นคือโรงเรียน เพราะคุณครูให้เธอทำการบ้านที่โรงเรียนขณะที่บ้านเธอไฟดับ เเละให้ครอบครัวมางานโรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้กำลังใจพี่ชายที่เป็นนักกีฬา หรือวันที่เธอไม่กินข้าวกลางวันเพราะอายว่าเพื่อนจะเห็นบัตรอาหารกลางวันฟรี เเล้วครูเห็น เขาไปบอกโรงเรียนให้ออกบัตรที่เเตกต่างจากเดิมให้เธอกล้าจะมากินข้าวกลางวัน “ฉันพูดเสมอว่าครูช่วยฉัน เพราะฉันคิดว่าเขาดูเเลฉันตลอด” บอยล์เล่า

เรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิตของบอยล์ ไม่เพียงช่วยให้เธอเขาถึงความรู้สึกของนักเรียนเท่านั้น เเต่รวมถึงพ่อเเม่หลายคนที่มีบาดเเผลในใจเช่นกัน

“สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องยากคือการสร้างความเข้าใจกับพ่อเเม่ ว่าฉันไม่ได้อยู่ตรงนี้เพื่อตัดสินพวกเขา เเต่อยู่เพื่อช่วยลูกๆ ของพวกเขา เเละบอกว่าฉันก็ผ่านเรื่องราวไม่ต่างจากพวกเขา มันโอเคที่เราจะอยู่ตรงนี้เพื่อช่วยดูเเลเด็กๆ ร่วมกัน” เธอเล่า 

หลักสูตร ATLAS ยังคงใหม่เเละยังไม่ได้รับความนิยม เเต่ประสบความสำเร็จ เพราะก่อนที่โรงเรียนจะปิดลงเพราะการเเพร่ระบาดของโรคโควิด-19  บอยล์ คุณครูที่ออกเเบบหลักสูตรพบว่า นักเรียนเข้าเรียนมากขึ้นเเละการพักการเรียนลดลง เช่น นักเรียนคนหนึ่งของเธอที่มีปัญหาเรื่องการเเสดงพฤติกรรมมักถูกส่งกลับบ้านบ่อยๆ จนเเม่ของเขาไม่สามารถหางานได้เเละกลายเป็นคนว่างงาน เเต่หลังจากที่นักเรียนคนนั้นเข้าร่วมหลักสูตรนี้ เธอก็มีโอกาสกลับมาเรียนต่อ เเม่ของเธอสามารถหางานทำได้เเละกำลังย้ายครอบครัวออกจากศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน

รวมถึงเบ็น นักเรียนที่เข้าร่วมหลักสูตร ATLAS เพราะเขาได้รับการดูเเลจากบอยล์เเละทีมงานของเธอ ทำให้เขาจะได้กลับไปเรียนในห้องเรียนปกติในฤดูใบไม้ผลินี้

โรงเรียนของบอยล์ในสหรัฐอเมริกาก็ต้องเผชิญกับการปิดโรงเรียนด้วย เปลี่ยนไปเป็นการเรียนออนไลน์ ซึ่งจำกัดรูปเเบบการเรียนรู้ไม่ต่างจากโรงเรียนในประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ นักเรียนส่วนใหญ่ของเธออยู่ในครอบครัวที่มีรายได้น้อย ไม่มีอุปกรณ์สำหรับการเรียน หรืออาจจะมีอุปสรรคจากสัญญาณอินเทอร์เน็ต บางคนเรียนระหว่างที่เขาออกจากบ้าน เพราะถูกพ่อทำโทษ รวมถึงอยู่ในบ้านที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเขา ทำให้เด็กๆ พลาดเวลาเรียนไป บอยล์จึงตัดสินใจเตรียมอุปกรณ์การเรียน อาหาร หนังสือเรียน เเละเกมส์ที่เขาต้องการสอนในห้องเรียน เรียกว่า Porch bags ให้กับเด็กๆ ทุกวันศุกร์

เเม้ว่าการเรียนออนไลน์จะส่งผลกระทบต่อบาดเเผลในจิตใจของเด็ก เพราะการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นลดลง เเต่บอยล์วางใจ เนื่องจากเธอรู้ว่าเธอจะช่วยเหลือนักเรียนอย่างไรเมื่อเปิดเรียน เช่น การตีกลอง การฝึกมารยาทบนโต๊ะอาหาร การเรียนรู้อารมณ์ความรู้สึก ที่จะช่วยพัฒนาทักษะคณิตศาสตร์เเละการอ่าน

ประสบการณ์ที่สร้างบาดเเผลในใจของมนุษย์ทุกคนต้องใช้เวลาในการเยียวยา เเต่สำหรับเด็กๆ ที่พวกเขาต้องอยู่ในสภาพเเวดล้อมที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถรักษาเเผลเหล่านั้นได้ โรงเรียนเป็นสถานที่สำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาเข้าใจความรู้สึกเเละจัดการอารมณ์ของตัวเอง รวมถึงเป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนได้โดยไม่ถูกมองว่าเขาคือเด็กก้าวร้าวเเละรุนเเเรง

เมือง Bartlesville ที่ตั้งของโรงเรียนที่ออกเเบบหลักสูตร ATLAS เป็นเมืองเล็กๆ สำหรับครอบครัว มีประชากรประมาณ 36,000 ครัวเรือน ในวันเสาร์อาทิตย์ ผู้ปกครองจะพาเด็กไปเที่ยวสวนสนุกราคาถูกที่ Kiddie Park Amusement Center หรือไปซื้อขนมปังอบเชยที่ Pioneer Woman Mercantile 

อีกทั้งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทพลังงานข้ามชาติ โคโนโคฟิลลิปส์ (ConocoPhillips) เนื่องจากเป็นเมืองน้ำมันเเละเเก๊ส ซึ่งพ่อเเม่ของนักเรียนที่บอยล์ดูแล ทำงานอยู่ ทั้งงานด้านบัญชีหรืองานประจำเเท่งขุดเจาะน้ำมัน รวมถึงส่วนใหญ่ประชากรในเมืองเป็นชนพื้นเมืองผิวขาวเเละมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่ารายได้ครัวเรือนของสหรัฐอเมริกาอยู่ 10% ทำให้นักเรียนของบอยล์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน
อ้างอิง
How ATLAS program help students trauma
Preventing Adverse Childhood Experiences
Special Report: Oklahoma leads the nation in childhood trauma. How does this affect our state and what can we do?

Tags:

เทคนิคการสอนปม(trauma)Adverse Childhood Experiences(ACE)

Author:

illustrator

ณัฐธนีย์ ลิ้มวัฒนาพันธ์

นักศึกษาปีสุดท้ายที่ชอบดูซีรีส์เกาหลี เชื่อว่าซีรีส์คือพื้นที่การเรียนรู้ที่ทำให้เราพัฒนาตัวเองได้ สนใจเรื่องระบบการศึกษา อยากเล่าเรื่องให้สนุกเเบบฉบับของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Healing the trauma
    ปมฝังลึกที่หลงลืมไป อาจไม่เคยสูญหายและยังมีผลกับเราอยู่?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ พรภวิษย์ โพธิ์สว่าง

  • Family Psychology
    THEY ARE WHAT YOU TEACH ลูกพ่อแม่ชอบสั่ง ไม่ชอบสอน

    เรื่องและภาพ SHHHH

  • BookHealing the trauma
    CHILDHOOD DISRUPTED : บาดแผลในวัยเด็ก สาเหตุของความป่วยไข้เมื่อเติบโต

    เรื่อง ญาดา สันติสุขสกุล

  • Education trend
    มหกรรมสอบในเด็ก: ความเครียดและความล้มเหลวก่อนวัยอันควร

    เรื่อง The Potential

  • Education trend
    ถึงเวลาเอาคะแนน ‘ยกมือตอบในห้อง’ ออกได้หรือยัง?

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

ปิยะธิดา อินทะนัย: จากนักเรียนสู่นักวิจัยรุ่นเยาว์ ผ่านโครงการทำอาหารกุ้งฝอยจากเบต้ากลูแคน
Voice of New Gen
26 October 2020

ปิยะธิดา อินทะนัย: จากนักเรียนสู่นักวิจัยรุ่นเยาว์ ผ่านโครงการทำอาหารกุ้งฝอยจากเบต้ากลูแคน

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ The Potential

  • ‘ยอมไม่เข้าห้องเรียนเพื่อโดดมาเลี้ยงกุ้งฝอยในห้องทดลอง’ ความหลงใหลของน้ำมนต์-ปิยะธิดา อินทะนัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย ที่มีต่อโครงการ ‘Super Shrimp‘
  • Super Shrimp คือ โครงการผลิตอาหารกุ้งฝอยโดยใช้เบต้ากลูแคน สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ปกติถูกพัฒนาให้นำไปใช้เสริมภูมิคุ้มกันในคน แต่น้ำมนต์และชาวแก้งค์ นำไปพัฒนาในอาหารเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจอย่างกุ้งฝอย เพื่อเพิ่มอัตรารอด สุขภาพดี น้ำหนักได้มาตรฐานพร้อมขายจริงในท้องตลอด

“โอ้โหพี่ กุ้งหนูตายอ่ะ”

คือเสียงลงท้ายหนักแน่นของน้ำมนต์-ปิยะธิดา อินทะนัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย นี่ไม่ใช่กุ้งธรรมดา แต่คือกุ้งฝอยที่ตายในห้องทดลองขณะตามหาสูตรอาหารเลี้ยงกุ้งจากเบต้ากลูแคน* สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ปกติถูกพัฒนาให้นำไปใช้เสริมภูมิคุ้มกันในคน แต่น้ำมนต์และพ้องเพื่อน นำไปพัฒนาในอาหารเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจอย่างกุ้งฝอย เพื่อเพิ่มอัตรารอด สุขภาพดี น้ำหนักได้มาตรฐานพร้อมขายจริงในท้องตลอด ใต้ชื่อโครงการ (และอยากทำเป็นแบรนด์ในอนาคต) Super Shrimp

มากกว่านั้น นี่ไม่ใช่แค่ความตายของกุ้งในห้องทดลอง แต่การตายของกุ้งลอตนั้นเกิดขึ้นขณะส่ง Super Shrimp เข้าโครงการการประกวดโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ หรือ YSC (Young Scientist Competition) ที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของนักเรียนชั้นมัธยมปลายห้องวิทย์-คณิต เป็นโปรเจกต์พิเศษนอกห้องเรียนที่เธอและเพื่อนทำชนิด ‘ยอมไม่เข้าห้องเรียนเพื่อโดดมาเลี้ยงกุ้งฝอยในห้องทดลอง’

น้ำมนต์ ในฐานะตัวแทนกลุ่ม Super Shrimp จะมาเล่าเส้นทางการขยับจากนักเรียนไปเป็นนักวิจัยตัวน้อย เล่าว่าทำไมเธอจึงหมกมุ่นอยู่กับเพื่อนและกุ้งตลอดช่วงชั้นม.ปลาย และการทำโครงการนี้มีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตเธออย่างไร

จากการอ่านหนังสือแก้เบื่อเรื่องเบต้ากลูแคน สู่ความมุ่งมั่นพัฒนา Super Shrimp สู่ท้องตลาดจริง

เรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นจากความบังเอิญ บังเอิญว่าวันนั้นน้ำมนต์เดินเข้าห้องสมุดเพื่อหาอะไรอ่านแก้เบื่อ บังเอิญว่าเธอไปสะดุดตากับหนังสือของ ศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน ผู้เขียนหนังสือรวบรวมผลการวิจัยทั่วโลก ที่ใช้เบต้ากลูแคนไว้ในหนังสือเล่มเดียว ขณะนั้นน้ำมนต์ซึ่งอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่3 รู้สึกทึ่ง เท่ และเหมือนถูกจุดไฟให้สนใจกับสารอาหารชนิดนี้

“พี่เชื่อมั้ย หนูอ่านจบภายในเวลาแปปเดียว ไม่รู้ติดใจอะไรกับมันนะ แต่อยากทำอะไรแบบนี้บ้าง”

เวลาผ่านไปโดยเก็บเบต้ากลูแคนไว้ในใจและสมอง น้ำมนต์ขึ้นม.4 และเลือกเรียนห้องวิทยาศาสตร์แบบเข้มข้น (excellence science math program) ขณะนั้น

“ตอนม.4 ครูพาไปทัศนศึกษาเนื่องในวันวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตื่นเต้นมาก หนูจดโครงงานที่เอามาโชว์ในวันนั้นทุกกลุ่ม ตั้งใจว่าถ้าขึ้น ม.5 จะส่งประกวดโครงงานแบบนี้กับเพื่อนบ้าง และต้องได้เหรียญให้ได้!” น้ำมนต์พูดด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเหมือนย้อนเวลาไปเป็นเด็ก ม.4 คนนั้นอีกครั้ง

เมื่อเวลานั้นมาถึง เบต้ากลูแคน เป็นสิ่งที่น้ำมนต์เสนอกลุ่มว่าอยากสานต่อ

“เราใช้เวลาเตรียมตัวออกแบบวิจัยและการทดลองประมาณ 3 เดือนก่อนส่ง พอส่งไปปุ๊บ เราโดนอาจารย์ที่มข. หวดหนักมาก เสียใจ เฟลด์ รู้สึกแบบ… ‘มันแย่ขนาดนั้นเลยหรอวะ โห อุตส่าห์อยากเป็นคนแรกที่ทดลองเบต้ากลูแคนกับกุ้งฝอย’ แต่ก็เข้าใจว่าเราออกแบบการทดลองไม่ดีจริงๆ ก็โอเค… ไม่เป็นไร บอกกับเพื่อนว่าครั้งนี้ถือว่าเป็นสนามแรก อย่างน้อยได้มาเก็บคอมเมนต์และเอาไปปรับต่อกันนะ ซึ่งพอได้รับคอมเมนต์ตรงๆ แบบนั้น หนูยิ่งอยากทำให้สำเร็จมากขึ้นกว่าเดิมนะ อยากอุดช่องโหว่เหมือนที่ได้รับคำแนะนำมา

“หลังจากจบโครงการที่มข. แล้ว เราก็ไม่แน่ใจว่าจะเอายังไงต่อ เพื่อนบางคนก็บอกว่าอยากพอแล้ว กลับไปเรียนดีกว่าเพราะตอนนั้นอยู่ม.5 เรียนหนักมากพี่ หนักกว่าม.6 อีก คือเรียนกันถึง 5 โมงเย็นทุกวันไม่มีคาบว่างเลย (เสียงตื่นเต้น) แต่ไม่รู้ยังไง สุดท้ายก็ทำต่อ ผลคือต้องไปโรงเรียนทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ จนแม่บอกว่าอยู่บ้านบ้างดีไหม? แต่มันทำไม่ได้ ห้องเรียนก็ต้องเข้า ต้องทำการบ้านให้ครบ และต้องให้เวลากับโครงงานนี้ด้วย

“จำได้ว่าหนักมาก ขนาดบางครั้งเลือกไม่เข้าเรียนบางวิชาแล้วไปทำโครงการแทน แต่หนูสอบผ่านทุกวิชานะพี่ เกรดไม่ตก”

น้ำมนต์รีบแก้ทั้งที่เรายังไม่ได้ทักท้วงอะไรเลย เพียงแต่สงสัยว่า อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้เด็กคนนึงต้องปั่นทั้งงานในห้องเรียน ปั่นทั้งโครงการส่วนตัว น้ำมนต์ตอบว่า “รางวัลของ YSC ได้ไปอเมริกานะพี่ หนูอยากไป และมันก็เป็นโครงการที่จัดโดย สวทช. รู้สึกยิ่งใหญ่”

สุดท้ายแล้วโครงการ Super Shrimp ของน้ำมนต์และเพื่อนผ่านเข้ารอบระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันที่โครงการถูกพัฒนาจนผ่านเข้ารอบเวทีระดับประเทศอย่าง YSC แก้งค์ Super Shrimp ก็ต้องตัดสินใจเลือกอีกครั้งว่าจะพัฒนางานต่อหรือพอแค่นี้ เพราะเวลาผ่านกระทั่งพวกเธอเข้าสู่ชั้นม.6 ปีที่ต้องให้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย

“ตอนแข่ง YSC มันจะมีซุ้มโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ตั้งอยู่ในงาน ตอนนั้นเราเข้าใจแค่ว่าโครงการนี้จะให้เราเข้าค่ายไปพัฒนางานต่อกับนักวิจัยจริงๆ ไม่รู้อะไรมากกว่านี้ แต่ที่ทำให้ติดใจคือ เขาบอกว่าค่ายนี้จะทำพัฒนาให้ product ออกสู่ผู้ใช้จริง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่หนูอยากเห็น แต่ก็ยังลังเลอยู่ว่า ‘เอาไงดีวะ’ ไปต่อดีมั้ย เพื่อนๆ ก็อยากพอแล้วเพราะนี่ก็ถือว่าเราผ่านเวทีที่เราตั้งใจไว้หลายเวทีแล้ว แต่ครูที่ปรึกษาบอกว่า ‘เอานะ ถึงพวกเธอจะไม่ไปต่อ แต่ให้น้องๆ มาสานโครงการต่อก็ได้’ เลยรู้สึกว่า โอเค อย่างนั้นลองส่งโครงการไปก่อนแล้วชวนน้องๆ มาทำต่อ แต่ตอนเข้าค่ายครั้งแรกเราไปเองก่อนเพราะมันต้องมีพรีเซนต์โครงการ น้องอาจยังไม่เข้าใจโครงการเราดีนัก แต่พอไปถึง มันลังเลมากพี่ จบค่ายวันแรกมานั่งคุยกับเพื่อนหน้าลิฟต์ ‘เอาไงดีวะ’ รู้สึกอยากไปต่ออะ ทำมาตั้งนานแล้ว แต่เพื่อนก็ค้านว่า มันต้องอ่านหนังสือแล้วมั้ย จะสอบแล้ว แต่ตีกันไปมาได้ข้อสรุปว่า ถ้าเราจัดเวลาดีๆ มันต้องได้สิ สรุปคือ ไปต่อ (หัวเราะ)”

เหมือนอยากไปต่อเองอยู่แล้ว แต่แค่ลังเลเฉยๆ – เราถาม

“หึยยย… พี่รู้ทัน” น้ำมนต์ตอบ

จากนักเรียนสู่นักวิจัยตัวน้อย  

แล้วการมาค่ายต่อกล้าฯ พัฒนางานของเรายังไง ช่วยอะไรเราบ้าง เพราะดูเหมือนว่าโครงการเราก็มาดีแล้ว มาไกลแล้ว? – เราถามต่อ

“การเข้าต่อกล้าฯ เหมือนเราได้เป็นนักวิจัยจริงๆ เพราะครั้งนี้เราไม่ได้ทำงานกับแค่ครู แต่คุยกับนักวิจัยจริงๆ หนูบอกไม่ถูกนะ แต่เวลาคุยกันมันไม่เหมือนกันเลย เขาตั้งคำถาม รับฟังปัญหาและช่วย consult หาทางออก ชอบที่เขาพยายามให้เราวางแผนกระบวนการทำงานว่าเรามีแผนโครงการยังไง มีแผนธุรกิจยังไง ถ้ามันยังไม่ดีเขาก็จะช่วยอุดช่องว่างตรงนั้น ไม่เหมือนการเรียนในห้องที่ได้แต่นั่งฟังครู แต่ที่นี่เราได้เสนอความคิดของเรา

“เรากล้าเปิดใจกับพี่ๆ นักวิจัย กล้าพูดความจริงทั้งหมด พี่… หนูติดเรื่องนี้ พี่… กุ้งหนูตายอีกแล้ว คือมันไม่ใช่การ consult แต่เหมือนได้พูดเปิดใจ แล้วพี่เค้าก็เปิดใจกับเรากลับมาด้วย ไม่รู้ว่าเกี่ยวมั้ย แต่มันทำให้เราอยากทำมากขึ้น เราเห็นสายตาที่มีความหวังกับโครงงานเรา เขาเชื่อว่ามันไปต่อได้ โครงงานเราก็ไม่ได้แย่นะ นี่คือสิ่งที่เราได้จากโครงการ”

ตอนนี้ Super Shrimp อยู่ในขั้นเตรียมทดลองใช้จริงกับท้องตลาด ซึ่ง ณ วันที่เราคุยกัน น้ำมนต์บอกว่ามันยังไม่สมบูรณ์เต็มพร้อม แม้ผลการทดลองในห้องจะยืนยันว่า Super Shrimp ช่วยลดการตายของกุ้งฝอยได้ 80% ขณะที่อาการกุ้งในท้องตลาดทั่วไปอัตรารอดอยู่ที่ 70% และให้น้ำหนักดีกว่าด้วย กระนั้น น้ำมนต์บอกว่ามันจะดีขึ้นกว่านี้ถ้าเกษตรกรนำไปใช้จริงและให้ฟีดแบกกลับคืนนักวิจัยตัวน้อยๆ อย่างพวกเธอ

เอาจริงๆ Super Shrimp ให้อะไรกับน้ำมนต์ – เราถาม

“ตอนก่อนเข้าโครงการ น้ำมนต์ตั้งใจอยากสอบหมอ แต่พอเข้าโครงการแล้วได้รู้จักนักวิจัย ได้ทำงานจริง ได้รู้กระบวนการทำงานทั้งหมด เรารู้สึกว่าแบบ… เฮ้ย มันมีอาชีพอื่นนะ การทำงานกับโปรเจคต์มาต่อเนื่องเป็นปีเลยทำให้รู้ว่าจริงๆ เราชอบทำงานแบบนี้นะ ไม่ต้องเป็นหมอก็ได้ ตอนนี้เลยอยากเป็นนักวิจัยเหมือนพี่ๆ ที่นี่”

วันที่คุยกันน้ำมนต์กำลังรอผลสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งสาขาที่เธอสนใจส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับสาขาวิทยาศาสตร์ทั้งหมด แปลว่าสิ่งที่เราอยากเอาใจช่วยเธอมี 2 อย่าง นั่นคือขอให้เธอสานฝันการเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ และ ขอให้ Super Shrimp นั้นวางตลาดและส่งถึงมือเกษตรกรได้จริง

“เหมือนเข้ามหาวิทยาลัยได้เพราะกุ้งเลย” น้ำมนต์ตบท้ายด้วยหัวเราะ

ก่อนทิ้งท้าย อยากฝากอะไรถึง ศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน ผู้เขียนหนังสือเล่มนั้นมั้ย – เราชวนทิ้งท้าย

“หนูขอบคุณที่เขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมานะคะ ทำให้หนูติดใจอยากทำ และขอบคุณตัวเองที่เดินเข้าห้องสมุดไปที่ล็อกนั้น เจอหนังสือเล่มนี้ และอ่านมัน (ยิ้ม) แต่ว่าหนูยังไม่ได้คืนหนังสือเล่มนั้นที่ห้องสมุดเลยนะ ไม่รู้ค่าเช่าปาไปเท่าไร”

*เบต้ากลูแคน (beta glucan) สารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ช่วยกระตุ้นให้เซลล์เม็ดเลือดมองเห็นเชื้อโรคได้มากขึ้นและกำจัดสิ่งแปลกปลอมได้เร็ว ปัจจุบัน beta glucan ถูกพัฒนาในรูปอาหารเสริมเพื่อช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันมนุษย์

Tags:

นวัตกรGeneration of Innovatorศรีสะเกษโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

Photographer:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • Voice of New Gen
    รดิศ ค้าไม้: จากเด็กติดเกมสู่นักออกแบบเกม เกมเป็นครู เป็นความฝัน และผู้สอนทักษะการบริหาร

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

  • Voice of New Gen
    ‘เราจะก้าวสู่จุดที่เด็กทำวิจัยกับนักวิจัยเพื่อส่งของขึ้นอวกาศอย่างเป็นเรื่องปกติ’ ภูมิปรินทร์ มะโน

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษาณิชากร ศรีเพชรดี ภาพ ธีระพงษ์ สีทาโส

  • Creative learningCharacter building
    GO SCIF: เปลี่ยนจักรยานคันเก่าให้เป็นเกมออกกำลังกายสุดล้ำ

    เรื่อง กิติคุณ คัมภิรานนท์

  • Voice of New Gen
    นวัตกรตัวน้อย: ไม้ยืนต้น รากลึกและแข็งแรงจาก ‘ต่อกล้าให้เติบใหญ่’

    เรื่อง The Potential

  • Voice of New Gen
    ‘ภูมิ’ เด็กสร้างค่าย เปลี่ยนเด็กธรรมดาให้กลายเป็น ‘นักสร้างสรรค์’ ภายใน 3 วัน

    เรื่อง รชนีกร ศรีฟ้าวัฒนา

วังวนของซิซีฟัสผู้ถูกลงทัณฑ์ให้กลิ้งหินตราบชั่วนิรันดร์ และทางออกจากอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD)
Myth/Life/Crisis
23 October 2020

วังวนของซิซีฟัสผู้ถูกลงทัณฑ์ให้กลิ้งหินตราบชั่วนิรันดร์ และทางออกจากอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD)

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • เรื่องราวของซิซีฟัสซึ่งถูกลงทัณฑ์ให้กลิ้งหินขึ้นเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าชั่วนิรันดร์ ได้รับการพูดถึงในบทสนทนาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันแง่ที่เราต่างต้องดิ้นรนกับชีวิตในวังวนความทุกข์แบบเดิมๆ ตะเกียกตะกายซ้ำๆ ทั้งที่ไม่เคยเห็นปลายอุโมงค์
  • และยังอุปมาได้กับกิจวัตรย้ำวนของคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD) ได้อีกด้วย บทความนี้บอกเล่าเรื่องราวของคนที่มีอาการ รวมถึงนำเสนอวิธีที่อาจช่วยให้คนที่มีอาการดังกล่าวบรรเทาทุกข์ได้ไม่มากก็น้อย
  • เช่น การจดบันทึกภาพหรือความคิดที่แวบเข้ามาทำให้กังวลใจ ประกอบกับการจดบันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ซึ่งเมื่อเห็นบันทึกไปถึงจุดหนึ่งก็เริ่มจะแยกได้ว่าสิ่งที่กังวลกับเรื่องจริงเป็นคนละอย่างกัน รวมถึงการลองอยู่กับความวิตกหวาดกลัว โดยฝืนไม่ทำพฤติกรรมเพื่อตอบสนองความกลัวนั้นด้วย

ในปกรณัมกรีก ซิซีฟัส (Sisyphus) เป็นผู้สร้างเมืองโครินธ์และเป็นราชาคนแรกของเมืองดังกล่าวด้วย เรื่องราวของซิซีฟัสมีหลายเวอร์ชั่น แต่แก่นเรื่องอันโดดเด่นก็คือเขาโกงความตายได้ถึงสองครั้งด้วยความฉลาด (ดูแกมโกงสักหน่อย) ทว่าตอนต่อของเรื่องที่คนโจษจันกันมากกว่านั้นก็คือ สุดท้ายแล้วเขาถูกลงทัณฑ์ด้วยการให้กลิ้งหินขึ้นเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าชั่วนิรันดร์ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เขาใกล้จะกลิ้งหินขึ้นบนยอดเขาได้สำเร็จ หินนั้นก็จะไหลย้อนลงมาอีก ซิซีฟัสจึงต้องเปลืองแรงกับภารกิจอันไม่เกิดประโยชน์นี้ซ้ำซากเรื่อยไป   

เรื่องราวของซิซีฟัสได้ถูกนำมาวิเคราะห์ในเชิงปรัชญาและได้รับการพูดถึงแม้ในบทสนทนาเกี่ยวกับชีวิตประจำวันแสนธรรมดาน่าเหนื่อยหน่าย ผองเพื่อนต้องดิ้นรนกับชีวิตในวังวนความทุกข์แบบเดิมๆ ทว่าไม่อาจหนีจากการตะเกียกตะกายซ้ำๆ อย่างนั้น ทั้งที่ไม่เคยเห็นปลายอุโมงค์ บ้างก็ทำได้เพียงเพียรว่ายทวนห้วงน้ำต่อไปแม้นไม่เห็นฝั่ง และบ้างก็ทำได้เพียงตามรอยกรรมของซิซีฟัส

อย่างไรก็ตาม ภารกิจกลิ้งหินอย่างไร้จุดจบของซิซีฟัสไม่เพียงเทียบได้กับวังวนแห่งชีวิต แต่ยังอาจอุปมาได้กับกิจวัตรย้ำวนของคนที่มีอาการย้ำคิดย้ำทำได้อีกด้วย บทความนี้บอกเล่าเรื่องราวของคนที่มีอาการ รวมถึงนำเสนอวิธีที่อาจช่วยให้คนที่มีอาการดังกล่าวบรรเทาทุกข์ได้ไม่มากก็น้อย

อาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD – Obsessive Compulsive Disorder) มีสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นการย้ำคิด และส่วนที่เป็นการย้ำทำ กล่าวคือ หนึ่ง – ผู้ที่มีอาการจะมีความคิด หรือภาพ หรือแรงกระตุ้น ที่เกิดขึ้นในจิตใจซ้ำๆ อันเป็นสิ่งที่เขาก็ไม่ได้ต้องการ ซึ่งทำให้รู้สึกวิตกกังวลและไม่สบายใจ แม้จะรู้ว่าสิ่งที่ตนวิตกหรือหวาดกลัวนั้นไม่สมเหตุสมผลก็ตาม เขาจึง สอง – ย้ำทำ คือมีพฤติกรรมหรือคิดอะไรบางอย่างเพื่อให้ความรู้สึกไม่สบายใจจากการย้ำคิดนั้นบรรเทาไปชั่วคราว แต่ก็มักจะวนซ้ำ ราวกับจะไร้จุดจบ จนรบกวนชีวิตอย่างมาก นึกถึงภาพซิซีฟัสที่เมื่อหินที่ตนสู้อุตส่าห์กลิ้งขึ้นไปตกกลับลงมา เขาก็ตระหนักแหละว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้นช่างไร้สาระ แต่ในเมื่อเขาควบคุมอะไรไม่ได้ ก็เลยต้องทำวนไปเรื่อยๆ   

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น บางคนเห็นภาพขโมยขึ้นบ้านวนอยู่ในหัวทำให้วิตกมาก เขาจึงต้องเช็คว่าประตูหน้าต่างล็อคหรือยัง วนซ้ำอีกเป็นเวลานานกว่าจะออกจากบ้านไปได้ หรือบางคนกลัวว่ามือจะมีเชื้อโรคทำให้ล้างมือบ่อยมากเกินความจำเป็นและขัดถูมือแรงมากกระทั่งมือของเขาเป็นแผลเหวอะหวะ บางคนก็มีเสียงลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในหัวทั้งที่จริงตนเองก็เคารพมาก ทำให้ต้องคิดขอขมากรรมซ้ำไปซ้ำมาเป็นเวลานานจนไม่เป็นอันทำอย่างอื่น

คนในปัจจุบันมักพูดติดตลกว่าคนนั้นคนนี้มีการโอซีดี (OCD) เมื่อเห็นใครมีพฤติกรรมตรวจสอบอะไรแบบย้ำๆ หรือหมกมุ่นจะเอาความเป๊ะกับเรื่องขี้ปะติ๋ว กระนั้นคนยุคเราก็เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าอาการโอซีดีจริงๆ เป็นความทรมานที่ไม่ตลกและสูบเวลาอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีดารามากมายออกมาประกาศว่าตัวเองก็เคยทนทุกข์กับอาการดังกล่าว เช่น อะแมนดา มิเชลล์ ไซเฟร็ด (Amanda Seyfried) นักแสดงสาวผู้เล่นหนังดังหลายเรื่อง หรือแชนนอน เพอร์เซอร์ (Shannon Purser) ผู้รับบทบาร์บ-บาร์บารา ฮอลแลนด์ ตัวละครสมทบในซีรีส์ Stranger Things

ทว่าในสมัยหนึ่งที่คนยังไม่ค่อยรู้อะไรเกี่ยวกับสาเหตุของโอซีดีและการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ มีบุคคลระดับตำนานอย่างโฮเวิร์ด ฮิวจ์ (Howard Hughes) มหาเศรษฐีใจบุญที่มีสายธุรกิจมากมาย ทั้งยังเป็นนักบิน ผู้กำกับหนัง ฯลฯ มีอาการย้ำคิดย้ำทำเช่นเดียวกัน และหนึ่งในอาการของเขาก็คือการกลัวเชื้อโรคอย่างหนัก ซึ่งมีส่วนทำให้เขามีวิถีชีวิตพิลึกพิลั่น และด้วยความที่เขารวยพอ ก็เลยสามารถถ่ายโอนพฤติกรรม (พิธีกรรม) ประหลาดไปให้พนักงานของเขาทำด้วย เช่น สั่งให้พนักงานล้างมือหลายต่อหลายครั้ง แถมเวลาเสิร์ฟอาหารให้เขา พนักงานก็ยังต้องพันมือด้วยกระดาษเนื้อหนาก่อนด้วย    

ภายหลังจากที่โฮเวิร์ดวายชนม์ ก็ได้มีการสัมภาษณ์พนักงานเก่าของเขา ประกอบกับบันทึกการโทรศัพท์ รายงานทางหนังสือพิมพ์ รวมถึงจดหมายเก่าของแม่ที่เขียนเรื่องเขา ฯลฯ ซึ่งทำให้ค่อยๆ เห็นภาพเด็กน้อยคนหนึ่งที่ค่อนข้างเปล่าเปลี่ยว ผู้ทำการศึกษาเชื่อว่าความกลัวของฮิวจ์น่าจะมาจากวัยเด็ก เพราะแม่ของเขาวิตกอยู่เป็นนิจว่าลูกของเธอจะต้องไปสัมผัสกับเชื้อโรค หนำซ้ำยังระวังเรื่องกินของเขามาก ทั้งยังตรวจโรคเขาทุกวันด้วย  

กล่าวกันว่าในวาระสุดท้ายของชีวิต โฮเวิร์ดนอนเปลือยเปล่าอย่างเดียวดายอยู่ในห้องอันมืดมิดของโรงแรมแห่งหนึ่งในอาณาเขตที่เขาคิด (เอง) ว่า ‘ปลอดเชื้อ’ อดคิดไม่ได้เลยว่ามรณกรรมของเขาคงมีโฉมหน้าที่ต่างไปหากเขาเกิดในยุคนี้ ด้วยเพราะอาการย้ำคิดย้ำทำของเขามีแนวโน้มอย่างสูงที่จะได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม

ในส่วนของการรักษายุคปัจจุบันเท่าที่สัมผัสมา แพทย์มักจะให้ทานยาควบคู่ไปกับการทำบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (CBT- Cognitive behavioral therapy) แต่ในบทความนี้จะคลี่ให้เห็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบำบัดตามแนวนักจิตวิทยาของบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (National Health Service หรือ NHS) ที่สหราชอาณาจักร ซึ่งผู้มีอาการในไทยบางส่วนก็ได้ทดลองนำไปใช้เองและพบว่าช่วยบรรเทาอาการหรือทำให้หายมาแล้ว อนึ่ง ขอนำเสนอกระบวนการผ่านกรณีตัวอย่าง ดังนี้      

นางสาวซิลเวีย อายุ 22 ปี ทรมานกับอาการย้ำคิดย้ำทำซึ่งรบกวนการนอนของเธอทุกคืน และนั่นย่อมรบกวนชีวิตในตอนกลางวันของเธออย่างมากด้วย ทุกๆ คืน เธอมีภาพว่ามือถือจะระเบิดทำให้ต้องหมดเวลาไปหลายๆ ชั่วโมงก่อนนอน ลุกขึ้นเช็คการปิดมือถือและการถอดสายชาร์จไฟซ้ำไปซ้ำมา บ่อยครั้งเธอจะถอดแบตเตอรี่ออกจากมือถือแล้วนำไปวางไว้ที่มุมห้อง เพราะมีมโนภาพว่าหากมีระเบิดเกิดขึ้น รัศมีของระเบิดก็จะมาถึงตัวเธอเพียงเล็กน้อยทำให้เธอมีเวลาตื่นขึ้นมาดับไฟหรือหนีไฟลุกโชนได้ทัน เธอรู้ดีว่าภาพในหัวอีกทั้งวิธีคิดหลายอย่างที่ผุดขึ้นมานั้นไม่สมเหตุสมผล แต่ก็ยังหวั่นวิตก มันเป็นบรรยากาศช้ำหนอง หมองหม่นและอิดโรยเสมือนว่าเธอถูกปกคลุมด้วยเสมหะข้นคล้ำ เธอไม่อาจควบคุมความคิดและพฤติกรรมของตัวเองได้เลย     

เธอได้รับคำแนะนำจากนักจิตวิทยาให้จดบันทึกภาพอันน่าหวาดกลัวที่ผุดเกิดขึ้นในหัวก่อนนอน เทียบกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในวันรุ่งขึ้น โดยด้านล่างนื้คือหน้าตาของบันทึกเธอ

วันภาพที่เห็นก่อนนอนสิ่งที่เกิดจริง ในเช้าวันรุ่งขึ้น
วันที่ 1มือถือระเบิด กลายเป็นคนหัวขาดไม่มีอะไรระเบิด หัวไม่ได้ขาด
วันที่ 2สายไฟไหม้ เปลวเพลิงลามเลียไปถึงห้องข้างๆ ทุกคนตำหนิเธออย่างร้ายแรงว่าเป็นต้นเหตุของไฟไม่ได้เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้
วันที่ 3มือถือระเบิด ร่างกายย่นยู่ยับเยินไม่มีอะไรระเบิด ร่างกายยังสมบูรณ์ดี
วันที่ 4……

เธอจดบันทึกเหมือนตัวอย่างข้างต้นนี้ไปจนครบหนึ่งอาทิตย์ น่าแปลกที่เธอเริ่มรับรู้ ‘ความแตกต่าง’ ระหว่างภาพในจินตนาการ (ตารางช่องซ้าย) กับ เรื่องจริงที่ไม่เคยมีการระเบิดขึ้นเลย (ตารางช่องขวา)

ถึงจุดนี้ นักจิตวิทยาเริ่มกระตุ้นให้เธอจัดการกับความกังวลในฐานะที่มันเป็นแค่ความกังวล (ไม่ใช่ความจริง) ซึ่งหมายรวมถึงการอยู่กับภาพที่หวาดกลัวโดยฝืนไม่ทำพฤติกรรมไปตามความกลัวนั้นด้วย วันแรกๆ เธอยังคงทรมานมาก แต่ด้วยความที่เริ่มเห็นแล้วว่าภาพต่างๆ ในหัวที่ทำให้หวั่นวิตกนั้นไม่ใช่ความจริง เธอจึงสามารถฝืนอาการย้ำทำ จนสามารถลดจำนวนครั้งที่ลุกขึ้นไปเช็คเครื่องใช้ไฟฟ้าลงได้จนเหลือสองถึงสามครั้ง ซึ่งแม้จะยังถือเป็นการย้ำตรวจสอบอยู่ แต่ก็นับว่าดีขึ้นมาก   

อีกวิธีการที่นักจิตวิทยาคนดังกล่าวนำมาใช้คือ การสืบสาวความคิดและความรู้สึกภายใต้พฤติกรรมการย้ำเช็ค เช่น รู้สึกกลัวเพราะเห็นภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าระเบิด เพราะอะไร? เพราะกลัวหัวขาดร่างเละ แล้วเพราะอะไรต่อ? เพราะจะต้องมีชีวิตเป็นผีหัวขาดอย่างโดดเดี่ยวและไม่เข้าพวก แท้จริงแล้วเธอกลัวความโดดเดี่ยวนั้นเอง

นี่เป็นการถามต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้เห็นรากชัดขึ้น ที่กลัว C เพราะนำไปสู่ B กลัว B เพราะนำไปสู่ A ซึ่งเป็นรากของความกลัว (ในระดับปุถุชน) บางทีแค่เห็นว่าจริงๆ ตัวเองกลัวอะไรมันก็ ‘หลุด’ ในระดับหนึ่งแล้ว

ลองดูอีกตัวอย่างเพื่อให้ชัดขึ้น นางสาว B อายุ 29 ปี รู้สึกว่าต้องตรวจสินค้าที่จะส่งให้ลูกค้าซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าสีและขนาดถูกต้องตามคำสั่งซื้อหรือไม่ อีกทั้งตรวจความแน่นหนาของกล่องบรรจุสินค้าซ้ำแล้วซ้ำอีก เธอแปะเทปกล่องอย่างสิ้นเปลืองเกินจำเป็นแต่ก็ยังไม่วายวิตกกังวล ฯลฯ อีกทั้งมีความต้องการล้างมือตลอดเวลาที่ทำได้ ยิ่งเมื่อไปเข้าห้องน้ำสาธารณะ แม้เธอจะหลีกเลี่ยงการจับลูกบิดประตูห้องน้ำโดยตรง เธอก็ยังรู้สึกว่ามือมีเชื้อโรค

เมื่อถามถึงเรื่องการตรวจสินค้าและกล่องบรรจุซ้ำๆ เธอบอกว่ามีภาพในหัวว่าพ่อดุลูกน้องที่ทำงานสะเพร่าและผิดพลาด อันเป็นการดุอย่างเกรี้ยวกราด เธอบอกว่าพ่อเป็น perfectionist และเธอก็ไม่อยากเป็นคนผิดพลาดเหมือนลูกน้อง และที่สำคัญคือไม่อยากเหมือนพ่อ เธอบอกว่าพ่อไม่เห็นความพลาดของตัวเขาเอง ความทรงจำของเธอคือตั้งแต่เด็ก เมื่อทำอะไรผิดพลาดเพียงเล็กน้อยเธอก็โดนพ่อเล่นงานหนักมากแล้ว เธอไม่ควรจะโดนโทษทัณฑ์เกินกว่าเหตุอีกต่อไปแล้ว ความอัดอั้นพรั่งพรูออกมาดุจลาวา ราวกับว่าสัตว์เลื้อยคลานพ่นไฟที่ถูกขังอยู่ในอกของเธอนั้นเจาะช่องระบายได้ในที่สุด เธอตระหนักว่าไม่ให้อภัยพ่อและไม่ให้อภัยตัวเองด้วย จากนั้นเธอก็ทำงานกับด้านในตัวเองเกี่ยวกับประเด็นนี้และประเด็นอื่นๆ จนใจคลายขึ้น และอาการย้ำตรวจก็เบาลงไปบ้าง (อ่านเพิ่มเติมในบท Perfume น้ำหอมมนุษย์: ความสัมพันธ์กับตัวเองและผู้อื่น ที่เรียนรู้มาจากผู้เลี้ยงดู และ Swan Lake 1: เงามืดในตัวเองที่เราไม่ยอมรับรู้ ซึ่งไปปรากฏในความสัมพันธ์)

ส่วนเรื่องที่เธอล้างมือโดยพิสดารนั้น เธอบอกว่าไม่ค่อยเกี่ยวกับการกลัวเชื้อโควิด ลึกๆ เธอกลัวว่าจะเป็นสิวต่างหาก เมื่อถามต่อไปว่าทำไมถึงกลัวเป็นสิว เธอตอบว่ารู้สึกไม่ชอบสิ่งปุปะ หยาบ ไร้ระเบียบ ไม่เรียบร้อยสวยงาม เธอแวบเห็นความเชื่อมโยงของสภาพแวดล้อมในบ้านที่โตมาอันมีลักษณะเป็นระเบียบและสะอาดหมดจด โดยแม่ของเธอซึ่งเป็นนักบัญชีก็เป๊ะเช่นนั้น เธอเห็นว่าส่วนหนึ่งก็รู้สึกว่าแม่รักพี่ชายคนโตมากกว่าและเห็นไปอีกว่าอยากให้แม่ยอมรับ อีกทั้งอยากให้คนที่เธอชอบเห็นว่าเธอหน้าเกลี้ยงเกลา ฯลฯ เธอเห็นความต้องการอาหารใจของตัวเองเช่น ต้องการความรัก ต้องการยอมรับ จากนั้นก็คลายความวิตกลงไปพอสมควร   

การสนทนาค่อยๆ ทำให้เราเห็นแผนแบบความคิดความเชื่อ ความรู้สึกและความต้องบางอย่าง ซึ่งคงไม่ได้ทำให้อาการต่างๆ หายไปในชั่วพริบตา แต่การตระหนักรู้เบื้องลึกเหล่านั้นของตัวเองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง (ในบรรดาอีกหลายวิธีที่ใช้ควบคู่ไปได้) ซึ่งสามารถช่วยให้เราค่อยๆ เป็นอิสระจากการย้ำทำหรืออยู่กับมันโดยให้มาบงการเราน้อยลงได้

และสำหรับคนที่ยังไม่สามารถออกจากการย้ำคิดย้ำทำประหนึ่งซิซีฟัสที่ยังต้องกลิ้งหินขึ้นเขาซ้ำไปซ้ำมาอย่างไร้เหตุผล แม้ว่าเราไม่สามารถเลือกไพ่ที่มีคนแจกมาให้ แต่เราก็เลือกวิธีจัดการกับไพ่ได้ นั่นคือการยิ้มให้กับมันและรับรู้ว่าภายใต้รอยยิ้มนั้นมีอะไรอยู่บ้าง

อ้างอิง
Amanda Seyfried Has OCD, Which May Not Be What You Think
Howard Hughes
Hughes’s germ phobia revealed in psychological autopsy
Sisyphus
Sisyphus
Treatment-Obsessive compulsive disorder (OCD)
โรคย้ำคิดย้ำทำ
บทสนทนากับรศ.จุฑาทิพย์ อุมะวิชนี อดีตอาจารย์ผู้สอนวิชาความรู้พื้นฐานทางปรัชญาและศาสนา(TU113) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

Tags:

อาการย้ำคิดย้ำทำ (OCD)ปม(trauma)ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนาMyth Life Crisisตำนาน

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Myth/Life/Crisis
    หลวิชัย : เพื่อนผู้พึ่งพาได้ ในขณะที่ยังมีเส้นอาณาเขตระหว่างตัวเองและผู้อื่นชัดเจน (1)

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    แดรกคิวล่า : เรียนรู้จากผีดิบ และอาการป่วยไข้ที่รุกล้ำอาณาเขตของเรา

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • MovieMyth/Life/Crisis
    แด่วันที่เศร้าและหดหู่: เพียงคนธรรมดาที่มีบาดแผลคล้ายกันได้แบ่งปันและโอบอุ้ม

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • Myth/Life/Crisis
    คางุยะ เจ้าหญิงแห่งดวงจันทร์: ที่ทางของฉันบนโลกใบนี้

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักเป็นเรื่องไม่อาจฝืน
Family Psychology
22 October 2020

พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักเป็นเรื่องไม่อาจฝืน

เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • เม – เมริษา ยอดมณฑป เจ้าของเพจตามใจนักจิตวิทยา ชวนผู้ปกครองและคนเป็นลูกอ่านปมในใจที่เก็บซ่อนไว้อันเนื่องจากความรู้สึกได้รับความรัก หรือไม่รัก จากคนเป็นพ่อแม่
  • ชวนมองต้นสายปลายเหตุ พ่อแม่รักลูกของตัวเองไม่เท่ากัน โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป และกรณีเด็กที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่เลย
  • หาก ‘ลูก’ อ่านอยู่ เมริษาชวน ‘เรา’ จัดการกับความรู้สึกนั้นโดยไม่พยายามบีบบังคับให้ตัวเองเข้าใจทั้งที่เข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้เลย
  • หาก ‘ผู้ปกครอง’ อ่านอยู่ ชวนเข้าใจและยอมรับว่าการไม่รักลูกนั้นเกิดขึ้นได้ ถ้าอยากคลี่คลายก็จะช่วยอยู่เป็นเพื่อนและบอกเล่ากระบวนการ แต่หากถึงที่สุดแล้ว ‘รัก’ ไม่ได้จริงๆ ก็จะชวนทำความเข้าใจและแนะนำวิธีอยู่ด้วยกันโดยไม่ทำร้ายและสร้างบาดแผลถึงกันต่อไป

“พ่อแม่ทุกคนรักลูก”  และ  “พ่อแม่รักลูกทุกคนเท่ากัน” สองประโยคทองที่พ่อแม่มักบอกกับลูก และผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักบอกกับเด็กทุกคน แต่ในความเป็นจริงนั้นเป็นเช่นไร มีเพียงเจ้าตัวซึ่งเป็นพ่อแม่เท่านั้นที่จะตอบได้ว่า “ตัวเองรักลูกจริงๆ” หรือ “รักลูกทุกคนเท่ากัน” เพราะความรักเป็นเรื่องของความรู้สึก เราไม่สามารถเสแสร้งแกล้งทำได้ตลอดไป แม้ปากของเราจะบอกว่า “รัก” แต่ “การกระทำ” ที่แสดงออกมานั้นเป็นสิ่งที่ไม่อาจฝืน เด็กทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กเล็กๆ พวกเขาสามารถรับรู้ได้อย่างรวดเร็วว่า “พ่อแม่รู้สึกอย่างไรกับเขา”

คงเป็นอีกหนึ่งความจริงที่โหดร้าย เพราะไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่จะสามารถรักลูกของตนได้เท่ากัน หรือ ยิ่งไปกว่านั้น คือ ไม่ได้รักลูกของตนเลยแม้แต่น้อย

หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นโดยเลือกมูลเหตุของคนส่วนใหญ่ที่มาจากประสบการณ์การทำงานของผู้เขียนเอง ซึ่งแน่นอนว่าเรื่องราวของแต่ละคนย่อมแตกต่างหลากหลายและเป็นไปในเงื่อนไขของตัวเอง ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าไม่ได้มีเจตนาลดทอนปัญหาของแต่ละคน เพียงแต่อยากยกประสบการณ์ที่คนส่วนใหญ่ประสบขึ้นมาเพื่อเป็นตัวอย่าง เพื่ออธิบายถึงที่มาที่ไปและแนะนำวิธีคลี่คลายบาดแผลของแต่ละคนต่อไป

กรณีแรก
พ่อแม่ที่รักลูกของตัวเองไม่เท่ากัน ในครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป

ปมในใจของพี่คนโตที่รับรู้ว่าพ่อแม่รักน้องคนเล็กมากกว่าตน

สำหรับลูกคนโต ที่ผ่านมาเขาอาจจะเป็นเพียงเด็กคนเดียวในครอบครัว เขาเป็นศูนย์กลางของทุกคนในบ้าน แต่ทันทีที่พ่อแม่มีน้องใหม่ ทุกคนในครอบครัวพุ่งเป้าไปสนใจน้องคนเล็ก และประคบประหงมน้องของเขาจนลืมตัวเขาไป พี่คนโตอย่างเขาตกกระป๋องในทันที ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ลูกคนโตอาจจะรู้สึกอิจฉาและโกรธเกรี้ยวที่น้องคนเล็กแย่งความรัก และทุกๆ อย่างที่เคยเป็นของเขาไปจากเขา ยิ่งพ่อแม่บอกให้พี่คนโตเสียสละ และแบ่งของๆ เขาให้กับน้อง โดยที่เขาไม่เต็มใจ ตัวเด็กเองจะยิ่งไม่ชอบน้องเข้าไปอีก

ปมในใจของการเกิดเป็นลูกคนกลาง (Wednesday’s child) ที่มักจะถูกพ่อแม่มองข้ามอยู่เสมอ

สำหรับลูกคนกลาง เขาเกิดมาโดยที่มีพี่อยู่แล้ว เขาต้องคอยแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ระหว่างพี่กับตัวเขา และหลังจากนั้นเมื่อน้องคนเล็กเกิดมา ตัวเขาก็ต้องแบ่งความสนใจจากพ่อแม่ที่เดิมมีอยู่น้อยนิดไปให้น้องด้วย ตัวเขาไม่เคยมีช่วงเวลาที่มีแค่เขากับพ่อแม่มาก่อน เขาต้องต่อสู้กับพี่คนโต และแบ่งความสนใจกับน้องคนเล็ก ลูกคนกลางจึงรู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน ถ้าเขาอยากทำให้ทุกคนมองเห็น เขาต้องพยายามทำตัวให้แตกต่างจากพี่กับน้องของเขา นอกจากนี้ เขาต้องปรับตัวอยู่เสมอ เพราะเขาต้องรับบทบาทถึงสองบทบาทในเวลาเดียวกัน คือ เป็นน้องของพี่คนโต และเป็นพี่ของน้องคนเล็ก

ปมในใจของน้องคนสุดท้อง ที่รับรู้ว่าตนเองอาจจะไม่ดีเท่าพี่ๆ

สำหรับลูกคนสุดท้อง การที่มีพี่ๆ เก่ง และโดดเด่นในหลายๆ ด้าน ทำให้ตัวเขาถูกกดดันจากครอบครัวและสังคมว่าเขาจะต้องเจริญรอยตามพี่ๆ ทั้งที่จริงแล้วตัวเขาเองอาจจะไม่เก่งในด้านที่พี่ๆ เก่งก็ได้ ส่วนพ่อแม่ในบางครอบครัวก็ละเลยลูกคนเล็กไป โดยการไม่คาดหวังอะไรไว้กับลูกคนเล็ก เพราะเชื่อใจให้พี่คนโตรับผิดชอบมากกว่า แม้จะฟังดูเป็นเรื่องดีที่ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรภายในบ้าน แต่ก็ทำให้รู้สึกแย่ในเวลาเดียวกันที่พ่อแม่ไม่เชื่อใจเขาเท่ากับพี่ๆ

ปมในใจของลูกนอกคอก ที่รับรู้ว่าพ่อแม่รักเขาน้อยกว่าพี่น้องทุกคน

พ่อแม่อาจจะมีลูกคนโปรด ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกที่เป็นเด็กเลี้ยงง่าย (Easy child) เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกเอ็นดูเด็กที่น่ารักและว่านอนสอนง่าย ในทางกลับกัน เด็กที่เกิดมาพร้อมกับพื้นฐานอารมณ์เป็นเด็กเลี้ยงยาก (Difficult child) ร้องไห้เยอะ กินยาก นอนยาก และปรับตัวยาก แม้ว่าตัวเด็กเองจะไม่ได้ผิดอะไร เพราะสิ่งที่ติดตัวเขามาเป็นเรื่องที่ควบคุมไม่ได้ แต่พ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก อาจจะรู้สึกเหนื่อยล้ามากกว่าปกติ ทำให้บางครั้งพาลไม่อยากเลี้ยงเด็กคนนี้เสียอย่างนั้น ยิ่งถ้าครอบครัวไหนมีลูกมากกว่าหนึ่งคน และมีลูกที่เป็นเด็กเลี้ยงยาก ส่วนอีกคนเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ข้อเปรียบเทียบจะชัดเจน จนทำให้เกิดอคติที่มีต่อตัวเด็กที่เลี้ยงยากได้

กรณีที่สอง
เด็กที่ไม่ได้รับความรักจากพ่อแม่เลย 

มักจะเกิดขึ้นในครอบครัวที่ไม่ได้ตั้งใจจะมีลูก เช่น แม่วัยรุ่นหรือบุคคลทั่วไปที่ตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม (ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการท้องไม่พร้อมของทั้งคู่อาจเท่ากัน แต่แม่วัยรุ่นจะเกิดความรู้สึกเป็นตราบาป (stigma) จากการตีตราของสังคมมากกว่าผู้ใหญ่ที่ท้องไม่พร้อม) ลูกติดจากสามี-ภรรยา ลูกเลี้ยง เป็นต้น พ่อแม่อาจจะรู้สึกว่า ตนเองไม่สามารถรักลูกคนนี้ได้เลย ไม่ว่าจะพยายามอย่างไรก็ตาม อาจจะเป็นเพราะอคติบางอย่างที่เรามีต่อเด็ก และตัวเราเองอาจจะไม่พร้อมทำให้ความรักที่ควรมีให้เขาสามารถเกิดขึ้นมาได้

ซึ่งผลจากการที่รักลูกไม่เท่ากันหรือไม่รักลูก เมื่อลูกรับรู้ถึงความรู้สึกเหล่านี้ได้ ผลกระทบที่ส่งผลต่อเขาโดยตรง ได้แก่

  1. เขาอาจจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองไป เพราะขนาดพ่อแม่ของตัวเองยังไม่รักเขาเลย
  2. การรับรู้ในคุณค่าของตัวเองติดลบ ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถยอมรับตัวเอง และพัฒนาตัวตนที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพของเขาในอนาคตได้
  3. เด็กบางคนเลือกที่จะทำทุกวิถีทางเพื่อให้พ่อแม่หันกลับมามองและสนใจเขา ถึงแม้สิ่งที่เขาทำจะเหมาะสมหรือไม่ก็ตาม ยกตัวอย่างเช่น
    • ลูกบางคนเลือกที่จะทำตัวดี ขยันเรียน เรียนให้ได้คะแนนดีๆ เพื่อให้พ่อแม่ภูมิใจและชื่นชมเขาบ้าง
    • ลูกบางคนเลือกที่จะทำตัวตลกๆ หรือ ทำตัวบ้าๆ บอๆ เพื่อให้พ่อแม่สนใจสิ่งที่เขาทำ
    • ลูกบางคนเลือกที่จะทำเรื่องร้ายกาจ แกล้งพี่น้องตัวเอง ทำให้ข้าวของเสียหาย เพื่อให้พ่อแม่ดุด่าเขา เพราะการดุด่าอาจจะเป็นความสนใจเพียงอย่างเดียวที่เขาได้รับจากพ่อแม่
      ความพยายามที่ไม่เป็นผล นานวันเข้าความรู้สึกที่เกิดขึ้นจะค่อยๆ กัดกินหัวใจเกิดเป็นบาดแผลทางใจ และรอยร้าวในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับพ่อแม่และพี่น้อง
  4. ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้อง เด็กอาจจะทำตัวห่างเหิน และไม่อยากใกล้ชิดกับพี่น้องตนเอง เพราะรู้สึกเจ็บปวดที่เห็นน้องหรือพี่ได้รับความรักในขณะที่ตัวเองไม่เคยได้รับเช่นนั้น อยากเกลียดพี่น้องตนเอง แต่ก็รู้ในใจลึกๆ ว่าไม่ใช่ความผิดของพี่น้องที่พ่อแม่รักเขามากกว่าตนเอง
  5. เสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้า เพราะความเครียด ความเกลียดตัวเองจากการไม่ได้รับความรักส่งผลต่อการไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ยิ่งทำให้ไม่รู้ว่าตนเองจะอยู่ไปเพื่อใคร หรือสิ่งใด? ดังนั้น ลูกที่เติบโตมาพร้อมกับความรู้สึกว่า “พ่อแม่ไม่รักตัวเอง” หรือ “พ่อแม่รักพี่น้องมากกว่าตนเอง” อาจจะต้องกลับมาทำความเข้าใจตัวเราเอง เพราะเราไม่สามารถแก้ไขพ่อแม่ของเราได้

‘เรา’ ในฐานะลูกที่พ่อแม่ไม่สามารถรักเราได้เท่ากับพี่น้องคนอื่น
หรือไม่สามารถรักเราได้อย่างเต็มที่

ขั้นที่ 1 ยอมรับ และอนุญาตให้ตนเองรู้สึกโกรธ

เราต้องยอมรับว่า “ไม่เป็นไรที่พ่อแม่ไม่รักเราเท่ากับพี่น้องคนอื่น” หรือ “ไม่เป็นไรที่พ่อแม่ไม่สามารถรักเราได้” ไม่ใช่ความผิดของเราเลยที่พ่อแม่ทำเช่นนั้น เพราะพ่อแม่เป็นคนธรรมดา และเรามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกโกรธกับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะเราก็เป็นคนธรรมดาเช่นกัน

ขั้นที่ 2 หาที่พึ่งพิงทางใจ หรือ พื้นที่ปลอดภัย

เราต้องหาที่พึ่งทางใจที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวให้เราก้าวต่อไปได้ อาจจะเป็นบุคคลอื่นในครอบครัวที่เขารักและหวังดีต่อเรา หรือผู้ใหญ่รอบข้างที่ให้คำแนะนำเรา ช่วยเหลือเราได้ เช่น คุณครู จิตแพทย์ หรือผู้ใหญ่ท่านอื่นๆ ถ้าไม่ใช่บุคคล อาจจะเป็นความเชื่อ หรือสิ่งอื่นๆ ที่สามารถเป็นที่พื้นที่ปลอดภัยให้กับเราได้ ข้อสำคัญคือบุคคลหรือพื้นที่ดังกล่าวสามารถทำให้เรารู้สึกสบายใจ และเป็นตัวของตัวเองได้

ขั้นที่ 3 บอกความรู้สึกของเราออกไปให้พ่อแม่ได้รับรู้

ถ้ามีโอกาสพูดคุยกับพ่อแม่ของเราอย่างตรงไปตรงมา ลองบอกความรู้สึกที่เรามีให้พ่อแม่ได้รับรู้ ถึงแม้ผลที่ออกมา คือ พ่อแม่ไม่ยอมรับหรือปฏิเสธ อย่างน้อยๆ เราได้บอกสิ่งที่เรารู้สึกออกไป เราจะได้ไม่รู้สึกค้างคาใจ ที่สำคัญวันนี้พ่อแม่อาจจะไม่ยอมรับ แต่อย่างน้อยเขาได้รับรู้แล้วว่าเรารู้สึกอย่างไร สักวันพ่อแม่อาจจะยอมรับและยอมปรับความเข้าใจกับเราก็เป็นไปได้

ขั้นที่ 4  เรียนรู้ที่จะรักตัวเองก่อน

ถึงแม้พ่อแม่ไม่สามารถรักเราได้ แต่เราสามารถรักตัวเราเองได้ ถ้าวันนี้ยังไม่พร้อมรักตัวเอง ไม่จำเป็นต้องฝืน ค่อยๆ หาจุดดีของตัวเรา ค่อยๆ หาสิ่งที่เราสบายใจที่จะทำ และสิ่งที่เราอยากจะเป็น การลงมือทำคือคำตอบของการเพิ่มความรักให้กับตัวเราเอง ยิ่งเราทำอะไรเพื่อตัวเรา เราจะค่อยรับรู้ถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

ขั้นสุดท้าย หากวันใดที่เรากลายเป็นพ่อแม่ อย่าทำผิดซ้ำเดิมกับลูกของเรา

อนาคตเมื่อเรามีลูก เราสามารถรักลูกของเราได้อย่างเต็มที่ ไม่ทำให้เขาเจ็บปวดเหมือนที่เราเคยเป็นมา

‘เรา’ ในฐานะพ่อแม่ที่ไม่สามารถรักลูกได้เท่ากัน หรือ ไม่สามารถรักลูกได้

‘ความรัก’ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น มันอยู่เหนือการควบคุมบงการของมนุษย์เรา แต่ ‘ความรู้สึก’ ที่เกิดขึ้นไม่ใช่ข้ออ้างของการไม่ปฏิบัติหน้าที่ของ ‘พ่อแม่’ ที่พึงมีต่อ ‘ลูกทุกคน’ อย่างเท่าเทียม

เมื่อเราทราบเช่นนี้แล้ว ในฐานะพ่อแม่ เราทำอย่างไรได้บ้าง?

ขั้นที่ 1 เราต้องตระหนักรู้ก่อนว่า “ตัวเรารักลูกไม่เท่ากัน” หรือ ที่แย่ไปกว่านั้น คือ “เราไม่ได้รู้สึกรักลูกคนนี้เลย”

สัญญาณที่บ่งชี้ว่า เรารักลูกไม่เท่ากัน หรือ ไม่ได้รักลูกคนนี้ ได้แก่…

  1. เรารู้สึกสบายใจเมื่ออยู่กับลูกคนหนึ่งมากกว่าอีกคน ในทางกลับกันเรารู้สึกเครียด หงุดหงิด รำคาญ หมั่นไส้ กับลูกอีกคน ทั้งๆ ที่ลูกอาจจะไม่ได้ทำอะไรเลย หรือเขาแค่ทำอะไรแบบเด็กทั่วไปแต่กลับทำให้เรารู้สึกไม่อยากอยู่ใกล้
  2. เราใช้น้ำเสียงกับลูกไม่เหมือนกัน กับคนหนึ่งเราพูดกับเขาอย่างอ่อนโยน ใช้การขอให้เขาทำมากกว่าการสั่ง ในขณะที่ลูกอีกคนหนึ่งเรามักใช้น้ำเสียงแข็ง ดัง ดุ ใส่เขา เรามักสั่งเขามากกว่าพูดขอร้องเขาดีๆ
  3. เรามีช่วงเวลาดีๆ เช่น อ่านนิทาน ดูหนัง ฟังเพลง ไปเที่ยวกับลูกคนหนึ่ง ในทางตรงข้าม เรามักมีช่วงเวลาแย่ๆ เช่น ทำโทษ สั่งให้ทำงานบ้าน ทะเลาะกันกับลูกอีกคนมากกว่า
  4. เวลาเราคุยกับใครๆ เรามักพูดถึงลูกคนหนึ่งในด้านดี หรือพูดถึงลูกคนนี้บ่อยกว่าพูดถึงลูกอีกคน หรือเราสามารถนึกถึงข้อดีของลูกได้ง่ายและมากกว่าลูกอีกคนหนึ่ง
  5. เรายอมรับไม่ได้ เมื่อมีคนบอกว่า ‘เราลำเอียง’ และ ‘เรารักลูกไม่เท่ากัน’ หรือ มีอคติกับประโยค ‘พ่อแม่ไม่รักลูก’ หรือ ‘พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน’ เพราะแท้จริงแล้วเรายอมรับตัวเราเองไม่ได้ว่า เราเป็นเช่นนั้นจริงๆ เราจึงพยายามหนีความจริงข้อนี้อยู่

ขั้นที่ 2 เมื่อเราตระหนักรู้ แล้วเราควรยอมรับตัวเราเอง

เราต้องยอมรับก่อนว่า “เรารักลูกไม่เท่ากัน” หรือ “เราไม่ได้รักลูกคนนี้” เพราะพ่อแม่บางคนยอมรับไม่ได้ พาลไปสู่การเกลียดตัวเอง เกลียดลูกมากขึ้นไปอีก ซ้ำร้ายเมื่อเกิดความย้ำคิดเรื่องความรู้สึกทางลบที่มีต่อลูกตัวเอง ก็เริ่มคิดว่า “เราเป็นพ่อแม่ที่แย่มาก” “เราไม่ควรค่าพอที่จะเป็นพ่อแม่” ทำให้ความคิดลบย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราเอง ดังนั้น เมื่อยอมรับได้แล้วว่าเรามีอคติต่อลูกเรา เราควรยอมรับด้วยว่า “ความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นได้ไม่ว่ากับใคร เพราะเรายังเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง มีรัก มีชัง”

ขั้นที่ 3 แยกความรู้สึกออกจากหน้าที่ (พ่อแม่)

เราต้องระวังไม่ให้ความรู้สึก หรือความคิดภายในใจที่เรามีส่งผลต่อวิถีที่เราปฏิบัติต่อลูก กล่าวคือ ปฏิบัติต่อเด็กๆ อย่างเท่าเทียม แม้ว่าภายในใจเราอาจจะรักพวกเขาไม่เท่ากันก็ตาม

ปฏิบัติต่อลูกในฐานะพ่อแม่ของเขา เลี้ยงดู ดูแล ให้ปัจจัยสี่ สอนวินัย สอนเขาให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่

การเป็นพ่อแม่จึงเป็นมากกว่าผู้ให้กำเนิด เพราะหน้าที่พ่อแม่จะสมบูรณ์เมื่อเราทำหน้าที่ของเราโดยทิ้งอคติและความรู้สึกไว้ข้างหลัง “หน้าที่ควรมาก่อนความรู้สึกเสมอ”

เรามักเชื่อว่า “พ่อแม่รักลูกโดยปราศจากเงื่อนไข” แต่ลูกนั้นรักพ่อแม่ของเขาเช่นนั้นเหมือนกัน เพราะไม่ว่าเราจะรักลูกหรือไม่ รักไม่เท่ากันอย่างไร ลูกรักเราโดยปราศจากเงื่อนไข เขาไม่สนใจว่าพ่อแม่เขาจะยากดีมีจน รูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร เขายอมรับตั้งแต่แรกพบและรักเราอย่างไม่มีข้อแม้ ดังนั้น ไม่ว่าเราจะรักเขาหรือไม่ เราทำให้เขาเกิดมาเป็นลูกของเรา อย่างน้อยเราต้องทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้กับเขา

ขั้นที่ 4 หาตัวช่วยในวันที่เหนื่อยล้า หาเวลาพักให้กายใจบ้าง

บางครั้งความเหนื่อยล้าที่ยาวนานอาจจะทำให้คนเป็นพ่อเป็นแม่เกิดความรู้สึกไม่ดีต่อลูกของตนเองได้เช่นกัน เด็กบางคนไม่ได้เกิดมาเลี้ยงง่าย มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องคอยระวังมากมาย ดังนั้น เป็นธรรมดาที่พ่อแม่จะเกิดอาการท้อและอยากถอดใจ ทิ้งหน้าที่ออกไปสังสรรค์กับเพื่อนฝูง

พ่อแม่บางคนชีวิตก่อนมีลูกเคยไปเที่ยวเฮฮากับเพื่อนๆ ไปเที่ยวทุกสุดสัปดาห์ หรือไปดูหนัง ฟังเพลง กินดินเนอร์กันสองต่อสอง ในวันที่มีลูก เรื่องเหล่านี้แทบจะพับเก็บเข้ากรุ กว่าจะได้ทำอีกทีคงลืมไปแล้วว่าตัวเองก็เคยทำเรื่องเหล่านี้

ดังนั้น การที่ลูกเกิดมา พ่อแม่บางคนรับไม่ได้ว่า วิถีชีวิตตัวเองต้องกลับตาลปัตรเช่นนี้ เมื่อรู้แล้วว่าเราไม่ใช่คนที่จะอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน เราต้องหาทางสายกลางที่ทำให้เราไม่เหนื่อยล้าจนเกินไป ลองคุยกับสามีหรือภรรยาเรา ผลัดเวรกันบ้าง ไปออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ หรือ จะลองหาตัวช่วยอื่นๆ ในครอบครัวเราบ้าง ปู่ย่าตายาย อาจจะไม่ใช่คำตอบสุดท้าย แต่ก็เป็นตัวเลือกที่ไว้ใจได้ ในวันที่เราหมดแรงจริงๆ นอกจากนี้เมื่อรู้ว่าตัวเองเริ่มไม่ไหวกับชีวิต ตื่นมาก็เศร้า หลับตาลงก็เศร้า ร้องไห้ โมโห หงุดหงิดอยู่เสมอๆ การไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ หรือ นักจิตวิทยา อาจจะช่วยให้เราดีขึ้นได้

ข้อควรระวังในคุณแม่เพิ่งคลอด อาจจะเป็นโรคซึมเศร้า (The Baby blues) ได้ เนื่องจากฮอร์โมนหลังคลอดที่เปลี่ยนแปลงกระทันหัน คุณพ่อควรช่วยระวังคุณแม่ด้วย ถ้ามีอาการที่น่ากังวลหรือสงสัยควรพบจิตแพทย์ด่วน

ขั้นที่ 5 ความรักที่เรามีไม่มาก แต่เพิ่มขึ้นได้

ในพ่อแม่ที่รักลูกไม่เท่ากัน เราควรจะเริ่มมองหาจุดดีในตัวลูกเรา โดยเราจะเจอสิ่งดีๆ มากขึ้น เมื่อเราตั้งใจมองหา มากกว่าจับผิดลูกเรา แง่งามที่ลูกเรามีอาจจะเห็นได้ถ้าเราตั้งดู เล่นกับลูกบ้าง เล่นไม่เป็น แนะนำให้ลองเข้าไปนั่งอยู่กับเขา เชื่อเถอะลูกเราเขารู้สึกดีแล้ว แค่เรามานั่งด้วย ดีไม่ดีเขาจะชวนเราเล่นเอง

ส่วนพ่อแม่ที่ไม่เคยรักลูกคนนี้เลย อยากให้ลองหาเวลาอยู่กับลูกอย่างมีคุณภาพ สัญญากับตัวเองว่า “เราจะไม่จับผิดเขา เราจะโกรธให้น้อย ยิ้มให้มาก รับฟัง และเปิดใจ” ลูกต้องโอกาสจากเรา ลองให้โอกาสลูกเป็นที่รักของเราบ้าง

ขั้นที่ 6 ไม่พร้อมรัก อย่าฝืนรัก

อย่าเกลียดตัวเอง เมื่อเราไม่สามารถรักลูกเราได้ในวันนี้ หรือ เรารักลูกไม่เท่ากัน เพราะความรักต้องการเวลา เราต้องให้เวลาตัวเรากับลูกบ้าง ไม่มีความรักไหนเกิดได้ในเวลาเพียงข้ามวันข้ามคืน

“อยากรักเขาให้มากขึ้น” เป็นจุดเริ่มต้นและเป้าหมายที่ดี เมื่อเราตั้งไว้ เราค่อยๆ เดินไป เติมรักในใจเราทีละน้อย มองเข้าไปในดวงตาของลูก คุยกับเขา ฟังเสียงเขา แม้วันนี้เขายังพูดจาไม่เข้าหู ทำตัวไม่น่ารักในสายตาเรา อย่างน้อยเราได้มองเห็นเขาแล้ว และเขารู้แล้วว่า “เขามีตัวตนในสายตาพ่อแม่นะ”

อย่าฝืนรักในวันที่ไม่พร้อม เพราะในเมื่อเด็กรับรู้ได้ถึงความจริงใจจากเรา เขาย่อมรับรู้ได้ถึงความฝืนใจ และแสร้งทำของเราเช่นกัน ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป

ข้อที่ 7 สำคัญมาก ถ้าสุดๆ จากใจแล้ว รักไม่ได้ไม่เป็นไร ขออย่าทำร้ายกันก็พอ

พ่อแม่บางคนสุดท้ายก็ไม่สามารถรักลูกตัวเองได้จากใจ หรือ รักลูกไม่เท่ากัน ถ้าลูกรับรู้เขาย่อมเจ็บปวด แต่สิ่งที่เจ็บปวดมากกว่านั้น คือ การทำร้ายเขาด้วยความอคติที่เรามีส่งผ่านไปสู่ “คำพูด” และ “การกระทำ” ของเรา เช่น พูดจาประชดประชัน ดูถูก เสียดสีทำร้าย และการทำร้ายทางร่างกาย

สำหรับลูก “แค่ไม่รักเขา” มันก็เจ็บมากพอแล้ว อย่าทำร้ายเขาเพิ่มเลย

สุดท้าย เราเองต้องกลับมาทบทวนเยอะๆ ว่า “ความรักที่เรามีให้ลูกไม่เท่ากัน หรือ มีให้ลูกไม่ได้” เป็นเพราะตัวเราเองมีปมค้างคาในอดีตที่เราไม่เคยแก้มันหรือเปล่า บางครั้งเราแก้มันด้วยตัวเองไม่ได้ การไปพบจิตแพทย์อาจจะช่วยเราได้

ลูกเราไม่ดีพอ หรือ ตัวเราเองต่างหากที่ไม่พอดี

ขอเป็นกำลังใจให้กับพ่อแม่ และลูกๆ ที่กำลังหาคำตอบให้กับตัวเอง

ขอให้ทุกท่านมีความเข้มแข็ง และก้าวข้ามผ่านความรู้สึกนี้ไปได้

Tags:

The Untold Storiesพ่อแม่จิตวิทยาแบบแผนทางความสัมพันธ์ความรักการเลี้ยงลูก

Author:

illustrator

เมริษา ยอดมณฑป

นักจิตวิทยาเจ้าของเพจ ‘ตามใจนักจิตวิทยา’ เพจที่อยากให้ทุกคนเข้าถึง ‘นักจิตวิทยา’ ได้มากขึ้นในฐานะเพื่อนแปลกหน้าผู้เคียงข้าง ปัจจุบันเป็นนักจิตวิทยาที่ห้องเรียนครอบครัว เป็น "ครูเม" ของเด็กๆ และคุณพ่อคุณแม่ ความฝันต่อไปคือการเป็นนักเล่นบำบัด วิทยากร นักเขียน และการเปิดร้านหนังสือเล็กๆ เป็นของตัวเอง

Illustrator:

illustrator

ninaiscat

ทิพยา ทิพย์พันธ์ (ninaiscat) เป็นนักวาดภาพประกอบและนักออกแบบกราฟิกอิสระ ชอบแมว (เป็นชีวิตจิตใจ) ชอบทำกับข้าว กินกาแฟทุกวันและมีความฝันว่าอยากมีบ้านสักหลังที่เชียงใหม่

Related Posts

  • Family Psychology
    ลูกไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (พ่อแม่ก็เช่นกัน)

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    ความเข้าใจผิดที่ส่งต่อกันมา EP.3 การแสดงออกซึ่งความรัก

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    ลำดับการเกิดที่แตกต่าง มาพร้อมความคาดหวังและภาระที่ต้องแบกรับไม่เท่ากัน

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

  • Family Psychology
    พ่อแม่ห้ามด้วยความเป็นห่วงแต่ลูกตีความว่าถูกตำหนิ และอีกหลายความขัดแย้งในบ้าน อ่านวิธีคลี่คลายที่นี่

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ เพชรลัดดา แก้วจีน

  • How to get along with teenagerAdolescent Brain
    สมองวัยรุ่น เมื่อต้องรับมือกับความผิดหวัง อกหัก!

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้ นิทรรศการแสดง ‘หลักฐาน’ รับน้อง ที่ต้องการยืนยันว่าการละเมิดมีจริงและไม่ควรถูกทำให้หายไป
Voice of New Gen
21 October 2020

SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้ นิทรรศการแสดง ‘หลักฐาน’ รับน้อง ที่ต้องการยืนยันว่าการละเมิดมีจริงและไม่ควรถูกทำให้หายไป

เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • “ถ้ามันจะหายไปเฉยๆ ก็มีโอกาสที่เรื่องแบบนี้จะกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีก ที่เราทำแบบนี้ก็เพื่อทบทวน พยายามที่จะไม่ให้บาดแผลเกิดขึ้นอีก” แฟรงค์ – ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ
  • ‘SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้…’ จัดโดย whistleblower นิทรรศการที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในการจัดรับน้องของคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
  • “เรามีสิทธิเหนือร่างกายของเรา แต่ทำไมเราถึงยอมทำแบบนี้? ก็เพราะการรับน้องมันทำให้คนที่ทำหรือคนที่โดนไม่คิดว่า ‘นี่ฉันกำลังโดนล่วงละเมิดสิทธิ์นะ’ เราคิดกับมันว่าเป็นแค่กิจกรรมหนึ่ง เราไม่ได้คิดถึงว่ามันริดรอนสิทธิ์ในตัวคุณเอง มันลดคุณค่าในตัวของเรา ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเรื่องของสิทธิล้วนๆ แถมเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะคือการสร้างความเป็นกลุ่มก้อน เชิดชูสถาบันนิยมที่คนอื่นไม่สามารถตั้งคำถามกับสิ่งนี้ได้”

‘อึดอัด’

ความรู้สึกแรกที่เราได้รับหลังจากก้าวเท้าเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมอันเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ ‘SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้…’ โดย whistleblower นิทรรศการที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในการจัดรับน้องของคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร

whistleblower การรวมตัวของกลุ่มศิลปินที่มีจุดร่วมเดียวกัน คือ ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง พวกเขาสร้างบุคคลสมมติขึ้นมาแทนตัวศิลปินนามว่า whistleblower

ก่อนจะถึงเวลาที่เรานัดคุยกับหนึ่งในผู้จัดงาน เราใช้เวลาไปกับการเดินดูงานนิทรรศการ ถึงแม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ มีของไม่กี่ชิ้น แต่ใช้เวลาในการดูงานแต่ละชิ้นเยอะอยู่ เพราะต้องตีความว่าสิ่งๆ นี้สื่อสารถึงอะไร

สาเหตุของความอึดอัด ไม่ใช่เพราะขนาดห้องจัดแสดง แต่มาจากภาพถ่ายขนาดใหญ่แขวนบนกำแพง เป็นภาพชายคนหนึ่ง ร่างกายเปลือยเปล่าปราศจากเครื่องนุ่มห่ม มันทำให้เรารู้สึกอึดอัดที่จะมอง ไม่กล้ามองร่างเปลือยก็เหตุผลหนึ่ง แต่เหตุผลสำคัญคืออารมณ์ของภาพที่สื่อสารออกมาเหมือนกับว่าชายคนนี้ถูกบังคับให้แก้ผ้า ส่วนของชิ้นอื่นๆ มีกองสีดำขนาดใหญ่อยู่มุมห้อง พอเดินไปดูใกล้ๆ ก็พบว่าเป็นเสื้อสีดำหลายสิบตัวกองรวมกัน เหรียญสีทองขนาดเล็กห้อยอยู่กลางงาน เสื้อนักศึกษาที่ปักคำว่า ‘ต่อไปนี้คุณชื่อ…’ สมุดสีขาวเล่มที่หน้าปกเป็นรูปอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีข้อความกำกับไว้ว่า ‘8 วิธีหนีรับน้อง’

หน้าจอมือถือโชว์เลข 13.30 น. ได้เวลาที่เราต้องเดินทางไปคุยกับแฟรงค์ – ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ ตัวแทนกลุ่มที่จัดงานครั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจข้อความที่คนส่งงานต้องการสื่อสารมากขึ้น

ชายที่อยู่ตรงหน้าเรา เป็นบัณฑิตใหม่วัย 24 ปี ที่เพิ่งจบจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาพลักษณ์เขาเป็นอย่างที่เราคาดไว้ ชายหนุ่มไว้ผมยาว ใบหน้ามีหนวดเครา สวมเสื้อยืดสีดำ ให้ลุคหนุ่มติสท์ 

ที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ ‘เราไม่มีวันลืม เก็บไว้เป็นบทเรียน’

แฟรงค์ – ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ

หลังจากพูดคุยตามประสารุ่นพี่รุ่นน้องร่วมมหาวิทยาลัยแต่ไม่ร่วมวิทยาเขต แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ ‘ฉันเจอ เธอเจอ’ เราก็ชวนแฟงค์เข้าสู่บทสนทนาที่เตรียมไว้ เริ่มจาก ‘ที่มาของนิทรรศการนี้คืออะไร?’ แฟรงค์ตอบว่า จุดเริ่มต้นมาจากทางมหาวิทยาลัยประกาศให้ปีนี้งดกิจกรรมรับน้อง เพราะป้องกันโควิด-19 แต่สำหรับแฟรงค์และเพื่อนคนอื่นๆ ที่เคยอยู่คณะจิตรกรรม เขารู้สึกตกใจมากที่คณะจะยกเลิกกิจกรรม เพราะสำหรับคณะที่การรับน้องคือประเพณีที่ทุกคนต้องผ่านให้ได้นั้น ไม่มีทางยกเลิกแน่ๆ หรือถ้ายกเลิกจริง มันก็ไม่ควรที่ ‘อยู่ๆ ก็ยกเลิกไป’ แต่ต้องมีการทำบทเรียนเอาไว้

“ถ้ามันจะหายไปเฉยๆ ก็มีโอกาสที่เรื่องแบบนี้จะกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีก การที่เราทำแบบนี้ก็เพื่อทบทวน พยายามที่จะไม่ให้บาดแผลเกิดขึ้นอีก”

ส่วนกลุ่ม whistleblower พวกเขาคือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง และพยายามรวมกลุ่มกัน เพื่อไม่ให้ใครรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือแปลกแยกจากสังคม แฟรงค์บอกว่า การรับน้องถูกทำให้เป็นพิธีกรรมรวมหมู่บางอย่าง ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่อินจะถูกผลักไสออกไป พวกเขาจะรู้สึกเคว้งเพราะไม่มีพวก ฉะนั้น การสร้างกลุ่มหรือการส่งเสียงบางอย่างมันจึงสำคัญ สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง

รวบรวมหลักฐาน

การจัดแสดงโชว์ได้มาจากการผสมผสานระหว่างพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ พิมพ์เขียวจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน เก็บรวบรวมสิ่งของที่ประชาชนใช้ในการชุมนุมทางการเมือง 

“ไม่ใช่เเค่การ collect วัตถุ แต่เราพยายามจะ collect ไอเดียบางอย่างด้วย อยากทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์มากกว่างานศิลปะ เพราะ หนึ่ง – เราอยากทำให้เป็นงานที่พูดเรื่องเดียวโดยที่ไม่ต้องไปประกาศว่าใครเป็นคนสร้าง ไม่ต้องค้นว่าชิ้นนี้ใครเป็นคนทำ เพราะผมคิดว่ามันจะกลับไปสู่การเชิดชูคุณค่าในความเป็นศิลปิน

“สอง – เราอยากรวบรวมสิ่งของที่มีอยู่จริงๆ ถูกใช้ในการรับน้องจริง คล้ายๆ การเก็บหลักฐานที่ยังเหลือไว้ ซึ่งมันก็อาจทำให้งานเราเฉพาะกลุ่มมากๆ เพราะแต่ละที่เขามีวิธีการรับน้องไม่เหมือนกัน งานนี้ก็พูดใน feel ของเรา แต่ผมคิดว่ามันยังลิงก์กับคนทั่วไปได้อยู่” 

จริงอย่างที่แฟรงค์บอกว่างานมีความเฉพาะ ถ้าไม่ได้รับน้องที่คณะนี้เราคงไม่รู้ที่มาของของแต่ละชิ้น แต่เรายังคงได้รับพลังการถูกบังคับ ความกดดันออกมาจากของพวกนี้ เราขอให้แฟรงค์ช่วยอธิบายชิ้นงานแต่ละชิ้น เขาเริ่มจากเหรียญทองที่แขวนอยู่กลางห้อง เป็นเหรียญที่สลักคำว่า silpakornism (ศิลปากรนิยม) แฟรงค์บอกว่า เขาได้เหรียญนี้ตอนเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ตอนปี 2015 เป็นเวลา 3 วัน เป็นกิจกรรมที่เด็กปี 1 เกือบทุกคณะต้องเข้าร่วม “ผมชอบชื่อเหรียญนะ มันให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเข้าลัทธิบางอย่างที่รวมคนเป็นกลุ่ม”

สิ่งต่อมาคือ กองเสื้อผ้าสีดำขนาดย่อม แฟรงค์เล่าว่า มีช่วงหนึ่งของการทำกิจกรรมรับน้อง รุ่นพี่จะให้นักศึกษาชายรวมตัวกันแล้วถอดเสื้อดำทิ้ง จากนั้นก็นำมากองรวมกัน แล้วให้นักศึกษาหยิบไปใส่ใหม่ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะใส่เสื้อของใคร “น้องปีหนึ่งทุกคนจะต้องใส่เสื้อสีดำเวลาลงรับน้อง และต้องตัดผมด้วย ไอ้กองเสื้อผ้านี้มาจากเหตุการณ์ตอนอาบน้ำรวม ช่วงที่ต้องรับน้อง 3 วันที่นครปฐม รุ่นพี่เขาบอกว่าให้ถอดเสื้อผ้าออก โยนมากองรวมกัน จากนั้นก็ให้หยิบเสื้อมาใส่ ทุกคนจะไม่รู้ว่าเสื้อผ้าตัวเองอยู่ไหน เเล้วตอนใส่เราก็อาจจะได้ใส่กางเกงในของคนอื่น”

เสื้อนักศึกษาที่ปักคำว่า ‘ต่อไปนี้คุณชื่อ…’ แฟรงค์เล่าว่า เมื่อเข้าคณะนี้ทุกคนจะต้องลบชื่อเดิมทิ้ง แล้วใช้ชื่อที่รุ่นพี่ตั้งให้แทน ส่วนหนังสือ 8 วิธีหนีรับน้อง เมื่อหลายสิบปีก่อนมีรุ่นพี่เคยทำสมุดเล่มนี้เอาไว้ แจกจ่ายให้กับรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ เขาเดาว่ารุ่นพี่คนนั้นต้องการให้น้องรู้ว่าพวกเขามีทางเลือก ถ้าไม่อยากเข้ารับน้อง ก็ไม่ต้องทำ และเพื่อรวมกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง อย่างที่บอกว่าสมัยก่อนเรื่องการต่อต้านรับน้องมันเป็นเรื่องที่พูดกันในวงเล็กๆ จับกลุ่มกันคุย สมุดนี่ก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการต่อต้านเรื่องนี้มานาน เพียงแต่เขาอาจจะแสดงตัวไม่ได้มาก

“รูปผู้ชายเปลือย เราอยากสื่อสารว่า การเข้ารับน้อง เราถูกทำให้ไม่มีอำนาจในร่างกายเราเอง ถูกสั่งให้ทำอะไรก็ได้ ก้มหน้าหลับตา ยืนนิ่งๆ หรือแม้แต่การเปลือย”

ประเพณีการรับน้อง: สร้างกลุ่มให้เชิดชูกับบางสิ่งที่เราไม่สามารถตั้งคำถามได้

“ศิลปะมันเป็นเรื่องพื้นฐานของคน เป็นเรื่องอิสระในการแสดงออก ไม่ควรถูกบังคับหรือกีดกัน แต่การรับน้องที่นี่มันคล้ายกับพิธีกรรมที่เปลี่ยนคุณให้เข้ากับความเป็นที่นี่ ตอนที่ทุกคนจะเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร เราเข้าใจว่าศิลปากรคือสถาบันศิลปะอันดับหนึ่ง ซึ่งทุกคนยอมเปลี่ยนตัวเองเพื่อที่จะเข้ามาเป็นลูกอาจารย์ศิลป์ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขายอมทำอะไรก็ได้ เพื่อได้เป็นส่วนหนึ่ง”

ด้วยความที่คณะจิตรกรรม คือ คณะศิลปะ ซึ่งสำหรับเราพอนึกถึงคำว่าศิลปะ คำที่มักมาคู่กัน คือ อิสระแต่ทำไมคนที่ทำงานศิลปะกลับใช้วิธีการบังคับคนอื่นแบบนี้? แฟรงค์ตอบว่า 

“ในสายตาของคนทั่วไปคิดว่าศิลปะมีเสรีภาพ นั่นทำให้เราไม่เข้าใจเลย ช่วงที่เข้ามาแรกๆ ผมรู้สึกว่าที่นี่มีความสถาบันนิยมสูงมาก เต็มไปด้วยประเพณีที่ปฏิบัติต่อกันมา แล้วถูกสร้างความชอบธรรมผ่านการรับรองว่า การทำกิจกรรมพวกนี้จะทำให้คุณกล้าแสดงออก การทำให้คุณรักเพื่อนๆ แล้วเกี่ยวข้องกับความเป็นสถาบันนิยมแบบอิงตัวบุคคลด้วย

“ที่คณะจิตรกรรม เขาจะยกอาจารย์ศิลป์ พีระศรีมาใช้ในการรับน้องด้วย คล้ายๆ กับเป็นพ่อ แล้วคุณต้องแสดงความรักให้กับพ่อ ก็คือการอิงตัวบุคคลมันก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมเรื่องการรับน้องด้วย

“การอ้างเรื่องว่าคุณรักสถาบันหรือรักอาจารย์ศิลป์ไหม เพื่อใช้บังคับให้รุ่นนั้นๆ ต้องอยู่ให้ครบเพื่อแสดงความรักบางอย่าง”

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น แฟรงค์เล่าว่า แต่ละมหาวิทยาลัยจะรับน้องไม่เหมือนกัน  ที่คณะจิตรกรรมรุ่นพี่ใช้ระบบโซตัส* ในการรับน้อง เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนตัวตนใหม่ของเรา เหมือนกับเราย้ายไปอยู่ที่ที่เขามีประเพณีปฏิบัติกันมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว เราในฐานะเด็กใหม่ที่เข้าไปก็ต้องถูกเปลี่ยนตัวเองให้ยอมรับประเพณี กฎบางอย่างที่มีอยู่ ที่คณะแฟรงค์เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นชื่อที่ใช้ในคณะ เป็นการเกิดใหม่

“เราคิดว่าการเรียนมหาวิทยาลัยคือการทำให้เรายกระดับทางชนชั้นขึ้น ฉะนั้น เราเลยต้องปรับตัวเองเพื่อให้เราเข้ากับสังคมนี้ได้ เเล้ววงการศิลปะบ้านเรามันเล็กๆ ภาพความสำเร็จถูกผูกติดไว้ที่ตัวบุคคล ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงไม่กี่คน เช่น อ.เฉลิมชัย อ.ถวัลย์ การเข้ามาในมหาวิทยาลัยที่อาจารย์ศิลปะเหล่านั้นเคยเรียนอยู่ ถูกรุ่นพี่บอกว่าพวกเขาต่างก็เคยผ่านประเพณีพวกนี้ ทำไมเราจะผ่านไม่ได้? ถ้าอยากประสบความสำเร็จเเบบเขา

“เรื่องที่ครอบครัวคิดด้วยว่า ถ้าลูกเรียนศิลปะก็เติบโตยาก อาจทำให้โครงสร้างของโซตัสแข็งแรงขึ้นด้วย หมายถึง คนที่เรียนพยายามพิสูจน์ตัวเองว่า เราต้องอยู่กับสิ่งที่เราเลือกให้ได้ เราก็เลยยอมรับพิธีกรรมโซตัส เพราะถ้ามีปัญหา เราก็จะแพ้เหมือนที่พ่อแม่บอก”

ทำไมถึงไม่ขัดขืนละ หรือต่อต้าน? เราคิดว่านี้อาจเป็นคำถามที่ผู้อ่านบางคนคิดคล้ายกัน การที่เราถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ต้องการ ทำไมเราไม่ปฎิเสธ นั่นเป็นสิทธิของเรานะ แฟรงค์บอกว่า เขาเองก็รู้สึกว่าสิ่งๆ นี้ มันลิดรอนเสรีภาพและการกระทำต่อร่างกายเรา 

“แต่คำว่า ‘ปฎิเสธได้นะ’ มันขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เขาจะบอกว่าไม่ได้บังคับ ใครอยากเข้าก็เข้า แต่มันมีเรื่องการกดดันทางสังคม ‘ถ้าคุณไม่เข้าเพื่อนคุณเหนื่อยนะ โดนทำโทษแทนคุณ’ ตัวเราก็จะถูกเพื่อนเกลียดเพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เพื่อนโดนทำโทษ หรืออ้างเรื่องความรักในตัวของสถาบัน”

“เรื่องโซตัสมันไม่ใช่แค่การรับน้อง แต่มันเป็นเรื่องของอำนาจนิยม คือการสร้างความเป็นหมู่คณะคล้ายๆ กับการรักอุดมการณ์ชาตินิยม รักสถาบันบางอย่างที่ทำให้ทุกคนไม่ตั้งคำถามกับตัวสถาบันนั้น แล้วก็พร้อมที่จะทำลายคนที่เห็นต่าง หรือตั้งคำถาม หรือทำในสิ่งที่เขาคิดว่าทำให้สถาบันเสื่อมเสีย”

ถามว่ารู้สึกว่ามันผิดปกติไหม? แฟรงค์บอกเขารู้สึกไม่โอเคตั้งแต่รับน้องแรกๆ และพยายามมองหาคนที่พอจะคุยเรื่องนี้ได้ มองหาเพื่อน มองหารุ่นพี่พยายามบอกว่าตัวเองไม่โอเค แต่ก็กัดฟันลองทนทำดูเพราะอยากรู้ว่ามันจะไปถึงแค่ไหน สุดท้ายอยู่ไปได้ครึ่งทางตัวเขาก็รับไม่ไหวแล้ว “วันนั้นเขาให้เรากระโดดกบขึ้นบันได 5 ชั้น จากชั้นบน ทุกคนปวดขาหมด ทำให้เรารู้สึกว่าจะอยู่ไปทำไม อยู่ไปมันก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มันแย่อยู่แล้ว ก็ไม่ควรที่จะต้องเอาตัวเองมาทำอะไรเเบบนี้”

เเต่โชคดีที่แฟรงค์พอมีรุ่นพี่บางคนที่พอคุยได้ แต่ว่า ณ ตอนนั้นมันก็แค่เราอาจจะแค่ปรับปรุง แต่ไม่ได้ถึงกับสามารถแสดงออกชัดเจนได้ มันก็ต้องอาศัยเวลา พอรุ่นต่อๆ มา คนกล้าแสดงออกมากขึ้น คนกล้าอาจจะด้วยสังคมที่มีประเด็นทางโซเชียลเกิดขึ้น เเล้วคนสามารถแสดงออกเพิ่มมากขึ้นและมีเรื่องที่โดนแฉออกไป

“ผมอยากกลับไปที่พูดเรื่องที่เราต่างก็รู้กันอยู่ว่า เรามีสิทธิเหนือร่างกายของเรา แต่ทำไมเราถึงยอมทำแบบนี้? ก็เพราะการรับน้องมันทำให้คนที่ทำหรือคนที่โดนไม่คิดว่า ‘นี่ฉันกำลังโดนล่วงละเมิดสิทธิ์นะ’ เราคิดกับมันว่าเป็นแค่กิจกรรมหนึ่ง เราไม่ได้คิดถึงว่ามันริดรอนสิทธิ์ในตัวคุณเอง มันลดคุณค่าในตัวของเรา ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเรื่องของสิทธิล้วนๆ แถมเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะคือการสร้างความเป็นกลุ่มก้อน เชิดชูสถาบันนิยมที่คนอื่นไม่สามารถตั้งคำถามกับสิ่งนี้ได้ ผมคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นชาตินิยมด้วย

“สุดท้ายมันไปอยู่มันไปยึดโยงอยู่กับศูนย์กลางบางอย่างก็คือการมีรับน้องรวม ตราบใดที่ยังมีรับน้องรวมอยู่ในแต่ละคณะ เหมือนจะต้องบังคับหรือว่าทำอะไรก็ตามที่จะทำให้ทุกคนไปรวมกันไปทำอะไรแบบเดียวกันอยู่ ซึ่งเหมือนการแสดงอำนาจบางอย่าง อาจจะด้วยความเป็นสถาบันนิยมซึ่งผมคิดว่ามันเป็นส่วนเดียวกันกับประเด็นเรื่อง sotus คือการชูเรื่องสถาบันความเป็นหมู่คณะ”

หลายคนอาจรู้สึกว่า ‘เพราะเธอแอนตี้รับน้องหรือเปล่า? พูดแต่ข้อเสียของมัน’ สำหรับแฟรงค์เขาไม่ได้แอนตี้การรับน้อง เพียงแต่ไม่ชอบวิธีการที่รุ่นพี่ใช้ สำหรับเขาถ้าจุดประสงค์ของการรับน้อง เพื่อทำความรู้จักสร้างมิตรภาพ มันมีอีกเป็นร้อยวิธีให้เลือก แต่ทำไมเราถูกบังคับว่ามีแค่ทางนี้ทางเดียว 

“ปัญหาของมันผมว่าอยู่ที่วิธีการ พี่เอาโซตัสมาใช้ในการรับน้อง ที่อื่นเขายกเลิกกันไปแล้ว แม้แต่ที่อังกฤษที่เป็นต้นกำเนิด เพราะมันเป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับคนให้ไม่เท่ากัน พอยิ่งมาใช้ในประเทศไทยที่สังคมเรามีเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว มันก็ยิ่งส่งเสริม ความสัมพันธ์คนต่ำ-สูง ความคลั่งสถาบัน”

เปลี่ยนบาดแผลให้เป็นบทเรียน

ศิษย์เก่าศิลปากรที่เรารู้จักบางคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘งานนี้มันจัดได้เหรอ?’ แฟรงค์บอกสิ่งที่ทำให้งานครั้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับประเด็นทางสังคม หรือการเมืองมากขึ้น แฟรงค์เน้นว่า ถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่มีใครกล้าออกมาแสดงจุดยืนแบบนี้ เพราะคนที่ต่อต้านยังเป็นเเค่คนกลุ่มเล็กๆ ทำได้เพียงแค่หลบหนี มันก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่า ถ้าเรารวมกลุ่มกันให้มากพอ เเล้วเราก็จะสามารถโต้ตอบกับบางสิ่งบางอย่างได้

“ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสถานการณ์เหมือนเดิม แต่ในเเง่การเมืองความคิดพวกนี้รุ่นเเรงขึ้นก็มาจากความคิดฝ่ายขวาด้วย มันเลยสัมพันธ์กับความเป็นไปในสังคมด้วย ทุกวันนี้น่าสนใจว่าทำไมคนตั้งคำถามมากขึ้น อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เขาเริ่มไม่โอเคกับไอเดียแบบเก่าที่เป็นอนุรักษ์นิยม

“เรื่องรับน้องมันเลยไม่ fit in กับคนรุ่นนี้ ทำให้เขาตั้งคำถาม”

คนส่วนใหญ่จะคิดว่ารับน้อง หรือการเมืองมันไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะ แต่ในมุมของแฟรงค์เขาคิดว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ได้ เขาอธิบายว่า คนทำงานศิลปะจะถูกสอนว่าศิลปะมีความบริสุทธิ์ คุณไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอะไร แค่ทำงานศิลปะไปก็พอ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันก็อาจจะทำให้คิดแค่ทำงานตัวเอง ไม่สนใจอย่างอื่น เช่น คุณทำงานศิลปะที่พูดถึงคุณค่าของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันศิลปินคนนั้นกลับเห็นด้วยกับการรับน้องที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ คือสองสิ่งนี้ (ผลงานและเจ้าของ) มันมักจะถูกมองแยกขาด 

“ผมคิดว่ามันคือการทำในสิ่งที่คุณเชื่อ คือถ้าคุณทำสิ่งๆ หนึ่งที่มันพูดเรื่องหนึ่ง แต่ว่าจริงๆ แล้วคุณเชื่ออีกเเบบหนึ่ง สรุปคุณไม่เชื่อสิ่งที่คุณทำออกมางั้นเหรอ? สมมติคุณทำงานศิลปะให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่คุณกลับยอมรับการรับน้องที่ละเมิดสิทธิคนอื่น? ก็แล้วแต่คนนะบางคนอาจจะคิดว่ามันก็ได้ เเต่สำหรับผม ผมรู้สึกว่าเราควรทำในสิ่งที่เราเชื่อ ไม่งั้นจะให้ใครมาเชื่องานเรา”

แล้วในแง่ความเป็นรูปธรรม ศิลปะกับการเมืองมันเกี่ยวข้องอย่างไร? แฟรงค์ตอบว่า แล้วแต่มุมมองคน บางคนมองว่าศิลปะควรเป็นเครื่องมือสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย แต่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเยอรมันก็มีการใช้ศิลปะเป็นตัวสื่อสาร ฉะนั้น สำหรับแฟรงค์ ศิลปะมันก็คือเครื่องมือสื่อสารอย่างหนึ่ง ศิลปะเป็นตัวกลางมากกว่า เป็นแค่เครื่องมือบางอย่างที่สุดที่เราจะนำเสนอเรื่องบางอย่าง

“ศิลปะสามารถสื่อสารเรื่องประชาธิปไตยและในขณะเดียวกันมันก็ถูกฝ่ายที่เป็นเผด็จการใช้ได้เหมือนกัน สำหรับนิทรรศการนี้มันก็คือการพยายามสื่อสารและเราสื่อสารกันผ่านนิทรรศการที่มันดูเป็นศิลปะ เพราะด้วยเราต้องการจะสื่อสารกับคนคนในคณะนี้ด้วยมั้ง แล้วก็ด้วยความเป็นตัววัตถุของมันด้วย แสดงที่ดูเป็นศิลปะเลยเหมาะสม”

ตลอดเวลาที่คุยกันเราเห็นสิ่งหนึ่งที่แฟรงค์มี คือ ความ suffer ที่ได้จากการรับน้องมันยังคงหลงเหลืออยู่ในตัวแฟรงค์ เขาตอบรับว่า ใช่ เขายังคงรู้สึกแบบนั้น ทำให้แม้จะเรียนจบมาแล้วแต่เขายังอยากทำงานขับเคลื่อนประเด็นนี้อยู่

“ผมคิดว่าเรื่องนี้มันคล้ายเรื่อง 6 ตุลาฯ เลย ถึงจะผ่านมาแล้ว และเราก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วยซ้ำ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ควรมีใครต้องโดนแบบนี้ และคงเป็นเพราะมันยังเป็นเรื่องที่เรารู้สึกตลอดเวลา ความรู้สึกนี้คงจะไม่หายไปถ้าไม่มีใครทำอะไรสักอย่าง การละเมิดสิทธิในสถานศึกษามันก็จะไม่หายไป” 

ระบบโซตัส (Sotus)

ระบบการรับน้องที่มีต้นกำเนิดมาจากระบบอาวุโสในโรงเรียนกินนอนของประเทศอังกฤษ ต่อมาขยายไปยังสถาบันศึกษาในอเมริกา นิยมในสายสังคม สายทหาร และสายเกษตรศาสตร์

โดยแต่ละตัวอักษรคือคุณสมบัติที่คนเข้าร่วมโซตัสต้องมี คือ Seniority การเคารพผู้อาวุโส, Order การปฎิบัติตามระเบียบวินัย, Tradition การปฎิบัติตามธรรมเนียมประเพณี, Unity การมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว และ Spirit การมีน้ำใจ

นิทรรศการ SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้… เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม – 31 ตุลาคม เวลา 09.00 – 16.00 น. ที่ EX SPACE หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.art-centre.su.ac.th/ex-space.html
อ้างอิง
TCIJ

Tags:

วัยรุ่นประชาธิปไตยการรับน้อง

Author:

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Photographer:

illustrator

ศรุตยา ทองขะโชค

ออกเดินทางเก็บบันทึกห้วงอารมณ์ความสุขทุกข์ผ่านภาพถ่าย ร้อยเรียงความคิดในใจก่อนลั่นชัตเตอร์ ภาพทุกภาพล้วนมีเรื่องราวและมีที่มา ตัวเราเองก็เช่นกัน ในอนาคตอยากทำหลายอย่าง หนึ่งในลิสต์ที่ต้องทำแน่ๆ คือออกไปเผชิญโลกที่กว้างกว่าเดิม เพื่อบันทึกเรื่องราวที่เติมเต็มจิตใจให้พองฟูได้มากกว่าเดิม

Related Posts

  • Voice of New Gen
    การมีบ้านเมืองที่มองเห็นอนาคต : โลกใบใหม่ที่คนรุ่นใหม่วาดฝัน

    เรื่อง กุลธิดา ติระพันธ์อำไพ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Social Issues
    การเคลื่อนไหวของนักเรียนนักศึกษา โอกาสสำคัญในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้เรื่องประชาธิปไตย: ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร

    เรื่อง ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร

  • Learning Theory
    พื้นที่ที่ 5 (THE 5TH SPACE) สำหรับคนรุ่นใหม่ เพื่อค้นพบศักยภาพและเปลี่ยนแปลงสังคม

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • Learning Theory
    The 5th space: พื้นที่ที่ 5 ที่คนรุ่นใหม่สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้รู้ว่า “ฉันเป็นใคร มีศักยภาพอะไร”

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • Social Issues
    “ก็มาเลือกตั้งดิค้าบ” ฟังเสียง 9 น้องใหม่กับการเลือกตั้งครั้งแรก

    เรื่อง The Potential

Dick Johnson is dead: ให้เรื่อง ‘ความตาย’ เป็นเรื่องที่พูดได้ในครอบครัว
MovieDear Parents
16 October 2020

Dick Johnson is dead: ให้เรื่อง ‘ความตาย’ เป็นเรื่องที่พูดได้ในครอบครัว

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Dick Johnson is dead หนังสารคดีโดยผู้กำกับหญิง Kristen Johnson ถ่ายทอดเรื่องราวของพ่อเธอที่ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ จุดเด่นของสารคดีเรื่องนี้ คือ การที่ลูกสาวและพ่อช่วยกันออกแบบวิธีการตายของพ่อ
  • “ความตายมันไม่ใช่ของเราคนเดียวจริงๆ เช่นเดียวกับหนังสารคดีเรื่องนี้ ถึงจะถูกสร้างมาเล่าถึงตัวพ่อที่กำลังป่วย แต่คนทำคือลูกสาวที่อยากจะเก็บความทรงจำระหว่างเธอกับพ่อเอาไว้ เราเลยอยากให้เรื่องการคุยกันถึงความตายเป็นเรื่องที่ถูกมองเป็นเรื่องธรรมดา เป็นเรื่องที่เราคุยกันได้ และต้องคุยกัน ก่อนที่จะไม่ได้คุย”

Tags:

พิมพ์พาพ์ความตายจิตวิทยา

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • How to enjoy life
    ฮุกกะ (Hygge): สุขแบบไม่หิวแสง จริตชีวิตในแบบฉบับคนเดนมาร์ก

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • Relationship
    เกมของความรัก เกมที่ชนะคนเดียวไม่ได้

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Growth & Fixed Mindset
    เปลี่ยนคำชมจาก ‘เก่งจัง’ ‘ฉลาดมาก’ เป็น พยายามดีมาก ยากแค่ไหนเขาก็จะสู้

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา ภาพ บัว คำดี

  • Character building
    บอกเด็กๆ อย่างไร เรื่องความตายและการพลัดพราก

    เรื่อง ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ

  • Family Psychology
    สอบตกไม่ใช่เรื่องใหญ่ ทำยังไงให้เด็กไว้ใจเล่าให้ฟัง

    เรื่อง The Potential ภาพ KHAE

Posts navigation

Older posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel