- เราอาจเข้าใกล้ความสุขมากขึ้น หรือพบว่าความสุขอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เพียงเข้าใจวิทยาศาสตร์ของความสุขผ่านสารเคมีที่หลั่งออกมาในร่างกาย
- ความสัมพันธ์ที่ดีและสุขภาพกายใจที่แข็งแรง มาจากการหลั่งฮอร์โมน ‘เซโรโทนิน’ และ ‘ออกซิโทซิน’ โดยตรง ส่วน ‘โดพามีน’ ความสุขที่หลั่งออกมาเมื่อเราไปถึงเส้นชัยที่ตั้งไว้สำเร็จ เป็นเหมือนสารเสพติดที่ต้องการโด๊ปเพิ่มเรื่อยๆ
- ฮอร์โมนทั้ง 3 ตัวนี้ บอกเราว่า กรณีไม่สามารถมีได้ครบทุกอย่าง อย่างน้อย ขอให้มีเซโรโทนินไว้พอ นั่นคือ หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรง ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย
หลายคนน่าจะพอคุ้นหูคำว่า ‘โดพามีน’ มาบ้างแล้ว ซึ่งมักได้รับสมญานามว่าเป็น ‘ฮอร์โมนแห่งความสุข’ แต่ความจริงแล้ว โดพามีนเป็นแค่หนึ่งในหลายต่อหลายฮอร์โมนแห่งความสุขที่ร่างกายสร้างขึ้นมา
แถมยังมีฮอร์โมนความสุขตัวอื่นที่ทรงพลังกว่า ยั่งยืนกว่า และอาจสร้างได้ง่ายกว่าโดพามีนด้วยซ้ำ
ถ้าเราเข้าใจฮอร์โมนหลักๆ ตัวอื่นที่มีอยู่ บางทีเราอาจเข้าใกล้ความสุขมากขึ้น หรือพบว่าความสุขอยู่ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เพียงเข้าใจวิทยาศาสตร์ของความสุขผ่านสารเคมีที่หลั่งออกมาในร่างกาย
วิทยาศาสตร์ของความสุข
ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว การพูดถึงความสุขให้เป็นรูปธรรมที่สุดจะพูดถึง ฮอร์โมน (Hormones) ว่าตัวไหนบ้างที่หลั่งออกมาเวลาเรารู้สึกมีความสุขเกิดขึ้น โดยหลักๆ จะมีฮอร์โมนความสุข 3 ตัวนี้ ซึ่งแต่ละตัวจะเกิดขึ้นต่างสิ่งเร้า-ต่างสถานการณ์กันไป
- บางตัวเกิดจากการที่ร่างกายต้องขยับเคลื่อนไหวติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งจึงจะหลั่ง
- บางตัวแค่เรานั่งอยู่เฉยๆ แต่ได้รับความรักจากคนอื่นก็พลุ่งพล่านไปทั่วร่างกายแล้ว
- บางตัวเราต้องพยายามขวนขวายทำอะไรบางอย่างให้สำเร็จซะก่อนถึงจะค่อยหลั่ง
1) เซโรโทนิน (Serotonin)
หลั่งออกมาเวลาเรามี ‘สุขภาพร่างกาย’ ที่ดี มีสภาพจิตใจดีแจ่มใส เช่น เวลาวิ่งออกกำลังกาย กล่าวได้ว่า เซโรโทนินเป็นแก่นของความสุขที่แท้จริงก็ว่าได้ เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะอยู่ได้นานกว่าจะเลือนหายไป
เซโรโทนินยังไปช่วยในเรื่องคุณภาพการนอนหลับ ความสามารถในการจดจำ และการย่อยอาหาร ช่วยให้เราอารมณ์ดี มองโลกในแง่บวก กระตุ้นความรู้สึกพึงพอใจกับสิ่งที่มีรอบตัว
2) ออกซิโทซิน (Oxytocin)
ออกซิโทซินได้รับฉายาว่าเป็นเสมือน ‘ฮอร์โมนแห่งความรัก’ โดยจะหลั่งออกมาเวลาเรามี ‘ความสัมพันธ์’ ที่ดีกับคนรอบตัว ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรัก มิตรภาพ ความห่วงใย ออกซิโทซินเป็นฮอร์โมนอีกตัวที่เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะอยู่ได้นานกว่าจะเลือนหายไป
ออกซิโทซินยังส่งเสริมการเปิดใจในการไว้วางใจคนอื่น การพยายามเข้าอกเข้าใจ หรือความผูกพันระหว่างสมาชิกในกลุ่มให้ลึกซึ้งขึ้น
3) โดพามีน (Dopamine)
หลั่งออกมาเวลาเรา ‘บรรลุสิ่งที่ตั้งเป้าหมาย’ ไว้ได้สำเร็จ เช่น การแสวงหาการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน หาวิธีเพิ่มรายได้ การอยากมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง การได้กินของอร่อย การติดมือถือ การพนัน
อย่างไรก็ตาม ฮอร์โมนโดพามีนเมื่อหลั่งออกมาแล้วจะหายไปเร็วกว่าสองตัวแรก จึงไปกระตุ้นให้เกิดความต้องการซ้ำแล้วซ้ำอีก เกิดภาวะการ ‘เสพติด’ และมีแนวโน้มที่จะต้องการเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในครั้งต่อๆ ไป
ศิลปะการจัดเรียงลำดับความสุข
พอเราเข้าใจกลไกการทำงานของฮอร์โมนสำคัญๆ ทั้ง 3 ตัวเหล่านี้แล้ว เราจะเริ่มเห็นแล้วว่าการ ‘จัดเรียงลำดับความสำคัญ’ ในการใช้ชีวิตเพื่อให้ฮอร์โมนแต่ละตัวหลั่งออกมามีความสำคัญมากๆ
ในเมื่อ เซโรโทนิน และ ออกซิโทซิน เมื่อหลั่งออกมาแล้วจะอยู่ได้นานกว่า ขณะที่โดพามีนจะหายไปเร็วกว่า เราจะเห็นว่า
- ‘เซโรโทนิน’ ใกล้เคียงกับรากฐานของความสุขที่มนุษย์ต้องการ เพราะสุขภาพร่างกายคนเราต้องแข็งแรงก่อน ไม่ป่วยเป็นโรค “การไม่มีโรคคือลาภอันประเสริฐ” คำนี้ใช้ได้จริง
- ก่อนไปโฟกัสที่ ‘ออกซิโทซิน’ เรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่นเพราะมนุษย์คือสัตว์สังคมที่อยู่เป็นหมู่คณะ
- ปิดท้ายที่ ‘โดพามีน’ ซึ่งเป็นเหมือนสารเสพติดที่ต้องการโด๊ปเพิ่มเรื่อยๆ
คราวนี้เราลองมาสำรวจตัวอย่างดูกันว่า ถ้ามีหรือไม่มีฮอร์โมนตัวไหน ฉากทัศน์ชีวิตของเราจะมีหน้าตาอย่างไร?
✅มีเซโรโทนิน ❌ไม่มีออกซิโทซิน ❌ไม่มีโดพามีน
- ต่อให้ไม่รวย ไม่มีหน้าที่การงานใหญ่โต และไม่ใช่คนมีเพื่อนฝูงเยอะแยะมากมายอะไร แต่สุขภาพร่างกายแข็งแรง เล่นกีฬา ออกกำลังกายเป็นประจำ เท่านี้ก็ ‘มีความสุขกับตัวเอง’ ได้ แต่นานวันไปก็อาจรู้สึกเหงาโดดเดี่ยวอ้างว้างได้เช่นกัน เพราะความสุขไม่ได้ถูกแชร์ให้ผู้อื่นหรือไม่ได้มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับผู้อื่น
✅มีเซโรโทนิน ✅มีออกซิโทซิน ❌ไม่มีโดพามีน
- แม้ไม่ได้มีหน้าที่การงานใหญ่โต เป็น ‘คนกลางๆ’ ไม่ได้รวย ไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่กลับรวยเพื่อน มีเพื่อนฝูงคอยรับฟังให้คำปรึกษา มีคนรักที่เทคแคร์กันและกันอย่างดี แถมตัวเองก็สุขภาพร่างกายแข็งแรง ค้นพบไลฟ์สไตล์การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตัวเองจนเจอ
❌ไม่มีเซโรโทนิน ❌ไม่มีออกซิโทซิน ✅มีโดพามีน
- หนูถีบจักรที่วิ่งไล่ตามหาความสำเร็จในชีวิต โฟกัสแต่เรื่องงาน งาน งาน จนไม่มีเวลาให้กับคนรักรอบตัวและสุขภาพทรุดโทรม แต่เมื่อสำเร็จแล้ว ในเวลาไม่นาน อาจรู้สึก ‘ว่างเปล่า’ ในชีวิต และกลับมาเบื่อเหี่ยวเฉาเหมือนเดิมจนต้องสร้างเป้าหมายใหม่ๆ ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ และมีแนวโน้มเป้าหมายที่จะยิ่งใหญ่ขึ้น นั่นหมายความว่า โดพามีนจะมีโอกาสหลั่งยากขึ้นตามไปอีกเพราะอาจเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายยิ่งใหญ่ได้นั่นเอง
แน่นอนว่า การมีครบทั้ง 3 ฮอร์โมนเลยคือ ‘อุดมคติ’ ที่ใครๆ ก็ถวิลหาและอยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ในชีวิต อาจเป็นเรื่องยากหรือไม่บ่อยนักที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ พร้อมกันทั้งหมด การหาทาง ‘บาลานซ์’ และออกแบบไลฟ์สไตล์ให้ฮอร์โมนหลั่งสม่ำเสมอ จึงเป็นศิลปะในการใช้ชีวิตอย่างหนึ่งเลยทีเดียว
ทำไมความสุขมาจากฮอร์โมนแค่ 3 ตัว?
ต้องขอกล่าวก่อนว่า ในทางวิทยาศาสตร์ เวลาคนเรามีความสุข ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนออกมาเยอะแยะมากมาย เรียกว่ามีฮอร์โมนที่เป็นตัวประกอบมากถึง 100 ชนิดเลยทีเดียว เพียงแต่ 3 ฮอร์โมนดังกล่าวนี้ ถือเป็นหนึ่งในตัวละครหลักที่สำคัญที่สุด เพราะมัน ‘ครอบคลุม’ ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในการแค่จะมีความสุข
นอกจากนี้ การจดจำ 3 ฮอร์โมนดังกล่าวยังอำนวยความสะดวกในการนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงด้วย เพราะสอดคล้องกับสมองของคนเราที่มักจำอะไรเป็นกลุ่มได้ไม่เกิน ‘3 อย่าง 3 เรื่อง 3 ประเด็น’ ลองนึกภาพว่า ถ้าเราต้องจดจำฮอร์โมนมากถึง 20 ชนิดแบบละเอียดยิบ เราคงจะยอมแพ้แล้วรู้สึกจับต้นชนปลายไม่ถูก การโฟกัสเฉพาะตัวละครหลักที่สำคัญและครอบคลุมรอบด้านจึงค่อนข้างเพียงพอแล้วำสำหรับคนส่วนใหญ่
โรเบิร์ต วาลดิงเจอร์ (Robert Waldinger) หัวหน้าทีมวิจัยเรื่องความสุขจาก Harvard University ได้เปิดเผยผลสำรวจที่กินเวลานานกว่า 75 ปี ครอบคลุมผู้คนกว่า 2,000 คน สรุปเรื่องการเข้าใจความสุขสั้นๆ แต่เรียบง่ายว่า การมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และขณะเดียวกันตัวเองก็มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงไม่เจ็บไข้ได้ป่วย นำมาสู่ความสุขพึงพอใจกับชีวิตในคนๆ นั้น แถมช่วยชะลอวัยทำให้อายุยืนยาวขึ้นด้วย (ซึ่งความสัมพันธ์และสุขภาพ มาจากการหลั่งฮอร์โมนเซโรโทนินและออกซิโทซินโดยตรง)
โอบรับวิทยาศาสตร์ความสุขสู่ชีวิตจริง
และแล้วก็มาถึงการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ความสุขมาสู่ชีวิตจริงให้ได้ ตัวละครหลักอย่างฮอร์โมนทั้ง 3 ตัวนี้ บอกเราว่า กรณีไม่สามารถมีได้ครบทุกอย่าง อย่างน้อย ขอให้มีเซโรโทนินไว้พอ นั่นคือ หมั่นดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของเราให้แข็งแรง ประโยคเหล่านี้อาจเป็นคำเชยๆ ที่ได้ยินมานับครั้งไม่ถ้วน แต่เป็นข้อเท็จจริงที่จะมองข้ามไปไม่ได้เลย
อย่างเช่น การออกกำลังกายสม่ำเสมอไม่ว่าจะเดิน วิ่ง เข้าฟิตเนส เพราะมนุษย์วิวัฒนาการมาให้เคลื่อนไหวออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอไป ‘ตลอดชีวิต’ การออกกำลังกายไม่ใช่งานอดิเรก กิจกรรมเสริม หรือไลฟ์สไตล์คนเมือง แต่เป็นเสาหลักของมนุษย์ทุกคน
การออกกำลังกายยังช่วยเรื่องสุขภาพจิตของมนุษย์ด้วย เช่น เมื่อเราออกกำลังกายมากพอ เราจะอดทนต่อสถานการณ์ความกดดันได้ดีขึ้น หรือพูดง่ายๆ ได้ว่า ยิ่งออกกำลังกายเยอะ ยิ่งต้านเครียดได้มากเท่านั้น
ทั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าความสุขที่เกิดจากฮอร์โมนโดพามีนเป็นสิ่งไม่ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอาศัยอยู่ในโลกทุนนิยมที่ต้องมีการแข่งขันไปสู่เป้าหมายด้วยกันทั้งนั้น แต่ให้เตือนสติตัวเองว่า โดพามีนจากความสุขที่ไปถึงเส้นชัยนี้เป็นเรื่องชั่วคราวและไม่ทรงพลังเท่าความสุขจากเซโรโทนินและออกซิโทซิน ไม่แปลกที่เราพอจะได้ยินเรื่องราวของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในการงาน แต่ทำสุขภาพและความสัมพันธ์ตกหล่นไประหว่างทาง ไม่นานนักหลังวิ่งเข้าเส้นชัยไปแล้ว เขากลับรู้สึกอ้างว้างว่างเปล่าและเหมือนจะค้นหาความหมายในชีวิตไม่เจอ
ในอีกมุมหนึ่ง หรือว่าเราสามารถมีความสุขได้โดยไม่ต้องเอื้อมไขว่คว้า ออกเดินทางไปยังสถานที่ห่างไกล หรือตั้งเป้าหมายอันยิ่งใหญ่เสมอไป? เพราะมันอาจมาจากการโทรนัดเพื่อนรักเก่าที่ไม่ได้เจอกันนาน? การไปกล่าวขอโทษซึ่งต่อเพื่อนบ้านที่เคยผิดใจกัน? หรือการไปเดินเล่นในสวนสาธารณะกับครอบครัวในวันหยุด?
สูตรความสุขอาจเป็นการที่ เราแค่ต้องเอาสุขภาพร่างกายตัวเองให้รอดก่อน มีน้ำใจกับผู้อื่นสร้างมิตรภาพกับคนรอบตัว ตั้งเป้าหมายที่มีความหมายและเกิดประโยชน์แก่สังคม
บางทีเมื่อวิทยาศาสตร์ความสุขถูกเปิดเผยออกมา การมีความสุขก็ดูเป็นเรื่องเรียบง่ายอย่างเหลือเชื่อ…
อ้างอิง