



จะคาดหวังให้ใครซักคนเปิดอกคุยกับเรา ต้องลองคิดว่าเรามันน่านั่งคุยด้วยรึปล่าว – KHAE
จะคาดหวังให้ใครซักคนเปิดอกคุยกับเรา ต้องลองคิดว่าเรามันน่านั่งคุยด้วยรึปล่าว – KHAE
ในแวดวงการศึกษา ‘การเล่น’ กำลังกลายเป็นประเด็นถกเถียงอย่างหนัก แม้จะมีงานวิจัยและนักวิชาการทางการศึกษาจำนวนมากชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า เด็กปฐมวัยจำเป็นที่จะต้อง ‘เล่น’ แต่ด้วยระบบการศึกษาในโลกแห่งความจริงแล้ว การเล่นให้สอดคล้องกับการเรียนการสอนแบบดังกล่าว ดูจะเป็นเรื่องไกลเกินเอื้อมไปนิด
แต่เมื่อลักษณะหนึ่งของความเป็นเด็กคือการเล่น (playfulness) โดยเฉพาะช่วงปฐมวัยแล้ว การจับเด็กเล็กให้นั่งเฉยๆ เป็นชั่วโมงเพื่อท่องตัวหนังสือหรือบวกลบเลขจึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับวัยพวกเขาสักเท่าไร เนื่องจากช่วงวัยดังกล่าว ‘การเล่น’ ส่งผลดีต่อพัฒนาการของพวกเขาแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญาหรืออารมณ์ ทั้งส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ และเป็นการส่งเสริมให้พวกเขาเปิดโลกจินตนาการให้กว้างไกลไปในตัว
ล่าสุด งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยดีคิน (Deakin University) ประเทศออสเตรเลีย เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ The Conversation กล่าวว่า กระบวนการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับเด็กปฐมวัย คือ Play-based Learning หรือ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่น (บทความหลังจากนี้จะขอใช้เป็นทับศัพท์แทน) ซึ่งทีมวิจัยพบว่าการเรียนแบบดังกล่าวนั้นช่วยส่งเสริมพัฒนาการทางด้านการเรียนรู้ทางวิชาการของเด็กปฐมวัยให้ดีขึ้น ต่อเนื่องและต่อยอดให้กับอนาคตทางการศึกษาของพวกเขา ทั้งยังเป็นทักษะการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 อีกด้วย
Play-based Learning เป็นกระบวนการเรียนการสอนที่มุ่งเป้าไปที่การสอน (teaching) และการเรียนรู้ (learning) ซึ่งความหมายของคำว่า ‘เล่น’ ในที่นี้หมายถึง การเล่นอย่างอิสระ (free play) โดยเด็กๆ เป็นผู้ริเริ่มกิจกรรมต่างๆ ด้วยตนเอง (child-initiated) ตามธรรมชาติของพวกเขา หรือการเล่นที่ได้รับการชี้นำ (guide play) และมีครูเป็นผู้ร่วมเล่น (co-player) ในแต่ละกิจกรรมนั้นๆ ซึ่งการเล่นทั้งสองรูปแบบของกระบวนการเรียนรู้ Play-based Learning จะสอดแทรกความรู้วิชาการผ่านการสนับสนุนจากครู กล่าวคือ ครูกระตุ้นการเรียนของเด็กๆ ตั้งคำถามผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยมีเป้าประสงค์เพื่อขยายขอบเขตความคิดของพวกเขาให้กว้างไกลมากขึ้น
นาตาลี โรเบิร์ตสัน (Natalie Robertson) อาจารย์ด้านการศึกษาปฐมวัยและหนึ่งในทีมวิจัย อธิบายถึงสาเหตุว่าทำไมเด็กปฐมวัยควรเรียนรู้ผ่านกระบวนการ Play-based Learning พร้อมยกตัวอย่างว่า
“โดยธรรมชาติแล้ว เด็กๆ มักได้รับแรงกระตุ้นจากการเล่น กระบวนการเรียนรู้อย่าง Play-based Learning จะช่วยเสริมสร้างให้เด็กๆ มีแรงกระตุ้นดังกล่าว กล่าวคือการเล่นเป็นบริบทอย่างหนึ่งสำหรับการเรียน เด็กได้สำรวจ ทดลอง ค้นหาและแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองผ่านจินตนาการของเขาอย่างสนุกสนาน เช่น ระหว่างที่เด็กกำลังเล่นต่อบล็อก ครูสามารถตั้งคำถามที่ส่งเสริมให้พวกเขาแก้ไขปัญหา คาดการณ์และสร้างสมมุติฐานขึ้น ทั้งครูยังสามารถนำความรู้จากคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ หรือแนวคิดทางวรรณกรรม มาใช้ร่วมกับการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง (hands-on learning)”
อย่างไรก็ตาม Play-based Learning ไม่จำเป็นต้องเป็นการเล่นในลักษณะกิจกรรม เกม หรือต้องมีของเล่นมาร่วมด้วยอย่างเดียวเท่านั้น นิโคลา วิทตัน (Nicola Whitton) ศาสตราจารย์ด้านการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนครแมนเชสเตอร์ (Manchester Metropolitan University) อธิบายไว้ในบทความของเขา หัวข้อ ‘A playful Approach to Learning Means More Imagination and Exploration’ ซึ่งเผยแพร่ลงเว็บไซต์ The Conversation เช่นเดียวกันไว้ว่า
“ข้อแตกต่างระหว่างการเล่น (play) ที่เป็นกิจกรรมและการเล่น (playfulness) ที่เป็นทัศนคติคือ การเล่นแบบที่สองเป็นการเล่นที่เปิดประสบการณ์ใหม่ เป็นเรื่องของจินตนาการ ความเชื่อและการค้นหาความเป็นไปได้ กระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นเพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ ของเด็กนั้นไม่จำเป็นต้องผ่านเกมหรือของเล่น หรือการเรียนรู้แบบบูรณาการต่างๆ ในรูปแบบกิจกรรมที่เป็นการเล่นอย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึง คุณค่าของการเล่น (playful value) กล่าวคือ การเล่น (playfulness) ในฐานะที่เป็นกุญแจสำคัญสำหรับการสร้างสรรค์ความคิดเชิงบวกต่อความล้มเหลวบางอย่างที่ระบบการศึกษาทุกวันนี้เพิกเฉย รวมถึงระบบการทดสอบ/การสอบที่มีการเดิมพันสูงตั้งแต่อายุยังน้อย”
การเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นการเปิดทางให้เด็กได้มีส่วนร่วมในกระบวนการคิดขั้นสูง เป็นความรู้ที่ไม่ติดกรอบ ยืดหยุ่น มีทั้งการแก้ไขปัญหา การคิดวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์และนำความรู้ต่างๆ ไปใช้อย่างสร้างสรรค์ ซึ่งทุกขั้นตอนต้องลงมือด้วยตัวเอง ถือเป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21
นอกจากด้านการเรียนรู้แล้ว การเล่นยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็กได้อย่างเป็นธรรมชาติ กล่าวคือ เด็กได้รับการส่งเสริมพัฒนาทักษะสังคมไปในตัวผ่านการเล่น เช่น การมีส่วนร่วม การแบ่งปัน การระดมสมอง การไกล่เกลี่ยปัญหาต่างๆ
“ครูสามารถใช้แรงบันดาลใจและความสนใจของพวกเขาในการสำรวจแนวคิดหรือไอเดียต่างๆ โดยวิธีการดังกล่าว จะทำให้เด็กได้รับทักษะทางวิชาการ การฝึกปฏิบัติจริงและการเรียนรู้ผ่านบริบทการเล่นไปในตัว ทั้ง Play-based Learning ยังช่วยสามารถสนับสนุนพัฒนาทักษะทางสังคมสำหรับผู้เรียน ช่วยให้พวกเขาเผชิญหน้ากับความท้าทายและหาทางแก้ไขได้อย่างสร้างสรรค์” เอลิซาเบธ เราซ์ (Elizabeth Rouse) อาจารย์อาวุโสด้านการศึกษาปฐมวัยและสมาชิกทีมวิจัย อธิบาย
การเรียนรู้แบบดั้งเดิมหรือรูปแบบการเรียนการสอนทางตรง (direct-instruction approach) เป็นการเรียนการสอนลักษณะที่ครูเป็นศูนย์กลาง (teacher-centered) ของนักเรียน ครูมีหน้าที่ให้ความรู้ อบรมและสั่งสอนทักษะทางวิชาการให้กับนักเรียน – แทบทุกคนทั่วโลกล้วนมีประสบการณ์ร่วมกับการเรียนการสอนลักษณะดังกล่าวไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดของการเป็นนักเรียน
แต่สำหรับการเรียนการสอนสำหรับเด็กปฐมวัย โดยเฉพาะการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21 ทีมวิจัยมองว่ากระบวนการเรียนรู้อย่าง Play-based Learning มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับช่วงวัยพวกเขามากกว่ากระบวนการเรียนรู้แบบที่ครูเป็นศูนย์กลางของห้องเรียน
“เพราะพวกเขาได้เรียนและแก้ไขปัญหาผ่านการทำด้วยตนเองโดยมีครูเป็นเพียงผู้นำทาง” แอน-แมรี มอร์ริสซีย์ (Anne-Marie Morrissey) อาจารย์อาวุโสด้านการศึกษาปฐมวัยและหนึ่งในทีมวิจัย อธิบายเหตุผลว่าทำไม Play-based Learning ถึงมีประสิทธิภาพกับเด็กปฐมวัย
นอกจากนั้น งานวิจัยดังกล่าวยังพบว่า เด็กปฐมวัยที่ได้รับกระบวนการเรียนรู้ผ่าน Play-based Learning จะมีผลลัพธ์ทางการศึกษาสูงกว่า มีความสนใจใคร่รู้มากกว่าเด็กกลุ่มที่เรียนรู้ผ่าน direct-instruction approach ซึ่งมีประสบการณ์เชิงลบมากกว่า ทั้งความเครียด ไร้แรงบันดาลใจในการเรียนและตามมาด้วยปัญหาพฤติกรรมต่างๆ
“งานวิจัยของเราสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า เด็กช่วงวัยนี้ยังไม่พร้อมที่จะได้รับการเรียนการสอนทางวิชาการอย่างเป็นแบบแผน” มอร์ริสซีย์ย้ำ
STEM Education ย่อมาจาก Science Technology Engineering and Mathematics Education คือ แนวทางการจัดการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์มาประยุกต์และแก้ไขปัญหาในชีวิตจริง โดย STEM ถูกพูดถึงครั้งแรกโดยสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (the National Science Foundation: NSF)
หากอธิบายให้ง่ายที่สุดว่าทักษะ STEM คืออะไรกันแน่ STEMคือการนำทั้ง 4 องค์ความรู้ดังกล่าวมาบูรณาการเพื่อพัฒนาทักษะการคิด ตั้งคำถาม แก้ไขปัญหา ค้นหาคำตอบ วิเคราะห์ข้อมูลและประมวลผลออกมาอย่างเป็นระบบที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ซึ่ง STEM สามารถสอนได้เลย แม้ว่าเด็กๆ จะยังอ่านหนังสือไม่ออกก็ตาม
เพราะยิ่งมีประสบการณ์ทักษะ STEM เร็วเท่าไร ก็ยิ่งส่งผลดีต่อระบบความคิดของพวกเขาเมื่อโตขึ้น
5 วิธีง่ายแสนง่ายที่ผู้ปกครองสามารถสอนทักษะ STEM ให้กับเด็กๆ ได้ในทุกโอกาสและทุกเวลาอย่างถูกต้อง เพื่อให้เด็กเกิดพัฒนาการรอบด้านอย่างครบถ้วนพร้อมรับมือกับอนาคตข้างหน้า
ความจริงแล้ว เด็กๆ มีสายตาช่างสังเกตมากกว่าผู้ใหญ่อยู่แล้ว โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่เหนื่อยล้าจากความคิดที่ว้าวุ่นจากการทำงานหรืออะไรก็ตาม จนเผลอละเลยบางอย่างไป การฝึกทักษะช่างสังเกตสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ และทันที โดยให้เด็กรู้จักสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น วันนี้อากาศเป็นอย่างไร แตกต่างกับเมื่อวานไหม หรืออะไรก็ตามที่ใกล้ตัวคุณและลูก
เมื่อหัดให้เด็กสังเกตอยู่เป็นประจำ พวกเขาจะเปลี่ยนจากแค่สังเกต (noticing) มาเป็นการสังเกตการณ์ (observing) อย่างละเอียด เพราะการสังเกตการณ์เป็นหนึ่งวิธีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ จากการมีสมมุติฐานไว้ในใจแล้วเก็บรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการสังเกตอย่างเป็นระบบ
ระหว่างที่พวกเขากำลังจดจ่อกับการเล่นหรือดูอะไรบ้างอย่างอยู่ ลองให้พวกเขาอธิบายคุณลักษณะสิ่งของที่อยู่ตรงหน้าหรือบรรยายกิจกรรมที่พวกเขาทำอยู่ เช่น แก้วน้ำบนโต๊ะรูปร่างเป็นอย่างไร สีอะไร เล็กหรือใหญ่ จากนั้นอาจกล่าวซ้ำในประโยคเดิมที่เด็กๆ พูดโดยการเพิ่มคำศัพท์หรือคุณศัพท์เข้าไปโดยใช้ภาษา STEM กล่าวคือศัพท์จำพวกการคาดการณ์ (predict) ทดลอง (experiment) และประเมินผล (measure) เป็นต้น
เพราะเด็กที่มีการใช้/การรู้ภาษาหรือการได้มาซึ่งภาษา (language socialisation) อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้เขามีทักษะการใช้ภาษาที่ดีขึ้นทั้งเรื่องเสียงและโครงสร้างไวยากรณ์ รวมถึงมีแนวโน้มว่าเมื่อพวกเขาโตขึ้นเขาอาจเลือกเรียนหรือศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับ STEM ในอนาคต
เพราะการถามว่า ‘ทำไม’ นั้นเป็นการกดทับความมั่นใจในตัวเองของเด็กให้หายไป แต่การถามว่า ‘อะไร’ จะช่วยให้เด็กรู้สึกมั่นใจที่จะตอบมากกว่า ทั้งยังเป็นการส่งเสริมสายสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ใหญ่ เพราะสิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือ การสร้างบทสนทนาที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ได้ใช้ความคิด ไม่ใช่การตัดบทสนทนา ชัตดาวน์คำถามที่ผู้ใหญ่ตอบไม่ได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าถามว่า ‘ทำไม’ ไม่ได้ แต่ก่อนอื่น ควรเริ่มต้นจากการถามว่า ‘อะไร’ กล่าวคือ ถามคำถามที่เด็กสามารถตอบได้ก่อน จากนั้นค่อยไต่ระดับให้ยากขึ้น
One-to-One Correspondence คือพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย กล่าวคือ การจับคู่ตัวเลขให้สัมพันธ์กับจำนวน เช่น เลขหนึ่งเท่ากับจำนวนสิ่งของหนึ่งอย่าง เลขสองเท่ากับจำนวนสิ่งของสองอย่าง ไล่ไปเรื่อยๆ โดยผู้ปกครองสามารถสอนทักษะคณิตศาสตร์นี้ได้ง่ายๆ เช่น ให้เด็กจัดแก้วบนโต๊ะอาหารให้ตรงจำนวนกับคนจะรับประทานมื้อเย็น นับว่าจดหมายในตู้ไปรษณีย์มีกี่ซอง หรือให้หยิบไข่สองฟองสำหรับทำอาหาร เป็นต้น
ให้ง่ายกว่านั้นและสนุกกว่านั้นคือ การเล่นบอร์ดเกม การทอยลูกเต๋าและเดินให้ตรงจำนวนกับที่ทอยก็ช่วยเสริมสร้างทักษะดังกล่าวเช่นกัน ว่าแล้วก็ปัดฝุ่นเกมเศรษฐีมาลองเล่นกับพวกเขาดูไหม
มีการยืนยันชัดเจนว่า การที่เด็กมีความสามารถคิดอย่างมีมิติสัมพันธ์ (spatial skill) นั้นเชื่อมโยงกับ STEM เนื่องจากความสามารถคิดอย่างมีมิติสัมพันธ์นั้นนำไปสู่การสร้างสรรค์และการเชื่อมโยงไปสู่ความรู้ต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เช่น การเปรียบเทียบ หรือ การสังเกต เป็นต้น
เริ่มอย่างง่ายๆ เลย ให้เด็กเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทุกสิ่งที่เขารับรู้ ดังนั้นรอบตัวเด็กก็จะเป็นตำแหน่งหน้า หลัง ซ้าย ขวา โดยลองให้เขาอธิบายว่าสิ่งรอบตัวเขามีอะไรบ้าง ไม่ว่าตรงนั้นจะว่างเปล่า เป็นสถานที่ เวลาหรือสิ่งของต่างๆ และสิ่งเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร เช่น สมมุติว่าดูแผนที่สวนสัตว์ อาจให้เขาลองหาว่าตัวเขาตอนนี้อยู่ที่ไหน สิงโตอยู่ตรงไหน หรือ สมุมติว่ากำลังเดินทางไปสถานที่ใดที่หนึ่ง เช่น โรงเรียน ให้เขาลองอธิบายว่าจากบ้านไปโรงเรียนต้องผ่านอะไรบ้าง เขาเห็นอะไรบ้าง
‘Why Students Cheat and What to Do About It’
แปลตรงตัวว่า “ทำไมนักเรียนจึงโกง (ทั้งข้อสอบและการบ้าน) และเราจะทำอะไรได้บ้าง” คือชื่อบทความ ที่ใช้เทคนิคการพาดหัวเพื่อดึงดูดใจชั้นสูง โดย แอนดรูว์ ซิมมอนส์ (Andrew Simmons) ครูโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในอังกฤษ และคอลัมนิสต์ประเด็นการศึกษาให้กับสำนักข่าวชั้นนำในประเทศชั้นนำหลายหัว
ซิมมอนส์ไม่ได้เล่าว่าเขาเป็นครูมากี่ปี ต้อง ‘ดีล’ กับการลอกข้อสอบ หรือการขโมยความคิดหรือคัดลอกบทความของคนอื่น (plagiarize) มากี่ครั้ง แต่เล่าว่า เพราะอยากสำรวจเหตุผลทางจิตวิทยา และแรงจูงใจที่ทำให้เด็กๆ โกง ทั้งข้อสอบและการลอกการบ้าน ซิมมอนส์จึงลงมือสำรวจแบ่งวิธีทำงานเป็นสองวิธีใหญ่ คือ
ในข้อแรก เขาให้ตัวอย่างคำตอบตรงไปตรงมาจากแบบสำรวจของเขาชิ้นหนึ่งว่า “ฉันต้องการเกรดที่ดี แต่ไม่ได้ต้องการทำงานหนักขนาดนั้น”
อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นคำตอบสุดโต่งจากอดีตเด็กนักเรียนที่ไม่เปิดเผยชื่อคนหนึ่ง แต่แน่นอนว่าเหตุผลทางจิตวิทยาในการโกงไม่ได้ตรงไปตรงมาขนาดนั้น เมื่อซิมมอนส์นำคำตอบอันหลากหลายที่ได้จากอดีตนักเรียนจำนวนมากของเขา ประกบกับข้อมูลทางจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์สมองวัยรุ่น คำตอบแบบรวบรัดแบ่งออกเป็น 4 ข้อใหญ่ๆ ก็คือ
ก่อนจะว่าด้วยเรื่อง ‘ทำไมพวกเขาจึงโกง’ ซิมมอนส์ยกตัวเลขเพื่อชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมการโกงเป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นประสบการณ์ร่วมของวัยรุ่นขนาดไหน
งานวิจัยปี 2012 จากสถาบันด้านจริยศาสตร์โจเซฟสัน (Josephson Institute) ระบุว่า ครึ่งหนึ่งของเด็กๆ มัธยมปลายยอมรับว่าพวกเขาเคยโกงข้อสอบ ขณะที่อีก 74 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าพวกเขาเคยลอกการบ้านเพื่อน
นอกจากนี้ยังเป็นแบบสำรวจในปี 2002 และปี 2015 โดย โดนัลด์ แมคเคบ (Donald McCabe) ศาสตราจารย์หลักสูตรธุรกิจ ประจำมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส (Rutgers University) วิจัยร่วมกับสถาบันนานาชาติเรื่องความซื่อสัตย์ (The International Center for Academic Integrity) ได้ผลลัพธ์ตามตารางข้างล่าง
เรียนจบแล้ว 17,000 คน | นักศึกษาปริญญาตรี 71,300 คน | |
ยอมรับว่าเคยโกงข้อสอบ | 17% | 39% |
ยอมรับว่าเคยโกงตอนทำการบ้าน | 40% | 62% |
คนที่ยอบรับว่าเคยโกงข้อสอบและการบ้าน | 43% | 68% |
ซิมมอนส์อ้างถึงบทวิเคราะห์ของ เดวิด เรททิงเจอร์ (David Rettinger) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยแมรี วอชิงตัน (University of Mary Washington) และกรรมการบริหารศูนย์ให้บริการนักศึกษา Center for Honor, Leadership and Service ที่มหาวิทยาลัยดังกล่าว
เรททิงเจอร์อธิบายว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า
เด็กๆ รู้ว่าการโกงนั้นผิด แต่พวกเขามีเหตุผลและขอบเขตในการโกง ลิมิตของการโกงจะจำกัด เท่าที่ยังทำให้พวกเขาเคารพตัวเองได้ ยังบอกตัวเองได้ว่าเขาก็ยังเป็นคนที่ซื่อสัตย์อยู่
ซิมมอนส์สรุปงานวิจัยของทั้งเรททิงเจอร์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องอื่น และจากแบบสอบถามจากอดีตนักเรียนของเขา พบข้อสังเกตอีกประการว่า เด็กๆ จะโกง ก็ต่อเมื่อเขามีเหตุผลให้เชื่อได้ว่ามันเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผล หรือเป็นไปอย่างชอบธรรม เช่น เมื่ออาจารย์คนนั้นสอนแบบเลคเชอร์อย่างเดียว เมื่อส่งงานไปแล้วนักเรียนไม่ได้ฟีดแบ็คหรือคอมเมนต์จากอาจารย์ท่านนั้น แปลว่านักเรียนไม่ได้รับอนุญาตหรือมีช่องทางให้คัดค้านหรือสอบถามอะไรเลย
“มันไม่ใช่ (การบ้าน) แบบคิดวิเคราะห์ และครูก็เหมือนจะสั่งการบ้านไปตามหลักสูตร”
“(ข้อสอบ) ตั้งคำถามกับคุณทั้งที่บทเรียนนั้นไม่เคยถูกพูดถึงในห้องเรียน และถ้าคุณสอบตก นั่นแปลว่ามันจะยากยิ่งกว่าที่จะแก้ให้ผ่านในรอบถัดไป” คือความเห็นของนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์คนหนึ่งในแบบสอบถามของซิมมอนส์
งานวิจัยปี 2017 เรื่อง Praising Young Children for Being Smart Promotes Cheating ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ SAGE Journals และแม้ชื่อเรื่องจะแปลเป็นไทยว่า ‘ยกย่องชื่นชมเด็กๆ เมื่อโกงอย่างฉลาด’ แต่เนื้อในของงานวิจัยพูดถึง การเลี้ยงลูกให้มีค่านิยมความฉลาด พูดชมความฉลาด ไม่ได้พูดชมหรือให้ความสำคัญเรื่องความพยายาม การเลี้ยงแบบนี้ทำให้เด็กมีแนวโน้มที่จะโกงมากขึ้น เพราะบนไหล่บ่าของพวกเขามีแต่ความคาดหวังที่สูงส่งจากผู้ปกครอง
(อ่านต่อ ‘คำพูดแบบไหนที่ทำร้ายทำลายความฉลาดของลูก’)
ซิมมอนส์อ้างถึงงานวิจัยเรื่อง Adolescents’ Risk-taking Behavior is Driven by Tolerance to Ambiguity (พฤติกรรมเสี่ยงในวัยรุ่น ขับเคลื่อนจากความดื้อดึงถึงความกำกวม (จากสถานการณ์เฉพาะหน้า-ผู้เขียน) ในวารสารวิชาการ PNAS ในปี 2012 ว่าด้วยเรื่อง…
พอพูดถึง ‘การบริหารจัดการความเสี่ยงในวัยรุ่น’ พวกเขาจะรู้สึกมั่นใจมากๆ ที่จะลงทุนกับความเสี่ยงนั้นๆ พูดให้ง่าย (ทำไมไม่พูดให้ง่ายตั้งแต่ทีแรก) พัฒนาการทางสมองและฮอร์โมนเพศของวัยรุ่นโดยเฉพาะช่วง 12-18 โดยเฉพาะช่วง 15 (แล้วแต่ตำราและเรื่องเพศ) พวกเขาจะชอบความเสี่ยง และอ่อนไหวต่อความกดดันจากเพื่อน
ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการโกงหรือลอกการบ้าน/ข้อสอบ พวกเขาก็ต่อต้านโลก ไม่จริงจังกับกฎระเบียบ และโอเคกับความยุ่งเหยิงเล็กๆ ของชีวิต และพวกเขาเชื่อว่าทุกความเสี่ยง พวกเขา ‘เอาอยู่’
มองความโกงให้ลึกลงไปกว่านั้น มันไม่ใช่แค่การทำคะแนนเพื่อให้ได้เกรดสวยๆ แต่มันคือบททดสอบของมิตรภาพ หรือบททดสอบการเป็นวัยรุ่นที่กล้าหาญ – ในนิยามว่า ความกล้าเผชิญหน้ากับความเสี่ยงสักอย่างหนึ่ง – ซึ่งในสังคมวัยรุ่น ยอมรับพฤติกรรมเหล่านี้
งานวิจัยปี 1959-2002 ในกลุ่มนักเรียนเตรียมทหาร (military academy students) ระบุว่า การปฏิเสธการโกงในกลุ่มนักเรียนทหารเป็นเรื่องยากมาก
เป็นความกดดันจากเพื่อน (peer pressure) และกลัวว่า ถ้าไม่ทำ ไม่ปิดตาข้างหนึ่ง หรือเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเหลือให้การโกงสำเร็จ ก็จะอยู่ในสังคมไม่ได้
แบบสำรวจความเห็นของซิมมอนส์ใบหนึ่งระบุว่า เขาไม่ได้อยากช่วยเพื่อนในห้องโกงข้อสอบ แต่ก็ไม่กล้าปฏิเสธ และเมื่อมันเกิดขึ้นหนึ่งครั้ง ครั้งต่อไปก็ไม่อาจควบคุมได้
(อ่านต่อ: รู้ทันอาการโกรธโลก ผ่านการทำงานสมองวัยรุ่น)
งานวิจัยปี 2015 เรื่อง How Students Use Technology to Cheat and What Faculty Can Do About It (การใช้เทคโนโยลีเพื่อการโกง และคณะ (ในมหาวิทยาลัย) จะทำอะไรได้บ้าง) ตีพิมพ์ใน ISEDJ วารสารวิชาการด้านการศึกษา ระบุว่า การโกงในศตวรรษนี้ซึ่งมีอาวุธคือโซเชียลมีเดีย และเสิร์ชเอนจิ้นในมือ ทำให้การโกงในห้องเรียนง่ายขึ้น สะดวกขึ้น และยากที่จะถูกจับได้มากกว่าแต่ก่อน
ลิซ รัฟ (Liz Ruff) ครูประจำวิชาภาษาอังกฤษโรงเรียนมัธยมปลายการ์ฟีลด์ (Garfield High School) ในลอสแองเจลิส ให้ความเห็นว่า วัฒนธรรมในโลกโซเชียล เช่น การรีโพสต์รูป การทำมีม (memes) การดูคลิปวิดีโอล้อเลียนคนอื่น ทั้งหมดนี้ให้มุมมองต่อความเป็นเจ้าของ ดูคลุมเครือ จึงเป็นเหตุผลว่า เวลาที่เขาคัดลอกบทความจากอินเทอร์เน็ต พวกเขาไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องผิด
แนวคิดนี้คล้ายกับงานวิจัยของ โดนัลด์ แมคเคบ จากมหาวิทยาลัยรัทเกอร์ส ในปี 2012 พบว่า กว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนที่แมคเคบทำสำรวจ เด็กๆ คิดว่าการคัดลอกข้อความในอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่รู้สึกว่านี่คือการโกงแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าการโกงเป็นเรื่องยอมรับได้ แต่เพื่อไม่ให้จับนักเรียนไปขึงประจานแล้วก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร การโกงยังเกิดซ้ำเพราะคนแก้ปัญหาไม่เข้าใจเหตุผลทางจิตวิทยาแห่งการโกง