Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Life Long LearningUnique SchoolEveryone can be an EducatorUnique TeacherCreative learning
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    21st Century skillsEducation trendLearning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย

Month: April 2023

เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ สานฝันสร้างโอกาสให้เด็กก้าวพลาดได้เริ่มต้นใหม่
10 April 2023

เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ สานฝันสร้างโอกาสให้เด็กก้าวพลาดได้เริ่มต้นใหม่

เรื่อง นฤมล ทับปาน

  • เมื่อเด็กคนหนึ่งก้าวพลาด บางส่วนถูกตัดสินให้เข้ามาอยู่ที่นี่ ‘ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน’ ตลอดระยะเวลาที่อยู่ในนั้น ทำอย่างไรให้พวกเขาได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เพื่อวันที่เขาได้ออกไปแล้ว จะสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง
  • โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นระบบการจัดการศึกษาภายใต้การพัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความสนใจด้านการศึกษา
  • การจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจัดการศึกษาสายสามัญ คือ กศน. และศูนย์การเรียน และการศึกษาสายอาชีพ 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรอาหารว่างยอดนิยม หลักสูตรขนมไทย หลักสูตรหัตถกรรม งานเชื่อม และหลักสูตรการผลิตของที่ระลึกและของชำร่วย

เด็กทุกคนมีความสามารถ มีความถนัดเป็นของตัวเอง ยิ่งถ้าได้รับการสนับสนุนจากสังคม ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือโรงเรียน เชื่อว่าเขาจะสามารถเปล่งแสงออกมาในเส้นทางของตัวเองได้ 

เว้นเสียแต่ว่าเมื่อเดินทางมาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต แล้วเกิดก้าวผิดจังหวะ พลาดพลั้งเข้าไปพัวพันกับเรื่องที่ผิดกฎหมาย จนต้องเข้ามาอยู่ในสถานพินิจฯ หรือศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน ทำให้หลายๆ อย่างในชีวิตของพวกเขามีการเปลี่ยนแปลง ทั้งความฝัน การศึกษาเหมือนถูกแช่แข็ง ที่แย่ไปกว่านั้นคือเด็กบางคนไม่ได้รับการศึกษาที่ควรได้รับตั้งแต่ยังไม่เข้าไปด้วยซ้ำ

แล้วตลอดระยะเวลาที่อยู่หลังกำแพงสูงนั้น ทำอย่างไรให้พวกเขาได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างทักษะอาชีพ ทักษะชีวิต เพื่อวันที่เขาได้ออกไปแล้ว จะสามารถเริ่มต้นใหม่ได้อีกครั้ง

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงร่วมมือกับกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มูลนิธิปัญญากัลป์ สนับสนุนระบบการจัดการศึกษาภายใต้การพัฒนาทักษะวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต เปลี่ยน ‘ผู้คุม’ เป็น ‘นักจัดการเรียนรู้’ ที่ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนมีความสนใจด้านการศึกษา ภายใต้ โครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ศุภชัย ไตรไทยธีระ ประธานมูลนิธิปัญญากัลป์ พูดถึงการทำงานในโครงการพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษา สำหรับเด็กและเยาวชนในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาว่า ในส่วนของมูลนิธินั้นทำหน้าที่ในการระดมข้อมูล สังเคราะห์ข้อมูล และพัฒนาเป็นชุดโครงการร่วมกับทางกรมพินิจฯ โดยมุ่งหวังให้ศูนย์ฝึกฯ เป็นพื้นที่ที่จะช่วยสร้างเสริมการเรียนรู้ให้กับเด็ก ซึ่งเรียกพื้นที่นี้ว่า ‘พื้นที่การเรียนรู้’ 

ปรับเปลี่ยนครูผู้คุมให้กลายเป็น ‘ครูนักจัดการเรียนรู้’ สามารถออกแบบการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ในความดูแลของตนเองได้ รวมถึงปรับเปลี่ยนผู้อำนวยการหรือผู้บริหารศูนย์ฝึกฯ ให้เป็น ‘ครูนักออกแบบการเรียนรู้’ มองภาพรวมของการจัดการศึกษาให้กับเด็กในทุกมิติได้ และสามารถเอื้อให้ครูออกแบบและจัดกิจกรรม รวมถึงประเมินผลที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ได้ ที่สำคัญที่สุดคือการกระตุ้นให้เด็กเป็น ‘ผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต’ และมองเห็นว่าการเรียนรู้เป็นเรื่องที่สำคัญ 

ซึ่งภายใต้โครงการนี้มีอยู่ทั้งหมด 6 แผนงาน โดยมีศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี และสถานพินิจฯ 7 แห่งในพื้นที่นี้ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ และจะมีแผนงานที่ 7 เพิ่มขึ้นมา เพื่อสนันสนุนให้ทุนต่อเนื่อง เนื่องจากว่ามีเด็กๆ ที่จบออกไป แล้วก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนต่อเนื่อง ฝึกวิชาชีพต่อเนื่อง รวมถึงการประกอบอาชีพ 

แผนงานที่ 1 การพัฒนาบุคคลากรให้เป็นนักจัดการเรียนรู้ โดยจากทำงานกับผู้บริหาร 8 คน, ครูบริบาล (พ่อบ้าน แม่บ้าน) 60 คน, ครูข้ามข่าย (นักจิตศึกษา นักสังคมสงเคราะห์ นักวิชาชีพ) 60 คน และได้ครูแกนนำ 30 คน ที่เป็น ‘ครูนักจัดการเรียนรู้’ ซึ่งประกอบด้วย นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ และนักวิชาชีพ

“เราก็มีคอนเซปต์การทำงานที่อยากจะเห็นสมรรถนะครูที่เปลี่ยนไป เห็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เห็นครูที่เป็นโค้ช ที่สามารถช่วยโค้ชชีวิตเด็กได้ ให้เด็กๆ เห็นเส้นทางชีวิตของตัวเองชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ 

เนื่องจากครูก็จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ครูแต่ละคนจะมีเด็กในความดูแลของตัวเอง ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงกับระบบหรือการจัดการเรียนรู้ มองเห็นว่าเด็กคนนี้เหมาะกับการเรียนในระบบไหน เช่น เรียนกศน. นอกจากนี้ครูบางคนที่มีองค์ความรู้ที่เป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของตัวเองก็จะถ่ายทอดให้เด็ก อย่างครูที่เชี่ยวชาญด้านช่างไม้ ช่างก่อสร้าง ก็จะเอาความรู้นั้นมาถ่ายทอดให้กับเด็ก” 

แผนงานที่ 2 พูดถึงการพัฒนาระบบการจัดการศึกษาทางเลือก (นอกระบบและตามอัธยาศัย) ร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยจะมี 3 แผนให้เลือก คือ การศึกษาสายสามัญ (ศูนย์การเรียนเซนต์ ยอห์นบอสโก, กศน. และสถาบันอุดมศึกษา), การฝึกวิชาชีพ (8 หลักสูตร ได้แก่ ช่างเชื่อมโลหะ, ช่างไฟฟ้า, ช่างไม้และก่อสร้าง, ดนตรี, ช่างศิลปหัตถกรรม, งานช่างสตรี, ช่างตัดผม และเกษตรกรรม), หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 5 หลักสูตร (หลักสูตรช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ การทำเบเกอรี ช่างตัดเย็บ การนวดเพื่อสุขภาพและการแปรรูปสมุนไพร และคอมพิวเตอร์เพื่อการสร้างอาชีพ) 

ในส่วนแผนงานที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของการหาสถานที่ประกอบอาชีพให้กับเด็กหลังได้รับการปล่อยตัว รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพเด็กผ่านหลักสูตร Young Boost Up ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการให้กับเด็ก 

“แผนงานที่ 4 ด้านทักษะชีวิต เราก็จะเสริมเรื่องของมิติทางกาย ทางใจ ทางปัญญา และมิติทางสังคม ให้เด็กเข้าใจตัวเอง เชื่อมโยงตัวเองกับนิเวศรอบๆ ได้ ทำความเข้าใจกับสภาพครอบครัว ชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ แล้วก็ให้เด็กค้นหาตัวแบบของตัวเองให้เจอ ให้เขามีไอดอล เพื่อให้เขามีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต แล้วก็ไม่ให้หวนกลับไปทำผิดซ้ำ ซึ่งในส่วนนี้เราต้องมีกระบวนการที่เข้าไปทำกับเด็ก ซึ่งเราก็พัฒนาเครื่องมือชุดนึงเรียกว่าเครื่องมือ 11 ชิ้นจะเป็นเหมือนใบงานให้เด็กๆ ทำงานกับตัวเอง เรียนรู้ผ่านการตั้งคำถามกับตัวเอง แล้วก็ค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง” 

เชื่อมโยงสู่แผนงานที่ 5 ในการสร้างความร่วมมือกับชุมชน ขับเคลื่อนกลไกโอบอุ้มคุ้มครองเด็กภายหลังที่ได้รับการปล่อยตัว เพื่อป้องกันไม่ให้กลับมาทำผิดซ้ำ 

“เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เขาไปเจอ อาจกลับไปเจอเพื่อกลุ่มเดิมๆ ทำอย่างไรจะมีชุมชนที่คอยโอบอุ้มคุ้มครองเขา ไม่ให้เขากลับไปทำผิดซ้ำ เราก็เลยสร้างความร่วมมือ ซึ่งในแผนงานนี้เราวางแผนไว้ว่าเราทำความร่วมมือกับ 10 ชุมชน นำร่องพื้นที่จังหวัดอุบลฯ ก่อน คัดเลือกโดยเป็นชุมชนที่ปล่อยเด็กตอนกลับออกไปส่วนนึง อีกส่วนเป็นเครือข่ายของศูนย์ยุติธรรมชุมชน ตำบล ที่มีความเข้มแข็ง แล้วเราก็อยากจะยกระดับการทำงานให้เป็นงานเชิงนโยบายระดับพื้นที่ ซึ่งทางท้องถิ่น อบต. จริงๆ แล้วเขามีอำนาจหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานคุ้มครองเด็กในระดับพื้นที่ตามพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก”

และแผนงานที่ 6 พูดถึงการจัดการฐานข้อมูลและการวิจัย โดยมีโจทย์วิจัย 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1.ระบบการป้องกัน/การจัดการศึกษา/กลไกโอบอุ้ม เพื่อสร้างความเข้าใจกับชุมชน 2.การส่งเสริมเด็ก ทั้งรูปแบบการศึกษา/อาชีพ/ทักษะชีวิต และ 3.การพัฒนาครู ด้านสมรรถนะครู จิตวิทยา แผนการศึกษารายบุคคล เปลี่ยนครูที่เป็นนักจิตวิทยา ครูศูนย์ฝึกฯ เป็นนักจัดการเรียนรู้

“เรามีการวิจัยในเรื่องของรูปแบบการจัดการศึกษาที่เหมาะสมตามสมรรถนะของเด็กในกระบวนการยุติธรรม โดยเราจะไปดูว่าถ้าเด็กจะมีสมรรถนะตามที่เขาตั้งไว้จะมีรูปแบบการศึกษาหรือการสร้างการเรียนรู้แบบไหนที่มันตอบโจทย์เขา แล้วก็มีการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กผ่านเครื่องมืออะไร เด็กๆ ชอบเครื่องมือไหนที่สุด และเขามองว่าตัวเองหลังจากออกจากศูนย์ฝึกไปจะมีสมรรถนะไหนติดตัวไปบ้าง ซึ่งจะทำให้เขาสามารถที่จะเป็นผู้ที่เข้มแข็งทางสังคมได้ แล้วก็ใช้ชีวตได้อย่างมีความสุข อีกส่วนก็จะเป็นการส่งเสริมอาชีพ เครื่องมือในการใช้สร้างเสริมทักษะชีวิตของเขา” 

“เราก็คาดหวังว่าจะมีเด็กๆ ในความดูแลของพวกเรา เข้าสู่กระบวนการในลักษณะนี้ ได้รับทุนได้รับโอกาสทางการศึกษาจนสำเร็จการศึกษา และอาจจะนำไปสู่การมีวิชาชีพติดตัว คือเรามองว่าเรียนจบมันยังไม่พอ แต่ทำยังไงจะให้เขาเกิดรายได้ 

เนื่องจากสภาพปัญหาของเด็กๆ ที่เข้ามาในนี้ ส่วนหนึ่งคือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เราพบว่าปัญหาหลักที่เป็นปัญหาใหญ่เลยก็คือ สถานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวค่อนข้างอยู่ในโหมดยากจน และนำไปสู่การเกิดปัญหาในรูปแบบอื่นๆ ตามมา ถ้าเด็กเป็นผู้รอดในสังคมก็จะรอดไปได้ แต่ถ้าเด็กผ่านมาไม่ได้ก็จะมาอยู่ที่เรา แล้วเราก็จะทำหน้าที่ให้เขาเป็นผู้รอดคนใหม่ในสังคม เราก็คิดว่ากระบวนการเหล่านี้มันเป็นกระบวนการที่ได้ช่วยเหลือและทำให้เด็กเปลี่ยนจริงๆ” 

‘ศูนย์การเรียน’ รูปแบบการจัดการศึกษาที่เป็นมิตรกับเด็ก

เมื่อเด็กคนหนึ่งก้าวพลาด บางส่วนถูกตัดสินให้เข้ามาอยู่ที่นี่ ‘ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน’ ซึ่งมีภารกิจคือ การดูแล บำบัด แก้ไข ฟื้นฟูและให้การสงเคราะห์เด็กและเยาวชน ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มีคำพิพากษาให้เข้ารับการฝึกอบรม โดยรับผิดชอบดูแลเยาวชนในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ มุกดาหาร นครพนม และสกลนคร

จิตติมา กระสานติ์กุล ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี เล่าถึงการบริหารจัดการการเรียนของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนว่า มีการจัดการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การจัดการศึกษาสายสามัญ ซึ่งจะเป็นการจัดการเรียนการสอนในวันจันทร์และวันอังคาร และการศึกษาสายอาชีพ จัดการเรียนการสอนในวันพุธ พฤหัสบดี และวันศุกร์ โดยได้รับความร่วมมือจากวิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี โดยมีการจัดการเรียนการสอน 4 หลักสูตร คือ หลักสูตรอาหารว่างยอดนิยม หลักสูตรขนมไทย หลักสูตรหัตถกรรม งานเชื่อม และหลักสูตรการผลิตของที่ระลึกและของชำร่วย

“ในส่วนของศูนย์ฝึกอบรมจะทำหน้าที่ในการดูแลเด็ก เด็กจะได้เรียนทั้งสายสามัญและสายวิชาชีพ ในสายสามัญเดิมเรามีกศน. เป็นหลัก ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นหลักของเราอยู่ แต่เราพบอีกรูปแบบหนึ่ง การเรียนที่เป็นมิตรกับเด็กๆ ก็คือรูปแบบของศูนย์การเรียน เนื่องจากมีความยืดหยุ่น 

อย่างเช่น เรามีเด็กที่จบม.1 ครึ่งเข้ามา ก็คือเขาเรียนมาจนถึงม.2 เทอม 1 แล้วเขาโดนจับ ก็มาเรียนจบจบม.2 กับเรา ถ้าถูกปล่อยตัวเขาก็กลับไปต่อในระบบม.3 พร้อมเพื่อน ซึ่งระบบนี้ถ้าเป็นของกศน.จะทำไม่ได้ เพราะกศน.จะต้องเรียนจนจบม.ต้น เรียนจนจบม.ปลาย อันนี้มันก็มีลัษณะที่เป็นมิตรกับเด็กอีกจุดนึง ซึ่งเราก็จะคัดเด็กกลุ่มนี้มาเรียนศูนย์การเรียน เพราะว่าเราจำกัดอายุในการจบ ให้ทันเพื่อนด้านนอก ต้องไม่เร็วไม่ช้าไปกว่ากัน โดยสุดท้ายแล้วถ้าเด็กเรียนจบครบตามหลักสูตร จะได้รับวุฒิบัตร”  

เสริมสร้างแรงบันดาลใจ เรียนรู้และค้นหาอาชีพก่อนออกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

“เด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ที่นี่มาจากคดียาเสพติด พอศาลสั่งมาเรามีหน้าที่ที่จะต้องเตรียมเขา ฝึกเขา พัฒนาเขา อย่างครูวิชาชีพเขาก็จะพัฒนาเรื่องอาชีพ ครูสามัญก็พัฒนาเรื่องวิชาสามัญ ในส่วนของนักสังคมสงเคราะห์เราก็พัฒนาเรื่องทักษะสังคม ทักษะชีวิต ให้เขาได้เรียนรู้ ให้เขาได้ดึงศักยภาพของตัวเอง หรือให้เขารู้จักตัวตน แล้วก็ให้เกิดความเข้มแข็งในจิตใจ ให้เขารู้ว่าเขามีคุณค่านะ เยียวยาจิตใจเขา แล้วก็ดึงความสามารถศักยภาพที่มีอยู่ว่าเขาควรเอามาใช้ยังไงบ้าง” 

จิรารัตน์ ไชยยงค์ นักสังคมสงเคราะห์ชำนาญการ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 จังหวัดอุบลราชธานี เล่าถึงกระบวนการดูแลเด็ก ซึ่งในส่วนของงานนักสังคมสงเคราะห์ หลักๆ คือการดูแลเด็กตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามา ตั้งแต่ในระยะแรกรับ (Orientation Stage) – ระยะฝึกอบรม (Internmediate Stage) – จน ระยะเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย (Pre-Release Stage) โดยคอยประสานกับครอบครัวในทุกๆ เรื่อง 

ในระยะเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย ครูจิก็มีหน้าที่ในการเสริมทักษะด้านสังคม ทักษะอาชีพให้กับเด็ก โดยทำกิจกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของเด็ก เช่น กิจกรรมเรียนรู้ ‘การค้นหาอาชีพ ผ่านการ์ดอาชีพ’ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของกระบวนการเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยของเด็ก โดยใช้ระยะเวลา 1 – 6 เดือน ก่อนที่จะปล่อยตัว 

“สำหรับกิจกรรมที่เราทำเรื่องค้นหาอาชีพ จริงๆ แต่ก่อนถ้าไม่มีการ์ดอาชีพ เราบอกให้เด็กๆ เขียน หรือถามเขาเกี่ยวกับอาชีพที่อยากทำ อยากเป็น เขาคิดไม่ออก เด็กๆ เขาก็จะคิดอยู่ในวงแคบ เช่น ทำนา เพราะพ่อแม่ทำนา หรือรับจ้างก่อสร้าง แต่เด็กไม่ได้คิดนอกกรอบ เขามองไม่เห็นว่าอาชีพนอกจากที่อยู่กับพ่อแม่มันมีอาชีพอื่นๆ อีกที่หลากหลายที่เขาสามารถเดินไปถึงตรงนั้นได้ ก็เลยดึงกิจกรรมตรงนี้เขามาให้ 

ในการ์ดอาชีพก็จะมีอาชีพหลากหลาย เช่น ช่างตัดผม ช่างสัก ยูทูบเบอร์ บางอย่างเด็กถาม ครูครับนักเดินป่าเป็นอาชีพด้วยหรอ ที่เขาทำคลิปเกี่ยวกับการเดินป่า แล้วคนเข้าไปดูคลิปเขาเยอะๆ เขาก็ได้เงิน มีหลากหลายอาชีพมากซึ่งเด็กไม่เคยรู้จัก

อย่างสักลาย มันเป็นอาชีพได้นะ แต่เราต้องไปทำให้มันถูกต้อง ต้องสะอาด ต้องปลอดภัย ต้องมีใบประกอบวิชาชีพด้วย แล้วถ้าตัดผม จบตรงนี้มันน่าจะยังไปเปิดร้านไม่ได้หรอก ลูกๆ ควรไปเรียนต่อสารพัดช่าง หรือสถานบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปพัฒนาให้เชี่ยวชาญ”

“ในส่วนของครูนักสังคมสงคราะห์ก็จะคอยเสริมแรงเขาว่า อาชีพนี้สามารถต่อยอดไปได้อย่างไรบ้าง ชี้ช่องทางอาชีพ เราจะเป็นคนประสานส่งต่อ หาแหล่งซัพพอร์ทเขา เราจะทำฝันเขาให้เป็นจริงได้ยังไงบ้าง หาทรัพยากรต่างๆ มาหนุนเสริมเด็ก” 

นอกจากนี้ยังมีกระบวนการติดตามภายหลังปล่อย 1 ปี โดยการประสานกับทางผู้ปกครอง ชุมชน สถานพินิจปลายทางที่เด็กจะไปอาศัยอยู่ วางแผนการติดตามภายหลังปล่อย ซึ่งวิธีการติดตามก็จะมีการลงพื้นที่เยี่ยมบ้าน เยี่ยมสถานประกอบการ เยี่ยมสถานศึกษา โดยนักสังคมสงเคราะห์ของศูนย์ฝึกฯ นักสังคมสงเคราะห์ของสถานพินิจ เครือข่ายก็จะเป็นสถานยุติธรรมจังหวัด ศูนย์ยุติธรรมชุมชน อสท. บริษัท SILC ซึ่งจะลงไปติดตามเด็กๆ ที่ผ่านการฝึกวิชาชีพ

“การติดตามไม่ใช่ว่าไปจับว่าเขาทำผิดอะไรบ้าง แต่ติดตามเพื่อให้ความช่วยเหลือ 5 ด้าน หนึ่งเด็กกลับไปมีการศึกษาไหม สองมีงานทำไหม สามครอบครัว มีสัมพันธภาพที่ดีหรือเปล่า สี่ด้านที่อยู่อาศัยหรือชุมชน โอบอุ้มหรือผลักให้เขากลับไปทำผิดอีก และห้าการคบเพื่อนมีเพื่อนที่ดีไหมและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์หรือเปล่า” 

“อย่างตอนนี้ที่ติดตามก็คือ พลอย ซึ่งเป็นเด็กที่มีความสามารถ ถ้าพูดในระดับกรมพินิจฯ เอง ทุกศูนย์ฝึกจะรู้จักเขา เขาเป็นเด็กที่มีความสามารถในตัวค่อนข้างเยอะเพียงแต่ฐานครอบครัวไม่เอื้ออำนวย ความเป็นแม่กับตัวเขาค่อนข้างห่างเหินกัน แล้วเขาหาเงินด้วยตัวเองจากการเป็นแดนซ์เซอร์ เป็นนักร้อง แล้วก็เป็นเหยื่อของยาเสพติด พอเขามาอยู่กับเรา เราก็ดูเขา เห็นความสามารถเขา เราก็ดึงศักยภาพเขาทุกอย่างออกมา เขาทำได้หมดเลย ไม่ว่าจะเล่นดนตรี ร้องเพลง กล่าวสุนทรพจน์ to be number one การนำเสนอต่างๆ ดีหมดทุกอย่าง 

ตอนนี้เขามีความฝันเรื่องดนตรีอยู่ เราก็จะพยายามหาแหล่ง หาที่เขาจะสามารถเรียนได้ สนับสนุนเขาได้ สุดท้ายเขาก็จะมารับใบประกาศจบม.6 ของเซนต์ ยอห์นบอสโก ศูนย์การศึกษาทางเลือก”

โอกาสทางการศึกษา ทำให้เห็นคุณค่าในตัวเอง

“หนูเข้ามาอยู่ในศูนย์ฯ ตอนอายุ 17 ปี ตอนนี้หนู 21 แล้ว ตอนนั้นหนูเป็นคนที่ไม่มีความฝัน ไม่มีเป้าหมายในตัวเองเลยค่ะ ก็คือในวันนั้นหรือในช่วงนั้นทำอะไรได้ ใครหยิบยื่นอะไรให้ก็คือทำหมดทุกอย่าง หรือตัวเองอยากทำอะไรก็คือทำในตอนนั้นเลย ไม่มีคิดว่าอนาคตอยากจะหยุดที่ตรงไหน อยากจะมีความฝันเป็นอะไร อยากทำงานอะไรที่มันมั่นคงแน่นอน ไม่มีเลยค่ะ” พลอย หนึ่งในเยาวชนที่เข้ารับวุฒิบัตร ผู้สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เล่าถึงภูมิหลังของชีวิตตัวเองก่อนเข้ามาอยู่ที่ศูนย์ฝึกฯ ให้ฟัง 

“พอเข้ามา ครูในศูนย์ฝึกเขาก็สอนหลายอย่าง ทั้งทักษะอาชีพต่างๆ เช่น เราได้เรียนถักไหมพรม ทำขนม ทำหน้ากากผ้า เรียนตัดเย็บเสื้อผ้าต่างๆ แล้วก็จะมีเรียนดนตรี ช่วงนั้นหนูเรียนไวโอลินด้วย สัปดาห์ละ 2 วัน ส่วนเรื่องเรียนวิชาการ ช่วงแรกที่เข้ามาเอกสารหนูไม่ครบเลยเสียเวลาไป 1 ปีเต็มๆ ที่ไม่ได้เรียนต่อ แล้วก็มาเรียนที่ศูนย์การเรียนจนจบม.6”

นอกจากได้เรียนต่อจนจบมัธยมศึกษาตอนปลายในรูปแบบของศูนย์การเรียน ได้ฝึกทักษะอาชีพต่างๆ แล้ว พลอยบอกว่า ในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5 ครูได้สอนให้เธอตั้งเป้าหมายในชีวิต มองอนาคตของตัวเองให้เป็น เมื่อมีความฝันแล้วก็ต้องเรียนรู้ ฝึกฝน หาทางสร้างให้ความฝันนั้นเป็นจริง ซึ่งพลอยมีความฝันอยากเป็นนักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลง 

“โอกาสที่ได้รับทำให้เราเรียนจนจบม.6 ทั้งที่หนูก็อายุเยอะแล้ว ถ้าเกิดหนูอยู่ข้างนอกหนูก็คงจะไม่ได้เรียน คงจะเล่นๆ ไปเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่พอเข้ามาหนูอายุเยอะแล้ว คืออายุหนูมันไม่ใช่ช่วงที่จะต้องกลับไปเรียน ม.1 ใหม่แล้ว พอเข้ามาในนี้หนูได้เรียนจบทั้งม.3 และม.6 ทั้งการศึกษาแล้วก็วิชาชีพ คือหนูได้เรียนรู้วิชาชีพต่างๆ อาชีพมันมีเยอะแยะ มันไม่ได้มีแค่อาชีพก่อสร้าง ไม่ได้มีแค่อาชีพที่มันหนักๆ ทำขนมเราก็มีรายได้ได้”     

ทั้งนี้สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงคือเรื่องของความคิด “เอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น แล้วมันทำให้เราไม่ใช้อารมณ์ตัวเองตัดสินทุกอย่าง ทำให้เราฟังเหตุผลคนอื่น และในบางครั้งที่เพื่อนเขาทำผิดเหมือนเรามองเห็นแล้วเราอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เราก็ต้องบอกค่ะ เหมือนรู้ที่จะเข้าใจตัวเองแล้วก็เข้าใจคนอื่นด้วย” 

Tags:

ทักษะชีวิตโอกาสทางการศึกษาเด็กก้าวพลาดกสศ.ทักษะอาชีพศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 5

Author:

illustrator

นฤมล ทับปาน

Related Posts

  • flexible learning-1
    Social Issues
    ‘ห้องเรียนระบบสอง’ การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่นตามโจทย์ชีวิตจริง:  นวัตกรรมการศึกษาแก้ปัญหาเด็ก Drop Out โรงเรียนห้วยซ้อวิทยาคมฯ

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • heart&how
    Social Issues
    Heart & How สร้างพื้นที่ปลอดภัย กู้ ‘ใจ’ วัยเรียน 

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    โอกาสทางการศึกษา แสงสว่างปลายอุโมงค์ของ ‘นัจมี หะเดร์’ ว่าที่พยาบาลผู้สานต่อความหวังให้ครอบครัว

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • ข้อจำกัดทางร่างกาย ไม่ใช่ขีดจำกัดความสามารถ ขอเพียงไม่ปิด ‘โอกาส’ ผู้พิการ: จิดาภา นิติวีระกุล

    เรื่อง นฤมล ทับปาน ภาพ ปริสุทธิ์

  • พลิกชีวิตเด็กก้าวพลาด บนเส้นทางแห่ง ‘โอกาส’ และ ‘อาชีพ’ 

    เรื่อง ชุติมา ซุ้นเจริญ

The Catcher in the Rye : ไม่ต้องมีใครโอบรับใคร ถ้าไม่มีผู้ใดร่วงหล่นจากท้องทุ่ง
Book
7 April 2023

The Catcher in the Rye : ไม่ต้องมีใครโอบรับใคร ถ้าไม่มีผู้ใดร่วงหล่นจากท้องทุ่ง

เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

  • The Catcher in the Rye หรือ จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใคร ร่วงหล่น อาจกล่าวได้ว่าเป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง ความหยาบคาย และ ‘ความเฟก’ ของตัวละคร จนกลายเป็นหนังสือที่ถูกเก็บซ่อนให้พ้นจากสายตาของเด็กๆ มากที่สุดเล่มหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้มีความหมายมากกว่าที่เห็น
  • บางทีพวกเราทุกคนก็ล้วนอยากจะเป็นใครที่คอยรับเด็กๆ ที่ร่วงหล่น หากพวกเขาไม่ได้หวาดกลัวว่ามันจะทำให้เด็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวร่วงหล่นจากหน้าผา
  • หากมีใครพบคนที่วิ่งออกมาจากท้องทุ่ง ก็เพียงแค่บอกเส้นทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา ถ้าพวกเขาจะล้ม ก็ต้องปล่อยให้เขาล้ม และถ้าพวกเขาจะเติบโต ก็ต้องปล่อยให้พวกเติบโต

จินตนาการว่าคุณเป็นวัยรุ่นอายุสิบเจ็ดปี คุณอาศัยอยู่ในหอพักนักเรียน ห่างไกลจากบ้านและครอบครัวเป็นสิบๆ กิโลเมตร ไม่มีใครสามารถบังคับให้คุณทำอะไรได้ ไม่มีใครตามรังควานคุณได้ คุณครูจะไม่พูดกรอกหูให้คุณส่งการบ้านหรือทำคะแนนสอบให้ดีขึ้น เพราะว่าคุณเพิ่งจะถูกไล่ออก และพ่อแม่ของคุณจะไม่ดุด่าคุณสักคำ เพราะไม่มีโทรศัพท์มือถือในยุคห้าศูนย์ และต้องใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจดหมายจะส่งไปถึงมือของพวกเขา ที่สำคัญคือคุณมีเงินที่เก็บออมเอาไว้อยู่ก้อนหนึ่ง 

คุณมีอิสระมากเท่าที่จะมีได้ในโลกใบนี้ คุณจะทำอะไร? หรือคุณจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร? (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาก่อนหน้าที่จดหมายจากโรงเรียนจะส่งไปถึงบ้านของคุณ)

คุณจะไม่ไปอ่านหนังสือที่ห้องสมุด ไม่ไปหาอาหารอร่อยๆ กินสักมื้อ ไม่ไปเที่ยวชมสถานที่ท่องเที่ยวสวยๆ เพื่อปลอบใจตัวเองที่โดนไล่ออก และเชื่อได้เลยว่า คุณคงจะไม่มานั่งพะวงเรื่องที่ว่าจะมีหรือไม่มีที่เรียนหรอก คุณจะไม่ทำอะไรพวกนี้หรอกถ้าคุณเป็นเด็กวัยรุ่นอายุสิบเจ็ดปี 

คุณอาจจะไปผับสักแห่ง โกหกอายุของตัวเอง และพยายามจะสั่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่คุณอาจจะไปมีเรื่องกับรูมเมตของคุณเป็นการอำลาส่งท้าย หรือบางทีคุณอาจจะไปหาเพื่อนสาวเพื่อนหนุ่มและพยายามจู๋จี๋กับพวกเขา 

ก็ไหนๆ คุณก็ถูกไล่ออกจากโรงเรียนแล้วนี่ จะไปสนอะไรอีกล่ะ

คุณอาจจะทำสิ่งเหล่านี้หรือไม่ทำก็ได้ ผมไม่รู้หรอก แต่ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ โฮลเดน คอลฟีลด์ ตัวเอกในหนังสืออื้อฉาวเรื่อง The Catcher in the Rye เลือกที่จะทำในช่วงเวลาสองสามวันแห่งอิสรภาพ หากคุณอ่านเรื่องราวของเขา คุณคงจะได้รับข้อคิดสักสองสามข้อ แต่จะเป็นข้อคิดที่ดีหรือไม่ก็คงขึ้นอยู่กับตัวคุณ 

The Catcher in the Rye หรือชื่อภาษาไทยคือ จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใคร ร่วงหล่น เป็นหนึ่งในนิยายจำพวกที่อาจจะทำให้คุณหงุดหงิดเล็กน้อยเวลาที่หยิบมันขึ้นมาดูในร้านหนังสือ เพราะที่ด้านหลังนั้นไม่มีเรื่องย่อเขียนเอาไว้แม้แต่ตัวเดียว (อย่างน้อยก็ไม่มีในฉบับภาษาไทยเล่มที่ผมอ่าน) ซึ่งผมคิดว่ามันก็ดีแล้วที่เป็นอย่างนั้น มันเป็นนิยายจำพวกที่ไม่มีเนื้อเรื่องย่อจะดีเสียกว่า เพราะถ้ามีคนคงจะไม่หยิบมันขึ้นมาอ่านแน่ๆ 

หากต้องเขียนเรื่องย่อให้นิยายเล่มนี้ ผมก็ไม่รู้จะเขียนอย่างไรโดยไม่ให้มันคลุมเครือหรือน่าเบื่อ 

โฮลเดน คอลฟีลด์ เพิ่งถูกไล่ออกจากโรงเรียนเพนเซย์ ช่วงเวลาสองคืนอันยาวนานแห่งอิสรภาพในนิวยอร์กซิตี้ ถูกใช้ไปกับการหลีสาว ดื่มจนเมาหัวราน้ำและผลาญเงินไปกับอะไรต่อมิอะไรตั้งแต่ตั๋วละครเวทีไปจนถึงโสเภณี แต่เมื่อช่วงเวลานี้จบลง สิ่งที่เราทุกคนจะได้เรียนรู้นั้นอาจกลับเป็นสิ่งที่แสนล้ำค่าในชีวิตของคนๆ หนึ่ง

หากมีใครเขียนสรุปเรื่องย่อของหนังสือเล่มนี้ออกมาประมาณนี้ เชื่อว่า หลายๆ คน ไม่มีทางหยิบหนังสือที่ฟังดูน่าเบื่อ และโคตรจะเฟกแบบนี้แน่ (บางทีผมอาจจะทำให้คุณไม่อยากอ่านนิยายเล่มนี้แล้วก็ได้) 

และที่น่าขำที่สุด แม้แต่ตัว โฮลเดน ตัวเอกในหนังสือเล่มนี้ ก็ไม่มีวันหยิบหนังสือที่มีเรื่องย่อแบบนี้ขึ้นมาอ่านแน่ เพราะสิ่งที่เขารังเกียจที่สุด ก็คือ ความเฟก ความดัดจริต เสแสร้งแกล้งวางท่า ซึ่งเจ้าตัวมองว่า ผู้ใหญ่หลายๆ คน (อาจเป็นส่วนใหญ่ด้วย) มักจะมีคุณสมบัติที่ว่านี้

ต้องสารภาพตามตรงว่า ครั้งแรกที่ผมอ่านหนังสือเล่มนี้ ผมรู้สึกว่าเนื้อหาของมันนั้นน่าเบื่อเสียส่วนใหญ่ โฮลเดนใช้เวลาเกือบทั้งหมดของเขาไปกับการตำหนิวิจารณ์ผู้คนที่เขารู้จัก สุงสิงกับผู้หญิงและพะวงว่าแฟนเก่าของเขาได้ไปมีเซ็กส์กับรูมเมตของเขารึเปล่า และมันคือเนื้อหาส่วนใหญ่ที่คุณจะได้อ่านในนิยายเล่มนี้ 

แม้แต่สิ่งที่ทำให้ผมสนใจนิยายเล่มนี้ตั้งแต่แรกซึ่งก็คือชื่อนิยายที่ฟังดูน่าสนใจ ความจริงแล้วก็เป็นแค่วรรคหนึ่งของบทกวีที่ว่า “ถ้าใครสักคนจะคอยรับใครอีกคนที่โผล่พ้นจากท้องทุ่ง” ซึ่งโฮลเดนบังเอิญไปได้ยินมาและเก็บมาคิดเป็นเรื่องราวไร้แก่นสาร 

ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเนื้อหาบางส่วน บทสนทนาบางตอน และการพรรณนาบางครั้งบางคราวของโฮลเดนที่ยังคงเกาะติดอยู่กับผมหลังจากที่อ่านจบมานานกว่าหนึ่งปี 

ต่างจากวรรณกรรมขึ้นหิ้งตลอดกาลอย่าง เจ้าชายน้อย ที่คุณจะเจอข้อคิดดีๆ จากแทบทุกหน้าของหนังสือ เพราะ The Catcher in the Rye คือหนังสือที่คุณต้องตั้งใจอ่านทุกๆ หน้า แล้วคุณจะพบว่า ตัวละครสักตัวในหนังสือ อาจจะพูดอะไรลึกซึ้งที่คุณสามารถขบคิดถึงความหมายของมันไปได้อีกนาน 

อีกหนึ่งความแตกต่างที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ มุมมองที่สังคมมีต่อนิยายทั้งสองเรื่องนี้ เจ้าชายน้อย เป็นหนึ่งในนิยายที่พ่อแม่และครูแทบทุกคนเห็นด้วยว่า เด็กเล็กจนถึงผู้ใหญ่ควรจะอ่านสักครั้งในชีวิต แต่ในทางกลับกัน The Catcher in the Rye เป็นหนังสือที่พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมาก เรียกร้องให้ถอดออกจากห้องสมุดของโรงเรียนหลายสิบครั้ง (นับเพียงแค่ในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียว) เหตุผลก็มีอยู่หลายข้อ เช่น การใช้ภาษาหยาบคาย ประเด็นต่างๆ ในเรื่องที่ผู้ปกครองเห็นว่าไม่เหมาะสม และที่สำคัญคือความกังวลที่ว่า นิยายเล่มนี้จะทำให้เยาวชนเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ไม่เอาไหน 

สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ก็คือ หนึ่งในเนื้อหาสำคัญของหนังสือทั้งสองเล่ม (ที่ถูกสังคมให้คุณค่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง) กลับเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นคือ การเติบโตของคนๆ หนึ่ง และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการเติบโตนั้น 

โฮลเดนเป็นเด็กชายวัยรุ่นแบบที่พบได้ทั่วๆ ไป เขาไม่สนใจเรื่องการเรียนแม้แต่น้อย ตอนที่ถูกคุณครูวิชาประวัติศาสตร์ต่อว่าเรื่องผลการเรียนเขาก็เอาแต่พูดว่า “ครับๆ ผมเข้าใจดี” พยายามไม่ให้ครูของเขาอารมณ์เสียไปมากกว่านั้น แต่ในใจกลับคิดแต่เรื่องที่ว่าพวกเป็ดหายไปไหนในฤดูหนาวเมื่อทะเลสาบกลายเป็นน้ำแข็ง 

หนึ่งในคำพูดติดปากของเขาคือการว่าใครต่อใครว่าเป็น “คนเฟกๆ” ไม่เป็นที่ชัดเจนนักว่าโฮลเดนจัดประเภทคนเฟกๆ ของเขาด้วยเกณฑ์อะไรบ้าง 

หากคุณชอบถกเถียงเรื่องละครเวที คุณคือคนเฟกๆ หากคุณเขียนบทหนังให้ฮอลลีวูด คุณก็คือคนเฟกๆ และดูเหมือนว่าถ้าคุณเป็นคนที่มีกาลเทศะ คุณก็อาจจะเป็นคนเฟกๆ ได้เหมือนกัน

โฮลเดนเป็นคนเช่นนี้ เขาไม่ใช่ตัวเอกในนิยายที่มีเสน่ห์หรือน่านับถือ แต่เป็นหนึ่งในตัวละครที่เป็นมนุษย์ที่สุดเท่าที่ผมเคยอ่านมา 

ในตอนหนึ่งของนิยายที่ดูจะไม่สลักสำคัญ โฮลเดนหวนระลึกถึงความทรงจำวัยเด็กของเขา เขานึกถึงพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งที่เขามักจะไปกับน้องสาวบ่อยๆ เขาคิดลอยๆ ขึ้นมาว่า 

…สิ่งที่ดีที่สุดในพิพิธภัณฑ์นั้นคือทุกสิ่งทุกอย่างคงอยู่ในตำแหน่งเดิมของมันเสมอ ไม่มีใครขยับเขยื้อนไปไหนเลย คุณจะไปที่นั่นเป็นแสนๆ ครั้งก็ยังได้ สิ่งเดียวที่จะเปลี่ยนไปก็คือคุณนั่นเอง คุณจะเปลี่ยนไป ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง… 

คำพรรณนาหนึ่งย่อหน้านี้เป็นคำใบ้ที่ทำให้ผมเริ่มมองนิยายเรื่องนี้เปลี่ยนไป และเมื่อกลับมาอ่านใหม่อีกรอบ อะไรๆ ก็เริ่มกระจ่างชัดขึ้นมา 

The Catcher in the Rye เป็นหนังสือที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง เหตุการณ์น่าเบื่อไร้แก่นสาร และตัวละครหยาบคายที่จะไม่ทำให้คุณเห็นใจพวกเขานัก

หากคุณตั้งใจอ่าน จะสังเกตได้ไม่ยากเลยว่าคนที่เฟกที่สุดในเรื่องนี้ ก็คือตัวโฮลเดนเอง ตลอดทั้งเรื่องเขาจะทำแต่สิ่งที่เด็กวัยเขาไม่ทำ หรือก็คือทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเขา ‘เป็นผู้ใหญ่’ มันเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของวัยเยาว์ ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความรับผิดชอบที่เขายังไม่พร้อมจะรับเอาไว้ 

อาจจะเป็นเพราะอย่างนี้ โฮลเดนถึงนึกภาพตัวเขายืนอยู่ที่ขอบหน้าผา คอยรับเด็กๆ นับพันคนที่ร่วงหล่นลงมาจากทุ่ง ถ้าหากว่า ‘การร่วงหล่น’ ของพวกเขาคือการเผชิญหน้ากับการเติบโตและโลกที่ไม่ใจดีกับพวกเขานัก ผู้ที่จะคอยรับพวกเขาไว้ไม่ให้ร่วงหล่นก็คือ ผู้ใหญ่ที่จะปกป้องเด็กๆ เหล่านั้น

และบางที พวกเราทุกคนก็ล้วนอยากจะเป็นใครที่คอยรับเด็กๆ ที่ร่วงหล่น ไม่เช่นนั้นพวกเขาคงไม่พยายามปิดซ่อนนิยายเล่มนี้จากสายตาของเยาวชน หากพวกเขาไม่ได้หวาดกลัวว่ามันจะทำให้เด็กๆ ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวร่วงหล่นจากหน้าผา 

ไม่เช่นนั้น โฮลเดนคงจะไม่พยายามลบคำสบถที่ใครสักคนเขียนเอาไว้บนผนังโรงเรียนน้องสาวของเขา 

และถ้าไม่ได้เป็นเช่นนั้น พวกคุณครูคงจะไม่คอยตักเตือนโฮลเดนถึงอนาคตของเขา หนึ่งในนั้นพูดกับเขาว่าหากเป็นแบบนี้ต่อไปตัวเขาจะร่วงหล่นลงไปเรื่อยๆ 

บางทีเราอาจจะคิดว่า นิยามของการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีคือ คนที่คอยปกป้องเด็กๆ จากความสกปรกของสังคม บางที การคอยรับใครเอาไว้ อาจจะทำให้เรารู้สึกถึงคุณค่าในฐานะผู้ที่เติบโตแล้ว เด็กๆ ควรจะได้วิ่งเล่นในท้องทุ่งโดยไม่ต้องรับรู้ถึงหุบเหวแสนอันตราย ที่วันหนึ่งพวกเขาจะต้องดำดิ่งลงไป 

แต่บางที การทำอย่างนั้นอาจไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะความพยายามซ่อนอะไรไว้จากสายตาของใครก็ตาม ย่อมทำให้สิ่งนั้นยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น

หลักฐานก็คือ การที่คุณกำลังอ่านบทความเกี่ยวกับนิยายที่เคยถูกสังคมประนามว่าทำให้เยาวชนเสื่อมเสีย และทำให้มันกลายเป็นหนังสือที่ถูกเก็บซ่อนให้พ้นจากสายตาของเด็กๆ มากที่สุดเล่มหนึ่ง

นี่อาจจะเป็นความเฟกที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน เพราะถ้าหากโลกนี้เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่ง สิ่งที่เปลี่ยนไปก็ไม่ใช่สิ่งอื่นใด นอกจากตัวเราเอง

คำสบถที่เขียนอยู่ที่ไหนสักแห่งในรั้วโรงเรียน ก็คงจะอยู่ที่นั่นมาตั้งแต่ก่อนที่เราจะรู้ความหมายของมัน สิ่งที่ไม่น่ามองมีอยู่รอบตัวเราตั้งแต่เด็กๆ เพียงแค่เราไม่ได้เรียนรู้ที่จะมองมันอย่างที่ผู้ใหญ่เขามอง 

ความจริงแล้วไม่ได้มีใครร่วงหล่น และด้วยเหตุนั้น จึงไม่จำเป็นต้องมีใครที่คอยโอบรับใคร

ในช่วงสุดท้ายของนิยาย โฮลเดนแอบไปเยี่ยมน้องสาวของเขาที่บ้าน เขาเล่าเรื่องเพ้อฝันเกี่ยวกับการเป็นผู้คอยรับเด็กๆ ไม่ให้ร่วงหล่นจากท้องทุ่งกว้างใหญ่ และเขาก็ถูกน้องสาวเถียงกลับมาในทันที 

เธอบอกว่าเขาฟังผิด จริงๆ แล้วมันต้องเป็น “หากมีใครพบคนที่วิ่งออกมาจากท้องทุ่ง” ต่างหาก

ความจริงแล้ว มันคงจะเป็นเช่นนั้น ไม่มีหน้าผา ไม่มีใครต้องร่วงหล่นไปที่ไหน มีแค่เด็กตัวเล็กๆ ที่วิ่งเล่นอยู่ในทุ่งที่มีรวงข้าวไรย์สูงท่วมหัวของพวกเขา 

พวกคนที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ใหญ่ ไม่จำเป็นต้องคอยรับใครที่ร่วงหล่นลงมาจากไหน เพียงแค่ในบางครั้งบางคราว อาจจะมีเด็กสักคนวิ่งเล่นหลงทิศหลงทาง เพราะเขาตัวเล็ก สูงไม่พ้นยอดข้าวในท้องทุ่ง จึงมองโลกได้ไกลไม่เท่าผู้ใหญ่

หากมีใครพบคนที่วิ่งออกมาจากท้องทุ่ง ก็เพียงแค่บอกเส้นทางที่ถูกต้องแก่พวกเขา ถ้าพวกเขาจะวิ่ง ก็ปล่อยให้พวกเขาวิ่ง ถ้าพวกเขาจะล้ม ก็ต้องปล่อยให้เขาล้ม 

และถ้าพวกเขาจะเติบโต ก็ต้องปล่อยให้พวกเติบโต…เป็นเช่นนั้น

Tags:

จะเป็นผู้คอยรับไว้ไม่ให้ใคร ร่วงหล่นเยาวชนหนังสือเด็กนิยายThe Catcher in the Rye

Author:

illustrator

ฌานันท์ อุรุวาทิน

ถึงจะเป็นสาวกมูราคามิ แต่ก็อ่านหนังสือได้หลากหลายแนว ตั้งแต่ปรัชญาตะวันตก ฟิสิกส์ควอนตัม จนถึงมังงะเลือดสาด และไลท์ โนเวล กุ๊กกิ๊ก

Related Posts

  • Book
    ฤดูร้อนเมื่อครั้งประถม ผมได้เป็นอัศวิน: เด็กชายผู้บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ความกล้าหาญด้วยตัวเอง

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ความฝันที่ล้มเหลวไม่เจ็บปวดเท่าความฝันที่ไม่ได้ลงมือทำ: คิริโกะกับคาเฟ่เยียวยาใจ

    เรื่อง อภิบาล ว่องวงษ์รักษ์

  • Book
    Normal People: จะรวยหรือจน…ทุกคนล้วนเป็นคนธรรมดา

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    รถไฟขนเด็ก – เพราะรักจึงยอมปล่อยมือ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Book
    ปิราเนซิ: โลกแสนงดงามเมื่อถูกสะกดด้วยตัวพิมพ์ใหญ่

    เรื่อง ฌานันท์ อุรุวาทิน

A man called Otto : ความหวังในการอยากอยู่ในชีวิตใครสักคน
Movie
7 April 2023

A man called Otto : ความหวังในการอยากอยู่ในชีวิตใครสักคน

เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • ‘A man called Otto’ เป็นเรื่องราวของมนุษย์ลุงพ่อหม้ายชื่อว่า ‘ออตโต’ กับเหล่าเพื่อนบ้านเขาต้องคอยบ่นในทุกวัน แม้จะมีพล็อตเรื่องธรรมดา แต่เป็นหนังที่ทำให้รู้สึกอบอุ่นปนซึ้งใจในความธรรมดาเหล่านั้นได้อย่างดี
  • ออตโตรู้สึกว่าชีวิตเขาไม่มีเป้าหมายอะไรในชีวิตอีกต่อไปหลังจากภรรยาของเขาเสียชีวิต แต่หลังจากที่มี ‘มัลคอร์ม’ เข้ามาป่วนในชีวิต ก็ทำให้เขามีเป้าหมายที่ยังอยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
  • แม้การรักษาชีวิตใครซักคนอาจจะไม่ง่ายเหมือนในหนัง แต่การมีความหวังว่าเราจะรักษาใครได้ อาจดีกว่าการที่เราไม่เคยรักษากันไว้เลย

Tags:

ชีวิตA man called Otto

Author:

illustrator

พิมพ์พาพ์

เป็นลูกคนเดียวจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เรียกตัวเองว่านักวาดภาพประกอบที่ชอบวาดคนหน้าแมว เผลอเสียน้ำตาให้กับหนังครอบครัวอยู่บ่อยๆ

Related Posts

  • How to enjoy life
    เปลี่ยนเรื่องร้ายๆ ในชีวิต(ที่เรารับมือได้)ให้กลายเป็นแรงขับดัน

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • IMG_3795
    Healing the trauma
    เมื่อบาดแผลหล่อหลอมชีวิต: การเติบโตงอกงามจากความเจ็บปวด (Post-traumatic Growth)

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • How to enjoy life
    อิจิโกะ อิจิเอะ: การพบกันครั้งแรกและครั้งสุดท้าย ปรัชญาที่ชวนเราตกหลุมรักชีวิตในทุกเช้าวันใหม่

    เรื่อง ปริพนธ์ นำพบสันติ ภาพ ninaiscat

  • How to enjoy life
    ลู่วิ่งแห่งความสุข (Hedonic Treadmill): เมื่อการไขว่คว้าพาเรากลับมาที่จุดเดิมเสมอ

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Book
    การศึกษาของกระป๋องมีฝัน และที่ทางให้ตัวเองได้เบ่งบาน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

แค่ผมเรียนไม่เก่ง(เท่าที่คาดหวัง)…พ่อกับแม่เลยไม่ภูมิใจใช่ไหม
Dear Parents
6 April 2023

แค่ผมเรียนไม่เก่ง(เท่าที่คาดหวัง)…พ่อกับแม่เลยไม่ภูมิใจใช่ไหม

เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เมื่อพ่อแม่ใช้เกรดเป็นตัวชี้วัดคุณค่าในตัวลูก และใช้คำพูดเหน็บแนม เปรียบเทียบ เพื่อหวังกระตุ้นให้เขาเป็นไปอย่างที่คาดหวัง ผลลัพธ์คือบาดแผลในใจที่สร้างความเจ็บปวดไม่สิ้นสุด และเป็นที่มาของจดหมายที่กลั่นความรู้สึกถึงพ่อแม่ ด้วยความหวังว่าหากผู้ใหญ่คิดถึงหัวอกหัวใจของเด็กสักนิด คงไม่มีเด็กคนไหนยอมสูญเสียโลกอันสดใสและความรักในตัวเอง

“ขอให้ลูกเรียนหนังสือเก่งๆ” 

สำหรับหลายคน ประโยคนี้อาจหมายถึงคำอวยพรของพ่อแม่ แต่สำหรับผม ประโยคนี้คือ ‘คำสั่ง’ ชนิดหนึ่ง ซึ่งให้ความรู้สึกหนักอึ้งทุกครั้งที่ได้ยิน    

พ่อกับแม่ของผมมีความเชื่อฝังหัวว่า ‘ลูกที่ดีคือลูกที่เรียนเก่ง’ และ ‘ลูกที่เรียนไม่เก่งคือลูกที่ไม่ได้เรื่อง’ ดังนั้นผมจึงไม่แปลกใจสักนิดที่พ่อมักเปรียบเปรยให้ผมฟังว่า 

“ถ้าให้เลือกระหว่าง ลูกที่เป็นคนดีแต่เรียนไม่เก่งหาเงินไม่ได้ กับลูกที่นิสัยไม่ดีแต่เรียนเก่งหาเงินเก่ง…กูขอเลือกอย่างหลัง”

เมื่อคำอวยพรอันหวังดีของพ่อแม่กลายสภาพเป็น ‘คำสั่งสอน’ ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ประกอบกับทัศนคติของพ่อแม่ที่มองว่า ‘ค่าของลูกอยู่ที่ผลของเกรด’ ดังนั้นเกรดแต่ละเทอมจึงเป็นดั่งตัวชี้วัดว่าผมเป็นเด็กดีที่เชื่อฟังคำสอนของพ่อแม่มากแค่ไหน

3.20 คือระดับเกรดเฉลี่ยของผมในช่วงประถมถึงมัธยม บอกตรงๆ ว่าผมรู้สึกพอใจในเกรดของตัวเองมาก หลายวิชาผมทำคะแนนได้ดี มีเพียงคณิตศาสตร์เท่านั้นที่น่าเป็นห่วงและคอยฉุดรั้งเกรดเฉลี่ยรวมของผมให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น

แต่น่าเสียดายที่ความพอใจของผมกลับไม่เคยเพียงพอสำหรับพ่อแม่ นั่นเพราะพี่ของผมที่เรียนโรงเรียนเดียวกันดันมีผลการเรียนในระดับดีเยี่ยม เกรดเฉลี่ยของพี่ไม่เคยน้อยกว่า 3.60

เช่นนี้ ผมจึงตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบาก ทั้งเวลาที่อยู่โรงเรียน คุณครูหลายคนพากันบูลลี่ว่าผมไม่ฉลาดเหมือนพี่ แถมกลับมาบ้านก็ไม่วายถูกพ่อกับแม่ตำหนิบ่อยๆ ว่าผมโง่ 

“ทำไมมึงไม่ทำให้กูสบายใจเหมือนกับพี่ของมึงบ้าง(เรื่องผลการเรียน)”พร้อมสรรหาบทลงโทษสารพัด เช่น การให้กินข้าวช้ากว่าคนอื่นหนึ่งชั่วโมงและให้เล่นวิดีโอเกมได้ไม่เกินสองชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งหากผมขัดขืนตามประสาเด็กแสบ ผมก็จะถูกพ่อตบสองสามทีเพื่อเรียกสติ 

ผมรู้สึกเครียดมากที่พ่อกับแม่ทำแบบนี้กับผม เพราะถ้าเกรดผมน้อยกว่า 3.00 อันนี้ผมพอจะเข้าใจ แต่นี่เล่นเอาผมไปเปรียบกับพี่ที่ต่อให้ไม่อ่านหนังสือก็ยังสอบได้คะแนนดีกว่าผมที่อ่านหนังสือแทบตายก็สอบได้เท่าเดิม

ผมมักแอบร้องไห้คนเดียวบ่อยๆ พอหยุดร้องไห้ ผมก็จะนั่งโอดครวญว่าทำไมพ่อกับแม่ถึงใจร้ายกับผมขนาดนี้ ที่สุดแล้วผมก็กลายเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่หลายคนนิยามว่า ‘หน้าเหมือนคนอมทุกข์ตลอดเวลา’   

อย่างไรก็ตาม เรื่องทั้งหมดกลับไม่มีผลกระทบในใจมากนักเมื่อเทียบกับวันรวมญาติ ที่พ่อแม่นำผมกับพี่มาเปรียบเทียบให้ลุงป้าน้าอาฟังราวกับพี่ของผมเป็นอภิชาตบุตร ต่างกับผมที่ถูกเหน็บแนมว่ารอยหยักในสมองน้อยไปบ้าง หรือการเห็นพ่อกับแม่บลัฟกันไปมาว่าที่ผมเรียนไม่เก่งเป็นเพราะผมได้ดีเอ็นเอจากใคร ทำเอาคนในวงหัวเราะกันลั่น…แต่น่าเสียดายที่ผมกลับไม่รู้สึกตลกด้วยสักนิด

เมื่อถูกพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่กึ่งแซวกึ่งบูลลี่บ่อยๆ ผมก็เริ่มมองไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ผมคิดว่าตัวเองเป็นคนโง่ และอึดอัดทุกครั้งที่ไปงานรวมญาติ  

เคราะห์กรรมของผมยังไม่จบเท่านี้ แถมยังหนักหน่วงมากขึ้น ในช่วงปิดเทอมใหญ่สมัยม.3 ผมจำได้ว่าโรงเรียนจะให้ผมเลือกแผนกการเรียน แน่นอนว่าผมผู้ไม่ชอบคณิตศาสตร์ย่อมเลือกแผนก ‘ศิลป์ภาษา’ แต่พ่อกับแม่ยังคงมีชุดความเชื่อแบบผิดๆ อีกประการหนึ่ง นั่นคือเชื่อว่า “พวกศิลป์ภาษาคือพวกไม่เอาไหนและเรียนหนังสือไม่เก่ง”

ดังนั้น ไม่ว่าผมจะอธิบายเป้าหมายหลังจบมัธยมว่าอยากเรียนต่อคณะนิเทศศาสตร์ซึ่งเรียนศิลป์ภาษาก็สอบเข้าได้ แต่พ่อแม่ก็ไม่สนไม่แคร์และยังคงด่าทอผมเสมอยามที่เห็นคะแนนเน่าๆ ในวิชาคณิตศาสตร์ และเกรดเฉลี่ยรวมที่ยังขึ้นๆ ลงๆ ในระดับ 3 ต้นๆ

“มึงมันโง่เป็นควาย หัดเอาพี่มึงเป็นตัวอย่างบ้างสิ ถ้าเอ็นทรานซ์ไม่ติดไม่ต้องมาขอตังค์กูเรียนเอกชนนะ ปวดหัวจริงๆ มีลูกแบบมึงเนี่ย”

ทุกวันนี้ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่าทำไมพ่อกับแม่ถึงพูดประโยคข้างต้นกับผม ผมจำได้แค่ว่าตอนนั้นผมน้ำตาร่วงออกมาแบบไม่รู้ตัว ความรู้สึกข้างในมันแหลกสลายไปหมด และตั้งแต่วันนั้นพ่อกับแม่ก็ไม่ใช่บุคคลที่ผมรักมากที่สุดในชีวิต

ผมรวบรวมความกล้าไประบายความรู้สึกกับพ่อแม่ แต่คำตอบที่ได้กลับมาคือ “เรื่องจิ๊บๆ แค่นี้อย่ามาตอแหล” ดังนั้นเมื่อการพูดคุยไร้ประโยชน์ ผมจึงลองไปปรึกษาผู้ใหญ่ที่ไว้ใจหลายท่าน บางคนบอกให้ผมลืม “ปล่อยวางเถอะ อย่าโกรธพ่อแม่เลย เดี๋ยวจะตกนรกเปล่าๆ”  บางคนบอกให้ผมทำใจ “พ่อแม่เอ็งมันถูกเลี้ยงแบบโบราณ เขารักเอ็งนะ ยังไงก็อย่าคิดมากเลย” ซึ่งคำปรึกษาต่างๆ ไม่ได้ช่วยให้ผมดีขึ้นสักนิด  แถมถ้าผู้ใหญ่ที่ฟังเรื่องของผมคนไหนนำสิ่งที่ผมปรึกษาไปฟ้องพ่อแม่ ผมก็จะถูกพ่อตบหน้าราวกับเป็นลูกทรพี

พ่อครับ แม่ครับ ทำไมพ่อกับแม่ถึงให้ค่าผมจากผลการเรียน

พ่อครับ แม่ครับ ผมเป็นคนเรียนไม่เก่งจริงๆ หรือแค่เรียนไม่เก่งเท่าที่พ่อกับแม่คาดหวัง

พ่อครับ แม่ครับ ทุกครั้งที่ด่าผมหรือเอาเรื่องผมไปเล่ากับญาติๆ พ่อกับแม่เคยคิดถึงความรู้สึกของผมบ้างไหม…

หรือแค่ผมเป็นลูก พ่อกับแม่จะนึกจะทำอะไรก็ได้ 

ผมเสียใจจริงๆ ที่พ่อกับแม่ทำลายความสุขในวัยเด็กของผม

Tags:

พ่อแม่dear parentsการศึกษาการเลี้ยงดูแรงกดดัน

Author:

illustrator

อัฒภาค

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • Extended family-no logo
    Family Psychology
    ‘It takes a village to raise a child.’ เพราะมนุษย์ไม่ได้วิวัฒนาการไปในทิศทางที่ให้ ‘พ่อแม่’ เลี้ยงลูกเพียงลำพัง

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Dear Parents
    แทนที่พ่อจะสอนผมเรื่องความกตัญญู ช่วยทำให้ดูก่อนดีไหม?

    เรื่อง อัฒภาค ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Dear ParentsMovie
    Survival of the thickest – แด่ผู้รอดชีวิตจาก toxic parents

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  •  The Road: ถึงโลกล่มสลาย…แสงสว่างยังอยู่ในใจเธอเสมอ

    เรื่อง สิทธิพงศ์ อุรุวาทิน

  • Dear ParentsBook
    โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก: โลกร้ายกาจอาจไม่ทำลายคน ความเดียวดายต่างหาก

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

ข้อเสนอ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ คลายปมปัญหาที่ฉุดรั้งเด็กไทย : ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์
Social Issues
4 April 2023

ข้อเสนอ ‘ปฏิรูปการศึกษา’ คลายปมปัญหาที่ฉุดรั้งเด็กไทย : ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

เรื่อง The Potential

  • ความเหลื่อมล้ำและล้าสมัยของระบบการศึกษาไทย ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสถานการณ์โลกที่ผันแปร ที่ยิ่งตอกย้ำให้การศึกษาไทยถดถอยลงทุกที
  • ‘การสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)’ ของเด็กจากสถานการณ์โควิด-19  และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด จนเข้ามาปฏิวัติวิถีชีวิตของคนนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจับตามอง
  • ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์  เปิดข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านการระดมความคิดจากหน่วยงาน เพื่อส่งต่อพรรคการเมืองไทยในฐานะผู้ดูแลนโยบายที่จะมีโอกาสนำไปใช้ปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้น

ความเหลื่อมล้ำและล้าสมัยของระบบการศึกษาไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน จนส่งผลให้คุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ผลการทดสอบ PISA 2018 ชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า ระบบการศึกษาไทยกำลังล้มเหลว เมื่อเด็กไทยอายุ 15 ปี จำนวนร้อยละ 59.6 ไม่สามารถอ่านจับใจความได้ ร้อยละ 52.7  ไม่สามารถนำความรู้คณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ซับซ้อนได้ และร้อยละ 44.5 ไม่สามารถใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ที่คุ้นเคย สะท้อนว่าเด็กไทยขาดความเข้าใจพื้นฐานที่เพียงพอต่อการใช้งานจริง หากแต่สิ่งที่น่าหวาดหวั่นมากกว่าไปนั้นคือสถานการณ์โลกที่ผันแปรกำลังเป็นความท้าทายที่ตอกย้ำให้การศึกษาไทยถดถอยลงทุกที  

‘การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19’ ทำให้สถานศึกษาต้องประกาศปิดเป็นเวลานานก่อให้เกิด ‘การสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)’ อย่างใหญ่หลวง เด็กส่วนใหญ่มีผลการเรียนลดลงอย่างชัดเจน และมีปัญหาหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น ขณะที่ ‘วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม’ เริ่มส่งผลต่อความผันผวนของผลผลิตทางการเกษตร และความสามารถในการทำงานกลางแจ้งของแรงงานไทยลดลง นำมาซึ่งปัญหาการเปลี่ยนอาชีพ เคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรครั้งใหญ่ อีกสิ่งสำคัญสิ่งที่ต้องจับตาอย่างมากคือ ‘การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด’ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT แชทบอตสุดอัจฉริยะที่กำลังเข้ามาปฏิวัติวิถีชีวิต การทำงาน ไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษา

ปัญหาที่กล่าวมาล้วนเป็นตัวเร่งที่ผลักดันให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)  และในฐานะตัวแทนองค์กรภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnerships: TEP) เปิด ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านการระดมความคิดจากหน่วยงาน สถาบันการศึกษา รวมถึงประชาชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ เพื่อส่งต่อพรรคการเมืองไทยในฐานะผู้ดูแลนโยบายที่จะมีโอกาสนำไปใช้ปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้น

ปรับหลักสูตรแกนกลาง สร้าง ‘การเรียนรู้สมรรถนะ’

หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2551 จึงค่อนข้างล้าสมัย และแม้ในปี 2560 จะมีการปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเน้นสมรรถนะของผู้เรียนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นมากเท่าที่ควร 

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาใดๆ ไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีการปรับแก้หลักสูตรให้ทันสมัยพอ หลักสูตรการศึกษาของไทยที่ผ่านมาไม่ได้เน้นการสร้างสมรรถนะ คือการพัฒนาให้เยาวชนมีความสามารถในนำวิชาความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่มีไปใช้ประโยชน์จริงหรือต่อยอดในอนาคต อีกเรื่องสำคัญคือการไม่ปรับโครงสร้างเวลาในการเรียนรู้ การเรียนรู้ส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยดัชนีชี้วัด หรือ KPI ซึ่งมีประมาณ 2,000 KPI ทำให้เวลาครูไปสอนต้องคอยเช็คว่าสอนครบทุกตัวชี้วัดหรือยัง เพราะฉะนั้นครูแทบไม่เหลือเวลาในการพัฒนารูปแบบการสอนใหม่ๆ ที่จะทำให้นักเรียนได้ทดลองจริงจากตัวอย่างจริงได้สำเร็จ 

ที่ผ่านมาแม้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จะมีความพยายาม ‘ยกเครื่อง’ หลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2560 โดยนำร่อง ‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ 10 ด้าน ในโรงเรียนทั้งหมด 24 แห่ง ต่อมามีการปรับจำนวนสมรรถนะใหม่เป็น 5 สมรรถนะในปี 2563 และมีการปรับหลักสูตรอีกครั้ง โดยเพิ่มเป็น 6 สมรรถนะในปี 2565 ทว่าเมื่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีแผนประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางฉบับใหม่กลับถูกระงับไว้โดยฝ่ายการเมือง

“ที่ผ่านมาท่าทีและคำอธิบายต่อการระงับการปรับใช้หลักสูตรใหม่ทำให้ตีความได้ว่า ไม่สามารถปรับหลักสูตรได้เพราะบริษัทสำนักพิมพ์ ผู้ผลิตตำราต่างๆ ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน รวมทั้งยังเป็นภาระแก่พ่อแม่ ซึ่งการเป็นภาระพ่อแม่คงไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะว่ารัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีงบประมาณให้ซื้อตำรา จากกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว จึงทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่าความจริงแล้ว การปรับเปลี่ยนหลักสูตรไม่ได้นั้นมาจากการขัดขวางของสำนักพิมพ์หรือกลุ่มผู้มีผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสพอสมควรกับการต้องอยู่กับหลักสูตรที่ล้าสมัย” 

บริหารจัดการ ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำนวนประชากรที่เกิดในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีอัตราการเกิดปีละประมาณ 1 ล้านคน ล่าสุดในปี 2564 มีอัตราการเกิดราว 5.4 แสนคน ส่งผลให้โครงสร้างประชากรนักเรียนลดลง โดยนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลดลงจาก 7.2 ล้านคน ในปี 2556 เหลือเพียง 6.5 ล้านคน ในปี 2565 ทำให้โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ลดขนาดเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นถึง 2,200 โรงเรียน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการจัดการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการบริหารบุคลากร 

“เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการหนักอกหนักใจอยู่ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนบริหารจัดการสูง ขณะที่ครูก็มีไม่ครบชั้น ไม่ครบวิชา ถึงแม้จะมีความพยายามเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่เกินมาโรงเรียนที่ขาดก็พบว่ายังขาดครูอีกประมาณ 22,000 คน 

ธนาคารโลกได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาไว้ว่าถ้ามีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและพัฒนาเครือข่ายระหว่างโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน จะช่วยประหยัดต้นทุนและทรัพยากรได้มาก แม้จะต้องมีเงินอุดหนุนค่าเดินทางของนักเรียนเพิ่มขึ้นก็ตาม 

ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) ยังต้องคงไว้พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ได้จะช่วยให้มีครูครบชั้น ครบวิชา และยกระดับการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้ แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการบริหารบุคลากรครูที่ต้องโยกย้ายอย่างเหมาะสม” 

‘พื้นที่ปลอดภัย’ ป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพนักเรียน

แม้กระทรวงศึกษาธิการได้เคยประกาศห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง แต่ยังปรากฏข่าวการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนอยู่บ่อยครั้ง เช่น ครูกล้อนผมนักเรียน การด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรือในบางกรณีรุนแรงถึงขั้นล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมการกลั่นแกล้งกันเองของนักเรียนในโรงเรียน โดยผลการสำรวจของ PISA 2018 ชี้ว่า มีนักเรียนไทยที่ถูกกลั่นแกล้ง 2-3 ครั้งต่อเดือนมากถึงร้อยละ 27 และมีนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำถึงร้อยละ 13 

“การไปโรงเรียนแล้วต้องอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมแห่ง ‘ความกลัว’ ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจ และทำให้ทักษะการคิดและการเรียนรู้ลดต่ำลง 

ต่อมกลัวจะทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้และใช้ความคิดพื้นฐานได้ ฉะนั้นการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงยิ่งเป็นเรื่องยาก มีผลการสำรวจพบว่านักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งมีคะแนนการอ่านเฉลี่ยน้อยกว่าถึง 27 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มนักเรียนที่ไม่ถูกกลั่นแกล้ง 

ฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปการศึกษาไทยให้เด็กมีทักษะในการคิดขั้นสูง แปลว่าโรงเรียนต้องมีความปลอดภัย ซึ่งการออกคำสั่งหรือประกาศอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรอย่างถูกต้อง และสร้างระบบการร้องเรียนและตรวจสอบที่มีประสิทธิผล”

ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้ ‘กล้าทำสิ่งใหม่’

การปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ หัวใจสำคัญคือการส่งเสริมวัฒนธรรมกล้าทำสิ่งใหม่ และการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในด้านวิชาการและการบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาแม้รัฐบาลได้ประกาศให้มี ‘พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา’ เป็นพื้นที่ทดลองนำร่องให้โรงเรียนและหน่วยงานในพื้นที่มีอิสระในการจัดการการศึกษามากขึ้น แต่พื้นที่และโรงเรียนบางส่วนยังไม่กล้าก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ที่เป็นกำแพงขวางกั้นต่อการปฏิวัติการเรียนรู้

“การเปิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสร้างความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นสัญญาณด้านบวกจากที่ผู้อำนวยการและครูเข้าใจบทบาทและมีความต้องการพัฒนาทักษะของตนมากขึ้น นักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ จนทำให้มีจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้วถึง 19 จังหวัด 

แต่ผลการศึกษาวิจัยของ TDRI และการรับฟังความเห็นโดยกระทรวงศึกษาธิการพบว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยปัญหาวัฒนธรรมและความเคยชิน หลายโรงเรียนไม่กล้าปฏิเสธหน่วยงานภาครัฐที่มอบหมายโครงการต่างๆ ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายการเรียนรู้ทั้งที่มีกฎระเบียบให้ปฏิเสธได้ รวมทั้งไม่กล้าคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาโดยวิธีทาบทาม แม้ว่าจะช่วยให้โรงเรียนมีผู้อำนวยการที่มีคุณลักษณะที่โรงเรียนต้องการได้ 

ฉะนั้นความกล้าในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้พื้นที่จัดการศึกษาที่สอดคล้องตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้เรียนมากขึ้น” 

‘5 ข้อเสนอแนะ’ สู่นโยบายการศึกษาเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย

จากปัญหาในระบบการศึกษาไทยที่กล่าวมา ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) จัดทำ 5 ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งเป็นความหวังให้เด็กรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะและความรู้ที่เหมาะสมต่อการสร้างสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ไขปัญหา รวมทั้งสามารถปรับตัวและอยู่รอดในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายได้อย่างเท่าทัน

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เรื่องแรกคือเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ให้สำเร็จภายใน 3 ปี มีการออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ โดยนำเอาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการพัฒนาก่อนหน้านี้มาปรับใช้ ซึ่งได้มีการทดลองนำร่องใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบางส่วนแล้ว รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรใช้ ‘คูปองครู’ เพื่อสนับสนุนให้ครูมีการพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้น เช่น สามารถออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการประเมินพัฒนาการของเด็กที่เรียกว่า Informative assessment ได้ ซึ่งจะเป็นหัวใจในการยกระดับการเรียนรู้ และช่วยให้ครูนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“เรื่องที่สองคือกำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน และเสริมด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ครูสนใจย้ายไปสอนในโรงเรียนฮับ (Hub School) หรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) รวมทั้งยินยอมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำที่ดินหรือทรัพย์สินของโรงเรียนที่ถูกยุบหรือควบรวมไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนได้”

อีกประเด็นสำคัญคือ การทบทวนและยกเลิกโครงการต่างๆ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนหรือการพัฒนาทักษะเป็น ดร.สมเกียรติ บอกว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่สามที่พรรคการเมืองหรือว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนใหม่จะสามารถเดินหน้าส่งสัญญาณไฟเขียวให้โรงเรียนดำเนินการได้ทันที 

ส่วนเรื่องที่สี่คือ การประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาในทันทีที่รับตำแหน่ง รณรงค์ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็ก รวมทั้งเด็กนักเรียนต้องทราบแนวทางปกป้องตนเองหากมีการละเมิด นอกจากนี้ควรมีการสร้างมาตรการเสริม เช่น การสร้างสถานศึกษาที่มีความปลอดภัย โดยมีกลไกในการร้องเรียนต่างๆ กลไกการตรวจสอบเหตุ หรือกำหนดให้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินภายนอกของสถานศึกษา

 “เรื่องที่ห้าคือการสร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงานที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ซึ่งคงจะเป็นภาพที่สวยงามมากหากว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการท่านใหม่จะลงตรวจเยี่ยมโรงเรียนโดยไม่ใช้วิธีสั่งการจากเบื้องบน แต่เป็นการเข้าไปรับฟังสภาพปัญหา เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยเสริมแรงครูให้กล้าทำสิ่งใหม่มากขึ้น ขณะเดียวก็ต้องส่งเสริมให้ครูรู้จักเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ไม่มุ่งแต่จะลงโทษกันหากไม่ใช่กรณีรุนแรง ถ้าทำเป็นตัวอย่างเช่นนี้ได้ การปฏิรูปการศึกษาไทยคงจะเกิดขึ้นได้แน่นอน” ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย

[หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงจากเอกสาร TEP White Paper และการนำเสนอ TEP White Paper: ความท้าทายในการปฏิรูปการศึกษาและข้อเสนอต่อพรรคการเมือง โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในเวทีสัมมนา ‘ชวนพรรคร่วมคิด ฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หนุนเด็กไทยก้าวทันโลก’ วันที่ 5 มีนาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ]

Tags:

ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาระบบการศึกษาสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์การศึกษาไทยสังคมปัญหาสังคมปฏิรูปการศึกษา

Author:

illustrator

The Potential

กองบรรณาธิการ The Potential

Related Posts

  • ‘ผลสอบ PISA’ กับความจริงที่ว่า ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ ความสามารถเด็กไทยลดลง

    เรื่อง The Potential

  • Social Issues
    ถึงเวลาการศึกษาไทยต้องอัพเดทแพทช์! ความหวังหลังเลือกตั้งของ ‘อร-พัศชนันท์ เจียจิรโชติ’

    เรื่อง ปริสุทธิ์ ภาพ ปริสุทธิ์

  • Book
    การศึกษาของกระป๋องมีฝัน และที่ทางให้ตัวเองได้เบ่งบาน

    เรื่อง พิมพ์พาพ์

  • Social Issues
    การศึกษาที่เท่าเทียมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สร้างการเรียนรู้ที่แท้จริง

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Education trend
    สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์: ความรู้อายุสั้น คนอายุยาว ภาพใหม่การศึกษายุค DISRUPTION

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดี

Posts navigation

Newer posts

Recent Posts

  • ‘นิทานปากเปล่า’ เล่าความรักให้ลูกฟัง สร้างจินตนาการ สานสัมพันธ์ในครอบครัว: แม่จาว – วัชราวรรณ เพชรบุล
  • ปลุกพลังซ่อนเร้นในมนุษย์ EP4: การซึมซับและปรับตัว 
  • เปลี่ยนระบบนิเวศโรงเรียนเป็นสนามพลังบวก ยกระดับเด็กด้อยโอกาสสู่เด็กได้โอกาส: ผอ.วรรณรักษ์ หงษ์ทอง
  • F1 The Movie: ชัยชนะที่ดีที่สุดคือการปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากการเป็นที่หนึ่ง
  • Myth Universe : จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์สู่ Edutainment ความรู้นอกห้องเรียนที่เริ่มต้นจากคำถามและการเชื่อมโยงสู่ชีวิตจริง

Recent Comments

  • Existential crisis: วิกฤตชีวิตที่มาพร้อมกับคำถาม “แล้วฉันอยู่เพื่ออะไร” – EducationNet on Midlife Crisis: เมื่อเป็นผู้ใหญ่ ทำไมใจถึงวิกฤต
  • The Psychological Wounds of Winnie the Pooh and His Friends: Exploring Characters from a Classic Literary Work - World Today News on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • Exploring the Psychological Wounds of Winnie the Pooh and Friends: A Fascinating Analysis - Archyde on วินนีเดอะพูห์ : ด้วยหัวใจอันแหว่งวิ่น และความลับในป่าลึก
  • 6 วิธีฝึกสอนให้ลูกเป็นเด็กมี Critical Thinking ทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งในอนาคต – โรงเรียนมารีวิทยา ป on CRITICAL THINKING: สอนเด็กให้รู้คิด ผิดหรือถูกก็ใช้วิจารณญาณเป็น
  • Best รูป พลเมือง ดี Update New – Haiduongcompany.com on สอนและสร้างพลเมืองประชาธิปไตย เรื่องไม่ง่ายที่ครูทำได้

Archives

  • July 2025
  • June 2025
  • May 2025
  • April 2025
  • March 2025
  • February 2025
  • January 2025
  • December 2024
  • November 2024
  • October 2024
  • September 2024
  • August 2024
  • July 2024
  • June 2024
  • May 2024
  • April 2024
  • March 2024
  • February 2024
  • January 2024
  • December 2023
  • November 2023
  • October 2023
  • September 2023
  • August 2023
  • July 2023
  • June 2023
  • May 2023
  • April 2023
  • March 2023
  • February 2023
  • January 2023
  • December 2022
  • November 2022
  • October 2022
  • September 2022
  • August 2022
  • July 2022
  • June 2022
  • May 2022
  • April 2022
  • March 2022
  • February 2022
  • January 2022
  • December 2021
  • November 2021
  • October 2021
  • September 2021
  • August 2021
  • July 2021
  • June 2021
  • May 2021
  • April 2021
  • March 2021
  • February 2021
  • January 2021
  • December 2020
  • November 2020
  • October 2020
  • September 2020
  • August 2020
  • July 2020
  • June 2020
  • May 2020
  • April 2020
  • March 2020
  • February 2020
  • January 2020
  • December 2019
  • November 2019
  • October 2019
  • September 2019
  • August 2019
  • July 2019
  • June 2019
  • May 2019
  • April 2019
  • March 2019
  • February 2019
  • January 2019
  • December 2018
  • November 2018
  • October 2018
  • September 2018
  • August 2018
  • July 2018
  • June 2018
  • May 2018
  • April 2018
  • March 2018
  • February 2018
  • January 2018
  • December 2017
  • November 2017

Categories

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Uncategorized
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel