Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: April 2022

ศีลธรรมและการให้คุณค่าที่ฝืนการลื่นไหลของธรรมชาติ กลายร่างเป็นโรคและภัย?
Myth/Life/Crisis
8 April 2022

ศีลธรรมและการให้คุณค่าที่ฝืนการลื่นไหลของธรรมชาติ กลายร่างเป็นโรคและภัย?

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ‘โอโบชิ’แม่เมืองผู้เป็นที่รักของชาว ‘นครเหล็ก’ เพราะเขาคอยช่วยเหลือชาวเมืองทุกชนชั้น ได้นำไพร่พลบุกตัดศีรษะ ‘เทพเจ้าแห่งป่า’ เพราะต้องการมอบเป็นบรรณาการแด่จักรพรรดิ หากแต่ว่าเมื่อองค์เทพไร้ศีรษะ จะกลายร่างควานหาหัวและคร่าทุกชีวิตทำให้ผู้คนในนครเหล็กตกอยู่ในอันตราย
  • ความกรุณาแบบแม่นายอิโบชิได้แบ่งแยกให้ป่าเป็นศัตรู บนฐานความ ‘ดี’ โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง กลายเป็นว่ามนุษย์อย่างพวกเราก็มักโทษอะไรก็ตามนอกจากตัวเอง โดยมักไม่ได้ตั้งคำถามว่า เรามีส่วนเพียงใดต่อความป่วยไข้ของโลก?
  • ราวกับว่าต้องเป็นความรุนแรงและเจ็บป่วยระดับที่มากพอเท่านั้น ที่จะทำให้เส้นบรรทัดความ ‘ปรกติ’ บนโลกใบนี้รวมถึงศีลธรรมอันดีในนิยามอย่างหนึ่งหันมา ‘รับรู้’ และทบทวนว่าวิถีหลักที่มหาชนถูกบ่มเพาะให้ทาบตัวเองไปกับมัน เริ่มจะปิดกั้นความไหลลื่นแห่งชีวิต เริ่มเป็นโทษและไม่สงบเรียบร้อยจริงอย่างไร

1.

อะชิตะกะ เจ้าชายแห่งเผ่าเอะมิชิ สังหารเทพหมูป่าที่กลายเป็นปีศาจ แต่แขนข้างหนึ่งของเขากลับบาดเจ็บประทับรอยคล้ำ มันคือคำสาปแห่งความชิงชังที่จะกลืนกินเขาไปในที่สุด เจ้าชายเดินทางออกจากเผ่าด้วยต้องการค้นหาที่มาของหมูป่าปิศาจคุ้มคลั่งโดยมีหวังว่าอาจถอนคำสาปได้ ในระหว่างทางเขาได้ช่วยเหลือคนจากนครเหล็กและพาพวกเขาส่งกลับเมือง เขาได้รู้จักกับ โอโบชิ แม่เมือง ซึ่งจัดการให้ชาวเมืองทำงานมีรายได้ ทั้งยังเปิดโอกาสให้คนชายขอบในยุคของเธอไม่ว่าจะเป็นโสเภณีหรือคนที่เป็นโรคเรื้อนได้ทำงานสุจริตด้วย ซึ่งพวกเขาต่างก็ซาบซึ้งในคุณของโอโบชิ

อย่างไรก็ตามนครเหล็กมีศัตรูรอบด้าน เมื่อชาวเมืองทำร้ายป่า เทพสัตว์ในป่าก็ย่อมต้องตอบโต้ บรรดาเทพเจ้าหมาป่าและ ซัง ลูกสาวที่แม่หมาป่าเลี้ยงไว้ ร่วมกันซุ่มโจมตีชาวนครเหล็ก ไม่เพียงเท่านั้น เทพหมูป่าเคยปะทะกับโอโบชิ ซึ่งเธอโต้ตอบด้วยการยิงลูกเหล็กใส่มันกระทั่งมันกลายเป็นปิศาจที่อิชิตะกะสังหารลงนั่นเอง นอกจากนี้ ความรุ่งโรจน์ทางเศรษฐกิจของนครเหล็กกระตุ้นความโลภของไดเมียวทำให้นครสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากทั่วสารทิศ 

แล้วโอโบชิก็นำไพร่พลบุกตัดศีรษะเทพเจ้าแห่งป่าเพราะต้องการมอบศรีษะขององค์เทพเป็นบรรณาการแด่จักรพรรดิซึ่งเธออาจหวังพึ่งพา องค์เทพซึ่งปรกติแล้วสามารถเยียวยาบาดแผลรวมถึงมอบชีวิตและพรากชีวิต หากเมื่อไร้ศีรษะจึงกลายเป็นร่างเมือกดำควานหาหัวและคร่าทุกชีวิตที่สัมผัส ผืนป่าค่อยๆ เปลี่ยนสีจากเขียวชอุ่มเป็นน้ำตาลดำ และผู้คนในนครเหล็กก็ล้วนตกอยู่ในอันตราย 

อะชิตะกะและซัง ช่วงชิงศีรษะไปคืนให้แก่องค์เทพ แล้วทุกสิ่งก็กลับมามีชีวิต บรรยากาศเป็นสีเขียวฉ่ำและสดใสดั่งเดิม 

2.

ศีลธรรมที่มีแค่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ แล้วธรรมชาติล่ะ?

แม่นายอิโบชิแห่งนครเหล็กพยายามหล่อเลี้ยงและปกป้องชาวเมือง ทั้งยังช่วยเหลือคนที่เป็นเรื้อนและนำเสนองานใหม่ให้อดีตโสเภณีเพื่อที่พวกเธอจะได้ไม่ต้องอยู่ในซ่องอีกต่อไป ในมุมมองของมนุษย์ ก็นับว่าเธอคล้ายแม่พระที่ใส่ใจคนปลายอ้อปลายแขมแห่งยุคสมัย ส่วนประชาชนในนครเหล็กนั้นก็ เพียงใช้ชีวิตประจำวันไปตามความจำเป็นของชีวิต ซึ่งก็เลี่ยงได้ยากที่จะต้องใช้ประโยชน์จาก(และทำลาย)ป่า เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ต่อไปได้

ป่ารกชัฏนั้นก็มีความดิบและดุร้าย สอดรับกับคำว่า wilderness ซึ่งมีรากจาก wildeor สะท้อนความปรารถนาอันผสานไปกับความเป็นสัตว์ป่าที่ควบคุมยากและซุ่มซ่อนอยู่ในพื้นที่ที่มนุษย์ไม่คุ้น และอาจสร้างความยุ่งยาก โกลาหล หรือทำลายมนุษย์ลงเสียเมื่อใดก็ได้ คล้ายว่าป่านั้นมีจิตวิญญาณเหนือธรรมชาติซึ่งสามารถก่อทุกข์โศกโรคภัยและความตาย 

ศัพท์จีนแปล 怪 (ดึงตัวอักษรออกมากจาก 物の怪 หรือ โมโนโนะเคะ ในภาษาญี่ปุ่น) ในทำนองภูติผีปิศาจ ความประหลาดและสับสน ซัง หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเจ้าหญิงโมโนโนะเคะเป็นภาพแทนของจิตวิญญาณธรรมชาติเช่นนั้นในป่า เธอเห็นว่ามนุษย์ชั่วร้ายและอันตรายดุจกันจึงต้องรบราด้วยเพื่อให้ป่าปลอดภัย เฉกเช่นที่เธอก็เป็นเงาสะท้อนของสิ่งที่มนุษย์หวั่นเกรงและมองว่าต้องกำจัดหรือกำราบให้อยู่หมัดเพื่อการดำรงอยู่และความ ‘เจริญ’   

ลีโอโปลด์กล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นเพียง “ส่วนหนึ่งของชุมชนสิ่งมีชีวิต” ไม่มีสิทธิ์ไปจัดการธรรมชาติ (อ้างอิง Animate Earth: Science, Intuition and Gaia) ทว่าทั้งเจ้าหญิงโมโนโนเคะแห่งป่าและมนุษย์ต่างก็กำลังทำให้อีกฝ่ายเป็นกระบวนการชีวิตที่ต้องต่อสู้ด้วย  

ความกรุณาแบบแม่นายอิโบชิได้แบ่งแยกให้ป่าเป็นศัตรู บนฐานความ ‘ดี’ ที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลางซึ่งแยกจากธรรมชาติอันเป็นสิ่งที่เอาไว้ใช้ประโยชน์ อิโบชิจัดการกับเทพหมาป่าและหมู่ป่า อีกทั้งตัดศีรษะองค์จิตวิญญาณแห่งป่าทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล ปรากฏเป็นภัยพิบัติร้ายแรงแก่มนุษย์

เมื่อเกิดโรคภัยร้ายแรง กลายเป็นว่ามนุษย์อย่างพวกเราก็มักโทษอะไรก็ตามนอกจากตัวเอง – แม้สิ่งที่ถูกกล่าวโทษนอกตัวจะทำกริยาที่ขัดหลักศีลธรรม(แบบมนุษย์เป็นศูนย์กลาง) – โดยมักไม่ได้ตั้งคำถามว่า เรามีส่วนเพียงใดต่อความป่วยไข้ของโลก?

ดวงตาที่ร่วมกันมองสิ่งต่างๆ ด้วยความเคียดแค้นชิงชัง ได้รวมเป็นกระแสพลังลบคล้ายวิญญาณอาฆาตที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ แต่โรคและภัยบนกายมารดาโลกที่ไม่เข้ากับเส้นวิถีชีวิต ‘ปรกติ’ กำลังบอกอะไรมนุษย์?

3.

ศีลธรรมและการให้คุณค่าที่ฝืนการลื่นไหลของธรรมชาติ สามารถก่อให้เกิดโรคและภัย?

แหล่งที่ถูกเรียกว่าเสื่อมโทรม สกปรก ยากจน ดูป่วยไข้ มืดมน หดหู่ ปิดตาย อันดำรงอยู่อย่างหลีกเร้น ซ้อน คู่ขนาน ประจันหน้า หรือวางในตำแหน่งอื่นใดต่อบริเวณที่ดูร่ำรวยและเต็มไปด้วยปฏิสัมพันธ์ของผู้คนอย่างเปิดเผย ขยายตัว มีชีวิตชีวา หรือว่องไวไปจนถึงรีบร้อน กำลังบอกว่าเราไร้ความสำนึกรู้โดยแจ่มชัดต่อ สิ่งใด?

ผู้คนจำนวนหนึ่งกินยาเคมีเป็นกำๆ ปิดปากไม่ให้ร่างกายป่วยประท้วงเพื่อจะได้ตะบี้ตะบันทำตามความคาดหวังของสังคมและของตัวเองต่อได้ อีกทั้งผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ มีภาวะแสนเศร้าอนธการเรื้อรังและปรารถนาในความตาย ใครจะเข้าคลับซึมเศร้าก็ได้ แต่สมาชิกคลับอันเปิดกว้างนี้กลับรู้สึกว่าอยู่เพียงลำพัง และส่วนหนึ่งก็ได้สังเวยชีวิตจากการกลืนกินของภาวะซึมเศร้าไปแล้วอย่างเป็นปรากฏการณ์ที่เราได้สัมผัส ‘ร่วมกัน’ (collective) 

นี่บอกว่าเรากำลังดำเนินชีวิตในรูปแบบครอบครัวและสังคมที่ให้ค่ากับอะไร? คุณค่าแบบไหนบ้าง ที่ทำให้แต่ละคนต้องใช้โหมดปกป้องตัวเองและจู่โจมกันและกันทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวกระทั่งเหนื่อยล้า? คุณค่าแบบไหนบ้าง ที่ทำให้สิ่งอันไม่อาจตามบรรทัดฐานซึ่งถูกบอกว่าควรจะเป็นและไม่อาจเข้ากับความ ‘ปรกติ’ กลายเป็นชายขอบ และกลายเป็นกระบวนการรองแห่งชีวิตที่เราแทบไม่ตระหนัก กระทั่งบางพื้นที่ค่อนข้างปิดในโรงพยาบาลและคุกได้กลายเป็นสถานที่อีกไม่กี่แห่งที่ บางสิ่ง จะดำรงอยู่ได้อย่าง ‘ถูกที่ทาง’ โดยไม่ถูกบีบให้ลงรอยกับมาตรฐานข้างนอกนั้นอีก ทั้งที่คนข้างนอกกับคนที่ถูกกักและจองจำก็อาจเดียวดายพอกัน 

ฉันได้ลงโทษและโดดเดี่ยวตัวเองในความเจ็บป่วยและคุกมืดเงียบมามากพอแล้ว คน ‘ปรกติ’ ที่มีพวกคนใด จะมาลงทัณฑ์หรือตัดสินซ้ำอีก?

มหันตภัยทางธรรมชาติและโรคร้ายอันเป็นเสมือนเสียงกรีดร้องแห่งมารดาโลก การประท้วงเคลื่อนไหวทางสังคม และถ้อยคำซึ่งเปล่งปะทุขึ้นอย่างสนั่นหวั่นไหวราวป่าวประกาศ ก็เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ดูคล้ายโอ้อวด แต่ใช่หรือไม่ว่าหากไม่ถูกกดทับและทอดทิ้งก็ไม่จำเป็นต้องส่งเสียงดังเพียงนั้น? หากไม่รู้สึกอันตรายสัตว์ก็จะไม่พองขนร้องฟู่ และหากไม่ถูกกีดกันออกไปประหนึ่งว่าชีวิตฉันไร้ความหมาย ใยเล่าต้องพยายามอย่างหนักหน่วงเกินสามัญ? ใช่หรือไม่ว่าหากน้อยและเบากว่านี้ ก็เริ่มจะเฉียดจุดที่รู้สึกไร้ค่า? กลุ่มก้อนแห่งสิ่งที่ถูกมองว่าพยายามเกิน ไม่ถ่อมตัว เยอะ หิวแสง แรง ระเบิดออกมา และเรียกร้องไม่ยอมเงียบง่ายๆ รวมถึงไม่กี่เสี้ยววินาทีแห่งภาวะจิตเช่นนั้นในชีวิตประจำวัน ก็เป็นเช่นตัวแทนแห่งผีสางและสัตว์ประหลาดที่ได้ถูกปิดผนึกไว้ในความมืดมนและถูกปิดปากมานานเกินไป บาดเจ็บและไม่มีใคร และในที่สุดแล้วก็แค่อยากมีเพื่อน พ้องเสียงกันมากพอที่จะทำให้ บางสิ่ง กลายเป็นกระแสสำนึกใหม่ (ซึ่งก็จะกลายเป็นของเก่าและจำต้องสูญสลายไปเหมือนกับสิ่งที่ได้ดับลงและกำลังดับลงไปก่อนหน้า) 

ราวกับว่าต้องเป็นความรุนแรงและเจ็บป่วยระดับที่มากพอเท่านั้น ที่จะทำให้เส้นบรรทัดความ ‘ปรกติ’ บนโลกใบนี้รวมถึงศีลธรรมอันดีในนิยามอย่างหนึ่งหันมา ‘รับรู้’ และทบทวนว่าวิถีหลักที่มหาชนถูกบ่มเพาะให้ทาบตัวเองไปกับมัน เริ่มจะปิดกั้นความไหลลื่นแห่งชีวิต เริ่มเป็นโทษและไม่สงบเรียบร้อยจริงอย่างไร? เจตจำนงใหม่ที่ผุดเกิดขึ้น กำลังคลี่เผยเป็นหลากรูปลักษณ์อะไรบ้าง? ไม่ได้สนับสนุนให้ใครทำร้ายคนอื่น ทว่าสิ่งที่ถูกทำให้เป็นอาชญากรรมเกินสัดส่วนความอันตรายของมันก็อาจต้องมีพื้นที่เพิ่มขึ้นให้ได้ปรากฏอย่างสร้างสรรค์บ้าง อย่างในพิธีกรรมและเทศกาลที่เราได้ร่ายรำไปกับสัตว์ดิบดุในตำนาน ของกินที่เชื่อมกับนิทานพื้นบ้าน หรือกิจกรรมอื่นใดที่ผู้คนจะสัมผัสถึงการดำรงอยู่ของ บางสิ่งนั้น ในเชิงสัญลักษณ์ได้ร่วมกันอย่างไม่ต้องทำร้ายสรรพชีวิต   

ไม่แปลก หากสิ่งที่ดูเหมือนอยู่ตรงข้ามกันต่างดำรงอยู่ในกันและกันอย่างคลุกเคล้าจนไม่อาจแยกเป็นฝั่งฝ่าย และต่างก็มีห้วงเวลาที่ต้องการควบคุม กินอาณาเขตและลบล้างอีกฝ่ายเพื่อให้ตัวเองดำรงอยู่ และแม้แต่ชิงชังอีกฝ่ายทั้งที่ตนก็ทำเช่นเดียวกันนั้น

ในป่ารกดิบมีพลังการเยียวยาสถิตอยู่ แม้อีกด้านของความไหลลื่นและงอกงามแห่งชีวิตจะเป็นความตายก็ตาม

ตาย*  เพื่อจะมีชีวิต ❄✝

อ้างอิง

ขอบคุณบทสนทนากับหลิน ชโลบล ฉัตรชัยวง ที่ทำให้สัมผัสถึงกระบวนการภายในอันรุ่มรวย การผสานทางเคมีและความไหลลื่น อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจต่อส่วนหนึ่งของบทความนี้, ขอบคุณชายคนหนึ่งที่หมกตัวโดดเดี่ยวตัวเองในบ้านที่ดูร้างไร้ แม้ถูกผู้คนสงสัยว่าจิตวิกล แต่ก็ออกมาให้อาหารหมู่นกทุกเย็นในพื้นที่ที่เขาจะถูกมองเห็นความกรุณาที่ซุกซ่อนอยู่นั้นได้

หมายเหตุ* ตาย ในเชิงสัญลักษณ์  

ภาพยนตร์อนิเมชั่น《もののけ姫》 

กาย่า โลกที่มีชีวิต วิทยาศาสตร์และการหยั่งรู้ (Animate Earth: Science, Intuition and Gaia) โดย สเตฟาน ฮาร์ดิ้ง

จิตวิทยา จิตวิญญาณ โดย ประสาน ต่างใจ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐

Chater of the United Nations and Statute of the International Court of Justice 

International Covenant on Civil and Political Rights

I am Fine Learning to live with depression (TedxBrighton) โดย Jake Tyler

The Legend of the Lady White Snake; An Analysis of Daoist,

Buddhist and Confucian Themes โดย Lindsay Emerson

Tags:

ธรรมชาติเจ้าหญิงจิตวิญญาณแห่งพงไพรPrincess Mononokeมนุษย์

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • Movie
    Green Book: มิตรภาพบนความต่าง คือบทสนทนาของหัวใจที่เปิดกว้างละวางอคติ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Cover
    Book
    The Wild Robot: ชีวิตที่ลิขิตเอง ไม่ต้องรอโปรแกรมคำสั่ง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Space
    วางจอมาจับกบ เล่น เลอะ เรียนรู้ที่ ‘ป้าจิ๊บฟาร์ม’: คุยกับ วิน-สินธุประมา

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Education trend
    ชวนเด็ก ‘รัก’ และ ‘รักษ์’ สิ่งแวดล้อม เปิดประตูสู่การศึกษาเพื่อความยั่งยืน

    เรื่อง กัญญาณัฐ เลิศคอนสาร ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Everyone can be an Educator
    อเล็กซ์ เรนเดลล์: Environment Education ออกไปเรียนรู้โลกเพื่อกลับมาเป็นตัวเองที่ดีกว่าเดิม

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

Encanto : พยายามจะเพอร์เฟกต์จนลืมมองความเจ็บปวดของอีกฝ่าย
Movie
7 April 2022

Encanto : พยายามจะเพอร์เฟกต์จนลืมมองความเจ็บปวดของอีกฝ่าย

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Encanto เป็นหนึ่งในอนิเมชันแฟนตาซีสไตล์มิวสิคัล เล่าถึง ‘ครอบครัวมาดริกัล’ ที่ได้รับปาฏิหาริย์ให้มีบ้านที่เกิดจากเวทมนต์ ซึ่งทุกคนในครอบครัวจะได้รับพลังวิเศษ แต่มีเพียง ‘มิราเบล’ ที่ไม่มีพลังวิเศษทำให้เธอมักจะรู้สึกโดดเดี่ยวอยู่เสมอ
  • วันหนึ่ง ‘มิราเบล’ มองเห็นว่าบ้านเริ่มมีรอยร้าว และพลังของทุกคนก็ค่อยๆ ลดลง จึงตัดสินใจที่จะเป็นคนกอบกู้ปาฏิหาริย์นี้พื่อปกป้องบ้านและครอบครัวของเธอ แต่คุณยายกลับโยนความผิดว่าเธอเป็นต้นเหตุของเรื่องทั้งหมด
  • สุดท้ายแล้วมิราเบลก็ได้ปรับความเข้าใจกับคุณยาย และพบว่าคุณยายกลัวที่จะสูญเสียครอบครัว จึงเปลี่ยนความกลัวนี้เป็นความเข้มงวดกับลูกหลาน ซึ่งสิ่งนี้ทำให้ทุกคนต้องพยายามเป็นคน ‘เพอร์เฟกต์’ และแบกความคาดหวังของคนในครอบครัวจนรับไม่ไหว

Tags:

ความขัดแย้งครอบครัวEncantoมาดริกัลPixar

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • Movie
    Win or Lose: ‘ลูกไม่ต้องเป็นคนเก่งที่สุด แค่ลูกทำมันให้ดีที่สุด’ ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่คือชนะใจตัวเองในแต่ละวัน

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Book
    ความสุขคืออะไร?  คำถามที่ทุกคนต้องหาคำตอบด้วยตัวเอง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    แมวปริศนากับใบไม้แห่งคำทำนาย – เปิดใจกันหน่อยคนดี

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    Like Father, Like Son : นายไม่ต้องเป็นพ่อแบบที่พ่อนายเป็นก็ได้นะ

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Family PsychologyEarly childhood
    เข้าใจลูกในวันที่เขาเปลี่ยนไป EP.5 ‘เด็กพูดโกหก’ 

    เรื่อง เมริษา ยอดมณฑป ภาพ ninaiscat

Beyond Schooling : 3 รูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่หยุดแค่รั้วโรงเรียน
5 April 2022

Beyond Schooling : 3 รูปแบบการเรียนรู้ที่ไม่หยุดแค่รั้วโรงเรียน

เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • หลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19  ‘โฮมสคูล’ เริ่มได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น เนื่องจากทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่รวมกันที่บ้าน แต่โครงสร้างและระบบที่เอื้อต่อการหาข้อมูลเพื่อจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ยังมีไม่มากเท่าที่ควร พ่อแม่ผู้ปกครองต่างต้องหาข้อมูลความรู้กันเอง เนื่องจากไม่มีเทมเพลตหรือโครงสร้างใดๆ ที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลโดยตรง
  • รวมไปถึงการเรียนรู้ผ่านกิจกรรม ให้เด็กลงไปตั้งโจทย์ด้วยตัวเอง ลองหาความรู้ผ่านการลงมือทำจริงๆ และได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
  • ในระยะยาวที่ไม่มีสถานการณ์โควิด-19 แหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน เช่น ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรในพื้นที่ชนบทจะเป็นอีกทางหนึ่งที่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นต่อไปที่สนใจทำงานที่อิสระ  เพราะตอนนี้ห้องเรียนสี่เหลี่ยม อาจจะไม่ใช่คำตอบของเด็กในยุคปัจจุบันแล้ว

เพราะการเรียนรู้ไม่ได้หยุดแค่ ‘ห้องเรียน’ หรือ ‘โรงเรียน’ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเรียนรู้ด้วยตัวเอง การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการศึกษานอกระบบด้วย 

ยิ่งในปัจจุบันที่เทคโนโลยีพัฒนาอย่างรวดเร็วและเปิดกว้างมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่งผลต่อมุมมองความคิดด้านการศึกษา ทำให้กำแพงแห่งการเรียนรู้ถูกทลายลง เกิดแหล่งเรียนรู้ใหม่ๆ มากมายสอดรับกับความต้องการในการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนที่หลากหลาย

ในงานประชุมวิชาการ TEP Forum 2022 ‘ก่อร่างสร้างใหม่ การศึกษาไทยแห่งอนาคต’ ภายใต้โจทย์ ‘Beyond Schooling! การเรียนรู้แบบใหม่ที่ไปไกลกว่าโรงเรียน’ ได้มีการเชิญผู้ที่อยู่ในแวดวง ‘การศึกษานอกระบบ’ ทั้งในฐานะผู้เรียนและผู้ออกแบบการเรียนรู้ มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในประเด็นนี้ ซึ่ง The Potential ได้เลือกตัวอย่างการจัดการศึกษานอกระบบที่น่าสนใจใน 3 รูปแบบมานำเสนอ 

‘โฮมสคูล’ เปลี่ยนทางเลือกให้เป็นทางที่ใช่ โจทย์ใหญ่บนความแตกต่างหลากหลาย

การจัดการศึกษาแบบโฮมสคูล (Homeschool) หรือ ‘บ้านเรียน’ นั้น แม้จะเป็นรูปแบบที่คนไทยรู้จักกันมาพอสมควร แต่ที่ผ่านมาพ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมองว่าการศึกษานอกระบบโรงเรียนนี้เป็นทางเลือกที่ต้องมีความพร้อมทั้งเวลา ความรู้และทุนทรัพย์ ซึ่งในมุมของ รวิชญ์ ศรีพันธวานุสรณ์ หรือ ‘คุณไนซ์’  ผู้ที่เติบโตขึ้นมากับการเรียนโฮมสคูล เล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า

“ผมเป็นเด็กโฮมสคูลตั้งแต่ก่อนมัธยม ซึ่งประสบการณ์ที่ได้พบเจอคือ ผู้ปกครองของเด็กโฮมสคูลยุคก่อนก็จะเน้นผลักดันความพิเศษของลูกหลาน เช่น ด้านภาษา ด้านดนตรี เพราะเด็กโฮมสคูลส่วนมากที่เจอเขาจะมีความ Specialist พอสมควร และมุ่งไปด้านใดด้านหนึ่งอย่างชัดเจน”

แต่หลังจากประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19  ‘โฮมสคูล’ เริ่มได้รับความสนใจจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากขึ้น เนื่องจากทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่รวมกันที่บ้าน 

“เมื่อผู้ปกครองอยู่บ้านมากขึ้นเลยสามารถจัดการเรียนรู้แบบโฮมสคูลให้ลูกหลานได้ เพราะถ้าในสถานการณ์ปกติแล้ว จะต้องมีผู้ปกครองไม่คนใดก็คนหนึ่งมาดูแล แต่พอมีเงื่อนไขเรื่องโควิดเข้ามา ก็ทำให้คนค้นหาด้วยตัวเองมากขึ้นว่านอกจากการศึกษาในระบบแล้ว มันมีการศึกษาทางเลือกอื่นหรือไม่” 

อย่างไรก็ดี แม้โฮมสคูลจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น แต่โครงสร้างและระบบที่เอื้อต่อการหาข้อมูลเพื่อจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ยังมีไม่มากเท่าที่ควร พ่อแม่ผู้ปกครองต่างต้องหาข้อมูลความรู้กันเอง เนื่องจากไม่มีเทมเพลตหรือโครงสร้างใดๆ ที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนการจัดการศึกษาแบบโฮมสคูลโดยตรง

“ถ้าเราลองไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าโฮมสคูลต้องทำยังไง ข้อมูลก็ค่อนข้างจะยังสะเปะสะปะ ไม่ได้มีองค์กรหรือหน่วยงานชัดเจน เพื่อที่จะมาสนับสนุนหรือรองรับการจัดการศึกษาด้วยตัวเองขนาดนั้น แต่ก็ยังมีช่องทางอื่นบ้าง เช่น ในเฟซบุ๊กมีกลุ่ม ‘Home School Network’ ซึ่งเขามีประสบการณ์จัดโฮมสคูลให้ลูกหลานมาก่อน อย่างไรก็ตามผมก็คิดว่ามันยังเฉพาะกลุ่มมากๆ อยู่ดี”

ไนซ์มองว่าถ้าต้องการยกระดับโฮมสคูลให้ได้มาตรฐาน สามารถเป็นทางเลือกที่ดีให้กับครอบครัวที่มีความพร้อม ควรมีหน่วยงานหรือสถาบันให้การสนับสนุนทั้งในการกระบวนการขั้นตอนและการจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ

“ทำอย่างไรให้คนที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทราบว่าเขาควรต้องเริ่มยังไง เพื่อที่ทำให้เกิดโฮมสคูลขึ้นโดยง่าย เพราะผมคิดว่าคนที่ไม่เคยอยู่ในแวดวงการศึกษาเลย ก็คงไปต่อไม่ถูกกับเรื่องการจัดการศึกษาแบบนี้ และต้องใช้เวลาประมาณนึงเลย ในการรวบรวมข้อมูลว่าอะไรทำได้และไม่ได้บ้าง”

นอกจากนี้ ในฐานะอดีตนักเรียนโฮมสคูล ไนซ์ฝากมุมมองเกี่ยวกับการประเมินผลการศึกษาของเด็กนอกระบบไว้ว่า

“มีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งที่ผมเจอมาตั้งแต่ตอนที่เรียนอยู่คือ คุณเอาระบบปกติมาประเมินการจบการศึกษาของเด็กนอกระบบ ซึ่งมันไม่ได้ เพราะเด็กนอกระบบก็ควรจะมีวิธีการประเมินหลักสูตร ม.3 และ ม.6 เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถอันยูนีคของเขา

แต่สิ่งที่ผมเจอตั้งแต่เรียนมัธยมจนจบ ม.6 มันก็ยังคงมี 8 สาระวิชา ซึ่งมันไม่สมเหตุสมผลมากๆ สำหรับเด็กโฮมสคูล เพราะเขาเรียนโฮมสคูล เพื่อที่เขาจะยูนีคและหลุดกรอบ แต่คุณกลับเอากรอบทั่วไปของการศึกษาไทยมาประเมินเขา กลายเป็นว่าเด็กก็ยูนีคไปได้ไม่สุดเพราะต้องมาติดอยู่กับวิชาที่อาจจะไม่จำเป็นกับเขาเลยด้วยซ้ำ”

สำหรับไนซ์ ปัจจุบันทำงานเป็นฟรีแลนซ์ Colorist และทำงานเบื้องหลังภาพยนตร์โฆษณาต่างๆ แม้ในสายงานของเขาจะไม่มีการถามหาเรื่องวุฒิการศึกษา ซึ่งตัวเองก็ไม่ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี แต่โดยทั่วไปสังคมก็ยังให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาอยู่ดี 

“สายงานของเด็กโฮมสคูลแต่ละคนก็มีเป้าหมายต่างกัน แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ไม่ใช้วุฒิ เพราะเด็กโฮมสคูลบางคนก็ไปต่อสายแพทย์ พยาบาล ที่ยังมีความจำเป็นต้องใช้สิ่งที่ยังคงเกี่ยวข้องกับในระบบอยู่ แต่เขาไม่สามารถนำความสามารถพิเศษนอกเหนือจาก 8 สาระวิชามาเสริมในสิ่งที่เขามีได้” ไนซ์กล่าว ก่อนจะทิ้งท้ายว่า

“เด็กแต่ละคนนั้นมีความยูนีคที่แตกต่างกัน อยากให้มีวิธีการประเมินความยูนีคเหล่านั้นออกมาเป็นคะแนน หรือหน่วยชี้วัดว่าเขามีคุณภาพเพียงพอที่จะจบการศึกษาแต่ละชั้นปีอย่างถูกต้องตามแบบของการเรียนรู้นอกระบบควรจะเป็นครับ” 

‘สถาบันเสริมสร้างทักษะศตวรรษที่ 21’ เรียนรู้ผ่านกิจกรรม เส้นทางสู่ความสำเร็จ

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความรู้เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คือสิ่งที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้คนรุ่นใหม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ในอนาคต 

อลิสา ตริยถาวรวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Kid Hero Thailand (บริษัท คิด ฮีโร่ (ไทยแลนด์) จำกัด) สถาบันเสริมสร้างทักษะศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กช่วงกลุ่มอายุ 5-12 ปี ที่เน้นกิจกรรมและกระบวนการสอนรูปแบบใหม่ มองว่าการที่ให้เด็กลงไปตั้งโจทย์ด้วยตัวเอง ลองหาความรู้ผ่านการลงมือทำจริงๆ และได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก

อลิสาบอกว่าปัจจุบันนอกจากทักษะศตวรรษที่ 21 แล้ว มีการพุ่งเป้าไปที่เรื่อง Mindset และ Soft skill ที่การศึกษาในระบบอาจจะยังทำไม่เต็มที่ จึงมาเสริมเพิ่มข้างนอก ในขณะเดียวกันก็มีความพยายามผสมผสานเข้ากับดิจิทัลด้วย 

“เราเห็นความสำคัญของการที่จะปลูกฝังให้คนคนหนึ่งมีมายเซ็ตที่ดี ในเชิงบวก เพราะมันสามารถทำให้คนประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาตั้งใจและทำ ได้ ซึ่งเราก็จะเห็นแล้วว่านอกจากความรู้พื้นฐานในส่วนที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาให้เด็กเหล่านี้ ก็จะมีเรื่องของมายเซ็ตเข้ามาร่วมด้วยมากขึ้น”

“ในเรื่องการเปิดใช้งานโลกดิจิทัลต่างๆ สิ่งนี้เห็นได้ชัดมากเลยว่า ทางกระทรวงหรือที่อื่นก็ได้มีการนำกิจกรรม หรือกระบวนการเสริมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็ก สามารถใช้เครื่องมือสื่อสาร หรือโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ดีขึ้น และสามารถนำไปผสมผสานกับการเรียนรู้ หรือการใช้ชีวิตประจำวันได้อีกด้วย”

อลิสาเล่าถึงปัญหาหนึ่งที่เคยพบตอนเรียนคือ เรียนไปแล้วเกิดคำถามว่า ‘เราเรียนสิ่งนี้ไปทำไม’ ซึ่งบางคนก็อาจจะเพิ่งมาพบคำตอบตอนโตแล้ว หรือบางคนก็อาจจะไม่ได้รับคำตอบนั้นอีกเลยเพราะไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการเรียนตั้งแต่แรก ซึ่งพอลองนำประเด็นนี้ไปคุยกับเพื่อนๆ ก็พบว่าเรื่องนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ และหลายคนก็เคยประสบปัญหานี้เหมือนกัน เวลาออกแบบการเรียนรู้ให้แก่เด็กจึงให้ความสนใจกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ

“คนรุ่นใหม่ที่พยายามรวมตัวกันหรือคนที่ทำเรื่องนี้ก็จะกังวลในเรื่องนี้ เป็นหนึ่งในหัวใจที่เมื่อเราออกแบบหรือทำกิจกรรมอะไรให้เด็ก เราต้องคิดถึงว่าสิ่งที่เขาได้เรียนมันเกี่ยวข้องหรือมีประโยชน์ต่อตัวเขายังไง คอร์สสามารถนำไปปรับใช้ทันทีได้ยังไง เลยอยากให้ทางรัฐเข้ามาลองดูตรงนี้ 

น้องๆ ที่เรียนอยู่ตอนนี้จะได้สามารถตอบโจทย์ชีวิตของเขาได้ สามารถนำความรู้ไปเชื่อมโยง เกี่ยวโยงกับชีวิตประจำวันได้ทันที รวมถึงสามารถสร้างแรงบันดาลใจ ที่ถ้าเขาเห็นทางไปในอนาคตแล้ว เขาจะมองเห็นว่าความรู้ตรงนี้สำคัญกับเขาอย่างไร”

อีกปัญหาที่พบจากการจัดการศึกษานอกระบบคือการถูกเพ่งเล็งจากรัฐในเรื่องของคุณภาพการจัดการศึกษา ซึ่งจริงๆ แล้วในปัจจุบันคนที่เข้ามาทำการศึกษานอกระบบนั้นมีมากขึ้นเรื่อยๆ

และคนเหล่านั้นก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจว่า ในอดีตตัวเราเคยมีบาดแผลจากการศึกษาอย่างไร จึงอยากให้มีการเปิดโอกาสให้คนที่มีความสนใจ สามารถเข้ามาทำการศึกษานอกระบบได้โดยมีข้อจำกัดน้อยลง

“เราทำได้ในส่วนที่เป็นนอกระบบ เพราะตัวเองก็ไม่ได้จบครุศาสตร์มาโดยตรง แต่อยากมาทำด้านนี้จึงตัดสินใจเข้ามาทำภายหลัง แล้วพอเราไปชวนเพื่อนๆ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่สนใจในเรื่องเดียวกัน เราก็พบว่าเขาเป็นคนรุ่นใหม่หมดเลย เราก็อยากทำให้การศึกษาไทยดีขึ้น แต่ติดอยู่ตรงที่เราทำได้แค่การศึกษาทางเลือก เพราะโปรไฟล์ของเราไม่ได้ตรงตามที่กฎหมายกำหนดเอาไว้” 

ด้วยเหตุนี้ อลิสาจึงเสนอให้ภาครัฐเปิดกว้างมากขึ้น  “เราก็มีการทำกระบวนการ Learning Design ต่างๆ ที่เหมาะกับน้องๆ ในปัจจุบันมากขึ้น อยากให้ลองเปิดใจและนำพวกเราเข้าไปสู่ในระบบ อาจจะทำเป็นกิจกรรมหรือสื่อนำเข้าไปใช้” 

คนที่มีบาดแผลจากการศึกษาจำนวนมากกำลังรวมตัวกันทำเรื่องการศึกษา และเราก็ได้เห็นเทรนด์ต่างๆ แล้ว เพียงแต่ว่าอยากให้รัฐสนับสนุนมากขึ้น ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถเชื่อมโยงการศึกษาในระบบกับการศึกษาทางเลือกเข้าด้วยกันได้

‘สวนการเรียนรู้’ คำตอบของโลกยุคใหม่ที่หมุนไปไวกว่าห้องเรียน

ศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรในพื้นที่ชนบท ถือเป็นอีกรูปแบบของการจัดการเรียนรู้นอกระบบที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน ซึ่ง ถนอม มธิปิไขย ตัวแทนของคนที่อยู่ทั้งในระบบการศึกษา ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียน และผู้จัดการเรียนรู้นอกระบบการศึกษา ในฐานะผู้จัดการ ‘สวนเรียนรู้บ้านไร่วนเกษตร’ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรพอเพียงและทักษะการใช้ชีวิต โดยน้อมนำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ ก็ได้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่ไปไกลกว่าโรงเรียน

“ครั้งหนึ่งผมเคยได้ยินเด็กคุยกันว่า ชีวิตของเขาเหมือนถูกขังรวม ในฐานะที่ผมเป็นผู้บริหารได้ยินคำนี้ก็ไม่สบายใจ เพราะรู้สึกว่า ‘มันเกิดอะไรขึ้น’ แล้วพอผมได้มีโอกาสทำงานกับเครือข่ายผ่านชาวบ้าน ก็ได้เห็นรูปแบบของการจัดการศึกษานอกระบบหรือโฮมสคูล ที่เป็นเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจมานานแล้ว พอมีโอกาสจึงได้สร้างศูนย์เรียนรู้ทักษะชีวิตขึ้นมา”

อาจารย์ถนอมเล่าว่า ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา เป็นช่วงที่มีการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบไปพร้อมๆ กัน โดยได้เปิดสวนเรียนรู้เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในเรื่องศาสตร์พระราชานั้นมีความสำคัญมากในการพัฒนาและดำรงชีวิต 

จากประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้อาจารย์ถนอมได้รู้ว่านักศึกษาคิดอย่างไรบ้างหลังจากได้เรียนรู้ไป ซึ่งผลตอบรับกลับมาคือรอยยิ้ม ความสุข และความใส่ใจในเนื้อหาในที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันมากขึ้น โดยสิ่งที่สำคัญคือ การได้ลงมือทำจริง และทักษะชีวิตที่ได้จากการปฏิบัติ  

“ด้วยความที่บทบาทหนึ่งผมทำงานกับการศึกษาในระบบ เพราะฉะนั้นก็จะมีความห่วงใยของผู้ปกครอง หรือบุคคลทั่วไป ในเรื่องคุณภาพของการจัดการศึกษา แต่ในขณะเดียวกัน การศึกษาในระบบก็มีหลายเรื่องที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข แต่มันก็ช้าเนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่”

“ในยุคที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาและเร็วมาก ในระบบเลยขับเคลื่อนไม่ทัน แต่ตรงนี้ที่เราทำมันสามารถขับเคลื่อนได้เร็ว จึงกลายเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น”

อาจารย์ถนอมมองว่าในระยะยาว ที่ไม่มีสถานการณ์โควิด-19 แนวทางนี้จะเป็นอีกทางหนึ่งที่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ หรือคนรุ่นต่อไปที่สนใจทำงานที่อิสระ  เพราะตอนนี้ห้องเรียนสี่เหลี่ยม อาจจะไม่ใช่คำตอบของเด็กในยุคปัจจุบันแล้ว

“สิ่งที่จะมีการเปลี่ยนแปลงคือ เด็กสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ในทุกแหล่ง แม้อาจจะไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน แต่ผมคิดว่าผลตอบรับที่กลับมาก็ตอบโจทย์เด็กและคนที่สนใจ เพราะจะเกิดความสุขและอิสระมากขึ้น”

ห้องเรียนก็คงยังทำงานอยู่ แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เร็วมาก การยืดหยุ่นของห้องห้องเรียนในระบบเปลี่ยนได้ยาก การเรียนรู้นอกระบบหรือ Beyond Schooling จึงเป็นจุดที่เปลี่ยนแปลงง่ายกว่า ทำงานเสริมจุดที่ห้องเรียนยังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ และเติมเต็มความสนใจให้กับเด็กและผู้ที่สนใจมากขึ้น

อาจารย์ถนอมได้เสนอเพิ่มเติมในเรื่องการจัดการศึกษาว่า ในเชิงนโยบายอยากให้ปล่อยให้ศูนย์การเรียนเป็นคนจัดการเอง และให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มีส่วนร่วมในการดำเนินการ ว่าเรากำลังทำอะไรกันบ้าง ถ้าหากเป็นเช่นนี้ก็จะเดินไปได้เร็วขึ้น 

“ในสวนเรียนรู้ของผม ผมไม่ปฏิเสธใครเลยที่เข้ามาแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ เราพร้อมที่จะรับในการจัดการศึกษา เพราะฉะนั้นหากหน่วยงานของรัฐเข้ามา แล้วให้เราช่วยอย่างไร มีอะไรเข้าปรับ เข้ามาทำงานร่วมกัน นี่คือส่วนที่ผมทำอยู่ และเดินมาได้เกือบๆ 10 ปี” 

“แหล่งการเรียนรู้แบบผมก็มีอยู่เยอะ แต่ก็ไม่ใช่ทุกที่ที่จะสามารถรองรับการแลกเปลี่ยนกับนักศึกษา บุคคลทั่วไปได้ ซึ่งถ้าผู้บริหารระดับต่างๆ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อที่จะขับเคลื่อนให้สังคมอยู่รวมกันอย่างมีความสุข และหน่วยงานรัฐเปิดโอกาสให้ทำและสามารถสนับสนุนด้านทรัพยากรบ้างได้ ผมว่าการทำกิจกรรมนี้จะทำให้สังคมเติบโตได้ดีขึ้น”

อาจารย์ถนอมทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ศูนย์การเรียนรู้ การศึกษานอกระบบและรัฐมีการสนับสนุนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เพราะเรากำลังทำในสิ่งเดียวกันคือผลักดันเด็กให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง

Tags:

การเรียนรู้นอกระบบBeyond SchoolingโฮมสคูลการศึกษาActive Learning

Author:

illustrator

กนกพิชญ์ อุ่นคง

A girl who aspires to live like a yacht floating on the ocean, a dandelion fluttering over the heather, a champagne bursting in party.

Related Posts

  • ‘All for Education’ หยิบยื่นโอกาสผ่านนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ตอบโจทย์เงื่อนไขชีวิตที่แตกต่าง

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง ภาพ ปริสุทธิ์

  • Creative learning
    ถักทอการเรียนรู้บนฐานทุนชีวิต เชื่อมห้องเรียนกับชุมชนแบบไร้รอยต่อ: โรงเรียนบ้านขุนแปะ เชียงใหม่

    เรื่อง The Potential ภาพ ปริสุทธิ์

  • Education trend
    AI กับอนาคตการศึกษา: ตัวช่วยที่ทำให้เด็กเก่งขึ้น หรือตัวการขัดขวางการเรียนรู้ ทำลายอาชีพครู

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Learning Theory
    หลักสูตรคืออะไรกันแน่?

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Education trend
    การศึกษาจะไปทางไหนและปรับตัวอย่างไร เมื่อโควิด-19 ยังไม่จบลงง่ายๆ

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

‘บัซ ไลท์เยียร์’  ไม่ต้องเป็นฮีโร่สำหรับใคร แค่เห็นคุณค่าในตัวเองก็พอ
Movie
2 April 2022

‘บัซ ไลท์เยียร์’  ไม่ต้องเป็นฮีโร่สำหรับใคร แค่เห็นคุณค่าในตัวเองก็พอ

เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • ‘บัซ ไลท์เยียร์’ เป็นหุ่นตำรวจอวกาศสุดไฮเทคในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ‘Toy Story’ ปรากฏตัวในฐานะของเล่นชิ้นใหม่ของแอนดี้ ซึ่งการมาของบัซทำให้ของเล่นชิ้นเก่าอย่าง ‘วู้ดดี้’ อิจฉาและพยายามเขี่ยเขาให้พ้นทาง
  • ตลกร้ายของบัซคือการไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็น ‘ของเล่น’ แต่คิดว่าตัวเองเป็นตำรวจอวกาศ ดังนั้นเมื่อรู้ความจริง บัซจึงผิดหวังอย่างแรง เขาช็อกและตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด
  • ในความอ้างว้างผิดหวัง สิ่งที่น่าประทับใจคือพัฒนาการทางความคิดของวู้ดดี้ ที่สลัดความอิจฉาทิ้ง และมองบัซในฐานะ ‘เพื่อน’ คนหนึ่ง มิตรภาพและคำปลอบโยนทำให้บัซยอมรับความจริงและกลับมามีความสุขอีกครั้ง

ตอนเด็กๆ ผมชอบชวนพี่ชายกับเพื่อนๆ เล่นเป็นซุปเปอร์ฮีโร่สุดเท่ ที่ออกวิ่งไล่จับเหล่าร้ายและปล่อยพลังใส่กันอย่างสนุกสนาน 

แม้จะได้รับบทตัวร้ายมากกว่า แต่ถ้ามีโอกาสเป็นฮีโร่ ผมจะขอรับบท ‘บัซ ไลท์เยียร์’ 

บัซ ไลท์เยียร์ (Buzz Lightyear) เป็นหุ่นตำรวจอวกาศสุดไฮเทคในภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ‘Toy Story’ ปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะของเล่นชิ้นใหม่ของหนูน้อยแอนดี้ 

การมาของบัซทำให้ของเล่นชิ้นเก่าหวาดเสียวไปตามกัน โดยเฉพาะ ‘วู้ดดี้’ นายอำเภอคาวบอยที่เป็นของเล่นชิ้นโปรดตัวปัจจุบัน เพราะบัซดูล้ำสมัยสุดๆ แถมยังมีออร่าพระเอก เท่ และดุดันในแบบที่เด็กผู้ชายหลายคนต้องการ

เมื่อย้อนดูภาพยนตร์เรื่องโปรดด้วยสายตาที่โตขึ้น ผมรู้สึกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่เพียงสนุกสนาน แต่ยังแฝงข้อคิดที่เน้นย้ำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของคน สัตว์ สิ่งของ ซึ่งต่างต้องการความรักและการดูแลเอาใจใส่ 

เริ่มจากของเล่นในบ้านที่มีสถานะไม่ต่างอะไรกับลูก ที่มีเจ้าของอย่าง ‘แอนดี้’ เป็นเหมือนพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน 

ดังนั้นความรู้สึกของวู้ดดี้ จึงคล้ายกับลูกคนโตที่เห็นแม่เอาแต่ ‘เห่อน้อง’ และละเลยการเอาใจใส่ ‘ของตาย’ อย่างเขา

วู้ดดี้เก็บงำความน้อยเนื้อต่ำใจเอาไว้มากมาย เขาสังเกตว่าเวลาเล่นของเล่น แอนดี้มักให้บัซรับบทเป็นตัวเอกหรืออะไรก็ตามที่เด่นกว่าเขา ส่วนผนังห้องแอนดี้ที่เดิมติดรูปคาวบอยไว้ก็ถูกแทนที่ด้วยภาพนักบินอวกาศ 

ความอิจฉาค่อยๆ ก่อตัวขึ้นในใจวู้ดดี้และรอวันปะทุ 

อย่างไรก็ตาม บัซก็ไม่ได้เป็นตัวละครที่สมบูรณ์แบบ เพราะตลกร้ายของบัซคือการไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็น ‘ของเล่น’ เนื่องจากบัซถูกโปรแกรมป้อนใส่สมองว่าตัวเองเป็นตำรวจอวกาศ แถมยังเข้าใจว่าที่ตัวเองต้องมาอยู่กับแอนดี้ก็เพราะยานอวกาศของเขาดันโชคร้ายตกลงมา ดังนั้นเมื่อมีเวลาว่าง บัซมักใช้เวลาง่วนอยู่กับการซ่อมยานอวกาศอย่างไม่รู้จักจบจักสิ้น 

กลับมาที่วู้ดดี้ เขาคอยนึกร้อยแปดวิธีเพื่อเขี่ยบัซไปให้พ้นทาง จนวันหนึ่งแอนดี้ต้องเลือกของเล่นชิ้นหนึ่งออกไปเที่ยวด้วยกัน ‘วู้ดดี้ขี้อิจฉา’ จึงสกัดดาวรุ่งด้วยการใช้รถบังคับไล่พุ่งชนจนบัซพลาดท่าตกลงจากหน้าต่างห้องนอน

ขณะเดียวกัน เวรกรรมก็ย้อนสนองวู้ดดี้อย่างรวดเร็ว เพราะบรรดาเพื่อนของเล่นต่างเห็นถึงพฤติกรรมอันเลวร้ายของเขา ทำให้ภาพลักษณ์ของ ‘ลูกพี่ผู้แสนดี’ พังพินาศลง จนวู้ดดี้เข้าหน้าใครไม่ติด 

ฟากบัซหลังร่วงกระเด็นออกไปนอกบ้าน เขาโกรธมากและหาทางปีนขึ้นรถของแอนดี้ได้สำเร็จ…

เมื่อของเล่นคู่แค้นพบกันบนรถ ทั้งสองก็เปิดฉากทะเลาะกันอย่างหนักและพลาดตกลงจากรถ (ระหว่างแวะเติมน้ำมัน) จากนั้นก็มีเหตุการณ์พลิกผันให้ทั้งคู่ไปอยู่ในบ้านของ ‘ซิด’ เด็กชายผู้ชอบทำลายของเล่นเป็นชีวิตจิตใจ

ณ บ้านของซิด บัซได้เห็นโฆษณาตัวเองบนทีวี เขาทั้งช็อกทั้งผิดหวังเมื่อทราบว่าตัวเองเป็นแค่ ‘ของเล่นหน้าโหล’ ที่ผลิตในไต้หวัน ส่วนความเชื่อฝังหัว (ว่าเป็นตำรวจอวกาศ) ก็เป็นเพียงเรื่องไร้สาระเรื่องหนึ่ง 

บัซตกอยู่ในสภาพช็อกและตื่นตระหนกอย่างเห็นได้ชัด ความจริงเป็นสิ่งที่ยากจะยอมรับ ประกอบกับที่ผ่านมาเขาได้ให้คุณค่าตัวเองในฐานะ ‘ผู้พิทักษ์จักรวาล’ จนไม่เหลือพื้นที่สำหรับความผิดหวัง

เมื่อยอมรับความจริงไม่ได้ บัซก็ใช้ชีวิตอย่างขาดสติ 

ผมรู้สึกสงสารตัวละครโปรดตอนพยายามพิสูจน์ว่าตัวเองบินได้ แต่กลับร่วงลงมาจนแขนหลุด

ในความอ้างว้างผิดหวัง สิ่งที่น่าประทับใจคือพัฒนาการทางความคิดของวู้ดดี้ ที่สลัดความอิจฉาทิ้ง และมองบัซในฐานะ ‘เพื่อน’ คนหนึ่ง 

วู้ดดี้ชี้ให้บัซเห็นคุณค่าในตัวเอง โดยอธิบายว่าบัซเป็นของเล่นที่สุดยอดและน่าอิจฉามากแค่ไหน ส่วนบัซเองก็ค่อยๆ เปิดใจยอมรับความจริง จนสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดนั้น และกลายเป็นของเล่นที่มีความสุข

“นายพูดถูกมาตลอด ฉันไม่ใช่ตำรวจอวกาศ ฉันเป็นแค่ของเล่นงี่เง่าไร้ความหมาย” บัซ ตัดพ้อ

“ไม่เอาน่า การเป็นของเล่นดีกว่าเป็นตำรวจอวกาศตั้งเยอะ ดูนายสิ นายคือบัซ ไลท์เยียร์ ของเล่นชิ้นไหนต่างก็ยอมสละชิ้นส่วนที่ขยับได้เพื่อเป็นอย่างนาย นายมีปีก นายเรืองแสงในที่มืด นายพูดได้ แถมหมวกก็ยังเปิดปิดได้อีก นายเป็นของเล่นที่โคตรเท่ จนฉันคิดว่าฉันจะทำอะไรได้เมื่อเจอบัซ ไลท์เยียร์ เพราะฉันทำได้เพียง (วู้ดดี้เอามือดึงเชือกรอกของตัวเอง) “มีงูอยู่ในรองเท้าบูทฉัน” “

การยอมรับความจริงของบัซทำให้เขาปล่อยวางอดีต และเริ่มต้นใหม่กับการเป็นของเล่นที่สร้างความสุขแก่เจ้าของ จากนั้นบัซกับวู้ดดี้ก็หาทางลอบหนีออกจากบ้านหลังนั้น และกลับไปเป็นของเล่นคู่หูชิ้นโปรดของแอนดี้ในตอนจบ

สำหรับผม ‘บัซ ไลท์เยียร์’ อาจไม่ใช่ฮีโร่ที่เด็กทั่วโลกใฝ่ฝันเท่าซุปเปอร์ฮีโร่ประเภทพลังเหนือโลก แต่บัซคือ ฮีโร่ที่เท่ที่สุดคนหนึ่ง เพราะเขาสามารถเรียนรู้ถึงคุณค่าของตัวเอง คุณค่าของมิตรภาพ และคุณค่าของการเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างมีความสุข

Toy Story เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในแฟรนไชส์ Toy Story ของค่าย Pixar (ภายหลังถูก Disney ซื้อไปในปี 2006) โดยนอกจากจะเป็นภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลกสูงสุดในปี 1995 (ราว 373 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) แล้ว Toy Story ยังถือเป็นภาพยนตร์แอนิเมชันขนาดยาวเรื่องแรกที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ซึ่งเจ้าของ Pixar ขณะนั้นคือ ‘สตีฟ จอบส์’ ผู้ก่อตั้งบริษัท Apple ผู้ผลิตไอโฟนที่คนทั่วโลกใช้นั่นเอง

Tags:

เพื่อนการ์ตูนToy StoryBuzz Lightyearฮีโร่มิตรภาพ

Author:

illustrator

อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

เจ้าของเพจ The Last Bogie ผู้ตัดสินใจขึ้นรถไฟขบวนสุดท้าย โดยมีปลายทางอยู่ที่สถานี 'ยูโทเปีย'

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • Book
    เพื่อนยาก: ความผูกพัน ความฝัน ความรับผิดชอบและการจากลาชั่วนิรันด์ในนาม ‘มิตรภาพ’

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    เพื่อนคนเก่ง: ในมิตรภาพอันแสนซับซ้อนนั้นมีทั้งความรักและความอิจฉา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Movie
    Dear Evan Hansen : เคยรู้สึกเหมือนไม่มีใครอยู่ใกล้ตัวบ้างมั้ย?

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Movie
    CARS : มากกว่าชัยชนะคือหัวใจของความเป็นมนุษย์

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Myth/Life/Crisis
    หลวิชัย : เพื่อนผู้พึ่งพาได้ ในขณะที่ยังมีเส้นอาณาเขตระหว่างตัวเองและผู้อื่นชัดเจน (1)

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel