- คุยกับ กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ถึงบทบาท ‘การสร้างการเรียนรู้’ ติดเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะ 4Cs – Collaboration, Critical Thinking, Communication, Citizenship ผ่านโครงการ Active Citizen ว่าทักษะเหล่านี้ทั้งหมดทั้งมวลนั้นสำคัญอย่างไรกับโลกปัจจุบันและอนาคต
- หัวใจของการออกแบบการเรียนรู้อาจไม่ได้ตั้งต้นที่การใช้หัว แต่คือการคืนประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ให้กับเด็กๆ เพราะเมื่อไรก็ตามที่เราออกไปรับประสบการณ์ อยากคิดวิเคราะห์อะไรบางอย่าง เราต้องเปิดกว้าง เปิดตา เปิดใจ ทำงานกับโลกภายใน สุดท้ายจะตกผลึกได้ในที่สุด
เรื่อง: ปุณิกา พุณพาณิชย์
หากบอกว่า ‘การเรียนรู้’ เป็นเรื่องของโรงเรียน พูดอย่างนั้นก็ไม่ผิด เพราะนี่คือพื้นที่ที่คนเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ พูดคุย ทดลอง มีประสบการณ์ร่วมกัน แสวงหาองค์ความรู้จำเป็น ทั้งต่อการพัฒนาตนเองในด้านอาชีพและปัญญา สำคัญที่สุด นี่คือพื้นที่ – สังคม ที่มนุษย์ในช่วงเวลาหนึ่งอาศัยอย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวัน
แต่แน่นอนเช่นกันว่า ‘การเรียนรู้’ ของมนุษย์ตีความได้ไกล ลึกซึ้ง และมีเหลี่ยมมุมหลากหลายกว่านั้น
บ้าน สนามเด็กเล่นใกล้บ้าน ห้องสมุด ทะเล ป่า ลานในชุมชน ร้านหนังสือ หนังสือที่อ่าน ห้างสรรพสินค้า คอร์สเรียนออนไลน์ การปฏิสัมพันธ์ในโซเชียลมีเดีย และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ก็คือเครื่องมือการเรียนรู้ไม่ต่างกัน – นี่คือประเด็นที่หนึ่ง เครื่องมือแห่งการเรียนรู้
ประเด็นที่สอง ในปัจจุบันที่โลกเปลี่ยนเร็ว แรง และขนาดใหญ่อันเนื่องจากการเปลี่ยนของเทคโนโลยี สิ่งที่เกิดคือเราเข้าถึงความรู้ได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว เช่นกัน ความรู้ก็มีอายุสั้นลง สิ่งที่อยู่ในหนังสือวันนี้อาจไม่เป็นจริงแล้วในวันรุ่งขึ้น เส้นพรมแดนประเทศพร่าเลือน เดินไปไหนก็พบกับความหลากหลายของผู้คนได้ทุกขณะ – และอื่นๆ ที่ทุกคนเห็นภาพกันแล้วในโลกปัจจุบัน
ต่อประเด็นนี้ โลกเปลี่ยนแรงและเร็ว การเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องเปลี่ยนตามอย่างไร และการเรียนรู้ที่ว่าต้องมอบ ‘ทักษะ’ อะไรต่อมนุษย์ในวันนี้บ้าง แน่นอนว่าก้อนความคิดที่มาแรงแซงโค้งคือ ทักษะในศตวรรษที่ 21 แต่จะสร้างอย่างไร และจำเป็นไหมที่ผู้ติดอาวุธนี้จะเป็นบุคลากรในรั้วโรงเรียนเท่านั้น?
กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ผู้รับผิดชอบโครงการ Active Citizen ทั้งหมด 9 จังหวัด โครงการที่ชวนคนในพื้นที่ชุมชนมาจัดและออกแบบการเรียนรู้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ และในฐานะนักออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้กว่า 15 ปี พูดถึงบทบาท ‘การสร้างการเรียนรู้’ ในโลกสมัยใหม่ (ที่ไม่จำเป็นต้องสวมหมวกเป็นครู) ติดเครื่องมือการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะ 4Cs – Collaboration, Critical Thinking, Communication, Citizenship – ผ่านโครงการ Active Citizen
นี่เป็นอีกหนึ่งพื้นที่การเรียนรู้นอกกำแพงโรงเรียน และสร้างสรรค์โดยคนที่ไม่ใช่ครู แต่คือคนในพื้นที่ที่ลุกมาออกแบบวิธีเรียนรู้ให้ลูกหลานของพวกเขาเอง สำคัญที่สุด มันเป็นการออกแบบการเรียนรู้เพื่อติดตั้งทักษะในโลกยุคใหม่ ผ่านการทำโปรเจ็คต์นอกห้องเรียน เสริมเพิ่มด้วยการออกแบบการเรียนรู้ผ่านงานศิลปะอย่างสร้างสรรค์
ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กิตติรัตน์อยากชวนคนทำงานการศึกษามาร่วมออกแบบการเรียนรู้กัน
ก่อนจะว่ากันเรื่องการออกแบบโครงการให้เด็กๆ อยากให้เล่าความสำคัญว่าทำไมเยาวชนต้องมี 4Cs ทักษะเหล่านี้จำเป็นอย่างไรในโลกปัจจุบัน
อย่างที่เราเข้าใจกัน ตอนนี้เราอยู่ในโลกยุคใหม่ที่เรียกว่าศตวรรษที่ 21 ซึ่งมันแตกต่างจากอดีตมาก โลกยุคนี้มีข้อมูลข่าวสารเยอะ เรารับข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ไม่ได้รับสารผ่านทีวีเป็นหลักอีกแล้ว มีงานวิจัยบอกว่าเราอยู่กับมือถือมากกว่า 8 ชั่วโมง/วัน ลองคิดดูว่าในช่วงเวลานี้จะมีข้อมูลเข้ามามากเท่าไร พอการรับข้อมูลเปลี่ยนแบบนี้ มันจึงมีปัจจัยหลายเรื่องเข้ามากระตุ้นเราผ่านสื่อ เรามีปฏิสัมพันธ์กันผ่านเทคโนโลยีมากกว่าเดิม นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างที่หนึ่ง
ประการที่สอง เด็กๆ ต้องเรียนในโรงเรียนเนอะ อยู่ร่วมกับคนที่เป็นครู อยู่ร่วมกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน ชีวิตของเขาส่วนใหญ่อยู่ในโรงเรียนมากกว่า 6 ชั่วโมง นี่แปลว่าเขาใช้ชีวิตมากกว่าอยู่ที่บ้านอีกนะถ้าไม่นับเวลานอน
ที่ตามมาคือการเชื่อมตัวเองกับชุมชนมันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะวิถีชีวิตของเรากับชุมชนเปลี่ยนไป เช้ามาเด็กไปโรงเรียน เย็นกลับบ้าน นี่ภาพของความเป็นชุมชนที่ต่างจังหวัดนะ มันไม่มีพื้นที่หรือกิจกรรมที่จะทำให้เด็กเชื่อมโยงหรือมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต อาชีพ สิ่งแวดล้อม หรือสถานการณ์ปัญหาตรงนั้น นอกเวลาเรียนเด็กก็เชื่อมโยงกับชุมชนออนไลน์มากกว่า และเมื่อเด็กไม่เชื่อมโยงกับชุมชนที่เขาอาศัยอยู่เลยจะเกิดอะไรขึ้น? แม่น้ำ ป่าไม้ ทรัพยากรในบริเวณนั้นจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ไม่เป็นไร ไม่รู้สึกเดือดร้อน เพราะเขาไม่สามารถเชื่อมโยงได้ว่าน้ำที่เขาใช้ อาหารที่เขารับประทานมันเกี่ยวกับป่าและแม่น้ำยังไง เพราะเราไม่ connect กับพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ถ้าสถานการณ์มันเป็นแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเรา
ประการที่สาม การใช้ชีวิตของคนในปัจจุบันก็เปลี่ยนไป เราจับจ่ายใช้เงินเพื่อตอบสนองความสุขความสบาย ไม่ใช่การเข้าหาธรรมชาติ อ่านหนังสือ ดื่มด่ำกับอุดมการณ์และลุกขึ้นมาเข้าใจสังคมแล้ว ฉะนั้นเด็กยุคใหม่จำเป็นต้องมีทักษะที่แตกต่างกว่าเดิม แต่ก่อนเราทำมาหากินด้วยการเอาจอบเอาเสียมออกไปทำมาหากิน ทักษะที่คนในยุคนั้นจะได้คือแบบหนึ่ง แต่สมัยนี้เราต้องมีทักษะการทำงานกับเทคโนโลยี ทำงานกับการคิดวิเคราะห์ รับข้อมูลข่าวสารยังไงให้มีการคิดวิจารณญาณ ที่เลือกได้ แยกแยะได้ ซึ่งเราคิดว่านี่คือทักษะในโลกยุคใหม่ที่แตกต่างจากเดิม วงการศึกษาโลกจึงบอกหนึ่งหมวดในทักษะศตวรรษที่ 21 คือเรื่อง competency หรือ ทักษะที่เราควรมีเพื่อทำงาน พูดถึง 4Cs คือ
- Collaboration ทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม อยู่ร่วมกันกับเพื่อน การทำงานภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย
- Critical Thinking คิดอย่างมีวิจารณญาณ ทักษะคิดวิเคราะห์ ทักษะคิดเชื่อมโยง
- Communication ทักษะการสื่อสาร ไม่ได้หมายความว่าใช้สื่อเป็นหรือสื่อสารผ่านสื่อเท่านั้น แต่หมายถึงการสื่อสารเพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น คิดวิเคราะห์และอยู่ร่วมกับคนอื่นได้ด้วย
- Citizenship หรือ Civic Engagement ทักษะเชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนได้ เพราะโลกยุคนี้ส่วนใหญ่ตัดขาดตัวเองออกจากชุมชน การเห็นเยาวชนที่เชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนได้ รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งกับชุมชน อยากลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อไม่นิ่งดูดาย ลุกขึ้นมาแก้ปัญหาสิ่งที่ชุมชนต้องการ ซึ่ง C ที่ 4 มันเป็นแกนกลางหรือกระดูกของ 3Cs อยู่แล้ว
เรียกว่านี่เป็นโจทย์ของการออกแบบโครงการเรียนรู้ในโครงการ Active Citizen ได้หรือเปล่า และครั้งนี้ออกแบบยังไงให้เด็กเกิด 3Cs
ฟังแล้วดูน่าตกใจเนอะ โลกเปลี่ยน ทักษะก็เปลี่ยน แล้วจะออกแบบการเรียนรู้ยังไงที่จะให้เด็กมีทักษะแบบนี้? ฟังดูเหมือนยาก แต่เราคิดต่างออกไปอีกมุม จริงๆ แล้วทักษะ 3Cs มันมีอยู่แล้วนะ และเรียกว่ามีมาตั้งแต่ในศตวรรษที่ 20 ด้วยซ้ำ เพราะเป็นทักษะที่มนุษย์ใช้กันอยู่แล้วนี่แหละ การที่คนคนหนึ่งจะเรียนรู้เพื่ออยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม มันมีอยู่แล้ว แต่เรียกว่าเรากลับมา ‘ออกแบบการเรียนรู้ที่คืนทักษะให้เขาได้เอาไปปรับและประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตจริง หรือออกแบบการเรียนรู้เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เขาได้ใช้ทักษะแต่ละด้าน’ อันนี้เป็นโจทย์ที่ทำโครงการ
ตอบคำถามเร็วๆ ก่อนว่า แล้วโครงการออกแบบการเรียนรู้เพื่อให้เกิด 3Cs เป็นยังไงเนอะ… เราเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นผ่านประสบการณ์และการแก้ปัญหา
หนึ่ง-ลงมือทำจริง มีประสบการณ์ด้วยตัวเอง สอง-พอทำจริง มีประสบการณ์จริงก็ต้องตามมาด้วยปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหานี่แหละที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของมันเอง สุดท้าย-ได้นำเสนอแลกเปลี่ยนกับเพื่อนว่าเพื่อนแต่ละคนแก้ปัญหายังไง อาจเรียกว่าการ reflection หรือถอดบทเรียน การออกแบบการเรียนรู้ควรจะมีสามเรื่องนี้เพื่อให้น้องมีทักษะ 3Cs ในค่ายนี้เราออกแบบกิจกรรมหลักอยู่ 4 เรื่อง โดยการเรียนรู้จากประสบการณ์
เวลาเราออกแบบการเรียนรู้ 3Cs จะไม่แยกส่วน เราต้องการให้ทุก C ถูกใช้งานพร้อมกันจากการทำภารกิจใดภารกิจหนึ่ง แต่โดยรวม เราจะออกแบบให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้
กิจกรรมที่หนึ่ง คือ เกม ทำหน้าที่เป็นกิจกรรม get together ให้น้องๆ ได้ทลายน้ำแข็งของตัวเองที่เราเรียกว่าเป็น ice breaking ละลายตัวตนว่าเราเป็นใครและออกมาเชื่อมโยงกับคนอื่น ออกมาเชื่อมโยง พูดคุย รับฟัง ออกมา พูด คิด ถาม เขียน เพราะธรรมชาติของคนรุ่นใหม่เรียนรู้ผ่านความรู้สึก ความสนุก ออกแบบเกมสนุกๆ เพื่อให้เขาได้รู้จักตัวเอง
กิจกรรมที่สอง การแนะนำตัวเองผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ การได้บอกว่าเราเป็นใคร มีที่มายังไง ชอบ/ไม่ชอบอะไร มีความคิดความฝันอะไร อยากเห็นตัวเองพัฒนาไปยังไง ตรงนี้ทำให้เรายืนหยัดและเอาตัวเข้ามาเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ การรับฟังคนอื่นยังทำให้รู้ว่าคนแต่ละคนต่างกันยังไง เราจะเป็นเพื่อนกันได้ยังไง และเราอาจมีจุดร่วมบางอย่างที่ทำให้เราเชื่อมโยงถึงกัน
ในกิจกรรมนี้ยังออกแบบให้เกิด ‘การฟัง’ เพราะเราบอกว่าเรากำลังทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่อยากให้พวกเขามีทักษะการทำงานร่วมกันเป็นทีม ประตูบานแรกที่ทำให้คนทำงานร่วมกันเป็นทีมได้คือการฟัง นำไปสู่การทำให้เขาเรียนรู้ว่าฟังอย่างไรให้ connect กับคนอื่นได้ ฟังอย่างไรให้เราจับประเด็นความรู้สึกหรือความต้องการของคนที่สื่อสารกับเรา นำเอาแก่นหรือประเด็นเข้ามาเชื่อมโยงกับเรา แล้วเลือกจะทำอะไรร่วมกันได้ การฟังจึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่ต้องติดตั้งให้กับเขา โดยเฉพาะการฟังความรู้สึกเป็นเรื่องสำคัญมากนะ โลกยุคนี้ฝึกให้เราฟังแต่เนื้อหา แต่ค่ายนี้เน้นเรื่องการฟังใจกัน ฟังความต้องการกัน นี่แหละคือกุญแจการหลอมรวมความรู้สึก หลอมรวมการทำงานร่วมกันได้
กิจกรรมที่สาม พลังกลุ่ม อันนี้เราออกแบบเพื่อให้เยาวชนเรียนรู้ว่าการทำงานร่วมกัน เริ่มต้นจากการมีเป้าหมาย มีภารกิจที่ต้องบรรลุร่วมกัน กำหนดธงของเราให้ชัด จากนั้นเรียนรู้เรื่องการวางแผน การแบ่งงาน แบ่งความถนัดของคน จัดวางคนให้ทำงานร่วมกัน เมื่อแบ่งงานแบ่งคนตามความสามารถเฉพาะของคนแล้ว ต่อมาคือความเป็นพลังกลุ่ม เป็นเรื่องการร่วมแรงร่วมใจ ต้องลงมือ ไม่ใช่แค่ทำแบบห่างๆ ทำพอให้ผ่านไป แต่มันคือการส่งพลัง ส่งแรงใจของเราพร้อมกับแรงใจของเพื่อนเพื่อให้งานบรรลุเป้าหมายร่วมกัน พลังกลุ่มเกิดจากการใช้พลังร่วมกัน ผิดก็ผิดร่วมกัน เจอปัญหาก็เจอร่วมกัน แล้วมันจะเกิดการสู้สิ่งยากก้าวข้ามปัญหานั้นเพื่อหยิบธงเราให้ได้
ยกตัวอย่าง ในค่ายนี้ ภารกิจคือการทำงานร่วมเป็นทีม เมื่อมีโจทย์มาเขาต้องฝึกแก้ปัญหา เช่น มีกระป๋องเปล่าอยู่ เราต้องวิ่งเอาน้ำไปเติมในกระป๋องให้ได้มากที่สุดในเวลาจำกัด ซึ่งไม่มีอุปกรณ์อะไรให้คุณตักน้ำเลย อันนี้ก็ต้องใช้แรงกายแรงใจกันแล้ว ต้องคิดและแก้ปัญหาด้วยว่า คุณจะเอาอะไรมาตักน้ำ เสื้อเหรอ หมวกเหรอ? ทุกคนต้องร่วมแรงเสียสละตัวเองทำภารกิจให้สำเร็จได้ นี่คือพลังกลุ่ม
สิ่งที่ได้จากพลังกลุ่มคือความไว้ใจและการรู้ว่าการเสียสละมันสำคัญยังไง การแก้ปัญหาทุกอย่างจะแก้ได้ต้องมีการเสียสละ การเป็นผู้นำผู้ตาม การยอมลดอัตตาตัวเอง การเป็นผู้นำแบบรับใช้ คือ รู้ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน เราจะเข้าไปอุดอะไร นี่คือกรุ๊ป พลังกลุ่ม มันเป็นกระบวนการแก้ปัญหา ปรับตัว การเสียสละ ไว้ใจ เมื่อเราลงแรงกายและใจแล้ว ภารกิจจึงจะสำเร็จได้ นี่คือทักษะที่คนรุ่นใหม่ต้องเรียนรู้เพื่อการมี collaboration
กิจกรรมสุดท้าย สายธารชีวิต เราตั้งใจออกแบบกิจกรรมนี้เพื่อให้เยาวชนได้รับฟังตัวตนของเพื่อน ได้ยินว่านี่เป็นกิจกรรมที่โดนใจน้องๆ ในค่ายมากที่สุด ชีวิตของเราทุกคนต่างมีตำนานของตัวเอง สายธารชีวิตคือตำนานชีวิตตัวเองกว่าจะเป็นวันนี้ เราทุกคนกว่าจะเป็นวันนี้มันหล่อหลอมตัวตนจากหลายอย่าง อาจเจอปัญหา เจอความยาก มีต้นแบบที่เรารัก ต้นแบบที่อยากเป็น มีความใฝ่ฝัน ทั้งหมดคือการเรียนรู้ชีวิตที่ไม่ได้เรียนผ่านการรู้ได้เอง การเล่าสายธารชีวิตทำให้เยาวชนเกิดความเชื่อมโยงกันได้ เห็นใจกัน รู้สึกได้ว่ากว่าเพื่อนเราจะเป็นคนแบบนี้ เขาผ่านอะไรมาบ้าง การได้บทเรียนจากเรื่องราวของเพื่อนมันก่อเกิดบทเรียนใหม่ และทำให้เขานำประสบการณ์หรือบทเรียนจากเพื่อนมาปรับใช้ในชีวิตเขาได้ ทักษะของการได้กลับมาใคร่ครวญนี่สำคัญมากนะ
กระบวนการทบทวนตัวเอง ในแง่การเรียนรู้สำคัญอย่างไร
กระบวนการเรียนรู้ส่วนใหญ่เราจะเรียนรู้จากข้างนอกและบทเรียนใหม่เสมอๆ แต่ว่าสายธารชีวิตมันออกแบบมาเพื่อให้เยาวชนกลับมาหาบทเรียนจากชีวิตเขาเอง เพราะนี่คือ learning by doing ที่หาไม่ได้จากที่อื่นแล้ว และมันมีค่ามากด้วย การเกิดวงแบบนี้ทำให้คนกรุณาและนำเอาบทเรียนต่างๆ มาเรียนรู้ เราได้แต่คาดหวังว่าวงแบบนี้จะเกิดโดยธรรมชาติที่เราได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำงานร่วมกันเป็นทีม การได้รู้จักชีวิตของเพื่อนทำให้เรียนรู้ที่จะไว้ใจกัน ตลอดหนึ่งปีที่ได้อยู่ด้วยกันคนที่อยู่ในชุมชนเดียวกันจะเกิดการช่วยเหลือกันในระยะยาว
เฉพาะการออกแบบการเรียนรู้ที่สตูลครั้งนี้ คุณและทีมงานออกแบบให้น้องๆ เรียนรู้ผ่านการลงพื้นที่จริงและผลิตงานศิลปะ อยากให้ขยายความว่าตั้งใจอยากทำให้เกิดการเรียนรู้อะไร เริ่มที่การเรียนรู้โดยการลงพื้นที่จริงที่ปากบาราก่อน
คนสตูลรุ่นใหม่เองรู้อยู่แล้วล่ะว่าปากบาราสำคัญยังไง ทั้งเป็นหาดเศรษฐกิจ มีต้นสนเรียงตัวสวยงาม มีร้านค้าเยอะ ผู้คนมาจับจองใช้สอยพื้นที่ มาดื่มด่ำบรรยากาศ มาช็อปปิ้ง และอันที่จริงตรงนี้ก็เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ด้วย โดยเฉพาะมันเป็นแหล่งรวมวิถีชีวิตโดยเฉพาะประมงพื้นบ้าน หมายความว่าภายใต้หาดหนึ่งแห่ง นี่คือแหล่งเรียนรู้มากมายที่น้องๆ เข้าไปเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องหาข้อมูลแต่ในมือถือ แต่ลองเอาตัวเองไปในชุมชนใดชุมชนหนึ่งที่มีความหลากหลายของประเด็น ลองให้น้องเอาตัวเองไปจุ่มแช่ ไปสัมผัส ไปเอาข้อมูลทุกอย่างจากการเห็น สัมผัส พูดคุย ชิมรส กินอาหาร การมองหาปัญหา รวมถึงสิ่งสวยงามด้วยนะ แล้วค่อยเอาข้อมูลตรงนั้นกลับมาวางกันตรงกลางในห้องแล็บ
จากนั้นเลือกหยิบประเด็นที่สนใจมาคิดวิเคราะห์แยกแยะ เรารู้สึกยังไงกับข้อมูลนั้น เราเห็นปัญหาอะไร จับแก่นบางอย่าง สรุปความคิดรวบยอด แล้วดูว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่ปากบารารึเปล่า เป็นส่วนของธรรมชาตินั้นรึเปล่า แม้ว่าเราจะอยู่ละงู อยู่ในเมืองสตูล แต่ถามตัวเองว่าเราเชื่อมโยงกับปากบาราไหม แล้วดูซิว่าถ้าเราอยากสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง เราอยากบอกอะไร
ถ้าถอดออกมาให้ชัด โจทย์นี้คือการให้น้องฝึก 2C คือ Critical Thinking กับ Communication แต่ผ่านการทำงานเป็นทีมคือ Collaboration สุดท้ายมันก็จะได้ตัวที่ 4 เองคือ คือ Citizenship สำนึกความเป็นพลเมืองที่เห็นแล้วทนแล (ดู) ไม่ได้ รู้สึกอยากบอกหรืออยากสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไร
ก่อนน้องลงชุมชน ให้เครื่องมืออะไรหรือให้ความรู้อะไรกับน้องไหม
คือพอเราบอกว่าเราอยากให้น้องเขามีทักษะเหล่านี้ เช่น บอกว่าอยากให้เขามี Critical Thinking ก็ไม่ใช่ว่าถึงเวลาให้น้องลงพื้นที่แล้วให้คิดวิเคราะห์เลย ไม่ใช่นะครับ จุดเริ่มต้นหรือทักษะแรกคือการเปิดรับสัมผัส รับประสบการณ์ เพราะเวลาบอกว่ารับข้อมูลมันก็คือการรับประสบการณ์เนอะ ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า sensing คือการเปิดประสบการณ์ เปิดผัสสะของเราในการรับข้อมูลอย่างเที่ยงตรงและกระทบใจ
เปิดรับประสบการณ์อะไรบ้าง? เช่น ‘ตา’ สำคัญมาก เรามองเห็นอย่างตรงไปตรงมา เวลาที่ตาไม่เปิด ประสบการณ์เราไม่เปิด หรือไม่ก็เราจะเห็นแต่สิ่งที่ตาเราเห็นหรือสิ่งที่อยากเห็นเท่านั้น เช่น ถ้าเราตั้งประเด็นเรื่องขยะ เราลงปากบาราเราจะเห็นแต่ขยะ แต่ถ้าเราเปิดสัมผัสกว้างๆ เราจะเห็นหลายอย่าง เราอาจเห็นคนคนหนึ่งเดินมา ในมือเขาถือลูกชิ้นปิ้ง เขากินอย่างเอร็ดอร่อยเลยล่ะ เสร็จแล้วเอาถุงนั้นทิ้งข้างทาง ถ้าเราเปิดผัสสะทั้งหมดเราจะไม่เห็นแต่ตัวขยะแต่จะเห็นสายพานของมัน เห็นคนที่ทิ้งมัน
หรือถ้าเราบอกว่าเราอยากไปเห็นเรื่องขยะเท่านั้น เราก็มุ่งเข้าไปหาคนในชุมชน ไปเจาะถามว่าเป็นยังไง แต่ถ้า ‘หู’ ของเราเปิด มันนำพาให้เราอยากได้ยินเสียงคลื่นที่กระทบฝั่ง เดินเข้าไปใกล้ๆ เราอาจเห็นขอนไม้ที่เต็มไปด้วยขยะ ทั้งหมดนี้เราอาจจะพลาด ไม่ได้มองมุมอื่นว่าขยะไม่ได้มาจากการทิ้งของคนบนหาดแต่มีขยะอยู่ในทะเลด้วย อ้าว… แล้วมันมาจากไหน? กระบวนการคิดที่มาจากการเปิดรับสัมผัสทำให้เราเกิดกระบวนการคิดแบบรื่นรมย์ คิดแบบกว้างๆ และคิดแบบเชื่อมโยงด้วยซ้ำว่าผลลัพธ์ของสิ่งหนึ่งมันมาจากอะไรและทำให้เห็นภาพรวมในพื้นที่
อยากให้ขยายความว่า การเปิดสัมผัสหรือ Sensing มันเชื่อมไปสู่การเรียนรู้ยังไง
การมองเห็น การได้กลิ่น เอามือไปสัมผัสจริง ทั้งหมดจะเกิดประสบการณ์เข้ามา การเรียนรู้ผ่านร่างกายที่เราสัมผัส body หรือร่างกายจะเกิดประสบการณ์บางอย่างเข้ามาทำงานสองส่วนคือ ใจ กับ สมอง ทั้งสองส่วนแปลความหมาย ร่างกายของเราจะเลือกได้เองว่าเรากระทบใจเรื่องอะไร เป็นประเด็นที่เราเกิดความเชื่อมโยงระหว่างโลกภายนอก โลกภายใน ความทรงจำวัยเด็ก ทั้งหมดนี้เกิดการหลอมรวม ทำให้เราแปลความหมาย ตกผลึกเข้าใจอะไรบางอย่าง ซึ่งนั่นแหละคือทรัพยากรที่มีค่ามากและจะนำไปใช้จับประเด็น ถ่ายทอดความคิด ความรู้สึก ตระหนักรู้บางอย่าง
เราเชื่อว่าการสื่อสารที่ดีต้องการบอกต่อให้คนเข้าใจได้ ซึ่งเราคิดว่านี่คือกระบวนการออกแบบการเรียนรู้ อธิบายยากนิดนึงเนอะ แต่นี่คือสิ่งที่เราอยากคืนประสบการณ์ความเป็นมนุษย์ให้กับน้องๆ ที่ไม่ใช้การใช้หัว แต่เวลาเราไปรับประสบการณ์ อยากคิดวิเคราะห์อะไรบางอย่าง เราต้องเปิดกว้าง เปิดตา เปิดใจ ทำงานกับโลกภายใน ตกผลึก จับประเด็นได้ด้วย
ต่อเนื่องจากการเรียนรู้ด้วยการลงไปเปิดสัมผัส มีประสบการณ์จริงในพื้นที่ อีกหนึ่งกระบวนการที่ทีมงานใช้ออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในโครงการ Active Citizen จังหวัดสตูลครั้งนี้คือศิลปะ
การสื่อสารมีหลายแบบอย่างที่พูดไปก่อนหน้านี้ แต่ที่ครั้งนี้เราเลือกออกแบบการเรียนรู้ให้น้องได้ใช้ศิลปะ เพราะเชื่อว่าการสื่อสารในปัจจุบันไม่ได้สื่อผ่านเทคโนโลยีอย่างเดียว สิ่งสำคัญคือการสื่อสารผ่านชุมชน ผ่านผู้คนที่เข้ามาเรียนรู้ผ่านงานที่เขากำลังจะจัด โดยการจำลองให้น้องจัดงาน festival ขึ้น งานนี้เขาต้องมีเรื่องจะสื่อสาร ต้องเชิญคนมาร่วมงานให้ได้อย่างน้อย 50 คนขึ้นไป ซึ่งเวลาคน 50 คนมารวมกันในพื้นที่ใดหนึ่ง เขาไม่ได้ดูงานตลอดเวลา แต่จะเอาตัวเองเข้าไปดูนิทรรศการ ดูการแสดง ดูอะไรบางอย่าง
Festival นี้เลือกใช้ศิลปะแขนงไหนมาทำงานบ้าง
พอบอกว่าจะให้น้องทำงานผ่านศิลปะ ศิลปะก็มีหลายแขนงเนอะ แต่ที่เราวางแผนเอาไว้จะมี 4 อย่างด้วยกันคือ หนึ่ง-ละคร โดยเลือกใช้หุ่นเงา เพราะเวลาเราดูละครเงา เราจะจดจ่อกับอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นพิเศษแล้วมันจะเกิดความรู้สึกแบบ “ว้าว มันมหัศจรรย์อะ” “ภาพมันออกมาได้ยังไงนะ” สอง-งานเขียน ซึ่งงานเขียนก็มีหลายแบบมาก ทั้งบทกลอน กลอนเปล่า การเขียนเล่าเรื่องอะไรบางอย่างมารวมกับภาพวาดเพื่อให้น้องได้ลองถ่ายทอดความรู้สึก สาม-ศิลปะจัดวาง ใช้วัสดุมาจัดวางเพื่อสื่อสารประเด็นอะไรบางอย่าง มันมีพลังมากเลยนะถ้าเราสื่อสารความหมายอย่างดี และ สี่-ดนตรี ดนตรีทำงานกับอารมณ์ความรู้สึกของคนฟัง หากน้องอยากจะส่งสารบางอย่างดนตรีทำหน้าที่นั้นได้
ซึ่งการจัดวางองค์ประกอบสี่อย่างนี้ เราต้องการให้น้องใช้ศิลปะเพื่อเปิดพื้นที่สื่อสารและสร้างการมีส่วนร่วมของคนกลุ่มหนึ่งในการจัดมหกรรมอะไรสักอย่าง ให้ศิลปะช่วยเป็นเครื่องมือในการส่งสาร เราคิดว่ามันตอบโจทย์คนยุคใหม่มากเลยในแง่ที่เราไม่อยากอยู่กับเทคโนโลยีอย่างเดียว แต่สามารถ call for action หรือสร้างการมีส่วนร่วมผ่านการจัดงาน พลังกลุ่ม พลังชุมชนอะไรสักอย่างเพื่อให้คนมาดูงานของเราและเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมกัน
ถามแบบไม่รู้ สุดท้ายแล้วน้องจะเอาทักษะศิลปะแบบนี้ไปใช้ในชีวิตจริงอย่างไร
ทั้งสามฐานมีกระบวนการเรียนรู้แบบเดียวกัน คือ เรียนรู้องค์ประกอบศิลป์ของศิลปะแต่ละชนิดตามฐานที่ได้เข้าไป เช่น งานเขียน น้องต้องฝึกเลือกใช้คำ คำแบบไหนสื่ออารมณ์ สื่อความคิด ประโยคแบบไหนที่สื่อสารแล้วกระทบใจ ความรื่นรมย์ทางภาษามีรูปแบบไหนบ้าง กลอนเหรอ รูปแบบการเล่าเรื่องเหรอ? พอคำ ประโยค ประกอบกันเป็นความงดงามทางภาษา ก็รวมกันเป็นศิลปะงานเขียนอย่างหนึ่ง
หรือ การทำหุ่นเงาต้องรู้จักอะไรบ้าง? รู้องค์ประกอบแสง รู้กายภาพของหุ่น รู้ทิศทางการฉายให้ภาพออกมาบนผืนจอ แต่สุดท้ายคือการเล่าเรื่อง การทำให้ภาพแต่ละภาพต่อกันแล้วเล่าเรื่องได้มันเป็นยังไง ละครจบแล้วคนต้องได้แก่นความคิดของเราไป
ทั้งหมดนี้มันจะกลับไปที่เรื่องการจับประเด็นสำคัญที่เราต้องการสื่อสาร แก่นนั้นอาจเป็นความจริงบางอย่างที่เกิดจากการตระหนักรู้จากการไปลงพื้นที่ จากความกระทบใจบางอย่าง เช่น น้องอาจรู้สึกกระทบใจกับเรื่องการเปลี่ยนไปของหาดปากบารา น้องอาจอยากเห็นประมงพื้นบ้านกลับมา อะไรแบบนี้เป็นต้น มันคือความจริงบางอย่างที่น้องอยากสื่อสารผ่านความงามทางศิลปะ การจะทำแบบนั้น น้องก็ต้องจับประเด็น จับใจความได้
กิจกรรมท้ายสุดคือการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ได้แสดงผลงาน ในแง่การเรียนรู้ ขั้นตอนนี้สำคัญอย่างไร
ตรงนี้เป็นหัวใจของการเรียนรู้เลย คือนอกจากกระตุ้นต่อม ‘เอ๊ะ’ ให้ทำงานจนนำไปสู่การลงมือคิด วางแผน และทำงานร่วมกันแล้ว สุดท้ายคือการเอาภารกิจที่วางแผนไว้มานำเสนอ และครั้งนี้นำเสนอเป็น festival ด้วย เวลาเรานำเสนอผลงาน ตัวตนเราเติบโตเต็มที่จากการผ่านประสบการณ์เรียนรู้นะ festival ทำให้น้องเห็นคุณค่าในตัวเอง self-esteem จากการยอมรับและเชื่อมั่นในศักยภาพว่าเราสามารถสื่อสารได้ คิดได้ วิเคราะห์ได้ โดยมันนำเสนอผ่านผลงานเค้าอยู่แล้ว นอกจากเห็นคุณค่าในตัวเอง น้องยังเห็นคุณค่าในงานของเพื่อน การร่วมรับรู้ ได้นั่งฟัง และสัมผัสผลงานเพื่อน เชื่อมั่นว่าทุกคนมีศักยภาพเหมือนๆ กัน การได้ปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ มันจะเกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองขึ้นมา
จริงๆ สามวันไม่น่าเกิดอะไรเหล่านี้ได้เนอะ แต่มันเกิดได้ถ้าเราออกแบบการเรียนรู้ให้มันจบกระบวนการ แต่มันจะไม่จบดีถ้าไม่มีการถอดบทเรียน ถอดบทเรียนคือการกลับเข้าไปใคร่ครวญกับตัวเองว่ากว่าเราจะทำงานสำเร็จถึงวันนี้ เราเปลี่ยนแปลงอะไร ถ้ามนุษย์เราได้ลงมือทำจริงไม่ว่าเรื่องอะไร การได้อยู่กับมันเต็มๆ หนึ่งชิ้น มันเกิดการเรียนรู้มหาศาล
ถอดบทเรียนคือการกดบันทึก ถ้าเราปล่อยให้การเรียนรู้นั้นผ่านแล้วผ่านเลย ประสบการณ์จะไม่ถูกเซฟ เมื่อไม่มีบันทึก มันก็ไม่มีการดึงเอาประสบการณ์ที่เราจดจำหรือที่ได้ใคร่ครวญมาเป็นขุมพลัง ซึ่งมันเป็นทรัพยากรที่มีค่าในแง่การทำงานต่อไป เราจะดึงประสบการณ์ที่ถอดแล้วกลับมาใช้ใหม่ มันจึงเรียกว่าบทเรียน บทเรียนคืออะไรที่ผิดพลาด เราจะไม่ทำซ้ำ กับอะไรที่เราผิดพลาดแล้วเราอยากทำใหม่ แก้ใหม่ ใช้ทักษะใหม่ วางแผนใหม่ นี่คือสิ่งที่มีค่ามากที่คนรุ่นใหม่ควรได้เรียนรู้ การถอดบทเรียนเป็นแกนกลางการเรียนรู้ที่สอดแทรกในทักษะทั้ง 3Cs