- สายเด็ก เป็นองค์กรที่ดำเนินงานให้ความช่วยเหลือและบริการด้านคำปรึกษา ผ่านบริการสายด่วน 1387 พร้อมทั้งช่องทางออนไลน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ เช่น สาขาจิตวิทยาสังคม จิตวิทยาให้คำปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฏหมายที่ยินดีให้บริการทุกวัน 24 ชั่วโมงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
- หัวใจหลักในการทำงานของสายเด็กนั้น อยู่ที่ การฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่ตั้งคำถาม และไม่ตั้งกฎให้เขารู้สึกอึดอัด แต่จะสร้างความไว้ใจ ให้เขารู้ว่าตรงนี้ยังมีคนรับฟัง เพราะเด็กหลายๆ คน เขามาแค่ต้องการคนรับฟัง เพราะอยู่ที่บ้าน การฟังมันอาจจะยากมากกับคนใกล้ชิดที่เขาคาดหวัง
- “ถ้าเขาบอกว่าวันนี้หนูเหนื่อย เราแค่ตอบไปว่า เหรอ…หนูทำอะไรมา หนูเล่าให้พี่ฟังได้ไหม เขาก็จะรู้ว่าเขาเหนื่อยเพราะอะไร เหนื่อยเรื่องอะไร หนูทำได้ขนาดนี้ หนูเก่งนะ หลายๆ ครั้งมันเป็นการเสริม Self-esteem ให้เด็ก และในหลายๆ ครั้งเด็กก็รีวิวตัวเองด้วยว่า จริงๆ ชีวิตหนูก็ไม่ได้แย่ แต่มันแค่ไม่มีคนฟัง”
เมื่อ ‘บ้าน’ อาจไม่ใช่ Safe Zone ที่ปลอดภัยสำหรับเด็กคนหนึ่ง และพ่อแม่อาจไม่ใช่ความสบายใจที่ลูกจะเล่าเรื่องราวในชีวิตให้ฟัง
“หนูรู้สึกว่าครอบครัวไม่ใช่เซฟโซนอีกต่อไป ประโยคนี้ฟังแล้วสะเทือนใจนะ เพราะว่าทุกวันนี้เราเองยังอยากกลับบ้านเลย ทำงานมาเหนื่อยแค่ไหนหรือว่าเรียนมาหนักแค่ไหน กลับไปบ้านแล้วรู้สึกว่ามันโล่ง รู้สึกปลอดภัย แต่ถ้าเมื่อไรที่เราคิดว่าเราทำกิจกรรมอยู่ข้างนอกแล้วกลัวจังเลยถ้าต้องกลับบ้าน แสดงว่าบ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยสำหรับเราแล้ว”
จินดา ชัยพล ผู้จัดการมูลนิธิสายเด็ก สะท้อนปัญหากลุ้มใจที่เด็กเข้ามาพูดคุยผ่านสายเด็ก พื้นที่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ ที่เด็กๆ สามารถเปิดใจเล่าได้ทุกเรื่องโดยไม่ถูกตัดสิน
Childline Thailand Foundation หรือมูลนิธิสายเด็ก 1387 เป็นองค์กรที่ดำเนินงานให้ความช่วยเหลือและบริการด้านคำปรึกษา ผ่านบริการสายด่วน 1387 พร้อมทั้งช่องทางออนไลน์ โดยมีเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาจากหลากหลายสาขาวิชาชีพ เช่น สาขาจิตวิทยาสังคม จิตวิทยาให้คำปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฏหมายที่ยินดีให้บริการทุกวัน 24 ชั่วโมงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
โอกาสนี้เราจึงอยากชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุยกับสายเด็ก Childline Thailand ถึงภาวะเครียดในเด็ก ที่อาจไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไปเมื่อส่งผลกระทบต่อตัวเขา นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงพื้นที่ปลอดภัยในครอบครัวที่หายไป
สายเด็ก 1387
“สายเด็กเรามี 3 พาร์ทด้วยกัน พาร์ทหนึ่งก็คือเป็นการให้คำปรึกษาออนไลน์โทรเข้ามาหรือว่าแชทเข้ามาปรึกษาได้ในช่องทางต่างๆ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ แล้วก็ไลน์ออฟฟิเชียล หรือว่าจะเป็นอีเมลก็ได้ เป็นการรับแจ้งเหตุด้วย และประสานงานต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
นอกจากนี้ยังมี ‘ศูนย์เดอะฮับสายเด็ก’ (The Hub Saidek) ศูนย์พัฒนาเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสในชุมชนหัวลำโพง ซึ่งเป็นเหมือนพื้นที่ปลอดภัย ที่มีทั้งอาหาร ห้องน้ำ ความช่วยเหลือด้านการแพทย์และการศึกษาสำหรับเด็กๆ และรณรงค์ผลักดันนโยบาย เพื่อปกป้องสิทธิเด็กในประเด็นต่างๆ ในสังคมไทย
โดยในส่วนของการให้คำปรึกษาออนไลน์ที่เด็กๆ อาจจะรู้จักกันในรูปแบบเฟซบุ๊กแฟนเพจ Childline Thailand สิ่งที่เด็กๆ เข้ามาระบายมีตั้งแต่เรื่องความรัก เรื่องการเรียน ความสัมพันธ์กับเพื่อนที่โรงเรียน ความสัมพันธ์ในครอบครัว ไปจนถึงถูกทำร้ายร่างกาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
“เรื่องอกหักของเด็ก 9 ขวบ 10 ขวบ มันก็เกิดขึ้นได้ เราอย่าไปตัดสินเขาว่า เฮ้ย…9 ขวบอย่าคิดไรเยอะ พอเลิกเพ้อเจ้อ ไปนอน ไปทำการบ้าน ถามว่าเด็กคนนั้นดีขึ้นไหม ก็ไม่นะ แล้วเขาหาทางออกไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะนี่เป็นประสบการณ์การอกหักครั้งแรกของเขา ปัญหาของเด็กถ้าคุณไม่ฟังคุณก็จะไม่เข้าใจว่ามันหนักสำหรับเขายังไง”
“เด็กบางคนบอกว่า หนูทำการบ้านไม่ได้ เครียดมาก หนูท้อ หนูนอนไม่หลับหลายวัน ซึ่งถ้าไปปรึกษาคุณครู ก็จะบอกหนูไม่ตั้งใจฟัง ไปปรึกษาพ่อแม่ก็ตอบกลับมาว่าทำไมจะทำไม่ได้ หรือคำที่พ่อแม่ชอบพูดบ่อยๆ ฉันก็เคยผ่านจุดนั้นมาก่อน แค่นี้ทำไมทำไม่ได้”
“หรือโทรมาลาก็มี ส่งรูปกรีดแขนมา เลือดโชกเลย หนูกำลังฆ่าตัวตาย หนูกำลังคิดว่าหนูไปต่อไม่ไหวแล้ว มันมีตั้งแต่ปัญหาเล็กมากจนถึงปัญหาใหญ่มากสำหรับผู้ใหญ่ แต่สำหรับเด็กทุกปัญหาของเขาคือมันใหญ่นะ ปัญหาที่เด็กทำการบ้านไม่ได้อาจจะทำให้เด็กคนนั้นผูกคอตายหรือว่าฆ่าตัวตายได้เลย มันขึ้นอยู่กับตัวช่วย ทรัพยากรที่อยู่ข้างๆ รอบตัวเขา ว่ามันจะซัพพอร์ทสภาพจิตใจให้เขามูฟออนหรือว่าก้าวต่อได้ไหม”
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าปัญหาเล็กหรือใหญ่ เราไม่สามารถจะมองข้ามไปได้เลย เพราะนั่นอาจหมายถึงความเสี่ยงของเด็กในการถูกทำร้ายก็ได้
รับบทนักฟังที่ดี
ในกระบวนการทำงานของสายเด็กนั้น เธออธิบายว่า เบื้องต้นจะต้องเก็บข้อมูลพื้นฐานก่อน อันดับแรกต้องทราบอายุของเด็กว่ายังอยู่ในเกณฑ์ 0 – 18 ปี หรือไม่ นั่นก็เพราะว่า สายเด็กเองไม่ได้เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาสำหรับผู้ใหญ่โดยตรง หากอายุเกินเกณฑ์คงจะต้องส่งต่อให้กับผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นจริงๆ
หัวใจหลักในการทำงานของสายเด็กนั้น อยู่ที่ การฟังโดยไม่ตัดสิน
“ไม่ตั้งคำถามเยอะ คือจริงๆ แล้วการตั้งคำถามเราเชื่อว่าเด็กเขาโดนอยู่แล้วในครอบครัว ตั้งคำถาม ตั้งกฎอะไรเยอะมาก จึงเป็นสิ่งที่เด็กเขาถึงมาหาเรา เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราควรต้องทำคือ ไม่ตั้งคำถาม ไม่ตั้งกฎให้เขารู้สึกอึดอัด แต่จะสร้างความไว้ใจ ให้เขารู้ว่าตรงนี้ยังมีคนรับฟัง
เด็กหลายๆ คน เขามาแค่ต้องการคนรับฟัง เพราะอยู่ที่บ้าน การฟังมันอาจจะยากมากกับคนใกล้ชิดที่เขาคาดหวัง”
และถึงแม้ฉากหน้าจะฟังโดยไม่ตัดสินว่าสิ่งถูกผิดเป็นเช่นไร ทว่าเบื้องหลังการทำงานของเจ้าหน้าที่สายเด็กจะต้องทำการ ‘ประเมิน’ เพื่อความปลอดภัยของเด็ก โดยต้องประเมินให้ได้ว่า ขณะนั้นความปลอดภัยของเด็กกำลังอยู่ในระดับไหน
“พวกเราก็จะประเมินจากคีย์เวิร์ดที่เขากำลังพูดถึงหรือสถานการณ์ที่เขากำลังอยู่มันปลอดภัยสำหรับเขาไหม ถ้ามันไม่ปลอดภัยก็จะต้องประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่เข้าช่วยเหลือ โดยบางครั้งเราอาจไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากเด็ก ถ้าในกรณีที่เด็กกำลังอยู่ในอันตรายหรืออยู่ในภาวะที่มีความเสี่ยงต่ออันตราย เราต้องตัดสินใจโดยทันที ประสานกับตำรวจ นักสังคมสงเคราะห์ในพื้นที่ให้ลงพื้นที่โดยทันที”
ครอบครัวควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็ก
ในมุมของจินดา เธอมองว่า ‘พื้นที่ปลอดภัย’ คือ พื้นที่ที่ให้เด็กสามารถเข้ามาคุยกันได้ ระบายความในใจได้ โดยที่ไม่มีใครมาบอกว่า สิ่งที่เขาพูดหรือสิ่งที่เขาคิดนั้น ถูกหรือผิด
“เราจะไม่แนะนำ แต่เราจะให้เขาสะท้อนตัวเอง คือเด็กหลายๆ คนพอเขาพูดไปแล้วสุดท้ายเขาก็บอกว่า…เออพี่ หนูว่าที่หนูเล่าไปหนูก็ผิดนะ มันเหมือนเป็นการให้เขาได้ทบทวนตัวเอง เพราะเด็กบางคนเขาไม่ได้พูดกับใครเขาก็ไม่รู้นะว่าจริงๆ แล้ววันเนี่ยเกิดอะไรขึ้นกับเขาบ้าง หรือว่าสิ่งที่มันทำให้เขารู้สึกแย่มันเกิดจากอะไร”
ในทางกลับกันเมื่อเขาพูดกับพ่อแม่ว่า “หนูเหนื่อย” แม่จะตอบกลับมาทันทีด้วยประโยคเด็ดว่า “จะเหนื่อยอะไรแค่เรียนหนังสือ” ซึ่งเด็กก็จะรู้สึกว่า “พี่หนูไม่เข้าใจว่า หนูเหนื่อยไม่ได้เหรอ” คำพูดเหล่านี้กลายเป็นการปิดกั้นให้เด็กได้แสดงความรู้สึกของตัวเองหรือได้รีวิวตัวเอง เพื่อที่จะมูฟออนต่อไป
“ถ้าเขาบอกว่าวันนี้หนูเหนื่อย เราแค่ตอบไปว่า เหรอ…หนูทำอะไรมา หนูเล่าให้พี่ฟังได้ไหม เขาก็จะรู้ว่าเขาเหนื่อยเพราะอะไร เหนื่อยเรื่องอะไร หนูทำได้ขนาดนี้ หนูเก่งนะ หลายๆ ครั้งมันเป็นการเสริม Self-esteem ให้เด็ก และในหลายๆ ครั้งเด็กก็รีวิวตัวเองด้วยว่า จริงๆ ชีวิตหนูก็ไม่ได้แย่ แต่มันแค่ไม่มีคนฟัง”
ทุกการกระทำมีผลต่อจิตใจและร้ายแรงกว่าที่คิด
“สำหรับผลกระทบต่อตัวเด็กต้องบอกว่า ถ้าปัญหามันไม่ได้ระบายออกมา ไม่มีใครรับฟัง ก็เหมือนน้ำถ้าเติมไปเรื่อยๆ จนเต็มมันก็ล้น สภาพจิตใจของเด็กก็เหมือนกัน ถ้ามันสะสมมาเรื่อยๆ วันหนึ่งก็คงระเบิด แต่ทีนี้มันจะระเบิดไปในทิศทางไหนละ
เด็กบางคนอาจระเบิดด้วยการทำร้ายตัวเอง แต่เด็กบางคนอาจระเบิดโดยการเป็นคนก้าวร้าวได้ เพราะฉะนั้นมันส่งผลกับพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของเขา ซึ่งเป็นกลไกการป้องกันตัวเองที่แสดงออกได้หลายแบบ”
ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ เขาอาจจะเป็นอาชญากรได้ในอนาคต เราจะรอให้ถึงจุดนั้นหรือ
“ถ้าเด็กที่เขาโดนทำร้าย โดนตบตีมาตลอด หรือเห็นความรุนแรงในบ้านมาตลอด พ่อทำร้ายแม่ แล้วมันก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครมาเทคแอคชั่น แล้วแม่ก็ยังยอมยังทน ซึ่งโอกาสต่อไปในอนาคตมันก็แล้วแต่นะ ก็เป็นได้ทั้งบวกและลบ เด็กคนนี้อาจจะทำร้ายภรรยาตัวเอง ทำร้ายลูก หรืออาจจะปกป้องภรรยาและลูกอย่างดีที่สุด เพราะว่าเคยผ่านประสบการณ์มา แต่ว่าเราจะเสี่ยงไหมว่าเด็กคนนี้จะไปในทิศทางไหน”
จะดีกว่าไหมถ้ามีพื้นที่ปลอดภัยให้เขาได้ระบายออกมาบ้าง พื้นที่ที่เขาจะได้สะท้อนตัวเอง มองปัญหาว่ามีต้นสายปลายเหตุอย่างไร และหาทางออก
“เราเองเวลาไม่สบายใจก็โทรหาพี่ โทรหาพ่อแม่ โทรหาเพื่อน เหมือนกันเด็กเหล่านี้ถ้าเขามีคนที่เขาสามารถคุยได้เขาก็คงไม่มาคุยกับเรา แต่เพราะเขาไม่มีใครแล้วจริงๆ อย่างสมมติพี่อกหักนะ พี่คงไม่เข้าไปออนไลน์แล้วเล่าใครก็ไม่รู้ฟัง แล้วถามว่าฉันต้องทำยังไง เราคงเล่าให้คนที่เราไว้ใจฟัง คนที่เราสนิท คนที่ซัพพอร์ททางด้านจิตใจเราได้”
เคารพสิทธิเด็ก
อีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การที่พ่อแม่ลิดรอนสิทธิของลูกเสียเอง และยังมีความเข้าใจที่ผิดๆ กันอยู่ว่า ลูกคือสมบัติของพ่อแม่ จนบางทีก็นำไปสู่ความบาดหมางในครอบครัว
“ในประเทศไทยก็ยังไม่เคยมีเคสไหนที่ลูกฟ้องพ่อแม่ เพราะว่าเรามีกฎหมายระบุว่า บุตรไม่สามารถที่จะฟ้องบุพการีได้ แต่ไม่ตัดอำนาจอัยการหรือผู้ใช้กฎหมาย ก็คือเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กเอย อัยการเอย สามารถที่จะฟ้องแทนเด็กได้ แต่พอเอาเข้าจริงแม้กระทั่งนักสังคมในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองเด็กไปยื่นฟ้อง สุดท้ายก็จบที่การไกล่เกลี่ยมันอยู่ในขั้นนี้จริงๆ
กฎหมายความรุนแรงในครอบครัวยังกลายเป็นเรื่องที่สามารถไกล่เกลี่ยและประนีประนอมได้ ซึ่งมันไม่ควรเป็น มันเป็นคดีอาญานะ จริงๆ แล้ว มันไม่สามารถจบกันได้ในชั้นสอบสวนนะ แต่ว่าประเทศไทยสามารถทำให้มันจบได้”
แต่สัญญาณที่ดีคือ สายเด็กได้รับสายแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัวมากขึ้น โดยจากเพื่อนบ้านหรือพลเมืองที่พบเห็นเหตุการณ์
“มีโทรมาบอกว่า ได้ยินบ้านนี้ทะเลาะกันทุกวันเลย แล้วก็เขามีลูกด้วย แต่ไม่ได้เข้าไปในบ้านเขานะ ไม่รู้ว่าเด็กได้รับความรุนแรงหรือเปล่า คุณช่วยส่งเจ้าหน้าที่ไปดูหน่อยได้ไหม คือคนไม่ได้นิ่งดูดายนะ แต่ว่ามันก็ยังไม่เกิดขึ้นสำหรับทุกคน เพราะในขณะเดียวกันคนที่โทรแจ้งเขาก็ไม่ได้รับความปลอดภัยในหลายๆ ครั้ง แล้วแจ้งเข้ามาพอเจ้าหน้าที่โทรกลับไปก็คือซักข้อมูลเขาจนเขารู้สึกว่า ฉันจะปลอดภัยไหม”
นอกจากนี้สายเด็กยังมีโปรเจกต์ที่ทำอย่างต่อเนื่องมาตลอดคือ การรณรงค์หยุดการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็ก Commercial Sexual Exploitation of Children (CSEC) โดยมีกิจกรรมจัดอบรมในเรื่องนี้ให้กับเด็กเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
“ในเด็กเล็กเขายังไม่รู้ว่าอวัยวะในร่างกายส่วนไหนใครจับได้จับไม่ได้ ก็พ่อแม่จับเขาได้เขาก็คิดว่าใครๆ ก็จับได้เป็นเรื่องปกติ เราจึงต้องปูพื้นฐานให้กับเด็ก ให้เขาเข้าใจว่าถ้ามันมีรูปการแบบนี้เข้ามาเราควรจะต้องรับมือยังไง ซึ่งเป็นคอร์สเทรนนิ่งสนุกๆ ขณะเดียวกันก็จะใส่ความรู้ไปให้เขา ตอนนี้ทำเฉพาะโรงเรียนในกรุงเทพฯ เป็นโรงเรียนรัฐที่เราขอเข้าไปเอง และบางทีไปก็ได้เคสกลับมาด้วย”
“สุดท้ายเราไม่มีหน้าที่ไปดูแลเขานะ คนที่ต้องดูแลก็คือตัวเขาเอง พ่อแม่ หรือคนที่อยู่ใกล้ตัวเขา สิ่งที่เราทำได้คือเราแค่เป็นพื้นที่สำรองที่ปลอดภัยในกรณีที่เขาไม่มีตัวเลือก ไม่มีใคร ที่ตรงนี้ก็จะเป็นพื้นที่ให้เขาระบาย ให้เขาสามารถที่จะมาคุยได้โดยที่มีคนๆ หนึ่งฟังเขา แล้วก็พยายามที่จะเข้าใจเขา เราไม่ได้เข้าใจเขาทั้งหมดนะ เราพยายามที่จะเข้าใจแล้วก็อยู่กับความรู้สึกของเขา ให้เขารู้ว่ามันยังมีคนที่ยังอยู่เพื่อเขาอยู่ตรงนี้”
อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ใช่เครื่องมือที่จะช่วยให้ชีวิตเขาผ่านไปได้ แต่เป็นการช่วยให้เขาได้เห็นเครื่องมือที่มีอยู่ในตัวเขา ดึงศักยภาพในตัวเขาออกมาให้เขาดูแลตัวเองต่อไปได้
หากไม่สบายใจหรือว่าเครียดเมื่อไรแล้วคุยกับใครไม่ได้ พื้นที่นี้ยินดีต้อนรับเสมอ สายเด็ก 1387