- ครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน ‘ครู’ และ ‘ผู้ก่อตั้ง’ โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน โรงเรียนทางเลือกที่ผสานศิลปศาสตร์เข้ากับวิชาการ และสร้างประสบการณ์ให้กับนักเรียนผ่านการลงมือทำจริง พร้อมกับแนวคิดว่า ‘เด็กทุกคนล้วนเก่งในทางของตัวเอง’
- วิสัยทัศน์ของครูเล็ก สะท้อนออกมาผ่านการเรียนการสอนของโรงเรียน ที่บ่มเพาะเด็กและเยาวชน โดยมี ‘ศิลปศาสตร์’ และ ‘ศีลธรรม’ เป็นแกนหลัก สอนให้นักเรียนให้ ‘มีอิสรภาพทางความคิด’ ขณะเดียวกันก็เคารพกติกาของสังคมอย่างเหมาะสม
- ครูเล็กมองว่าตัวเองเป็น ‘เรือยอร์ช’ ที่ส่งเด็กขึ้นฝั่ง แต่หากเป็นเรือพายก็จะชวนเด็กๆ ช่วยกันพาย เพราะการที่เด็กจะขึ้นฝั่งได้ไม่ใช่แค่ครูเท่านั้น แต่ต้องขึ้นกับนักเรียนเอง ต้องมีความเมตตาต่อกันและต้องตั้งอกตั้งใจพายไปถึงฝั่งด้วยกัน
หลายคนอาจคุ้นชินบทบาทของ ครูเล็ก – ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงประจำปี 2557 ในฐานะของนักแสดง ผู้กำกับ นางแบบ และครูสอนการแสดง แต่อีกหนึ่งบทบาทที่ครูเล็กได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ คือการเป็น ‘ครู’ วิชาภาษาอังกฤษ วรรณคดี และกิจกรรม และผู้ก่อตั้ง โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน โรงเรียนทางเลือกที่ผสานศิลปศาสตร์เข้ากับวิชาการ เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษา
ด้วยแนวความคิดของครูเล็ก ที่มองว่า ‘เด็กทุกคนล้วนเก่งในทางของตัวเอง’ และการจะทำให้เด็กเหล่านั้นรู้ตัวเองเก่งอะไรนั้น ก็ต้องให้เด็กได้ลองลงมือทำเองดูก่อน ต้องช่วยมอบประสบการณ์และผลักดันไปยังเส้นทางที่เขาอยากเป็น
“เราสอนเด็กให้เป็นอะไรก็ได้ในชีวิตที่เขาอยากเป็น ให้เขามีศิลปศาสตร์ในการสร้างสรรค์ หรือมองโลกสวยงามในทุกๆ อย่างที่เขาจะทำในอนาคต”
วิสัยทัศน์ของครูเล็กจึงสะท้อนออกมาผ่านการเรียนการสอนของ โรงเรียนภัทราวดี หัวหิน ที่บ่มเพาะเด็กและเยาวชน โดยมี ‘ศิลปศาสตร์’ และ ‘ศีลธรรม’ เป็นแกนหลัก สอนให้นักเรียนให้ ‘มีอิสรภาพทางความคิด’ ขณะเดียวกันก็เคารพกติกาของสังคมอย่างเหมาะสม
ก่อนการพูดคุยถึงมุมมองความเป็นครูในแบบฉบับของตัวเอง ครูเล็ก ในวัย 74 ปี พา The Potential ชมพื้นที่กว่าร้อยไร่ของโรงเรียนด้วยความกระฉับกระเฉงแข็งแรงและสดใส ซึ่งที่แห่งนี้ก็เต็มไปด้วยพื้นที่เพื่อการเรียนรู้สำหรับนักเรียน เช่น อาคารสันทนาการ ลานกิจกรรมกลางแจ้ง โรงละคร ลานสเก็ตบอร์ด สนามกีฬา แปลงปลูกผัก คอกสัตว์ต่างๆ เป็นต้น
ด้วยพื้นที่การเรียนรู้อันกว้างขวางท่ามกลางธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์ของโรงเรียนทำให้ที่นี่เอื้อต่อการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการลงมือทำ ไม่ว่าจะเป็นการวาดรูป กีฬา ดนตรี งานฝีมือ การเกษตร และการแสดงละคร เพื่อให้นักเรียนได้ค้นหาสิ่งที่ชอบ และพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่
ที่สำคัญ ครูเล็กบอกว่าแม้จะสอนให้นักเรียนมีอิสระทางความคิด แต่การเคารพกติกาของสังคมก็เป็นสิ่งที่สำคัญมากเช่นเดียวกัน ซึ่งในฐานะที่โรงเรียนภัทราวดีเป็นสถานที่ที่บ่มเพาะนักเรียน วิธีการหลักจึงเป็นการสอนนักเรียนให้เข้าใจด้วยเหตุและผล ไม่ใช่การสั่งหรือบังคับ
โรงเรียนภัทราวดีมีที่มาอย่างไร?
จริงๆ ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจจะทำโรงเรียนเลยนะคะ เพราะว่าไม่มีความรู้ตรงนี้ แล้วก็ไม่กล้าทำด้วย แถมขั้นตอนค่อนข้างยุ่งยาก เลยคิดว่าน่าจะไม่สำเร็จ แต่วันหนึ่งมีคนจะขอเช่าที่ของที่นี่เพื่อทำโรงลิเก เราก็พาเขามาดูสถานที่ แต่พอจอดรถเดินลงมาก็รู้สึกว่า อุ๊ย ที่นี่ลมเย็นสบายจัง แดดก็ร้อนจัดนะ แต่ลมเย็น เลยมีความรู้สึกอยากอยู่และอยากมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่นี่
เราว่าจะทำที่นี่เป็นโรงเรียนให้แม่และเพื่อถวายงานพระเจ้าอยู่หัวด้วย เพราะเราเองเคยไปถวายงานที่ดอยตุง ทำให้ก็ได้รับความรู้จากที่ดอยตุงว่า ศิลปะการแสดงสามารถสอนคนในเรื่องวิชาการได้
ตอนไปถวายงานก็ไปสอนเลข สอนภาษาอังกฤษ โดยใช้เทคนิคของศิลปะการแสดง ซึ่งหลังจากฝึกที่ดอยตุงอยู่ 3 ปี เลยคิดว่าน่าจะลองมาทำโรงเรียนเป็นเรื่องเป็นราวและพิสูจน์ให้เห็นว่า ศิลปะการแสดงมันใช้ได้จริงๆ กับการศึกษา แต่ไม่ใช่ว่าเราสอนเด็กให้เต้นกินรำกินนะคะ
เราสอนเด็กให้เป็นอะไรก็ได้ในชีวิตที่เขาอยากเป็น และเขาจะมีศิลปศาสตร์ในการสร้างสรรค์ หรือมองโลกสวยงามในทุกๆ อย่างที่เขาจะทำในอนาคต
ปีแรกก็มีนักเรียนมาสมัคร 35 คน เราก็รู้สึกดีใจมากที่มีนักเรียนเข้ามาสมัครกันพอสมควร แล้วพอเริ่มสอนเราก็รู้สึกว่านักเรียนน้อยๆ ก็ดีเหมือนกันนะ เราไม่อยากได้เยอะมากกว่านี้ เพราะเราจะได้ปั้นเขาในทิศทางที่เขาอยากจะเป็น โดยใช้ศิลปศาสตร์เป็นตัวเชื่อม
ทำไมครูเล็กถึงมองว่าการทำกิจกรรมเป็นสิ่งสำคัญสำหรับนักเรียน?
เมื่อตอนที่เราเด็กๆ เราเป็นนักเรียนที่เรียนปานกลาง ไม่ได้ดีเท่าไหร่นัก แล้วก็ไม่ได้ชอบเรียน แต่ชอบทำกิจกรรม ซึ่งก็มีเพื่อนๆ หลายคนที่เขาทำกิจกรรมและเรียนดีเหมือนกัน พอเราเจอเขาตอนแก่ ก็พบว่าเขาเป็นคนที่เก่งและขยันขันแข็งเพราะเขาเคยเป็นเด็กกิจกรรมมาก่อน เลยมีมาคิดว่าถ้าประเทศเรามีเด็กที่เติบโตมาแบบเด็กกิจกรรมก็น่าจะดี เพราะเขาจะได้โตไปเป็นผู้อาวุโสที่รวบรวมความรู้มาเยอะแยะ สามารถทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้จนตาย
แนวทางการเรียนการสอนในโรงเรียนภัทราวดี?
เราคุยกับคุณครูทุกท่านว่า ‘เรียนแบบเก่าไม่เอาแล้วนะ’ เพราะจริงๆ หลักสูตรของประเทศไทยก็ดีนะ แล้วก็ไม่ได้ยากอะไร สมควรให้เด็กได้เรียนและรับทราบ แต่ถ้าเรามีความรู้เพิ่มเติมอะไรหรือทำอะไรเพิ่มเติมเราก็ต้องให้เขา เพราะมันเป็นหน้าที่ของเรา เป็นเวลาของเรา ไม่ต้องให้ใครมาบังคับ แล้วถ้าอยากได้อุปกรณ์อะไรหรืออยากสอนยังไงก็ลองดู ถ้าไม่เวิร์กก็ปรับปรุงแก้ไข ถ้าดีเราก็ฝึกทำตามกันไป
ดังนั้นทุกปีก็จะมีการปรับปรุงแก้ไข เพราะยุคสมัยพัฒนาไปเร็วมาก เราจะมายึดติดกับความสำเร็จในอดีต แม้กระทั่งปีที่แล้วก็ไม่ได้ เราต้องก้าวตามโลกให้ทัน ซึ่งการก้าวตามโลกให้ทันเนี่ย เพราะเด็กเขาไปตามโลกสมัยใหม่ ถ้าเราตามทัน เราก็จะตามเด็กๆ ทัน และจริงๆ เราก็ควรจะก้าวนำเขาไปอีก เพราะเราต้องเป็นผู้แนะแนวให้เขา
แล้วการนั่งสอนเปิดหนังสือแล้วพูดมากๆ ก็ไม่เอานะ ครูควรแบ่งเวลาให้เด็กใช้เวลา 1-2 ชั่วโมง ให้มี activities ทั้งอ่าน เขียน เรียนรู้ ได้พูดได้ออกความคิดเห็น จะถูกจะผิดยังไงก็ต้องฟังเขา แล้วค่อยๆ ตะล่อมความคิดให้อยู่ในสังคมอันดีงาม
ไม่เลือกปฏิบัติว่าคนนี้เก่ง คนนี้ไม่เก่ง คือทุกคนเก่งหมด แต่เราต้องหาว่าเขาเก่งเรื่องอะไร แล้วก็ผลักดันเขาไปตามทางที่เขาเก่ง อย่าไปบังคับ ใครไม่ชอบเรียนอะไรก็ไม่ไปบังคับกดดันว่าเธอต้องเก่งต้องดีเหมือนคนนี้ๆ นะ เพราะขนาดหน้าตาคนเรายังไม่เหมือนกันเลย
แต่ถ้าใครเรียนอ่อนจริงๆ ก็ให้แยกกลุ่มออกไปให้คุณครูช่วยติวเพิ่ม หรือแยกเรียนโดยปรับให้ง่ายลงหน่อย อย่าให้เขาเครียดหนัก ส่วนใครที่เก่งก็แยกให้เขาโลดไปเลย โดยให้ครู ให้เพื่อนฝูงจากกรุงเทพฯ ที่เก่งๆ มาช่วยติวช่วยผลักดัน ถ้าเขามาสอนได้ที่นี่ก็มา ถ้ามาไม่ได้ก็เป็นทางออนไลน์ เด็กเขาจะได้เจอครูดีๆ เจอผู้เชี่ยวชาญจริงๆ มืออาชีพจริงๆ ที่เขาจะพาเด็กเหล่านี้ไปสู่การเป็น Master ในอนาคต
อย่างเด็ก ม.6 โรงเรียนเราเนี่ยเขาจะไปมหาวิทยาลัยไหนก็สอบได้ทุกคนนะ แม้แต่มหาวิทยาลัยยากๆ ของโลกก็สอบได้ เพราะเราจะผลักดันเขา ให้ข้อมูล ติว ให้ประสบการณ์ เพื่อที่เขาจะได้มี portfolio ที่ใครๆ ก็จะอยากได้เขา ซึ่งเวลามีคนถามว่า แล้วเขาเก่งได้ไง เอ้า ก็เขาอยากเรียนไง เขาไม่ได้ถูกบังคับให้เรียน เขาอยากเรียน เขาสนุกที่จะเรียน คนเราเวลาอยากทำอะไร เขาก็ลุยเองแหละ
การเป็นครูในโรงเรียนภัทราวดี?
ครูที่นี่ต้องมีความทุ่มเทสูงมาก เพราะสอนตั้งแต่เช้าจนค่ำ บางท่านก็ดูเด็กจนกระทั่งหลับ ผลัดเวรกันจนปิดไฟ 4 ทุ่ม ที่นี่เราต้องบอกตั้งแต่ต้นว่าความทุ่มเทต้องมี เด็กเราเจริญ เราก็เจริญด้วย เพราะสติปัญญาเราจะก้าวหน้าไปด้วย และฝีมือต้องดี ความรู้ต้องเยอะ มีทัศนคติที่ดี คิดบวกเป็น เป็นน้ำไม่เต็มแก้ว สามารถสอนได้ ตำหนิได้ เพิ่มเติมอะไรให้ได้ มีความเป็นครู ทำอะไรให้เด็กเต็มที่ และไม่ได้เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย เพราะส่วนมากก็จะพักอยู่ที่นี่กัน
แต่ครูตามใจหมดนะ ใครอยากได้อุปกรณ์อะไรยังไง ครูตามใจหมด ไม่ขี้เหนียว เพราะเงินทั้งหมดที่ได้ก็เพื่อการศึกษาของเด็ก ถ้ามีเหลือก็ให้มูลนิธิละครธรรมะในพระสังฆราชูปถัมภ์ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่แล้ว ท่านสนับสนุนให้เราตั้งมูลนิธินี้เพราะท่านเห็นว่าเราทำงานศิลปะ และมีปรัชญาพุทธอยู่ในนั้นแฝงอยู่เรื่อยๆ ท่านก็สนับสนุนว่าเราควรจะสร้างเด็กผ่าน ‘ศิลปศาสตร์และศีลธรรม’ นะ ซึ่งปรัชญาของพระพุทธเจ้าหรือปรัชญาของหลายๆ ศาสนาก็ถูกนำมาใช้ที่นี่
พอทำมาทุกปี มีความรู้เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี เราก็จะเอามาประชุมกัน ปิดเทอมเราก็มาคุยกันเพื่อฝึกสัมมนา เรียนรู้อะไรใหม่ๆ เตรียมตัวเพื่อรับมือกับเด็กปีต่อๆ ไป พัฒนามาเรื่อยๆ
เพราะสิ่งที่เราทำให้เด็กๆ คนที่ได้เต็มๆ เลยคือเราเอง เราได้สติปัญญาเยอะมาก และอยู่ในโลกนี้ได้อย่างไม่เบื่อหน่าย มีความสุขที่จะได้ตื่นมาทุกวัน ได้ทำงาน ถ้าชีวิตจะจบเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละ แต่ระหว่างที่ยังอยู่เราก็ไม่รอความตาย เพราะเราทำประโยชน์อะไรได้เยอะแยะเลย
ครูเล็กสอนวิชาอะไรบ้าง?
สอนภาษาอังกฤษ แกรมมาร์ค่ะ เพราะชำนาญตรงนี้ แล้วก็สอนวรรณคดีไทย และกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมในที่นี้ก็คือในคลาสต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ สังคม เลข หรือแม้กระทั่งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ก็จะไปดูว่าเขาสอนอะไร แล้วก็เอาสิ่งที่เขาเรียนมาทำละครบ้าง มาทำเป็น Product บ้าง เช่น ไข่เค็ม สบู่ และเป็นสินค้าที่ขายได้
จริงๆ แล้วก็ทำขายมา 4-5 ปีแล้ว มันเกิดมาจากคลาสวิชาวิทยาศาสตร์ ที่สอนเรื่องการออสโมซิส แล้วเราก็บอกว่าทำไข่เค็มเสร็จจะจบแค่นี้ได้ไง เราต้องทำชะลอม ทำป้าย ทำนู่นนี่ ใครชำนาญอะไรก็มาทำร่วมๆ กัน แล้วก็ทำออกขาย ครูบาอาจารย์ เด็กๆ เพื่อนๆ เรา ใครไปใครมาที่ชิมแล้วอร่อยก็ช่วยกันซื้อ เด็กๆ ก็ทำไข่เค็มเป็นกันทุกคน เพราะอะไรที่เราเรียนมาเราก็ควรจะต่อยอด
ครูเล็กนำศิลปศาสตร์มาเชื่อมกับวิชาการอย่างไร?
คืออย่างเราเรียนวรรณคดีเนี่ย จากที่เรานั่งอ่านเฉยๆ พอเปิดเทอมเราก็จะเอาชื่อวรรณคดีมาเรียง มาวางให้นักเรียนดูว่า เอ้า อยากทำเรื่องอะไร ถ้าเธอยังไม่รู้ว่าเกี่ยวกับอะไร ก็ดูจากชื่อก็ได้ว่าวรรณคดีเรื่องไหนที่เธอสนใจ บอกมาแล้วเดี๋ยวเราจะมาทำละครกัน ซึ่งเราก็ทำไปหลายเรื่อง ปีละเรื่อง
เด็กๆ ก็ได้เล่นกับมืออาชีพที่เป็นลูกศิษย์เก่า เช่น คุณอ้น-ศราวุธ พี่ตั๊ก-นภัสกร เก่ง-ธชย ให้มือดีๆ ที่เราชื่นชมมาทำงานกับเด็กๆ ครูเองก็เล่น เพื่อที่จะให้เด็กๆ ได้เห็นหลังบ้าน ให้มือดีๆ เขาเป็นตัวอย่างให้น้องๆ เห็นว่าเป็นมืออาชีพกันจริงๆ เขาทำกันยังไง
ซึ่งทั้งโรงเรียน ถ้าไม่เล่นละครก็เล่นดนตรีหรือทำฉาก ทำ Back stage ทำไฟ แสงสีเสียง ประกบกับครูที่เป็นมืออาชีพ ซึ่งเด็กๆ ก็เติบโตไปเป็นช่างเสียงช่างแสงกันเยอะมาก หรือว่าเติบโตไปเป็นนักเขียน ผู้บริหาร ก็ได้เรียนๆ จากพี่ๆ และครูที่มาทำงานร่วมกับเราเหล่านี้ล่ะ
การที่เด็กๆ จะเติบโตเนี่ย ต้องให้เขาทำงานกับของจริง มืออาชีพจริงๆ และที่สำคัญก็คือ ทั้งโรงเรียนต้องทำ แม้จะเป็นตัวเล็กตัวน้อยก็ต้องมานั่งวิเคราะห์บท คุยกันฟังเขาซ้อม ก็คือทั้งโรงเรียนเลยต้องอยู่ด้วยกันทุกวันจันทร์บ่าย เพราะฉะนั้น แม้ไม่อยากเล่นเขาก็จะรู้บท รู้กลอนต่างๆ ร้องเพลงได้จากวรรณคดีเหล่านั้น รู้จักบทกลอนสำคัญๆ ของวรรณคดีไทย มันซึมเข้าไปเอง เพราะเราซ้อมกันเล่นกันทุกวันจันทร์ ทั้งปี มันยิ่งกว่าการเรียนหนังสืออีก ถ้าให้เขามาอ่านมาท่อง มันก็น่าเบื่อ
ทุกปีก็ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ เด็กๆ ก็ได้รับรู้ทั้งบทกลอนวรรณคดี การตีความ ซึ่งเราก็ตีความไม่ค่อยเหมือนใคร เราไม่ได้ตีความว่าเรื่องเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่เราตีความว่า เรื่องแบบนี้ในปัจจุบันก็มีนะ เช่น เหตุการณ์นี้ๆ สิ่งเหล่านี้มันไม่ได้หมดสมัยนะ เพราะมันสอนเราให้ตระหนักรู้
หรือเรื่องรามายณะ มีทั้งเล่นแบบสมัยใหม่ ให้เด็กเห็นฝีมือดีๆ ที่เขารำกัน แล้วก็ใครอยากเล่นก็มาฝึกโขนฝึกอะไรไป แต่เราก็เล่นเป็นละครสมัยใหม่ที่มีลีลาของไทยเข้าไป และให้เด็กช่วยกันแปลบท เล่นเป็นภาษาอังกฤษทั้งเรื่อง นี่ก็เป็นการสอนภาษาอังกฤษ
ส่วนเราก็ช่วยเช็กแกรมมาร์นู่นนี่ ได้ทำงานกับเด็ก
เพราะฉะนั้นจะสอนอะไรใครเราต้องทำงานกับเขา สั่งเขาทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำด้วยกัน เพื่อที่เราก็จะมีเวลาขัดเกลา บ่มเพาะเขา ให้คำแนะนำว่าทำไมอันนี้ได้ อันนี้ไม่ได้
ปีนี้เราก็ทำเรื่องเสน่ห์รอยรั่ว เป็นออนไลน์ เพราะสถานการณ์โควิดก็เลยยังล็อกดาวน์กันอยู่ แต่เด็กนักเรียนเขาก็อยู่ที่นี่ เราก็เลยบอกเขาว่า งั้นเรามาทำละครทีวีกันดีกว่า แต่ว่าเราไม่ได้ออกทีวีนะ เราจะเป็นแบบออนไลน์ ทุกคนจะได้ดูได้ และเราก็มีอิสระที่จะเอาใครมาเล่นก็ได้ มาทำอะไรก็ได้ ซึ่งผลตอบรับก็ค่อนข้างดี เป็นละครสั้นๆ 15 นาที แล้วเราก็จะมาคุยประเด็นในละครกัน เด็กก็จะได้เรียนรู้วิธีทำแบบออนไลน์ วิธีการทำมาร์เก็ตติ้งต่างๆ ด้วย
เพราะเด็กโรงเรียนเราอยู่ห่างไกลจากคุณพ่อคุณแม่ แล้วเรามีหน้าที่ต้องทำอะไรกับเขาล่ะ แล้วตรงนั้นมันจะทำให้เรารู้จักเขา เขารู้จักเรา เขาก็จะซึมซับวิธีการของครู ของรุ่นพี่ ของมาสเตอร์คนนั้นคนนี้ที่มาทำงานกับเรา ทำให้เด็กได้รับรู้เยอะมาก โตไปได้ไวมาก
ศิลปศาสตร์คือการได้ลงมือปฏิบัติจริง ถึงได้บอกว่าการเรียนแค่ภาคทฤษฎี นั่งโต๊ะเอาแต่เรียนๆ แต่ไม่ได้นำมาปฏิบัติเนี่ย เด็กจะไม่ฉลาดจริง เพราะไม่เคยทำ เขาเรียกว่า ‘ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด’
แต่เราเนี่ย ความรู้ไม่ต้องท่วมหัวก็ได้ แต่ต้องเอาตัวรอด ต้องทำได้ แล้วทำให้เขาอยากรู้เพิ่ม เขาก็จะไปไขว่คว้าหาความรู้เพิ่มด้วยความอยากรู้ของเขาเอง ไม่ได้ถูกบังคับ
ครูเล็กมองว่า ‘ศิลปะ’ ซึ่งต้องมีอิสรภาพทางความคิดเป็นพื้นฐาน กับ ‘กฎกติกา’ สามารถไปด้วยกันได้ไหม?
จริงๆ แล้วกฎระเบียบและกฎกติกาก็มีทุกที่นะคะ ซึ่งที่นี่ก็มีเยอะนะ เผลอๆ เยอะกว่าที่อื่นอีก แต่เด็กๆ ไม่ค่อยรู้สึก เพราะว่าเราไม่ได้บังคับ ถ้าบังคับ เขาก็จะต่อต้าน แต่ถ้าเป็นกฎกติกาที่ทำให้เขาเข้าใจว่ามีเพื่ออะไร ว่ามีเพื่อเขาและส่วนรวม ถ้าเขาเข้าใจ เขาก็จะทำใจและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่การที่จะอยู่ร่วมกับคนที่อยู่ต่างความคิดได้อย่างปรองดอง
อันนี้ศิลปศาสตร์สามารถสอนได้ เพราะกติกาในศิลปศาสตร์เขามีไว้ให้สิ่งเหล่านี้ เขามีกติกาเยอะมากนะ แต่เขาสอนให้สร้างสรรค์ เพื่อที่จะได้อยู่กับกติกาเหล่านี้อย่างมีความสุข
เรื่องกฎระเบียบในโรงเรียนที่สังคมตั้งคำถามกัน เช่น การเข้าแถวเคารพธงชาติ ทรงผม หรือยูนิฟอร์ม ครูเล็กมีความเห็นอย่างไร?
ที่นี่เราจะให้เด็กยืนเคารพธงชาติที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องเข้าแถวแบบที่อื่น เพราะอิสรภาพทางความคิดต้องมี ยืนตรงไหนก็ได้ที่ร่มเย็น สบาย มองเห็นซึ่งกันและกัน ได้ยินเสียงซึ่งกันและกัน และตาก็มองเห็นธงชาติ อันนี้ก็คืออิสรภาพที่มีขอบเขต สิ่งนี้คือ Motto ของโรงเรียน
เด็กๆ ก็ทำได้ดี รุ่นพี่ก็แนะนำรุ่นน้องไป เป็นการแนะนำ ไม่ใช่การสั่ง แนะนำน้องๆ ที่มาใหม่ว่าให้ยืนตรงไหนก็ได้ ยังไงก็ได้ ที่อยู่ในกติกาของโรงเรียน เพื่อที่พี่ๆ จะได้ฝึกการเป็นผู้นำและเป็นผู้นำที่มีกติกา แต่ไม่ได้สั่งหรือบังคับ เป็นการเปิดอิสรภาพให้กับน้องๆ
ส่วนเรื่องผมเนี่ย เราไม่ได้สนใจนะว่าเขาจะทำทรงผมอะไร แต่จะบอกเขาว่าการย้อมผมจะทำให้ผมเสียนะ เพราะฉะนั้น ถ้าหนูจะสนุกกับมันทีนึงตอนปิดเทอมก็ไม่ว่าอะไร แต่ถ้าหนูอยู่ในยูนิฟอร์ม แล้วผมหนูสีแดงเนี่ย มันจะดูไม่ถูกกาลเทศะ เขาเรียกว่ารสนิยมทางศิลปะมันไม่ได้ การที่ทำอะไร in good taste ถูกต้องตามกาลเทศะเนี่ยเรื่องใหญ่ มันเป็นเรื่องของศิลปะ
พูดเท่านั้นเขาก็เข้าใจ ซึ่งเขาจะทำทรงผมอะไรก็ได้ แต่ถ้ามันยาวก็รวบให้เรียบร้อย เพราะที่นี่อากาศร้อน ถ้ามาปรกหน้าก็จะทำให้สิวขึ้นและคัน หรือบางทีเวลาเล่น ปลายผมเข้าไปโดนตาเพื่อนๆ หรือตาตัวเอง ก็ทำให้เจ็บ เพราะฉะนั้นเราก็ควรรวบให้เรียบร้อยในช่วงที่เราอยู่โรงเรียน หรือเล่นกีฬา เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและเพื่อนๆ
เห็นไหมว่าทุกอย่างมันมีเหตุมีผลที่ดี พอเขาเข้าใจตรงนี้เขาก็จะร่วมมือ แม้กระทั่งคุณครูเองก็จะบอกว่า ทำผมแต่งตัว ลูกไม้ ระบายสิบชั้น ผ้าไหมไทยไม่ต้องเลยนะ เพราะที่นี่ร้อน มีแต่กรวดแต่ทราย เราอยู่กับต้นไม้และธรรมชาติ เราก็ต้องแต่งตัวให้เป็นธรรมชาติ คุณมาใส่ส้นสูงมาใส่ไหมไทยเนี่ย มันไม่จำเป็น เราเก็บไหมไทยไว้ใส่ในงานที่จำเป็นดีกว่า เพราะฉะนั้นครูก็ควรที่จะแต่งตัวให้ถูกกาลเทศะเหมือนกัน
ส่วนยูนิฟอร์ม เราเป็นคนดีไซน์ให้เด็กๆ แบบไม่เหมือนใคร เป็นกางเกงทรงกะลาสีที่หลวมสบาย เพราะที่นี่มันร้อน ถ้าเป็นกางเกงฟิตๆ มันก็จะไม่เหมาะกับสภาพอากาศ เป็นกางเกงครึ่งน่องที่ใส่ทั้งหญิงและชาย ส่วนเสื้อก็เป็นเสื้อยืด เขาจะได้เล่นนู่นนี่กันได้สะดวก
ที่นี่ยูนิฟอร์มต้องมี เพราะเราก็เป็นสังคมหนึ่ง เวลาที่เราไปไหน ก็ควรจะบ่งบอกว่าเราเป็นใคร มาจากไหน บางทีหนูแตกแถวไปไหน หาไม่เจอขึ้นมาก็จะได้หาได้ง่ายขึ้น เพราะเรามีตั้งแต่เนอสเซอรี่ อนุบาล ไปจนถึง ม.6 ซึ่งแต่ละกลุ่มยูนิฟอร์มก็จะไม่เหมือนกัน เราจะได้รู้ว่าใครเป็นใครอายุเท่าไหร่
แต่ว่ายูนิฟอร์มเราก็ให้นักเรียนช่วยกันออกแบบ เช่น แจ็กเก็ตเวลาหน้าหนาว เสื้อฝนหรือเสื้อยืด บางทีเด็กๆ ออกแบบมาให้ เราก็โอเค ให้เขาใส่กัน เขาก็สนุก เพราะฉะนั้นยูนิฟอร์มจึงกลายเป็นเรื่องสนุก ไม่ใช่เรื่องบังคับ หรือเรื่องน่าเบื่อ
ทุกอย่างสนุกได้หมด เพราะนี่คือศิลปะ เพราะฉะนั้นการที่เราให้โอกาสเขาได้ออกแบบยูนิฟอร์มทำให้เขาสนุกและอยากใส่ เป็นอุบายง่ายๆ ไม่เห็นจะต้องบังคับ เราเองยังไม่ชอบเวลามีใครมาบังคับเราเลย ทำไมไม่คิดอะไรให้เขาสนุก แล้วเขาก็ได้เติบโตทางด้านสติปัญญาความรู้ด้วย
วิธีการสอนแบบนี้หรือเปล่าที่ทำให้ครูเล็กบอกว่า ‘เด็กที่นี่พิเศษกว่าที่อื่น’ ?
ก็อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่เราให้เด็ก ‘มีอิสรภาพในการคิด’ กติกามี แต่ให้คิดว่าจะทำยังไง เพราะกติกานี้มีเพื่อที่จะทำให้สังคมเป็นไปอย่างราบรื่น เธอก็ต้องคิดเองว่า ถึงแม้ไม่ชอบแต่เราจะอยู่กับมันได้อย่างไร เหมือนเราอยู่ในสังคม กฎหมายหลายๆ อย่างเราก็ไม่ชอบ แต่เราจะอยู่ตรงนี้ได้ยังไงโดยที่เราไม่เสียจุดยืน
เพราะฉะนั้นเธอไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ทุกที่มีกฎกติกา เธอก็ไปอยู่ตรงนั้นได้โดยที่ไม่เสียจุดยืน ซึ่งการไม่เสียจุดยืน หมายถึงเธอจะไม่เสียอิสรภาพในการคิด แค่ให้เคารพกติกาที่สังคมมีให้
ภาพวาดบนกำแพงโรงเรียนถือเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเด็กๆ ด้วย?
ใช่ค่ะ เด็กๆ สามารถวาดภาพบนกำแพงทุกกำแพงอย่างอิสระได้เลยในโรงเรียน เขาบอกครูได้เลยว่า โอเค อยากวาดกำแพงนี้ เดี๋ยวเราจะหาสี หาครูผู้เชี่ยวชาญมาประกบให้ ถ้าเธออยากวาดอะไร บางทีคลาสสุขศึกษา เขาก็ไปวาดตรงห้องน้ำ เป็นตับไตไส้พุง เธอไปแล้วงานเธอยังอยู่ น้องๆ ก็ได้ดู
บางทีเวลาครูสอนเขาก็ไปสอนตรงกำแพงนั้น หรือว่าหลายๆ ที่เราก็จะเห็น อยากเขียนอะไรก็เขียน เพราะว่าเรามีกำแพงไว้ให้เธอเขียน มีครูที่จะสอนให้เธอเขียนให้มีสาระและมีวิชาการเพิ่มเติมขึ้นเป็นประสบการณ์ แล้วก็ไม่ใช่ว่าเราเลือกคนนั้นคนนี้ให้วาดนะ ก็คือทุกคนเลย ถ้าคลาสไหนอยากเขียนก็มากันทั้งคลาส เพื่อที่ว่าเธอจะได้มาทำงานร่วมกัน คนที่เขียนไม่เก่งก็มาช่วยกันได้ เขาก็จะเข้าใจเรื่องการทำงานร่วมกัน
เพราะไม่มีใครที่ไม่มีประโยชน์ ก็คือให้เห็นประโยชน์ของกันและกัน อย่าดูถูกกัน และอย่าเห็นว่าตัวเองไร้ค่า ทำอะไรได้ให้ทำ เพราะเราจะได้เห็นว่าตัวเราเก่งอะไร
เราไม่มองข้ามใครทั้งสิ้นในโลกนี้ แล้วก็ที่นี่ก็รับนักเรียนแบบไม่เลือก ไม่ต้องสอบเข้า ใครมาก็มาคุยกัน ถ้าเขาชอบ คุณพ่อคุณแม่ชอบ ก็มาเลย ไม่ต้องเก่งก็ได้ เพราะเราสามารถทำให้เธอเก่งได้ ไม่ยากเลย ให้เธอเก่งในสิ่งที่เธออยากจะเก่ง และให้ค้นพบตัวเอง
ครูเล็กมองภาพความเป็น ‘ครู’ ของตัวเองอย่างไรบ้าง?
มองว่าเราเป็น ‘เรือยอร์ช’ ที่ส่งเด็กขึ้นฝั่งค่ะ ไม่ใช่เรือจ้าง เราไม่ต้องพาย เพราะเราใช้เครื่องยนต์แล้ว แต่ถ้าจะพายก็พายด้วยกันไปกับเด็กๆ เราไม่ได้พายอยู่คนเดียว เพราะเขาก็ช่วยเราพาย
เพราะฉะนั้นการที่เด็กจะขึ้นฝั่งได้ไม่ใช่แค่เพราะครูเท่านั้นนะ แต่มันขึ้นกับพวกหนูที่ต้องช่วยกันพาย ต้องมีความเมตตาต่อกันและต้องตั้งอกตั้งใจ สู้เอาหน่อยเพื่อที่เราจะพายไปถึงฝั่งด้วยกัน
ซึ่งหลังจากที่นักเรียนจบกันไป เขาก็ยังกลับมาเยี่ยมครูเสมอนะ เวลาน้องๆ เล่นละครเขาก็กลับมาดูกัน แล้วก็ที่นี่เราจะให้เด็กทุกคนปลูกต้นไม้คนละต้น เป็นต้นไม้ยืนต้น เขาก็จะกลับมาเยี่ยมต้นไม้ของเขา ถึงแม้เขาจะจบมหาวิทยาลัยกันแล้ว ต้นไม้เขาก็ยังเติบโตให้ร่มเงาแก่น้องๆ ยังผูกพันกัน เรารักใคร่เป็นครูเป็นศิษย์กันตลอดชีวิต เวลาเขามีปัญหาชีวิตอะไรเขาก็โทรมาปรึกษาได้ ถ้าช่วยอะไรได้เราก็ช่วย ยังเป็นที่ปรึกษาให้เด็กๆ ตลอดเวลา ไม่ทิ้งกัน