พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ นอกจากเป็นกุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ยังควบตำแหน่งเจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ เพจเลี้ยงลูกที่พ่อแม่ควรติดตาม เพราะส่งเสริมการเลี้ยงลูกเชิงบวกหัวใจของการเลี้ยงลูกเชิงบวก มี 4 ข้อ คือ เข้าใจธรรมชาติของตัวเด็ก มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก ฝึกวินัยเชิงบวก และสื่อสารเชิงบวก ทั้งหมดทั้งมวลนี้หลักของการเลี้ยงลูกเชิงบวกที่สามารถอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ทางสมองของมนุษย์ พ่อแม่ธรรมดาทุกคนทำได้ แค่เปิดใจและเข้าใจในความ ‘ไม่สมบูรณ์แบบ’ ของมนุษย์
ช่วงหลังๆ แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร หรือ หมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน พยายามเขียนเรื่องที่ตัวเอง ‘ใส่อารมณ์’ กับลูก เพื่อเตือนพ่อแม่ว่า “หมอก็คือมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง”
“ตอนหลังพยายามเขียนวีนบ่อยๆ เดี๋ยวคนคาดหวังว่าพ่อแม่จะต้องดีงาม วีนได้ เราเป็นมนุษย์ มีความรู้แต่ไม่มีสติไง”
เสียงหัวเราะท้ายประโยคของหมอโอ๋ อาจไม่ต่างอะไรจากการให้อภัยตัวเองแล้วเดินหน้าต่อ เพราะหมอเชื่อว่าไม่มีพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบ มีแต่พ่อแม่ธรรมดาและดีพอเพราะเรียนรู้อยู่เสมอ”
เรียนรู้ที่จะอยู่กับลูก สร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย ‘จิตวิทยาเชิงบวก’ ที่ไม่ได้โลกสวยแต่คืออยู่กับความจริงและอ้างอิงได้ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ว่าด้วย ‘สมองของมนุษย์’
การเลี้ยงลูกเชิงบวกคืออะไร แล้วทำไมเราต้องเลี้ยงลูกเชิงบวก
การเลี้ยงลูกเชิงบวก คือ การเลี้ยงลูกที่อธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ทางสมองของมนุษย์ การเลี้ยงลูกเชิงบวกจะมีการทำความเข้าใจกับสมองของเด็ก สร้างความเข้าใจว่าสมองของเด็กก็มีข้อจำกัด เด็กไม่ได้เกิดมาแล้วจะเข้าใจหลักเหตุผลโดยทันที หรือรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ดีแต่เล็กๆ ธรรมชาติของเด็กจะมีการพัฒนาสมองส่วนอารมณ์เร็วกว่าส่วนเหตุผล ซึ่งสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มที่ถึงอายุ 25 ปี เพราะฉะนั้นการที่เราเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ก็จะทำให้เรามีมุมมองต่อการเลี้ยงดูที่เปลี่ยนไป
การที่เราจะพูดว่าโตแล้วทำไมถึงคิดไม่ได้ สอนแล้วทำไมไม่จำ ก็จะทำให้คลี่คลายและเข้าใจการพัฒนาของสมองของลูกได้ ข้อจำกัดทางธรรมชาติเด็กจะใช้สมองส่วนอารมณ์มากกว่าใช้ส่วนเหตุผล หน้าที่ของพ่อแม่คือช่วยทำให้เขาใช้สมองส่วนเหตุผลให้มากขึ้น ควบคุมอารมณ์ให้ดีขึ้น ดังนั้นการเลี้ยงลูกเชิงบวก ก็คือการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก การฝึกวินัยเชิงบวกเพื่อกระตุ้นสมองส่วนคิดวิเคราะห์พัฒนาให้เร็วขึ้น จะได้ควบคุมสมองส่วนอารมณ์และสัญชาตญาณที่ทำให้เกิดการต่อต้าน เกิดความโกรธ ความอยากเอาคืนพ่อแม่
การเลี้ยงลูกเชิงบวก จึงประกอบไปด้วยเรื่องหลักๆ 4 เรื่อง
หนึ่ง คือการเข้าใจธรรมชาติของตัวเด็กว่าเด็กแต่ละคนเกิดมามีธรรมชาติที่ต่างกัน เด็กไม่ใช่ผ้าขาวแบบที่เราเชื่อกัน เพราะเขาเกิดมาพร้อมกับศักยภาพหรือความเก่งหรือความบกพร่องบางอย่าง ซึ่งเรามีหน้าที่เข้าใจสอง คือการมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวก หรือหมายถึงการมอบเวลาคุณภาพให้กับลูก รับฟังเขา ใส่ใจเขาสาม คือการฝึกวินัยเชิงบวก นั่นคือการทำอย่างไรเพื่อให้ลูกรู้กติกา รู้ว่าสิ่งใดควรทำหรือไม่ควรทำ โดยที่ไม่ใช้วิธีเชิงลบไปกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ซึ่งจะก่อให้เกิดบาดแผลตามมา วินัยที่ดีคือวินัยที่เกิดจากการควบคุมตนเองสี่ คือการสื่อสารเชิงบวก หมายถึงการทำให้เกิดความรู้สึกดีต่อกัน ซึ่งถ้าเราศึกษาการเลี้ยงดูเชิงบวก จะเห็นว่าการเลี้ยงดูในวัฒนธรรมไทยส่วนใหญ่ จะเป็นในการเลี้ยงดูในเชิงลบ เมื่อทำผิดต้องดุ ต้องตำหนิ ต้องขู่ให้กลัว ต้องตีให้หลาบจำ ต้องเปรียบเทียบ คือต้องทำให้เจ็บปวดถึงจะได้เรียนรู้ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิดเพราะสมองไม่ได้ถูกพัฒนาในรูปแบบนั้น การทำให้ลูกเจ็บปวดมันมีสิ่งที่ต้องแลกตามมาด้วยเสมอ เด็กอาจจะพัฒนาความก้าวร้าว ความรุนแรง หรือติดอยู่กับความรู้สึกที่ตัวเองแย่ ไม่ได้เรื่อง ไม่มีศักยภาพ เด็กหลายคนอาจซึมเศร้าเพราะคิดว่าเราไม่ดีพอ ดังนั้นการเลี้ยงลูกมาในเชิงลบ ก็จะส่งผลลบต่อสมอง
ทุกการกระทำของพ่อแม่มีความสัมพันธ์กับจิตวิทยาของลูกโดยที่อาจไม่รู้ตัว
คำว่าจิตวิทยา มันคือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ พฤติกรรม ความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน ส่วนคำว่าครอบครัวหมายถึงการอยู่ร่วมกัน การพึ่งพาอาศัยกัน เพราะฉะนั้นการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กันตลอดเวลามันเป็นเรื่องของจิตวิทยา
ดังนั้นคนที่มีองค์ความรู้ด้านจิตวิทยา เราจะใช้วิธีใดในการสร้างความสัมพันธ์กับลูก คุยกับลูก แก้ปัญหาให้ลูก ช่วยให้ลูกพัฒนาศักยภาพ หมอคิดว่าเรื่องของจิตวิทยาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในครอบครัวโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวหรือรู้ตัวก็ได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่านั่นคือจิตวิทยาเชิงบวกหรือเชิงลบเท่านั้นเอง
ช่วยยกตัวอย่าง การฝึกวินัยเชิงบวกหรือเชิงลบให้เห็นภาพหน่อย
เช่น เหตุการณ์ลูกไม่ยอมอาบน้ำ แม่หลายคนอาจจะแค่บ่น “ทำไมไม่ยอมลุกไปอาบน้ำสักที?”
หรือบางคนก็อาจจะถึงขั้นลงไม้ลงมือตีลูก “ทำไมป่านนี้ยังไม่ยอมอาบน้ำอีกเหรอ?” “บอกให้อาบน้ำตั้งนานแล้วทำไมไม่อาบ?”
ซึ่งวิธีนี้ ไม่ใช่วิธีทำให้เด็กอยากที่จะทำด้วยตัวเอง เด็กจะรู้สึกว่าจะทำอะไรก็ตามต้องเกิดจากการบังคับ หรือถูกสั่ง แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธี ให้ทางเลือกกับเขา เมื่อเห็นลูกไม่อาบน้ำ ก็เดินเข้ามาถามว่า “ลูกกำลังทำอะไรอยู่ ดูน่าสนุกจัง แต่เดี๋ยวเราต้องอาบน้ำกันแล้ว ลูกจะเล่น อีก 3 หรือ 5 นาทีดี ?” เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับเขา ไม่ต้องทำให้เขารู้สึกว่าถูกสั่ง อาจจะเปลี่ยนคำพูดไปในเชิงถามว่า “ตอนนี้มันเวลาอะไรแล้วจ๊ะ เป็นเวลาที่ต้องทำอะไร อาบน้ำหรือเปล่า?” ให้ทางเลือกเพื่อให้เขาฝึกคิดด้วยตัวเอง นี่ก็คืออีกหนึ่งเทคนิคในการฝึกลูกให้ทำตามกติกาด้วยตัวเอง ไม่ใช่การถูกสั่งหรือบังคับให้ทำ
ยกตัวอย่างอีกอย่าง ปัญหาเด็กติดหน้าจอ เด็กติดเกม พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวิธีเชิงลบ อาจจะตามใจลูก พอบอกให้ลูกเลิกเล่น กลัวลูกหงุดหงิดจึงปล่อยตามใจเรื่อยๆ เด็กก็จะเรียนรู้ไปว่าไม่ต้องมีกติกา การฝึกวินัยก็จะไม่เกิด
หรืออีกกรณีที่เดินเข้ามาดุด่าลูกบอกให้เลิกเล่นเกม ลูกก็จะเลิก แต่เลิกเพราะกลัว ความรู้สึกโกรธ ไม่พอใจ ลามไปถึงอาจจะทำให้เกิดวามรู้สึกไม่ชอบพ่อแม่ได้
อีกอย่างที่เจอบ่อยเลยคือการฝึกวินัยแบบใช้ปาก นั่นคือการบ่นๆๆๆ เสร็จหรือยัง ทำไมถึงยังไม่เลิกเล่นอีก พ่อแม่ทำงานมาเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว บ่นไปเรื่อย ลูกก็ไม่เลิก พ่อแม่ก็เดินกลับมาบ่นใหม่ เรียนรู้ได้ว่าแค่ทนๆ ฟังเสียงบ่น แต่ไม่ต้องเลิกก็ได้
ฉะนั้นวิธีการที่อยากให้พ่อแม่ฝึกคือวิธีการ Kind but Firm พ่อแม่ไม่ต้องใช้อารมณ์ ไม่ต้องดุด่า แต่ว่าเอาจริง ตกลงกติกากับลูกไว้ก่อนแล้วพอถึงเวลาก็เข้าไปบอกว่า “ลูกจะเล่นได้อีก 5 นาที ตามที่เราตกลงกันไว้ ถ้าลูกไม่เก็บแม่จะเป็นคนเก็บนะจ๊ะ” ทำตามที่ตกลงกันไว้ และพ่อแม่ต้องทำจริงไม่ใช่แค่ขู่ ถ้าเขายังไม่เลิกเราก็อาจจะเดินมาบอกลูกว่า เวลานี้ลูกต้องเก็บแล้ว ถึงลูกจะงอแง แต่เราต้องเก็บเพราะทำตามกติกาที่เราตั้งด้วยกันไว้ นี่ต่างหากคือการทำให้เด็กรู้จักควบคุมตัวเอง
ในช่วงแรกๆ เด็กอาจจะงอแงเป็นปกติ แต่เราก็ต้องฝึก ใช้วิธีนี้ฝึกเขาในทุกวัน วันนี้ยังไม่ได้ ก็เริ่มฝึกใหม่ในพรุ่งนี้ วิธีนี้จะช่วยให้เขามี self control หรือทักษะการควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น มากกว่าที่พ่อแม่ใช้ปากบ่น ใช้กำลังดุด่าหรือตี
วิธีนี้เอาไปใช้กับปัญหาโลกแตกอย่างการที่ลูกลงไปร้องดิ้นเมื่ออยากได้ของเล่นได้ไหม
ได้ เราควรคุยกับลูกตั้งแต่แรก เช่น “วันนี้เราจะไปซื้อของกันลูก แต่เราจะไปซื้อแค่ในซูเปอร์ฯ เราจะยังไม่ซื้อของเล่น เพราะว่าหนูเพิ่งซื้อไปหรืออะไรก็ตาม” ประเด็นอยู่ที่การคุยกับลูกก่อน ทำให้เขารู้ว่าวันนี้เราไม่ได้มาเพื่อซื้อของเล่น เมื่อลูกงอแงอยากได้ ลงไปดิ้นที่พื้น การตอบสนองของเด็กมักมาจากพฤติกรรมของผู้ใหญ่ ดังนั้นการที่เด็กลงไปร้องดิ้นแล้วเห็นพ่อแม่ใจอ่อน ยอมซื้อของเล่นให้ เขาก็จะลงไปร้องดิ้นที่พื้นเรื่อยๆ เพราะเขาเรียนรู้จากสิ่งที่เราตอบสนอง และวิธีนี้ทำให้เขาได้มาซึ่งสิ่งที่เขาต้องการ
หน้าที่ของเราง่ายๆ ก็คือสอนให้เขาดูว่าวิธีที่เขาทำมันไม่ได้ผล และพูดกับเขาดีๆ ว่า “แม่เข้าใจว่าหนูอาจจะเสียใจที่ไม่ได้ซื้อของเล่น” แสดงความเข้าใจเขา แล้วอาจจะถามว่า “หนูจะเดินห้างต่อไหมหรือจะไปนั่งร้องไห้ต่อในรถก่อน” ทำให้เขาเห็นจริงๆ ว่าเราจะไม่ใจอ่อนซื้อของให้เขา โดยที่เราไม่ต้องอารมณ์เสีย และไม่ต้องอาละวาด ไม่ต้องทำร้ายเขา
พ่อแม่ต้องฝึกจิตฝึกใจอย่างไรบ้าง เชื่อว่าทุกคนต้องอยากเลี้ยงลูกเชิงบวก แต่มันยากในการควบคุมตัวเอง
หมอเข้าใจและพูดอยู่เสมอว่า ‘การเลี้ยงลูกไม่ใช่แค่การพัฒนาแค่ลูก แต่มันคือการพัฒนาตัวพ่อแม่เองด้วย’ ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือการควบคุมใจของเราเอง มันอาจจะยากเพราะสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ทั้งความคาดหวัง ทั้งอารมณ์ เราจะโมโหถ้าลูกไม่เป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น เรากังวลว่าเขาจะเป็นเด็กก้าวร้าว เด็กเอาแต่ใจ กลัวว่าตัวเองจะเลี้ยงลูกได้ไม่ดี รู้สึกผิด ความคิดเหล่านี้จะรบกวนให้เราไม่นิ่ง
เราจึงต้องหาทางออกโดยการใช้วิธีการควบคุมหรือจัดการ ทำให้ลูกเชื่อฟัง อยู่ในโอวาทเราให้ได้ เพื่อให้เรารู้สึกดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราเข้าใจเขาว่าในช่วงวัยของลูก เป็นช่วงที่เขายังฝึกตัวเองได้ไม่ดี สมองส่วนเหตุผลเขายังพัฒนาได้ไม่ดี มองให้มันเป็นเรื่องธรรมดามันก็จะทำให้เราสงบขึ้น
อย่ามองว่าเรื่องแบบนี้คือวิกฤติ ให้มองว่ามันคือโอกาสจะทำให้ลูกเราได้เรียนรู้ การที่เขาลงไปดิ้นเป็นโอกาสที่ทำให้เขารู้เลยว่ามันไม่ได้ผล และลูกเราจะพัฒนามากขึ้น มุมมองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเรามองว่านี่คือความล้มเหลว รู้สึกมีอารมณ์ ทำให้เรารู้สึกโกรธ รู้สึกผิดหวัง สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราปฏิบัติตัวออกมาได้ไม่ดี
การเลี้ยงลูกเชิงลบในอดีต อาจจะใช้ไม่ได้กับยุคนี้?
จริงๆ มันไม่ดีตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้าเราเข้าใจการทำงานของสมองมนุษย์ มันมีหลายอย่างที่ส่งผล หมอยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุตินิ้วโป้งมือของเราเป็นสมองอารมณ์ ซึ่งในวัยเด็กสมองส่วนนี้โตมาก แล้วอีกสี่นิ้วที่เหลือเป็นสมองส่วนเหตุผล ดังนั้นหน้าที่พ่อแม่คือการสร้างให้สมองส่วนเหตุผลพัฒนาได้ดี
แต่เวลาทำงานจริง เมื่อไรก็ตามที่สมองส่วนอารมณ์ถูกกระตุ้น สมองส่วนเหตุผลจะปิดการทำงาน เราจะสังเกตได้ว่าเมื่อเด็กร้องไห้ ต่อให้เราใช้เหตุผลมากแค่ไหน เขาก็ไม่เข้าใจ ยิ่งเราไปใช้วิธีเชิงลบ ใช้คำพูดแย่ๆ ใส่ลูก ลูกก็กลัว สมองส่วนอารมณ์ก็จะตอบสนองออกมาใน 3 รูปแบบ นั่นคือ
1. สู้ สู้กลับ ตีพ่อแม่ ก้าวร้าว อาละวาด
2. ถอยหนี กลัว ไม่เถียงแต่ว่าทำ ไม่เข้าไปยุ่ง โกหก ปกปิด
3. ยอม แต่การยอมนั้นแลกมากับความรู้สึกว่า ฉันไม่ได้เรื่อง ฉันทำไม่ได้ เมื่อเขาโตขึ้นมาในใจข้างในเขาอาจจะรู้สึกว่างเปล่า ตัวเองไม่ดีพอ ไม่มีจุดสูงสุด เพราะไม่พอใจกับตัวเอง ต้องคอยแน่ใจว่าเป็นที่รักของใครอยู่ไหม การเลี้ยงลูกเชิงลบจึงเป็นการทำร้าย self esteem ของเด็กโดยที่ไม่รู้ตัว
ซึ่งวิธีแสดงออกของเด็กมักจะมาในรูปแบบ 3 รูปแบบนี้ และมันส่งผลในระยะยาวแน่นอน แต่อาจจะมากน้อยต่างกันไป
ดังนั้นจิตวิทยาเชิงบวก จะทำให้เด็กสามารถสงบสมองส่วนอารมณ์เพื่อเปิดสมองส่วนคิดให้มันเชื่อมต่อกัน พออารมณ์สงบ ส่วนคิดเปิดทำงาน เด็กก็ตอบสนองโดยการควบคุมตัวเองได้ดี
ปมอะไรบ้างที่พ่อแม่ยึดถือไว้แล้วทำให้ลูกเกิดปัญหา
เยอะเลยนะ หนึ่งในนั้นคือความสมบูรณ์แบบ พ่อแม่หลายคนคิดว่าการที่เป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวจะเป็นปมกับลูก
ถ้าเราพูดถึงครอบครัว หน้าตาของมันก็จะมีพ่อแม่ลูก ลูกคนเดียวก็ไม่พอ ต้องมีชาย 1 คน หญิง 1 คน นี่ถึงจะสมบูรณ์แบบ แต่จริงๆ แล้วครอบครัวที่สมบูรณ์มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนคนในครอบครัว มันคือใครแค่คนเดียวที่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งได้อย่างมีความสุขและเป็นไปตามศักยภาพเขา มันไม่มีหรอกพ่อแม่ที่สมบูรณ์แบบมีแต่พ่อแม่ธรรมดาๆ นี่แหละก็เลี้ยงลูกให้ดีได้ อีกปมหนึ่งที่พ่อแม่มี นั่นคือ การคาดหวังกับตัวเอง คาดหวังว่าฉันจะต้องเป็นนางฟ้าตลอดเวลา ฉันจะต้องไม่สร้างบาดแผลให้ลูก
พ่อแม่ที่ไม่สร้างบาดแผลให้ลูกเลย คือพ่อแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูก ตราบใดที่เรามีปฏิสัมพันธ์กัน มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกัน หมอคิดว่าพ่อแม่มีหน้าที่ปลดปล่อยปมของตัวเอง โดยการยอมรับความเป็นมนุษย์ปกติ ยอมรับว่าเราผิดพลาด ล้มเหลว หรือทำอะไรไม่ถูกต้อง เด็กจะเรียนรู้ได้จากสิ่งเหล่านี้มากกว่าเสียอีก เรียนรู้จากพ่อแม่ที่ทำผิดพลาดและกล้าเดินมาขอโทษเขา ก้าวข้ามความผิดพลาดของตัวเองแล้วเริ่มใหม่
ดังนั้นที่มาของปมก็มาจากความคาดหวังทั้งนั้น คาดหวังจากตัวเอง และในตัวลูก เราอยากให้ลูกเป็นเด็กเรียบร้อย พูดเพราะ น่ารักว่าง่าย พูดอะไรแล้วทำตาม พูดคะพูดขาตลอด มันมีความน่ารักติดอยู่ในหัวของเราตลอดเวลา ซึ่งในความจริงเด็กทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นแบบนั้น เด็กบางคนเกิดมากระโดดโลดเต้น เด็กบางคนเกิดมามีความคิดเป็นของตัวเอง เกิดมาเพื่อเถียง หมอคิดว่าความเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์ เข้าใจว่าเขามีคาแรคเตอร์ต่างกัน มันอาจจะไม่ใช่แบบที่เราชอบ แต่มันจะไปได้ดีในเส้นทางของเขา ปล่อยความคาดหวัง มันก็ช่วยลดปมให้คลี่คลายได้
พ่อแม่ที่ดีงาม เป็นยากไหม
ความเชื่อที่ว่า ลูกมาก่อน สามีมาก่อน ตัวเองมาทีหลัง เป็นเรื่องที่ผิดมาก เราไม่มีวันจะดูแลใครได้ดีเลยถ้าเราดูแลตัวเองได้ไม่ดี
นี่คือ fact การที่เราจะเป็นพ่อแม่ที่มีความสุข และทำให้ลูกมีความสุข ตัวเราเองต้องมีความสุขให้ได้ก่อน แทนที่เราจะทุ่มเทกับตัวลูกสุดๆ เราต้องทุ่มเทกับตัวเองด้วย การที่เราจะดูแลลูก อยู่กับความเหนื่อยยาก วันๆ ก็เอาแต่หงุดหงิด เมื่อลูกทำอะไรไม่ดีก็ผิดหวัง ชีวิตแบบนี้จะไม่สุขเลย จริงๆ แล้วควรจะกลับมาดูแลตัวเองให้ดี ออกกำลังกาย ออกไปช็อปปิ้ง ออกไปเจอเพื่อน ใช้ชีวิตให้เป็นปกติและธรรมดา จะช่วยมอบเวลาที่มีคุณภาพให้กับลูกได้มากกว่า
การที่พ่อแม่ออกไปเจอเพื่อน ออกไปช็อปปิ้ง แต่ในความเป็นจริง จะทำสิ่งเหล่านี้อย่างไรไม่ให้รู้สึกผิด
หลักๆ มันคือการสร้างความสมดุลนะ ไม่ได้แปลว่าเราจะเอาแต่ตัวเองก่อนตลอดเวลา มันอยู่กับการแบ่งเวลา การเลือก ถ้าเราไม่เลือกก็จะต้องอยู่ในวังวนนั้นตลอดเวลา รับส่งลูก ทำอาหาร แค่หาเวลาและเลือกทำในสิ่งที่อยากทำ ไม่ได้เลือกเพื่อตัวเราเอง ถ้าเราเครียด เราเศร้า เราไม่มีความสุข เราจะอยู่กับลูกอย่างมีความสุขไม่ได้เลย
พ่อแม่จะมีวิธีอย่างไรที่จะไม่ส่งต่อ pain point ไปถึงรุ่นลูก
เราต้องมีสติ รู้ตัว พ่อแม่ไม่ใช่แค่ทำหน้าที่เลี้ยงดู การเป็นพ่อแม่มันเข้าไปจัดการความคิดของเราได้เยอะพอสมควร ตั้งแต่เราคิดว่าเราจะมีลูกเพื่ออะไร พ่อแม่บางคนมีลูกเพื่อเลี้ยงตัวเองยามแก่ ถ้าตั้งเป้าแบบนี้พ่อแม่เตรียมตัวรับความผิดหวังได้เลย ถ้าลูกเกิดเรียนไม่เก่งขึ้นมา เกิดมาสติปัญญาไม่ดี หรือโตมาเขาอยากทำอะไรตามใจตัวเองไม่มีเวลาดูแล เราพร้อมที่จะรับความผิดหวังไหม ดังนั้นแค่การตั้งเป้าว่าอยากให้เขามาเลี้ยงดูนี่ก็เป็น pain point แล้ว เราควรจะสร้างชีวิตหนึ่งเพื่อให้อะไร เพื่อให้เขารับใช้ชีวิตตัวเองหรือรับใช้เรา การที่เรามีความสุขจากการได้ดูแล ได้เลี้ยงดู มันก็พอเป็นคำตอบได้อยู่แล้ว ส่วนการที่เขากลับมาดูแลเรายามแก่นี่คือกำไร
ในความสัมพันธ์ของเรากับลูก ควรจะรักกันแบบไหนถึงจะไม่สร้าง pain point ให้เขา
เราควรจะรักด้วยความเข้าใจว่า ‘เราไม่ใช่เจ้าของชีวิตกันและกัน’ รักโดยเข้าใจธรรมชาติของกันและกัน บางอย่างของเขาอาจไม่ใช่สิ่งที่เราชอบ แต่นั่นเป็นตัวเขา เรารักกันแบบที่เคารพการตัดสินใจ รักกันแบบที่ต้องถามตัวเองว่านี่เราไม่ได้รักแค่ตัวเองใช่ไหม บางคนรักลูกเพราะลูกน่ารัก พอลูกไม่น่ารักก็ไม่อยากจะรักลูก ถ้าเรารักเขาจริงๆ ไม่น่ารักอย่างไรก็รัก หมอเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนมีความรักแบบนี้กับลูก แต่พอรักมีการคาดหวัง หรือการรอหวังผลตอบแทนจากสิ่งที่ตั้งใจหรือทุ่มเทไป สิ่งเหล่านี้มันจะทำให้มองไม่เห็นความรักที่แท้จริง
แล้วในแง่สามี-ภรรยา เราควรจะรักกันแบบไหนเพื่อไม่ให้สร้าง pain point ให้ลูก
หลายคนเชื่อว่าการที่เรามีลูก เราควรทุ่มเวลาไปให้ลูก แต่จริงๆ ในทางทฤษฎีการที่เด็กคนหนึ่งจะโตมามีความสัมพันธ์ที่ดีได้ ไม่ได้มาจากความสัมพันธ์ที่พุ่งมาถึงเขาอย่างเดียว แต่เป็นเด็กที่ได้รับความสัมพันธ์จากพ่อแม่ที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และไม่น้อยไปกว่าความสัมพันธ์ที่ดีที่มีให้ลูก
หลายคนทุ่มเทเวลาไปให้ลูก จนทำให้ลืมความสัมพันธ์ระหว่างกัน
ระหว่างสามีภรรยา มันควรเป็นการ give มากกว่า take เมื่อคนสองคนมาอยู่ด้วยกันมักจะอยากได้นั่น อยากได้นี่ จนหลงลืมไปว่า เราให้อะไรกันหรือยัง
มันควรจะเป็นความรักที่เข้าใจธรรมชาติและปลดปล่อยตัวเองออกจากความสมบูรณ์แบบ ความรักที่ดีควรเป็นรักที่เข้าใจ ให้อภัย ปล่อยวางในบางเรื่อง
กรณีพ่อแม่ต่างคนต่างทุ่มเทให้ลูก จนรู้สึกได้ แล้วถ้าพ่อแม่มีปัญหากันจนเด็กรู้สึกได้ เด็กจะโทษตัวเองหรือไม่อย่างไร
พ่อแม่ทุ่มเทกับลูกเยอะ จนมีปัญหากัน ในเด็กที่โตหน่อย หลายคนจะมีความรู้สึกผิด และคิดว่าตัวเองเป็นสาเหตุ การที่ปฏิสัมพันธ์มีกันอยู่แค่นี้ เด็กรู้สึก หลายครั้งๆ พ่อแม่ก็มีปัญหากันด้วยเรื่องลูกนี่แหละ ด้วยความที่ไม่เข้าใจกันในวิธีการเลี้ยงดู ปัญหาของลูกทำให้เกิดการโต้เถียงกัน เด็กเองมีความรู้สึกผิดอยู่แล้ว
แต่ไม่ได้แปลว่า พ่อแม่จะต้องอยู่กันแบบไม่มีปัญหากัน เป็นไปไม่ได้ที่พ่อแม่จะอยู่กันแบบไม่มีปัญหา มันมีปัญหากันได้แต่ทำยังไงให้ลูกได้เห็นว่า เมื่อมีปัญหากัน ปัญหาจบด้วยการพูดคุยกัน เข้าใจกัน ให้อภัยกัน และด้วยความรักที่มีต่อกัน ทำให้ทุกคนได้ก้าวต่อ นี่เป็นสิ่งสำคัญที่ลูกจะได้เรียนรู้จากปฏิสัมพันธ์ของพ่อแม่
โซเชียลมีเดียต่างๆ โพสต์ความสุขของพ่อแม่ เอาจริงๆ เหล่านี้ส่งผลต่อการเลี้ยงดูของพ่อแม่อย่างไร
มีๆ (ตอบทันที) เยอะมาก (ลากเสียงยาว) ปัจจุบันโซเชียลเข้ามามีผลต่อบทบาทของคนเป็นพ่อเป็นแม่ และลูก เปิดไปเห็นลูกคนนั้นทำอันนั้นได้ดี เห็นคนนี้ไปเรียนอันนั้น เราก็จะรู้สึกว่า ต้องทำบ้าง อยากไปบ้าง ทำไมลูกเราไม่ประสบความสำเร็จเหมือนเขาบ้าง ทำไมลูกเขาอ่านออกแต่ลูกเรายังไก่กาอยู่เลย
หมอคิดว่านี่เป็นเรื่องที่เราต้องฝึกสติมากๆ ในการเสพสิ่งเหล่านี้
เด็กไม่มีแพทเทิร์นเลยว่าต้องทำแบบไหนถึงจะประสบความสำเร็จ แต่มันมีทฤษฎีจริงๆ ว่าเด็กจะประสบความสำเร็จจากคาแรคเตอร์อะไร ดังนั้น การที่ลูกคนอื่นเล่นเปียโนได้ ลูกเราเล่นไม่ได้ ไม่ได้แปลว่าลูกเราจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราสร้างบางสิ่งหรือยังที่จะเป็นคาแรคเตอร์ของเด็กที่จะประสบความสำเร็จ คือ
1. เด็กที่มีอารมณ์เชิงบวก ยิ้มแย้ม มีความสุข แบบนี้จะประสบความสำเร็จและมีความสุขกับชีวิตได้ง่าย
2. เด็กที่มีการจดจ่อใส่ใจกับงานอะไรบางอย่าง และทำมันสำเร็จ มีความรับผิดชอบ
3. เด็กที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับพ่อแม่ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อน คนรอบตัว มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
4. เด็กที่มีความรู้สึกว่าชีวิตตัวเองมีความหมาย เป็นที่รัก มีประโยชน์กับคนอื่น หรือเป็นความสุขของบางคน
5. เด็กคิดเป็น
พ่อแม่สร้างแค่นี้ ไม่ต้องไปกังวลว่าใครเก่ง เป็นที่ 1 มันไม่ได้บอกอะไรเลย ตอนนี้เด็กเรียนแพทย์หลายคนเป็นซึมเศร้า มันไม่ได้มีอะไรบอกว่าถ้าลูกเราทำแล้วจะมีความสุขเหมือนอย่างเขา หลักมีแค่ ลูกเรา 1. ควบคุมตัวเองได้ไหม 2. คิดยืดหยุ่นเป็นหรือเปล่า 3. มีความจำที่ดีไหม 4. ถ้าทำได้เท่านี้ ชีวิตประสบความสำเร็จได้ จะเสพอะไรก็ควรชั่ง ว่าเราได้ประโยชน์หรือได้โทษจากมัน ถ้าเราได้ประโยชน์ เช่น เราส่องแล้วเห็นว่ามันมีบางอย่างพัฒนาลูกเราบ้าง เห็นวิธีการเลี้ยง เห็นวิธีคิด แล้วเอามาปรับกับเราได้ ก็เสพไป แต่ถ้าเราเสพแล้วเราเริ่มทุกข์ เห็นคนอื่นพาภรรยาไปดินเนอร์ ทำไมเราไม่เห็นมี แล้วมันเกิดความทุกข์ ก็ต้องเริ่มเลือกแล้วล่ะ หมอบอกเลยว่าต้องปิดโซเชียล
ลูกคุณไม่ได้ดีด้วยการถูกชื่นชมโดยใครในเฟซบุ๊ค หรือต้องมีอะไรไปอวดใคร ลูกคุณดีจากการเลี้ยงดูของคุณ เพราะฉะนั้นก็ต้องเลือก ถ้าไม่มีความสุขจากการเสพอะไรบางอย่าง ต้องหยุด
ถ้าเขาทุกข์ เขาไม่มาโพสต์โซเชียลหรอก?
ใช่ๆ โซเชียลมันไม่ใช่โลกที่อวดเรื่องทุกข์ มันถูกเอาไปเป็นพื้นที่อวดความสุข มันก็ไม่แปลกที่จะเปิดไปเจอนู่นนี่นั่น แต่เขาเลือกมาแล้วว่าเขาอยากบอกสิ่งนี้ ความทุกข์อีก 90 เปอร์เซ็นต์ เขาไม่ได้บอก หน้าที่ของเราคือเลือกรับและเสพแบบมีสติ ยินดีเมื่อเห็นความสุขของคนอื่น อย่ามีกิเลส อย่าเปรียบเทียบให้เกิดความทุกข์ น้อยเนื้อต่ำใจ
อย่างหมอเขียนเพจ หมอก็เขียนเวลาหมอทำได้ดี เวลาหมอวีนใส่ลูก หมอก็ไม่ได้เขียนตลอดมันก็ธรรมชาติ หมอก็ไม่รู้จะเขียนไปทำไม ก็เขียนก็ตอนเลี้ยงลูกเชิงบวกแล้วได้ผล คนก็อ่าน ตอนนี้หมอวีนก็เอามาเล่า คนก็ได้เรียนรู้ชีวิตจริง
ตอนหลังพยายามเขียนวีนบ่อยๆ เดี๋ยวคนคาดหวังว่าพ่อแม่จะต้องดีงาม วีนได้ เราเป็นมนุษย์ มีความรู้แต่ไม่มีสติไง (หัวเราะ)
ดังนั้นหมอคิดว่างานสำคัญของพ่อแม่คือหาความรู้แต่รู้แล้วไม่ทำก็ช่วยอะไรลูกไม่ค่อยได้ สำคัญที่สุดคือสติ เป็นงานที่สำคัญจริงๆ ถ้ามีเวลาควรทำ เหมือนการออกกำลังกาย แต่การฝึกสติเหมือนการออกกำลังใจ ฝึกบ่อยๆ ทำบ่อยๆ ก็ทำได้เก่งขึ้น สติมาไวขึ้น ก่อนจะพูดหรือหลุดคำแย่ๆ ไปกับลูก สร้างบาดแผลให้ลูก
ดังนั้น เรียนรู้เรื่องหลักการเพื่อได้รู้ แต่จะทำได้ไหมขึ้นกับเรื่องการฝึกสติจริงๆ แล้วถ้าเราไม่ได้ฝึกสติมันจะออกมาเป็นวิธีเชิงลบหมดเลย เพราะเราเติบโตมาแบบนั้น เคยชินกับคำพูดแบบนั้น เราถูกใช้คำพูดแบบนั้นมา เราก็ใช้วิธีการแบบที่เราอยู่กับมันมา ฉะนั้นมันจึงต้องอาศัยสติขั้นสูงที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นพ่อแม่เลี้ยงลูกเชิงบวก
คำพูดเชิงลบที่มักใช้สอนลูก ที่ผ่านมามีอะไรบ้าง
เยอะมาก คำพูดเชิงลบอยู่ในวัฒนธรรมตั้งแต่แรกเกิด เกิดมาเด็กก็ถูกชมว่าน่ารักไม่ได้ ต้องพูดว่าน่าเกลียด เศร้าไหมล่ะเกิดมาบนโลก มีแต่คนมาบอกว่าแกหน้าตาน่าเกลียดจังเลย ชมก็ไม่ได้เพราะมีความเชื่อ ชมเดี๋ยวผีมาลักไป อุ้มก็ไม่ได้ อุ้มเดี๋ยวติดมือ ต้องปล่อยร้อง ซึ่งผิดหลักการสุดๆ
เด็กขวบปีแรกเป็นวัยช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปีแรกตามหลักจิตวิทยาจะเป็นปีแห่งการสร้าง trust ความไว้เนื้อเชื่อใจว่าโลกปลอดภัย ร้องแล้วมีคนอุ้ม เปียกแล้วมีคนเปลี่ยนผ้าอ้อม หิวแล้วมีนมลอยใส่ปากทันที อันนี้จะสร้างความรู้สึกว่าโลกปลอดภัย ซึ่งสำคัญมากต่อการพัฒนาขั้นตอนต่อไปในชีวิต
ดังนั้นเด็กที่ฟอร์ม trust ไม่ดี ร้องก็ถูกปล่อยให้ร้อง ไม่มีใครมาอุ้ม จะโตมาเป็นเด็กยาก หวาดกลัว ระแวดระวัง กังวลเพราะถูกเลี้ยงดูมาแบบไม่ปลอดภัย อะไรก็น่ากลัวไปหมด ดังนั้นความเชื่อนี้เป็นความเชื่อเชิงลบที่อยู่ติดเรา อย่าชม เดี๋ยวเหลิง เดี๋ยวได้ใจ ทั้งที่จริงๆ เด็กเติบโตงดงามได้ด้วยคำชม เวลาชม สมองจะเบิกบานมีความสุข อยากทำอีก
หรือขู่ให้กลัว ดื้อเดี๋ยวหมอฉีดยา เดี๋ยวตำรวจมาจับ?
การทำให้เกิดความกลัว สามารถควบคุมได้สั้นๆ แต่เด็กไม่เรียนรู้เลยว่าทำไมต้องทำตัวดีๆ เวลาจะตรวจ เด็กรู้แต่ว่ากลัวก็เลยต้องหยุด พอถึงเวลาก็โดนฉีดยาจริงๆ เด็กก็จะสับสน ฉันดื้อเหรอ ทำไมฉันโดนฉีดยาล่ะ ฉันก็ไม่ได้ดื้อนะ เกิดความขัดแย้งอีก
คำขู่ คำหลอกทั้งหลาย เดี๋ยวตุ๊กแกกินตับ ร้องไห้เดี๋ยวซีอุยมากินตับ มันไปกระตุ้นสมองส่วนอารมณ์ มีเด็กที่ยอมเพราะกลัวแต่ยอมแล้วไง กังวล ทีนี้จะออกไปไหนก็ไม่ได้ แม่หายไปก็ร้องเพราะกลัว เครียด สมองแห่งความเครียดก็เป็นสมองที่พัฒนาไม่ดี ฉะนั้นก็ต้องมามองว่า ทำให้ลูกทำในสิ่งที่เราต้องการ แต่ลูกสูญเสียอะไร และมีผลกระทบอะไรเกิดกับลูก เด็กบางคนโดนหลอกจนแม่หนีหายไปไม่ได้ ซึ่งลำบาก
ชมน่ารักไม่ได้ ผีมาลัก แม่ซื้อจะมาเอาตัวไป บางทีมันมาจากรากของการคิดว่าห้ามชมเดี๋ยวเด็กเหลิง
เด็กเมื่อเกิดความกลัว ความกล้าอยากทำอะไรก็ไม่มี สมมุติเราหลอกว่า เดี๋ยวซีอุยจะกินตับ มืดๆ ไม่กล้าออกจากบ้าน เสร็จแล้วเป็นปัญหาร้องโยเย กวน ขอให้อุ้ม แม่ก็หงุดหงิด ทำไมพูดไม่รู้เรื่อง นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ มากมายจากการพัฒนาไม่ได้ดีตามวัย
เรื่องอะไรที่คุณหมอให้คำปรึกษาบ่อยที่สุด
หลักๆ คือเรื่องการจัดการอารมณ์ของลูก ลูกอาละวาด โวยวาย ร้อง ไม่ฟัง ดื้อ พูดแล้วเถียง
ทางออกคือการจัดการอารมณ์ สมองของเด็กเป็นสมองอารมณ์เป็นหลัก จริงๆ เขามีความต้องการบางอย่างแต่เขาใช้วิธีอื่นไม่เป็น เรียนรู้ที่จะใช้อารมณ์ โวยวาย อาละวาด
วิธีการจัดการ อันดับแรกคือ ไม่ให้สิ่งที่เด็กต้องการ เช่น ลงไปอาละวาดอยากได้ของ พ่อแม่ไม่ควรหยิบยื่นของให้ เพราะเด็กจะรับรู้ว่าวิธีการนั้นจะคงอยู่ตามธรรมชาติ เพราะเด็กเรียนรู้จากการตอบสนองของผู้ใหญ่
อันดับสอง เข้าใจธรรมชาติของอารมณ์เด็ก เปรียบเทียบเหมือนกองไฟ เวลาไฟลุก การจะดับไฟ ทำได้ไม่กี่อย่างคือ หนึ่ง เอาน้ำดับ น้ำคือการกอด การทำให้สมองสงบ คำพูดแสดงความรู้สึกโกรธ โกรธใช่ไหมลูก หนูเศร้าเนอะ มา แม่อยู่นี่ ทำให้เกิดความสงบ
ประเด็นคือพ่อแม่ชอบเติมเชื้อเพลิง แค่นี้เอง ทำไมต้องร้องด้วย ทำไมเป็นเด็กงอแงอย่างนี้ ฉันเบื่อมากเลยนะ เลี้ยงลูกมาแล้วเป็นเด็กแบบนี้ อันนี้ยิ่งเติมเชื้อเพลิง ไฟเลยไม่ดับ ความเศร้าตอนแรกมันก็เลยทวีจากเชื้อเพลิงที่เติม
เช่น ลูกกำลังแย่งของอยู่ ก็ดึงออกมาจากพื้นที่ตรงนั้้น ลงไปร้องดิ้นหน้าร้าน ก็เอาออกมาจากร้าน สุดท้าย ไม่ทำอะไรเลย ไฟก็ดับ รอ ไม่ต้องทำอะไร กอดลูก ไม่ให้กอดก็นั่งข้างๆ ไม่มีเด็กคนไหนร้องไห้จนเสียชีวิต เขาจะได้เรียนรู้จากการจัดการอารมณ์ของเขา
ต่อมา ลูกมีทางเลือก อยากได้แล้วลงไปดิ้น โกรธแล้ว ทำอะไรได้ เช่น มานั่งกับแม่ตรงนี้ ขีดเขียนได้ แต่ปาของไม่ได้ คือมีทางเลือกให้ว่าถ้าไม่ทำอันนี้ จะทำอะไรได้บ้างที่จะแสดงความโกรธ
เด็กวัยรุ่นซึมเศร้ามากขึ้น มีความเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกเชิงลบมากน้อยแค่ไหน
ซึมเศร้ามีหลายปัจจัย ปัจจัยหนึ่งก็คือ ปัจจัยทางสมองของเด็กเอง บางคนอาจมีความผิดปกติของสมองคือสารบางอย่าง เป็นกรรมพันธุ์ พ่อแม่ ปู่ย่าตายายเป็นซึมเศร้า ก็มีความเสี่ยงเยอะกว่าเด็กกลุ่มอื่น
ประการที่สอง การเลี้ยงดู ซึ่งมีผลอย่างแน่นอน
ที่เจอเยอะๆ เลยคือการเลี้ยงดูที่ถูกทอดทิ้ง มีพ่อแม่แต่ไม่มีใครใส่ใจ ไม่มีใครคุยด้วย ไม่มีเวลาคุณภาพ เลี้ยงลูกให้เงินกินข้าว มีที่ให้อยู่ แต่ไม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดี เด็กก็จะรู้สึกไม่มีตัวตน ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย
อีกแบบหนึ่ง การเลี้ยงดูเชิงลบที่ทำให้เกิดบาดแผล เช่น ตำหนิ ตบตี ต่อว่ารุนแรง ทำให้รู้สึกเกิดการเปรียบเทียบ การเลี้ยงดูที่ทำให้รู้สึกลดทอนคุณค่าของตัวเอง ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กพัฒนาเป็นโรคซึมเศร้าได้
เดี๋ยวนี้ไม่ได้เจอเฉพาะวัยรุ่น ในเด็กเล็กๆ เราก็เจอว่าซึมเศร้ามาตั้งแต่เด็กได้
อีกอันหนึ่ง สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นตัวกระตุ้นทำให้เกิดซึมเศร้าได้มากขึ้น โดยเฉพาะปัจจุบัน สื่อเข้าถึงตัวเด็ก เพื่อน โรงเรียนก็เป็นปัจจัยสำคัญ โรงเรียนที่ไปแล้ว ฉันไม่เคยมีความหมายอะไร ครูก็ชมแต่เด็กเรียนเก่ง หรือถูกตีตราว่าอยู่ห้องบ๊วย ทั้งหมดพัฒนาความรู้สึกแย่กับตัวเองได้ หรือเพื่อน ที่มีการแกล้ง ล้อ รังแก ไซโคหรือไซเบอร์บุลลี่ พวกนี้ก็ส่งผลกระทบ
ที่สำคัญมากๆ เลยคือสื่อ มีบทบาทกับวัยรุ่นเยอะ สื่อเข้าถึงวัยรุ่นเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เปิดไปเจอดาราหุ่นดี เราหุ่นไม่ดีก็เครียด โดยเฉพาะในวัยที่กำลังพัฒนาความเป็นตัวตน อยากสวย ดูดี เปิดเฟซบุ๊คไปก็เจอเพื่อนคนนั้นก็ดี เพื่อนคนนี้มีพ่อแม่พาไปเที่ยว มีการเปรียบเทียบ
ไซเบอร์บุลลี่ผ่านโลกออนไลน์ก็เยอะมาก บางทีไม่ได้มาแบบโพสต์ด่ากัน แต่เป็นการบุลลี่กันในเชิงจิตวิทยา เช่น โพสต์ไปในกรุ๊ปไลน์ไม่มีใครตอบ แต่พอเพื่อนอีกคนโพสต์ มีคนเข้ามาตอบมาคุยเต็มเลย หรือโพสต์รูปลงไนเฟซบุ๊ค ไม่มีคนกดไลค์ หลายคนก็เครียดแล้ว หรือไลค์น้อยกว่ารูปเดิม พวกนี้มีผลกับความเศร้าของเด็กได้มาก
แต่หมอเชื่อว่าครอบครัวก็ยังเป็นหลักสำคัญ ทำให้เด็กรู้สึกอบอุ่น รู้สึกตัวเองมีค่า มีความหมาย เป็นที่รักของพ่อแม่ มันก็จะเป็นเกราะป้องกันสำคัญ
ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวที่ครบพ่อแม่ลูก?
ไม่จำเป็น เป็นครอบครัวที่มีใครสักคนที่พร้อมและตั้งใจจะเลี้ยงดู ทำให้เขาเป็นเด็กที่มีความสุข แค่นี้ก็พอแล้ว
หรือว่าเราไม่ควรจะมีคำว่าพ่อแม่ที่ดี มีแค่พ่อแม่ที่ธรรมดา
หมอไม่เคยคิดว่าจะต้องนิยามคำว่าพ่อแม่ที่ดี แค่ติดกับคำว่าต้องเป็นพ่อแม่ที่ดี นี่ก็เป็นความทุกข์แล้วนะ แค่ต้องสงสัยว่าดีพอหรือยัง แค่นี้เรียกว่าดีไหม นี่เรียกว่าดีหรือเปล่า หมอว่ามันเป็นความทุกข์ของการเป็นพ่อแม่แล้วนะ
ที่สำคัญ ดีนี่มันต้องแลกกับอะไร คือเป็นคนดีมากๆ มันต้องแลกกับการไม่เป็นตัวเอง การต้องไม่ผิดพลาด ไม่ต้องหรอกเป็นพ่อแม่ธรรมดานี่แหละ เป็นพ่อแม่ที่ผิดพลาดได้ ทำไม่ถูกบ้าง มีงี่เง่า โมโห โกรธ ก็เป็นพ่อแม่ที่ปกติมนุษย์
พ่อแม่ที่ดีสำหรับหมอคือพ่อแม่ที่พัฒนาตัวเอง เป็นพ่อแม่ที่เรียนรู้ คอยประเมินตัวเองเสมอว่าเราโอเคหรือเปล่า ลูกโอเคไหม เรามีอะไรที่ต้องพัฒนา มีอะไรที่ต้องทำให้ดีขึ้น ให้เวลากับลูกเยอะพอหรือยัง หมอว่าพ่อแม่เหล่านี้คือพ่อแม่ที่ดีพอ
ความเป็นคนดี เป็นจิตวิทยาเชิงลบหรือเปล่า
มันเป็นเงื่อนไข มนุษย์ไม่มีใครดีทั้งหมด และไม่มีใครชั่วไปหมด มีดีไม่ดีผสมกัน แต่พอเราบอกว่าต้องดี ดีอะไร ดีแบบยุงไม่ตบหรือเปล่า มันก็มีคำว่าดีหลากหลายรูปแบบมาก ไม่มีใครดีพร้อม
เอาแค่ดีพอ แค่พัฒนาตัวเองเป็นคนที่ดีขึ้น กับตั้งใจจะเป็นกัลยาณมิตรของลูก คือ คนที่เอื้อเฟื้อต่อกันและไม่ทำร้ายกัน หมอว่าแค่นี้ดีพอแล้วนะ
แล้วคนที่คิดว่าตัวเองเป็นพ่อแม่ที่ดีมากแล้ว อันตรายไหม
ก็อันตรายเหมือนกันนะ พอเราคิดว่าเป็นพ่อแม่ที่ดีมากแล้ว มันก็จะไม่พัฒนาตัวเอง อะไรที่เราคิดว่าดีแล้ว พร้อมแล้ว เราก็ไม่หา ซึ่งมนุษย์ไม่มีใครเป็นอย่างนั้น มันไม่มีใครที่ดีพร้อม มันอาจจะดีในระดับหนึ่ง แต่อย่าคิดว่าตัวเองดีพร้อมเลย
ที่สำคัญ ความเป็นมนุษย์เปลี่ยนแปลงเสมอ ความเป็นพ่อแม่ของเราวันนี้ ก็ไม่ใช่ความเป็นพ่อแม่ของเราเมื่อ 3 ปีที่แล้ว หรืออาจไม่ใช่พ่อแม่ในอีก 5 ปีข้างหน้า ความเป็นคนของเราเปลี่ยนแปลงเสมอเลย ดังนั้นถ้าเราไม่คอยที่จะตรวจตราตัวเองว่าเราเป็นยังไง
หมอไม่เชื่อว่าพ่อแม่ควรรู้สึกว่าตัวเองดีแล้วและไม่พัฒนา พ่อแม่ควรประเมินตัวเองอยู่ตลอดเวลา และไม่ต้องดีพร้อม
สงสยว่าในอนาคต จิตวิทยาการเลี้ยงลูกเชิงบวกจะต้องเปลี่ยนไปจากนี้อีกหรือไม่
คิดว่าหลักของจิตวิทยาเชิงบวกไม่เปลี่ยนเพราะอธิบายได้ด้วยการทำงานของสมองมนุษย์ ซึ่งไม่เปลี่ยน มันเป็นแบบนี้แหละ สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ 2500 กว่าปีที่แล้วก็ไม่เปลี่ยน คือ ‘สติมาปัญญาเกิด’ นักวิทยาศาสตร์เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ว่ามันอธิบายได้ว่าเมื่อสมองส่วนอารมณ์ทำงาน สมองส่วนคิดปิดทำการ นี่คือสิ่งที่พระพุทธเจ้าพูด คือถ้าสติเสีย ปัญญาไม่เกิด มันไม่เคยเปลี่ยน
แต่การเลี้ยงลูกเป็นศิลปะ มันจะเปลี่ยนแค่รายละเอียดของหลัก วิธี เทคนิค เช่น ต่อไปเราอาจไม่ค่อยสื่อสารกันผ่านคำพูดแล้ว ผ่าน text แต่หลักมันไม่เปลี่ยนเพราะนี่เป็นหลักทางวิทยาศาสตร์ที่มันอธิบายได้ด้วยหลักการพัฒนาของสมองมนุษย์จริงๆ
นอกจากใช้สื่อสารกับลูกแล้ว เราจะใช้จิตวิทยาเชิงบวกสื่อสารกันเองอย่างไร ให้ไม่เกิดบาดแผล
การสื่อสารเชิงบวกเป็นทักษะที่เราควรฝึก มีหลายแบบ เริ่มตั้งแต่ฟังให้เป็น พ่อแม่ส่วนใหญ่ฟังไม่ค่อยเป็น ลูกพูดอะไรมาก็เตรียมสอน เหมือนโดนโปรแกรมมาว่าพ่อแม่มีหน้าที่สั่งสอนลูก จริงๆ ไม่ใช่ พ่อแม่มีหน้าที่รับฟัง และตั้งคำถามเพื่อให้ลูกคิด ซึ่งการคิดจะผ่านกระบวนการทำให้สมองจดจำ
เรื่องการสื่อสารที่ต้องใช้คำพูด กระทั่งการออกคำสั่ง จริงๆ สั่งยังไงให้ลูกทำโดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกสั่ง เป็นศิลปะ และเป็นหลักที่ใช้วิทยาศาสตร์อธิบาย เช่น ไม่กระโดด คำว่า ห้าม อย่า ไม่ ฯลฯ คำเหล่านี้ทำให้สมองทำงานไม่รู้เรื่อง แต่มีเทคนิคสั่งอย่างอื่นทำให้เด็กร่วมมือได้ง่ายกว่า นี่เป็นศิลปะ
หรือการแสดงความคิดเห็นหรือคุยกับลูก บ้านเราชอบใช้คำพูดเชิงลบ หรือ U message “ทำไมไม่รับสาย” แต่จริงๆ ความหมายเหมือนกันกับคำว่า “แม่/พ่อโทรติดต่อลูกไม่ได้เลย” ฝรั่งจะพูดแบบ I message เยอะ แต่เราจะแบบ ทำไมกลับบ้านดึก ทำไมกลับบ้านเอาป่านนี้ จริงๆ เราเป็นห่วงนะ แต่ชอบพูดในสิ่งที่ blame คนอื่น ทำให้เกิดความเจ็บปวด ทำให้รู้สึกแย่ ซึ่งเป็นคำพูดติดปากจริงๆ
จริงๆ การสื่อสารที่ใช้ I message หรือคำพูดจากตัวเรา เช่น “แม่เป็นห่วงมากเลย เห็นลูกบอกว่าลูกจะกลับตอนสองทุ่ม เกิดอะไรขึ้นเหรอลูก” ความหมายเดียวกันกับ “ทำไมกลับบ้านเอาป่านนี้” แต่พอสื่อสารคนละรูปแบบ ความรู้สึกต่างกัน ดังนั้นการสื่อสารเชิงบวกควรเป็นสิ่งที่ควรศึกษาเพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องความสัมพันธ์
ทุกคนใช้การสื่อสารแบบนี้ได้หมด จะฟังยังไงให้เหมือนเราฟังอยู่ จะพูดยังไงให้เขารับรู้สิ่งที่เรารู้สึก แบบที่เขาไม่รู้สึกว่าถูกตำหนิ ต่อว่า สั่งยังไงให้เด็กอยากทำตามโดยที่ไม่รู้สึกกดดัน รำคาญ หงุดหงิดใจที่มีคนมาสั่งทุกวัน วันละเป็นพันครั้ง อันนี้ต้องเรียนรู้
จะมีวิธีอะไรบ้าง ที่ดูแลใจพ่อแม่ ไม่ให้รู้สึกผิดว่าฉันแย่ ดีไม่พอ เพราะทุกคนก็อยากเลี้ยงลูกเชิงบวก
หมอว่าก็มองเป็นมนุษย์ธรรมดา การคาดหวังว่าเราจะต้องเป็นพ่อแม่แบบนี้แบบนั้น มันทำให้เราเจ็บปวด แต่ถ้าเรามองตัวเองอย่างเข้าใจในความเป็นมนุษย์ธรรมดาของเรา
ที่หลายครั้งมีข้อจำกัด มีเวลากับลูกไม่เยอะ ซื้อของให้ลูกได้แค่นี้ มองสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นความธรรมดา มันก็เป็นแบบนี้แหละ และไม่ได้แปลว่าเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่เรามอบให้ลูก ความไม่ได้ ไม่มี ไม่เป็น หลายครั้ง ก็เป็นจุดที่ทำให้ลูกพัฒนาไปได้ดีเหมือนกัน
เด็กที่อดใจอยู่กับความไม่ได้ อยากมีแล้วไม่ได้ ก็พัฒนาตัวตนในอีกรูปแบบหนึ่ง คือเข้าใจความเป็นมนุษย์ธรรมดาของตัวเองที่มีข้อจำกัดที่มีอารมณ์เป็นปกติ ที่จะหลุดปรี๊ด หลุดโมโห ใช้อารมณ์ เผลอตีได้ และให้อภัยตัวเอง
พ่อแม่ที่ไม่ให้อภัยตัวเองก้าวต่อยากมาก สิ่งที่ควรทำคือ กอดตัวเองว่าเราก็ธรรมดา เราก็ทำดีที่สุดแล้ว เราไม่เคยมีเจตนาไม่ดีกับลูกแต่เราเป็นมนุษย์ธรรมดาที่มีผิดมีพลาดแล้วก้าวต่อ อันนี้สำคัญคือการให้อภัยกับความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง และอย่าคาดหวังว่าต้องสมบูรณ์แบบ เราเป็นพ่อแม่ปกติที่มีลูกประสบความสำเร็จและมีความสุขได้
พ่อแม่มัวไปแบกอะไรอยู่
แบกความคาดหวังไง ทั้งตัวเองและลูก ปู่ย่าตายาย โซเชียลด้วย เดี๋ยวนี้แค่ไม่มีเรื่องลูกโพสต์ในเฟซบุ๊คก็ทุกข์แล้ว ไม่มีอะไรจะอวดเลย ต้องตั้งสติดีๆ เด็กไม่ได้เติบโตจากการที่พ่อแม่มีอะไรอวดบนเฟซบุ๊ค แต่เด็กเติบโตได้ดีเพราะพ่อแม่มีเวลาคุณภาพให้ พ่อแม่ฝึกวินัยเชิงบวก พ่อแม่สอน พาเล่นทำกิจกรรม หาประสบการณ์ที่สร้าง EF หมอว่าเท่านี้พอแล้ว