- Collaboration ไม่ได้หมายความแค่ การทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายให้แล้วเสร็จ แต่ยังรวมถึง การแลกเปลี่ยนไอเดีย อัตลักษณ์ กระบวนคิด แม้กระทั่งบทเรียนความล้มเหลวจากข้อผิดพลาดในอดีต จะช่วยนำไปสู่ขนบวิถีใหม่ซึ่งสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
- การสร้างสถานการณ์ที่ต้องทำงานร่วมกันในห้องเรียน เป็นก้าวแรกให้ผู้เรียนได้ทำความรู้จักกันอย่างเป็นธรรมชาติจากการเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย พร้อมปรับตัวยืดหยุ่นให้เข้ากับคนที่แตกต่างหลากหลาย จำลองโลกการทำงานข้างนอกจริงๆ
- การสร้างบรรยากาศการทำงานร่วมกันในห้องเรียน จะเป็นหนึ่งในวิธีทลายกำแพงของตัวเอง เพื่อให้เราจะได้ยินเสียงของกันและกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น และไว้วางใจกันมากขึ้น เมื่อห้องเรียนอบอวลไปด้วยบรรยากาศที่ว่า การเรียนรู้ของเด็กๆ ก็จะไม่มีอะไรมาขวางกั้นเช่นกัน
นิยามของ Collaboration ไม่ได้มีแค่ว่า ‘การทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายให้แล้วเสร็จ’ แต่ยังหมายความถึง การแลกเปลี่ยนไอเดีย อัตลักษณ์ กระบวนคิด ทฤษฎี องค์ความรู้จากแหล่งที่มาหลากหลาย แม้กระทั่งบทเรียนความล้มเหลวจากข้อผิดพลาดในอดีต จะช่วยนำไปสู่ขนบวิถีใหม่ซึ่งสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
การจัดกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนให้สอดคล้องกับ Collaboration ในความหมายนี้ ควรเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน นักเรียนในศตวรรษนี้ต้องได้รับการฝึกทักษะการเข้าสังคมให้มากพอๆ กับความรู้ด้านวิชาการ
ในบทความ Start the Year With Collaboration ใน EDUTOPIA ฮีเธอร์ วัลเพิร์ท กอว์รอน (Heather Wolpert-Gawron) หยิบยกข้อมูลจากวารสารทางวิชาการเรื่อง The New Circles of Learning: Cooperation in the Classroom and School ซึ่งเผยแพร่ใน ASCD มาสนับสนุนความสำคัญของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่ม (group work) ในชั้นเรียนว่า
คุณครูควรมุ่งเน้นสัดส่วนการเรียนรู้ผ่านการทำงานร่วมกันเป็นทีมให้ได้อย่างน้อย 60 เปอร์เซ็นต์ของแต่ละปีการศึกษา และจะดีที่สุดก็ต่อเมื่อเริ่มตั้งแต่เนิ่นๆ แทนที่จะปล่อยให้นักเรียนคุ้นชินกับการเรียนรู้แบบตัวใครตัวมันซึ่งให้ครูเป็นศูนย์กลาง
นั่นหมายความว่า คุณครูต้องหากลวิธีสร้างห้องเรียนให้เป็นเสมือน ‘ชุมชนหนึ่ง’ ที่มีวินัยการอยู่ร่วมกันและพร้อม ‘แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน’ อย่างเคารพกฎกติกามารยาท บนสัมพันธภาพอันดีและมีความไว้วางใจซึ่งกันและกันของนักเรียนให้เร็วที่สุด
แต่ช้าก่อน…ใช่ว่าการจะสร้างห้องเรียนให้มีบรรยากาศดังที่ว่านี้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ เพียงชั่วสัปดาห์ แถมระยะเวลาในปีการศึกษาก็ไม่ได้ยาวนานขนาดนั้นซะด้วย กลเม็ด Team Building น่าจะเป็นบันไดขั้นแรกของการตระเตรียมให้นักเรียนเหล่านั้นเปิดใจสร้างสัมพันธภาพและก่อเกิดทัศนคติว่า ทุกคนล้วนมีบทบาทหน้าที่ในฐานะส่วนหนึ่งของสังคม (ซึ่งห้องเรียนก็คือสังคมบริบทหนึ่ง) และต้องพึ่งพาอาศัยกันไปตลอดการเรียนรู้ เคารพไว้ใจซึ่งกันและกันเป็นกุญแจสำคัญ
กลเม็ด Team Building แบบไม่รู้ฉันไม่รู้จักเธอ
ในวันเปิดการศึกษาของนักเรียนเกรด 4 เควิน อาร์มสตรอง (Kevin Armstrong) คุณครูโรงเรียน Katherine Smith Elementary School, California เดินฉับๆ เข้าห้องเรียนแล้วแบ่งนักเรียนเป็นกลุ่ม 4-5 คนทันที เขาแจกการ์ดกระดาษแข็งให้กลุ่มละ 25 ใบ เทปกาวกระดาษยาว 2 ฟุต พร้อมลูกเทนนิส 1 ลูก ภารกิจที่เจ้าหนูเกรด 4 ได้รับมอบหมายหลังจากจำหน้าเพื่อนยังไม่ได้เลยก็คือ ต้องช่วยกันใช้การ์ดกับเทปกาวแสนสั้นนั้น สร้างหอคอยที่สามารถรับน้ำหนักลูกเทนนิสด้านบนให้ได้ภายในเวลา 12 นาที!
บางกลุ่มปรับตัวเร็ว แม้ไม่รู้จักกันก็เริ่มพูดคุยวางแผนกันก่อนว่าจะสร้างฐานแบบไหน ขณะที่บางกลุ่ม สมาชิกแยกกันไปพับการ์ดให้เกิดเหลี่ยมมุมและเริ่มแปะเทปกาวกันแบบจับแพะชนแกะให้เป็นโครงหอคอยขึ้นมา
“อีก 1 นาทีหมดเวลา!” เควินขานเวลาบอกเด็กๆ ว่าถึงเวลาตัดสินประสิทธิภาพความแข็งแรงของหอคอยทรงพิสดารกันแล้ว ในวินาทีสุดท้าย แต่ละกลุ่มยักแย่ยักยันวางลูกเทนนิสลงบนจุดที่คิดว่าแข็งแรงที่สุด ผลลัพธ์คือ บางหอคอยพังราบเป็นหน้ากลองจนลูกเทนนิสกลิ้งกระดอนไปบนพื้น บ้างก็โงนเงนเจียนล้มแต่ยังประคองลูกเทนนิสไว้ได้ก็มี กลุ่มผู้อยู่รอดซึ่งวางลูกเทนนิสได้อย่างปลอดภัยบนหอคอยต่างกรี๊ดกร๊าดดีอกดีใจใหญ่ กลุ่มที่พังร้องระงมด้วยความเสียดาย บ้างก็ยืนตาปริบๆ
ประเด็นคือ เควินตั้งใจให้เด็กน้อยเหล่านี้รู้จักกับความล้มเหลวตั้งแต่วันแรกของการเรียน อานิสงส์จากกิจกรรม Team Building ข้างต้นที่นอกจากสร้างความสัมพันธ์ขั้นต้น ยังพาพวกเขาข้ามผ่านกระบวนการทำงานแก้ปัญหาร่วมกัน ตั้งแต่การแชร์ไอเดียความคิด หนทางความเป็นไปได้ หารือวิเคราะห์ โต้แย้ง ไปจนถึงยอมรับ ปรับปรุง เพื่อให้งานเดินไปข้างหน้าจนสำเร็จลุล่วง
จริงอยู่ที่หอคอยหงิกงอยับเยินเหล่านั้น หมายถึงภารกิจที่ตั้งไว้ไม่สำเร็จ แต่นั่นไม่สำคัญ
“นักเรียนส่วนใหญ่มักไม่ตระหนักว่า หัวใจของการทำงานร่วมกันนั้น จริงๆ แล้วอยู่ที่ข้อล้มเหลวผิดพลาดที่พวกเขาเจอนั่นแหละ การได้พยายามฝ่าฟันปัญหาอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ไปด้วยกัน คือพลังที่จะเชื่อมประสานให้พวกเขาเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันอย่างแท้จริง และตรงนี้เองที่จะพาพวกเขาก้าวไปสู่ความสำเร็จอย่างแข็งแกร่ง”
เมื่อความพยายามของบางกลุ่มสัมฤทธิ์ผล บางกลุ่มล้มเหลว ช่วงเวลาหลังจากนั้น เควินไล่ถามแต่ละกลุ่มให้ถอดบทเรียนในสิ่งที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมในครั้งนี้ และร่วมกันเสนอไอเดียว่าครั้งหน้าจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรถ้ามีโอกาสได้สร้างหอคอยอีกครั้ง ระหว่างนั้นเขาให้เด็กๆ ช่วยกันเขียนลิสต์บนกระดานเป็น Y Chart (ชาร์ตซึ่งแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วนเพื่อสะท้อนสิ่งที่เกื้อหนุนกัน 3 ด้านประกอบไปด้วย Look Sound และ Feel) เพื่อบันทึกข้อสังเกตอันเป็นประโยชน์ที่แต่ละกลุ่มแชร์บทเรียนที่ได้จากประสบการณ์นี้ ตลอดจนจุดที่พวกเขาอยากแก้ไขปรับปรุง Y Chart เป็นเครื่องมือช่วยสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มที่ดีและมีแนวโน้มที่จะสำเร็จนั้นควรมีลักษณะอย่างไรบ้าง
อันดับแรก สิ่งที่พวกเขาเห็น (look) แล้วคิดว่าช่วยให้การร่วมมือในกลุ่มราบรื่นมีอะไรบ้าง เช่น ท่าทางเชิงบวก รอยยิ้ม การผลัดกันเป็นผู้นำผู้ตาม ผลงานการจัดวางการ์ดเรียบร้อยเป็นระเบียบ
สอง เสียงที่สร้างสรรค์พลังบวกให้เกิดขึ้นระหว่างทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร (sound) การแนะนำตัวระหว่างกัน น้ำเสียงกระตือรือร้น สุภาพ เสียงเชียร์แนะนำหรือให้กำลังใจกัน
และสุดท้าย ความรู้สึกระหว่างการทำงานเป็นทีมควรเป็นอย่างไร (feel) เช่น กดดันในระดับที่พอจะมีแรงกระตุ้น สนุกที่มีเพื่อนช่วยกัน ทุกคนสนใจและให้ความสำคัญซึ่งกันและกัน ได้รับการเคารพยอมรับในการตัดสินใจ
นอกจากการโยนเด็กๆ เข้าไปในสถานการณ์ที่ต้องทำงานร่วมกันโดยไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจนี้ เป็นก้าวแรกให้พวกเขาได้ทำความรู้จักกันอย่างเป็นธรรมชาติจากการเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย พร้อมกับต้องปรับตัวยืดหยุ่นให้เข้ากับคนที่แตกต่างหลากหลายซึ่งเป็นไปเช่นเดียวกับโลกการทำงานข้างนอกจริงๆ
ทั้งนี้ สำคัญที่สุดคือคุณครูต้องนั่งล้อมวงร่วมกับพวกเขา หาข้อสรุปบทเรียนที่ได้รับจากการทำงานร่วมกัน สิ่งใดที่ดีอยู่แล้ว สิ่งใดควรปรับปรุง อย่าลืมชี้ให้พวกเขาตระหนักว่าสิ่งที่พวกเขาเผชิญมาทั้งหมดคือการเรียนรู้อันมีค่า นิยามของ Collaboration โดยแท้ ไม่ใช่เพียงทำงานร่วมกันกับคนอื่นให้แล้วเสร็จ แต่คือพลังความร่วมแรงร่วมใจที่ทุกคนต้องมีให้แก่กัน
กลเม็ดเล่าเรื่อง ฟังด้วยใจ ให้ใกล้ขึ้น
สำหรับ ไดแอน ฟีโอเล (Diane Feole) คุณครูสอนวิชา writing โรงเรียน Cranston High School West ซึ่งมีประสบการณ์สอนนักเรียนชั้นประถมและมัธยมมากว่า 24 ปี กล่าวว่า นักเรียนบางคนอาจเคอะเขินที่จะเปิดตัวเองในชั้นเรียนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนๆ ดังที่ครูตั้งใจ อาจด้วยเหตุปัจจัยจากนิสัยใจคอหรือปัญหาส่วนตัวก็เป็นได้ เช่น แชนด์เลอร์ (Chandler) นักเรียนในชั้นเรียนคนหนึ่งของเธอ ผู้ซึ่งไม่เคยปริปากออกเสียงเลยในชั้น จนทุกคนถึงกับบอกว่าไม่เคยได้ยินเสียงของเขาแม้แต่ครั้งเดียว
ไดแอนใช้วิธีให้นักเรียนเขียนเรียงความแนะนำตัวด้วยเรื่องราวหรือเหตุการณ์ที่ตนเองคิดว่าสำคัญที่สุด มานั่งล้อมวงผลัดกันอ่านให้เพื่อนๆ ฟัง ปรากฏว่าจริงๆ แล้วแชนด์เลอร์ไม่ใช่หนุ่มน้อยผู้ปิดตัวเองจากสังคมเลย เขาเป็นคนตลก แต่แค่ขี้อายมากๆ เรียงความที่เขาอ่านเรียกเสียงหัวเราะให้ชั้นเรียนได้เหนือความคาดหมาย
ขณะที่แอ็บบี้ (Abby) ประธานหญิงชั้นปีสุดท้าย ด้วยบุคลิกเปิดเผย ร่าเริงและฮ็อตในหมู่เพื่อนๆ น่าดู กลับอ่านเรียงความที่เผยเแง่มุมซึ่งไม่มีใครเคยรู้ว่า เธอสูญเสียน้องชายมาก่อน แถมพ่อยังทิ้งเธอกับแม่และน้องๆ อีก 5 คนไป ทุกวันนี้เธอกับแม่ต่างต้องช่วยกันทำงานแข็งขันเพื่อเลี้ยงดูน้องๆ เมื่อแอ็บบี้แชร์เรื่องราวของตัวเองกับเพื่อนในชั้น ทุกคนก็ได้รู้ว่าจริงๆ แล้วแอ็บบี้ผู้ดูเพียบพร้อมไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเช่นกัน ทุกคนเปิดรับตัวตนอีกด้านหนึ่งของเธอที่เผชิญหน้ากับความสูญเสียและเอาชนะมันได้อย่างกล้าหาญ
“จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ฉันบอกได้เลยว่าความสนิทสนมแน่นแฟ้นในหมู่เด็กๆ คือพื้นฐานสำคัญที่ช่วยเรื่องการเรียนรู้ของพวกเขา สำคัญที่คุณครูว่า ทำอย่างไรจึงจะสร้างความไว้วางใจ ความใกล้ชิดสนิทสนมให้เกิดขึ้นในห้องเรียนที่เด็กเหล่านั้นนั่งแยกโต๊ะกันให้ได้”
เมื่อผ่านไปครึ่งเทอม จากเด็กที่เพื่อนคิดว่าเป็นใบ้ แชนด์เลอร์กลายเป็นนักพูดประจำห้อง เขาแสดงความเห็นในชั้นเรียนอย่างมั่นอกมั่นใจ บางครั้งถึงกับร้องเพลงเล่นอูคูเลเล่ให้เพื่อนในชั้นฟัง
“ผมรู้สึกว่าเพื่อนคือคนในครอบครัว และห้องเรียนก็ไม่น่ากลัวอีกแล้ว”
การทลายกำแพงของตัวเองและแชร์เรื่องราวซึ่งกันและกันเป็นจุดกำเนิดของสายสัมพันธ์อันน่าทึ่ง ไม่ใช่เพียงในห้องเรียน แต่ในการดำเนินชีวิตข้างนอกก็ด้วย บางครั้งการรับฟังหรือแชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างกัน ก่อให้เกิดความเข้าใจและสำนึกรู้คุณค่าความหมายบางอย่างได้ลึกซึ้ง เมื่อนักเรียนได้ทลายกำแพงที่ขวางกั้นตนเองกับเพื่อนคนอื่นลง เราจะได้ยินเสียงของกันและกันมากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น และไว้วางใจกันมากขึ้น เมื่อห้องเรียนอบอวลไปด้วยบรรยากาศที่ว่า การเรียนรู้ของเด็กๆ ก็จะไม่มีอะไรมาขวางกั้นเช่นกัน
กลเม็ดสถานการณ์จริง ไม่อิงนิยาย
ในชั้นเรียนที่นักเรียนเป็นเด็กโต เอียน ครอว์ฟอร์ด (Eean Crawford) คุณครูสอนวิชาเตรียมหลักสูตรบริหารที่ Tippie College of Business, University of Iowa แชร์ประสบการณ์การสอนวิชาบริหารแบบจัดกลุ่มเรียนรู้ให้ฟังว่า เขาตั้งใจให้นักเรียนเข้าใจหลักการบริหารอย่างสมจริงว่า ในฐานะนักบริหารในองค์กรต้องพบเจออะไรบ้าง คิดวิเคราะห์ สื่อสารในองค์กรอย่างไร และ เรียนรู้ผ่านกระบวนการร่วมมือแก้ปัญหาในโลกธุรกิจจริงๆ ว่าต้องทำอย่างไร นอกจาก teamwork พวกเขาต้องรู้จักปรับตัว ยืดหยุ่นกับสมาชิกในทีมที่มาจากต่างแผนก และอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หน้าที่ความรับผิดชอบอาจต้องเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามที่ได้รับมอบหมายอีกด้วย
เพื่อจำลองเอาการทำงานในบริษัทจริงๆ ที่แต่ละแผนกต้องทำงานด้วยกันอย่างเลือกไม่ได้ เอียนแบ่งกลุ่มนักเรียนจำนวน 4 คน และกำหนดให้ในหนึ่งภาคเรียนต้องทำโปรเจ็คต์ออกมาจำนวน 4 งาน โดยแต่ละโปรเจ็คต์เขาเป็นคนเลือกสมาชิกในกลุ่มเอง จากการสังเกตลักษณะการแสดงออกในชั้นเรียน เพศ เชื้อชาติ ตามวิชาเอก และประสบการณ์ในงานกลุ่มที่ผ่านมา (การฟอร์มทีมด้วยปัจจัยดังกล่าวนี้ มีผลการศึกษาของ PISA ในปี 2017 สนับสนุนว่า เพศและเชื้อชาติของนักเรียน มีผลต่อความสามารถในการร่วมมือกันทำงานกลุ่ม ในรายงานนี้ชี้ว่า เด็กผู้หญิงทำงานกลุ่มได้ดีกว่าเด็กผู้ชาย และชาติที่รั้งตำแหน่งแชมป์ผู้เชี่ยวชาญทำงานกลุ่มได้แก่ สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฟินแลนด์) ทั้งนี้ ทุกคนในทีมต้องมีบทบาทหน้าที่ชัดเจน ไม่ทับซ้อน และได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเต็มที่
สัปดาห์แรก การสอนโฟกัสที่หลักการของทีมเวิร์คและบทบาทหน้าที่ของตำแหน่ง ‘ผู้จัดการ’ รวมถึงทฤษฎีพื้นฐานต่างๆ เช่นการวางแผนธุรกิจ จากนั้นโปรเจ็คต์ทั้งสี่ที่มอบหมายคือ ให้นำทฤษฎีธุรกิจเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้จริง เช่น โปรเจ็คต์แรกให้แต่ละทีมคิดแผนธุรกิจมาพรีเซนต์แข่งกันว่าพันธกิจองค์กร การวิเคราะห์คู่แข่ง และกลยุทธ์ทางธุรกิจใดที่จะทำให้องค์กรของตัวเองโดดเด่นเข้าตาลูกค้าและตอบโจทย์ที่สุด จากนั้นร่วมกันโหวตว่า ทีมไหนได้รับเสียงตอบรับเป็นทีมที่ดีที่สุด จากนั้น ชั้นเรียนถอดบทเรียนร่วมกัน
ที่เจ๋งสุดๆ อยู่ตรงที่สมาชิกในทีมมีสิทธิอย่างเต็มที่ในการประเมินการมีส่วนร่วมระหว่างกัน โดยส่วนหนึ่งของโปรเจ็คต์ให้นำเสนอ ‘แผนพัฒนาบุคลากรที่มีส่วนร่วมน้อยเกินไป’ และทีมถึงขั้นสามารถที่จะ ‘ยื่นซองขาว’ เชิญให้สมาชิกที่ไม่มีความกระตือรือร้นใดๆ ต่อการพัฒนาร่วมกันของกลุ่มออกไปจากทีมได้ด้วย
เอียนมีศรัทธาอย่างแรงกล้าว่า วิธีการสอนของเขาเสริมและสร้างทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นให้นักเรียนให้ดีขึ้นได้แน่นอน และไม่เป็นเพียงแค่ศรัทธาที่ยึดมั่นอย่างลอยลม
เคนเนธ บราวน์ (Kenneth Brown) ติดตามศึกษา เก็บข้อมูลการประเมินการทำงานระหว่างเพื่อนนักเรียนในคลาสเตรียมบริหารธุรกิจของเอียนเป็นระยะเวลา 4 ปี และได้ข้อสรุปว่าในภาคการศึกษาเดียวนักเรียนไม่เพียงก้าวกระโดดในทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นเท่านั้น ยังมีความคิดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับนิยามการเป็นสมาชิกในทีมที่ดีว่า คือการผลักดันช่วยเหลือเพื่อนให้พัฒนาไปด้วยกัน และที่เยี่ยมไปกว่านั้นคือ คุณครูวิชาอื่นต่างยอมรับว่านักเรียนที่ลงเรียนคลาสของเอียนเข้าใจกระบวนการทำงานกลุ่มและแก้ปัญหาได้โปรฯกว่านักเรียนที่ยังไม่ได้เข้าคลาสนี้
อุปสรรคที่ไม่น่ากลัว
องค์กร National Endowment for Science Technology and the Arts (NESTA) ระบุถึงอุปสรรคนานัปการ ที่ถึงแม้คุณครูจะมีความกระตือรือร้นในการสร้างเสริมและมุ่งเน้นการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มมากเพียงใด แต่ก็ต้องตระหนักถึงการมีอยู่ของหลุมบ่อบนเส้นทางนี้ด้วยเช่นกัน เช่น ระบบการศึกษาที่ยังไม่สามารถผนวกการวัดประเมินทักษะด้านนี้เข้ากับการสอบวัดผลดั้งเดิมที่เป็นคะแนนจับต้องได้ รวมถึงหลักสูตรการศึกษามีระยะเวลาสั้นจนการเรียนรู้เชิงกลุ่มพัฒนาได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งบริษัทต่างๆ ก็ยอมรับในความย้อนแย้งว่า แม้ต้องการบุคลากรที่มีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี แต่ใบรายงานผลสอบยังคงเป็นเครื่องยืนยันที่จับต้องได้เช่นกันว่าบัณฑิตคนไหนน่าจะมีผลงานโดดเด่นกว่าคนอื่น
แต่ทั้งนี้ หากมองแล้ว ไม่ว่าอย่างไรนักเรียนก็จะมีแต้มต่อในการออกไปใช้ชีวิตทั้งในการทำงานหรือชีวิตประจำวันอยู่ดี ที่แล้วมา เราเห็นกับกับตามาแล้วว่าตัวเลขเกรดเฉลี่ยไม่ใช่เครื่องชี้วัดความสำเร็จเสมอไป สตีฟ จ็อบส์ กับ แจ๊ค หม่า คือตัวอย่างชัดเจน ดังนี้แล้ว อุปสรรคข้างต้นเหล่านั้นไม่ได้เป็นจุดจบที่น่าถอดใจ แต่เป็นเพียงบททดสอบหนึ่งของคุณครูที่ต้องรวมพลังมดในการยืนหยัดบนแรงเสียดทานของระบบการศึกษาต่อไป รอคอยจนกว่าการปฏิรูปการศึกษาบนผลประโยชน์ของเยาวชนที่แท้จริงจะมาถึง
บางที การตั้งเป้าหมายให้นักเรียนมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เข้าสังคมได้ราบรื่น หรือเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของตนว่าเป็นส่วนหนึ่งของบริบทตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน ไปจนถึงประชากรที่มีค่าในสังคม อาจไม่สำคัญเท่ากับการวางแผนขั้นตอนและวิธีการว่าจะทำอย่างไร…นักเรียนจะเปิดใจและกล้าแลกเปลี่ยนไอเดีย ข้อมูลความรู้จากประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เรียนรู้ ทำความเข้าใจ ทดลอง แก้ไขผิดถูกไปด้วยกัน
นี่อาจเป็นคำถามที่เทคนิคที่ข้างต้นทำหน้าที่เป็นบันไดขั้นเล็กๆ นำพานักเรียนเหล่านั้นเขยิบเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นก็ได้