- ตั้งต้นจากหนังสือ ‘Deschooling Society ที่นี่ไม่มีโรงเรียน’ พร้อมหัวข้อสนทนาว่า ประเทศนี้ไม่มีโรงเรียน ได้จริงไหม
- ไอวาน อิลลิช ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เสนอระบบที่ไม่มีโรงเรียน เพราะจะทำให้สังคมเกิดและงอกงามได้ด้วยการเรียนรู้
- สนทนาเรื่องนี้กับ นักอ่าน – นักคิด – นักเขียน – นักสงสัย – นักตั้งคำถาม และ นักเรียนรู้ อย่าง ‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ชายหนุ่มที่แนะนำตัวว่า “ผมคือผลผลิตของระบบการศึกษาแห่งประเทศไทยเลยครับ”
ภาพ: อนุชิต นิ่มตลุง
นี่อาจจะไม่ใช่บทสัมภาษณ์เหมือนที่ผ่านมา เรียกว่าบทสนทนาอาจจะถูกต้องมากกว่า และเป็นบทสนทนาที่ตั้งต้นจากหนังสือชื่อว่า Deschooling Society ที่นี่ไม่มีโรงเรียน ของ ไอวาน อิลลิช นักคิด นักการศึกษาชาวออสเตรีย นักบุกเบิกด้านการศึกษา ที่วิพากษ์วิจารณ์ระบบโรงเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง
ไอวาน อิลลิช วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ระบบโรงเรียนสร้างขึ้นใหม่ จนก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเรียนรู้ที่ไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ แต่กลับสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจ’ ให้เกิดขึ้นและกระจายไปยังโครงสร้างต่างๆ ทางสังคม จนก่อให้เกิดปัญหาและความล้มเหลวต่างๆ
คำถามคือทำไมต้องคุยกับ ‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ ?
หนึ่ง นักอ่าน – นักคิด – นักเขียน – นักสงสัย – นักตั้งคำถาม และ นักเรียนรู้ รวมอยู่ในตัวเขาทั้งหมด
สอง เราไม่อยากให้บทสนทนาชิ้นนี้ออกมาในเชิงสั่งสอน ให้ความรู้ แต่เป็นการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ ช่วงเวลาของบทสนทนาครั้งนี้เกิดหลังจากเรา – The Potential และ นิ้วกลม อ่านหนังสือเล่มดังกล่าวจบเพียงไม่กี่วัน ยังมีคำถาม จุดสงสัย ความไม่เห็นด้วย และ ความคิดที่ว่า เออ…ใช่ ค้างอยู่ในสมองเต็มไปหมด
และ สาม เราไม่มีความสามารถมากพอจะสรุปได้ว่าอันไหนถูก-ผิด และไม่ต้องการทำเช่นนั้น จึงอยากชวนผู้อ่าน ร่วมวงสนทนานี้ไปด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันว่า
“ที่นี่ ไม่มีโรงเรียนได้จริงไหม”
จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คิดว่า การเรียน การศึกษา และการเรียนรู้ มันมีส่วนเหมือนและต่างกันอย่างไรบ้าง
ผมเพิ่งเปิดพจนานุกรมพุทธศาสนาเลยครับว่า การศึกษาแปลว่าการเรียนรู้เลยครับ ถ้าจะถามว่า การศึกษา การเรียนรู้มันต่างกันอย่างไร จริงๆ ก็คิดว่าความแตกต่างมันคงเป็นแค่คำนะครับ เพราะว่าความหมายโดยแก่นแท้ของมันคือ การที่เรารู้จักอะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วเข้าใจมันมากขึ้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในทางความคิดหรือในแง่ของความรู้สึกที่มีต่อสิ่งต่างๆ
แต่ไอ้ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในความรู้สึกเนี่ยมันเกิดจากอะไร ผมว่าก็น่าคิดเหมือนกัน
อะไรที่ทำให้เราคิดว่า ทำไมคำว่า ‘การศึกษา’ มันถึงดูทางการกว่า ทรงภูมิกว่า แล้วทำไม ‘การเรียนรู้’ ถึงดูธรรมดาๆ ดูชีวิตประจำวันมากกว่า ส่วน ‘การเรียน’ ถ้าเอาไปถามนักเรียนมัธยม ประถม ก็น่าจะทำหน้าเบื่อขึ้นมาทันที
คิดว่ามันอาจจะมาจากการที่เราใช้ชีวิตผ่านระบบการศึกษาบางอย่างไป มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า การศึกษาเป็นเรื่องซีเรียส แล้วก็การเรียนมันก็เป็นเรื่องที่น่าเบื่อสำหรับนักเรียน
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก คุณเอ๋ผ่านการศึกษาหรือการเรียนมาแบบไหน?
จริงๆ ผมนี่เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาแห่งประเทศไทยเลยครับ เข้าเรียนตามระบบเลยตั้งแต่โรงเรียนอนุบาล
ความรู้สึกแรกที่จำได้และเป็นภาพติดตาเลยคือ ตอนที่เข้าเรียน ป.1 วันแรก ผมจำได้ว่ามีครูคนหนึ่ง เขาถือไม้เรียวอยู่ที่หน้าห้อง แล้วไม้เรียวของเขามีสีแดงอยู่ตรงปลาย แล้วเขาก็บอกนักเรียนทุกคนเลยนะครับว่า อย่าดื้อ เพราะว่าคนที่ดื้อจะโดนตีจนเลือดออกแบบนี้ นั่นเป็นภาพจำสำหรับห้องเรียนของผม เพราะนั่นเป็นภาพแรกๆ ที่เราเริ่มรู้จักห้องเรียน ผมก็เลยมีความรู้สึกว่า การเรียนมันจำเป็นอย่างมากเลยที่จะต้องมีระเบียบ คือจะต้องเป็นนักเรียนที่ดี คุณจะต้องเป็นนักเรียนที่เชื่อฟังครู และถ้าคุณเชื่อฟังครู คุณตั้งใจเรียน คุณก็จะเป็นเด็กเรียนเก่ง แล้วเด็กเรียนเก่งเนี่ย ก็จะเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่มีอนาคตที่ดี
ส่วนการศึกษา เราจะรู้สึกว่ามันเป็นการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ไม่รู้เพราะอะไร แต่ก็คิดว่าเราควรจะมีการศึกษาที่ดี ถ้าจะพูดให้เห็นความแตกต่าง ส่วนตัวความแตกต่างอาจจะอยู่ที่ ตอนที่เรายังเรียนอยู่ในระดับประถม มัธยม เราจะรู้สึกว่าการไปโรงเรียนหรือการเข้าห้องเรียน มันคือการที่เราเข้าไปฟังวิชาความรู้จากครู โดยที่ครูเหมือนเป็นฮาร์ดดิสก์สักลูกนึงที่มีความรู้บรรจุอยู่เต็มเปี่ยมเลย เราเข้าไปเพื่อจะดึงไฟล์ความรู้จากสมองของครู ออกมาสู่สมองของเรา ถ้าเราดึงความรู้จากครูมากเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งฉลาดและเป็นเด็กเก่งมากขึ้น
ที่เปรียบเทียบแบบนี้เพราะรู้สึกว่า เราไม่รู้ว่าความรู้มันจะงอกงามต่อไปจากที่ครูมียังไง แต่เรารู้แค่ว่าครูน่ะรู้อะไรเยอะ แล้วเราต้องรู้ให้เหมือนครู
ส่วนการศึกษาในมหาวิทยาลัย ก็จะมีความรู้สึกว่ามันเปลี่ยนไปนิดนึง ตรงที่ว่าเวลาเราเข้าห้องเรียนไป เราจะรู้สึกว่า จริงๆ แล้วมันมีความรู้บางอย่างที่เกิดระหว่างที่เข้าไปเรียนอยู่ ซึ่งความรู้นี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราเข้าไปถามครู หรือว่ามีเพื่อนตั้งคำถามในสิ่งที่เราไม่เคยคิดมาก่อนว่า เฮ้ย มันมีมุมนี้ด้วยเหรอ?
แล้วสิ่งที่มันต่างชัดเจนอาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งผมเรียนคณะสถาปัตยกรรมฯ มันเป็นคณะที่เปิดโอกาสให้แสดงความคิดที่มันแตกต่างเยอะมาก โดยเฉพาะไอเดียการออกแบบ เพราะฉะนั้นในโจทย์ๆ หนึ่ง เราก็จะเห็นว่า มันมีวิธีในการออกแบบผลลัพธ์ออกมาเยอะมากเลย เช่น ผมเรียนในสตูดิโอ มีนิสิต 200 คน อาจารย์ให้โจทย์ออกแบบบ้าน 1 หลัง เราจะเห็นว่ามันจะมีแบบที่ออกมาถึง 200 แบบไม่ซ้ำกันเลย ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่เซอร์ไพรส์มากนะครับ มันต่างจากสมัยมัธยมมากๆ คือ ในโจทย์เดียวกัน มันมีคำตอบที่ไม่ถูกไม่ผิดเยอะได้ขนาดนี้เลยเหรอ?
ตอนเด็กๆ คุณเอ๋เป็นเด็กที่มีปัญหาหรือตั้งคำถามกับการเป็นนักเรียนไหม หรือมีคำถามอะไรผุดขึ้นมาระหว่างที่เราเรียนอยู่บ้างหรือเปล่า เช่น ทำไมเหมือนเราเป็นผู้รับจากครูอยู่ฝ่ายเดียว แล้วการที่เรารับมาฝ่ายเดียว มีปัญหาอะไรกับมันบ้างไหม?
ผมว่าเวลาเราพูดถึงโรงเรียน ภาพแรกที่นึกมันอาจจะเป็นห้องเรียน แต่ว่าจริงๆ แล้วโรงเรียนมันคือ ระบบๆ หนึ่ง หรือโลกใบเล็กๆ ใบหนึ่ง ที่เราไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น โดยเข้าใจว่าถ้าเราเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้นเราจะได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง แต่โลกใบนั้นเนี่ย มันเป็นการสร้างระบบระเบียบบางอย่างขึ้นมาใหม่ เพราะก่อนที่เราจะเข้ามาในโรงเรียน เราอะไรก็ได้ หมายความว่า ถ้าเกิดว่าจะมีใครมากำหนดกฎเกณฑ์ก็คงจะมีแค่พ่อแม่ แต่พอเข้าไปในนั้น (โรงเรียน) มันมีสิ่งที่ถูกต้องแบบหนึ่งที่เราต้องปฏิบัติตาม
สำหรับผมมักจะไม่ค่อยมีคำถามกับสิ่งที่ครูสอน แต่ผมจะมีคำถามนอกห้องเรียน เช่น ทำไมเราจะใส่กางเกงเลยเข่าไม่ได้เหรอ หรือทำไมเราจะใส่กางเกงสั้นเต่อไม่ได้ คือสั้นก็ไม่ได้ ยาวไปก็ไม่ได้ หรือผมเนี่ยเราจะไว้ให้มันยาวลงมาแบบ พี่มอส พี่เต๋า หรือว่าเจ มณฑลไม่ได้ สมัยนั้นเนี่ย เขาจะให้ตัดเกรียนแต่เราก็จะต้องมีปอยๆ นึงเอาไว้ดูกันว่า ใครไว้ถึงคางได้ โห มึงเก๋ามากเลยแล้วก็เอาเยลเหน็บเก็บไว้ อันนี้เป็นคำถามมากๆ ครับ
มันจะมีทั้งคำถามต่อระบบในโรงเรียน แต่กับวิชาที่เรียน เราไม่ได้มีคำถามเลยใช่ไหมคะ
ตอนเด็กเราเชื่อเลยว่า คำตอบที่ถูกเนี่ยครูเขารู้ เราไม่มีทางที่จะรู้คำตอบที่ครูจะไม่รู้ได้เลย คือถ้าเรามีคำตอบอื่นที่ไม่ตรงกับครู มันต้องผิด เราแค่มองไปที่หน้าครูแล้วเดาว่า ครูอยากให้ตอบว่าอะไร แล้วตอบให้ตรงอะครับ แล้วสิ่งนั้นแหละมันจะถูก
ถ้ามันจะมีวิชาสักวิชาหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันมีคำตอบอื่นได้ สำหรับผม มันคือวิชาศิลปะ ผมมีประสบการณ์หนึ่งซึ่งถือว่าเป็นประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตในโรงเรียนเลย คือตอนนั้น ม.3 อาจารย์ฝึกสอนวิชาศิลปะคนหนึ่ง เขาให้วาดรูปอะไรก็ได้ในโรงเรียน ผมก็วาดสนามบาสหน้าโรงเรียน
ตอนนั้นผมเพิ่งซื้อสีโปสเตอร์มาใหม่ มีสีสะท้อนแสงแบบแจ๊ดๆ เยอะๆ ผมก็ระบายสีมันไม่เหมือนจริงเลย เช่น ระบายท้องฟ้าเป็นสีม่วง ระบายต้นไม้เป็นสีส้ม ซึ่งมันก็เป็นภาพที่แปลกมาก หน้าตามันก็คล้ายๆ กับภาพที่อยู่ข้างหลังรถสองแถว มันนีออนมาก (หัวเราะ) เพื่อนด่ากันเยอะมาก แต่ว่าภาพวาดชิ้นนั้น อาจารย์เขาให้เกรดเอ มันทำให้เรารู้สึกว่า เฮ้ย แปลกดี
ารย์คนนั้นแหละที่สร้างเครื่องหมายคำถามขึ้นมาในหัวเราว่า หรือมันมีคำตอบที่มันท้าทายโจทย์ ตรงนี้แหละครับที่ทำให้เราเห็นรูเล็กๆ ในเขื่อน ที่เราไม่เคยเห็นจากผนังนี้มาก่อนเลย เราเลยรู้สึกว่า มันมีคำตอบอื่นอีกนี่หว่า
ที่บอกว่า คำตอบที่ถูกที่สุดอยู่กับคุณครูเท่านั้น นั่นหมายความว่าคำตอบที่ถูกที่สุด ไม่จำเป็นต้องถูกของที่อื่น แต่ต้องเป็นถูกของคุณครูเท่านั้น ไม่ว่าความรู้นั้นมันจะถูกหรือผิดก็ตาม?
ตอนที่เรียนอยู่ในโรงเรียน ผมเชื่อเลยว่านอกโรงเรียนไม่มีความรู้ที่ถูก คือความรู้ที่คุณควรจะเข้าใจหรือเรียนรู้จากมันควรจะเรียนจากห้องเรียน ครูเขารู้ถึงมาสอนเรา เรารู้สึกว่าถ้าอยู่นอกห้องเรียน เช่น ฟังจากรายการทีวีหรือผมไปเจอปราชญ์ชาวบ้าน แล้วมาบอกอะไรผมสักอย่าง ผมก็คงไม่เชื่อว่าความรู้นั้นมันน่าเชื่อ เพราะเราเชื่อไปแล้วว่า คนที่เราควรเชื่อที่สุดคือครู
และสิ่งที่มันมายืนยันสิ่งนี้ได้คือ ข้อสอบ คือกระบวนการของการเรียนที่สุดท้ายมันมาจบที่การทำข้อสอบ ข้อสอบนั้นมันกำลังทดสอบเราว่า ตกลงแล้วเรารู้ตามที่เขาสอนไหม? เพราะฉะนั้นเวลาเราทำข้อสอบ ซึ่งปกติแล้วมันจะเป็นปรนัยด้วย เราก็ต้องคิดว่า ถ้าเราเป็นนักเรียนที่เก่งและเรียนดี เราก็จะต้องตอบถูก ซึ่งมันไม่มีทางคิดว่า เราจะถามคำถามอื่นหรือตอบคำตอบที่นอกจากคำตอบที่ถูกต้องได้ไหม
ข้อสอบนี่แหละที่มาตรวจเราอีกทีว่าคุณรู้ในความรู้ที่ครูสอนหรือเปล่า เพราะฉะนั้นความรู้ที่ครูไม่ได้สอนมันไม่มีผลอะไรกับคะแนนสอบ หรือคำตอบอื่นที่ไม่ตรงกับคำตอบที่ครูบอกว่ามันถูก มันไม่มีผล แล้วสิ่งที่เราอยากได้ที่สุดในตอนที่เรียนอยู่คือคะแนนสอบ แล้วอะไรที่เพื่อนยอมรับเรามากที่สุดคือ คะแนนที่มันดีที่สุด อะไรที่ทำให้พ่อแม่ชมเรา ญาติปรบมือให้เรา มันก็คือ คะแนนสอบ
มันกลายเป็นว่า การเรียนรู้ทั้งหมด บทสรุปของมันก็คือ คะแนนสอบเท่านั้นเอง แล้วพอเราอยากได้คะแนนสอบ เราก็ต้องตอบตามที่ครูสอนเท่านั้นเองครับ
หนังสือ Deschooling Society เปรียบเทียบระบบการศึกษากับศาสนา ในฐานะระบบตั้งต้นในการผลิตคนสู่สังคม ให้เป็นคนที่เป็น ‘ผู้รับ’ อย่างเดียว ไม่แลกเปลี่ยน ไม่ตั้งคำถาม แต่ทำหน้าที่เอาข้อมูลเหล่านี้ไปสนับสนุนทำให้เกิดโครงสร้างต่างๆ ในสังคม เช่น ระบบอาวุโส ระบบอุปถัมภ์ รวมถึงความคิดว่าความรู้ทุกอย่างต้องพึ่งพากัน เช่น ความรู้ต้องพึ่งพาครู หรีอผู้อื่นที่รู้หรือเชี่ยวชาญมากกว่า…คุณเอ๋เห็นด้วยหรือคิดต่างอย่างไรบ้างคะ
นี่เป็นมุมหนึ่งเลยครับที่ชอบจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ คือตอนเปรียบเทียบว่า ระบบโรงเรียนเหมือนมารับบทบาทแทนองค์กรทางศาสนา
แต่ก่อนองค์กรทางศาสนาคือองค์กรที่ 1.ให้ความรู้คน 2.บอกเรื่องราวในแง่ศีลธรรม อะไรที่ควรทำ ไม่ควรทำ ถูกผิดดีงามอย่างไร และ 3.มีคนที่จัดการและสามารถบอกคุณได้ว่า คุณควรทำหรือไม่ควรทำอะไร น่าจะเป็นบทบาทของนักบวช
นอกจากนั้น องค์กรทางศาสนายังช่วยเซ็ตคุณค่าบางอย่างขึ้นมา เพื่อที่จะทำให้คนออกมาสู่สังคมและอยู่ร่วมกันในสังคมได้ ซึ่งบทบาทเหล่านี้ มันเกิดการเปลี่ยนผ่าน ศาสนาอาจจะมีบทบาทในการกำหนดสิ่งเหล่านี้ลดลง โรงเรียนเข้ามารับบทบาทเหล่านี้แทน แล้วแทนที่จะเป็นบาทหลวงหรือนักบวช ก็มาเป็นครูในห้องเรียนแทน
ผมว่าอันนี้มันน่าสนใจ ตรงที่ว่าถ้าอย่างนั้นโรงเรียนต้องมีการกำหนดคุณค่าอะไรบางอย่างให้กับเราด้วย เพราะหนังสือเล่มนี้บอกกับเราอีกว่า โรงเรียนทำราวกับว่า ให้คุณตัดตัวเองออกจากชีวิตจริง แล้วคุณต้องเข้าไปอยู่ในนั้น (โรงเรียน) คล้ายๆ กับเป็นอะไรสักอย่างที่บ่มเพาะคุณให้พร้อมออกมาเจอโลกข้างนอก แล้วถ้าคุณไม่ผ่านระบบนี้ คุณก็จะรู้สึกว่า คุณอยู่โลกข้างนอกแล้วคุณจะเข้าระบบไม่ได้ คุณอาจจะรู้สึกแปลกแยก เพราะว่าโลกข้างนอกมันเป็นระบบที่รับไม้ต่อมาจากโรงเรียน
ผมว่าโลกทัศน์ที่โรงเรียนมอบให้เราผ่านการเข้าไปอยู่ในโลกของโรงเรียน จริงๆ แล้วมันส่งผลกระทบกับการมองโลกและชีวิตหลายอย่างมาก เช่น การที่เราเข้าไปเรียนในระบบที่เราเป็นผู้รับเท่านั้น โดยวิธีการของโรงเรียนส่วนใหญ่มันไม่ก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันระหว่างนักเรียนกับครู มันทำให้เราไม่ตั้งคำถามต่อคนที่เขาคิดว่าเขารู้มากกว่าเราหรือมีอำนาจมากกว่าเรา มันทำให้เราไม่รู้สึกว่าเราสามารถจินตนาการถึงชีวิตของตัวเองได้
คาร์ล มาร์กซ์อาจจะบอกว่า คนทำงานแล้วรู้สึกแปลกแยกกับงาน แต่พอมาบอกว่า เฮ้ยจริงๆ มันเกิดขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียน ผมว่ามันยิ่งน่าสนใจ มันทำให้เราเห็นว่า ตอนที่เราเรียน เรานึกไม่ออกว่าสิ่งที่เราเรียนมันเกี่ยวข้องอย่างไรกับชีวิตเรา เช่น เราเรียนคณิตศาสตร์ มันมีบวก มีคูณ มีถอดสแควรูท แต่เราไม่รู้เลยว่ามันมีผลอะไรกับชีวิตเรา เราเรียนประวัติศาสตร์อยุธยา เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามันเกี่ยวอะไรกับชีวิตเรา
มันกลายเป็นว่าสิ่งที่เรียนหรือวิชาความรู้มันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับชีวิตเรา เราก็รู้สึกว่ามันแปลกแยกกับสิ่งที่เราเรียน แล้วมันก็ส่งผลให้รู้สึกว่าแปลกแยกกับชีวิตตัวเองด้วย เราเลยรู้สึกว่า เวลาเราไปเรียนมันเหมือนเราไปทำความรู้จักกับอะไรสักอย่างที่เขาบอกว่าคุณต้องรู้จัก เช่น เราต้องไปทำความรู้จักต้นไม้ต้นหนึ่ง แต่เราไม่รู้เลยว่า มันเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร กินก็กินไม่ได้ เอามาผัดอะไรก็ไม่ได้ ซึ่งความรู้สึกตรงนี้มันส่งผลระยะยาวมากว่า เหมือนมันทำให้เรากลายเป็นคนที่กลายเป็นแค่อะไรโล่งๆ อันหนึ่ง ที่ไปนั่งอยู่เฉยๆ แล้วให้โลกกระทำกับเรา
ผมว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นในโรงเรียนที่เป็นระบบคือ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเป็นผู้ถูกกระทำ คือเป็นผู้ที่คอยรับ แต่เราไม่ได้มีโอกาสเป็นผู้ที่สร้างสรรค์อะไรบางอย่างขึ้นมา เพราะว่าถ้าเราจะสร้างสรรค์มันก็กลายเป็นว่ามันมีคำตอบที่ถูกอยู่แล้ว ผมว่าสิ่งนี้มันกระทบอย่างมากเลยในระยะยาว
ที่เรารู้สึกว่าเราเป็นผู้รับอย่างเดียว ทำให้เราไม่คิดตั้งคำถาม หรือไม่คิดที่จะหาคำตอบอื่นๆ เอาจริงๆ ที่ผ่านมาก็ไม่ค่อยมีการต่อต้าน อาจจะเป็นเพราะวัฒนธรรมด้วยหรือเปล่าที่ทำให้เรารู้สึกเนียนไปกับระบบแบบนี้
ผมว่าสิ่งหนึ่งที่มันสร้างผลกระทบก็คือ มันทำให้รู้สึกว่าเราเป็นคนที่ไม่รู้ เธอคือผู้ไม่รู้ และเธอต้องรู้ในสิ่งที่ควรรู้ด้วย และเธออย่าไปรู้ในสิ่งที่ฉันไม่ได้บอกให้เธอรู้ นั่นคือการที่เรารู้สึกกับตัวเองว่าเราเป็นคนที่ไม่รู้ แล้วมีคนที่รู้จริงรออยู่ แล้วคนที่รู้จริงมีไม่กี่คน แล้วมีคนที่เฉพาะเจาะจงมาแล้ว
นอกจากนั้นการที่เขาบอกว่า เราจะต้องฟังจากผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งครูก็เป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญ มันก็ทำให้คนอื่นๆ ที่อยู่นอกโรงเรียน เช่น แม่ครัวที่ทำอาหารเก่งมาก คนที่เพนท์โปสเตอร์หนังที่มีฝีมือมากๆ คนเหล่านี้กลายเป็นผู้ที่ไม่รู้จริงไปหมดเลย มันทำให้เรารู้สึกว่า โลกของการเรียนรู้จำกัดมาก แล้วโอกาสที่ทำให้เราจะได้เรียนรู้จากคนที่เขารู้จริงแต่เขาไม่ได้อยู่ในโรงเรียนมันก็ตกไป เราตกเป็นคนที่ต้องรอ แล้วมันก็เซ็ตความคิดให้เราว่า มีคนบางคนที่เหมือนถูกการันตีมาแล้ว ได้รับมาตรฐานออกใบรับรองมาแล้วว่า คนนี้เป็นคนที่เราควรจะฟัง แล้วก็จะมีคนอีกส่วนนึงเลยที่เราไม่จำเป็นต้องฟัง
สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันคือ คนที่ได้รับการการันตี กลายเป็นคนที่มีอำนาจไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งความรู้สึกแบบนี้มันก็ทำให้เกิดขั้นของความสูง-ต่ำตั้งแต่ในโรงเรียน เราไม่รู้สึกว่าเราจะเป็นคนที่สามารถจะรู้ หรือเปลี่ยนสถานะตัวเองให้ไปเป็นคนที่มีสถานะเท่ากับคนที่สอนเราได้ ซึ่งสถานะแบบนี้มันอาจจะเกิดขึ้นก็ได้ ถ้าเราไปรู้ในสิ่งที่ครูไม่รู้ แล้วก็เอามาแลกเปลี่ยนถกเถียงกัน แต่พอมันเป็นไปตามระบบแบบนั้นแล้ว มันก็เลยทำให้เราก็จะต้องเป็นคนที่รู้น้อยกว่าคนบางคนอยู่เสมอ
ผมว่าสิ่งนี้มันอาจจะเกิดผลกระทบระยะยาว คือ พอเราโตขึ้นมาด้วยมายด์เซ็ตแบบนี้ เราอาจจะกลายเป็นคนที่เชื่อว่าจะมีคนบางคนที่รู้ดีกว่าเรา ควรให้เขามาปกครองเรา เช่น มันอาจจะส่งผลถึงว่า เราก็เลยไปเชื่อในระบบของคนที่เขามีคุณธรรมมากกว่าคนบางกลุ่ม เขาอาจจะดีกว่า หรือเชี่ยวชาญในด้านนี้มากกว่าคนบางกลุ่ม โดยไม่สนว่าเขาจะเข้ามาในวิธีการแบบไหน เราก็ยอมรับในกลุ่มคนที่เราเชื่อว่า เขาน่าจะถูกการันตีมาแล้ว
ขณะเดียวกันตัวเราเองก็เชื่อมั่นในลำดับชั้นของความรู้ไม่รู้แบบนี้ด้วยเหมือนกัน เราอาจจะมองคนอื่นที่เขาไม่ได้อยู่ในระบบเดียวกับเราว่า เธอรู้น้อยกว่าฉัน ซึ่งมันก็เหมือนกับว่า เราอาจจะจบการศึกษาปริญญาตรีมา แล้วเราก็มองว่า คนที่ไม่ได้จบ ป.ตรีมาไม่ได้รู้เท่าเรา หรือโง่กว่าเรา ซึ่งมายด์เซ็ตแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกไปด้วยว่า เมื่อเธอมีความรู้น้อยกว่าฉัน เธอก็ไม่ควรมีสิทธิมีเสียงเท่ากับฉันด้วย
มันก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า มีคนหนึ่งรู้มากกว่าอีกคนหนึ่ง โดยที่มันมีความรู้ที่เป็นมาตรฐานอย่างเดียวเลย คือ มันเกิดขึ้นตั้งแต่ในโรงเรียนเลยหรือเปล่า? แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันทำให้เรากลายเป็นคนที่คิดกับคนที่รู้มากกว่า-น้อยกว่าแบบนี้หรือเปล่า?
คิดแบบชวนทะเลาะอีกหน่อย ความรู้ในที่นี้ มันไม่ใช่แค่คุณมีเงินอย่างเดียวแล้วคุณจะรู้ได้ คือความรู้ที่เราให้ค่ามันมากๆ หลายเรื่องเราก็ต้องมีเงินด้วยที่จะเดินไปถึงจุดสูงสุดของความรู้นั้นๆ เพราะฉะนั้นสายตาที่เรามองคนที่ความรู้ความเชี่ยวชาญมันไม่ใช่แค่ความรู้ มันคือสถานะทางสังคม ความพร้อมทางเศรษฐกิจต่างๆ ด้วย
ความคิดแบบนี้มันน่าจะส่งผลหรือไปสร้างสังคมด้วยไหม เพราะมันไม่ได้มีแค่ความรู้สูงสุด แต่ยังมีองค์ประกอบอีกหลายอย่างที่ทำให้เราคิดว่า เราควรจะเชื่อคนคนนี้
ผมว่าตั้งแต่โรงเรียนแล้วครับ เราจะมีความรู้สึกว่าความรู้มันเท่ากับมีอำนาจด้วย คือครูไม่ได้แค่ฉลาดหรือรู้มากกว่าเรา แต่เขามีอำนาจมากกว่าเราด้วย ซึ่งจริงๆ อำนาจนั้นมาจากสถานะที่เขาเป็นผู้ที่รู้มากกว่า ทีนี้พอเราออกมาใช้ชีวิตในสังคม เราก็เลยมีความรู้สึกแบบนั้นอยู่ด้วยว่าคนที่มีการศึกษาที่ดีกว่า ลึกๆ ก็น่าจะมีอำนาจในความรู้บางอย่างที่มากกว่าเราด้วย
แต่กว่าคนคนหนึ่งจะมีความรู้ในระดับสูงได้ นั่นแปลว่าเขาก็ต้องผ่านอะไรมาหลายอย่าง อย่างหนึ่งก็คือ แน่นอนว่าคนที่จบสูง จบนอก ก็อาจจะต้องมีเงิน แม้ว่าไม่มีเงิน เขาอาจจะต้องสอบชิงทุนไป ซึ่งอันนี้มันการันตีอะไรบางอย่างนะว่า เขาเป็นคนที่โอเคของระบบ เขาเป็นผลผลิตที่ระบบยอมรับ แล้วในเมื่อเราอยู่ในระบบเดียวกัน เราจะรู้สึกว่า สถานะของเราก็คงจะสู้เขาไม่ได้ หรือเราคงอยู่ในสถานะด้อยกว่า แม้ว่าเขาจะยังไม่มีอำนาจทางตำแหน่งหน้าที่อะไร หรืออาจจะไม่ได้รวยกว่าเรา แต่เราก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่โอเคกว่า เพราะว่าเขาสามารถเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่ในระบบนั้นไปถึงสถานะที่มันเหนือกว่าเรา
ถ้าเราอยู่ด้วยความเชื่อหรือความคิดแบบนี้มันน่าจะส่งผลอะไรกับชีวิตประจำวันบ้าง
ผมว่า อย่างแรกเลยคือ เวลาที่เราอยู่ด้วยกัน เราจะมีความรู้สึกว่า เราจะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาได้ไม่เต็มที่ เพราะเรากลัวว่า ความรู้ของเราที่ถูกเรียกว่าน้อยกว่า มันจะผิดด้วย แล้วความรู้สึกที่เราคิดว่าผิดเนี่ย มันส่งผลกลับมาว่าเราจะมีอำนาจน้อยลงไปด้วย
แบบไหนอันตรายกว่ากันคะ ระหว่างคนที่คิดว่าตัวเองมีอำนาจแล้ว กับกลุ่มคนที่คิดว่าฉันไม่มีทางที่จะเป็นแบบนั้นได้ ฉันจึงต้องเชื่อเขาดีกว่า?
ผมว่าสิ่งที่สังคมเสียประโยชน์ก็คือ เรามีความถูกต้องที่แคบ แล้วก็เรามีลู่ทางที่จะเห็นเส้นทางที่จะไปในแบบที่มันแคบมาก แล้วดูเหมือนว่า คนที่มีอำนาจมากกว่า มีความรู้มากกว่า จะเป็นคนที่พาคนทั้งหมดไป ซึ่งสังคมที่มันเฮลท์ตี้ควรจะเป็นสังคมที่มีความคิดเห็นที่หลากหลาย ซึ่งสังคมที่เกิดความคิดเห็นหลากหลายมันจะต้องเกิดจากความมั่นใจในความคิดตัวเองก่อนว่ามันไม่ได้มีคำตอบที่ถูกแคบๆ หรือที่ถูกตามมาตรฐาน แต่เราควรจะได้เห็นความรู้ที่มันแตกต่างกัน ซึ่งความต่างมันไม่ได้แปลว่าเก่งกว่าหรือไม่เก่งกว่า
ถ้าเรามีมายด์เซ็ตตามระบบการศึกษา เราจะรู้สึกว่าคนที่จบปริญญามีความรู้ที่ได้รับการยอมรับมากกว่าใช่ไหมครับ สมมุติว่าคนหนึ่งเป็นดอกเตอร์ แต่อีกคนอาจจะเป็นชาวนาที่เก่งมาก แต่ชาวนาอาจจะคิดว่าตัวเองไม่รู้ แต่ในสังคมที่มันเปิดกว้าง และไม่ได้มีลำดับชั้นของความรู้ ผมว่าชาวนาเองก็จะสามารถแสดงความรู้และความคิดในมุมมองของเขาออกมาได้
ในสังคมที่มีคนแสดงความคิดเห็นออกมามาก มันปลอดภัยกว่า เพราะมันมีทางเลือกมากกว่า มันก็เกิดความผสมผสานของความคิดมากกว่า แล้วมันก็ทำให้คนที่อยู่ในสังคมไม่ตกเป็นผู้ถูกกระทำตลอดเวลา หรือฉันจะต้องเดินตามคนที่เขาบอกว่า “เฮ้ย ฟังฉันสิ ฉันรู้มากกว่า” มันมีความรู้สึกถึงศักดิ์ศรี ถึงคุณค่าของตัวเองในชีวิตมากกว่า และนั่นควรจะเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นชีวิตของมนุษย์
ความรู้สึกว่ามันไม่ปลอดภัยนั่นคือ เรากำลังขาดพื้นที่ปลอดภัย เรารู้สึกว่า ถ้าฉันพูดว่าฉันไม่รู้ ฉันตายแน่ๆ เราขาดพื้นที่ปลอดภัยในการบอกว่า ฉันไม่รู้ เป็นไปได้ไหมว่าส่วนหนึ่งมันมาจากระบบที่ให้ค่ากับความรู้-ไม่รู้ ขณะเดียวกัน ตอนนี้สิ่งที่เกิดขึ้นมากเรื่อยๆ คือ การตั้งคำถามกับทุกอย่าง ที่ค่อยๆ นำความเปลี่ยนแปลงเข้ามา
ซึ่งก็จะนำไปสู่คำถามต่อไปคือว่า ตอนนี้คนพูดถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้นเรื่อยๆ และหนังสือเล่มนี้ก็พูดถึงสังคมที่ไม่มีระบบโรงเรียน (Deschooling Society) ในความคิดเห็นของคุณเอ๋ เราสามารถที่จะไม่มีโรงเรียนได้จริงไหม ถ้าไม่มีก็ได้ แล้วจะยังไงต่อดี
ผมว่าทางออกอาจจะเป็นว่า มันอาจจะไม่ได้เป็นซ้ายสุด-ขวาสุด คือไม่ใช่ว่ามันจะต้องมีโรงเรียนในแบบเดิม หรือว่าจะไม่มีโรงเรียนเลย แต่ตัวโรงเรียนเองน่าจะมีพื้นที่ของการศึกษาที่ไม่ได้อยู่ในระบบเดิมๆ อยู่ในนั้นด้วย
ถ้าเป็นการศึกษาในยุคที่ผมเติบโตมา มันเป็นการศึกษาที่มีระบบมากๆ ซึ่งโรงเรียนเองควรจะทำการบ้านใหม่ว่า จริงๆ แล้ว สิ่งที่ระบบทำกับเด็ก มันผลิตให้เด็กออกมาเป็นคนแบบไหนในสังคม ซึ่งพอโลกมันเปลี่ยน ผมคิดว่าโรงเรียนก็จะต้องปรับตัวด้วยเหมือนกัน เช่น เราอาจจะเห็นว่า ตัวระบบอาจจะทำให้เด็กเป็นคนที่คิดอะไรที่เป็นลำดับขั้นตอนที่ต้องมีคนมาคอยตรวจว่ามันถูกหรือผิดเนี่ย มันไม่ได้แล้ว เพราะโลกมันเปลี่ยนเร็วมาก แล้วถ้าคุณมัวแต่เดินตามขั้นตอน แล้วเชื่อแต่สิ่งที่ครูบอกว่าถูก เด็กคนนี้ก็อาจจะออกมาในโลกสมัยใหม่ที่ไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงได้ ผมว่าโรงเรียนก็อาจจะไม่จำเป็น
เช่น ไม่จำเป็นต้องสอน 8.00-16.00 แบบเดิมแล้ว อาจจะมีสักวันหรือสองวัน ที่ให้เด็กมีโอกาสเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือให้เด็กออกมาแบ่งปันกับเพื่อน ลดอำนาจของครูในห้องเรียน ทำให้เด็กรู้สึกว่า เราสามารถที่จะถามครูได้ ตั้งคำถามที่ท้าทายได้ หรือครูอาจจะชวนเด็กมาให้ความรู้ใหม่ๆ ก็ได้
ผมว่าจริงๆ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วในโรงเรียนทางเลือก แต่ตัวโรงเรียนที่เป็นระบบ ก็ต้องทำการบ้านว่า จริงๆ แล้วมันไม่ถึงขั้นหรอกว่าจะไม่มีโรงเรียน แต่ว่าโรงเรียนจะปรับตัวอะไร อันนี้เป็นสิ่งที่น่าถาม และคำถามนั้นไม่ใช่ว่าโรงเรียนอยู่รอดในแง่ว่า ให้พ่อแม่อยากส่งลูกไปเรียนเท่านั้นนะครับ แต่ว่ามันต้องเป็นการปรับตัวที่สร้างบุคคลที่เหมาะกับโลกยุคปัจจุบันมากกว่า
พูดถึงคำว่าเรียนรู้ บทบาทสำคัญอย่างครอบครัว มีส่วนหล่อหลอมให้เด็กโตขึ้นมาแล้วไม่กล้าตั้งคำถาม เช่น ประโคที่บอกว่า เชื่อเรา เราอาบน้ำร้อนมาก่อน หรือถ้าเด็กสักคนเดินไปบอกว่า ไม่อยากเรียน ป.ตรี ไม่อยากเรียนต่อ พอถูกไล่ถามเหตุผล มันยังยากเลยกับการตอบคำถามนี้ คุณเอ๋คิดว่าบทบาทของครอบครัว คนรอบข้าง ควรจะคิดกับการเรียนรู้ใหม่อย่างไร
ผมว่าเวลาเราคิดว่าเราอยากให้ลูกเรียนอะไร จริงๆ คำตอบของมันก็คือว่า เราอยากเห็นลูกจบออกมาเป็นอะไร…มากกว่า คือจริงๆ มันอยู่ที่พ่อแม่เห็นคุณค่าของโลกใบนี้แตกต่างกันอย่างไร พ่อแม่ที่ไม่ได้คิดว่าลูกจะต้องจบออกมาเป็นเจ้าคนนายคน หรือเป็นคนที่มีความมั่นคงของชีวิตด้วยการที่มีเงินเยอะ เขาก็จะเป็นคนที่มีวิธีการให้ลูกเรียนรู้แตกต่างจากพ่อแม่ที่มองเห็นอนาคตลูกแบบนั้น
เวลาเราพูดถึงระบบโรงเรียน สิ่งที่มันซ่อนอยู่ในการตัดสินใจว่า อยากจะให้ลูกเข้าไปเรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีระบบแบบไหน ผมว่ามันคือคุณค่าในใจของพ่อแม่ เช่น พ่อแม่อาจจะเป็นผลผลิตของทุนนิยม บริโภคนิยมมากๆ เราก็จะนึกไม่ออกเลยนะครับว่า ลูกจะเติบโตมาในโลกที่มีค่านิยมแบบอื่นได้ด้วยเหรอ ลูกที่มัวแต่ไปเรียนธรรมะ 3 วัน ลูกที่ไม่เข้าโรงเรียนเลย แล้วก็ออกไปวิ่งเล่นกันในทุ่งกว้าง แล้วก็ไปจับเต่าทอง เอาใบไม้มาเรียงสีกัน สิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่จะเอามาทำมาหากินได้ด้วยเหรอ คือพอคุณค่าเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นในจินตนาการหรือในใจของพ่อแม่ มันก็ยากเหมือนกันที่พ่อแม่จะสามารถคิดได้ว่ามันจะสามารถมีการเรียนรู้ในแบบอื่นได้อยู่
ในความคิดเห็นจากประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา สถาบัน ชื่อคณะ ยังมีความจำเป็นอยู่ไหม
ผมคิดว่าในสังคมไทยชื่อสถาบันยังมีน้ำหนักอยู่เยอะมาก เราอาจจะอยู่ในสังคมที่ให้ความสำคัญกับเครือข่ายและอำนาจ หมายถึง การที่เราได้รู้จักคนที่มีบทบาทหรืออำนาจทางสังคม ที่อาจจะจบมาจากสถาบันเดียวกัน เราเห็นประวัติของเขา อีกอย่างที่เกิดขึ้นตลอดและเกิดขึ้นจริง คือการช่วยเหลือกันในโลกทำงาน เช่น ความสัมพันธ์แบบพี่ช่วยน้อง เพราะเห็นว่าจบมาจากที่เดียวกัน
แล้วอย่างนี้มันจะขัดกับการเรียนรู้ที่บอกว่าทุกคนเท่ากันหรือเปล่า
ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเราโตมากับสังคมอุปถัมภ์จริงๆ ถ้าเราเป็นเพื่อนใครสักคนที่มีอำนาจ เราได้อยู่ในสังคมที่เรารู้จักคนคนหนึ่ง แล้วเขารู้จักใครสักคนที่ทำให้เราใช้ชีวิตง่ายขึ้น จะเป็นเรื่องดี ซึ่งเรื่องดีแบบนี้เกิดขึ้นไม่รู้กี่ครั้งต่อแล้ว ทั้งในแง่ส่วนตัวและคนใกล้ชิด โดยในโลกสังคมอุปถัมภ์นี้ บางครั้งเราอาจเป็นผู้แพ้ บางครั้งเราอาจเป็นผู้ชนะ นอกจากนั้นเราเห็นระบบนี้ผ่านภาพข่าวต่างๆ คุณเป็นพี่เป็นน้องกับคนนี้ มันจะทำให้คุณได้ตำแหน่งนั้นตำแหน่งนี้ไป มันจึงทำให้เราไม่ได้รู้สึกว่าการใช้สิทธิพิเศษของความสัมพันธ์นี้เป็นเรื่องแปลก
เราอาจปฏิเสธไม่ได้ เพราะโครงสร้างของสังคมมันอุปถัมภ์กัน ผู้ใหญ่อุปถัมภ์ผู้น้อย พี่ช่วยเหลือน้อง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันจึงทำให้คนบางคนมีโอกาสน้อยในเข้าถึงสถาบัน พูดให้ง่ายคือมันยิ่งทำให้เกิดช่องว่างที่กว้างมากขึ้น ทั้งด้านการศึกษา รวมถึงด้านอื่น เช่น การเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพที่ดี
ผมว่ามันเกิดความลักลั่น คนยังต้องอยู่ในสังคมที่มีความแตกต่างระหว่างชนชั้นอยู่ มีคนที่มีโอกาสทางสังคมมากกว่าคนอีกกลุ่มหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันเทคโนโลยีมันเปิดโอกาสให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่เคยมีโอกาสน้อยกว่า ได้ทำสองอย่าง ได้แก่ การเข้าถึงความรู้ใหม่ๆ อีกอย่างหนึ่ง สามารถสร้างโอกาสในชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น เมื่อก่อนถ้าเราจะทำรายการสักรายการหนึ่ง เราต้องไปเสนอช่องโทรทัศน์ ต้องผ่านการอนุมัติว่าผ่าน/ไม่ผ่าน หรือทำกระบวนการอะไรบางอย่างที่จะผลักงานให้ออกอากาศ แต่ปัจจุบันเราสามารถอัพโหลดรายการเผยแพร่ลงในยูทูบเองได้ ผมมองว่าจุดนี้มันค่อยๆ ทอนอำนาจ ของคนที่มีอำนาจมากกว่า พอมันเป็นแบบนี้มันจะทำให้เกิดการเข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น ลดช่องว่างความไม่รู้มากขึ้น อีกอย่างทำให้คนที่กุมอำนาจ คนที่เคยบอกว่า ความรู้ต้องเกิดจากฉันเท่านั้น ก็จะมีอำนาจลดลง เพราะเราไม่จำเป็นต้องเข้าหา ใครก็เข้าถึงความรู้ได้
แต่อาจยังไม่ได้เกิดเป็นความรู้สึกว่า ทุกคนจะมีโอกาสรู้เท่าๆ กัน ความรู้สึกนี้มันเกิดขึ้นยาก ผมว่าถ้ามันจะเกิดขึ้น อย่างแรกที่จะเกิดคือเราต้องเกิดประชาธิปไตยขึ้นอย่างแท้จริงก่อนเลย ซึ่งคำว่าประชาธิปไตยไม่ได้หมายถึงมีการเลือกตั้ง แต่หมายถึงการให้คุณค่าและเคารพความคิดของคนทุกคนในสังคมเดียวกันอย่างเท่าเทียม ช่วงเวลานั้นแหละจะทำให้เกิดการพบปะ สนทนากัน
ตราบใดที่ยังไม่เกิดสิ่งนี้ขึ้น ยังมีคนบอกว่า ฉันจำเป็นต้องอยู่ในอำนาจ เพราะถ้าไม่มีฉันจะเกิดความไม่สงบ ความไม่สงบนั้นอาจแปลว่ามีบางความคิดที่คุณกำลังยอมรับไม่ได้ ซึ่งนี่คือความไม่เท่าเทียมในการรู้-ไม่รู้ สังคมที่จะเท่าเทียมกันทางความคิดมันก็ต้องให้เสรีภาพในความคิด และให้คนในสังคมประมวลเอาเองว่าความคิดแบบไหนที่มีคุณค่าพอที่จะหยิบขึ้นมาใช้ดำเนินชีวิต
ไอวาน อิลลิช (ผู้เขียนหนังสือ) สรุป 3 ลักษณะของการศึกษาแบบใหม่ 1.เข้าถึงความรู้-ทรัพยากร 2.มีอำนาจ 3.ได้แสดงความเห็น ในเมื่อเรา deschool แบบ 100 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ในเมืองไทย ที่เป็นไปได้จริงๆ คือ โรงเรียนและเรียนรู้ ต้องไปด้วยกัน อาจจะเป็นด้วยระบบหรือเนื้อหาวิชา และตัวครูเอง
โดยส่วนตัว คุณเอ๋เคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างไหมว่า ตลอดชีวิตของการเป็นนักเรียน เคยเกิดสิ่งที่เรียกว่าการเรียนรู้ บ้างหรีอเปล่า
อย่างแรก คิดว่าไม่ค่อยเกิดการเรียนรู้ระหว่างที่อยู่ในโรงเรียน เพราะสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากคือ เราไม่มีความกระตือรือร้นที่จะเปิดตัวเองออกเพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่าง
เวลาเปิดเทอมเราจะรู้สึกว่า ต้องไปโรงเรียนอีกแล้วเหรอ มันไม่มีความตื่นเต้นที่เรารู้สึกว่าจะได้ไปเจออะไรใหม่ๆ แต่เรารู้สึกว่าจะเข้าไปเจออะไรแบบเดิม ความรู้สึกแบบเดิมอีกแล้ว สิ่งที่มันไม่เป็นระบบที่สุดก็คือเพื่อนเรา
ความกระตือรือร้น กับความอยากไปเจออะไรใหม่ๆ มันสำคัญมาก แต่สิ่งนี้สังเกตเห็นในตัวเองเวลาเราเดินเข้าร้านหนังสือครับ เรารู้สึก ช่วงนี้อยากรู้เรื่องนี้ก็เดินเข้าไปในหมวดนี้ เราก็จะไปเจอหนังสือบางเล่มที่เราอยากอ่านมากๆ มันเลยทำให้เห็นว่า โรงเรียนเหมือนเสาที่ปักไว้ตรงกลางแล้วเราต้องไปวิ่งวนอยู่รอบเสา แต่มันไม่ใช่ว่าเราอยากรู้สิ่งนี้แล้วโรงเรียนเข้ามาหาเราแล้วบอกว่า อยากรู้เรื่องนี้เหรอ มีความรู้แบบนี้มาให้
อย่างที่สอง ผมคิดว่า ผมได้เรียนรู้จากครูศิลปะคนนั้นมากที่สุดแล้ว มันเป็นการเรียนรู้ที่คล้ายๆ ทุบกะลาออกว่ามันมีความถูกต้องที่นอกไปจากที่เราคิดว่ามันมีอยู่ เราเคยคิดว่าต้องระบายสีให้เหมือนจริงที่สุดถึงจะได้คะแนนดี แต่พอกะลานี้ถูกทุบถึงได้เห็นว่ามีแบบอื่น และทำให้เราคิดต่อไปได้อีกว่า จริงๆ อาจมีวิธีการวาดรูปแบบอื่นที่ไม่ต้องตรงโจทย์ก็ได้
อย่างที่สาม คือ เรียนรู้ผ่านช่วงชีวิตบางอย่าง เช่น อกหัก (หัวเราะ) เพราะมันเป็นอะไรที่เซอร์ไพรส์ คาดเดาไม่ได้ แล้วโยนให้เราไปอยู่ในที่ที่ไม่ชินเลย พอเราคาดหวังกับการจีบผู้หญิงคนหนึ่งมากๆ เราคิดว่ามันควรจะเป็นแบบนี้ แล้วมันไม่เป็น มันโยนเราไปอยู่ในโจทย์ใหม่เลยว่าเราจะทำยังไงกับมัน เพราะเรามองชีวิตเราเองหรือชีวิตในโรงเรียนว่ามันเป็นลำดับขั้นที่ชัดเจนมาก จะไม่มีอะไรที่ผิดไปจากนี้ เดี๋ยว ป.3 ก็ต้องขึ้น ป.4 ป.5 มันเห็นความแน่นอนในชีวิต
ส่วนหนึ่งที่โรงเรียนขีดเส้นไว้ให้เราคือ ทำให้เราหลงเชื่อว่าชีวิตมันคือความแน่นอน และผมว่าในภาวะแน่นอน มันทำให้ความกระตือรือร้นที่จะเรียน มันมีน้อย แต่ถ้าคุณโยนเราไปอยู่ในที่ที่ไม่แน่นอน ใหม่ตลอดเวลา ไม่แน่ เราอาจจะรู้สึกว่าอยากจะได้รับบทเรียนใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ
และผมว่าอันนี้มันทำให้นิสัยหรือศักยภาพที่รู้สึกว่าโลกนี้มันยังมีอะไรอีกเยอะ มันไม่เกิดขึ้นเท่าไหร่ นอกจากสังคม ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ จริงๆ มันมีอะไรที่เรายังไม่รู้อีก ถ้าสิ่งนี้มันเกิดขึ้น มันก็จะเกิดจิตวิญญาณของการเรียนรู้ได้
หลายคนหันมาสนใจเรื่องการเรียนรู้ จนทำให้หลายการเรียนรู้มีราคาแพง ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้เรียนรู้ พูดได้ไหมว่าความเรียนรู้มันถูกบิดเบือนความหมายไป หรือจริงๆ เราอยู่ในโลกทุนนิยม ทุกอย่างก็ต้องมีต้นทุนทั้งนั้นแหละ?
โอ้โห ปัญหามันซับซ้อนมาก
อันดับแรก เราชินกับการที่ทุกอย่างเป็นสินค้า กระทั่งความรู้ในระบบเองก็ตาม พ่อแม่ถึงยอมจ่ายแป๊ะเจี๊ยเอาลูกเข้าโรงเรียนที่ว่ากันว่าดี แปลว่าเรียนจบจากโรงเรียนนี้มาจะได้เข้ามหาวิทยาลัยที่ดี แปลว่าคุณกำลังจ่ายเงินเพื่อซื้อความรู้ที่คุณคิดว่ามีคุณภาพมากกว่า และความรู้อยู่ในสถานะนี้มานานแล้ว เพียงแค่มันอาจจะเคยอยู่ในโรงเรียน พ่อแม่บางคนอาจยอมจ่ายให้ลูกเรียนพิเศษ นั่นคือจ่ายเงินเพื่อซื้อความรู้ในแบบที่คนอื่นเข้าไม่ถึงเพราะอาจมีต้นทุนน้อยกว่า
ทุกวันนี้ ความรู้มีช่องทางมากขึ้นแต่การที่คุณจะเก็บเงินเพื่อให้ได้ความรู้นั้น ผมว่ามันก็ยังอยู่ในร่องเดิมคือ ความรู้เป็นสินค้าที่สามารถเอามาขายหรือทำกินได้ แต่ถามว่ามันสมเหตุสมผลไหม ถ้าเรามองในโลกทุนนิยม มันก็เป็นเรื่องปกติที่คนที่ทำมาหากินอะไรบางอย่างก็ต้องหารายได้จากมัน
แต่คำถามที่น่าจะถามมากกว่านั้น คือ แล้วมันมีความรู้ที่ไม่จำเป็นต้องซื้อหากันได้ไหม ผมว่าสิ่งนี้มันน่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นด้วยในโลกสมัยใหม่ แต่สิ่งที่น่าจะถามให้ลึกลงไปอีกว่า เรามองการเรียนรู้เป็นอะไรกันแน่ เราเห็นการเรียนรู้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและสำคัญกับชีวิตเพื่อที่จะทำให้คนคนหนึ่งเติบโตขึ้นมาเป็นคนแบบหนึ่งเนี่ย ถ้าเรามองว่า ความรู้ทำให้คนคนนั้นโตขึ้นมาและทำมาหากิน มันก็ไม่แปลกที่เราจะขายความรู้ เพราะผมคิดว่า ผลลัพธ์ก็มาจากต้นทุนความคิด ถ้าคุณคิดว่า ชีวิตที่ดีคือการได้ขายอะไรสักอย่างออกไปไม่ว่าจะเป็นความสามารถหรือสินค้า แล้วคุณคิดว่านี่คือชีวิตที่ดี มันจึงไม่แปลกว่า พอเรามีความรู้แล้วเราอยากจะขายความรู้นั้น
แต่ถ้าเรามีค่านิยมว่า สังคมที่ดีควรมีความรู้ที่หลากหลาย และเอาความรู้นั้นมาทำให้สังคมดีขึ้น เราจะได้อยู่ในสังคมที่มีคุณภาพมากขึ้น ผมว่าแบบนั้นเราอาจไม่รู้สึกว่า เราอาจไม่ต้องได้เงินมาจากความรู้ทุกอย่างที่เรามี มันอาจจะเกิดการแชร์ความรู้ที่ฟรี และอาจเกิดชุมชนที่เปิดพื้นที่ให้คนมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แต่ค่านิยมแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องถามว่าแล้วตกลงเราคิดเห็นกับมันอย่างไร
อีกมุมที่น่าคิดว่าตัวผู้เรียนเอง เขามองว่าตัวเองเป็นใครและอยู่ในสถานะไหนในระบบ ถ้าเขามองตัวเองเป็นลูกค้า ผู้บริโภค เขาก็จะมองว่าเวลาที่เข้าถึงความรู้ เขาจะต้องจ่ายเงินเพื่อไปซื้อความรู้จากพ่อค้าแม่ค้ามาเข้าตัวเอง แต่ถ้าเขามองว่าเป็นคนที่อยากเรียนรู้ เขาอาจจะใช้วิธีการอื่นก็ได้
แทนที่คุณจะต้องไปเสียเงินเรียนคอร์สออนไลน์ที่สอนเรื่องภาพยนตร์ คุณอาจจะยอมไปเป็นเด็กเสิร์ฟน้ำในกอง หรือเข้าไปช่วยงานในกอง ถ้าเรามองกลับไปโลกโบราณ ศิษย์กับครูผูกพันใช้ชีวิตร่วมกัน ถ้าเป็นหนังจีน ศิษย์ก็จะต้องไปคุกเข่า หาบน้ำ ทำกับข้าว และค่อยๆ ฝึกวิชาจนแก่กล้า มันต้องมีการผ่านกระบวนการบางอย่างที่จะพิสูจน์ตัวเอง และน้อมใจเพื่อเรียนรู้สิ่งนั้นหรือจากคนคนนั้น แต่ทุกวันนี้ คนจำนวนหนึ่งอาจไม่ได้มองว่าความรู้เกิดจากบรรยากาศแบบนั้น อยากเข้าถึงความรู้ คุณมีเงินก็จ่ายมันไป ในตัวของผู้เรียนเองก็น่าคิดเหมือนกันว่าเขามองตัวเองเป็นแบบไหน
ต่อไป การศึกษา การเรียน การเรียนรู้ คำเหล่านี้มันควรจะกลืนกันหมดไหม เพราะการแยกมันก็ทำให้เกิดการตั้งคำถาม แต่ถ้าเรารวบมันมาเป็นคำๆ เดียว การเรียนรู้สามารถไปอยู่ในโรงเรียน หรือที่ไหนก็ได้ กระทั่งในบ้าน มันก็อาจจะมีคำถามน้อยลง และอาจจะมีปัญหาน้อยลงด้วย?
(หัวเราะ) เห็นด้วยครับ จริงๆ ปัญหาอย่างหนึ่ง คือ การที่เรามองว่าการเรียนรู้หรือการศึกษามันต้องอยู่เฉพาะในโรงเรียน แล้วพอเสร็จจากโรงเรียน ฉันเลิกเรียนรู้แล้ว ก้าวขาออกจากโรงเรียนคือกูจะเล่นอย่างเดียว มันก็ทำให้โลกทัศน์ของเด็กนักเรียน แบ่งโลกชัดเจนเลยว่า เข้าโรงเรียน เซ็ตหัวเลยว่าเรียน พอออกมาก็ไม่มีความรู้อะไรที่จะต้องเรียนแล้ว
อีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ ระบบที่เป็นอยู่ มันให้เวลาและใช้พลังงานไปกับการเรียนในระบบเยอะมาก มันทำให้ผู้เรียนล้ามากเลย ไหนเรียนในโรงเรียน เรียนพิเศษอีก พอกลับถึงบ้านมันไม่มีความรู้สึกว่าฉันจะต้องเรียนรู้ต่อ จริงๆ การเรียนรู้นอกระบบเป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากความชอบส่วนตัว เรียนสิ่งที่อยากรู้จริงๆ แต่พอใช้เวลาและพลังงานหมดไปกับการเรียนแล้ว การเรียนรู้ตรงนี้ มันเลยลีบแบนลงไปอีก
เวลาเราพูดว่าจะเบลนด์มันให้เข้ากันหมด การศึกษา การเรียน การเรียนรู้ หมายความว่าเราจะเบลอเส้นความรู้ในและนอกห้องเรียนออกจากกันหมด ผมว่าก็ต้องตั้งคำถามกลับไปยังการเรียนในระบบด้วยเช่นกันว่ามันใช้เวลา พลังงานของผู้เรียนไปมากเสียจน เราไม่มีความรู้สึกว่า เราจะเรียนอะไรได้ดีนอกห้องเรียน
มันก็ยังมีการวัดผลอีกว่า เราจะเก็บเกรดเด็กๆ เพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ถ้าคุณยังวัดผลด้วยความเข้มข้นและถี่ขนาดนี้ เราก็ยังคาดเดาได้ยากว่าเด็กจะออกมาเรียนรู้นอกระบบหรือนอกห้องเรียนได้ยังไง เพราะเขายังต้องทำชีวิตตัวเองไปเสิร์ฟกับระบบนั้นอยู่
การเมืองที่คนชอบโทษว่าที่มันเป็นอย่างนี้เพราะการศึกษามันล้มเหลว เลยมีคนแบบนี้ออกมา มันเหมารวมหรือโทษการศึกษาเกินไปหรือเปล่า
สิ่งหนึ่งที่น่าคิดคือ ที่เราใช้ชีวิตยืดยาวมากๆ ไปกับช่วงต้นคือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย คือ อายุ 7-20 ปี นั่นคือเวลาสิบกว่าปีที่เราจะได้รู้ว่าโลกใบนี้ ชีวิตนี้ การปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมันควรจะเป็นอย่างไร มันถูกปลูกฝังมาว่าสิ่งที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร สิ่งนี้มันเกิดขึ้นในโรงเรียนแทบทั้งหมด มันปลูกฝังโลกทัศน์บางอย่างอย่างปฏิเสธไม่ได้จริงๆ
ปัญหาอย่างหนึ่งในสังคม ผมมองว่า สังคมไทย เราเห็นข่าวทุกวัน มันมีสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ มันเป็นสังคมอำนาจนิยมจริงๆ เลยน่าตั้งคำถามว่า ผลผลิตอำนาจนิยมแบบนี้ มันเกิดขึ้นจากช่วงเวลา วัยแห่งการเรียนรู้แบบไหน ซึ่งถ้าเรากลับไปดูที่โรงเรียน ยังนึกภาพครูถือไม้เรียวติดเลือดอยู่เลย นั่นคืออำนาจนิยมในห้องเรียน และจริงๆ เราเป็นคนที่กลัวในโรงเรียนและรู้สึกว่าครูพร้อมลงโทษเราตลอดเวลา ครูให้ได้ทั้งคุณและโทษ
ถ้าเราเชื่อฟัง ถ้าเราอยู่ข้างอำนาจ เป็นเด็กดี เราจะมีชีวิตที่ดี ผมว่าสิ่งเหล่านี้มันหล่อหลอมให้เรามีทัศนคติแบบนี้ และที่มากกว่านั้นคือ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองเคยถูกกระทำด้วยอำนาจ เราจึงอยากอยู่กับฝั่งอำนาจ ถ้าเรามีอำนาจขึ้นมาในวันใดวันหนึ่ง เราก็จะใช้อำนาจนั้น กดข่ม คนที่มีอำนาจน้อยกว่า เพราะเรารู้ว่าเราทำได้ เราเคยถูกกระทำมาแล้ว
ผมว่าสิ่งนี้มันมากกว่าวิชาความรู้ในห้องเรียน แต่มันคือระบบหรือโครงสร้างที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตที่สำคัญมากๆ ของเรา ในช่วงแรกๆ ของชีวิต และเราเชื่อไปแล้วว่าโลกที่ควรจะเป็นคือแบบนี้
สิ่งหนึ่งที่อยากชวนคิดต่อคือ เมื่อครูและนักเรียนอยู่ในระนาบเดียวกัน สิ่งที่เราได้ยินเพิ่มขึ้นมาคือความคิดของเพื่อน เราจะเห็นว่ามันไม่ได้มีความคิดแบบเดียว มีความคิดที่ต่างกับเรามากๆ เขามีพื้นที่แสดงออก โรงเรียนจึงไม่ใช่เรื่องของเรากับครู แต่คือเรากับคนอื่นๆ กับเพื่อนที่มาจากคนละสถานะ เพศ รสนิยมต่างๆ ถ้าเราเห็นพื้นที่แบบนี้ในโรงเรียน เราก็จะเข้าใจว่า โลกมันไม่ใช่พื้นที่ของคนมีอำนาจและคนที่ทำตามอำนาจนี่ จริงๆ มันคือสนามแห่งหนึ่งที่ทุกความคิดได้ปะทะสังสรรค์กัน ถ้าเป็นแบบนั้น มันก็อาจจะค่อยๆ คลี่คลายมาสู่สังคมที่มันเป็นแบบนั้นได้
Deschooling Society ที่นี่ไม่มีโรงเรียน ผู้เขียน : ไอวาน อิลลิช “ยิ่งพลเมืองถูกฝึกให้ต้องบริโภคสินค้าและบริการประเภทสำเร็จรูปมากขึ้นเท่าไหร่, พวกเขาก็จะยิ่งมีส่วนกำหนดสภาพแวดล้อมของตนเองได้น้อยลงเท่านั้น” ไอวาน อิลลิช หนังสือเรื่อง ที่นี่ไม่มีโรงเรียน Deschooling Society โดย ไอวาน อิลลิช นักคิด นักการศึกษาชาวออสเตรีย ว่าด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ระบบโรงเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง วิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่ระบบโรงเรียนสร้างขึ้นใหม่แทนวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเดิมที่มีอยู่ในท้องถิ่น ในความคิดของไอวาน อิลลิซ ระบบโรงเรียนที่สร้างขึ้นใหม่ซึ่งเป็น ‘ระบบปิด’ ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ปัญหาเสรีภาพทางการศึกษา เสรีภาพในการเรียนรู้ ไปจนถึงการไม่มีความสุขในการเรียนและปัญหาการเผด็จการในโรงเรียน ที่ยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน เป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ การศึกษาในระบบเปิด เปลี่ยนจากระบบการศึกษาแบบอนุรักษนิยมให้กลายเป็นเสรีนิยม ท่ีมีวัฒนธรรมของการเรียนรู้ที่เหมาะกับธรรมชาติของเด็กและชุมชน เราเรียกสิ่งนี้ว่า การปฎิรูปการศึกษาที่แท้จริง ที่มา : คำนำสำนักพิมพ์ (พิมพ์ครั้งที่สอง กันยายน 2543) โดย พิภพ ธงไชย สำนักพิมพ์มูลนิธิเด็ก |