- สภาพแวดล้อมในห้องเรียน มีผลต่อการเรียนรู้และความก้าวหน้าทางวิชาการของเด็กถึง 25 เปอร์เซ็นต์ การออกแบบห้องเรียนที่ดีจะช่วยกระตุ้นผลการเรียนของนักเรียนในระดับประถมศึกษา ทั้งทักษะด้านการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์
- ความเครียดของเด็กไม่ใช่เพราะถูกดุ แต่มันปนไปมากับความเครียดที่เกิดจากความไม่เรียบร้อยของสภาพแวดล้อมในห้องด้วย
- คีย์เวิร์ดสำคัญปรับห้องเรียน คือ ธรรมชาติ ความเป็นเจ้าของ ความเป็นระเบียบ และ ประโยชน์ใช้สอย
- โรงเรียนงบน้อยอาจกังวล แต่คีย์เวิร์ดของสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่เกี่ยวกับขนาดห้อง เทคโนโลยี และงบประมาณ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การที่นักเรียนและครูได้ออกแบบและใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ห้องเรียนที่มีอยู่
“ยิ่งใช้สมองมาก ความยืดหยุ่นของสมองยิ่งมีมาก” เป็นคำการันตีจากงานวิจัยทางสมองซึ่งเข้ามาแทนที่ความเข้าใจเดิมที่เคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ ว่า “ยิ่งอายุมากขึ้น สมองจะยิ่งเสื่อมถอย”
Neuroplasticity หรือ ความยืดหยุ่นของสมอง เป็นคำที่ใช้อธิบายศักยภาพของสมอง เพื่อบอกว่าสมองคนเราสามารถปรับเปลี่ยนการเชื่อมโยงของเส้นประสาทในสมองได้ตลอดชีวิต นั่นหมายความว่า สมองเรานั้นพัฒนาให้ดีขึ้นได้ไม่จำกัดช่วงวัย เพราะสมองจะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงตามประสบการณ์ที่รับรู้ และพัฒนาศักยภาพได้จากการฝึกฝนหรือทำซ้ำๆ จนเกิดความช่ำชอง
‘สภาพแวดล้อมรอบตัว’ ที่เราคลุกคลีอยู่เป็นประจำจึงเป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์ใกล้ตัว ที่สมองจะรับรู้ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงทีที่สุด จุดนี้หากนำมาเชื่อมโยงกับเรื่องของการศึกษา สภาพแวดล้อมและบรรยากาศในห้องเรียน จึงมีผลต่อการเรียนรู้ของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งกับเด็กปฐมวัยที่สมองกำลังอยู่ในขั้นพัฒนาด้วยแล้วยิ่งเป็นสิ่งที่ครูและโรงเรียนควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ แต่นักเรียนในช่วงวัยอื่นก็ไม่ต้องน้อยใจ ถ้าลองได้อยู่ในห้องเรียนหรือสภาพแวดล้อมที่ดีแล้ว สมองจะถูกกระตุ้นให้มีความครีเอทีฟพุ่งปรี๊ดได้ไม่แพ้กัน
ลองนึกภาพห้องเรียนรกๆ หนังสือบนชั้นวางเกะกะไม่เป็นระเบียบ อุปกรณ์การเรียนมีครบบ้างไม่ครบบ้างจะใช้ทีก็หาไม่เจอ หรือฝาผนังห้องเรียนที่ว่างเปล่าขาวโล่งไปหมด ไม่ก็เต็มไปด้วยบอร์ดติดชิ้นงานที่ติดๆ ไว้ไร้ทิศทางจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
คุณคิดว่า…นักเรียนจะเรียนรู้ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ได้ดีแค่ไหน?
หรือถามใหม่
“จะดีเหรอ…ถ้าให้ลูกหลานของเราเรียนอยู่ในห้องเรียนแบบนี้?”
ผลการศึกษาล่าสุดตีพิมพ์ใน Clever Classrooms ปี 2015 จาก มหาวิทยาลัยแซลฟอร์ด (University of Salford) ประเทศอังกฤษ ชี้ให้เห็นว่า ห้องเรียนที่ได้รับการออกแบบมาอย่างดี ส่งผลต่อการเรียนรู้อย่างเต็มศักยภาพของเด็ก เพราะสภาพแวดล้อมในห้องเรียน มีผลต่อการเรียนรู้และความก้าวหน้าทางวิชาการของเด็กถึง 25 เปอร์เซ็นต์ โดยการออกแบบห้องเรียนที่ดีจะช่วยกระตุ้นผลการเรียนของนักเรียนในระดับประถมศึกษา ทั้งทักษะด้านการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์
จากการเก็บข้อมูลนักเรียน 3,766 คน ตลอดระยะเวลากว่า 1 ปี ด้วยการทดลองเปลี่ยนนักเรียนที่เรียนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไปเรียนในห้องเรียนที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า ผลปรากฏว่าผลการเรียนของนักเรียนดีขึ้นถึง 16 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าความแตกต่างของลักษณะทางกายภาพในห้องเรียนมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเรียนรู้ของนักเรียน
ห้องเรียนเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้
toxic stress เป็น ‘ความเครียด’ ที่เกิดจากความไม่เป็นระเบียบ ห้องเรียนรกๆ คือตัวอย่างที่ดีของความไม่เป็นระเบียบแบบ toxic stress อย่างที่ว่านี้ หลายๆ ครั้งที่เด็กไม่ตั้งใจเรียนหรือไม่อยากมาโรงเรียนอาจไม่ได้เกิดขึ้นจากความขี้เกียจ หรือเพราะกลัวครูดุด่าอย่างที่ผู้ใหญ่เข้าใจเสมอไป
แต่เป็นความเครียดที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวจากความไม่เป็นระเบียบหรือจากห้องเรียนที่ขาดความน่าสนใจและขาดแรงดึงดูด สิ่งนี้ทำให้เด็กไม่มีกำลังใจในการเรียน ท้ายที่สุดแล้ว toxic stress จะทำให้เซลล์สมองของเด็กขาดความยืดหยุ่นและตายลงอย่างช้าๆ
งานวิจัย บอกว่า พฤติกรรมเชิงลบและสภาวะไร้ระเบียบไม่ได้ติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด แต่หล่อหลอมมาจากสิ่งแวดล้อม การทำห้องเรียนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยจากความเครียดและความรุนแรงจึงเป็นบทบาทสำคัญของครู แต่ต้องให้อยู่ในระดับพอดีที่ไม่ทำให้เด็กรู้สึกสบายจนเกินไป เปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือว่า หากสมองมีความเครียดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง จากการเรียนรู้หรือจากการใช้ชีวิตที่ต้องคิดและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เมื่อนั้นสมองจะมีพลังและเปิดรับการเรียนรู้อย่างเต็มที่
แต่หากครูหรือผู้ปกครองเอาอกเอาใจ และอำนวยความสะดวกให้เด็กใช้ชีวิตสบายจนเกินพอดี ด้วยการจัดหาทุกอย่างมาเสิร์ฟให้ทั้งหมด ไม่ปล่อยให้เด็กต่อสู้กับปัญหารอบตัว สมองของเด็กจะไม่พัฒนา พูดง่ายๆ ก็คือว่า ‘สมองจะโง่ลงเรื่อยๆ’ ในที่สุดสมองที่ไม่ได้พัฒนาทักษะการคิด และไม่ได้เรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตจะส่งผลต่อการแสดงออกทางพฤติกรรมของเด็กในเชิงลบ ทำให้เด็กไร้วินัย มีนิสัยก้าวร้าว อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย โดยเฉพาะในวัยรุ่น ที่อาจกลายเป็นเด็กไม่เอาถ่านในที่สุด สรุปแล้วสมองจะฉลาดขึ้นได้ต่อเมื่อมีความเครียดในระดับที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา เชื่อมโยงกับการออกแบบห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ที่ไม่ควรว่างเปล่าแต่ก็ไม่ควรรกจนเกินพอดี
อะไรคือสภาพแวดล้อมในห้องเรียน?
แล้ว สภาพแวดล้อมในห้องเรียน ที่ว่า…หมายถึงอะไรได้บ้าง?
ทรูดี ลอว์เรนซ์ (Trudie Lawrence) นักออกแบบตกแต่งภายในจากสถาบัน Envoplan ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ห้องเรียนที่ได้รับการออกแบบอย่างดีมีส่วนสำคัญมากต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียน โดยห้องเรียนที่ดีควรเป็นห้องเรียนที่ส่งเสริมทั้งวิธีการสอนของครู (teaching methods) และ รูปแบบการเรียนรู้ของนักเรียน (learning styles) เป็นการสร้างประสบการณ์การเรียนการสอนที่ช่วยเติมเต็มทั้งผู้สอนและผู้เรียน
ลอว์เรนซ์ เล่าว่า ห้องเรียนทั่วไปมักจัดวางข้าวของระเกะระกะเสียจนทำให้ห้องเรียนดูแคบ แล้วจะเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมากเมื่อหลายคนได้เห็นว่า การเปลี่ยนพื้นที่วางสิ่งของ (layout) การปรับอุณหภูมิในห้องเรียน (temperature) และการเตรียมพื้นที่ไว้สำหรับเก็บข้าวของ (storage) ให้เป็นระเบียบสามารถเปลี่ยนบรรยากาศภายในห้องเรียนได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ นอกจากนี้ครูควรใช้พื้นที่ทุกส่วนในห้องเรียนเข้าไปพูดคุยใกล้ชิดกับนักเรียนแทนการยืนสอนอยู่หน้าชั้นเรียนแค่เพียงอย่างเดียว
นอกจากงานวิจัยของ ลอว์เรนซ์แล้ว ผลการวิจัยใน Clever Classrooms สรุป 3 คาแรคเตอร์สำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการออกแบบห้องเรียนซึ่งจะช่วยออกแบบให้สมองมีความยืดหยุ่นตามมา ประกอบด้วย ความเป็นธรรมชาติ (naturalness) ความเป็นปัจเจก (individualisation) และ สิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น (stimulation)
- ความเป็นธรรมชาติ: แสง (light) อุณหภูมิ (temperature) และ คุณภาพอากาศ (air quality)
- ความเป็นปัจเจก: ความเป็นเจ้าของ (ownership) และความยืดหยุ่น (flexibility)
- สิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น: ความเป็นระเบียบและประโยชน์ใช้สอยในห้องเรียน (complexity) และ สี (colour)
หากปรับเปลี่ยนได้ การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ เช่น การเก็บของให้เป็นระเบียบ การปรับผังห้องเรียนใหม่ และการตกแต่งบอร์ดภายในห้องเรียนให้ดึงดูดน่าสนใจ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงได้
จุดนี้เองที่ Neuroplasticity หรือ ความยืดหยุ่นของสมอง เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง เพราะความยืดหยุ่นของสมองจะทำงานเชื่อมต่อกับ ระบบลิมบิค (Limbic System) ซึ่งประกอบด้วย อะมิกดะลา (Amygdala) สมองส่วนรับรู้และควบคุมอารมณ์ความรู้สึก และ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) สมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำและการสร้างความจำระยะยาว การทำงานของสมองทั้งสองส่วนนี้จะเป็นตัวกำหนดการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก และการเรียนรู้ทางสมองของแต่ละคน
ครูจึงควรแปลงโฉมห้องเรียนให้เป็นเครื่องมือชิ้นสำคัญในการสร้างการเรียนรู้แก่นักเรียน เพราะหากครูสามารถออกแบบห้องเรียนได้ดี สภาพแวดล้อมและบรรยากาศการเรียนที่เหมาะสม จะช่วยให้การทำงานของระบบลิมบิคเป็นไปในทางบวกมากกว่าทางลบ เด็กจะควบคุมอารมณ์และจัดการตัวเองให้มีระเบียบวินัยได้ แล้วยังเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีขึ้นด้วย
ห้องเรียนฉลาด (Clever Classrooms)
รายงานผลการศึกษา Clever Classrooms จากโครงการ HEAD (Holistic Evidence and Design) มหาวิทยาลัยแซลฟอร์ด (University of Salford) เก็บรวบรวมข้อมูล 153 ห้องเรียน จาก 27 โรงเรียนในช่วงสามปีที่ผ่านมาแล้วนำมาวิเคราะห์เป็นสถิติ โดยนำปัจจัยเกี่ยวข้องทั้งเรื่องผัสสะและแบบจำลองทางสถิติหลากหลายระดับมาใช้อย่างรัดกุม ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลการวิจัยนี้สื่อสารถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวนักเรียนที่เป็นผลจากการออกแบบห้องเรียนใหม่ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ
สิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อเอ่ยถึงสามคาแรคเตอร์สำคัญที่ช่วยสร้างห้องเรียนแห่งการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น ความเป็นธรรมชาติ (naturalness) ความเป็นปัจเจก (individualisation) และ สิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น (stimulation) จากภาพแสดงให้เห็นว่ารายละเอียดปลีกย่อยแต่ละส่วนล้วนมีผลต่อการสร้างการเรียนรู้ในห้องเรียนในสัดส่วนที่แพ้กันไม่ลง ความเป็นธรรมชาติ (แสง, อุณหภูมิ และคุณภาพอากาศ) ส่งผลกระทบรวมกันถึง 49 เปอร์เซ็นต์ ส่วนความเป็นปัจเจก (ความเป็นเจ้าของและความยืดหยุ่น) มีผลประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ และสิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น (ความเป็นระเบียบและประโยชน์ใช้สอยในห้องเรียน และสี) มีผลประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์
สอดคล้องกับ การจัดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน หรือ BBL (Brain-based Learning) แนวคิดของนักประสาทวิทยาที่นำความรู้ความเข้าใจด้านสมองมาใช้เป็นเครื่องมือออกแบบการเรียนการสอน หลายอย่างเป็นข้อเท็จจริงใหม่ที่เพิ่งค้นพบซึ่งเป็นผลมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เช่น ความเข้าใจเดิมที่ว่า สมองพัฒนาไม่ได้และเมื่อโตขึ้นสมองจะหยุดพัฒนา ปัจจุบันเมื่อใช้เทคโนโลยีเข้ามาตรวจสอบการทำงานของสมองข้อค้นพบเกี่ยวกับความยืดหยุ่นของสมองก็ได้เข้ามาหักล้างความเข้าใจดังกล่าวออกไป
หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของ BBL คือ สมองเรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว โดยเฉพาะการจดจำจากสิ่งที่มองเห็น จึงไม่น่าแปลกใจที่สภาพแวดล้อมในห้องเรียนจะมีความสำคัญต่อการสร้างความยืดหยุ่นในสมองของเด็กในระยะยาว
ห้องเรียนที่ดีควรเป็นแบบไหน?
เมื่อพูดถึงการออกแบบห้องเรียน เราอาจกังวลถึงขนาดของห้องก่อน แล้วคิดไปถึงงบประมาณที่จะต้องใช้ลงทุน ทั้งการรีโนเวท การจัดหาสื่อเทคโนโลยี ดูๆ แล้วอาจต้องใช้เงินลงทุนเยอะกว่าจะเห็นผลลัพธ์ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เปลี่ยนไป สู้หันไปใส่ใจเรื่องการเรียนการสอนคงจะดีกว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การออกแบบห้องเรียนเป็นสิ่งที่โดนละเลย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ผลการศึกษาที่เอ่ยไปแล้วทั้งหมดก่อนหน้านี้ บอกอย่างชัดเจนว่า
ขนาดห้อง เทคโนโลยี และงบประมาณ แทบไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การที่นักเรียนและครูได้ออกแบบและใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ห้องเรียนที่มีอยู่
ศาสตราจารย์ปีเตอร์ บาร์เรต (Peter Barrett) หนึ่งในทีมวิจัย Clever Classrooms กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า
“เราไม่ได้พูดถึงการลงทุนจำนวนมหาศาลของโรงเรียนหรือหน่วยงานท้องถิ่น ในทางกลับกันเรากำลังพูดถึงทางเลือกที่เรียบง่ายในการใช้ห้องเรียน และทางเลือกในการตัดสินใจสำหรับอนาคตหากจะต้องสร้างโรงเรียนขึ้นมาอีก”
ด้วยเหตุนี้ ห้องเรียนที่ดีควรถูกออกแบบให้คำนึงถึง
ความเป็นธรรมชาติ
มีแสงสว่างจากธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาใช้ร่วมกับหลอดไฟ มีประตูหน้าต่างที่ทำให้อากาศถ่ายเทสะดวก และตู้ชั้นวางของไม่ควรนำมาวางปิดบังหน้าต่าง หน้าต่างควรเป็นพื้นที่ที่สามารถมองออกไปเห็นทัศนียภาพภายนอกห้องเรียนได้
ความเป็นปัจเจก
การสร้างความยืดหยุ่น (flexibility) ให้ห้องเรียน ด้วยการแบ่งซอยพื้นที่ใช้สอย เช่น พื้นที่พัก
(breakout space) ควรมีพื้นที่พักหรือพื้นที่เอกเขนกเป็นส่วนหนึ่งภายในห้องเรียน ไม่ควรแยกออกไปอยู่ตรงทางเดินหรืออยู่ในส่วนที่ปิดกั้นไปจากห้องเรียนหลัก พื้นที่ส่วนนี้สามารถใช้ทำกิจกรรมกลุ่มย่อยหรือเป็นพื้นที่ให้นักเรียนแบ่งกลุ่มแยกย้ายกันไปทำงานที่ได้รับมอบหมายได้
พื้นที่เก็บของ (storage) เรามักเห็นห้องเรียนที่เต็มไปด้วยตู้เก็บของแต่ข้าวของกลับไม่เคยอยู่ในตู้ ของส่วนใหญ่ถูกวางกระจัดกระจายบนตู้บ้าง ในกล่องในลังบ้าง ห้องเรียนที่ดีควรเป็นห้องเรียนที่ดูโล่งสบายตา ถ้าห้องเรียนไม่กว้างพอตู้เก็บของอาจวางแทนที่ไว้ตรงทางเดินหากยังพอทำให้เดินไปมาได้ แล้วต้องมั่นใจว่าสิ่งของต่างๆ ถูกเก็บไว้ในตู้อย่างเหมาะสมและเป็นระเบียบแทนการวางระเกะระกะอยู่ภายนอก
นอกจากนี้ การสร้างความเป็นเจ้าของ (ownership) ให้นักเรียนรู้สึกผูกพันกับห้องเรียน ด้วยการใช้พื้นที่ฝาผนังสักด้านหนึ่งให้นักเรียนช่วยกันวาดงานศิลปะลงไป การติดผลงานของนักเรียนภายในห้องเรียนหรือการมีชั้นเก็บของ และมีข้าวของเครื่องใช้ที่มีชื่อของตัวเองแปะติดอยู่ก็ช่วยได้
สิ่งเร้าหรือสิ่งกระตุ้น
การจัดตกแต่งบอร์ดภายในห้องเรียนไม่ควรมีสีสันฉูดฉาดเกินไป ให้คำนึงถึงภาพรวมของห้องเรียนทั้งหมด ไม่โฟกัสไปเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง ข้อควรจำคือ การใช้สีโทนเดียวกันทั้งหมดจะทำให้บรรยากาศน่าเบื่อชวนง่วงนอน ดังนั้น ภาพรวมของห้องเรียนควรมีสีที่มีความสว่างมากและน้อยผสมผสานกันไป
ห้องเรียนรกๆ หนังสือบนชั้นวางเกะกะไม่เป็นระเบียบ อุปกรณ์การเรียนมีครบบ้างไม่ครบบ้างจะใช้ทีก็หาไม่เจอ หรือฝาผนังห้องเรียนที่ว่างเปล่าขาวโล่งไปหมดไม่ก็เต็มไปด้วยบอร์ดติดชิ้นงานที่ติดๆ ไว้ไร้ทิศทางจนไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
บ่อยครั้งที่เรื่องใกล้ตัวเป็นสิ่งที่ถูกมองข้าม ‘สภาพแวดล้อมในห้องเรียน’ ก็เช่นกัน
สภาพแวดล้อมในห้องเรียน…เอ่ยถึงแวบแรกคล้ายสิ่งที่เป็น ‘นามธรรม’ แต่พอเจาะจงรายละเอียดลงไป การวางผังและตกแต่งห้องเรียน แสง อุณหภูมิ ตู้ ชั้น พื้นที่วางเก็บข้าวของ และอื่นๆ ทั้งหมดกลับเป็น ‘รูปธรรม’ ที่จับต้องและวัดได้ สิ่งนี้น่าจะยิ่งพิสูจน์คำพูดที่ว่า “การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แค่ในตำรา แต่สามารถเรียนรู้จากประสบการณ์และสิ่งรอบตัว”
การจัดการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมต้องใช้สมองเป็นฐานและสอดคล้องกับการทำงานของสมอง การออกแบบห้องเรียนที่ช่วยกระตุ้นและสร้างการรับรู้ในเชิงบวกให้สมองตั้งแต่ปฐมวัย การสร้างบรรยากาศการเรียนที่ผ่อนคลาย และมีลูกเล่นให้ครูได้หยิบใช้ระหว่างทำกิจกรรมในชั้นเรียนได้ จึงเป็นเหมือนเครื่องมือช่วยออกแบบสมองให้มีความยืดหยุ่น เป็นสมองที่พร้อมพัฒนาศักยภาพได้อย่างไม่มีวันหมดอายุ