- ‘คำชม’ มีผลต่อ mindset และความเชื่อที่เด็กมีต่อศักยภาพตนเองว่าสามารถพัฒนาได้หรือไม่ ผลวิจัยบอกว่าการชมเด็กโดยใช้ประโยคว่า “หนูพยายามดีมากเลยจ้ะ” กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มนี้จะเลือกทำโจทย์ในข้อที่ยากขึ้น
- งานศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่าพ่อแม่ที่เอ่ยชื่นชมลูก 3 แบบ คือ ชมที่ตัวเด็ก (เก่งจัง, เป็นเด็กดีจังเลย) ชมที่ความพยายาม (เอามือถือจุกนมเองด้วย, ขยับพลิกตัวเองเป็นแล้ว) และชมแบบไม่เจาะจงอื่นๆ (โอ้โห ว้าว) เมื่อโตขึ้น พบว่าเด็กกลุ่มที่ถูกชมที่ความพยายามจะกล้าเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากรวมทั้งคิดยืดหยุ่นมากกว่า
คำชมมีส่วนสำคัญในการปลูกฝัง Growth Mindset ให้กับเด็กๆ และคำที่มักหยิบมาใช้กันบ่อยๆ อย่าง “เก่งจังเลย” “หนูเป็นเด็กดีมาก” “ฉลาดที่สุด” เหล่านี้ อาจทำให้เด็กเข้าใจว่าตนเก่งและฉลาดจนยอมรับความผิดพลาดได้ยาก
แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) อาจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Mindset: The New Psychology of Success ซึ่งพูดถึงชุดความคิดที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จ ชี้ว่า พ่อแม่หรือครูส่วนใหญ่มักเอ่ยชมลูกหลานและนักเรียนโดยไม่รู้ว่าคำชมบางประเภทส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาความคิดที่เด็กจะมีต่อความสำเร็จเมื่อเขาโตขึ้น
การชมเด็กว่า “เก่ง” และ “ฉลาด” บ่อยๆ ส่งผลเสียอย่างไร
ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งดเว็คให้เด็กประถมแก้โจทย์คำปริศนาง่ายๆ โดยแบ่งเด็กออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกครูชมว่า “หนูฉลาดมากเลยจ้ะ” ส่วนอีกกลุ่มให้ครูชมว่า “หนูพยายามดีมากเลยจ้ะ” จากนั้นเฉลยคำตอบเก็บคะแนนแล้วให้เด็กเลือกโจทย์ข้อต่อไปเอง กลุ่มที่ถูกชมว่าฉลาดส่วนใหญ่จะเลือกโจทย์ที่มีระดับความง่ายเท่าเดิม ในขณะที่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มที่ได้คำชมว่ามีความพยายามจะเลือกข้อที่ยากขึ้น
จากนั้นทดลองใหม่โดยให้เด็กทั้งสองกลุ่มทำโจทย์ซึ่งยากที่สุดโดยทางทีมเป็นผู้เลือกให้ โดยตั้งใจว่าต้องไม่มีใครแก้โจทย์ได้เลย ผลต่างที่สำคัญระหว่างเด็กสองกลุ่มคือ เด็กที่ครูชมว่าพยายาม จะลองแก้โจทย์หลากหลายวิธีกว่าและกระตือรือร้นที่จะจดข้อผิดพลาดของตัวเองไว้ แสดงให้เห็นถึงความยืดหยุ่นและมีแนวโน้มจะโทษความล้มเหลวของตนว่าเป็นเพราะพยายามไม่มากพอ ไม่ใช่เพราะไม่ฉลาด
และในการทดสอบครั้งสุดท้ายที่ให้ทุกคนกลับมาแก้โจทย์ง่ายๆ เหมือนเดิม กลับปรากฏว่า เด็กที่ถูกชมว่ามีความพยายามทำคะแนนได้มากขึ้นจากครั้งแรก ส่วนเด็กที่ถูกชมว่าฉลาดกลับทำคะแนนได้ลดลงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อนักวิจัยขอให้เด็กๆ เขียนจดหมายเล่าประสบการณ์นี้ของพวกเขาให้เด็กในโรงเรียนอื่นรู้ เด็กที่ได้รับคำชมว่าฉลาด บางคนโกหกและเพิ่มคะแนนให้ตัวเอง
นี่คือกลไกที่คำชมมีผลต่อ mindset หรือมุมมองความเชื่อที่เด็กมีต่อศักยภาพตนเองว่าสามารถพัฒนาได้หรือไม่
เด็กซึ่งถูกชมว่าเก่งหรือฉลาดจะเริ่มเกิด Fixed Mindset คือเชื่อว่าความรู้ที่เขามีหรือผลงานที่ทำเกิดจากความพิเศษเฉพาะตัว และเพื่อรั้งตำแหน่งเด็กฉลาดในสายตาคนรอบข้างไปตลอดเขาจึงเลือกทำแต่สิ่งที่มั่นใจแล้วเท่านั้นว่าทำได้สำเร็จ ไม่กล้าเสี่ยงทำอะไรผิดเพราะเป็นกังวลกับความล้มเหลว แสดงความมุ่งมั่นน้อยลงเมื่อปัญหายากมากขึ้น ในที่สุดความตื่นเต้นยินดีที่เกิดจากการได้รับคำชมว่า ‘ฉลาด’ ก็กลายเป็นความกังวลใจที่มากขึ้น รวมถึงความมั่นใจในตัวเอง แรงจูงใจ และความสามารถที่ลดน้อยลง
ชมเพื่อก้าวหน้า ติเพื่อปรับปรุง
จะเห็นได้ว่าการชมที่คุณลักษณะของตัวบุคคลกับชมที่ความพยายามให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน การเอ่ยชมเด็กๆ ว่า “เก่งมาก” คำชมทำนองนี้เป็นการส่งสารให้เขาซึมซับว่าถ้าเกิดมาหัวดีอยู่แล้ว ไม่ต้องพยายามมากมายอะไรก็ทำได้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้น บทความนี้จึงอยากให้คุณครูลองหันมาปรับเปลี่ยนคำชมให้เน้นที่ความพยายาม ตั้งใจ วิธีคิด และขั้นตอนการลงมือแก้ปัญหาของนักเรียนเป็นหลัก
ชมที่ตัวบุคคล | ชมที่ความพยายาม |
หัวดีทางเลขนะเรา | โจทย์ข้อนี้ยังไม่ท้าทายเท่าไหร่ ลองหาอะไรบริหารสมองกันหน่อยดีกว่า! |
เก่งจังเลย | ครูชอบที่เธอคิดหลายๆ แบบ แล้วก็ลองทำหลายๆ วิธีนะ |
หนูเป็นเด็กดี | ขอบใจมากจ้ะที่เธอเก็บอุปกรณ์ให้เรียบร้อยโดยครูไม่ต้องเอ่ยปาก |
เธอมีพรสวรรค์ทางศิลปะนะเนี่ย | ความตั้งใจของเธอฉายชัดเลยในรูปที่เธอวาด พยายามดีมากเลยจ้ะ |
หนูเกิดมาเพื่อเป็นนักเขียนชัดๆ | งานเขียนของหนูชิ้นนี้ทำให้ครูเห็นว่าหนูเข้าใจเลือกคำในมาใช้เป็นนะเนี่ย |
นอกจากคำชม การเลือกคำติติงเด็กๆ ก็เช่นกัน ครูควรเลือกคำชี้แนะอย่างสร้างสรรค์โดยการไม่สะกิดให้เด็กๆ รู้สึก ‘โง่’ ‘ผิด’ ‘เป็นคนไม่ดี’ แต่เน้นกระตุ้นให้เขาพยายามเปลี่ยนแนวคิดหรือวิธีแก้ปัญหาเป็นทางอื่น
ติไปที่ตัวบุคคล | ติไปที่วิธีการ |
เธอทำอะไรเนี่ย เละไปหมดเลย | ถ้าทำวิธีนี้ไม่สำเร็จ ลองวิธีอื่นดูไหมจ๊ะ |
ที่เธอพยายามมา มันยังไม่มากพอ | ครั้งนี้ไม่สำเร็จ แล้วเธอได้เรียนรู้อะไรจากมันบ้าง |
เปียโนอาจไม่ใช่ทางของเธอ | ฝึกเยอะๆ ต่อไปนะ ยิ่งฝึกมากจะยิ่งคล่องขึ้นเอง |
หนูทำตัวเป็นเด็กไม่ดีเลย | ครั้งนี้ที่หนูตัดสินใจพลาดไป ครั้งต่อไปหนูจะเปลี่ยนไปใช้วิธีไหนได้บ้าง ลองคิดดูแล้วไปแก้ไขอีกที |
คำติชมที่มีนัยว่าฉลาด มีพรสวรรค์ หรือเป็นคนดี มักฉุดให้นักเรียนเกิด Fixed Mindset อีกทั้งยังหมดความกระตือรือร้นที่จะฝึกซ้อมพัฒนา
หากเพียงเลือกใช้คำติชมที่ช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ หันมาสนใจปรับปรุงวิธีต่อสู้กับปัญหาก็สร้างความแตกต่างได้แล้ว เพราะมันคือเสียงสะท้อนที่บอกว่าความผิดพลาดคือเรื่องชั่วคราวที่เขามีโอกาสแก้ตัวใหม่พัฒนาต่อไปได้เสมอ
ดเว็คเตือนว่าคำชมที่เน้นลักษณะของตัวบุคคล (หนูเก่ง ฉลาด เป็นคนดี) แม้ดูไม่น่าจะเกิดปัญหาถ้าเด็กคนนั้นสามารถทำสำเร็จในท้ายที่สุด แต่ตามจริงแล้วไม่มีใครหนีพ้นความผิดพลาด หากเด็กยึดมั่นว่าความสำเร็จได้มาจากความเป็นเลิศที่ตนมี เมื่อล้มเหลวมันย่อมหมายความว่าเขา ‘ห่วยลง’ กว่าเดิม นี่จึงเป็นสาเหตุว่าคนที่มี Fixed Mindset เลยมักจะหลีกเลี่ยงงานยากหนีอุปสรรคความท้าทายเพราะต้องรั้งสถานะคนเก่งไว้ให้ได้
การให้คำติชมผลงานของนักเรียนก็เช่นกัน ครูควรชี้ให้ชัดว่าที่เขาทำได้ดีนั้นดีตรงไหน ไม่ว่าจะเป็นติชมซึ่งหน้าหรือเขียนโน้ตบนสมุดการบ้านของพวกเขา
ชมแบบคลุมเครือ | ชมแบบเจาะจงชัดเจน |
ทำได้ดี! เก่งมาก! เยี่ยม! | การบ้านเรื่องสมการวันนี้เธอพยายามได้ดีมาก |
ดีมาก! | เขียนเรียงความบรรยายออกมาได้ละเอียดดีมาก |
ยอดเยี่ยม! | วันนี้เต้นได้สวยมาก ครูเห็นเลยว่าหนูซ้อมมาเยอะ |
เก่งจริงๆ! | เลือกวิธีได้เข้าท่านะเรา คิดแก้ปัญหาสร้างสรรค์ดี |
ในการเรียนการสอนยุคใหม่ เสียงสะท้อนจากเด็กๆ ต่อเนื้อหาที่เรียนก็มีประโยชน์เช่นกัน ครูควรรับฟังเสียงของพวกเขา รวมทั้งเปิดโอกาสให้แลกเปลี่ยนผลัดกันติชมผลงานการนำเสนอหรือการแสดงของเพื่อน โดยใช้โอกาสนี้ช่วยปรับจูนเสียงสะท้อนเหล่านั้นให้เห็นคุณค่าความพยายามตั้งใจมากขึ้นและชี้แนะจุดที่เขาควรแก้ไขได้
เสียงสะท้อนที่คลุมเครือ | เสียงสะท้อนที่สร้างสรรค์ |
การหารยาวอะไรนี่ดูแล้วไม่รู้เรื่องเลยค่ะครู | ตอนนี้เธอยังไม่เข้าใจเรื่องหารยาว แต่ฝึกไปกับครูบ่อยๆ ก็จะเข้าใจมากขึ้นจ้ะ |
ก็ติ๊นาเขาเก่งสุดในชั้นนี่คะครู | ครูเห็นติ๊นาเขาตั้งใจจริงในการสอบครั้งนี้นะ พวกเธอลองถามเคล็ดลับการจดโน้ตจากเขาดูสิ |
บทนี้มันยากเกินไปสำหรับพวกหนูค่ะ | ยากๆ สิดี! เพราะมันหมายความว่าเธอกำลังเรียนรู้สิ่งใหม่ เซลล์สมองก็จะเติบโตแข็งแรงขึ้นด้วยนะ |
ด้านล่างเป็นไกด์ไลน์คำติชมซึ่งเน้นที่ความมุ่งมั่นตั้งใจเป็นหลัก อยากชวนให้คุณครูลองนำไปใช้ในห้องเรียนอย่างสม่ำเสมอด้วยกันดังนี้
- ครูสังเกตว่าหนูพยายามเรื่อง…………… ดีมาก
- งานชิ้นนี้ครูเห็นได้ชัดเจนว่าเธอพัฒนาเรื่อง………มากขึ้นเป็นพิเศษ
- งานเขียนชิ้นนี้ของนักเรียนแตกต่างจากงานก่อนตรงที่…………
- ครูชื่นชมความตั้งใจของเธอเรื่อง…………..
- ครูเห็นเธอตั้งใจเรียนรู้และพยายามเรื่อง………..ดีมาก
- ครั้งต่อไปถ้านักเรียนลอง……………….ดูมันจะเป็นอย่างไร
- นักเรียนลองเปลี่ยนวิธีใหม่เป็น………ดูซิว่า ผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร
- เธอมาถูกทางแล้ว เหลือปรับเรื่อง…………..อีกหน่อย
คำติชมระหว่างเพื่อน
นอกจากคำติชมที่ครูพึงใช้ การสอนให้เด็กๆ เปิดใจเรียนรู้ที่จะรับฟังคำติชมจากเพื่อน และให้คำติชมแนะนำเพื่อนด้วยกันนั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องทำควบคู่กันไป
ผู้เชี่ยวชาญด้านการสอน แอนนี บร็อค และ ฮีเธอร์ ฮันด์ลีย์ ผู้เขียนหนังสือ The Growth Mindset Coach เล่าถึงบรรยากาศการเตรียมความพร้อมของเด็กชั้นอนุบาลให้คุ้นเคยกับ Growth Mindset ว่า
ฉันให้เด็กๆ ฝึกทักษะการเขียนและสร้างประโยคโดยให้วาดภาพเป็นไอเดียก่อนแล้วค่อยๆ ให้เพิ่มรายละเอียดเข้าไปทีละหน่อย การให้เด็กวาดภาพก่อนพูดทำให้เขาได้ใช้สมองคิดล่วงหน้าและทักษะการบรรยายและการวางแผน โดยครูเองก็สามารถติชมขั้นตอนวางแผนกับความตั้งใจของพวกเขาจากรูปภาพไปพร้อมกันด้วย
ช่วงที่เด็กวาดภาพ ฉันก็จะสอนไปด้วยว่าการได้ผิดพลาดและเรียนรู้ (Growth Mindset) เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับชีวิต สมองและจิตใจของเรายิ่งเติบโตเมื่อเจออุปสรรค ระหว่างเดินชมภาพของนักเรียนไปทั่วห้องก็จะเอ่ยติชมความพยายาม เทคนิคการวาดหรือถามคำถาม ชี้แนะและให้กำลังใจในความตั้งใจไปด้วย เช่น “พยายามต่อไปนะ ตรงนี้ยังดูเหมือนขาดอะไรไป ลองเพิ่มตรงนี้ดีไหม” หรือ “ครูชอบรายละเอียดรูปบ้านของเธอนะ เห็นได้ว่าหนูมีภาพบ้านในหัวและถ่ายทอดมันออกมาชัดเจนจริงๆ”
เมื่อวาดเสร็จเด็กๆ ในชั้นได้แลกเปลี่ยนดูผลงานติชมกันและกัน โดยก่อนหน้านี้ ครูควรสอนให้เด็กแยกแยะคำติชมระหว่างตัวบุคคลกับชมที่ความพยายามให้ออกเสียก่อน การติชมเพื่อนอย่างสร้างสรรค์ควรสังเกตและเน้นไปที่ความตั้งใจ วิธีคิดและเทคนิคที่น่าสนใจของเพื่อน เช่น “เราชอบตรงที่ภาพเธอบอกรายละเอียดชัดดีว่าเป็นฤดูร้อน” “เธอตั้งใจเขียนเรียงความออกมาซะเห็นภาพชัดเลย” “เราชื่นชมที่เธอสะกดถูกทุกคำเลย”
ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างพื้นฐานให้พวกเขา นอกจากกล้าคิดกล้าทำนอกกรอบ ยังรู้จักติชมกันอย่างสร้างสรรค์และรับฟังอย่างเปิดกว้าง ชั้นเรียนก็จะสมัครสมานสามัคคีและพร้อมที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเองไปด้วยกัน
การติชมอย่างสร้างสรรค์ต้องมีสติพอสมควรในการเลือกใช้คำ และอาจต้องใช้เวลาสักพักจึงคุ้นชิน ตัวอย่างคำติชมที่ครูสามารถแปะไว้หน้าชั้นเป็นไกด์ไลน์ให้เด็กๆ นำไปใช้ให้เป็นนิสัย เช่น
- สิ่งที่เราชอบที่สุดในงานของเธอคือ……..
- ฉันชอบตรงนี้ที่เธอ…….
- ตรงนี้จะดีขึ้นถ้าเธอลอง…………….
- เราสังเกตว่าเธอพยายามดีมากตรง………….
นอกจากคำติชมเชิงสร้างสรรค์ การถามให้เด็กๆ อธิบายความเข้าใจ ไอเดีย หรือความเป็นมาของงานที่ทำก็เป็นการช่วยสร้าง Growth Mindset ได้ดีอีกทาง หนึ่งในคำถามทรงพลังที่จะช่วยให้เขากระตือรือร้นคิดอธิบายอย่างเสรีคือ
“หนูชอบงานชิ้นนี้ของตัวเองไหม ชอบตรงไหนมากที่สุด”
ผลดีระยะยาวของคำชมเชิงสร้างสรรค์
มีงานศึกษาในชิคาโกชิ้นหนึ่งที่สำรวจการปฏิสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่กับลูกตั้งแต่แรกเกิดจนสองขวบทุกๆ สี่เดือน ทีมศึกษาพบว่าพ่อแม่จะเอ่ยชื่นชมลูก 3 แบบคือ ชมที่ตัวเด็ก (เก่งจัง, เป็นเด็กดีจังเลย) ชมที่ความพยายาม (เอามือถือจุกนมเองด้วย, ขยับพลิกตัวเองเป็นแล้ว) และชมแบบไม่เจาะจงอื่นๆ (โอ้โห ว้าว)
ทิ้งไว้ห้าปี ทีมวิจัยเข้าไปหาครอบครัวเหล่านี้อีกครั้งเพื่อวัดประเมินลักษณะความคิดของเด็กๆ เมื่อโตขึ้น พบว่าเด็กกลุ่มที่ถูกชมที่ความพยายามจะกล้าเผชิญกับอุปสรรคและความยากลำบากรวมทั้งคิดยืดหยุ่นมากกว่าอีกสองกลุ่ม
คงเห็นแล้วว่าการกล่าวชมเด็กๆ สามารถสร้าง Growth Mindset หรือ Fixed Mindset ให้เขาได้ เซลล์สมองเชื่อมต่อได้ไวและดีที่สุดช่วงเด็กเล็ก เพราะฉะนั้นการปลูกฝังให้เด็กมี Growth Mindset ไม่เกรงกลัวอุปสรรค เปิดรับและรู้จักคำติชมเชิงสร้างสรรค์สามารถทำได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
ดเว็คแนะนำว่าวิธีสร้าง Growth Mindset ที่ดีที่สุดคือการได้ปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมกับเด็กๆ ระหว่างที่พวกเขากำลังตั้งใจทำบางอย่าง ให้ความสนใจว่าเขาทำอะไรและถามไถ่ว่าทำไมเขาจึงเลือกทำเช่นนั้นโดยไม่ไปตัดสิน เมื่อผิดหวังพลั้งพลาด ปล่อยให้เขาเรียนรู้ด้วยตนเองแล้วเปิดโอกาสให้ลองใหม่
และถ้าเป้าหมายของเราที่ชมเพื่อให้เด็กมีความมั่นใจ สตีเฟน กรอซ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Examined Life ได้กล่าวถึงว่า หากเราต้องการให้เด็กมีความมั่นใจจึงมอบคำชมให้เขา แท้จริงแล้วนอกจากคำชมคือการใส่ใจในตัวเขา ทำให้เขารู้สึกมีค่า สิ่งนี้จะสร้างความมั่นใจให้เด็กได้ ซึ่ง กรอซ ได้เล่าถึงช่วงที่ได้สังเกตและสนทนากับชาร์ล็อต สติกลิทซ์ ครูที่สอนการอ่านเพื่อซ่อมเสริมแก้ไขข้อบกพร่องทางการอ่านที่รัฐอินเดียนา ชาร์ล็อตเล่าว่า
“ฉันไม่เคยชมเด็กเวลาที่พวกเขาทำในสิ่งที่พวกเขาน่าจะทำได้ ฉันชมเวลาที่พวกเขาทำอะไรที่ยากจริงๆ อย่างเช่น แบ่งของเล่นกับเด็กอื่น หรือแสดงความอดทน ฉันจะไม่ชมเชยเด็กที่กำลังเล่นหรืออ่านหนังสือ”
ไม่มีรางวัลชิ้นใหญ่ ไม่มีบทลงโทษรุนแรง ชาร์ล็อตมุ่งเน้นไปยังสิ่งที่เด็กทำและวิธีการที่เด็กคนนั้นทำ
ครั้งหนึ่ง ชาร์ล็อตอยู่กับเด็กที่กำลังวาดรูป พอเขาหยุดวาดและเงยหน้าขึ้นมองเธอ ซึ่งอาจจะหวังคำชม เธอเพียงแค่ยิ้มและพูดว่า “รูปที่เธอวาดมีสีฟ้าเยอะมากนะจ๊ะ” เด็กน้อยตอบว่า “มันเป็นบ่อน้ำใกล้บ้านคุณย่าผมฮะ…ชาร์ล็อตคุยกับเด็กอย่างไม่รีบร้อนแต่ที่สำคัญคือ เธอสังเกต ตั้งใจฟัง และใส่ใจในตัวเด็ก
การใส่ใจในตัวเด็กช่วยสร้างความมั่นใจให้เด็กได้ เพราะทำให้เด็กคนนั้นรู้ว่าตัวเขามีค่าควรแก่การคิดถึง ถ้าปราศจากความใส่ใจเด็กอาจเชื่อว่ากิจกรรมที่เขาทำเป็นเพียงวิธีที่จะได้รับคำชม ไม่ใช่สิ่งสำคัญในตัวมันเอง