- ในขณะที่พ่อแม่พยายามทุกอย่างเพื่อเลี้ยงลูกให้เป็น The Best แต่หลายครั้งผลกลับเป็นตรงกันข้าม เด็กมีความกดดัน เครียดและเป็นทุกข์ บางคนถึงขั้นมีปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาว ซึ่งเป็นที่มาของการทำเพจ ‘เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ’ ของ ผศ.นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์
- คีย์เวิร์ดของการเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ คือ ‘พอดี’ และ ‘สมดุล’ โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญ นั่นคือ ‘ความรู้’ และ ‘เวลา’ ที่พ่อแม่ยุคใหม่จำเป็นต้องมีเพื่อประคับประคองลูกให้มีทักษะการใช้ชีวิตในโลกที่ท่วมท้นไปด้วยข้อมูลข่าวสารและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
- “ยุคนี้มันเลยไม่ง่าย ผมคิดว่าพ่อแม่ต้องรู้เยอะนิดนึง ถ้ามาเริ่มฝึกเลี้ยงลูกกันตอนลูกอายุ 15 ก็แบบ…เศร้าไปแล้ว กรีดข้อมือไปแล้ว กินยาฆ่าตัวตายผูกคอกระโดดตึกไปแล้ว มันเหมือนช่างที่ต้องมาซ่อมรถที่จมน้ำ สู้ดูแลลูกดีๆ ตั้งแต่แรกจะง่ายกว่า”
เลี้ยงลูกให้เป็นคนเก่ง?
เลี้ยงลูกให้เป็นอัจฉริยะ?
เลี้ยงลูกให้เป็นแชมป์?
เลี้ยงลูกให้เป็นซุป’ตาร์?
ดูเหมือนพ่อแม่ต่างอยากให้ลูกเป็นอะไรสักอย่างที่ตนเองปรารถนา แต่สิ่งหนึ่งที่แทบจะไม่อยู่ในความคาดหวัง คือ การเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ
ข่าวร้ายคือลูกหลายคนไม่สามารถเป็น ‘ลูกในอุดมคติ’ ของพ่อแม่ได้ ทำให้พ่อแม่แสดงความผิดหวังและอาจกดดันเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ตั้งใจ จนในที่สุดความหวังดีของพ่อแม่ได้กลายเป็น ‘ยาพิษ’ ที่กัดกร่อนความรู้สึกอันเปราะบางของลูกวันแล้ววันเล่า นำมาสู่เป็นปัญหาสุขภาพจิตซึ่งนับวันจะยิ่งทวีความรุนแรง
The Potential ชวน ผศ.นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเฟซบุ๊กแฟนเพจและผู้เขียนหนังสือ ‘เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ’ มาพูดคุยถึงนิยามการเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติท่ามกลางสังคมที่หลายสิ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมแนะนำวิธีการปรับตัวของพ่อแม่ รวมถึงทักษะสำคัญของเด็กในศตวรรษที่ 21
ก่อนอื่นอยากให้คุณหมอเล่าที่มาของการสร้างเพจ ‘เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ’
เริ่มจากเวลาดูเคสแล้วพบว่าหลายปีก่อนมันมีแนวคิดแบบเลี้ยงลูกให้เป็นนั่นเป็นนี่ ซึ่งแนวคิดเลี้ยงลูกให้เป็น The Best เป็นอัจฉริยะมันมีโอกาสทำให้เด็กป่วย แล้วตอนนั้นผมมีคนไข้คนหนึ่งที่ซัฟเฟอร์กับการที่เขาไม่ดีพอ ทำให้พ่อแม่ผิดหวัง ผมก็เลยถามว่าไม่สามารถจะเป็นคนแบบปกติทั่วๆ ไป แบบ Normal Person ไม่ได้เหรอ เขาบอกว่าไม่ได้ คือถ้าไม่สามารถเป็น The Best ก็ไม่สมควรมีชีวิตอยู่
ผมคิดว่าจริงๆ การเลี้ยงลูกให้เป็นคนธรรมดาเนี่ยมันโอเคแล้วนะ ประกอบกับผมได้คุยกับภรรยาที่เป็นจิตแพทย์เด็ก ว่าเด็กกำลังซัฟเฟอร์กับการพยายามโตไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ เราเลยพยายามจะฉุดผู้ปกครองให้กลับมาคิดว่า เลี้ยงลูกให้เป็นคนแบบปกติก็โอเคนะ
อยากให้ช่วยขยายความคำว่า ‘ปกติ’ ที่พ่อแม่หรือผู้ดูแลสามารถนำไปเป็นแนวทางในการดูแลเด็กได้
ถ้าเอาคำเดียวเลย มันก็คือ ‘สมดุล’ ผมว่าคอนเซ็ปต์ของผมกับแฟนเหมือนกันคือ ต้องเลี้ยงให้สมดุล สำหรับคอนเซ็ปต์ที่ผมเคยไป Propose (นำเสนอ) ที่ TED Talks จะมีอยู่ 3 อย่าง หนึ่งเป็นเรื่อง ชมตัวเองได้ให้อภัยตัวเองเป็น คือให้ฉันรักตัวเอง มี Self Compassion ไม่โหดกับตัวเองมากใจดีกับตัวเองเป็น เอาแค่ว่ามองเห็นข้อดีตัวเองเพื่อจะได้มี Self Esteem หรือถ้าเวลาผิดพลาดก็มี Resilence (ล้มแล้วลุกเร็ว) แบบกลับมาได้ แบบ Growth mindset
สองจะเป็นเรื่อง Growth กับ Development คือมีการเติบโต มีการพัฒนาแบบ Individualized หมายถึงว่าทุกคนควรพัฒนา แต่ต้องพัฒนาในทางที่ตัวเองได้เลือก คืออาจจะยังไม่ถูกหรือว่ายังไม่ใช่ แต่ว่าได้เลือก เพราะคำว่าเลือกนี้สำคัญ
แล้วก็ใน Pace คือ สปีดของตัว ผมคิดว่าอันนี้สำคัญ เพราะปัญหาของเด็กคือถูกเร่งให้พัฒนาโดยที่ไม่ใช่สปีดของตัว เหมือนคนวิ่งมาราธอน บางคนวิ่งเร็วบางคนวิ่งช้า แต่พอทุกคนถูก Push ให้เร็วเหมือนกันหมด อันนี้ก็ทำให้ป่วยได้ เพราะฉะนั้นการพัฒนาไปใน Pace ของตัว คือรู้ว่าเราไปได้เร็วประมาณนี้ แต่ว่าไปในทางที่ได้เลือก คือได้เลือกโดยที่พ่อแม่ช่วยในเรื่อง Information (ข้อมูล) ถ้าจะไปก็ไปทางที่ดี ทางที่ดีมีทางไหนบ้างให้เลือกลองไปดู หรือต่อให้ไปแล้วผิดทาง ผมว่าก็ยังไม่แย่เพราะว่าเขาได้เลือก แล้วค่อยไปทางใหม่คือค้นหาตัวเองต่อไป
สามจะเป็นเรื่องไม่เบียดเบียนคนอื่นแล้วก็ไม่ให้ใครมาเบียดเบียนตัวเอง อันนี้จะเน้นเรื่อง ‘สมดุลของความสัมพันธ์’ หมายถึงสมดุลของการ Give and Take คือเราไม่ Give มากเกินไป เพราะ Give มากเกินไป เราจะ Burnout หรือถ้า Take มากเกินไป เราจะรู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระต้องมีแต่คนมาคอยช่วย สุดท้าย Self Esteem มันก็แย่ เพราะคิดว่าตัวเองเป็นภาระ เพราะฉะนั้นสมดุลของ Give and Take หรือสมดุลในเรื่องของ Space ว่าจะอยู่ใกล้กับใคร เพราะถ้าผูกพันกันมากเกินไป มันก็อึดอัด ถ้าห่างเหินเกินไปมันก็เหงา
จริงๆ ผมว่าถ้าทำ 3 อันนี้ได้ ผมว่าพอแล้ว ขอแค่นี้ครับ มีความสัมพันธ์ที่กำลังดี ค่อยๆ พัฒนาไปในสเต็ปที่เหมาะกับตัว ระหว่างทางก็ใจดีกับตัวเองหน่อย
เป้าหมายคือการทำงานความคิดกับพ่อแม่หรือคนที่ดูแลเด็ก จนถึงตอนนี้คุณหมอเห็นความไม่ปกติอะไรบ้าง
ผมเข้าใจพ่อแม่ยุคนี้นะ ต้องบอกว่ายุคนี้เลี้ยงลูกยากกว่าแต่ก่อนจริง แต่ก่อนคือยุคก่อนจะมีอินเทอร์เน็ตซึ่งเป็นตัวพลิกเกม เพราะว่าพอมีอินเทอร์เน็ต คนบนโลกนี้จะรู้เท่าๆ กัน รู้ว่ามันมีใครทำอะไรได้มากกว่านี้ ดีกว่านี้ สำเร็จกว่านี้ มันเป็นได้มากกว่านี้ คือพอเราได้ข้อมูลเยอะเราจะเริ่มอยาก เพราะฉะนั้นพ่อแม่หรือลูกเองก็จะเริ่มรู้ว่ามันมีอะไรที่ดีกว่านี้นะ เช่น เดี๋ยวนี้ลูกอาจจะไปเจอว่าการเลี้ยงลูกแบบที่พ่อแม่เราทำอยู่เนี่ยมันไม่โอเค เมื่อเทียบกับพ่อแม่ที่ฟินแลนด์ที่ฮอลแลนด์ อะไรแบบนี้
ทีนี้พ่อแม่ก็เลยต้องรู้เยอะขึ้น ทำให้หนึ่งพ่อแม่ที่รู้ไม่ทันลูกก็จะลำบาก สองคือการแข่งขัน พอมันมีอินเทอร์เน็ต มีการแข่งขันที่ทุกคนสามารถเป็นดาราได้เอง สามารถ Propose อะไรได้เอง สามารถมีตัวตนขึ้นมาได้เอง เพราะฉะนั้นการแข่งขันในยุคมีอินเทอร์เน็ตมันก็สูง ผมมองว่าพ่อแม่ยุคนี้เลยเครียดกว่ายุคก่อน เพราะกลัวลูกจะแข่งขันกับคนอื่นไม่ได้ เอาตัวไม่รอด พอกลัวปุ๊บ การเลี้ยงลูกก็ขับเคลื่อนด้วยความกลัว มันก็จะเร็ว ต้องทำให้เร็วทำให้เยอะทำให้มาก เด็กก็เลยเครียด เพราะว่าการแข่งขันยุคนี้มันก็น่ากลัวกว่าตอนผมเป็นเด็กจริงๆ
ในความยากนี้คุณหมอมีคำแนะนำอย่างไรเพื่อไม่ให้พ่อแม่สร้างแรงกดดันให้กับลูกมากเกินไป
หนึ่งก็ต้องซัปพอร์ตเขา ผมว่าพอมันยากก็แปลว่าพ่อแม่ต้องมี Strategy (กลยุทธ์) มากกว่าแต่ก่อน ผมก็จะคุยว่าเขาต้องเก่งขึ้นกว่าพ่อแม่สมัยก่อน เพราะว่าเด็กสมัยนี้เครียดกว่าแต่ก่อน คือสมัยก่อนพูดยังไงก็ได้ แต่สมัยนี้พ่อแม่ต้องมีวิธีพูดวิธีปลอบ เพราะว่าไม่งั้นเด็กก็จะ Burnout คือผมว่าถ้ามี Strategy ที่มากขึ้นก็จะช่วยให้ลูก Survive (อยู่รอด) ได้มากขึ้น
ปัญหาที่ผมเจอคือพ่อแม่มักใช้วิธีเดิมในการเลี้ยงลูกแค่เพิ่มความเข้มข้น เหมือนเรื่องการเรียนรู้ที่มีหลายวิธี แต่วิธีที่พ่อแม่ใช้ส่วนใหญ่คือการให้อ่านหนังสือเยอะๆ ติวพิเศษจันทร์ถึงอาทิตย์แบบเช้ายันค่ำ
เพราะฉะนั้น ถ้าพ่อแม่มีความรู้มากขึ้นด้วย ว่าการเรียนรู้มันมีหลายแบบ มันมีเรื่องของการทดลอง การ Reflection การถามให้คิด หรือใช้สื่อมีเดียให้เป็นประโยชน์ ผมคิดว่าถ้าเขามี Strategy มากขึ้น เขาก็น่าจะเลี้ยงลูกได้ดีขึ้น เพราะฉะนั้นมันยากขึ้นแต่เขาก็ต้องเก่งขึ้น เป็นพ่อแม่ที่มีความชำนาญในการเป็นพ่อแม่มากขึ้น
ตอนนี้เด็กหรือวัยรุ่นที่เข้ามาพบคุณหมอส่วนใหญ่จะมีปัญหาในด้านไหนมากที่สุด
เป็นปัญหาด้านอารมณ์ครับ แล้วก็มีโรคแบบ Autism สมาธิสั้น อันนี้เยอะด้วยอุบัติการณ์อยู่แล้ว ก็ยังหาไม่เจอนะว่าอะไรทำให้เยอะ แต่เรื่องที่ 10 ปีหลังมานี้ตัวเลขของปัญหาด้านอารมณ์มันกระฉูดขึ้นมา จนติด Top 3 ซึ่งผมว่าน่าจะเป็นทุกที่ก็คือ พวกปัญหาอารมณ์ ซึมเศร้า วิตกกังวล เครียด รวมถึงปัญหาพฤติกรรมใช้สารเสพติดก็สูงขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามันสัมพันธ์กันคือ นอกจากเด็กเครียด ผมว่าครอบครัวก็เครียดนะ ยิ่งเราผ่านช่วงโควิดช่วงเศรษฐกิจที่มันไม่ดี พ่อแม่เองก็เครียด เครียดเรื่องตัวเอง เรื่องงาน แล้วพอพ่อแม่เครียดมันส่งผลกับลูกแน่นอนครับ เช่น พอลูกเครียด ลูกหันไปหาพ่อแม่ อ้าวพ่อแม่เราเครียดกว่า ลูกก็พึ่งพ่อแม่ไม่ได้ พอพึ่งพ่อแม่ไม่ได้ ลูกก็ต้องไปหาเพื่อน เพื่อนบอกว่าสูบอันนี้แล้วหายเครียดเร็ว อย่างนี้เด็กก็ไปเลย
ทีนี้เราจะมีวิธีหรือแนวทางที่ช่วยให้เด็กสามารถรับมือกับความเครียดในชีวิตได้อย่างไร
เรามักจะคุยกันว่า จะทำยังไงกับลูกดีนะ แต่เราไม่ค่อยพูดถึงว่า พ่อแม่จะทำยังไงให้ตัวเองโอเคสำหรับลูก เหมือนสมัยก่อนผมเขียนหนังสือไว้เล่มหนึ่งซึ่งชื่อเหมือนเพจผม พาร์ทสุดท้ายจะเป็นเรื่องวิธีจัดการกับตัวเองของพ่อแม่ คือพ่อแม่ต้องมีสกิล เช่นเวลาเครียด ถ้าพ่อแม่จัดการมันไม่ได้ พ่อแม่ก็จะไปบอกลูกไม่ได้ว่าเครียดแล้วทำยังไง หรือถ้าพ่อแม่ยังพูดไม่เป็น ยังคุยกันเองไม่เป็น พ่อแม่ก็จะไปสอนลูกไม่ได้ว่าเวลามีปัญหากับเพื่อนให้พูดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นพ่อแม่ต้องมีสกิลในการดูแลตัวเองและต้องเอาตัวให้รอดก่อน เหมือนขึ้นเครื่องบินแล้วมีเหตุฉุกเฉิน พ่อแม่ก็ต้องใส่หน้ากากให้ตัวเองก่อน
ผมมองว่าพ่อแม่ต้องมีทักษะชีวิต และการทำให้ตัวเองมีความสุข เป็นคนปกติ บางคนจะชอบพูดว่าพ่อแม่ก็ต้องปกติก่อน ซึ่งปกติหมายถึงพ่อแม่ต้องรักตัวเอง พ่อแม่ต้องมี Growth ของตัว แล้วพ่อแม่ก็ต้อง Relate กับสิ่งแวดล้อมให้มันสมดุล ถ้าเขาทำได้ ผมว่าเขาจะมั่นใจที่จะไปบอกลูกว่า มันทำอย่างนี้นะ ซึ่งอันนี้สำคัญมากเพราะเด็กจะเชื่อใครหรืออยาก Follow ใคร เด็กต้องได้เห็นว่าคนๆ นั้นโอเคนะ
ดังนั้นถ้าพ่อแม่บอกว่าใช้ชีวิตอย่างนี้สิดี เด็กก็จะดูว่าชีวิตพ่อแม่ดีหรือมีความสุขหรือเปล่า ผมคิดว่าอันนี้สำคัญพอๆ กับการดีลกับลูกเลยนะ คือเด็กต้องเห็นว่า เฮ้ยชีวิตคนนี้ดีจัง เขาทำยังไงนะ แล้วเขาอยากจะทำตาม ทีนี้พอพูดแล้วมันจะง่าย สังเกตว่าปัญหาตอนนี้ที่พ่อแม่พูดแล้วลูกไม่ค่อยฟัง เพราะลูกรู้สึกว่าพ่อแม่ฉันไม่โอเค พ่อแม่ฉันเชยระเบิด ความรู้ก็น้อย เดี๋ยวนี้มีเด็กที่ความรู้เยอะกว่าพ่อแม่อยู่เยอะครับ เด็กรู้สึกว่าตัวเองรู้เยอะกว่า แล้วพอพ่อแม่มาสอน เด็กก็แหวะ เพราะความรู้ของพ่อแม่ไม่ได้อัปเดตเลย แค่นี้ก็สอนไม่ได้แล้ว
เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กรู้สึกว่าพ่อแม่เรานี่โคตรคูลเลย โคตรเจ๋งเลย อยากเป็นอย่างนี้บ้าง แค่พ่อแม่บอกว่า อ๋อ…พ่อแม่ทำแบบนี้นะ 1-2-3 เชื่อว่าลูกจะจดตามยิกๆ เลย เพราะว่ามันเป็นตัวอย่างที่เขาอยากจะเป็น พ่อแม่เลยต้องทำตัวเองให้โอเคด้วย
ถ้าถามผมว่าคนเป็นพ่อแม่ต้องทำยังไง หนึ่งคือไปทำให้ตัวเองโอเคก่อน สองต้องมีสกิลในการดีลกับลูก ซึ่งสกิลในการดีลกับลูกเนี่ย เดี๋ยวนี้มันหาได้ง่ายมาก ฟรีก็เยอะถูกไหมครับ แต่บางทีโอกาสที่พ่อแม่จะมาหาวิธีอัปสกิลตัวเองเกี่ยวกับการเลี้ยงดูมันน้อย โดยเฉพาะพ่อแม่ที่มีลูกหลายคนอาจจะมองว่าฉันเคยเลี้ยงมาแบบนี้ก็รอดมาแล้ว
ผมมองว่าพ่อแม่ทุกคนต่างยุ่ง ส่วนใหญ่จะมาหาหมอเมื่อมันเละหรือมีปัญหาไปแล้ว ซึ่งจริงๆ มาซ่อมทีหลังเนี่ย ผมว่ามันค่อนข้างใช้เวลา ดังนั้นถ้าใช้เวลาเหมือนกัน อยากให้พ่อแม่ใช้เวลาดูแลลูกดีๆ จะไม่เหนื่อยตอนมีปัญหา คือถ้าเลี้ยงลูกเหมือนที่พ่อแม่โตมามันก็ลุ้นนิดนึงนะว่าแล้วเราจะรอดไหม คือผมคิดว่ามันไม่ใช่ว่าเลี้ยงไม่ดี แต่ว่าสิ่งแวดล้อมยุคนี้ยุคที่แข่งขันกัน มันไม่เอื้อให้เลี้ยงยังไงก็ได้ครับ เลี้ยงยังไงก็ได้พอมาเจอกับ Stress (ความเครียด) มาเจอกับการแข่งขัน แบบที่นี่รับเด็ก 10 คน แต่มีคนสมัคร 500 คน อะไรทำนองนี้ เด็กจะไม่รอด
เพราะฉะนั้นยุคนี้มันเลยไม่ง่าย ผมคิดว่าพ่อแม่ต้องรู้เยอะนิดนึง ถ้ามาเริ่มฝึกเลี้ยงลูกกันตอนลูกอายุ 15 ก็แบบ…เศร้าไปแล้ว กรีดข้อมือไปแล้ว กินยาฆ่าตัวตายผูกคอกระโดดตึกไปแล้ว มันเหมือนช่างที่ต้องมาซ่อมรถที่จมน้ำ สู้ดูแลลูกดีๆ ตั้งแต่แรกจะง่ายกว่า
ในฐานะที่เป็นจิตแพทย์ การซ่อมใจนี่จริงๆ มันเป็นไปได้ไหม ซ่อมแล้วมันจะเหมือนเดิมหรือไม่ หรือว่าซ่อมได้แค่ไหน
มนุษย์เราไม่มีทาง Unlearn หมายถึง อะไรที่เกิดขึ้นแล้วมันไม่มีทางลืม แต่ว่าเรียนรู้ใหม่ Relearn เรียนรู้ใหม่หรือเรียนรู้ที่จะอยู่กับอะไรที่มันเกิดไปแล้ว อันนั้นทำได้ ฉะนั้นหลังๆ ถ้าเขาพูดถึงบาดแผลทางใจ มันเกิดไปแล้ว มันเหมือนแผลเป็น บางทีการเลี้ยงดูมันทำให้เกิดแผลเป็น แผลเป็นมันก็ยังอยู่ เพียงแต่การซ่อมใจมันจะทำให้เราสนใจมันน้อยลง คือเหลือบมาเห็นแต่ไม่ได้รู้สึก หรือความรู้สึกที่มีต่อเหตุการณ์นั้นน้อยลง ใช้ชีวิตอยู่ได้ หรือว่าไปมีความสุขกับเรื่องอื่นได้แบบนี้เป็นไปได้ แต่ถามว่าทำให้หายไปเลยได้ไหม มันไม่ได้ครับ
คือทำให้เขายอมรับกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้น?
มันเหมือนแผลเป็นครับ อ๋อ…มันเคยเกิดเรื่องนี้กับเรา แต่มันไม่เจ็บเท่าเดิมนะ ให้เราอยู่กับอะไรที่มันแก้ไขไม่ได้ จิตบำบัดระยะหลังๆ เขาก็จะเน้นเรื่องนี้ เพราะว่าหลายๆ เรื่องมันแก้ไม่ได้
ผมอยากจะฝากถึงสังคมภายนอกว่า ‘หมอทำได้แค่นี้ครับ’ ส่วนระบบอื่นๆ อย่างระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ ระบบท้องถิ่น จริงๆ ถ้าเอื้อให้พ่อแม่ไม่เครียด จะช่วยงานผมได้มากเลย
เช่น สิ่งที่เขาว่าเลี้ยงเด็กต้องใช้คนทั้งหมู่บ้าน ผมเห็นด้วยมากๆ คือถ้าสมมติบางครอบครัว มันคล้ายๆ กำลังอยู่ในภาวะคับขัน แต่ระบบเกื้อกูล เช่น ครอบครัวเดิม ชุมชนหรือหน่วยงานรัฐ อะไรที่คอยช่วยเหลือครอบครัว ถ้าระบบพวกนั้นดี มันจะช่วยประคับประคองครอบครัวได้เยอะ เพราะอย่างที่ผมว่า เราเลี้ยงเด็กให้ดีมันควรจะช่วยกันเลี้ยง
ส่วนระบบการศึกษา มันควรแข่งขันกันด้วยวิธีที่ไม่ทำให้เด็กเครียดจนเกินไป เช่น มีการรับเด็กจากหลายๆ ความถนัด หรือมีห้องเฉพาะทางต่างๆ อะไรอย่างนี้ หรือระบบเศรษฐกิจอะไรที่มันเอื้อให้กับเด็กที่ซัฟเฟอร์กับการที่เกิดมาแล้วชอบอาชีพที่ถูกกำหนดว่าเป็นวิชารอง สังเกตไหมว่าพอมีวิชาหลักวิชารอง เด็กบางคนจะรู้สึกแย่มาก ทำไมเราไม่เกิดมาชอบฟิสิกส์ ทำไมเราไม่เกิดมาชอบชีวะ ทำไมเราดันเกิดมาชอบดนตรีศิลปะ ชอบเต้น ขนาดหน่วยกิตยังไม่เท่ากันเลย
ผมมองว่าเด็กเลยรู้สึกแย่ที่ทำไมตัวเองชอบวิชารอง แล้วยิ่งพ่อแม่บวกเข้าไปว่า ทำไมไม่ชอบวิชาหลัก เด็กก็ต้องหลอกตัวเองไปว่า เราชอบวิชาหลัก พอเด็กเริ่มหลอกตัวเอง เด็กก็หาตัวเองไม่เจอ เพราะฉะนั้นแล้วก็จะมีเด็กบางคนที่โตไปเป็นคนอายุ 20 กว่าที่ยังตอบตัวเองไม่ได้ว่าตกลงเราชอบอะไร เพราะหลอกตัวเองมาตั้งแต่เด็ก เพราะว่าไม่สามารถชอบอย่างอื่นได้ นอกจาก 5 วิชาหลัก
ผมว่าถ้าทำให้ระบบการศึกษาช่วยเรื่องนี้ได้ งานผมจะลดลงเยอะ ผมบอกเลย ถ้าถามผมเนี่ยจะลดปัญหาได้จริงๆ กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานอื่นๆ ที่ทำอะไรเกี่ยวกับครอบครัว อะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสังคมเนี่ยมีผลกับเด็กทั้งหมด เพราะปัจจุบันพ่อแม่เขาก็ทำได้เท่าที่เขาทำได้ ลำพังแค่หาเงินมาปลดหนี้ที่บ้านก็ไม่ต้องทำอย่างอื่นแล้ว ถ้าให้เวลากับลูกมากๆ บางทีครอบครัวอาจจะล่มก็ได้ เพราะว่าเรื่องอื่นมันก็โหดกับเขาอยู่ ดังนั้นการจะรอแค่ให้จิตแพทย์ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง มันไม่พอหรอก ผมทำได้แค่ให้พ่อแม่ดูแลตัวเองด้านสุขภาพจิต ให้ลูกมีความเข้มแข็งมีทักษะ ผมทำได้แค่นี้
แต่มันก็ไม่ได้แปลว่า พ่อแม่ที่มีเงินมีเวลาจะสามารถเลี้ยงดูลูกได้ดีกว่า?
ใช่ มันเหมือนเขามีต้นทุน แต่ทีนี้ถ้ามีต้นทุนแล้วเขาไม่ใช้ หรือเขาใช้วิธีเดิมกับสังคมแห่งการแข่งขัน โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมันทำให้คนมีความเครียด เพราะฉะนั้นทักษะที่จำเป็นมากกว่าสมัยก่อนน่าจะเป็นเรื่องการจัดการความเครียด ถ้ามีความเครียดเข้ามาแล้วจัดการไม่ดีก็ไปกินเหล้า ไปทำร้ายจิตใจคนอื่น แต่ถ้ามีทักษะการจัดการความเครียดที่ดี เข้าใจว่าคนเราจะรวยจะจนจะเก่งไม่เก่ง ยังไงก็หลีกเลี่ยงความเครียดที่มาจากการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะฉะนั้นมันเลยมีทักษะที่คนยุคนี้ควรจะมีเพิ่มกว่าแต่ก่อนที่ไม่ต้องมีความรู้เรื่องการจัดการอารมณ์มากนัก จะด่าก็ได้ แต่ขอให้ทำมาหากิน เพาะปลูกพืชเก่งๆ ขายของเก่งๆ ให้มีเงินเยอะๆ แล้วก็ Survive ได้ แต่สมัยนี้มันไม่พอ
ยิ่งมีการเปรียบเทียบ เด็กๆ เราเริ่มไปเห็นว่า อ๋อ มันมีการพูดแบบ Non-Violence มันมีการแสดงความรักแบบต่างๆ แล้วเด็กก็หันมาดูที่บ้าน พอเขาไปเห็นว่ามันมีอะไรที่ดีกว่า แล้วทำไมบ้านเราไม่มี บ้านเราก็ออกจะรวยทำไมแค่พูดดีๆ ก็พูดกันไม่ได้ เด็กก็จะเริ่มมีคำถามเพราะไปเห็น สมัยก่อนมันไม่เห็นเพราะมันไม่มีอินเทอร์เน็ต
ผมมีคนไข้ที่เอาแบบประเมินการเลี้ยงดูส่งไปในไลน์ครอบครัว ให้พ่อแม่ลองประเมินว่าพ่อแม่เลี้ยงดูหนูโอเคหรือเปล่า เนี่ยมันอยู่ในยุคที่เด็กประเมินการเลี้ยงดูพ่อแม่แล้วว่าพ่อแม่เลี้ยงหนูไม่โอเคนะในพาร์ทนี้
ถ้าให้คุณหมอแนะนำ อะไรคือ The Must สำหรับทักษะที่จำเป็นที่พ่อแม่ต้องช่วยเสริมให้ลูก
หนึ่ง เด็กควรมี Self Monitoring ภาษาพูดบ้านเราเขาเรียกว่า ‘มีสติ’ ถ้าเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์ภายนอก เขาเรียก Situational Awareness ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น มีอันตรายหรือเปล่า ทางหนีไฟอยู่ทางไหน นั่นคือการประเมินสถานการณ์ภายนอก
แต่การประเมินสถานการณ์ข้างใน เขาเรียก Self Monitoring ตอนนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเรา ตอนนี้เรารู้สึกยังไง ตอนนี้เราคิดอะไรอยู่ ทำไมถึงคิดอย่างนั้น แล้วตอนนี้อารมณ์นี้มันมาจากอะไร คือกำลังรู้ว่าตอนนี้ Something is not right in myself ควรจะมีอันนี้ก่อนเลยเพราะว่าบางคนไม่มี บางคนอารมณ์มันแย่มาก ก็ไป External (แสดงออกมาภายนอก) เช่น พอกินเหล้าแล้วอารมณ์มันดีขึ้นก็กินโดยที่ไม่ตั้งคำถามอะไร กินเหล้า ไปต่อยคน ไปมีเซ็กส์ ไปใช้ยา อะไรอย่างนี้ แล้วพบว่าอารมณ์มันดีด้วยการทำอะไรสักอย่าง โดยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้างในนี้คืออะไร พอเราไม่ค่อยรู้ว่าข้างในเราเป็นยังไง มันก็แก้ไขยาก
ผมว่าการมี Self Monitor สำคัญ ถ้ารู้แล้วว่าบางอย่างมันไม่โอเค ทีนี้จะไปแก้ข้างใน ผมว่าไม่ยากนะ เพราะว่าทฤษฎีเยอะแยะ ไปเสิร์ชหาได้ว่าถ้ากำลังกลัว กำลังกังวล กำลังเศร้า กำลังเสียเซลฟ์ มันมี How to เยอะแยะ แต่ต้องรู้ก่อนว่าข้างในนี้มีอะไร แล้วถึงจะไปแก้ได้
สอง Communication (การสื่อสาร) เป็นเครื่องมือสำคัญที่เอาไว้ Relate กับโลกภายนอก จะดีลกับคนอื่น ถ้ามีคนเอาเปรียบเรา เราจะพูดกับเขายังไง Call for help จะสื่อสารอารมณ์ หรือจะใช้มันเพื่อช่วยคนก็ได้นะ ใช้ซัปพอร์ตใช้สร้างสัมพันธ์ ผมว่าสกิล Communication สำคัญมาก
สาม ผมว่าอันนี้อาจจะสัมพันธ์กับการใช้สื่อโดยตรง คือ Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) เพราะข้อมูลตอนนี้มันเยอะ ซึ่งอย่าว่าแต่เด็กเลย ผู้ใหญ่ก็ด้วย ต้องแยกให้เป็นว่าข้อมูลอันไหนจริง ข้อมูลอันไหนเป็นประโยชน์ เพราะว่าพอข้อมูลมันเยอะแล้วกรองไม่ค่อยได้ มันจะมีผลกับความเชื่อ เมื่อเราเชื่ออะไรสักอย่างแล้วความเชื่อมันจะผลักดันให้ชีวิตเราไปทางนั้น เพราะฉะนั้นผมคิดว่า Critical Thinking สำคัญมากสำหรับการอยู่ในโลก โดยเฉพาะโลกโซเชียล อันนี้คนจริงคนปลอม อันนี้โจรนะ ถ้าแยกไม่ได้ผมว่าอันนี้ก็ลำบาก
ถ้าเอาสัก 3 อัน ผมมองว่า 3 อันนี้สำคัญสุดละ มี Self Monitor มีวิธี Relate มีทักษะในการสื่อสารกับคน แล้วก็มีความคิดแบบ ‘เอ๊ะ’ ช่างสังเกต มีความคิดอย่างมีวิจารณญาณ
ทุกวันนี้มีแนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกมากมาย คุณหมอมองเรื่องนี้อย่างไร พ่อแม่ต้องคอยอัปเดตตลอดไหม
ผมรู้สึกว่าเรื่องเลี้ยงลูก จะมีทฤษฎีใหม่ทุกปี เช่น เรื่อง Self Compassion หรือระยะหลังๆ ก็มีเรื่อง Growth Mindset มีเรื่อง Grit มีเรื่องนั้นเรื่องนี้ ซึ่งอีกเดี๋ยวก็จะมีอีก แต่อย่างไรก็ตาม ผมว่าอะไรที่มากไปก็ไม่ดี หรือน้อยไปก็ไม่ดี เพราะสุดท้ายมันจะมีอยู่หลักเดียวก็คือเลี้ยงลูกให้พอดี
นอกจากนี้ผมเป็นห่วงพ่อแม่ที่ศึกษาความรู้เยอะๆ นะ คือสมัยก่อนผมจะพยายามบอกว่าอย่าเอาไปทั้งหมด ผมพบพ่อแม่จำนวนหนึ่งที่กลัวก็เลยศึกษา ปรากฎว่ายิ่งศึกษาก็ยิ่งเครียดกว่าเดิม สรุปคือ เลี้ยงลูกนี่มันยังไงนะ แล้วที่ทำอยู่นี่ถูกไหม
สำหรับผม ตัว Knowledge เป็นเหมือนเมนูอาหาร คือเราไม่ต้องกินทั้งหมดและไม่ต้องชอบมันทั้งหมด แต่ให้เราเลือกอันที่มัน Match กับบ้านเรา มัน Match กับลูกเรา มันต้อง Individualized แล้วพ่อแม่ต้องค่อยเป็นค่อยไป ผมเลยเน้นเรื่องสมดุล พอคิดอย่างนั้น หลังๆ เลยไม่อยากพยายามจะ Propose (เสนอ) อะไรไปเยอะๆ ผมรู้สึกว่าจริงๆ มีคนพูดเรื่องเลี้ยงลูกเยอะมากเลยนะ ยิ่งตอนนี้มีคำทางจิตวิทยามากมาย ซึ่งกลายเป็นคำที่ใช้ในสื่อเยอะมาก แล้วก็มีคำใหม่ๆ ที่ผมก็ไม่ค่อยรู้จักเต็มไปหมด ซึ่งหลายคนมักนั่งตีความว่าสิ่งที่เขาเจอแบบนี้ใช่ไหม ตรงกับคำศัพท์นั้นหรือเปล่า
ไม่ใช่แค่พ่อแม่ที่ได้รับข้อมูลใหม่ๆ ด้านจิตวิทยา เด็กๆ เขาก็รับรู้ผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ด้วย?
ผมว่าข้อดีมันก็มีนะ มันทำให้คนตื่นตัว ผมว่าพอมนุษย์รู้ว่าสิ่งที่เขากำลังเผชิญอยู่นี่มันคืออะไร มันจะเข้าใจง่าย แล้วมันจะหาทางไปง่าย แต่ข้อเสียก็มี ก็คือว่าบางคนก็จดไว้เลย อ๋อเรามีทั้งอันนี้อันนู้นอันนั้น เห็นแล้วท้อ
ข้อดีคือมันเป็นยุคที่คนก็ตื่นตัวเรื่องจิตวิทยา มีคนสนใจ โดยเฉพาะเด็กๆ สนใจเรื่องจิตวิทยา ในมุมมองผม ผมว่าดี คือเขาจะได้รู้ว่า อ๋อ…นอกจากการไปจัดการโลกภายนอก โลกภายในมันก็จัดการได้ ทำให้ดีขึ้นได้ ทำให้สวยขึ้นได้ ทำให้เข้มแข็งขึ้นได้
ยุคนี้ข้อดีของการมีข้อมูลเยอะๆ ก็มีครับ เด็กก็อยากจะจัดการตัวเองให้ได้ สังเกตเด็กยุคหลังๆ จะมีความรู้เรื่องจิตวิทยา เด็กยุคนี้อาจจะ Empathy (เข้าอกเข้าใจ) กันง่ายกว่าคนยุคก่อนก็ได้ เพราะว่าเขาถูกเทรนด์มา หรือว่าบางโรงเรียนก็เริ่มมีหลักสูตรเรื่องการสื่อสารกัน เด็กน่าจะจัดการอันนี้ได้ดีขึ้น ซึ่งมันก็จะ Match กับปัญหาที่มันเยอะขึ้น ปัญหาคือพ่อแม่ตามไม่ทัน เด็กบางคนรู้วิธีคุยมากกว่าพ่อแม่ พ่อแม่ยังพูดไม่เป็นเลย
แล้วบทบาทมันจะเหมือนสลับกันนะ เด็กบางคนอาจจะกลายเป็นคนเหมือนแบก Conflict (ความขัดแย้ง) ในบ้านนะ เพราะว่ากลายเป็นคนที่สกิลดีสุด ซึ่งถ้าผู้ใหญ่ศึกษาความรู้จิตวิทยาให้ทันเด็กจะดีมาก ทำให้คุยกันรู้เรื่องว่า อ๋อ…พ่อกำลัง Empathy อย่างนี้จะดีจะคุยกันรู้เรื่อง
ถ้าดูจากแนวโน้มตอนนี้แล้ว คิดว่าปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ อะไรน่าเป็นห่วงที่สุด
ผมว่าเรื่องคุณภาพในการเลี้ยง ที่จริงเขาไม่ได้เลี้ยงแย่ลงนะ แค่เขาเลี้ยงเหมือนแต่ก่อน ซึ่งแต่ก่อนคือยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต หรือสื่อที่สามารถล่อลวงเด็ก อย่างสมัยก่อนจะปล่อยให้เด็กไปตกปลาที่คลองหลังบ้าน ปล่อยให้เด็กเข้าไปเก็บของป่า อันตรายอย่างมากก็คือเจองู แต่ยุคนี้เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลจากไหนก็ได้ อย่างจะทำบุหรี่ไฟฟ้าใช้เอง เด็กสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที
ผมคิดว่าพอพ่อแม่เลี้ยงลูกแบบแต่ก่อนมันเลยอาจจะทำให้เด็กเราไม่รอด เพราะฉะนั้นปัญหาคือวิธีเลี้ยง สองคือเวลา ซึ่งเวลาอาจจะเหมือนแต่ก่อนนะ เขาก็คิดว่าแต่ก่อนนั้นพ่อแม่เขาก็มีเวลาให้เขาประมาณนี้ แต่ยุคนี้ไม่มีเวลาไม่ได้
ยุคนี้เลี้ยงเด็กแบบไม่ใกล้ชิดไม่ได้ เพราะว่ามันมีคนพร้อมจะใกล้ชิดเขามากกว่าเรา สามารถแชท ส่งรูป ส่งอะไรเยอะแยะ โดยที่เราไม่รู้ ผมคิดว่าเวลาต้องมีมากกว่านี้ ทักษะต้องมีมากกว่านี้ ถึงจะเลี้ยงแล้วเซฟ
พ่อแม่ต้องมีทักษะในการดูแล เพราะยุคนี้ผู้ใหญ่เองก็อยู่ยากขึ้น ฉะนั้นถ้าอยู่โดยมีสุขภาพจิตที่ดีต้องรู้วิธีว่าทำยังไงให้สุขภาพจิตดี ใน Chaos (ความยุ่งเหยิงวุ่นวาย) ที่เราเจออยู่ตอนนี้ ยิ่งสมัยนี้คนมีลูกน้อยลง เพราะว่าต้นทุนเราก็ไม่ได้มาก เวลาก็ไม่ได้เยอะ จะให้มีลูก 5 คน 7 คน เหมือนแต่ก่อนคงยาก เพราะฉะนั้นมีลูกน้อยลงก็ควรจะมีเวลาให้เขามากขึ้น เลี้ยงเขาให้ดี เลี้ยงให้มีคุณภาพ
ผมมองว่าเรื่อง Knowledge ไม่ยากนะ แต่เวลาเป็นเรื่องที่เกินกำลังแพทย์ พ่อแม่อาจจะมีเวลามากขึ้นถ้าหน่วยงานอื่นช่วยให้พ่อแม่มีเวลามากขึ้น เช่นกฎหมายแรงงาน ชั่วโมงเรียนที่โรงเรียน การสร้างสวนสาธารณะใกล้บ้าน จริงๆ มันมีผลนะ ถ้าบ้านมีสวนสาธารณะใกล้บ้าน ทุกเย็นก็ไปเดินกันได้ เสาร์อาทิตย์ก็แวะไปก่อนพ่อแม่ไปทำงาน ก่อนลูกไปเรียน ผมว่าพวกนี้มันถึงจะช่วย ซึ่งเรื่องเวลา จิตแพทย์ช่วยไม่ได้ แต่หน่วยงานอื่นอาจช่วยให้พ่อแม่มีเวลากับลูกได้ อันนี้ก็สำคัญ บวก Knowledge ไปอีกหน่อย พ่อแม่รู้ว่าเวลาที่มีอยู่น้อยนิดนี้จะทำยังไงให้ลูกเข้มแข็ง ครอบครัวเข้มแข็ง แล้วก็ไปทำ ผมอยากเสนอแค่นี้ เวลา กับ ความรู้ สองอย่าง อย่างอื่นไม่เป็นไร