- Turning Red คืออนิเมชันแนวแฟนซีที่เล่าเรื่องราวของ ‘เมยลิน หรือ เมยเมย’ สาวน้อยเชื้อสายจีน-อเมริกัน ซึ่งทุกครั้งที่เธอไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เธอจะกลายร่างเป็นแพนด้าแดงตัวใหญ่ขนฟูในทันที
- เรื่องราวเล่าถึงครอบครัวชาวเอเชียที่พ่อแม่มักจะคาดหวังให้ลูกเป็นเด็กดีอยู่เสมอ ซึ่งเมยลินก็เก็บกดความรู้สึกและความเป็นตัวเองทุกอย่างไว้เพราะกลัวแม่ผิดหวัง จนท้ายที่สุดแล้ว ‘เมยลิน’ ก็ระเบิดอารมณ์ของเธอออกมาเพราะไม่ว่าเธอจะเป็นเด็กดีแค่ไหน แม่ก็ยังไม่ยอมไว้ใจให้เธอได้ทำอะไรที่ต้องการอยู่ดี
- พ่อแม่บางคนมักจะทำเหมือนแม่ของเมยลิน ที่มองว่าลูกยังคงเป็นเด็กน้อยคนเดิมอย่างที่เคยเป็นมาเสมอ ปกป้องและยึดติดกับตัวตนเดิมจนไม่มีพื้นที่ให้กับตัวตนใหม่ๆ ของลูก แต่มันก็เหมือนเป็นสิ่งที่ฉุดรั้งไม่ให้ลูกได้เติบโตอย่างเป็นตัวของตัวเอง
Month: March 2022
- หลายครั้งคุณลักษณะบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพหรือความโน้มเอียงของจิตใจ ฯลฯ อาจไม่ปรากฏร่วมกันอย่างเด่นชัดนักระหว่างพ่อแม่กับลูก แต่ปรากฏในปู่ย่าตายายแล้วข้ามมาโผล่ที่รุ่นหลาน การได้มารู้ทีหลังว่าตนมีอะไรเหมือนกับบรรพชนข้ามรุ่นก็เป็นการเติมเต็มช่องว่างบางอย่างได้อย่างน่าอัศจรรย์
- ผู้สูงวัยบางคนก็ตัดขาดหรือถูกตัดขาดจากลูกหลานหรือไม่มีหลานร่วมสายโลหิต และพร้อมกันนั้นก็มีครอบครัวจำนวนมากโหยหาคนที่เป็น เสมือน ปู่ย่าตายาย จึงเกิด ‘ปู่ย่าตายายบุญธรรม’ขึ้น เหมือนกับ ‘ดอนนา’ (Donna Supitilov Skora) ผู้หาทางเป็นคุณยายอีกครั้งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
- การได้เปิดรับทำให้ตระหนักว่ามี ‘ปู่ย่า’ ที่รัก ‘หลาน’นอกสายเลือด ได้อย่างไร้เงื่อนไข รวมทั้งเผื่อแผ่ความรักนั้นมาให้พ่อแม่ของหลานโดยเสมือนนั้นเช่นกัน และแม้จะไม่ได้สืบสายเลือดโดยตรง แต่ผู้สูงวัยก็สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาและประสบการณ์ชีวิต และทำให้สัมผัสถึงความเข้าใจแห่งบรรพกาล
1.
เด็กที่โตมาโดยมีความทรงจำของความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับคนรุ่นก่อนหน้าพ่อแม่
คนจำนวนหนึ่งเอ่ยถึงความสัมพันธ์อันไม่ลงตัวกับพ่อแม่ของตัว ถึงแม้ความคาดหวังและที่มาของวิธีคิดของพ่อแม่จะเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ และพร้อมกันนั้นก็ได้เอื้อนเอ่ยถึงความสัมพันธ์กับคนรุ่นตายายในลักษณะที่เป็นความรักหรือความเข้าอกเข้าใจอันไร้เงื่อนไขให้พวกเขา และแม้ว่าตอนนี้พวกเขาจะได้สูญเสียปู่ย่าตายายที่เชื่อมโยงกับตัวเองอย่างลึกซึ้งไปแล้ว แต่ก็ยังจดจำความสัมพันธ์เช่นนั้นได้เสมอมา
นอกจากนี้ หลายครั้งคุณลักษณะบางอย่าง ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพหรือความโน้มเอียงของจิตใจ ฯลฯ อาจไม่ปรากฏร่วมกันอย่างเด่นชัดนักระหว่างพ่อแม่กับลูก แต่ปรากฏในปู่ย่าตายายแล้วข้ามมาโผล่ที่รุ่นหลาน หากคนรุ่นหลานไม่เคยเจอปู่ย่าตายายหรือจากกันไปตอนที่ยังสื่อสารกันได้ไม่มากนักก็อาจทำให้รู้สึกโหวงเหวงอยู่ลึกๆ และการได้มารู้ทีหลังว่าตนมีอะไรเหมือนกับบรรพชนข้ามรุ่นก็เป็นการเติมเต็มช่องว่างบางอย่างได้อย่างน่าอัศจรรย์
2.
เด็กที่ขาดรากรักและโยงใยชีวภาพอันอบอุ่นแห่งอดีต
อย่างไรก็ตาม ในบางครอบครัว คนรุ่นพ่อแม่เองก็ไม่มีหรือแทบไม่มีความสัมพันธ์กับปู่ย่าตายายของตัว และสามารถซ้ำรอยการขาดการเชื่อมต่อมายังคนรุ่นต่อมา อีกทั้งมีผู้คนที่มีญาติก็เหมือนไม่มี หรือแม้มีเยื่อใยในเครือญาติแต่ก็ไม่รู้จะสานให้แน่นแฟ้นกันอย่างไร
หนำซ้ำหากญาติรุ่นก่อนไม่ลงรอย บ้างก็ได้บดขยี้ลงมาที่คนรุ่นหลัง(ไม่ว่าตั้งใจหรือไม่) เมื่อครั้งเด็กยังไม่รู้จะปกป้องตัวเองอย่างไร มารู้ตอนโตถึงความแตกร้าวก่อนหน้า และแม้จะทำความเข้าใจและให้อภัยได้ในภายหลัง แต่ความรู้สึกผิดพร่องก็ยังเยียวยาได้ไม่ถ้วนทั่วเพราะตัวเขาในวัยเด็กก็ไม่ได้เชื่อมโยงกับพ่อแม่ของตัวเองถึงเพียงนั้น แม้บ้างจะสามารถเก็บส่วนเสี้ยวที่แตกสลายมาประสานใหม่ด้วยใจทองคำ กลับมาถมความเข้าใจกันเมื่อโตขึ้น แต่บ้างก็อาจไม่ทันการแล้ว
แต่ไม่เป็นไร ท่ามกลางทุกขสัจที่ทุกชีวิตต้องเจอ วันหนึ่งเด็กทุกคนก็ต้องกลายเป็นผู้ใหญ่และในที่สุดก็เป็นคนเฒ่า แม้จะโดดเดี่ยวบ้าง
ทุกชีวิตย่อมต้องเรียนรู้ที่จะดำเนินต่อไป จนกว่าจะไปต่อไม่ได้เพราะเหตุใดก็ตาม และอาจยังต้องเดินทางอย่างเดียวดายต่อไปในห้วงระหว่างอีก
เท่านั้นล่ะหรือ?
3.
ดวงวิญญาณโดดเดี่ยวข้ามวัยที่เติมเต็มกันและกันได้ แม้ไม่ได้ร่วมพันธุกรรม
มีผู้ใหญ่ที่เติบโตมาจากการเป็นเด็กจิตวิญญาณโดดเดี่ยว และในวิถีชีวิตยุคใหม่ก็มีผู้สูงอายุที่หงอยเหงาเปล่าดายและรู้สึกไร้ประโยชน์ ทั้งที่พวกเขาเปี่ยมด้วยประสบการณ์และความรักที่จะมอบให้ซึ่งสามารถเพิ่มความหมายของชีวิตเบื้องปลายได้ แต่กลับตัดขาดหรือถูกตัดขาดจากลูกหลานหรือไม่มีหลานร่วมสายโลหิตอย่างคนอื่นในวัยใกล้กัน และพร้อมกันนั้นก็มีครอบครัวจำนวนมากโหยหาคนที่เป็น เสมือน ปู่ย่าตายาย ไม่ว่าจะเพราะระยะห่างทางกายภาพกับญาติผู้ใหญ่ร่วมพันธุกรรม หรือเพราะสมาชิกเก่าได้เสียชีวิตไป หรือเพราะเหตุใด
พวกเขาล้วนสามารถเติมเต็มช่องว่างให้แก่กันและกันได้ และปัจจุบันสื่อออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกสำหรับความเชื่อมโยงด้วย
ลูกหลานแถวบ้านรับ ‘ปู่ย่าตายายบุญธรรม’
เฉกเช่นเรื่องราวของดอนนา (Donna Supitilov Skora) ผู้อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งได้หาทางเป็นคุณยายอีกครั้งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยเธอมีหลานที่เกิดจากลูกชายแท้ๆ แต่ไม่ได้พบหน้าตั้งแต่ค.ศ. 2013 ในปีถัดมา เธอและสามีจึงหาทางเชื่อมโยงกับเด็กๆ ในฐานะ “ตายาย” และได้พบเพจ “Surrogate Grandparents” ของสหราชอาณาจักร
ในปี 2015 ดอนนาจึงเปิดเพจ “Surrogate Grandparents – USA” ซึ่งครอบครัวในสหรัฐฯ ที่ขาดปู่ย่าตายายมาใช้เชื่อมต่อกับผู้สูงวัยที่หาทางมอบความรักเช่นนั้น มีเรื่องราวแห่งความเกื้อหนุนมากมายจากพื้นที่ออนไลน์ดังกล่าว แม้บางครอบครัวจะคิดว่านี่เป็นแนวคิดบ้าบอในตอนแรก แต่การได้เปิดรับก็ทำให้ตระหนักว่ามี “ปู่ย่า” ที่รัก “หลาน” อย่างไร้เงื่อนไขเกินกว่าจะเชื่อว่าไม่ได้ร่วมสายเลือด รวมทั้งเผื่อแผ่ความรักนั้นมาให้พ่อแม่ของหลานโดยเสมือนนั้นเช่นกัน
ในภายหลัง ผู้คนไม่ได้เข้ามาในเพจเพื่อหาตัวแทนของหลานหรือปู่ย่าตายายอย่างเดียว แต่มีการเข้ามาหาคนที่เป็นเสมือนพ่อแม่พี่น้องด้วย ซึ่งภาพรวมก็คือการแสวงหาสายสัมพันธ์ที่มีความรักความเกื้อกูล..
ต่างวัย ไม่ตัดสิน
อีกตัวอย่างคือ เรื่องราวของมากาเร็ต นิปชาเก็น (Margaret Nipshagen) ซึ่งอาศัยอยู่ในแคนนาดาแต่ไม่ได้มีญาติที่นั่นและรู้สึกว่างเปล่า แม้จะรู้สึกแปลกๆ แต่ในช่วงวัยประมาณหกสิบเธอได้โพสต์ข้อความบนเพจในเฟสบุ๊คในทำนองหาคนใจดีรับคุณยายบุญธรรม เธออยากตอบแทนสังคม แล้วก็ได้การตอบรับอย่างล้นหลาม
เมื่อได้อ่านทัศนคติของเธอแล้วก็เห็นลักษณะสำคัญคือมากาเร็ตไม่ตัดสินคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นด้านวิถีชีวิต การนับถือหรือไม่นับถือศาสนา เพศวิถี ฯลฯ เธอชอบคนรุ่นใหม่และแสดงเจตนาที่จะปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นโดยให้การยอมรับ เกื้อกูลและอวลด้วยรัก
4.
ไม่จำเป็นต้องร่วมพันธุกรรม แต่อาจเป็นรอยกรรมทางบวกที่พ้องพานบรรจบ
ไม่ใช่ว่าสิ่งนี้จะเป็นทางออกสำหรับทุกปัญหาและแม้มีข้อจำกัดของมันเอง แต่ก็เป็นอีกทางเลือกที่เกิดขึ้นแล้ว
และไม่ว่าจะเริ่มต้นความสัมพันธ์โดยผ่านสื่อออนไลน์หรือออฟไลน์ ผู้สูงวัยที่แม้นพวกเราไม่ได้สืบสายเลือดโดยตรงก็สามารถถ่ายทอดภูมิปัญญาและประสบการณ์ชีวิต รวมถึงพาคนอายุน้อยกว่าไปเชื่อมโยงกับรากเหง้าโบราณ ผูกพันกัน อีกคนรุ่นหลังก็มีโอกาสสัมผัสถึงความเข้าใจแห่งบรรพกาลจากหลายพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่ได้รับมาไว้เบื้องลึกภายใน ซึ่งปล่อยออกมาในกระแสสำนึกได้ในเวลาต่างๆ
ยิ่งในห้วงยามที่มืดมิดที่สุด ความทรงจำแห่งการพานพบพ่อเฒ่าแม่เฒ่าผู้ทรงปัญญาทั้งโดยตั้งใจและที่ดูเหมือนบังเอิญทว่าสอดคล้องต้องกันอย่างมีความหมายครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นเองเป็นดั่งแสงสว่างบนผืนฟ้าที่โอบกอดเอาไว้ ซึ่งแม้แต่รากไม้มหึมาอันพัวพัลวันดุจฝูงงูยักษ์ ณ จุดที่ ดิบดำข้นคลักที่สุดของพงไพรอันโกลาหลและขรึมขัง ก็ยังสามารถจะเลื้อยปีนขึ้นไปแตะแสงนั้นได้ ประสานรับกับฐานมารดาดินอันลึกล้น ข้างบนจรดข้างล่างนั้น
สายธารสัมพันธ์ข้ามรุ่นกับคนที่เป็นเสมือนปู่ย่าตายายโดยไม่จำเป็นต้องสืบสายชีวภาพ สามารถจะมีความลึกซึ้งเกินกว่าจะนึกคิด อาจเป็นดุจแสงตะเกียงเก่าแก่ที่ออกตามหาเด็กน้อยหลงทางในราตรีมืดตื้อ โดยเพียงหวังจะมอบความกรุณาและปัญญาให้
และได้หยอดเมล็ดพันธุ์ชุ่มฉ่ำแห่งคุณลักษณะต่างๆ ที่พร้อมจะงอกงามท่ามกลางหลากความท้าทายในการเดินทางแห่งชีวิตวัยผู้ใหญ่ของเด็กในอดีตคนนั้นได้เช่นกัน
อ้างอิง
ส่งผ่านความรู้สึกขอบคุณเป็นพิเศษแด่ หลวงปู่วัย จัตตาลโย จังหวัดสระบุรี, สุริยะ เบญ แห่งรัฐคุชราต ผู้รู้พระเวทและการแพทย์ทางเลือกหลายแขนง ซึ่งได้พบกันในห้วงเวลาต่างๆ อันมีความหมายยิ่ง และซอนย่า เว็ปเบอร์ ในละแวกคึชนาคท์ ฯลฯ ผู้เป็นเสมือนปู่ย่าตายายที่หายไปในห้วงเวลาและขอบแดนแต่ยังดำรงอยู่ในคลังแห่งจิตเสมอมา, ขอบคุณผองเพื่อน ฯลฯ ที่คอยเกื้อหนุนราวกับญาติ, ขออโหสิกรรมทุกชีวิตและในทางกลับกัน และขอบคุณทุกความแตกสลายและทุกพืชพรรณที่ทะลวงขึ้นจากคอนกรีตที่กดทับและรากไม้ใหญ่อายุยาวนานในป่าทึบที่ตามหาแสงสว่าง ซึ่งได้ส่งผ่านสัญญาณชีวิตมาให้ด้วย
(Thank you…. Suryaben Brahmbhatt, my beloved grandmother)
An Interview with Donna Supitilov Skora – The Art of Weaving Families
Surrogate Grandparents Are Needed
Toronto Woman Offers Grandparent Services On Facebook, Is Swamped By Responses
Need a grandmother? Woman looking for honorary grandkids finds many on Bunz
For Surrogate Grandparents, the Ties Still Bind
They get benefits of relationship — and so do their ‘grandchildren’
- หมอวิน – ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ กล่าวไว้ว่า สุขภาพจิตที่ดี (Mental Health) เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กออกไปเผชิญโลกอนาคตที่ไม่แน่นอนได้ เพราะสุขภาพจิตที่ดีจะทำให้เด็กพร้อมเรียนรู้ รับมือกับปัญหาและรู้จักอารมณ์ของตัวเอง
- สุขภาพจิตที่ดีของเด็กมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ ‘การเห็นคุณค่าและมีภาคภูมิใจในตัวเอง’ (self-esteem) และ ‘ความมั่นใจในตัวเอง’ (self-confidence)ซึ่งในระยะยาวคุณสมบัติทั้งสองประการนี้จะทำให้พวกเขาวางเป้าหมายชีวิต (set-goal) ได้ โดยไม่ตั้งข้อสงสัยในความสามารถหรือศักยภาพของตัวเอง
- การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายและใจช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีและพร้อมรับมือกับปัญหาและอุปสรรคที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต
วิธีเลี้ยงลูกหลังคลอด วิธีรับมือกับลูกเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น การส่งเสริมพัฒนาการการเรียนรู้ของลูก ฯลฯ หลากหลายโจทย์และความท้าทายที่พ่อแม่ต้องเผชิญเมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นในแต่ละช่วงชีวิต
บ้านและโรงเรียนเป็นพื้นที่ที่เด็กใช้เวลาอยู่ด้วยมากที่สุดในช่วงวัยหนึ่ง และเมื่อเติบโตขึ้นสังคมรอบข้างจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของพวกเขา สิ่งแวดล้อมรอบด้านเหล่านี้มีความสำคัญต่อการปลูกฝังและมีอิทธิพลต่อการบ่มเพาะความคิดความอ่านและลักษณะนิสัยของเด็กคนหนึ่งที่กำลังเติบโตขึ้นมา หมอวิน – ผศ.นพ. วรวุฒิ เชยประเสริฐ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกตามใจหมอ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านโลหิตวิทยาและมะเร็งในเด็ก กล่าวไว้ในเวทีเสวนา ‘TK Park x EDSY เตรียมพร้อมเด็กไทยในวันที่โลกเปลี่ยน’ ว่า สุขภาพจิตที่ดี (Mental Health) เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้เด็กออกไปเผชิญโลกอนาคตที่ไม่แน่นอนได้
สุขภาพจิตที่ดีสะท้อนความพร้อมในการเรียนรู้
ในโลกออนไลน์มีการแชร์ความรู้ แนวคิดและ how to การเลี้ยงลูกทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติอย่างกว้างขวางและหลากหลาย เชื่อว่าหลายเรื่องผู้ปกครองคงเคยได้ยินหรืออ่านผ่านตากันมาบ้างแล้ว ยกตัวอย่างเช่น EF การพัฒนาสมองส่วนหน้าที่ช่วยควบคุมความคิด อารมณ์และพฤติกรรม, Growth Mindset กรอบคิดเติบโตที่ฝึกให้เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดรับการพัฒนาตัวเองตลอดชีวิต หรือ GRIT ความเพียรพยายามในระยะยาว รวมไปถึงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ด้านต่างๆ (Character Building) เช่น ความยืดหยุ่นและความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น
ขณะที่ความรู้ภาคทฤษฎีและปฎิบัติเหล่านี้เป็นตัวอย่างและแนวทางให้ผู้ปกครองเลือกนำมาปรับใช้ หมอวิน กล่าวว่า สุขภาพจิตที่ดีทำให้เด็กพร้อมเรียนรู้ รับมือกับปัญหาและรู้จักอารมณ์ของตัวเอง เรื่องนี้จึงเป็นพื้นฐานสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
“เด็กที่สุขภาพจิตเสียเรียนรู้ไม่ได้ เด็กที่มีสุขภาพจิตดีสามารถแสดงอารมณ์ได้อย่างสมเหตุสมผลและสามารถจัดการอารมณ์ด้านบวกและด้านลบของตนเองได้ หากวันใดเจออุปสรรค มีความรู้สึกด้านลบเข้ามาหรือเจอความเปลี่ยนแปลงต่างๆ จากสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนของโลก เช่น จู่ๆ วันหนึ่งตกงานขึ้นมา เขาจะสามารถจัดการ ดูแลตัวเองและก้าวผ่านมันไปได้”
เชื่อว่าตัวเองมีค่า มั่นใจว่าตัวเองทำได้
สุขภาพจิตที่ดีของเด็กมีความสัมพันธ์โดยตรงกับ “การเห็นคุณค่าและมีภาคภูมิใจในตัวเอง” (self-esteem) และ “ความมั่นใจในตัวเอง” (self-confidence) หมอวิน กล่าวว่า ในระยะยาวคุณสมบัติทั้งสองประการนี้จะทำให้พวกเขาวางเป้าหมายชีวิต (set-goal) ได้ โดยไม่ตั้งข้อสงสัยในความสามารถหรือศักยภาพของตัวเอง
“ถ้าเด็กไม่มีความภาคภูมิใจ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย เขาจะมองตัวเองในภาพลบ เด็กกลุ่มนี้มีความเจ็บปวดอยู่ภายใน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเด็กต้องมี self-esteem สูงมาก เด็กที่มี self-esteem สูง คือมีความมั่นใจในตัวเองมาก ปัญหาที่จะตามมาคือในวันที่เขาล้ม ในวันที่เขาเจอสิ่งที่ทำไม่ได้ เด็กจะสร้างกลไกลการป้องกันตัวเองด้วยการไม่ทำ ใช้การโกง หรือปิดบัง
ดังนั้น self-esteem ที่มากหรือน้อยเกินไปส่งผลเสียกับเด็กเสมอ การให้เด็กเห็นคุณค่าของตนเองที่พอดี ไม่สูงหรือต่ำเกินไปก็สำคัญเช่นกัน ดังนั้นพ่อแม่จึงมีหน้าที่ส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าความภาคภูมิใจในตัวเองที่เหมาะสม ดีพอและพอดีให้กับลูก ความภาคภูมิใจในตัวเอง เกิดขึ้นเมื่อเขาสามารถลงมือทำจนทำได้ แล้วพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง และเขาจะตั้งเป้าหมายในอนาคตได้”
หมอวิน อธิบายต่อว่า พื้นฐานของการเห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในตัวเอง คือ การรับรู้ตัวเอง (sense of self) ไม่ว่าจะเป็นการรู้รอบเกี่ยวกับร่างกาย อารมณ์และจิตใจ การรับรู้ตัวเองสามารถสร้างและปลูกฝังให้กับเด็กได้ตั้งแต่ช่วงปฐมวัยจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ผู้ปกครอง (บ้าน) และครู (โรงเรียน) ดังนั้นบ้านและโรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญต่อการบ่มเพาะสุขภาพจิตที่ดีให้กับเด็กและเยาวชน
“เด็กมองตนเองผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น และผ่านสายตาของคนอื่น คนแรกที่เขาจะมอง คือ พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ชมลูกมากจนเกินไป ลูกอาจมี self-esteem สูง แต่ถ้าตำหนิ ห้ามและดุด่ามากเกินไป อาจทำให้ลูกมี self esteem ต่ำ ต้องเข้าใจว่าการดุด่าไม่ได้ทำให้เด็กหยุดรักเรา แต่จะทำให้เด็กหยุดรักตัวเอง ทั้งหมดนี้จะถูกปลูกฝัง กลั่นกรองเข้าสู่ตัวเด็กผ่านการเลี้ยงดู การทำกิจกรรมบางอย่างร่วมกับพ่อแม่หรือคนรอบตัว”
เด็กควรได้รับความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
“หนูต้องเป็นเด็กดีนะ”
“ไหนดูคะแนนคณิตศาสตร์ก่อน”
“ทำไมลูกทำแบบนี้แกล้งน้อง เป็นเด็กไม่ดีเลยเดี๋ยวแม่ไม่รักนะ”ในมุมมองของพ่อแม่ สิ่งที่ทำเพื่อลูกต่างทำไปเพราะความรัก แต่หลายครั้งคำพูดหรือพฤติกรรมที่แสดงออกไปโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว กลับเป็นการแสดงความรักที่สร้างเงื่อนไขซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเด็ก หมอวิน กล่าวว่า หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจ คือ การให้ความรักกับเด็กไม่ควรเป็นความรักที่มีเงื่อนไข พ่อแม่ไม่ควรใช้ความรักมาเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนให้ลูกทำอย่างใดอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ ระบบการวัดผลประเมิน การคัดเลือก แพ้แล้วคัดออก มีส่วนทำลายการเห็นคุณค่าและความภาคภูมิใจในตัวเด็กอย่างมาก
“ความรักที่ให้กับเด็กไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไข ความรักไม่จำเป็นต้องทำบางอย่างแล้วถึงได้มา เพราะเด็กควรได้รับความรักจากพ่อแม่อยู่แล้ว แต่หลายบ้านเด็กต้องได้รับเงื่อนไขเพื่อแลกกับความรัก คำพูดเหล่านี้ยิ่งทำให้ความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กถูกสั่นคลอน สร้างความเจ็บปวดจากข้างในที่ทำให้เมื่อหันกลับมามองตัวเองแล้วเขารู้สึกไม่มีค่า แม้กระทั่งในสายตาของพ่อแม่ที่อยู่ข้างๆ ยังไม่เห็นคุณค่าของเขา”
“การเลี้ยงดูที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการตัดสินใจในอนาคตของเด็ก ถามว่าสุดท้ายเด็กจะหันหน้าไปหาใคร คำตอบก็คือ เพื่อน เพราะเพื่อนไม่ตีตรา ไม่วัดประเมิน อยู่ข้างกันพูดคุยกันได้อย่างเต็มที่ เราเลยเห็นเด็กหลายๆ เมื่อโตขึ้นออกจากบ้านไปอยู่กับเพื่อน เพราะเพื่อนให้ความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ดังนั้น ทั้งเพื่อนและโรงเรียนต่างส่งผลต่ออนาคตของเด็ก นี่เป็นเห็นผลว่าทำไมกุมารแพทย์ส่วนใหญ่จึงพูดตรงกันว่า การศึกษาในปัจจุบันทำร้ายเด็กเยอะเลยทีเดียว เช่น คนเก่งๆ ได้ขึ้นบอร์ด เด็กที่เรียนกลางๆ ไม่มีตัวตน เด็กที่เรียนแย่โดนตีตราว่าเป็นเด็กไม่ดี ทั้งที่การศึกษาควรสนับสนุนให้เด็กก้าวเดินในเส้นทางของตัวเองอย่างมั่นใจมากกว่าที่เป็นอยู่”
อุ้ม กอด บอกรัก สร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้กับลูก
ทำอย่างไรให้ลูกอยู่บ้านแล้วรู้สึกสบายใจ ออกจากบ้านไปแล้วอยากกลับบ้าน และคิดถึงพ่อแม่?
‘อุ้ม กอด บอกรัก’ คำตอบที่ได้ไม่มีอะไรซับซ้อน “ยิ่งลูกโต เรายิ่งต้องใช้หูมากขึ้น สั่งสอนให้น้อยลง” หมอวิน กล่าว
การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายและใจช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้พวกเขาเติบโตขึ้นด้วยจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมรับมือกับปัญหาและอุปสรรคที่จะผ่านเข้ามาในชีวิต หมอวิน กล่าวว่า พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องสวมบทบาทเป็นผู้ประเมินผลในทุกๆ เรื่อง แต่บทบาทของพ่อแม่ต้องอยู่เคียงข้างลูกเสมอ
“ในทุกๆ วันถ้าพ่อแม่เปิดโอกาส เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองว่าทำสิ่งไหนได้ดี ไม่ดี หรือมีพรสวรรค์ด้านไหนผ่านการลงมือทำหรือการเล่นอยู่แล้ว เวลาทำกิจกรรมด้วยกันพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องประเมินผลหรือพยายามวัดให้ได้ทุกอย่าง อีกทั้งไม่ต้องไปบอกว่า หนูดีแล้ว หนูเก่งแล้ว หรือกระตุ้นด้วยการบอกว่าพยายามอีกหน่อยสิ แม้แต่การให้กำลังใจว่า…มันไม่มีอะไรเลยแล้วหนูจะผ่านไปได้ คำพูดพวกนี้ไม่ได้ทำให้เด็กผ่านไปได้ ไม่ได้ช่วยทำให้ self-esteem เด็กดีขึ้น”
“พ่อแม่ทำได้ผ่านการกอด เห็นลูกเสียใจอยู่เข้าไปกอด พูดคุยถึงความจริงตรงหน้า ตอนนี้หนูรู้สึกเสียใจใช่ไหมที่บล็อกไม้หล่นลงมา แค่กอดลูกแล้วบอกว่า…มาช่วยกันต่อ ล้มก็ต่อใหม่ได้ และพ่อแม่ไม่จำเป็นต้องพุ่งไปช่วยแก้ปัญหาให้ลูก เลี้ยงแบบสุขนิยม เศร้าไม่ได้ เสียใจไม่ได้ เห็นลูกร้องไห้ปุ๊บ รีบเข้าไปหาลูก เดี๋ยวพ่อแม่จัดการให้ แบบนี้ยิ่งเป็นการปลูกฝังเด็กว่าเขาสุดยอดที่สุด ทำผิดพลาดไม่ได้ พอเจอสถานการณ์เฉพาะหน้า เจอความล้มเหลว กลายเป็นว่าเขาจะรอให้คนอื่นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้เขาไปตลอด”
Walking without legs!
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหมอวินทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงเรื่องราวของ วอลเตอร์ ลี และ ซาย ลี บนเวที TEDx เชียงใหม่ในปี 2018 ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมามีร่างกายและจิตใจที่แข็งแกร่งและใช้ชีวิตอยู่รอดได้นั้น ‘สุขภาพจิตที่ดี’ ซึ่งถูกถ่ายทอดและปลูกฝังจากพ่อแม่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมาก
ซาย ลี ถึงวันนี้อายุ 16 ปี เกิดมาพร้อมขาที่พิการทั้งสองข้าง แขนซ้ายที่สมบูรณ์เพียงข้างเดียว และสะโพกที่แยกออกจากกันสองส่วน กำลังใจที่ดีของ วอลเตอร์ ลี ผู้เป็นพ่อ ทำให้เขาไม่ลดละความพยายามหาวิธีการรักษา จนพบวิธีการบำบัดแบบวอยต้า (Vojta Therapy) ณ ประเทศเยอรมนี ที่ใช้การกดจุดเพื่อกระตุ้นการเคลื่อนไหว ทำให้ซายสามารถใช้ร่างกายได้ดีขึ้น
วอลเตอร์ ลี เลี้ยงดูลูกด้วยความรักแบบไม่มีเงื่อนไข ให้โอกาสลูกได้เรียนรู้และลงมือทำเหมือนคนปกติทั่วไป เขาพาลูกชายปีนขึ้นภูเขาคินาบาลู ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่อายุ 6 ปี จากการเลี้ยงดู ปลูกฝัง และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากครอบครัว ทำให้ซายมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแกร่งและใช้ชีวิตได้ไม่ต่างจากคนปกติอื่นๆ ปัจจุบัน ซาย สามารถเดินทางไปเรียนหนังสือ ทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ปีนเขา ว่ายน้ำ เล่นคีย์บอร์ด และทำอาหารได้ เขามีความฝันอยากเป็นนักกีฬาว่ายน้ำในการแข่งขันพาราลิมปิกในอนาคต
ที่สำคัญ ซายยังเป็นแรงบันดาลใจให้วอลเตอร์ ลี ก่อตั้งมูลนิธิซาย มูฟเม้นท์ (Zy Movement Foundation) เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กพิการทางการเคลื่อนไหวร่างกาย เผยแพร่องค์ความรู้ให้เด็กพิการด้อยโอกาสคนอื่นๆ ได้มีโอกาสเรียนรู้และใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป เป็นเพื่อนคอยดูแลสภาพจิตใจให้กับพวกเขาและครอบครัว รวมทั้งสร้างความรู้เข้าใจที่ถูกต้องระหว่างผู้พิการและคนในสังคม
- รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนมุมมองในงานเปิดตัว ‘สวนผึ้งโมเดล’ ใน ‘โครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education) และเพื่อช่วยเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาหรือกำลังที่จะหลุดออกนอกระบบได้กลับมาเรียนอีกครั้ง
- เด็ก Drop out หรือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือปัญหาเรื้อรังของการศึกษาไทยที่ต้องเร่งแก้ไข โดยประเทศไทยนั้นมีเด็กกว่า 400,000 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาทุกๆ ปี ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศที่มากอยู่แล้วนั้นมากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องเร่งแก้ปัญหาตั้งแต่ที่ต้นเหตุ
- ปัจจัยหลายอย่างทั้งสภาพแวดล้อม ฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว หรือแม้แต่ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ทำให้เด็กเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเกิดโรงเรียนนำร่อง ‘สวนผึ้งโมเดล’ เช่น โรงเรียนสินแร่สยาม และโรงเรียนรุจิรพัฒน์ ที่มีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้เรียน และออกแบบการเรียนรู้ให้เด็ก ‘เรียนรู้อย่างมีความสุข’
“ไม่มีอะไรที่เลวร้ายต่อการศึกษาเท่าการมีความรู้สึกที่เป็นลบต่อการศึกษา อันนี้อันตรายมากเพราะมันจะฝังเป็นนิสัยต่อไปในวันข้างหน้า การศึกษานั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนรู้สึกสนุกต่อการศึกษา มีความรู้สึกที่เป็นบวกกับมัน เราอยากเห็นการใช้พื้นที่การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพเด็ก เด็กต้องมีความสุขในการเรียน ไม่อย่างนั้นจะยากต่อการให้เกิดประสิทธิผลจากการเรียนได้”
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนมุมมองในงานเปิดตัว ‘สวนผึ้งโมเดล’ ใน ‘โครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education)
The Potential ชวนไปศึกษาดูงานภาคสนามแนวทางการออกแบบการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันในพื้นที่ระหว่างโรงเรียนซึ่งเป็นสถานศึกษาที่จะช่วยพัฒนาเด็ก ชุมชน และผู้ปกครอง เพื่อช่วยเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาหรือกำลังที่จะหลุดออกนอกระบบได้กลับมาเรียนอีกครั้ง กับคอนเซปต์ ‘เรียนดีมีสุข’ พาเด็กกลับเข้าเรียน ซึ่งสวนผึ้งเป็นอำเภอแรกในประเทศไทยที่นำร่องโมเดลนี้
‘Zero Dropout’ แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
เด็ก Drop out หรือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือปัญหาเรื้อรังของการศึกษาไทยที่ต้องเร่งแก้ไข รศ.ดร.วรากรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันตัวเลขของเด็ก dropout อยู่ที่ราวๆ 400,000 คน จากจำนวนเด็กในประเทศไทยซึ่งประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 5-7 เปอร์เซ็นต์ แม้ตัวเลขอาจจะดูไม่มากนัก แต่รศ.ดร.วรากรณ์ ย้ำว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำอยู่แล้ว หากมีเด็ก 4 แสนคนในทุกๆ ปี หลุดออกไปจากระบบการศึกษา ยิ่งจะทำให้โมเมนตัมของความเหลื่อมล้ำหนักยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ทำอย่างไรให้คนอยู่ในระบบการศึกษาอย่างน้อย 9 ปีของการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม
“สิ่งสำคัญที่เปลี่ยนสังคมเราในทุกเรื่องโดยเฉพาะปฏิรูปการศึกษา ทุกคนต้องมาร่วมกันปรับ mindset หรือสิ่งที่ฝังอยู่ในใจเราเอง ทำอย่างไรให้คนเห็นว่าการศึกษาของชาติสำคัญ และมายเซ็ตของภาคเอกชนก็สำคัญเช่นกัน”
แล้วทำไมโครงการ zero dropout ต้องเลือกจังหวัดราชบุรี ศุเรนทร์ ฐปนางกูร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ชี้ว่าราชบุรีเป็นตัวแทนของบริบทประเทศไทยได้ดี
“เพราะไม่ได้มีแค่เฉพาะโรงเรียนชายขอบที่เรามาทำงานอยู่ตรงนี้ โรงเรียนในสวนผึ้ง เป็นโรงเรียนตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งสภาพปัญหาบริบทก็จะเป็นเด็กนักเรียนแล้วก็พ่อแม่ที่ยากจน แล้วก็กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ แต่ในขณะเดียวกันราชบุรีก็มีตัวแทนของโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีตัวแทนของโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนกึ่งเมืองกึ่งชนบท เป็นโรงเรียนที่มีตัวแทนของพ่อแม่ที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก”
สำหรับปัญหาเด็ก dropout มีการศึกษาวิจัยในเชิงปฏิบัติงานทั่วประเทศพบว่ามาจากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กมีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือในกลุ่มชายขอบก็มักจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ การเรียนรู้ภาษาที่สอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องกายภาพ ปัญหาสุขภาพ ไปจนถึงการเรียนรู้ที่ถดถอยหรือแม้กระทั่งกลุ่มเด็ก Dropout ที่มีปัญหาเฉพาะ เช่นต้องย้ายตามพ่อแม่ไปทำงานที่ต่างๆ ทำให้เด็กต้องย้ายโรงเรียน และไม่สามารถที่จะเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ
“เราเข้าใจสภาพบริบทของโรงเรียนชนบทค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปัญหาโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นปัญหาอันหนึ่งตอนที่เด็กๆ มาเรียนไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราทราบกันดีอยู่ว่าในชนบทอย่างนี้ เด็กๆ มีข้อจำกัดสูงมากในการเรียนออนไลน์ เพราะฉะนั้นเด็กอยู่บ้านความถดถอยของการเรียนรู้เรียกว่าเกิดปัญหาอย่างรุนแรงมากเลย โดยเฉพาะในบริบทของสวนผึ้ง”
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นโมเดลทดลองโมเดลหนึ่งที่มีความเชื่อว่า “จริงๆ แล้วการศึกษาเป็นหน้าที่ของคนทุกคน” และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘อาสาสมัครการศึกษาหมู่บ้าน’ ล้อกับคอนเซปต์ของอาสาสมัครสาธารณสุข โดยการอาสาของคนในหมู่บ้านที่พอจะพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ หรือภาคเอกชนที่มีจิตอาสา เพื่อที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ในหย่อมบ้านช่วงที่มีโควิด-19
“คีย์เวิร์ดสำคัญในกลไกอาสาสมัครเป็นกลไกที่ต้องบอกว่าการศึกษามันไม่ใช่การผลักภาระ เราอย่าผลักภาระนี้ไปให้คุณครูในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว มันเป็นหน้าที่ของคนทุกคน อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนในวงการศึกษานี้ได้”
บทบาทของมหาวิทยาลัยในการคัดกรองความเสี่ยงของเด็กที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษานั้น อาจารย์ศุเรนทร์ มองว่า ระบบฐานข้อมูลของกระทรวงดีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการวิเคราะห์ว่า ภายใต้ข้อมูลเหล่านั้นมีปัญหาอะไรซุกซ่อนอยู่หรือไม่ นี่เป็นบทบาทหนึ่งที่นักวิชาการจะเข้ามาช่วยเสริมทัพโรงเรียนได้
“ถ้าเราหาความสัมพันธ์ของข้อมูลชุดต่างๆ เหล่านี้มันอาจจะระบุกลุ่มเสี่ยงของเด็กได้ในระดับหนึ่ง และคนที่รู้ข้อมูลของเด็กดีที่สุดคือคุณครู คุณครูจะทราบเลยว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยงคนไหนมีโอกาสที่จะออก แต่ว่าข้อมูลตรงนี้มันไม่ถูกสังเคราะห์ออกมาในภาพรวม แล้วก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การวางแผนในเชิงระบบได้”
อย่างไรก็ตามภายใต้การทำงานของโจทย์ใหญ่โจทย์นี้ ลำพังโรงเรียนอย่างเดียวคงไม่พอ จำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่างชุมชน ผู้ปกครอง โรงเรียน และหน่วยงานที่รับผิดชอบฟังก์ชั่นต่างๆ กลไกการประสานเชื่อมโยงจึงเป็นกลไกสำคัญมาก ในการช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้
โรงเรียนนำร่อง ‘สวนผึ้งโมเดล’
การเรียนรู้ที่ถดถอย เศรษฐกิจครัวเรือน และสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่หลากหลาย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เช่นโรงเรียนในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนชายขอบที่มีพื้นที่ติดต่อกับแนวตะเข็บชายแดน
โรงเรียนสินแร่สยาม เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ใช้แนวทางการออกแบบการเรียนรู้ผ่านการส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับเด็ก ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่กระตุ้นให้พวกเขาอยากเรียนรู้มากกว่าการเค้นให้ต้องท่องจำบทเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว
“ในการออกแบบการเรียนรู้ ‘เรียนรู้อย่างมีความสุข’ เราก็ได้ทำความเข้าใจกับครูว่า เราต้องออกแบบห้องเรียนให้เหมาะสมกับเด็กทุกคน เพราะในภาพรวมของโรงเรียนสินแร่สยามตามที่เรารวบรวมข้อมูลมา นักเรียนจะประสบปัญหาในเรื่องของการเรียน การอ่านออกเขียนได้ที่ต้องเน้น และก็ในเรื่องของเศรษฐกิจ รวมถึงสภาพแวดล้อม” ภาณุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม พูดถึงการเริ่มออกแบบการเรียนรู้ที่เด็กๆ จะได้เรียนดีอย่างมีความสุข
เมื่อโรงเรียนมีข้อมูลที่เป็นสภาพปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กรายคนแล้ว จึงนำมาออกแบบการเรียนรู้เป็น ‘ห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน’ และเพื่อแก้โจทย์ปัญหาที่เด็กกำลังเผชิญใน 3 ประเด็นสำคัญ ประเด็กแรกการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็ก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการออกนอกระบบนั้น ผอ.ภาณุพงศ์เล่าว่า การแก้ไขปัญหานี้เน้นพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำนั่นก็คือ การพัฒนาครู หนุนเสริมให้ครูหาเทคนิควิธีการในการจัดการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่ชายขอบอย่างเต็มที่ ภายใต้โจทย์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข ทำอย่างไรให้เด็กอ่านออกเขียนได้”
“เมื่อนักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขก็จะอยากมาโรงเรียน ในเมื่อเรียนทันเพื่อนก็อยากจะมาเรียน การจัดกิจกรรมคุณครูจัดกิจกรรมให้เด็ก active leaning ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง เด็กก็จะเกิดทักษะและความเข้าใจมากขึ้น”
เรื่องของเศรษฐกิจก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เด็กเสี่ยงออกนอกระบบ ซึ่งที่โรงเรียนสินแร่สยามใช้กิจกรรม ‘โครงงานอาชีพ’ ในโรงเรียน เช่น บาริสต้าน้อย, การเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียน, แปลงเกษตร, ตัดผม ‘สินแร่บาร์เบอร์’ เป็นต้น เมื่อถึงสิ้นปีการศึกษาเด็กๆ ก็จะได้รับเงินปันผลจากกิจกรรมโครงงานอาชีพนี้ด้วย
และประเด็นที่สาม ในส่วนของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เด็กของโรงเรียนสินแร่สยามเสี่ยงออกนอกระบบ ไม่ว่าว่าจะเป็นเรื่องฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว หรือจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว
“โรงเรียนมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ครูจะลงไปเยี่ยมบ้านเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ครูลงไปก็เป็นมิตรกับผู้ปกครอง ลงไปคุย ไปทำความเข้าใจ คุยในรายละเอียดต่างๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา เพื่อให้ผู้ปกครองอบอุ่นใจ เด็กมาโรงเรียนเจอคุณครูที่น่ารัก เอ็นดูเด็ก ดูแลเด็กดี ลูกเขามาโรงเรียนแล้วปลอดภัย ตรงนี้เขาก็ส่งเสริมให้ลูกเขามาโรงเรียน เด็กที่ขาดเรียนหรือไม่มาเรียนเราก็สามารถคอนแทคกับผู้ปกครองได้ เราก็จะทราบข้อมูลอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นขั้นตอนหรือเป็นกระบวนการที่โรงเรียนได้ดำเนินการมา ก็ประสบความสำเร็จสำหรับการติดตามนักเรียนที่เสี่ยงออกนอกระบบให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ”
นอกจากนี้ด้านกายภาพของโรงเรียนก็สำคัญ การมีห้องเรียนที่มีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีเพียงพอและสอดคล้องกับโลกปัจจุบัน รวมถึงครูมีเทคนิคการสอนที่ดีก็สามารถจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบโจทย์ผู้เรียนได้
อีกหนึ่งโรงเรียนที่ถูกพูดถึงในโครงการนี้คือ โรงเรียนรุจิรพัฒน์ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เริ่มที่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์มีเชื้อสายกะเหรี่ยง กะหร่าง และพม่า อีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นคนไทย และเมื่อใช้แว่นขยายค่อยๆ ตรวจตราสภาพปัญหาและอุปสรรคที่มีผลกระทบในการเรียนรู้ของเด็ก ไปจนถึงทำให้เด็กคนหนึ่งเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ดร.พจนพร จิตเจริญทวีโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์ ก็พบว่า
“ปัญหาที่เจอคือเด็กที่นี่ช่วงบ่ายๆ จะโดดเรียน พอเขาเจอผอ.เขาก็วิ่งหนี เราก็บอกว่ามาคุยกับผอ.ก่อน ถามเขาว่าทำไมถึงโดดเรียน เขาก็บอกว่า เขาเบื่อ เรียนไม่รู้เรื่อง ฟังไม่รู้เรื่อง เลยไม่อยากเรียน แต่ก็ไม่กลับบ้านนะ ไปแอบนั่งคุยกันอยู่ที่ป่าแถวๆ โรงเรียนนี่แหละ เพราะกลับบ้านไปก็ไม่รู้จะกลับไปทำไม บ้านก็ยากจน มาโรงเรียนยังได้เล่น ได้กินอาหารกลางวัน ได้มีเพื่อน มีคนมาแจกของ อันนี้คือความสุขของเด็ก”
“เรื่องเรียนไม่ต้องพูดถึงไม่หลับก็หนี ก็เลยเป็นปัญหาที่เอามานั่งคิด ก็ถามเด็กว่าถ้าไม่อยากเรียนอยากทำอะไร เขาก็ไม่ตอบ ไม่ตอบงั้นก็เขียนมา เขาก็บอกบอกอยากทำกิจกรรม อยากปลูกผัก อยากเลี้ยงปลา ซึ่งไม่มีเรื่องการเรียนเลย”
การพบกันคนละครึ่งทางระหว่างครูกับนักเรียนจึงเป็นทางออกที่ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์ใช้ในการดึงเด็กๆ ให้กลับมามีความสุขและสนุกกับการเรียนอีกครั้ง โดยจัดให้ตามคำขอที่ปรารถนา “เด็กอยากเรียนอะไรต้องได้เรียน” แต่มีข้อแม้ตัวใหญ่ๆ เลยว่า “เธอต้องเรียนด้วยนะ” ซึ่งสิ่งที่เด็กๆ อยากเรียนจะถูกจัดให้อยู่ภายใต้กิจกรรมชุมนุม โดยร่นตารางเรียนคาบสุดท้ายของแต่ละวันมาเป็นชุมนุมต่างๆ เช่น ตัดผม เสริมสวย ศิลปะ และเกษตร เป็นต้น
“เราต้องค่อยๆ ปูพื้นให้เขา ไม่ได้เอาวิชาการมาก เหมือนให้เขาได้เล่นไปด้วยและเขาก็ได้ความรู้ไปด้วยจากกิจกรรมของชมรมต่างๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราก็จะเปลี่ยนชั่วโมงสุดท้ายมาเป็นชุมนุม เด็กก็มาเรียนมากขึ้น แล้วก็มีความสุข”
เมื่อครูสังเกตเด็กมากขึ้นและพยายามเข้าใจโลกของเขา จะทำให้ครูได้รู้จักเด็กมากขึ้น รู้ปัญหา และความต้องการของเขา จากนั้นจึงหากิจกรรมที่ผลักดันให้เด็กได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็เสริมด้านสมองหรือวิชาการไปด้วย ซึ่งก็จะต้องเป็นการเรียนรู้ที่เป็น active leaning ที่ให้เด็กได้ลงมือทำ
“ส่วนเด็กที่ออกกลางคันก็พยายามไปตามกลับมา บางคนก็มีครอบครัวแล้ว ก็แนะนำให้เรียนกศน. แต่ถ้าใครอยากจะกลับเข้ามาเรียนอีกก็กลับมาได้นะ แต่บางคนมาแล้วออกอีก 3-4 รอบ ผอ.ก็บอกว่าพอแล้ว เวลาของเธอหมดแล้ว ผอ.ให้เธอสามครั้งเกินพอแล้ว เธอไปเรียนกศน.ดีกว่า คือเราต้องวิเคราะห์ตลอดเวลา แล้วเราก็ต้องเข้าถึงเขา เราออกเยี่ยมบ้านตลอด ดูแลเรื่องของทุนการศึกษาด้วย
“เราเน้นให้เขาแข่งกับตัวเอง แต่ก็ต้องช่วยเพื่อนด้วย คือเราจะเน้นเรื่องคุณธรรมไปด้วย เราภูมิใจที่เด็กของเรามีอนาคต เขาไม่ได้เก่งวิชาการแต่เขาเก่งทักษะชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของอาชีพ”
นอกจากนี้ยังมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้เรียน ซึ่งโรงเรียนรุจิรพัฒน์ได้ปรับหลักสูตรเป็น ‘โรงเรียนทักษะอาชีพ’ เชื่อมโยงกับอาชีวศึกษา เพื่อให้เด็กได้ทั้งการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และรายได้ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เด็กๆ อยากมาเรียน อย่างที่ได้เน้นย้ำกันเสมอมาว่า หากเด็กๆ อยากเรียนต้องได้เรียน และเรียนอย่างมีความสุข
- ปัญหาและอุปสรรคคือสิ่งที่เราต้องเผชิญหน้าอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราต้องพบเจอสิ่งเหล่านี้เพื่อเติบโตแม้จะต้องเจ็บปวดมากก็ตาม และมักมีใครสักคนเข้ามาพูดปลอบใจหลังผ่านเหตุการณ์ร้ายๆ มาได้ว่า “ความเจ็บปวดจะทำให้เราเติบโตขึ้น” แต่หลายครั้งการก้าวผ่านอุปสรรคปัญหาต่างๆ ก็ได้ทิ้ง บาดแผลไว้ในหัวใจของเราให้เป็นที่ระลึก
- เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เราใช้เวลาในการรักษาจิตใจมากกว่าเวลาในการแก้ปัญหา และการหันไปพึ่งพาคนอื่นโดยหวังว่าพวกเขาเหล่านั้นจะเข้าใจก็อาจทำให้เราผิดหวัง เพราะนอกจากจะไม่มีใครเข้าใจเราทั้งหมดแล้ว พวกเขายังพาลจะเบื่อหน่ายกับเรื่องราวเดิมๆ ที่รบกวนจิตใจของเราอีกด้วย
- อาจพูดได้ว่าการระบายกับคนอื่นนั้นนอกจากจะไม่ได้เยียวยาหัวใจที่บอบช้ำแล้วยังอาจทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดมากขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเราก็ยังต้องการสื่อสารกับใครสักคนที่จะเข้าใจและทะนุถนอมจิตใจของเรา ดังนั้น จะดีกว่าไหมถ้าผู้รับฟังคนนั้นคือตัวเราเอง
หลายครั้งชีวิตก็เล่นตลกร้ายจนทำเอาเราสูญเสียสมดุลในการดำรงชีวิตไป เราอาจถูกปัญหาซัดจนโซเซเสียศูนย์ และมันก็ยากเหลือเกินที่จะหาทางให้ตัวเองกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติดังเดิม ในช่วงชีวิตที่เรารู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรง ท้อแท้สิ้นหวัง และเสียความมั่นใจ มองไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง เป็นเรื่องง่ายที่เราจะดำดิ่งลงไปในความรู้สึกแย่ๆ และจมอยู่กับมัน
ถ้าเราเก็บความรู้สึกนั้นไว้จนลึกสุดใจเพราะเชื่อว่าจะไม่มีใครรักษาจิตใจของเราได้ นอกจากจะไม่ทำให้ความเจ็บปวดหายไปแล้ว ยังทำให้ความรู้สึกนั้นสะสม บาดแผลในจิตใจก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น และคอยออกมาตอกย้ำเมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคอีกด้วย
แน่นอนว่าการเยียวยาหัวใจที่บอบช้ำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่เสียหายหากจะลองเยียวยาความเจ็บปวด หากการระบายกับคนที่ไว้ใจไม่ได้ช่วยให้ดีขึ้น หรือไม่กล้าระบายเพราะกลัวจะถูกตัดสินจากมุมมองที่ต่างกัน ลองบอกเล่าความรู้สึกผ่านการเขียนดู อาจเป็นบันทึกความรู้สึก อาจเป็นกลอนเป็นบทกวี หรืออาจเป็นจดหมายที่ไร้ผู้รับ
ลองอนุญาตให้ตัวเองได้เข้าไปสำรวจบาดแผลในจิตใจและรักษามันด้วยการเขียนระบายความรู้สึกดูสักหน่อย เผื่อว่าความเจ็บปวดจะบรรเทาบ้างไม่มากก็น้อย
ทำไมถึงต้องเขียน?
งานวิจัยมากมายได้ชี้ว่าการเขียนช่วยให้ผู้ที่มีบาดแผลทางจิตใจดีขึ้น ถ้าจะให้เห็นภาพ ขอยกตัวอย่างงานวิจัยของ James Pennebaker จาก University of Texas at Austin บุคคลสำคัญที่ทำให้การเขียนเพื่อเยียวยาตัวเองหรือการเขียนบำบัดเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
เขาได้ทดลองโดยการสุ่มให้นักศึกษาเขียนสิ่งที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลและปมของตัวเองเป็นเวลา 15 นาทีต่อวัน ผลปรากฏว่านักศึกษาจำนวนกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ที่ได้ลองเขียนระบายความรู้สึกและความเจ็บปวด กลุ่มนี้หยุดเข้ารับบริการจากศูนย์ให้คำปรึกษานักศึกษาใน 6 เดือนถัดมา นั่นหมายถึง พวกเขาสามารถเยียวยาความบอบช้ำของตัวเองได้โดยไม่ต้องไปรับคำปรึกษาจากบุคคลอื่นอีกแล้ว งานวิจัยนี้จึงได้สร้างความสนใจให้กับนักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตวิทยาสังคมมาก
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของ Joshua M. Smyth ที่ได้ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร Journal of the American Medical Association (Vol. 281, No. 14) เขาได้ให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ 107 คนเขียนอะไรก็ได้เป็นเวลา 20 นาทีต่อวัน ติดต่อกันสามวัน โดยผู้ป่วย 71 รายเลือกเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดที่สุดในชีวิตและผู้ป่วยที่เหลือเลือกเขียนเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของพวกเขา
สี่เดือนหลังจากนั้น ผู้ป่วย 70 รายในกลุ่มการเขียนที่เน้นความเครียดพบว่ามีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายในชีวิต นอกจากนี้ การรับมือกับโรครวมไปถึงอาการป่วยก็ดีขึ้นโดยไม่มีท่าทีว่าจะมีอาการแย่ลงอีก เราอาจกล่าวได้ว่าการเขียนบำบัดมีผลกับการรักษาบาดแผลทางจิตใจ
อาจเป็นเพราะการเขียนทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น การเขียนเพื่อเยียวยาทำให้เราเห็นความรู้สึกที่อาจพูดออกมาไม่ได้จนติดอยู่ในหัวหรือติดค้างอยู่ในใจบนกระดาษตรงหน้า ทำให้เรารู้สึกว่าความคิดเหล่านั้นจับต้องได้ เป็นการสำรวจทบทวนบาดแผล ทำความเข้าใจ ปรับเปลี่ยนมุมมอง และปล่อยวางได้ในที่สุด
คำแนะนำก่อนการเริ่มเขียนบำบัด
การเตรียมตัวในการเขียนบำบัดทำได้ไม่ยาก เตรียมกระดาษและปากกาให้พร้อม ซื่อสัตย์ต่อตัวเองในการเขียน ไม่ต้องพยายามเขียนให้ดูสวยหรู ไม่ต้องกังวลเรื่องการใช้คำและภาษา ไม่มีข้อจำกัดอะไรเลยในการเขียน กระดาษที่บรรจุความรู้สึกแย่ๆ นี้เราอาจเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัย ที่ที่เรามั่นใจว่าจะไม่มีใครล่วงรู้และหาเจอ จำไว้ให้ขึ้นใจว่าเราไม่ต้องเอาไปให้ใครอ่าน เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราทบทวนตัวเอง สำรวจจิตใจ และเข้าใจบาดแผลได้อย่างถ่องแท้แล้ว เราก็สามารถทำลายมันทิ้งได้
นอกจากนี้ ในการเขียนเรื่องราวที่สะเทือนใจนั้นไม่ควรจะรีบร้อนเขียนให้จบ ไม่ต้องพยายามเขียนเรื่องราวทั้งหมดในครั้งเดียว เพราะหัวใจเราอาจยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับความรู้สึกเหล่านั้น ในเมื่อเราไม่สามารถพูดออกมาได้ การเขียนออกมาก็คงยากน้อยกว่ากันเพียงนิดเดียว หากเร่งรีบจนเกินไปอาจทำให้การเขียนบำบัดกลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียดยิ่งกว่าเดิม เข้าใจและให้เวลากับตัวเองเยอะๆ และที่สำคัญอนุญาตให้ตัวเองได้รู้สึกแย่ได้เต็มที่แล้วเราจะปรับใจให้เข้มแข็งได้เอง
บนหน้ากระดาษว่างๆ ที่ไม่มีที่สิ้นสุด เหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นพื้นที่ที่รองรับความกลัว ความกังวล และความหวังของเรา การเขียนทำให้เรามีพื้นที่สำหรับปลดปล่อยอารมณ์ด้านลบที่คนอื่นอาจไม่เข้าใจและตัดสิน
ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะมีบาดแผลในจิตใจ แต่การเก็บซ่อนความรู้สึกเหล่านั้นไว้อาจทำให้สภาพจิตใจของเราแย่ถดถอยลงตามไปด้วย ใส่ใจตัวเองให้มาก อย่าเข้มแข็งจนทำให้เสียศูนย์ ไม่เป็นไรถ้าหากจะรู้สึกอ่อนแอ เรื่องแย่ๆ เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้แต่เราต้องยอมรับและปรับตัวอยู่กับมัน ค้นหาความหมายของความทรงจำที่กระทบกระเทือนจิตใจใต้บาดแผลเพื่อยอมรับและเปลี่ยนแปลง ก้าวผ่านความบอบช้ำและเติบโต เหมือนที่ใครสักคนเคยพูดไว้ว่าความเจ็บปวดจะทำให้เราเติบโตขึ้น
อ้างอิง
Emotional and physical health benefits of expressive writing
- ‘จอห์น ไทรี’ เป็นตัวละครเอกจากนิยายเรื่อง Dear John รักจากใจจร ของ นิโคลัส สปาร์กส์ ในวัยเด็กเขาสนุกสนานกับรับหน้าที่คู่หูของพ่อผู้คลั่งไคล้ด้านเหรียญกษาปณ์ และพากันตามล่าหาเหรียญทั่วอเมริกา
- แต่เมื่อจอห์นโตขึ้นเรื่องนี้กลับไม่น่าสนุกอีกต่อไป เขาเริ่มเบื่อและรู้สึกไม่ดีกับพ่อ ที่ใช้เงินไปแต่กับเหรียญกษาปณ์ ส่วนเขาต้องรู้สึกต่ำต้อยน้อยหน้าเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ จนกลายเป็นรอยร้าวและความเหินห่าง
- จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อจอห์นได้พบรักกับซาวันนาห์ ซึ่งหลังจากพบกับพ่อของจอห์น เธอแนะนำหนังสือเกี่ยวกับโรคออทิสติกและแอสเพอร์เจอร์ ทำให้เขาเข้าใจพ่อที่มีอาการคล้ายกับโรค ‘แอสเพอร์เจอร์’มากขึ้น
จินตนาการว่าคุณเป็นเด็กชายวัย 6 ขวบ ที่สนุกสนานกับการรับหน้าที่คู่หูของพ่อในการตามล่าหาเหรียญกษาปณ์ทั่วอเมริกา แถมพ่อยังพูดคุยกับคุณเสมือนผู้ใหญ่วัยเดียวกัน ผมเชื่อว่าคุณคงปลาบปลื้มใจไม่น้อย
‘จอห์น ไทรี’ ก็เช่นกัน…
ตั้งแต่จอห์นจำความได้ พ่อมักทำกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์พ่อลูกในลักษณะนี้ ไม่นานจอห์นก็สามารถอธิบายถึงที่มา จุดสังเกต ตำหนิ และข้อมูลต่างๆ ของเหรียญกษาปณ์ทั่วอเมริกาได้อย่างแม่นยำ
ความคลั่งไคล้ด้านเหรียญกษาปณ์ของพ่อ เริ่มมาจากปู่ ซึ่งปู่ของจอห์นก็มักพาพ่อไปตะลุยล่าเหรียญกษาปณ์เช่นเดียวกัน เมื่อปู่เสียชีวิต เหรียญกษาปณ์เหล่านั้นก็มีราคาสูงขึ้นหลายเท่าตัว แต่สำหรับตระกูลไทรี เหรียญกษาปณ์ไม่ใช่สิ่งของเก็งกำไร แต่เป็นเรื่องราวของสองพ่อลูกที่ได้ทำอะไรดีๆ ร่วมกันมากกว่า
เรื่องนี้คงไม่แปลกอะไร หากจอห์นเป็นเด็กน้อยที่ตามพ่อออกตามล่าเหรียญกษาปณ์ตลอดไป…
รอยร้าว
แม้พ่อแม่หลายคนอยากให้ลูกเป็นเด็กตลอดกาล แต่เวลาก็ไม่เคยรับฟังความปรารถนานั้น เช่นเดียวกับจอห์นที่เริ่มโตขึ้น…โตขึ้นพร้อมๆ กับคำถามในใจถึงพ่อ…พ่อที่ดูแปลกเมื่อเทียบกับพ่อของเพื่อนคนอื่น
“พ่อเป็นคนเงียบขรึม เก็บเนื้อเก็บตัว พ่อเป็นคนเงียบที่สุดที่ผมเคยรู้จัก เราพูดเล่นกันน้อยมาก พ่อเงอะงะกับการเข้าสังคม ไม่ยอมออกเดท และไม่เข้าวงเล่นโป๊กเกอร์กับคนอื่น”
ตอนจอห์นอายุสิบสี่ ความหงุดหงิดที่เห็นเหล่าเพื่อนซี้พากันอวดสิ่งของเจ๋งๆ ตามสมัยนิยม ทำให้เขาเริ่มรู้สึกไม่ดีกับพ่อ เพราะไม่ว่ามีเงินเก็บเท่าไหร่ พ่อก็จะใช้มันไปกับเหรียญกษาปณ์เสมอ
“ผมเริ่มรู้สึกเบื่อหลังจากหลังฟังพ่อพูดแต่เรื่องเหรียญตลอดหกเจ็ดปี ผมกำลังสนใจกีฬา สาวๆ อยากออกไปข้างนอกบ้าง ผมเริ่มอยู่ไม่ติดบ้านและรู้สึกต่ำต้อยน้อยหน้าเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ ที่มีเงินไปดูหนังหรือซื้อแว่นกันแดดเท่ๆ มาใส่ ส่วนผมยังต้องควานหาเศษสตางค์จากเก้าอี้นวมไปซื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่แมคโดนัลด์”
ผมเห็นด้วยกับจอห์นสุดพลัง เพราะวัยรุ่นเป็นวัยอยากรู้อยากเห็นและต้องการการยอมรับจากเพื่อนฝูง ดังนั้น ‘การไม่มี’ อย่างเพื่อน ย่อมสร้างบาดแผลในใจเล็กๆ แต่ที่น่าเจ็บใจที่สุดคือนอกจากเหรียญกษาปณ์แล้ว พ่อไม่เคยคุยกับจอห์นเรื่องชีวิตวัยรุ่นแม้แต่น้อย
ดังนั้นผมไม่แปลกใจสักนิดที่จอห์นจะตัดสินใจถอยห่างจากเพื่อนกลุ่มนั้น และย้ายไปร่วมกลุ่มเด็กซ่าที่ชวนกันสูบบุหรี่ ก่อนพัฒนาไปสู่สิ่งอบายมุขทั้งหลาย จนในที่สุดจอห์นก็ถูกตำรวจหิ้วกลับมาส่งที่บ้านหลังเข้าร่วมปาร์ตี้เสพยา
“เมื่อพ่อดุด่า ผมก็ขึ้นเสียงว่ามันไม่ใช่กงการของพ่อ แล้วหนีไปอยู่บ้านเพื่อนสองสัปดาห์ ตอนกลับมาพ่อก็ไม่พูดอะไร ยังคงทำอาหารให้ผมทุกเช้า อาจมีถามบ้างเรื่องมหาวิทยาลัย แต่ผมตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เรียนต่อ ผมอยากทำงาน อยากได้อะไรก็ตามที่ผมไม่เคยมีสิทธิ์จับต้องมาตลอด 18 ปี”
สำหรับผม จอห์นเป็นวัยรุ่นพ่อรวยที่แสนอับโชค พ่อไม่เคยซื้ออะไรให้จอห์นเลยนอกจากรองเท้าคู่ใหม่ปีละคู่ ส่วนปัจจัย 4 อื่นๆ อย่างเช่น เสื้อผ้าของจอห์นที่ผมเกริ่นไว้ พ่อก็ดันไปซื้อจากองค์กรบรรเทาทุกข์ที่เอาเสื้อมือสองมาขายอีก ดังนั้นการที่จอห์นรู้สึกอึดอัดและอยากหาเงินเองก็ไม่แปลก เพราะอย่างน้อยพ่อก็ไม่ซื้อของฟุ่มเฟือยให้เขาอยู่แล้ว
จากนั้นบ้านก็ตกอยู่ในความเงียบ หลายวันผ่านไป พ่อพยายามชวนจอห์นรื้อฟื้น ‘วันชื่นคืนสุข’ ครั้งตามล่าหาเหรียญร่วมกัน แต่นั่นกลับเป็นชนวนที่จุดระเบิดความรู้สึกของจอห์นตลอด 18 ปี
“ผมตะคอกใส่หน้าพ่อว่าผมเบื่อฟังเรื่องเหรียญเต็มทีแล้ว ผมไม่อยากฟังอีกแล้ว พ่อขายมันทิ้งให้หมดเถอะ แล้วไปทำอย่างอื่นซะบ้าง ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่การสะสมเหรียญ จนถึงวันนี้ผมไม่เคยลืมสีหน้าเจ็บปวดของพ่อ หลังจากนั้นพ่อกับผมก็ไม่เอ่ยถึงเหรียญอีก”
จอห์นใช้ชีวิตแบบไร้จุดหมาย ทำงานที่ไหนก็อยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดเขาตัดสินใจไปสมัครเป็น ‘ทหารบก’ เพราะคิดว่ามันคงทำให้ชีวิตของเขาดูมีจุดหมายมากขึ้น
ช่วงเวลาที่ไปปฏิบัติภารกิจ พ่อจะคอยส่งจดหมายให้เขาทุกวันที่ 1 ของทุกเดือน แม้ข้อความจะมีแต่เรื่องข่าวคราวรอบบ้านที่เกิดขึ้น แต่ความสม่ำเสมอของพ่อนั่นเองที่ทำให้จอห์นเริ่มมองพ่อเขาในมุมที่ดีกว่าเดิม
“ตอนกลับมาสนามบิน แทนที่จะกอดกัน พ่อกลับจับมือผมแล้วถามเรื่องการเดินทาง กลับบ้านครั้งนี้ผมรู้สึกอึดอัดเหมือนครั้งก่อน แต่ตอนขึ้นรถแล้วเหลือบไปเห็นสติ๊กเกอร์ ‘ส่งใจไปแนวหน้า’ ที่พ่อแปะไว้ท้ายรถกระบะคันเก่า ผมไม่แน่ใจว่ามันหมายถึงอะไรในความคิดพ่อ แต่ผมก็ดีใจที่เห็นมัน”
ช่วงเวลาพักร้อนนั้นเอง ที่จอห์นได้พบกับนางเอกของเรื่องอย่าง ‘ซาวันนาห์ เคอร์ติส’ นักศึกษาสาขาการศึกษาพิเศษที่มาออกค่ายเพื่อสังคม ซึ่งหลังจากซาวันนาห์ได้คบหาจอห์น เธอได้ขอมาหาพ่อของเขาที่บ้าน แต่จอห์นก็พยายามปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า “พ่อผมไม่ค่อยพูด”
ซาวันนาห์ไม่สนใจและดึงดันจะไปพบพ่อของจอห์นแบบกะทันหัน เมื่อถึงบ้าน พ่อของจอห์นก็ ‘ช็อก’ และทำตัวเงอะงะ ทำให้บรรยากาศค่อนข้างอึดอัด ซาวันนาห์จึงลองชวนพ่อคุยเรื่องเหรียญกษาปณ์ (จอห์นเคยบอกเธอและเธอรู้ว่าสองพ่อลูกไม่ยอมคุยกันในเรื่องนี้) หลังลังเลสักพักในที่สุดพ่อก็โม้กับเธออย่างไหลลื่นกว่าสี่สิบนาที
กาวใจ
ซาวันนาห์ยังคงมาหาพ่ออยู่เรื่อยๆ และในที่สุดเธอก็ตัดสินใจยื่นหนังสือเกี่ยวกับโรคออทิสติกและแอสเพอร์เจอร์ให้กับจอห์น ทำเอาจอห์นตะลึงและโกรธมากเพราะคิดว่าที่ผ่านมาเธอเห็นพ่อของเขาเป็นแค่หนูทดลองเพื่อพิสูจน์ทฤษฎีบ้าๆ ที่เธอเรียนมา
“ฉันไม่ได้กล่าวหาว่าท่านไร้ความสามารถ แต่กิจวัตรประจำวันที่เหมือนเดิม การที่ท่านไม่สบตาใครเวลาพูดคุย หรือการไม่มีชีวิตทางสังคม…ฉันบอกคุณไม่ใช่เพราะดูถูกท่านแต่เพราะอยากให้คุณเข้าใจท่าน”
วันต่อมา จอห์นลองเปิดใจอ่านหนังสือเล่มนี้ และพบว่าพ่อของเขามีอาการคล้ายกับโรคแอสเพอร์เจอร์ หลายอย่าง
“ทั้งสองโรคนี้จะพบความผิดปกติด้านระบบทางพัฒนาการ ข้อแตกต่างคือคนเป็นออทิสติกจะอยู่ในโลกของตัวเอง แต่คนเป็นแอสเพอร์เจอร์จะอยู่ในโลกของเรา แต่ก็ในวิถีปฏิบัติที่เขาเลือกเอง ดังนั้นการที่พ่อมีตารางชีวิตเดิมๆ การปลีกตัวไม่เข้าสังคม และไม่ยอมสนใจอย่างอื่นนอกจากเหรียญกษาปณ์ นั่นไม่ใช่ว่าพ่อไม่ยอมเปลี่ยน แต่เปลี่ยนมันไม่ได้ต่างหาก”
วินาทีนั้น จอห์นรู้สึกเห็นใจพ่อมากขึ้น เขาคิดไปว่าแม่คงทิ้งพ่อไปด้วยอาการประหลาดๆ เหล่านี้ แต่พ่อกลับยืนหยัดรับผิดชอบและเลี้ยงดูเขาให้โตขึ้น ทั้งยังบอกให้เขาอธิษฐานเผื่อแม่เสมอ
“หลังอ่านหนังสือ ผมสังเกตว่าพ่อทำแบบเดียวกับที่ซาวันนาห์บอกไว้ แต่แปลกมากที่ความรู้เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของคนเราได้ นี่เป็นครั้งแรกที่ผมไม่ได้รู้สึกเดือดร้อนอะไรกับมัน ระหว่างกินข้าวผมไม่ถามพ่อว่าวันนี้เป็นไงเพราะพ่อคงไม่ตอบ พอกินข้าวเสร็จ ผมรู้ว่าพ่อต้องกลับไปนั่งเก้าอี้มุมโปรด ผมจึงเดินมาชวนพ่อคุยเรื่องเหรียญ พ่อทำหน้าเหลือเชื่อ เหลือบตามองพื้น ยกมือลูบผม จากนั้นผมก็วางมือบนบ่าผมและตอบตกลง สิ่งเดียวที่ผมคิดได้ตอนนั้นคือ ผมไม่เคยรู้สึกใกล้ชิดกับพ่อแบบนี้มาหลายปีแล้ว ผมอิ่มใจไปกับน้ำเสียงตื่นเต้นยามพ่อเล่าถึงเหรียญเป็นเวลาหลายชั่วโมง”
หลังจากนั้น ความสัมพันธ์ของพ่อลูกที่ล้มเหลวก็ค่อยๆ ฟื้นฟูขึ้นอย่างก้าวกระโดด จอห์นบอกว่าตอนที่กลับไปประจำการที่ฐานทัพ พ่อยังเขียนจดหมายให้เขาทุกวันที่ 1 เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเนื้อความยาวขึ้นสองเท่า
ส่วนจอห์นเองก็พยายามหาข้อมูลเรื่องเหรียญกษาปณ์และเขียนถึงพ่อบ่อยๆ เช่นกัน
ไม่กี่เดือนจากนั้น พ่อของจอห์นล้มป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรง แต่ที่สุดแล้วหมอก็รักษาจนพ่อสามารถกลับบ้านได้
“ผมเขียนจดหมายถึงพ่อบ่อยขึ้น โทรหาพ่ออาทิตย์ละสองวัน พยายามจับน้ำเสียงว่าพ่อไม่เป็นอะไรและเตือนให้พ่อกินยาตามหมอสั่ง นอนให้เพียงพอ ซึ่งพ่อมักเงียบและปล่อยให้ผมพูดฝ่ายเดียว แต่ผมรู้ว่าพ่อดีใจ…อย่างน้อยก็วัดจากน้ำเสียงที่แสนสดชื่น”
ผมรู้สึกว่าหนังสือเรื่องโรคออทิสติกและแอสเพอร์เจอร์ไม่เพียงทำให้จอห์นเข้าใจพ่อมากขึ้น แต่ยังช่วยให้จอห์นเรียนรู้ที่จะรักพ่อของเขาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน สังเกตจากการที่จอห์นเลิกคาดคั้นให้พ่อโต้ตอบในบทสนทนา และเลือกที่จะใช้เวลาพักร้อนในการนั่งอ่านหนังสือเงียบๆ ข้างพ่อที่นั่งดูเหรียญกษาปณ์ไปเรื่อยๆ
“การไม่คาดหวังของผมทำให้เกิดบรรยากาศสุขสงบและจริงใจ ความเงียบทำให้เรากลายเป็นเพื่อนกันโดยไม่ต้องเสแสร้ง และเมื่อผมต้องกลับไปประจำการ ผมก็รู้ว่าผมจะคิดถึงพ่อในแบบที่ผมไม่เคยคิดมาก่อน”
ปีต่อมา พ่อของจอห์นหัวใจล้มเหลวเป็นครั้งที่สอง และต้องใช้เวลาส่วนมากบนเตียง หมอจึงแนะนำให้พ่อย้ายไปศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะยาว
“เมื่อได้รับรู้ ผมถึงกับเข่าอ่อน พยายามปลอบใจตัวเองว่าหมอพูดเกินไป ผมตกใจเมื่อเห็นพ่อ ภายในปีเดียวตั้งแต่ผมเจอพ่อครั้งล่าสุด พ่อดูเหมือนแก่ลงไปอีกสามสิบปี ผิวของพ่อเกือบเป็นสีเทา ผมตกใจที่พ่อซูบผอมไปกว่าเดิมมาก ผมเริ่มร้องไห้ พ่อกำลังจะตาย นี่เป็นครั้งแรกที่ผมร้องไห้ในหลายปีที่ผ่านมา และเป็นครั้งเดียวในชีวิตที่ผมร้องไห้เพราะพ่อ ผมร้องไห้อยู่นานมาก”
จอห์นใช้เวลาพักร้อนพิเศษที่ได้ ดูแลพ่ออย่างดีที่สุด อ่านเรื่องเหรียญกษาปณ์ให้พ่อฟัง ทำซุปให้ทาน และคอยเปลี่ยนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ท่าน
“ก่อนกลับไปประจำการที่เยอรมัน ผมบอกพ่อถึงความกลัดกลุ้มของผมหากพ่ออยู่บ้านต่อไป ผมอยากให้พ่อย้ายไปที่อื่นที่มีคนดูแล พ่อไม่ได้ถามอะไร แต่ก็ทำหน้าตกใจตาค้างราวกับได้ยินคำตัดสินประหารชีวิต เมื่อผมเดินไปหยิบน้ำให้พ่อ ปรากฏว่าตอนกลับมาพ่อกำลังซบหน้ากับโซฟาตัวสั่นเทา นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็นพ่อร้องไห้”
หลังทำใจสักพัก พ่อก็สั่งให้จอห์นขุดกล่องใบหนึ่งที่พ่อฝังมันไว้ใต้ต้นไม้หลังบ้านขึ้นมา ที่นั่นจอห์นได้พบกล่องที่บรรจุเหรียญกษาปณ์ที่พ่อรักมากที่สุด และตอนนี้พ่อมอบมันให้เขา
“ผมพาพ่อไปส่งศูนย์ดูแลผู้ป่วยระยะยาว พ่อตัวแข็งทื่อ สายตาของพ่อทำให้ผมใจแทบขาด เหมือนผมกำลังฆ่าพ่อแท้ๆ ผมนั่งข้างเตียงพ่อเพื่อใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงที่เหลือกับพ่อก่อนบินกลับไปประจำการ”
จอห์นรู้ดีว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่เขาจะได้เห็นพ่อในสภาพมีชีวิต เขาจึงอดไม่ได้ที่จะหลั่งน้ำตายามกล่าวลา
“ทุกอย่างจะเรียบร้อยครับพ่อ พวกเขาจะดูแลพ่อ ผมอยากให้พ่อรู้ว่าพ่อเป็นพ่อที่ดีที่สุด พ่อดูแลลูกแย่ๆ อย่างผมมาได้ดีขนาดนี้ ผมขอโทษสำหรับเรื่องงี่เง่าทั้งหลายที่ผมทำกับพ่อ ผมเสียใจที่ผมไม่ค่อยมีเวลาให้พ่อ พ่อเป็นคนดีที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จักมา พ่อเป็นคนเดียวที่ไม่เคยโกรธผม พ่อไม่เคยโทษผม พ่อสอนให้ผมรู้จักชีวิตมากกว่าที่ลูกคนไหนจะรู้ได้ ผมขอโทษที่ผมจะต้องไปจากพ่ออีกแล้ว และผมเกลียดตัวเองที่ต้องทำแบบนี้กับพ่อ แต่พ่อครับ ผมเป็นห่วงพ่อมาก ผมไม่รู้จะทำยังไงอีกแล้ว ผมรักพ่อนะ”
“พ่อก็รักลูก จอห์น”
7 สัปดาห์ต่อมาพ่อของจอห์นก็จากไป แต่ก่อนตายก็ไม่วายทำหน้าที่พ่อครั้งสุดท้ายด้วยการมอบหมายให้ทนายความคนโปรดมาจัดแจงเรื่องพินัยกรรม ก่อนเซ็นยกมรดกทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเหรียญกษาปณ์ บ้าน และเงินจากบริษัทประกันที่ทำไว้ให้กับจอห์นทั้งหมด ซึ่งเป็นการปิดฉากความเป็นพ่อได้อย่างสง่างามที่สุดเท่าที่ ‘พ่อ’ คนหนึ่งจะทำได้
‘จอห์น ไทรี’ เป็นตัวละครเอกจากนิยายเรื่อง Dear John (รักจากใจจร) ของ นิโคลัส สปาร์กส์ ฉบับภาษาไทยแปลโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา ( สำนักพิมพ์มติชน) ก่อนถูกนำมาทำเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันในปี 2553 ซึ่งนำแสดงโดย แชนนิง เททัม, อะแมนดา ไซเฟร็ด และ ริชาร์ด เจกกิ้นส์ |
- ผู้คนอาจนิยาม ‘ครอบครัว’ ผ่านสายใยพันธุกรรม และ/ หรือผ่านการดูแลเอาใส่ใจกันและกัน รวมถึงผ่านความเชื่อมโยงในทางอื่นใด แต่ ดร. โซฟี ซาเดห์ นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยครอบครัว มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมที่มีความรักความอบอุ่นและเกื้อกูลต่อการเจริญงอกงามก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
- อีกกรณีหนึ่งที่นิยาม ‘ครอบครัว’ ได้กว้างขวางกว่าภาพของครอบครัวตามขนบ คือกรณีของ ‘เบรนแดน’ และ ‘ททิชานา’ ที่มีการตกลงเข้ามามีลูกและเลี้ยงลูกร่วมกัน (co-parenting) โดยที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันแบบคู่รักโรแมนติกและไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กัน
- หลายเรื่องราวของการเป็น ‘ผู้ปกครองร่วมคนอื่นๆ’ (co-parents) ทำให้เห็นความหลากหลายของ ‘ครอบครัว’ รวมถึงเห็นความเป็นไปได้ในการออกแบบรูปแบบอื่นๆ และหากแนวคิดเรื่องการเป็นผู้ปกครองร่วมแพร่หลายขึ้นในสังคมอื่นๆ สังคมนั้นๆ ก็ยังจำเป็นต้องถกเถียงร่วมกับภาคประชาชนและยังต้องผ่านการวิวัฒนาการทั้งเรื่องกฎหมายและจริยะสำหรับแต่ละถิ่นต่อไป
1.
ฟราน ทุสโซ (Fran Tusso) สาวน้อยจากเดลาแวร์ สหรัฐอเมริกา เป็นลูกคนเดียวที่เกิดมาจากการบริจาคอสุจิและได้รับการเลี้ยงดูจากแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอบอกเล่าความรู้สึกในวัยเด็กที่ไม่เจอ ‘พ่อ’ ทางชีวภาพ อีกการมี ‘พี่น้อง’ 45 คนซึ่งอาศัยอยู่คนละที่โดยที่เธอเรียกพวกเขาว่า ‘ครอบครัว’ ซึ่งโดยรวมเธอรู้สึกไปในทางบวก แม้จะมีคำวิจารณ์ในทางลบต่อสถานการณ์ของเธออยู่พอสมควร
ผู้คนอาจนิยาม ‘ครอบครัว’ ผ่านสายใยพันธุกรรม และ/ หรือผ่านการดูแลเอาใส่ใจกันและกัน รวมถึงผ่านความเชื่อมโยงในทางอื่นใด อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยกับคำกล่าวของดร. โซฟี ซาเดห์ (Sophie Zadeh) นักวิจัยแห่งศูนย์วิจัยครอบครัว มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เธอกล่าวว่าสิ่งแวดล้อมที่มีความรักความอบอุ่นและเกื้อกูลต่อการเจริญงอกงามก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด
ไม่ว่ารูปแบบ ‘ครอบครัว’ จะเป็นไปตามขนบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจและยอมรับหรือไม่ก็ตาม
ทั้งนี้ ดร. ซาเดห์ กล่าวว่าครอบครัวตามประเพณี (traditional family – อย่างที่มีผู้ชายกับผู้หญิงซึ่งเชื่อมโยงกับลูกร่วมกันผ่านเพศสัมพันธ์) เป็นดั่งปกรณัมร่วมของสังคม เธอเก็บข้อมูลของพ่อแม่ลูกในรูปแบบครอบครัวที่แตกต่างกัน โดยครอบครัวอาจหมายถึงแม่ 2 คนที่คนหนึ่งพันผูกกับลูกผ่านมดลูกส่วนอีกคนก็เชื่อมโยงกับลูกผ่านไข่ ครอบครัวอาจหมายถึงพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่มีลูกจากการอุ้มบุญ (surrogacy) หรือแม่เลี้ยงเดียวที่มีลูกจากอสุจิบริจาค ฯลฯ (แน่นอนว่าทั้งหมดเหล่านี้มีปัญหาของมัน แต่ขอละไว้ก่อน ข้อมูลเพิ่มเติมเบื้องต้นสามารถดูตามอ้างอิง)
อีกทั้ง ครอบครัวอาจหมายถึงการตกลงเข้ามามีลูกและเลี้ยงลูกร่วมกัน (co-parenting) ระหว่างคนที่ไม่จำเป็นต้องสัมพันธ์กันแบบคู่รักโรแมนติกและไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กัน เฉกเช่นความสัมพันธ์ของเบรนแดน และททิชานา
2.
เบรนแดนรู้ว่าตัวเองเป็นเกย์และก็ต้องการ ‘เป็นพ่อ’ มาตลอดด้วย ย้อนกลับไปหลายปีก่อนเขาอายุขึ้นเลขสี่และรู้ว่าถึงเวลาต้องมีลูกเสียที
และย้อนกลับไปหลายปีก่อนททิชานา คือหญิงสาววัยสามสิบกว่าซึ่งหย่ากับสามีแล้วแต่ยังร่วมกันเลี้ยงลูกที่เกิดกับสามีเก่า และเธอก็อยากมีลูกอีกคน
เบรนแดนและททิชานาได้พบและพูดคุยกันผ่านเว็ปไซต์แห่งหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งค้นหาคนที่จะมาเป็นพ่อแม่/ ผู้ปกครองร่วมกันโดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมโยงในเชิงโรแมนติกและไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์กับอีกฝ่าย (co-parenting – ซึ่งในบริบทนี้ไม่เหมือนกับศัพท์ดังกล่าวที่ใช้กับคู่สมรสที่หย่ากันแต่เลี้ยงดูลูกร่วมกัน) และถึงแม้จะมีเรื่องรักๆ ใคร่ๆ และการร่วมเพศเกิดขึ้นได้ ก็ไม่ใช่เรื่องหลักเท่าการเป็นพ่อแม่ของลูก
และแล้วที่เมืองโตรอนโต ประเทศแคนนาดา เบรนแดนได้เจอกับ ‘แม่ของลูก’ ภายหลังททิชานาก็ผสมเทียมและในที่สุดก็คลอดน้อง ไมโล ออกมาโดยมีเบรนแดนอยู่เคียงข้างอันเป็นห้วงขณะที่พวกเขารู้สึกเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่น พวกเขาแบ่งหน้าที่กันเลี้ยงลูกในลักษณะครอบครัวเดียวที่แยกเป็นสองครัวเรือนได้และเจอปัญหาเหมือนที่สามีภรรยาในครอบครัวตามขนบและผู้คนในความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ ต้องเจอ แต่ก็มีความสุขและรู้สึกว่าตัดสินใจถูกที่มาร่วมกันเป็นพ่อแม่น้องไมโล
นี่เองเป็นอีกนิยามของ ‘ครอบครัว’ ที่กว้างขวางกว่าภาพของครอบครัวตามขนบที่นอกจากคาดหวังกันและกันในหน้าที่ทั้งนอกบ้านและในบ้าน รวมถึงการดูแลสมาชิกอื่นๆ ของแต่ละฝ่ายอย่างดีที่สุดแล้ว (ซึ่งครอบครัวจำนวนมากคู่สมรสหญิงต้องแบกไว้มากกว่าชาย) ตัวคู่เองก็คาดหวังในสัมพันธ์รักโรแมนติกและเพศสัมพันธ์จากคู่ครองภายใต้กรอบผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งมักจะแปลว่าหนึ่งผัวหลายเมีย อันดาษดื่น ที่มักใช้ไม่ได้ในทางกลับกัน
3.
ยังมีเรื่องราวของผู้ปกครองร่วมคนอื่นๆ (co-parents) ซึ่งมักเริ่มในวัยสามสิบสี่สิบบวก โดยได้รู้จักกันผ่านเว็ปไซต์เพื่อหาคนมามีลูกและเป็นผู้ปกครองร่วมกันโดยเฉพาะ บ้างก็ใช้เทคโนโลยีและบ้างก็มีเพศสัมพันธ์กันเพื่อให้มีลูก บ้างก็ตกหลุมรักกันจริงๆ ในที่สุดและบ้างก็ไม่มีเพศสัมพันธ์และไม่รู้สึกโรแมนติกใดๆ แต่ต้องแกล้งเล่นบทคู่รักให้สังคมดู แม้แต่ที่สหราชอาณาจักรเองในหลายบริบท ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นไปตามขนบแบบนี้ก็ยังถูกตัดสิน
อย่างไรก็ตาม ได้เห็นความหลากหลายของ ‘ครอบครัว’ รวมถึงเห็นความเป็นไปได้ในการออกแบบรูปแบบอื่นๆ อันหลากหลายในการที่ผู้คนจะมาร่วมกันเกื้อกูลสมาชิกครอบครัวอย่างเช่นผู้สูงอายุให้แต่ละฝ่ายในสังคมที่มีผู้สูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ และมีเด็กเกิดน้อยลงเป็นประวัติการณ์ด้วย
มีผู้คนที่แต่งงานกันและเริ่มจากความรักใคร่ มีลูกและอยู่ด้วยกันโดยผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่ายเคารพหรือไม่เคารพชีวิตส่วนตัวของคู่ครองนั้นก็ตาม และจบลงด้วยการหย่าแสนแพงไม่ว่าร้างรากันเพราะเหตุใด ทั้งยังมีฝ่ายที่อาจไม่ได้เจอลูกเลยหลังจากนั้น
ในขณะที่การเป็นผู้ปกครองร่วมซึ่งมักไม่เน้นเรื่องรักใคร่ชู้สาวและตัดการที่จะต้องอยู่ร่วมกันตลอดออกไปก็อาจทำให้ความสัมพันธ์เสถียรกว่า แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะพังไม่ได้ และสามารถจะจบลงเหมือนการหย่าอันเหนื่อยยากกับคู่สมรสทั้งที่ส่วนหนึ่งของการมาเป็นผู้ปกครองร่วมลักษณะนี้ก็คือความต้องการจะตัดปัญหาดังกล่าว
หากแนวคิดเรื่องการเป็นผู้ปกครองร่วมแพร่หลายขึ้นในสังคมอื่นๆ สังคมนั้นๆ ก็ยังจำเป็นต้องถกเถียงร่วมกับภาคประชาชนและยังต้องผ่านการวิวัฒนาการทั้งเรื่องกฎหมายและจริยะสำหรับแต่ละถิ่นต่อไป
ครอบครัวที่มีพ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องที่มีสายใยร่วมกันผ่านเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศตรงข้ามภายใต้กฎหมายและประเพณีบางอย่างยังคงมีความสำคัญแน่ และสามารถจะเปี่ยมไปด้วยความเกื้อกูลพอกันกับที่อาจเหงาหงอยหรือทำร้าย ในขณะที่ครอบครัวแบบใหม่ที่เพศมีความลื่นไหลหลากหลายและมีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้มีลูกโดยไม่จำเป็นต้องมีเรื่องชู้สาวและเพศสัมพันธ์กัน รวมถึงความเชื่อมโยงในทางใดกับคนที่เป็น ‘เสมือน’ พ่อแม่ พี่น้อง ปู่ย่าตายาย ฯลฯ นอกสายพันธุกรรม แม้จะมีปัญหาได้เหมือนทุกความสัมพันธ์ แต่ก็สามารถจะมีความลึกซึ้งและให้ผลทางบวกในการเดินทางของชีวิตอย่างที่สุดเช่นกัน
ส่วนในทางเลือกอื่น ผู้คนอาจเข้ามาใช้และดูแลพื้นที่และสมาชิกในพื้นที่ร่วมกัน และต่างเกื้อกูลกันในการตัดการสืบต่อบางอย่างทั้งทางชีวภาพและทางจิต เหมือนในการเคลื่อนไหวสละโลกของนักบวชก็ได้ ✝
อ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต
Assisted Reproduction: an End to traditional family values? (TEDxCambridge University) โดย Sophie Zadeh
Being Donor-Conceived and Normalizing Non-traditional families (TEDxYouth) โดย Fran Tusso
How two strangers became co-parents โดย Cyan Turan
‘I wanted to meet a mate and have a baby without wasting time’: the rise of platonic co-parenting โดย Deborah Linton, the guardian
Singles are having kids with strangers as part of the co-parenting trend โดย Melkorka Licea
On the Relationships between Buddhism and Other Contempolary Systems โดย A.K. Warder
How marriage has changed over centuries; critics of gay marriage see it as an affront to sacred, time-tested traditions. How has marriage been defined in the past?
เมื่อ ‘เมียน้อย’ กลายเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมไทย โดย แป้งร่ำ
ดู รู้จักทัวร์ ‘อุ้มบุญ’ ในโลก โดย วรากรณ์ สามโกเศศ
- ‘ครูไนซ์’ กะวิตา พุฒแดง ผู้ก่อตั้ง ‘บ้านกางใจ’ ชวนมอง ‘นิทาน’มุมใหม่ ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้เพียงสิ่งที่อยู่ในโลกจินตนาการเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างได้ผล หากผู้ใหญ่หรือผู้ดูแลเด็กใช้มันได้อย่างเหมาะสม
- คนส่วนใหญ่มักมองว่าการเลือกนิทานที่เหมาะสมกับเด็ก ต้องพิจารณาจากเนื้อหาที่สอดคล้องกับช่วงวัย แต่จริงๆ แล้วนิทานสามารถสื่อสารกับคนได้ทุกช่วงอายุไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่
- เราสามารถสร้าง Self Esteem ให้กับเด็กผ่านการเล่านิทานได้ แต่ก่อนที่เราจะทำให้เด็กคนนึงเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง Self Esteem หรือเกิดความมั่นใจได้ ผู้ใหญ่ก็ต้องมีคาแรกเตอร์แบบนั้นก่อน
‘กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว…’ ไม่ว่าใครก็คงเคยได้ยินประโยคนี้ตั้งแต่สมัยเด็กๆ เพราะเมื่อได้ยินหรือได้อ่านก็จะรู้ได้ทันทีว่าความสนุกในโลกจินตนาการกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว
ทว่าโลกของนิทานไม่ได้หยุดอยู่แค่จินตนาการเท่านั้น เพราะนิทานสามารถเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างได้ผล หากผู้ใหญ่หรือผู้ดูแลเด็กใช้มันได้อย่างเหมาะสม ‘ครูไนซ์’ กะวิตา พุฒแดง ผู้ก่อตั้ง ‘บ้านกางใจ’ พื้นที่การเรียนรู้สำหรับเด็กและครอบครัว เป็นคนหนึ่งที่เห็นความสำคัญของนิทาน และใช้เครื่องมือนี้ในการเสริมสร้างการเรียนรู้, Self Esteem และส่งเสริมนิสัยรักการอ่านให้กับเด็กๆ อย่างเป็นธรรมชาติ
โดยที่ ‘บ้านกางใจ’ เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้ผ่านการเล่นของตนเอง ผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกออกเเบบให้มีความเหมาะสมกับเด็กเป็นรายบุคคลตามพัฒนาการ
ประตูสู่โลกนิทานของ ‘ครูไนซ์’ แห่ง ‘บ้านกางใจ’
“เราเคยตั้งคำถามว่า ‘คิดว่านิทานหน้าไหนสำคัญที่สุด’ ก็จะมีคำตอบว่า ‘หน้ากลางของเรื่อง’ หรือ ‘ตอนที่มันมีเฉลยคำตอบของเรื่อง’ แต่สำหรับเราแล้ว ทุกหน้าสำคัญเท่ากันหมดเลย”
ครูไนซ์ เล่าประสบการณ์ของตัวเองให้ฟังว่า เมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่มีโอกาสได้ทำงานเกี่ยวกับนิทานเคยเกิดคำถามว่า ‘ทำไมนิทานบางเล่มถึงทำงานกับตัวเราเยอะขนาดนี้?’ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นตัวครูไนซ์เองก็อายุ 20 ต้นๆ แล้ว
“เพราะเราเซนซิทีฟหรือเปล่า? หรือว่าเราเกิดกระบวนการอะไรบางอย่าง ทำไมเพื่อนๆ ถึงไม่รู้สึกกัน” คำถามในใจนี้ นำไปสู่การทำความเข้าใจนิทานในมุมใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาและใช้ประโยชน์จากนิทานเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม
“สมัยก่อนเราเป็นชนชั้นกลางที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่ได้มีหนังสือนิทานเยอะ ตอนที่อ่านนิทานอีสปเราก็รู้สึกว่ามันไม่เห็นสนุกเลยเพราะมันมีการชี้นำ เลยรู้สึกว่า ทำไมเราต้องเชื่อตามที่เขาบอกด้วย ทำให้เราไม่อินกับกับนิทานเลย จนกระทั่งได้มาทำงานที่ a day เลยเพิ่งมาเข้าใจว่านิทานนั้นมีมิติโดยที่ไม่ต้องมีคำพูดเลยก็ได้”
ทำความรู้จักกับนิทานหลากหลายรูปแบบ
“นิทานของแถบยุโรป อเมริกา สแกนดิเนเวีย จีน รวมถึงของไทย ก็จะมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกันอยู่ เพราะทุกเชื้อชาติก็มีนิทานที่สืบต่อกันมา ซึ่งต้นกำเนิดของนิทานจริงๆ คือเรื่องเล่า ถ้าหากว่าต้องการที่จะสร้างสังคมให้เติบโตมายังไง เรื่องเล่าก็จะออกมาเป็นอย่างนั้น อย่างเช่น ซินเดอเรลล่า ก็มีต้นกำเนิดมาจากจีน จากนั้นฝรั่งนำมาดัดแปลงต่อ ถามว่าซินเดอเรลล่ามีการสะท้อนความเชื่อของสังคมจีนยังไง ก็คือมีอยู่ช่วงหนึ่งที่วัฒนธรรมจีนเชื่อว่าผู้หญิงเท้าเล็กจะเป็นผู้หญิงที่ดูดี เรียบร้อย ส่วนชาวตะวันตกส่วนใหญ่จะมีเท้าที่ใหญ่ ก็เหมือนเป็นการส่งต่อวัฒนธรรมข้ามกันไปมา”แล้วนิทานที่เราคุ้นเคยกันมีกี่รูปแบบ แต่ละแบบมีความน่าสนใจอย่างไร ครูไนซ์บอกว่า น่าจะมีหลายร้อยแบบ อย่างในไทยก็จะมีนิทานพื้นบ้าน นิทานภาษาถิ่น นิทานศาสนา นิทานจริยธรรม หรือนิทานการเมือง เป็นต้น แต่โดยทั่วไปเราจะจัดเป็นหมวดใหญ่ก่อน ซึ่งแบ่งเป็น นิทานภาพสำหรับเด็ก และนิทานที่เป็นตัวอักษร
“สิ่งที่เราสนใจเป็นพิเศษคือ ‘นิทานภาพ’ ซึ่งมันก็สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก ว่านิทานนั้นเป็น Picture Book หรือว่า Visual Literacy ขึ้นอยู่กับว่าภาพของนิทานนั้นสามารถสื่อสารดีพอแล้วหรือยัง”
บางคนอาจจะเกิดคำถามว่า นิทานทุกเล่มไม่ใช่หนังสือภาพเหรอ? เพราะจริงๆ แล้วนิทานมันก็มีภาพเล่าเรื่อง ครูไนซ์ตอบว่า เมื่อเรามาดูรายละเอียดจริงๆ ของนิทานบางเล่มแล้ว ภาพของนิทานนั้นไม่ได้มีความต่อเนื่องกัน กล่าวโดยสรุปเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ ภาพที่ต่อเนื่องกันจะเรียกว่า Visual literacy ส่วนภาพที่ไม่ต่อเนื่องกันจะเรียกว่า Picture book
“โดยหนังสือภาพที่มีความต่อเนื่องตั้งแต่ต้นจนจบหรือ Visual literacy เนี่ย ไม่จำเป็นต้องมีคนเล่านำ เด็กสามารถดูภาพและรับรู้ได้เองว่าเรื่องเป็นอย่างไร แต่ถ้าเป็นหนังสือภาพที่ภาพไม่ต่อเนื่อง สิ่งที่พบคือภาพจะถูกตัดตอนไป ยกตัวอย่างเช่น เนื้อเรื่องคือเจ้าหญิงกำลังจะไปปราสาท ขึ้นรถฟักทอง แต่ภาพมีแค่เจ้าหญิงเปลี่ยนจากชุดแม่บ้านมาเป็นชุดสวย แล้วตัดภาพมาเป็นที่ปราสาทเลย สุดท้ายแล้วพอมันมีรอยต่อตรงนั้นอยู่ เด็กก็จะงงว่าทำไมเราเล่าไปอีกภาษานึง เพราะภาพมันหายไปซีนนึงเลย”
เสริมสร้างการเรียนรู้ด้วยการอ่านนิทานจากภาพ
ครูไนซ์เล่าให้ฟังว่าที่ออสเตรเลียและอเมริกา จะมีวิชาที่สอนให้เด็กอ่านภาพได้ด้วยตัวเอง เพราะถ้าเด็กอ่านภาพออก เขาก็จะอ่านสิ่งแวดล้อมออกด้วย แต่หลายๆ ครั้งที่สังคมไทยจะประเมินเองว่า ‘เด็กยังเล็กไป’ ‘คงอ่านยังไม่ออก’ ยังไม่ต้องให้ถึงหนังสือหรอก ทั้งๆ ที่ตามพัฒนาการแล้ว เด็กตั้งแต่ 1 ขวบครึ่งก็สามารถเริ่มรู้มิติได้แล้ว แต่เด็กจะอ่านได้ไหม หรือเปิดหน้าได้ไหม ก็ขึ้นอยู่กับช่วงวัยของเด็กอีกทีหนึ่ง
ซึ่งครูไนซ์ก็ได้ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง ‘The Snowman’ ที่เป็นภาพทั้งหมดขึ้นมา
“เรื่อง ‘The Snowman’ เป็นเรื่องที่ไม่มีตัวอักษรอะไรเลย แต่เรากลับสามารถรับรู้สารตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตัวเราเอง
ก็จะมี Symbolic ต่างๆ ซึ่ง เราก็ต้องดูด้วยว่าเด็กอยู่วัยไหน เพื่อเลือกวิธีเล่าและวิธีสื่อสารกับเด็ก เพราะเด็กบางคนอาจจะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมกับหิมะเท่าไหร่ ถ้าเป็นเด็กเล็ก เขาก็อาจจะไม่เข้าใจว่า หิมะมันรู้สึกหนาวและร้อนยังไง อย่างโทนสีภาพก็จะมีส่วนช่วยเล่า โดยไล่เฉดจากช่วงแรกที่เริ่มด้วยความอบอุ่น แล้วสักพักโทนสีก็เริ่มดาร์กขึ้น สุดท้ายก็จบด้วยความสว่างอีกรอบ ซึ่งเรื่องนี้เราจะเล่าสำหรับเด็กเจ็ดขวบขึ้นไป ส่วนจะเล่ายังไงก็ขึ้นอยู่กับทักษะภาษาของเด็กคนนั้น”
อีกเรื่องที่ครูไนซ์ยกขึ้นมาเล่าให้ฟังคือเรื่อง ‘Flora and the Penguin’
“เรื่อง ‘Flora and the Penguin’ ก็เป็นอีกเล่มที่ไม่มีตัวอักษรเหมือนกัน แต่เราจะเล่าด้วยการใส่เสียงกับท่าเข้าไป อย่างที่บอกว่าเรานิยามนิทานส่วนใหญ่เป็น Visual Literacy เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่หน้าปก ซึ่งปกติเราจะใส่จังหวะเข้าไปในหนังสือที่เป็น Wordless ไปเลยแบบนี้ค่ะ”
ครูไนซ์เริ่มเล่านิทานด้วยการร้องเพลงและเลียนเสียงตามตัวละครของนิทาน และให้ความเห็นว่าเล่มนี้คือหนังสือภาพที่ดี เพราะทุกคนสามารถเห็น Action ตามภาพได้ โดยที่ไม่ต้องระบุคำอะไรเลย
“เด็กเขาจะรู้เองว่าเสียงนี้หมายถึงเพนกวินนะ คือเด็กเขาเข้าใจง่ายกว่าผู้ใหญ่อย่างเราซะอีก ก็เลยสามารถรับสารพวกนี้ไปได้เลย แต่หลายๆ ครั้ง การศึกษาไทยชอบไปตัดกระบวนการการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็กลง ต้องไปชี้นำเยอะ ทั้งๆ ที่เขามีศักยภาพในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เขาแค่ไม่มีพื้นที่ให้ปล่อยออกมา”
ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ นิทานก็ยังตอบสนองเราได้
คนส่วนใหญ่มักมองว่าการเลือกนิทานที่เหมาะสมกับเด็กต้องพิจารณาจากเนื้อหาที่สอดคล้องกับช่วงวัย แต่ในมุมของครูไนซ์เรื่องนี้อาจไม่จำเป็นต้องกำหนดตายตัว แค่แบ่งสโคปกว้างๆ ไว้ก็พอ เพราะถึงจะเป็นนิทานสำหรับเด็กอายุ 1 – 3 ขวบ แล้วเด็กอายุ 5 ขวบมาอ่าน ก็ไม่ได้แปลว่าเด็กคนนั้นจะพัฒนาการด้อยลง “อย่างเรื่อง ‘แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ’ นี้เขียนไว้ว่าโรงเรียนอนุบาลควรมี ซึ่งไปโรงเรียนอนุบาลมาหลายที่ ทุกที่ก็มีเล่มนี้ แต่พอเป็นห้องสมุดของประถมปุ๊บกลับไม่มีสักเล่มเลย”
ครูไนซ์เริ่มเล่านิทานเรื่อง ‘แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวการท้าทายกฎของเจ้าแมว 11 ตัว ที่แม้ว่าจะเจอป้ายห้ามที่ไหน เจ้าแมวก็แหกกฎนั้นจนทำให้ถูก ‘ยักษ์อุฮิอะฮะ’ หลอกและจับตัวไป สุดท้ายเจ้าแมวก็ได้รับบทเรียน และรวมพลังความสามัคคีกันจนสามารถรอดพ้นยักษ์มาได้ จนช่วงท้ายเรื่องเจ้าแมวทั้ง 11 ตัวเจอป้ายให้ข้ามสะพานลอย ทุกตัวก็เคารพกฎและทำตามป้ายแต่โดยดี
“รากเดิมของนิทานบนโลกใบนี้มันคือเรื่องปรัมปราทั้งหมด และมันก็ต้องการส่งต่อเรื่องบางเรื่องไปถึงสังคมทั้งนั้น อย่างนิทานเรื่อง ‘แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ’ คือต้องการพูดเรื่องกติกา ซึ่งเล่มนี้พูดถึงเรื่องกติกาที่ชัดเจน โดยมีเป้าหมายคือ ต้องการให้เด็กเคารพกติกาการข้ามสะพานลอย แต่เรารู้สึกว่านิทานเป็นเครื่องมือย่อยในการส่งสารก้อนใหญ่ให้เด็กอย่างเป็นรูปธรรม เพราะอยู่ดีๆ ถ้าเราไปพูดเรื่องกฎหมายข้อนี้ๆ เด็กก็คงไม่เข้าใจ”
นิทานเล่มนี้ก็เป็นเล่มแรกที่จุดประกายให้ครูไนซ์ ตั้งคำถามกับการแบ่งระดับของนิทานว่าเหมาะกับวัยไหนบ้าง เพราะช่วงหนึ่งครูไนซ์ได้ใช้นิทานเล่มนี้เข้าไปทำงานกับหลายๆ กลุ่ม แม้จะบอกว่าเหมาะกับเด็กอนุบาลก็ตาม
“ตอนนั้นเราเคยไปเล่านิทานในเซเว่น แล้วเจอเด็กโรงเรียนรัฐบาลประมาณ ป.5-ป.6 เล่นมือถือในเซเว่นระหว่างรอคุณพ่อคุณแม่ขายของในตลาด ซึ่งเราก็พบว่าเด็กในเซเว่นนี้เขาไม่มีนิทาน เราเลยไปถามเด็กๆ ว่ามาฟังนิทานกันไหม ทุกคนก็ตอบตกลงและตั้งใจฟังกันหมด”
“นี่เป็นรอยต่อแรกที่ทำให้เรารู้สึกว่าทำไมนิทานเล่มนี้แนะนำสำหรับเด็กอนุบาล แต่ว่าพี่ ป.5-ป.6 โรงเรียนรัฐบาลในกรุงเทพ ยังให้ความสำคัญกับมันได้”
และช่วงหนึ่งครูไนซ์ได้มีโอกาสได้ทำงานกับ ‘กลุ่มดาวเหนือ’ ที่ทำงานกับน้องๆ ในสถานพินิจ ครูไนซ์จึงได้นำ ‘หนังสือนิทาน’ เข้าไปใช้ด้วย ประกอบกับช่วงนั้นก็สนใจเรื่องการใช้ ‘หนังสือนิทานบำบัด’
“ในไทยทุกคนตั้งมาตรฐานไว้สูงกับคำว่า ‘หนังสือบำบัด’ ซึ่งหลายครั้ง นักวิชาการทั้งหลายในไทยกลับเอาหนังสือวรรณกรรมยากๆ ไปให้น้องๆ ในสถานพินิจอ่าน ทั้งๆ ที่ทักษะการอ่านของน้องๆ ในสถานพินิจหลายคนอาจจะยังไม่ค่อยดีมาก สุดท้ายผลบำบัดมันออกมาว่าหนังสือใช้ไม่ได้ผล และน้องๆ ในสถานพินิจก็เครียดมากขึ้น”
“เราเลยตั้งคำถามว่า ‘หนังสือที่เลือกมันไม่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายหรือเปล่า?’ เหมือนเราคุยกันคนละภาษาอยู่ เราก็เลยเอานิทานเข้าไปและเลือกนิทานภาพมาใช้ เรื่องที่เราเลือกคือ ‘แมว 11 ตัว กับยักษ์อุฮิอะฮะ’ เล่มเดิม เล่าให้น้องๆ ฟัง ซึ่งเขาก็เกิด Awareness ผ่านกระบวนการนิทานบำบัดด้วยตัวเขาเอง
น้องๆ เขาก็รีเฟล็กซ์ชันกันว่า ถ้าสมมติเขาเจอเจ้าเหมียวก่อนเขาอาจจะไม่ขโมยรถ หรือว่าไม่ทำอะไรบางอย่างที่ผิดพลาดไป เพราะว่าเรื่องราวมันเชื่อมโยงกับประสบการณ์โดยตรงของเขา ซึ่งตอนแรกเราก็ไม่ได้คาดหวัง Meaning นี้เหมือนกัน เราคาดหวังแค่ว่าอยากจะเติมสีสันความเป็นไปได้ในชีวิตเขา”
“อันนี้ก็น่าจะเป็นอีกอย่างที่เราได้แรงบันดาลใจว่าสุดท้ายแล้วมันก็มีผลกับคนวัยต่างๆ ได้ ทั้งๆ ที่เขายืนยันที่หน้าปกว่าเหมาะสำหรับเด็กอนุบาล แต่เด็กป.5 – ป.6 ก็ตอบสนองเรา หรือแม้กระทั่งเด็กๆ ในสถานพินิจที่เป็นวัยรุ่นถึงอายุ 18 ปี ก็ยังตอบสนองเราได้”
ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เพียงเด็กและวัยรุ่นเท่านั้น แต่นิทานยังสามารถทำงานกับผู้ใหญ่ที่มีบาดแผล (Trauma) ทางจิตใจได้ด้วย
“ล่าสุดเราพึ่งทำกระบวนการกับเพื่อนอายุ 30 กว่าไป นิทานบางเรื่องก็ยังทำงานกับผู้ใหญ่วัยเกษียณที่ทำงานแล้วออกมาเคว้ง เพราะว่าเคยเป็นผู้นำในองค์กรใหญ่ แต่พอกลับมาบ้านกลับโดนลูกบ่น ไม่ได้รับการยอมรับจากลูกหลาน จากที่เคยได้รับการยอมรับหรือที่ทำงาน จนเกิดภาวะ Self Esteem ตก
ในทางจิตวิทยา เราอาจเคยได้ยินคำว่า ‘Inner Child’ หรือ ‘เด็กน้อยในตัวเรา’ มาแล้ว นิทานเป็นกระบวนการให้ผู้ใหญ่สามารถเข้าไปทำงานกับเด็กน้อยในตัวเองได้ผ่านภาพ คือคนเล่าก็เป็นเพียงแค่คนส่งสาร แต่นิทานมันคุยกับเราเองอยู่แล้ว นิทานก็เลยเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้ใหญ่มาทำงานกับเด็กน้อยในตัวเองได้เร็วมากๆ”
สร้าง Self Esteem ให้กับเด็กผ่านนิทาน
ครูไนซ์บอกว่า “หลายคนอาจจะรู้สึกก้ำกึ่งกันอยู่ คือ Self Confidence ซึ่งเราอาจจะคิดว่า ‘ฉันมั่นใจในสิ่งต่างๆ มาก’ แต่ความจริงแล้วมันเป็นเพียงความมั่นใจเชิงบวกในสิ่งที่เราถนัด แต่ Self Esteem จะขยายขอบเขตของความเป็นไปได้ไปอีก เพราะเป็นการยอมรับความผิดพลาดของตัวเองได้ด้วย”
“เราเลยไม่ได้ปั้นเด็กให้มี Self Confidence แต่เราจะปั้นเด็กให้มี Self Esteem ซึ่งการทำเรื่อง Self Esteem เวลาที่เราจะทำให้เด็กคนนึงเกิดการเรียนรู้ หรือเกิดความมั่นใจ เราก็ต้องมีคาแรกเตอร์แบบนั้นก่อน สมมติเราเล่านิทานแบบหงอยๆ ไหล่ห่อ เด็กๆ ก็จะรู้สึกได้ว่าคุณครูยังไม่มีความมั่นใจเลย เพราะปกติแล้วมนุษย์ปกปิดสีหน้าและความรู้สึกไม่ได้
และเราว่าเด็กเป็นเครื่องอ่านที่ฉลาดมากๆ หากมีภาษากายที่ดูไม่มั่นใจเกิดขึ้น ก็อาจแปลได้ว่าเราไม่ได้ยอมรับตัวเราเองอย่างเต็มที่
ซึ่งบางครั้งเราไปยึดติดกับอะไรบางอย่างที่สังคมอาจจะตีตราไว้ว่าลบ แต่ถ้าเรายอมรับมันได้ จากสิ่งลบๆ นั้นก็อาจจะกลายเป็นกลางๆ แทน เราเลยรู้สึกว่าการที่จะทำให้เด็กมี Self Esteem ได้ ผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างเด็กก็ควรมี Self Esteem แข็งแรงมากพอ”
ครูไนซ์เลือกนิทานเรื่อง ‘I Like Me’ เป็นนิทานที่ชอบมากที่สุด และมองว่าเป็นเรื่องที่ทำงานเรื่อง Self Esteem มากที่สุดอีกด้วย
“ในหนังสือที่มีภาพหมูยกมือขึ้นดีใจเนี่ย ถ้าเด็กได้เห็นภาพนี้และมันชัดด้วยตัวเองแล้ว ไม่ว่าจะเอาไปเล่ากับเด็ก Culture ไหน เด็กก็อินเพราะมันมีพลัง”
‘ฉันมีเพื่อนที่ดีที่สุดด้วยนะ เพราะเพื่อนที่ดีที่สุดก็คือ ตัวฉันเอง’
‘ฉันมีหางที่น่ารัก ฉันมีพุงนุ่มๆ และเท้าจิ๋วหลิวของฉัน’
‘ไม่ว่าจะไปที่ไหน ไม่ว่าจะเกิดอะไร ฉันก็รักตัวเองที่สุดเลยล่ะ’
“เรื่องนี้ตีพิมพ์มา 30 กว่าปี แต่มันยังทันสมัยมากเลย เราคิดว่าเขาต้องเท่แค่ไหนนะ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการรักตัวเองเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว และก็รู้สึกว่าพี่หมูดูแลใจเราในตอนที่เราอาจจะมีปัญหาหรือโจทย์ในชีวิต เพราะฉะนั้นมันจะดีแค่ไหนถ้าเราพูดเรื่องนี้กับเด็กตั้งแต่ยังเล็กว่า หนูยอมรับตัวเองได้เลยนะ ไม่ว่าหนูจะเป็นยังไง”
“บางครั้งเด็กยังไม่มั่นใจในกายภายนอก อย่างเช่น ผมหยิก ผิวคล้ำ แต่ถ้าเราทำให้เขายอมรับความเป็นตัวเอง เขาก็จะได้ลดเวลาในการเรียนรู้หรือทำงานกับเรื่องยากๆ เกิดความมั่นใจ และสามารถไปทุ่มเทในสิ่งที่เขาโฟกัสได้เลย”
“หลายคนอาจจะรู้สึกว่าเราโฟกัสกับกายภาพหรือเปล่า ไม่ใช่นะ แต่สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เด็กจับต้องได้ หลังจากเล่านิทานเล่มนี้เสร็จ เราก็จะถามว่า “เด็กๆ ชอบอะไรในตัวเจ้าหมูนะ” เด็กๆ ก็อาจจะตอบว่าชอบพุง ชอบตัวเจ้าหมู แล้วเราก็จะลองถามว่า เด็กๆ ชอบอะไรในตัวครูไนซ์บ้าง เด็กๆ ก็อาจจะตอบว่า ชอบตา ชอบผม ชอบความใจดี ชอบเสียง แล้วเราก็จะถามกลับไปว่า “แล้วเด็กๆ ล่ะ ชอบอะไรในตัวเอง””
“ในความคิดเรา เรื่อง ‘I Like Me’ สื่อสารพลังมากกว่าหนังสือจิตวิทยายากๆ เสียอีก ให้พลังมากกว่าหนังสือร้อยกว่าหน้าที่อ่านไปแล้วก็ยังไม่เข้าใจซักทีว่า Self Esteem คืออะไร และเราจะมีมันได้ยังไง แต่เจ้าหมูสามารถพูดกับคุณง่ายๆ พูดความเป็นมนุษย์ออกมาเลยว่า Self Esteem คืออะไร”
การทำงานร่วมกันระหว่าง ‘บ้านกางใจ’ และ ‘ครอบครัว’
สิ่งที่ ‘บ้านกางใจ’ ทำงานคือเราพาพ่อแม่มาตั้งหลักให้ได้ก่อน บางครั้งพ่อแม่ไปสร้างความคาดหวังกับลูก ทั้งๆ ที่ตัวพ่อแม่เองก็ทำงานกับตัวเองไม่ได้เหมือนกัน
“สิ่งที่ทำให้ตัดสินใจออกมาจากการศึกษาในระบบ คือเราอยากโฟกัสไปที่เด็กรายคน เพราะคอนเซปต์ของ ‘บ้านกางใจ’ คือเราจะทำงานร่วมกันกับพ่อแม่เด็ก การที่เด็กคนนั้นมีปัญหาอะไรก็ตาม จริงๆ แล้วผู้ปกครองควรย้อนมามองตัวเองก่อนอันดับแรก ทำไมพ่อแม่บางคนถึงโยนทุกภาระมาให้เด็กปรับตัว ทั้งๆ ที่ตัวพ่อแม่เองก็ไม่ยอมปรับตัวเองตามเด็ก”
ถ้าพ่อแม่เริ่มตั้งคำถามที่ตัวเองก่อน มันเป็นเหมือนการเปิดใจ ทำงานกันเป็นทีม เพราะถ้าเราโฟกัสว่าตัวปัญหาคือลูกแล้วอยากจะแก้ไข แต่มันไม่มีความรักอยู่ในนั้น ก็อาจจะกลายเป็นความเป็นห่วงที่อาจจะมีพิษอยู่ แต่ถ้าพ่อแม่เริ่มตั้งหลักด้วยตัวเอง มันก็จะเป็นการทำงานเป็นทีม เป็นความหวังดีที่อยากพัฒนาตัวเอง และเขาก็จะสามารถดึงศักยภาพลูกออกมาได้
“เหมือนหนังสือเล่มนึงที่เขาบอกว่า ‘ยิ่งครูดึงศักยภาพตัวเองออกมาได้เยอะแค่ไหน สุดท้ายครูคนนั้นจะดึงศักยภาพเด็กได้มากขึ้นตาม’ เพราะครูมั่นใจว่ามันมีความเป็นไปได้ในทุกๆ เรื่อง แต่ถ้าครูรู้สึกไม่มั่นใจ ครูก็จะรู้สึกว่าศักยภาพของตัวเองมีกับดักอยู่ แล้วพอไปเจอเด็กก็จะตัน”
“ทุกครั้งที่เราสอนเด็กเจนนี้ ที่เป็นเด็กอายุ 2 – 7 ขวบ เราจะรู้สึกว่าเราไม่ได้ทำงานกับเด็กเจนเดียว เพราะเราเชื่อว่าถ้าเขามีประสบการณ์วัยเด็กที่แข็งแรง เขาก็จะมีประสบการณ์การเป็นพ่อกับแม่ที่ดีได้ในอนาคต”
เก็บความคาดหวังแบบผู้ใหญ่ไว้ในใจ เพื่อจุดประกายความหวังใหม่ในตัวลูก
หลายๆ ครั้งที่พ่อแม่อ่านนิทานด้วยความคาดหวัง คืออ่านแล้วมีเป้าในใจตลอด อยากให้เก็บเป้านั้นไว้ในใจ เพราะนิทานเรื่องแต่ละเรื่องแม้ว่าอาจจะมีใจความสำคัญหนึ่งประเด็น แต่ไม่ได้แปลว่าเด็กทุกคนจะโฟกัสไปแค่ใจความสำคัญเพียงอย่างเดียว เขาอาจจะไปโฟกัสรายละเอียดของภาพนิทานก็ได้
“ถามว่าเขาได้อะไรจากนิทานมั้ย เขาได้นะ แต่เขาอาจจะได้ในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจพ่อแม่ ถึงเราจะมีเป้าอยู่ในใจก็จริง แต่เราก็ต้องช้อนเอาเป้าที่เด็กได้ในครั้งนั้นด้วย ถ้าคุณรู้สึกว่าคุณมีเป้าแล้วคุณไปปฏิเสธกับสิ่งที่เด็กตอบสนองกลับมา อันนี้เรารู้สึกว่า คุณก็กำลังเสียโอกาสทองที่จะทำความเข้าใจเด็กไป”
การที่พ่อแม่เก็บเป้าในใจให้ลึกลง ไม่ได้แปลว่าการเล่าครั้งนั้นไม่มีเป้าหมาย แต่เราแค่ไม่เอาเป้าหมายนั้นออกมาให้เด็กเห็นโจ่งแจ้ง เพราะหากเราไปกำหนดคำตอบให้เด็กเลือก ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำให้เด็กกลับไปเป็นหุ่นยนต์ ที่ต้องตอบแค่ความสุขความดีงาม ยึดโยงกับกรอบของสังคม
“อีกอุปสรรคหนึ่งที่เราเจอกับคุณพ่อคุณแม่ตอนนี้คือ เวลาที่บอกว่าให้อ่านหนังสือให้ลูกฟังเนี่ย พ่อแม่ก็จะไปอ่านให้ฟังตลอดเวลา การที่พ่อแม่อ่านให้ฟังเราว่ามันสำคัญแค่ครึ่งเดียวเอง แต่ที่สำคัญที่สุดคืออีกครึ่งหนึ่งต้องมีเวลาให้เด็กอ่านเรื่องของตัวเองด้วย
เพราะถ้าเราไม่มีเวลาให้เด็กลองพลิกหนังสือเล่น หรือให้ลองอยู่กับมันเพื่อสร้างความเข้าใจด้วยตัวเอง สุดท้ายแล้วมันก็กลายเป็นการอ่านแบบสั่งสอน มีคนนำการเรียนรู้ ทั้งๆ ที่ เด็กสามารถเกิดการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง”
คุณค่าของนิทานในมุมมองของครูไนซ์
“สำหรับเรา นิทานคือหนังสือที่มีคุณภาพและเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นหนังสือที่มีความหมาย แต่หลายๆ ครั้ง พอนิยามนิทานมาปุ๊บ เราก็เริ่มโฟกัสแล้วว่า Target เป็นเด็ก มองว่านิทานก็เป็นเรื่องไร้สาระ เรื่องจินตนาการ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ถ้าคุณลองเดินเข้าไปในมุมหนังสือแล้วหยิบนิทานออกมา ได้ลองมานั่งอยู่กับมัน เราเชื่อว่าความละเมียดละไม ความละเอียดอ่อนในชีวิตคุณก็จะผลิบานขึ้นอัตโนมัติ มันเป็นความสุนทรีย์”
สำหรับคุณพ่อคุณแม่และคุณครูที่อยากใช้นิทานในการสร้างการเรียนรู้กับเด็ก ครูไนซ์แนะนำว่าให้เริ่มจากตวเอง ลองกลับมาอ่านและทำความเข้าใจกับนิทาน ไม่ต้องอ่านเพื่อลูกหรือเพื่อเป้าหมายอะไร อ่านเพื่อตัวเองก่อน ว่ามีความสุขกับนิทานแล้วหรือยัง
“ถ้าคุณมีความสุขกับมันแล้ว คุณจะไม่ได้เล่านิทานด้วยหน้าที่ และจะรู้เลยว่านิทานมันมีพลังมากแค่ไหน โดยที่ไม่จำเป็นต้องพยายามยัดเยียดพลังตรงนี้ไปถึงเด็ก แต่ถ้าคุณยังไม่สามารถสัมผัสพลังตรงนั้นได้ ไม่ว่าหนังสือนั้นจะเป็นนิทานดีหรือรางวัลระดับโลกก็ตาม เด็กก็จะไม่เข้าใจสารที่เราสื่อเพราะเขาไม่ได้รับความรักจากผู้เล่า และเด็กเขารู้จริงๆ นะ ว่าคนไหนอ่านนิทานด้วยความรัก และคนไหนอ่านเพราะเป็นหน้าที่”
“สิ่งที่สำคัญที่สุดเวลาที่เราเล่านิทาน ทั้งทักษะภาษาและการส่งสารคือเป้าหมายทางตรง แต่เป้าหมายทางอ้อมคือเรากำลังสร้างแรงจูงใจให้เขาสนุกกับการอ่านในชีวิตจริง เพราะถ้าเขามีประสบการณ์ที่ดี เชื่อว่าเขาจะอ่านนิทาน หรืออ่านหนังสือตอนโตเอง ซึ่งนั่นคือเป้าหมายรองที่เราตั้งใจทำเสมอมา เพื่อให้เด็กเป็นหนอนหนังสืออย่างธรรมชาติ โดยไม่ยัดเยียด”
ถึงตรงนี้ ครูไนซ์ฝากถึงผู้ดูแลเด็กว่าอยากให้กลับมาอ่านนิทานดูก่อน เพราะถ้าผู้ใหญ่ยังไม่เห็นพลังของมัน ก็ยากมากที่จะไปในสเต็ปต่อไป
“ในความคิดของหลายๆ คนอาจคิดว่า ‘ก็แค่นิทาน’ แต่สำหรับเรามัน ‘ตั้งนิทาน’ เลยนะ ไม่ใช่แค่นิทาน สุดท้ายแล้วถ้าเราตัดมายาคติของสังคม ว่าอะไรเป็นเด็กหรือเป็นผู้ใหญ่ นิทานก็ไม่ต่างจากหนังสือวรรณกรรมดีๆ เลย เพราะทุกคนก็เติบโตมาพร้อมกับเรื่องเล่าทั้งนั้น”
- ‘ห้องเรียนเตรียมอนาคต’ คือแผนการเรียนที่ตอบสนองความฝันของทุกคน ช่วยให้เด็กได้ค้นหาตัวตน ความต้องการ ความถนัด และกำหนด ‘อนาคตที่ใช่’ ในแบบของตัวเอง นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้
- ปลายทางของแผนการเรียนนี้ไม่ใช่การเด็กเข้ามหาวิทยาลัย แต่คือการให้เขาสามารถ ‘เรียนที่ชอบ ไปสู่อาชีพที่ใช่’ และไม่ใช่เพื่อไปแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัย โดยที่ตัวเด็กเองยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะเรียนอะไร แต่ขอแค่ให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยพอ และเรียนจบปริญญาตรี กลายเป็นว่าเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยไปแบบไม่มีทิศทาง จึงเกิดปรากฏการณ์ซิ่วขึ้นมา ประหนึ่งว่ายิ่งเรียนยิ่งหลงทาง
- สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านแววตาและพฤติกรรมของเด็กคือ เด็กมีความสุขกับการเรียน ต่อให้การบ้านเยอะแค่ไหนถ้าเป็นการบ้านที่เขาชอบ เขาก็อยากจะทำ เพราะเป็นสิ่งที่ท้าทาย และพฤติกรรมเปลี่ยนไปคือสนใจการเรียนมากขึ้นกระตือรือร้นมากขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนในการเรียน
‘เรียนที่ชอบ ไปสู่อนาคตที่ใช่’ หรือ ‘เรียนที่ชอบ ไปสู่อาชีพที่ใช่’ ประโยคสุดคลาสสิกทำนองนี้ไม่ว่าจะเด็กยุคไหนก็น่าจะได้ยินได้ฟังมานักต่อนัก โดยเฉพาะวัยรอยต่อที่กำลังจะขึ้นมัธยมปลายเพือก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย แต่พวกเขาจะรู้ได้อย่างไรว่า…อะไรคือสิ่งที่ใช่สำหรับตัวเอง
เด็กๆ หลายคนอาจรู้สึกเหมือนยิ่งเรียนยิ่งหลงทาง เรียนก็หนัก ที่บ้านกดดัน ไหนจะต้องเจอสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบกับการเรียนโดยตรงอีก บางคนถึงขั้นทิ้งความฝัน เพราะถ้าฝันต่อไปก็ไม่รู้ว่าโอกาสที่จะเป็นจริงมีมากน้อยแค่ไหนในสถานการณ์แบบนี้
แต่ก็ใช่ว่าการไม่มีความฝันเป็นเรื่องผิด ไม่ใช่ว่ายังค้นหาตัวเองไม่เจอจะเป็นคนไร้ประสิทธิภาพ และคงจะดีไม่น้อยถ้าในรั้วโรงเรียนที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้อย่างน้อยๆ ก็ 8-9 ปี ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมทั้งในและนอกห้องเรียนกระตุ้นให้เด็กอยากเรียนรู้ จุดประกายให้พวกเขาได้มองเห็นความถนัดของตัวเอง มีพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ลงมือทดลองทำสิ่งนั้น ไม่ว่าจะในรูปแบบของกิจกรรม หรือแม้แต่ปลุกปั้นให้กลายเป็นแผนการเรียนที่เป็นรูปเป็นร่างอย่างที่ ดร.ภูมิสิษฐ์ สุคนธวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ได้ทำให้เราเห็นผ่านแผนการเรียนที่ช่วยให้เด็กได้ค้นหาตัวตน ความต้องการ ความถนัด และเพื่อกำหนด ‘อนาคตที่ใช่’ ในแบบของตัวเอง
การเรียนรู้ผ่านวิชาเลือกอาชีพ ช่วยเด็กค้นหาตัวเอง
การปรับเปลี่ยนแผนการเรียนการสอนเป็นเพียงปลายทางของการจัดการศึกษา และหัวใจสำคัญที่แท้จริงอยู่ที่ประสบการณ์ในการเรียนรู้ ซึ่งรูปแบบการจัดการศึกษาที่ดร.ภูมิสิษฐ์ นำมาใช้คือการจัดการ ‘การศึกษาเพื่ออาชีพ’
“คำว่า การจัดการศึกษาเพื่ออาชีพ ไม่ได้หมายความว่า เราทำให้นักเรียนจบม.6 แล้วไปประกอบอาชีพ แต่เรากำลังทำให้นักเรียนตั้งแต่ม.ต้น เขารู้จักตัวตนของตัวเอง รู้จักความต้องการ ความถนัด ความสนใจในอาชีพ ผ่านการเรียนรู้จากวิชาเลือกอาชีพ จากประสบการณ์ทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน”
สร้างแรงจูงในใจอาชีพให้กับเด็กตั้งแต่เริ่มต้นเข้ามัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยการพาสัมผัสและพูดคุยกับบุคคลที่ประกอบอาชีพนั้นๆ เพื่อให้เห็นว่า อาชีพนี้ต้องเจออะไรบ้าง เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกเส้นทางก่อนขึ้นมัธยมปลาย รวมถึงมีค่ายค้นหาความต้องการความถนัดปีละหนึ่งครั้งตั้งแต่ม.1-ม.6 และเสริมด้วย Project based learning (PBL) ซึ่งจะผูกโยงกับอาชีพเช่นเดียวกัน
“เด็กตั้งแต่ม.1-ม.3 เรามีวิชาเลือกอาชีพ 200 กว่าวิชา ให้เด็กได้เรียนตั้งแต่เทอมหนึ่งถึงเทอมที่หกของม.3 เด็กก็จะได้เรียนวิชาอาชีพที่เขาเลือกที่เขาสนใจอย่างน้อยภาคเรียนละหนึ่งครั้ง เช่น ม.1 เทอมหนึ่งเขาก็ไปเรียนวิชาเลือกอาชีพเกี่ยวกับวิศวะ เทอมสองเขาก็ลองไปเรียนอาชีพเกี่ยวกับเชฟ พอขึ้นม.2 เทอมหนึ่งเขาก็ไปเรียนวิชาที่เกี่ยวกับการออกแบบ อย่างน้อยพอถึงม.3 เขาก็ได้ประมาณหกอาชีพ รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ด้วย”
นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมที่ชื่อว่า ‘Habitscan’ เป็นตัวช่วยให้นักเรียนค้นหาอนาคตของตัวเอง และจะช่วยพัฒนานักเรียนรายบุคคลด้วย
“โปรแกรมนี้จะทำนายนิสัยที่สอดคล้องที่เหมาะสมกับอาชีพในอนาคต เป็นแบบสอบถามที่เป็นโปรแกรมเลย พอเราเข้าไปตอบเสร็จแล้ว เขาก็จะทำนายมาเลยว่า ถ้านิสัยร่าเริงแจ่มใส ช่างพูดช่างเจรจา คุณจะเหมาะกับเป็นอะไร เช่น อาจจะบอกเป็นทนายความ เป็นครู ซึ่งตรงนี้เราจะวัดทุกเทอมตั้งแต่ม.1 ก็จะได้หกครั้งทุกเทอมๆ ละครั้ง สุดท้ายก็จะเป็นไฟนอลให้เป็นข้อมูลองค์ประกอบหนึ่งให้นักเรียนได้ตัดสินใจว่าจะไปแผนเตรียมอะไร”
ซึ่งมีทั้งหมด 10 แผนเตรียม คือ เตรียมแพทย์, เตรียมเภสัช-สหเวช, เตรียมวิศวะ, เตรียมสถาปัตย์, เตรียมวิทย์-คอม, เตรียมนิติ-รัฐศาสตร์, เตรียมนิเทศ,เตรียมศิลปกรรม, เตรียมบริหารธุรกิจ บัญชีและการบริการ, เตรียมมนุษย์-ครุศาสตร์
และแม้หลักสูตรจะดูเหมือนว่าเอื้อต่อเด็กที่ค่อนข้างชัดเจนในความฝันของตัวเอง แต่สำหรับเด็กที่ยังหาตัวตน ความถนัด ความชอบของตัวเองไม่เจอ ดร.ภูมิสิษฐ์บอกว่า
“เราให้โอกาสเทอมนึงในการเลือกในการเปลี่ยน แต่ต้องอธิบายว่า เราเล่นกับความคาดหวังของผู้ปกครอง ดังนั้น การที่เด็กชอบ เด็กต้องการ เด็กถนัดอย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องดูที่ศักยภาพของตัวเองด้วย เราจึงต้องกำหนดเกณฑ์ในการเข้าแต่ละแผน เช่น จะต่อเตรียมแพทย์จบม.3 ต้องได้เกรดเฉลี่ย 3.00 และวิทย์ คณิตฯ อังกฤษต้องได้ 3 ด้วย ไม่งั้นเข้าไม่ได้”
“ความฝันกับความจริงมันต้องไปด้วยกัน เราถึงเอาเกณฑ์ศักยภาพของเด็กมาผสมด้วย ไม่ใช่ฉันชอบอย่างเดียวแต่การเรียนอ่อนมาเลยจะไปยังไง เพราะมันจะต้องสอบเพื่อไปเข้า ทุกแผนจะมีเกณฑ์หมด แล้วมีการสัมภาษณ์เด็กก่อนเข้าด้วย อย่างเช่น ศิลปกรรม ถ้าคุณไม่รักการแสดงจริงๆ ไม่รักศิลปะจริงๆ แค่เกณฑ์ได้ก็ไม่ได้นะ เราถึงมีการสัมภาษณ์ด้วย”
‘Child center’ เรียนในสิ่งที่ชอบ เพื่อไปสู่อาชีพที่ใช่
จากแผนการเรียนที่มุ่งไปที่อาชีพที่ใช่ ส่วนมากก็เป็นอาชีพยอดฮิต เช่น หมอ พยาบาล วิศวกร ครู แต่ยังมีอาชีพที่หลากหลายกว่านี้มาก และด้วยบริบทของโรงเรียนที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเด็กที่นี่มีความพร้อมและความต้องการที่จะเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยร้อยเปอร์เซ็นต์ และใฝ่ฝันในอาชีพยอดฮิตเหล่านั้น
“เราสำรวจแล้วว่า เราจะเปิดได้ประมาณนี้ แล้วแต่ละแผนมีเจ้าภาพ เช่น เตรียมแพทย์ กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์เป็นเจ้าภาพ การเป็นเจ้าภาพเขาต้องดูแลทั้งระบบเลย ดูแลวิชาเลือกอาชีพในม.ต้นที่เกี่ยวกับแพทย์ วิชาเพิ่มเติมที่เกี่ยวกับแพทย์ในม.ปลายด้วย รวมถึงแต่ละแผนต้องมีพี่เลี้ยงเป็นมหาวิทยาลัยทุกแผน เช่น แพทย์เราก็มีพี่เลี้ยงเป็นศิริราช วิศวะ ก็จะมีเทคโนโลยีพระจอมเกล้าที่ลาดกระบัง แล้วก็พระนครเหนือ เป็นต้น”
นอกจากนี้การสร้างสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของการจัดการศึกษาไม่ว่าจะหลักสูตรใดการตาม
“เวลาเราทำหลักสูตรเราต้องเอาไปนั่งคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยเลย เพราะหลักของมันก็คือว่า เราจะเน้นวิชาที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยในคณะนั้นๆ วิชาพื้นฐานในมหาวิทยาลัยปีหนึ่งเราเอามาเรียน แล้วเราก็ใส่สภาพแวดล้อมอุปกรณ์ต่างๆ ให้เสมือนเด็กได้เข้าไปอยู่ในมหาวิทยาลัย เราพยายามที่จะให้เด็กได้ประสบการณ์ตรงนี้ เช่น ในแผนการเรียนนิเทศมีห้องสตูดิโอ ห้องวิทยุ เราเอาวิชาการนำสถานที่ ไม่ใช่อยู่ๆ เราไปตกแต่งสถานที่แล้วค่อยคิดถึงวิชาการกัน”
ปลายทางของแผนการเรียนนี้จึงไม่ใช่การเด็กเข้ามหาวิทยาลัย แต่คือการให้เขาสามารถ ‘เรียนที่ชอบ ไปสู่อาชีพที่ใช่’ และไม่ใช่เพื่อไปแข่งกันเข้ามหาวิทยาลัย โดยที่ตัวเด็กเองยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะเรียนอะไร แต่ขอแค่ให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยพอ และเรียนจบปริญญาตรี กลายเป็นว่าเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยไปแบบไม่มีทิศทาง จึงเกิดปรากฏการณ์ซิ่วขึ้นมา ประหนึ่งว่ายิ่งเรียนยิ่งหลงทาง
“แล้วมันทำให้เสียเวลา แทนที่จบสี่ปีจะได้ทำงาน บางคนจบปริญญาตรีแล้วก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากจะเป็นอะไร อยากจะทำอะไร แต่ก็ต้องไปทำงาน พอไปทำงานเราก็แบบเช้าไม่อยากไปทำงาน ขอแค่ให้ได้เงินเดือน เลี้ยงตัวเอง เลี้ยงครอบครัว เย็นเมื่อไรจะได้กลับดูนาฬิกาเมื่อไรจะเลิกงาน โอกาสก้าวหน้าในอาชีพก็มีน้อย เพราะเขาไม่ได้ทำด้วยใจรัก ทำไปก็เบื่อไป ประสิทธิภาพการทำงานก็ไม่มี พอไม่มีคนที่เป็นหัวหน้าเขาก็มองว่าคนนี้ไม่ไหว เขาก็ไม่ส่งเสริม”
ยิ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าเพราะการที่พวกเขาเป็นคนไม่มีศักยภาพ โดยศักยภาพนั้นเป็นเพราะเขาไม่ได้เรียนและได้ทำงานในสิ่งที่ชอบ นี่จึงเป็นผลกระทบระยะยาวและเป็นปัญหาระดับชาติ
“การจัดการศึกษาเช่นนี้นอกจากเด็กจะได้ทั้งพื้นฐานทางด้านวิชาการ ยังได้พื้นฐานทางด้านประสบการณ์อาชีพที่จะไปต่อยอดมหาวิทยาลัยโดยที่ไม่ต้องเริ่มจากนับหนึ่ง แต่เราไปห้าไปหกไปเจ็ดแล้ว แล้วไม่ต้องซิ่ว เพราะอะไร เพราะเขารู้แล้วว่าอยากเป็นนักแสดง เขารู้แล้วว่าเขาอยากเป็นอัยการ เป็นผู้พิพากษา”
เป้าหมายที่แคบและแหลมคม ให้ผลลัพธ์ดีกว่าเป้าหมายกว้างๆ
ช่วงแรกๆ ด้วยความที่เด็กยังไม่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรของแผนการเรียนที่มุ่งไปสู่อาชีพย่อมมีปัญหาบ้าง โดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง เพราะเด็กไทย 80-90 เปอร์เซ็นต์ อยู่ที่ผู้ปกครองไม่ใช่อยู่ที่ตัวเด็ก ดร.ภูมิสิษฐ์ บอกว่า “กว่าจะได้มาเป็นหลักสูตรนี้ผ่านอะไรมาเยอะ บาดแผลนี่เต็มตัวกว่าจะเปลี่ยนได้”
“การเปลี่ยนแปลงย่อมมีการบาดเจ็บ แต่ถ้าคุณอยู่ในเซฟโซนการศึกษาไม่มีวันเปลี่ยน ถ้าผมมัวแต่รอว่าเมื่อไหร่เขาจะทำข้างบนจะสั่งมาไม่มีทาง ตอนเปลี่ยนแรกๆ ผู้ปกครองเขาก็บอกว่าทำให้ลูกเขามีทางแคบลง ลูกเขาเคยเรียนแผนวิทย์แล้วก็งมหาตัวเองไปเรื่อยๆ จนลูกเขาอาจจะได้เป็นแพทย์ แต่พอเรามาปรับใหม่มีเกณฑ์ ลูกเขาไม่ได้เตรียมแพทย์ เขาไปได้วิศวะ ได้สถาปัตย์ เกณฑ์ไม่ถึงเขาก็มาโวยวาย เพราะเหมือนตัดอนาคตลูกเขา แต่ผมมองว่าการที่มีเป้าหมายที่มันแคบและแหลมคมมันไปได้ถึงจุดหมายได้ดีกว่าการที่เรามีเป้าหมายกว้างๆ โดยที่เราไม่ได้พุ่งไปที่อะไรเลย แล้วเราคิดว่า 1 ก็ได้ 2 ก็ได้ 3 ก็ได้ แต่ถ้าเราพุ่งไปที่ 1 เลยมันก็จะมีเวลาเรียนรู้เยอะขึ้น ไม่ใช่ว่าพุ่งไปแบบกว้างๆ แล้วค่อยไปเลือกเอาม.6”
แต่สิ่งที่ดร.ภูมิสิษฐ์ เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านแววตาและพฤติกรรมของเด็กคือ เด็กมีความสุขกับการเรียน ต่อให้การบ้านเยอะแค่ไหนถ้าเป็นการบ้านที่เขาชอบ เขาก็อยากจะทำ เพราะเป็นสิ่งที่ท้าทาย และพฤติกรรมเปลี่ยนไปคือสนใจการเรียนมากขึ้นกระตือรือร้นมากขึ้น มีเป้าหมายชัดเจนในการเรียน
“ผลสัมฤทธิ์ของเราไม่ได้มองแค่ว่าเด็กเข้ามหาวิทยาลัยตามคณะที่ต้องการแล้วก็สอดคล้องกับแผนการเรียนที่เขาเลือกในม.ปลายเท่านั้น แต่เรามองไปถึง achievement ที่ว่าพอเขาเข้าไปเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วเขาจะไม่ซิ่ว ไม่เปลี่ยนคณะ เรียนไปจนตลอดรอดฝั่งจนจบ และเป็นคนดีคนเก่ง จากนั้นยังไม่พอเรียนจบไปแล้วเด็กคนนี้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพเป็นหัวหน้างาน เป็นผู้จัดการ เป็นประธานบริษัท แสดงว่านี่คือผลผลิตของเราที่เราฟูมฟักทั้งเรื่องความรู้ ทักษะ และเจตคติ”
ทั้งหมดทั้งมวลเป็นการเปิดกว้างให้เด็กได้ค้นหาตัวตน ค้นหาสิ่งที่ชอบ ความถนัด เพื่อที่จะกำหนดอนาคตที่ใช่ด้วยตัวของเขาเอง
“เราต้องการที่ทำให้เด็กรู้ตัวเร็วที่สุด เพราะการที่รู้ตัวเร็วที่สุดมันได้เปรียบคนอื่น” ผู้อำนวยการโรงเรียนโพธิสารพิทยากร ทิ้งท้าย
- Brooklyn Nine-Nine เป็นซีรีส์ซิทคอมของอเมริกาที่เล่าถึงแก๊งหน่วยสืบสวนในสถานีตำรวจเขตที่ 99 ของเมืองบรู้คลิน มีเรื่องราวเกี่ยวกับการสืบสวนและความสัมพันธ์ครอบครัว ที่เล่าได้ตลกขบขันปนซึ้งกินใจ ที่สำคัญคือเป็นซีรีส์ที่ไม่มีการเหยียดเชื้อชาติ หน้าตา หรือเพศ ในการสร้างความตลกอีกด้วย
- นอกเหนือไปจากความสนุกของการสืบสวนคดีแล้ว ยังมีเรื่องราวประเด็นเรื่องความสัมพันธ์และปมครอบครัว ที่ส่งผลกับตัวละคร เช่น ‘เจค’ ที่มีปมเรื่องพ่อ ‘เอมี่’ ที่อยากเป็นคนโปรดของแม่ ‘ชาลส์ บอยล์’ ที่รับอุปถัมภ์ลูกบุญธรรม หรือ ‘โรซ่า’ ที่พยายามจะบอกพ่อกับแม่ว่าตัวเองเป็นไบเซ็กชวล
- ทุกตัวละครล้วนแต่อยากได้รับการยอมรับจากครอบครัวในสิ่งที่ตนเองเป็น และต่างฝ่ายก็ต่างต้องการเวลาของตัวเองที่จะเรียนรู้และทำความเข้าใจ แม้มันอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ สวยหรู อย่างที่เราคาดหวังก็ตาม