เขาคือครูที่เคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ครูจึงมิใช่ ‘ผู้สอน’ หากแต่เป็น ‘ผู้ร่วมทาง’ ทั้งหมดนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าครูยังคิดแบบ ‘Fixed Mindset’ สำหรับครูวิเชียร การสอบเป็นเครื่องมือที่หยาบ เห็นตื้น เห็นไม่จริง ความฝันสูงสุดของผอ.คนนี้คือ เลิกทำโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา
เรื่อง: นิธิ นิธิวีรกุล/อาทิตย์ เคนมี
เส้นทางชีวิตและการเติบโตทางความคิดของครูวิเชียร ไชยบัง ผู้อำนวยการโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ สั่งสมบ่มเพาะจนเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ภายใน นำไปสู่การพัฒนาโรงเรียนต้นแบบที่ฉีกไปจากขนบแนวคิดแบบเดิมๆ ของระบบการศึกษาไทย
หลักคิดพื้นฐานของครูวิเชียรคือ การเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ โดยเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ เช่นนี้แล้ว ครูจึงมิใช่ ‘ผู้สอน’ หากแต่เป็น ‘ผู้ร่วมทาง’ ไปบนเรือลำเดียวกันกับผู้เรียน
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเป็นโรงเรียนต้นแบบที่พยายามสาธิตให้เห็นว่า โรงเรียนไม่ใช่กะลา การศึกษาไม่ใช่เรื่องของการท่องจำ การวัดประเมินผลไม่ใช่แค่ตัวเลขเกรดเฉลี่ยอันสวยหรู หรือตัดสินกันที่สอบได้หรือสอบตก แต่การศึกษาที่แท้คือกระบวนการพัฒนาตน ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง เผชิญปัญหา และค้นหาวิธีแก้ไขด้วยตัวของตัวเอง
ทั้งหมดนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ หากครูยังไม่สามารถข้ามพ้นจากกับดักความคิดแบบ ‘Fixed Mindset’
เราไม่อาจเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทยได้ กระทั่งไม่อาจเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของโลกทั้งใบ ตราบใดที่เรายังไม่สามารถเปลี่ยนโลกทัศน์ในดวงตา เพื่อก้าวไปสู่กรอบความคิดแบบเติบโต
ครูวิเชียรในวัย 49 ยังคงใฝ่ฝันที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในระบบการศึกษาไทย ขณะที่ความฝันสูงสุดก่อนที่จะถึงวัยเกษียณของเขาคือ การปล่อยมือจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา แล้วออกเดินทางเร่ร่อนท่องโลก เพื่อเสาะหาคุณค่าที่แท้ของการมีชีวิต
ชีวิตวัยเด็กของครูเป็นอย่างไรบ้าง
ชีวิตวัยเด็กผมค่อนข้างบ้านนอกมาก พื้นเพเดิมเป็นคนมหาสารคาม เกิดที่หมู่บ้านชายแดนระหว่างมหาสารคามกับขอนแก่น เคยเห็นรถยนต์ครั้งแรกตอนอายุ 4 ขวบ ประมาณปี 2515 สมัยนั้นแถวบ้านผมยังเป็นป่าอยู่ แล้วอำเภอบรบือที่อยู่ใกล้ๆ กันขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตเกลือ ก็จะมีรถเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อขนไม้มาทำฟืนต้มเกลือ ผมได้เห็นรถยนต์ครั้งแรกๆ ก็คราวนั้น
การที่ต้องอยู่หมู่บ้านห่างไกล มีผลต่อการเรียนของครูไหม
ตอนเรียนจบชั้นประถม ทีแรกผมเกือบจะไม่ได้เรียนต่อ เพราะเป็นคนเรียนไม่ดี คือไม่ใช่มือต้นๆ ของระดับชั้น และยังไม่ค่อยเข้าเรียนด้วย ครูในโรงเรียนชนบทจะไม่ค่อยเข้มงวดอะไรมาก เราก็หนีโรงเรียนไปหารังผึ้ง ไปขุดหาขี้สูด (แมงขี้สูด หรือชันโรง) ไปเล่นน้ำตามลำห้วย ไปหาอะไรทำแบบนั้น แทบจะไม่ค่อยร่วมกิจกรรมโรงเรียนเท่าไหร่ กีฬาก็ไม่ได้เล่นกับเขา เรียนก็ไม่ค่อยดี
พอจบชั้นประถมก็คิดจะไม่เรียนแล้ว จะออกไปหางานทำ อยากสมัครเป็นทหาร เพราะสมัยนั้นถือเป็นช่องทางเดียวที่จะได้เป็นข้าราชการ แต่ก็มีเหตุให้ต้องไปสมัครเรียนต่อชั้นมัธยม เข้าใจว่ามีคุณครู ป.6 อยากให้เรียนต่อ
สมัยก่อนสมัครเรียน ม.1 ค่าสมัครเรียน 100 นี่แพงมาก ลองนึกภาพสมัยนั้นปี 2522 เงินเดือนข้าราชการก็ประมาณ 2,000 กว่าบาท เพราะฉะนั้นเงิน 100 ถือว่าแพงมาก พอเข้าเรียนชั้นมัธยมต้องเดินไปเรียน 4 กิโลฯ ไปกลับก็ 8 กิโลฯ ชีวิตสมัยเรียนมัธยมต้นจึงเป็นช่วงที่ลำบากที่สุด แต่พอมัธยมปลายก็ย้ายไปเรียนที่อำเภอโกสุมพิสัย มีรถบัสประจำทางก็ไม่ลำบากมากนัก 17-18 กิโลฯ พอเรียนจบมัธยมปลายก็ไปเรียนต่อวิทยาลัยครู ก็เรียนไปอย่างนั้น ไม่ได้คิดว่าจะเป็นครูอะไร
เดิมทีอยากเป็นทหาร แต่ทำไมจึงได้มาเป็นครู
ทีแรกตั้งใจว่าจะสอบเข้านายเรืออากาศ สมัยก่อนต้องสอบพร้อมกับเอนทรานซ์ ซึ่งต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ผมจึงไม่มีโอกาสสอบเอนทรานซ์ แต่พอสอบนายเรือไม่ติดเลยต้องมาเรียนครู บังเอิญว่าช่วง ม.6 ผมเคยไปสอบครูในโครงการคุรุทายาทไว้ เป็นโครงการใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการที่เพิ่งเปิดรับ ถ้าใครเรียนจบจะได้เป็นครูเลย ผมก็สอบทิ้งไว้ ไม่ได้คิดว่าจะเป็นครู แต่พอสอบนายเรือไม่ติด ระหว่างนั้นยังไม่มีที่เรียนต่อ ผมก็ไปหางานทำแถวกรุงเทพฯ ทำงานหลายอย่าง จนกระทั่งกลับมาเข้าโครงการคุรุทายาท
เหตุผลอะไรที่กลับมาเรียนต่อ
พ่อแม่อยากให้เป็นครู เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะได้เป็นข้าราชการ ความเชื่อของพ่อแม่คือถ้าเป็นข้าราชการแล้วจะมีสวัสดิการให้พ่อแม่ มีสิทธิรักษาพยาบาล ที่จริงผมไม่เคยอยากกลับมาเป็นครู แต่ก็รับราชการเป็นครูอยู่ถึง 10 ปี โดยเป็นครูผู้สอนอยู่ 5 ปี และอีก 5 ปี เป็นผู้บริหารอยู่ 6 โรงเรียน ใน 4 อำเภอ จากนั้นก็ลาออกโดยที่ไม่ได้บอกใคร
ช่วงที่ลาออกทางมูลนิธิเจมส์ คลาร์ก อยากทำโครงการโรงเรียนตัวอย่าง เขาเปิดรับสมัครเพื่อหาคนมาเป็นครูใหญ่อยู่ 3 รอบ แต่หาไม่ได้ ตอนนั้นยังไม่มีโรงเรียนเลย ที่ดินก็ยังไม่มี แต่เขาอยากหาคนมาทำโครงการต่อ ผมก็เลยลองมาสมัคร มาสัมภาษณ์ จำได้ว่าผมมาสัมภาษณ์วันที่ 25 พฤศจิกายน 2544 ได้สัมภาษณ์เป็นคนที่ 3 แล้วเขาก็รับผมเลย
ตอนนั้นคิดอย่างไรถึงออกจากข้าราชการครู
ตอนเป็นข้าราชการครูรู้สึกว่ายังทำอะไรได้ไม่เยอะ ก็เลยสอบครูใหญ่ สอบผู้บริหารโรงเรียน ตอนสอบผู้บริหารโรงเรียนผมก็ยังเด็กมาก อายุแค่ 27 ปี ถือว่าเด็กสุดในเขต 10 เลย พอทำงานไปสักพักก็เห็นใบสมัครของมูลนิธิเจมส์ คลาร์ก พอมาสัมภาษณ์ คุณเจมส์ก็ยอมรับให้มาทำด้วยกัน ผมจึงกลับไปเขียนใบลาออก ทั้งที่ตอนนั้นผมอายุแค่ 32 ปี อีกไม่นานก็คงได้ขึ้นผู้อำนวยการโรงเรียนแล้ว
ช่วงเวลาของการเป็นข้าราชการครูได้สังเกตเห็นอะไรบ้างในระบบการศึกษา
ต้องมองย้อนกลับไปตั้งแต่สมัยที่ผมยังเรียนครู ช่วงปีที่ 4 ปีสุดท้ายก่อนจบการศึกษา ผมรู้สึกว่าประเทศเรารับเอาความเชื่อ รับเอาวิธีการ รับเอาทฤษฎีทางการศึกษาจากต่างประเทศมาทั้งหมดเลย แล้วก็พยายามท่องทฤษฎีเหล่านั้นเป็นวรรคเป็นเวร เพื่อจะทำให้เป็นอย่างนั้น ผมก็รู้สึกกังวลใจ
ผมเขียนไดอารีในวันที่เรียนจบ เขียนว่า “ชีวิตนี้ อยากทำทฤษฎีการศึกษาที่เป็นของไทย หรือแนวคิดทางการศึกษาที่เป็นของไทย”
ผมเข้าใจว่าผมเขียนคำเล็กๆ ก็จริง แต่คำคำนั้นกลับสื่อสารมายังตัวผมเอง การที่ผมเขียน สมองผมทำงาน ผมใคร่ครวญ แล้วคำคำนั้นก็สื่อสารกับตัวผม มันฝังลึกลงไป ไม่มีวันลืม
เมื่อถึงวันที่มีโอกาส หลังจากเป็นครูมาแล้ว 10 ปี ผมก็ตัดสินใจลาออกโดยไม่ต้องบอกใครเลย มันเหมือนมีสารบางอย่างที่เราฝังชิพเข้าไปในตัวเอง พอได้มาอยู่ที่โรงเรียนลำปลายมาศ ผมก็พยายามค้นคว้าหาวิธีการจัดการศึกษาที่เหมาะกับไทย และพยายามชี้ให้เห็นว่าวิธีการหรือแนวคิดบางอย่างของต่างชาติที่เราเอามา ไม่ได้ถูกเสมอไป หรือใช้ไม่ได้กับประเทศไทยเสมอไป ผมจึงค่อนข้างระมัดระวังเวลาที่ผมใช้แนวคิดหรือวิธีการที่มาจากต่างชาติ
พอเข้ามาอยู่ที่โรงเรียนลำปลายมาศ ทางมูลนิธิเจมส์ คลาร์ก ได้วางรากฐานอะไรไว้ให้บ้างหรือไม่
ลองนึกภาพวันที่ 25 พฤศจิกายน 2544 ผมกลับไปตอนเย็น เขียนใบลาออกวันที่ 26 ยื่นวันที่ 27 แล้วผมได้รับอนุมัติใบลาออกเร็วมาก แค่ 2 วัน ผมก็รู้สึกใจแป้วเหมือนกันในตอนแรก เพราะไม่มั่นใจ ไม่รู้เรื่อง พอวันที่ 1 ธันวาคม ผมมาทำงานกับคุณเจมส์อยู่ที่ออฟฟิศในกรุงเทพฯ
วันแรกที่เราเจอกัน เขาก็ชวนไปกินข้าวเย็น เราสองคนคุยกันโดยมีข้อตกลงว่า เขาไม่ใช่นักการศึกษานะ แต่เขาเห็นว่าการศึกษาไทยมีปัญหา เขาเคยช่วยมาแล้วทุกวิธีการ ไม่ว่าจะเป็นการให้ทุนการศึกษาเด็กๆ ก็ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา
เขามองว่าวิธีการเดียวที่จะแก้ปัญหาอย่างได้ผลที่สุดคือ ต้องมีโรงเรียนตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมให้คนเห็น แต่หน้าตาของโรงเรียนจะเป็นอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าอยากได้
นั่นคือสิ่งที่คุณเจมส์พูดในวันแรกที่เจอกัน แล้วผมก็บอกว่าโอเค ผมจะทำโรงเรียนตัวอย่างให้คุณเจมส์ แต่มีข้อแม้ 2 เรื่อง หนึ่ง ต้องไม่มายุ่งวุ่นวายกับผม ปล่อยให้ผมทำ สอง ผมจะทำโรงเรียนให้สำเร็จ แต่จะทำให้แค่ 5 ปี เพราะผมก็มีฝันบางอย่างของผม ตอนนั้นฝันของผมหลังจากจบภารกิจแล้วก็คือ ผมอยากเดินเร่ร่อน ใช้ชีวิตเร่ร่อน อันนี้เป็นความฝัน คุณเจมส์ก็ไม่ได้บอกอะไร นอกจากคำพูดประโยคนั้น
ปี 2545 เริ่มมีที่ดินที่ลงตัว เริ่มมีการพูดคุยกับสถาปนิก เริ่มมีการพูดคุยเรื่องการออกแบบอาคาร สถานที่ บริบทที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้การเรียนรู้มีคุณภาพสูง พอปลายปี 2545 ผมเริ่มรับครูรุ่นแรก มีการฝึกครูอยู่ 6 เดือน จากนั้นจึงเปิดการเรียนการสอนได้ในปี 2546 นั่นเป็นจุดเริ่มต้น
ในการทำงานปีแรกผมต้องใช้ความคิดค่อนข้างมาก เพราะว่าคำว่าโรงเรียนตัวอย่าง ผมต้องทำนอกวิถีจึงจะเห็นผลแบบใหม่ แต่ถามว่านอกวิถีคืออะไร ผมก็ไปดูโรงเรียนที่มีชื่อเสียง เห็นเขาหยิบทฤษฎีโน้นทฤษฎีนี้มาพูด ซึ่งมันแข็งตัว เวลาเราหยิบทฤษฎีไหนขึ้นมาก็ต้องทำในสิ่งที่เข้ากับทฤษฎีนั้น ซึ่งผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ผมใช้ความคิดเยอะมากในช่วงนั้น
สิ่งที่ผมได้คำตอบมาอย่างหนึ่งก็คือ ต้องสร้างครู ถ้าสร้างครูไม่ได้ ครูไม่ดีพอ อย่างอื่นตกหมด
ครูรุ่นแรกที่เข้ามาต้องได้รับการฝึกอบรมอย่างไรบ้าง
ครูรุ่นแรกที่เข้ามาก็เป็นนักศึกษาจบใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องยากแน่นอน เพราะสิ่งที่เขาเรียนมา แนวคิดทฤษฎีที่เขาเรียนมา เขาก็แค่รู้ แต่ไม่เข้าใจมัน เขาไม่ได้ผ่านประสบการณ์การเป็นครูมายาวนาน แต่ข้อดีก็คือ ทำให้เขาเปิดกว้าง ผมจึงมีกระบวนการทำงานกับครูอย่างเข้มข้นมากในช่วง 6 เดือน
ครูเหล่านี้ต้องผ่านกระบวนการ reflection หรือสะท้อนความคิดตัวเองออกมา ผ่านกระบวนการบันทึก เรียนรู้ร่วมกัน จนกระทั่งเขามองเห็นหลักสูตรหมดทั้งก้อน สามารถออกแบบดัดแปลงจากหลักสูตรมาสู่การปฏิบัติได้ ขณะเดียวกัน ในการปฏิบัติก็ต้องสามารถอธิบายในเชิงทฤษฎีได้
ความยากในการสร้างครูคืออะไร
‘คาแรคเตอร์’ ยากที่สุด ทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเขาให้กลายเป็นครูที่มีมุมมองต่อเด็กแบบใหม่ ใจเย็นขึ้น พูดจานุ่มนวล เปิดใจที่จะรอรับการเรียนรู้ของเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นคาแรคเตอร์ที่สำคัญและต้องใช้เวลานาน
เพราะ mindset ของคนก็ยังเข้าใจว่าครู คือ ‘ผู้สอน’ จะไปเปลี่ยนให้เขาเป็นผู้อำนวยการสอนหรือผู้จัดการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ยาก ครูรุ่นแรกต้องใช้เวลา 1 ปี 2 ปี กว่าจะเป็นรูปเป็นร่าง
พอมีครูรุ่นแรกที่เป็น change agent หรือผู้นำการเปลี่ยนแปลง ครูรุ่นต่อมาก็มีต้นแบบ ได้พี่เลี้ยงที่ดีที่เขาจะเรียนรู้ตาม จากนั้นก็ง่ายขึ้น ง่ายขึ้นเป็นลำดับ ยิ่งมีมวลของครูที่ดีมากเท่าไหร่ ครูที่มาใหม่ก็จะพัฒนาง่าย และในขณะที่เราพัฒนาในช่วงแรกอาจจะยังมองไม่เห็นรูปแบบชัดเจน แต่พอเราใคร่ครวญไปด้วย ทำไปด้วย reflection ไปด้วย ทุกอย่างก็จะค่อยๆ เห็นลงตัวขึ้น ง่ายขึ้น ใช้เวลาสั้นขึ้น
จากที่บอกว่าทฤษฎีการศึกษาของต่างประเทศอาจไม่สามารถตอบโจทย์คนไทยได้ แล้วจุดเริ่มต้นของลำปลายมาศพัฒนา ใช้ทฤษฎีอะไรเป็นแนวทาง
เราไม่ได้เริ่มต้นที่ทฤษฎี เราเริ่มต้นจากสิ่งที่เราอยากได้ เช่น เราอยากได้ outcome ของครูแบบไหน เราอยากได้ outcome ของเด็กอย่างไร เราก็เริ่มต้นจากตรงนั้นว่าจะทำอย่างไรให้ได้สิ่งนั้น เราไม่ได้เริ่มต้นที่ทฤษฎีว่ามันจะมาจากอะไร อย่างเช่นคำว่า ‘โรงเรียนตัวอย่าง’ ก็ต้องตอบโจทย์ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ด้วย
อะไรที่ยากๆ ใน พ.ร.บ.การศึกษา ที่ครูยังไม่สามารถทำได้ เช่น การบูรณาการการเรียนรู้ การประเมินตามสภาพจริง การเรียนรู้ร่วมกันของครู การประเมินภายใน-ภายนอก เรื่องเหล่านี้ตอบโจทย์ยากมาก แม้จะมี พ.ร.บ.อย่างดี แต่ไม่มีใครตอบโจทย์อะไรได้ หลักสูตรก็พูดถึงแต่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ บูรณาการการศึกษา บูรณาการการเรียนรู้ อะไรต่างๆ
เราจึงมาเริ่มต้นว่าจะทำอย่างไรให้เกิดสิ่งเหล่านี้ก่อน การจัดการเรียนรู้เราจะต้องเป็นแบบบูรณาการ ประเมินตามสภาพจริง มีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของครู มีการควบคุมคุณภาพทั้งภายในและภายนอก รวมถึงคุณลักษณะแบบใหม่ของผู้เรียน เราคิดไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว เมื่อก่อนยังไม่มีคำว่า Twenty First Century Skill (ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21) มีแต่คำว่าคุณลักษณะใหม่ที่เราอยากได้ เช่น สิ่งที่เป็นปัญหาในประเทศไทยตลอดมาก็คือ ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ เราก็มองว่าเป็นคุณลักษณะที่สำคัญ รวมถึงความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง อย่างตลอดชีวิต เรื่องนี้เราคิดไว้ตั้งแต่ต้น
ก่อนที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาจะเกิด โรงเรียนอื่นๆ ก็มีความพยายามที่จะออกนอกกรอบเหมือนกัน แต่ทำไมจึงไม่ตอบโจทย์เท่าที่ควร
สิ่งที่ไม่ตอบโจทย์คือ คำว่า ‘โรงเรียนตัวอย่าง’ คำนี้ผมตีความว่า
ต้องทำให้โรงเรียนส่วนใหญ่หรือโรงเรียนของรัฐสามหมื่นกว่าโรงนำไปใช้ได้ ซึ่งการจะนำไปใช้ได้ ต้องมีองค์ประกอบและปัจจัยไม่มากไปกว่าเขา
เช่น ต้องใช้งบน้อยกว่าเขา จำนวนครูเท่ากัน จำนวนเด็กต้องเท่ากัน รับเด็กด้วยวิธีการคละ รับครูจากที่เดียวกัน เงินเดือนครูก็ไม่ได้ต่างกัน องค์ประกอบทุกอย่างต้องไม่มากกว่าที่โรงเรียนมี ถ้าทำอย่างนี้ได้จึงจะตอบโจทย์ ถ้าใช้วิธีการต่างกัน แล้วได้ผลลัพธ์ต่างกัน อย่างนี้จึงจะตอบโจทย์ได้ว่าเป็นโรงเรียนตัวอย่างที่ดี เพราะไม่มีองค์ประกอบไหนที่โรงเรียนอื่นทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นโรงเรียนที่เขาพยายามเป็นโรงเรียนตัวอย่าง ถึงแม้จะยังไม่ตอบโจทย์เรื่องนี้ แต่ก็อาจจะตอบโจทย์อย่างอื่น เช่น การค้นหาแนวทางใหม่ในการจัดการเรียนรู้
ถ้าจะให้ตอบโจทย์จริงๆ ผมนึกถึงโรงเรียนส่วนใหญ่ที่เป็น mass จากโจทย์ที่ได้มาจากคุณเจมส์ ผมตีความว่า เขาคงเห็นว่าโรงเรียนส่วนใหญ่ไม่ได้มีคุณภาพ เราไม่ได้ต้องการแค่สร้างคุณภาพของเด็กในโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา แต่เราต้องการสร้างคุณภาพของเด็กในโรงเรียนทั่วๆ ไปด้วย
อะไรคือตัวชี้วัดที่จะยืนยันได้ว่า สิ่งที่ครูวิเชียรกำลังทำอยู่นั้นประสบความสำเร็จ
สิ่งที่ผมต่อสู้ในช่วงแรกๆ ผมต่อสู้กับ 3 เรื่องของสังคม
หนึ่ง -กรอบความคิดว่าด้วยเรื่องเป้าหมายการศึกษา เพราะคนในสังคม ไม่ว่าจะนักการศึกษาหรือครูเองยังมองว่าความสำเร็จของการศึกษา คือให้เด็กเก่ง ให้เด็กสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ ให้เด็กได้เกรด 4 อันนี้คือสิ่งที่ผมต่อสู้
สอง -เรื่องความเข้าใจผิดว่าการประเมิน คือการวัดผล คือการสอบ และสาม -เรื่องครู สังคมมีความเข้าใจว่า ครูคือผู้สอน และการพัฒนาครูคือการอบรม ผมพยายามทำทั้งสามเรื่องนี้ตั้งแต่แรกเลย พยายามทำให้เห็นว่ายังมีวิธีการอื่นที่เราสามารถทำได้
ทีนี้พอพูดถึงเรื่องว่า เราจะวัดผลอย่างไรจึงจะรู้ว่าเราไปถึงเป้าหมายที่ต้องการ เริ่มจากเรื่องเด็กก่อน เรื่องเด็กนี้เราทำงานหนัก ที่จริงก็มีคนคิดไว้ก่อนแล้วคือ การประเมินตามสภาพจริง
เราปฏิเสธการสอบตั้งแต่แรก เพราะการสอบเป็นเครื่องมือที่หยาบ เห็นตื้น เห็นไม่จริง
เราก็เลยมีเครื่องมือที่มากกว่าการสอบ เช่น ประเมินจากชิ้นงาน ภาระงาน ประเมินจากการปฏิบัติจริงของเด็ก ประเมินจากร่องรอย ประเมินจากพฤติกรรม และความก้าวหน้า แล้วก็เราพยายามทำกรอบให้เห็นว่า การประเมินนั้นต้องตอบโจทย์ในการบรรลุผลสำเร็จของเด็กให้ครบถ้วน ซึ่งการประเมินตามสภาพจริงอย่างต่อเนื่อง ขณะสอนก็ต้องมีการประเมินไปด้วยสอนไปด้วย ไม่ใช่ทิ้งช่วงไว้แล้วค่อยประเมิน
การวัดผลนั้นมีเหตุผลสำคัญๆ อยู่ 2 เรื่อง ประเมินเพื่อยกระดับผู้เรียน กับประเมินเพื่อตัดสิน ในกรอบแนวคิดการศึกษาแบบเก่าจะเป็นการประเมินเพื่อตัดสินเท่านั้น ให้เกรดผ่านหรือตก หรือได้ลำดับที่เท่านั้นเท่านี้ เราพยายามไม่ให้มีเรื่องนี้ การประเมินทุกครั้ง วัตถุประสงค์ที่สำคัญคือเพื่อให้รู้จักผู้เรียนอย่างแท้จริง หาวิธีพัฒนาเขา ยกระดับเขาให้มากขึ้น
ในส่วนของการประเมินครู เมื่อก่อนนี้ผมจะมีการประเมินครูที่เข้มข้น เราเคยคิดดัชนีในการประเมินครูให้เป็นไปตามเกณฑ์ต่างๆ
แต่แล้วผมก็รู้สึกว่า 4-5 ปีที่ผ่านมานั้นเราทำผิดพลาด การที่มีการประเมินครูนั้นเป็นเรื่องผิดพลาด เพราะเป็นวิธีคิดแบบเก่า
ทุกครั้งที่ประเมิน เราจะประเมินผิดทุกครั้ง เราจะประเมินว่าอันนี้หนักหรือเบา ผิดมากผิดน้อยขึ้นอยู่กับว่า องค์ประกอบของความผิดมีมากแค่ไหน
เช่น ความผิดพลาดจากคนวัด จากเครื่องมือวัด หรือจากวิธีวัด ซึ่งการประเมินเช่นนี้ทำให้มีอัตราการลาออกสูงมากในช่วงแรกๆ เพราะเป็นการประเมินที่เข้มข้น ผมจึงมาเปลี่ยนวิธีคิดในช่วง 10 ปีหลังนี้ โดยการประเมินครูจะยืดหยุ่นมากขึ้น จะเน้นเรื่องการพัฒนามากกว่าที่จะตัดสิน เป็นการประเมินเพื่อยกระดับมากกว่า ระบบการประเมินที่ดีควรเปิดให้ผู้ถูกประเมินมีโอกาสที่ได้มองเห็นเอง เพื่อช่วยยกระดับเขา ซึ่งจะเป็นประโยชน์กว่า
อีกส่วนหนึ่งคือ ประเมินองค์กร ในปีที่ 14 ผมได้เชิญมหาวิทยาลัยทัสมาเนีย (University of Tasmania) มาประเมินว่าเราทำโรงเรียนในแนวทางแบบนี้มากว่าสิบปีเป็นอย่างไรบ้าง เขาก็มาอยู่กับเรา 7 วันนะ มาดูทุกอย่าง ตรวจทานทุกเรื่อง แล้วเขาก็เขียนรายงานออกมาเล่มหนึ่งยาวมาก ตอนท้ายของรายงานเขาเขียนว่า การจัดการเรียนการสอนที่นี่เหมือนกับเวิลด์คลาสโฮม มีรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่เหมือนกับระดับโลก คือ เน้นการจัดการเรียนรู้มากกว่าสอน สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กเป็นผู้เรียนรู้ร่วมกัน มีการประเมินตามสภาพจริง
แต่นั่นทำให้ผมกลับรู้สึกเจ็บปวดทุกครั้งที่เห็นการประเมินที่เป็นอยู่ในประเทศไทยตอนนี้ ไม่ว่าจะเป็นการประเมินเด็ก ประเมินครู ทุกอย่างที่ผมเห็น มันเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดต่อการพัฒนา แล้วคนประเมินก็อวดดีว่าตัวเองรู้ ตัวเองใช่ ตัวเองถูก เลยไม่มีกระบวนการร่วมกันในการสร้างการเรียนรู้เพื่อยกระดับ เพราะคอยแต่ประเมินอยู่ร่ำไป
ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละกระบวนการของการศึกษา ครูวิเชียรมีวิธีจัดการหรือคลี่คลายอย่างไรบ้าง
ประการแรก ผมไม่มองว่ามันเป็นปัญหา ผมจะรู้สึกตื่นเต้นกับมันทุกครั้ง เพราะผมถือว่ามันเป็นแค่สถานการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น เป็น event หนึ่งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้เราไม่พึงพอใจหรือเป็นอุปสรรคต่อสิ่งที่เราต้องการแค่นั้นเอง แต่ผมไม่ได้มองว่านั่นเป็นปัญหา ผมรู้สึกเป็นเรื่องท้าทายทุกครั้งที่เกิดขึ้น เวลาเกิดปัญหา ครูลาออก ผู้ปกครองไม่เข้าใจ เด็กๆ ทะเลาะกัน น้ำไม่ไหล ไฟดับ หรือความขัดแย้งระดับนโยบาย สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่ไม่ใช่ปัญหา แต่เป็นสถานการณ์ที่เราจะต้องหาวิธีเปลี่ยน เป็นแค่สถานการณ์ที่ต้องแก้ ต้องเปลี่ยน ต้องปรับ ขยับไปอีกสถานการณ์หนึ่งเท่านั้นเอง นั่นทำให้ผมอยู่แบบไม่ทุกข์ ถ้านึกว่าเราอยู่ในโรงเรียนหนึ่งที่ผุดขึ้นจากศูนย์แล้วท้าทายความคิดของสังคมรอบนอกทั้งหมด คิดดูว่าจะมีปัญหารุมเร้าขนาดไหน
เด็กนักเรียนที่เติบโตขึ้นจากที่นี่ มีความคิดความอ่านแตกต่างไปจากเด็กทั่วไป ถ้าวันหนึ่งเขาจบออกไปแล้วจะไม่ทำให้เขาแปลกแยกใช่ไหม
ต้องเข้าใจก่อนว่า การเป็นโรงเรียนตัวอย่างต้องตอบโจทย์สิ่งที่เขาจะเอาไปใช้ในโลกด้วย ขณะที่เราพัฒนาผู้เรียนด้วยกระบวนการใหม่ เขาจะมีทักษะสำคัญเพิ่มขึ้นมา เช่น ทักษะการคิด ทักษะการจัดการตัวเอง มีเครื่องมือในการจัดการตัวเอง กำกับตัวเอง มีคุณลักษณะที่มากไปกว่าที่มีในหลักสูตรเดิม เมื่อเขามีสมรรถนะเช่นนี้แล้ว ไปที่ไหนเขาก็ตอบโจทย์ได้ แก้ปัญหาได้ วิธีการสอนแบบเดิมต่างหากที่ไม่ทำให้เด็กมีสมรรถนะตามหลักสูตร
การเป็นโรงเรียนต้นแบบ มีความขัดหรือแย้งกับหลักสูตรของรัฐไหม
เราจะพูดแบบนั้นไม่ได้ ถ้าพูดแบบนั้นเราจะไม่ใช่โรงเรียนต้นแบบ ทุกครั้งที่เราทำอะไรลงไป เราจะต้องคำนึงถึง 36,000 โรงเรียนทั่วประเทศ เขาจะต้องเอาวิธีของเราไปใช้ได้โดยที่ไม่ต้องรู้สึกกระอักกระอ่วนใจ ฉะนั้น แม้รูปแบบและวิธีการของเราจะแตกต่าง แต่ผลลัพธ์ปลายทางก็ยังสามารถตอบโจทย์ทุกอย่างที่รัฐต้องการ
วิธีการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามาจากการคิดค้นขึ้นเองหรือมีรากฐานมาจากทฤษฎีการศึกษาแบบใด
ที่จริงแล้วมันค่อยๆ สั่งสม ผมเรียนทฤษฎีมาเยอะแยะมากมาย ตอนที่ทำงานอยู่ก็เห็นโลก เห็นวิธีการทำงานของกระทรวง เห็นอะไรเยอะแยะมากมาย แต่ผมบอกไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร แต่ผมรู้ว่าอันนี้ใช่ อันนี้ไม่ใช่ อันนี้ทำ อันนี้ต้องคัดทิ้ง อันนี้เอา อันนี้ต้องเพิ่ม รู้แค่นี้ พอทำเสร็จแล้วก็พอจะเทียบเคียงเข้ากับทฤษฎีได้บ้าง
พูดถึงกระบวนการเรียนรู้ภายใน หลังจากที่ผมไปเป็นครู ผมมีบางเรื่องเข้ามาในชีวิตทำให้เกิดภาวะบางอย่างที่เรียกว่า ใคร่ครวญในการเติบโตข้างในพอสมควร ตอนช่วงอายุ 23-25 ปี ผมเกิดคำถามว่าชีวิตเราเกิดมาเพื่ออะไร แล้วผมก็เริ่มเข้าหาศาสนา ศึกษาเรียนรู้ศาสนาอย่างจริงจังและซีเรียสมาก เพื่อจะหาคำตอบ แต่ก็ไม่ได้คำตอบ
สุดท้ายก็ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่ปกติ ช่วงนั้นก็เริ่มหันไปหาหนังสือทางปรัชญา แล้วก็ศึกษาวรรณกรรม เพราะวรรณกรรมจะสื่อสารทางปรัชญาได้ลึกซึ้ง แล้วก็เริ่มศึกษาวรรณกรรมแปล โดยเฉพาะวรรณกรรมรัสเซียทั้งหมด อเมริกาทั้งหมด รวมถึงเยอรมนี ฝรั่งเศส ก็เลยทำให้เริ่มใคร่ครวญในเรื่องชีวิต เรื่องผู้คน ทำความเข้าใจต่อมิติต่างๆ มากขึ้น นี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผมมองเห็นคุณค่าแท้จริงของสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่เรื่อง fake หลังจากนั้นผมจึงเริ่มที่จะบอกตัวเองว่า ผมเป็นกลางทางศาสนา ผมคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนศาสนาใด ดังนั้น ในบัตรประชาชนผมจึงไม่ระบุศาสนา
พอมาทำเรื่องกระบวนการการศึกษา ก็ทำให้เราคำนึงถึงผู้คน คำนึงถึงมนุษย์ ประการแรกก็คือเราต้องเคารพในคุณค่าความเป็นมนุษย์ของคนอื่นก่อน เราต้องไม่ด่วนตัดสินหรือครอบงำในสิ่งที่เราอยากให้เป็น อันนี้สำคัญมาก เพราะเขาต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง แล้วเขาต้องเป็นผู้เลือกเอง ไม่ใช่เราเลือกให้ความสำเร็จในชีวิตของเด็กที่จบออกไปคงไม่อาจตอบได้ในตอนนี้
แต่เด็ก ม.3 ทุกคนที่จบออกไป จะได้ใบประกาศเป็นก้อนหินที่เขียนไว้ว่า “ไม่มีหินก้อนใดโง่” หินก้อนหนึ่งอยู่ได้นานหลายสิบหลายร้อยปี
ซึ่งความสำเร็จของชีวิต เราจะมาคุยกันตอนที่ทุกคนอายุ 40 ปีขึ้นไป ว่าใครจะพึงพอใจในชีวิตมากน้อยแค่ไหน ตอนนี้อาจไม่ใช่ความสำเร็จ มีเงินในกระเป๋าเท่าไหร่ก็ไม่ใช่ความสำเร็จ จนกว่าเราจะมาคุยกันหลังอายุ 40 รอให้คุณผ่านการคิดใคร่ครวญกับชีวิตมาพอสมควรแล้วค่อยมานั่งคุยกันว่าคุณพอใจกับชีวิตมากน้อยแค่ไหน
เพราะฉะนั้น เวลาคนถามว่าเด็กที่นี่จบไปประสบความสำเร็จแค่ไหน ผมหนักใจมาก ผมกระอักกระอ่วนมาก เพราะไม่สามารถเอาเกณฑ์ที่สังคมมองว่าการประสบความสำเร็จคือ การสอบเข้าแพทย์ได้ หรือสอบได้ที่หนึ่ง แต่ถามว่าเด็กของเราไปอย่างนั้นได้ไหม ไปอย่างนั้นได้หมดเลย
ในช่วงแรกที่เริ่มก่อตั้งโรงเรียน มีเพียงชั้นอนุบาล 1-2 กับชั้น ป.1 ทำไมถึงเริ่มเช่นนั้น
ครูยังไม่มีความชำนาญ ครูยังไม่มีรากฐานความเข้าใจเรื่องการจัดการการศึกษา ผมจึงจำเป็นต้องเริ่มจาก 3 ระดับชั้นก่อน แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นในแต่ละปี ผมก็จะเห็นความก้าวหน้าของครู ถ้ารับเด็กจำนวนมากพร้อมกันทีเดียว เราจะรับไม่ไหว เพราะครูยังไม่มีความชำนาญ
ตอนนั้นครูวิเชียรต้องลงไปสอนเองด้วยไหม
เป็นบางครั้ง หน้าที่ผมก็คือทำให้ครูสอนได้ ถ้าผมไปล้ำบทบาท ผมทำเองไม่ได้ทุกหน้าที่อยู่แล้ว แต่เรามีหน้าที่เป็นโค้ชให้ครู ให้ครูได้เรียนรู้และเข้าใจการเรียนการสอน การที่จะฝึกครูให้สอนเรื่องโน้นเรื่องนี้เป็นหน้าที่ผม ผมทำหน้าที่นี้ต่อครู ครูก็ทำหน้าที่ต่อเด็ก
คำว่า ‘Growth Mindset’ ถูกนำมาใช้ในกระบวนการจัดการเรียนรู้อย่างไรบ้าง
ถ้าเรามองเชิงระบบ หมายความว่า event หรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก ไม่ว่าจะเหตุการณ์ไหน ล้วนมีสิ่งที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง คุณภาพการศึกษาของประเทศไทย คุณภาพการศึกษาของสิงคโปร์ คุณภาพการศึกษาของฟินแลนด์ ไม่ใช่จู่ๆ จะเกิดขึ้นเอง แต่มีสิ่งขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง แล้วชั้นของการขับเคลื่อนก็มาจากแบบแผน พฤติกรรมของคนในสังคมและคนที่เกี่ยวข้อง รวมแล้วเรียกว่าระบบหรือโครงสร้างที่เราสร้างเอาไว้ แล้วทั้งหมดนั้นก็ล้วนขับเคลื่อนมาจาก mindset หรือโลกทัศน์ของเรา
เหตุที่การศึกษาเปลี่ยน event ไม่ได้สักที เพราะแบบแผนการศึกษาของผู้คน ของครู ผู้ปกครอง ไม่ได้เปลี่ยน เพราะโครงสร้างไม่ถูกเปลี่ยน เมื่อโครงสร้างยังไม่ถูกเปลี่ยน หลักสูตรยังเป็นรายวิชา โครงการอบรมครูยังเป็นอยู่อย่างนั้น ตารางเรียนยังเป็นอยู่อย่างนั้น บนโครงสร้างที่ไม่เปลี่ยน นั่นเป็นเพราะว่า mindset ถูก fix เพราะเชื่อว่าวิธีนี้ดีแล้ว ถูกแล้ว นี่คือ ‘Fixed Mindset’ เป็นโลกทัศน์ที่ตาย หยุดนิ่ง ไม่เติบโต ไม่กล้าหาญพอที่จะมองหาผลแบบใหม่ วิธีคิดแบบใหม่
ในทางกลับกัน วิธีคิดแบบ ‘Growth Mindset’ เราต้องตั้งสมมุติฐานไว้ตลอดว่าสิ่งที่ขับเคลื่อน event นี้ โลกทัศน์ของเรา หรือ mindset ของเราที่ขับเคลื่อน event อยู่ อาจไม่เหมาะกับกาลเวลาหนึ่งๆ ถ้าเหมาะกับตอนนี้ก็อาจจะไม่เหมาะกับอีกกาลเวลา ถ้าเราตั้งสมมุติฐานแบบนี้ไว้ก่อน เราจะสามารถกลับมารีเช็คตัวเองได้ตลอด ว่าตอนนี้เรายังมีฐานคิดแบบนั้นอยู่ไหม
เราจะมองว่า event เป็นปัญหาก็ได้ หรือมองว่าคุณภาพการศึกษาตอนนี้เป็นปัญหาก็ได้ แต่ผมไม่ได้มองแบบนั้น ผมมองว่ามันเป็นแค่ event หนึ่งที่เกิดขึ้นมา ถ้าเราอยากเปลี่ยน event นี้ให้มีคุณภาพกว่านี้ ให้มีทักษะกว่านี้ ให้มีคุณลักษณะที่ดีกว่านี้ เราต้องเปลี่ยนทั้งระบบ แต่การเปลี่ยนทั้งระบบจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่เริ่มต้นที่ mindset หรือโลกทัศน์ของเราเอง
จนถึงทุกวันนี้ครูวิเชียรมองว่า โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง
ผมมีความฝันว่า เมื่อไหร่ที่เลิกทำโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้ นั่นคือความสำเร็จ ถ้ายังมีลำปลายมาศพัฒนาอยู่ ผมยังไม่สำเร็จ ลำปลายมาศพัฒนาจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อการขยายตัว มีมวลมากพอที่จะนำไปสู่การขยับในระบบใหญ่
ถ้าเรายังมีลำปลายมาศพัฒนาอยู่ ก็อาจเรียกได้ว่าอยู่ในขั้นโปรเจ็คท์ทดลอง แต่ถ้าเมื่อไหร่สามารถขยายเข้าไปสู่โรงเรียนของรัฐ หรือในโรงเรียนที่เป็นมวลใหญ่ นั่นแสดงว่าประสบความสำเร็จ
ถ้าถึงวันที่สามารถปล่อยมือจากโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาได้แล้ว ความฝันที่ว่าอยากเดินเร่ร่อนยังคงมีอยู่ไหม
มี ผมยังคงคิดอยู่ ตอนอายุ 25 ผมเคยอ่านหนังสือที่ชื่อว่า ‘บาปของนักบุญ’ ของ ลีโอ ตอลสตอย แล้วผมรู้สึกสั่นสะเทือนมาก ตอนนั้นผมอยู่ในโหมดของการคลุกวงในศาสนา ก็อยากศึกษาเรื่องศาสนา แต่พออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วมันสะเทือนผมมาก ผมก็ตามอ่านงานของเขาทั้งหมด แล้วก็ศึกษาชีวิตเขา ผู้ชายคนนี้เกิดมายิ่งใหญ่ขนาดนี้ แต่สุดท้ายเขายังรู้สึกว่าเขาต้องออกแสวงหาชีวิตสุดท้าย แล้วเขาก็เร่ร่อนไปจนไปตายที่สถานีรถไฟแห่งหนึ่ง แล้วยิ่งมาเห็นความเชื่อบางอย่างของศาสนาฮินดูที่พูดถึงว่า เมื่อถึงวัยชรา ทุกคนก็ควรออกไปเข้าป่าแล้วก็ตายไป คล้ายกับว่าการเดิน การเร่ร่อน คือการที่เราจะได้ค้นพบความหมายอะไรบางอย่าง ผมวางเป้าหมายนี้ไว้อีก 10 ปี ตอนนี้เหลืออีก 9 ปีที่ผมอาจจะได้ทำ