Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: September 2024

Pachinko (2022): อ่านผู้หญิงเกาหลีในนาม ‘ซุนจา’
Movie
6 September 2024

Pachinko (2022): อ่านผู้หญิงเกาหลีในนาม ‘ซุนจา’

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • ‘Pachinko’ เป็นซีรีส์ที่สะท้อนให้เห็นถึงชีวิตที่ยากลำบากของผู้อพยพชาวเกาหลีในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี โดย ‘ซุนจา’ ตัวละครหลักต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมายทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
  • ซีรีส์แสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมเกาหลีและญี่ปุ่นในยุคนั้น ผู้หญิงถูกจำกัดโอกาสและต้องเผชิญกับความคาดหวังทางสังคมที่สูง เช่น การแต่งงาน การมีลูก และการดูแลครอบครัว นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างชาวเกาหลีและชาวญี่ปุ่น ซึ่งชาวเกาหลีถูกกดขี่และถูกมองว่าเป็นชนชั้นสอง
  • แม้จะต้องเผชิญกับความยากลำบากมากมาย แต่ซุนจาและครอบครัวก็ยังคงมีความหวังและพยายามต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งพวกเธอก็ถือเป็นตัวอย่างของคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา และพยายามสร้างชีวิตใหม่ในต่างแดน

***มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน***

ซีรีส์ Pachinko เป็นเรื่องราวของตระกูลหนึ่งซึ่งชาติกำเนิดเป็นชาวเกาหลี พวกเขาต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาหลายทศวรรษและต้องระหกระเหินบ้านเกิดมาอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยมีตัวเอกคือ ‘ซุนจา’ เด็กสาวที่เกิดในตระกูลคนธรรมดา พ่อของซุนจาเป็นผู้ทุพพลภาพที่ถูกคนในหมู่บ้านเมาท์ว่าไม่สามารถมีลูกได้แต่สุดท้ายครอบครัวก็ได้ให้กำเนิดซุนจา ฉากหลังในช่วงเวลาที่ซุนจาเติบโตนั้นอิงจากประวัติศาสตร์ในยุค 1930s ของประเทศเกาหลีซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ถูกจักรวรรดิญี่ปุ่นยึดครอง

ซีรีส์เล่าเรื่องโดยการตัดสลับไปมาระหว่างเรื่องราวในอดีตตอนที่ซุนจาเป็นเด็กช่วงปี 1930s จนถึงปัจจุบันปี 1989 ตอนที่ซุนจาเป็นคุณยาย มีลูกหลานเติบโตในประเทศญี่ปุ่นและไม่เคยได้กลับไปเยี่ยมประเทศบ้านเกิดเลยตั้งแต่ออกมา

ช่วงที่เราอยากหยิบมาเล่าคือช่วงที่ซุนจายังอยู่ในประเทศเกาหลี ซุนจาเสียพ่อไปตอนที่เธออายุประมาณ 10 ขวบ พ่อของเธอพยายามอยากให้เธอได้มีการศึกษาดีๆ แต่แม่มองว่าการเป็นผู้หญิงเรียนไปก็อาจไม่มีประโยชน์อะไรมาก เมื่อพ่อเสียไปก่อนซุนจาเลยไม่ได้รับการศึกษาที่เหมาะสม แต่ที่ผ่านมาเธอก็เติบโตมาในครอบครัวที่รักและดูแลเธออย่างดี พ่อเคยสอนอะไรหลายๆ อย่างให้เธอ ซุนจาจึงเติบโตมาเป็นเด็กผู้หญิงที่ฉลาด กล้าคิดกล้าพูด มีความมั่นใจในตัวเอง และกล้าปกป้องคนในครอบครัวตั้งแต่เด็ก 

ช่วงที่ซุนจาเป็นวัยรุ่นเธอปิ๊งกับชายหนุ่มเกาหลีแต่งตัวดี หน้าตาดีซึ่งทำงานให้กับจักรวรรดิญี่ปุ่นที่ซุนจาเองก็ไม่แน่ใจว่าเขาเป็นคนดีหรือไม่ดี เพราะชาวบ้านเมาท์กันไปคนละอย่าง แต่สุดท้ายทั้งสองก็ตกหลุมรักกันและซุนจาเกิดตั้งท้องขึ้นมา ผู้ชายบอกว่า เขาแต่งงานมีลูกอยู่ที่ญี่ปุ่นแล้วและไม่สามารถแต่งงานกับเธอได้ แต่เขาเสนอว่าจะเลี้ยงดูเธอกับลูกให้อยู่ดีกินดีได้ 

ซึ่งในยุคสมัยนั้นการท้องโดยไม่แต่งงานถือเป็นเรื่องผิดบาปมาก สิ่งที่ชายหนุ่มบอกกับซุนจาจึงเท่ากับการให้เธอเลือกเสียศักดิ์ศรี ทำให้ครอบครัวกลายเป็นขี้ปากชาวบ้านแลกกับการอยู่ดีกินดีด้วยเงินที่ไม่แน่ใจว่าได้มาอย่างใสสะอาดหรือเปล่า สาวแกร่งและรักครอบครัวอย่างซุนจาเลยเลือกที่จะเชิดหน้าหนี 

ในคืนที่ซุนจาตัดสินใจบอกแม่ว่าตัวเองท้องไม่มีพ่อนั้น ด้วยความที่บ้านของเธอเป็นบ้านที่เปิดให้คนมาเช่าพัก ทำให้มีคนมากมายแวะมาอาศัยอยู่เรื่อยๆ ตอนนั้นมีบาทหลวงหนุ่มคนหนึ่งซึ่งกำลังนอนพักฟื้นอยู่ห้องข้างๆ บังเอิญได้ยินเรื่องทั้งหมด เมื่อเขาดีขึ้นจึงได้คุยกับซุนจาและเสนอทางแก้ปัญหาให้เธอโดยการแต่งงานแล้วย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ญี่ปุ่นกับเขา

สุดท้ายซุนจากับแม่ตัดสินใจเลือกเส้นทางนี้แม้จะต้องถูกบาทหลวงชาวคริสต์ผู้ทำพิธีแต่งงานให้ดุด่าว่าสิ่งที่ซุนจาทำนั้นเป็นบาปมาก สังคมจะตราหน้าหญิงโสดท้องโดยไม่ได้แต่งงาน รอยด่างดำนี้จะทำให้ว่าที่สามีของเธอซึ่งเป็นบาทหลวงและครอบครัวของเธอจะต้องเสื่อมเสียแปดเปื้อนไปด้วย และเขาได้บอกให้ซุนจาเฝ้าภาวนาไถ่บาปเพื่อพระเจ้าจะได้ให้อภัยเธอ

เหตุผลที่บาทหลวงหนุ่มช่วยเหลือซุนจาและแม่เพราะพวกเธอช่วยดูแลเขาในวันที่เกือบตายจากวัณโรค เขาน่าจะรู้สึกว่าทั้งสองเป็นคนดีเลยอยากตอบแทนบุญคุณ แล้วเขาก็บอกว่าได้คิดภาวนาอย่างดีว่าเป็นเรื่องที่สมควรทำ ซึ่งต่อมาบาทหลวงหนุ่มสามีของซุนจาก็เป็นอีกคนที่พยายามต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมของจักรวรรดิที่ปฏิบัติกับคนเกาหลีเหมือนเป็นทาสรับใช้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบาทหลวงหนุ่มคนนี้มีจิตใจที่อยากเปลี่ยนแปลงหรือช่วยเหลือผู้คนจริงๆ

ในคืนวันแต่งงานนั้น แม่ของซุนจาซื้อข้าวขาวที่หากินยากมากมาให้ซุนจา ในช่วงเวลานั้นข้าวขาวของเกาหลีจะถูกขายให้เฉพาะคนญี่ปุ่น ส่วนคนเกาหลีเองจะต้องกินข้าวบาเลย์หรือข้าวธัญพืชอื่นๆ ซึ่งมีรสชาติและสัมผัสไม่อร่อยเท่าข้าวขาว แม่ของซุนจาบอกพ่อค้าที่ตอนแรกไม่ยอมขายข้าวขาวให้เธอว่า ลูกของเธอกำลังจะแต่งงานและย้ายออกไปอยู่ประเทศอื่น เธอไม่มีของขวัญอื่นให้ลูกเลยจึงอยากให้ลูกได้กินข้าวขาวที่ปลูกในประเทศของตัวเอง เพื่อลูกจะได้มีประสบการณ์นั้นก่อนต้องเดินทางจากประเทศบ้านเกิดของตัวเองไป

ฉากนี้เป็นฉากที่เล็กน้อยเรียบง่ายมากแต่แสดงให้เห็นถึงหลายอย่าง ทั้งความรักของคนเป็นแม่ที่อยากให้ลูกกินสิ่งที่ดี ความเป็นชาตินิยมที่ถือว่าข้าวขาวในประเทศตัวเองนั้นดีที่สุดและการถูกกดขี่จากอีกฝ่ายนึงที่พ่อค้าต้องแอบขายข้าวขาวให้คนเกาหลีด้วยกันเหมือนขายยาเสพติด

ต่อมาเมื่อแม่มาส่งซุนจาที่ท่าเรือก่อนจะต้องย้ายไปอยู่ญี่ปุ่น แม่สั่งเสียเธอว่า

“แกไปที่นั่นห้ามทำพลาดทั้งในฐานะเมียและแม่ แกต้องไร้ที่ติที่สุดเข้าใจมั้ย 

แล้วก็ต้องทำดีกับครอบครัวสามีด้วย พวกนั้นอาจไม่ใจดีหรือโหดร้ายก็ต้องอดทนและสำนึกบุญคุณเขา การหาเลี้ยงปากท้องเพิ่มอีกคนไม่ใช่เรื่องง่าย ถึงจะอุ้มท้องและอาจรู้สึกไม่ดีนักแต่แกต้องใส่ใจความต้องการทางร่างกายของสามีด้วย ต่อให้เป็นบาทหลวงก็ยังเป็นผู้ชายและต่อให้เป็นคนดีแค่ไหนก็เคยมีมาแล้วที่เมียท้องแล้วต้องไปหาไออุ่นจากผู้หญิงอื่น”

จากนั้นแม่ก็ยื่นแหวนที่เป็นของมีค่าที่สุดของครอบครัวให้ซุนจา เป็นแหวนที่คุณย่าของซุนจามอบให้ แม่ใส่ห่อแหวนไว้ในมือของซุนจาแล้วบอกว่าให้เธอเก็บไว้ให้ดี ไม่ต้องบอกสามีด้วย “ผู้หญิงอย่างเราจำเป็นต้องมีเงินซุกไว้หน่อย อาจเกิดเรื่องฉุกเฉิน เราไม่ได้มีทางเลือกเหมือนพวกผู้ชาย” ตอนแรกซุนก็อยากให้แม่เก็บไว้เอง แม่เลยบอกว่า 

“พ่อคงอยากให้ลูกรับไว้นะ เขาอยากให้ลูกมีชีวิตที่ดีมาก แม่น่ะอยากให้ลูกลงหลักปักฐานมั่นคงอยู่ที่นี่ แต่พ่อเขาอยากให้แกบินให้สูง วันข้างหน้าจะต้องยากลำบาก จะได้เจอกันอีกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาจจะนานมาก” 

เมื่อได้ยินแบบนั้นซุนจาก็ร้องไห้งอแงไม่อยากไป ความจริงแล้วเธอก็ยังเป็นเพียงเด็กน้อยคนนึงของแม่ที่จู่ๆ ก็ต้องกลายมาเป็นแม่คน แม่ของเธอเลยโอ๋ด้วยการกอดแล้วบอกว่า “ร้องไห้ออกมาให้หมด ถึงที่นั่นแล้วอย่าหลั่งน้ำตาให้ใครเห็นอีก” ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นซุนจาก็เป็นอย่างที่แม่ต้องการ เธอพยายามเข้มแข็งสุดๆ  และใช้ชีวิตต่อไป

พอดูซีรีส์นี้แล้วก็ทำให้เห็นใจคนในยุคสมัย Baby Boomer เหมือนได้เห็นภาพที่ชัดขึ้นว่าชีวิตของพวกเขามันก็ไม่ง่าย สิ่งที่ถูกปลูกฝังมาในยุคของเขานั้นมันต้องทรหดอดทนกัดฟันสู้อย่างเดียว แถมหลายคนยังต้องพลัดพรากจากครอบครัวตัวเอง จากบ้านเกิด เริ่มต้นใหม่โดยแทบไม่มีอะไร ต่างบ้านต่างภาษา บ้านเมืองก็ไม่ปลอดภัยบางครั้งแค่แสดงความคิดเห็นถึงจักรวรรดิญี่ปุ่นก็อาจถูกจับขังคุกและจบชีวิตง่ายๆ เหมือนชีวิตไม่มีค่า

โดยเฉพาะการเกิดมาเป็นผู้หญิงมันไม่เคยเป็นเรื่องง่ายเลย ทุกคำที่แม่บอกซุนจาคือการบอกให้เธออดทน ให้เธอทำดีที่สุด ถึงจะท้องก็ต้องทำให้สามีพอใจ ต้องดูแลบ้านสามีแม้พวกเขาจะใจร้ายใส่

มันทำให้เราเห็นถึงก้อนความกดดันอันมหึมาที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะต้องแบกเอาไว้บนหลังทั้งยังถูกตราหน้าว่าเป็นผู้หญิงบาปที่ท้องก่อนแต่งงาน ทั้งที่ตอนมีสัมพันธ์กันมันก็เกิดจากการยินยอมของทั้งสองฝ่ายแต่มีแค่ฝ่ายหญิงที่แปดเปื้อนและถูกเย็บคำว่าไม่ดีติดตัวเอาไว้ 

ไหนจะเรื่องที่ไม่อยากให้ผู้หญิงมีการศึกษา ซึ่งทำให้ผู้หญิงไม่มีทางเลือกเท่าผู้ชาย จะทำอะไรก็ต้องยอมเพราะผู้ชายเป็นฝ่ายหาเงินมาเลี้ยงดู และดูเหมือนว่าแม้จะผ่านมาเกือบจะ 100 ปีแล้วความเชื่อเหล่านี้ก็ยังมีให้เห็นอยู่

เราชอบซีรีส์เรื่องนี้เพราะนอกจากจะได้เห็นเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวของซุนจาแล้ว มันยังพาไปดูบรรยากาศการเมืองที่เข้มข้นในช่วงที่เธออาศัยอยู่ว่ามันส่งผลต่อชีวิตครอบครัวทั้งตระกูลของเธอยังไง ทั้งความไม่เท่าเทียมในสังคม ได้เห็นการต่อสู้ดิ้นรนของผู้คนเพื่อจะมีชีวิตรอด การถูกเอาเปรียบจากชาติที่มายึดครอง การมีความเชื่อที่แตกต่างกันทำให้มีคนสะใจที่อีกฝ่ายถูกจบชีวิต  ได้เห็นว่าการมีอคติต่อกันทำให้ผู้คนถูกเผาทั้งเป็นไปมากมายแค่ไหน สามีบาทหลวงของซุนจาเองสุดท้ายก็ถูกขังคุกเพราะมีความคิดกบฎกับจักรวรรดิญี่ปุ่นทำให้ซุนจาต้องหาเงินเลี้ยงลูกเองในประเทศที่ไม่คุ้นเคย

พอดูซีรีส์เรื่องนี้แล้วทำให้อยากกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ให้มากขึ้นเพื่อที่จะเข้าใจเรื่องราวต่างๆ และทำให้เห็นว่าปัจจุบันเรื่องราวความขัดแย้งหลายอย่างก็ยังคงดำเนินต่อไป

ยังมีคนที่ต้องอดทนกัดฟันสู้เพียงเพราะเกิดมาเป็นเพศหญิง หรือการปิดปากผู้คนในเมืองไม่ให้แสดงความคิดเห็นที่เป็นปรปักษ์กับผู้มีอำนาจเพื่อพวกเขาจะได้มีอำนาจปกครองคนเชื่องๆ ต่อไป

Tags:

ครอบครัวสังคมผู้หญิงซุนใจความไม่เท่าเทียมทางเพศPachinko

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Social Issues
    ‘บ้านไม่เป็นบ้าน โรงเรียนไม่เป็นโรงเรียน’ เด็กไทยต้นทุน(ชีวิต)ต่ำ: รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Relationship
    Asexual ชีวิตที่อยู่นอกกรอบเรื่องรักใคร่

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Social Issues
    ‘ทักษะชีวิตพิชิตการรังแก’  วิชาที่ชวนเด็กๆ ตั้งการ์ดสูง ยืนยันสิทธิที่จะไม่ถูกบูลลี่:  ผศ.นพ.คมสันต์ เกียรติรุ่งฤทธิ์   

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    Julia: เป็นกุลสตรีในแบบของหนู ถึงพ่อไม่ชอบก็ไม่เป็นอะไร

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Billy Elliot: ความฝันนอกกรอบ และความรักของพ่อผู้ยอมหักหลังตัวเองเพื่อลูกชาย

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

อ่านนิยาย ร่ายบทกวี ไม่มีเสียเปล่า
Character building
4 September 2024

อ่านนิยาย ร่ายบทกวี ไม่มีเสียเปล่า

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • การอ่านนิยาย กระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย และทำให้สมองตื่นตัวเลียนแบบการทำงานของสมองของตัวละครที่กำลังอ่านอยู่ รวมถึงอาจจะทำให้เข้าสังคมได้ดีขึ้น
  • การอ่านบทกวี อาจจะช่วยปลอบใจ ทำให้เพลิดเพลิน ให้มุมมองแบบใหม่ๆ หรือกระตุ้นประสบการณ์เก่าๆ ในชีวิตขึ้นมาได้ ในต่างประเทศมีการบำบัดอาการป่วยด้วยการอ่านและเขียนบทกวีด้วย

ยุคนี้คนไทยฮิตอ่านหนังสือ ‘ฮาวทู’ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Self-help books กันมาก แม้ว่าหลายคนจะเชื่อว่าหนังสือกลุ่มนี้มีประโยชน์และนำไปใช้งานได้ทันที แต่ก็ยังมีคนตั้งข้อสงสัยอยู่บ้าง 

งานวิจัยเท่าที่มีพอสรุปได้คร่าวๆ ว่า หนังสือบางเล่มก็อาจช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้จริง แต่บางเล่มก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก [1]  นักอ่านจึงมีหน้าที่ต้องคัดสรรและเลือกนำไปลองปฏิบัติดูว่า เล่มใดช่วยแก้ปัญหาและช่วยชุบชูใจให้ก้าวผ่านปัญหาชีวิตได้จริง 

น่าสนใจว่าปัจจัยอะไรกันแน่ในหนังสือเหล่านี้ที่มีส่วนช่วยจริงๆ 

หากการอ่านหนังสือแนวสารคดี (non-fiction) ให้ผลเช่นนี้แล้วก็น่าสงสัยต่อไปว่า การอ่านพวกนิยายหรือเรื่องแต่ง (fiction) กับการอ่านพวกบทกลอนหรือบทกวีจะมีประโยชน์อะไรบ้างหรือไม่?   

งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2013 ของคณะนักวิจัยในประเทศเนเธอร์แลนด์ชี้ชัดว่า กลุ่มอาสาสมัครที่อ่านนิยายแล้ว ‘อิน’ ไปกับตัวละครและเนื้อเรื่อง จะแสดงความรู้สึกร่วมและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) นานถึง 1 สัปดาห์หลังอ่านเรื่องราวนั้นไป หากเทียบกับอาสาสมัครกลุ่มควบคุมที่อ่านหนังสือแนวสารคดีที่ไม่เกิดผลกระทบดังกล่าว 

นอกจากนี้ยังพบอีกด้วยว่า ยิ่งอาสาสมัครอินกับเนื้อเรื่องมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงออกถึงความรู้สึกร่วมมากขึ้นเท่านั้นอีกด้วย [2]

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกาก็ยืนยันผลการทดลองนี้ โดยพบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า อาสาสมัครที่อ่านแม้แต่เรื่องสั้นไปเพียงเรื่องเดียวก็แสดงพฤติกรรมเอื้อสังคม (prosocial behavior) แล้ว โดยแสดงออกถึงความต้องการสละแรงกายหรือทรัพย์สินสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไปจนถึงการพูดจาให้กำลังใจและให้อภัยผู้อื่น [3]

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ พบว่าอาสาสมัครจะไวต่อการกระตุ้นด้วยใบหน้าหรือการแสดงออกถึงความกลัวมากขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าการอ่านนิยายส่งผลกระทบกับจิตใจเป็นอย่างมาก

อาจมีคนสงสัยว่านักวิทยาศาสตร์รู้ไหมว่า เกิดอะไรขึ้นในสมองหรือร่างกายของเราบ้างเมื่อเราอ่านนิยายและมันส่งผลกระทบดังที่กล่าวมาแล้วได้อย่างไร?

ความก้าวหน้าของเครื่องมือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ทำให้เรารู้อย่างละเอียดว่า เกิดอะไรกับร่างกายของอาสาสมัครที่อ่านนิยายบ้าง มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าในตอนที่เราอ่านนิยายนั้น นอกจากจะกระตุ้นสมองส่วนเทมพอรัลโลบ (temporal lobe) ที่เป็นศูนย์กลางการประมวลด้านภาษาในสมองของเราแล้ว ยังไปเพิ่มกระแสการไหลเวียนของเลือดในสมองโดยรวมให้มากขึ้นอีกด้วย [4] 

ยิ่งไปกว่านั้น การอ่านนิยายยังไปกระตุ้นสมองส่วนมอร์เตอร์คอร์เท็กซ์ (motor cortex) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย โดยส่วนนี้จะอยู่ค่อนข้างมาทางกลางศีรษะ และยังกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและรับกลิ่นอีกด้วย [4] 

สรุปง่ายๆ ว่าการอ่านนิยายทำให้สมองตื่นตัวเลียนแบบการทำงานของสมองของตัวละครที่กำลังอ่านอยู่นั่นเอง เช่น ในเนื้อเรื่องตัวละครกำลังเดินอยู่ในป่า สมองเราก็จะทำตัวเหมือนกับเราเองกำลังเดินอยู่ในป่าจริงๆ หากตัวละครกินน้ำส้ม น้ำมะนาว สมองส่วนที่รับรสชาติหวานหรือเปรี้ยวก็ทำงาน จนบางครั้งเราก็น้ำลายหก เช่นเดียวกับตอนที่อ่านคำอธิบายเรื่องการทำอาหารหรือเสิร์ฟอาหารบางอย่างมา

นี่เองอาจเป็นกุญแจไขความลับที่เราอยากรู้

อย่างไรก็ตาม การอ่านไม่อาจทำให้เรารู้สึกถึงขั้นเปลี่ยนแปลงตัวเองกลายเป็นคนอื่นได้ง่ายๆ ต่างกับการที่นักแสดงที่บางคนอาจเกิดอาการ ‘อิน’ และดำดิ่งลึกลงไปในตัวตนของตัวละครที่ตัวเองแสดง หากแสดงต่อเนื่องยาวนานก็อาจสับสนจนแยกแยะโลกการแสดงและโลกความจริงไม่ออก ต้องให้นักจิตวิทยามาช่วยแก้ไข 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า อาสาสมัครที่อ่านนิยายจะสามารถทำคะแนนการทดสอบที่เรียกว่า Reading the Mind in the Eyes (MIE) ได้ดีกว่าอาสาสมัครในกลุ่มควบคุมอีกด้วย [5] ในการทดสอบแบบนี้จะอาศัยการประเมินอารมณ์ความรู้สึกจากการดูสีหน้าเท่านั้น นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าการอ่านนิยายอาจทำให้อาสาสมัครได้ฝึกการคิดในมุมมองของคนอื่นและด้วยเหตุนี้เองจึงช่วยสร้างความตระหนักทางสังคมให้เพิ่มมากขึ้นได้

ถ้าสมมุติฐานนี้เป็นจริง การอ่านนิยายก็อาจจะช่วยเรื่องการปรับความคิดหรือทัศนคติรวมไปถึงการเพิ่มอีคิวได้ ทำให้ผู้อ่านนิยายมีความสังเกตสังกาในการเข้าสังคมที่ดีมากขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นตามไปด้วย 

ทั้งหมดนี้จึงสนับสนุนเรื่องการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านนิยายว่ามีประโยชน์หลายอย่างด้วยกัน ควรทำจนเป็นกิจวัตร 

แล้วการอ่านพวกโคลงฉันท์กาพย์กลอนหรือบทกวีต่างๆ มีผลดีอะไรทำนองนี้บ้างหรือไม่?

การอ่านบทกวีอาจจะช่วยปลอบใจ ทำให้เพลิดเพลิน ให้มุมมองแบบใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งกระตุ้นหรือรื้อฟื้นประสบการณ์เก่าๆ ในชีวิตขึ้นมาได้ ในต่างประเทศนั้นไปไกลถึงขนาดมีการบำบัดอาการป่วยด้วยการอ่านและเขียนบทกวีด้วยซ้ำไป [6]

การบำบัดที่ว่าแบ่งออกเป็น 2 แบบคร่าวๆ คือ การบำบัดทางคลินิกด้วยการการอ่านหนังสือ-บทกวี  (clinical biblio-poetry therapy) และการบำบัดเพื่อการพัฒนาด้วยการการอ่านหนังสือ-บทกวี  (developmental biblio-poetry therapy)  

แบบแรกมักทำแบบตัวต่อตัวกับผู้บำบัด แต่ก็อาจทำแบบกลุ่มได้ด้วย ปรากฏว่าเมื่อใช้ร่วมกับการให้ยาก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเลิกแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดได้ ส่วนแบบหลังมักทำเป็นกลุ่ม เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจในตัวเองมากขึ้น พบว่ามีประโยชน์ในการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง สร้างอัตลักษณ์ และทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น 

แบบหลังนี้ประสบความสำเร็จในวัยรุ่นไม่น้อย 

ในสหรัฐอเมริกาถึงกับมีการตั้งเป็นคล้ายๆ สมาคมเรียกว่า The International Federation of Biblio-Poetry Therapy (IFBPT) ขึ้นมาทีเดียว 

ลีห์ ลาร์วูด (Leah Larwood) ผู้เขียนบทความ [6] แนะนำวิธีบำบัดด้วยบทกวีแบบง่ายๆ ที่ทำเองได้ที่บ้านไว้ดังนี้ครับ เริ่มจาการมองหาสมุดจดที่ตัวเองชอบมาสักเล่ม จากนั้นก็ทดลองทำดังต่อไปนี้

เริ่มจากการอ่านบทกวี อ่านบทความ ฟังเพลง อ่านโปสเตอร์ หรือทำอย่างอื่นใดก็ได้ที่จะทำให้ตัวเองได้เจอคำศัพท์ใหม่ เพื่อเป็นการสร้าง ‘คลังคำ’ ขึ้นในตัวเอง จากนั้นก็ลองเลือกเอาคำหรือวลีพวกนี้มาใช้เขียนบทกวีเป็นระยะๆ สังเกตว่าคำหรือวลีพวกนี้ส่งผลกระทบกับคุณอย่างไร มากน้อยแค่ไหน 

อาจจะลองแต่งบทกวีสัก 10 นาทีแบบเรื่อยเปื่อย ไม่ต้องตั้งเป้าหมายใดๆ ก็ได้ จากนั้น คราวต่อไปก็สลับด้วยการอ่านบทกวี พยายามมองด้วยมุมมองด้านการบำบัดรักษาว่า มันช่วยอะไรคุณได้บ้างหรือไม่ ถามคำถามเกี่ยวกับบทกวีนั้น แล้วเขียนบันทึกลงในสมุดจดดังกล่าว

ลองทำกันดูนะครับ เผื่อจะได้ประสบการณ์แปลกใหม่ดีๆ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการเรียนรู้และเข้าใจโลกและตัวเองมากขึ้น 

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.the101.world/self-help-books/

[2] Bal PM and Veltkamp M. PLoS One. 2013;8(1): e55341. doi: 10.1371/journal.pone.0055341 

[3] Johnson DR. (2012) Personality and Individual Differences 52, 150-155. doi: 10.1016/j.paid.2011.10.005

[4] https://bigthink.com/neuropsych/reading-fiction-empathy-better-person/

[5] Communications 34 (2009), 407-428. DOI 10.1515/COMM.2009.025

[6] Larwood L. (2023) Psychology Now, vol. 7, 100-103 

Tags:

วิทยาศาสตร์สมองภาษาการอ่านนิยายการเข้าสังคมบทกวีการบำบัด

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Related Posts

  • How to enjoy life
    อ่านอะไร อ่านเท่าไร อ่านอย่างไร: วิธีสะสมต้นทุนชีวิตด้วยหนังสือ

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    ‘นิสัยรักการอ่าน’ มรดกจากพ่อแม่ที่ช่วยให้เด็กเติบโตและมีชีวิตที่ดี

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • BookMyth/Life/Crisis
    ไม่ต้องแตกสลายเพื่อจะพบแสงสว่าง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Adolescent Brain
    ความรู้และทักษะแบบไหนที่เด็กยุคดิสรัปชันควรเติมก่อนโต พร้อมวิธีฝึกผ่านการทำกิจกรรมในครอบครัว

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ อัคคเดช ดลสุข

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: เด็กทำอะไรช้า มาจาก ‘ความจำใช้งาน’ เด็กๆ จึงต้องได้อ่านนิทานภาพก่อนนอน

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

Rumination: ทำไม ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ ถึงไม่ใช่การคิดทบทวนตัวเองที่ดีนัก แล้วเราจะหยุดความคิดนี้ได้อย่างไร
How to enjoy life
2 September 2024

Rumination: ทำไม ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ ถึงไม่ใช่การคิดทบทวนตัวเองที่ดีนัก แล้วเราจะหยุดความคิดนี้ได้อย่างไร

เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • การหมกมุ่นครุ่นคิดไม่สามารถช่วยเราหาทางออกให้กับปัญหาได้อย่างแท้จริง ซ้ำยังจะยิ่งทวีความรุนแรงของอารมณ์ลบๆ ภายในจิตใจขึ้นไปอีก และในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้
  • คนที่ใช้การหมกมุ่นครุ่นคิดในการพยายามหาสาเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นกับเรื่องที่เราประสบ มักจะตั้งคำถามผิดประเด็น นั่นคือ ตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ‘ทำไม’ ไม่ใช่ ‘อย่างไร’
  • สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การหยุดคิดถึงปัญหา แต่ให้เปลี่ยนวิธีคิด คิดถึงปัญหาในทางที่สร้างสรรค์ขึ้น กล่าวคือ เปลี่ยนการคิดแบบนามธรรม (‘ทำไม’ เช่น ทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดกับฉัน) เป็นการคิดแบบรูปธรรม (‘อย่างไร’ เช่น ฉันจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร)

เราทุกคนคงเคยมีช่วงเวลาที่ได้หยุดคิดทบทวนตัวเอง โดยเฉพาะเมื่อเราเผชิญกับเรื่องร้ายๆ เช่น ความผิดพลาด ความรู้สึกอับอาย หรือปัญหาที่ค้างคาใจ ซึ่งบางครั้งเราก็ไม่อาจปล่อยวางความคิดเหล่านั้นได้ ทำให้เราติดอยู่ในวงจรความคิดที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา ในทางจิตวิทยาเรียกลักษณะอาการนี้ว่า ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ (Rumination)

หลายคนอาจเข้าใจว่า ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ เป็นวิธีหนึ่งในการจัดการกับอารมณ์ แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่แบบนั้น การหมกมุ่นครุ่นคิดไม่สามารถช่วยเราหาทางออกให้กับปัญหาได้อย่างแท้จริง ซ้ำยังจะยิ่งทวีความรุนแรงของอารมณ์ลบๆ ภายในจิตใจขึ้นไปอีก และในระยะยาวอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้

แล้วความคิดแบบไหนคือ ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ ?

ในทางจิตวิทยา ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ (Rumination) หมายถึง การคิดวนไปวนมาในเรื่องลบเกี่ยวกับตัวเอง ความรู้สึก ความกังวล หรือประสบการณ์ที่สับสนวุ่นวาย โดยบางครั้งการคิดวกวนนี้ก็สามารถเกิดขึ้นและคงอยู่ได้อย่างยาวนาน

เรามักใช้การหมกมุ่นครุ่นคิดในการพยายามหาสาเหตุและผลที่จะเกิดขึ้นกับเรื่องที่เราประสบ แต่การคิดในลักษณะนี้จะไม่สามารถนำไปสู่วิธีปัญหาได้ เพราะคนที่ใช้การหมกมุ่นครุ่นคิดมักจะตั้งคำถามผิดประเด็น นั่นคือ ตั้งคำถามกับปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ‘ทำไม’ ไม่ใช่ ‘อย่างไร’ เช่น

  • ทำไมฉันถึงรู้สึกแย่ขนาดนี้ VS. ฉันจะจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไร
  • ทำไมปัญหานี้ต้องเกิดขึ้นกับฉัน VS. ฉันจะผ่านพ้นปัญหานี้ไปได้อย่างไร
  • ทำไมฉันถึงไม่ทำให้ดีกว่านี้ VS. ฉันจะทำให้ดีกว่านี้ได้อย่างไร

การตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ จะมุ่งไปที่การหาสาเหตุของปัญหา เมื่อหาสาเหตุได้ก็จะจัดการกับต้นตอได้ แต่ในหลายครั้งคนเรามักจะใช้ความรู้สึกเป็นตัวนำ ทำให้สาเหตุที่พบเป็นเรื่องนามธรรมไม่ค่อยชัดเจน อีกทั้งบางปัญหาก็ไม่มีเหตุผลจริงๆ ว่าทำไมถึงเกิดขึ้น 

สุดท้ายแล้วเรามักลงเอยด้วยการโทษตัวเองว่า ‘เพราะฉันไม่ดีเอง เรื่องแบบนี้จึงเกิดขึ้น’ ซึ่งจะยิ่งทำให้อารมณ์ของเราดิ่งลงและไม่สามารถคิดวิธีแก้ปัญหาได้

ในอีกทางหนึ่ง การตั้งคำถามว่า ‘อย่างไร’ จะมุ่งไปที่การหาวิธีการในเชิงปฏิบัติ ทำให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น เราจะพยายามคิดว่า ‘จะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร’ ซึ่งจะทำให้เราได้วิธีการที่เป็นขั้นเป็นตอนเอาไว้ให้ลงมือปฏิบัติ นำไปสู่การออกจากอารมณ์ลบๆ ได้อย่างแท้จริง

‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ (Rumination) ไม่ใช่ ‘การคิดทบทวนตัวเอง’ (Reflection)

Dr. Patricia Riddell (2020) ศาสตราจารย์สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ประยุกต์ที่ University of Reading ชี้ว่า ‘การคิดทบทวนตัวเอง’ (Reflection) จะกระตุ้นให้สมองคิดภายในหัวและมีการให้หมายความว่าเรื่องต่างๆ ของเรานั้นเป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี ถ้าเรื่องไหนดีเราก็ทำต่อไป แต่ถ้าเรื่องไหนไม่ดีเราก็ปรับเปลี่ยนหรือเลิกทำ

ส่วน ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ (Rumination) จะมีการทำงานบางส่วนที่คล้ายกับการคิดทบทวนตัวเอง แต่จะมีสมองส่วนที่ตอบสนองภัยคุกคามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้ความคิดภายในหัวสนใจเฉพาะสิ่งที่เรามองว่าเป็นภัยที่จะมาคุกคามร่างกายหรือจิตใจ เมื่อเรื่องที่เราคิดเต็มไปด้วยสิ่งร้ายๆ สมองส่วนที่ให้ความหมายจะทำงานหนักเกิน จึงเกิดการกระตุ้นสมองส่วนที่ใช้ยับยั้งพฤติกรรม ทำให้เราติดอยู่ในความคิดวกวนและไม่สามารถทำพฤติกรรมที่นำไปสู่การแก้ปัญหาได้

Dr. Riddell อธิบายการทำงานของสมองใน ‘การคิดทบทวนตัวเอง’ (Reflection) และ ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ (Rumination)

สรุปคือ ‘การคิดทบทวนตัวเอง’ ทำให้เราได้พิจารณาว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี นำไปสู่การแก้ปัญหาและการประพฤติตัวที่ดีขึ้น แต่ ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ จะทำให้เรายิ่งคิดวกวนแต่เรื่องลบๆ ไม่สามารถหาวิธีแก้ปัญหา และไม่ก่อให้เกิดพฤติกรรมที่ดีขึ้นได้

เราจะหยุด ‘การหมกมุ่นครุ่นคิด’ ได้อย่างไร?

มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การหมกมุ่นครุ่นคิดมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพจิต เช่น วิตกกังวล, ซึมเศร้า, โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ (Eating Disorders) และการใช้สุราในทางที่ผิด (Alcohol Abuse) โดยการหมกมุ่นครุ่นคิดเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเจ็บป่วยทางจิตใจ ทั้งยังเป็นสิ่งที่ยื้อให้ความเจ็บป่วยนั้นยังคงอยู่

นักจิตวิทยาคลินิก Dr. Edward Watkins แนะนำวิธีจัดการกับการหมกมุ่นครุ่นคิดที่เรียกว่า Rumination-focused Cognitive-behavioural Therapy (RFCBT) โดยวิธีดังกล่าวตั้งอยู่บนแนวคิดที่เชื่อว่า การหมกมุ่นครุ่นคิดเป็นนิสัยอย่างหนึ่งที่เราเรียนรู้ผ่านการทำซ้ำมาเรื่อยๆ

เมื่อความคิดนี้เป็นนิสัยอย่างหนึ่ง ให้เราสังเกตว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เราคิดแบบนั้น และช่วงเวลาไหนที่เราคิดแบบนั้น ยิ่งเราตระหนักได้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้น จะยิ่งทำให้เรามีสติรู้ตัวและสามารถเปลี่ยนจากความคิดคร่ำครวญเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ได้

บทความวิจัยจากวารสาร British Journal of Clinical Psychology ปี 2022 เผยว่า เรื่องที่คนมักกังวลหรือหมกมุ่นครุ่นคิด ได้แก่ ‘ความสัมพันธ์ส่วนตัว’, ‘ความผิดพลาดในอดีต’, ‘ประสบการณ์ด้านลบ’ และ ‘ปฏิสัมพันธ์ทางสังคม’ อีกทั้งช่วงเวลาที่คนกังวลหรือหมกมุ่นครุ่นคิดมากที่สุดคือ ‘กลางดึก/ก่อนนอน’

เมื่อเราหาสิ่งกระตุ้นได้แล้ว จากนั้นให้ทำความเข้าใจว่า การหมกมุ่นครุ่นคิดเป็นวิธีที่เราใช้หาเหตุผลหรือทำความเข้าใจในปัญหายากๆ ที่เราเจอ การบอกให้หยุดคิดถึงปัญหาเหล่านั้นไม่สามารถทำได้และไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก

สิ่งที่ควรทำไม่ใช่การหยุดคิดถึงปัญหา แต่ให้เปลี่ยนวิธีคิด คิดถึงปัญหาในทางที่สร้างสรรค์ขึ้น กล่าวคือ เปลี่ยนการคิดแบบนามธรรม (‘ทำไม’ เช่น ทำไมเรื่องนี้ถึงเกิดกับฉัน) เป็นการคิดแบบรูปธรรม (‘อย่างไร’ เช่น ฉันจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร)

Dr. Watkins (2016) กล่าวว่า เราจำเป็นต้องหาสมดุลให้กับ ‘ความคิด’ และ ‘การกระทำ’ การคิดไตร่ตรองเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่การคิดนั้นจะไม่เป็นประโยชน์หากมันนำไปสู่การคิดที่มากขึ้นเพียงอย่างเดียว การคิดที่เป็นประโยชน์จะต้องนำไปสู่การกระทำด้วย

นอกจากนี้ ในการหมกมุ่นครุ่นคิดจะมี ‘การวิพากษ์วิจารณ์ตัวเอง’ และ ‘การประเมินในด้านลบ’ ให้เราใช้ ‘ความเมตตากรุณาต่อตนเอง’ (Self-compassion) ในการก้าวออกมาจากอารมณ์ลบๆ เหล่านั้น

ความเมตตากรุณาต่อตนเองเป็นการเข้าใจว่าประสบการณ์แง่ลบเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่มนุษย์ต้องพบเจอ เราต้องไม่หลีกเลี่ยง บิดเบือน ปฏิเสธ หรือตัดสินประสบการณ์เหล่านั้น ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็นและมีสติระลึกอยู่ตัวอย่างเสมอ เพื่อให้เรามีใจที่เป็นกลาง ควบคุมอารมณ์ได้ และนำไปสู่การแสดงออกอย่างเข้าอกเข้าใจ

สุดท้าย ถ้าเรายังคิดวิธีการแก้ปัญหาไม่ออก Dr. Riddell แนะนำว่า ให้ลองมองว่าถ้าเพื่อนของเราประสบกับปัญหาในลักษณะนี้ เราจะให้คำแนะนำกับเขาว่าอย่างไร การดึงตัวเองออกเป็นคนนอกจะทำให้เราเห็นภาพที่กว้างขึ้น มีมุมมองใหม่ๆ และนำไปสู่วิธีปัญหาต่อไปได้

อ้างอิง

คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. (2566). Self-compassion – ความเมตตากรุณาต่อตนเอง.

Edward R. Watkins. (2016). Rumination-Focused Cognitive-Behavioral Therapy for Depression. The Guilford Press.

Edward Watkins. (n.d.). Rumination-Focused CBT.

Elizabeth Scott. (2022). What Is Rumination?

Joubert, A.E., Moulds, M.L., Werner-Seidler, A., Sharrock, M., Popovic, B., & Newby, J.M. (2022). Understanding the experience of rumination and worry: A descriptive qualitative survey study. British Journal of Clinical Psychology, 61(4), 929-946.

Patricia Riddell. (2020). The neuroscience behind the difference between rumination and reflection. 

Watkins, E.R., & Roberts, H. (2020). Reflecting on rumination: Consequences, causes, mechanisms and treatment of rumination. Behaviour Research and Therapy, 127, Article 103573.

Tags:

สุขภาพจิตSelf-Compassionการแก้ปัญหาการหมกมุ่นครุ่นคิด (Rumination)การคิดทบทวนตัวเอง (Reflection)

Author:

illustrator

ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Movie
    Simone Blies Rising : นักกีฬาที่ยืนยันว่าความเจ็บปวดในจิตใจสำคัญไม่แพ้ความเจ็บปวดภายนอก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Social Issue
    ยุติการบูลลี่ เริ่มต้นที่ทัศนคติของผู้ใหญ่: พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    ‘ขอโทษ’ คำพูดติดปากจากบาดแผลที่พ่อแม่ทำให้รู้สึกผิดเสมอ: คุณคางคกไปพบนักจิตบำบัด

    เรื่อง อัฒภาค

  • Movie
    All The Bright Places: พ่อไม่รู้หรอกว่าผลลัพธ์ของการใช้กำลังวันนั้นมันแย่แค่ไหน 

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Movie
    Precious: แม้พ่อแม่จะสร้างแผลใจที่ไม่อาจลบเลือน แต่เราเติบโตและงดงามได้ในแบบของตัวเอง

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Heart & How สร้างพื้นที่ปลอดภัย กู้ ‘ใจ’ วัยเรียน 
Social Issues
2 September 2024

Heart & How สร้างพื้นที่ปลอดภัย กู้ ‘ใจ’ วัยเรียน 

เรื่อง The Potential

  • ปัญหาสุขภาพจิตคือปัจจัยฉุดรั้งศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทยอันดับต้นๆ การเข้าให้ถึง ‘ใจ’ ของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ
  • กสศ. เปิดเวทีเสวนา “Heart & How หนทางกู้ใจวัยเรียน เพิ่มแรง ต่อพลังคนทำงาน” โดยมีองค์ความรู้และประสบการณ์ดีๆ ที่เป็นผลการดำเนินงานของ ‘นักกู้ใจ’ ในบริบทที่หลากหลาย เพื่อปกป้องสุขภาวะใจของเด็กๆ ให้กลับมารับมือกับสภาพปัญหาได้อย่างเข้มแข็ง 
  • หัวใจสำคัญในการโอบอุ้มหัวใจของเด็ก คือ ‘การสร้างพื้นที่ปลอดภัย’ ให้เกิดขึ้น ซึ่งคุณครูเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญ เมื่อเด็กเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายมา หากเจอครูที่เป็นแสงสว่าง สามารถเป็นที่พึ่งทางใจ อาจทำให้เด็กมีสุขภาวะทางใจที่ดีขึ้นได้

ถึงวันนี้คงไม่มีใครปฏิเสธแล้วว่า ปัญหาสุขภาพจิตคือปัจจัยฉุดรั้งศักยภาพของเด็กและเยาวชนไทยอันดับต้นๆ จากการสำรวจข้อมูลกลุ่มเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 360,069 ราย ของกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชัน Mental Health Check-in ระหว่างวันที่ 12 ก.พ. 65 – 27 ก.พ. 67 พบว่ามีเด็กและวัยรุ่นเสี่ยงซึมเศร้าถึง 39,105 ราย คิดเป็นร้อยละ 10.86, เสี่ยงฆ่าตัวตาย จำนวน 65,951 ราย คิดเป็นร้อยละ 19.12 

ด้วยเหตุนี้ การเข้าให้ถึง ‘ใจ’ ของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเวทีเสวนา “Heart & How หนทางกู้ใจวัยเรียน เพิ่มแรง ต่อพลังคนทำงาน” ชวนวิทยากรผู้ที่ทำงานในมิติของใจมาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่อาจช่วยให้พ่อแม่ ครู และบุคคลที่อยู่แวดล้อมเด็กได้รับฟังและโอบอุ้มพวกเขาด้วยความเข้าใจ

‘สร้างพื้นที่ปลอดภัย’ โอบอุ้มหัวใจวัยเรียน 

หากมองระบบนิเวศในธรรมชาติกับการเรียนรู้ จะเห็นว่าพื้นที่ครอบครัวและโรงเรียนคือนิเวศการเรียนรู้ของเด็ก ดังนั้นบุคคลแวดล้อมทั้งหมดล้วนมีผลต่อการเติบโต พัฒนาการ และการเรียนรู้ของเขาทั้งสิ้น

อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่าจากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เราพบว่าหัวใจสำคัญในการโอบอุ้มหัวใจของเด็ก คือ ‘การสร้างพื้นที่ปลอดภัย’ ให้เกิดขึ้น และต้องเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยในมิติด้านจิตใจด้วย หากมองว่าเด็กคนหนึ่งคือต้นไม้ ต้นไม้ต้นนี้จะดำรงอย่างมีสุขภาวะได้ สิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่รายล้อมต้องดี ถ้าระบบนิเวศเอื้อต่อการเติบโต ต้นไม้ก็จะแข็งแรง แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นในระบบ แน่นอนว่าต่อให้ใส่ปุ๋ยมากขนาดไหน ต้นไม้ก็ป่วยได้ 

“ตอนที่เราทำงานขับเคลื่อนโรงเรียน พบว่า การมีครูที่เก่งและเข้าใจ มีทักษะการฟังที่ดีช่วยเด็กได้ เรามีโอกาสทำงานกับโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่บริบทของวัฒนธรรมร่วมในโรงเรียนเลย เราบอกว่าอยากให้ฟังเด็กก่อน ไม่ด่วนตัดสินเมื่อเกิดปัญหา และเป็นครูที่เป็นมิตรกับเด็ก

เพราะการที่เด็กรู้ว่ามีใครสักคนที่เข้าใจ รับฟัง แล้วไม่ด่วนตัดสิน จะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเขา ซึ่งจะช่วยให้เด็กรู้สึกว่าเวลาเกิดปัญหาอะไร ก่อนที่เขาจะดิ่งหรือจมลึกไปกว่านี้ มีคนหนึ่งที่เข้ามาหาแล้วปลอบเขาได้ ตรงนี้มีส่วนช่วยมากๆ”

นอกจากครูแล้ว หากเด็กมีทักษะที่รับฟังกันได้ดี อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียนได้ด้วย 

อาจารย์อธิษฐาน์เล่าว่ามีโครงการของโรงเรียนหนึ่ง พอไปถามเด็กว่า ถ้ามีเงินทุนให้ทำงานขับเคลื่อนโรงเรียนให้มีความสุข อยากทำเรื่องอะไร เด็กบอกว่าอยากทำพื้นที่ปลอดภัยให้กับเพื่อน อยากให้เพื่อนได้มาระบายความทุกข์ เพราะในการเรียนรู้ระบบปกติ  ไม่มีพื้นที่ไหนให้เด็กมาบอกความรู้สึกของตัวเองเลย 

“ทุกคนมาด้วยความคาดหวังว่าต้องเรียนให้ดี ต้องเรียนให้เก่ง พ่อแม่ก็กดดัน ครูก็คาดหวัง เวลาเขามีประเด็นบางอย่างในใจ มันไม่มีพื้นที่ให้บอก กลายเป็นว่าเขาได้รับความร่วมมือจากเพื่อนเยอะมาก ฉะนั้นเราต้องมองบริบทแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเด็ก และช่วยจัดวางให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ ไม่ใช่แค่ลงไปที่ตัวเด็กเท่านั้น แต่ทำให้ครู ครอบครัว และเพื่อน มีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย และเป็นพื้นที่ดูแลกันและกัน ถ้าเราช่วยกันได้ ทำให้บ้านและโรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ก็จะช่วยป้องกันปัญหา ไม่ต้องปล่อยให้เด็กไปพบจิตแพทย์ที่ปลายทาง”

อาจารย์อธิษฐาน์ คงทรัพย์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ครูเปลี่ยน เด็กเปิด สร้างสะพานเชื่อมใจด้วย ‘จิตศึกษา’

เด็กและเยาวชนที่ได้รับทุนฯของ กสศ. ในหลายพื้นที่เป็นกลุ่มเด็กเปราะบางหรือกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเผชิญปัญหาชีวิตรอบด้าน นวัตกรรมจิตศึกษาจากมูลนิธิลำปลายมาศพัฒนา เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยปรับกรอบความคิดของครูและนำไปสู่การปรับพฤติกรรมเด็กได้ 

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์ กล่าวว่าเครื่องมือจิตศึกษาส่วนหนึ่งมีเรื่องของการฟังอย่างลึกซึ้ง การเปิดพื้นที่ปลอดภัย และการลดอำนาจเหนือ เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญที่สามารถนำไปใช้ทำงานกับ อปท. ภายใต้การสนับสนุนจาก กสศ. โดยเริ่มจากการพัฒนาศักยภาพครูก่อน เพราะการที่ครูจะช่วยลูกศิษย์ได้นั้น ครูต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองก่อน ครูถึงจะช่วยลูกศิษย์ได้อย่างแท้จริง

“การอบรมจิตศึกษาของคุณครูมีทั้งอบรมในห้องเรียน และพาไปศึกษาดูงานที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เพื่อให้เห็นรูปแบบของการประยุกต์ใช้ในชั้นเรียน ขณะที่กระบวนการจะเป็นตัวสร้างพลังให้ครูอยากไปปรับเปลี่ยนห้องเรียนของตัวเองให้เป็นห้องเรียนแห่งความสุข”

นอกจากนี้ ผศ.ดร.สุภาภรณ์ ยังเล่าว่ามีการนำจิตศึกษามาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานเพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาด้วย 

“เรามีโครงการที่เรียกชื่อสั้นๆ ว่า ‘นครสวรรค์โมเดล’ เข้าไปช่วยเหลือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดของเทศบาลนครนครสวรรค์ เราก็ลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับเด็ก ผ่านการใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ตารางสี่ช่อง การฟังให้มีพลังด้วยบทสนทนาที่มีความหมาย 

คุณครูทุกคนที่ลงพื้นที่ผ่านการฝึกฝนทักษะการรับฟังอย่างตั้งใจ ฟังด้วยหัวใจ ฟังอย่างไม่ตัดสิน และฟังแบบไม่แทรกถาม แล้วก็จะเก็บประเด็นปัญหาทั้งหมดมาวิเคราะห์ร่วมกัน และเข้าสู่กระบวนการการแก้ไข โดยไม่ว่าเด็กจะมีปัญหาสุขภาพจิต เศรษฐกิจ หรือปัจจัยเรื่องใด เราจะดึงภาคีเครือข่ายจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันออกแบบแนวทางการช่วยเหลือให้ตรงกับเป้าหมาย รวมถึงตรงกับความต้องการของเด็กและผู้ปกครอง ส่วนเด็กที่มีปัญหาแฝงเรื่องสุขภาพจิต เราก็จะตั้งวงสนทนาแบบสุนทรียสนทนา เราเชื่อว่ากระบวนการจิตศึกษาจะเป็นตัวช่วยที่ทำให้เด็กๆ ได้ฟื้นฟู self esteem และพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง”

ผศ.ดร.สุภาภรณ์ คำเรืองฤทธิ์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตนครสวรรค์

ศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัด ใช้วัฒนธรรมปรับใจ 

การรำมโนราห์ที่หลายคนมองเห็นว่าเป็นแค่การร้องรำหรือการแสดง แต่ใครจะคาดคิดว่าศิลปวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจะเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเชิงลบให้เด็กเยาวชนในชุมชนได้

อาจารย์ชานนท์ ปรีชาชาญ ศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่าศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัดเป็นศูนย์การเรียนรู้ในชุมชนที่เด็กเป็นผู้ก่อตั้ง เป็นการรวมกลุ่มขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยและเป็นพื้นที่เรียนรู้แบบครบวงจร เด็กๆ ที่มาในศูนย์ไม่ได้เรียนรู้แค่ในเรื่องของวัฒนธรรม แต่เรียนรู้ทุกอย่างที่เป็นภูมิปัญญาในชุมชน นอกจากนี้ยังมีการดูแลช่วยเหลือกันทั้งในมิติของกายและใจ เวลาเด็กๆ มีปัญหาจะมีรุ่นพี่คอยเป็นที่ปรึกษา ซึ่งเยาวชนที่เข้ามาเรียนรู้ในศูนย์มีทั้งเด็กในและนอกระบบการศึกษา แต่ทุกคนก็รักและโอบอุ้มดูแลกัน 

“เด็กในชุมชนบ้านปากลัดต่างรู้จักกับวัฒนธรรมที่อยู่ในชุมชนดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะวัฒนธรรมการกิน การดำรงชีวิต การปลูกผัก เลี้ยงไก่ เขาเรียนรู้มาตั้งแต่เกิด นอกจากนี้ชุมชนเรามีความพิเศษเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น มโนราห์และหนังตะลุงอยู่ด้วย เรามีครูภูมิปัญญา มีปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ ดังนั้นเรานำสิ่งเหล่านี้มาประคบประหงมเด็กๆ ให้เขาเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต และการอยู่อย่างรู้จักสัมมาอาชีพ นอกจากนี้ยังหนุนเสริมในเรื่องของการเข้าใจสิทธิของเพศสภาพ สอนให้เขารู้จักบทบาทและหน้าที่ของตนเอง รวมถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัดยังมีแนวคิดส่งเสริมให้เด็กๆ ในชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ เพื่อสร้างความเป็นเจ้าของ และเลือกพัฒนาศักยภาพให้ตรงตามความต้องการ 

“เราให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ เช่น หลักสูตรชุมชน เป็นหลักสูตรง่ายๆ เช่น การทำอาหาร ทำขนม การแปรรูปพืชสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น เมื่อเขาได้ออกแบบการเรียนรู้เอง เขาจะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของ หวงแหน ทำให้เด็กๆ รักและไม่ทิ้งชุมชน ขณะเดียวกันก็พยายามส่งเสริมทักษะการเรียนรู้ต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นทักษะชีวิต ทักษะอาชีพ เพื่อให้เขาสามารถขยับตัวเองไปยังเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ พึ่งพาตัวเองได้ และพาตัวเองไปสู่สิ่งที่อยากจะเป็น”

อาจารย์ชานนท์ ปรีชาชาญ ศูนย์เรียนรู้มโนราห์บ้านปากลัด จังหวัดสุราษฎร์ธานี

‘คลินิกสุขกายสบายใจ’ ดึงทีมจิตแพทย์ฟื้นฟูใจนักเรียน 

เด็กด้อยโอกาสและขาดแคลนทุนทรัพย์ แม้ว่าจะเผชิญภาวะปัญหาที่ต่างกัน บางคนมีปัญหาครอบครัวเป็นหลัก พ่อแม่อยู่ในเรือนจำ ขณะที่บางคนอยู่ในชุมชนที่รอบล้อมไปด้วยปัญหายาเสพติด แต่ส่วนใหญ่ค่อนข้างจะมีปัญหาด้านอารมณ์ ความเครียด และบางคนอาจมีภาวะซึมเศร้าด้วย 

ประทิน เลี่ยนจำรูญ วิทยาลัยเทคนิคพังงา กล่าวว่า การช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มนี้ ลำพังแต่ครูคงยากที่จะดูแลได้อย่างครอบคลุมโรงเรียนจึงพยายามมองหาเครือข่ายที่เข้ามาช่วยเหลือได้ ซึ่งโชคดีที่หมอฝน (พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนราชนครินทร์) ช่วยประสานงานโรงพยาบาลพังงาส่งทีมแพทย์และนักจิตเวชเข้ามาช่วยเหลือเราตั้งแต่การคัดกรองเด็กเลย 

“เรามีระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตเด็ก ซึ่งเริ่มตั้งแต่คัดกรองเด็กที่เข้ามาเรียนกับเราว่ามีความเสี่ยงในระดับใด โดยใช้แบบทดสอบของกระทรวงสาธารณสุข และมีการเสริมสร้างทักษะชีวิต ดูแลสุขภาพจิตของเขาภายในวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีคลินิกสุขกายสบายใจ ที่มีจิตแพทย์และนักจิตเวชเข้ามาพูดคุยกับเด็กเป็นระยะ เพื่อดูแลผู้เรียนที่มีความเครียดสูง และมีภาวะซึมเศร้าในรูปแบบต่างๆ แต่ถ้าเราเจอเด็กที่มีภาวะซึมเศร้าสูงมาก จะส่งต่อโรงพยาบาล ซึ่งคุณหมอจะดูแลเป็นกรณีพิเศษ ขณะที่เราจะต้องดูแลเด็กในเรื่องการกินยา คุณครูจะเป็นผู้จัดยาให้กับเด็ก มีกระเป๋ายาของเด็กแต่ละคน เพราะถ้าเราไม่จัดให้ เขาจะไม่กินยา ซึ่งส่งผลให้เขาอาการแย่ลง นอกจากนั้นเรายังมีหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เข้ามาช่วยเหลือในเรื่องปัจจัยการดำรงชีวิต พร้อมทั้งดึงผู้นำชุมชนมาช่วยดูแลเฝ้าระวังเด็กด้วย”

ประทิน เลี่ยนจำรูญ วิทยาลัยเทคนิคพังงา

‘Safe Zone Application’ เพื่อนช่วยเพื่อนจัดการความเครียด 

วิทยาลัยเทคนิคพังงาไม่เพียงช่วยเหลือติดตามดูแลสุขภาวะจิตใจเด็กที่มีปัญหาอย่างต่อเนื่อง ยังสนับสนุนนักเรียนจัดทำ ‘Safe Zone Application’ เพื่อเป็นเครื่องมือผ่อนคลายจิตใจในรูปแบบเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง 

นาถวัฒน์ ลิ้มสกุล นักเรียนทุน กสศ. เล่าว่าจุดเริ่มต้นของ Safe Zone Application มาจากการมีโอกาสเข้าร่วมโครงการ สสส. เป็นโครงการสร้างนวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ ซึ่งเลือกทำเรื่องของสุขภาพจิต เนื่องจากเห็นว่าเพื่อนนักเรียนอยู่ในภาวะตึงเครียดมาก ช่วงเริ่มต้นพยายามศึกษาข้อมูลงานวิจัยต่างๆ และได้เข้าไปปรึกษาทีมจิตแพทย์ที่เข้ามาทำงานร่วมกับโรงเรียนว่าอยากทำเว็บแอปฯ เรื่องสุขภาพจิตควรทำอย่างไร ซึ่งพี่ๆ แนะนำว่าแทนที่จะคิดเองน่าจะลองถามจากผู้ใช้งาน ก็เลยลงไปคุยกับกลุ่มตัวอย่างว่าเวลาเขาเครียดแล้วทำอะไรบ้าง จากนั้นนำเครื่องมือที่ได้ทั้งหมดมาตกตะกอนพัฒนาเป็นฟังก์ชันต่างๆ ใน Safe Zone Application ซึ่งเครื่องมือทั้งหมดจะปรึกษาร่วมกับนักจิตวิทยาก่อน เพราะสุขภาพจิตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เราต้องให้ความสำคัญกับทุกส่วนทั้งในเรื่องข้อความ สี และภาพ เราทำเรื่องนี้อยู่ 2 ปี กว่าจะได้เว็บแอปพลิเคชันสำเร็จออกมา

“Safe Zone Application ไม่ใช่เครื่องมือที่รักษา แต่เป็นพื้นที่ผ่อนคลายความเครียด เราอยากให้เพื่อนนักเรียนมีพื้นที่ที่รู้สึกว่าปลอดภัยและอยากกลับมาเมื่อไหร่ก็ได้ ในเว็บแอปฯ จะมีเครื่องมือหลายๆ อย่าง เพราะเครื่องมือหนึ่งอย่างไม่สามารถการันตีได้ว่าเหมาะสมกับทุกคน เครื่องมือที่ใส่ลงไปจะเน้นให้เขาได้ฝึกทักษะการรับมือกับอารมณ์ของตัวเอง การทำให้เขากลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ และทำให้เขามี Self-talk

ซึ่งหลังจากเปิดใช้งานเว็บแอปฯ ในโรงเรียน ก็มีเพื่อนๆ ให้ความสนใจเข้าใช้งานอย่างต่อเนื่อง มีน้องนักเรียนบางคนที่มีภาวะซึมเศร้าสูงก็ใช้เว็บแอปฯ ในการผ่อนคลายความเครียดควบคู่ไปกับการรักษา ซึ่งตอนนี้น้องเรียนจบและหายจากภาวะซึมเศร้าแล้ว เราเองก็ภูมิใจที่ Safe Zone Application ได้มีส่วนช่วยให้เพื่อนๆ จัดการกับอารมณ์ของตนเองได้ดีขึ้น รวมทั้งยังมี empathy รับฟังผู้อื่นได้ดีขึ้นด้วย

นาถวัฒน์ ลิ้มสกุล นักเรียนทุน กสศ.

‘เสริมสร้างทักษะชีวิต’ พัฒนาจิตใจกลุ่มเด็กด้อยโอกาส

กลุ่มเด็กผู้ด้อยโอกาสที่อยู่ภายใต้ทุน กสศ. ส่วนใหญ่ต่างมีบาดแผลทางจิตใจ จนกลายเป็นภาวะบกพร่องทางอารมณ์ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ กสศ. และ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและเยาวชนราชนครินทร์ ได้จัดทำ โครงการพัฒนาระบบเสริมสร้างทักษะชีวิตและการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอาชีวศึกษา เพื่อช่วยให้นักศึกษาทุนได้รับการช่วยเหลือดูแลด้านสุขภาพจิตอย่างเหมาะสม

พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่าที่ผ่านมาเราทราบข้อมูลกันดีและมีผลการศึกษาวิจัยออกมานานแล้วว่านักเรียนสายอาชีพมีพฤติกรรมเสี่ยงและปัญหาสุขภาพจิตที่ต้องการการเฝ้าระวังมากกว่านักเรียนในสายสามัญ ซึ่งแม้ว่าจะมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ยังไม่ได้สร้างความตระหนัก หรือมีแนวทางการรองรับปัญหาที่ชัดเจน  

“เราทำงานกับนักเรียนกลุ่มยากจน พยายามศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตว่ามาจากเรื่องของเศรษฐานะโดยตรง หรือมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ หรือไม่ ซึ่งมีปัจจัยหนึ่งที่กำลังศึกษาและอาจจะเป็นคำตอบ นั่นคือ ‘ประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก’ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย ทำร้ายทางเพศ ทางจิตใจ ถูกปล่อยปละละทิ้ง ไม่มีใครดูแล พ่อแม่แยกทางกัน พ่อแม่ทำร้ายร่างกายกัน พ่อแม่ติดยาเสพติด ก่ออาชญกรรม ติดคุก สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลสร้างความเลวร้ายในจิตของเด็กได้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการวิจัยจากต่างประเทศชัดเจนว่า 

คนที่มีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กก่อนอายุ 18 ปี มีโอกาสมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าคนทั่วไป และจะส่งผลกระทบต่อชีวิตเขาจนถึงผู้ใหญ่เลย แต่จะหนักหนาสาหัสไม่เท่ากันในแต่ละคน”

พญ.ศุทราเล่าว่า บทบาทที่ทำกับ กสศ. คืออยากให้มีการเฝ้าระวังเรื่องสุขภาพจิต ที่ผ่านมาในโครงการฯ ได้ใช้ WHO-5 ซึ่งเป็นแบบประเมินขององค์การอนามัยโลกติดตามสำรวจด้านสุขภาพจิตของนักศึกษาทุนทุกคน โดยข้อมูลรายงานสุขภาวะทางอารมณ์ในนักเรียนทุนนวัตกรรมสายอาชีพขั้นสูง (วันที่ 31 ก.ค. 67) พบว่า นักเรียนทุน กสศ. 6,241 คน มีเด็กจำนวน 17.3% คิดเป็นประมาณ 1,077 คน มีผลสุขภาวะไม่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่เราจะต้องติดตามว่าเด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มมีภาวะซึมเศร้า หรือมีปัญหาความเครียดรุนแรงอยู่บ้างหรือเปล่า เป็นตัวชี้วัดที่จะช่วยให้เราทำความเข้าใจและรู้จักเด็กคนนั้นมากขึ้น

“กรอบแนวคิดที่ใช้ทำงานมาตลอด 5 ปี คือ MHPSS (Mental Health and Psychosocial Support) มีลักษณะเป็นพีระมิด ซึ่งเริ่มจากชั้นล่างสุดจะบอกว่าเราควรป้องกันปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ฐานรากเป็นแบบครอบจักรวาล ซึ่งวิธีการทำได้หลายอย่างอาจจะเป็นการส่งเสริมทักษะชีวิต เพื่อนช่วยเพื่อน คุณครูเข้าไปติดตามดูแลเพิ่มเติม ชั้นถัดมาคือ กลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลแบบเฉพาะเจาะจง เด็กอาจจะเริ่มเครียดมาก หรือมีปัญหาที่รุนแรงขึ้น ครูจะต้องเข้าไปดูแลเป็นรายบุคคล เข้าไปรับฟังเพิ่มขึ้น เข้าไปเยี่ยมบ้าน หรือทำอะไรในเชิงลึกกว่าเด็กกลุ่มแรก และชั้นสุดท้ายที่เป็นชั้นบนสุด คือ การรักษา หากเด็กมีภาวะสุขภาพจิตที่รุนแรงจริงๆ จะต้องส่งต่อมาปรึกษาสุขภาพจิตกับผู้เชี่ยวชาญ”

พญ.ศุทรา เอื้ออภิสิทธิ์วงศ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนอาชีวะที่ผ่านกิจกรรมทักษะชีวิตมีสุขภาวะทางอารมณ์ดีขึ้นและมีจุดอ่อนลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ทำกิจกรรม อีกทั้งนักเรียนที่ได้รับคำปรึกษาและเข้ารับการรักษามีความสามารถจัดการความเครียดที่ดีขึ้น เรียนรู้ดีขึ้น และมีโอกาสที่จะยุติทุน หรือหลุดออกจากระบบการศึกษาน้อยลงได้ 

“งานวิจัยในขั้นต่อไปนอกจากการวัดผลสุขภาวะนักเรียนแล้ว เราอยากจะรู้ว่าเด็กทุนมีประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็กมากน้อยแค่ไหน ซึ่งอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะหาแนวทางป้องกันได้ เพราะถ้าเราไม่รู้ว่ารุนแรงแค่ไหนก็จะไม่รู้ว่าป้องกันอย่างไร เพื่อให้ท้ายที่สุดแล้วจะสามารถป้องกันปัญหาเรื่องสุขภาพจิตได้จริงๆ ในระยะยาว 

สุดท้ายอยากบอกว่าคุณครูเป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทสำคัญมาก เมื่อเด็กเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายมาแล้ว หากเจอครูที่เป็นแสงสว่าง สามารถเป็นที่พึ่งทางใจให้เขา เขาก็อาจจะมีสุขภาวะทางใจที่ดีขึ้นได้ 

แต่ในบางกรณี แม้ครูจะช่วยเหลือมากแค่ไหน แต่เด็กอาจจะไม่ดีขึ้นก็ได้ เพราะต้องเข้าใจว่า บางครั้งเงื่อนไขในการแก้ปัญหาหรือช่วยเหลือไม่ได้มีเพียงแค่ครูอย่างเดียว แต่ต้องมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ประกอบด้วย”

ทั้งหมดนี้นับเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ดีๆ ที่เป็นผลการดำเนินงานของ ‘นักกู้ใจ’ ในบริบทที่หลากหลาย ซึ่งต่างก็มีเป้าหมายในการ ‘ปกป้องสุขภาวะใจ’ ของเด็กๆ ให้กลับมารับมือกับสภาพปัญหาได้อย่างเข้มแข็ง ช่วยประคับประคองพวกเขาให้สามารถเดินไปถึงเป้าหมายปลายทางที่ฝันไว้ได้สำเร็จ 

Tags:

Safe Zone Applicationนักกู้ใจสุขภาพจิตครูโรงเรียนจิตศึกษาทักษะชีวิตเด็กด้อยโอกาสคลินิกสุขกายสบายใจ

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • IMG_7497
    Book
    โต๊ะโตะจัง: แค่เปลี่ยนมายด์เซ็ต ‘เด็กดื้อ’ ของผู้ใหญ่บางคน ก็อาจเป็น ‘เด็กดี’ ของโลกใบนี้ 

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Movie
    Better  Days: ชีวิตใครบางคนคงไม่แตกสลาย ถ้าทุกคนหยุดการบูลลี่ก่อนที่จะมันจะกลายเป็นอาชญากรรม

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Education trend
    ครูก็คือครู อย่าเอาหน้าที่ของพ่อแม่มาแบกไว้บนไหล่

    เรื่อง กนกอร แซ่เบ๊

  • Creative learning
    โรงเรียนเล็กในทุ่งกว้าง เปลี่ยนเด็กด้วยลานกว้างและดนตรี

    เรื่อง The Potential

  • Education trend
    มหกรรมสอบในเด็ก: ความเครียดและความล้มเหลวก่อนวัยอันควร

    เรื่อง The Potential

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel