โรงเรียนต้องเปลี่ยนจากที่ที่เด็กมาเรียน มาเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน – แนวคิดสำคัญของโรงเรียนมีชัยพัฒนา มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโรงเรียน ต้องการสร้างคนที่ประเทศต้องการคือมีทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เพื่อออกไปใช้ชีวิตได้จริง“ฉะนั้นการศึกษาต้องเข้าใจจริง ปฏิบัติได้ มีเหตุมีผล” เพราะที่ผ่านมากระทั่งปัจจุบัน เราสร้างการเรียนที่ไม่รู้มามากพอแล้ว
ด้วยเนื้อที่ขนาด 8 ไร่ มี ‘ไม้ไผ่’ เป็นขาใหญ่ยึดอยู่แทบทุกตารางเมตรของโรงเรียน จนได้สมญาว่า Bamboo School ถึงแม้จะเปิดอย่างเป็นทางการมา 12 ปี แต่ ณ ตอนนี้รับนักเรียน ม.1-ม.6 ได้เต็มที่เพียง 180 คน ชั้นการเรียนละ 1 ห้อง ห้องละ 30 คน ต่อครูดูแลห้องละ 2 คน ถามเพิ่มว่ารับได้อีกไหม… “ถ้ารับ เราต้องดูว่าเรารู้จักชื่อเขาไหม รู้จักหน้าเขาไหม ไม่รู้จักหน้ามันเหมือนนักโทษ มันต้องค่อยๆ ขยาย ตอนนี้ห้องละ 30 ก็เพิ่มเป็น 35 ก็ได้ แต่ต้องจำเด็กๆ ให้ได้ทุกคน” ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักเรียนที่นี่ตกราวๆ คนละ 100,000 บาทต่อหนึ่งปีการศึกษา แต่จะไม่ได้เก็บค่าเล่าเรียนเป็นเงิน ใช้การปลูกต้นไม้และทำความดีแทนค่าเทอม ไม่มีการสอบเข้า แต่จะมีการสัมภาษณ์ทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง และตัวเด็กเอง ตั้งคำถามและประเมินโดยเด็กๆ เอง เพราะที่นี่นักเรียนเป็นผู้บริหารผ่านตัวแทนที่เรียกว่า ‘คณะมนตรี’ ไม่ใช่คุณครูหรือผู้อำนวยการ
“ผู้อำนวยการ มีหน้าที่แค่ทำตาม” มีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนมีชัยพัฒนา อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์แนะนำโรงเรียน
มีชัย วีระไวทยะ
ทำไมต้องสร้าง โรงเรียนมีชัยพัฒนา
ชีวิตผม 50 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลง ทั้งเรื่องการวางแผนครอบครัว โรคเอดส์ ขจัดความยากจน การสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน ช่วยเหลือตนเองด้านการเงินด้วยธุรกิจเพื่อสังคม
พอทำมาหมด ขั้นตอนต่อไป คือเรื่องการศึกษา เพราะตอนนี้ประชากรเกิดน้อย คุณภาพการศึกษาจึงต้องดีเป็นพิเศษ
สมัยนี้มีโลกใหม่ๆ เข้ามาหลายใบ ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เคยมีคำพูดว่า ใครอยากทำงานง่ายๆ ให้ไปทำงานธนาคาร ตอนนี้ไม่มีธนาคารจะให้ทำแล้ว โลกมันเปลี่ยนแปลงไปมาก จึงต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
เปลี่ยนโรงเรียนจากโทรศัพท์ตั้งโต๊ะเป็นโทรศัพท์มือถือ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของทุกคนในชุมชน แล้วเอาโรงเรียนเป็นประตูไปสู่ความเจริญของหมู่บ้าน ใช้นักเรียน ครู ใช้ทุกอย่างเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงพัฒนาหมู่บ้านให้เจริญ ได้มาตรฐาน
ไม่ใช่เป็นแค่โรงเรียนเฉยๆ โรงเรียนต้องเป็นจุดศูนย์กลางพัฒนาชุมชน นักเรียนต้องได้รับการฝึกและลงมือทำจริง
เราต้องการสร้างคนที่ประเทศต้องการ ประเทศสร้างคนที่เราไม่ต้องการเยอะแล้ว คนโกง อาชีพไหนบ้างไม่มีคนโกง คนรวยที่ไม่คิดแบ่งปันคนจน ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่คนไทยเลว แต่เพราะไม่ได้รับการฝึกให้แบ่งปัน ซื่อสัตย์ อดทน ไม่ย่อท้อ ทำอะไรแล้วอย่ายอมแพ้ง่ายๆ และรู้จักการเคารพสิทธิของผู้อื่นในทุกเรื่อง ไม่ใช่แค่เรื่องเพศสภาพ และต้องหาทางช่วยให้คนอื่นดีขึ้น
ฉะนั้นค่าเทอมโรงเรียนนี้จึงจ่ายด้วยการทำความดี ปลูกต้นไม้ ไม่ได้จ่ายด้วยเงิน นักเรียนเป็นผู้บริหารโรงเรียน ชื่อ ‘คณะมนตรี’ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องผ่านคณะมนตรีโรงเรียน ไม่มีอะไรที่ไม่ผ่านคณะมนตรี เช่น ซื้อของ นักเรียนเป็นผู้ซื้อทั้งหมด ตั้งแต่ผลไม้ไปจนถึงรถยนต์ เวลามีแขกมา นักเรียนเป็นผู้ต้อนรับและชี้แจง เราสอนให้ทั้งทักษะชีวิตและทักษะอาชีพ ปิดเทอมก็ให้ทำงาน
เด็กๆ ได้พบผู้ใหญ่จะได้พูดจาเป็น ตอบปัญหาเป็น เป็นโอกาสให้เขาได้มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้สอนสิ่งเหล่านี้
ตอนแรกคุณมีชัยมองว่าโรงเรียนกับชุมชน ยังแยกส่วนกันอยู่?
(พยักหน้า) ต่อไปนี้โรงเรียนต้องเป็นส่วนสำคัญของชุมชน ชุมชนต้องเป็นส่วนสำคัญของโรงเรียน โรงเรียนต้องไม่ใช่ของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนต้องเป็นของประชาชน ของประเทศ ทุกอาชีพปล่อยให้กระทรวงเดียวดู ตายแน่ มันใหญ่เกินไปที่จะปล่อยให้กระทรวงเดียวดู
โรงเรียนต้องเปลี่ยนจากที่ที่เด็กมาเรียน มาเป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน
จุดมุ่งหมายสำคัญอีกอย่างของโรงเรียน คือ เป็นโรงเรียนเตรียมครู เรามีโรงเรียนเตรียมกีฬา เตรียมทหาร ทำไมไม่มีโรงเรียนเตรียมครู เราจะเอาปัจจัยสำคัญๆ ของการเป็นครูที่ดีที่สุดในโลกใส่เข้าไปตั้งแต่เด็ก ม.1 ให้เขารับรู้ รับทราบ แล้วออกไปสอนในโรงเรียน
ครูรุ่นใหม่ต้องเป็นเพื่อนและพี่เลี้ยงของนักเรียน ไม่ใช่ไปยืนพ่นน้ำลาย และเป็นผู้ที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่นักเรียนด้วย สอนในที่นี้ไม่ใช่สอนแต่วิชา แต่รู้ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง ทั้งเรื่องธุรกิจ การช่วยเหลือชุมชน สอนให้นักเรียนพัฒนาโรงเรียนและออกไปพัฒนาชุมชน นี่คือครูรุ่นใหม่ที่ประเทศไทยยังไม่มี แต่โรงเรียนนี้กำลังสร้าง
ที่ผ่านมา การแยกส่วนโรงเรียนกับชุมชนอย่างชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาอะไรบ้าง
โรงเรียนเป็นเพชร แต่เราใช้มันเหมือนเป็นพลาสติก โรงเรียนเป็นนิติบุคคล มีที่ดิน มีอาคาร ไฟฟ้า น้ำ ครู มีชุมชน แต่เราไม่ได้ใช้ให้เป็นประโยชน์เลย
ในเมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว เราก็ดึงโรงเรียนเข้ามาร่วมกับชุมชน แทนที่จะแยกกันอยู่ โดยส่วนตัว ผมอยากเสนอว่า ทุกอย่างที่ทำผ่านกรรมการหมู่บ้าน เราจะต้องทำผ่านโรงเรียน แล้วเอาโรงเรียนเป็นประตูไปสู่ความเจริญของหมู่บ้าน
หลักสูตรของโรงเรียนมีชัยพัฒนา เหมือนหรือแตกต่างจากโรงเรียนทั่วไปอย่างไร
เราก็ต้องมีหลักสูตรตามที่กระทรวงฯ กำหนด เช่น คณิต วิทย์ ภาษาไทย ฯลฯ แต่เรามาเน้นว่าสอนอย่างไรให้น่าสนใจ ทำอย่างไรให้ที่นี่เป็นเหมือนสวนสนุกมากกว่าโรงพยาบาล ให้เด็กอยากเข้าห้องเรียน อยากเดินอยู่กับสิ่งเขียวๆ เจอของใหม่ เจอปัญหาที่ต้องขบ ต้องแก้ อยากได้อะไร เสนอมาได้ทั้งนั้น แต่ไปดูซิ ที่อยากได้มันราคาเท่าไหร่ ซื้อได้ที่ไหน จะเอาเงินมาจากไหนไม่ใช่ว่าแค่อยากได้แล้วต้องได้
เราสอนให้คิดละเอียด ซื้อของก็ต้องคิด ตรวจสอบก็ต้องคิด การก่อสร้างนักเรียนก็ต้องไปตรวจสอบว่าการวัด คำนวณ มันถูกต้องไหม เราสอนให้มีอะไรนอกเหนือไปจากหลักสูตร และเสนอให้มีทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ
ปิดเทอม ม.2 เป็นต้นไปมีงานทำหมดทุกคน มีรายได้ ได้ไปสัมผัสกับบริษัท องค์กรต่างๆ มีธุรกิจในโรงเรียน มีกองทุนเงินกู้ให้ห้องละ 3 แสนบาทให้ทำธุรกิจอย่างจริงจัง ตอนนี้เราจะขยายให้มากขึ้น อยากให้นักเรียน ม.1-ม.6 มีเงิน 1 แสนบาทเมื่อจบจากการทำธุรกิจ
เขาจะได้อยู่กับบ้านต่อไป ไม่ต้องทิ้งบ้าน ถ้าไม่ดีจริงก็ไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้ ออกมาแล้วไม่ได้ฉลาดขึ้นจะเข้าไปทำไม จุดนี้สำคัญ เข้าไปแล้วได้อะไร แต่ที่นี่สอน ที่นี่ก็เหมือนกับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยแห่งชีวิต
ทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ มันเริ่มและปรับมาอย่างไร
เริ่มต้นจากเกษตร เช่น ถั่วงอก 4 วันงอกแล้ว เมล็ดผัก 3-4 อาทิตย์ เก็บได้แล้ว นี่เป็นจุดเริ่มต้น เหมือนเป็นพรสวรรค์ที่สรรค์สร้างขึ้นมาได้
เราค่อยๆ ขยายธุรกิจจากเดิมมีไม่กี่ชนิด มาทำมะนาว เห็ด ตอนนี้เพาะเนื้อเยื่อ ซึ่งสอนกันตอนมหาวิทยาลัย ปี 4 แต่เราสอนตั้งแต่ ม.1 หลายๆ อย่างที่อยู่ในมหาวิทยาลัย เราดึงลงมาอยู่มัธยม ควรทำอย่างนี้ในหลายวิชา ที่ผ่านมาเรามัวมาดองอยู่ในมหาวิทยาลัย
แปลงผักไฮโดรโปนิกส์ เด็ก ม.1 ทำได้หมด ที่นี่เด็กได้สัมผัสของจริง การได้สัมผัสจริงเป็นเรื่องสำคัญมาก ไม่ได้เรียนจากกระดาษอย่างเดียว
อุปสรรคแรกๆ ในการก่อตั้งโรงเรียนมีบ้างไหม เช่น การทำความเข้าใจโรงเรียนในความหมายใหม่?
ผมไม่ถือว่าเป็นปัญหา ผมคิดว่าเป็นการเดินขึ้นเขา แล้วกล้ามเนื้อมันต้องตึง ผมไม่เคยถือว่าคำปฏิเสธของใครเป็นคำตอบของผม ผมถือว่าคำปฏิเสธของคนอื่นเป็นการเสนอให้ผมตั้งคำถามใหม่
เมื่อก่อนจอมพลถนอม ไม่เอากับผมตั้ง 5 ปีเรื่องวางแผนครอบครัว ตอนหลังเขาเบื่อเลยยอม เรื่องเอดส์แรกๆ เขาก็ไม่เอา ตอนหลังก็ยอมและทำมาตลอด
ฉะนั้น ผมคุ้นกับการถูกปฏิเสธ เป็นเรื่องธรรมดา ที่ผมทำอันนี้(โรงเรียน)ไม่มีคนต่อต้านผมเลย มีแต่ความยากจนที่ต่อต้านผม เพราะผมไม่มีเครื่องปั๊มเงิน
ถ้าเปรียบปัญหาเหมือนแค่กล้ามเนื้อตึง เรามีวิธีนวดอย่างไร
เรารู้ว่าร่างกายมันเปลี่ยนแปลง มนุษย์ส่วนใหญ่คิดว่าการเปลี่ยนแปลงมันไปรบกวนสภาพชีวิตของเขา
ให้นั่งเก้าอี้แข็งไม่ได้ ต้องนั่งเก้าอี้นุ่ม จุดนี้สำคัญ นี่คือสภาพทั่วไป เราเลยมองว่าปัญหาเป็นเรื่องปกติ พระพุทธเจ้าสอนไว้ การเกิดมีทุกข์ ไม่อยากมีทุกข์ก็อย่าเกิดมา
เกิดมาต้องทุกข์ ทุกข์เป็นเรื่องธรรมดา ผมทำมาตลอด
ระหว่างคำว่าการศึกษากับการเรียนรู้ ในความเห็นของคุณมีชัย มันต่างหรือเหมือนกันอย่างไร
การเรียนรู้ ประเทศไทยบางทีเรียนแล้วมันไม่รู้ เรียนแล้วเรียน เรียนแล้วท่องจำ แต่ไม่ได้รู้ ฉะนั้นการศึกษาต้องเข้าใจจริง ปฏิบัติได้ มีเหตุมีผล
ดูสิครับที่เข้ามหาวิทยาลัย ไปติวกันสะบั้นหั่นแหลกแล้วสำรอกออกมาในตอนสอบ แล้วตอนอยู่มหาวิทยาลัยทำอะไรได้บ้าง นอกจากวิชาการ ออกมารู้แค่ไหน ภาคปฏิบัติเป็นอย่างไร
มหาวิทยาลัยมันใหญ่เหลือเกิน มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่ที่จะฝึกสอนให้ดี น่าจะเริ่มที่โรงเรียน มหาวิทยาลัยควรจะลงไปช่วยโรงเรียนทั้งหมด ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่กระทรวง มหาวิทยาลัยต้องเป็นพี่เลี้ยงให้โรงเรียน สร้างวัตถุดิบ สร้างคนตั้งแต่อนุบาล ไม่ใช่ปล่อยให้ใครไม่รู้สร้างแล้วมารับเบ๊เอาตอนปลาย
แล้วในที่สุดต้องแบ่งอำนาจการศึกษามาอยู่ที่จังหวัด ให้มหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้งตัวตีสำคัญ ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน แล้วเอาคนในชุมชนมาช่วยกันบริหารจัดการ ทำหลักสูตรใหม่ที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น บริหารการศึกษาขอนแก่นไม่ได้เหรอ กระทรวงควรเป็น regulator ไม่ใช่ operator เป็นผู้กำกับ ไม่ใช่ปฏิบัติ จังหวัดไหนพร้อม ทำเลย ถ้ามหาวิทยาลัยรันโรงเรียนไม่ได้ก็แย่แล้ว อย่ามีประชาธิปไตยสิ ถ้าแค่บริหารโรงเรียนก็ยังทำไม่ได้
ที่บอกว่าเป็นโรงเรียนเตรียมครู มีวิธีเตรียมครู บริหารจัดการ เสริมสร้างอะไรให้ครูบ้าง
ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ ถ้าเผื่อคุณไม่มีสันดานเป็นครู คุณอย่ามาอยู่ที่นี่ มันไปทำลายเด็ก คุณต้องมีจิตใจอยากจะช่วยเด็ก อยากสอนเด็ก เอ็นดูเด็ก
โรงเรียนนี้ไม่เหมือนโรงเรียนอื่นที่สี่โมงเย็นคุณจบแล้ว แต่ที่นี่เลิกเรียนครูจะอยู่กับเด็ก มาถามอะไรได้ ครูต้องเป็นมิตร เป็นญาติกับเด็ก
เราพยายามให้ครูไปสัมผัสข้างนอก ไปอบรมต่างๆ แต่ไม่ได้ดูแลอะไรเป็นพิเศษ บอกแต่ว่าอยากให้ก้าวหน้า ย้ำเสมอว่า “โรงเรียนนี้ไม่ได้มีสำหรับครูหรือผม มีไว้สำหรับนักเรียน จำไว้ เราต้องช่วยให้นักเรียนดีขึ้น”
มีวิธีเลือกรับเด็กอย่างไร
อย่าถามผม ให้เด็กนักเรียนตอบ (ผายมือ)
‘เน้น’ นางสาวชรัญญกร อุตส่าห์ นักเรียนชั้น ม.6 หนึ่งในคณะมนตรี โรงเรียนมีชัยพัฒนา
เน้น : จะเป็นการสัมภาษณ์น้องๆ ค่ะ
เน้น : คำถามแรก จะให้น้องแนะนำตัวและบอกน้องว่าไม่ต้องตื่นเต้น ให้น้องรีแล็กซ์ที่สุด ยัง ป.6 อยู่น้องอาจจะตื่นเต้น เราให้น้องผ่อนคลายก่อนแล้วค่อยเริ่มถาม เช่น ทำไมน้องถึงอยากมาเรียนที่โรงเรียนนี้ ทราบไหมว่าที่นี่เขาไม่ให้ใช้โทรศัพท์นะ อยู่ได้ไหม เคยอยู่โรงเรียนประจำไหม อยู่ได้ไหม ไม่มีพ่อแม่นะ น้องมีเป้าหมายอะไรที่จะมาอยู่ในโรงเรียนนี้
เน้น : ถามความพร้อมตัวน้อง และความพร้อมในตัวผู้ปกครอง เพราะบางครั้งน้องไม่ได้อยากมา แต่พ่อแม่บอกว่าน้องอยากมาเรียนมากๆ เลยค่ะ เราเลยต้องแยกห้องสัมภาษณ์ เราจะได้รู้ว่าผู้ปกครองพูดจริงหรือเปล่า บางคนผู้ปกครองอยากให้มา แต่เด็กไม่ได้อยากมา
ลึกๆ แล้วคุณมีชัยมองการศึกษาไทยอย่างไร
ผมมองการศึกษาไทยว่าอยู่ในฐานะที่พัฒนาได้ เหมือนอาหาร ทำยังไงให้อร่อยขึ้น มีประโยชน์ขึ้น แล้วให้คนมาช่วยทำอาหารเพิ่มขึ้น ไม่ใช่นั่งกินอย่างเดียว มาช่วยกัน ทั้งพ่อแม่ ครู ชุมชน ฯลฯ
นักเรียนออกไปหาชุมชนแล้วดึงชุมชนเข้ามา อันนี้เป็นจุดเริ่มต้น เราต้องช่วยกัน เราอยากเป็นเหมือนสิงคโปร์เหรอ ก็ไม่ เราอยากเป็นคนไทยที่แบ่งปันเป็น ซื่อสัตย์ มีความสุขกับของง่ายๆ
ผมหวังว่าเราจะช่วยเติมเต็มให้ แต่ผู้ประเมินไม่ควรจะเป็นผม ผมเป็นผู้ทำและพร้อมจะฟังว่ามีอะไรดีก็ควรขอบคุณ อะไรที่ควรพัฒนาก็บอก ผมพร้อมเสมอที่จะจัดการ
ผมถามนักเรียนเสมอว่าอยากปรับปรุงไหม อยากทำอะไร เสนอมา อยากมีเฮลิคอปเตอร์ก็เสนอมา ผมก็จะถามต่อว่าเอาเงินมาจากไหน ขับเป็นหรือยัง ที่สุดแล้วก็บอกว่า อย่าขอของที่เป็นไปไม่ได้
มีวิธีเตรียมความพร้อมให้เด็กก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไร
หลายแห่งเขาไปติว ผมไม่เอา การติวแสดงว่าโรงเรียนด้อยพัฒนา ผมเตรียมทั้งด้านจิตใจ ด้านฝึกอบรม ตอบคำถามและตั้งคำถาม ตอนนี้หลายแห่งเริ่มดูนิสัย ทัศนคติ กิจกรรม ไม่ได้ดูคะแนน ฉะนั้นเราต้องเตรียมคนที่ดี ตอบคำถามเป็น ไม่รู้ก็บอกไม่รู้ แต่สามารถตอบได้ว่า หนูไม่รู้คำตอบนี้แต่อยากจะแนะนำอย่างอื่นให้ ได้ไหมคะ
ไม่ใช่แค่สอบสัมภาษณ์ในมหาวิทยาลัย แต่หลายๆ ที่วัดกันด้วยความคิด ทัศนคติ คิดว่าทำไมการคัดเลือกถึงเปลี่ยนมาเป็นอย่างนี้
ความสำคัญของคนอยู่ที่ความคิด ไม่ได้อยู่ที่กระดาษ บางคนได้เกียรตินิยม เรียนเก่ง ท่องจำเก่ง ไม่ใช่เขาไม่ดีนะ แต่โลกของการบริหารจัดการไม่ได้ต้องการคนแบบนี้
คนที่สำเร็จ ต้องเคยสอบตก แต่ที่นี่ เรามีคะแนนให้และได้คะแนนเป็นเงินด้วย สมมุติได้ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ 80 บาท บางคนได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ก็ได้ 20 บาท เราต้องการสร้างให้เห็นว่า 1. การเรียนสนุก 2. ความไม่สำเร็จ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จได้ อย่าท้อ
อย่างที่เราไปช่วยทำให้โรงเรียนข้างนอก มีฟาร์มให้ มีเงินกู้ให้ เด็กก็สนุก มาโรงเรียนเร็วขึ้น
คนให้ความสำคัญกับความคิดมากขึ้น เรากำลังเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ในความเห็นคุณมีชัย เราควรมีอะไรบ้างที่ทำให้อยู่ได้และอยู่อย่างแข็งแรง
1. ความเห็นอกเห็นใจคนอื่น อันนี้เปิดประตูให้เราหลายแห่ง บางแห่งเราเข้าไม่ได้เพราะเขาไม่เปิดประตู การแบ่งปัน ความกรุณาปรานี เป็นจุดสำคัญมาก
2. ไม่โกง ให้เกียรติคนอื่น ฟังเขา สิ่งเหล่านี้ทำให้คนหันมอง และควรตอบคำถามอย่างตรงไปตรงมา ใน
การเรียนมหาวิทยาลัยยังจำเป็นอยู่ไหม
ถ้ามหาวิทยาลัยทำให้เด็กดีขึ้น จะสำคัญ แต่ถ้าไม่ดีขึ้น ควรจะปิดไปซะเป็นส่วนใหญ่
ทำให้ดีขึ้น ดีแบบไหนคะ
มหาวิทยาลัยควรจะดูว่าเด็กทุกคนไม่เหมือนกัน เด็กไม่ใช่ปลา ไม่ใช่นก ไม่ใช่ลิง ทำไมต้องท่องจำเก่งถึงจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ มหาวิทยาลัยควรเป็นที่พัฒนาคน
อีกอย่าง ข้อสอบทั้งในมหาวิทยาลัยและในโรงเรียน ควรทำหน้าที่เหมือนหมอตรวจสุขภาพ ไม่ใช่ตอบว่าคนนี้ใกล้จะตายแล้วหรือคนนี้ขึ้นสวรรค์ มันควร diagnose หรือ วินิจฉัยเพื่อบอกสภาพ ว่าควรลดกินอาหารชนิดนี้ ควรเพิ่มการออกกำลังกาย เช่นเดียวกัน มหาวิทยาลัย ไม่ได้มีแต่สอบได้กับสอบตก ชีวิตนี้มีสอบตกไหม ไม่มี มีแต่ตาย
ผมนี่เป็นนักสอบตก ประถมก็สอบตก มัธยมก็สอบตก มหาวิทยาลัยก็สอบตก เพราะผมไม่ชอบเรียน วิธีสอนมันไม่ตรงกับผม แต่ในที่สุดผมก็สอบได้เพราะไม่งั้นมันจะออกจากไอ้ตรงนี้ไม่ได้ แล้วผมก็มาทำสิ่งต่างๆ ที่ผมถนัด ที่อยากทำ และผมทำมาก (เน้นเสียง) กว่าตอนเรียนหนังสือเยอะ เพราะตอนเรียน ผมไม่สนุก
ตอนที่ผมจบมาจากออสเตรเลีย ทำงานที่สภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ผมทำงาน 5 อย่างนะ สอง สอนธรรมศาสตร์ สาม เขียนให้ นสพ.บางกอกโพสต์ ทุกจันทร์ สี่ จัดรายการวิทยุทุกคืนวันจันทร์ถึงเสาร์ ห้า เป็นพระเอกละครคู่กรรม ช่อง 4 บางขุนพรหม (โกโบริ) ผมเรียนรู้หลายอย่าง เหนื่อยกว่าเรียนหนังสือนะ แต่สนุก
ทำอย่างไรให้การเรียนสนุก อย่างผมสอบบัญชี ผมตก ผมก็เลยไปสมัครงาน ขอไปอยู่แผนกบัญชี ได้ลองทำ เลย อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง ใช้เวลาเรียนรู้ยังไม่ถึงครึ่งของตอนเรียนเลย ผมสรุปได้ว่าอาจารย์กับผม วิธีคิดไม่ตรงกัน ดังนั้นมหาวิทยาลัยควรมีหน้าที่เทรนคน ฝึกคน ให้ลงมือทำจริงมากที่สุด เรียนรู้ไป
ตอนแรกประเทศไทยเอาแบบฝรั่ง เรียนปริญญาตรี 4 ปี แล้วมาต่อปริญญาโท แต่เราไม่มีครูที่สอนการพัฒนา สอนให้เด็กทำธุรกิจเป็น เป็นเด็กวิสาหกิจ ธุรกิจเพื่อสังคม และสร้างความเข้มแข็งให้กับเด็กและชุมชน
พอเด็กจบไป เขาจะไปเป็นผู้ใหญ่บ้าน นักธุรกิจ เขาก็ยังบริหารจัดการและอยู่ในชุมชนได้ แต่ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยมีเพื่อดึงคนออกจากหมู่บ้านนะ ตอนนี้มีเด็กที่เป็นกำพร้าเทียม 6 ล้านคน อยู่กับปู่ย่าตายาย พ่อแม่ไปทำงานข้างนอก เพราะตอนเรียนหนังสือไม่มีใครสอนเขา
ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ เด็กๆ ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร จบปริญญาตรีก็ยังไม่รู้ เราโทษอะไร หรือใครได้ไหมคะ
โทษคนมันก็ง่าย แต่ควรจะหาว่าจะแก้ยังไงมากกว่า ความผิดคนมันชี้ง่าย แต่วิธีการควรจะทำยังไง นี่สำคัญ
ตอนที่เขาเรียนควรจะฝึก ที่นี่มีวันหนึ่ง เรียกว่า ‘วันเตรียมอนาคต’ ทุกๆ วันพุธ ใครอยากสอนก็ออกไปสอน เปิดโอกาสให้เขาทดลองทำตั้งแต่เขาเป็นนักเรียน ไม่ใช่ไปอยู่มหาวิทยาลัยแล้ว เรียน 4 ปี ค่อยออกมาทำ
แต่ถ้าทำอย่างนี้จะรู้ก่อนเลยว่า อยากเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่อยาก แล้วถ้าเข้า อยากเรียนอะไร
วันเตรียมอนาคต เราต้องการให้เด็กรู้สึกว่าฉันต้องนึกถึงอนาคต วันหนึ่งฉันต้องมีงานทำ อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร เช่น ที่นี่มีเด็กชุดหนึ่งทำอาหารไปให้ผู้ป่วยที่โรงพยาบาลทุกวันพุธ ไปเยี่ยม เล่นดนตรีให้ฟัง เด็กไปเห็นผู้ป่วย ก็รู้สึกว่าทำไมโรงพยาบาลแน่นอย่างนี้ เต็มไปด้วยคนแก่ ได้เห็น ได้รู้สึก และคิดได้ว่าอยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ให้เขาตั้งคำถามต่อชีวิตเขาว่า ฉันอยากจะมีความสุข หรือ อยากจะมีเงิน ฉันอยากทำอะไรให้มีความหมาย ก็พยายามกระตุ้นเขาว่า ทำอะไรก็ได้ขอให้เป็น change maker ผู้เปลี่ยนแปลงในอาชีพนั้นๆ
ใครอยากทำอะไร ส่งไปทำ แต่ที่ผ่านมา ยังไม่มีใครอยากเป็นพระเลย ถ้ามีก็จะส่งไป (หัวเราะ)
แต่เด็กก็ยังต้องสอบ O-NET อยู่ จะทำอย่างไร
ใช่ๆ เขาต้องสอบได้ ไม่ต้องเป็นห่วงมาก เขาทำได้ดีด้วย แต่เราไม่ได้ไปสนใจว่าเขาทำได้ดีหรือไม่ดี โอเน็ตไม่ได้บอกว่าคุณภาพของเด็กอยู่ที่ไหน
เราฝึกเด็กให้มีวุฒิภาวะ เพราะฝึกแต่วิชาการมันไม่มีวุฒิภาวะ ความมั่นคงในตัวเขามี อันนี้สำคัญ
เชื่อว่าหลายโรงเรียนก็อยากเป็นแบบนี้ แต่ทำไม่ได้?
ไม่ได้ทำ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ บางคนบอกคุณมีชัย ทำไมไม่ขยาย ผมบอก อยากได้สัก 8,000 แห่งเลย แต่ผมไม่มีเครื่องปั๊มเงินไง
อยากจะให้ท่านเอาเงินมา ผมสอนให้หมด เงินแบ่งเป็นสามก้อน หนึ่ง ค่าที่ดิน ก่อสร้าง สอง ค่าบริหารจัดการ 8 ปี และสาม กองทุน สำหรับธุรกิจเพื่อสังคม โรงเรียนต้องเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต ไม่ใช่รอรับเงินตลอด
ไอ้ที่บ่นๆ บ่นแล้วไม่ได้อะไร ถ้าบ่นแล้วมันได้ ผมจะบ่นทุกวันเลย (หัวเราะ) เลยมาทำโรงเรียน อาจจะไม่สำเร็จวันนี้ก็ได้ แต่ทำต่อไป
ทำไมโรงเรียนนี้ต้องเป็นไม้ไผ่
หนึ่ง ไม้ไผ่หาที่ไหนก็ได้ สองกินก็ได้ ใช้ทำอะไรได้หมด ใบไผ่ดูดซึมคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีกว่าใบไม้อื่น ตัดมัน ภายใน 5 ปี ก็ใหญ่เท่าเดิม มันยั่งยืน จะเอาซีเมนต์ต้องไปทุบภูเขา เป็นหลุม เป็นบ่อ เด็กก็เข้าใจ มันก็ร่มเย็นดี
บรรยากาศ สถานที่โดยรอบ ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างไร
คิดว่าการที่เราเห็นของเขียวๆ ร่มๆ เย็นๆ เป็นธรรมชาติ ถึงอยู่ในห้องก็ปีนออกมาได้ ไม่ให้เกิดความรู้สึกว่าถูกบีบ
ต่อไป ผมจะมีชั่วโมงอ่านหนังสือให้มากที่สุด อ่านแล้วต้องเล่าให้ฟัง อ่านแล้วต้องเข้าใจ ไม่ใช่ไปดูแต่โทรศัพท์ อยากให้อ่านจากหนังสือจริง
มีแผนรับเด็กเพิ่มอีกไหมคะ
ถ้ารับ เราต้องดูว่าเรารู้จักชื่อเขาไหม รู้จักหน้าเขาไหม ไม่รู้จักหน้ามันเหมือนนักโทษ มันต้องค่อยๆ ขยาย ตอนนี้ห้องละ 30 ก็เพิ่มเป็น 35 ก็ได้ แต่ไม่อยากให้เกิน 200 คนทั้งโรงเรียน
ผมรู้จักทุกคน จำชื่อได้ยังไม่หมด แต่ก็ตามดูอยู่นะ เพิ่งเปิดเทอมได้ไม่นาน ส่งรูปทางไลน์มาให้ดูเรื่อยๆ นักเรียนต้องติดต่อกับผมทุกวัน ถ่ายรูป ตอนเช้าทำอะไร ถ่ายมุมต่างๆ ของโรงเรียน กิจกรรมนักเรียน แล้วในไลน์สะกดผิดไม่ได้นะ ต้องเช็คก่อน (หัวเราะ)