- ชวนมารู้จักกับการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project – Based Learning) ที่ช่วยสร้างความคิด (Mindset) แบบนักสำรวจ ทำให้ผู้เรียนกระหายใคร่รู้ ทะลายกรอบ กล้าออกไปผจญภัย และกระบวนการทางภูมิศาสตร์” (The Geo – Inquiry Process) ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบ Project – Based Learning รูปแบบหนึ่ง มีกี่ขั้นตอน และทำอย่างไร ชวนอ่านกันค่ะ
เมื่อโรงเรียนต้องหยุดการเรียนการสอนจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ทั้งครูและนักเรียนทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับการปรับรูปแบบการเรียนกันใหม่ชนิดที่ไม่มีใครคาดถึง ประเด็นสำคัญที่ภาคการศึกษาหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ การร่วมกันหาแนวทางให้การเรียนการสอนในปี 2020 – 2021 เป็นไปอย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด รวมถึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีสอนให้สอดคล้องกับ ‘วิถีใหม่’ ตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนระยะไกลผ่านออนไลน์ นั่งเรียนในห้องแบบเว้นระยะห่าง หรือสลับกันทั้งสองแบบ ทว่าการสอนจะต้องมีประสิทธิภาพในการติดตั้งทักษะจำเป็นให้กับผู้เรียนได้อย่างแท้จริง อีกทั้งความยืดหยุ่นด้านสถานที่และวิธีการในการเข้าถึงการเรียนรู้ยังกลายเป็นหัวข้อที่ต้องหันมาพิจารณากันขนานใหญ่ในสภาวการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในปัจจุบันอีกด้วย
เอดูโทเปีย – เว็บไซต์รวบรวมข้อมูลด้านการศึกษาได้เผยแพร่บทความของ วิกกี้ ฟิลลิปส์ (Vicki Phillips) ผู้บริหารฝ่ายการศึกษาของ National Geographic Society ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเจ้าของช่องทีวีและนิตยสารเชิงสารคดีที่เราคุ้นตา ก่อตั้งขึ้นเพื่อศึกษาและถ่ายทอดความรู้แขนงต่างๆ อันเป็นประโยชน์แก่ผู้คนทั่วไป ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา วัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเทคโนโลยี
โดยบทความดังกล่าวได้กล่าวถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ผ่านโครงงาน (Project-Based Learning: PBL) ที่ให้ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติด้วยตนเองผ่านการทำโครงงานหัวข้อต่างๆ ที่ไม่เพียงเอื้อกับการปรับวิธีจัดการเรียนการสอนให้เข้ากับสถานการณ์ แต่ยังเป็นหลักสูตรที่เสริมสร้างทักษะจำเป็นในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะ ‘ความคิดแบบนักสำรวจ‘ (an explorer’s mindset) ซึ่งกลายเป็นหัวใจสำคัญของการศึกษาบทใหม่ที่ไม่อาจขาดทักษะสำคัญอย่างการปรับตัว (Adaptability) ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) และการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น (Collaboration) ไปได้อีกด้วย
Project-Based Learning เพื่อสร้างความคิด (Mindset) แบบนักสำรวจ
ความคิด (Mindset) แบบนักสำรวจ หมายถึง ความกระหายที่จะเรียนรู้และก้าวข้ามกรอบไปสู่สถานที่ ประสบการณ์ ความรู้สดใหม่ เหมือนนักสำรวจที่ออกไปทำความรู้จักกับโลกที่ตนไม่เคยพบ กล้าเปิดประตูก้าวออกไปจากความไม่รู้ เมื่อสงสัยก็ตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบก่อนจะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้น ผ่านการเตรียมพร้อม ขวนขวายใฝ่รู้ และใคร่ครวญบทสรุป ไปจนถึงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงส่งต่อไปถึงผู้อื่น ซึ่งหากวางแนวคิดเช่นนี้เป็นจุดตั้งต้น การศึกษาเรียนรู้ที่เกิดขึ้นไม่ว่าในหรือนอกห้องเรียน ในระบบหรือนอกระบบ ผู้สอนและผู้เรียนก็จะกล้าออกไปผจญภัยด้วยความคิดและทักษะแบบนักสำรวจที่เปิดกว้าง เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังการเรียนรู้โดยไม่หวั่นกลัวกับอุปสรรคปัญหา
นอกจากข้อดีในด้านประสิทธิภาพการเสริมสร้างความคิดแบบนักสำรวจได้ชัดเจน เมื่อพูดถึงความยืดหยุ่นทั้งสถานที่และวิธีการจัดการเรียนรู้ด้วยแล้ว PBL เรียกได้ว่าตอบโจทย์อีกเช่นกัน เพราะเป็นรูปแบบที่เอื้อให้ผู้เรียนเข้าถึงการเรียนรู้อย่างเป็นอิสระ พลิกแพลงได้ เช่น สามารถศึกษาค้นคว้าที่ไหนและเมื่อไรก็ได้ จะนัดประชุมกับเพื่อนแบบเจอตัวหรือออนไลน์ก็ตามแต่สะดวก ด้วยเหตุนี้ PBL จึงเป็นแนวทางที่เหมาะกับการเรียนรู้ในสภาวการณ์ที่ต้องเรียนแบบลูกผสม คือ ผู้เรียนบางส่วนอาจต้องอยู่บ้าน ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งมาเรียนร่วมกันในชั้นเรียน และยิ่งพิจารณาจากเหตุผลสำคัญที่ PBL มีส่วนช่วยพัฒนาทักษะสำคัญและความคิดแบบนักสำรวจ จะเห็นได้ว่าโรงเรียนหลายแห่งหันมาให้ความสำคัญโดยการกำหนดชั่วโมงการเรียนรู้ผ่านโครงงานช่วงสั้นๆ เข้าไปในตารางเรียนมากยิ่งขึ้น ซึ่งครูผู้สอนจาก National Geographic Society ต่างเห็นตรงกันว่า PBL ช่วยให้เด็กๆ ปรับตัวได้ง่ายขึ้นเมื่อถึงเวลาต้องเปลี่ยนไปใช้การเรียนรู้เสมือนจริง (Virtual learning) ผ่านเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ แทนการสอนปกติ
สอดแทรกกระบวนการทางภูมิศาสตร์ในการเรียนรู้เพื่อความเข้าใจอย่างถ่องแท้
“กระบวนการทางภูมิศาสตร์” (The Geo – Inquiry Process) คือการเรียนรู้แบบ Project – Based Learning รูปแบบหนึ่ง ซึ่ง National Geographic Society ออกแบบขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนใช้ทักษะอย่างรอบด้านมาคิดวิเคราะห์ หาเหตุผล โดยอิงจากจากระบวนการศึกษาทางภูมิศาสตร์ที่มีการพิจารณาข้อมูลด้านรูปการณ์ พื้นที่ และความเกี่ยวโยงกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติมาทำความเข้าใจ วิเคราะห์ประเด็นและหาข้อสรุปเพื่อการตัดสินใจลงมือปฏิบัติในท้ายที่สุด โดยกระบวนการนี้มี 5 ขั้นตอนซึ่งประกอบไปด้วย การถาม (Ask) การค้นคว้า (Collect) นำเสนอข้อมูลเป็นภาพ (Visualize) พัฒนาเรื่องเพื่อสื่อสาร (Create) และสื่อสารข้อค้นพบ (Act)
ในบทความ ฟิลลิปส์แนะนำให้โรงเรียนนำกระบวนการทางภูมิศาสตร์ (The Geo – Inquiry Process) 5 ขั้นตอนนี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้และความเข้าใจของผู้เรียนได้ลึกซึ้งขึ้นไม่ว่าพวกเขาจะนั่งเรียนอยู่ที่บ้านหรือในโรงเรียน ได้แก่
1. ถาม (Ask): ตั้งคำถาม
สิ่งที่จะช่วยชักนำให้ผู้เรียนไปค้นคว้าข้อมูลในเรื่องที่เขาสนใจ คือ การตั้งคำถามที่สะกิดต่อมความอยากรู้ คำถามจึงเป็นกุญแจสำคัญสำหรับนักสำรวจและผู้ที่สงสัยใคร่รู้ความเป็นไปในโลก ลองตั้งคำถามที่นำไปสู่การค้นคว้า เช่น การปฏิบัติไม่เท่าเทียมกับคนต่างเชื้อชาติในย่านนี้ส่งผลกระทบอะไรบ้าง? อะไรคือสาเหตุ? จะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง?
2. ค้นคว้า (Collect): รวบรวมข้อมูล
ให้นักเรียนหาข้อมูลและรวบรวมประเด็นเพื่อตั้งสมมติฐานให้กับคำถามที่พวกเขามี ขั้นตอนนี้ คือ การให้พวกเขาออกไปสัมผัสประสบการณ์ตรง ค้นคว้าจากอินเทอร์เน็ต สัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น คนในย่านที่อยู่หรือผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญ ทำแบบสอบถาม เก็บบันทึกภาพหรือวิดีโอ ลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ (อย่าลืมว่าต้องอยู่ในระยะที่ปลอดภัยด้วย)
3. นำเสนอข้อมูลเป็นภาพ (Visualize): จัดการและวิเคราะห์ข้อมูล
เมื่อผู้เรียนเก็บรวบรวมข้อมูลมาได้แล้ว มีหลายวิธีที่คุณครูสามารถช่วยให้เขามองเห็นและเข้าถึงประเด็นเด่นชัดได้มากขึ้น โดยนำเสนอผ่านรูปแบบต่างๆ เช่น วาดเป็นแผนที่หรือกราฟที่แสดงข้อมูลและใส่ความเข้าใจในแต่ละหัวข้อ พร้อมกับหลักฐานที่มีน้ำหนัก ยกตัวอย่างเช่น นักเรียนที่ค้นคว้าวิจัยเรื่องสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด – 19 ในย่านที่อยู่อาศัยอาจระบายสีต่างกันเพื่อบอกจำนวนผู้ติดเชื้อในย่านใกล้เคียง และทำกราฟแท่งเพื่อแสดงอายุและรายได้โดยเฉลี่ยของคนในพื้นที่นั้นๆ
4. พัฒนาเรื่องเพื่อสื่อสาร (Create): พัฒนาเรื่องราว
ด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล แล้วให้นักเรียนสรุปข้อค้นพบเป็นคำตอบให้กับคำถามที่ตั้งไว้ในตอนแรกที่ศึกษาเรื่องนั้นๆ โดยเรียงร้อยเป็นเรื่องราวในรูปแบบ story telling จุดสำคัญของกระบวนการพัฒนาเรื่องราว คือ การชี้ให้เห็นว่าสุดท้ายแล้วบทสรุปที่ได้จากการค้นคว้านี้ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร และคนกลุ่มใดที่ข้อค้นพบนี้จะสื่อไปถึงเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้นได้จริง
5. สื่อสารข้อค้นพบ (Act): แบ่งปันส่งต่อข้อค้นพบ
ขั้นตอนสุดท้ายคือการเผยแพร่เรื่องราวที่เขียนขึ้นให้ผู้อื่นทราบ ในการเรียนทางไกลจากนอกห้องเรียน (Remote Learning) การเผยแพร่ข้อค้นพบแบบ story telling อาจทำได้มากมายหลายวิธี ไม่ว่าจะเผยแพร่ในเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง สร้างเพจสาธารณะ เปิดสัมมนาออนไลน์ หรืออัพเป็นวิดีโอเรื่องราวลงโซเชียลมีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ
กระบวนการทางภูมิศาสตร์ 5 ขั้นตอนข้างต้นสามารถนำไปใช้กับการสอนได้ทั้งกับรายวิชาหรือนำมาเชื่อมโยงทำความเข้าใจหลายสาขาวิชาในคราวเดียวกันก็ได้ เช่น นักเรียนอาจค้นคว้าเรื่องระบบการทำงานในร่างกายมนุษย์และจุลินทรีย์ในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปกับศึกษาแง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมที่มีบทบาทและเกี่ยวข้องกับการแพร่กระจายของโรคติดต่อไปพร้อมกัน ซึ่งการทำความเข้าใจประเด็นต่างๆแบบสหวิทยาการ นอกจากจะช่วยเปิดโอกาสให้ครูผู้สอนจากหลายสาขาได้เชื่อมโยงเนื้อหาการสอนเข้าด้วยกัน ผู้เรียนยังได้เรียนรู้และเข้าใจในหลายมิติด้วย
ดังนั้น การเรียนผ่านการทำโครงงาน หรือ Project – Based Learning น่าจะเป็นหนทางที่ไม่เพียงช่วยปลุกทักษะการคิดแบบนักสำรวจให้ตื่นขึ้นได้ผ่านการฝึกให้ผู้เรียนขวนขวาย ใฝ่รู้ และใช้ทักษะที่จะสามารถนำไปรับมืออุปสรรคปัญหาที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วไม่แพ้ความเป็นไปของโลก หากนำมาประยุกต์ใช้ควบคู่กับโมเดลการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางภูมิศาสาตร์ข้างต้นด้วยก็จะยิ่งเป็นเครื่องมือทรงประสิทธิภาพหนึ่งที่จะขยายผลการจัดการเรียนรู้ของคุณครูให้ได้ผลดียิ่งขึ้น
เพราะไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ใด สิ่งหนึ่งที่ในทุกรูปแบบชั้นเรียนไม่มีวันเปลี่ยน คือความมุ่งหวังของครูที่พร้อมจะจุดประกายความสนใจใคร่รู้ให้เกิดขึ้นในแววตานักเรียนทุกคน และช่วยให้พวกเขาทำความเข้าใจ ใช้ชีวิตได้อย่างเต็มศักยภาพ