- เมื่อเยาวชนรวมตัวกันสืบค้น เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของชุมชน ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี
- เด็กจะพาไปรู้จักพิธีกรรมของชาวไทยทรงดำ บ้านเรือนไทยทรงดำ การทำสำรับอาหาร เครื่องแต่งกาย และภาษา ซึ่งนอกจากได้ข้อมูลแล้ว กระบวนการศึกษาค้นคว้านี้ยังทำให้พวกเขาได้ฝึกประสบการณ์จากการไปเก็บข้อมูลกับผู้รู้ในชุมชน และทำงานร่วมกับทีมให้สำเร็จตามเป้าหมาย
- ชวนอ่าน Project-based learning จากเรื่องวัฒนธรรมไทยทรงดำกันค่ะ
ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ หลายคนอาจมองเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องวิชาการ โบราณ คร่ำครึและน่าเบื่อ หลายครั้งตัวฉันเองก็รู้สึกไม่ต่างกัน แต่หลายต่อหลายครั้งอีกเช่นกันที่การได้เรียนรู้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ทำให้ต้องรู้สึกทึ่ง และตาลุกวาวไปกับเรื่องเล่า ความหมาย และวิธีคิดที่แฝงอยู่เบื้องหลัง
เช่นเดียวกับการได้ยินเรื่องเล่าของ ‘ลาวโซ่ง บ้านโคกคา’ ผ่านคำบอกเล่าของคนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ ที่เมื่อสืบสายความสัมพันธ์แล้ว ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องอะไรกับลาวโซ่งเลยแม้แต่น้อย
อะไรเป็นเหตุผลให้พวกเขาสนใจสืบค้นและเรียนรู้วัฒนธรรมของลาวโซ่ง วันนี้ The Potential จะพาไปทำความรู้จักกับ โครงการกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของเด็กเยาวชนและคนในชุมชน ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ผ่านคำบอกเล่าของ ส้ม – นริศรา พลับวังกล่ำ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ และ แนน – ศศิธร เกิดเพิ่ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม ตัวแทนกลุ่มแกนนำเยาวชน ที่ลุกขึ้นมาสืบค้น เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของชุมชน
ชื่อที่บ่งบอกรากเหง้า ค่านิยม และตัวตน
“จุดเด่นของทีมเรา คือ เราเริ่มจากความไม่รู้แต่อยากรู้ เลยจำเป็นต้องหาความรู้ เราจึงมารวมความคิดกันว่าจะเริ่มจากตรงไหน จะทำอย่างไรเพื่อให้ได้รู้เรื่องนี้” ส้มและแนน เริ่มต้นเล่าถึงสิ่งที่จุดประกายพวกเธอ
ทั้ง 2 คน ไม่ใช่ลาวโซ่ง และ ไม่ได้มีเชื้อสายเกี่ยวข้องกับชาติพันธุ์เป็นการส่วนตัว แต่อาศัยอยู่ในชุมชน ที่คนในชุมชนถึงร้อยละ 80 เป็นชาวไทยทรงดํา และเพราะเป็นเด็กกิจกรรมและมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนตำบลดอนคา จึงเรียกได้ว่าเป็นคนแอคทีฟ ไม่ชอบอยู่นิ่ง อยากทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับชุมชนและสังคมอยู่เสมอ
“ตอนแรกพวกเราเลือกทำเรื่องผักตบชวา เพราะเห็นว่าหมู่ที่ 1 บ้านลำพญาผักตบชวาเยอะ ปัญหาคือถ้าเราทำเรื่องผักตบชวา แต่ตัวเราเองไม่ซื้อผลิตภัณฑ์จากผักตบชวาใช้อยู่แล้ว ถ้าเราชวนมาทำ คนที่ซื้อเขาจะซื้อของเราไหม หนูได้คำแนะนำมาจากอาธเนศ (ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการ Active Citizen สมุทรสงครามและราชบุรี) ว่าที่หมู่บ้านเราเป็นไทยทรงดำ เราเลยอยากรู้เรื่องนี้มากกว่า” แนน กล่าว
“พวกเราสนใจอยากรู้ว่าลาวโซ่งเขามีพิธีกรรมอะไรบ้าง ทานอาหารแบบไหน เครื่องแต่งกาย และภาษา ส่วนตัวที่อยากรู้เพราะหนูไม่ใช่คนลาวโซ่ง น้องผู้ชายอีกในทีมเป็นคนลาวโซ่ง น้องเองก็รู้เรื่องลาวโซ่งไม่เยอะ แต่เขาฟังภาษาลาวโซ่งออกบ้าง” ส้ม ขยายความถึงเป้าหมาย และเหตุผลที่ทำโครงการ
จะเรียก ‘ลาวโซ่ง‘ หรือ ‘ไทยทรงดำ‘ หรือ ‘ไทยดำ‘ อย่างไหนก็ไม่ผิด เพราะหมายถึงชาติพันธุ์เดียวกัน แต่รู้หรือไม่ว่าชื่อเรียกที่แตกต่างกันนี้สะท้อนถึงเส้นทางอพยพ และวิถีชีวิตของลาวโซ่ง หรือ ไทยทรงดำได้
ทีมเยาวชนแกนนำโครงการ รวมถึงพี่เลี้ยงโครงการ มีทั้งคนที่มีเชื้อสายลาวโซ่ง และคนที่ไม่มีเชื้อสายลาวโซ่ง ส้มและแนน เล่าถึงกระบวนการทำโครงการว่า มีการประชุมวางแผนงานและแบ่งหน้าที่สมาชิกในทีม เพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ในชุมชน ประเด็นที่สนใจมีทั้งเรื่องพิธีกรรม การทำสำรับอาหาร เครื่องแต่งกาย และภาษา
“พวกเราสนใจอยากรู้ว่าลาวโซ่งเขามีพิธีกรรมอะไรบ้าง ทานอาหารแบบไหน เครื่องแต่งกาย และภาษา ส่วนตัวที่อยากรู้เพราะหนูไม่ใช่คนลาวโซ่ง น้องผู้ชายอีกในทีมเป็นคนลาวโซ่ง น้องเองก็รู้เรื่องลาวโซ่งไม่เยอะ แต่เขาฟังภาษาลาวโซ่งออกบ้าง” ส้ม ขยายความถึงเป้าหมาย และเหตุผลที่ทำโครงการ ก่อนเล่าต่อว่า
พวกเขายกตัวอย่างข้อมูลที่ได้จากการสืบค้น เช่น พระบริหารเทพธานี (2480) กล่าวไว้ในหนังสือ พงศาวดารชาติไทย ตอนหนึ่งว่า “ผู้ไทยดําที่เรียกกันแถวเมืองเพชรบุรีและราชบุรีลาวโซ่ง คําว่า “โซ่ง” หมายถึง กางเกง ดังนั้นผู้ไทยดํา ก็คือลาวโซ่งดํา เพราะชอบนุ่งกางเกงสีดํา”
ซึ่งคำว่า ‘โซ่ง’ หลายแหล่งกล่าวว่ามีที่มาจากคำว่า ‘ส้วง’ ในภาษาลาว เครื่องแต่งกายไทยทรงดำ ผ้าที่ใช้มักทอด้วยฝ้าย แล้วนำมาย้อมคราม หรือนำมาหมักด้วยโคลน เครื่องแต่งกายไทยทรงดำมีทั้ง เสื้อก้อม เสื้อฮี ผ้าซิ่นลายแตงโม และผ้าเปียว
บ้านเรือนไทยทรงดำมีหลังคาทรงสูง เป็นทรงกระดองเต่า ยกพื้น มุงด้วยหญ้าคา ฝาบ้านเป็นไม้ฟาก มีปลายจั่วเรียกว่า ‘ขอกุด’ เป็นสัญลักษณ์ มีประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย
เรื่องหนึ่งที่กลุ่มเยาวชนสนใจ คือ แต่ละบ้านจะมี ‘ห้องกะล้อห่อง’ ไว้สำหรับให้ผีบรรพบุรุษมาอยู่อาศัย เมื่อมีคนในบ้านเสียชีวิต จะอันเชิญดวงวิญญาณมาอยู่ในกะล้อห่อง โดยนำกระดูกมาเก็บไว้ พร้อมทั้งเขียนชื่อลงในสมุดรายชื่อคนตาย เมื่อครบระยะเวลาหนึ่งเจ้าบ้านจะทำพิธีเสนเรือน หรือการเลี้ยงผี โดยจะเชิญญาติพี่น้องทั้งหมดในตระกูลมาร่วมกันเลี้ยงผีบรรพบุรุษร่วมกัน
ส้ม บอกว่า การสื่อสารระหว่างกลุ่มเยาวชนกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนซึ่งต้องใช้ภาษาลาวโซ่ง เป็นอุปสรรคในการทำงานอย่างหนึ่ง เพราะเยาวชนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจภาษา หรือแม้บางคนมีเชื้อสายลาวโซ่ง ก็ไม่สามารถสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว โชคยังดีที่พี่นุ้ย (พี่เลี้ยงโครงการ) คอยเป็นผู้ช่วยประสานงาน และแปลภาษาให้ เนื่องจากสามารถพูดภาษาไทยทรงดำได้
“กว่าที่เราจะมาทำงานนี้มีปัญหาเยอะมาก บางคนในทีมไม่ให้ความร่วมมือแต่เราเข้าใจเพราะว่าเขาไม่ว่าง เราเลยพยายามหาเวลาว่างให้ตรงกันมากที่สุด มันยากตรงที่เราต้องการลงลึกถึงเรื่องต่างๆ เพราะเราไม่ใช่คนลาวโซ่ง ยากจนคิดว่าเราไม่สามารถทำเรื่องนี้ได้ โดยเฉพาะเรื่องภาษาพูด เพราะเราสื่อสารกับเขาไม่รู้เรื่อง อาหารการกินเราก็กินกับเขาไม่ได้ อาหารของเขาในอดีตกับปัจจุบันไม่เหมือนกัน อาหารในพิธีกรรมไม่เหมือนอาหารสมัยนี้เลย
แต่หนูอยากรู้อยากศึกษา เพราะอย่างไรตัวเราก็ยังต้องอยู่กับชุมชน แล้วชุมชนอยู่มานานมาก วัฒนธรรมอยู่มานานเท่าไรแล้ว ขนาดตอน ป.2 หนูยังเคยเรียนรำไทยทรงดำในงานวันเด็ก เรื่องทรงผมของไทยทรงดำแต่ละระดับชั้นแต่ละคนก็แตกต่างกัน งานศพต้องรวบผมไว้แต่ไม่สูง หนูคิดว่าวัฒนธรรมต้องอยู่กับลูกหลาน ถ้าไม่มีคนแก่วัฒนธรรมยังคงต้องอยู่เพราะว่าลูกหลานจะต้องสืบต่อมา” ส้ม กล่าว
พาเยือนถิ่นลาวโซ่ง (ไทยทรงดำ) บ้านโคกคา
กว่าจะได้ข้อมูลแต่ละอย่างเพื่อนำมารวบรวมไว้ศึกษาและส่งต่อ กลุ่มแกนนำเยาวชนต้องจัดสรรเวลาเรียน เวลาสำหรับรับผิดชอบงานในบทบาทอื่น รวมทั้งงานโครงการ ส้มและแนน ยอมรับว่า หลายครั้งรู้สึกเหนื่อยและท้อ แต่ไม่อยากปล่อยให้โอกาสหลุดมือ เพราะอยากเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
“หลังจากที่เราแบ่งหน้าที่และประชุมก็ลงเก็บข้อมูล แบ่งเป็นหมู่บ้านว่าหมู่บ้านไหน จะเรียนรู้เรื่องอะไร ทำไปตามเรื่องที่เขารู้ เตรียมคำถามไป หนูทำเรื่องการเรียนรู้การทำสำรับอาหารของชาวลาวโซ่ง ออกแบบโดยหมวดหมู่เป็นอาหารที่กินในชีวิตประจำวัน อาหารในพิธีงานแต่งงาน พิธีงานศพ พิธีงานเสนเรือน พิธีงานมงคล หนูเป็นคนพูดและเป็นคนถาม ส่วนน้องจะทำหน้าที่จดเวลาที่ผู้ใหญ่พูด
เช่น ถามว่าอาหารชนิดนี้กินในพิธีได้ไหม อาหารในงานศพสามารถกินในชีวิตประจำวันได้ไหม ผู้รู้จะให้คำแนะนำมา แบ่งว่าอันไหนกินได้หรือกินไม่ได้ หลังจากที่ได้ข้อมูลมาพวกเรานำมาสรุปบทเรียน นั่งคุยกับเพื่อนในทีม แบ่งข้อมูลแยกตามหมวดหมู่ ยกตัวเช่น เราก็ได้เรียนรู้ เช่น พิธีงานศพของชาวลาวโซ่ง ถ้าเกิดมีคนในบ้านแต่งงานจะต้องเว้นระยะไปประมาณ 30-60 วันถึงจะจัดพิธีได้” ส้ม อธิบาย
จะว่าไปไทยทรงดำ มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศไทยมายาวนาน ไทยทรงดํา หรือ ลาวโซ่ง มีผิวขาวคล้ายคนจีน ในปัจจุบันลูกหลานลาวโซ่งหรือไทยทรงดําอยู่อาศัยในจังหวัดเพชรบุรี ราชบุรี นครปฐม และสุพรรณบุรี ได้ใช้ชีวิตกลมกลืนเป็นชาวไทยทั่วไป ชาวไทยทรงดําเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มหนึ่งที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตั้งแต่บริเวณมลฑลกวางสียูนาน ตังเกี๋ย ลุ่มแม่น้ำดําและแม่น้ำแดง จนถึงแคว้นสิบสองจุไทในเวียดนามตอนเหนือ และได้อพยพเข้ามาในประเทศไทยในสมัยกรุงธนบุรี
ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี แต่เดิมมีลักษณะพื้นที่เป็นเนินสูง จึงถูกเรียกว่า “โคก” ประกอบกับแต่เดิมเป็นป่าหญ้าคาขึ้นเต็มไปหมด จึงเรียกกันว่า “โคกคา” ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น “ดอนคา” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน กล่าวว่า ชาวไทยทรงดำอาศัยอยู่ใน 5 หมู่บ้านหลัก ๆ ได้แก่ บ้านหน้าโพ บ้านดอนพรม บ้านดอนคา บ้านตากแดด และบ้านตาลตอ พื้นที่แห่งนี้มีประวัติชุมชนมาร่วม 170 ปี บรรพบุรุษย้ายมาจากจังหวัดเพชรบุรี ราวปี 2440 และมีบางส่วนเดินทางต่อไปนครสวรรค์และพิษณุโลก
ส่วนคำว่า ‘ลาว‘ ที่นำหน้านั้น ส่วนหนึ่งเป็นค่านิยมการเรียกคนที่อพยพถิ่นฐานเข้ามาในประเทศไทยสมัยก่อน ที่สอดคล้องกับเส้นทางอพยพ
ม.ศรีบุษรา (2530) ได้กล่าวว่า ไทยทรงดํา หรือ ไทยดํา มีถิ่นฐานอยู่ที่ประเทศจีนตอนกลางซึ่งเป็นถิ่นฐานเดิมของชนเผ่าไท ต่อมาคนไทได้อพยพลงมาทางใต้ ไทดําได้อพยพมาตั้งหลักแหล่งที่บริเวณแม่น้ำอูซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลบรรจบกับแม่น้ำโขงที่หลวงพระบางในแคว้นสิบสองจุไท ซึ่งมีเมืองแถงหรือปัจจุบัน คือ เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนามเป็นเมืองหลวง และเป็นหัวเมืองฝ่ายเหนือ บริเวณนี้อยู่ตอนเหนือของราชอาณาจักรลาวใกล้เขตแดนเวียดนามเหนือ นอกจากเมืองแถงแล้วบริเวณที่ไทดําอาศัยอยู่ อีกหลายเมืองรวมทั้งหมดเป็น 12 เมือง จึงเรียกว่า ‘เมืองสิบสองผู้ไท’ หรือ ‘สิบสองเจ้าไท’ และต่อมาเรียกว่า ‘สิบสองจุไท’
เมื่ออาณาจักรสุโขทัยเสื่อมอํานาจลงในตอนต้นสมัยอยุธยา แคว้นสิบสองจุไทได้ถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 ภาค คือ ภาคที่ติดต่อกับพม่าซึ่งจีนเรียกว่า ‘แคว้นสิบสองปันนา’ หรือ ‘ไทลื้อ’ และภาคที่ติดต่อกับจีนชาวญวนเรียกว่า ‘แคว้นสิบสองจุไท’
“ตอนนี้พวกเราลงลึกไปที่เรื่องพิธีกรรม การแต่งกายและอาหาร เหลือเรื่องภาษาเป็นข้อมูลที่อยากได้มากที่สุด เพราะวัยรุ่นที่เป็นคนไทยทรงดำเขาไม่พูดภาษานี้กันแล้ว พี่ที่หนูรู้จักเป็นคนไทยทรงดำแต่เขาก็ไม่พูด ไม่มีใครสืบสานไม่มีใครนำไปใช้ปฏิบัติต่อ ภาษาเลยหายไป” ส้มและแนน สะท้อนความเป็นจริงที่อยู่ตรงหน้า
“เวลาที่เราได้ฟังภาษาลาวโซ่งจะเป็นภาษาที่สวยงาม ยิ่งเวลาเขาพูดเร็วๆ หนูชอบ มันจะไม่เหมือนเราพูด สำเนียงเขาไพเราะ ในหนังสือที่มีภาษาลาวโซ่งจะไม่ตรงกับเวลาที่เขาพูดเพราะมันถูกดัดแปลงเปลี่ยนไป หนูชอบเครื่องแต่งกาย มีความเป็นเอกลักษณ์ของไทยทรงดำ หนูไม่เคยแต่งชุดไทยทรงดำมาก่อน ชุดในแต่ละพิธีกรรมจะไม่เหมือนกันเลย” แนน เล่า
รู้เขารู้เรา การเรียนรู้สู่การรู้จักและพัฒนาตัวเอง
จากเป้าหมายที่ต้องการศึกษาเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของชุมชน สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ การได้เรียนรู้เพื่อรู้จักและพัฒนาตัวเอง ทั้งสองคนช่วยกันสะท้อนความเปลี่ยนแปลง ทั้งมุมมองความคิดที่มีกับตัวเองและสังคมว่า
“หนูได้ข้อมูล ได้รอยยิ้มจากชาวบ้าน แต่ก่อนจากที่เป็นคนไม่กล้าพูดแม้แต่นิดเดียว แต่ตอนนี้ให้หนูจับไมค์เป็นชั่วโมงก็พูดได้ หนูได้ฝึกความกล้าแสดงออก จากคนที่ไม่เคยพูดพอได้พูดและเห็นรอยยิ้มทำให้รู้สึกดีเหมือนว่าเราทำสำเร็จแล้ว รู้สึกมีความสุขที่ได้เห็นงานออกมา”
“โครงการนี้ทำให้หนูมองเห็นศักยภาพในตัวเองมากขึ้น ยิ่งหนูเรียนรัฐประศาสนศาสตน์ หนูอยากลงลึกกับชุมชนมากขึ้น เมื่อก่อนหนูเป็นคนที่ไม่ได้อยากเรียนรู้เลย เก็บตัวอยู่ในบ้านอยู่แต่ในห้อง บางทีกินข้าวออกไปนอกบ้านบ้างแล้วก็รีบกลับเข้าห้อง ซื้อข้าวมากินที่อยู่ในห้องไม่ไปไหน ไม่ค่อยสนใจอะไรที่เกี่ยวกับชุมชนสักเท่าไหร่” ส้ม กล่าว
ส่วนแนน ย้ำว่า การเปิดรับโอกาสในครั้งนี้ไม่ทำให้เธอผิดหวังหรือรู้สึกเสียเวลา
“เมื่อก่อนพวกหนูไม่สนใจเรื่องชุมชน วัฒนธรรมหรือเอกลักษณ์พวกนี้เลย อยู่บ้านนอนเล่นแต่โทรศัพท์ แต่เดี๋ยวนี้หนูรู้สึกว่าเราควรมีความรับผิดชอบ เราต้องรับผิดชอบงานนี้ เราควรรู้ว่าจะทำอะไร ไม่ใช่เร่ร่อนเหมือนเมื่อก่อน หนูเรียนรู้การใช้ชีวิต เราได้ไปเจอคนอื่นๆ เราเห็นวิถีชีวิตของคนอื่นว่าเขาใช้ชีวิตอย่างไร คนอื่นเขาสนใจเรื่องราวของเราแบบที่เราสนใจเรื่องของเขาไหม หนูได้เพื่อนใหม่เยอะมาก ได้เห็นรอยยิ้มจากการทำกิจกรรม กิจกรรมนี้เปิดโอกาสกับหนูมากๆ เหมือนเป็นโอกาสที่เข้ามาหา ซึ่งบางคนอาจไม่ได้รับโอกาสอย่างเรา เราต้องรักษาไว้ให้ดีที่สุด” แนน กล่าว
เอาเข้าจริง เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชาติพันธุ์ ไม่ใช่เรื่องวิชาการ โบราณ คร่ำครึหรือน่าเบื่อ เสมอไป หากมี ‘ความอยากรู้‘ นำทาง เพราะตลอดเส้นทางการสืบค้นจะพาเราไปพบเรื่องราวแปลกใหม่ ที่น่าสนใจและน่าตื่นเต้นอีกมากมาย ที่อาจทำให้เราอยากค้นหา ลงลึก จนหยุดตัวเองไม่ได้
เราไม่จำเป็นต้องสนใจทุกเรื่อง แต่แค่เริ่มต้นจากเรื่องที่เราสนใจ ง่ายๆ แค่นั้นเอง…
โครงการกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมไทยทรงดำของเด็กเยาวชนและคนในชุมชน ตำบลดอนคา อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก” ดำเนินการโดย ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จ.สมุทรสงคราม สนับสนุนโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) |