self-reflection : การสะท้อนคิดใคร่ครวญ หัวใจของการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง เครื่องมือคือ การฟังอย่างลึกซึ้ง และการตั้งคำถามที่ปราศจากการตัดสิน ถามอย่างอยากเข้าใจฟัง : ฟังอย่างคนโง่ (เป็น) และไม่มีอีโก้ ทิ้งความถูกผิดเชิงความเห็นไปก่อน อย่าฟังแค่เสียง แต่ฟังสีหน้า เรื่องราว ความรู้สึก เพราะ “สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่สิ่งที่พูดได้ สิ่งสำคัญอยู่ในใจที่อธิบายออกมายาก”ถาม : คำถามที่ง่ายคือคำถามที่ตอบได้ แต่ไม่รู้ว่าต้องคิดกับมันยังไง และ “ครูไม่จำเป็นต้องรู้หรือมีคำตอบให้กับทุกเรื่อง แต่ควรมีคำถามที่ดีที่กระตุ้นให้คิดและค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง”
ภาพ: ศิริโชค เลิศยะโส / ครูกล้าสอน
อ้างอิงคำพูดนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ที่ว่า “เพราะการศึกษาสร้างเด็กป่วยมากพอแล้ว” คำถามต่อมาคือ “ห้องเรียนแบบไหนที่ซ้ำเติมให้เด็กยิ่งป่วยเพิ่มขึ้น”
สิ่งที่เห็นชินตาจากหน้าหนังสือพิมพ์และฟีดข่าว คือภาพ (เดี๋ยวนี้มาเป็นคลิป) ครูใช้ความรุนแรง ละเมิดสิทธิ กล้อนผมนักเรียน ตบตีด้วยความโกรธ ใช้อำนาจข่มขู่ให้หวาดกลัว ไม่รวมวิธีการเรียนการสอนที่เป็นลักษณะ ‘สั่งสอน’ เมื่อต้องทำตามคำสั่งที่ไม่ได้มาจากความ ‘เข้าใจ’ ไม่แปลกที่ห้องเรียนไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย การแลกเปลี่ยนเพื่อเรียนรู้จึงไม่เกิด
กี่ปี (กี่ชาติ) ก็ยังคงเดิม หลายคนเหน็บแนมเสียด้วยซ้ำ “การศึกษาไทยแก้ไม่ได้ในชาตินี้”
แต่คำเหน็บแนมกับความไม่เชื่อมั่นในระบบ เป็นคนละเรื่องกับความอยากเปลี่ยนแปลงและการขยับของคนทำงาน ขณะนี้มีกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ เกิดคำศัพท์วิชาการ มีกระบวนการทำงานแบบใหม่ ซึ่งพยายามทำงานกับวิธีคิด ‘กระบวนภายใน’ ของทั้งผู้เรียนและผู้สอน หนึ่งในนั้นคือแนวคิด ‘Transformative Learning’ หรือ ‘การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ’
ความหมายตรงตัว Transformative Learning (TL) คือการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ผู้เรียนรู้ถูกพาไปอยู่บนเส้นขีดขอบความสามารถของตัวเองเพื่อท้าทายให้เขยิบเส้นนั้นไกลขึ้นอีกนิด เป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ที่มาจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง-นี่คือความหมายอย่างคร่าว
ส่วนเครื่องมือที่ทำให้เกิดความเข้าใจได้นั้นมีหลายอย่าง แต่สิ่งที่ ณัฐฬส วังวิญญู ผู้ก่อตั้งสถาบันขวัญแผ่นดิน, กระบวนกรนักจัดการเรียนรู้เพื่อสำรวจโลกภายในตัวเอง และผู้แปลหนังสือ กล้าที่จะสอน: การสำรวจโลกภายในของชีวิตครู คิดว่าทรงพลัง คือ…
self-reflection หรือ การสะท้อนคิดใคร่ครวญ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการฟังอย่างลึกซึ้ง และการตั้งคำถามที่ปราศจากการตัดสิน ถามด้วยความอยากที่จะเข้าใจ
การฟังและตั้งคำถาม การสื่อสารที่เราต่างใช้กันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ทำไมยิ่งฟังยิ่งไม่เข้าใจ ยิ่งตั้งคำถามยิ่งถูกหาว่าตั้งแง่, การฟังใช้พลังเหลือล้น แบบนี้จะถูกปรับไปใช้ในห้องเรียนจริงได้อย่างไร, มีวิธีการตั้งคำถามสำเร็จรูปหรือไม่ คำถามที่ว่ารูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แล้วทำไมเราต้องมาทำความเข้าใจเรื่องพวกนี้กัน
ทำไมต้องคิดอย่างใคร่ครวญ ทำไมต้องถามและฟัง?
กระบวนกร ผู้สร้างเส้นทางให้เกิดการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่แค่การบรรยาย
เอาเข้าจริงแล้วกระบวนกร นักจัดกระบวนการคืออะไร?
ผู้ที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่การบรรยายอย่างเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ สัมผัสจริง ลงมือทำ ไม่ใช่ความรู้ในเชิงชุดข้อมูล
เช่น ผมอธิบายว่าเชียงรายคืออะไร นี่คือความรู้ชุดหนึ่ง แต่ถ้าคุณได้ไปจริง อันนี้ก็ไม่ต้องอธิบายแล้วเพราะคุณจะรู้เอง คล้ายเป็นการเรียนผ่านประสบการณ์ตรงของผู้เรียน ซึ่งมันจะไปเปลี่ยนคอนเซ็ปท์ว่าความรู้ไม่ใช่แค่ข้อมูล data แต่เป็นประสบการณ์ที่ถอดออกเป็นความรู้เชิงข้อมูลได้ด้วย
ในแง่นี้ ผู้ที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นครูที่ยืนสอนอยู่หน้าห้อง แต่เป็นคนพาทำนั่นทำนี่และมานั่งคุยกันว่า เมื่อทำแล้วนักเรียนได้เรียนรู้ รู้สึก หรือได้ประโยชน์อย่างไร
ทำไมกระบวนกรจึงเป็นที่พูดถึงในวงการศึกษามากขึ้น
ผมคิดว่ามันมาพร้อมความสนใจในแวดวงการศึกษาบ้านเราในเรื่องการทำความเข้าใจตัวเอง เป็นความรู้ภายในของชีวิต อาจจะเป็นความสนใจที่ไม่ได้โฟกัสไปที่ความรู้ทางศาสนา เพราะศาสนาเป็นเรื่องการทำความเข้าใจบางอย่างเกี่ยวกับชีวิต สังคมอาจจะอยากจะเข้าใจตัวเองโดยไม่ผ่านสถาบัน แต่เข้าใจผ่านภาษาใหม่ที่เข้าถึงง่ายสำหรับคนรุ่นใหม่ อีกกระบวนการหนึ่งซึ่งอาจจะเรียกว่าจิตวิทยาสมัยใหม่ คือการศึกษาที่โฟกัสไปที่ความเข้าใจของผู้เรียน ความเข้าใจในตัวเอง เลยเป็นที่มาของความคิดเรื่อง Transformative Learning ด้วย คือเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงบางอย่างให้ดีขึ้น
Transformative Learning เปลี่ยนแปลงอะไร
การศึกษาในรูปแบบของกระบวนทัศน์แนวคิดใหม่ๆ หรือเรื่อง TL อาจจะไม่ใช่แค่กิจกรรมหรือเครื่องมืออะไรบางอย่าง แต่หมายถึงการเปลี่ยนความสัมพันธ์ ทัศนคติระหว่างครูและนักเรียน
จากที่ครูมีอำนาจสูงสุด เป็นคนเลือกว่าควรสอนหรือเรียนอะไร ไปเป็นเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษามากขึ้น เขาสนใจอะไร รู้สึกอย่างไร เป็นการสร้างการมีส่วนร่วมและการเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
เพราะวินัยเกิดขึ้นหลังจากมีความรัก ครูแค่หล่อเลี้ยงแรงบันดาลใจหรือความรักเหล่านี้ และเอื้ออำนวยปัจจัยการเรียนต่างๆ
ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์หมายถึงผู้ที่เดินทางไปด้วยกัน หน้าที่หลักของครูคือสังเกต อะไรที่ดึงดูดความสนใจ อะไรทำให้เขาเกิดชีวิตชีวา มีความสุข มีแรงบันดาลใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าปล่อยให้เรียนรู้ตามอำเภอใจ เด็กบางคนอยู่กับความคิดความรู้สึกมาก ไม่ค่อยพัฒนาร่างกายตัวเอง ครูก็หาวิธีการ ทำยังไงให้เขามาสนใจด้านที่เขาละเลยบ้างเพื่อให้เกิดความสมดุล
ผลลัพธ์ของ Transformative Learning คืออะไร
ประเด็นแรก คือเข้าใจและเป็นอิสระจากอิทธิพลที่เป็นข้อจำกัดของตัวเอง เช่น ถ้าเราเป็นคนที่มีความกลัว เราก็เรียนรู้ว่าจะเป็นอิสระจากความกลัวอย่างไร
สอง เข้าใจเป้าหมายของชีวิต รู้คุณค่าของเราซึ่งไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น เราอาจจะถูกสังคมบอกว่าไม่ควรทำอย่างนั้นอย่างนี้ด้วยเหตุผลเยอะแยะไปหมด มันมีกฎเกณฑ์บางอย่างที่เป็นกรอบอยู่ แต่ TL ไม่ได้บอกว่าเราต้องเป็นกบฏกับกฎเกณฑ์เหล่านี้ แต่จะเข้าใจตัวเองและเป็นอิสระจากมันได้อย่างไร
ซึ่งโดยธรรมชาติมันจะนำไปสู่เป้าหมายที่สาม คือความสามารถที่จะถ่ายทอดส่งต่อ (contribute) เป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ ไม่ว่าจะระดับเล็กๆ อย่างครอบครัวหรือในวงกว้าง คือถ้าเราเป็นมิตรกับตัวเองได้ เรามีประโยชน์กับตัวเอง เราก็จะเริ่มมีประโยชน์กับคนอื่น
ซึ่งนี่ไม่ได้มาจากความคิดเชิงคุณธรรมจริยธรรมโดยใช้เหตุผลว่า มนุษย์ทุกคนต้องมีหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้คนในสังคม อันนั้นเป็นเหตุผล ผมว่าลึกๆ ชีวิตทุกชีวิตมีประโยชน์ต่อสังคมทั้งนั้นแหละ ถ้าค้นพบตัวเอง ค้นพบว่าเราคือใคร เราทำอะไรได้อีก
การศึกษาปัจจุบัน ไม่ตรงหรือขัดกับนิยามของ Transformative Learning อย่างไร
อาจจะไม่ได้ขัด แต่มีข้อจำกัด เพราะการศึกษาแบบเดิมเน้นการเข้าใจสิ่งที่อยู่ข้างนอกตัวเรา ถ้าเรียนวิศวะต้องเข้าใจเครื่องจักร กลไก ซอฟท์แวร์ เพื่อคุณจะได้จัดการมันได้ เรียนเพื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งที่คุณเรียน แต่ไม่ได้โฟกัสว่า แล้วคนที่กำลังทำงานอยู่คืออะไร ความรู้ในตัวเองคืออะไร อาจเป็นช่องว่างที่ทำให้เกิดความสนใจว่าการศึกษาที่จะไปเติมเต็มความเข้าใจของตัวเองนั้นเป็นย่างไร
เครื่องมือ หรือ วิธีการ Transformative Learning คืออะไร
มีวิธีเยอะมากเพราะเรื่องพวกนี้ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ กระบวนการทำความเข้าใจตัวเองมีอยู่แล้วในทุกวัฒนธรรม เช่นคำถาม คนเราเกิดมาทำไม อยู่ไปเพื่ออะไร? แต่เครื่องมือที่ทุกวันนี้ใช้กันเยอะ คือกระบวนการ self-reflection ผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การเขียนบันทึก การอ่านหนังสือ การเดิน การทำงานศิลปะ วิธีการที่เข้าไปอยู่กับการกระทำบางอย่างเพื่อให้เรานิ่ง หลุดออกจากโหมดความคิดแบบเดิมคือความเร่งรีบ บีบคั้น ความเครียด
หัวใจสำคัญของ Transformative Learning คือการสะท้อนคิดใคร่ครวญ (self-reflection) ถามว่าในแต่ละคนมีมั้ย? มีอยู่แล้ว บางทีเข้าห้องน้ำ ได้อยู่นิ่งๆ สัก 2-3 นาทีก็เริ่มเกิดการสะท้อนคิดในตัวเอง แต่ใน Transformative Learning กระบวนการเรียนรู้พวกนี้ถูกนำมาออกแบบให้คนได้ผ่านกระบวนการ self-reflection อย่างตรงไปตรงมาและอย่างง่าย ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การเล่าเรื่องของตัวเองโดยมีคนรับฟังอย่างลึกซึ้งและไม่ตัดสิน
การเล่าเรื่องช่วยให้เราได้เห็นตัวเองมากขึ้น เพราะทันทีที่เราได้เล่าเรื่องในวัยเด็กบางอย่าง มันคือการย้อนทวน หลายครั้งทำให้เกิดไอเดีย เกิดความเห็นใหม่ เราอาจเจออะไรบางอย่างที่ไม่เคยคิดเลยว่าจะได้พบผ่านการสนทนา การเล่า การถาม
Self-reflection: การฟัง
ทั้งๆ ที่เราคุย ฟัง ตั้งคำถามกันอยู่ทุกวัน แต่ทำไมยิ่งฟังยิ่งไม่เข้าใจ ยิ่งถามยิ่งถูกหาว่าตั้งแง่
คุณภาพของการฟัง ขึ้นกับคุณภาพความใส่ใจของคนฟัง เราใส่ใจกับอะไรล่ะ? ถ้าใส่ใจว่าจะเขาถูกหรือผิด อันนั้นค่อนข้างจะตื้น เพราะมัวแต่ไปสร้างกรอบบางอย่างในการฟังว่ามันถูกมั้ย มันมีเหตุผลมั้ย แต่ถ้าทิ้งความคิดผิดถูกเชิงความเห็นไปก่อน ฟังลงไปให้ลึกว่าเรื่องราวที่เขาเล่า เขามีความรู้สึกอะไรอยู่ในนั้น มีความต้องการอะไร ปรารถนาอะไร ซึ่งบางทีเจ้าตัวไม่รู้ว่าต้องการอะไร แต่คนฟังจะเข้าไปช่วยฟัง ฟังแบบสงสัย แบบใคร่รู้ว่าที่เขาพูดเรื่องนี้ เขาให้คุณค่าอะไร อะไรที่สำคัญเหมือนเพชรนิลจินดาสำหรับเขา เจ้าตัวอาจไม่รู้ก็ได้ แต่เขาเล่าเรื่องนี้เพราะมีบางอย่างที่สำคัญ
การฟังที่ลึกพอ คือการฟังให้พ้นคำพูด แต่สังเกตที่สีหน้าท่าทาง เขามีสีหน้า มีน้ำเสียง มาพร้อมความรู้สึกอะไร อยากสื่ออะไร สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่สิ่งที่พูดได้ สิ่งสำคัญอยู่ในใจที่อธิบายออกมายาก
มันเป็นนามธรรมเนอะ แต่คนที่ฟังและใส่ใจเต็มร้อย ไม่พยายามไปตัดสิน ปรับเปลี่ยนหรือวิเคราะห์ แง่หนึ่งมันช่วยดึงพลัง ดึงเรื่องราว ดึงคุณค่าความหมายทั้งหมดของคนที่กำลังเล่าให้ได้แสดงออกมา ให้ได้รับการมองเห็น เพราะฉะนั้นการรับฟังในที่นี้ อาจหมายถึงการดำรงอยู่เพื่ออีกฝ่าย ดำรงอยู่เพื่อคุณค่ากับชีวิตของเขา กับสิ่งที่เขาพยายามสื่อสาร
เวลาที่ทำกิจกรรมพวกนี้ คนจะรู้สึกถึงพลัง เกิดความสัมพันธ์ (connection) มันสำคัญกว่าเนื้อหา (content) นะ เนื้อหาออกมาทีหลัง ถ้าให้อธิบายจริงๆ มันมีทฤษฎีที่พูดถึงสิ่งเหล่านี้ อย่างทฤษฎีตัวยู (Theory U) หรือการฟัง 4 ระดับ
ระดับแรก Downloading ฟังแบบดาวน์โหลด คือรู้แล้ว เอาความรู้ในอดีตเข้ามาอธิบาย อันนี้อาจจะฟังได้ตื้นที่สุดระดับที่สอง Factual ฟังมากขึ้นหน่อยแต่ก็ยังเช็คกับเหตุผลของตัวเองอยู่ ถูกหรือไม่ถูก ฟังเพื่อโต้แย้ง ฟังเพื่อตอบ ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจ เป็นการ debate คือฟังมากขึ้นแต่เต็มไปด้วยเงื่อนไข ถ้าไม่ถูกก็จะโต้กลับและตั้งคำถามระดับที่สาม Empathetic ฟังลึกลงไปหน่อยแต่จะไม่อยู่กับเหตุผลแล้ว แต่ฟังเพื่อหาความรู้สึก เพราะความรู้สึกสะท้อนสิ่งที่เขาให้คุณค่า ทำไมเขาพูดเรื่องนี้ อะไรมันมีคุณค่าสำหรับเขาระดับที่สี่ Generative ระดับลึกที่สุด การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราว เหมือนเป็นคนเดียวกัน เข้าไปนั่งอยู่ในใจ สัมผัสได้ เข้าใจถึงสิ่งที่เขาให้คุณค่า ได้รับผลจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง เช่น รู้สึกสั่นสะเทือน พองโต ทราบซึ้ง ไม่ได้หมายความว่าเราจมอยู่กับอารมณ์ของใครอีกคน แต่ว่าเข้าใจมากกว่าแค่ความคิด
เวลาที่เราบอกว่า “เข้าใจๆ” บางทีไม่ได้เข้าใจ เข้าแต่หัว แต่ถ้าเข้าใจ มันไม่ต้องพูด เข้าใจสิ่งที่เธอเผชิญ สิ่งที่เจอ ร่างกายจะรู้สึกหมด ความเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีอนาคต ไม่มีอดีต อยู่กับปัจจุบันเต็มร้อย
แต่ในชีวิตจริง เราไม่อาจฟังระดับ 3 และ 4 ได้กับทุกคน
แล้วแต่เราเลือก เวลานั่งแท็กซี่แล้วเขาเริ่มบ่นชีวิตให้ฟัง เราจะฟังระดับไหนก็ได้ ไม่มีผิด ไม่มีข้อกำหนดว่าเราต้องฟังทุกคนให้ลึกซึ้งเพราะมันใช้เวลา ใช้พลังในการฟังใครสักคน ไม่ใช่ว่าทำได้โดยที่ไม่เหนื่อยนะ มันเหนื่อย แต่ขึ้นกับว่าเราต้องการให้การฟัง มันสร้างความสัมพันธ์แบบไหนกับคนที่อยู่ตรงนั้น
กับคนใกล้ตัว เขาอาจอยากให้เราฟังเพื่อเข้าใจ แต่กลายเป็นว่าเราฟังเพื่อโต้ตอบ แต่กับคนที่เจอกันครั้งแรก คนที่นานๆ เจอกัน แขกรับเชิญในรายการ โอ้ย เราฟังเขาดีมากเลย ถ้าเราฟังแบบนี้กับคนที่เราแคร์ คนที่บ้าน มันก็จะเปลี่ยนความสัมพันธ์
แต่มันท้าทาย เพราะคนที่เรารู้จักดี เราจะตัดสินล่วงหน้าว่าที่เขาพูดแบบนี้หมายความว่าอะไร เราไม่ค่อยเปิดให้กับการค้นพบสิ่งใหม่ๆ เราไม่คิดว่าคนตรงหน้าเหมือนคนเพิ่งรู้จักกัน ทำได้แต่ต้องยอมเป็นคนไม่รู้เรื่องรู้ราว อินโนเซนส์ เหมือนเด็กฟังผู้ใหญ่ ต้องยอมทิ้งความฉลาดของเรา ทิ้งความรู้เดิมๆ ความถูกต้องดีงาม ต้องยอมทิ้งไปชั่วคราว ต้องยอมโง่ จริงรึเปล่าไม่รู้ แต่ฉันจะลองฟังเธอ ฉันอยากจะเข้าใจเธอใหม่ บางทีอาจมีบางอย่างที่เราไม่รู้จักเกี่ยวกับตัวเธอก็ได้
เป็นประสบการณ์ร่วมที่เกือบกลายเป็นข้อเท็จจริง เรามีความอดทนฟังคนในบ้านน้อยกว่าคนนอกบ้าน
สำหรับทุกคนเป็นเช่นนั้น สำหรับผมก็ใช่ ผู้ชำนาญทั้งหลายจะตายน้ำตื้นกันทั้งนั้น มันยากที่จะฟังคนใกล้ตัว คนในครอบครัว แต่ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ และถ้าทำได้ นั่นคือการเปลี่ยนแปลง เมื่อการฟังของเราเปลี่ยน การรับรู้เราเปลี่ยน ความสัมพันธ์เราเปลี่ยน
มันจะมีแกรมม่าการฟัง มีโครงสร้าง คือมีการค้นหาและเข้าใจสิ่งที่เขากำลังเป็น เช่น เขาอาจเป็นคนพูดแล้วไม่ฟังใครเลย ชอบตำหนิตลอดเวลา แล้วเราก็ไม่ชอบ แต่ถ้าเราศึกษา เราจะเข้าใจว่าทำไม มันมีที่มาและความต้องการบางอย่างในทางจิตวิทยา แล้วถ้าเราเข้าใจตรงนั้นได้ สื่อสารให้เขารู้ว่าเราเข้าใจเขาอย่างไร มันอาจจะเป็นครั้งแรกของเขาเลยก็ได้ว่า “โอ้… คนเข้าใจฉัน ฉันยังไม่เข้าใจตัวเองเลย” แล้วการได้รับความเข้าใจขนาดนั้น มันทำให้เขาอยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เป็นประโยชน์กับเขาหรือเรา มันทำให้เกิดตระหนักรู้ ตื่นขึ้นมา
ทำไมเราต้องเข้าใจ ปล่อยผ่านไปก็ได้
เราจะได้ไม่ต้องทุกข์ เราไม่ต้องไปเปลี่ยนเขา แค่เข้าใจสิ่งที่เป็นและดูแลจัดการตัวเราเองได้ เอาแค่นี้ก่อน เอาแค่เรารอด เราไม่ทุกข์ร้อน คือจะทุกข์ร้อนก็ได้ แต่เราดูแลมันได้ดีขึ้น การเรียนรู้เรื่องพวกนี้ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ทุกข์ แต่เราจัดการความทุกข์ได้ดีและเร็วขึ้น
บางทีฟังมากๆ ทำให้เราทุกข์จากปัญหาของเขา
อันนี้ก็ต้องฝึกฟัง คนส่วนใหญ่ที่ฟังแล้วทุกข์มากๆ เพราะเรามีหัวใจที่เมตตากรุณาเป็นธรรมชาติ เราทุกข์เพราะอยากช่วยเหลือเขา ไม่ใช่เพราะฟังความทุกข์ของเขา เรารู้สึกว่า “ทำยังไงดีนะ” แต่บางทีเราก็ตัดสินเขา มีคำแนะนำในใจที่อาจจะพูดหรือไม่พูดออกไป ความที่อยากช่วยเหลือ ทำให้เราฟังไม่เป็น ทำให้ฟังเพื่อแก้ไข ไม่ได้ฟังเพื่อเข้าใจและยอมรับสิ่งที่มันเป็น
อันนี้เป็นคนส่วนใหญ่ ผมเองก็มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบนั้น ฟังไม่เท่าไร แต่บอกว่าทำไมเธอไม่ฟังฉัน มันเหมือนกับ ตกลงเรากำลังช่วยใคร กำลังช่วยตัวเองโดยการให้คำตอบและทางออก ‘เร็วๆ’ (เน้นเสียง) เราจะได้รู้สึกดีว่าเราได้ทำอะไรแล้ว สรุปแล้วเราช่วยตัวเองและบางทีก็ไม่ได้ช่วยเขาเลย บางทีเรายังบอกเขา ทำไมดื้ออย่างนี้ เอาอีก… เราก็จะยืนยันให้ตัวเองเป็นฝ่ายถูกตลอด อันนี้เรียกว่าคนมีการศึกษา
Self-reflection: ตั้งคำถาม และถูกถาม
ตั้งคำถามอย่างไรดี
คำถามสำคัญมาก เป็นเครื่องมือที่ช่วยทำให้เกิดกระบวนการคิด การคิดกับการจำไม่เหมือนกัน เช่น จำได้มั้ยว่าเราเคยมาร้านกาแฟร้านนี้มั้ย? ตอบเร็วได้เลยว่าเราไม่เคยมา แต่ถ้าถามว่า ร้านนี้เหมาะกับการถ่ายหนังเรื่องอะไร หรืออะไรที่ทำให้คุณเลือกร้านนี้ เราจะคิดละ การเลือกร้านมันสะท้อนนิสัยหรือบุคลิกพิเศษอะไรบางอย่างในตัวคุณรึเปล่า ซึ่งคุณอาจไม่เคยคิด ไม่เคยคิดเลยนะ (ย้ำ) เห็นมั้ย คือแทนที่จะถามว่าเขาทำกาแฟอย่างไร ง่ายไปหน่อยรึเปล่า
เพราะฉะนั้นการตั้งคำถามจึงเป็นหัวใจของการศึกษา ถ้าเราจะชวนให้เด็กเรียนอะไรสักอย่าง เช่น เพศศึกษา ครูตั้งเป้าหมายว่าเด็กต้องรู้ว่าการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรมีผลอย่างไร แทนที่ครูจะบอกว่ามันเสียหายยังไงซึ่งกลายเป็นว่าทำให้เด็กบางคนอยากลอง
แต่ถ้าลองตั้งคำถามว่า เราเคยรู้จักใครในครอบครัวที่มีลูกโดยไม่อยากมีมั้ย เล่าให้ฟังได้มั้ยว่ามีผลต่อเขาอย่างไร มีผลต่อเราอย่างไร หรือ พวกเราเคยคิดมั้ยว่าการที่เราจะมีเพศสัมพันธ์ ผู้ชายและผู้หญิงต้องการอะไร ต้องการสิ่งเดียวกันรึเปล่า คำถามเหล่านี้ทำให้เกิดกระบวนการคิด คนเราถ้าคิดได้เองมันจะเป็นความรู้ของเขา
การบอกเป็นแค่ข้อมูล แต่ยังไม่เกิดการคิด ผลิตขึ้นจากตัวเอง ฉะนั้นความรู้ในความหมายใหม่ ไม่ใช่แค่เกิดสิ่งนั้น แต่หมายความว่าเกิดอะไร มีผลกับเรายังไง เราคิดยังไงกับมัน คำถามเหล่านี้จะไม่โฟกัสว่าเกิดอะไรขึ้น สิ่งนอกตัวคืออะไร คือก็ยังสนใจอยู่ แต่เราจะถามมากกว่านั้นว่า สิ่งนั้นมันมีผลอะไรกับเรา มีความหมายอะไรกับเรา เราคิดกับมันยังไง เรารู้สึกรู้สากับมันอย่างไร (เน้นเสียง) โดยเฉพาะสิ่งที่คิดว่าสอนยากที่สุดคือเรื่องจริยธรรม คุณธรรม เพราะเราไม่ได้สอน เรายัดคำตอบ
แต่ถ้าสอน คุณต้องชวนคิด ชวนคุย กล้าให้เขาบอกว่าที่เราคิดว่าถูก มันผิดในสายตาเขา ให้เขากล้าบอกว่าไม่เห็นด้วย เราต้องกล้าท้าทายกรอบที่เรายึดไว้ว่ามันถูกหรือผิด
ครูไม่จำเป็นต้องรู้หรือมีคำตอบให้กับทุกเรื่อง แต่ควรมีคำถามที่ดีที่กระตุ้นให้คิดและค้นพบคำตอบด้วยตัวเอง
เข้าไปค้นหาคุณค่าซึ่งมากับคำถาม นอกจากช่วยทำให้เขาคิดเป็น เป็นตัวของตัวเอง เข้าใจความคิดตัวเอง ไม่แปลกเลยที่สังคมเต็มไปด้วยผู้ใหญ่ที่สับสน ไม่รู้ว่าตัวเองคิดอะไร เพราะเราไม่เคยถามเขาว่าคุณคิดยังไง
นักเรียนทุกคนที่อยู่ในระบบการศึกษา ถูกฝึกให้ดาวน์โหลดข้อมูล และนี่คือคำตอบ เลยกลายเป็นคนที่ตอบคำถามได้ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองคิดยังไง เพราะการคิดเป็น คือจุดเริ่มต้นการเป็นผู้นำ การเป็นเจ้าของความคิดตัวเอง และรับผิดชอบสิ่งที่เราคิด เราทำ
คือการสอน ไม่ใช่ การสั่งสอน?
การสั่งเป็นวัฒนธรรมเดิม ซึ่งผมคิดว่าบางทีเราก็ยังต้องสั่ง เพราะมันเร็วและง่าย แต่มันไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นตลอดเวลาโดยเฉพาะเรื่องของการเรียนรู้ เพราะทุกคนเรียนรู้อยู่แล้ว แต่ทำยังไงที่เราจะอาศัยคำถาม การพูดคุย การคุย ตั้งคำถาม ทำให้สมองมันยังแกว่งมากกว่าการเป็นกล่องว่างๆ
เช่น สมมุติลูกสาวคนเล็กของผมหยิบของของลูกสาวคนโตไป ถ้าเราบอกลูกว่า “ก็ต้องยอมน้องบ้าง” อันนี้คือสั่งสอน แต่ถ้าเราเปลี่ยนเป็นคำถาม มันอาจจะใช้เวลามากขึ้นแต่ทำให้เขามีส่วนร่วมในการบอกตัวเอง
เราอาจถามว่า รู้สึกยังไงเวลาน้องหยิบอะไรไปโดยไม่บอกเรา เขาอาจจะตอบว่า “ไม่ชอบ” เราก็ถามต่อ “แล้วอยากให้น้องทำยังไง อยากให้ขอก่อนเหรอ? เคยมีบ้างมั้ยที่เราอยากได้อะไรบางอย่าง ซึ่งเจ้าของก็อยู่ตรงนั้นแต่เราไม่ทันได้ขอ เราจะอยากให้เจ้าของรู้สึกยังไงกับเรา” เขาตอบว่า “ก็อยากให้เจ้าของเข้าใจว่าไม่มีเจตนาละเมิด อยากให้ยืดหยุ่น”
อ้ะ! เห็นมั้ย เขาได้คำตอบเดียวกับที่เราอยากจะบอกเขาตั้งแต่แรกเลย
จากฟังเป็น ตั้งคำถามเป็น สุดท้ายนำไปสู่อะไร
สู่การออกแบบ คิดสร้างสรรค์ ลงมือทำ ทำงานเป็นทีม แล้วแต่เลย เพราะการเรียนรู้อย่างครบด้านก็ต้องมีกระบวนการคิด สนทนา เข้าใจตัวเอง เข้าใจวิชาที่เรียนอยู่แล้วนำไปสู่การกระทำอะไรบางอย่าง แล้วแต่ว่าเราจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรากำลังจะเรียนรู้อย่างไร ใช้ความรู้นั้นกระทำอะไรบางอย่างกับตัวเราเองและสิ่งแวดล้อม
จากนี้ไป ห้องเรียนควรเป็นแบบไหนดี
อาจารย์ท่านหนึ่งเคยเล่าให้ฟังว่า นักศึกษาถามว่า “สิ่งที่อาจารย์สอนทั้งหมดเขาหาได้ในกูเกิล แล้วจะมาเจอกันทำไม” เขาถามดีมากนะ คือครูสมัยนี้ถ้าจะเอาข้อมูลมาสอนก็ไม่ทันนักเรียนละ เพราะเขามี “กู” กับ “ยู” กูเกิลกับยูทูบ
ห้องเรียนจึงน่าจะเป็นพื้นที่ของการถกเถียง แสดงความเห็น เมื่อเรียนรู้ข้อมูลมาแล้วเขาคิดกับมันยังไง ไม่ใช่การทดสอบว่าเราเรียนรู้อะไร คือห้องเรียนไม่ควรเป็นที่ทดสอบความรู้ แต่เป็นที่ให้ท้าทายความรู้ ตั้งคำถามยากๆ คำถามที่ไม่เคยถาม เป็นที่แห่งการสนทนา เขามาเจอครูทำไม? ก็เพราะครูฟังเป็น ครูตั้งคำถามเป็น ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ทุกคนไม่ต้องอยู่ในโต๊ะของตัวเอง ทุกคนจับกลุ่มคุยกันสักสองสามคน สนุกกว่าเยอะ